เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ ชุด (2)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ต.ค. 08, 2021 3:49 pm

….น้ำใจจากบุรุษนิรนาม…
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2556/2013
โดย ณัฐภรณ์ เหลืองพิพัฒน์

รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตอนอายุ 21 ปี (ค.ศ. 2007) ดิฉันมีโอกาสเดินทางไปร่วมงานนิทรรศการนักศึกษา
นานาชาติเป็นเวลา 10 วันที่เมืองทิมิชัวรา ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในประเทศโรมาเนีย
แต่พอเข้าวันที่เจ็ด ดิฉันก็ได้รับข่าวร้ายจากทางบ้านว่าคุณย่าเสียชีวิตแล้ว

ดิฉันตัดสินใจกลับบ้านโดยไม่ลังเล แต่เนื่องจากตั๋วเครื่องบินที่จองไว้เป็นแบบประหยัด
จึงไม่สามารถเปลี่ยนหรือคืนตั๋วได้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่ ดิฉันมั่นใจว่า
มีเงินเหลือพอที่จะซื้อตั๋วโดยสารใหม่แน่ แต่ขณะที่อยู่ในสนามบินที่กรุงบูคาเรสต์
เมืองหลวงของโรมาเนียก็พบว่า เงินในกระเป๋าทั้งหมดไม่พอค่าตั๋วเครื่องบิน
ยังขาดอีกประมาณ 60 ดอลล่าร์สหรัฐฯ

ดิฉันลองใช้บัตรเครดิตที่คุณป้าให้พกติดตัวมาด้วย ก็ใช้จ่ายไม่ได้ และเมื่อนำบัตรไป
กดถอนเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มก็ถอนเงินสดออกมาไม่ได้เช่นกัน
(ดิฉันทราบในภายหลังว่า เนื่องจากคุณป้าไม่ได้แจ้งเรื่องกับธนาคารว่าจะไปใช้บัตรฯ
ในต่างประเทศ จึงทำธุรกรรมไม่ได้)
วิธีสุดท้ายคือดิฉันตัดสินใจขอร้องพนักงานที่เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสารขอลด
ค่าตั๋วให้พร้อมกับเทเงินทั้งหมดในกระเป๋าออกให้ดู วิงวอนเขาจนแทบร้องไห้
แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ใจอ่อนจนในที่สุดมีผู้ชาย 2 คนไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน เดินเข้ามา
ถามดิฉันว่าเป็นอะไร ดิฉันเล่าเรื่องให้พวกเขาฟัง หนึ่งในสองคนนั้นคุยกับพนักงาน 2-3 คำ
แล้ววางเงิน 60 เหรียญไว้บนเคาน์เตอร์ แถมยังหันมาส่งธนบัตรใบละ 1 ดอลล่าร์อีก 10 ใบ
ให้ดิฉันบอกว่าให้เก็บเงินนี้ไว้ใช้ระหว่างเดินทาง พอให้เงินเสร็จทั้งคู่ก็เดินจากไป

ดิฉันแทบไม่เชื่อสายตาและสิ่งที่ตัวเองได้ยิน คิดดูสิ จู่ ๆ ก็มีคนช่วยจ่ายเงินเกือบ 2000 บาท
ให้ฟรี ๆ ตอนนั้นดิฉันตื้นตันจนพูดอะไรไม่ออก ได้แต่ยกมือไหว้พร้อมเอ่ยคำขอบคุณ
เป็นสิบ ๆ ครั้ง แต่ยังไม่ทันได้ถามชื่อของหนุ่มนิรนามคนนั้น เจ้าหน้าที่ของสายการบินก็รีบ
ลากตัวดิฉันเข้าไปในประตูขึ้นเครื่องบินเพราะอีก 15 นาทีเครื่องบินจะออกแล้วระหว่างที่นั่ง
อยู่ในเครื่องบิน ใจดิฉันเต้นตึกตักและคำพูดของหนุ่มคนนั้นยังก้องอยู่ในโสตประสาท
“ผมทิ้งคุณไว้ที่นี่ไม่ได้หรอก ให้ผมช่วยคุณเถอะครับ” เขาทำให้ดิฉันรู้สึกว่าพระเจ้ามีจริง
พระองค์สถิตอยู่ในโลกมนุษย์นี่แหละ ทุกวันนี้ดิฉันยังระลึกถึงความดีของเขาและอวยพรขอ
ให้มีแต่สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับชายผู้นั้นไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม

****************************
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ อังคาร ต.ค. 26, 2021 9:08 pm, แก้ไขไปแล้ว 2 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ต.ค. 09, 2021 3:12 pm

……ปาร์ตี้อันตราย ……"ตอนที่ (1)"
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2546/2003,
โดย Marc Lerner รวบรวมและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เด็กหนุ่มมาเลเซียวัย 14 ปี จ้องมองเพื่อนรุ่นพี่ส่ายตัวไปมาอย่างบ้าคลั่งตามจังหวะ
เพลงในดิสโกเธคแห่งหนึ่งที่ปีนัง และถามขึ้นด้วยความรู้สึกทึ่งว่า “พวกพี่ดูเท่มาก
ทำยังไงหรือ”

เพื่อนรุ่นพี่ยื่นยาเม็ดสีอ่อนขนาดเท่าแอสไพรินให้อุยพร้อมข้อเสนอว่า
“นายมาแบ่งคนละครึ่งเม็ดกับเราก็ได้”

อุยจึงล้วงกระเป๋าหยิบเงิน 20 ริงกิต (ประมาณ 200 บาท) เพื่อจ่ายค่ายา แล้วกรอก
ลงคอพร้อมโค้กอีกอึกใหญ่ เพียงไม่ถึง 20 นาที​ ก็รู้สึกเลื่อนลอยและมึนงง

เมื่อความเคลิบเคลิ้มเข้าครอบงำสติสัมปชัญญะ เขาก็เดินไปที่ฟลอร์เต้นรำและ
ดิ้นส่ายไปตามจังหวะดนตรีท่ามกลางนักเที่ยวนับร้อยนาน 5 ชั่วโมง จะหยุดพัก
บ้างก็เพียงเพื่อดื่มน้ำเย็นแก้คอแห้ง

ยาเม็ดชนิดนี้รู้จักกันในชื่อยาอี (Ecstacy) เริ่มเข้ามากุมชีวิตของหนุ่มน้อยในเวลา
อันรวดเร็วจนต้องเสพยาสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ทุกครั้งที่เสพก็จะโซเซกลับบ้านก่อน
รุ่งสางและนอนถึงบ่ายจนพ่อแม่บ่นว่าอยู่เสมอ

“บางทีผมต้องไปทำงานหาเงินมาซื้อยา” อุยสารภาพ “ไม่ก็ขอจากพี่สาว หรือขโมยเงินพ่อ”

อุยเคยลองทั้งกัญชาและยาบ้า แต่ชอบยาอีมากกว่าแม้จะราคาแพง หนุ่มน้อยที่เคยมีสุขภาพดี
กลับผ่ายผอมและเจ็บป่วยเพราะไม่อยากอาหาร ขณะที่เพื่อนฝูงตีตัวออกห่างเพราะเบื่อที่
เขาคอยขอเงินไปซื้อยา

เขาเริ่มสิ้นหวังหลังผ่านไป 4 ปี “ผมเดินเตร็ดเตร่ไปเรื่อยตามลำพังตลอดคืนอย่างไร้จุดหมาย”
เขาเล่า “ในที่สุด ญาติคนหนึ่งบอกให้ผมไปศูนย์บำบัดผู้ติดยาในปีนัง”

อุยเลิกยามาได้หลายเดือน แต่ยังอยู่ที่ศูนย์ฯ “ผมเกือบตายไปแล้ว” เขาบอก

อุยเป็นหนึ่งในวัยรุ่นชายหญิงนับหมื่นที่ตกเป็นเหยื่อของการแพร่ระบาดของยาเสพติดในเอเชีย
ยาที่ได้รับความนิยมมากคือยาอี ชื่อทางเคมีคือ methylenedioxy methamphetamine
ปัจจุบันเป็นยาที่เสพกันมากที่สุดในดิสโกเธคและไนท์คลับ


โปรดติดตามตอนที่ (2)ตอนจบ ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ต.ค. 10, 2021 2:59 pm

……ปาร์ตี้อันตราย "ตอนที่ (2)"…… (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2546/2003,
โดย Marc Lerner รวบรวมและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ยาอีเป็นยาผิดกฎหมายในทุกประเทศ แต่เป็นยายอดนิยม ภายในครึ่งชั่วโมงที่ยา
เข้าสู่กระแสเลือด ยานี้จะกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารเซโรโทนินซึ่งเป็นตัวควบคุม
อารมณ์ ผู้เสพจะเกิดความรู้สึกอยากเต้นและสนุกจนหมดแรงเนื่องจากร่างกายหลั่ง
สารอะดรีนาลินออกมา ยานี้ยังกระตุ้นให้ความรู้สึกไวต่อประสาทสัมผัส ขาดการยับ
ยั้งชั่งใจ เจ้าหน้าที่แพทย์และที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาระบุถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
ได้แก่อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอุณหภูมิในร่างกายที่เพิ่มขึ้น
ทำให้ร่างกายเผาผลาญอย่างหนักและเสียน้ำมากเกินไป

“เมื่อุณหภูมิในร่างกายขึ้นสูง เซลล์กล้ามเนื้ออาจถูกทำลายและปล่อยสารที่ทำลายไต”
ดร.ไล แห่งศูนย์นิติเวชศาสตร์ของสิงคโปร์อธิบาย “ตับถูกทำลาย เลือดไหลเอง
เป็นลมชัก และสมองบวม บางคนอาจทนได้ แต่อีกคนอาจได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรง
ถึงขั้นเสียชีวิต”

‘พาเมลา’ นักศึกษาวัย 19 ปีในสิงคโปร์ไปเที่ยวงานเลี้ยงวันวาเลนไทน์เมื่อ 2 ปีก่อน
ระหว่างงานคืนนั้นเธอเริ่มอาเจียนและรีบเข้าห้องน้ำ พอออกมาเธอเกร็งมือแน่นแล้วล้ม
ลงขณะอ้าปากพยายามหายใจและน้ำลายฟูมปาก

เมื่อรถพยาบาลมาถึง เธอเสียชีวิตแล้ว ผลการชันสูตรระบุว่า สาวน้อยอนาคตสดใสเสียชีวิต
จากผลด้านลบของยาอี พ่อแม่เชื่อว่ามีคนแอบใส่ยาอีให้ลูกสาวกิน

‘โฮ’ นักเรียนชั้นมัธยมปลายในไต้หวัน เริ่มทดลองใช้ยาเสพติดที่บ้านเกิดในเมืองยูหลิน
เมื่ออายุ 16 ปี เขารู้จักยาอีตอนไปเที่ยวไทเปและติดใจยานี้ทันที

“ยาอีกับดนตรีเข้ากันได้ดี และทำให้เมาเคลิ้ม” โฮเล่า “การเสพยานี้ดูจะปลอดภัยกว่ายา
ชนิดอื่น แต่ถ้าไม่ได้เสพผมจะรู้สึกเศร้าและเครียดมากจนรู้สึกเหมือนชีวิตไม่มีความหมาย”
โฮสารภาพ

โฮยังรู้สึกเซื่องซึมหลังเที่ยวมาตลอดคืนและนอนสลบไสลจนถึงเย็นวันถัดไป พ่อแม่สงสัย
แต่โฮยืนกรานเสียงแข็งว่าไม่ได้เสพยา อย่างไรก็ตามไม่นานต่อมา แม้แต่เพื่อน ๆ ที่คบหา
กันมานานก็หมางเมิน

“ในที่สุด ผมรู้เลยว่าจะต้องเลิก เพราะตอนนี้ผมไม่มีเพื่อนเลยและไม่มีความหวัง” โฮบอก

โฮมีคำแนะนำสำหรับคนที่คิดจะลองยาอีว่า “อย่าเสพเพราะเพื่อน หรือคิดว่ายานี้จะ
ให้ความสุขถาวรได้ ทันทีที่เสพติด มันจะทำลายชีวิตคุณ”

****************************
:s008:

จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ต.ค. 11, 2021 8:05 pm

🧒🧑พี่น้องต่างสีผิว "ตอนที่(1)"
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2546/2003, Rudolph Chelminski
รวบรวมและแปลเพิ่มจากบทความ “Ils se jettent à l'eau et trouvent une famille”
(พวกเขาโจนลงน้ำและพบครอบครัว) โดย กอบกิจ ครุวรรณ

สองหนุ่มน้ำใจงามไม่เคยคิดฝันว่า การกระทำที่กล้าหาญของตนจะให้ผลตอบแทน
เกินคาด

‘นฟามารา’ (N'Famara) วัย 24 ปี กับ ‘มุสตาฟา’ วัย 26 ปีมีชีวิตที่ยากแค้นลำเค็ญ
จึงหนีความยากจนจากประเทศกีนีเพื่อมาหางานทำในฝรั่งเศส แต่เมื่อไม่มีใบอนุญาต
ทำงานก็ต้องอยู่อย่างขัดสนและขออาหารเขากินเพื่อประทังชีวิต สมบัติมีเพียงเสื้อผ้า
ที่ติดตัวกับสิ่งของในกระเป๋าเป้

ขณะนั้นเป็นเวลาราว 17.30 น.วันที่ 12 มิถุนายน 2002 ทั้งสองไม่มีอะไรตกถึงท้องมา 3 วัน
แล้วและกำลังหลบพักอยู่ใต้สะพานรถไฟเก่าของเมืองแซ็งต์-กังแต็ง (Saint-Quentin)
ตอนเหนือของฝรั่งเศส ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากในคลองที่อยู่ห่าง
ไปราว 50 เมตร

ชีวิตของ ‘ซีริล’ (Cyril Lenoir) วัย 22 ปีก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นกัน เขาเป็นหนุ่มพิการ
พูดไม่ชัดและตกใจง่าย ขณะที่กำลังเดินเล่นอยู่ริมคลอง เขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งจูงสุนัขตัวใหญ่
เดินสวนมา สุนัขกระโจนเข้าใส่เขาพร้อมเห่าขู่อย่างดุดัน ซีริลซึ่งว่ายน้ำไม่เป็นถอยหลังหนี
ด้วยความตกใจกลัวและตกลงไปในคลองนฟามาราหนุ่มร่างสูงใหญ่แข็งแรงและปราดเปรียว
คุ้นกับการว่ายน้ำในมหาสมุทรที่บ้านเกิดวิ่งมาถึงที่เกิดเหตุก่อน เขารีบถอดเสื้อแจ็กเกตที่สวม
อยู่และกระโจนลงคลองทั้งรองเท้าและเสื้อผ้า มุสตาฟากระโจนตามลงมาช่วยกันลากตัวซีริล
ขึ้นฝั่งด้วยความทุลักทุเล

มุสตาฟาพลิกตัวซีริลให้นอนหงายแล้วกดแรง ๆ ที่หน้าอกจนซีริลสำลักน้ำออกมาและเริ่ม
สูดหายใจเข้าลึก ๆ สลับกับอ้าปากหายใจหอบ

“เป็นอะไรหรือเปล่า” มุสตาฟาถาม ซีริลตอบตะกุกตะกักไม่เป็นภาษา เห็นได้ชัดว่าเขายัง
ไม่หายตกใจ ไม่มีใครแถวนั้นให้ความช่วยเหลือได้ ส่วนผู้หญิงกับสุนัขก็หายตัวไปนานแล้ว​
“คุณมาจากไหน และมาที่นี่ได้ยังไง” สองหนุ่มพยายามทำความเข้าใจกับคำพูดที่ไม่เป็น
ภาษาของซีริลอยู่เกือบชั่วโมง ส่วนซีริลก็หงุดหงิดกับท่าทางที่งงงวยของทั้งคู่ ในที่สุดเขา
ยื่นมือออกไปและทำท่าเหมือนกำลังจับพวงมาลัยรถ คนทั้งสองจึงเข้าใจทันทีว่าชีริลขับรถมา

พวกเขาพยุงซีริลให้ลุกขึ้นยืนแล้วพาเดินไปยังรถโอเปิลคันเก่าที่จอดอยู่ แต่ซีริลฟุบกับ
พวงมาลัยทันทีที่นั่งบนที่นั่งคนขับ

“เอาละ เราจะช่วยคุณ ขับไปช้า ๆ ก็แล้วกัน” ทั้งคู่บอกซีริล

โปรดติดตามตอนที่ (2)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ต.ค. 13, 2021 7:34 pm

🧒🧑พี่น้องต่างสีผิว "ตอนที่ (2)"
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2546/2003,
โดย Rudolph Chelminski รวบรวมและแปลเพิ่มจากบทความ
“Ils se jettent à l'eau et trouvent une famille”
(พวกเขาโจนลงน้ำและพบครอบครัว) โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ซีริลค่อย ๆ ขับรถไปตามถนนราว 10 กิโลเมตรก่อนจะชะลอรถจอดหน้าบ้านหลังใหญ่
ในเขตหมู่บ้านเกษตรกรรมเล็ก ๆ ชื่อ “โนรัว” (Nauroy),

‘นาดีน’ ออกมาเปิดประตูบ้านเมื่อได้ยินเสียงกริ่ง แล้วก็ตัวแข็งอ้าปากค้างกับภาพที่เห็น
ตรงหน้า เธอรีบตะโกนเรียกสามี “โจแอล (Joël) ออกมานี่เร็ว... ซีริลกลับมาแล้ว
มีเด็กหนุ่มผิวดำ 2 คนมาด้วย ทุกคนเปียกปอนกันหมด”

ครอบครัวเลอนัวร์ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านโนรัวเมื่อ 2-3 ปีก่อน นอกจากซีริลกับน้องชายแล้ว
ก็มีน้องชายของนาดีนมาอยู่ร่วมชายคาด้วยหลังจากพ่อแม่เสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์
โจแอลหาเลี้ยงทุกคนในครอบครัวด้วยเงินเดือนคนขับรถประจำทางที่ไม่มากนัก ทุกคนพอ
อยู่ได้อย่างไม่ลำบากนักถ้าใช้จ่ายอย่างประหยัด

ระหว่างที่ซีริลยังนั่งตัวสั่นด้วยความตกใจ หนุ่มผิวสีทั้งสองช่วยกันเล่ารายละเอียดต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้น โจแอลตกใจและโล่งใจในเวลาเดียวกันเมื่อนึกว่าโศกนาฏกรรมเกือบมาเยือน
ครอบครัวของเขาอีกครั้ง และซาบซึ้งในความช่วยเหลือที่ได้รับ

“นี่ครับ” เขายื่นเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในบ้านให้หนุ่มผิวดำคนละ 200 ยูโร (ราว 9,500 บาท)
แต่ต้องประหลาดใจเมื่อทั้งคู่ไม่รับ“ไม่เป็นไรครับ” นฟามาราตอบ
“เราไม่ได้ทำไปเพราะเงิน เราทำหน้าที่ของเรา”

“ถ้าอย่างนั้นก็อยู่กินข้าวมื้อเย็นก่อนสิ” ทั้งคู่มองหน้ากัน แล้วตอบเกือบจะพร้อมกันว่า
“ตกลง ขอบคุณครับ”

เมื่อกินเสร็จ โจแอลอาสาขับรถพาทั้งคู่ไปส่ง สองหนุ่มเงียบไปชั่วอึดใจก่อนจะตอบ
ปฏิเสธและบอกว่า พวกเขาจะเดินไปกันเอง โจแอลยืนกรานว่าอย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ตนพอ
จะตอบแทนได้บ้าง ทั้งคู่ปฏิเสธอีกครั้ง ในที่สุดโจแอลก็รู้เหตุผลที่ทั้งสองอึกอัก

โปรดติดตามตอนที่ (3)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ต.ค. 13, 2021 7:48 pm

🧒🧑พี่น้องต่างสีผิว "ตอนที่ (3)"
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2546/2003,
โดย Rudolph Chelminski รวบรวมและแปลเพิ่มจากบทความ
“Ils se jettent à l'eau et trouvent une famille”
(พวกเขาโจนลงน้ำและพบครอบครัว) โดย กอบกิจ ครุวรรณ

“พวกเธอไม่มีที่ไปใช่ไหม” เขาพูดอย่างเข้าใจ

นฟามารากับมุสตาฟาได้แต่ก้มหน้ามองพื้น โจแอลดึงนาดีนเข้าไปในครัวเพื่อหารือกัน

“เอาอย่างนี้นะ” เขาเอ่ยขึ้นเมื่อกลับออกมา “ห้องนอนชั้นบนว่างอยู่ห้องหนึ่ง
และตอนนี้ก็ดึกแล้วด้วย เธอสองคนค้างที่นี่ก่อนสักคืนก็ได้ หลังจากนั้นค่อยดูกันอีกที”

ดังนั้นหนุ่มทั้งสองจึงได้อาบน้ำ โกนหนวดและนอนบนเตียงที่มีผ้าปูเป็นครั้งแรกนับแต่
มาอยู่ฝรั่งเศสรวมเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่งสำหรับนฟามารา และ10 เดือนสำหรับมุสตาฟา

นฟามาราเดินทางรอนแรม 2 เดือนก่อนจะลักลอบข้ามพรมแดนเข้าฝรั่งเศส ส่วนมุสตาฟา
เดินทางเข้าฝรั่งเศสโดยใช้ตั๋วเครื่องบินปลอม จากนั้นก็ขอลี้ภัยทางการเมืองแต่ถูก
จับกุมขัง และได้รับการปล่อยตัวระหว่างรอคำตัดสินตามคำขอของเขา

ทั้งคู่พบกันโดยบังเอิญที่เมืองลิล (Lille) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสและต่างก็ดีใจที่พบ
เพื่อนร่วมชาติ นฟามารามาจากเมืองหลวง ส่วนมุสตาฟามาจากหมู่บ้านทางใจกลาง
ของประเทศ ทั้งคู่มาจากครอบครัวใหญ่ พ่อของทั้งสองเสียชีวิตแล้ว เมื่อไม่มีงาน
ไม่มีความหวัง ในบ้านเกิด |ยุโรปจึงเป็นเหมือนดินแดนที่กวักมือเรียกอย่างไม่อาจ
ห้ามใจได้ ทั้งคู่ตัดสินใจยึดกันเป็นเพื่อนและตั้งใจว่าจะร่วมฝ่าฟันไปด้วยกันไม่ว่า
ชะตากรรมข้างหน้า จะเป็นอย่างไรก็ตาม

เช้าวันรุ่งขึ้น สองหนุ่มเตรียมพร้อมจะกล่าวอำลา แต่โจแอลพูดขึ้นว่า “อย่าไปเลย
อยู่ด้วยกันไปก่อน แล้วค่อยมาดูกันว่าจะทำยังไงต่อไป”นฟามารากับมุสตาฟาจึงอยู่ช่วย
งานนาดีนในครัว ปลูกผักสวนครัวหลังบ้านและเล่นฟุตบอลกับซีริล แต่รู้สึกลำบากใจที่เห็น
โจแอลต้องทำงานหนัก และกลับบ้านกลางดึกบ่อย ๆ เขาต้องเลี้ยงปากท้องถึง 5 คนอยู่แล้ว
และตอนนี้ 7 คนดูจะมากเกินไป

เย็นวันหนึ่งปลายเดือนมิถุนายน ทั้งคู่บอกว่าวันรุ่งขึ้นจะขอลาไป โดยไม่ทราบว่าคืนนั้นซีริล
ลากที่นอนออกมาขวางทางเดินหน้าประตูห้อง เขาไม่ยอมให้ทั้งคู่จากไปเพราะนฟามารากับ
มุสตาฟาไม่ใช่แค่วีรบุรุษ แต่ทั้งคู่เป็นเหมือนพี่ชายคนโตสำหรับซีริลด้วย

ต้องทำอะไรสักอย่าง “โจแอลครับ ถ้าคุณช่วยให้เราได้ใบอนุญาต เราก็จะหางานทำและช่วย
ค่าใช้จ่ายคุณได้” ทั้งคู่เสนอ

โปรดติดตามตอนที่ (4)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ต.ค. 18, 2021 11:07 pm

🧒🧑พี่น้องต่างสีผิว
"ตอนที่ (4 )" (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสา​ระทึก ฉบับเดือนตุลาคม 2546/2003,
โดย Rudolph Chelminski รวบรวมและแปลเพิ่มจากบทความ
“Ils se jettent à l'eau et trouvent une famille”
(พวกเขาโจนลงน้ำและพบครอบครัว) โดย กอบกิจ ครุวรรณ

โจแอลจึงพานฟามารากับมุสตาฟาไปยังศาลากลางในเมืองเพื่อจดทะเบียนว่า
คนทั้งสองอาศัยอยู่กับครอบครัวเขาอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอ
ใบอนุญาตอยู่อย่างถาวร แต่ความหวังริบหรี่เนื่องจากคำขอลี้ภัยของนฟามารา
เคยถูกปฏิเสธมาแล้ว และจะต้องถูกเนรเทศทันที ส่วนมุสตาฟาก็ตกที่นั่งลำบาก
ไม่แพ้กัน แต่โจแอลมีความคิดก้าวไกลไปกว่านั้น เขาโทรศัพท์ไปยังหนังสือพิมพ์
นักข่าวสาวมาสัมภาษณ์ทุกคนและตีพิมพ์บทความยาวเหยียด เล่าเรื่องความกล้าหาญ
ที่ได้รับ การตอบแทนด้วยน้ำใจที่โอบอ้อมอารีของทั้งสอง

หลังจากนั้นไม่นาน สิ่งที่โจแอลนึกไว้ก็เป็นจริง บทความในหน้าหนังสือพิมพ์ทำให้
ชายทั้งสองได้รับความเห็นใจอย่างมากจนเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสใจอ่อน ในที่สุดมี
จดหมาย 2 ฉบับไปยังเมืองโนรัว

ฉบับหนึ่งถึงมุสตาฟาให้สถานะผู้ลี้ภัยและใบอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำงานนาน 10 ปี
ส่วนอีกฉบับระบุว่า คำขอสถานภาพผู้ลี้ภัยของนฟามาราจะได้รับการทบทวน ระหว่างนี้
เขาจะได้รับใบอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำงานปีต่อปีซึ่งเป็นก้าวแรกของการได้สถานภาพ
อยู่อย่างถาวร ในเดือนตุลาคมปีนั้น ชายหนุ่มทั้งสองและโจแอลได้รับเชิญเป็นแขกผู้มีเกียรติ
ในพิธีซึ่งจัดขึ้นที่ศาลาเทศบาลเมืองโนรัว ทางการมอบเหรียญทองแห่งความกล้าหาญให้ทั้งคู่
และกล่าวยกย่องการกระทำของพวกเขาว่า เป็นตัวอย่างที่ชาวฝรั่งเศสควรจดจำ ในส่วนของ
โจแอลก็คือ “ชายผู้น่าทึ่ง สิ่งที่เขาและภรรยาทำเป็นแรงบันดาลใจที่สมควรได้รับการนับถืออย่างสูง”

นฟามารากับมุสตาฟาซาบซึ้งยิ่งกว่าใคร ทั้งคู่ปาดน้ำตาอย่างไม่อายต่อหน้ากล้องโทรทัศน์
เพราะไม่อาจกลั้นความรู้สึกตื้นตันในบุญคุณของสองสามีภรรยาอย่างจริงใจ

นับถึงวันที่เขียนบทความนี้ หนุ่มแอฟริกันทั้งสองมีงานทำไม่เต็มเวลา และกำลังพยายามหางาน
ประจำทำในเมือง พวกเขารู้ดีว่า งานที่จะได้ทำ อาจทำให้ต้องจากครอบครัวเลอนัวร์ไปในอนาคต
ซีริลเองก็รู้ดีและยอมรับโดยมีข้อแม้ว่า ทั้งคู่จะต้องกลับมาเยี่ยมเยียนเขาบ่อย ๆ

“ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้รับการต้อนรับจากครอบครัวคนผิวขาวแบบนี้” นฟามารากล่าว
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย”

โจแอลกล่าวปิดท้ายว่า “สิ่งที่ผมทำไม่มีความหมายสักเท่าไหร่หรอก เด็กหนุ่มทั้งสองได้บุญ
มากกว่าผมด้วยซ้ำ พวกเขาช่วยชีวิตลูกชายผมไว้ ผมอยากบอกว่า การมีลูกชายเพิ่มขึ้น 2 คน
ดีกว่ามีน้อยลง 1 คนนะครับ”

****************************
จบบริบูรณ์
:s007:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ต.ค. 18, 2021 11:12 pm

… อภัยในสิ่งที่ไม่อาจให้อภัย…
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2547/2004
โดย ลิซา คอลเลียร์ คูล รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เบตตี้ เฟอร์กูสันทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่คงไม่อาจทำได้ นั่นคือให้อภัยผู้ที่ฆ่าลูกของเธอ

หลังจากเด็บบี้วัย 16 ปีถูกฆาตกรรมในปี 1975 (พ.ศ.2518) เบตตี้ก็หมดกำลังใจ
เธอดื่มเหล้าจนเมาหลับไปทุกคืนและละเลยลูกอีก 4 คน วันแล้ววันเล่าเธอเฝ้าแต่
สาปแช่ง ‘เรย์’ คนที่ฆ่าลูกเธอ เรย์เป็นครูภาษาอังกฤษที่ลักพาตัวเด็บบี้ไปฆ่า
การที่เรย์ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกจำคุกตลอดชีวิตไม่ได้ช่วยบรรเทา
ความเจ็บปวดของเบตตี้ “ความเกลียดชังกัดกร่อนหัวใจของฉัน” เธอกล่าว​
แล้วก็ทนทุกข์อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ปวดศีรษะไปถึงปวดหลังอย่างรุนแรงจนแทบ
ยืนไม่ได้

ในปี 1981 ข้อความตอนหนึ่งจากบทสวดกระทบจิตใจเธอ
“โปรดยกโทษให้ผู้ที่ทำผิดต่อข้าพเจ้า” เบตตี้เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับการให้อภัย
และรู้สึกว่าการให้อภัยอาจช่วยแก้ปัญหาได้ เธอไปเยี่ยมหลุมศพเด็บบี้ แผ่นหินที่
หลุมนั้นจารึกข้อความว่า “สิ่งที่โลกต้องการในขณะนี้คือ ความรักและความอ่อนหวาน”
ข้อความนี้ดังก้องอยู่ในหัวใจของเธอ

ต่อมาไม่นาน เบตตี้ก็พูดว่า “ฉันเต็มใจที่จะอภัยให้เรย์” เธอพูดออกมาดัง ๆ ซ้ำ ๆ
หลายหนเหมือนกับท่องมนต์ แล้วภายในเวลาไม่ถึงปี เธอก็เขียนจดหมายถึงเรย์
“ฉันเลิกโกรธคุณแล้ว ฉันจะไปหาและเล่าเรื่องการเดินทางของฉันให้คุณฟัง”

ในปี 1986 หลังการฆาตกรรม 11 ปี เบตตี้ก็ไปเยี่ยมเรย์ที่เรือนจำ
“ฉันบอกเขาว่า เด็บบี้มีความหมายอย่างไรต่อฉัน ฉันรู้สึกสูญเสียและจิตใจ
แตกสลายเพียงใด เขานิ่งฟังแล้วเราก็ร้องไห้ด้วยกัน เมื่อฉันกลับออกมา ฉันรู้สึก
เหมือนเป็นคนใหม่ที่มีจิตใจอ่อนโยนปลอดโปร่ง และมีเมตตามากขึ้น”

เบตตี้มีคำตอบพร้อมให้แก่เพื่อน ๆ ที่รู้สึกสับสนกับการกระทำของเธอนั่นคือ
“การให้อภัยเป็นของขวัญสุดประเสริฐที่ฉันให้แก่ตัวเองและลูก ๆ” เบตตี้กล่าว
ขณะที่เขียนบทความนี้ เธอทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในโครงการของรัฐเพนซิลเวเนียที่จัด
ขึ้นสำหรับเหยื่ออาชญากรรมรุนแรง”เส้นทางการเยียวยาของฉันช่างมีพลังจนแทบไม่
น่าเชื่อและช่วยชีวิตฉันไว้”เส้นทางการเยียวยาของฉันช่างมีพลังจนแทบไม่น่าเชื่อ
และช่วยชีวิตฉันไว้”

******************
:s002:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ต.ค. 20, 2021 11:16 am

…ผมว่าเราสูญเสียพวกเขาแล้ว…​ (ตอนที่ (1)
)จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2547/2004
โดย ไมเคิล แคบเบจ และวิลเลี่ยม ฮาร์วู้ด
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี้ ทุกฝ่ายกำลังวุ่นกับการเตรียมต้อนรับยานโคลัมเบียกลับสู่โลก
ทีมงานสนับสนุนภาคพื้นดินเข้าประจำที่ตรงปลายสุดของทางวิ่งยาว 5 กิโลเมตร
บนอัฒจันทร์เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซ่า นักข่าวและแขกผู้มีเกียรติ ส่วน
ครอบครัวของนักบินอวกาศรวมตัวกันอยู่บนอัฒจันทร์ มีรั้วกั้นแยกจากแขกกลุ่มอื่น ๆ
เพื่อความเป็นส่วนตัว

บรรยากาศโดยรอบเต็มไปด้วยความชื่นมื่นเมื่อมีข่าวว่า อีกไม่กี่อึดใจ ยานอวกาศจะแตะพื้น
โลกอย่างสง่างามและปลอดภัย ขณะนั้นเป็นเวลา 8.44 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2003
ยานโคลัมเบียลดเพดานบินต่ำลงมาจนอยู่ที่ระดับ 400,000 ฟุตเหนือท้องฟ้า

ที่แผนกควบคุมการบินในศูนย์อวกาศจอห์นสัน มีการติดตั้งจอโทรทัศน์ขนาดยักษ์ที่หน้าห้อง
เพื่อถ่ายทอดภาพแสดงตำแหน่งของยานฯบนแผนที่ซึ่งช่วยให้ติดตามเส้นทางการบินของยานฯ
ไปจนถึงฟลอริด้าได้ง่ายขึ้น ‘เจฟ’ เจ้าหน้าที่ระบบกลไกสังเกตเห็นความผิดปกติของข้อมูลที่ส่ง
จากยานฯมายังจอคอมพิวเตอร์ตรงหน้าเขา

เจฟรีบแจ้งให้ ‘เคน’ ผู้อำนวยการการบินทราบ​ เคนจึงนึกถึงตอนที่ยานฯออกจากฐานเมื่อ 16 วันก่อน
เขาจำได้ว่า 82 วินาทีหลังจากยานฯขึ้นสู่ท้องฟ้า มีโฟมฉนวนป้องกันความร้อนขนาดเท่ากระเป๋าเ
ดินทางแตกตัวออกจากถังเชื้อเพลิงนอกตัวยานและพุ่งชนปีกซ้ายของยาน ความคิดนี้รบกวนจิตใจ
ของเคนอย่างหนัก เพราะเศษโฟมฉนวนนี้อาจเป็นสาเหตุให้ตัวเซนเซอร์อุณหภูมิที่ปีกซ้ายลดลงก็เป็นได้

ความเสียหายของยานอวกาศที่เกิดจากเศษวัสดุซึ่งล่องลอยอยู่เป็นสิ่งที่นาซ่าหาทางป้องกันมานาน
หลายปี แต่หลังจากทดลองใช้มาตรการป้องกันการแตกตัวของโฟมฉนวนอยู่หลายวิธี ทีมผู้จัดการ
ยานอวกาศก็สรุปความเห็นว่า สถานการณ์เช่นนี้เป็น “ความเสี่ยงที่ยอมรับได้” และขณะนี้ปัญหาดัง
กล่าวก็ย้อนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

โปรดติดตามตอนที่ (2)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ต.ค. 21, 2021 5:16 pm

……ผมว่าเราสูญเสียพวกเขาแล้ว ……(ตอนที่ (2))​
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2547/2004
โดย ไมเคิล แคบเบจ และวิลเลี่ยม ฮาร์วู้ด
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ภาคพื้นดินไม่ได้แจ้งให้นักบินประจำยานฯทราบว่า มีการหารือเรื่องนี้อย่างเคร่งเครียด
พวกเขารับทราบเพียงว่า ยานถูกโฟมพุ่งเข้าชน แต่ ”ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อการกลับสู่โลก”

ทันทีที่ยานฯบินพ้นขอบเขตความร้อนที่ก่อตัวขึ้นถึงขั้นสูงสุด ทุกคนคิดว่าทุกอย่างราบรื่น
แต่ทันใดนั้น ‘ริก’ หนึ่งใน 7 นักบินที่อยู่ในยานฯก็ติดต่อมายังภาคพื้นดินเป็นครั้งแรกนับ
แต่ยานฯเข้าสู่บรรยากาศโลกเมื่อ 15 นาทีก่อนหน้านั้น​ ภาคพื้นดินได้ยินเพียงคำพูดสั้น ๆ ว่า
“และ โอ้โห...” จากนั้นสัญญาณก็ถูกตัดขาดไป ปกติระหว่างการเดินทางกลับสู่โลก
สัญญาณการติดต่อมักขลุกขลักเพราะยานฯมักบินเอียงซ้ายขวาตลอดเวลา และบางจังหวะ
บางส่วนของแพนหางอาจไปบังสัญญาณที่ส่งผ่านดาวเทียมสื่อสารที่อยู่เหนือมหาสมุทร
แปซิฟิกด้านตะวันตก

2-3 วินาทีต่อมา เจฟเห็นลูกศรบนจอชี้ลงล่างมากกว่าเดิม ซึ่งหมายความว่าไม่มีข้อมูล
เกี่ยวกับยางล้อของฐานล้อหลักด้านซ้าย​ เขาใจหายและบอกเคนผู้อำนวยการการบินว่า
“ไม่มีแรงดันลมในยางล้อทางซ้ายทั้งด้านในและด้านนอกทั้งสองล้อเลย”

ฝูงชนที่รออยู่ที่ฟลอริด้าส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่หน่วยควบคุมภาคพื้นดิน แต่มีนักข่าว 2
คนที่ยกกล้องโทรทัศน์เข้าไปในสำนักงานกิจการสาธารณะสังเกตเห็นความผิดปกติ เนื่องจาก
แผนที่ขนาดใหญ่ที่แสดงอยู่ในหน่วยควบคุมภาคพื้นดินและถ่ายทอดสัญญาณจากนาซ่าควร
จะแสดงภาพความคืบหน้าของยานฯโดยมีสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยมสีแดงที่เคลื่อนที่
อย่างรวดเร็วผ่านทวีปอเมริกา แต่สามเหลี่ยมที่เห็นกลับหยุดนิ่งอยู่กลางรัฐเท็กซัส

ยานฯขาดการติดต่อเกือบ 5 นาทีแล้ว ที่ปลายทางวิ่งด้านทิศเหนือ นักบินอวกาศ ’เจอรี่’
ที่ภาคพื้นดินได้ข่าวว่ายานฯหลุดจากรัศมีของเรดาร์ที่พยายามจับภาพขณะยานบินเข้าสู่ฟลอริด้า
เขารู้ทันทีว่าหมายถึงอะไร เขากับเพื่อนอีกคนจึงโทรศัพท์ไปถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลครอบครัวของ
นักบินโคลัมเบียในบริเวณอัฒจันทร์ “รู้สึกว่าเราจะสูญเสียยานโคลัมเบียไปแล้ว เราต้องให้ญาติ ๆ
ของนักบินมารวมตัวกัน แล้วส่งกลับไปที่สำนักงานโดยเร็วที่สุด ไม่ต้องพูดอะไรทั้งสิ้น”

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ต.ค. 22, 2021 8:36 pm

……ผมว่าเราสูญเสียพวกเขาแล้ว…… (ตอนที่ (3))​ ตอนจบ
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2547/2004
โดย ไมเคิล แคบเบจ และวิลเลี่ยม ฮาร์วู้ด
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

‘จิม’อยู่ที่สวนหลังบ้านในเมือง ’Mesquite’ รัฐเท็กซัส ขณะจับตาดูยานโคลัมเบียเคลื่อนตัว
เข้าหาพื้นโลกและเคยเห็นยานอวกาศกลับสู่โลกมาก่อน ทันใดนั้นเขาเห็นแสงจ้าจากยานฯ
จึงรู้สึกประหลาดใจ กล่าวว่า “ผมไม่เคยเห็นแสงจ้าขนาดนั้นมาก่อนเลย”

จิมเห็นสะเก็ดขนาดใหญ่ 2 ชิ้นหลุดออกจากตัวยาน “เนื้อตัวผมสั่นไปหมดเพราะรู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น”
เขากล่าว ยานโคลัมเบียกำลังแตกเป็นเสี่ยง ๆ ต่อหน้าเขา

ที่เมือง ’Hemphil’ รัฐเท็กซัส อยู่ห่างจากเมือง ’Mesquite’ราว 300 กิโลเมตร ‘โรเจอร์’
ได้ยินเสียงวัตถุตกกระแทกพื้นดินดังมากและแตกกระจาย เสียงระเบิดดังต่อไปอีกกว่า 1 นาที
เขาพูดกับภรรยาว่า “ผมเห็นควันพวยพุ่งเป็นทางยาว” ภรรยาของเขารีบเปิดโทรทัศน์และ
ทราบว่า นาซ่าขาดการติดต่อกับยานฯ “ณ วินาทีนั้น เรารู้ทันทีว่าเสียงระเบิดที่
เราได้ยินเกิดจากยานฯ”

ไม่กี่อึดใจต่อมา เมื่อน้องชายโรเจอร์มาช่วยงานที่บ้าน เขาบอกพี่ชายว่า
“มีของบางอย่างอยู่ที่ถนนตรงหัวมุมบนที่ดินของพี่”

โรเจอร์กระโดดขึ้นรถกระบะของน้องชายและมุ่งหน้าไปดูทันที “พอจอดรถก็เห็นชัดว่า
เป็นชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์” สองพี่น้องรีบแจ้งนาซ่าซึ่งส่งเฮลิคอปเตอร์มาดำเนินการ
ค้นหาทันที โรเจอร์คิดเสมอมาว่า นักบินอวกาศเป็นวีรบุรุษ เขาจึงตัดสินใจสร้างอนุสาวรีย์
อย่างง่าย ๆ โดยนำท่อนไม้ 2 ท่อนมาตอกเป็นรูปไม้กางเขนและปักลงตรงจุดที่นักบินหล่น
มาสู่พื้นโลก

นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ไม่มีใครบนโลกได้รับบาดเจ็บเพราะสะเก็ดยานฯ ช่วง 2-3 วันต่อมา
ทีมค้นหาก็สามารถรวบรวมชิ้นส่วนร่างกายของนักบินทั้ง 7 คนได้ครบและบอกได้ว่าชิ้นส่วน
ไหนเป็นของใคร ส่วนใหญ่ได้จากบริเวณที่ห่างจากบ้านของโรเจอร์ประมาณ 4-5 กิโลเมตร
รวมทั้งพบส่วนหัวของตัวยานในบริเวณเดียวกันด้วย

ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี้ในช่วงสัปดาห์แห่งการรำลึกถึงวีรกรรมของนักบินผู้ล่วงลับกับยาน
โคลัมเบีย โรเบิร์ต คริปเพน นักบินคนหนึ่งที่ร่วมบินกับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของยานฯ
เมื่อเดือนเมษายน 2002 กล่าวสดุดียานฯที่ย่อยยับไปแล้วว่า “ผมมั่นใจว่าในช่วงสุดท้าย
ยานโคลัมเบียซึ่งเดินทางมาแล้วหลายล้านกิโลเมตรและกลับสู่โลกท่ามกลางเปลวไฟมาแล้ว
ถึง 27 ครั้ง​ จะต้องพยายามเต็มที่เพื่อนำนักบินอวกาศทั้งหมดกลับสู่โลกให้ได้อีกครั้ง
ยานโคลัมเบียอาจไม่ใช่สิ่งสวยงาม แต่ก็สวยงามเสมอในสายตาของพวกเราซึ่งรักและ
เอาใจใส่มันเสมอมา หลายคนบอกว่ายานโคลัมเบียชราและตกยุคแล้ว แต่ก็ยังมีภารกิจ
รออยู่มากมาย ความเจ็บปวดนี้จะไม่เลือนหายไปจากใจของพวกเรา
เพราะพวกเราจะไม่มีวันลืมมัน
ขอยกย่อง – ริก, วิลเลี่ยม, เคซี่, ไมเคิล, ลอเรล, เดฟ และอิลัน – ขอยกย่องยานโคลัมเบีย”

****************************

จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ต.ค. 24, 2021 4:21 pm

……พลังแห่งปณิธาน ตอนที่ (1) ……
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2547/2004
โดย อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

อะไรคือรางวัลของการนำพาครอบครัวที่พลัดพรากให้กลับมาพบกันอีก

ดิฉัน (อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ)ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมีโอกาสตามหาญาติให้ใคร ๆ
ได้อีกหลังกรณีของคุณจารุณี สุขสวัสดิ์ ก่อนหน้านั้น ดิฉันไม่เคยรู้จักคุณจารุณีเป็นการส่วนตัว
จนมาเล่นละครโทรทัศน์ด้วยกันเมื่อ 8 ปีก่อน ระหว่างถ่ายทำ ดิฉันสังเกตเห็นเธอดูเศร้า ๆ
และเก็บเนื้อเก็บตัวเหมือนคนมีเรื่องในใจตลอดเวลา

อยู่มาวันหนึ่ง เรามีโอกาสเล่าเรื่องครอบครัวแลกเปลี่ยนกันฟัง ดิฉันถามเธอว่า
“คุณพ่อเธออยู่ที่ไหน​ ” -- “ไม่ทราบ” คุณจารุณีตอบ “รู้จักพ่อแต่ในรูปถ่าย และ
ทราบว่าพ่อเคยเป็นพนักงานสายการบินแอร์ฟร้านซ์”

เธอเริ่มตามหาพ่อตั้งแต่อายุ 17 ปี แต่คว้าน้ำเหลว ครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาสไปถ่าย
หนังที่ฝรั่งเศส เธอก็ไปสืบหาตามที่อยู่ที่ได้มา แต่พ่อย้ายบ้านไปแล้วเลยจนปัญญา
จะสืบต่อ เธอได้แต่เก็บเรื่องนี้ไว้ในใจเรื่อยมา

ดิฉันรู้สึกเห็นใจและอยากมีส่วนช่วยให้เธอสมหวัง จึงคิดว่าน่าจะเริ่มต้นติดต่อไปที่
แผนกบุคคลของสายการบินแอร์ฟร้านซ์ และโชคดีมากที่พบคนมีเมตตาอย่าง
คุณชังตัล ลุลิตานนท์ ซึ่งขณะที่เขียนเรื่องนี้ล่วงลับไปแล้ว เธอจัดการสืบหาข้อมูล
ให้และติดต่อประสานงานจนพ่อลูกได้พบกันสมใจ

พอข่าวนี้เผยแพร่ออกไปตามสื่อต่าง ๆ ก็มีคนติดต่อขอให้ดิฉันช่วยตามญาติให้หลาย
ราย วันหนึ่งดิฉันได้รับการติดต่อจากคุณเชษฐา (ชื่อสมมติเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว)
ซึ่งเคยอยู่เมืองไทยแต่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศนานแล้ว

คุณเชษฐาบอกว่าพอได้ดูการสัมภาษณ์คุณจารุณีทางโทรทัศน์ก็รีบโทรฯทางไกลข้าม
ประเทศมาหาคุณชังตัลทันทีเพื่อให้ช่วยตามหาน้องสาวในเมืองไทย แต่คุณชังตัลบอก
ให้ติดต่อดิฉัน คุณเชษฐาจึงเขียนจดหมายมาเล่ารายละเอียดเรื่องของน้องสาว ดิฉันตอบ
ไปว่าถ้ามีรายละเอียดมากพอก็ยินดีช่วยเต็มที่

คุณเชษฐาเล่าในจดหมายว่า ทุกวันนี้ชีวิตมีความเป็นอยู่สุขสบายดี แต่ยังคิดถึงน้องสาว
อยู่เสมอ ไม่รู้ว่าชีวิตของน้องจะตกระกำลำบากหรือเปล่า “คิดถึงน้องทีไรก็ไม่สามารถมี
ความสุขได้อย่างเต็มที่เลย เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ อยากให้แม่ซึ่งแก่มากและ
ป่วยเป็นโรคหัวใจหมดห่วงและสบายใจเสียที” เขาย้ำในจดหมาย

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ต.ค. 24, 2021 4:25 pm

……พลังแห่งปณิธาน ตอนที่ (2)……
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2547/2004
โดย อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

คำพูดนี้กินใจมากจนดิฉันตั้งปณิธานว่า จะต้องช่วยเขาอย่างสุดความสามารถทั้งๆ
ที่มีรายละเอียดน้อยมาก คุณเชษฐาจำได้สั้น ๆ ว่าพ่อพาเขาไปเยี่ยมแม่กับน้องที่
โรงพยาบาลซึ่งอยู่ริมน้ำ เขาเห็นน้องนอนอยู่บนเตียงกับแม่ ต่อมาแม่กลับบ้านแต่
ไม่ได้พาน้องกลับมาด้วย ดิฉันตอบไปว่าข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดพอจะปะติดปะต่อสืบ
ต่อได้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2490

ดิฉันเริ่มคิดว่าโรงพยาบาลริมน้ำที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณน่าจะเป็นที่ไหน จึงลอง
ติดต่อคนรู้จักพอจะเข้าไปค้นข้อมูลทะเบียนคนไข้ในโรงพยาบาลแห่งนั้นได้ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่แผนกทะเบียนช่วยค้นให้และเจอนามสกุลตรงกัน ปรากฏว่าวันกับเดือนเกิด
ที่คุณเชษฐาให้มาผิดหมด มีแต่ปีเกิดที่ถูกต้องคือ พ.ศ.2490 (ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อเด็ก)

ทั้งยังได้ข้อมูลเพิ่มอีกด้วย คือได้ชื่อบุคคลที่รับเด็กไปเป็นบุตรบุญธรรม และได้นามสกุล
ของครอบครัวใหม่พร้อมที่อยู่ แต่จนใจที่จะสืบค้นต่อเพราะสภาพกรุงเทพฯ รวมทั้งถนน
ตรอกซอกซอยเปลี่ยนไปหมดจนไม่เหลือเค้าเดิม

“ตอนนี้ได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว” ดิฉันเขียนบอกคุณเชษฐาว่า “ทุกอย่างไม่ยากเลยหากดิฉันจะ
ประกาศทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ต้องการพบบุคคลที่เกิดวันเดือนปีนี้ พร้อมกับระบุนามสกุลเก่า
และนามสกุลใหม่” แต่คิดว่าคงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จู่ ๆ ก็มีญาติจากไหนไม่รู้มาตามหา
ดิฉันคิดว่ามีความเป็นไปได้หลายอย่างคือ ตลอดชีวิตของผู้หญิงคนนั้นอาจไม่รู้ว่า ตัวเองไม่ใช่
ลูกที่แท้จริงของครอบครัวที่อยู่ด้วยในปัจจุบัน หรือเธออาจผจญชีวิตด้วยความทุกข์ทนจนทำ
ให้เกลียดชังครอบครัวเดิมที่ทิ้งเธอไป กรณีนี้ไม่เหมือนคุณจารุณีที่ดิฉันทำหน้าที่เป็นตัวกลาง
ได้เต็มที่เพราะเธอเป็นคนแสวงหาพ่อมาตั้งแต่อายุ 17 ปี

ที่สุด คุณเชษฐาก็เดินทางมาจากต่างประเทศ เริ่มต้นจากที่อยู่ที่ดิฉันได้มา จากนั้นก็ไปขอตรวจ
สอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ทางคอมพิวเตอร์ว่า คนที่ใช้นามสกุลนี้มีอยู่ที่ไหนบ้าง ติดต่อได้อย่างไร
คุณเชษฐาก็โทรศัพท์ไล่ไปเรื่อย ๆ จนไปถึงบ้านหนึ่งมีผู้ชายรับสาย เขาถามว่าคุณเป็นใคร
คุณเชษฐาตอบว่าเขากำลังตามหาน้องสาวที่ครอบครัวนามสกุลนี้ขอมาเป็นบุตรบุญธรรม

“พรุ่งนี้ค่อยโทรฯมาใหม่” ชายผู้นั้นบอก พอโทรฯกลับไป เขาก็บอกว่าคนที่คุณเชษฐากำลัง
ตามหาเป็นพี่สาวของเขาเอง จากนั้นก็เปิดโอกาสให้คุณเชษฐาได้พูดคุยกับคุณพิสมัย (ชื่อสมมติ)
จนกระทั่งมีการนัดเจอกัน

โปรดติดตามตอนที่(3)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ต.ค. 25, 2021 4:47 pm

……พลังแห่งปณิธาน ตอนที่ (3) (ตอนจบ) ……
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2547/2004
โดย อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

“แวบแรกที่รู้ว่าพี่ชายตามหา ดิฉันคิดว่าเป็นพวกสิบแปดมงกุฎ” คุณพิสมัยเล่าให้ดิฉันฟัง
“แต่พอได้ฟังเรื่องราวที่คุณเชษฐาเล่าและย้อนคิดถึงความหลังก็รู้ว่าเป็นพี่ชายจริง ๆ
เพราะรู้เต็มอกอยู่แล้วว่า ตัวเองเป็นลูกที่มีคนขอมาเลี้ยง” ครอบครัวใหม่พยายามปิดบัง
มาตลอด แต่เธอรู้ความจริงจากปากคนอื่นตอนเรียนอยู่ประถม 3

“ตอนนั้นเสียใจและผิดหวังมากพอ ๆ กับที่อยากรู้ว่าพ่อแม่ที่แท้จริงเป็นใคร” คุณพิสมัยเล่า
แต่พ่อแม่ที่เลี้ยงดูเธอมาอย่างดีตั้งแต่เกิดก็รักเธอมาก ตอนที่ขอเธอมาเลี้ยง ท่านทั้งสองยัง
ไม่มีลูก แม้ภายหลังจะมีลูกชายของตัวเองคือน้องชายคนที่รับโทรศัพท์ พ่อกับแม่ก็พยายาม
ชดเชยให้เต็มที่จนความรู้สึกของเธอค่อย ๆ เติมเต็มขึ้นมาเป็นลำดับ ขณะนี้เธอแต่งงานมีลูก
และหลานแล้ว ดังนั้นจึงเข้าใจความรู้สึกของแม่ว่า จะต้องมีเหตุผลจำเป็นจริง ๆ ถึงได้คลอดลูก
แล้วทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล

“สมัยนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งเสร็จสิ้นได้ไม่นาน” คุณเชษฐาเล่า “สภาพความเป็นอยู่ยาก
ลำบาก ครอบครัวเราจนมาก โรคภัยไข้เจ็บก็ชุกชุม ถ้าเอาน้องไปเลี้ยงที่บ้านก็อาจจะไม่รอด”

หลังพบน้องสาว คุณเชษฐาจึงกลับไปพาแม่มาเมืองไทยเพื่อพบลูกสาว“ผมดีใจมากที่ได้พบสาย
เลือดเดียวกัน หลังพลัดพรากจากกันกว่า 50 ปี” คุณเชษฐาบอก “ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ช่วยปลดเปลื้อง
ความทุกข์ที่กัดกร่อนจิตใจของแม่มานาน”

ภาพที่คุณเชษฐาส่งมาให้ดิฉัน มีแม่นั่งอยู่บนเก้าอี้รถเข็นพร้อมกับถังออกซิเจนที่สนามบิน
ขณะที่ลูกสาวนั่งกับพื้นแล้วกราบลงที่ตักแม่ ต่างแสดงความรักและความเข้าใจต่อกันอย่างอ่อนโยน
ไม่มีร่องรอยของความคับข้องใด ๆ มีแต่ความห่วงใยและผูกพันฉันสายเลือด

ช่างเป็นภาพที่งดงาม ได้เห็นภาพนี้แล้ว ดิฉันรู้สึกชื่นใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของคนหลายคน
ในครอบครัวนี้มีความสุข

ประวัติย่อของผู้เขียน : อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ (จากวิกิพีเดีย)

เกิด พ.ศ. 2494 (อายุ 70 ปี)

อาชีพ ผู้พิพากษาสมทบ นักแสดง พิธีกร

ปีที่แสดง พ.ศ. 2520 - ปัจจุบัน

ผลงานเด่น เมี้ยน จากละคร คือหัตถาครองพิภพ

รางวัลพระสุรัสวดี นักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม พ.ศ. 2541 – วัยระเริง

รางวัลสุพรรณหงส์ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม พ.ศ. 2540 - วัยระเริง (เข้าชิง)

รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ผู้ดำเนินรายการหญิงดีเด่น พ.ศ. 2536 - รายการละครแห่งชีวิต

รางวัลเมขลา ผู้ดำเนินรายการบันเทิงหญิงดีเด่น พ.ศ. 2528 - รายการมาตามนัด
, ดาราสนับสนุนหญิงดีเด่น พ.ศ. 2545- รอยไถ

****************************

จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.พ. 11, 2023 6:24 pm

💕ธาตุแท้ของความรัก ตอนที่ ( 1. )
โดย Sue Monk Kidd จากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

“แม่ขา! มาดูนี่หน่อย!” เสียง’แอน’ลูกสาววัย 10 ขวบตะโกนมาจากประตูหลังบ้าน

อะไรกันอีกล่ะ ฉันกำลังเอกเขนกที่เก้าอี้ตัวโปรด เพลิดเพลินกับช่วงเวลาแห่งความสงบ
เล็ก ๆ น้อย ๆ. หลังจากวุ่นวายกับลูกสองคนมาทั้งวัน

โรงเรียนปิดภาคเรียนมาได้ 1 สัปดาห์แล้ว เด็ก ๆ อยู่บ้านและทำตัวเหมือนลูกม้าป่า
ที่ถูกปล่อยออกจากคอก พากันกระโดดโลดเต้นอยู่บนเตียง วิ่งไล่หมาไปทั่วบ้าน ทำเครื่องดื่มหก
บ่นกระปอดกระแปดแย่งรีโมตโทรทัศน์กัน และคร่ำครวญว่าไม่รู้จะทำอะไรดี นี่แหละที่มาของเรื่องยุ่ง
ตลอดช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน

เช้านั้น ขณะรดน้ำต้นดาวเรือง พวกเด็ก ๆ ก็เล่นฉีดน้ำใส่กันจนเปียกปอนทั้งคู่ เสื้อผ้าและ
รองเท้าผ้าใบชุ่มโชก มากเกินไปแล้วนะ ฉันเฝ้าดุลูก “กลับไปที่ห้องได้แล้ว”

ตลอดสัปดาห์เป็นอย่างนี้ ฉันต้องทำหน้าเหี้ยมเข้าไว้ หลายครั้งในแต่ละวัน ฉันต้องจับเด็กสอง
คนนี้มายืนตรงหน้า สั่งสอนให้ทำตัวเรียบร้อย แต่ก็เหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา

“แม่ มาดูนี่!” เสียงแอนดังแทรกความเงียบอีกครั้ง แล้วเด็กน้อยก็ถลามาหยุดอยู่ข้างเก้าอี้ฉัน
หอบแฮก ๆ “มีกระรอกอยู่ข้างนอกตัวนึงค่ะ”

ก็แค่กระรอกตัวหนึ่ง “แม่อ่านหนังสืออยู่” ฉันบอก

“แต่แม่คะ”

“ไม่ใช่ตอนนี้” ฉันพยายามคิดหากิจกรรมให้แอนทำ พอดีนึกขึ้นมาได้ “ทำไมลูกไม่ไปทำการบ้าน
ของโรงเรียนวันอาทิตย์ล่ะ”

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แกได้การบ้านให้เขียนเรื่อง 4 วิธีในการแสดงความรักต่อใครสักคน
อาจเป็นครู พ่อแม่ เพื่อนบ้าน เพื่อนฝูง หรือใครก็ได้

“ค่ะ” แกตอบเสียงเบาแทบไม่ได้ยิน

บ่ายวันนั้น ฉันมองเข้าไปในห้องลูก แกเพิ่งทำการบ้านเสร็จ ฉันเลยถามขึ้นว่า
“ขอแม่ดูการบ้านหน่อยได้ไหมจ๊ะ”

เธอใช้นิ้วขมวดปอยผมสีน้ำตาลทำท่าอิดออด

“เอาน่า” ฉันคะยั้นคะยอ ในที่สุด แกก็ยอมวางสมุดใส่มือฉัน

โปรดติดตามตอนที่ (. 2 )ในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ ก.พ. 11, 2023 6:33 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.พ. 11, 2023 6:31 pm

💕ธาตุแท้ของความรัก ตอนที่ (. 2. )
โดย Sue Monk Kidd จากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

“4 วิธีในการรักลูก” โดย แอน

ฉันอ่านชื่อเรื่องอย่างงง ๆ และรู้ทันทีว่าเรื่องนี้แกตั้งใจเขียนให้ฉันอ่าน ฉันตั้งท่าจะสาธยายว่า
การบ้านระบุให้ลูกเขียนวิธีที่ “แก” จะรักใครสักคนมิใช่หรือ ไม่ใช่ให้เขียนว่า “ฉัน”จะรักใครอย่างไร
แต่ฉันก็เงียบไว้เพราะฉุกคิดได้ว่า ลูกอาจจะรู้สึกขาดความรักถึงเพียงนี้ก็ได้ อย่างไรก็ตาม
ฉันเริ่มเปิดไปหน้าแรก

แกเขียนว่า “ออกไปดูกระรอกและอะไรทำนองนั้นกับลูก ๆ” ข้างล่างเป็นรูปแม่กำลังยิ้มและ
เด็กหญิงตัวเล็กแอบอยู่หลังต้นไม้มองกระรอก ฉันดูรูปนั้นและเพิ่งรู้สึกตัวเป็นครั้งแรกว่า ตั้งแต่เด็ก ๆ
ปิดภาคเรียน ฉันปฏิบัติต่อพวกแกเหมือนเป็นตัวก่อกวนมากกว่าจะถือว่าเป็นสมาชิกในครอบครัวที่
ฉันอยากจะร่วมชีวิตและมีความสุขไปด้วยกัน ฉันเงยหน้ามองแอน แต่แกแอบออกไปนอกห้องแล้ว
ฉันจึงพลิกต่อไปที่หน้าสอง

“เวลาเด็ก ๆ ทำเรื่องยุ่ง อย่าตำหนิ แต่ให้กอดพวกเขา” ฉันยิ้มเมื่อเห็นรูปแม่และลูกโผเข้ากอดกัน
สัปดาห์นี้ฉันแทบไม่ได้กอดลูกเลย โดยเฉพาะเมื่อแก “ทำเรื่องยุ่ง” ฉันนึกถึงตอนที่สั่งลูกด้วยความ
โมโหให้กลับไปที่ห้องเช้านั้น จริง ๆ แล้วเวลาที่เด็ก ๆ ทำเรื่องยุ่ง ฉันควรโอบกอดแกไว้เพื่อยืนยัน
ความรักที่มีให้

“ให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสพูดบ้าง” แกเขียนไว้ในหน้าสาม ฉันมองดูรูปที่เขียนด้วยดินสอสี คิดถึงเวลา
ที่เคยเทศนาและบ่นว่าลูก ๆ เด็ก ๆ ได้แต่ยืนนิ่ง ไม่มีโอกาสปริปากโต้แย้งแม้แต่คำเดียว ฉันถามตัวเองว่า
จริง ๆ แล้ว ลูก ๆ ควรมีสิทธิ์เรียกร้องให้พ่อแม่เงียบเพื่อที่พวกแกจะได้แสดงความคิดความรู้สึกบ้างมิใช่หรือ

ยังเหลืออีกหน้า
“หัวเราะมาก ๆ หน่อย” หน้าสุดท้ายเขียนไว้ ฉันสงสัยว่าแอนกำลังพูดถึงเรื่องที่แกใช้สาย ยางฉีดน้ำ
เล่นกับพี่ชาย การหัวเราะจะช่วยให้ตาสว่างและทำให้ฉันตระหนักว่า ที่จริงการฉีดน้ำเล่นนั้น ไม่ใช่เรื่อง
คอขาดบาดตายเลย

ฉันปิดสมุดของแอน ใช่ เด็ก ๆ ทำให้ฉันลำบากใจ แต่ฉันก็คงทำให้เด็ก ๆ ลำบากใจเหมือนกันที่
ใช้เวลาอยู่ฝ่ายเดียวโดยไม่แบ่งให้พวกเขาบ้าง มัวแต่อบรมโดยไม่แสดงความรัก สั่งสอนโดยไม่ยอมรับฟัง
กระทั่งลืมอารมณ์ขันของตัวเอง ในเวลาเช่นนั้น ฉันรู้ว่าการแสดงธาตุแท้ของความรักในช่วงขณะที่ลูก ๆ
บ่นกระปอดกระแปด เมื่อลูก ๆ ฉีดน้ำใส่กัน และเมื่อลูก ๆ กวนเวลาพักผ่อนของฉัน อาจเป็นความรักที่ยาก
จะมองเห็นและสำคัญที่สุดด้วย แอนเดินทอดน่องกลับมาที่ห้อง มองดูสมุดที่อยู่ในมือฉัน ฉันโอบแกไว้แล้ว
ขยิบตา

วันรุ่งขึ้น ขณะง่วนอยู่ในครัว ฉันก็เห็นกระรอกของแอนทางหน้าต่าง จึงรีบวิ่งไปที่ห้องลูกและเห็น
แกกำลังจุ่มพู่กันลงในกระปุกสีแดง “มาเร็ว กระรอกกลับมาแล้ว” ฉันร้องบอก

แกหันขวับมาอย่างรวดเร็วจนไปปัดกระปุกสีหก สีไหลนองบนโต๊ะ พอเอื้อมมือไปคว้ากระปุก แกก็ลาก
แขนเสื้อไปบนสีที่หกนอง วินาทีนั้น ฉันเกือบจะระเบิดออกมาอย่างทนไม่ได้ แต่ทันใดก็นึกถึง
“4 วิธีในการรักลูก”ของแอนได้ทัน ฉันหัวเราะ สีหกไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย และนอกบ้านยังมีช่วงเวลา
อันแสนสั้นรอให้แม่ประทับลงบนหัวใจของลูกน้อยมิใช่หรือ

**********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.พ. 20, 2023 8:52 pm

ผลแห่งกรรมดี (A White Boy in Africa) ตอนที่ ( 1 )
โดย Peter Godwin จากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2541
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมเป็นลูกชาวอังกฤษที่เติบโตในแอฟริกา เพราะพ่อแม่อพยพไปตั้งรกรากที่นั่น
ผมมักจะติดตามแม่ซึ่งเป็นหมอออกไปตรวจเยี่ยมคนไข้บ่อย ๆ รถที่เรานั่งไปด้วยกันนั้นเป็น
คลินิกเคลื่อนที่ ภายในรถมีชั้นวางขวดและกล่องยาชนิดต่าง ๆ ที่พ่อออกแบบให้ ชั้นที่ว่านั้น
ดูไปก็เหมือนลังใส่เครื่องมือและอุปกรณ์ทั้งหลาย เช่น มีดผ่าตัดวาววับ ก้านสำลี ขวดยาหลาย
สิบขวด และหลอดยาขี้ผึ้งมากมาย เราเดินทางไกลนับร้อย ๆ กิโลเมตรไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ
ทั่วเขต “เมลเชสเตอร์” (Melchester) ชนบทแถบที่ราบสูงของดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของเขต
โรดีเซีย (Rhodesia) ตอนใต้ในสมัยนั้น

แม่ต้องออกตระเวนฉีดวัคซีนให้ชาวบ้านซึ่งถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการรักษาชีวิตผู้คน
เป็นการฉีดยาให้ชาวบ้านเพื่อป้องกันโรคไข้ทรพิษ คอตีบ วัณโรค และโปลิโอ ถือเป็นกิจวัตร
ในช่วงฤดูแล้งทุกปี

เราเคยเดินทางขึ้นไปถึงเทือกเขาชิมานิมานิ (The Chimanimani Mountains) ซึ่งอยู่ที่ชายแดน
ห่างไกลและกันดารติดกับประเทศโมซัมบิก (Mozambique) ขณะที่กองโจรต่อต้านนักล่าอาณานิคม
ชาวโปรตุเกสยังคงคุกรุ่นอยู่

เราจะส่งข่าวล่วงหน้าก่อนเดินทางไป และเมื่อไปถึง ชาวบ้าน “นะเดา” นับพันคนต่างมารอกันอยู่แล้ว
ส่วนใหญ่พวกเขาเดินทางข้ามพรมแดนมาจากโมซัมบิก ความจริงเราไม่มีหน้าที่ฉีดวัคซีนให้กับคน
พวกนี้ แต่แม่คิดว่าน่าจะฉีดให้ด้วยเพราะชาวนะเดาในแถบนั้นต่างข้ามพรมแดนไปมาได้เสรีอยู่แล้ว

ผมเป็นคนช่วยให้วัคซีนป้องกันโปลิโอแก่เด็ก ๆ โดยถือถาดใส่ก้อนน้ำตาลแจกให้ทุกคน
คนละก้อน มีผู้ช่วยแพทย์เดินตามพร้อมขวดวัคซีนและบีบตัวยาสีชมพูลงบนก้อนน้ำตาลก้อนละหยด
หลังจากนั้นผมจะบอกให้เด็ก ๆ “แลบลิ้น” เพื่อตรวจดูว่าเด็กทุกคนที่ยืนเรียงแถวกันอยู่กลืนก้อนน้ำตาล
หมดเรียบร้อยหรือไม่

ปัญหาใหญ่คือ ผมต้องคอยกันไม่ให้เด็ก ๆ กลับมาเข้าแถวใหม่เพราะอยากได้น้ำตาลก้อนอีก

นั่นคือวันเก่า ๆ ที่เหตุการณ์บ้านเมืองยังสงบสุข แต่เมื่อผมโตเป็นหนุ่มในช่วงทศวรรษ 1970
(พ.ศ.2513-2523) คนผิวดำในโรดีเซียเริ่มก่อสงครามเพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครอง ย่านที่เราอยู่
อาศัยซึ่งมีอาณาเขตติดต่อเป็นแนวยาวกับโมซัมบิกจึงถูกรุกรานไปด้วย ไร่นาแทบทุกแห่งถูกทำลาย
เทือกเขาชิมานิมานิกลายเป็นสนามกับระเบิดขนาดใหญ่ มีเสียงระเบิดดังก้องหุบเขาเป็นระยะ ๆ ขณะที่
สัตว์ป่า เช่น กวาง แพะภูเขา และสัตว์อื่น ๆ ถูกระเบิดตัวขาดกระจุย ไม่มีใครกล้าย่างกรายเข้าไปใน
บริเวณนั้นนานนับสิบปี

ผมพยายามลืมแอฟริกาหลังจากกลับไปอยู่อังกฤษ และพยายามปัดความคิดที่ว่า บ้านเกิดของผม
เป็นสถานที่แสนทารุณโหดร้ายเต็มไปด้วยความหลังอันขมขื่นและการเข่นฆ่ากัน บ้านเกิดของผมคือ
ประเทศซิมบับเว (Zimbabwe)ในปัจจุบัน

ผมเลือกเรียนวารสารศาสตร์และเข้าทำงานที่สำนักพิมพ์ “ซันเดย์ไทมส์” ในปี 2529 ทางสำนักพิมพ์
ส่งผมไปทำข่าวที่แอฟริกาใต้ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นหมู่บ้านของคนพื้นเมืองผิวดำหลายแห่งถูกไฟไหม้
ทุกวัน มีข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยันว่า โจรก่อการร้ายโมซัมบิกมีฐานกำลังหลายแห่งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน
คือมาลาวี ดังนั้นปกติแล้วจะไม่อนุญาตให้นักหนังสือพิมพ์ต่างชาติเข้าไปเด็ดขาด แต่อาศัยจังหวะที่
เจ้าฟ้าชายชาลส์แห่งอังกฤษเสด็จเยือนประเทศมาลาวี (Malawi) ผมจึงถือโอกาสสวมรอยเข้าไปกับกลุ่ม
ผู้สื่อข่าวติดตามพระองค์อย่างเป็นทางการ

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.พ. 20, 2023 8:56 pm

ผลแห่งกรรมดี (A White Boy in Africa) ตอนที่ ( 2 )
โดย Peter Godwin จากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2541
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมแยกตัวออกจากกลุ่มนักข่าวแล้วขับรถไปตามแนวชายแดนโมซัมบิกเป็นเวลาวันครึ่ง
พร้อมกับหาข่าวจากชาวบ้านและพวกนักสอนศาสนาไปตลอดทาง จนในที่สุดก็มาหยุดที่ร้าน
ขายของแห่งหนึ่งเมื่อล่วงเข้าวันที่สอง

ภายในร้านมืดสลัวเพราะผมเพิ่งเดินฝ่าแดดจ้าเข้าไปด้านใน พอถามคนขายของว่า
“เคยเห็นโจรก่อการร้ายทางชายแดนฝั่งนี้บ้างไหม” แล้วตาของผมเริ่มคุ้นกับความมืดสลัวทัน
เห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของผู้ถูกถามจางหายไปทันที มีเสียงโลหะกระทบกันดังมาจากมุมด้าน
ในสุดของร้าน

“จะรู้ไปทำไม” เสียงถามห้วน ๆ
ตรงมุมนั้นมีชาย 6 คนสะพายเข็มขัดร้อยกระสุนเรียงเป็นตับพร้อมระเบิดมือห้อยเอว ปืนอาร์กา
ของรัสเซียวางพิงกำแพงและมีปืนยิงจรวดอีกกระบอกวางพาดอยู่เหนือโต๊ะขณะที่พวกเขากำลังนั่งดื่ม

“ไปที่ฐานกับพวกเราไหมล่ะ” หนึ่งในกลุ่มนั้นพูดขึ้น

พูดจบทุกคนก็พรวดพราดลุกขึ้นเตรียมออกจากร้าน พร้อมกับมีเสียงโลหะกระทบกันเกรียวกราว

พวกเขาพาผมไปเดินทางใต้ คนที่พูดภาษาอังกฤษได้ในกลุ่มแยกตัวไป ทิ้งผมไว้กับโจรก่อการร้าย
อาวุธครบมือ 5 คนแต่พูดกันไม่รู้เรื่อง หัวหน้ากลุ่มซึ่งออกจากมีพฤติกรรมเถื่อน ๆ สวมหมวกขนฟู
ปิดหัวปิดหูมิดเหมือนนักบินรัสเซียทั้งที่อากาศร้อนจัด

เราผ่านค่ายผู้ก่อการร้ายหลายแห่ง และแต่ละแห่งที่ผ่านไป ผมรู้สึกว่ามีการกุเรื่องขึ้นมาว่า
ผมถูก “จับตัว” เพราะเป็นสายลับซ้ำยังพกอาวุธและขัดขืนการจับกุม บางครั้งผมก็ถูกเตะและ
ต่อยเพื่อให้ดูสมจริงยิ่งขึ้น

เราเดินทางไปถึงที่ตั้งฐานในวันรุ่งขึ้น พวกเขาให้ผมกินอาหารและอนุญาตให้เช็ดเนื้อตัว
ด้วยผ้าชุบน้ำ หลังจากนั้นก็นำตัวผมไปพบกับผู้บัญชาการค่าย ซึ่งเป็นชายร่างเล็กผิวคล้ำ
ในชุดเครื่องแบบสีเขียว

เขานั่งจิบไวน์อยู่ที่โต๊ะเก่า ๆ ขณะฟังรายงานยืดยาวถึงการจับตัวผม จากนั้นคนรับใช้ซึ่งมี
ผ้าขาวพาดอยู่ที่แขนก็ยกอาหารค่ำเข้ามาอย่างมีพิธีรีตอง ผมได้รับคำสั่งให้คอย

ผมยังไม่เข้าใจว่า พวกเขาพูดอะไรกัน เพราะภาษาที่ใช้ผสมปนเประหว่างสำเนียงโมซัมบิก
เหนือกับมาลาวี และมีภาษาโปรตุเกสแทรกด้วย แต่ผมได้ยินผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งกับคนใช้
ด้วยภาษาที่คนพื้นเมืองนะเดาพูดกัน ผมนั่งฟังต่อไปอีกเล็กน้อยเพื่อให้แน่ใจก่อนที่จะลองทักทาย
ผู้บังคับบัญชาด้วยภาษานะเดาที่ยังพอพูดได้
เขาแปลกใจมาก “คุณไปเรียนภาษานี้มาจากไหน”

ผมบอกว่าผมเคยอยู่แถวเทือกเขาชิมานิมานิทางฝั่งโรดีเซียสมัยเป็นเด็ก

“คุณนามสกุลอะไร” เขาถาม
“ก๊อดวิน (Godwin)”

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.พ. 20, 2023 8:59 pm

ผลแห่งกรรมดี (A White Boy in Africa) ตอนที่ ( 3 )
โดย Peter Godwin จากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2541
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ


เขาพูดทวนชื่อ “ก๊อดวิน” ขณะใช้ความคิด ก่อนจะถามขึ้นว่า “แม่ของคุณเป็นหมออยู่ฝั่งโน้นใช่ไหม”

“ใช่ครับ” ผมตอบ “แม่ผมเป็นหมอของรัฐบาลประจำเขต “เมลเชสเตอร์”

เขายิ้มพลายส่ายหน้าแล้วยื่นมือออกมาให้สัมผัสตามธรรมเนียมชาวแอฟริกัน

“แม่คุณเคยฉีดวัคซีนให้ผมตอนเป็นเด็ก” เขาถลกแขนเสื้อขึ้นอวดแผลเป็นเล็ก ๆ
ที่ไหล่จากการฉีดวัคซีน

“คุณเคยไปช่วยแม่หรือเปล่า” เขาถามอีก

ผมพยักหน้า
“จำได้แล้ว” เขาบอก “คุณนี่เองเป็นคนให้ยาน้ำตาลก้อนกับผม พวกเราแลบลิ้นแล้ว
คุณก็หยิบก้อนน้ำตาลวางบนลิ้นพวกเราคนละก้อน”

ในที่สุดเขาก็ปล่อยมือผม

“ดูซิ ผมถึงโตขึ้นมาแข็งแรงอย่างนี้”

ชั่วครู่เดียว ผมก็เลื่อนฐานะจากเชลยมาเป็นแขกผู้ทรงเกียรติ ได้รับเชิญให้นั่งทางด้านขวา
ของผู้บังคับบัญชา จ่าฝูงคนที่จับตัวผมหายหน้าไปทันที

วันรุ่งขึ้น พวกเขาพาผมไปส่งที่มาลาวี ผู้คุ้มกันที่ตามมาส่งที่ชายแดนคืนข้าวของต่าง ๆ
ที่ยึดไป ทั้งนาฬิกา กระติกน้ำ แว่นกันแดด กล้องถ่ายรูป รวมทั้งสมุดบันทึกและปากกา

พวกเขาขอถ่ายรูปกับผมก่อนจากไป คนขายของรับหน้าที่ถ่ายรูปผมกับโจรก่อการร้าย
อีก 4 คน จ่าฝูงคนนั้นยังคงสวมหมวกนักบินขนฟูอยู่เช่นเดิม และยกแขนพาดไหล่ผมด้วยท่าทาง
สนิทสนม ผมยังเก็บรูปนั้นไว้จนทุกวันนี้ เพราะเป็นหลักฐานยืนยันว่า ผลแห่งกรรมดีย่อมมีอยู่ตลอดไป
*********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.พ. 20, 2023 9:05 pm

🌏สัจธรรมของความสุข (Happiness is a Serious Problem) ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2541
โดย Dennis Prager รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลังจากผมบรรยายในหัวข้อความสุขจบลง ผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มผู้ฟังก็ลุกขึ้นกล่าวว่า
“สามีของดิฉันน่าจะได้มาฟังด้วย” เธอบอกว่า “แม้จะรักสามีมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแต่งงาน
กับคนอมทุกข์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย”

ผู้หญิงคนนี้ทำให้ผมมั่นใจมากขึ้นที่เชื่อว่า ความสุขเป็นเรื่องจริงจังในชีวิต ผมบอกเธอว่า
คู่ชีวิต ลูก ๆ และเพื่อนฝูงมีส่วนทำให้เรามีความสุข หากไม่เชื่อที่ผมบอก ลองถามเด็กที่โตมากับ
พ่อแม่ประเภทซึมเศร้าดูสิว่าเป็นอย่างไรบ้าง หรือถามพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กอมทุกข์ว่ารู้สึกทรมาน
เพียงไร

ผมเองก็ผ่านวัยเด็กที่ไม่สู้ราบรื่นนัก และพอย่างเข้าวัยรุ่นก็หาเรื่องหงุดหงิดขุ่นเคืองไปวัน ๆ
เหมือนเพื่อนส่วนใหญ่ แต่แล้ววันหนึ่งก็ฉุกคิดได้ว่า การทำตัวเช่นนี้ง่ายเกินไป

สภาพความเป็นอยู่ของแต่ละคน แทบไม่มีส่วนกำหนดว่าผู้นั้นมีความสุขมากน้อยเพียงใด

ใคร ๆ ก็สามารถทำตัวจมอยู่กับความทุกข์ได้โดยไม่ต้องใช้ความกล้าหรือความพยายามใด ๆ
การดิ้นรนขวนขวายต่างหากที่นำสู่ความสุขได้

คนเรามักสรุปเอาเองว่า จะมีความสุขได้เมื่อมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในชีวิต และสิ่งดี ๆ ที่ว่านี้ขึ้นอยู่กับ
โชคชะตาที่เราไม่อาจควบคุมหรือควบคุมแทบไม่ได้

แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม ความสุขส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของเราเอง แต่เราต้อง
ดิ้นรนจึงจะได้มา ไม่ใช่รอคอยเพื่อให้เกิดขึ้นเอง

เพื่อจะมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น เราจำเป็นต้องเอาชนะอุปสรรคบางประการใน 3 ข้อต่อไปนี้

1) เปรียบเทียบกับคนอื่น

คนส่วนใหญ่ชอบเปรียบเทียบตนเองกับคนที่เราคิดว่ามีความสุขมากกว่า ผู้นั้นอาจเป็นญาติ
คนรู้จัก หรือบ่อยครั้งมักเป็นคนที่เราแทบไม่รู้จัก ผมเคยสะดุดใจชายหนุ่มคนหนึ่งและรู้สึกว่าชีวิต
ของเชาช่างประสบความสำเร็จและมีความสุขเหลือเกิน เขาเล่าถึงความรักที่มีต่อภรรยาแสนสวย
และลูกสาว ตลอดจนความสุขในการเป็นผู้จัดรายการสนทนาทางวิทยุในเมืองที่เขารัก ได้ฟังอย่างนี้แล้ว
ผมอดคิดไม่ได้ว่า น้อยคนนักที่จะโชคดีเช่นชายหนุ่มคนนี้ที่ได้ทุกอย่างในชีวิตโดยไม่ต้องเหนื่อยยาก

จากนั้น เราคุยกันต่อเรื่องอินเทอร์เน็ต เขาดีใจที่มีระบบข้อมูลข่าวสารนี้เพราะเป็นแหล่งรวบรวมเรื่อง
โรคทางสมองและไขสันหลัง ซึ่งทำให้ภรรยาของเขาต้องทนทุกข์ทรมาน ผมรู้สึกว่าตัวเองโง่เขลาที่ด่วน
สรุปว่าชีวิตของเขาไม่มีปัญหาทุกข์ใจเลย

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.พ. 20, 2023 9:07 pm

🌍สัจธรรมของความสุข (Happiness is a Serious Problem) ตอนที่( 2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2541
โดย Dennis Prager
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

2) ภาพฝันที่สมบูรณ์แบบ

แทบทุกคนจะสร้างภาพในจินตนาการว่าชีวิตควรเป็นอย่างไร ปัญหาก็คือ น้อยคนนักที่จะ
พบว่า หน้าที่การงาน สามีหรือภรรยาและลูก ๆ เป็นไปตามภาพที่ฝันไว้

ผมมีตัวอย่างจากประสบการณ์ของตัวเอง ตระกูลผมไม่เคยมีประวัติการหย่าร้าง ผมจึงสรุปเอา
เองว่า การแต่งงานคือการผูกพันกันชั่วชีวิต ดังนั้นผมจึงรู้สึกแทบเสียผู้เสียคนเมื่อผมต้องหย่ากับ
ภรรยาหลังจากแต่งงานได้ 5 ปี และลูกชายเพิ่งอายุได้ 3 ขวบ ผมรู้สึกว่าตนเองเป็นคนล้มเหลว

แต่แล้วผมก็ได้แต่งงานใหม่และเล่าให้ภรรยาใหม่ฟังอย่างเปิดอกว่า ผมยังทำใจไม่ได้กับความล้มเหลว
ในชีวิตสมรสครั้งแรก เธอถามผมว่า แล้วตอนนี้ครอบครัวของเรา (ซึ่งรวมถึงลูกสาวของเธอจากการ
แต่งงานครั้งก่อนและลูกชายของผม) มีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง ผมต้องยอมรับว่า ถ้ามองข้ามความ
ปวดใจที่ต้องแบ่งเวลาครึ่งหนึ่งที่จะได้ใกล้ชิดกับลูกชายให้กับภรรยาเก่าจากสิทธิ์ในการดูแลบุตรร่วมกัน
ชีวิตครอบครัวของผมก็น่าจะอยู่ในระดับดีเยี่ยมทีเดียว

“ถ้าอย่างนั้น ทำไมคุณไม่ชื่นชมกับสิ่งที่มีอยู่ล่ะคะ” ภรรยาผมถาม

ผมพยายามทำใจอย่างที่เธอบอก แต่ก่อนอื่นผมต้องกำจัดภาพของครอบครัว
“สมบูรณ์แบบ”ให้ได้เสียก่อน

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.พ. 20, 2023 9:10 pm

🌍สัจธรรมของความสุข (Happiness is a Serious Problem) ตอนที่ ( 3 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2541
โดย Dennis Prager รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

3) สิ่งที่หายไป

สิ่งที่บ่อนทำลายความสุขง่ายดายที่สุดคือ การจ้องจับผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วเก็บมาฝังใจ
เหมือนการเฝ้ามองช่องว่างของกระเบื้องปิดฝ้าบนเพดานที่หายไป ไม่ต่างกับที่ชายศีรษะล้าน
คนหนึ่งเคยบอกผมว่า ”ทุกครั้งที่เดินเข้าไปในห้อง ผมมองเห็นแต่เส้นผมบนศีรษะคนอื่น”
เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่า “แผ่นกระเบื้อง”หายไป ลองไตร่ตรองว่าถ้าได้กระเบื้องแผ่นนั้นกลับมา
คุณจะมีความสุขจริงหรือ หลังจากนั้นจงเลือกปฏิบัติตามข้อแนะนำหนึ่งในสามข้อนี้คือ ดิ้นรน
เสาะหากระเบื้องแผ่นนั้นให้จงได้ หาแผ่นอื่นมาปิดช่องว่างนั้น หรือลืมกระเบื้องแผ่นนั้นเสีย
แล้วเอาใจใส่แผ่นที่ยังเหลืออยู่

ผมศึกษาเรื่องความสุขมาหลายปี และได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า สภาวะแวดล้อมแทบไม่มีส่วนสัมพันธ์
กับความสุขของบุคคล ภาพชีวิตของผู้คนสะท้อนให้เห็นความจริงนี้ หลายคนมีชีวิตพรั่งพร้อมแต่
หาความสุขไม่ได้ ขณะที่บางคนมีชีวิตที่ต้องดิ้นรนทนทุกข์แต่ก็มีความสุขตามอัตภาพ

เคล็ดลับประการแรกคือ ความรู้สึกขอบคุณ คนที่มีความสุขทุกคนรู้สึกสำนึกในบุญคุณของสิ่งดี ๆ
ที่เกิดขึ้นในชีวิต คนเรามักคิดว่า ความทุกข์ทำให้คนบ่นกัน แต่แท้ที่จริงแล้ว การพร่ำบ่นต่างหาก
ที่ทำให้ตัวผู้บ่นเองเป็นทุกข์

เคล็ดลับประการที่สองคือ ความเข้าใจในสัจธรรมที่ว่า ความสุขเป็นผลพลอยได้จากสิ่งอื่น ที่เห็น
ได้ชัดคือ การวางเป้าหมายเพื่อให้ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น เช่นการดูนกหรือเล่นกีฬาสักอย่าง หากเป็น
กิจกรรมที่เราชื่นชอบอยู่แล้วก็ยิ่งจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นที่ได้แสวงหาประสบการณ์นั้น ๆ

ท้ายที่สุด หากเชื่อว่ายังมีบางอย่างที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจของเรา และชีวิตที่เราดำรงอยู่มีคุณค่า
และความหมาย เราก็จะมีความสุขมากขึ้นเพราะคนเราต้องการที่พึ่งทางใจ อาจจะเป็นความเชื่อ
ทางศาสนา หรือจิตวิญญาณ หรือปรัชญาชีวิตแนวใดก็ได้

ไม่ว่าคุณจะยึดถือปรัชญาใดในการดำเนินชีวิต ขอให้เป็นหลักการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่า
หากมองหาแต่สิ่งดี ๆ จากสรรพสิ่ง ชีวิตของคุณก็จะสงบสุข แต่ถ้ามองทุกอย่างในแง่ร้าย คุณก็จะ
เหมือนตกนรกทั้งเป็น การตัดสินใจของคุณจึงเป็นสิ่งที่กำหนดความสุขในชีวิตของคุณ

**********************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส