เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ ชุด (3)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ต.ค. 26, 2021 9:06 pm

😀หญิงแกร่งแห่งเดียนเบียนฟู ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2547/2004
โดย Geneviève de Galard ย่อและเพิ่มเติมจากวิกิพีเดียโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ฉันชื่อ เยเนอวีแอฟ (Geneviève de Galard) เกิดที่กรุงปารีส ค.ศ.1925 (ปัจจุบันอายุ 96 ปี)
หลังจากคุณพ่อจากไปขณะที่ฉันมีอายุเพียง 9 ขวบ ชีวิตฉันเริ่มผจญวิบากกรรมเมื่อเกิด
สงครามโลกครั้งที่ 2 (เยอรมันผนวกออสเตรีย 1 มีนาคม 1938) ปลายปี 1939 ครอบครัว
เราย้ายไปทางใต้ที่บ้านของลุงที่เมืองตูลูส (Toulouse) เพื่อหนีการทิ้งระเบิดในปารีส ระหว่าง
สงครามโลก แทบทุกครอบครัวทั่วประเทศมีชีวิตที่ยากลำบากมาก โดยเฉพาะความหิวโหย
และความหนาวเหน็บ

กลางปี 1943 เรากลับไปที่ปารีส เราวิ่งลงหลุมหลบภัยทันทีที่ได้ยินเสียงหวอเตือนภัยทาง
อากาศ ยามท้องฟ้าปลอดเครื่องบินทิ้งระเบิด ฉันจะขี่จักรยานไปเรียนภาษาอังกฤษหรือไม่ก็
ไปทำงานที่สถานีอนามัยแผนกเด็กอ่อนเพื่อจะได้มีเงินซื้ออาหารประทังชีวิต

หลังวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 (เยอรมันยอมแพ้ : 29 เมษายน 1945) สภาพสังคมเปลี่ยนแปลง
อย่างรวดเร็ว ขณะนั้นฉันมีประกาศนียบัตรด้านภาษาอังกฤษ และเรียนต่อด้านผู้ช่วยพยาบาล
และสังคมจนได้เป็นพยาบาลวิชาชีพ จากนั้นก็สมัครเป็นทหารในหน่วยพยาบาลสนับสนุนทาง
อากาศซึ่งมีเส้นทางบินประจำคือทวีปแอฟริกาและอินโดจีน ภารกิจคือการขนย้ายครอบครัว
ของทหาร อพยพทหารที่บาดเจ็บและป่วยไข้

ผู้สมัครทุกคนต้องผ่านสอบคัดเลือก และรับการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอยู่หลายเดือน
งานของฉันส่วนใหญ่อยู่ที่อินโดจีน (สมัยนั้นยังไม่เรียกว่า “เวียดนาม”) ฉันไปอินโดจีนครั้งแรก
ในเดือนเมษายน 1953 และประจำอยู่ 3 เดือน ปฏิบัติการส่วนใหญ่ของหน่วยจะอยู่บริเวณ
เมืองนาสานซึ่งอยู่ทางตะวันตกของฮานอย ขณะอยู่บนเครื่องบินทหารซึ่งไม่มีระบบปรับความ
กดดันอากาศใด ๆ จึงต้องให้ออกซิเจนแก่คนเจ็บทุกคนและคอยวัดความดันโลหิตเป็นระยะ ๆ
หลังปฏิบัติงานอย่างโชกโชนที่อินโดจีนครบ 3 เดือน ฉันก็ถูกส่งตัวไปแอลจีเรียอีก 2 เดือน

ฉันกลับไปอินโดจีนอีกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 1954 สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นจนเข้าขั้นวิกฤต
ก่อนหน้านั้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน 1953 พลเอกอังรี ‘Henri Navarre’ สั่งให้ยึดเดียนเบียนฟูซึ่ง
อยู่ใกล้ชายแดนประเทศลาวและอยู่ห่างจากฮานอยทางทิศตะวันตกราว 300 กิโลเมตร
เดียนเบียนฟูมีสภาพเป็นหุบเขายาว 18 กิโลเมตร และกว้าง 7 กิโลเมตร ตรงกลางเป็นนาข้าว
และมีแม่น้ำเล็ก ๆ ไหลผ่านจากเหนือลงใต้ ภูมิประเทศที่ซับซ้อนนี้ทำให้การบินขึ้นลงเป็นไปอย่าง
ยากลำบาก

ภายใน 3 วันต่อมา ทหารพลร่มฝรั่งเศส 3 กองทัพพร้อมด้วยปืนใหญ่ 75 กระบอกกระโดดลงที่
เดียนเบียนฟู มีการลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงทางอากาศหนักถึง 203 ตัน นอกจากนั้น
ยังมีทหารอีก 3 กองพันตามมาสมทบรวมมีทหารทั้งสิ้น 4,445 นาย

ฉันเดินทางไปถึงเดียนเบียนฟูวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1954 ทันทีที่ไปถึงก็ทราบว่าเพิ่งเกิดอุบัติเหตุ
ร้ายแรงเนื่องจากเครื่องบินขับไล่ 2 ลำชนกันเองขณะร่อนลงจอด นักบินคนหนึ่งเสียชีวิตทันที
ส่วนอีกคนอาการโคม่า (กะโหลกศีรษะแตก) ผู้พันโกรแว็ง (Dr. Paul Grauwin) แพทย์ผู้บังคับ
การของเรือนพยาบาลเดียนเบียนฟูให้ส่งนักบินหนุ่มผู้นี้ไปรักษาที่ไซง่อนโดยด่วน

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ต.ค. 27, 2021 10:54 pm

😊หญิงแกร่งแห่งเดียนเบียนฟู ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2547/2004
โดย Geneviève de Galard ย่อและเพิ่มเติมจากวิกิพีเดีย
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

การอพยพกินเวลาเกือบ 5 ชั่วโมงแม้จะมีคนเจ็บบนเครื่องบินเพียงคนเดียว ชีวิตของเขา
อยู่ในมือของฉัน คือสายยางให้เลือดและพลาสม่าซึ่งส่งของเหลวสีแดงเข้าไปเลี้ยงร่างกาย
ของเขาทีละหยด เวลาเปลี่ยนเพดานบินแต่ละครั้ง เลือดที่ไหลตามสายยางจะรวนจนฉันต้อง
ลุกขึ้นไปปรับใหม่ทุกครั้ง นอกจากนี้ยังต้องคอยตรวจชีพจรและลมหายใจ ถ้าจำเป็นก็ต้อง
ให้ออกซิเจน วัดความดันโลหิตและฉีดยากระตุ้นหัวใจ ตอนไปถึงโรงพยาบาล นักบินหนุ่มยัง
มีลมหายใจ แต่รักษาตัวอยู่ได้เพียง 10 วันก็เสียชีวิต

วันที่ 13 มีนาคม 1954 ฉันอยู่ในเมืองนาตรังและได้ยินเสียงประกาศว่า กองกำลังเวียดมินห์
บุกเข้าโจมตีค่ายเดืยนเบียนฟู เย็นวันนั้นเครื่องบินหลายลำถูกทำลายก่อนจะบินขึ้นสู่ท้องฟ้า
เป็นการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุด ทหารทุกหน่วยต่อสู้ป้องกันฐานอย่างเต็มที่ แต่กองกำลังเวียดมินห์
มีมากกว่าถึง 10 เท่าและใช้วิธีเปิดทางด้วยระเบิดจนสามารถรุกคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว พอรุ่ง
สางวันรุ่งขึ้นก็ไม่มีทหารฝรั่งเศสอยู่รักษาฐานแม้แต่คนเดียว

วันที่ 19 มีนาคม มีทหารบาดเจ็บที่ต้องอพยพออกจากค่ายถึง 400 คน

วันที่ 30 มีนาคม สภาพจิตใจของทุกคนเริ่มย่ำแย่ วัน ๆ ฉันได้แต่ขลุกอยู่ที่เรือนพยาบาล
ไม่นานเหตุการณ์ก็ตึงเครียดอีก ราว 16.00 น. ฐานของเราถูกถล่มด้วยจรวดเเละปืนใหญ่
ตามด้วยระเบิดที่ดังรุนแรงจนไม่น่าเชื่อ เป็นการปะทะกันครั้งรุนแรงที่สุดในเดียนเบียนฟู
การต่อสู้ดำเนินไปตลอดคืน บริเวณลานด้านนอกเรือนมีคนเจ็บหลายคนนอนโอดโอยอยู่
บนเปลสนาม หมอโกรแว็งผู้มีประสบการณ์โชกโชนเป็นผู้ตัดสินใจว่า ใครควรได้รับการผ่า
ตัดก่อน การตัดสินใจแต่ละครั้งเต็มไปด้วยปัญหายุ่งยาก เพราะการผ่าตัดช่องท้องใช้เวลา
นานมาก หากนำเวลานี้ไปช่วยคนเจ็บที่ต้องตัดแขนตัดขาจะช่วยได้ 5-6 รายทีเดียว ทุกครั้ง
ที่ระเบิดลงจะเกิดแรงสะเทือนทำให้เศษอิฐหินจากเพดานห้องผ่าตัดร่วงกราว

หลังการสู้รบผ่านไป 3 วัน ฉันนึกอยากจะนอนหลับแล้วไม่ตื่นเลยเพราะไม่อยากเห็นภาพ
ความโหดร้ายอีก ที่สุดเสียงปืนก็ค่อย ๆ แผ่วลง กองกำลังเวียดมินห์รุกประชิดจนถึงทางเข้าสู่
ลานบินแล้ว​ ซึ่งหมายความว่าเครื่องบินของเราหมดสิทธิ์บินขึ้นลงอีกต่อไป

การอยู่ในค่ายนี้ ทำให้ฉันตระหนักว่า ผู้หญิงมีคุณค่ามากเพียงใดในสมรภูมิเลือด ณ ที่แห่งนี้
ฉันเป็นเหมือนแม่ พี่สาว หรือน้องสาว และเป็นเพื่อนของทหารหาญทุกคน หลายปีต่อมา
มีจ่าคนหนึ่งซึ่งเคยนอนรักษาตัวอยู่ในเรือนพยาบาล 3 ครั้ง เขียนจดหมายบอกฉันว่า
“สำหรับพวกเราหลายคน คุณคือสัญลักษณ์ของแผ่นดินแม่ ซึ่งมีหลายคนรอพวกเราอยู่แม้จะ
อยู่ห่างกันคนละซีกโลก ขอบคุณสำหรับจิตวิญญาณที่ทุ่มเทจนหมดหัวใจ และขอบคุณที่เป็น
ความหวังอันน้อยนิดให้พวกเรา”

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ต.ค. 28, 2021 8:59 pm

😊หญิงแกร่งแห่งเดียนเบียนฟู ตอนที่ (3) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2547/2004
โดย Geneviève de Galard ย่อและเพิ่มเติมจากวิกิพีเดีย
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

วันที่ 29 เมษายน 1954 ฉันรู้สึกตื้นตันใจจนพูดไม่ออก เมื่อผู้พัน เดอ กาสตรีส์
‘Christian de Castries’ ติดเหรียญอิสริยาภรณ์ 2 เหรียญให้
(เหรียญสดุดีจากรัฐบาล และเหรียญกล้าหาญจากกาชาด) และยิ่งตื้นตันมากขึ้นเมื่อ
ได้ยินประโยคสุดท้ายของผู้อ่านประกาศเกียรติคุณซึ่งยังก้องอยู่ในหูฉันตราบจนทุกวันนี้
“สำหรับนักรบแห่งค่ายเดียนเบียนฟู เธอคือสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญของนางพยาบาลฝรั่งเศส”

เช้าวันที่ 6 พฤษภาคม 1954 เราได้ยินเสียงยิงจรวดเป็นสัญญาณว่า คืนนั้นจะมีการโจมตี
ครั้งใหญ่ แล้วก็เป็นจริงดังคาด พอตะวันตกดิน ฝ่ายเวียดมินห์ก็บุกโจมตีอย่างหนักและ
ยืดเยื้อไปจนถึงรุ่งเช้า คืนสุดท้ายในเดียนเบียนฟู เมื่อฐานที่มั่นถูกยึด หลายคนกล่าว
อำลากันด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ “พวกเวียดมินห์อยู่ห่างออกไปเพียง 10 เมตร ช่วยกอด
ครอบครัวพวกเราแทนด้วยนะ ลาก่อน”ฉันไปลาทหารประจำฝูงบินหมายเลข 2 ทุกคน
แสดงความอาลัยต่อกัน หลายคนยื่นจดหมายและฝากที่อยู่ไว้ให้กัน ฉันเอาบุหรี่แจก
พวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นทุกอย่างก็เข้าสู่ความเงียบ

ราว 17.30 น.วันที่ 7 พฤษภาคม พวกเวียดมินห์วิ่งกรูกันเข้ามาในค่ายโดยไม่ได้ยิงปืน
แต่อย่างใด เราถูกบังคับให้ออกจากที่กำบัง ตกกลางคืน พวกเวียดมินห์เรียกหมอโกรแว็ง
ไปสอบปากคำ ฉันเห็นเขากลับมาตอนตีสี่ ท่าทางอิดโรยจนแทบเดินไม่ไหว
“มันบังคับให้ผมเซ็นชื่อ” เขาพึมพำ ฉันไม่กล้าถามต่อว่าเซ็นชื่อทำไม แต่มั่นใจว่า
สิ่งเดียวที่หมอโกรแว็งทำคือผลประโยชน์ของคนเจ็บ

ต่อมาก็ถึงคิวของฉันที่ต้องไปให้ปากคำบ้าง ฉันตั้งปณิธานว่าจะอดทนให้ถึงที่สุด
ยิ่งพูดกันนานเข้า ฉันก็ยิ่งรู้สึกว่าพวกเขากำลังเล่นเกมที่ฉันไม่ชอบเลย พอฉันยืนกรานคำตอบ
โดยไม่หวั่นไหว พวกเขาก็ทำท่าหงุดหงิดแต่ที่สุดก็ส่งตัวฉันกลับ

3 วันหลังค่ายแตก ผู้บาดเจ็บยังคงนอนอยู่ในเรือนพยาบาลที่ทั้งร้อนอบอ้าวและเฉอะแฉะ
พวกเวียดมินห์ยึดเอาเวชภัณฑ์ในคลังไปหมด แต่ต้องยกย่องทหารเวียดมินห์อยู่อย่างหนึ่ง
ที่จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นโดยนำผ้าร่มที่ใช้กระโดดมากางเป็นเต็นท์และให้ทหารฝรั่งเศสเป็น
คนลงมือทำงาน หมอได้รับมอบหมายให้เป็นคนคัดเลือกคนไข้ จากนั้นกองกำลังเวียดมินห์
จะเป็นคนจัดให้เข้าอยู่ตามที่เห็นสมควร

วันที่ 21 พฤษภาคม 1954 เวียดมินห์ประกาศปล่อยตัวฉันเป็นอิสระ และวันที่ 24 พฤษภาคม
ก็บังคับให้ฉันเดินทางออกจากเดียนเบียนฟูเพราะข่าวการกักตัวฉันเผยแพร่ออกไปทั่วโลก
ฉันไม่มีทางเลือกและรู้สึกหดหู่ที่ต้องทิ้งคนเจ็บไว้มากมาย รวมทั้งหมอโกรแว็งซึ่งเอ่ยคำพูด
กินใจขณะสวมกอดอำลาฉันว่า “ต่อไปนี้พวกเราจะทำอย่างไรเมื่อไม่มีคุณ”

ฉันเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่งหลังตกอยู่ในเงื้อมมือของเวียดมินห์รวม 17 วัน เครื่องบินลงจอดที่
หลวงพระบาง ฉันได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริก

(เพิ่มจากวิกิพีเดีย) หลังจากนั้น จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles)
รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเชิญเธอไปสหรัฐอเมริกา และเมื่อไปถึงนิวยอร์กซิตี้
ในเดือนกรกฎาคม 1954 โบลตัน (Frances P. Bolton) สมาชิกสภาคองเกรสแนะนำเธอในฐานะ
"สัญลักษณ์ของความเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญในโลกเสรี" มีขบวนพาเหรดที่บรอดเวย์เพื่อ
เป็นเกียรติแด่เธอโดยมีผู้ชมเข้าร่วมถึง 250,000 คน จากนั้นเธอก็ได้รับการต้อนรับที่ศาลากลาง

หลังจากบินไปวอชิงตันดีซีบนเครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐ เธอได้รับการยอมรับต่อหน้า
สภาผู้แทนราษฎร ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (President Dwight D. Eisenhower)
ได้มอบเหรียญแห่งอิสรภาพให้กับเธอ ในระหว่างพิธีซึ่งจัดขึ้นในสวนกุหลาบทำเนียบขาว
และยกย่องเธอเป็น "ผู้หญิงแห่งปี" จากนั้นก็ส่งเธอไปทัวร์ 6 รัฐ เธอได้พบกับผู้ทรงคุณวุฒิและ
ปรากฏตัวต่อหน้าฝูงชนจำนวนมากในเมืองต่าง ๆ เช่นคลีฟแลนด์, ชิคาโก, นิวออร์ลีนส์
และซานฟรานซิสโก เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐฯ เรียกการมาเยือนของเธอว่า
"ความสำเร็จเป็นพิเศษ”

เธอกล่าวสรุปการทำงานที่เดียนเบียนฟูว่า “ฉันไม่เคยเสียใจเลยที่ตกเป็นเชลยในเดียนเบียนฟู
และจะไม่มีวันลืมความยากลำบากทั้งหมด มิตรภาพอันอบอุ่นและความกล้าหาญของทหาร
เหล่านั้นจะตราตรึงอยู่ในหัวใจของฉันตลอดไป”

****************************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ต.ค. 30, 2021 1:10 pm

……ภารกิจสุดท้าทาย ตอนที่ (1) ……
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2547/2004
โดย Marie Stubs ย่อและเพิ่มเติมจากวิกิพีเดียโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ฉันชื่อ มารี (Marie Stubs) เกิดที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ ค.ศ.1939 (ปัจจุบันอายุ 82 ปี)
นักการศึกษาและนักวิชาการชาวอังกฤษ รู้จักกันในนามของอาจารย์ใหญ่ผู้ปฏิรูป
โรงเรียนมัธยมคาทอลิก เซนต์จอร์จในเขต Maida Vale ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน
ประสบการณ์ชีวิตการทำงานของฉันมีผู้นำไปสร้างภาพยนต์โทรทัศน์ในปี 2005
เรื่อง “Ahead of the Class”

“น้อย ๆ หน่อย อย่าสะเออะ” ผู้พูดวัยไม่เกิน 16 ปี​ แต่ตัวสูงค้ำศีรษะฉันซึ่งสูงแค่ 160 เซนติเมตร
ในปากของเขาเคี้ยวหมากฝรั่งขณะจ้องหน้าฉันอย่างไม่ยี่หระ จากนั้นก็เดินลอยหน้าไปทาง
สนามเด็กเล่น ก่อนหน้านั้นฉันบอกให้เขาเก็บก้อนกระดาษที่เขาปาลงพื้น แต่คำตอบที่ได้รับ
คือการท้าทายอย่างเห็นได้ชัด

ในฐานะที่เป็นครูมากว่า 30 ปี พฤติกรรมแบบนี้ไม่ทำให้ฉันสะดุ้งสะเทือนหรอก ทันใดนั้น
ฉันก็เห็นสายตาอีกคู่หนึ่งจ้องมองฉันเหมือนกับอยากรู้ว่าฉันจะจัดการอย่างไรต่อ เธอเป็น
เด็กหญิงรูปร่างสูงใหญ่ ผมยุ่งกระเซิง สวมต่างหูคู่มหึมา เสื้อผ้าที่ใส่อยู่ก็ไม่เหลือเค้า
เครื่องแบบนักเรียนเลย

“หนูช่วยเก็บเศษกระดาษนั่นหน่อยได้ไหมคะ” ฉันถาม

“ไปตายซะ” เธอตอบ

นี่คือการต้อนรับฉันเข้าสู่โรงเรียนเซนต์จอร์จ

…ผู้แก้ปัญหา

ฉันเหลือเวลาทำงานอีก 6 เดือนก่อนจะเกษียณในเดือนมีนาคม 2000 จู่ ๆ ก็ได้รับโทรศัพท์
ขอร้องให้ไปพลิกฟื้นโรงเรียนมัธยมเซนต์จอร์จในลอนดอน ครูใหญ่ของโรงเรียนถูกฆาตกรรม
เมื่อ 5 ปีก่อน และขณะที่ฉันได้รับการติดต่อ โรงเรียนอยู่ในสภาพที่รัฐต้องเข้าไปตรวจสอบด้วย
มาตรการพิเศษและอาจสั่งปิดกิจการใน 2 เดือนหากเห็นสมควร

ฉันมีเวลาเตรียมตัวเพียง 1 สัปดาห์แต่ก็ตอบตกลงทันที ครอบครัวลงความเห็นว่าฉันคงบ้าไปแล้ว
โดยเฉพาะแม่ซึ่งอยู่ที่สกอตแลนด์ที่ถามฉันว่า “ต้องสวมเสื้อเกราะไปโรงเรียนหรือเปล่า”

ฉันเคยเอาตัวรอดในฐานะผู้ดูแลด้านการศึกษาในศูนย์ดูแลวัยรุ่นหญิงที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม
รุนแรงในกลาสโกว์มาแล้ว เด็กแต่ละคนในศูนย์นั้นล้วนมีประวัติร้าย ๆ ทั้งนั้น ตั้งแต่เสพยาจนถึง
ขั้นศาลตัดสินว่ากระทำผิดด้วยการใช้ความรุนแรง ทุกคนมีพื้นฐานครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์
ฉันมั่นใจว่า เด็กทุกคนย่อมมีสำนึกที่ดีหากได้รับการศึกษาที่ดี

จากนั้นฉันก็เชิญผู้ร่วมงานในฐานะ “ผู้ช่วยครูใหญ่” คนแรกคือ’ฌอน’ ครูสอนเศรษฐศาสตร์
ซึ่งเป็นคนมุ่งมั่นและตั้งใจจริง อีกคนหนึ่งคือ ‘เทรซี่ย์’ ครูสอนภาษาอังกฤษที่มีพรสวรรค์
ในการจัดการกับเด็กกวนประสาททั้งหลาย

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ย. 01, 2021 8:27 pm

……ภารกิจสุดท้าทาย ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนอกันยายน 2547/2004
โดย Marie Stubs ย่อและเพิ่มเติมจากวิกิพีเดียโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ความประทับใจแรก

เรา 3 คนเริ่มงานด้วยการเดินตามผู้ดูแลโรงเรียนตรวจสภาพทั่วไปของโรงเรียนซึ่งจะเปิด
วันรุ่งขึ้นหลังถูกสั่งให้หยุดพักการเรียนการสอน เดินไปได้สักครู่​ ฉันก็รู้สึกว่ารองเท้าหลุด
ติดพื้นพรมหลายครั้ง เมื่อก้มดูที่พื้นก็พบว่า พรมปูพื้นมีหมากฝรั่งติดอยู่เกลื่อน ตัวอาคาร
อยู่ในสภาพดีแต่ฝาผนังทุกด้านเป็นสีชมพูซีด ๆ ที่หลุดลอกเกือบหมด

เทรซี่ย์บอกว่า “ยังพอมีหวัง เริ่มจากช่วยกันทำโปสเตอร์ก่อนดีไหม” เราทั้งสามมีความเห็น
ตรงกัน​ จากนั้นก็เดินไปที่ห้องประชุมเพื่อพบเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของโรงเรียน

ฉันสูดลมหายใจลึก ๆ ก่อนผลักประตูเข้าไป เสียงพูดคุยกันเงียบทันที ทุกคนจ้องเราด้วยสีหน้า
คาดหวัง แวบแรกที่เห็นใบหน้าครูทุกคนชัด ๆ ฉันรู้สึกทันทีว่า พวกเขาก็เหมือนกับอาคารโรงเรียน
คือเหนื่อยหน่ายและซีดเซียวเหมือนสีฝาผนัง

ฉันแนะนำพวกเราทั้งสามแล้วก็พูดต่อไปว่า “เรารับงานนี้เพราะรู้สึกว่า ชุมชนแห่งนี้มีคุณค่ามาก
เราอยากเห็นโรงเรียนหลุดพ้นจากมาตรการควบคุมพิเศษ ตัวดิฉันแก่เกินกว่าจะทำงานนี้คนเดียว
จึงหวังว่าพวกท่านทุกคนจะให้ความร่วมมือด้วยดี” อาการเงียบของผู้ฟังทุกคนคือคำตอบ
ฉันใช้เวลาวันนั้นทั้งวันพูดคุยกับครูทีละคน ครูคนหนึ่งบอกผู้ตรวจการในวันก่อนโดยเรียก
นักเรียนว่า “เด็กเหลือขอ” ส่วนครูอีกคนหนึ่งเตือนผู้ตรวจการว่าอย่ายืนใกล้ราวบันได
“เพราะอาจโดนเด็กบ้วนน้ำลายใส่”

ภาพที่ปรากฏชัดคือ ครูหลายคนถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกตะโกนใส่​ มีการทำลายทรัพย์สิน
ของโรงเรียนอยู่บ่อย ๆ เด็กโตชอบเดินกร่างและหาเรื่องด่าทอครูเป็นประจำ อัตราการเข้า
ชั้นเรียนมีเพียง 70% (ซึ่ง 90% ก็ถือว่าอันตรายแล้ว) นอกจากนั้นยังมีปัญหาการลาป่วยบ่อยครั้ง
ของครูหลายคนอีกด้วย

……พร้อมรับมือ

เช้าวันรุ่งขึ้นที่ฉันพบนักเรียนเป็นครั้งแรก เราทั้งสามไปถึงโรงเรียนตอน 7.00 น.​และช่วยกันติด
โปสเตอร์ตัวหนังสือสีสันสดใสตามทางเดินภายในโรงเรียน มีข้อความ เช่น : ขอต้อนรับกลับสู่
โรงเรียน, เดิน—อย่าวิ่ง, สวมเครื่องแบบให้เรียบร้อย, ทิ้งขยะให้ลงถัง ฯลฯ

หลังจากนั้น ขณะล้อมวงจิบกาแฟในห้องทำงานของฉัน เราช่วยกันคิดหาคำขวัญของการทำงาน
ครั้งนี้ และจะนำไปพิมพ์เป็นโปสเตอร์​ รวมทั้งแจกให้สื่อมวลชน ในที่สุดก็ตกลงใช้คำขวัญว่า
“มุ่งไปข้างหน้าด้วยกันในปี 2000”

เราตัดสินใจรับเด็กกลับเข้าสู่โรงเรียนทีละชั้นปี โดยในวันแรกนี้จะรับชั้นปีที่ 11 ฉันเป็นห่วงเด็กชั้น
สูงสุดของโรงเรียนเป็นพิเศษเพราะแต่ละคนอยู่ในวัยคะนองและเหลือเวลาเรียนอีกแค่เทอมเดียว

เราเข้าไปในห้องประชุมนักเรียน ฉันกวาดตาไปทั่วห้องทั้ง 4 มุมซึ่งเป็นเทคนิคดึงดูดความสนใจ
ของผู้ฟัง เด็กบางคนจ้องฉันอย่างใคร่รู้ ส่วนที่เหลือยังคงคุยกันต่อไป

ฉันเริ่มพูดด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ว่า “ครูจะพูดว่า ‘สวัสดี’ และหวังว่านักเรียนทุกคนจะตอบครูว่า
‘สวัสดีค่ะ/ครับ อาจารย์ใหญ่’ “ฉันหยุดนิดหนึ่งก่อนจะตะเบ็งสุดเสียงว่า “สวัสดีนักเรียนชั้นปีที่ 11”
พอฉันเปลี่ยนระดับเสียง เด็กก็หูตาตื่นด้วยความประหลาดใจ บางคนถึงกับสะดุ้ง สรุปว่าได้ผล
เด็ก ๆ ประสานเสียงตอบ “สวัสดีค่ะ/ครับ อาจารย์ใหญ่” ฉันรู้ทันทีว่า ยังมีหวังที่จะเปลี่ยนเด็ก ๆ
ไปในทางดีได้

“เรามีคำขวัญใหม่” ฉันพูดต่อ “มุ่งไปข้างหน้าด้วยกันในปี 2000 หมายความว่า อดีตผ่านไปแล้ว
พวกเราจะรวมใจเป็นหนึ่งเดียว และพิเศษสำหรับนักเรียนชั้นปีที่ 11 เท่านั้น คือครูจะจัดงานพิเศษ
เพื่อฉลองใบประกาศนียบัตรให้ที่โรงแรมในลอนดอน” เรียกเสียงฮือฮาจากนักเรียนทั่วหน้า

”เดี๋ยวครูจะไปพูดคุยกับนักเรียนทุกคน” ฉันบอก

ฉันพูดกับแต่ละคน ทุกคนได้รับรอยยิ้มและพวกเขาก็ยิ้มตอบด้วย

เจ้าหน้าที่ตรวจการมีกำหนดจะมาเยี่ยมโรงเรียนในวันเปิดเรียนวันที่สอง เป็นกำหนดการที่มีขึ้น
ก่อนที่เราทั้งสามได้รับมอบหมายงาน คณะเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนทั้งวันและจะแจ้ง
ผลการตรวจสอบในตอนเย็น

เราเตรียมใจรับผลตรวจที่เลวร้ายอยู่แล้ว และก็จริงตามคาด คณะเจ้าหน้าที่แจ้งว่า
“โรงเรียนอยู่ในสภาพตกต่ำสุดขีดจนไม่มีทางปรับปรุง” ครูที่สอนดีมีเพียง 20%, มีปัญหานักเรียน
รังแกกันและอัตราการเข้าชั้นเรียนที่ต่ำมาก ฯลฯ หลังประชุมกับคณะผู้ตรวจการ ฌอนหน้าตาเครียด
มากขณะที่โพล่งออกมาว่า “พวกเราทั้งสามเป็นกองกำลังพิเศษที่จะมากู้สถานการณ์ ถ้าที่นี่ไม่มี
ปัญหา เขาก็คงไม่เรียกพวกเรามาหรอก” พูดจบเขาก็ยิ้ม ฉันรู้สึกใจชื้นขึ้นมาทันที

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้…
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ย. 01, 2021 8:31 pm

……ภารกิจสุดท้าทาย ตอนที่ (3)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2547/2004
โดย Marie Stubs ย่อและเพิ่มเติมจากวิกิพีเดียโดย กอบกิจ ครุวรรณ

…เปลี่ยนวัฒนธรรม

ช่วงแรก ๆ ฉันกับฌอนและเทรซี่ย์เดินสำรวจทุกซอกทุกมุมเพื่อค้นหาสัญญาณของปัญหา
ซุกซ่อนต่าง ๆ ปัญหาจุกจิกลดลงเมื่อเราจัดให้มีการตีเส้นกลางทางเดินและเขียนว่า “ชิดซ้าย”

ช่วงพักเที่ยงวันหนึ่ง เราเห็นเด็กกลุ่มใหญ่วิ่งกรูกันไปที่ด้านหนึ่งของสนามเด็กเล่น ฉันรีบตาม
ไปดูทันทีและเห็นเด็กผู้ชายตัวโต 2 คนกำลังชกต่อยกันเป็นพัลวัน ฉันตรงเข้าไปคว้าแขนเด็ก
คนหนึ่งไว้ ขณะที่ฌอนจับอีกคน เมื่อทั้งสองสงบลง ฉันก็สั่งให้ไปพบที่ห้องทำงาน
“แจ้งให้ผู้ปกครองของเด็กคู่นี้ทราบด้วย” ฉันพูดเสียงดังลั่น “ฉันไม่ยอมให้ใครมาตีกันในโรงเรียนนี้”

เด็กส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบการตีกันจึงเข้าข้างเราทันที หลายคนแอบกระซิบฉันว่าจะมีการตีกันที่ไหน
อีกและเมื่อไรระบบการมอบความรับผิดชอบให้รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้องดูจะได้ผล เด็กโตชอบที่ครู
มอบหมายหน้าที่ให้ พวกเขาจัดทีมออกตรวจตรากันเองไม่ให้มีการทิ้งขยะเรี่ยราด ฉันเห็น
พวกเขาสั่งให้เพื่อน ๆ คายหมากฝรั่งทิ้ง นอกจากนั้นฉันเห็นนักเรียนชายจับกลุ่มเล่นโยนเหรียญ
ฌอนบอกฉันว่า “เด็กกำลังเล่นพนัน และเด็กโตใช้เกมบังหน้าเพื่อขู่เอาเงินจากเด็กที่เล็กกว่า”

“ปล่อยไว้ไม่ได้” ฉันบอก “ประกาศเตือนพวกนี้ว่า เงินจะถูกริบและนำไปบริจาคให้การกุศล”

หลังประกาศนโยบายนี้ออกไปแล้ว ฉันสังเกตว่าโรงเรียนไม่มีกิจกรรมให้เด็ก ๆ ทำในสนาม
เด็กเล่นเลย ฉันจึงสั่งซื้อโต๊ะเก้าอี้ไปตั้งตามมุมที่เงียบสงบเพื่อให้เด็ก ๆ นั่งคุยกันได้ และให้มี
การตีเส้นเป็นสนามบาสเกตบอลและฟุตบอล รวมทั้งซื้อลูกบอลด้วย ทุกวันฉันหาเวลามา
เตร็ดเตร่อยู่แถวสนามเด็กเล่น หลายคนเข้ามาพูดคุยด้วย

“ครูจะเปิดแชมเปญฉลองทันทีที่โรงเรียนของเราหลุดพ้นจากการใช้มาตรการพิเศษ” ฉันบอก
พวกเขา บ่ายวันหนึ่ง ฉันบอกภารโรงประจำโรงเรียนให้ทาสีราวบันไดและตีเส้นทางเดินใน
โรงเรียนใหม่ โดยใช้สีที่สดใสที่เด็ก ๆ ชอบ

เช้าวันจันทร์หลังการทาสีใหม่เรียบร้อย ทุกคนที่เดินเข้ามาในโรงเรียนมีสีหน้าแจ่มใสขึ้นทันที
บรรยากาศรอบตัวมีแต่ความสดชื่น การปรับปรุงสภาพแวดล้อมครั้งนี้เท่ากับเป็นการส่งสาร
ให้ทั้งนักเรียนและครูทราบว่า ผู้บริหารเห็นคุณค่าในตัวพวกเขา นอกจากนั้นเรายังใช้เครื่องเสียง
ที่เดิมเคยใช้แต่ประกาศเรียกนักเรียนมาลงโทษ เราใช้เปิดเพลงสัปดาห์ละประเภทและสลับเปลี่ยน
ไปตามรายละเอียดที่ติดไว้ที่บอร์ด ซึ่งต่อมาเด็กโตคนหนึ่งได้รับอนุญาตให้หาแผ่นเพลง “ใต้ดิน”
ที่ดังอึกทึกและเขียนประกาศติดบอร์ดเอง ทำให้โรงเรียนอบอวลด้วยดนตรีที่ “ไม่รู้ว่าไพเราะตรงไหน”
ฉันสารภาพกับเด็กตรง ๆ ว่าตัวเองคงล้าสมัยไปแล้ว

โปรดติดตามตอนที่ (4) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 02, 2021 7:50 pm

……ภารกิจสุดท้าทาย ตอนที่ (4)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2547/2004
โดย Marie Stubs ย่อและเพิ่มเติมจากวิกิพีเดียโดย กอบกิจ ครุวรรณ
…บทเรียนสำหรับครู

เทรซี่ย์กับฌอนสอนห้องที่มีปัญหามากๆ ส่วนฉันสอนเวลาที่ครูประจำไม่อยู่และคุยกับ
นักเรียนตัวต่อตัวในห้องทำงานเป็นประจำ

ครูสาวคนหนึ่งมีปัญหากับเด็กแสบชั้นปีที่ 7 ครูคนนี้เตรียมการสอนมาอย่างดีแต่ต้องเสีย
เวลาพูดกับเด็กที่คอยก่อเรื่องในห้อง เทรซี่ย์กับฉันแนะให้เธอลองใช้ความเงียบจัดการคือ
“เด็กที่ตั้งใจเรียนดีจะได้รับสลากเป็นรางวัล พอหมดสัปดาห์ เราจะจับรางวัลใหญ่ซึ่งอาจ
เป็นลูกกวาดสักถุงหรือกล่องดินสอก็ได้” วิธีนี้เหมือนกับบอกนักเรียนว่า “ครูสอนหมดแล้ว
ตอนนี้จะให้เวลา 2 นาทีเผื่อนักเรียนบางคนอาจยังไม่เข้าใจดี ดังนั้นถ้ามีคนที่กล้ายกมือหรือขอ
ให้ครูอธิบายซ้ำ นักเรียนคนนั้นก็จะได้รับสลากเป็นรางวัลในฐานะที่กล้าแสดงความคิดเห็น”
ครูสาวพยักหน้ารับ จากนั้นเราก็พูดถึงเทคนิคการปราบเด็กซนด้วยวิธีอื่น ๆ

ฉันย้ำเตือนครูให้สอนตรงเวลา เพราะบางคนเข้าสอนสายไปถึง 10 นาที นอกจากนั้นฉันยังเข้ม
งวดให้ครูแต่งตัวเรียบร้อยเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักเรียนด้วย

“เร็วเข้า ไม่งั้นเข้าห้องสาย” ฉันบอกนักเรียนหญิงชั้น 10 สามคน หนึ่งในนั้นตอบว่า
“ไสหัวไปซะ อย่ามายุ่งกับหนูได้ไหม ไอ้บ้า” พอฉันมองหน้านักเรียนคนนั้นก็จำได้ว่าเป็นคนตัวโต
ที่สุดและผมเผ้ากระเซิงคนเดียวกับที่เคยตะโกนด่าฉันมาแล้ว เธอชื่อเด็บบี้ ฉันตัดสินใจว่าถึงเวลา
ต้องเอาจริงกับเธอแล้ว​ “เรียกฉันว่า อาจารย์ใหญ่ เธอเป็นผู้หญิงเหมือนกัน ควรภูมิใจในเพศของตัวเอง”

“ก็พวกบ้านั่นยังชอบจิกหัวเรียกหนูเลย” เธอเถียง

“เธอก็พูดดี ๆ กับเขาก่อนสิ เริ่มจากเดี๋ยวนี้เลย” ฉันตอบเธอ จากนั้นเด็บบี้ก็ยอมทำตาม

แม่ของเด็บบี้ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง​ หลังมีเด็บบี้เมื่ออายุเพียง 17 ปี แม่มีเพื่อนชายเวียนหน้ากัน
มาอยู่ด้วยเป็นระยะ ๆ บางครั้งเด็บบี้ขาดเรียนเพื่อไปช่วยดูแลน้อง ๆ คนละพ่อทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน
เราเรียกเธอมาคุยและหาทางให้เธอเรียนจนทันเพื่อนรุ่นเดียวกัน​ และทำคะแนนได้สูง

นาดีน ลูกสาวของฉันช่วยเชิญบุคคลสำคัญจากหลายวงการมาพูดให้นักเรียนฟัง สำหรับวันสุดท้าย
ก่อนสิ้นเทอมแรก นาดีนเชิญเควิน คีแกน (Kevin Keegan) อดีตนักเตะระดับตำนานทีมลิเวอร์พูล,
ติดทีมชาติอังกฤษ 63 ครั้งก่อนเป็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ เมื่อเขาเดินเข้ามาในห้องประชุม
นักเรียนทั้งหมดแทบหยุดหายใจ เขาน่ารักมาก หลังตัดริบบิ้นสีแดงที่ผูกระหว่างเสาประตูฟุตบอล
ใหม่ต่อหน้านักเรียนและสื่อมวลชนที่มาเป็นสักขีพยานแล้ว ฉันพูดขอร้องเขาว่า
“คุณช่วยเตะฟุตบอลกับเด็กเป็นการเปิดสนามหน่อยได้ไหมคะ”

เขารีบพับแขนเสื้อขึ้นทันทีพลางพูดว่า “ได้เลยครับ พรรคพวก” จากนั้นก็ร่วมทีมกับนักเรียนชั้นปีที่ 7
ท่าทางเขาสนุกมาก นักเรียนแต่ละชั้นผลัดกันเข้าไปพบคีแกนในห้องประชุม เขาแจกถ้วยรางวัล
ให้ผู้ชนะการแข่งขันกีฬา จากนั้นก็พูดเรื่องความสำคัญของการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและ
“ทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าตั้งใจจริงและลงมือทำ” ผู้ฟังตั้งใจฟังอย่างเงียบกริบจนแทบได้ยินเสียง
เข็มหมุดตกพื้น

วันรุ่งขึ้น คนขายหนังสือพิมพ์ที่สถานีรถไฟใกล้โรงเรียนส่งยิ้มให้นักเรียนเป็นครั้งแรกเพราะอยากคุย
เรื่องที่คีแกนพูดกับเขา ร้านค้าอื่น ๆ ในย่านนั้นก็เช่นกัน ปกติพนักงานจะมองนักเรียนอย่างไม่ค่อยไว้ใจ
แต่วันนี้เป็นจุดพลิกผันสำหรับโรงเรียนแห่งนี้ในสายตาของชุมชนท้องถิ่น ชาวบ้านตระหนักแล้วว่า
โรงเรียนนี้ต้องมีอะไรดีแน่ มิฉะนั้นคนระดับคีแกนคงไม่เสียเวลามาเยี่ยมเยียนหรอก

โปรดติดตามตอนที่ (5) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ย. 03, 2021 10:10 pm

……ภารกิจสุดท้าทาย ตอนที่ (5)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2547/2004
โดย Marie Stubs ย่อและเพิ่มเติมจากวิกิพีเดียโดย กอบกิจ ครุวรรณ

……“ฉันอยากเต้นรำทั้งคืน”

วันก่อนถึงงานเต้นรำฉลองประกาศนียบัตรมีครูลงชื่อไปร่วมงาน 13 คน แต่เมื่อใกล้
เริ่มงาน เวลา 18.30 น. กลับเหลือครูเพียง 6 คนที่ยินดีไปดูแลเด็กวัยรุ่นกว่า 50 คน
ซึ่งเป็นอัตราส่วนน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ซึ่งจะมีผลถึงการยกเลิกงาน

ฌอนพยายามพูดเกลี้ยกล่อมครูที่เปลี่ยนใจแต่ต้องผิดหวัง จากนั้นฉันก็เดินเข้าไปพูด
ในห้องพักครูและสาธยายเหตุผลต่าง ๆ นานาซึ่งก็ไม่สำเร็จเช่นกัน ทันใดนั้นฉันก็คิด
แก้ปัญหาได้ด้วยการโทรศัพท์ถึงลูกสาว 2 คนของฉันที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาอาชีพครู
รวมกันแล้วครบ 8 คนตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้พอดี “หาชุดสวย ๆ แล้วรีบมาที่
โรงแรมเมโทรโพล ฮิลตันเดี๋ยวนี้ เรามีครูดูแลเด็ก ๆ ไม่พอ” ลูกสาวทั้งสองรีบทำตามอย่าง
ว่าง่ายทันทีที่ฉันเดินเข้าไปในห้องบอลรูมของโรงแรม ก็เห็นโต๊ะตกแต่งงดงามด้วยเทียนและ
ดอกไม้ นักเรียนหญิงแต่ละคนสวยเหมือนนกตัวน้อย ๆ ที่มีสีสันแตกต่างกัน ส่วนนักเรียนชาย
ก็งามสง่าในชุดสูทเต็มยศ ทุกคนแต่งตัวพิถีพิถันเต็มที่

หลังรับประทานอาหารเย็นเลิศรส หัวหน้านักเรียนชายพาฉันออกไปเต้นรำเบิกโรงในจังหวะวอลซ์
เพียงครู่เดียวบรรยากาศก็เปลี่ยนไป เด็ก ๆ พากันออกไปวาดลวดลายตามจังหวะเพลงใต้ดิน
ที่พวกตนชื่นชอบ ทุกคนทำตัวน่ารักมากจนรองผู้จัดการกล่าวว่า ไม่อยากเชื่อเลยว่านี่คือนักเรียน
จากโรงเรียน”วายร้าย”ที่เขาเคยอ่านข่าวบ่อย ๆ พองานเลิก เด็ก ๆ ก็ออกันอยู่ด้านนอกเพื่อกล่าว
ขอบคุณฉันอย่างจริงใจจนฉันแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

(+)เริ่มต้นใหม่

อัตราการเข้าชั้นเรียนของนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 80% ขณะกำลังประชุมคณาจารย์ครั้งแรกของ
ภาคต้นปีที่สอง ฉันเตือนเพื่อนครูว่ามีคนจับตาดูพวกเราอยู่ทุกย่างก้าว ฉะนั้นต้องไม่หวาดหวั่น
และให้มองว่าเป็นสิ่งท้าทายที่จะต้องเอาชนะให้ได้ มีเสียงฮือฮาจากกลุ่มเพื่อนครูสะท้อนว่าเห็นด้วย
กับฉัน​ นักเรียนกลับเข้าโรงเรียนอย่างกระฉับกระเฉง และเห็นโปสเตอร์ขนาดใหญ่
“ยินดีต้อนรับกลับสู่โรงเรียน เราคิดถึงทุกคน ปีนี้เราจะพาโรงเรียนให้หลุดพ้นจากการควบคุม
ด้วยมาตรการพิเศษ”

ในสนามเด็กเล่น เด็บบี้เอื้อมมือมาคว้าข้อมือฉันไปดูกำไลอย่างพินิจพิเคราะห์ “ได้อันใหม่มาหรือยังคะ”

“ยังไม่มี” ฉันตอบ “ตอนนี้กำลังรอเปิดขวดแชมเปญเพื่อฉลองตอนที่โรงเรียนของเราหลุดจากการ
ควบคุมด้วยมาตรการพิเศษ” ต่อมาเมื่อเด็กคนอื่น ๆ แยกตัวกันไปแล้ว ฉันบอกเด็บบี้ว่า
“การจับเนื้อต้องตัวคนอื่นเป็นการเสียมารยาท”

“ขอโทษค่ะ” เด็กบี้ตอบ

ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เด็บบี้เดินตรงมาหาฉันด้วยสีหน้าแดงจัดเพราะความโกรธ “หนูไม่ได้ไปซ้อม
ละครสายจริง ๆ นะคะ แต่ครูจิลเลียนผู้สอนเรียกหนูไปเทศน์และบอกว่า หนูทำให้ทุกคนเสียเวลารอ”

“เอาอย่างนี้นะ หนูกลับไปพูดกับครูและขอโทษครูด้วย ครูจิลเลียนเคยบอกว่า หนูมีความคิด
สร้างสรรค์ดีมาก ครูมั่นใจว่าครูจิลเลียนไม่อยากเสียหนูไปหรอก”

“หนูจะลองคิดดู” เธอพูดแล้วก็เดินลงส้นจากไป

โปรดติดตามตอนที่ (6) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 04, 2021 2:11 pm

……ภารกิจสุดท้าทาย ตอนที่ (6) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2547/2004
โดย Marie Stubs ย่อและเพิ่มเติมจากวิกิพีเดียโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)การแสดงต้องดำเนินต่อไป

เมื่อใกล้ถึงวันคริสต์มาส ฉันตระหนักว่าต้องเตรียมตัวลาจากโรงเรียนเซนต์จอร์จแล้ว
ฉันอยากเห็นเด็กเติบโตและเบ่งบานต่อไป

ค่ำวันนั้น จะเปิดการแสดงละครรอบแรก ฉันรู้สึกเหมือนกำลังดูแลสมาชิกในครอบครัว
ตัวเองร่วมแสดง ทันทีที่ม่านเปิดออก การแสดงอยู่ในระดับมืออาชีพแบบที่ฉันไม่เคยเห็น
โรงเรียนไหนทำได้มาก่อน เมื่อปิดฉากลง คนดูส่งเสียงเรียกร้องให้นักแสดงออกมาปรากฏตัว
รับเสียงปรบมือครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกคนยิ้มหน้าบาน และยังเรียกร้องให้บรรดาผู้ทำงานหลัง
ฉากออกมาปรากฏตัวบนเวทีเพื่อรับการปรบมือให้เกียรติด้วย ฉันประทับใจมากเมื่อเห็น
เด็บบี้ก้าวออกมาโค้งให้กับผู้ชม

สิ่งที่จะทำให้ฉันหมดสนุกคือ การตรวจครั้งต่อไปของผู้ตรวจการศึกษาซึ่งจะกำหนดชะตา
กรรมของโรงเรียน

วันที่เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ โรงเรียนสะอาดเอี่ยมทุกซอกทุกมุม ทุกคนท่าทางฉลาดสดใส
ฉันเดินออกไปต้อนรับคณะผู้ตรวจสอบ ฌอนกับเทรซี่ย์ออกไปตรวจทุกแห่งในโรงเรียน
ให้กำลังใจและรับฟังปัญหาจากครูทุกคน

พอถึงเวลาพักกลางวัน บรรยากาศรอบโรงเรียนคึกคักเต็มที่เพราะมีกิจกรรมของชมรมต่าง ๆ
มากมาย เจ้าหน้าที่ตรวจสอบยังคงเดินหน้าตรวจสอบต่อไป บางครั้งก็เข้าไปพูดคุยกับเด็ก ๆ
ซึ่งตอบอย่างสุภาพ เป็นมิตร และสง่าผ่าเผยจนฉันรู้สึกปลื้มเมื่อได้ยิน

หลังอาหารกลางวันผ่านไปไม่นาน ประธานคณะกรรมการโรงเรียนก็มาที่ห้องทำงานของฉัน
ท่าทางเขาวิตกกังวลอยู่ไม่น้อย ฌอนกับเทรซี่ย์ก็เข้ามาสมทบด้วย ทั้งสองดูเหนื่อยอ่อนและ
ใจคอไม่ดี

เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า ที่สุดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก็เดินเข้ามานั่งที่โต๊ะ หัวหน้าคณะฯ อ่าน
รายงานด้วยน้ำเสียงเป็นทางการว่า “อาศัยอำนาจตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติ
การตรวจสอบคุณภาพโรงเรียนปี 1996 ข้าพเจ้าขอลงความเห็นว่า โรงเรียนเซนต์จอร์จหลุด
พ้นจากการถูกควบคุมด้วยมาตรการพิเศษนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

ฉันได้ยินเสียงสูดหายใจดังเฮือกใหญ่ เทรซี่ย์และฌอนทำท่าดีใจสุดขีด ส่วนประธานกรรมการฯ
ก็ยิ้มไม่ยอมหุบ ฉันดีใจและโล่งอกจนถึงกับแสดงกิริยาที่ไม่เคยทำมาก่อน คือตรงเข้าไปจุมพิต
แก้มของหัวหน้าคณะฯ​ วันรุ่งขึ้นฌอนมาโรงเรียนแต่เช้าตรู่ สิ่งแรกที่นักเรียนเห็นเมื่อเข้ามาใน
โรงเรียนคือ โปสเตอร์ขนาดใหญ่มีข้อความว่า “ขอแสดงความยินดี” ฉันจัดประชุมนักเรียนทีละ
ชั้นเพื่อแจ้งผลการตรวจสอบ และย้ำให้ทุกคนเห็นว่า “ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากความพากเพียร
ของนักเรียนเอง เรายังต้องทำงานหนักอีกหลายอย่าง แต่วันนี้ต้องฉลอง ‘ไชโย’ กัน” เท่านั้นเอง
หลังคาตึกก็แทบถล่มเพราะเสียงโห่ร้องแสดงความดีใจ

“อาจารย์ใหญ่คะ เยี่ยมมากใช่ไหมคะ” เด็บบี้ตะโกนขณะวิ่งตรงมาหาฉันในช่วงพักระหว่าง
คาบเรียน “ได้เวลาเปิดแชมเปญฉลองแล้วใช่ไหมคะ”

“แน่นอนจ้ะ” ฉันตอบพร้อมกับส่งยิ้มให้

***********************

จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ย. 05, 2021 5:00 pm

🐱ท่านที่เคารพ ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2547/2004
โดย ซุง คิม รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ในโบสถ์ใกล้มหาวิทยาลัยอินเดียนาที่ผมไปเรียนในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยน
จากเกาหลี ผมสังเกตเห็นสามีภรรยาสูงวัยคู่หนึ่ง ผู้เป็นสามีเอาใจใส่ดูแลภรรยา
ตลอดเวลาด้วยการเปิดประตูให้และปรนนิบัติทุกอย่าง แม้ภรรยาจะดูงามสง่าแต่
ใบหน้ากลับนิ่งเฉยจนผมคิดว่าเธอคงเป็นโรคอัลไซเมอร์

หลังเฝ้าสังเกตทั้งสองคนจากที่นั่งนักร้องประสานเสียงของโบสถ์อยู่หลายสัปดาห์
ผมจึงถามเพื่อนนักร้องและทราบว่าเธอคือคุณนายวัตกินส์ สตรีที่แต่งตัวดีที่สุดในเมือง
เธอเป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่อไม่นานมานี้ คุณวัตกินส์จึงตั้งใจว่าแม้ภรรยาจะสูญเสียความ
ทรงจำ แต่ภรรยาต้องไม่เสียความภูมิใจในตัวเอง ดังนั้นทุกสัปดาห์ท่านจะพาภรรยาไป
แต่งผมและเสริมสวยก่อนพาไปโบสถ์

ผมตื้นตันใจกับการแสดงความรักที่ลึกซึ้งของผู้เป็นสามีมาก นับแต่นั้นมา ทุกครั้งที่เข้าไป
ในโบสถ์ สิ่งแรกที่ผมทำคือชำเลืองมองไปที่สามีภรรยาคู่นี้ ถ้าไม่เห็นพวกเขาผมก็จะรู้สึก
เป็นกังวลตลอดช่วงพิธีการในโบสถ์

แม้ผมรู้สึกใกล้ชิดกับสองสามีภรรยาคู่นี้ แต่ผมก็อายเกินกว่าจะทักทายคุณวัตกินส์ ที่สุดก่อน
ถึงวันคริสต์มาส 1 สัปดาห์ ผมตัดสินใจเขียนจดหมายถึงคุณวัตกินส์ แต่ปรากฏว่าสัปดาห์นั้น
ทั้งสองไม่ได้ไปโบสถ์​ สัปดาห์ต่อมา ผมยื่นจดหมายให้คุณวัตกินส์ ท่านรับจดหมายด้วยสีหน้า
ประหลาดใจ ---

ข้อความของจดหมายมีดังนี้

เรียน ท่านที่เคารพ

ผมชื่อซุง คิม เป็นสมาชิกใหม่ของโบสถ์แฟร์วิว ท่านคงประหลาดใจที่ได้รับจดหมายจากคนที่
ท่านไม่รู้จัก แต่ผมได้เฝ้าดูท่านกับภรรยาด้วยความสนใจทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน
แม้จะไม่เคยพูดคุยกับท่านเลยก็ตาม

สิ่งที่สะดุดใจผมคือ ท่านดูแลภรรยาอย่างทะนุถนอม เพียงเห็นครั้งแรกผมก็ตระหนักว่าภรรยา
ของท่านสุขภาพไม่สู้จะดีนัก แต่ท่านก็ปรนนิบัติภรรยาดุจดังราชินีซึ่งทำให้ผมประทับใจมาก
ผมรู้ดีว่าการดูแลผู้เป็นโรคนี้ยากลำบากเพียงไร ขณะเฝ้าดูท่านกับภรรยา ผมตระหนักถึงความรัก
อันลึกซึ้งที่ท่านมีต่อเธอ การมองหาท่านกับภรรยาท่ามกลางผู้เข้าร่วมพิธีทุกวันอาทิตย์จึงกลาย
เป็นงานอย่างหนึ่งของผม ถ้าเห็นท่านทั้งสองมาโบสถ์ ผมจะรู้สึกสบายใจไปตลอดสัปดาห์
แต่ถ้าไม่มา ผมก็จะเริ่มกังวลถึงท่านและคอยให้ถึงวันอาทิตย์อีกครั้ง ภาพของท่านกับภรรยา
กลายเป็นส่วนของพิธีที่สำคัญต่อผมยิ่งกว่าคำเทศน์ของศิษยาภิบาล ความรักอันลึกซึ้งที่ท่านมี
ต่อภรรยาทำให้ผมรู้สึกบริสุทธิ์สะอาดอย่างยิ่ง

ผมรออยู่นานกว่าจะกล้าบอกเรื่องนี้ ผมขอสวดภาวนาให้ภรรยาของท่านหายป่วยโดยเร็วและมี
สุขภาพดีขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นท่านกับภรรยาที่โบสถ์แฟร์วิวตลอดไป

ด้วยความเคารพ

ซุง คิม

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ พ.ย. 07, 2021 7:51 pm

😜ท่านที่เคารพ ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2547/2004
โดย ซุง คิม รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

สองสัปดาห์ต่อมา ผมพบสามีภรรยาที่ระเบียงโบสถ์ คุณวัตกินส์แนะนำตัวเอง
และบอกว่าชื่นชมจดหมายของผมมาก

อีกหลายสัปดาห์ต่อมา ขณะซ้อมร้องเพลงสวดอยู่ สุภาพสตรี 2 คนเข้ามา
แนะนำตัวว่าเป็นลูกสาวคุณวัตกินส์และยื่นซองจดหมายให้ ผมเปิดอ่าน
ในเวลาต่อมาและ พบข้อความดังต่อไปนี้

คุณซุง คิม ที่นับถือ

ดิฉันเป็นลูกสาวของคุณโอเดลล์และเวลมา วัตกินส์ ดิฉันอยากจะบอกว่า
จดหมายของคุณมีความหมายเพียงใด ไม่เฉพาะต่อคุณพ่อ แต่ต่อทุกคนที่
ได้อ่าน เห็นได้ชัดว่า คุณเป็นคนหนุ่มที่มีความรู้สึกอ่อนไหว มีน้ำใจ และมีเมตตา
นอกจากจะสามารถเข้าใจพ่อแม่ของดิฉันและสิ่งที่ท่านเผชิญอยู่แล้ว คุณยังอุตส่าห์
สละเวลาเขียนจดหมายถึงคุณพ่อ ซึ่งแสดงถึงจิตใจและอุปนิสัยที่น่ายกย่องของคุณ
ดิฉันกับน้องสาวขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่คุณให้กำลังใจและเป็นแรงบันดาลใจ
แก่คุณพ่อและครอบครัวของดิฉัน

ดิฉันหวังว่าคุณคงไม่รังเกียจที่ดิฉันถือวิสาสะนำจดหมายของคุณไปเผยแพร่แก่นัก
การศึกษากลุ่มหนึ่ง ดิฉันได้รับเชิญให้ไปพูดปิดการประชุมผู้บริหารของรัฐซึ่งประกอบ
ด้วยเจ้าหน้าที่และประธานกรรมการของสมาคม ’เดลต้า แคปป้า แกมม่า’ ซึ่งเป็น
องค์กรที่มีเกียรติของนักการศึกษาหญิง ดิฉันได้แนบคำปราศรัยมาพร้อมกับจดหมาย
นี้แล้ว ดิฉันกับน้องสาวรู้สึกผิดหวังที่คุณไม่ได้ไปโบสถ์แฟร์วิวเมื่อครั้งที่เราสองคนกับ
พ่อและแม่ไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่เราหวังว่าคงจะได้พบคุณเร็ว ๆ นี้เพื่อจะได้บอกคุณ
ด้วยตัวเองว่า เราขอบคุณในความมีน้ำใจของคุณอย่างมาก

ขอแสดงความนับถือ

เชอรี่ วัตกินส์

โปรดติดตามตอนที่(3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ย. 10, 2021 10:59 pm

🐝ท่านที่เคารพ ตอนที่​(3) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2547/2004
โดย ซุง คิม รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

บันทึกคำปราศรัย

ดิฉันมีจดหมายฉบับหนึ่งที่ใคร่จะให้พวกท่านได้รับทราบด้วย แต่ก่อนอื่น
ดิฉันขอเล่าถึงที่มาของจดหมายนี้ คุณแม่ดิฉันอายุ 85 ปีและเป็นโรคอัลไซเมอร์
แต่ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรง ดิฉันรู้ดีว่ามีหลายคนในบรรดาท่านทั้งหลายที่มีบุคคลผู้
เป็นที่รักเป็นโรคนี้และรู้จักโรคอันร้ายกาจนี้ดี คุณแม่ดิฉันไม่เพียงสูญเสียความ
สามารถด้านสมองไปเท่านั้น แต่โรคนี้ร่วมกับโรคกระดูกพรุนยังทำให้ร่างกายของ
ท่านอ่อนแอลง คุณพ่อดิฉันรับหน้าที่ปรนนิบัติคุณแม่แต่ผู้เดียว โดยดูแลอาบน้ำ
แต่งตัว ป้อนอาหารให้ อีกทั้งยังรับผิดชอบงานบ้านทุกอย่างด้วย ท่านทำสิ่งเหล่านี้
ด้วยทัศนคติที่มองโลกในแง่ดีและด้วยอารมณ์ขันอันเป็นนิสัยของท่าน นอกจากผู้ที่
มาทำความสะอาดบ้านให้เดือนละครั้งแล้ว ท่านยืนยันว่าไม่ต้องการให้ใครมาช่วย
อะไรอีกทั้งที่ดิฉันกับน้องพยายามรบเร้าท่าน เราพี่น้องจึงใช้เวลาทุกสุดสัปดาห์ไป
อยู่กับท่านเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่เพื่อที่จะได้อยู่กับคุณแม่เท่านั้น แต่เพื่อที่จะช่วยคุณพ่อ
ให้มากที่สุดเท่าที่จะช่วยได้​

ทั้งที่สถานการณ์​ เป็นเช่นนี้ แต่คุณพ่อก็พาคุณแม่ไปร้านเสริมสวยทุกวันศุกร์ ไปโบสถ์
เกือบทุกวันอาทิตย์ และไปรับประทานอาหารนอกบ้านสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โชคดีที่
คุณแม่อารมณ์แจ่มใสและพยายามร่วมมือ ดิฉันรู้ดีว่า คนเป็นโรคอัลไซเมอร์มักไม่เป็น
อย่างนี้ ดิฉันจึงคิดว่าที่ท่านมีจิตใจผ่องใสเช่นนี้เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมที่เคยชินและเต็ม
ไปด้วยความรักที่คุณพ่อเสกสรรให้

เมื่อวันอาทิตย์หลังคริสต์มาสปีที่เพิ่งผ่านมา ขณะที่คุณพ่อคุณแม่เดินออกจากโบสถ์
นักศึกษามหาวิทยาลัยอินเดียนาผู้หนึ่งซึ่งมาจากเกาหลีเข้ามาหาคุณพ่อและยื่นซอง
จดหมายให้ คุณพ่อเคยเห็นชายหนุ่มผู้นี้ร้องเพลงอยู่ในคณะนักร้องประสานเสียงของ
โบสถ์ทุกวันอาทิตย์แต่ไม่รู้จักเขา ท่านคิดว่าเป็นบัตรอวยพรวันคริสต์มาสที่ส่งล่าไป
หน่อยจึงเอาซองนั้นใส่กระเป๋าเสื้อไว้ ต่อมาคุณพ่อก็เปิดซองออกอ่านข้อความข้างใน
และนี่คือข้อความในจดหมายนั้น (แล้วเธอก็อ่านจดหมายของผม)
ดิฉันอยากให้พวกท่านได้อ่านจดหมายนี้ด้วยเพราะเหตุผล (2) ประการ

ประการแรกคือ ดิฉันคิดว่าเราไม่ค่อยสำนึกอย่างถ่องแท้ว่าวิถีชีวิตของเรานั้นมีผลต่อ
ผู้อื่นอย่างไรบ้าง เรามีบทบาทที่เป็นแบบอย่างของผู้ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา
(คือมีผู้เฝ้าดูเราอยู่เสมอ) โดยเฉพาะในฐานะนักการศึกษา ดิฉันคิดว่าเราไม่เข้าใจ
อย่างแท้จริงว่า การกระทำของเรามีผลกระทบเพียงไรต่อชีวิตของนักศึกษาของเรา,
พ่อแม่ของนักศึกษา และเพื่อนร่วมงาน มีบ่อยครั้งที่นักศึกษาบางคนมาหาเราและบอกว่า
เราทำให้ตัวเขาเปลี่ยนไป ซึ่งคงไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เราสอนเขาโดยตรง แต่จากความสนใจ
ที่เรามีให้เขา สิ่งที่เราเรียกร้องจากเขา หรืออาจเกิดจากการที่เราเป็นตัวของเราที่มีผลกระทบ
ถึงตัวเขา

คุณพ่อดิฉันไม่เคยรู้เลยว่า ซุง คิม คอยเฝ้าดูท่านกับคุณแม่ แต่ตัวตนของท่านกลับเป็นสิ่ง
สำคัญต่อชายหนุ่มผู้อ่อนไหวนี้ ฉะนั้น ขอพวกท่านจงอย่าได้ลืมว่า ตัวท่านมีความสำคัญมาก
เพียงใดต่อผู้คนอีกหลายคนและแม้แต่ต่อคนที่ท่านคิดไม่ถึงด้วย

ประการที่สอง ดิฉันอยากให้ท่านได้อ่านจดหมายนี้เพื่อจะเตือนใจทุกท่านว่า การแสดงความ
นิยมชมชื่นและให้กำลังผู้อื่นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง ดิฉันรู้สึกผิดมากที่มักคิดว่าคนอื่นน่าจะรู้ดีว่า
เขาเป็นคนพิเศษเพียงใดและไม่คิดจะหาเวลาบอกเขา เราทุกคนน่าจะมีโอกาสรู้ว่าตัวเราเป็น
ที่ชื่นชมและชื่นชอบของคนอื่นเพื่อที่เราจะได้รู้สึกเป็นคนที่มีคุณค่าในสายตาคนอื่น ความปลื้มใจ
ที่คุณพ่อดิฉันรู้สึกเมื่อได้รับจดหมายฉบับนี้ทำให้ภาระหนักอึ้งที่ท่านแบกอยู่เบาลงมาก ซุง คิม
คงไม่รู้ว่าจดหมายของเขาให้แรงบันดาลใจท่านมากเพียงไร

ก่อนจบ ดิฉันขอบอกเพื่อน ๆ ว่า ตัวตนของทุกท่านในที่นี้มีความสำคัญมากและท่านทำให้เกิด
ความเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่ปล่อยให้แสงสว่างในตัวท่านฉายออกมา ท่านก็ได้ทำประโยชน์แก่
ผู้อื่นเป็นอย่างยิ่งแล้ว อีกอย่าง ดิฉันขอเชิญชวนท่านว่า ในสัปดาห์นี้ ขอให้ท่านบอกผู้อื่นอย่างน้อย
(3) คนว่า ท่านนิยมชมชื่นชีวิตของเขา เพื่อเขาจะได้รู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่าและเกิดกำลังใจ

หลังจากผมเขียนจดหมายถึงคุณวัตกิตส์ 1 ปีพอดีในวันก่อนวันคริสต์มาส คุณนายวัตกินส์ถึง
แก่กรรม ผมได้รับข่าวที่น่าสลดนี้จากศิษยาภิบาลในระหว่างพิธี คืนนั้นหิมะตกหนัก ขณะเดิน
กลับจากโบสถ์ ผมคิดว่า ดีจริง ๆ ที่คุณนายวัตกินส์เลือกเอาวันแสนสวยงามเช่นนี้เป็นวันออก
เดินทางไกล

ผมไปที่สถานประกอบพิธีฝังศพเพื่อกล่าวคำอำลาคุณนายวัตกินส์ คุณวัตกินส์กับลูกสาวต้อนรับ
ผมอย่างอบอุ่น และเมื่อเห็นท่าทางอึดอัดใจของผม ทั้งสามคนกลับเป็นฝ่ายทำให้ผมรู้สึกสบายใจ
คุณนายวัตกินส์นอนอยู่ในหีบศพ ใบหน้าแต่งไว้อย่างสดใส เสื้อผ้าสวยงาม และใบหน้าไม่มีร่องรอย
ของโรคร้ายอยู่เลย

ผมรู้จักคุณวัตกินส์กับภรรยาของท่านเพียงไม่ถึงปี แต่ทั้งสองจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมตลอดไป
และเตือนให้ผมตระหนักถึงความหมายที่แท้จริงของความรัก

***********************


จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ย. 10, 2021 11:01 pm

😘ดูตาม้าตาเรือ จากหนังสือสรรสาระ​ ฉบับเ​ดือ​นตุลาคม 2006
โดย William Esenbarker. และจากวิกิพีเดีย ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ในฐานะนักเดินทางที่ท่องโลกมาแล้วกว่าล้านกิโลเมตร ผมตระหนักดีว่าทั่วโลก
มักมอง ชาวอเมริกันว่าเป็นคนไร้วัฒนธรรม เป็นนักท่องเที่ยวที่มีอคติต่อผู้คนใน
ต่างแดน ดังนั้นผมจึงระวังตัวแจไม่อยากจะไปทำร้ายความรู้สึกของคนในชาตินั้น ๆ
แต่ก็ไม่วายที่ผมพลาดบ่อยครั้งเหลือเกิน

ที่เมืองมาราเกซ (Marrakesh) ประเทศโมร็อกโก ผมนั่งไขว่ห้างระหว่างสัมภาษณ์ข้าราชการ
คนหนึ่ง และแล้วทั้งห้องก็เงียบกริบ นาทีต่อมา ข้าราชการคนนั้นอยู่ ๆ ก็นึกขึ้นได้กะทันหันว่า
มีนัดสำคัญและผลุนผลันขอตัวออกจากห้องไป

ที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งในเมืองมุมไบ (เดิมชื่อ บอมเบย์) ผมแค่เอื้อมมือไปหยิบชิ้นขนมปัง
อินเดียที่เรียกว่า “นาน” แขกที่อยู่โต๊ะข้าง ๆ มองผมด้วยสายตารังเกียจ

ซ้ำร้ายมีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมทำร้ายความรู้สึกทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติในบ้านตัวเองที่อเมริกา
นักข่าวชาวจีน 3 คนมาพักที่บ้านผมตามโครงการส่งเสริมความเข้าใจคนอเมริกัน ก่อนพวกเขา
จะกลับ ผมมอบของขวัญที่คิดแล้วว่าเหมาะสม เป็นหนังสือภาพถ่ายรูปเล่มสวยงาม พวกเขารับ
ไว้ด้วยท่าทางลังเล แต่สีหน้าบึ้งตึงด้วยความอับอาย

หลายปีต่อมากว่าผมจะตระหนักว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละเรื่องที่เล่ามานี้ ผมปล่อยไก่ห้าแต้ม
ไปแล้วโดยไม่ตั้งใจ

กรณีแรกเรื่องการสัมภาษณ์ของผมกับข้าราชการโมร็อกโกที่จบลงห้วน ๆ เพราะเมื่อผม
นั่งไขว่ห้าง ส้นเท้าผมจะหงายขึ้นซึ่งถือเป็นการดูถูกที่รุนแรงต่อคนมุสลิม เพราะพวกเขา
ถือว่าเท้าเป็นอวัยวะต่ำที่สุด

การเอื้อมมือไปหยิบขนมปังในมุมไบนั้น ผมหยิบด้วยมือซ้าย คนอินเดียกินอาหารด้วย
มือขวาเนื่องจากแทบทุกคนถนัดขวา มือซ้ายจึงสงวนไว้สำหรับกิจอื่นเช่นการทำความ
สะอาดหลังเข้าห้องน้ำเป็นต้น และที่จริงแม้แต่คนอินเดียที่ถนัดซ้ายก็ใช้มือขวากินอาหาร

ส่วนความผิดพลาดต่อแขกคนจีนเป็นเรื่องของคำพ้องเสียง แต่มีความหมายแตกต่างกัน
อย่างสิ้นเชิง : คนจีนถือว่าหนังสือเป็นของขวัญที่ไม่เหมาะสม เพราะในวลีภาษากวางตุ้ง
“การให้หนังสือ” ออกเสียงเหมือนคำว่า “การให้ความพ่ายแพ้” “การให้นาฬิกา” ก็เป็น
ของขวัญที่ไม่เหมาะสมสำหรับคนจีน เพราะไปพ้องเสียงกับวลี “การส่งคนไปถึงวาระสุดท้าย”
นอกจากนั้น “การให้ร่ม” ก็ไปพ้องเสียงกับ “ครอบครัวของคุณจะพลัดพรากจากกัน”

ภาษามือหลายแบบก็ไม่เหมาะสม เช่น สัญลักษณ์ตัว “วี” ซึ่งหมายถึงชัยชนะที่วินสตัน เชอร์ชิลล์
นายกรัฐมนตรีอังกฤษนำมาใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจนกลายเป็นอมตะ แต่สัญลักษณ์นี้
ถ้าหันฝ่ามือเข้าตัวก็เหมือนกับการให้นิ้วกลางซึ่งเป็นการเหยียดหยามอย่างตั้งใจ

คำอธิบายหนึ่งของสัญลักษณ์นี้มีที่มาจากยุคกลาง เมื่อทหารฝรั่งเศสจะปลดอาวุธพลธนูอังกฤษ
อย่างถาวร พวกเขาจะตัดนิ้วชี้และนิ้วกลางซึ่งเป็นนิ้วที่ใช้เหนี่ยวสายธนู ต่อมา ชาวอังกฤษจึง
ฉลองชัยในสนามรบด้วยการชูนิ้วทั้งสองที่ยังไม่ถูกตัดใส่หน้าทหารฝรั่งเศสที่พ่ายแพ้

ในการเยือนออสเตรเลียเมื่อต้นปี 1992 ประธานาธิบดีบุช (ผู้พ่อ) ทำท่าที่เขาคิดว่าเป็นสัญลักษณ์
แห่งชัยชนะของเชอร์ชิลล์จากในรถลีมูซีนที่นั่งอยู่ โชคร้ายเขาหันฝ่ามือเข้าหาตัว ความเปิ่นของเขา
กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งในวันรุ่งขึ้น แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ของอังกฤษก็ยัง
พลาดแบบเดียวกันในการฉลองชัยจากการเลือกตั้ง

อาหารและเครื่องดื่มเป็นกับระเบิดอีกอย่างหนึ่งในเอเชีย คุณจะต้องไม่ปักตะเกียบไว้บนอาหาร
เพราะคนเอเชียจำนวนมากจะจัดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยการจุดธูปปัก
ไว้ในชามเพื่อนำอาหารให้ไปสู่อีกโลกในความเชื่อของคนเอเชีย การปักตะเกียบแบบนั้นจะนำ
โชคร้ายมาให้และมีความหมายว่าอาหารนั้นสำหรับคนตายไม่ใช่คนเป็น

ในญี่ปุ่นนั้น พยายามอย่าให้อะไรมีจำนวน“สี่” เพราะคำว่า”สี่” (四 อ่านว่า “Shi-ชิ”) ซึ่งมีเสียงพ้อง
กับคำว่าตาย (死) ซึ่งอ่านว่า “Shi-ชิ” เหมือนกัน

ผู้ผลิตลูกกอล์ฟชาวอเมริกันเคยประสบปัญหายอดขายตกต่ำในญี่ปุ่นมาแล้ว กระทั่งตระหนักได้
ในภายหลังว่าพวกเขาบรรจุลูกกอล์ฟ 4 ลูกลงในแต่ละกล่อง

ถ้าคุณถือดอกไม้ไปบ้านคนอินโดนีเซีย คุณจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เว้นแต่คุณจะนำสิ่งที่
เป็นเลขคี่ไปซึ่งถือว่าเป็นโชคร้าย และถ้าเจ้าภาพถามว่า “กินอะไรหรือยัง” ให้ตอบว่า “กินแล้ว”
แม้จะหิวท้องกิ่วอยู่ก็ตาม เพราะการถามเช่นนั้นเป็นเพียงคำทักทายตามมารยาทเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเดินทางไปต่างแดน สิ่งที่เปลี่ยนไปไม่ใช่แค่เวลาเท่านั้น แต่ขอให้ระวังเรื่องการวางตัว
และมือไม้ของคุณด้วย

******************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 23, 2023 9:10 pm

เรื่องที่คุณรู้ไม่จริง ตอนที่ ( 1 )
รวบรวมจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2541
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

สังคมและภาษาไทยเปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา ที่มาของถ้อยคำสำนวนทั้งเก่าและใหม่
เริ่มรางเลือน ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ ทำไมเราจึงลงเอยใช้คำที่ฟังดูแปลกพิกล
ท่านทราบหรือไม่ว่า ทำไม”เล่นพิเรนทร์”จึงแปลว่า “ผิดเพี้ยน” ทั้งที่ลำพังคำว่า “พิเรนทร์”นั้น
เมื่อถอดความตามรากศัพท์หมายถึง “ความกล้าหาญ” ซ้ำยังเคยเป็นชื่อยศศักดิ์ของขุนนางเสียด้วย

“พระเจ้าเหา”คือใคร มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยใด และคำว่า “เม็ดเงิน” ต่างกับ “เงิน”อย่างไร พวกเรา
คงใช้คำเหล่านี้จนติดปาก ทั้งที่ไม่ค่อยแน่ใจในความหมายและไม่รู้ที่มา

ต่อไปนี้คือข้อเท็จจริงที่จะช่วยให้ท่านพูดคำเหล่านี้ได้อย่างเต็มปากโดยปราศจากข้อกังขาหรือ
จะจำไว้อธิบายให้หลานชั้นประถมสี่ฟังก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

(1)“อาหารเจ” กับ “มังสวิรัติ” ต่างกันอย่างไร

ทั้งเจและมังสวิรัติเป็นอาหารไม่มีเนื้อสัตว์เหมือนกัน แตกต่างกันตรงที่ว่า “อาหารเจ”
นอกจากจะไม่มีเนื้อสัตว์แล้ว ยังมีข้อห้ามว่า ต้องไม่มีหอม กระเทียม ต้นกุยช่าย ผักชี และเครื่องเทศ
ที่เผ็ดร้อน เพราะถือว่าเครื่องปรุงดังกล่าวทำให้เกิดกำหนัด อาหารเจจะกินกันในช่วงเทศกาลกินเจ
คือระหว่างวันขึ้นหนึ่งค่ำถึงเก้าค่ำ เดือนเก้า ผู้ที่กินเจเชื่อว่ากินเจแล้วได้บุญ ส่งผลให้ชีวิตประสบ
ความสุขความเจริญ ทั้งยังต่อชีวิตให้ยืนยาวอีกด้วย

ส่วน”อาหารมังสวิรัติ” สามารถบริโภคได้ทั้งปี ไม่มีเทศกาลเหมือนอาหารเจ ผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติ
เชื่อว่า จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง เพราะได้งดเนื้อสัตว์ที่มีทั้งไขมันและสารเจือปน นอกจากนี้ยัง
เป็นประโยชน์ต่อจิตใจเพราะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งหลาย

(2)ทำไมขั้วความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมจึงเป็น “ฝ่ายขวา” ขณะที่หัวก้าวหน้าเรียกว่า “ฝ่ายซ้าย”

หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ.1789 มีการตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น ประกอบด้วยผู้แทนทั้งสิ้น 1,177 คน
คัดเลือกจากประชาชนชาวฝรั่งเศส

ครั้งนั้น พวกที่มีความคิดหัวก้าวหน้าหรือสุดโต่งรวมตัวกันอยู่ทางซีกซ้ายมือของประธานสภาฯ
ส่วนพวกอนุรักษ์นิยมที่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโค่นล้มอย่างสิ้นเชิงอยู่ทางซีกขวามือ การเลือก
ที่นั่งในสภาเช่นนี้จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมาและเผยแพร่ไปทั่วโลก คำว่า ”ฝ่ายซ้าย” และ
“ฝ่ายขวา” ที่ใช้กันทั่วโลกจึงหมายถึงสองขั้วความคิดทางการเมือง อันได้แก่แนวคิดแบบ “เสรีนิยม”
และ “อนุรักษ์นิยม”

โปรดติดตามตอนที่ (2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 23, 2023 9:14 pm

เรื่องที่คุณรู้ไม่จริง ตอนที่ ( 2 )รวบรวมจากนิตยสารสรรสาระ
ฉบับเดือนธันวาคม 2541

(3) ทำไม “เล่นพิเรนทร์” จึงหมายถึง “พิลึก”

เราเห็นคนทำอะไรไม่ถูกแบบแผนก็มักเรียกว่า “เล่นพิเรนทร์” ที่มาของคำนี้เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.112 ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาคุกคามไทย ครั้งนั้นตำรวจหลวงผู้หนึ่งมี
บรรดาศักดิ์เป็น “พระพิเรนทร์เทพ” เป็นผู้ฝึกบ่าวไพร่และอาสาสมัครให้ดำน้ำทนเพื่อไปเจาะเรือรบ
ฝรั่งเศสให้จม บางคนดำน้ำแล้วทนไม่ไหวก็โผล่ขึ้นมา คุณพระพิเรนทร์ท่านนี้ก็ใช้ไม้ถ่อค้ำคอและกด
ให้อยู่ในน้ำต่อจนถึงกับมีคนตายจึงต้องเลิกฝึก ตั้งแต่นั้นมา ถ้าใครทำเรื่องประหลาดก็จะพูดกันว่า
“เล่นอย่างพระพิเรนทร์เทพ” หรือ “เล่นพิเรนทร์”นั่นเอง

(4)“เม็ดเงิน” หมายถึงอะไร

เราเริ่มคุ้นหูคำที่เต็มไปด้วยลีลาและให้ภาพพจน์คำนี้ในยุคฟองสบู่ และยังใช้กันติดปากจนแม้
ฟองสบู่แตกแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าคำนี้มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่

คนในแวดวงธุรกิจอาจบอกว่า “เม็ดเงิน” คือเงินหมุนเวียนในรูปของทั้งเงินสดและเครดิต

คนในวงการธนาคารพาณิชย์กลับมองว่า “เม็ดเงิน” เป็นตัวบ่งบอกสภาพคล่องของธนาคาร

ส่วนผู้ที่ดูแลการเงินของประเทศ อันได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความหมายของ “เม็ดเงิน”
ว่าเป็นประมาณเงินที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งระบบการเงินของประเทศด้วย
หากจะถามว่าความหมายใดเป็นความหมายที่ถูกต้อง ก็ตอบได้ว่าถูกต้องทุกความหมาย ขึ้นอยู่กับว่า
ใช้คำนี้ในแวดวงใด ก็ยึดความหมายตามที่เข้าใจกันในแวดวงนั้น

(5) นักข่าว “หัวเห็ด” เพราะเราเห็นมีอยู่ดาษดื่นหรือ

หามิได้ “หัวเห็ด” เป็นตะปูชนิดหนึ่งมีหัวบานเหมือนดอกเห็ด ใช้สำหรับย้ำแผ่นสังกะสีให้ตรึงแน่น
ไม่หลุดง่าย และคำว่า “หัวเห็ด” ยังมีความหมายว่าดื้อหรือทนทานอีกด้วย จึงมีสำนวนเรียกคนที่
ยึดมั่นในความคิดเห็นโดยไม่เปลี่ยนแปลงว่า “หัวเห็ด
สำนวน “นักข่าวหัวเห็ด” ไม่ได้หมายความว่าเป็นนักข่าวนิสัยดื้อรั้น แต่หมายความว่าเป็นนักข่าวที่
มุ่งมั่นทำงานตามอุดมคติโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ

(6)“พระเจ้าเหา”ตัวจริง

เรากล่าวอ้างถึง “สมัยพระเจ้าเหา” เมื่อต้องการเน้นว่า เรื่องที่พูดถึงนั้นโบราณหรือเก่าแก่เต็มที
ลิขิต ฮุนตระกูล ค้นคว้าเรื่องนี้มาเล่าไว้ในหนังสือ “ประวัติการสัมพันธ์ระหว่างชาติไทยกับชาติจีน”
ว่า “พระเจ้าเสียวเฮ้า” เป็นพระราชโอรสของพระเจ้า “หว่างตี้ราชวงศ์ที่ 1 ปฐมกษัตริย์ของจีน...
ขึ้นครองราชสมบัติเมือ 2053 ปีก่อน พ.ศ อยู่ในราชสมบัติ 84 ปี

อย่างน้อยเอกสารนี้ก็ช่วยยืนยันว่า “พระเจ้าเหา” พอมีตัวตนอยู่เหมือนกัน ไม่ได้ยกเมฆขึ้นลอย ๆ

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ม.ค. 24, 2023 2:02 pm

เรื่องที่คุณรู้ไม่จริง ตอนที่ ( 3 )
รวบรวมจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2541

(7) ทำไมจึงเรียกสถานที่ชื่อใช้ประหารชีวิตว่า “ตะแลงแกง”

“ตะแลงแกง” เป็นชื่อสถานที่แห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา เป็นทางสี่แพร่งอยู่ใกล้คุกสมัยอยุธยา
นักโทษจะถูกนำไปประหารชีวิตที่ทางสี่แพร่งนี้ ภายหลังจึงใช้เรียกที่สำหรับประหารชีวิตนักโทษว่า
“ตะแลงแกง”ทุกแห่งไป

ตะแลงแกงดั้งเดิมที่ว่านี้อยู่ไม่ไกลจาก “คุ้มขุนแผน”ในปัจจุบัน

(8) “ข้าวหนัก” กับ “ข้าวเบา” ต่างกันอย่างไร

ข้าวบางพันธุ์ใช้เวลาเพียง 80-90 วันก็เก็บเกี่ยวได้ แต่บางชนิดกินเวลานานถึง 7 เดือน ข้าวพันธุ์
ที่สุกก่อนจึงเรียกว่า “ข้าวเบา” ส่วนข้าวที่สุกล่ากว่าก็เรียกว่า “ข้าวหนัก” และข้าวที่สุกระหว่างข้าว
พวกแรกกับพวกหลังเรียกว่า “ข้าวกลาง”

นอกจากนั้นยังมีคำว่า “ข้าวนาปี” ซึ่งหมายถึงข้าวที่ปลูกในฤดกาลเพาะปลูก มีที่ราบภาคกลางเป็น
แหล่งปลูกข้าวสำคัญ ส่วน “ข้าวนาปรัง” หมายถึงข้าวที่ปลูกนอกฤดูกาลเพาะปลูก คือปลูกหลังจาก
เก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ปลูกมากในภาคกลางและภาคเหนือ

(9)ทำไมต้อง “ชักแม่น้ำทั้งห้า”

แม่น้ำทั้งห้าในสำนวน หมายถึงแม่น้ำ 5 สายในตำนานตามความเชื่อของชาวอินเดีย ได้แก่แม่น้ำคงคา
ยมุนา อจิรวดี สรภู และ มหิ สำนวนนี้มีที่มาจากมหาเวสสันดรชาดก เมื่อชูชกจะกล่าวขอสองกุมาร
ต่อพระเวสสันดรโดยไม่ทูลขอตรง ๆ แต่นำแม่น้ำทั้งห้ามาเปรียบว่าไหลแผ่สาขาเป็นประโยชน์
แก่ฝูงชนอย่างไร ก็เหมือนน้ำพระทัยของพระเวชสันดรอย่างนั้น
สำนวนนี้หมายความว่า ใครจะพูดขอร้องอะไรก็ตาม ไม่พูดตรง ๆ ตามจุดประสงค์ แต่พูดเรื่องอื่น ๆ
หว่านล้อมเสียก่อน จึงเข้าหาจุดประสงค์

(10)ทำไมจึงเรียกโรงพยาบาลโรคจิตว่า “หลังคาแดง”

ปี 2455 หมอ เอ็ม คาร์ทิว แพทย์ชาวอังกฤษ ก่อตั้งโรงพยาบาล “คนเสียจริต” ตามแบบตะวันตก
เป็นแห่งแรกที่ปากคลองสาน มีป่าสวยงามร่มรื่นสร้างบรรยากาศที่สงบเพื่อช่วยผ่อนคลายจิตใจผู้ป่วย
หมอผู้นี้จึงเป็นที่มาของศัพท์แสลง “หลังคาแดง” ที่เรารู้จักกันดี เนื่องจากคุณหมอท่านนี้ไปซื้อเหมา
สีแดงค้างสต็อกราคาถูก คุณภาพดี มาผสมน้ำมันแล้วทาหลังคาอาคารสังกะสีทุกหลังเพื่อกันสนิม
หลังคาโรงพยาบาลนี้จึงเป็นสีแดงเพลิงสะดุดตาคนทั่วไป และเป็นที่มาของสมญา “หลังคาแดง”
ที่ใช้เรียกโรงพยาบาลโรคจิตติดปากกันมาจนทุกวันนี้

**********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 26, 2023 7:52 pm

หัวใจไม่ยอมแพ้ ตอนที่ ( 1. )
รวบรวมจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

สายลมโชยมาปะทะใบหน้าของ’ลีเซีย สต็อกกัล’ ขณะขึ้นจากน้ำทะเลสีครามบนชายหาด
เมืองซานดิเอโก วันนี้อากาศแจ่มใสชวนให้คิดถึงสิ่งดี ๆ แต่เมื่อลีเซียสาวผมทองตาสีฟ้าวัย 34 ปี
ผู้นี้เดินตรงไปหยิบผ้าเช็ดตัว ความหวาดกลัวเก่า ๆ ก็ผุดขึ้นมาอีก

“ตายจริง น้ำชะเครื่องสำอางของฉันออกไปหมดแล้ว” เธอฉุกคิดพลางยกมือขึ้นแตะใบหน้า เธอเดิน
ขึ้นชายหาดและมองตรงไปที่ชายผู้เป็นคู่นัด เป็นครั้งแรกที่เขาจะได้เห็นแผลเป็นที่ใบหน้าของเธอ
“เขาจะเบือนหน้าหนีเหมือนกับคนอื่นไหมหนอ?”

ย้อนหลังไปเมื่อ 25 ปีก่อนในเดือนธันวาคม วันนั้นหิมะตกหนัก ลีเซียวัย 9 ขวบอยู่ในห้องชั้นใต้ดิน
บ้านคุณย่ากับ’คิม’ลูกพี่ลูกน้องวัย 5 ขวบ ทั้งสองถูกกันตัวให้อยู่ที่นั่นเพื่อไม่ให้เกะกะช่างที่มาตรวจ
กลิ่นแก๊สรั่วในบ้าน ลีเซียจับแขนคิมแล้วชวน “เล่นซ่อนหากัน” คิมส่งเสียงดีใจ ดวงตาเป็นประกาย
ด้วยความตื่นเต้น

ขณะที่ลีเซียกำลังนับ 1 ถึง 10 โดยเปิดตามองลอดนิ้วมือที่ปิดหน้าอยู่เพื่อจะรู้ที่ซ่อนของคิม ทันใดนั้น
ก็เกิดระเบิดขึ้นที่เตา ส่งร่างของลีเซียลอยข้ามห้อง เศษคอนกรีตและชิ้นโลหะกระจายไปรอบตัว
“ร้อนเหลือเกิน” ลีเซียหวีดร้อง เปลวไฟและควันหนาทึบจนแทบมองอะไรไม่เห็น ลีเซียยันกายลุกขึ้น
จากเศษอิฐเศษปูนแล้วมุดลอดออกทางช่องโหว่บนผนัง เสื้อผ้าติดไฟลุกท่วม หนูน้อยล้มลงบนสนาม
หญ้าปกคลุมด้วยหิมะ เธอเกลือกกลิ้งตัวไปมา ปากก็ส่งเสียงร้อง “พ่อจ๋า แม่จ๋า! น้องคิม!”ขณะที่เจ้าหน้าที่
หน่วยแพทย์อุ้มเธอขึ้นรถพยาบาล แล้วลีเซียก็หมดสติไป ส่วนคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้รับบาดเจ็บกัน
คนละเล็กละน้อย
สองสัปดาห์ต่อมา ลีเซียเริ่มรู้สึกตัวแต่ก็เจ็บปวดไปทั่วร่าง นายแพทย์โน้มตัวลงพูดกับเธออย่างอ่อนโยนว่า
“ลีเซีย หนูถูกไฟไหม้เยอะมาก” เด็กน้อยจึงเริ่มมองตัวเองไล่เรื่อยตั้งแต่แขนไหม้เกรียมและสองมือที่บวมเป่ง
เป็นสีดำ เธอถูกไฟลวกขั้นสาหัสไปกว่าครึ่งตัว

วันแล้ววันเล่า ลีเซียต้องอดกลั้นไม่ร้องเสียงดังเมื่อพยาบาลผลัดกันขัดถูหนังที่ตายออกและแช่ตัวเธอ
ในบ่อน้ำวน ซึ่งน่าหวาดกลัวยิ่งกว่าความทรงจำเกี่ยวกับไฟที่ทำให้เธอต้องเข้ารักษาตัวที่นั่นเสียอีก

เธอไม่ได้เตรียมใจสำหรับรูปโฉมที่เปลี่ยนไป เปลวเพลิงทิ้งแผลเป็นลึกไว้บนแผ่นหลัง แขนทั้งสองข้าง
และใบหน้า ผมเหลือเป็นหย่อม ๆ ขนคิ้วไหม้หมด แม้แต่ริมฝีปากก็ซีดเผือด
ลีเซียกลับไปเรียนตามปกติหลังเกิดอุบัติเหตุ 10 เดือน แม้จะทำศัลยกรรมตกแต่งอย่างเต็มที่ ใบหน้าก็
ยังดูเหมือนหน้ากากที่มีเส้นเอ็นปุ่มป่ำและรอยแผลปูดโปน ตอนนั้นเธอเรียนอยู่ชั้น ป. 5 เธอคิดถึงเพื่อน
และโรงเรียนมาก แต่ก็ต้องตกใจกับปฏิกิริยาที่ได้รับ

“ยายหน้าผี!” เพื่อนคนหนึ่งส่งเสียงใส่เธอ “น่าเกลียดจังเลย” อีกคนถากถาง ลีเซียอยากตอบโต้แต่ทำได้
เพียงยืนนิ่ง พูดไม่ออก น้ำตาไหล และที่แย่ที่สุดคือ วันที่ครูพาเธอออกมายืนหน้าชั้น แล้วพูดขึ้นในขณะที่
นักเรียนทั้งชั้นหัวเราะร่าว่า “อย่าเล่นไม้ขีดไฟถ้าไม่อยากเป็นอย่างลีเซีย”

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ม.ค. 31, 2023 8:28 pm

หัวใจไม่ยอมแพ้ ตอนที่. (. 2 )
รวบรวมจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541

(+)กลัวตัวสั่น

สิ่งที่แย่พอ ๆ กับการถูกหัวเราะเยาะคือ ความรู้สึกหวาดกลัวทุกครั้งที่พ่อแม่ขับรถพาเข้า
ปั๊มน้ำมัน ลีเซียจะทำจมูกย่นเมื่อได้กลิ่นน้ำมัน ใจนึกว่าอาจมีลูกค้าทิ้งก้นบุหรี่ที่ยังไม่ดับ ทำให้
ไฟลุกและเกิดระเบิดขึ้น เธอกลัวจนต้องซุกตัวแนบกับเบาะรถ

เมื่ออายุ 18 ปี ลีเซียผ่านการทำศัลยกรรมมาแล้ว 17 ครั้ง แพทย์เฉือนหนังที่สะโพกและแผ่นหลัง
เพื่อนำไปปลูกบนใบหน้า และตกแต่งลบรอยแผลเป็นโดยนำหนังส่วนที่เรียบไปปะแทนรอยปุ่มป่ำ
ผมสีทองของเธอกลับมาเป็นลอนสลวย แต่รอยแผลเย็บที่เกิดจากการปะหนังเป็นชั้น ๆ ยังคง.ปรากฏ
อยู่บนแขน มือ แผ่นหลัง และใบหน้า บอกให้รู้ว่ามีการนำแผ่นหนังหลายชิ้นมาปลูกและเย็บติดเข้า
ด้วยกัน เธอมีอาการตัวสั่นทุกครั้งที่เห็นประกายไฟจากที่จุดบุหรี่ และคิดว่าต้องเอาชนะความกลัวนี้
ให้ได้ แต่จะทำได้อย่างไร?

(+)ขั้นตอนการรักษา

ในวัย 20 ตอนปลาย ลีเซียซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นเลขานุการในโครงการ “เสริมสร้างภาพลักษณ์”
สำหรับผู้ประสบภัยจากไฟไหม้ที่ศูนย์การแพทย์แรนโซ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เธอแปลงโฉมได้อย่างผิดหู
ผิดตาด้วยการใช้รองพื้นหนา ๆ แบบดาราภาพยนตร์เกลี่ยทับรอยแผลเป็นและทำให้สีผิวหน้ากลมกลืน
เสมอกัน ใช้ลิปสติกแต่งแต้มริมฝีปากให้ได้รูป และดินสอเขียนคิ้วช่วยให้ใบหน้าดูคมได้สัดส่วน

ภาพที่เห็นทำให้เกิดกำลังใจ ลีเซียปรึกษาศัลยแพทย์ตกแต่งเผื่อว่าการผ่าตัดอีกครั้งจะช่วยให้ดีขึ้น
ได้อีก แต่แพทย์ไม่เห็นด้วย สิ่งจำเป็นสำหรับลีเซียคือการรักษาแผลที่ยังคงฝังอยู่ในใจ แพทย์แนะนำ
ให้เธอติดต่อสถาบันบาดแผลไฟไหม้ที่เมืองซานดิเอโกซึ่งมีการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กถูกไฟไหม้อาการสาหัส

ปี 2537 ลีเซียลาออกจากงานเลขานุการและจัดตั้งค่ายอบรมสำหรับเด็กที่ได้รับอุบัติเหตุไฟไหม้โดย
ผ่านทางสถาบันฯ เด็ก ๆ ที่มาเข้าค่ายด้วยความหดหู่เศร้าหมองกลับไปด้วยความเข้มแข็งและเชื่อมั่น
ในตัวเอง ไม่นานต่อมา ลีเซียก็ประจักษ์แก่ใจว่า ที่นี่เป็นสถานที่แห่งเดียวที่ผู้คนให้ความรักแก่เธออย่าง
บริสุทธิ์ใจ แต่อดคิดไม่ได้ว่า เธอจะได้พบใครสักคนไหมที่จะรักเธอและไม่รังเกียจใบหน้าของเธอเช่นผู้คนที่นี่

โปรดติดตามตอนที ( 3. )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ม.ค. 31, 2023 8:32 pm

หัวใจไม่ยอมแพ้ ตอนที่ ( 3. )
รวบรวมจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541

(+)ความคิดโง่ ๆ

เมื่อเธอเดินทางไปประชุมอบรมด้านการผจญเพลิงที่เมืองซานโฮเซ่ รัฐแคลิฟอร์เนีย
ในเดือนเมษายนปีนั้น ในฐานะตัวแทนของสถาบันบาดแผลไฟไหม้เพื่อแจกเอกสารเกี่ยวกับค่าย
กิจกรรมของสถาบัน

เย็นวันแรกหลังประชุมเสร็จ ลีเซียพักผ่อนอยู่กับเพื่อน ๆ ในห้องโถง และรู้สึกสะดุดเมื่อได้
ยินเสียงระเบิดหัวเราะดังลั่น ‘บรูซ คาร์เทลลี’ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ ๆ กำลังเล่าเรื่องขำขันจนเพื่อนฝูงที่นั่น
นั่งล้อมวงพากันฮาครีน

บรูซวัย 44 ผู้นี้ตัวโตราวกับหมี ผมสีน้ำเงิน ตาสีฟ้ามีแววขี้เล่น เขาเป็นหัวหน้าหน่วยดับเพลิงเมือง
ซานดิเอโก และเป็นนักผจญเพลิงยอดเยี่ยมที่ผู้คนชื่นชอบมากที่สุดคนหนึ่งในเขตนี้ เขากำลังพูดคุย
ส่งเสียงโหวกเหวกกับพรรคพวกอยู่

“นี่คุณ!” ลีเซียเอ่ยขึ้นเมื่อเขาขยับตัวเข้ามาใกล้ “รู้ตัวหรือเปล่าว่าคุณส่งเสียงดังที่สุดในห้องนี้
จนฉันคิดอะไรไม่ออกเลย”

“ยินดีที่รู้จักครับ... ลีเซีย” บรูซพูดขณะเหลืบมองป้ายชื่อเธอ “คุณมาจาก ซานดิเอโกหรือ?
ผมก็เหมือนกันครับ”

ลีเซียรู้สึกหมั่นไส้ขณะมองใบหน้ายิ้มละไมและหนวดเฟิ้มของเขา เธอไม่ชอบคนเอะอะโวยวาย
แต่ผู้ชายคนนี้มีบางอย่างต่างจากคนอื่น เขานั่งลงข้างเธอด้วยท่าทีที่อ่อนโยน แล้วถามเธอตรง ๆ ว่า
“คุณถูกไฟไหม้ได้ยังไงครับ”

“แก๊สระเบิดค่ะ” เธอตอบตะกุกตะกัก “ตอนนั้นฉันยังเด็กมาก”

ลีเซียรู้สึกประหลาดใจว่า “เขารู้ได้อย่างไร ฉันอุตส่าห์แต่งหน้าปิดริ้วรอยไว้แล้วนี่นา”

บรูซเป็นนักผจญเพลิงผู้มีประสบการณ์โชกโชนถึง 26 ปี เขาต้องฝ่าเข้าไปในตึกไหม้ไฟ
ร้อนกว่า 800 องศาเซลเซียสบ่อย ๆ เพื่อช่วยผู้ติดอยู่ในกองเพลิง บางคนถูกไฟคลอกจนแทบ
จำไม่ได้ บรูซเป็นผู้ชำนาญการที่สุดในเขตนี้ แต่ถึงจะรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับความร้ายกาจและพลัง
ของไฟ เขาก็ไม่เคยเห็นผลที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดเช่นนี้

ทั้งสองคุยกันเป็นชั่วโมง ตอนหนึ่งลีเซียเล่าถึงความกลัวไฟว่า “แปลกนะคะ ฉันพยายามคิด
หาวิธีเผชิญหน้ากับไฟ หรือประจันหน้ากับเจ้ามังกรไฟนั่นอีกสักครั้ง ฉันเคยถามหัวหน้าหน่วยดับเพลิงว่า
ขอให้ฉันเข้าไปในตึกที่ไฟกำลังไหม้ได้ไหม เขาตอบว่า ‘ไม่ได้เด็ดขาด คุณเคยต่อสู้กับไฟและแพ้มาแล้ว’
ฉันว่าฉันคงคิดโง่ ๆ นะคะ”

บรูซจับมือเธอไว้แล้วจ้องตาเขม็ง “ไม่ใช่ความคิดโง่ ๆ หรอกครับ” เขาตอบ “จริง ๆ แล้ว ผมจะ
จัดให้คุณทำอย่างนั้นได้ เพราะนี่คืองานของผม” งานส่วนหนึ่งของบรูซคือ หัดพนักงานดับเพลิง
ให้หายกลัวไฟด้วยการพาเข้าไปในตึกที่ไฟกำลังไหม้ “หากคุณต้องการ ผมจะพาคุณไป”

ลีเซียจ้องหน้าตอบ แล้วถามว่า “จริงหรือคะ”

โปรดติดตามตอนที่ ( 4. )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ม.ค. 31, 2023 8:35 pm

หัวใจไม่ยอมแพ้ ตอนที่ ( 4. )
รวบรวมจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541

(+)ฆ่ามังกรไฟ

หลายสัปดาห์ต่อมา บรูซช่วยลีเซียเตรียมตัว โดยให้เธอซ้อมสวมหน้ากากหายใจ
ใส่เดินไปมาในบ้านให้คุ้นไว้ที่สถานีดับเพลิง เขาให้เธอถือสายท่อดับเพลิงให้เคยชินกับ
ความหนักของมัน ระหว่างนั้นก็อธิบายถึงทิศทางของการเคลื่อนตัวของไฟ

วันทื่ 16 พฤษภาคม 2537 เป็นวันฝึกอบรม บรูซคว้าข้อมือลีเซียจูงไปตรงหน้าพนักงาน
ดับเพลิงที่ชุมนุมกันอยู่ และบอกว่า “เมื่อ 25 ปีก่อน ลีเซียพ่ายแพ้ในการต่อสู้ แต่วันนี้พวกเรา
ทุกคนมาอยู่กับเธอที่นี่ เพราะเธอจะเอาชนะสงครามให้ได้”

ลีเซียในชุดดับเพลิงตัวโคร่งพร้อมหน้ากากหายใจ ย่างสามขุมเข้าไปในสิ่งก่อสร้าง 3 ชั้น
ที่เป็นสถานที่ฝึกซ้อม ประตูหน้าต่างมีคราบเขม่าควันไฟจับดำ ลีเซียรู้สึกได้ถึงความร้อนที่กระจาย
ออกมาจากตัวตึกเหมือนลมหายใจร้อน เธอได้กลิ่นควันไฟแล้ว

ขณะที่ทั้งกลุ่มกำลังจะก้าวเข้าไป บรูซเหลือบมามองและเห็นหยดน้ำตาบนแก้มลีเซีย
“คุณไม่ต้องเข้าไปก็ได้นะ” บรูซตะโกนบอก ดวงตาฉายแววห่วงใย

“ฉันต้องเข้าไปค่ะ บรูซ” เธอตอบ “พาฉันเข้าไปเถอะ”

ครั้งแรก เธอหยุดชะงักหลังก้าวผ่านประตู จ้องมองเปลวไฟครู่หนึ่งแล้วถอยหลังกรูด ครึ่งชั่วโมง
ต่อมา เธอลองอีกครั้ง คราวนี้ควันสีดำม้วนโอบอยู่รอบตัว ลีเซียกลับเป็นเด็กหญิงเล็ก ๆ ในห้องชั้น
ใต้ดินบ้านคุณย่าอีกครั้ง เธอแหวกผ่านบรูซและคนอื่น ๆ กลับออกมานอกตึกด้วยอาการตกใจสุดขีด

“ช่วยถอดอุปกรณ์ดับเพลิงของเธอออก แล้วให้เธอดื่มน้ำ!” บรูซร้องสั่งลูกน้อง พลางหันไปพูดกับ
ลีเซียว่า “แค่นี้ก็ดีแล้วครับ” “ไม่ค่ะ” ลีเซียตอบ “จะหยุดแค่นี้ไม่ได้ ฉันต้องกลับเข้าไปใหม่”

พวกเขากลับเข้าไปอีกครั้ง คราวนี้เธอขบกรามแน่น ขณะเดินย่อตัวก้มศีรษะเข้าไปในตึก
ควันไฟม้วนตัวขึ้น เปลวเพลิงแลบเลียจากเตียงนอน บรูซส่งท่อดับเพลิงให้เธอ แล้วพูดผ่านหน้ากาก
หายใจออกมาว่า “เอ้า! ฆ่ามังกรไฟตัวนั้นเสียซิครับ”

ลีเซียจับสายท่อไว้มั่น มือสวมถุงมือหนาเตอะ แล้วเล็งท่อไปตรงเปลวไฟซึ่งแลบเลียมาจาก
เตียงไม้ที่ห่างออกไปไม่ถึงเมตร ไฟค่อย ๆ สงบลงด้วยแรงน้ำที่พ่นออกมา ในที่สุดเปลวเพลิงสุดท้าย
ก็มอดลงเป็นเถ้าถ่าน

“คุณทำสำเร็จแล้ว!” บรูซตะโกนลั่น
เธอตรงเข้ากอดเขาทั้งที่เหนื่อยล้าเนื้อตัวโชกเหงื่อ “คุณไม่รู้หรอกว่า การทำได้เช่นนี้มีความหมาย
มากแค่ไหน” เธอพูด รู้สึกปีติยินดีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ราวกับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกเป็นอิสระจริง ๆ

โปรดติดตามตอนที่ ( 5. )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ม.ค. 31, 2023 8:38 pm

หัวใจไม่ยอมแพ้ ตอนที่ ( 5. )
รวบรวมจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541

(+)โฉมหน้าที่แท้จริง

วันรุ่งขึ้น เมื่อเพื่อนร่วมงานที่สถาบันบาดแผลไฟไหม้ขอให้เธอเล่าประสบการณ์ให้พนักงาน
ดับเพลิงจำนวน 45 คนฟัง เธอตอบรับทันที แต่เมื่อเริ่มเล่าก็รู้สึกน้ำตารินไหลอยู่ลึก ๆ ภายใน
“เกิดอะไรขึ้น” เธอรำพึง “ฉันควรจะมีความสุขได้แล้ว” แต่เธอก็ไม่สามารถเล่าต่อได้

ยิ่งวันผ่านไป ความหม่นหมองเริ่มทวีคูณ เธอหันไปหาบรูซให้ช่วยปลอบใจ “คุณยังไม่เคย
ปล่อยอารมณ์เศร้าออกมาเต็มที่” เขาอธิบาย “ตอนนี้คุณปลดปล่อยออกมาแล้ว”

เขาพูดถูก เธอไม่เคยโศกเศร้าสุดซึ้งกับวัยเด็กที่สูญเสียไป แต่ก็ตระหนักว่ามีสิ่งอื่นอีกที่ทำ
ให้รู้สึกหม่นหมอง “ความกลัวไฟอาจหมดไปแล้ว” เธอบอก “แต่อาจมีความกลัวเรื่องอื่น ๆ”

“ลีเซีย” บรูซตอบพลางจ้องตาเธอ “ผมอยากบอกว่า ในสายตาของผม คุณสวยมาก”

ลีเซียยิ้ม แต่ไม่เชื่อคำพูดของเขา
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2537 ลีเซียเดินจากน้ำขึ้นชายหาดเมืองซานดิเอโก เดินตรงไปหา
บรูซด้วยใบหน้าที่เคยพรางด้วยแป้งฝุ่นและเครื่องสำอางมาเกือบชั่วชีวิต แต่บัดนี้เขาได้เห็นใบหน้า
ที่แท้จริงเมื่อเธอเข้าไปใกล้ซึ่งเป็นตัวจริงของเธอ ไม่ใช่หน้ากากระบายสีสวยที่เธอสวมให้คนทั้งโลกดู

เธอทรุดตัวลงนั่งข้างเขา แล้วค่อย ๆ เงยหน้าขึ้นรับแสงแดด เผยให้เห็นทุกริ้วรอยของผิวที่ขรุขระ
ปูดโปน เขาจ้องมองแต่ไม่ได้พินิจไปที่รอยแผล หากจ้องลึกลงไปในดวงตา และเป็นครั้งแรกที่ลีเซียเชื่อว่า
นี่คือชายคนที่รักและยอมรับเธออย่างแท้จริงเต็มหัวใจ

สองปีต่อมา บนปลายแหลมไม่ไกลจากชายหาดนั้น สายลมโชยต้องชุดขาวของลีเซียลู่ตามลม
ใบหน้าของเธอเปล่งปลั่งสดใสขณะก้าวไปตามทางโปรยด้วยกลีบดอกไม้ ตรงไปยังบรูซ คาร์เทลลี่ซึ่ง
ยืนรออยู่ในชุดทักซีโด บาทหลวงยืนอยู่เบื้องหน้าคนทั้งสอง อีกสักครู่จะได้ยินเสียงแตรไซเรนจากรถแห่
เฉพาะกิจซึ่งเป็นรถดับเพลิงสีแดงคันใหญ่ที่มีทั้งขอเกี่ยวและบันได ประดับประดาด้วยใบและกระดาษย่น
งดงามประกาศการแต่งงานของคนทั้งสอง

“คุณจับมือฉันไว้ และพาหัวใจฉันฝ่าเปลวเพลิงและควันไฟ” ลีเซียกล่าวในระหว่างพิธีแต่งงาน
“เพราะคุณ ฉันจึงได้เป็นอิสระจากสัตว์ร้ายที่ประทับรอยแผลไว้บนใบหน้าและร่างกายของฉัน”

**********************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส