ไถ่ทาสจากกุลา ให้การศึกษาเด็กยากจน โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกที่อุบลฯ ร่องรอยคริสตชนในอีสาน

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
Arttise
โพสต์: 1102
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พุธ พ.ค. 15, 2024 9:37 pm

รูปภาพ

อีสานเป็นดินแดนที่มีผู้ศรัทธาในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นชุมชนชาวคริสต์กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งอีสาน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อัครสังฆมณฑล ท่าแร่-หนองแสง (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์) เฉพาะในพื้นที่ ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งประชากรเกือบทั้งหมดใน 8 หมู่บ้าน นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและเป็นชุมชนผู้นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยปัจจุบัน

เพราะเหตุใดผู้คนในภาคอีสานจึงกลับใจมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากเช่นนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาอ่านดูแล้วก็ค้านกับภาพจำสังคมอีสานโดยทั่วไปเมื่อนึกถึงภาคอีสานแล้วจะพบว่าผู้คนโดยส่วนใหญ่มีความเชื่อยึดมั่นในพุทธศาสนาและศาสนาผี (ความเชื่อท้องถิ่น) แต่นั่นเป็นเพียงมายาคติที่ส่วนกลางกรุงเทพฯ มองมายังภาคอีสาน ดังนั้น

บทความนี้จะพาผู้อ่านได้มารากเหง้าแห่งความเชื่อที่สำคัญอย่างศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งเป็นศาสนาที่อยู่คู่กับผู้คนในท้องถิ่น โดยมีหมุดหมายสำคัญอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี ก่อนความคิด ความเชื่อ และอิทธิพลของคริสตศาสนา จะสร้างเปลี่ยนแปลงในด้านสังคมการเมืองทั้งอีสานและประเทศไทยอีกหลายแง่มุม

อ่าน - ไถ่ทาสจากกุลา ให้การศึกษาเด็กยากจน โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกที่อุบลฯ ร่องรอยคริสตชนในอีสาน https://theisaanrecord.co/2023/12/06/pr ... -in-isaan/

---

เรื่อง: พงศธร​ณ์​ ตัน​เจริญ​

#คริสตศาสนา #อุบลราชธานี #คริสต์ #คริสตัง #ท่าแร่ #สกลนคร

รูปภาพ

อีสานเป็นดินแดนที่มีผู้ศรัทธาในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นชุมชนชาวคริสต์กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งอีสาน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อัครสังฆมณฑล ท่าแร่-หนองแสง (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์) เฉพาะในพื้นที่ ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งประชากรเกือบทั้งหมดใน 8 หมู่บ้าน นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและเป็นชุมชนผู้นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยปัจจุบัน (PPTV Online, 2562, ออนไลน์) เพราะเหตุใดผู้คนในภาคอีสานจึงกลับใจมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากเช่นนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาอ่านดูแล้วก็ค้านกับภาพจำสังคมอีสานโดยทั่วไปเมื่อนึกถึงภาคอีสานแล้วจะพบว่าผู้คนโดยส่วนใหญ่มีความเชื่อยึดมั่นในพุทธศาสนาและศาสนาผี (ความเชื่อท้องถิ่น) แต่นั่นเป็นเพียงมายาคติที่ส่วนกลางกรุงเทพฯ มองมายังภาคอีสาน ดังนั้น บทความนี้จะพาผู้อ่านได้มารากเหง้าแห่งความเชื่อที่สำคัญอย่างศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งเป็นศาสนาที่อยู่คู่กับผู้คนในท้องถิ่นพร้อมกับสร้างเปลี่ยนแปลงในด้านสังคมการเมือง

รูปภาพ

รูปภาพ
อาสนวิหารนักบุญอันนาหนองแสงซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ศาสนาและหนองแสงเคยเป็นศูนย์กลางของมิสซังลาวในอดีต (ภาพจาก Facebook Page: หอจดหมายเหตุโปรดม-ซาเวียร์เกโก)

การบุกเบิกการประกาศข่าวดีในอีสาน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพระศาสนจักรคาทอลิกได้หยั่งรากลึกลงบนดินแดนอีสานล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการทุ่มเทเสียสละของผู้คนในอดีตไม่ว่าจะเป็นนักบวชและฆราวาสต่างร่วมแรงร่วมใจกันสร้างพระศาสนจักรคาทอลิกให้ลงหลักปักฐานในแผ่นดินอีสานและประเทศลาวเพื่อให้ผู้คนในท้องถิ่นได้มีโอกาสรับการประกาศข่าวดี เพื่อทำความเข้าใจที่ไปที่มาของเผยแผ่ศาสนาคริสต์สู่ภาคอีสานนั้นผู้เขียนจึงขอพาย้อนกลับไปยังสมัยรัตนโกสินทร์

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์บนแดนอีสานคือการอาศัยเงื่อนไขในสนธิสัญญามงตินญี (Montigny Treaty) ในปี พ.ศ. 2399 (ค.ศ. 1856) ทางฝรั่งเศสขอทำสนธิสัญญากับสยามในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 4 โดยฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นรัฐอุปถัมภ์ การเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (ในเวลานั้นฝรั่งเศสปกครองโดยพระเจ้านโปเลียนที่ 3) ผลของสัญญาดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อการคุ้มครองคณะมิชชันนารีในสยามได้รับการคุ้มครองการสอนศาสนาและสามารถเดินทางเผยแผ่ศาสนาได้อย่างมีอิสระในดินแดนทั้งหมดของรัฐสยามและทำให้สยามได้รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาถือเป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสมีสิทธิเท่าเทียมกับประเทศตะวันตกอื่นๆ ที่ติดต่อค้าขายกับไทยในขณะนั้น (พรรณี พลไชยขา, 2536, หน้า 184)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2418 (ค.ศ. 1875) พระสังฆราชยัง หลุยส์ เวย์ (Jean Louis Vey) ปกครองมิสซังแห่งกรุงสยามได้รับการอภิเษก ได้ส่งคุณพ่อกองสตัง ฌอง โปรดมเดินทางจากภาคกลางขึ้นมาเผยแผ่ศาสนาที่ภาคอีสานในปี พ.ศ. 2419 (ค.ศ. 1876) โดยเริ่มจากการไปดูแลกลุ่มคริสตชนที่หัวแก่งหรือแก่งคอยในปัจจุบันและนั่นคือร่องรอยแรกเริ่มของการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในดินแดนอีสาน กระทั่งหลังการทำสนธิสัญญามงตินยี ในปี พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) พระสังฆราชเวย์ได้มีนโยบายที่ต้องการบุกเบิกงานเผยแผ่ศาสนาไปยังภูมิภาคอีสานและลาวเนื่องจากขณะนั้นจำนวนผู้กลับใจมานับถือศาสนาคริสต์ในสยามไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อตั้งมิสซังลาว (ภูมิภาคอีสานและประเทศลาว) พระสังฆราชเวย์จึงมอบหมายให้บาทหลวงหนุ่มสองท่านจากคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missions Étrangères de Paris; M.E.P) นำโดย บาทหลวงกองสตังต์ ยอห์น บัปติสต์ โปรดม (Constant Jean Baptiste Prodhomme) ทําหน้าที่เป็นผู้วางแผนการเผยแผ่ศาสนากับบาทหลวงฟรังซัวส์ มารีย์ ซาเวียร์ เกโก (François Marie Xavier Guego) เป็นผู้สอนคําสอนพร้อมด้วยครูเณรทองซึ่งเป็นครูคำสอนและคนรับใช้จำนวนหนึ่งเดินทางไปยังภาคอีสาน โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองอุบลราชธานี ทางคณะมิชชันนารีได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) (โรแบร์ กอสเต, 2562, หน้า 476)

รูปภาพ
บาทหลวงฟรังซัวส์ มารีย์ ซาเวียร์ เกโก หลังบวชเป็นพระสงฆ์ปี 1879 (ภาพจากบาทหลวงขวัญ ถิ่นวัลย์)
รูปภาพ
บาทหลวงฟรังซัวส์ มารีย์ ซาเวียร์ เกโก หลังบวชเป็นพระสงฆ์ปี 1879 (ภาพจากบาทหลวงขวัญ ถิ่นวัลย์)

บริบทของสังคมเมืองอุบลราชธานีในช่วงที่กลุ่มมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนานั้นมีกลุ่มชนชั้นในสังคมไม่หลากหลายมากนัก ได้แก่ กลุ่มอาญาสี่ พระสงฆ์ ไพร่และทาส เมืองอุบลราชธานีเป็นเมืองขนาดใหญ่มีประชากรราว 5,000 คน ซึ่งต่อมาเมืองอุบลฯ ก็ได้รับการยกฐานะเป็น “มณฑลลาวกาว” ในช่วงของการก่อกำเนิดรัฐชาติ (nation-state) จึงทำให้เมืองอุบลราชธานีกลายมาเป็นศูนย์กลางการปกครองของมณฑลภายใต้ชื่อว่า “เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย” โดยรัฐสยามมีอำนาจปกครองโดยตรงผ่านการส่งหลวงภักดีณรงค์เป็นข้าหลวงกำกับราชการที่เมืองอุบลราชธานีและเป็นข้าหลวงประจำหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ (สุภาวณีย์ อมรจิตสุวรรณ, 2556, หน้า 22) ขณะนั้นเกิดความขัดแย้งแบ่งแยกกันเป็นสองฝ่ายระหว่างฝ่ายเจ้าพรหมเทวากับฝ่ายเจ้าราชบุตร บุตรเจ้าเมืองคนก่อนต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันเรื่องการฉ้อโกงภาษี (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 280) สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่เมืองอุบลราชธานีสืบเนื่องมาจากในช่วงการปกครองเมืองอุบลราชธานีของเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (เจ้าหน่อคำ) เป็นเจ้าเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักสยามและเป็นเจ้าเมืององค์สุดท้ายในระบบอาญาสี่ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับพระสังฆราชเวย์ เมื่อเจ้าพรหมเทวากลับไปกรุงเทพฯ มักจะพบปะกับพระคุณเจ้าหลุยส์ เวย์และเจ้าพรหมเทวาเคยมีการปรารภว่ายินดีต้อนรับคณะมิชชันนารีที่จะไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเขตการปกครองของตน (โรแบร์ กอสเต, 2562, หน้า 476)

การไถ่ทาสให้เป็นอิสระสู่การกลับใจเป็นคริสตชนกลุ่มแรก

เมื่อคณะมิชชันนารีเดินทางมาถึงอุบลราชธานีในวันที่ 24 เมษายน ปี พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) รวมเวลาเดินทาง 102 วัน คณะของคุณพ่อได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองทั้งสองฝ่ายก็ได้จัดพิธีต้อนรับและได้ดูแลคณะมิชชันนารีเป็นอย่างดีจากทั้งสองฝ่ายเนื่องจากต้องการพรรคพวกซึ่งทางคณะมิชชันนารีพยายามทำดีกับทั้งสองฝ่ายเพื่อเป็นการสงวนท่าทีในระหว่างรอทางการอุบลฯ ชี้ที่ดินเพื่อตั้งชุมชนคริสตัง ทางเจ้าเมืองได้จัดให้คณะมิชชันนารีพักอยู่ชั่วคราวที่ห้องด้านหนึ่งของศาลากลางจังหวัดซึ่งเป็นศาลว่าความ โดยขณะที่พักอยู่ที่ศาลากลาง ช่วงเริ่มแรกก่อนการก่อตั้งชุมชนคริสตังที่เมืองอุบลราชธานีนั้น คณะมิชชันนารีได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายกลุ่มเพื่อทำให้การเผยแผ่ศาสนาประสบความสำเร็จ โดยเริ่มจากการเข้าหาและช่วยเหลือกลุ่มทาสซึ่งเป็นเด็กและสตรีที่ถูกพวกกุลาจับตัวมาจากเมืองพวน ในแคว้นลาว จำนวน 18 คน

ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของคณะมิชชันนารีและต้องการช่วยเหลือทาสกลุ่มนี้เพื่อหวังว่าจะทำให้เหล่าทาสได้กลับใจหันมานับถือศาสนาคริสต์รวมทั้งเพื่อเป็นการไถ่ทาสให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีสมกับเป็นมนุษย์ บาทหลวงโปรดมจึงทำการฟ้องกลุ่มพ่อค้าทาส สุดท้ายพวกทาสเลยได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ บรรดาทาสเหล่านี้ได้ขออยู่ในความคุ้มครองของคุณพ่อและได้สมัครเรียนคำสอน จนกลายเป็นคาทอลิกรุ่นแรกของเมืองอุบลฯ และภาคอีสาน ผลจากการไถ่ทาสดังกล่าวทำให้คณะมิชชันนารีได้รับการยกย่องนับถืออย่างมากในหมู่ชาวลาว (โรแบร์ กอสเต, 2562, หน้า 483)

รูปภาพ
ทาสที่ถูกจับตัวมาขายในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุโปรดม-ซาเวียร์เกโก)

ก่อตั้งชุมชนคริสต์แห่งแรกบนแผ่นดินอีสาน

จากนั้นทางการอุบลราชธานีจึงจัดหาที่ดินให้กับคณะมิชชันนารีอยู่ในที่ดินริมบึงทางตะวันตกของเมืองอุบลฯ ซึ่งเป็นหมู่บ้านร้างและมีสภาพพื้นที่เป็นป่ารก บริเวณนี้ถูกเรียกว่า “บุ่งกาแซว” (ปัจจุบันเรียกว่าบุ่งกระแทว) คณะมิชชันนารีก็ได้เข้าไปตั้งหมู่บ้านในที่ดินผืนนี้ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) บ้านบุ่งกะแทวจึงกลายเป็นชุมชนคริสตังแห่งแรกในอีสาน

ต่อมาบาทหลวงโปรดมได้ทำการซื้อที่ดินในบริเวณนั้นและซื้อบ้านทรงลาวเก่ามาปลูกเพื่อเป็นโรงสวดชั่วคราวและเป็นบ้านพักของบาทหลวงด้วยส่วนคณะผู้ติดตามกับกลุ่มทาสที่บาทหลวงได้ช่วยไถ่ให้ได้รับอิสระและคนเจ็บป่วยพิการที่ขอบาทหลวงให้ความคุ้มครองก็พากันสร้างกระท่อมอยู่ใกล้ๆ กับกลุ่มบาทหลวงซึ่งมีจำนวนประมาณ 30 คน จนนำไปสู่การสร้างวัดหลังแรกทางคณะคุณพ่อและคริสตชนกลุ่มแรกนี้มีความศรัทธาต่อแม่พระมาก จึงได้เลือกแม่พระเป็นองค์อุปถัมภ์ของวัดน้อยของพวกเขา โดยตั้งชื่อวัดว่า “วัดแม่พระนฤมลทิน” ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นวัดคาทอลิกแรกในภาคอีสาน หรือในปัจจุบันคืออาสนวิหารแม่พระนิรมล (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 280-281) หลังจากตั้งหมู่บ้านได้สามสัปดาห์เหล่าบรรดาทาสในท้องถิ่นจำนวนมากต่างพากันเดินทางเข้ามาขอความช่วยเหลือจากคณะมิชชันนารีทำให้ชุมชนบุ่งกะแทวเกิดการขยายตัวจากการเข้ามาตั้งบ้านเรือนในชุมชน (โรแบร์ กอสเต, 2562, หน้า 485)

รูปภาพ

รูปภาพ
วัดแม่พระนฤมลทินและภายในวัดถ่ายเมื่อปี 1887 (ภาพจากสถาบันวิจัยฝรั่งเศส-เอเชีย Institut de recherche France-Asie: IRFA)

การแพร่ธรรมภายใต้คติพจน์ “ปลดปล่อย เมตตาและยุติธรรม”

หลังจากตั้งชุมชนบุ่งกะแท่วได้สำเร็จ ช่วงแรกเริ่มของการตั้งมิสซังใหม่มิชชันนารียังต้องพึงพาทรัพยากรจากมิสซังสยามเนื่องจากคริสตังในชุมชนบุ่งกะแทวส่วนใหญ่มีฐานะที่ยากจนจึงทำให้มิชชันนารีต้องเลี้ยงดู (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 281) ต่อมาพวกลาวเทิงและลาวพวนได้มาเชิญให้บาทหลวงเดินทางไปสอนศาสนาให้กับพวกตน จึงทำให้บาทหลวงโปรดมและบาทหลวงอัลเฟรด มารี เทโอฟิล รองแดล (Alfred Marie Theophile Rondel) เดินทางออกจากเมืองอุบลฯในปี พ.ศ. 2426 (ค.ศ. 1883) เพื่อขึ้นไปสำรวจพื้นที่ผ่านอำนาจเจริญ นครพนมจนถึงหนองคาย ขากลับบาทหลวงโปรดมได้ทำการไถ่ทาสที่นครพนม 18 คนซึ่งกลุ่มนี้ได้ขอติดตามทั้งสองท่านมาที่อุบลราชธานีด้วย (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 281)

รูปภาพ
การขี่ม้าเป็นวิธีการเดินทางที่เร็วที่สุดของเหล่ามิชชันนารี (ภาพจากหอจดหมายเหตุโปรดม-ซาเวียร์เกโก)

เมื่อเดินทางผ่านมุกดาหาร บาทหลวงโปดมก็ได้ไถ่ทาสจากพวกกุลาอีกจำนวนหนึ่ง จากการที่บาทหลวงทั้งสองได้กลับมาพร้อมกับผู้ติดตามเป็นจำนวนกว่า 50 คนนั้น ทำให้บาทหลวงได้รับการชื่นชมยกย่องไม่ใช่เฉพาะในหมู่ประชาชนแม้แต่หลวงภักดีณรงค์ก็ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนบาทหลวงที่บ้านบุ่งกะแทว ผลจากการไถ่ทาสของบาทหลวงส่งผลให้การค้าทาสในอีสานซบเซาลงไปมาก แม้ว่าอันที่จริงการค้าทาสได้ถูกยกเลิกไปแล้ว (พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี, 2552, หน้า 73)

ต่อมาคณะมิชชันนารีได้เดินทางต่อไปยังหัวเมืองเหนือของภาคอีสาน โดยได้ขยายเขตงานไปยังหนองคาย นครพนม สกลนคร ด้วยความร้อนรน ทุ่มเทเสียสละและอุทิศตนประกาศข่าวดีของมิชชันนารีทำให้การประกาศข่าวดีค่อยๆ ขยายขอบเขตการดำเนินงานจนเกิดการเปิดศูนย์ท่าแร่ สกลนคร และหนองแสง นครพนมในปี พ.ศ. 2427 (ค.ศ. 1884) หลังจากการเปิดศูนย์คาทอลิกทั้งสามแห่งแล้ว (อุบลราชธานี สกลนคร และนครพนม) ประชาชนในอีสานได้ยอมรับศาสนาคริสต์มากขึ้นและเกิดการเผยแผ่ศาสนาไปยังหมู่บ้านต่างๆ ในอีสานโดยเฉพาะในพื้นที่อุบลราชธานี สกลนคร และนครพนม (โรแบร์ กอสเต, 2562, หน้า 503)

ก่อตั้งคณะภคินีรักกางเขนแห่งอุบลราชธานี

นอกจากนี้ มิชชันนารียังได้นำความช่วยเหลือเข้าไปสู่คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาทิ การไถ่ทาส ความช่วยเหลือด้านคดีความ ด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษาและด้านสังคมสงเคราะห์ ในห้วงเวลานั้นเกิดปัญหาโรคระบาดและข้าวยากหมากแพงทำให้ผู้คนในอีสานเสียชีวิตเป็นจำนวนมากส่งผลให้เกิดปัญหาเด็กกำพร้าพ่อแม่ อีกทั้งจากปัญหาของการซื้อขายทาสทำให้ครอบครัวต่างๆ ต้องแยกขาดจากกัน ด้วยเหตุนี้มิชชันนารีจึงได้ตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าขึ้นมาในปี พ.ศ. 2426 (ค.ศ. 1883) เวลานั้นมิชชันนารีมอบหมายให้อดีตหญิงทาส 2 คนดูแลอบรมเลี้ยงดูเด็กกำพร้าด้วยพร้อมกับสอนหนังสือและสอนคำสอนเบื้องต้นแก่เด็กกำพร้านี้ จึงนับได้ว่าเรือนหลังนี้เป็นโรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในภาคอีสานและเป็นโรงเรียนแห่งแรกของเมืองอุบลราชธานี (กลับบางแสน, 2565, อ้างถึงในปกรณ์ พัฒนานุโรจน์, 2561, หน้า 60)

ต่อมาเมื่อทั้งสองพี่น้องออกไปแต่งงาน คุณพ่อโปรดมได้รับหญิงสาวกลุ่มแรกจากวัดต่างๆ ที่คุณพ่อเจ้าวัดส่งเข้ามาโดยพวกเธอสมัครใจช่วยงานแพร่ธรรมรวมจำนวน 18 คน จึงถือว่าหญิงสาวกลุ่มนี้เป็นคณะนักบวชหญิงกลุ่มแรกของภาคอีสาน จนนำไปสู่การก่อตั้งอารามคณะนักบวชในปี ค.ศ.1889 ซึ่งมีชื่อว่า “คณะภคินีรักไม้กางเขนแห่ง อุบลราชธานี” และคุณพ่อโปรดมได้ขอได้เชิญภคินีจากอารามบางช้างมาช่วยงานมิสซัง จำนวน 3 รูป คือ ภคินีทนรับหน้าที่เป็นอธิการิณี ภคินีเปี่ยมรับหน้าที่เป็นนวกาจารย์และภคินีพลอย โดยจุดประสงค์ ของการก่อตั้งคณะนักบวชหญิงนี้เพื่ออบรมหญิงสาวให้เข้าใจจิตตารมณ์ของชีวิตนักบวชหญิงและเพื่อช่วยเหลืองานของมิสซังในด้านสังคมสงเคราะห์อย่างการรับเลี้ยงอบรมดูแลเด็กกำพร้ารวมทั้งเพื่อช่วยงานด้านการศึกษาผ่านการสอนคำสอนในโรงเรียนและรักษาพยาบาลผู้ป่วย (คณะภคินีรักกางเขน, 2565, หน้า 102)

บทสรุป

จากการที่มิชชันนารีได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ.1881 (พ.ศ. 2424) เป็นต้นมา หากพิจารณาจากผลที่เกิดขึ้นภายหลังการเข้ามาของศาสนาคริสต์ ทำให้เราทราบว่าการที่กลุ่มมิชชันนารีได้ช่วยเหลือในทางมนุษยธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ยิ่งสร้างความศรัทธาต่อทั้งกลุ่มคริสตชนและทำให้ผู้คนพื้นเมืองกลุ่มอื่นๆ ในอีสานก็เกิดความศรัทธาเช่นกัน ส่งผลให้ศาสนาคริสต์ได้ลงหลักปักฐานในอีสาน จนเป็นเหตุให้เราเห็นชุมชนชาวคริสต์กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งอีสาน ดังเช่นที่บ้านบุ่งกะแทว จังหวัดอุบลราชธานีหรือบ้านท่าแร่ จ.สกลนคร ทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่าการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารในอีสานนั้นประสบผลสำเร็จเป็นแห่งแรกก่อนที่งานเผยแผ่ศาสนาจะขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทยและนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านการทำงานของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสไปสู่สู่บาทหลวงชนพื้นเมืองในเวลาต่อมาซึ่งเชื่อมร้อยกับเครือข่ายศาสนจักรอย่างเข้มแข็ง

อ้างอิง

PPTV Online. (2562). “ท่าแร่” ชุมชนผู้นับถือคริสต์ใหญ่ที่สุดในไทย. เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 พฤษจิกายน 2562. สืบค้นจาก pptvhd36.com . (เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566)
ขวัญ ถิ่นวัลย์. (2563). 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก. Blogspot. เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤษจิกายน 2563. สืบค้นจาก dondaniele.blogspot.com. (เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566)
คณะอนุกรรมการหนังสือที่ระลึก. (2563). หนังสือสืบสานพันธกิจและตามรอยธรรมทูต ที่ระลึก 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก. สกลนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป
พรรณี พลไชยขา. (2536). บทบาทของมิชชันนารีโรมันคาทอลิกในอีสาน ปี พ.ศ.2424-2496. สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
โรแบร์ กอสเต. (2562). ประวัติการเผยแผ่คริสตศาสนาในสยามและลาว (พิมพ์ครั้งที่ 2). (อรสา ชาวจีน, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อัสสัมชัญ.
สุภาวณีย์ อมรจิตสุวรรณ. (2556). “รากเหง้าคนอีสาน: เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย”. วารสารกฎหมาย. 6(12) กรกฎาคม-ธันวาคม 2556. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. หน้า 7-35
กลับบางแสน. (2565). การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในอีสาน สู่จุดกำเนิดชุมชนคาทอลิกแห่งบ้านท่าแร่. เข้าถึงได้จาก ศิลปวัฒนธรรม: สิบค้นจา silpa-mag.com (เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566)
ขวัญ ถิ่นวัลย์. (2563). 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก. Blogspot. เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤษจิกายน 2563. สืบค้นจาก dondaniele.blogspot.com. (เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566)
คณะอนุกรรมการหนังสือที่ระลึก. (2563). หนังสือสืบสานพันธกิจและตามรอยธรรมทูต ที่ระลึก 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก. สกลนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป
คณะภคินีรักกางเขน. (2565). อนุสรณ์ 350 ปี คณะรักกางเขนในประเทศไทย. ปราจีนบุรี : ห้างหุ้นส่วนจำกัดเจตนารมณ์ภัณฑ์.
พรรณี พลไชยขา. (2536). บทบาทของมิชชันนารีโรมันคาทอลิกในอีสาน ปี พ.ศ.2424-2496. สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
โรแบร์ กอสเต. (2562). ประวัติการเผยแผ่คริสตศาสนาในสยามและลาว (พิมพ์ครั้งที่ 2). (อรสา ชาวจีน, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อัสสัมชัญ.
วิทยาลัยแสงธรรม. (2533). ประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา-สังคายนาวาติกันที่ 2 (พ.ศ. 2098-2508). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ.

CR. : The Isaan Record
https://theisaanrecord.co/2023/12/06/pr ... -in-isaan/
ตอบกลับโพส