เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ ชุด ( 5 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ย. 26, 2021 6:12 pm

😍กลับใจ จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนมกราคม 2006 โดย แมรี่ เอ. ฟิสเชอร์
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ปลายปี 1999 ฉันซื้อบ้านหลังหนึ่งในย่านไฮแลนด์ปาร์คทางตะวันออกของ
ลอสแอนเจลิส แต่ย่านนี้กำลังเปลี่ยนไป​ เนื่องจากมีกลุ่มผู้อพยพใหม่ย้ายเข้ามา
อยู่เป็นระลอก และฉันก็เชื่อว่าความสมานฉันท์ระหว่างเชื้อชาติคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ทุกปีมีกลุ่มอพยพใหม่นับหมื่น ๆ คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่ทางใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย
เพื่อนบ้านจำนวนมากในย่านที่ฉันอยู่มาจากเม็กซิโก, เอลซัลวาดอร์, ฟิลิปปินส์
และเวียดนาม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันกลายเป็นชนกลุ่มน้อยซึ่ง
ฉันไม่ชอบเลย ฉันปักใจเชื่อว่าพวกเราไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย ดังนั้นฉันจึงสร้าง
ปราการปิดกั้นตัวเองอยู่ในบ้านสวยทรงสเปนบนเนินเขา ฉันแทบไม่เคยพูดกับ
เพื่อนบ้าน โบกมือให้กันบ้างเป็นครั้งคราวเมื่อนำขยะออกไปทิ้งหรือขับรถสวนกัน
ท่าทีของฉันคงเป็นไปตามที่พวกเขาเชื่อกันมาว่า คนฝรั่งผิวขาว “ไม่เป็นมิตร” ใน
ทำนองเดียวกันฉันก็เชื่อฝังใจว่า ผู้อพยพเป็นพวกดื้อรั้น ไม่ยอมปรับตัวให้กลมกลืน
น่ารัก ฉันรู้สึกรำคาญเมื่อพนักงานขายของเชื้อสายละตินอเมริกันไม่เข้าใจเวลาฉัน
ถามหาสินค้าที่ต้องการ และหงุดหงิดเมื่อซุปเปอร์มาร์เก็ตในละแวกบ้านไม่มีเนยแข็ง
ชนิดที่ฉันชอบ หรือเมื่อเห็นป้ายโฆษณาสินค้าเขียนเป็นภาษาสเปน

ฉันโทรศัพท์แจ้งความกับเจ้าหน้าที่หลายครั้งเมื่อเห็นเพื่อนบ้านประพฤติตัวขวางหู
ขวางตา ผู้หญิงคนหนึ่งจากเอลซัลวาดอร์เลี้ยงไก่ในสนามหลังบ้านซึ่งปลุกฉันตอนตีห้า
ทุกเช้า เมื่อฉันร้องทุกข์ไปยังกรมควบคุมสัตว์ เธอก็ตอบโต้ด้วยการเชือดคอไก่ตัวนั้นซึ่ง
ทำให้ฉันรู้สึกผิดที่เป็นต้นเหตุเร่งให้ไก่ตัวนั้นชะตาขาดก่อนเวลา แต่ฉันก็ให้เหตุผลกับ
ตัวเองว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูความสงบสุขในถิ่นที่อาศัย

เมื่อเพื่อนบ้านจากเม็กซิโกเล่นดนตรีส่งเสียงดัง ฉันโทรศัพท์แจ้งตำรวจซึ่งมาจัดการ
ให้ยุติลงได้ พวกเขาคงเดาได้ว่าฉันเป็นคนแจ้งความ จึงเลิกพูดคุยกับฉัน แต่ฉันก็ให้
เหตุผลกับตัวเองว่า ฉันกำลังยกระดับถิ่นที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามมาตรฐานค่านิยมที่ดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ฉันได้เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ภายในช่วงเวลา 2 วัน สาเหตุ
แรกเนื่องจากฉันถูกเลิกจ้าง ก่อนหน้าวันนั้นฉันเคยรับเงินเดือนหลักแสนดอลล่าร์ในฐานะ
นักเขียนอาวุโสของนิตยสารระดับประเทศ สาเหตุที่สองคือแทบจะในวันเดียวกันนั้นเอง
ความสัมพันธ์กับชายที่ฉันรักจบลงอย่างเลวร้าย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิต
ของฉันหายไปในบัดดล ฉันจมดิ่งสู่ความทุกข์และไม่รู้ว่าจะดึงตัวเองให้หลุดพ้นออกมา
ได้อย่างไร

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้จิตใจของฉันอ่อนลงและเริ่มเข้าใจวิถีชีวิตของผู้อื่น ฉันเริ่ม
สานสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและโลกรอบตัว ฉันค้นพบว่าพวกเขาเป็นคนน่าทึ่งและไม่มีอคติ
ตามที่ฉันเคยวาดภาพไว้ พวกเขาขยันทำมาหากิน มีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับตัวฉันคือ แสวงหา
ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุขบ้างตามควร

ฉันเพิ่งรู้ว่า ผู้หญิงจากเอลซัลวาดอร์คนที่เลี้ยงไก่หนีออกจากประเทศพร้อมลูกสาวเล็ก ๆ
สองคนหลังสามีถูกกลุ่มฆ่าสังหาร เธอทำงานเป็นคนทำความสะอาดหาเงินเลี้ยงครอบครัว
และส่งเสียลูกสาวทั้งสองเข้าเรียน

ฉันเพิ่งรู้อีกเช่นกันว่าเพื่อนบ้านอีกคนหนึ่งจากเม็กซิโกมาลอสแอนเจลิส และพูดอังกฤษไม่ได้
เลยเมื่อตอนที่มาถึงเมื่อ 15 ปีก่อน เขาได้งานแรกเป็นคนทำความสะอาดสำนักงาน ต่อมาเป็น
คนขับรถบรรทุกส่งของ ขณะที่เขียนเรื่องนี้เขาเป็นเจ้าของอพาร์ตเมนต์ 3 หลังและมีเงินมากกว่า
ฉันเสียอีก ช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา ฉันให้ไวน์แดงและขนมเค้กเพื่อนบ้านเป็นของขวัญ ส่วนพวก
เขาก็ให้ไม้กระถางและบุรีโต (burrito) ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองเม็กซิกันแก่ฉันเป็นถาด ๆ

สองเดือนก่อน รถของฉันสตาร์ทไม่ติดและคงต้องโทรฯ เรียกรถยกมาลาก เพื่อนบ้านจาก
กัวเตมาลา ซึ่งทำงานเป็นคนสวนสังเกตเห็นปัญหาของฉัน เขากุลีกุจอเอาสายจั๊มออกมาและ
ช่วยจนสตาร์ทรถได้

ทุกวันนี้ฉันเข้าใจแล้วว่า ชีวิตของพวกเขาและของฉันล้วนประกอบขึ้นด้วยประสบการณ์ที่เป็น
สากลสำหรับเราทุกคน คือมีความหวัง, ความผิดหวัง และความรัก เดือนที่แล้ว ฉันได้ยินเสียง
ไก่ขันแต่เช้าตรู่ ดูเหมือนเพื่อนบ้านจากเอลซัลวาดอร์จะมีไก่ตัวใหม่ และฉันก็ชอบเฝ้ามองมัน
เดินเตร็ดเตร่ไปมาในละแวกบ้าน ไม่รู้เป็นเพราะอะไร แต่มันทำให้ฉันรู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก

***************
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ พ.ค. 14, 2022 9:51 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ พ.ย. 28, 2021 8:56 pm

"ภารกิจปาฏิหาริย์" ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2006
โดย Anthony Flacco เรียบเรียงและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เช้าวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2002 ทหารอเมริกันจากหน่วยรบพิเศษคนหนึ่ง
เดินลาดตระเวนในตลาดที่จอแจของเมืองกันดาฮาร์ ตอนใต้ของอัฟกานิสถาน
เขาสังเกตเห็นชายคนหนึ่งเดินมากับเด็กหญิงอายุราว 9 ขวบซึ่งน่าจะเป็นลูกสาว
ทหารนายนั้นไม่รู้สึกว่ามีสิ่งผิดปกติใด ๆ จนเมื่อลมพัดผ้าคลุมหน้าของเด็กหญิง
ปลิวเปิดออก เขาจึงเห็นใบหน้าของเธอที่เต็มไปด้วยแผลเป็นและมีท่าทางพิกลพิการ
เธอสูงประมาณ 120 เซนติเมตร น้ำหนักตัวไม่ถึง 30 กิโลกรัม​ ซึ่งผอมกว่าเด็ก
อัฟกานิสถานทั่วไปอ ย่างไรก็ตาม เธอมีท่าทางแจ่มใสและดูเหมือนจะรู้ตัวว่ามีคน
มองเธออยู่ เธอจึงหันกลับมามองด้วยความอยากรู้ ทหารอเมริกันเดินเข้าไปหา
ชายคนนั้น ใช้ภาษาใบ้และภาษาดารี คำสองคำเพื่อถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กน้อย

ชายผู้นั้นเล่าว่า เกิดไฟไหม้ที่บ้านเมื่อหลายเดือนก่อน เด็กหนีรอดออกมาได้แต่มีแผล
เป็นทั่วใบหน้าและลำคอทำให้เธอกินอาหารและหายใจลำบาก แผลเป็นนูนหนาดึงรั้ง
ใบหน้าจนเธอไม่สามารถหลับตาและหุบปากได้สนิท ทหารถามว่าเธอได้รับการรักษา
มาบ้างหรือไม่

ชายผู้นั้นแนะนำตัวเองว่าชื่อโมฮัมเหม็ด (ฮาซัน) ลูกสาวชื่อ ซูไบดา เป็นชาวนามุสลิม
นิกายชีอะห์ เป็นคนรักสงบและมีลูก 8 คน เขาขายสมบัติทั้งหมดที่มีอยู่น้อยนิดในบ้าน
และยืมเงินเพื่อนบ้านเป็นค่าเดินทางไกลมากเพื่อพาลูกสาวไปรักษา

ทหารคนนั้นรู้สึกประหลาดใจเมื่อรู้ว่าในดินแดนที่เหยียดสตรีเช่นนี้ กลับมีพ่อคนหนึ่ง
ยอมดิ้นรนเพื่อช่วยเหลือลูกสาวตัวน้อยของเขา เขาไม่อาจตัดใจเดินจากไปเฉย ๆ ขณะที่
มองไปที่ดวงตาของเด็กน้อยที่ดูมีประกายแห่งความหวัง และดังนั้นเขาจึงกวักมือเรียก
สองพ่อลูกพร้อมกับพูดว่า “มากับผมเถอะ”

1. “ช่วยอธิษฐานให้เธอพ้นทุกข์โดยเร็ว”

วันนั้นเมื่อ 7 เดือนก่อน ซูไบดา หนูน้อยวัย 9 ขวบอยู่ในบ้านคนเดียว เธอลืมดับตะเกียงก่อน
เติมน้ำมันก๊าดลงในเครื่องทำความร้อน ขณะที่เธอถือกระป๋องน้ำมันก๊าดเดินลิ่วไปยังเครื่อง
ทำความร้อน ทันใดนั้นเธอสะดุดรองเท้าตัวเองและล้มคว่ำลงห่างจากเครื่องทำความร้อน
ไม่กี่นิ้ว กระป๋องน้ำมันตกกระแทกพื้นหกราดตัวเธอและกระเซ็นไปถูกตะเกียงที่ติดไฟอยู่
เปลวไฟลุกท่วมทันทีและลามไปที่ตัวเธอ เธอกรีดร้อง พยายามปัดไฟที่ไหม้ผิวหนังและ
เส้นผม รวมทั้งลามเข้าไปลวกหลอดลมและปอดของเธอขณะหายใจเข้า

แม่และพี่สาวที่อยู่นอกบ้านได้ยินเสียงกรีดร้องรีบวิ่งมาดู เห็นซูไบดาล้มพับอยู่บนพื้น
ทั้งสองรีบตักน้ำราดลงที่ตัวเธอจนไฟดับ ซูไบดานอนขดตัวด้วยความเจ็บปวดแต่ยังมีสติ
อยู่จึงรู้สึกเจ็บสาหัสอยู่ตลอดเวลา

หมู่บ้านนี้ไม่มีโทรศัพท์ พี่ชายวัย 16 ปีรีบวิ่งไปตามพ่อ หนึ่งชั่วโมงต่อมาซูไบดาเริ่มมีอาการ
ช็อกและสั่นไปทั้งตัว คลินิกในชนบทไม่สามารถรักษาภาวะรุนแรงเช่นนี้ได้และไม่มียาแก้ปวด
พ่อเห็นลูกสาวนอนทรมานอยู่หลายวันโดยอาการไม่ดีขึ้น​ จึงตัดสินใจพาไปเมืองเฮรัต
ซึ่งเป็นเมืองใกล้ที่สุดโดยอาศัยรถเก่า ๆ ของเพื่อนบ้าน​ โมฮัมเหม็ดนั่งที่เบาะหลัง อุ้มลูกสาว
ซึ่งกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดเป็นระยะ บาดอร์ (แม่) สวดภาวนาอยู่ที่เบาะหน้า ระยะทาง
เกือบ 200 กิโลเมตร แต่บนถนนดินลูกรังที่กันดารสุด ๆ นี้ใช้เวลาเดินทางเกือบ 7 ชั่วโมง

เมื่อถึงโรงพยาบาล โมฮัมเหม็ดควักเงินเล็กน้อยเท่าที่มีทั้งหมดใส่มือหมอ
“กรุณาช่วยลูกสาวของผมด้วย” เขาวิงวอน

การรักษาแผลไฟไหม้ระดับสามทั้งตัวของซูไบดาเป็นกระบวนการที่เจ็บปวดพอ ๆ กับการถูก
ไฟไหม้ซ้ำ แพทย์ต้องขูดรอยไหม้ดำออกให้หมดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โรงพยาบาลที่
เมืองเล็ก ๆ นี้ไม่มียาชา ซูไบดาต้องทนกับความเจ็บปวดขณะที่แพทย์ลอกผิวหนังพุพอง
บริเวณคอ หน้าอกและแขนของเธอ จากนั้นจึงทายาให้แล้วให้เธอกลับบ้านเพราะไม่สามารถ
ทำอะไรได้มากกว่านั้น

แพทย์ผู้รักษาดึงตัวโมฮัมเหม็ดไปคุยด้านนอก “บาดเจ็บรุนแรงระดับนี้ โอกาสรอดคงไม่มี”
หมอกล่าว “ลูกคุณคงมีชีวิตอยู่อีกประมาณ 1 สัปดาห์ ตอนนี้คุณควรพาเธอกลับบ้านและช่วย
อธิษฐานให้เธอพ้นทุกข์โดยเร็ว”

โมฮัมเหม็ดไม่สนใจคำพูดของหมอ “ผมจะอธิษฐานให้ลูกมีชีวิตรอด” แล้วก็เป็นจริง หลายเดือน
ต่อมา รอยไหม้ค่อย ๆ กลายเป็นแผลเป็น ซึ่งดึงรั้งใบหน้าของเธอจนบิดเบี้ยว ส่วนแผลเป็นที่
แขนซ้ายก็ยึดติดกับหน้าอกเป็นพังผืดจนแขนข้างนี้เคลื่อนไหวไม่ได้. ซูไบดามีชีวิตในสภาพที่
น่าสงสารนี้อยู่หลายเดือนจนกระทั่งเธอกับพ่อเดินตามทหารนายนั้นไปที่ค่ายทหารอเมริกัน
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2002

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ย. 29, 2021 12:22 pm

"ภารกิจปาฏิหาริย์" ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2006
โดย Anthony Flacco เรียบเรียงและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

2. คุณคงไม่เชื่อเรื่องนี้แน่

นายทหารหน่วยรบพิเศษผู้ไม่เปิดเผยนามรายนี้ พาสองพ่อลูกชาวอัฟกานิสถาน
ไปยังกองกิจการพลเรือนประจำกองพลที่ 96 ของกระทรวงกลาโหม เหตุการณ์เช่นนี้
เป็นเรื่องไม่ธรรมดาเพราะเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2001 เพิ่งผ่านไปเพียง 5 เดือน
สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดและระดมยิงขีปนาวุธใส่ภูเขาแทบทุกลูกในอัฟกานิสถานเพื่อตามล่า
ตัวโอซะมะ บินลาเดน แม้ที่นี่จะห่างไกลจากแนวรบ แต่ทุกคนยังต้องระวังการแทรกซึม
ของผู้ก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม นายทหารและแพทย์ทหารต่างยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์
แก่ซูไบดาซึ่งอาจต้องใช้เวลานานทีเดียว โมฮัมเหม็ดซาบซึ้งในน้ำใจครั้งนี้มาก เขาพา
ลูกสาวกลับไปหาที่พักชั่วคราวใกล้ ๆ ค่ายทหารนั้น

เมื่อไมเคิล (เกรย์) เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถาน
ทราบเรื่อง และทราบผลการตรวจทางการแพทย์ของซูไบดา ก็รีบประสานงานเรื่องใบอนุญาต
เข้าสหรัฐฯ และได้รับการอนุมัติให้เธอได้รับการรักษาในสหรัฐฯ โดยเร็ว

รีเบกกา น้องสาวของไมเคิล มีสามีชื่อปีเตอร์ (กรอสแมน) เป็นศัลยแพทย์ ปีเตอร์มีบิดาชื่อริชาร์ด
เป็นผู้ดูแล “ศูนย์รักษาอาการไฟไหม้ กรอสแมน” ของโรงพยาบาลเชอร์แมนโอ๊กใกล้ลอสแอนเจลิส
ไมเคิลแน่ใจว่า รีเบกกาน้องสาวจะต้องสนใจให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยรายนี้อย่างแน่นอน เขารีบ
โทรศัพท์ไปหาน้องสาวที่บ้านในรัฐแคลิฟอร์เนียทันที

เมื่อทราบเรื่องทั้งหมด รีเบกการีบโทรฯ ไปพูดเรื่องนี้กับสามีที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล ปีเตอร์
สนใจทันที และเมื่อเห็นภาพถ่ายซูไบดาทางอีเมล เขาถึงกับวางแผนการรักษาล่วงหน้าโดยไม่รอช้า

หมอปีเตอร์กับรีเบกกายังไม่มีลูก รีเบกกาติดต่อมูลนิธิเด็กที่มีบาดแผลไฟไหม้ในแคลิฟอร์เนียที่
ให้ทุนสนับสนุนผู้ป่วยที่มีความจำเป็น มูลนิธิฯ ตกลงช่วยเหลือค่ารักษาขั้นต้นของซูไบดาเป็น
เงิน 12 ล้านบาท

วันที่ 10 มิถุนายน 2002 นายแพทย์ สมิท แพทย์ทหารพร้อมล่าม พาซูไบดากับพ่อบินไปลอสแอนเจลิส
เพื่อรับการรักษาที่ “ศูนย์รักษาอาการไฟไหม้กรอสแมน”

ครั้งแรกที่พบซูไบดา หมอปีเตอร์รู้สึกประทับใจทันที หนูน้อยจ้องหน้าเขาและทักทาย “สวัสดีค่ะ”
เป็นภาษาอังกฤษตามที่ท่องจำมา พร้อมกับยื่นแขนข้างขวาที่ไม่บาดเจ็บเพื่อสัมผัสมือทักทาย
เมื่อหมอแนะนำชื่อตัวเอง “หมอปีเตอร์” เธอทวนชื่อของเขาเบา ๆ พร้อมรอยยิ้ม เป็นรอยยิ้ม
งดงามที่สุดเท่าที่ใบหน้าพิกลพิการของเธอสามารถทำได้

3. เด็กน้อยที่ซ่อนอยู่หลังรอยแผลเป็น

เช้าวันที่ 14 มิถุนายน 2002 หมอปีเตอร์และคณะเตรียมผ่าตัดครั้งแรกให้ซูไบดา
“ทุกอย่างต้องเรียบร้อยดี” หมอปีเตอร์บอกกับเธอ พ่อของเธอกับล่ามคอยอยู่ใน
ห้องพักด้วยความร้อนใจ

ทีมงานของหมอปีเตอร์มีฝีมือเป็นที่ยอมรับ หมอริชาร์ด (พ่อของปีเตอร์) กับเพื่อนหมอ
อีกคนหนึ่งรับหน้าที่ผ่าตัดแขนซ้ายของซูไบดาให้เป็นอิสระจากหน้าอก หมอปีเตอร์กับ
เพื่อนหมออีก 2 คนจะตัดแผลเป็นบริเวณใบหน้า, คอและหน้าอก เนื่องจากซูไบดาเป็น
เด็กและไม่แข็งแรง จึงให้วิสัญญีแพทย์และกุมารแพทย์ 2 คนช่วยกันวางยาสลบซึ่งไม่ใช่
เรื่องง่ายเลย เพราะวิสัญญีแพทย์ไม่สามารถสอดท่อช่วยหายใจเข้าหลอดลมของซูไบดา
ได้เนื่องจากแผลเป็นดึงรั้งให้เธอก้มหน้าตลอดเวลา จึงต้องใส่ท่อในขณะที่ซูไบดาหลับสนิท
และหยุดหายใจ ซึ่งต้องใช้วิธีฉีดยานอนหลับและยาคลายกล้ามเนื้อหัวใจให้ซูไบดา
หลังจากนั้นแพทย์จึงมีเวลาดำเนินการผ่าตัดเพียงไม่กี่นาที

หมอปีเตอร์ลงมีดที่คอซูไบดาทันทีที่ทุกอย่างพร้อมตามแผนเพื่อตัดแผลเป็นที่ยึดคางติดกับ
หน้าอก หมอถึงกับอึ้งเมื่อพบว่าแผลเป็นของเธอแข็งเหมือนหนังวัวและหนาเกือบครึ่งนิ้ว

การผ่าตัดแปลงโฉมซูไบดาเริ่มขึ้นแล้ว เมื่อลงมีดตัดแผลเป็นตามแนวคางเสร็จ ศีรษะของเธอ
ก็แหงนได้เป็นปกติ วิสัญญีแพทย์รีบสอดท่อช่วยหายใจเข้าในหลอดลมทันทีและเปิดท่อแก๊ส
ยาสลบ ตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งของการผ่าตัดเลาะแผลเป็น หมอปีเตอร์ค่อย ๆ เห็นเด็กน้อย
เผยโฉมออกมาจากรอยแผลเป็น การเลาะแผลเป็นออกทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่ที่ไม่มีผิวหนัง
ปกคลุม แพทย์ต้องใช้เนื้อเยื่อเทียมหรือสารสังเคราะห์ซึ่งทำหน้าที่คล้าย “กาว” เคลือบปิด
บาดแผล ช่วยห้ามเลือดและช่วยรักษาบาดแผลให้อยู่ในสภาพดีระหว่างรอการปลูกถ่ายผิวหนัง

ซูไบดาค่อย ๆ ฟื้นจากฤทธิ์ยาสลบเมื่ออยู่ในห้องพักฟื้นโดยมีอาการคลื่นไส้เล็กน้อยแต่ไม่เจ็บปวด
เธอรู้สึกเหมือนนอนซุกผ้าห่มนุ่ม ๆ และเริ่มงงว่าเธออยู่ที่ไหน, เกิดอะไรขึ้น, ผู้คนรอบข้างที่แต่งตัว
ประหลาด ๆ เป็นใครกัน... และแล้วเธอก็นึกออก ที่นี่คือโรงพยาบาลในสหรัฐฯ คนพวกนี้คือหมอ
เธอรู้สึกประหลาดใจที่ไม่รู้สึกเจ็บปวดแผลบริเวณใบหน้าและคอแม้แต่น้อย

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 30, 2021 8:19 pm

"ภารกิจปาฏิหาริย์" ตอนที่ (3)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2006
โดย Anthony Flacco เรียบเรียงและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

4. บุญคุณครั้งใหญ่

หมอปีเตอร์เดินออกมาจากห้องผ่าตัดพบพ่อของซูไบดาที่ห้องพักเพื่อแจ้งว่า
การผ่าตัดเรียบร้อยดี เธอต้องพักในโรงพยาบาลอีกหลายวันจนกว่าจะแข็งแรง
พอสำหรับการผ่าตัดครั้งที่ 2 เพื่อปลูกถ่ายผิวหนังบนแผลผ่าตัด

หมอปีเตอร์อธิบายต่อไปอีกว่า เมื่อขั้นตอนต่อไปสำเร็จ ผิวหนังใหม่ติดเรียบร้อยดี
จึงจะแกะผ้าพันแผลออกได้ แต่ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานและคงต้องผ่าตัดอีกมากกว่า
10 ครั้ง

โมฮัมเหม็ดโค้งคำนับหมอปีเตอร์เพื่อแสดงความขอบคุณ เขาดีใจที่คนอเมริกันรักษา
คำพูดว่าจะช่วยเหลือลูกสาวของเขา

สองวันต่อมา รีเบกกาไปเยี่ยมซูไบดาที่โรงพยาบาล เธอช่วยหมอปีเตอร์ประสานงาน
ด้านต่าง ๆ อย่างแข็งขันเนื่องจากเธอรู้จักครอบครัวหนึ่งที่พูดภาษาฟาร์ซีซึ่งคล้ายกับ
ภาษาดารี พวกเขาน่าจะดูแลและพูดคุยกับซูไบดาระหว่างการรักษาได้ดี

ซูไบดาที่มีผ้าพันแผลพูดคุยกับรีเบกกาผ่านล่าม เธอเล่าว่าอาการปวดลดน้อยลงแล้ว
เธอดีใจมากที่หมอปีเตอร์รักษาสัญญาที่ว่าจะไม่ปล่อยให้เธอเจ็บปวด

ในการผ่าตัดครั้งที่ 2 หมอปีเตอร์และคณะจะปลูกถ่ายผิวหนังโดยใช้ผิวหนังปกติจาก
บริเวณที่ไม่ถูกไฟไหม้ซึ่งต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ผิวหนังทุกตารางเซนติเมตรของเธอ
ล้วนสำคัญ ในระยะสั้น ผิวหนังช่วยป้องกันการติดเชื้อ ในระยะยาว ผิวหนังจะช่วยร่างกาย
สร้างเนื้อเยื่อเพิ่มเติมได้เองตามปกติ

การผ่าตัดครั้งที่ 2 เป็นไปตามแผนคือ 6 วันหลังการผ่าตัดครั้งแรก ผิวหนังที่ปลูกถ่ายใหม่
อยู่ในสภาพดี โมฮัมเหม็ดใจเต้นขณะเฝ้าดูผ้าพันแผลของซูไบดาค่อย ๆ ลอกออก และที่สุด
ก็ได้เห็นผลงานของหมอปีเตอร์และทีมงาน ซูไบดานั่งอยู่บนเตียงประจันหน้ากับพ่อ ใบหน้า
และคอของเธอตอนนี้ไม่มีพังผืดหนาและรอยแผลเป็นบิดเบี้ยวอีกแล้ว ใบหน้าของลูกมีเค้า
ของซูไบดาคนเดิม แขนซ้ายขยับได้เต็มที่ ดวงตาของโมฮัมเหม็ดเอ่อล้นด้วยความตื้นตัน
หมอปีเตอร์ยื่นกระจกให้ซูไบดา เมื่อส่องดูใบหน้าตนเอง เธอมีแววตาตื่นเต้นและหันไปจ้อง
หน้าพ่อพร้อมกับรอยยิ้ม. ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่โมฮัมเหม็ดจะต้องกลับอัฟกานิสถานเพื่อไปดูแล
ครอบครัวแล้ว

วันต่อมาโมฮัมเหม็ดจูบลาลูกสาวก่อนไปสนามบิน 2-3 วันต่อมา ซูไบดากลับไปพักฟื้นที่บ้าน
ครอบครัวอุปถัมภ์เป็นเวลา 3 สัปดาห์เพราะเธอต้องผ่าตัดอีกอย่างน้อย 8 ครั้งทำให้ต้องพัก
อาศัยในสหรัฐฯ ประมาณ 1 ปี

5. ชีวิตใหม่ อุปสรรคใหม่

แม่อุปถัมภ์ของซูไบดามีเชื้อสายอัฟกานิสถานและดูแลเธออย่างดี แต่ซูไบดาเป็นเด็ก​
เธอจึงคิดถึงพ่ออยู่เสมอ ตอนที่เธออยู่ในโรงพยาบาล เธอไม่ต้องเผชิญหน้ากับชีวิต
แบบอเมริกัน แต่ตอนนี้เธออยู่ท่ามกลางผู้คนที่พูดภาษาที่เธอไม่คุ้นเคย ผู้คนรอบตัว
แม้มีรอยยิ้มแต่ก็เป็น คนแปลกหน้า กลางปี 2002 ซูไบดาเริ่มเครียดและเหงา บางครั้ง
ก็ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ บางคืน เธอฝันร้ายพร้อมกับร้องโหยหวน ทุกคนต่างลำบากใจ
กับเรื่องนี้
เธอรับการผ่าตัดครั้งที่ 3 ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2002 หมอปลูกถ่ายผิวหนังปกติจาก
ร่างกายส่วนอื่นมาปิดทับรอยแผล ผิวหนังใหม่จะเติบโตเป็นส่วนเดียวกันกับผิวหนัง
เดิมและจะไม่กลาย เป็นรอยแผลเป็นเหมือนครั้งก่อน

รีเบกการู้สึกว่าเธอมีความผูกพันกับซูไบดาเป็นพิเศษ เธอเล่าเรื่องนี้กับสามีและครอบครัว
อุปถัมภ์ พวกเขาจึงอนุญาตให้ซูไบดามาพักผ่อนช่วงสุดสัปดาห์ที่บ้านของรีเบกกากับปีเตอร์
ซึ่งเลี้ยงสุนัขและม้า รวมทั้งมีสระว่ายน้ำด้วย ช่วงพักผ่อนของซูไบดาจึงผ่านไปด้วยดี ปีเตอร์
กับรีเบกกาปฏิบัติต่อเธอเหมือนกับเป็นพ่อแม่บุญธรรม ซูไบดาทำให้บ้านของทั้งสองมีชีวิต
ชีวา เมื่ออาการดีขึ้น พวกเขาพาเธอไปเล่นโบว์ลิ่งหรือเที่ยวชายทะเล ปีเตอร์กับรีเบกกาเฝ้า
มองเธอสนุกกับการกระโดดล้อคลื่นที่ชายหาด และต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น ซูไบดา
ก็ย้ายมาอยู่กับครอบครัวของหมอปีเตอร์กับรีเบกกา

โปรดติดตามตอนที่(4)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ธ.ค. 01, 2021 11:15 pm

"ภารกิจปาฏิหาริย์" ตอนที่ (4) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2006
โดย Anthony Flacco เรียบเรียงและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

6. เพชรในตม

ครอบครัวใหม่จัดการให้เธอโทรศัพท์คุยกับพ่อ ซูไบดาเล่าให้พ่อฟังว่า รีเบกกาส่งเธอ
ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน โมฮัมเหม็ดตะโกนตอบด้วยความดีใจ
“อยากทำอะไรก็ทำเลยนะลูก” เขาตอบ “นี่คือโอกาสที่คนที่นี่ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะฝัน”
หากอยู่ที่ประเทศของเธอ ซูไบดาคงไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน เธอตั้งใจฝึกพูดภาษาอังกฤษ
และอ่านกับเขียนภาษาดารี

เมื่อถึงปลายปี 2002 อาการของซูไบดาดีขึ้นมาก เธอเข้าเรียนชั้นประถม 3 ครูผู้สอนบอก
นักเรียนในชั้นให้ลองจินตนาการว่าตนเองอยู่ในดินแดนแสนไกลที่ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีครอบครัว
และเพื่อน “การช่วยให้เธอได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างเดียวคงไม่พอ” ครูบอก

นักเรียนว่า “เราต้องทำตัวเหมือนเพื่อนและครอบครัวของเธอด้วย เพราะนี่คือสิ่งที่เราเอง
ต้องการให้ผู้อื่นทำกับเราเช่นกัน”

ซูไบดาเป็นเด็กขี้อาย แต่วันแรกที่ไปโรงเรียน เพื่อน ๆ แย่งกันเป็นคนดูแลเธอ แม้จะพูด
อังกฤษไม่ค่อยได้ แต่เธอก็สามารถสื่อสารกับเพื่อน ๆ ได้ดีและสนิทสนมกับเพื่อนในชั้น
อย่างรวดเร็ว และยังสนิทกับกลุ่มกิจกรรมนักเรียนหญิงหลังเลิกเรียน

วันหนึ่งในช่วงปิดเทอม ซูไบดาเปลี่ยนคำเรียก “คุณหมอปีเตอร์” มาเป็น “พ่อ” ปีเตอร์ถึง
กับพูดไม่ออก เขาหันไปมองซูไบดาพร้อมกับยิ้มกว้างด้วยความซาบซึ้งจนหนูน้อยรู้สึก
เขินและรีบชวนคุยเรื่องอื่นทันที

หมอปีเตอร์ตระหนักดีว่า เมื่อใดที่ซูไบดาจัดการปัญหาของตัวเองได้ เธอจะเป็นตัวของ
ตัวเองอย่างแท้จริง การเปลี่ยนคำเรียกเป็นการแสดงถึงความไว้วางใจอย่างลึกซึ้งที่เธอ
มีให้​ ซึ่งมีค่ามากกว่าความไว้วางใจต่อการรักษาที่เธอได้รับตั้งแต่วันแรก

ซูไบดากลับไปอัฟกานิสถานหลังจากอยู่ในสหรัฐฯ นานหนึ่งปี เธอเข้ารับการผ่าตัดรวมทั้งสิ้น
13 ครั้ง ฤดูร้อนปี 2006 เธอจะกลับไปสหรัฐฯ เพื่อตรวจอาการซ้ำ, เรียนหนังสือและพักอาศัย
อยู่กับครอบครัวของหมอปีเตอร์ซึ่งเพิ่งมีทารกเพศหญิงเป็นสมาชิกใหม่
*******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 03, 2021 9:25 pm

(เกม)เกมมรณะ
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2005
โดย ร็อบ เอฟ.โฮว์ ย่อและแปลเพิ่มจากวิกิพีเดีย 2021 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

อาร์โนลด์ (Arnold Strickland) ตำรวจสายตรวจค่อย ๆ นำรถเข้าลานจอดรถนอก
ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองฟาแยต (Fayette) รัฐอลาบามา (Alabama) ถัดไปไม่
กี่เมตรมีรถเก๋งยี่ห้อโตโยต้าสีขาวจอดอยู่คันหนึ่ง อาร์โนลด์มองป้ายทะเบียน
ก็มั่นใจว่าเป็นรถคันที่มีคนแจ้งไว้ว่าถูกขโมยตอนหัวค่ำของคืนนั้น อาร์โนลด์วัย 55 ปี
ก้าวออกจากรถสายตรวจแล้วย่องเข้าไปด้านข้างรถคันนั้น

ขณะนั้นเป็นเวลาตีสามของวันที่ 7 มิถุนายน 2003 เมื่อส่องดูภายในก็พบผู้ต้องสงสัย
หลับอยู่ อาร์โนลด์ปลุก มัวร์ (Devin Moore) วัย 18 ปีแล้วสั่งให้ออกจากรถ จากนั้นก็
สวมกุญแจมือแล้วพาตัวไปที่สถานีตำรวจซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก​ เนื่องจากฟาแยตเป็นเมืองเล็กๆ
ที่เงียบสงบ มีประชากรเพียง 5,000 คน ชาวเมืองแทบทุกคนคุ้นหน้ากันดี จึงไม่ใช่เรื่อง
แปลกที่นายตำรวจอาร์โนลด์จะรู้จักมัวร์ หนุ่มน้อยผู้นี้เป็นนักฟุตบอลทีมโรงเรียนและรู้จัก
กันดีว่าเป็นคนอารมณ์ร้อน​ แต่อาร์โนลด์ไม่ห่วงมากนักเพราะมัวร์ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับ
ยาเสพติดหรืออาชญากรรมร้ายแรง​ มัวร์ยืนกรานว่าเขาซื้อรถเก๋งคันนี้มาในราคา 500 เหรียญ
จากผู้ขายคนหนึ่งซึ่งมาติดพันแม่ของเขา

แต่เมื่อตำรวจพบมัวร์ในรถที่ถูกขโมยมา อาร์โนลด์จึงต้องตั้งข้อหาว่ารับของโจรและอาจต้อง
ติดคุก คำพูดนี้ทำให้มัวร์เริ่มคิดวางแผนระหว่างที่รออาร์โนลด์ลงบันทึกประจำวันการจับกุม
ขณะที่เจมส์ (James Crump) ตำรวจอีกนายกำลังนำรองเท้าผ้าใบของมัวร์ไปพิมพ์รอย
เพื่อเปรียบเทียบกับรอยเท้าที่พบอยู่ในจุดที่รถถูกขโมย มัวร์ตัดสินใจลงมือทันที เขาแย่งปืน
พกของอาร์โนลด์โดยตั้งใจจะมัดอาร์โนลด์ไว้กับเจมส์แล้วหนีไป

“แต่พอผมแย่งปืนมาได้ ตำรวจคนนั้นก็ตะโกนลั่นจนผมขาดสติ” มัวร์เล่าในภายหลัง
“ผมไม่รู้ตัวว่ายิงใส่เขากี่นัด แต่ซัดจนเขาทรุดลงไปกองกับพื้น”

จากนั้นมัวร์ก็เดินไปตามโถงทางเดินทั้งที่ยังรู้สึกหูอื้อตาลาย เมื่อเห็นเจมส์โผล่ออกมาจากห้อง
หลักฐาน มัวร์ก็ระดมยิงทันที เสร็จแล้วก็รุดไปที่ห้องวิทยุซึ่งเหลือตำรวจเพียงคนเดียวในอาคาร
หลังนั้นคือเลสลี่ (Leslie Mealer) เธอนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน​ เลสลี่อ้าปากค้างไม่เชื่อสายตาตัวเอง
เมื่อเห็นมัวร์ยกปืนขึ้นเล็งอีกครั้ง ไม่ถึงหนึ่งนาทีต่อมา อาการบ้าเลือดของมัวร์ก็สงบลงโดยมี
ตำรวจสังเวยชีวิตไป 3 นาย

หากเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงภาพในวิดีโอเกม มัวร์คงได้คะแนนมากพอจะเลื่อนระดับต่อไปซึ่ง
เขารู้ดีเพราะเคยเล่นเกมลักษณะนี้มาก่อน หลายเดือนก่อนเหตุการณ์ในวันนั้น มัวร์หมกมุ่นกับ
”เกมขยี้คนเดินเท้า” และเกมรุนแรงต่าง ๆ รวมทั้ง “เกมสุดยอดการขโมยรถ” (Grand Theft Auto)
ซึ่งมีรายงานว่าวัยรุ่นชายในสหรัฐฯ ราว 71% เล่นเกมนี้

นักจิตวิทยาเด็กระบุว่า เด็กที่ติดวิดีโอเกมหนักจะไม่สนใจเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตเลยและไม่สุงสิง
กับเพื่อน ในกรณีเลวร้ายที่สุด เด็กเหล่านี้จะทำสิ่งเดียวกับมัวร์ทำ​ คือสั่งสมทักษะจากการเล่น
เกมจนกลายเป็นเด็กก้้าวร้าว

“มัวร์ฆ่าตำรวจโดยเลียนแบบการฆ่าในสถานีตำรวจจากภาพในวิดีโอเกมทุกกระเบียดนิ้ว”
นี่คือคำกล่าวของทอมสัน ทนายความผู้ต่อต้านวิดีโอเกมรุนแรง คำกล่าวนี้มีผลต่อการออก
กฎหมายให้ผู้ผลิตวิดีโอเกมต้องรับผิดชอบต่อการกระทำสุดโต่งของผู้เล่นด้วย เมื่อต้นปี 2005
ทอมสันเป็นตัวแทนของเหยื่อทั้งสามที่ถูกสังหารโหดในการยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย
จำนวน 600 ล้านเหรียญจากมัวร์และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจวิดีโอเกม ตั้งแต่ผู้ผลิต,
ผู้จัดจำหน่าย และผู้ขายปลีก ที่ขาย ”เกมสุดยอดการขโมยรถ” ให้มัวร์

ก่อนคดีของมัวร์ มีคดีสะเทือนขวัญคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เช่นในปี 1997
ไมเคิล คาร์นีล วัย 14 ปียิงนักเรียน 8 คนระหว่างประชุมสวดภาวนาในรัฐเคนตั๊กกี้;
ในปี 1999 ดีแลนกับเอริก ร่วมกันฆ่านักเรียน 14 คนและครู 1 คนที่เมืองโคลัมไบน์.
ไม่นานต่อมา มีแก๊งในโอ๊กแลนด์ (ประเทศนิวซีแลนด์) ซึ่งนอกจากขโมยรถแล้วยัง
สังหารเหยื่อไปอีก 7 คน วัยรุ่นในแก๊งที่ถูกจับคนหนึ่งกล่าวว่า “แก๊งของเราใช้ ‘เกมสุดยอด
การขโมยรถ’ เป็นเครื่องมือฝึกซ้อมการปฏิบัติการแบบเหมือนจริง คือเราเล่นเกมตอน
กลางวัน แล้วลงมือจริงตอนกลางคืน”

ประธานชมรมซอฟต์แวร์เพื่อความบันเทิงในสหรัฐฯในขณะนั้นยอมรับว่า เกมเป็นปัจจัยหนึ่ง
ในหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้ผู้เล่นแปรสภาพเป็นฆาตกร ที่จริง ชีวิตครอบครัวก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย
มัวร์มาจากครอบครัวแตกแยก พ่อกับแม่ของเขาแยกทางกันด้วยความขมขื่นตั้งแต่มัวร์ยัง
เป็นเด็ก แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายอัยการโจทก์ก็วินิจฉัยว่า มัวร์มีอาการผิดปกติทางจิตเพราะ
เครียดจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก นี่คือสิ่งที่ฝ่ายทนายจำเลยยกขึ้นเป็นประเด็นต่อสู้
เพื่อช่วยเขารอดจากโทษประหารชีวิต

หลังจากยิงตำรวจทั้ง 3 นายแล้ว มัวร์ขับรถของสายตรวจอาร์โนลด์ไปตามทางหลวง ตำรวจ
กระจายกำลังออกไล่ล่าอยู่ 3 ชั่วโมง มัวร์ก็จนมุมถูกจับได้ในป่าละเมาะตรงรอยต่อกับ
รัฐมิสซิสซิปปี เมื่อตำรวจสั่งให้เขาออกจากรถสายตรวจ มัวร์วิงวอนว่า “ยิงผมสิ, ยิงผมเลย”
ฟังดูเหมือนกับการสำนึกผิด แต่ต่อมาขณะที่เขาอยู่ในเรือนจำ เขามักจะพึมพำประโยคที่
น่าตกใจกว่านั้นว่า “ชีวิตก็เหมือนกับวิดีโอเกม ถึงเวลาตายก็ต้องตาย”

วันที่ 9 ตุลาคม 2005 ศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิตมัวร์ ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2012
ศาลอุทธรณ์รัฐ Alabama ตัดสินยืนคำตัดสินของศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตโดยการฉีดยา
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน คดียังอยู่ในขั้นตอนของศาลฎีกาของรัฐAlabamaโดยอัตโนมัติ
และสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดของประเทศต่อไป

***************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 04, 2021 9:44 pm

☺️สู่เสรีภาพของจิมมี่ ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมีนาคม 2006
โดย Kathy Cook เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

สืบเนื่องจากเรื่อง “บ่อน้ำแห่งมิตรภาพ” ที่ฆราวาสแพร่ธรรมเคยเสนอไปแล้วเมื่อ
ต้นปี 2021นี้ซึ่งเป็นเรื่องของ “หนูน้อยไรอันนักเรียนชั้นประถมหนึ่งชาวแคนาดา”
(Ryan Hreljac; เกิด 30 พ.ค. 1991) ไรอันได้รับแรงบันดาลใจจากครูผู้สอนที่เล่า
ถึงชะตากรรมของเด็กนับแสนคนในทวีปแอฟริกาต้องจบชีวิตลงเพียงเพราะน้ำดื่ม
สกปรก แต่ถ้าบริจาค 70 เหรียญก็จะสร้างบ่อน้ำได้หนึ่งบ่อ” ที่สุดองค์การแพทย์
แคนาดาเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ “ซีพีเออาร์”
(CPAR : Canadian Physicians for Aid and Relief) ประสานงาน
และทำให้ความฝันของไรอันเป็นจริง

เช้าวันที่ 27 กรกฎาคม 1999 ไรอันและพ่อแม่นั่งในรถกระบะผ่านถนนทุรกันดารไปใกล้
โรงเรียนอังโกโล เด็กราว 5,000 คนจากโรงเรียนและผู้คนในละแวกยืนต้อนรับอยู่สอง
ฝั่งถนน วงโยธวาทิตบรรเลงขณะเดินนำไรอันกับพ่อแม่ (มาร์กและซูซาน)ไปเปิดงานฉลอง
“บ่อน้ำของไรอัน” ที่สร้างติดโรงเรียนประถม”อังโกโล”ทางตอนเหนือของยูกันดาซึ่งอยู่
ในเขตปฏิบัติการของพวกกบฎนานกว่า 13 ปี ในวันนั้น “จิมมี่”เพื่อนทางจดหมายจูงมือ
ไรอันไปที่บ่อน้ำเพื่อตัดริบบิ้นเปิดบ่อน้ำใหม่อย่างเป็นทางการ

ในปี 2001 ไรอันตั้งมูลนิธิ “บ่อน้ำของไรอัน” และทำงานกับมูลนิธินี้​ ไรอันเป็นผู้มีอายุน้อย
ที่สุดที่ได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์สูงสุด “Order of Ontario” ที่ทางการของรัฐบาลแคนาดา
มอบให้แก่ชาวเมืองที่มีผลงานสร้างคุณประโยชน์ดีเด่น และได้รับรางวัลอื่น ๆ อีกมาก

เรื่องจบลงด้วยชีวประวัติสั้น ๆ ของจิมมี่ที่กำพร้าพ่อแม่ ทั้งสองหายสาบสูญระหว่างสงคราม
กลางเมือง คุณป้าช่วยเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กและหนูน้อยจิมมี่ต้องลุกขึ้นตอนเที่ยงคืนเพื่อไปตักน้ำ
ในบ่อที่ห่างไป 5 กิโลเมตรให้คุณป้าก่อนจะไปโรงเรียน หลังการพบกันครั้งแรกได้ไม่นาน
จิมมี่ถูกกลุ่มทหารกบฎลักพาตัวไป แต่มีคนงานช่วยนำตัวพาหนีกลับมาบ้านได้

เรื่อง “สู่เสรีภาพของจิมมี่” ตอนใหม่นี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่จิมมี่ถูกกองทหารกบฏของ
ยูกันดาลักพาตัวไป และความหวังเดียวสำหรับชีวิตใหม่ของเขาคือเพื่อนทางจดหมาย (ไรอัน)
ที่คานาดา

วันที่ 20 ตุลาคม 2002 (สามปีเศษหลังงานวันเปิดบ่อน้ำ) จิมมี่วัย 13 ปีกำลังช่วยพรวนดิน
กลางแดดร้อนเปรี้ยงในสวนของป้าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางเหนือของยูกันดา กลางดึกคืนนั้น
ขณะกำลังนอนหลับสนิทด้วยความเหนื่อยล้าในกระท่อมหญ้าที่เขาอาศัยอยู่ร่วมกับลูกพี่ลูกน้อง
ที่โตกว่าอีก 4 คน ทุกคนต่างตกใจตื่นเมื่อทหาร 5-6 คนบุกเข้ามาในกระท่อม แสงไฟฉายทำ
ให้ตาพร่า จิมมี่คว้าผ้าห่มมาคลุมศีรษะแต่ถูกลากตัวออกจากที่นอนและกลายเป็นนักโทษของ
กองทัพต่อต้านของพระเจ้า (Lord's Resistance Army)

กองทัพนี้มีเป็นขบวนการนำโดยโจเซฟ โคนี (Joseph Kony) อดีตเด็กวัดคาทอลิกที่ประกาศ
ตัวเองว่าเป็น “ศาสดา” มีการใช้ความรุนแรงต่าง ๆ ลักพาเด็ก ๆ เพื่อบรรจุเป็นกำลังพลในกอง
กำลังของเขาจิมมี่เป็นเด็กกำพร้าเนื่องจากกำลังพลของกองทัพนี้ฆ่าพ่อของเขาและแม่ถูกลักพาตัว
จิมมี่เป็นลูกคนสุดท้องในพี่น้อง 5 คนที่กระจัดกระจายกันไปคนละทิศละทาง เหลือเขาอยู่ตามลำพัง
กับป้า. “ออกไป” ทหารคนหนึ่งออกคำสั่ง ขณะที่ทหารอีกคนตะเพิดจิมมี่ให้เดินไปข้างหน้าโดยใช้
สายไฟหวดที่แผ่นหลังจนเลือดโชก จิมมี่เห็นเพื่อน ๆ ถูกมัด มีเสียงตะโกนด่าทอและผู้หญิงกรีดร้อง
ดังไปทั่ว กระท่อมหลายหลังถูกไฟเผา

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 05, 2021 8:25 am

😘สู่เสรีภาพของจิมมี่ ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมีนาคม 2006
โดย Kathy Cook เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ทหารจับจิมมี่เข้าแถวรวมกับนักโทษซึ่งต่างข​ว​ั​ญเสีย​ แล้วพาตัวไปที่ท้ายหมู่บ้าน
ตอนนั้นเองจิมมี่นึกถึงความหวังเดียวในชีวิตคือเพื่อนทางจดหมายวัย 11 ขวบ
“ไรอัน” ผู้มีใจเป็นนักสู้จนระดมเงินสร้างบ่อน้ำให้กับหมู่บ้านของเขาได้​ หลังจาก
ครอบครัวบ้านไรอันมาร่วมพิธีเปิดบ่อน้ำที่หมู่บ้านและกลับไปแคนาดาแล้ว
พวกเขายังคงส่งเสื้อผ้า หนังสือและเงินค่าเล่าเรียนมาให้จิมมี่เสมอ

ทันทีที่จิมมี่คิดว่า “ต่อไปจะไม่ได้พบไรอันอีกแล้วเพราะต้องไปกับกลุ่มพวกกบฏนี้”
ความคิดนี้กระตุ้นให้จิมมี่ลงมือบิดข้อมือตนเองจากพันธนาการและรู้สึกว่าเงื่อนที่
มัดไว้คลายออก ผู้คุมไม่ได้จับตามองมาเพราะมีเด็กที่ถูกจับตัวอยู่หลายคน เขาจึง
ยกมือขึ้นและใช้ปากกัดแก้เงื่อนพร้อมกับดึงมือออกจนเป็นอิสระและวิ่งพรวดเข้า
ไปในป่า

ขณะวิ่งผ่านหญ้าที่สูงท่วมหัว แสงไฟสาดตามหลังมาและมีเสียงปืนดังขึ้น จิมมี่แสร้าง
ทำเป็นว่าถูกยิงล้มลง จากนั้นก็คลานหมอบไปตามพื้นจนเมื่อคิดว่าปลอดภัยแล้วจึง
ค่อยลุกขึ้นและวิ่งเข้าไปในป่า

ถึงตอนเช้า จิมมี่กลับไปที่หมู่บ้านและพบว่ากระท่อมราว 150 หลังถูกเผาวอด ศพเรียง
เป็นแถวกองอยู่กลางทาง ป้ากับลูกพี่ลูกน้อง 2 คนหายตัวไปเช่นเดียวกับเด็กส่วนใหญ่
ของหมู่บ้าน ชาวบ้านที่เหลือมีแววตาหวาดกลัว พวกเขากลัว “จิมมี่” เพราะพวกกบฎ
ประกาศว่าจะไล่ล่าคนที่หลบหนีไปและใครก็ตามที่ให้ความช่วยเหลือจะถูกทรมาน

ชั่วข้ามคืน จิมมี่กลายเป็นคนไร้ที่อยู่และถูกรังเกียจ เขานึกถึง “ทอม โอมัค” วัย 42 ปี
ที่อยู่ในหมู่บ้านเมืองไลราที่อยู่ไม่ไกล ทอมเป็นผู้จัดการองค์การแพทย์แคนาดาเพื่อ
ช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ (CPAR) ที่ยูกันดาเมื่อ 3 ปีก่อน และเป็นผู้ประสานงานให้
ครอบครัวของไรอันมาในงานเปิดบ่อน้ำที่โด่งดัง

จิมมี่วิ่งไปที่บ้านของทอม เมื่อเปิดประตูออก ทอมเห็นจิมมี่ยืนตื่นกลัวอยู่ภายนอก เขา
โอบกอดทักทายและพาเข้าไปในบ้าน ทอมได้ยินข่าวการโจมตีแล้ว
“เธออยู่ที่นี่ไม่ปลอดภัยแน่” ทอมบอก หากพวกกบฏย้อนกลับมาอีก เพื่อนบ้านที่
หวาดกลัวอาจบอกพวกนั้นว่าจิมมี่หลบอยู่ที่ไหน

เช้าวันรุ่งขึ้น ทอมให้จิมมี่ซ้อนท้ายจักรยานขี่ไปยังบ้านลุงของจิมมี่ซึ่งอยู่ห่างไป 7 กิโลเมตร
ทอมล่ำลาจิมมี่และบอกว่า “ฉันจะกลับมาหาเธอในอีก 2-3 สัปดาห์”

ระหว่างนั้น ทอมส่งอีเมลไปที่ครอบครัวบ้านไรอันในแคนาดา เล่าเรื่องกบฏเข้าโจมตีและ
ชะตากรรมของจิมมี่ เมื่อตอนที่ซูซาน, มาร์กและไรอัน พบจิมมี่เมื่อ 3 ปีก่อน เด็กน้อยจิมมี่สร้าง
ความประทับใจให้ทั้งครอบครัว ซูซานจำได้ว่า เธอร้องเพลงกล่อมเด็กให้จิมมี่ฟังตอนห่มผ้า
ให้ขณะเขาเข้านอนบนเตียงเดียวกับไรอัน มาร์กจำได้ว่าเด็กคนนี้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ
ด้วยไฟฉายจนถึงตีสองโดยมีไรอันนั่งหลับอยู่ข้าง ๆ เมื่อกลับถึงแคนาดาพวกเขาเคยคิดกันว่า
อยากรับอุปการะจิมมี่

หลังได้รับอีเมลจากทอม ครอบครัวที่บ้านไรอันนอนไม่หลับอยู่หลายคืนเพราะกังวลถึงชะตากรรม
ของจิมมี่ ในที่สุดพวกเขาก็สรุปได้ ซูซานส่งอีเมลไปหาทอม บอกว่าเธอกับมาร์กอยากให้เขา
ช่วยจัดการส่งจิมมี่มาเยือนแคนาดาโดยเร็ว

ซูซานค้นจดหมายฉบับสุดท้ายของจิมมี่ที่เขียนถึงไรอันด้วยลายมือตัวโป้งแบบเด็ก ๆ ว่า

“ไรอันเพื่อนรัก

เราเรียนไม่ค่อยดีเทอมนี้ พวกกบฏทำให้พวกเรากลัวจนบางครั้งต้องขาดเรียน

เทอมที่แล้ว ฉันสอบได้ที่สองของห้อง ฉันไม่ค่อยมีความสุขนัก ฉันจะสวดภาวนาให้เธอ
กับครอบครัวและเพื่อน ๆ ทุกคนในแคนาดาเสมอ...”

ซูซานบรรจงเก็บจดหมายเข้าที่ เธออดคิดไม่ได้ว่า “จิมมี่เข้ามาในชีวิตของพวกเราด้วยเหตุผล
บางอย่าง (พระญาณสอดส่องของพระเจ้า - ผู้เรียบเรียง) แต่การนำตัวเขามาแคนาดาคงจะ
ลำบาก เพราะเขาไม่มีประวัติการเกิด ไม่มีพ่อแม่ แล้วพวกเขาจะทำหนังสือเดินทาง
และขอวีซ่าให้จิมมี่ได้อย่างไร”

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ธ.ค. 06, 2021 9:32 pm

😀สู่เสรีภาพของจิมมี่ ตอนที่ (3)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมีนาคม 2006
โดย Kathy Cook เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เดือนพฤศจิกายน 2002 ที่ยูกันดา ทอมไปรับจิมมี่ที่บ้านลุงและพาเขาเข้าโรงเรียนประจำ
เซนต์ปอลในเมืองไลรา ซูซานกับมาร์กส่งเงินให้ 400 เหรียญเป็นค่าเล่าเรียน จิมมี่ตั้งใจ
เรียนมากโดยเฉพาะเมื่อคิดว่าอาจมีโอกาสไปเยือนแคนาดา แต่ก็ยังไม่วายกลัวว่าอาจ
ถูกลักพาตัวอีก เพราะในช่วงเวลานั้นพวกกบฎโจมตีโรงเรียนและบ้านเรือนรอบนอกเมือง
ไลราแล้ว

ทอมเริ่มเดินเรื่องขอหนังสือเดินทางและวีซ่าให้จิมมี่ ขณะกรอกคำร้องขอหนังสือเดินทาง
เขาสุ่มเลือกวันเกิดของจิมมี่เป็นวันที่ 5 มีนาคม 1989 ทอมไปพบป้าและลุงของจิมมี่ที่ยัง
คงหวาดกลัวอยู่ กลางคืนทั้งสองต้องหลบไปนอนในป่า เมื่อลุงและป้าทราบความตั้งใจ
ของคนที่บ้านไรอันที่จะให้จิมมี่ไปแคนาดา ทั้งสองดีใจมากและรีบลงชื่อในเอกสาร
ให้ความยินยอม ทนายที่หมู่บ้านไลราประทับตรารับรองเอกสาร

ตอนนี้จิมมี่จะต้องเข้าไปยื่นเรื่องขอหนังสือเดินทางด้วยตัวเองที่กรุงกัมปาลา ทอมกับจิมมี่
นั่งรถเมล์ไปที่เมืองหลวงอันพลุกพล่าน หลังกลับไปรอเข้าแถวเป็นวันที่สอง ที่สุดพวกเขา
ก็ได้พบเจ้าหน้าที่ จิมมี่เซ็นชื่อในคำร้องและถ่ายรูป การดำเนินการจึงสำเร็จไปขั้นหนึ่ง

ปลายเดือนธันวาคม 2002 ซูซานส่งอีเมลถึง ดร. เควิน ชาน กุมารแพทย์ผู้ทุ่มเทให้กับ
องค์กรเพื่อมนุษยธรรมระหว่างประเทศซึ่งทำงานในยูกันดามาหลายปี หมอชานโทรศัพท์
ถึงซูซานทันทีที่ได้อ่านอีเมลและบอกว่า “อะไรก็เป็นไปได้ ขอผมคิดหาทางก่อน” หมอชาน
กับมาร์กเคยพบกันที่งานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อวางแผนงานขององค์กร CPAR และประทับใจ
กับความอุตสาหะของครอบครัวนี้ในการก่อตั้ง “มูลนิธิบ่อน้ำของไรอัน”

เดือนมกราคม 2003 หมอชานโทรฯ ถึงซูซานบอกว่า เขาอยู่ในคณะกรรมการประสานงาน
การจัดประชุมสุขภาพเด็กโลกซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองแวนคูเวอร์ (แคนาดา) คณะกรรมการจะ
ออกจดหมายเชิญจิมมี่อย่างเป็นทางการ พร้อมกับเชิญไรอันให้มาร่วมการประชุมใน
เดือนพฤษภาคม 2003 หมอชานจะออกค่าเครื่องบินให้จิมมี่

2 สัปดาห์ต่อมา ทอมได้รับโทรศัพท์แจ้งว่าหนังสือเดินทางของจิมมี่เรียบร้อยแล้ว เขายื่น
หนังสือเดินทางให้สถานกงสุลแคนาดา ขณะเดียวกันคณะกรรมการประสานงานก็ส่งแฟกซ์
ไปยังสถานกงสุลแคนาดาเป็นจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการให้จิมมี่เข้าร่วมการประชุม
โดยครอบครัวที่บ้านไรอันส่งเอกสารยืนยันว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

2 เดือนต่อมา คำขอถูกส่งมาที่แผนกวีซ่าของสถานทูตแคนาดาในเคนยาซึ่งเป็นประเทศ
เพื่อนบ้าน เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อความลงไปในคำขอว่า “...ไม่อยากทำลายความฝันของเด็ก
ยินดีออกวีซ่าให้ - อนุมัติ”วันที่ 28 เมษายน ทอมพาจิมมี่ไปยังสนามบินใกล้กรุงกัมปาลา
ขณะตรวจเอกสารก่อนขึ้นเครื่อง จิมมี่ก้มหน้านิ่งด้วยความกลัว เขาอ้อนวอนทอมว่า
“ไปกับผมนะครับ”

“จิมมี่” ทอมปลอบ “เพื่อนของเธอรออยู่ที่ปลายทาง ครอบครัวของเขาจะช่วยเหลือเธอ
เธอจะต้องไปและตั้งใจเรียนสุดกำลัง เพื่อวันหนึ่งเธอจะกลับมาช่วยเหลือผู้คนของเธอ”
ทอมรู้ว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นเพียงการไปเยือน แต่เขาก็หวังอยู่ลึก ๆ ว่าครอบครอบที่
บ้านไรอันจะหาทางให้จิมมี่ได้อยู่ต่อ

ที่สนามบินนานาชาติโทรอนโต มาร์กยืนรอที่ประตูขาเข้าอย่างกระวนกระวาย ที่สุดเขา
ก็เห็นเด็กวัยรุ่นผอมบางตาโต มีพนักงานต้อนรับบนเครื่องเดินมาส่ง จิมมี่ใส่กางเกงหลวม
โพรกและรองเท้าออกงานเก่า ๆ ดูใหญ่กว่าเท้าถึง 4 เบอร์

“จิมมี่ ยินดีต้อนรับสู่แคนาดา” มาร์กตะโกนเรียกแล้วตรงเข้ากอด ขณะขับรถเข้าเมือง
โทรอนโต จิมมี่มองออกไปนอกหน้าต่างด้วยความตื่นเต้น เขาเห็นทางด่วนและตึกระฟ้า
เป็นครั้งแรก จิมมี่พยายามฟังมาร์กคุยแต่เข้าใจเพียงไม่กี่คำ
เขาเพลียจากการนั่งเครื่องบินทางไกลจนผล็อยหลับ

โปรดติดตามตอนที่ (4)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 07, 2021 11:12 pm

😋สู่เสรีภาพของจิมมี่ ตอนที่ (4)
จากหนังสือสรรส​าระ ฉบับเดือนมีนาคม 2006
โดย Kathy Cook เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตอนมาร์กพาจิมมี่เข้าบ้าน ไรอันไม่แน่ใจว่าจะทักทายเพื่อนทางจดหมายอย่างไร
หลังจากไม่ได้เจอกันเกือบ 4 ปี ทั้งสองทักทายกันอย่างเขิน ๆ ขณะที่น้องสาวไรอัน
วัย 9 ขวบวิ่งตรงเข้าไปให้จิมมี่อุ้มพร้อมกับร้องขึ้นว่า “เขามาแล้ว เขามาแล้ว” ทุกคน
หัวเราะเป็นที่ขบขัน

ครอบครัวพาจิมมี่ชมทั่วบ้าน “ใหญ่เหลือเกิน ฉันหลงทางในนี้แน่” จิมมี่คิด พอไปถึง
ห้องใต้ดิน ซูซานบอกว่า “นี่เป็นห้องของเธอ” รอยยิ้มของจิมมี่หุบลงทันที ทุกคนรู้สึก
ได้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ “เธอนอนกับฉันก็ได้นะ” ไรอันเสนอ

จิมมี่ยิ้มกว้าง “ครับ ขอบคุณครับ” เขาตอบ เพราะเขาไม่เคยนอนคนเดียวตั้งแต่เกิด

วันที่ 11 พฤษภาคม 2003 ไรอันก้าวขึ้นสู่แท่นปราศรัยในการประชุมสุขภาพเด็กและ
เยาวชนโลกครั้งที่ 3 ที่เมืองแวนคูเวอร์ หมอชาน จิมมี่ และซูซานนั่งอยู่ในกลุ่มผู้ฟัง
“ชั่วเวลาที่คุณแค่ดีดนิ้ว” ไรอันกล่าวต่อที่ประชุม “มีคนล้มตายเพราะไม่มีน้ำสะอาด..
.” หลังการกล่าวปราศรัย จิมมี่บอกไรอันว่า “ฉันภูมิใจมากที่ได้เป็นเพื่อนของเธอ”

เด็ก ๆ ในบ้านพัฒนาความสัมพันธ์กับจิมมี่อย่างรวดเร็ว ทุกเช้า จิมมี่กับจอร์แดน
วัย 13 ปีออกวิ่งด้วยกัน หลังเลิกเรียน ไรอันเล่นฟุตบอลกับเขา จิมมี่ไม่เคยมีความสุข
มากเท่านี้มาก่อน เขามีพี่น้องใหม่ 3 คน รวมทั้งสุนัขของครอบครัว

หลายสัปดาห์แห่งความสุขผ่านไปอย่างรวดเร็ว วีซ่าของจิมมี่มีอายุแค่ 6 เดือน
(ถึงเดือนกันยายน 2003) ความเครียดเริ่มเข้าบดบังช่วงเวลาแห่งความสุข ทอมส่ง
อีเมลบอกว่า ลุงกับป้าของจิมมี่ไม่ต้องการรับจิมมี่กลับไปอยู่ด้วย
(เพราะกลัวอันตรายจากพวกกบฎ) และที่เมืองไลราก็ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป โรงเรียนที่
จิมมี่เคยเรียนก็ถูกโจมตีไปแล้ว

บ่ายวันหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 2003 ครอบครัวบ้านไรอันนั่งคุยกับจิมมี่ “เราหารือกันแล้ว”
ซูซานบอก “เธออยากอยู่กับเราตลอดไปไหม” จิมมี่หัวเราะละล่ำละลัก “ครับ อยากมากที่
สุดเลยครับ” มาร์กบอกว่า “อาจไม่สำเร็จก็ได้ แต่เราจะพยายามอย่างดีที่สุด ตกลงไหม”

2-3 วันต่อมา ซูซานขับรถพาจิมมี่ไปยังสำนักงานผู้อพยพของแคนาดาที่กรุงออตตาวา
และให้จิมมี่ยื่นคำร้องขอสถานภาพผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือและถ่ายรูปจิมมี่ไว้ก่อน
ยื่นคำสั่งเนรเทศที่จะมีผลบังคับปลายเดือนตุลาคมที่จะถึงหากคำร้องถูกปฏิเสธ

จิมมี่จะต้องขึ้นให้ปากคำต่อศาล ครอบครัวบ้านไรอันกู้เงินมาจ้างทนายซึ่งเชี่ยวชาญคดี
ผู้อพยพ ทนายรวบรวมรายงานความเหี้ยมโหดของกลุ่มกบฎ LRA และผนวกจดหมาย
สนับสนุนที่สอดคล้องกับเรื่องราวของจิมมี่จากองค์การแพทย์แคนาดาเพื่อช่วยเหลือและ
บรรเทาทุกข์ (CPAR) ของทอม โอมัค และจากอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของแคนาดา
ครอบครัวบ้านไรอันเสนอตัวเป็นผู้ดูแลตามกฎหมาย

โปรดติดตามตอนที่ (5)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ธ.ค. 08, 2021 5:37 pm

😁สู่เสรีภาพของจิมมี่ ตอนที่ (5) (ตอนจบ)
จากหนังสือสร​รสาระ ฉบับเดือนมีนาคม 2006
โดย Kathy Cook เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

จิมมี่ได้รับคำสั่งให้ปรากฏตัวต่อคณะกรรมการผู้ลี้ภัยและอพยพในวันที่ 15 กันยายน 2003
มาร์กกับซูซานเฝ้าดูอย่างกระสับกระส่ายขณะที่จิมมี่ตอบคำถามว่า เขากลัวอะไรถ้าต้อง
กลับไปยูกันดา สุดท้ายผู้พิพากษาหันไปพูดกับจิมมี่ว่า “ยินดีต้อนรับสู่แคนาดา” จากนั้น
ก็หันไปทางมาร์กและซูซาน “คุณทั้งสองเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพวกเราทุกคน”

จิมมี่หันไปมองซูซานอย่างไม่แน่ใจ ขณะที่ซูซานวิ่งไปหาจิมมี่และกอดเขา
“เธอได้อยู่กับเราแล้ว”

การเดินทางของจิมมี่สู่วิถีชีวิตของชาวแคนาดาเริ่มต้นขึ้น เขาเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย
แห่งเดียวกับจอร์แดนและเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมในช่วงฤดูร้อน เขาร่วมทีมฟุตบอล
และทีมกรีฑาของโรงเรียนด้วย

วันหนึ่งซูซานสังเกตว่าจิมมี่เติมคำว่า “เฮิร์ลแจ็ก” (Hreljac) ต่อท้ายชื่อของเขา
ในหนังสือเรียน เธอแอบยิ้มในใจ สัปดาห์ต่อมา เมื่ออยู่ด้วยกันตามลำพัง เธอกอดเขาไว้
และบอกว่า “จิมมี่ ถ้าเธอต้องการ เมื่อเรามีเงินเก็บอีกเล็กน้อย เราจะใส่นามสกุล ‘เฮิร์ลแจ็ก’
ในชื่อของเธออย่างถูกต้องตามกฎหมาย”

“ผมอยากได้มากเลยครับ” จิมมี่ตอบ

“และเธอรู้นะว่าฉันรักเธอมาก”

จิมมี่ยิ้ม “ผมรักคุณมากยิ่งกว่าอีกครับ”

หมายเหตุ : องค์การสหประชาชาติแถลงว่า สถานการณ์ในยูกันดาตอนเหนือเป็นส่วนหนึ่ง
ของวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ถูกละเลยมากแห่งหนึ่งของโลก การสู้รบกันทำให้ผู้คนกว่า
1.5 ล้านคนต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ โรคภัยไข้เจ็บและสภาพขาดอาหารแพร่สะพัด
ในหมู่ผู้พลัดถิ่นในค่ายอพยพ

หลังจากจิมมี่อยู่ที่บ้านพ่อแม่ของไรอัน 2-3 ปี ทั้งสองก็รับจิมมี่เป็นบุตรบุญธรรม
และจิมมี่ ก็ได้สัญชาติแคนาดาในปี 2007 จิมมี่ได้รับปริญญาด้านการพัฒนาระหว่าง
ประเทศและ รัฐศาสตร์ในปี 2013 ปัจจุบันจิมมี่ทำงานกับองค์กรเยาวชนออตตาวา
เกี่ยวกับการขอรับเงินบริจาคเพื่อการกุศล

*******************
จบบริบูรณ์
:s001: :s001:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 09, 2021 8:26 pm

(ประตู)ประตูแห่งสันติภาพ ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระสาระ​ ฉบับเดือนมิถุนายน 2006 โดย
Sarah Whiteman เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ทีมฟุตบอลอิสราเอลและซูอัน (Abas Suan) นักเตะชาวอาหรับจะมีชัยเหนือความ
เกลียดชังได้หรือไม่

ซูอันเคยได้ยินเสียงโห่เย้ยหยันทำนองนี้ตลอดหลายปีที่เล่นให้ทีมซักห์นิน (Sakhnin)
“ไอ้พวกก่อการร้าย” จากกองเชียร์ฝ่ายตรงข้าม แต่ในการเล่นครั้งนี้ซูอันสวมเสื้อ
ฟ้าขาวของทีมชาติฟุตบอลอิสราเอล แม้เขาจะเป็นเพียงหนึ่งในสองของผู้เล่นเชื้อ
สายอาหรับท่ามกลางเพื่อนร่วมทีมชาวยิว แต่ทุกคนก็มาร่วมเล่นให้อิสราเอลอย่างเ
ต็มที่ แน่ละครั้งนี้กองเชียร์น่าจะอยู่ข้าง เขา ปกติเมื่อซูอันวิ่งเข้าสนาม เขาบอกได้
ทันทีว่ามีบางอย่างผิดไป และทุกครั้งที่เขาครองลูก เขาจะได้ยินเสียงโห่ ซูอันรู้สึก
ตกใจแต่ไม่แปลกใจ แม้เขาจะเป็นชาวอิสราเอลแต่ก็รู้ว่าสำหรับคนอิสราเอลด้วยกัน
เขาคืออาหรับ
ย้อนกลับไปในปี 1948 ปีที่ก่อกำเนิดประเทศอิสราเอล ครอบครัวซูอันย้ายไปอยู่ที่
เมืองซักห์นินในหุบเขากาลิลีในเขตอิสราเอลที่มีกลุ่มชาวอาหรับ 160,000 คนอาศัยอยู่
และกลายเป็นพลเมืองของประเทศอิสราเอล เมืองนี้กันดารมาก มีถนนลาดยางเพียง
สายเดียวและไม่มีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลสำหรับชุมชนที่อยู่กันอย่างแออัด

เมื่อเป็นเด็ก ซูอันคิดว่าคงต้องอยู่ที่ซักห์นินและทำงานก่อสร้างเหมือนพ่อไปจนตาย
แต่เมื่อเขาเข้าเรียนและเล่นฟุตบอล เขาพัฒนาฝีเท้าจนต่อมาได้เล่นในทีมดิวิชั่นที่มี
ผู้เล่นผสมระหว่างยิวกับอาหรับและคงจะเป็นทีมที่ยากจนที่สุด ทีมฟุตบอลต่าง ๆ ของ
อิสราเอลได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นและสปอนเซอร์ แต่ทีมซักห์นินแทบหาสปอนเซอร์
ไม่ได้เลย สนามซ้อมของเมืองมีสภาพเป็นโคลน อย่างไรก็ตามผู้ฝึกสอนของทีมใช้สภาพ
ที่แร้นแค้นนี้เป็นแรงบันดาลใจและย้ำเตือนลูกทีมว่าทุกคนคือ(ระยิบระยับ)ครอบครัว
เดียวกัน และดังนั้นซูอันกับอีไลยาฮู (เชื้อชาติอิสราเอล) จึงเล่นกองกลางคู่กัน

เป็นครั้งแรกที่อีไลยาฮูมีเพื่อนชาวอาหรับ ทั้งสองสนิทสนมกันมาก มีการไปเยี่ยมเยียน
ครอบครัวของแต่ละฝ่ายอยู่บ่อย ๆ เขารู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เมื่อพวกสุดขั้วโห่
ซูอัน ดังลั่นไปทั่วสนาม อย่างไรก็ตามแม้ซูอันดูท่าจะไม่มีทางชนะใจพวกเหยียดผิวสุดขั้ว
แต่แฟนฟุตบอลส่วนมากในอิสราเอลทั้งชาวอาหรับและอิสราเอลต่างติดตามผลงานของ
ซูอัน เพราะทีมที่ยากจนที่สุดนี้ชนะอย่างต่อเนื่องจนสื่อมวลชนตั้งฉายาว่า “ทีมซินเดอเรลล่า”
ซึ่งซูอันมีส่วนสำคัญทำให้ทีมได้เข้าแข่งขันชิงถ้วยการแข่งขันระดับชาติ

ในเดือนพฤษภาคม 2004 แฟนจำนวน 35,000 คนเข้าชมทีมรองบ่อนที่นำโดยซูอันในฐานะ
กัปตันทีมเอาชนะทีมฮาฟฟ่าถึง 4–1 ประตูและชนะถ้วยสเตทคัพ (State Cup) ซึ่งส่งผลต่อมา
ให้ซูอันมีตำแหน่งเป็นผู้เล่นในทีมชาติ

ซูอันกลายเป็นวีรบุรุษของชาวเมืองซักห์นิน แต่ก็ไม่ทำให้ความตึงเครียดในชนกลุ่มน้อยหายไป
เคยมีชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับร่วมทีมชาติมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น อย่างไรก็
ตามซูอันตั้งใจจะใช้สถานภาพของเขาเปลี่ยนมุมมองของสังคมยิวที่มีต่อประชากรอาหรับ
เขาเชื่อว่า นักกีฬาจะสร้างตัวอย่างที่ดีได้ด้วยพื้นฐานของความเป็นเพื่อน “ผมคิดว่าพวกเราเข้า
กันได้ดีกว่าพวกนักการเมือง” ซูอันกล่าว

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 12, 2021 9:15 pm

(ประตู)ประตูแห่งสันติภาพ ตอนที่ (2) (ตอนจบ)

จากหนังสือสรร​สาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2006
โดย Sarah Whiteman เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ในการแข่งขันนัดแรกของทีมชาติอิสราเอล พวกเขาเป็นทีมรองบ่อนเมื่อต้องพบกับอดีตทีม
ชนะเลิศฟุตบอลโลกและมหาอำนาจลูกหนังอย่างฝรั่งเศส อิสราเอลถูกมองว่าเป็นคู่ต่อสู้ที่
ต่ำชั้นจนไม่มีแม้เครือข่ายสักแห่งที่คิดจะซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอด

แต่แล้วก็เกิดเรื่องเหลือเชื่อขึ้น อิสราเอลสามารถต้านไว้ได้ ทั้งสองทีมเสมอกันเมื่อหมดเวลา
ตลอดเวลาหลายเดือนต่อจากนั้น อิสราเอลยังคงรักษาโอกาสเข้ารอบไว้ได้ การชนะและ
เสมอฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์สองครั้ง ทำให้สื่อต่าง ๆ ไม่อาจมองข้ามอิสราเอลอีกต่อไป
นิตยสาร “Sport Illustrate” เรียกพวกเขาว่า “เด็กหัวใจเต็มร้อยจากเมดิเตอร์เรเนียน”

ไม่นานต่อมา (2005) ทีมอิสราเอลก็ได้เล่นบนแผ่นดินตัวเองอีกครั้ง เพื่อเป็นเจ้าภาพต้อนรับ
ทีมไอร์แลนด์ที่แข็งแกร่งพร้อมจะชนะการแข่งขันซึ่งจะทำให้อิสราเอลตกรอบ

เป็นดังคาด ไอร์แลนด์ขึ้นนำตั้งแต่ต้นเกมและนำมาตลอด 1-0 จนเหลืออีกไม่กี่นาทีก่อนหมด
เวลาหากไม่มีปาฏิหาริย์ เส้นทางการต่อสู้อันเข้มข้นของอิสราเอลจะจบลงทันทีพร้อมกับดับ
โอกาสเข้าไปแข่งขันฟุตบอลโลกจนกว่าอีก 4 ปีข้างหน้า

ชาวเมืองซักห์นินกลุ่มใหญ่มานั่งอัดกันอยู่หน้าบ้านครอบครัวของซูอันหรือไม่ก็เบียดกันอยู่
หน้าจอโทรทัศน์ในร้านกาแฟใกล้ ๆ อีไลยาฮูก็เฝ้าดูพร้อมกับภาวนาให้ทีมสามารถสร้าง
ผลงาน “หัวใจเต็มร้อย” อีกสักครั้ง ทั้งประเทศแทบลืมหายใจ ผู้ชม 40,000 คนเต็มทุกที่นั่ง
ในสนามนอกกรุงเทลอาวีฟพากันเงียบกริบ

และในนาทีสุดท้ายของการแข่งขัน ลูกฟุตบอลจากการเตะที่ทรงพลังจากระยะ 25 หลาก็
พุ่งผ่านอากาศและทะลุผ่านมือของผู้รักษาประตูชาวไอริชไปได้​“ซู-ซู-ซู-ซู-ซู-อัน” ผู้บรรยาย
ทางโทรทัศน์ตะโกนสุดเสียง ขณะที่ฝูงชนและผู้เล่นชาวอิสราเอลตะโกนก้องด้วยความดีใจ
ซูอันเพิ่งทำให้เกมเสมอกัน เขาอ้าปากตะโกนและทรุดลงกับพื้นเพื่อสวดมนต์ ซูอันเป็นผู้
รักษาความหวังในการเข้าแข่งฟุตบอลโลกของรัฐยิวให้ยังคงอยู่

แฟนบอลพากันหลั่งไหลออกไปที่ท้องถนนพร้อมดอกไม้และเสียงเชียร์ สมาชิกสภาผู้แทน
อิสราเอลเชื้อสายอาหรับ (อาเหม็ด ทิบี) ประกาศว่า “ไม่มีอาหรับ ไม่มีประตู” เป็นการล้อเลียน
คำพูดเกลียดชังจากพวกแฟนฟุตบอลเหยียดผิวซึ่งมักตะโกนก่อนหน้านั้นว่า “ไม่มีอาหรับ
ไม่มีการก่อการร้าย” คนทั้งประเทศเรียกขานซูอันว่า “วีรบุรุษของอิสราเอล”

“ทุกวันนี้ สิ่งที่ผมยังจำได้ ไม่ใช่ประตูหรอกนะ แต่เป็นความรู้สึกที่เห็นคนทั้งสนามลุกขึ้นยืน”
ซูอันกล่าวในภายหลัง

สุดท้าย แม้ทีมอิสราเอลจะไม่แพ้เลยสักนัด แต่ทีมก็ไม่ผ่านรอบคัดเลือกสู่รอบสุดท้ายของ
ฟุตบอลโลก ด้วยระบบการนับคะแนนที่ซับซ้อนทำให้ทีมอื่นได้รับเลือก แต่นั่นไม่สำคัญแล้ว
ซูอันใช้นาทีแห่งแสงสว่าง(สว่าง)
นับจาก “ประตูประวัติศาสตร์” ในการเรียกร้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความสัมพันธ์ที่
ดีระหว่างซูอันกับอีไลยาฮูก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สันติภาพ
ในดินแดนที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกนั้นเป็นไปได้

******************
จบบริบูรณ์

:s007:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 12, 2021 9:19 pm

🧔คุณพ่อแฟนบอลโลก ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2006
โดย พริสซิลล่า ชิว เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

พ่อเป็นคนพูดน้อย จนกระทั่งฉันพบวิธีเข้าถึงโลกอันเงียบขรึมของท่าน

ตลอด 15 ปีที่ฉันเกิดมาเป็นตัวตน พ่อจะพูดกับฉันและแม่น้อยมาก การพูดกับพ่อช่าง
ลำบากยากเย็น เวลาฉันถามอะไร พ่อมักจะตอบไม่เกิน 1-2 คำ

ครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 12 ขวบ ฉันขอให้พ่อชิมต้มจืดมะกะโรนีที่ฉันทำที่โรงเรียน นั่นเป็น
อาหารอย่างแรกที่ฉันหัดทำในวิชาคหกรรมและอยากรู้ใจจะขาดว่าพ่อคิดอย่างไร

“เป็นอย่างไรบ้างคะ พ่อ” ฉันถามอย่างกระตือรือร้น

“ไม่เลว”

“แล้วพ่อว่ารสชาติเป็นอย่างไรล่ะคะ” ฉันยังตื้อขอคำตอบ

“ก็ดี” พ่อบอก แล้วซดน้ำเสียงดัง ฉันหวังไว้ว่าพ่อจะให้คำตอบที่แสดงความชื่นชมมาก
กว่านี้ แต่ที่สุดก็ต้องปลอบใจตัวเองว่า “พ่อกำลังซดน้ำต้มจืดอยู่แล้ว ดังนั้นพ่อคงต้องชอบแน่ ๆ”

พ่อชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูการแข่งขันฟุตบอลในโทรทัศน์มากกว่าจะคุยกับครอบครัว
แต่อย่าเข้าใจผิดนะ พ่อเป็นพ่อที่ดี ตอนฉันยังไม่ได้เข้าโรงเรียน ฉันกับพ่อเล่นต่อรูปภาพกัน
อย่างมีความสุข​ ครั้งละนาน ๆ ต่อมาทุกครั้งที่ฉันขะมักเขม้นดูหนังสือสอบ พ่อจะซื้ออาหาร
ที่ฉันโปรดปรานมาฝาก ซึ่งได้แก่ “ก๋วยเตี๋ยวผัดเจ”พ่อแสดงความรักออกมาด้วยการกระทำ
มากกว่าคำพูด และฉันก็จะต้องทำตัวให้ชินกับนิสัยไม่ช่างพูดของพ่อ

พอถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2002 ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ตอนนั้นเป็นเวลาเริ่มปิดภาคเรียน
เดือนมิถุนายน พ่อหยุดงาน 2-3 วันเพื่อจะได้ใช้เวลาอยู่กับฉันและแม่

เช้าวันนั้น ทันทีที่ฉันลงมาข้างล่างเพื่อกินอาหารเช้า ฉันก็เห็นว่าพ่อไม่ได้สงวนถ้อยคำอย่างเคย
“แทบจะรอไม่ไหวแล้ว การแข่งขันฟุตบอลโลก” พ่อละล่ำละลักพูดไม่หยุดปาก “แข่งนัดสำคัญ
ต้องดูให้ได้” ฉันรู้ทันทีว่าพ่อตื่นเต้นเรื่องอะไร พ่อเป็นแฟนฟุตบอลตัวยง และการแข่งขันครั้งยิ่ง
ใหญ่ระดับโลกระหว่างชาติต่าง ๆ กำลังจะเริ่มขึ้น

ก่อนหน้านั้น ฉันไม่เคยสนใจฟุตบอลเลย ด้วยเห็นว่าเป็นเกมที่คน 22 คนวิ่งไล่ตามลูกกลม ๆ
วิ่งกันไปทำไมก็ไม่รู้ แต่ความตื่นเต้นอย่างที่สะกดเอาไว้ไม่อยู่ของพ่อเช้าวันนั้นทำให้ฉันอด
รนทนไม่ไหว และตั้งใจจะค้นหาคำตอบให้ได้ว่า เพราะเหตุใดกีฬานี้จึงทำให้พ่อผู้สงวนท่าที
อยู่เป็นนิจกลับทำตัวเหมือนกับเด็ก 5 ขวบเมื่อได้ไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์เป็นครั้งแรกพ่อบอกว่า
เราน่าจะไปกินอาหารที่ภัตตาคารเยอรมันเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้านเราในสิงคโปร์ ร้านนี้มีจอ
โทรทัศน์ใหญ่ที่รับภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างฝรั่งเศสและเซเนกัล ดังนั้น
เราจึงได้กินอาหารเย็นนอกบ้านไปพร้อม ๆ กับดูฟุตบอลโลก ฉันคิดว่า ที่จริงแล้ว พ่อคงแอบ
หวังว่าจะชวนให้เรามาเป็นแฟนฟุตบอลให้ได้นั่นเอง

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 12, 2021 9:24 pm

🧔คุณพ่อแฟนบอลโลก ตอนที่ (2) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2006
โดย พริสซิลล่า ชิว เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

การแข่งขันเริ่มขึ้นหลังเราเข้าไปในร้านอาหารไม่กี่นาที พ่อยิ้มและออกปากว่า
“เรามาถึง ทันเวลาพอดี” พ่อนั่งจ้องตาเขม็งไปที่สนามหญ้าสีเขียวและพวกนักฟุตบอล
ที่วิ่งวุ่นกันอยู่ในจอโทรทัศน์ ฉันมองไปรอบ ๆ ร้านอาหาร รู้สึกเบื่อหน่ายพร้อมกับ
สงสัยว่า ทำไมจึงหลวมตัวยอมปล่อยให้พ่อพามา

ขณะที่ฉันกินไส้กรอกหมูอยู่ก็มีเสียงโห่ร้องดังมาจากโทรทัศน์ ฉันสะดุ้งและเงยหน้า
ขึ้นมองจอ “ปาปา บูบา ดิอุป เพิ่งทำประตูให้เซเนกัล” พ่อบอก “ฝรั่งเศสจะต้องกลับมา
พวกเขาชนะการแข่งขันบอลโลกเมื่อครั้งที่แล้ว พวกเขาคงเอาอยู่”

ฉันจ้องดูจอภาพ “ทำไมผู้ชายคนนั้นถึงกระโดดอย่างนั้นล่ะคะ”

พ่ออธิบายอย่างอดทน “คนนั้นแหละ ปาปา บูบา ดิอุป ผู้เล่นที่ชอบกระโดดโลดเต้นหลัง
ทำประตูได้ พวกผู้เล่นจะตื่นเต้นมากโดยเฉพาะเมื่อทีมฝีมือเป็นรองแบบเซเนกัลยิงประตูทีม
ระดับแชมเปียนอย่างฝรั่งเศส เอาละ กินต่อสิลูก เดี๋ยวจะเย็นเสียหมด”

ฉันรู้สึกทึ่งมาก พ่ออธิบายทุกอย่างให้ฟังอย่างละเอียด ไม่มีคำตอบห้วน ๆ อีกแล้ว ฉันรักพ่อคน
ใหม่นี้จริง ๆ

ฉันเริ่มดูการแข่งขันต่อไปอย่างใจจดใจจ่อมากขึ้น ฉันเห็นทีมซีเนกัลต้านทานทีมฝรั่งเศสได้
อย่างเหนียวแน่นจนยากจะเชื่อว่าทีมนี้มีฝีมืออยู่ในอันดับรอง เมื่อการแข่งขันจบลงโดย
เซเนกัลเป็นฝ่ายชนะไป 1-0 พ่อพยายามกลบเกลื่อนความรู้สึกผิดหวัง “ไม่เป็นไรหรอก
ฝรั่งเศสจะต้องชนะในการแข่งขันนัดต่อ ๆ ไป แล้วจะได้เข้ารอบแน่” พ่อยืนยันกับฉัน จากนั้น
ก็อธิบายกติกาฟุตบอลให้ฟังและช่วยให้ฉันเข้าใจทุกอย่างที่ดูมา แล้วคืนนั้นฉันก็รู้จักศัพท์ต่าง ๆ
เพิ่มขึ้น เช่น เตะลูกโทษ, กองหลังซ้ายฟาวล์, แจกใบเหลืองใบแดง และล้ำหน้า เป็นต้น

ในเมื่อฉันเริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น การแข่งขันฟุตบอลโลกก็กลับเป็นเรื่องน่าสนใจขึ้นมา
พอฉันบอกพ่อว่าจะดูการแข่งขันด้วยอีก พ่อก็ยิ้มและขยิบตาทำหน้าทะเล้นกับฉัน ที่สุด เราก็มี
ความสนใจตรงกัน

ฉันกับพ่อดูการแข่งขันนัดสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ด้วยกัน เช่น รอบก่อนชิงชนะเลิศและรอบชิงชนะเลิศ
ระหว่างการแข่งขันเหล่านี้ ความเห็นของเราไม่สอดคล้องกันนัก ฉันทำนายว่าบราซิลจะได้แชมป์
เพราะผู้เล่นของบราซิลมีไหวพริบและทักษะเหนือกว่ามาก แต่พ่อยืนยันว่า เยอรมันจะต้องชนะ
เพราะมีกองหลังที่แข็งแกร่ง และโอลิเวอร์ คาน เป็นผู้รักษาประตูระดับตำนาน

เมื่อเกมจบลงและบราซิลเป็นฝ่ายชนะ พ่อก็คอตกและยอมรับแต่โดยดี

“ลูกได้รับการเรียนรู้เรื่องฟุตบอลมาอย่างดีมากจากบรมครูเชียวนะ” พ่อบอก แล้วเราสองคนก็
หัวเราะขึ้นพร้อมกัน นับแต่นั้นมา ฉันกับพ่อก็ดูฟุตบอลด้วยกันตลอด เมื่อดูแล้วก็จะมานั่งวิเคราะห์
การเล่นและกลยุทธิ์อย่างละเอียด

เราสองคนชื่นชอบการแข่งขันพรีเมียร์ลีกของอังกฤษเป็นพิเศษ ครั้งหนึ่ง หลังการแข่งขันระหว่าง
ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับทีมอาร์เซนอลสิ้นสุดลงโดยเสมอกันด้วยแต้ม 0-0 เราก็เถียงกัน
ไม่เลิกว่าทีมไหนเล่นดีกว่ากัน ในที่สุด แม่ต้องเข้ามาขัดจังหวะ “ทั้งแมนยูฯ และอาร์เซนอลเล่น
ยอดเยี่ยมพอ ๆ กันนั่นแหละ นักฟุตบอลก็เก่งกาจทั้งคู่” แม่บอก “แต่ถ้าพ่อลูกคู่นี้ยังไม่เลิกเถียงกัน
จนชาวบ้านก็จะพากันตื่นหมด”

ฟุตบอลช่วยให้ฉันกับพ่อใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างแน่แท้ และช่วยให้เราสานความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ใครนะที่เคยบอกว่า “ฟุตบอลเป็นแค่เกมที่คน 22 คนวิ่งไล่ตามลูกกลม ๆ”

******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 18, 2023 9:11 pm

โรงงานนรกในต่างแดน ตอนที่ ( 1 )จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2542
โดย Brian Eads รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เล็ก บัวทอง (ชื่อสมมติ) เป็นช่างเย็บผ้าฝีมือดีในโรงงานเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม
มีรายได้เดือนละไม่ถึง 7,500 บาท จึงต้องกระเบียดกระเสียรเพื่อเลี้ยงครอบครัวและลูกสาวที่ยังเล็ก

วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2535 เพื่อนคนงานไปหาพร้อมยื่นข้อเสนอที่เหมือนเป็นโอกาสทอง
“อยู่อเมริกาเดือนเดียวหาเงินได้เท่ากับทำงานที่นี่ทั้งปีเชียวนะ”

คนไทยได้ยินบ่อยๆ เรื่อง”โรบินฮู้ด”ซึ่งหมายถึงพวกที่ไปทำงานในต่างประเทศร่ำรวยจนมีราย
ได้ดี ส่งเงินกลับมาจุนเจือครอบครัวในเมืองไทย เฉพาะปีนั้นมีคนไทยเรือนแสนที่ไปทำงานต่างประเทศ
ส่งเงินกลับบ้านไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เล็กรู้สึกว่าโอกาสดีๆ อย่างนี้มาถึงแล้ว

“ไปคุยกับคุณสัญชัยดูสิ” ผู้หญิงคนนั้นชักชวน

สัญชัย มานะสุรางกุล หลอกล่อคนงานที่สนใจด้วยภาพถ่ายของย่าน ‘เอล มอนเต’ (El Monte)
ที่มีประชากรราว 20,000 คน ตั้งอยู่ชานเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย หอพักสะดวกสบายและ
คนงานไทยหน้าตาเบิกบาน

“เริ่มเย็บผ้าตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น รายได้เดือนละ 45,000 ถึงเกือบ 90,000 บาท” สัญชัยบอก
“วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็สบายๆ จะพาไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์”

ทางบริษัทออกค่าเครื่องบินและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้ก่อน แล้วคนงานค่อยผ่อนชำระภายหลังเมื่อทำงานแล้ว
รวมทั้งหมดประมาณคนละ 178,000 บาท ซึ่งเท่ากับรายได้ที่นั่น 2-4 เดือนเท่านั้นเอง

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 18, 2023 9:15 pm

โรงงานนรกในต่างแดน ตอนที่ ( 2 )จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2542
โดย Brian Eads รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ขอต้อนรับสู่ ‘เอล มอนเต’

เล็กกับเพื่อนอีก 2 คนตกลงใจไปทำงานในสหรัฐฯ เรื่องไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ไม่ต้องหวัง
แถมยังไม่มีเงินส่งกลับบ้าน แต่กลับต้องทำงานเยี่ยงทาสในโรงงานนรกและทนทุกข์ในสภาพ
แร้นแค้นนานกว่าปี

นายจ้างครอบครัวนี้ใช้กลโกงสารพัดหลอกลวงคนงานที่ยากจนอย่างเล็ก ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนบท
บัญญัติของกฎหมายสหรัฐฯว่าด้วยการเข้าเมือง แรงงานและสิทธิทางแพ่ง เมื่อลักลอบนำคนงานเข้า
สหรัฐฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สุนีย์ มานะสุรางกุล ซึ่งเรียกกันว่า “ป้า” และลูกชายทั้ง 5 คนก็ร่วมกันบังคับ
ให้คนงานทำงานราววันละ 20 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน โดยขู่ว่าถ้าขัดขืนก็จะส่งคนไปทำร้ายครอบครัว
ในเมืองไทย

แต่ละเดือนมีคนไทยลักษณะลอบเข้าไปในแคลิฟอร์เนียราว 2,000 คน ชะตากรรมของเล็กน่าจะ
เป็นอุทาหรณ์สำหรับคนงานไทยที่หวังไปขุดทองในต่างประเทศ

ทันทีที่เล็กขอวีซ่า สัญชัยก็เปิดบัญชีเงินฝากในนามของเล็กและนำเงินสดก้อนใหญ่ไปฝากไว้ในบัญชี
นอกจากนี้ยังจัดหาเอกสารปลอมที่แสดงว่าเล็กเป็นนักธุรกิจฐานะดีและตั้งใจจะกลับเมืองไทยแน่นอน
เพราะมีธุรกิจมูลค่ามหาศาลอยู่

สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ได้รับคำร้องขอวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราวถึงวันละ 350 ราย
หรือปีละ 90,000 ราย และร้อยละ 92 ของคำร้องได้รับอนุมัติ

เล็กได้วีซ่าประเภทเข้าประเทศได้หลายครั้ง มีกำหนดเวลา 10 ปี สัญชัยให้เงินติดกระเป๋าไว้
1,000 เหรียญและขับรถไปส่งเธอที่สนามบินดอนเมือง เล็กกับคนงานใหม่อีก 5 คนไปสมทบกับ
กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยของบริษัททัวร์ใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวหาบริษัททัวร์หลายแห่งในเมืองไทยว่า สมรู้ร่วมคิดในการลักลอบนำ
คนงานออกนอกประเทศ จนถึงขณะที่เขียนเรื่องนี้ทางการสหรัฐฯ ห้ามมัคคุเทศก์ไทยเข้าประเทศ
มาแล้ว 9 คน

ที่สนามบินนานาชาติลอสแอนเจลิส เล็กและเพื่อนร่วมชะตากรรมทั้งหมดเดินผ่านด่านตรวจ
คนเข้าเมืองอย่างสบาย ทั้งกลุ่มไปถึง ‘เอล มอนเต’ ตอนค่ำมืด ประตูเหล็กบานใหญ่เลื่อนออกเผย
ให้เห็นตึกที่พักและไฟจากตัวตึกลอดออกมาใต้ประตูโรงรถที่เปิดแง้มอยู่

ผู้หญิงอ้วนเตี้ยอายุราว 60 ปีในชุดกระโปรงฝ้ายลำลองออกมารับ ผมเธอหงอกประปราย
ใบหน้ากลมพอกเครื่องสำอางหนาเตอะ และสวมแหวนเพชรหลายวง

หญิงไทยเชื้อสายจีนผู้นี้วางกฎเกณฑ์ให้ทั้งกลุ่มทำตาม “ห้ามพูดมาก ห้ามผูกมิตร ห้ามถามซอกแซก”
และยึดเงินติดตัวทั้งหมด รวมทั้งตั๋วเครื่องบินและหนังสือเดินทางของเล็กกับพวกไว้ด้วย

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 19, 2023 11:32 pm

โรงงานนรกในต่างแดน ตอนที่ (. 3. )จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2542
โดย Brian Eads รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ไม่มีวันหยุด

เล็กกับเพื่อนคนงาน 10 กว่าคนนอนอัดกันอยู่ในห้องแคบๆ สองห้อง ทุกคนต้องตื่นตั้งแต่
5.00 น. เพื่อเข้าแถวรอใช้ห้องน้ำห้องเดียวร่วมกัน เริ่มทำงานเวลา 7.00 น.ในห้องสกปรกขนาด
กว้าง 4.5 เมตร ยาว 5.5 เมตร จักรเย็บผ้า 15 หลังวางเรียงติดๆ กัน แต่ละวันเล็กต้องเย็บเสื้อผ้า
ผู้หญิง กางเกงขาสั้นและเสื้อยืดคอกลมนาน 16 ชั่วโมงโดยมีเวลาพักเพียงเล็กน้อย และบ่อยครั้ง
ที่ต้องทำงานจนถึงตีหนึ่งของวันใหม่

แม้กฎหมายสหรัฐฯ จะกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 4.25 เหรียญ หรือประมาณ 150 บาท
ต่อชั่วโมง แต่คนงานของ ‘เอล มอนเต’ ได้รับค่าจ้างเพียงเศษเสี้ยวของค่าจ้างขั้นต่ำทั้งที่เย็บเสื้อผ้า
ให้กับยี่ห้อดังๆ เล็กได้ค่าจ้างเพียงเดือนละ 18,500 บาท และยังถูกป้าหักไว้ครึ่งหนึ่งเป็น “ค่าใช้จ่าย”
และ “ค่าเช่าบ้าน” หลังหักโน่นหักนี่แล้ว ค่าจ้างที่ได้รับจริงมากกว่าที่เคยได้ตอนทำงานที่นครพนม
เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

คนงานทั้งหมดอยู่ในสภาพเหมือนถูกกักขัง เพราะทั้งโรงงานมีทางออกทางเดียว คือประตูเหล็ก
เลื่อนที่ปิดตลอดเวลา ขอบกำแพงรั้วรอบโรงงานเป็นเหล็กแหลมโค้งเข้าด้านในเพื่อป้องกันการหลบหนี

เมื่อเป็นโรงงานที่ผิดกฎหมาย ห้องเย็บผ้าซึ่งอับและทึบจึงปิดหน้าต่างตลอดเวลา ยิ่งเมื่ออากาศร้อน
อบอ้าวถึง 35 องศาเซลเซียส เล็กและเพื่อนๆ ยิ่งทรมานหนักขึ้น หากเดินออกไปสูดอากาศตรงทางเข้า
ตึกก็จะถูกดุด่า

ในไม่ช้า คนงานส่วนใหญ่รวมทั้งเล็กเริ่มไม่สบายเพราะสูดฝุ่นผ้าตลอดเวลา เช่นหายใจขัดเป็นบางครั้ง
และมีผื่นปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง บางคนปวดศีรษะ ตาพร่ามัวและปวดหลัง ป้าไม่ยอมให้คนงานไป
หาแพทย์ และบอกแต่เพียงว่า ถ้าอยากได้ยาก็ต้องให้ญาติที่เมืองไทยส่งมาให้

มานิต สาคร (ชื่อสมมติ) ซึ่งเป็นหนึ่งในคนงานชายเพียงไม่กี่คนในโรงงานนี้ มีอาการปวดฟัน
แต่ป้าไม่ยอมให้ไปพบทันตแพทย์ ในที่สุด เขาทนปวดไม่ไหวจึงใช้เส้นด้ายหนาๆ ผูกฟันที่ผุไว้แล้วกระชาก
ออกด้วยคีมเหล็ก เขาถอนฟันตัวเองอีก 4 ซี่ด้วยวิธีเดียวกัน

โปรดติดตามตอนที่ (. 4. )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 20, 2023 11:13 am

โรงงานนรกในต่างแดน ตอนที่ ( 4 )จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2542
โดย Brian Eads รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)หนี

มานิตและเพื่อนคนงานควรจะได้รับอิสรภาพไปก่อนหน้านานแล้ว กล่าวคือในปี 2534 ‘
ฟิลิป บอนเนอร์’ นักสืบพิเศษของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ซึ่งพูดไทยได้คล่อง ได้เบาะแสเกี่ยวกับ
โรงงาน 5 แห่งที่รับคนไทยเข้าทำงานโดยผิดกฎหมาย แต่หัวหน้าหน่วยฯ ไม่สนใจเรื่องนี้

ปีต่อมา สายตำรวจคนหนึ่งแจ้งที่อยู่และรายละเอียดของสภาพโรงงานอย่างถูกต้อง เจ้าหน้าที่อีก
คนขอออกหมายค้นหลังจากได้สืบสวนคดีนี้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตและคดีก็ปิดไป
ขณะเดียวกัน คนงานใน ‘เอล มอนเต’กลุ่มหนึ่งวางแผนการหนี คนงานหญิง 2 คนคลานออกทาง
ท่อแอร์ แล้วปีนกำแพงหนีไปขอหลบอยู่ในวัดไทยใน ’นอร์ท ฮอลลีวู้ด’ (North Hollywood)
ในที่สุด คนงานอีก 7 คนก็หนีไปได้

ป้าจัดการวางมาตรการรัดกุมกว่าเดิม “ถ้าใครหนี ฉันจะเผาบ้านมันในเมืองไทย” ลูกชายตัวล่ำ
คนหนึ่งของป้าขู่เล็ก “และจะเอาระเบิดไปปาให้ตายยกครัวไปเลย”

ในที่สุด ป้าสั่งก่อกำแพงรอบบ้านให้สูงกว่าเดิม แล้วเดินลวดหนามบนกำแพงอย่างแน่นหนา
พร้อมกับใช้แผ่นไม้อัดตอกปิดหน้าต่างห้องน้ำและห้องนอนชั้นบน ทั้งยังเรียกยาม 2 คนจากเมืองไทย
มาคอยควบคุมตลอดเวลา

ก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้คนงานหญิงทุกคนพูดถึงแต่เรื่องดีๆ เวลาเขียนจดหมายและให้ทำน้ำเสียงให้สดชื่น
เวลาพูดโทรศัพท์กับญาติทางเมืองไทย แต่หลังจากมีคนหนีไปได้ มีการดักฟังโทรศัพท์ และจดหมาย
ที่จะส่งออกต้องถูกเปิดอ่านก่อนเช่นเดียวกับจดหมายที่ได้รับจากทางบ้าน

นอกจากนี้ยังมีการเก็บจดหมายบางฉบับไว้ด้วย คนงานคนหนึ่งรู้ภายหลังว่า ป้าและลูกๆ เก็บจดหมาย
ที่ทางบ้านเขียนบอกให้กลับไปดูใจพ่อเป็นครั้งสุดท้าย

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ม.ค. 21, 2023 9:33 pm

โรงงานนรกในต่างแดน ตอนที่ ( 5 )จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2542
โดย Brian Eads รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)อุทาหรณ์สำหรับคนไทย

เช้ามืดวันที่ 15 สิงหาคม 2538 เล็กได้ยินเสียงดังปังเหมือนมีคนใช้ขวานจามประตูใต้ห้องที่
เธอนอนอยู่ ไม่มีใครสนใจลุกขึ้นดู ทุกคนอ่อนเพลียเพราะวันก่อนนั้นต้องหลังขดหลังแข็งเย็บผ้า
ถึง 18 ชั่วโมง เล็กคิดว่าตัวเองฝันไปเสียด้วยซ้ำ

แต่ก็หายงัวเงียเป็นปลิดทิ้งเมื่อได้ยินเสียงภาษาไทยผ่านโทรโข่งว่า “นี่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
ไม่ต้องกลัว ค่อยๆ ลงมา”

ขณะเฝ้าดูการสอบสวนสุนีย์และลูกๆ เล็กรู้สึกโล่งใจเพราะการถูกกดขี่มานานกว่า 3 ปี
กำลังจะปิดฉากลงเสียที แต่ก็อดกังวลไม่ได้เพราะกลัวจะถูกส่งตัวกลับไปเมืองไทย

คนงานหญิงคนหนึ่งที่หนีไปได้ตีแผ่พฤติกรรมของป้ากับลูกๆ เธอเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ให้ทนายความฟัง ซึ่งต่อมาได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ขณะที่เขียนเรื่องนี้ โรงงานนรก
แห่งนี้ถูกสั่งปิดไปแล้ว เพราะมีคำให้การของพยานทั้งหลายเป็นหลักฐาน

เจ้าหน้าที่ของกองบังคับมาตรฐานการทำงานในแคลิฟอร์เนียและเจ้าหน้าที่ตำรวจของย่าน
’เอล มอนเต’ตรวจพบเสื้อผ้าหลายพันตัว ต่อมา ‘โรเบิร์ต ริช’ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานในขณะนั้น
กล่าวว่า โรงงานของคนไทยแห่งนี้ผลิตเสื้อผ้าที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทชั้นนำ
ในวงการ

เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดตู้นิรภัยที่ยึดจากตึกแถวของสุนีย์ ก็พบเงินสดกว่า 31 ล้านบาท เครื่องประดับ
มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในประเทศไทยอีกหลาย
สิบล้านบาท

คนงานไม่กี่คนเท่านั้นที่เก็บออมได้หลังจากได้ตรากตรำทำงานในโรงงานร่วม 3 ปี เล็กสามารถ
ปลดเปลื้อง“หนี้”จำนวน 178,000 บาทที่ติดค้างกับสุนีย์ได้หมด คนงานหญิงอีกคนกล่าวว่า ชำระหนี้
ครบถ้วนไปตั้งแต่ 6 เดือนที่แล้ว แต่สุนีย์ก็ไม่ยอมปล่อยให้เป็นอิสระ

เดือนพฤษภาคม 2359 ศาลในแคลิฟอร์เนียตัดสินจำคุกสุนีย์ มานะสุรางกุล เป็นเวลา 7 ปี
และสั่งให้จ่ายเงินชดใช้คนงานทั้งหมดรวมกว่า 166 ล้านบาท ลูกชาย 3 คนและผู้ร่วมกระทำผิดอีก
3 คนถูกจำคุก 3 - 6 ปี ลูกชายอีก 2 คนคือสัญชัยผู้ล่อลวงเล็กมาทำงาน กับชวลิตหลบหนีไปได้

หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยลงข่าวการบุกทลายโรงงาน ‘เอล มอนเต’ อย่างครึกโครม
“น่าตกใจที่รู้ว่า มีคนไทยใจอำมหิตที่ทำกับเพื่อนร่วมชาติได้ลงคอถึงขนาดนี้” ทองใบ ทองเปาด์
ทนายความผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว

ทนายทองใบกล่าวว่า รัฐบาลควรมีส่วนรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะละเลย
ที่จะรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการหลอกลวงชาวบ้าน


(*)หมายเหตุ

คนงานส่วนใหญ่ที่ได้รับความช่วยเหลือให้พ้นจากโรงงานนรกยังคงพำนักอยู่ใหสหรัฐฯ
ขณะที่เขียนเรื่องนี้ เล็กได้ทำงานในโรงงานเย็บผ้าที่ถูกกฎหมายในเมืองเกล็นเดล (Glendale)
ที่มีประชากรเกือบ 2 แสนคน รัฐแคลิฟอร์เนีย และเรียนภาษาอังกฤษในเวลาว่าง เธอฝากบอก
คนไทยทุกคนว่า “ควรตรวจสอบให้ถี่ถ้วนเมื่อมีผู้เสนองานในต่างประเทศที่ดีจนไม่น่าเป็นไปได้”

แหล่งข่าว”อมรินทร์ 34 HD” วันที่ 2 พ.ค.2017 แจ้งว่าตำรวจสากล (Interpol) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง”ลิออง”
(Lyon) ประเทศฝรั่งเศส ได้เปิดเผยรายชื่อคนไทย 16 คนซึ่งถูกออก “หมายจับแดง”(Red Notice)
ซึ่งทางตำรวจสากลต้องการล่าตัว และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นใน 190 ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิก
ตำรวจสากลสามารถจับกุมตัวได้ทันทีที่พบตัว ปรากฏว่ามีชื่อของสองพี่น้องที่หลบหนีอยู่นี้รวมอยู่ด้วย
คือนายชวลิต มานะสุรางกุล (อายุ 55 ปี) และนายสัญชัย มานะสุรางกุล (อายุ 62 ปี) เป็นผู้ต้องหา
ในคดีลักพาตัวและลักลอบค้ามนุษย์ โดยมีสหรัฐฯ ต้องการตัว

**********************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส