เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ ( ชุดที่ 30 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ค. 15, 2024 8:37 pm

…………ก้าวต่อไป มีทั้งหมด ( 14 )ตอนจบ


ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 1 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

คริส มูน ทิ้งงานนั่งโต๊ะสบายๆ ในเมืองไปทำงานกับองค์กรดูแลด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิด
ในหลายประเทศเช่น อัฟกานิสถานและกัมพูชา แม้จะเป็นงานเสี่ยงแต่เขารู้เพียงว่าอยากช่วยเหลือ
ผู้อื่นในฐานะอดีตทหาร

รากเหง้า

เนเทอร์แฮมป์ตัน (Netherhampton) เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ
ผมเกิดที่นั่นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2505 ในบ้านไร่ก่ออิฐหลังคาหินชนวน พ่อของผมทำงานกับ
บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและปุ๋ย ส่วนแม่เป็นผู้นำกลุ่มเนตรนารีและทำงานเป็นเลขานุการกับเสมียนบัญชี

, ตอนผมอายุ 6 ขวบ เราย้ายบ้านไปอยู่ใกล้ๆ คูมบิสเซ็ต ทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน ผมชอบดูชาวนา
ชาวบ้านให้อาหารปศุสัตว์

ที่โรงเรียนประถม ผมเริ่มคิดถึงอนาคตว่าอยากเป็นอะไร ช่วงปิดภาคเรียนตอนอายุ 14 ปี
ผมก็ค้นพบความถนัดพิเศษของตนเอง ช่วงนั้นผมขอบขี่จักรยานราว 10 กิโลเมตรไปที่นาของลุงโรเจอร์
เพื่อนของพ่อซึ่งปลูกข้าวโพดเพื่อใช้เมล็ดทำพันธุ์ เราเดินไปตามทุ่ง ช่วยกันถอน“ข้าวโพดผ่าเหล่า”ที่อาจ
ทำให้เมล็ดเสียพันธุ์ ในฤดูเก็บเกี่ยว ผมทำหน้าที่ควบคุมเครื่องทำความสะอาดเมล็ดและช่วยเรียงซ้อน
ฟ่อนฟาง

ลุงโรเจอร์ขายไร่ในปี 2525 และย้ายไปอยู่ที่อื่น เมื่อผมไปทำงานกับลุงหลังออกจากโรงเรียน
ลุงมักสอนให้รู้จักมองการณ์ไกล ผมใคร่ครวญครุ่นคิดอยากทำไร่ไถนามาตลอดและไม่เคยคิดทำอย่างอื่น
เลย แต่ปัญหาผลิตผลล้นตลาด ราคาตกต่ำขณะที่ต้นทุนสูงขึ้น ตลอดจนความขัดสนในเรื่องเงินลงทุนเป็น
อุปสรรคสำคัญ ผมจึงคิดว่าน่าจะสมัครเป็นทหาร

ในปี 2529 หลังเรียนจบจากโรงเรียนทหารเซนต์เฮิร์ส (Royal Military Academy Sandhurst )
ผมประจำการในหน่วยสารวัตรทหาร มีโอกาสเห็นการทลายกำแพงเบอร์ลิน ความสัมพันธ์ของโลกเสรี
กับกลุ่มโซเวียตพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และได้ยินการพูดถึงเรื่องลดกำลังพลจำนวนมาก จึงเริ่มไม่แน่ใจว่า
ตัวเองจะก้าวหน้าในราชการทหารเพียงใดในอนาคต ที่สุดก็ตัดสินใจลาออกทั้งที่ยังเสียดาย

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ค. 17, 2024 4:00 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 2 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมได้งานทำในสถาบันการเงิน แต่วันหนึ่งก็ตระหนักว่าหัวใจยังแสวงหาความท้าทายในชีวิต
ช่วงเวลาที่ผมมีความสุขคือตอนหลบไปวิ่งออกกำลังยามพักเที่ยง ผมจึงกลับมาทบทวนว่าน่าจะลาออก
ไปทำงานการกุศล ประสบการณ์ในงานเกษตรกรรมและชีวิตทหารทำให้ผมมีคุณสมบัติเหมาะสมกับ
การทำงานกู้ทุ่นระเบิด

ราวต้นปี 2536 ผมเริ่มงานกับองค์กรฮาโล (HALO : Hazardous Area Life-support Organization)
ในกัมพูชา กู้ทุ่นระเบิดในดินแดนที่บอบช้ำจากสงครามกลางเมืองนานถึง 20 ปี ตลอดระยะเวลานั้น มีการวาง
ทุ่นระเบิดไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ฐานของเราตั้งอยู่ที่หมู่บ้านชนาง ที่มั่นสุดท้ายก่อนเข้าเขตเขมรแดงซึ่งอยู่ในดง
ป่าใหญ่บริเวณตะเข็บชายแดนไทยกัมพูชา
ทางการยืนยันกับเราว่าพื้นที่บริเวณนั้นปลอดภัย มีทหารลาดตระเวนเป็นประจำ แต่ในเดือนมิถุนายน ผมกับ
เพื่อนร่วมงานชาวเขมร 2 คนถูกทหารเขมรแดงลอบโจมตีและจับตัวไปคุมขังถึง 3 วัน แต่ท้ายที่สุดก็หนีรอด
มาได้โดยเดินป่าอยู่หลายชั่วโมงกว่าจะถึงที่ปลอดภัย

เมื่อกลับถึงฐาน ผมบอกตัวเองว่า แม้จะถูกคุมขังสูญเสียอิสรภาพไป 2-3 วันก็ต้องเรียกความมั่นใจ
กลับมา กระทั่งออกไปวิ่งนั่นแหละถึงรู้สึกว่าตัวเองคืนสู่อิสรภาพแล้วจริงๆ ถ้าแพ้ใจตัวเอง เราก็จะตกเป็น
ทาสตลอดไป

จากวันกลายเป็นเดือน ผมหมกมุ่นในงานที่ทำผลสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ เช่นกู้ระเบิดให้กับหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
หรือช่วยพาตัวผู้อพยพ 2-3 คนกลับบ้านทำให้งานที่นั่นมีความหมาย ราวปลายปี 2537 ผมได้รับข้อเสนอให้
ย้ายไปโมซัมบิก

เรามาถึงสนามทุ่นระเบิดในช่วงพลบค่ำ เป็นพื้นที่ห่างไกลทางตอนเหนือของประเทศโมซัมบิก
(ตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา ติดกับมหาสมุทรอินเดีย) วันที่ 7 มีนาคม 2538 ผม (คริส มูน) อยู่ใน
โมซัมบิกได้ราว 2 เดือนแล้ว โดยทำงานกับองค์กรสงเคราะห์ชีวิตผู้ที่อยู่ในเขตอันตรายที่มีชื่อย่อว่า “ฮาโล”
(HALO) ซึ่งเป็นหน่วยงานการกุศลที่ทำงานเก็บกู้ทุ่นระเบิด

ทุ่นระเบิดส่วนใหญ่ในบริเวณนี้ถูกเก็บกู้เกือบหมดแล้ว มีไม้ทาสีขาวปักไว้เพื่อระบุว่าเป็นบริเวณ
ปลอดภัย ส่วนที่เป็นพุ่มไม้และหญ้ารกเป็นบริเวณที่ยังไม่ได้เก็บกู้

ตะวันโด่งฟ้า ผมสวมชุดเก็บกู้เข้าทางศีรษะ มีสายยางที่บ่ายึดเสื้อเกราะหุ้มด้วยผ้าใบสีน้ำเงิน รัดด้วย
เข็มขัดและค่อยดึงแผ่นเกราะลงมาป้องกันบริเวณระหว่างขา จากนั้นจึงหยิบเครื่องตรวจค้นทุ่นระเบิดมาถือไว้
ในมือขวา ก่อนอื่นผมมองรอบๆ พื้นที่

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ค. 17, 2024 4:05 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 3 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ทุ่นระเบิดเหล่านี้ทหารรัฐบาลเป็นฝ่ายวางไว้เพื่อใช้ต่อต้านกลุ่มกบฏรีนาโม (Renamo) ส่วนใหญ่
เป็นระเบิดปิ่นโต (คือระเบิด PMN แบบเก่าของรัสเซีย) บรรจุดินระเบิด 240 กรัม รุนแรงพอจะระเบิดขา
ท่อนล่างจนไม่เหลือซาก ทุ่นระเบิดอีกแบบที่พบในบริเวณนี้เป็นแบบโปรตุเกส 969 ขนาดดินระเบิด 80 กรัม
มีอานุภาพทำให้เท้าข้างหนึ่งแหลกได้ แต่ไม่ว่าแบบไหนก็รับประกันได้ว่าขาจากใต้เข่าลงไปจะไม่เหลือซาก
ชาวบ้านสังเวยชีวิตให้ทุ่นระเบิดเหล่านี้ไปแล้ว 8 ศพ

ผมเดินตรงเข้าไปในช่องทางผ่านกว้างเกือบ 1 เมตร ตามองพื้นและกวาดเครื่องตรวจค้นฯไปทั่ว
หน้าดินซึ่งแห้งแตกเป็นสีน้ำตาลแดง ผมสำรวจดูบริเวณที่เพื่อนทหารออลันโดถูกระเบิดเป็นหลุมลึกเกือบ
40 เซนติเมตร แรงระเบิดทำให้ทุกอย่างในรัศมีราว 1 เมตรราบเป็นหน้ากลอง ผมกวาดเครื่องตรวจค้นฯ
ไปรอบๆ ปากหลุม อย่างระมัดระวัง ใช้เหล็กแหลมค่อยๆ แยงเซาะไปตามดิน

เกือบตลอดเช้านั้น ผมตรวจทั่วบริเวณอย่างละเอียด พบชิ้นส่วนของทุ่นระเบิดแบบเดียวกับที่ออลันโด
รายงานและเศษพลาสติกสีเขียวอีก 2-3 ชิ้น ที่ตรงนี้อาจมีทุ่นระเบิด 2 ลูกได้ ขณะที่ออลันโดพยายามเก็บกู้
ลูกแรก เขาคงไปโดนลูกที่ 2 จนเกิดระเบิดและได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ผมยังรู้สึกไม่ค่อยสบายใจอย่างไรชอบกล

ถึงเวลาพักตามกำหนด ผมหันหลังกลับและค่อยๆ เดินไปตามช่องที่ทำเครื่องหมายไว้แล้วว่าปลอดภัย
เพื่อเข้าไปหลบแดดใต้ต้นปาล์มที่แทบจะไม่มีร่มเงา ใกล้ๆ จุดที่ยืนอยู่ ผมเห็นก้อนดินแห้งกรังเป็นสีน้ำตาล
คงจะเป็นรอยเลือดของออลันโด และอดคิดไม่ได้ว่าเขาจะเจ็บปวดเพียงใดตอนได้รับบาดเจ็บ ฐานวิทยุแจ้งมาว่า
เขาเสียชีวิตเมื่อ 2-3 ชั่วโมงก่อน

ผมหันหลังกลับเพื่อจะเดินกลับ แต่รู้สึกเย็นวาบ ขนหัวลุกท่ามกลางแสงแดดแผดเผาของทวีปแอฟริกา
ผมบอกตัวเองว่าอยู่ตรงนี้ต่อไปไม่ได้แล้วและเริ่มเดินกลับไปตามช่องทางผ่าน ผมเดินไปได้เพียง 3 ก้าว
ก็ได้ยินเสียงตูมดังที่สุดเท่าที่เคยได้ยินในชีวิต

เสียงระเบิดยังก้องอยู่ในหู ต้องเป็นทุ่นระเบิดแน่นอน ผมนอนคว่ำหน้า ค่อยๆ พลิกตัวและลุกขึ้นนั่ง
แขนขวาผมแหลกยับเยินและเลือดไหลโกรก

ขาท่อนล่างของผมขาดด้วน เท้าข้างหนึ่งเหลือแต่กระดูกโผล่เป็นแง่งออกมา มีเนื้อสีชมพูรุ่งริ่งติดอยู่รอบๆ

ผมแปลกใจที่เห็นกระดูกตัวเองเป็นสีเหลือง เพราะนึกมาตลอดว่ากระดูกน่าจะเป็นสีขาว

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ค. 20, 2024 7:47 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 4 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)“ผมได้รับบาดเจ็บ”

ท่ามกลางความรู้สึกเจ็บปวดทรมาน ผมพยายามคุมสติ บอกตัวเองว่าจะต้องไม่เอาชีวิตมาทิ้ง
ในสนามทุ่นระเบิดแห่งนี้ ผมจะต้องต่อสู้กับความเจ็บปวดและพยายามสงบสติอารมณ์ ประการแรก
คือ ดูให้แน่ใจว่าไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ขั้นต่อไปคือปฐมพยาบาล จากนั้นจึงออกจากพื้นที่

“ผมได้รับบาดเจ็บ” ผมตะโกนเรียกเพื่อนร่วมงาน “ขาขวาท่อนล่างถูกระเบิดไม่เหลือ แขนขวา
โดนหนัก รีบติดต่อวิทยุว่ามีเฮลิคอปเตอร์ของยูเสดจะมาช่วยเราได้ไหม ขอเจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉิน
2 คนก็พอ เข้ามาในช่องทางผ่าน และนำเปลสนามมาด้วย”

ผมลุกขึ้นนั่งพลางยกขาขวาขึ้นเพื่อให้ปลายกระดูกส่วนที่เหลือแต่ตอพ้นจากพื้น จากนั้นก็เอนตัว
ไปข้างหลังโดยใช้ศอกยันไว้ แล้วใช้เท้าซ้ายค่อยๆ ถีบตัวให้คืบไปข้างหน้ากลับไปที่หลุมระเบิดเพื่อดู
ให้ชัดว่าระเบิดแบบไหนที่ทำให้ผมได้รับบาดเจ็บ

ผมหยิบดินที่เป็นผงขึ้นมาตรวจ และสังเกตว่าไม่มีชิ้นส่วนใดที่ระบุว่าเป็นทุ่นระเบิดปิ่นโต
อาจเป็นระเบิดชนิดอื่นเช่น 969 ซึ่งมีส่วนประกอบของโลหะน้อย เครื่องจึงตรวจไม่พบ

ผมจะต้องไปอยู่ในที่ปลอดภัยที่สุดเพื่อให้เจ้าหน้าที่แพทย์เข้ามารับตัว ดังนั้นจึงคลานถอยหลัง
ราว 1 เมตรและนอนรอบนพื้นหญ้าที่ตัดเตียนแล้วในช่องทางผ่าน

เสียงคนร้องดังขึ้นข้างหลังแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่นั่นเอง เขาจ้องมองสภาพแผลที่ขาผมด้วย
ดวงตาเบิกโพลงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่ามีแผลบาดเจ็บอะไรที่ไหนอีก ผมสวมชุดเกราะกันหน้าอกและ
ดวงตาเอาไว้ อย่างน้อยก็ยังมองเห็นว่าช่องท้องไม่ได้รับบาดเจ็บ

ผมรู้สึกราวกับอยู่ในกองเพลิง เหมือนตัวเองกำลังจะตาย ในวินาทีนั้น ผมพึมพำภาวนาว่า
“ขอให้พระเจ้าช่วยด้วยเถิด

การถูกทุ่นระเบิดในช่องทางผ่านที่ระบุว่าปลอดภัยนับเป็นเรื่องเหลือเชื่อ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ทำไมต้องเป็นผม แต่ความคิดแบบนั้นเป็นทัศนะของคนขี้แพ้ ผมเลือกจะมาที่นี่เอง

เจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่ทั้งสองช่วยกันหามผมขึ้นเปลสนาม แซมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชาว
โมซัมบิกวิ่งหน้าตื่นเข้ามาบอกว่า “ติดต่อเฮลิคอปเตอร์ให้มารับได้แล้ว โชคดีที่อยู่ใกล้ๆ”

พวกเขาอุ้มผมขึ้นเปลหามไปที่เฮลิคอปเตอร์ ผมเห็นลำตัวเครื่องมันวับสีเหลือง ดำและขาว ดู
โดดเด่นท่ามกลางสุมทุมพุ่มไม้ “ทำใจดีๆ ไว้ เราจะรีบพาคุณไปให้เร็วที่สุด” นักบินหันมาพูดปลอบใจ

ความร้อนเหมือนมีกองไฟในลำคอแผ่ลงไปถึงหน้าอก ผมมองหน้าแซม “บอกเจ้าหน้าที่ให้เสียบ
สายน้ำเกลือและให้น้ำยาริงเกอร์ (Ringer's Solution) กับผมเร็วเข้า ผมไม่อยากตายเพราะขาดน้ำ”

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ค. 20, 2024 7:50 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 5 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เมื่อเฮลิคอปเตอร์เริ่มทะยานขึ้นเหนือยอดไม้ เจ้าหน้าที่แทงเข็มเข้าไปในแขนทั้งสองข้างและให้น้ำเกลือ
เข้าทางสาย แต่ผมไม่แน่ใจว่าเขาไล่น้ำเกลือเข้าเต็มสายก่อนแทงเข็มหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีน้ำเกลือแต่เป็น
ฟองอากาศผมอาจตายได้ ผมลุกขึ้นนั่งและพยายามอธิบาย แต่พออ้าปากเสียงกลับแหบหายไปสิ้น ผมใช้
วีธีชี้นิ้วแทน เขามองตอบอย่างเห็นใจและพยายามจับผมนอนลง คงคิดว่าผมเพ้อ

เจ้าหน้าที่เอื้อมมือไปที่สวิตซ์อีกครั้ง ผมไม่มีทางเลือกแล้ว จึงตัดสินใจใช้มือซ้ายดึงสายน้ำเกลือทางแขน
ขวาออก ผมใช้มือขวาไม่ได้จึงใช้ปากกัดแผ่นพลาสติกแข็งตรงโดนเข็มไว้และสลัดแขน ในที่สุด สายน้ำเกลือ
ก็หลุด ผมคายเข็มทิ้ง เห็นมันหล่นลงไปบนชุดเปื้อนเลือดที่ตัวเองสวมอยู่

ผมต้องหาทางดับไฟในคอ น้ำยาริงเกอร์เป็นสารละลายที่มีความเข้มข้นของเกลือเทียบเท่ากับเลือด
มันจะซึมเข้าผนังลำไส้เกือบทันที ในเมื่อผมไม่ได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้องก็น่าจะดื่มได้ แม้ความคิดนี้จะขัดกับ
ทฤษฎีการแพทย์แต่ก็ดีกว่าต้องตายเพราะขาดน้ำเหมือนที่รู้สึกในตอนนั้น

ผมเอื้อมมือซ้ายขึ้นไปดันถุงพลาสติกใส่น้ำเกลือให้หลุดจากตะขอ จากนั้นก็ใช้ปากกัดถุงขาดเป็นรูและ
เงยหน้าให้น้ำเกลือไหลเข้าปาก ผมดื่มอย่างตะกรุมตะกราม ผมคว้าอีกถุง ใช้ปากกัดและดื่มจนหมด รู้สึกดึขึ้น
หน่อยแต่ก็ยังกระหายอยู่ ผมหันไปทางเจ้าหน้าที่คนเดิม ใช้มือซ้ายทำท่าลูบที่ท้องและชูนิ้วแม่โป้งขึ้น คราวนี้
เขาเข้าใจ หยิบกรรไกรเจาะรูที่ขวดบรรจุพลาสมาแล้วส่งให้ ผมยกขึ้นจ่อที่ปากและดื่มจนชุ่มใจ

ตอนนี้ ผมดื่มน้ำไปแล้วเกือบ 3 ลิตร คิดว่าตัวเองคงรอดชีวิตไปจนถึงโรงพยาบาล เสียงเฮลิคอปเตอร์
ดังกระหึ่มขณะที่อาการเจ็บปวดทวีความรุนแรงขึ้น ผมอยากส่งเสียงร้องออกไปดังๆ แต่ต้องฝืนทำใจแข็งไว้

ผมลุกขึ้นนั่งขณะที่เฮลิคอปเตอร์เริ่มลดระดับ เบื้องล่างมีรถตู้จอดรออยู่ เพื่อนร่วมงานของผมคือรูเพิร์ต
อดีตเจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉิน และมาร์ยอเลน แพทย์ประจำหน่วยแอ็กชั่นเอดยืนอยู่ข้างรถ ตอนที่พวกเขาหาม
ผมออกมา ผมถามว่า “คิดว่าผมจะรอดไหม?”

“รอดสิ” มาร์ยอเลนตอบ “แต่อาจไม่หล่อเหมือนเดิมเท่านั้น เราจะทำปฐมพยาบาลเพื่อให้อาการ
ไม่ทรุดลง แล้วรีบพาคุณไปแอฟริกาใต้ให้เร็วที่สุด”

โปรดติดตามตอนที่ ( 6 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ค. 21, 2024 8:22 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 6 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)วันคืนแห่งความเจ็บปวด

“คุณมูนครับ” มีเสียงเรียกขึ้นมา “ได้ยินผมไหมครับ” ผมฝืนใจตอบเสียงสั่นๆ กลับไปว่า “ได้ยินครับ”
รู้สึกเหมือนนิ้วถูกฉีกเป็นชิ้นๆ ด้วยเครื่องขูดเคลือบน้ำกรดฝ่ามือราวกับถูกสิ่วร้อนแดงเจาะทะลวง
ผมพยายามขยับมือแต่ความเจ็บปวดรวดร้าวพุ่งจี๊ดจนทนไม่ไหว เหมือนถูกถลกหนังทั้งเป็น

“ตอนนี้คุณอยู่ในโรงพยาบาลที่แอฟริกาใต้ จำได้ไหมว่า คุณบาดเจ็บเพราะโดนระเบิด”

“ครับ ผมจำได้ว่าขาขวาท่อนล่างถูกระเบิดขาด”

“ผมเป็นหมอผ่าตัดให้คุณ และจะบอกว่า ผมเพิ่งตัดมือขวาของคุณบริเวณใต้ข้อมือลงมา 10 เซนติเมตร
แม้มีโอกาสเล็กน้อยที่จะเก็บมือข้างนั้นไว้ แต่คิดว่าคงใช้งานไม่ได้อีก ถ้าจะผ่าตัดแก้ไขคงต้องใช้เวลา
กว่า 2 ปี และท้ายที่สุดก็อาจจะต้องตัดทิ้งเหมือนกัน”

ผมกลับโล่งใจเมื่อได้ฟังข่าวร้าย อย่างน้อยหมอก็พูดตรงๆ ผมยังไม่ตาย ปัญหาอะไรที่กำจัดได้
ตั้งแต่ตอนนี้ผมก็เห็นด้วย ดีกว่าต้องวุ่นวายตามแก้ไขภายหลัง ผมเคยได้ยินมาว่า หลังตัดแขนขา
คนไข้จะรู้สึกหลอนว่าอวัยวะนั้นยังอยู่ เพราะเหตุนี้ ผมจึงรู้สึกเจ็บมือขวามาก

“ขอบคุณครับ” ผมบอก “ผมอยากกลับไปทำงานให้เร็วที่สุด”

คืนนั้น ผมฝันแปลกๆ สับสนและเจ็บแผลมาก พอลืมตาขึ้นก็เห็นไฟสีเขียวอมเทา ภายในห้อง
ผู้ป่วยหนักมีม่านปิดรอบด้านเพื่อดูจอแสดงการเต้นของหัวใจ

หมอกลับมาที่เตียงแล้วถามว่า ผมยังเจ็บอยู่หรือไม่ ผมบอกว่ายังรู้สึกแปลบๆอยู่บ้าง เขาเลย
ให้เครื่องจ่ายยาเข้าเส้นเลือดที่ใช้มือปั๊มได้เอง

ผมไม่อยากพึ่งใครหรือเครื่องมือใดๆ ทันทีที่เอาปั๊มออก ผมไม่ยอมกินยาแก้ปวดและจะต้องสั่งสมอง
ให้ทนต่อความเจ็บปวดที่หลอนอยู่ให้ได้ เท่าที่รู้ ผมอาจต้องเผชิญกับความรู้สึกหลอนเช่นนี้ตลอดไป

หมอบอกว่า ผมโชคดีมากที่รอดชีวิตทั้งที่เสียเลือดมากขนาดนั้น “คนสุขภาพดีโดยทั่วไปนับเม็ด
เลือดแดงได้ 16 แต่ถ้าบาดเจ็บสาหัส จำนวนเม็ดเลือดแดงจะตกฮวบอย่างรวดเร็วนับได้แค่ 4 และมักจะ
ไม่รอด แต่ตอนคุณมาถึงโรงพยาบาลนับได้แค่ 2 เท่านั้น

เตียงล้อเลื่อนเคลื่อนไปตามพื้นกระเบื้องมันวาว หลังนอนบนเตียงมานาน การได้ออกจากห้อง
ไปแค่ระเบียงก็ถือเป็นการผจญภัยที่แท้จริงแล้ว

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ที่หมอเฉือนชิ้นเนื้อติดเชื้อออกจากปลายขาของผม หวังว่าพวกเขาคงเอาเศษผง
ชิ้นสุดท้ายที่ฝังอยู่ในแผลตามแรงระเบิดออกจนหมด เพราะตอนนี้ เนื้อใต้เข่าแทบไม่มีอะไรเหลือแล้ว

ผมนอนโรงพยาบาลนาน 10 วัน เวลาว่าง เจ้าหน้าที่จะพาผมนั่งเก้าอี้ล้อเลื่อนออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์บ้าง
เสื้อผ้าของผมหลวมโพลก รู้สึกอ่อนเปลี้ยไร้เรี่ยวแรงขณะพยายามดันตัวเองเพื่อขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ล้อเลื่อน
พยาบาลร่างบางคนหนึ่งกุลีกุจอเข้ามาช่วยผมรีบเตือนว่า “ระวังนะคะ เดี๋ยวจะปวดหลัง” เธออุ้มผมไว้ใน
อ้อมแขนเหมือนกำลังอุ้มเด็ก ท่าทางง่ายดาย แทบไม่ต้องออกแรงด้วยซ้ำ

หมอตรวจปลายขาที่เหลือและบอกว่า “ข่าวดีครับ ไม่มีอาการอักเสบเพราะติดเชื้อ คิดว่าตอนนี้ปลอดภัย
พอจะปิดแผลได้ ผมคุยกับนักกายภาพบำบัดแล้ว พวกเขากำลังเตรียมไม้ค้ำให้คุณ แบบที่เหมาะน่าจะเป็น
แบบสอดใต้รักแร้และมีสายรัด คิดว่าราวสัปดาห์หน้าคุณคงเดินได้”

โปรดติดตามตอนที่ ( 7 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ค. 22, 2024 1:43 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 7 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ต่อมา นักกายภาพบำบัดหอบกระดาษสีน้ำตาลห่อใหญ่เข้ามา ในนั้นป็นไม้ค้ำ เธอช่วยพยุงไหล่ผม
ไว้ให้หัดเดินด้วยไม้ค้ำ ผมเริ่มเดินไปรอบๆ ห้อง และท้ายที่สุดก็เดินไปถึงระเบียง

“ก้าวสั้นๆ ก่อน” เธอแนะ “เกิดล้มไปตอนนี้เดี๋ยวจะหายยากนะ
เราเพิ่งเดินกันได้นิดหน่อย แต่ผมกลับเหงื่อแตกพลั่กเหมือนคนอ้วนฉุที่เพิ่งไต่บันไดตึกเอ็มไพร์สเตท

“ที่คุณเหงื่อออกมากเพราะจำนวนเม็ดเลือดแดงยังต่ำอยู่ เรากลับเข้าไปกันเถอะ”

เมื่อกลับไปนั่งที่เตียง ตัวผมโชกไปด้วยเหงื่อ ผมต้องยอมรับว่า ยากกว่าที่คิดไว้มาก

“อยากได้อะไรอีกหรือเปล่า” เจ้านายของผมถาม ฟังเหมือนกับว่าเขาอยู่ห้องข้างๆ แทนที่จะเป็นอีก
ซีกโลกที่สำนักงานในกรุงลอนดอน

“ผมอยากได้รองเท้าแบบผ้าใบพื้นยางหรือรองเท้าที่ใส่ในเรือแบบที่ไม่ลื่น”

วันรุ่งขึ้น ริชาร์ดซึ่งจะไปรับหน้าที่แทนผมที่โมซัมบิกเดินเข้ามาในห้องพร้อมกับยื่นถุงมียี่ห้อห้างแฮรอดส์
ส่งให้ ในถุงมีรองเท้าหนังพื้นยางแบบที่ใส่ในเรือ หนังสือ และช็อกโกแลต ของขวัญจากเจ้านาย

ผมลองสวมรองเท้าใหม่ กว่าจะร้อยเชือกรองเท้าเสร็จด้วยมือข้างเดียวต้องใช้เวลาถึง 10 นาที ผมค่อยๆ
เดินไปตามระเบียงจนถึงประตูทางออกแล้วเดินกลับ

การสวมรองเท้าทำให้รู้สึกมั่นใจขึ้นมาก ผมค่อยๆ เร่งฝีเท้าแล้วลองเดินให้เร็วที่สุด ทันใด เท้าก็ลื่นไถล
ไปข้างหน้า ผมรีบยื่นไม้ค้ำออกไปเพื่อประคองตัวไม่ให้ล้ม หัวใจเต้นแรงเหมือนกลองรัว ไม่อยากจินตนาการ
เลยว่าถ้าล้มลงไปจริงๆ จะเป็นเช่นไร

ผมหันหลังมองไปที่โถงทางเข้าและสัญญากับตัวเองว่าจะก้าวออกจากที่นี่ด้วยตัวเอง ผมเดินกลับห้อง
และทิ้งตัวลงเตียง ตอนนี้ตั้งเป้าหมายแรกไว้แล้ว แต่อดวิตกไม่ได้เหมือนกันว่าอาจทำไม่สำเร็จ

ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธก็คือ ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนที่ยังไม่ได้รับบาดเจ็บ ให้วิ่ง 15 กิโลเมตรยังเหนื่อย
น้อยกว่าตอนนี้ทั้งที่เดินไปตามระเบียงเท่านั้น ผมรู้สึกหงุดหงิดและโกรธ แต่ก็ต้องพยายามทำใจให้พอใจกับ
สิ่งที่ทำได้และขอบคุณสิ่งที่เป็นอยู่

หมอเข้ามาดูอาการผมในวันนั้น เขายิ้มให้และบอกว่า “ตอนคุณมาถึงโรงพยาบาลแรกๆ ผมคิดว่า
คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์กว่าคุณจะหายดีเดินปร๋อได้อีก แต่ตอนนี้แค่ 3 สัปดาห์ คุณก็แข็งแรงพอจะ
กลับบ้านได้แล้ว อาการคุณดีขึ้นรวดเร็วมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ ขั้นต่อไปคือใส่แขนขาเทียมและหัดใช้
ให้คล่อง สถานที่สะดวกที่ควรไปคือโรงพยาบาลโรแฮมป์ตัน (Roehampton Hospital) ในกรุงลอนดอน

โปรดติดตามตอนที่ ( 8 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ค. 23, 2024 12:27 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 8 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)อนาคตจะเป็นอย่างไร

โรงพยาบาลโรแฮมป์ตัน ซึ่งเปิดมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นศูนย์ฟื้นฟูสำหรับคนที่ได้
รับบาดเจ็บ บริเวณโรงพยาบาลเต็มไปด้วยตึกที่มีระเบียงเป็นอุโมงค์เชื่อมโยงกันเหมือนใยแมงมุม
เจ้าหน้าที่พาผมไปที่ห้องพักในแผนกศัลยกรรมแขนขา ผมอยู่ห้องเดี่ยวแยกจากคนอื่น เพราะพวกเขา
เป็นห่วงเรื่องโรคติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อเอ็มอาร์เอสเอ
(MRSA : Methicilin Resistant Staphylococcus Aureus) ซึ่งทำให้แผลเน่าเรื้อรังไม่หายและดื้อต่อ
ยาแก้อักเสบ ผมหวังว่าคงจะไม่ติดเชื้อโรคที่ว่านี้

เช้าตรู่วันที่ 28 มีนาคม 2538 พยาบาลจัดแจงช่วยให้ผมเข้าพักในห้อง เธอบอกว่าอย่าเพิ่งใช้ไม้
ค้ำเดิน ให้ใช้เก้าอี้ล้อเลื่อนแทน “เราต้องการให้แผลคุณหายบวมเร็วที่สุดก่อนจะใส่แขนขาเทียมให้”
ผมพยายามคิดถึงอนาคตระยะยาวและลืมความอึดอัดของการเคลื่อนไหวไม่สะดวกในระยะนี้

เวลาอยู่คนเดียว ผมพยายามอ่านหนังสือแต่รู้สึกเหนื่อยเกินกว่าจะอ่านได้ มีเสียงเคาะประตู
ผมเห็นใบหน้ายิ้มร่ามีหนวดเคราของเกลอเก่า จอห์นนั่นเอง “สวัสดี นายผอม” เขาทักทาย
“เพิ่งไปลดความอ้วนมาหรือไง”

ผมยิ้ม “ไปลดตามแผนระเบิดน้ำหนักไงล่ะ ตูมเดียวแค่เสี้ยววินาทีหายไป 10 กิโลฯ”

วันนั้นพ่อแม่กับพี่สาวก็มาเยี่ยม ปกติพ่อจะทักทายผมด้วยเสียงหัวเราะหรือเรื่องตลก แต่คราวนี้ท่าน
จับมือซ้ายของผมไว้แล้วพูดว่า “พ่อเป็นห่วงมากตอนที่ได้ยินข่าว” ครอบครัวเราไม่ค่อยแสดงความรู้สึกกัน
แต่ก็ใกล้ชิดกันมาก

พวกเขาเอารูปครอบครัวออกมาอวด พ่อบอกว่า “สัปดาห์ก่อนเราเอารูปพวกนี้ออกมาดูกัน เลยคิดว่า
ลูกคงอยากดูด้วย”

หน้าแรกเป็นรูปของพวกเราในสวน รูปต่อมา ผมกับลุงโรเจอร์ที่ฟาร์มของเขาในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว
รูปช่วงแรกๆ ที่ผมเพิ่งเป็นทหารรับการฝึกหลักสูตรจู่โจม และรูปผมในชุดกีฬาหลังกลับจากกิจกรรมโปรด
คือการวิ่ง

เมื่อทุกคนกลับไปแล้ว ผมหวนคิดถึงรูปถ่ายพวกนั้นและเพิ่งตระหนักว่า ตอนนี้ผมไม่อาจทำกิจกรรมที่
เคยทำอย่างในรูปได้อีกแล้ว ถ้าตายไปเสียเลยก็คงจะง่ายกว่าผมยังมีอะไรเหลืออีกเล่า

คำตอบง่ายมาก ผมยังยังมีอนาคต

โปรดติดตามตอนที่ ( 9 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ค. 24, 2024 1:54 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 9 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เช้าวันรุ่งขึ้น ผู้หญิงวัยราว 20 เศษเข้ามาแนะนำตัวว่าชื่อแม็กกี้ เป็นนักกายภาพบำบัด เธอตรวจดู
วันผ่าตัดครั้งสุดท้ายของผม “ดิฉันต้องคุยกับหมอและแพทย์ที่ทำอวัยวะเทียมก่อน แต่คิดว่าเราน่าจะ
เริ่มกันที่แขนเทียมได้เร็วๆ นี้”

“กระบวนการทั้งหมดต้องใช้เวลาราว 4-6 สัปดาห์หลังคุณผ่านการตรวจโรคแล้ว เมื่อพร้อมเราจะ
ให้คุณใส่อุปกรณ์ช่วยเหลือ ซึ่งเป็นถุงเป่าลมที่ใส่ไว้ในโครงเหล็ก คุณจะได้เดินบนถุงนั้น ปลายขาที่กด
ลงบนถุงลมจะลดอาการบวมและช่วยให้คุณคุ้นเคยกับการใช้ขาเทียม”

ผมเตรียมตัวเดินก้าวแรกโดยใส่ท่อนขาเท่าที่เหลือเข้าไปในถุงสีเทาซึ่งอยู่ในโครงโลหะอีกที
และพยายามทำตัวให้นิ่งเวลากดเท้าอัดลมเข้าถุง แม็กกี้บอกว่า “เดี๋ยวใช้ไม้ค้ำลองยืนดูนะคะ”

ผมค่อยๆ ทิ้งน้ำหนักลงไปที่ปลายขา ผลลัพท์ไม่เลวร้ายนัก ผมเริ่มจากก้าวสั้นๆ อย่างระมัดระวัง
และค่อยๆ มั่นใจขึ้น

แม็กกี้แนะนำให้ผมรู้จักกับแพทย์ผู้ทำอวัยวะเทียม เขาบอกว่า
“เริ่มกันเลยดีกว่า เริ่มจากหล่อพิมพ์เป็นอันดับแรก”

เขาเอาปูนมาหล่อพิมพ์และรอให้ปูนแข็งตัว ตอนดึงปูนหล่อออก ผมรู้สึกแปลกๆ ที่เห็นแขนของตัวเองด้วน

ผลการตรวจระบุว่าผมไม่มีเชื้อเอ็มอาร์เอสเอซึ่งเป็นข่าวดี ผมพยายามหัดเดินให้มากขึ้นวันละนิด
และหยุดวันเสาร์เพื่อพักเติมพลัง ผมตื่นเต้นที่จะได้ออกไปเที่ยวกับฮุยและมาร์ตินเพื่อนจากกัมพูชา

ฮุยคว้าเก้าอี้ล้อเลื่อนเข็นลงไปตามระเบียง “ที่ผับริมน้ำ ดูหนังและหาอะไรกินกันหน่อยดีไหม ไหวหรือเปล่า”

“ตกลง”

เรานั่งในสวนที่ผับริมแม่น้ำเทมส์ จากนั้นก็ลัดเลาะไปตามถนนริชมอนด์เพื่อไปโรงหนัง หลังจากนั้นเรา
ก็ได้นั่งในภัตตาคาร ฮุยหั่นอาหารเป็นชิ้นๆ ให้ผมกินได้ หลังอาหารผมทำท่าจะลุกขึ้น ทันใดนั้นก็นึกขึ้นได้
ผมเผลอคิดว่ายังมีขาอยู่ คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะคุ้นกับความจริง

เมื่อกลับถึงโรงพยาบาล ผมทบทวนสิ่งที่ประสบมาในวันนั้น การที่ต้องพึ่งพาคนอื่นในทุกเรื่องเวลา
ออกไปข้างนอกสอนให้ผมรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนได้ดีทีเดียว

ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ผมน่าจะเลิกใช้เก้าอี้ล้อเลื่อนและใช้ขาเทียมได้ภายใน 2-3 เดือน ผมควรจะ
ไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง และมั่นใจว่าสามารถขับรถเกียร์อัตโนมัติได้ ผมตั้งใจจะกลับเป็นอิสระอีกครั้ง

โปรดติดตามตอนที่ ( 10 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ พ.ค. 25, 2024 3:17 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 10 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)ฝึกฝนใจจดจ่อ

อะลิสัน เจ้าหน้าที่กายภาพบำบัดบอกว่า “อีก 2-3 เดือนพอแผลที่ปลายแขนคุณหายแล้ว เราจะลอง
ใส่แขนเทียมไฟฟ้าที่ใช้ถ่านไฟฟ้าในการทำงานโดยรับสัญญาณจากประสาทที่ปลายแขนส่งเข้ามาและ
แปลงเป็นการเคลื่อนไหว”

หลังอาหารเช้าวันอาทิตย์หนึ่ง ผมดูการแข่งขันวิ่งลอนดอนมาราธอนทางโทรทัศน์ ขณะที่นักวิ่ง
ทะยานไปตามถนน ผมรู้ในวินาทีนั้นว่า ปีหน้าจะเข้าร่วมวิ่งมาราธอนด้วย

ทุกวัน ผมเฝ้ามองแผลที่เข่า แพทย์ผู้ทำอวัยวะเทียมมาหล่อเฝือกและเริ่มทำขาเทียมให้
ในที่สุด ผมก็จะกลับบ้านได้ เอียน(Ian)พี่เขยของผมมารับ เมื่อถึงบ้านผมเข็นตัวเองไปที่สวนหลังบ้าน
พ่อทำทางไว้เพื่อให้ผมเข้าประตูบานใหญ่ที่อยู่หลังบ้านได้ ผมเข็นเก้าอี้ล้อเลื่อนไปจนถึงปลายทาง
พ่อเดินลงมาที่สวนและบอกว่า “ดีใจที่ลูกกลับบ้าน วันนี้อยากทำอะไรล่ะ”

“ขับรถครับพ่อ เอียนอาสาจะพาผมไป”

เอียนดัดแปลงพวงมาลัยรถโดยติดปุ่มเพื่อช่วยให้หมุนง่ายขึ้นด้วยมือเดียว ผมคุ้นกับพวงมาลัย
แบบนี้เพราะรถแทรกเตอร์ส่วนใหญ่ที่มีระบบข้างหน้าจะติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อให้อีกมือว่างสำหรับ
ควบคุมส่วนอื่นๆ

หลังพักสักครู่ เราไปหัดขับรถกับเอียน ผมหัดกลับรถแบบ 3 มุม หยุดรถกะทันหันและเลี้ยวรถ
ในวงแคบ ขากลับ ผมขับแวะเข้าเมืองด้วยความมั่นใจและภูมิใจกับความสำเร็จ

สามวันต่อมา ผมลองขาเทียมเป็นครั้งแรก โดยสวมถุงเท้าที่ปลายขาก่อน แล้วค่อยสอดขาเข้าไป
ในเบ้าโฟมหล่อสีขาว จากนั้นจึงสอดลงไปในขาเทียมและรัดที่ยึดเหนือเข่า

เมื่อยืนได้แล้ว หมอจอห์นตรวจดูความยาวของขาเทียม ผมเริ่มก้าวแรกไปข้างหน้าช้าๆ ทันทีที่
ขาเทียมสัมผัสพื้น ผมรู้สึกว่าข้อเท้าและขาท่อนล่างหายไปแล้ว

ผมเริ่มเดินก้าวสั้นๆ ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงทรงตัวไม่ได้ทั้งที่ยังมีขาอีกข้าง ผมหัดเดินด้วยไม้เท้า 2 ข้าง
โดยไม่ต้องจับราว ผมเจ็บที่ปลายขา เมื่อถอดขาเทียมออกดู ปรากฏว่าบริเวณแผลเป็น เกิดแผลพุพอง
หลายแห่ง

ในระยะเริ่มต้น ทุกคนต้องผ่านอาการแบบนี้ทั้งนั้น ถ้าขืนทำต่อ เนื้อเยื่อที่แผลจะฉีก ต้องรอให้แผล
หายก่อนจึงจะเริ่มใหม่ได้

วิธีเดินให้สบายและเร็วที่สุดคือเดินลากขาแบบคนขาเป๋ เจ้าหน้าที่บอกว่าผมควรหัดอย่างค่อยเป็น
ค่อยไป มิฉะนั้นจะนิสัยเสียไปตลอด ผมทำตามทุกคำพูด และต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะทำได้ถูกต้อง
ระหว่างนั้นต้องฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ

“จะวิ่งได้ไหมครับ” ผมถาม

“ในบางกรณีก็เป็นไปได้ แต่ต้องใช้เวลาเหมือนกัน การที่ไม่มีขาช่วงล่าง ทำให้ต้องใช้พลังงาน
ในการเดินมากกว่าปกติถึง 30% และถ้าวิ่ง แรงบีบและกดที่ปลายขาจะเพิ่มขึ้นมหาศาล นอกจากนี้ยังส่ง
ผลกระทบต่อช่วงหลังและส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่ต้องคำนึงด้วย”

ที่สุดก็ถึงวันที่ผมจะได้กลับบ้านคือวันที่ 28 เมษายน ผมทำสำเร็จจนได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน
เมื่อกลับถึงบ้าน ผมใช้ชีวิตอย่างง่ายๆ พักผ่อนและซ้อมเดินมากเท่าที่จะทำได้ ผมเริ่มมั่นใจ
ในตัวเองมากขึ้นถึงขนาดไปเยี่ยมเพื่อนในลอนดอนได้เอง

โปรดติดตามตอนที่ ( 11 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ค. 27, 2024 4:20 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 11 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)จมหรือว่ายต่อ

ผมเดินไปบนกระเบื้องกันลื่นริมสระน้ำอย่างระมัดระวัง ผมนั่งที่ขอบสระ ปล่อยเท้าซ้ายห้อย
ลงน้ำ น้ำลึกท่วมหัวแน่ๆ แต่ผมอยากจะว่ายน้ำบริเวณที่ลึก อยากรู้ว่ายังว่ายน้ำได้อยู่หรือไม่ เพราะผม
ตั้งใจจะต้องหาทางออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งขึ้นมาใหม่และไม่อาจใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อน
ตลอดไปได้

แน่นอนผมยังว่ายน้ำได้ ถึงจะว่ายไม่ได้ก็ยังลอยตัวได้ ทันใดนั้น ผมรู้สึกว่าทั้งสระเงียบกริบ
คนที่ไปว่ายน้ำต่างลอยตัวจับตามอง เจ้าหน้าที่ประจำสระก็เดินมาทางผม
ผมมองดูน้ำในสระอีกครั้งหนึ่ง การหนีไม่เผชิญหน้าย่อมง่ายกว่า แต่ผมจะไม่มีวันยอมแพ้ไม่ว่าใครจะ
คิดอย่างไร ผมพุ่งตัวลงน้ำ โบกมือและตีขาจนขึ้นมาถึงผิวน้ำ หายใจเข้าลึกๆ การลอยตัวในน้ำทำได้
ไม่ยาก ตอนนี้ผมจะลองว่ายท่ากบดูบ้าง แต่ดูเหมือนจะว่ายเป็นวงกลมเสียเรื่อย

ผมปรับเปลี่ยนท่าว่ายและว่ายตามยาว 4 รอบ พัก 2-3 นาทีเมื่อถึงขอบสระแต่ละด้าน ผมว่ายกลับไปที่
กลางสระ ทันใดนั้นก็เห็นคนว่ายฟรีสไตล์ตรงมาที่ผม แขนจ้วง นัยน์ตาปิดและชนผมเข้าอย่างจัง ตูม
ชั่ววินาทีนั้นความเจ็บปวดทำให้ผมชาไปทั้งตัวและสำลักน้ำ ผมตะเกียกตะกายด้วยความตกใจและ
กำลังจะจมน้ำ

ผมเคว้งคว้างอยู่พักหนึ่ง จากนั้นค่อยๆ ประคองตัวให้ลอยขึ้นเหนือน้ำได้ คนที่ว่ายมาชนยังก้มหน้าก้มตา
ว่ายต่อไปเหมือนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผมก้มดูแผลที่ปลายขา ส่วนที่โดนชนเป็นปลายกระดูกจึงรู้สึก
ปวดมากหลังจากนั้น 2-3 นาทีผมก็ว่ายต่อไปได้ เมื่อขึ้นจากสระ ผมใส่ขาเทียมกลับอย่างเร็วและรีบเดิน
กลับไปที่ห้องแต่งตัว ไม่สนใจใครทั้งสิ้น เพราะผมทำได้แล้ว ผมรู้สึกมีชีวิตอยู่อย่างเต็มภาคภูมิ

โปรดติดตามตอนที่ ( 12 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ค. 27, 2024 4:28 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 12 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)ความอดทน

เมื่อไม่สามารถกลับไปทำงานภาคสนามได้ในทันทีแล้วแน่ๆ ผมจึงตัดสินใจเรียน
ปริญญาโทสาขาบริหารการรักษาความปลอดภัย ชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องน่าตกใจ
สำหรับผมไม่น้อย แถมลายมือก็ขยุกขยิกและเขียนได้ช้ามาก

ห้องนอนเดี่ยวของผมอยู่ห่างจากตึกเรียนประมาณ 2 นาที ผมอยู่คนเดียว ทำความสะอาดและ
หุงหาอาหารเอง บางครั้งต้องใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมงในการทำงานบ้าน ทำความสะอาด และดูแล
ตัวเองตลอดจนแขนขาเทียมเสร็จ

เวลาว่างช่วงสุดสัปดาห์ ผมไปหาอะลิสันที่ลอนดอน ผมพบเธอที่งานเลี้ยงแต่งงานของเพื่อน
เธอเป็นผู้จัดการฝ่ายสัญญาและปฏิบัติการของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในย่านธุรกิจและใช้เวลาว่าง
วันเสาร์ช่วยงานที่สโมสรเด็กพิการ

อะลิสันเป็นสาวนัยน์ตาสีฟ้า มีอารมณ์ขันเหลือเฟือและตรงไปตรงมา ผมอยากใช้ชีวิตร่วมกับ
เธอถ้าเป็นไปได้

มีสิ่งหนึ่งที่ผมตั้งใจจะทำให้ได้ คือเข้าร่วมวิ่งแข่งลอนดอนมาราธอนในเดือนเมษายน หมอจอห์น
วิจัยค้นคว้าเพื่อผลิตแขนขาเทียมดีที่สุดให้ผมใส่วิ่ง โดยใช้คาร์บอนไฟเบอร์เป็นวัสดุทำให้เกิดแรงส่ง
เหมือนสปริงเวลาวิ่ง

ผมใส่ขาเทียม ปิดประตูรถใส่กุญแจ และเดินผ่านประตูสวนเข้าไป ผมกะจะเดินเร็วๆ สลับกับวิ่ง
เหยาะไปตามความยาวของสนามฟุตบอลรอบละ 15 นาที ปิดท้ายด้วยการวิ่งรอบสนามขอบนอก

ผมรู้สึกผิดหวังกับตัวเองมาก คิดว่าเมื่อใส่ขาเทียมสำหรับวิ่งแล้วจะออกวิ่งได้เลย ประสาททุกเส้น
ของผมร้องว่า “เจ็บ” และสัญชาตญาณทุกส่วนบอกให้หยุด ผมนอนลงบนสนามหญ้าแล้วร้องไห้

ผ่านไป 15 นาที ถึงเวลาต้องวิ่งรอบสนามใหญ่แล้ว พอล้มเป็นครั้งที่ 3 ผมก็ลุกขึ้นและไปต่อ

เหลืออีกเพียง 5 นาที หลังผมปวด กล้ามเนื้อขาขวาร้าวไปหมด ผมจะต้องทำให้ได้ ในที่สุด ผมก็
ไปถึงประตู ใช้เวลาทั้งหมด 33 นาที ผมเดินกลับไปที่รถ พยายามควบคุมความรู้สึกผิดหวังแล้วผมจะ
เข้าร่วมแข่งมาราธอนได้หรือ

เมื่อถึงปลายปี ผมคิดและเขียนได้เร็วขึ้นจนเข้าไปนั่งสอบได้ไม่แพ้คนอื่น ปกติผมจะซ้อมวิ่งช้าๆ
ได้แค่ 5 รอบ จากนั้นปลายขาจะหดตัวจนร่องขาเทียมหลวมไม่พอดี

ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมเป็นต้นมา ผมเริ่มวิ่งอีกครั้งและทำงานเป็นบ้าเป็นหลังโดยช่วยองค์กร
การกุศลอ็อกซ์แฟม (OXFAM) ระดมทุนสร้างศูนย์ฟื้นฟูสำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดในกัมพูชา
ถึงปลายเดือนมีนาคม ผมวิ่งได้ไกลที่สุดราว 10 กิโลเมตร

โปรดติดตามตอนที่ ( 13 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ค. 28, 2024 4:53 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 13 )
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)ถึงเวลาวิ่งมาราธอน

อะลิสันยืนเกาะราว เธอจูบผมและอวยพรว่า “ขอให้โชคดีค่ะ” ผมขยับเข้าไปร่วมวงกับนักวิ่งเกือบ
30,000 คน ทุกคนติดหมายเลขประจำตัวในการแข่งวิ่งลอนดอนมาราธอน จุดเริ่มต้นอยู่ใกล้กรีนิช
(Greenwich) แดดเริ่มแรงแล้ว คงจะเป็นวันที่ร้อนมากวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการแข่งวิ่ง
ลอนดอนมาราธอน

เราเริ่มต้นเป็นระยะไกลมากก่อนเสียงปืนดังขึ้น จากนั้นค่อยๆ เดินและเร่งความเร็วขึ้นมาเป็น
วิ่งเหยาะๆ ระดับมาตรฐานของผมยังนับว่าช้า ผมค่อยๆ เร่งฝีเท้าแล้วรักษาความเร็วให้สม่ำเสมอ

เรามุ่งหน้าลงเนินไปก่อนจะตีวงอ้อมกลับมาที่กรีนิช มีคนยื่นขวดน้ำมาให้ตอนถึงจุดพักจุดแรก
ผมฝืนใจกลืนน้ำเข้าไปหลายอึกทั้งที่ยังไม่กระหายเลย แต่เมื่อวิ่งมาได้เกือบ 8 กิโลเมตรผมก็เหงื่อ
โทรมไปทั้งตัวและต้องดื่มน้ำตลอด

เสาหินอลังการของวิทยาลัยนาวีตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า อะลิสันคอยเชียร์อยู่ข้างถนนพร้อมกับ
เพื่อนๆ จากอ็อกซ์แฟมกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับต่อชีวิตและทำให้ผมกระโจนไปข้างหน้าด้วยหัวใจที่ลิงโลด
ขณะก้าวข้ามทาวเวอร์บริดจ์ ผมได้ยินเสียงอะลิสันและเพื่อนๆ จากอ็อกซ์แฟม “วิ่งต่อไปคริส คุณทำเวลา
ได้ดี ทำให้ได้”

อีกฝั่งของสะพาน ฝูงชนที่มาเชียร์บางตาลง ผมเหนื่อยเหลือเกิน อยากล้มตัวลงนอนกลางถนนและหลับสักงีบ

ทันใดนั้น มีเสียงผู้ชายตะโกนเรียกอยู่ด้านหลัง “คริส คริส”

ผมเห็นหนุ่มนักกีฬาตัวสูงวัย 20 เศษท่าทางการวิ่งแปลกๆ เมื่อมองไปอีกครั้งก็รู้ว่าเป็นบ็อบ เขาเหยียบ
ถูกทุ่นระเบิดในบริเวณที่ระบุว่าปลอดภัยแล้วในประเทศรวันดา และต้องใช้ขาเทียมเหมือนกัน เราไม่ได้พบกัน
เลยตั้งแต่ครั้งที่เขาช่วยเข็นเก้าอี้ล้อเลื่อนให้ผมในโรงพยาบาลโรแฮมป์ตัน เราต่างวิ่งเข้าหากัน จับมือทักทาย
และวิ่งคู่กันไป

บ็อบวิ่งให้กับสมาคมทหารผ่านศึกที่แขนขาพิการของอังกฤษ ผมรู้ดีว่าเขาจะไม่มีวันยอมแพ้ ผมได้แต่หวังว่า
จะวิ่งตามเขาทัน ผมหายใจหอบขณะถามเขาว่า “บ๊อบ ถามจริงๆ เถอะ คุณรู้สึกยังไงบ้าง”

เขาหันมามองผม “ปลายขาผมยับเยินหมดแล้ว”
“ของผมก็เหมือนกัน”
“มาวิ่งให้ช้าลงกันหน่อยเถอะ ไม่งั้นเราคงไปไม่ถึง”

เราเปลี่ยนมาเดิน ผมพยายามสะกดความปวดจากตะคริวและท่องประโยคเด็ดของผม
“ความล้มเหลวไม่ใช่ทางเลือก” แล้วเราก็ออกวิ่งอีกครั้ง

โปรดติดตามตอนที่ ( 14 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ค. 29, 2024 12:52 pm

ก้าวต่อไป ตอนที่ ( 14 ) (ตอนจบ)
โดย คริส มูน (Chris Moon เกิด 5 พ.ค.2505) เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน
สิงหาคม 2543 และจาก กูเกิล 2566 http://www.militaryspeakers.co.uk/speakers/chris-moon/
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

บ็อบกับผมวิ่งต่อไปอย่างตุปัดตุเป๋ เมื่อเลี้ยวเข้าไปในท่าเรือเซนต์แคเทอลีน มีคนตะโกนขึ้นว่า
“35 กิโลฯ แล้ว อีกแค่ 6 กิโลฯ เท่านั้น”

เรามองหน้ากันและหัวเราะ “วิเศษจริงๆ อีก 6 กิโลฯ เท่านั้น”

ผมเคลื่อนที่ต่อไปเสมือนกำลังลุยเลน บ็อบพูดขึ้นว่า “วิ่งต่อไป คริส คุณทำได้ดีมาก” ผมรู้ว่าเขาโกหก

บางครั้ง ผมก็หยอดคำหวานแบบเดียวกันให้เขาด้วย เมื่อเห็นตึกรัฐสภาอยู่ตรงหน้า รู้สึกเรียก
กำลังขึ้นมาอีกโข เราเกือบถึงแล้วและจะได้หยุดพักเสียที เราเลี้ยวเข้าสู่ถนนหน้ารัฐสภา คลื่นมหาชน
ส่งเสียงตะโกนเชียร์ลั่น

เราวิ่งด้วยพละกำลังทั้งหมดที่เหลืออยู่ ความรู้สึกเจ็บปวดทั้งมวลหายไปชั่วขณะ ผมคว้าแขนบ็อบ
ไว้และทะยานเข้าสู่เส้นชัย เราผ่านประตูเข้าไปพร้อมๆ กันใช้เวลา 5 ชั่วโมง 39 นาที

เราทุกคนสามารถก้าวข้ามขีดที่คิดว่าทนไม่ไหวแล้วได้อีกก้าวเสมอ

ผมเห็นอะลิสันยืนคอยอยู่แล้ว เธอเข้ามากอดและชมว่า “ยอดเยี่ยมมาก บรรลุเป้าหมายไปอีกอย่าง
แล้วต่อด้วยอะไรดีล่ะ”

“คุณจะว่ายังไงถ้าจะแต่งงานในเดือนสิงหาคมนี้”

เธอยิ้มและตอบว่า “ตกลงค่ะ”

(*)หมายเหตุ

อะลิสันกับคริสแต่งงานกันหลังจากนั้น คริสเปิดบริษัทของตัวเองชื่อ “Making the Best ” เป็นบริษัท
ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลและการบริหารความปลอดภัย เขายังคงเข้าร่วมแข่งวิ่งลอนดอนมาราธอน
เพื่อการกุศล นอกจากนี้ยังเป็นผู้พิการแขนขาคนแรกที่เข้าเส้นชัยในการวิ่งลอนดอนมาราธอน ซึ่งจัดว่า
เป็นรายการแข่งวิ่งโหดที่สุดในโลก คริสทำงานให้กับองค์กรการกุศลเพื่อคนพิการหลายแห่ง ทั้งยังเป็น
ทูตสำหรับกองทุนเจ้าฟ้าชายชาลส์ด้วย
คริสเรียนรู้วิธีวิ่งด้วยตัวเองและเชื่อกันว่าเป็นนักวิ่งพิการระยะไกลโพ้นคนแรกของโลก.
(the world's first amputee ultra distance runner)

ในปี 2540 คริสร่วมวิ่งในรายการ “Marathon De Sables” หรือ “Sahara Marathon” เป็นการวิ่ง
ในทะเลทรายซาฮาราทางตอนใต้ของประเทศโมรอกโค ใช้เวลา 6 วัน ระยะทาง 250 กิโลเมตร (160 ไมล์)
ซึ่งเป็นการวิ่งอัลตร้ามาราธอนที่โหดที่สุดในโลก
ล่าสุดคริสร่วมวิ่งรายการ "การแข่งขันวิ่งด้วยเท้าที่โหดที่สุดในโลก" (“Badwater Death Valley”)
ในหุบเขามรณะของรัฐแคลิฟอร์เนีย ระยะทาง 135 ไมล์ (217 กม.) การแข่งขันเริ่มต้นที่ระดับ 86 เมตร
ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล โดยมีเส้นชัยอยู่ที่ Whitney Portal ที่ระดับความสูง 2,550 ม.เหนือระดับน้ำทะเล
การแข่งขันอยู่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมของทุกปีซึ่งเป็นช่วงที่สภาพอากาศรุนแรงที่สุดและอุณหภูมิ
อาจสูงถึง 54 °C. คริสใช้เวลารวม 41 ชั่วโมง 51 นาที ซึ่งน้อยกว่าเวลาที่เคยทำไว้ก่อนหน้านั้นถึง 12 ชั่วโมง

********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ค. 31, 2024 9:25 pm

สงสัยจริง มีทั้งหมด ( 10 ) เรื่อง


สงสัยจริง จากหนังสือสรรสาระ รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เรื่องที่ (1). การถ่ายเลือด (จากผู้บริจาค) จะทำให้ดีเอ็นเอ (DNA) ของผู้รับเลือดเปลี่ยนแปลง
ไปหรือไม่ (ฉบับเดือนกรกฎาคม 2549)

------>ไม่ เพราะการถ่ายเลือดใช้เพียงส่วนประกอบบางอย่าง เช่น พลาสม่าหรือเกล็ดเลือดซึ่งไม่มี
เซลล์ที่ประกอบด้วยนิวเคลียส
ดีเอ็นเอที่เรานำมาใช้งานด้านนิติเวชนั้นมีอยู่ในนิวเคลียส เวลาเรารับเลือดมาจากคนอื่น เรารับ
มาประมาณครึ่งลิตร แต่เลือดในร่างกายของเรามีทั้งหมด 5 ลิตร เลือดที่รับเข้าไปใหม่จึงเจือจาง
ไปกับเลือดเดิม

**********************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ มิ.ย. 02, 2024 4:07 pm

สงสัยจริง จากหนังสือสรรสาระ รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เรื่องที่ (2).

ทำไมขวดไวน์ต้องมีรอยเว้าตรงฐานขวด (ฉบับเดือนพฤษภาคม 2549)

สาเหตุเพราะ

(1)) รอยเว้าทำให้ขวดตั้งได้มั่นคงกว่าฐานขวดเรียบแบน

(2)) รอยเว้าช่วยลดแรงกดดันและเพิ่มแรงต้านทานทำให้ขวดแข็งแรงมากขึ้น

(3)) รอยเว้าอาจเป็นรอยทิ่มด้วยไม้ยาวที่นักเป่าแก้วใช้ถือขวดขณะเป่าด้วยความร้อน
เพื่อขึ้นรูปขวด

*********************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ มิ.ย. 02, 2024 4:09 pm

สงสัยจริง จากหนังสือสรรสาระ รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เรื่องที่ (3).

ยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์ต่อบริเวณที่ติดเชื้อได้อย่างไร (ฉบับเดือนพฤษภาคม 2549)

-------> เวลาที่เรากินยาปฏิชีวนะไม่ว่าจะเป็นยาเม็ดหรือแคปซูล สารประกอบที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจะ
ดูดซึมผ่านลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดและลำเลียงไปทั่วร่างกาย

ยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น แต่ไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ในร่างกาย ดังนั้น
การบำบัดจะเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่ติดเชื้อ และยาปฏิชีวนะก็รู้หน้าที่ดีว่า ต้องออกฤทธิ์จัดการ
เฉพาะบริเวณเท่านั้น

**********************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6094
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ มิ.ย. 03, 2024 11:22 am

สงสัยจริง จากหนังสือสรรสาระ รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เรื่องที่ (4).

น้ำลายสุนัขมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้จริงหรือไม่ (ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2549)
--------> น้ำลายของสัตว์เกือบทุกชนิดล้วนมีฤทธิ์ช่วยสมานแผลได้ทั้งนั้น น้ำลายเป็นของเหลว
ที่ประกอบด้วยสารหลายอย่าง บางอย่างมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย
เชื้อไวรัส และการอักเสบ อย่างไรก็ตาม สัตวแพทย์ไม่แนะนำให้เราปล่อยให้สุนัขเลียแผลของเรา
แม้น้ำลายของสุนัขจะมีข้อดีมากมายตามที่กล่าวมา แต่ปากของสุนัขอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อ
แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการอักเสบในร่างกายมนุษย์ก็ได้ เชื้อแบคทีเรียที่สำคัญคือ
Pasteurella multocida ซึ่งทำให้แผลที่เกิดจากสุนัขกัดหรือถูกสุนัขเลียกลายเป็นแผลอักเสบได้

*********************
ตอบกลับโพส