“บทเรียนที่โรงเรียนแพทย์ไม่ได้สอน”

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ เม.ย. 07, 2021 10:18 am

......บทเรียนที่โรงเรียนแพทย์ไม่ได้สอน

วิเวียนเป็นชื่อของผู้ชายคนหนึ่ง วิเวียน ธอมัส เป็นผู้ชายที่ไม่ธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ใช่เพราะเขาใช้ชื่อที่ฟังดูคล้ายชื่อสตรี (ออกเสียงเหมือนกัน แต่สะกดต่างกัน Vivian - Vivien) แต่เพราะเขาพิสูจน์ว่าห้องเรียนไม่ใช่ทุกสิ่ง วิเวียนเรียนดีมาแต่เด็ก แต่ไม่มีโอกาสเรียนสูง วิกฤติตลาดหุ้นล่มในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบทำลายความฝันของเขาพินาศ วิเวียนเกิดที่หลุยเซียนาเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้ว พ่อเป็นช่างไม้ เขาจบด้วยเกียรตินิยมจากโรงเรียน และฝันจะเป็นหมอ ในปี 1929 เขากำลังเตรียมเข้าเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัย ด้วยเงินที่เก็บออมไว้จากการทำงานช่างไม้ แต่เงินนั้นก็สลายไปเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เขาต้องออกจากมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปีแรก อายุสิบเก้า เขาเข้าทำงานในตำแหน่งภารโรง ณ โรงเรียนแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ที่นั่นเขารู้จักหมออัลเฟรด บลาล็อค เป็นครั้งแรก ต่อมาหมอบลาล็อคให้เขาทำงานเป็นช่างเทคนิคในห้องแล็บ เขายังหวังจะเก็บเงินไปเรียนหมอ แต่วิกฤติเศรษฐกิจย่ำแย่ลงอีก เขาไม่มีทางเลือกนอกจากทำงานเลี้ยงตัวต่อไป เขาทำงานวันละสิบหกชั่วโมง เป็นลูกมือหมอเพื่อศึกษาโรคหัวใจที่เรียกกันว่า Blue Baby Syndrome โรคนี้ทำให้ริมฝีปากและนิ้วของคนไข้เป็นสีน้ำเงิน และผิวหนังทั้งร่างเป็นสีฟ้า (จึงเป็นที่มาของชื่อโรค) คนไข้มักหายใจลำบากและมีอายุสั้น ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดเท่านั้น แต่ยังไม่เคยมีใครในโลกทำสำเร็จ ทั้งสองทำงานเข้าขากันดี เมื่อหมอบลาล็อคกลายเป็นหัวหน้าฝ่ายผ่าตัดที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จอห์นส์ ฮ็อปกินส์ เขายืนยันให้โรงพยาบาลจ้างวิเวียนด้วยกัน ที่โรงพยาบาลแห่งนี้เอง ทั้งสองพบหมอเฮเลน ทอสซิก ผู้เสนอความคิดว่า อาจเป็นได้ที่จะเอาส่วนหนึ่งของเส้นเลือด มาเชื่อมทางสายใหม่จากหัวใจสู่ปอดเพื่อเพิ่มระดับการไหลของเลือด นี่หมายถึงการผ่าตัดที่ซับซ้อนยิ่ง และต้องการเครื่องมือผ่าตัดที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก วิเวียนรับหน้าที่ประดิษฐ์เครื่องมือใหม่นี้ วิเวียนเริ่มศึกษาเรื่องนี้ในหมา ผ่านไปสองปีกับชีวิตหมาอีกสองร้อยตัว จนเข้าใจสรีระของหัวใจและอาการช็อคที่เกิดจากการสูญเสียของเหลวและเลือดในร่างกายดีขึ้น พวกเขาจึงพัฒนาการผ่าตัดแบบใหม่กับคนเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน 1944 การผ่าตัดคนสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก คนไข้เป็นเด็กหญิงอายุสิบห้าเดือน ตลอดการผ่าตัด วิเวียนเป็นผู้กำกับด้านเทคนิค เพราะเขาผ่าตัดหมามากครั้งกว่า แม้การผ่าตัดต่อชีวิตเด็กหญิงได้เพียงสองเดือน แต่ผลงานของเขากับหมอบลาล็อคแผ้วทางการผ่าตัดที่ใช้ทั่วไปในกาลต่อมา โดยที่ทีมงานทุกคนได้รับเครดิต ยกเว้นวิเวียนเพียงคนเดียว เหตุผลหนึ่งเพราะเขาไม่ได้เรียนจบแพทย์ศาสตร์ อีกเหตุผลหนึ่งคือเขาเป็นคนผิวดำ ขณะที่ทำงานในโรงพยาบาล เขาสวมชุดขาว ซึ่งเป็นชุดปกติของสถาบัน แต่ในที่สุดใครบางคนก็ขอให้เขาถอดชุดขาวนั้นเสีย เขารู้สึกท้อถอยยิ่ง อย่างไรก็ตาม วิเวียนก็ได้ทำหน้าที่ฝึกฝนหมอรุ่นใหม่ในการทำงานนี้ แต่เขายังเป็นเพียงช่างเทคนิคเงินเดือนน้อยนิด ต้องทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ควบคู่ไปด้วย บางครั้งเขาต้องให้บริการเครื่องดื่มแก่ลูกศิษย์ของเขาเอง! ในวัยสามสิบเจ็ด เขายังพยายามเข้ามหาวิทยาลัยเรียนแพทย์อย่างที่เคยฝันไว้ เขาเริ่มเรียนชั้นปีหนึ่งที่มหาวิทยาลัยรัฐมอร์แกน แต่ก็พบว่า เขาจะมีอายุห้าสิบเมื่อเรียนจบ เขามองเห็นว่า น่าจะดีกว่าหากเขายังทำงาน ‘ใหญ่’ ในตำแหน่งเล็กๆ เช่นเดิม เขากลับไปทำงานเดิม ช่วยการผ่าตัดจำนวนหลายร้อยราย การวิจัย และช่วยด้านอื่นๆ รวมทั้งการสอนนักศึกษาแพทย์ในเทคนิคบางอย่าง งานช่วยชีวิตคนสำคัญกว่าความน้อยเนื้อต่ำใจ วิเวียนทำงานในมหาวิทยาลัยต่อมาจนชรา แต่เขาก็ยังไม่ใช่หมอ! วิเวียน ธอมัส สอนเราว่า ปริญญาบัตรไม่ได้มีความหมายมากไปกว่ากระดาษแผ่นเดียว การเรียนไม่จำเป็นต้องมาจากห้องเรียน การเรียนที่ดีที่สุดคือการเรียนด้วยหัวใจ ในวัยหกสิบหก เขาได้รับปริญญากิติมศักดิ์ทางกฎหมาย (เขาไม่ได้รับปริญญาสายแพทย์ศาสตร์ เนื่องจากความซับซ้อนบางประการของกฎระเบียบ!) และก่อนเกษียณ เขาได้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณการผ่าตัด ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยเรียนแพทย์ มีค่าสูงกว่าใบปริญญาแพทย์ศาสตร์ หมายเหตุ หมาตัวแรกที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดสำเร็จชื่อ แอนนา รูปของมันยังแขวนอยู่ในผนังของมหาวิทยาลัย จอห์นส์ ฮ็อปกินส์ จนทุกวันนี้ วิเวียนเขียนอัตชีวประวัติของตนเองในหนังสือเรื่อง Partners of the Heart: Vivien Thomas and His Work with Alfred Blalock เขาไม่ได้อยู่เห็นหนังสือที่พิมพ์เสร็จเป็นเล่ม

Something The Lord Made

หนังทางทีวีที่สร้างโดยช่อง HBO ที่สร้างจากเรื่องจริงของ วิเวียน ตีโอดอร์ โทมัส
ผู้ช่วยการวิจัยทางการผ่าตัดหัวใจ แก่นายแพทย์ อัลเฟรด บัลลอค แห่งโรงพยาบาล จอหน์ ฮอปกิ้นส์ เมื่อ หลายสิบปีก่อน

วิเวียน โทมัส เป็นคนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ที่มีความฝันอยากเป็นแพทย์ในยุคสมัยที่อเมริกายังมีการเหยียดผิวและเชื้อชาติอยู่มาก
เขาได้ช่วยงานวิจัยให้กับนายแพทย์ อัลเฟรด บัลลอค
ตลอดเวลาที่ช่วยงานในโรงพยาบาล วิเวียนถูกปฏิบัติราวกับเป็นคนใช้แรงงานแม้จะเป็นถึงผู้ช่วยวิจัยแพทย์ เพียงเพราะเขาเป็นคนผิวดำ

ต่อมาทั้ง 2 ได้ค้นพบ วิธีการรักษาโรค เด็กตัวเขียวคล้ำ Blue Baby ที่เกิดจากปัญหาการไหลเวียนของเลือดและระบบหัวใจบกพร่อง โดยผู้ที่ค้นพบวิธีการ
ผ่าตัดเปลี่ยนเส้นทางการไหลของเลือด นั่นคือ วิเวียน ซึ่งไม่เคยเรียนแพทย์มาก่อน

จนกระทั่งในวันทำการผ่าตัดกับมนุษย์เป็นครั้งแรก กับเด็กทารกที่มีอาการตัวคล้ำ วิเวียน โทมัส ไม่มีสิทธิเข้าไปในห้องผ่าตัด แต่นายแพทย์อัลเฟรด บัลลอค จำเป็นต้องให้เค้าช่วยเป็นผู้แนะนำในการผ่าตัด
วิเวียนจึงได้เข้าห้องผ่าตัด และการผ่าตัดประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ในการผ่าตัดหัวใจ ผู้ที่ได้ชื่อเสียงไปเต็มๆ คือ นายแพทย์ อัลเฟรด บัลลอค ส่วนวิเวียน นั้น เป็นคนที่ถูกโลกลืม

**วิเวียน โทมัส ใช้ชีวิตเป็นผู้ช่วย หมออัลเฟรด บัลลอค มาเรื่อยจนกระทั่งอายุ 66ปี
ทางมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกิ้นส์ จึงได้มอบปริญญาแพทย์ศาสตร์ดุษฏี
บัณฑิตฯ ให้แก่เค้า ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและให้ความรู้แก่แพทย์มากมาย
และทางโรงพยาบาลยังได้นำรูปของเค้าไปติดไว้ใกล้กับนายแพทย์ บัลลอค ด้วย

นับเป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน คนแรกที่ไม่ได้เรียนแพทย์ แต่ได้เป็นแพทย์
และในที่สุดผู้คนก็เรียกเค้าว่า หมอ แล้ว อย่างที่เค้ารอคอยมานานแสนนาน

ชมภาพยนต์เรื่องนี้ได้(ฟรี) ที่
https://youtu.be/_Ocfm5sLlOM
ตอบกลับโพส