“เข็นเด็กขึ้นภูเขา”

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ เม.ย. 30, 2021 11:36 pm

คุณแม่คนหนึ่งพาลูกชายมาหาจิตแพทย์เด็ก ด้วยสีหน้าที่เคร่งเครียด

'เชาเชา' เด็กชายวัย 7 ขวบ คุณแม่เล่าว่าลูกชายซนมาก พูดอะไรด้วยก็ไม่ค่อยฟัง ทะเลาะกันกับคุณแม่ทุกวัน

“แม่จะประสาทเสียอยู่แล้วค่ะหมอ ไม่รู้จะทำอย่างไร ทำไมมีลูกกับเขาสักคนถึงเลี้ยงยากเย็นขนาดนี้ หมอช่วยแม่ด้วยเถอะค่ะ”

เป็นประโยคแรกที่คุณแม่พูดกับหมอ

ตอนนั้นเองเชาเชาก็เริ่มเดินไปทั่วห้อง แล้วก็เริ่มเข้ามาที่โต๊ะหมอ หยิบของเล่นที่วางไว้ข้างๆ โต๊ะขึ้นมาดู ด้วยความสนใจ

แม่พูดเสียงค่อนข้างดัง “เชาเชา ออกมาเดี๋ยวนี้นะ ทำไมไม่ขออนุญาตก่อน แม่บอกกี่ครั้งแล้ว”

ก่อนจะพูดเล่าต่อไป “เห็นมั้ยคะหมอ เขาเป็นแบบนี้แหละ สอนเท่าไหร่ก็ไม่ทำตาม พูดไปมีประโยชน์ คือแม่เบื่อมาก แม่ไม่ไหวแล้ว ปวดหัว นี่แม่เครียดจนนอนไม่หลับ ... แล้วเวลาไปข้างนอก เขายิ่งเป็นมาก เหมือนรู้ว่าแม่ไม่กล้าทำอะไรเขา ... นี่ถ้าอยู่บ้านต้องโดนฟาดนะเขาเชา”

เชาเชาเริ่มหน้าเสีย ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์บานปลาย หมอบอกเชาเชาว่า “เดี๋ยวหมอให้หนูออกไปเล่นข้างนอกก่อน หมอจะคุยกับคุณแม่ แล้วเดี๋ยวจะเรียกหนูเข้ามาอีกที”

หลังจากนั้นคุณแม่ก็เล่าให้หมอฟังถึงปัญหาของลูก ซึ่งพบว่า มีแต่ข้อเสียของลูกที่คุณแม่มองเห็น

“จริงๆ แม่ก็ไม่อยากหวังอะไรมากแล้วค่ะหมอ แค่ไม่อยากให้โตไปแล้วเขาสร้างความเดือดร้อนให้สังคม หมอจะรักษาอะไรยังไงก็ทำเถอะค่ะ ไม่งั้นแม่จะหนีไปบวชชีแล้ว”

.

หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวจากคุณแม่ หมอจึงเรียกเชาเชาเข้ามาคุย และให้คุณแม่รอข้างนอก

หมอพบว่าเชาเชาเป็นเด็กที่ร่าเริง มีพลังงานสูง ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง วอกแวกเกือบเวลาที่คุยกัน

จากประวัติและการประเมินพบว่าเชาเชามีอาการของสมาธิสั้น ทำให้ควบคุมตัวเองไม่ดีนัก ตรงนี้คงทำให้คุณแม่ที่เป็นคนดูแลหลักรู้สึกเหนื่อยในการดูแล

แต่หมอก็สัมผัสได้ถึงจุดดีๆ ของเชาเชา แม้ในเวลาสั้นๆ ที่เราคุยกัน

ก่อนออกจากห้อง หมอบอกเชาเชาว่า หมอเห็นว่า เชาเชาร่วมมือตอบคำถามหมอดีมากๆ เลยนะ แถมลุกออกไปเก็บเก้าอี้กับของเล่นให้หมอด้วย

สิ่งที่เชาเชาบอกหมอก็คือ

“จริงเหรอครับหมอ ผมคิดว่าผมเป็นเด็กไม่ดีเลย เพราะแม่ดุผมตลอด ไม่เคยชมผมเลย ผมอยากให้แม่ชมผมบ้างครับ”

.

พ่อแม่รักลูก แต่ด้วยความเป็นห่วงหรืออคติบางอย่างในใจ จะเป็นอะไรก็ตาม บางครั้งก็ทำให้พ่อแม่เปิดแต่เรดาร์ของการจับผิดลูก โดยลืมที่จะจับในจุดที่เขาทำได้ดี หรือพยายามจะทำแต่ทำไม่ได้ดีนักก็ตาม

สิ่งที่หมอสัมผัสได้จากคุณแม่เชาเชาก็คือ แม้จะรักลูกมาก แต่คุณแม่มี ‘อคติเชิงลบ’ กับลูก มองลูกในแง่ลบ ส่งผลให้เกิดการ ‘จับผิดอย่างเดียวโดยลืมที่จะจับถูก’

หมออยากจะมาชวนให้พ่อแม่เปิดเรดาร์ทั้งการจับผิดและจับถูกไปในคราวเดียวกัน ไม่ใช่ว่าจับแต่ถูกหรือผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง (เพราะอคติในใจที่ทำให้เชื่อเช่นนั้น)

ในกรณีของคุณแม่เชาเชา คุณแม่มีอคติในใจว่าลูกชายเป็นเด็กที่ดื้อ ซน ไม่เชื่อฟัง มองลูกในแง่ลบเป็นทุนเดิม ทำให้เผลอเปิดแต่เรดาร์ในการจับผิดลูก เห็นอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด (ในทางกลับกัน หมอก็เคยพบกับพ่อแม่ที่มีความเชื่อว่าลูกดีไปหมดทุกเรื่อง ทำผิดอะไรก็กลายเป็นถูก เพราะมีความเชื่อในใจว่าลูกดีเลิศเพอร์เฟ็ค ตรงนั้นก็ไม่ดีเหมือนกัน)

ถ้าลูกทำผิด แน่นอนเราต้องตำหนิ ตักเตือน สอนให้รับผิดชอบ แต่ไม่ควรใช้การตำหนิด้วยอารมณ์ เปรียบเทียบ ประชด ทำให้เด็กรู้สึกแย่กับตัวเอง ควรบอกเด็กว่า เราไม่พอใจในพฤติกรรมบางอย่าง บอกให้ชัดเจนว่ามันคืออะไร แต่ไม่ใช่ตำหนิตีตราที่ตัวตนของเด็ก

และก็ควรชมเชยในจุดที่เขาทำได้หรือพยายามแล้ว บางทีแม้จะซนอยู่แต่ถ้ามันดีขึ้นบ้าง ก็ควรจะใช้จุดนั้นบอกลูกว่า แม่มองเห็นว่าลูกทำได้ดีขึ้น ลูกนั่งนิ่งได้นานขึ้นกว่าเมื่อวาน แม่เห็นความอดทนและพยายาม ตรงนั้นจะเป็นกำลังใจดีๆ ที่ทำให้ลูกปรับปรุงพัฒนาตัวเอง

.

หมอได้บอกวินิจฉัยกับคุณแม่เชาเชา ว่าลูกชายเป็นโรคสมาธิสั้น สามารถรักษาได้ และลองชวนให้คุณแม่คิดถึงจุดที่ดีของลูก

ซึ่งคุณแม่ก็ตอบได้ว่า “เชาเชาเป็นเด็กมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือ คิดถึงคนอื่น เขาเป็นคนสนุก เพื่อนๆ และครูก็รักเขา” (ซึ่งแม่ไม่เคยบอกเลยให้ลูกรู้ เพราะส่วนใหญ่มีแต่ข้อเสียให้พูดกัน)

เมื่อคุณแม่เข้าใจในสิ่งที่เชาเชาเป็น และให้ลูกรับการรักษา เชาเชาก็ซนน้อยลง มีสมาธิ ฟังแม่มากขึ้น คุณแม่จัดการอารมณ์ตัวเอง ลดอคติในใจ มองลูกทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี เปลี่ยนวิธีการเตือน ใช้อารมณ์น้อยลง ชมในพฤติกรรมดีๆ ที่มองเห็นมากขึ้น

สิ่งที่ตามมาคือ คุณแม่และลูกก็ทะเลาะกันน้อยลง สถานการณ์ต่างๆ ในบ้านก็ดีขึ้น ทั้งคุณแม่และเชาเชามีความสุขมากขึ้น

“หมอครับ แม่ชมผมมากขึ้น ดุผมน้อยลงด้วย ผมชอบแบบนี้จังครับ”

เชาเชาบอกในครั้งล่าสุดที่เราพบกัน

.

บางครั้ง การเปลี่ยนมุมมองและความคิด ลดอคติในใจ จะทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเห็นภาพกว้างของเรื่องราว และทำให้เกิดความเข้าใจเด็ก รวมถึงตัวเองได้มากขึ้นด้วย

แต่บางครั้งมันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องรู้เท่าทันอารมณ์ และมีสติกับปัจจุบัน อย่าลืมจัดการความเครียด กังวล ให้เหมาะสม เพราะตรงนั้นอาจมีผลกระทบในการดูแลลูกๆ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ

เป็นกำลังใจให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการจัดการอคติในใจ และฝึกที่จะจับทั้งถูกและผิด และสามารถชี้ให้เด็กๆ เห็น โดยเขายังคงมีความหวัง มีกำลังใจในการปรับปรุงตัว ด้วยความเข้าใจกันและกันค่ะ

หมายเหตุ: เรื่องของเชาเชาเป็นเรื่องที่หมอดัดแปลงมาจากกรณีที่เกิดขึ้นจริง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับบุคคลที่สาม

#หมอมินบานเย็น
#ข้อคิดจากห้องตรวจจิตเวชเด็ก
ตอบกลับโพส