เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ ชุดที่ ( 6 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 14, 2021 9:40 pm

…หนีไม่พ้น…… ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2006
โดย แมรี่ เอ.ฟิสเชอร์ เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

กายาเนเป็นผู้อพยพชาวอาร์เมเนีย สาววัย 34 ปีผู้นี้รูปร่างเพรียว แต่งตัวทันสมัย เธอมีธุรกิจ
แปลเอกสารและสตูดิโอเต้นรำเป็นของตัวเอง วันหนึ่งเธอตัดสินใจซื้อโฆษณากับสถานีเคเบิล
ทีวีแห่งหนึ่งเพื่อเผยแพร่กิจการสตูดิโอเต้นรำของเธอ งานโฆษณานี้ทำให้เธอได้พบกับ “อารา”
ผู้อำนวยการรายการดนตรีอาร์เมเนียนประจำสถานีโทรทัศน์แห่งนั้น เธอรู้สึกว่าหนุ่มคนนี้
ฉลาด ขยันทำงานและจิตใจอ่อนโยน ทั้งสองเริ่มเป็นคู่นัดกัน

ตอนที่เป็นคู่นัดกันใหม่ ๆ เมื่อเดือนตุลาคม 2002 กายาเนคิดว่าสัมพันธภาพคงจะยืนยาว
ทั้งเธอและอารามาจากอาร์เมเนีย ต่างมีความใฝ่ฝันและหน้าที่การงานมั่นคง อารา
ในวัย 30 ปี นอกจากทำงานที่สถานีโทรทัศน์แล้วยังเปิดร้านขายซีดีและวีซีดี ทีแรกเขาก็ดู
เหมือนผู้ชายธรรมดาที่น่ารัก เพียงแต่ค่อนข้างจริงจัง เขาเป็นคนสุภาพ มารยาทดี และชอบ
พาเธอไปภัตตาคารดี ๆ กายาเนตอบแทนด้วยการทำอาหารเย็นให้เขากิน

ไม่นานข้อเสียของอาราก็ปรากฏออกมา เขาเริ่มแสดงพฤติกรรมแปลก ๆ เดือนมกราคม 2004
เขาถูกจับข้อหาปลอมบัตรเครดิต กายาเนต้องยื่นมือเข้าช่วยด้วยการรวบรวมเงินสดไปประกันตัว
น่ารักเขาออกมา แต่ความสัมพันธ์ทำท่าว่าจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ กายาเนรู้สึกหมดความไว้วางใจ
ในตัวเขาแล้ว ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจบอกเลิก

เธอเลือกวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2004 หลังวันวาเลนไทน์ 1 วัน เธอไปทำกับข้าวที่อพาร์ตเมนต์
ของอารา พอกินอาหารเย็นเสร็จ กายาเนก็บอกข่าวร้ายทันที

“ฉันคงเป็นแฟนคุณอีกต่อไปไม่ได้แล้ว” เธอกล่าว “เราเป็นแค่เพื่อนดีกว่า” อาราตกใจจนพูด
ไม่ออก “ไม่มีทาง” เธอได้ยินเขาตอบ “ชาตินี้คุณจะต้องเป็นของผมคนเดียวเท่านั้น” เขา
โกรธจัดและอาละวาดทำลายข้าวของในอพาร์ตเมนต์

แต่เขาไม่ได้ทำร้ายกายาเนซึ่งคิดว่าได้พูดสิ่งที่อยากพูดจนหมดแล้ว เธอหวังว่าจะยังเป็น
เพื่อนกันได้ กายาเนต้องการให้ต่างคนต่างอยู่ เธออยากจะดำเนินชีวิตต่อไป

การตัดขาดไม่ใช่เรื่องง่าย หลายอย่างยังคาราคาซังอยู่ ที่จริงทั้งสองเลิกกันแล้วแต่ก็ยัง
น่ารักกลับมาคบกันอีกเมื่ออาราอ้อนวอนขอร้อง กายาเนก็ใจอ่อน พอเดือนพฤษภาคมเธอ
บอกเขาว่าไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับเขาอีกต่อไป

แต่อาราก็ยังโทรศัพท์มาหาทุกวัน เขาเริ่มหมกมุ่นเรื่องของกายาเน โทรศัพท์ไปที่บ้านของ
เธอและที่ทำงาน รวมทั้งมือถือด้วย รวมแล้ววันละ 20-30 ครั้ง ผลก็คือเธอทำงานไม่ได้และ
น่ารักอยู่บ้านก็ไม่เป็นสุข นับวันเหตุการณ์จะยิ่งน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ “เธอเป็นหนี้ฉันอยู่” เขามัก
ลำเลิกบุญคุณเช่นนี้เสมอ

กายาเนแจ้งให้บริษัทโทรศัพท์ทราบซึ่งได้จัดการบล็อกสัญญาณให้ ระบบฝากข้อความจะ
สอบถามชื่อผู้โทรฯ เข้าก่อนเพื่อให้กายาเนตัดสินใจว่าจะรับสายหรือไม่ วิธีนี้ช่วยให้เธอ
ค่อยสบายใจได้บ้าง

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 14, 2021 9:43 pm

(+)หนีไม่พ้น(+) ตอนที่ (2)
จากอหนังสือสรรสาระ ฉบับเดื​อนกรกฎาคม 2006
โดย แมรี่ เอ.ฟิสเชอร์ เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

วันหนึ่ง กายาเนขับรถฝ่าการจราจรมุ่งหน้าไปรับเพื่อนที่สนามบินซึ่งหาที่จอดรถยาก
เหมือนปกติ หลังเหตุการณ์ระเบิดตึกเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เจ้าหน้าที่
ก็นำเครื่องกีดขวางทำด้วยคอนกรีตมาวาง และกำหนดเส้นทางเดินรถใหม่ซึ่งเพิ่ม
ความยุ่งยากให้ผู้โดยสารทั้งขาเข้าและออก ส่งผลให้การจราจรตรงทางเข้าออกที่จอดรถ
คับคั่งยิ่งขึ้น ขณะที่กายาเนขับรถวนหาที่จอดอยู่นั้น เธอสังเกตเห็นรถเก๋งสีดำตามมา

หลังจากนั้น อาราก็ไปปรากฏตัวในที่ทำงานของกายาเนและที่บ้านแม่ของเธอ เขานั่ง
รออยู่ในรถซึ่งจอดอยู่ริมถนนที่เธอผ่านเป็นประจำทุกเช้า เขาอดทนเฝ้ารอเพื่อจะจ้องดู
เธอขณะขับรถผ่านหน้าไป

ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2004 ขณะที่กายาเนมองออกไปนอกหน้าต่างห้องทำงาน เธอก็
เห็นรถคันหนึ่งจอดอยู่หลังรถของเธอ มีผู้ชายนอนอยู่ใต้ท้องรถ กายาเนรุดไปถามว่า
ชายผู้นั้นกำลังทำอะไร

อาราลุกขึ้นยืน แล้วบอกว่ารถของเขาเสียและกำลังซ่อมอยู่ คำพูดฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่กายาเน
สังเกตเห็นนิ้วของเขามีเลือดซิบ ๆ แถมมีสายไฟยื่นออกมาจากใต้รถของเขา เธอคิดว่าบางที
เขาอาจพูดความจริง ทั้งสองพูดกันอีก 2-3 คำก่อนอาราจะจากไป

สองคืนต่อมาประมาณ 22.00 น. กายาเนเห็นแสงไฟจาง ๆ เคลื่อนที่จากขวาไปซ้ายอยู่ที่นอก
หน้าต่างห้องนั่งเล่น พอลุกไปดูเธอก็ตกใจจนรู้สึกชาวูบไปทั้งตัวเพราะเธอเห็นอารายืนถือ
โทรศัพท์มือถือเรืองแสงอยู่ในความมืด กายาเนรีบปิดม่านบังตา เขาพยายามโทรศัพท์หา
เธออย่างไม่ลดละ แต่เนื่องจากมีการบล็อกสัญญาณไว้แล้ว เธอจึงเลือกไม่รับสายได้ แต่ตอนนี้
เขามาดักซุ่มอยู่ด้านนอกและข่มขวัญเธออยู่หน้าประตูนี่เอง

ด้วยความขวัญเสีย เธอยกหูโทรศัพท์ขึ้นและพูดว่า “บอกแล้วไงว่าอย่าโทรฯ มาหาฉันอีก
ไปให้พ้นจากหน้าบ้านฉันเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นฉันจะโทรฯเรียกตำรวจ” คืนนั้นเธอพยายามข่มตานอน
แต่ไม่สำเร็จ เธอลุกขึ้นมาดูอยู่หลายครั้งด้วยความกลัวว่าเขาอาจยังซุ่มอยู่นอกบ้าน

เช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่กายาเนเป่าผมให้แห้งอยู่ในห้องน้ำชั้นสอง เธอก็เห็นเงาคนอยู่ที่หน้าต่าง
ระเบียง แสดงว่าเขาต้องปีนรั้วขึ้นมา

อาราเริ่มทุบหน้าต่างด้วยกำปั้น ดูเหมือนเขาจะเพิ่มความรุนแรงไปอีกขั้น กายาเนรีบโทรศัพท์
แจ้งตำรวจซึ่งบอกว่าจะส่งสายตรวจมาดูทันที แต่กายาเนไม่กล้ารอ เธอรีบคว้ากระเป๋าเงินและ
กระโดดขึ้นรถทันที อาราขับไล่ตามและพยายามปาดหน้าให้เธอหยุด ขณะที่เธอหนีเอาตัวรอด
อยู่นั้น รถสายตรวจก็เร่งรุดมาที่บ้านเธอทำให้อาราต้องหยุดรถก่อนจะขับหนีไป

ในวันเดียวกันนั้น กายาเนไปที่ทำงานด้วยความหวังว่าสภาพความจอแจของบริเวณนั้นจะช่วย
ป้องกันไม่ให้อาราทำอะไรรุนแรง แต่เขาก็ยังแกะรอยเธอไปจนถึงที่ทำงานแถมยังขับรถวนเวียน
อยู่หน้าตึกนานหลายชั่วโมง พร้อมกับโทรฯ ไปที่ทำงานของเธอ

ในที่สุด กายาเนก็ต้องรับโทรศัพท์เพราะทนรำคาญไม่ไหว “ถ้าคุณโทรฯ แจ้งตำรวจ” อารากล่าว
“คุณก็เลือกเอาว่าจะเป็นของผม หรือว่าเราสองคนจะพบจุดจบด้วยกัน”

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 16, 2021 11:11 pm

(+)หนีไม่พ้น(+) ตอนที่ (3) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม​ 2006
โดย แมรี่ เอ.ฟิสเชอร์ เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

กายาเนกลัวสุดขีดจนต้องตรงไปที่บ้านน้องสาว จากนั้นด้วยความสังหรณ์ใจ
เธอก็ลองโทรฯ กลับไปที่บ้านของตัวเอง ปรากฏว่าอารารับสาย

“ใช่ ผมอยู่ที่นี่” เขาบอก “เพราะคุณไม่ยอมรับโทรศัพท์ผม ผมก็จะโทรฯไปหา
ด้วยเบอร์คุณเอง สิ่งที่ผมทำอยู่นี้เป็นแค่เศษเสี้ยวเท่านั้น ถ้าผมใช้ความพยายาม
เต็มร้อย รับรองว่าตายน่ะสบายกว่าเยอะ”

การคุกคามยังคงดำเนินต่อไปทำให้กายาเนเครียดจัด กระทั่งวันรุ่งขึ้น เธอจึงรู้ความจริง
วันนั้นเป็นวันที่ 29 สิงหาคม 2004 นับเป็นวันที่สี่หลังจากเธอเห็นอารานอนอยู่ใต้รถของเธอ
กายาเนจอดรถลงไปดูใต้ท้องรถ จากนั้นก็โทรฯ แจ้งตำรวจทันที

พอเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงก็รีบตรวจสอบและพบกล่องสีดำใบหนึ่งติดอยู่กับโครงรถด้วย
แม่เหล็ก ในกล่องนั้นคือโทรศัพท์มือถือที่มีระบบสืบค้นตำแหน่งได้ทั่วโลก มือถือนี้จะเริ่ม
ทำงานทุกครั้งที่รถเคลื่อนที่ สัญญาณจะถูกส่งไปที่ดาวเทียมก่อนส่งต่อไปที่เว็บไซต์ทำให้
อารารู้ว่ากายาเนอยู่ที่ไหน

ตำรวจสันนิษฐานว่า ตอนที่กายาเนจับได้ว่าอารามานอนอยู่ใต้รถของเธอ เขาคงกำลังจะ
เปลี่ยนแบตเตอรี่มือถือ

นักสืบจับกุมตัวอาราซึ่งถูกตั้งข้อหาคุกคามและขู่กรรโชกหลายกรรมหลายวาระ ถ้าถูกตัดสิน
ว่าผิด เขาอาจต้องรับโทษจำคุกถึง 6 ปี

ตำรวจได้หลักฐานเพิ่มเติมอีกหลายอย่างในรถของอาราที่เบาะหน้า มีรายละเอียดเส้นทาง
การขับรถในเมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก เพราะกายาเนมีแผนจะไปพักผ่อนที่นั่น วีซ่าของ
อาราหมดอายุแล้วจึงขึ้นเครื่องบินไม่ได้ เขาวางแผนจะขับรถไปแคนคูนซึ่งระยะทางไปกลับ
รวมกว่า 4,600 กิโลเมตร ตำรวจลงความเห็นว่า นี่คือส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่ต้องการ
ควบคุมชีวิตเหยื่ออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ซึ่งอาจ
ลุกลามไปสู่การฆาตกรรมเหยื่อและฆาตกรฆ่าตัวตายตาม

เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าพฤติกรรมของกายาเนตลอดจนการที่เธอไม่อยากแจ้งตำรวจทั้งที่
ถูกคุกคามอยู่นาน คงเป็นเพราะกายาเนเกรงว่าจะยิ่งเป็นการยั่วยุอาราซึ่งเป็นลักษณะทั่วไป
ของคดีคุกคามในลักษณะนี้

สิ่งที่แตกต่างคือ วิธีการของผู้คุกคาม นับเป็นคดีแรกในเขตลอสแอนเจลิสที่มีการดำเนินคดี
กับผู้ต้องหาที่ใช้วิธีการแบบไฮเทค ปกติแล้วระยะค้นหาตำแหน่งผ่านดาวเทียมที่บรรจุไว้ใน
มือถือและในรถยนต์หลายรุ่นนั้น มีไว้เพื่อให้คนขับค้นหาเส้นทางไปยังจุดหมายของตน
นอกจากนี้ยังมีประโยชน์สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในการติดตามผู้ต้องสงสัย
และช่วยให้เจ้าหน้าที่แผนกกู้ภัยรู้ว่า ผู้โทรฯหมายเลขฉุกเฉินอยู่ที่ตำแหน่งใด

ในการไต่สวนมูลฟ้องต่อมา อารานั่งอยู่กับทนายประจำตัวพร้อมกับจ้องดูกายาเนขณะที่
เธอเบิกความเกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้าย ท้ายที่สุด อาราไม่ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องการ
คุกคามอยู่หนึ่งกรรมและการขู่กรรโชกอีกหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการพิจารณาในศาล
ในที่สุด เขาถูกตัดสินให้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 16 เดือน อารารับโทษอยู่ไม่ถึงปีก็ได้รับการ
ปล่อยตัว และถูกส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคนเข้าเมืองดำเนินการต่อไป
อาราถูกเนรเทศกลับไปอาร์เมเนียใน เดือนสิงหาคม 2005

******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 16, 2021 11:16 pm

"กูเกิล (Google)​ช่วยให้ลูกสาวฉันรอดจากตาบอด"
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2006
โดย The Gardian เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

มาทิลดา ลูกสาวฉันเกิดมาพร้อมกับปื้นสีชมพูซีดเหนือดวงตาและหน้าผาก หมอบอกว่า
“เป็นรอยกดจากการคลอดที่ลำบาก”

3 สัปดาห์ต่อมา ปื้นนั้นกลายเป็นสีแดงเข้มขยายไปถึงตีนผมและทับตาขวา หมอบอกว่า
“ไม่มีอะไรน่าห่วง” แต่ทว่าปื้นนั้นก็ยังโตขึ้นเหมือนสิ่งประหลาด

หมอคงอยากให้ฉันเลิกถามเรื่องปื้นเสียที จึงนัดให้พบแพทย์ผิวหนัง แต่ในสมุดบันทึก
สุขภาพ เด็กลงไว้ว่า “ไม่มีปัญหา”

ฉันรู้สึกจนปัญญาจึงไปค้นทางอินเทอร์เน็ตดูคำว่า “ตำหนิที่มีมาแต่กำเนิด” (Birthmark)
ทางเว็บไซต์กูเกิล ไม่กี่นาทีต่อมาฉันก็เห็นภาพที่เหมือนกับอาการของลูก จึงส่งอีเมลอาการ
ของมาทิลดาไปที่กลุ่มให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับตำหนิแต่กำเนิด (Birthmark Support Group)

2 ชั่วโมงต่อมา ฉันได้รับโทรศัพท์จากผู้ปกครองรายหนึ่งที่ช่วยจัดการให้หน่วยดูแลตำหนิแรก
เกิดของโรงพยาบาลเด็ก “Great Ormond Street Hospital” โทรฯมาหาเรา บอกให้รีบไป
โรงพยาบาลด่วนที่สุด

9 ชั่วโมงต่อมา ลูกสาวฉันได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “อาการเนื้องอกผิดปกติชนิดที่ไม่ค่อยพบบ่อย”
หากไม่ได้รับการรักษาทันที เธออาจตาบอดได้ซึ่งย่อมทำให้ลูกต้องทุกข์ทรมานกับอาการผิดปกติ
ไปอีกนาน ผู้ให้คำปรึกษาตื่นเต้นมากที่สามารถช่วยรักษาเนื้องอกนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
เนื่องจากแต่ละปีเขาเห็นเด็กจำนวนมากที่น่าจะมีโอกาสรักษาได้ กลับถูกลดโอกาสเพราะ
การวินิจฉัย จะผิดและส่งตัวไปรักษาต่อไม่ทัน

มาทิลดารอดพ้นจากการมองไม่เห็นและเนื้องอกก็จางลงไป นับเป็นโชคดี นี่ยังไม่ได้คิดถึงเวลา
ที่เธอเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น เธอโชคดีจริง ๆ เพราะอาการที่คล้ายกันอย่างนี้มีอันตรายถึงชีวิตโดยที่
หมอส่วนใหญ่มีโอกาสพบคนไข้โรคนี้แค่ครั้งหรือสองครั้งเท่านั้นในชีวิตการทำงาน

ฉันไม่เคยตำหนิคนที่สงสัยหมอของตัวเองแล้วหันไปหาข้อมูลทางกูเกิล
เพราะเมื่อระบบสุขภาพไม่สามารถช่วยคุณได้ อินเทอร์เน็ตก็เป็นเหมือน
หนทางแห่งแสงสว่างอีกทางหนึ่ง

******************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 17, 2021 3:25 pm

(*)ฉันยังไม่ตาย ตอนที่ (1)
ย่อจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกันยายน 2006
และวิกิพีเดีย 2021 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

วันนั้นเป็นวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 1985 ก่อนหน้านั้นเราพูดเล่นกันว่า แย่จริงที่ทีมแชมป์รักบี้
ของเราจะต้องบินข้ามเทือกเขาแอนดิส (ยาว 7000 กม., ยอดสูงสุด 22,838 ฟุต) ในวันไม่ดี
คือวันศุกร์ที่ 13 เราบินจากกรุงมอนเตวิเดโอ (Montevideo) บ้านเกิดในประเทศอุรุกวัย
มุ่งหน้าไปยังกรุงซันติอาโก ประเทศชิลีเพื่อไปชิงทีมที่หนึ่งที่นั่น บนเครื่องบินมีผู้โดยสาร 45 คน
ซึ่งรวมลูกเรือ 5 คน ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นเพื่อนร่วมทีมรักบี้และมีสมาชิกในครอบครัวด้วย

ตอนนั้นผม (นันโด : Nando Parrado) อายุได้ 22 ปีนั่งติดหน้าต่างบนเครื่องบินแบบใบพัด 2
เครื่องยนต์ (รุ่นFairchild FH-227D) ของกองทัพอากาศอุรุกวัยโดยมีแม่ผมและซูซี่น้องสาว
ร่วมเดินทางไปด้วย เนื่องจากเครื่องบินที่เราเช่าเหมาลำมีขนาดเล็ก มีเพดานบินสูงสุดเพียง
22,500 ฟุต จึงไม่สามารถใช้เส้นทางบินตัดตรงเหนือเทือกเขาได้ และต้องเลือกเส้นทางบิน
อ้อมไปทางใต้เพื่อบินผ่านช่องเขาแคบ ๆ ทะลุผ่านเทือกเขาแอนดิส

“กรุณารัดเข็มขัดด้วยครับ” พนักงานบนเครื่องบินบอกเราขณะที่เครื่องบินโยนตัวขึ้น ๆ ลง ๆ
ท่ามกลางอากาศแปรปรวน ผมมองออกไปนอกหน้าต่างเห็นหุบเขาน้ำแข็งและหน้าผาสูงชัน
อยู่ห่างไป ไม่ไกลนัก แม้ในช่วงเวลานั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกใต้แล้ว แต่อุณหภูมิบนเทือก
เขาแอนดิส ยังอยู่ที่ติดลบ 37 องศาเซลเซียส ผมนึกถึงพ่อที่มาส่งพวกเราที่สนามบินและพูดก่อน
จากพวกเราไปว่า “ขอให้สนุกนะ แล้ววันจันทร์พ่อจะมารับ”

ตอนนี้เราบินเข้าไปในกลุ่มเมฆหนาทึบ ช่วงเวลาที่ผมมองผ่านเมฆที่เว้นระยะห่างออกไปก็เห็น
กำแพงหินและหิมะ ทันใดนั้นเครื่องบินโยนตัวอย่างแรง ผมเห็นปลายปีกที่สั่นไหวอยู่ห่างจาก
หน้าผา เพียง 7-8 เมตร เครื่องยนต์ส่งเสียงกรีดแหลมเมื่อนักบินพยายามไต่ขึ้นจนลำตัวเครื่องบิน
สั่นกระชากพร้อมกับได้ยินเสียงหวีดแหลมของโลหะบดขยี้ ผมมองเห็นท้องฟ้าเปิดโล่งอยู่เหนือ
ศีรษะและก้อนเมฆม้วนตัวนำอากาศเย็นจัดปะทะใบหน้า ไม่มีเวลาทำความเข้าใจหรือสวดภาวนา
ใด ๆ ทั้งสิ้น ผมถูกแรงมหาศาลดุจมือยักษ์จับเหวี่ยงจากที่นั่งไปยังด้านหน้าของเครื่องบิน ณ ที่นั้น
ผมตก ลงมาสู่ความมืดมิดและเงียบงัน

ผมนอนไม่ได้สติ ใบหน้าอาบเลือดและเป็นรอยฟกช้ำดำเขียว เพื่อนร่วมทีมที่รอดชีวิตจับชีพจร
และประหลาดใจที่หัวใจผมยังเต้นอยู่ แต่สภาพของผมคงดูสาหัสมากจนพวกเขาเลิกหวัง

ลำตัวเครื่องบินตกลงมากองอยู่บนธารน้ำแข็ง ผมนอนสลบและไม่มีโอกาสรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจน
ย่างเข้า วันที่สาม สายตาของผมเริ่มเห็นแสงสว่างเหมือนนักดำน้ำค่อย ๆ ว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำ เพื่อน
ร่วมทีมคนหนึ่ง ยื่นหิมะมาแตะริมฝีปากผม... หิมะเย็นเฉียบบาดลำคอแต่ร่างกายผมแห้งผากจน
ต้องงับหิมะไว้ทั้ง ก้อนและร้องขออีก ผมได้ยินเสียงครางและเสียงร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดอยู่
รอบตัว ไม่นานต่อมาผมก็รู้ว่าแม่ผมเสียชีวิตแล้ว แต่น้องสาวบาดเจ็บสาหัสอยู่ท้ายเครื่องบิน
ส่วนตัวผมเองก็กะโหลกศีรษะแตก ผู้โดยสาร 13 คนเสียชีวิต ที่เหลือรอดอีก 32 คนซึ่งหลายคน
บาดเจ็บสาหัส

ผมอยากจะร้องไห้แต่มีเสียงหนึ่งพูดว่าอย่าร้องไห้ น้ำตาทำให้ร่างกายเสียเกลือ
เราต้องการเกลือ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดได้ พวกเขาจากไปแล้ว จงมองไปข้างหน้า
คิดให้รอบคอบแล้วเราจะรอดชีวิตได้

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 18, 2021 11:09 pm

(*)ฉันยังไม่ตาย ตอนที่ (2)
ย่อจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกันยายน 2006
และวิกิพีเดีย 2021 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ซูซี่น้องสาวนอนอยู่ตรงนั้น เลือดไหลเป็นทางบนหน้าผาก ใบหน้าเธอเช็ดล้างแล้ว
เพื่อน ๆ ช่วยกันยกตัวผมไปวางข้างเธอ ผมเอาแขนโอบรอบตัวน้องพร้อมกับกระซิบ
ว่า “พี่นันโดอยู่กับน้องแล้ว” เธอหันมาจ้องมองผม แต่แววตาของเธอช่างเลื่อนลอยจน
ผมไม่แน่ใจว่าน้องรู้หรือไม่ว่าเป็นผม ผมโอบตัวน้องไว้เพื่อปกป้องเธอจากความหนาว
และนอนอยู่กับเธออีกหลายชั่วโมง

ในช่วงวันแรก ๆ เราทุกคนเชื่อว่าหน่วยกู้ภัยคือโอกาสเดียวของเราในการรอดชีวิต
ขณะที่ยามบ่ายเคลื่อนคล้อยไป อากาศหนาวจับจิตก็รุกคืบเข้ามาอย่างทารุณ บางคน
ไปหาที่นอนในลำตัวเครื่องบิน ผมทนทรมานตลอดทั้งคืน สูดลมหายใจที่เย็นเป็นน้ำแข็ง
พอรู้สึกว่าจะทนต่อไปไม่ไหว ผมก็ดึงซูซี่เข้ามาใกล้ตัว ความคิดที่ว่าผมกำลังคุ้มครองน้อง
ช่วยให้ผมมีสติ

วันที่แปดที่เราอยู่บนภูเขา ผมนอนเอาแขนโอบตัวน้องไว้ พลันก็เห็นแววกังวลจางไปจาก
ใบหน้าเธอ ลมหายใจของซูซี่เริ่มแผ่วแล้วก็หยุด ผมกลั้นสะอื้นและบอกตัวเองว่าต้องไม่
ร้องไห้ “น้ำตาจะทำให้เสียเกลือ” ผมกล่าวคำสาบานในใจต่อพ่อ​ ซึ่งผมรู้ว่ากำลังรอผมอยู่
“ผมจะสู้ ผมจะกลับบ้าน ผมสัญญา ผมจะไม่ตายอยู่ที่นี่”

ตอนนี้เหลือผู้รอดชีวิต 27 คน (จาก 45 คน) เรานำหิมะมาละลายเป็นน้ำดื่ม นอนเคียงข้างกัน
เพื่ออาศัยไออุ่นของกันและกัน

2-3 วันต่อมา กัปตันทีมรักบี้สั่งให้พวกเรานำอาหารมารวมกัน อาหารที่เหลือทั้งหมดมีเพียง
ช็อกโกแลต 3 แท่ง ถั่ว ขนมปังกรอบและผลไม้แห้ง แยมกระปุกเล็ก ๆ กับเหล้า 2 ขวดเขา
จัดการแบ่งอย่างเข้มงวด

เสร็จแล้วผมก็ไปยืนอยู่ข้างนอกตัวเครื่องบิน ผมก้มลงมองถั่วเคลือบช็อกโกแลตเม็ดเดียว
ในอุ้งมือ ชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะของผมที่แตกเริ่มประสานเข้าด้วยกัน แผลของผมกำลังจะ
หายเองอย่างน่าประหลาด จิตใจของผมเรียบง่ายมากขึ้น อาหารของเราหมดลงแล้ว ถั่วเม็ด
นี้จะเป็นอาหารชิ้นสุดท้ายที่ผมได้รับและผมตั้งใจจะทำให้มันอยู่นานวันที่สุด ผมค่อย ๆ ดูด
กินช็อกโกแลตที่เคลือบถั่ว จากนั้นก็เก็บถั่วไว้ในกระเป๋ากางเกง วันต่อมา ผมแบ่งถั่วออกเป็น
ครึ่งซีก เก็บครึ่ง หนึ่งลงกระเป๋า แล้วเอาอีกครึ่งมาใส่ปาก ผมค่อย ๆ ดูดถั่วอยู่นานหลายชั่วโมง
และทำอย่างเดียวกันในวันต่อมา จนในที่สุดผมก็กัดเล็มเม็ดถั่วจนเกลี้ยง

จุดที่เครื่องบินตกอยู่ในระดับความสูง 3,750 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สำหรับนักปีนเขาในระดับ
ความสูงนี้ร่างกายต้องการพลังงานจำนวนมากถึงวันละ 10,000 แคลอรี​ เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้
เท่าเดิม แม้พวกเราไม่ได้ปีนเขาแต่ร่างกายก็ต้องการพลังงานมากกว่าปกติ แต่ขณะนี้ปริมาณ
อาหารที่บริโภคของพวกเราลดลงเป็นศูนย์ (0) พวกเราซึ่งก่อนหน้าอุบัติเหตุเป็นคนหนุ่มที่บึกบึน
และปราดเปรียว แต่ขณะนี้ผมเห็นพวกเราเริ่มผอมและซูบลงอย่างชัดเจน

ท่ามกลางความสิ้นหวัง เราทดลองกินเส้นหนังที่ฉีกออกจากกระเป๋าสัมภาระ ฉีกเบาะที่นั่งออกโดย
หวังว่าจะมีเส้นหญ้าฟางปะทังชีวิต แต่กลับพบแต่โฟมที่ใช้ทำเครื่องเรือน สรุปได้ว่าไม่มีอะไรที่กินได้
หลงเหลืออยู่เลย... แต่ความจริงยังมีอาหารอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งบาง ๆ ซึ่งเป็นที่อยู่ของศพพวกที่ตาย
ไปแล้วนั่นไง

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 19, 2021 10:17 pm

(*)ฉันยังไม่ตาย ตอนที่ (3)
ย่อจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกันยายน 2006
และวิกิพีเดีย 2021 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ช่วงตอนบ่ายแก่ ๆ ของวันที่พวกเราทดลองกินกระเป๋าสัมภาระ สายตาผมมองไปที่
บาดแผลขาของเด็กชายคนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ แล้วสายตาของผมก็ประสานกับสายตา
ใครบางคนซึ่งก็จ้องมองอยู่เช่นกัน เราอ่านความคิดของกันและกัน แล้วเมินไปทางอื่น
ด้วยความละอายแก่ใจ แต่บางอย่างได้เกิดขึ้นแล้ว ผมนึกได้ว่าเนื้อมนุษย์คืออาหารเช่นกัน
และเป็นความหวังเดียวของการอยู่รอด แต่ผมรู้สึกตระหนกจนต้องเก็บความรู้สึกเอาไว้เงียบ ๆ

ในที่สุด ผมก็ไม่สามารถเก็บปากเก็บคำได้อีกต่อไป คืนหนึ่ง ผมสารภาพกับเพื่อนที่นอน
อยู่ข้าง ๆ “นายหลับหรือยัง” ผมกระซิบถามเขา

“ยัง” เขาพึมพำ “ใครจะหลับลงล่ะ หนาวจะตายอยู่แล้ว”

“นายหิวไหม”

“นายว่าไงนะ ฉันไม่ได้กินอะไรมาตั้งหลายวันแล้ว” เขาสบถ

“เรากำลังจะอดตายอยู่ที่นี่” ผมพูด “ฉันไม่คิดว่าหน่วยกู้ภัยจะหาเราเจอทันเวลา แต่ฉันจะไม่ตาย
อยู่ที่นี่ ฉันสาบานไว้แล้วว่าจะต้องกลับบ้านให้ได้”

“นันโด นายจะทำอะไรได้ แต่ที่นี่ไม่มีอาหาร” เขาตอบ

“มีสิ” ผมตอบ “นายรู้ว่าฉันหมายถึงอะไร”

เขาขยับตัวไปมาในความมืด แต่ไม่พูดอะไร

“ผมจะตัดเนื้อนักบิน” ผมกระซิบ “เขาเป็นคนพาเรามาที่นี่ บางทีเขาอาจจะช่วยให้เราออกไปได้...
พวกเพื่อนเราก็ไม่ต้องการร่างกายของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว”

วันต่อ ๆ มา เพื่อนคนที่ผมกระซิบคุยด้วยเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้บางคนฟัง 2-3 คนยอมรับว่ามีความคิด
อย่างเดียวกัน มีการถกเถียงกันถึงเรื่องนี้ ที่สุดในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม ก็มีการเรียกประชุมและ
นำประเด็นนี้มาพูดกันอย่างเปิดเผย ผู้นำการประชุมกล่าวว่า “เรากำลังจะอดตายกัน ถ้าในเร็ววันนี้
เราไม่ได้กินโปรตีนบ้าง เราก็จะตาย และโปรตีนอย่างเดียวที่มีในที่นี้อยู่ในร่างของเพื่อน ๆ”

หลายคนทำหน้าฉงนและให้เหตุผลว่า “แต่ว่าการทำอย่างนี้จะเป็นบาปแปดเปื้อนวิญญาณของเราไหม
พระเจ้าจะทรงยกโทษให้การกระทำนี้ไหม”ผู้นำการประชุมตอบไปว่า “ถ้านายไม่กิน นายก็เลือกที่
จะตาย พระเจ้าจะให้อภัยหรือไม่นะหรือ ฉันเชื่อว่าพระองค์ต้องการให้เราทำสิ่งที่เราสามารถทำได้
เพื่อให้มีชีวิตรอด”

การสนทนาดำเนินต่อไปอีกหลายชั่วโมงและก็ได้ข้อสรุปเป็นเอกฉันท์ หลังจากนั้น เราทั้งหมดก็ชะโงก
ตัวมาข้างหน้า จับมือกันและให้คำมั่นว่า “ถ้าใครคนใดตายลงที่นี่ คนที่เหลือจะใช้ร่างของคนคนนั้น
เป็นอาหารได้”

พอให้คำมั่นเสร็จ เราก็ต้องเผชิญกับงานส่งเสบียงที่น่าขนหัวลุก ผู้นำการประชุมรับผิดชอบงานนี้
เขาไปรื้อค้นทั่วตัวเครื่องบินและพบเศษแก้วคม ๆ จากนั้นเขาก็นำผู้ช่วยอีก 3 คนออกไปยังสุสานน้ำแข็ง
เมื่อกลับมา พวกเขามีชิ้นเนื้อเล็ก ๆ อยู่ในมือ

ผมรับเนื้อมาชิ้นหนึ่ง แข็งเหมือนไม้และเย็นจัด ผมเตือนตัวเองว่าสิ่งที่ผมถืออยู่นี้ไม่ใช่ชิ้นส่วนของ
มนุษย์อีกต่อไปเพราะวิญญาณออกจากร่างของเขาไปแล้ว

โปรดติดตามตอนที่ (4) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ธ.ค. 20, 2021 7:02 pm

(*)ฉันยังไม่ตาย ตอนที่ (4)
ย่อจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกันยายน 2006
และวิกิพีเดีย 2021 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

คืนนั้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่เครื่องบินตกที่ผมเริ่มมีความหวังริบหรี่ เราค้นพบความกล้า
ที่จะเผชิญกับความน่าหวาดหวั่นชนิดที่นึกไม่ถึง ทุกคนรู้ว่าการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด
คงจะน่าชิงชังกว่าที่เราวาดภาพไว้ แต่ในความเศร้านี้แหละผมรู้ว่า ผมย่างเท้าก้าวแรก
กลับไปหาพ่อแล้ว

เราตรู่วันรุ่งขึ้น เราทราบข่าวจากวิทยุทรานซิสเตอร์ที่ทำเองง่าย ๆ ว่า ทางการชิลีระงับ
การค้นหาผู้รอดชีวิตแล้ว ผู้ประกาศข่าวบอกว่า ความพยายามค้นหาผู้เคราะห์ร้ายท่าม
กลางเทือกเขาแอนดิสเป็นอันตรายเกินไป หลังใช้ชีวิตอยู่บนเทือกเขาที่หนาวจัดขนาดนั้น
ไม่มีโอกาสที่ใครจะยังคงรอดชีวิตอยู่ได้

หลังจากนิ่งอึ้งไปชั่วขณะ พวกเราหลายคนก็โพล่งออกมาว่า “พวกเขายกเลิกการค้นหาหรือนี่..
พวกเขาทอดทิ้งพวกเราไปแล้ว”

หลังจากอดทนมาจนถึงเย็นวันที่ 11 ธันวาคม (วันที่ 60 ของเราบนเทือกเขาแอนดิส)
ผมก็ออกมายืนอยู่นอกซากเครื่องบิน มองออกไปที่เทือกเขาดำทะมึนทางทิศตะวันตกเบื้องหน้า
เป็นเทือกเขาสูงที่ขวางกั้นพวกเราไว้ ผมกลัวจะลื่นไถลตกเขาขณะไต่ลงไปตามหน้าผา
แต่ “อาหาร” ก็เกือบจะหมดแล้ว และเมื่อหมดแล้วทุกคนที่เหลือก็จะเริ่มต้นรอให้ใครสักคน
ตายลง...ใครเล่าจะเป็นคนตายก่อน และคนที่อยู่สุดท้ายจะมีสภาพเป็นอย่างไร...ที่สุดผมก็
สรุปว่าการเสี่ยงอันตรายจากการลื่นตกภูเขาคงไม่เลวร้ายกว่าอนาคตหาก​ ผมยังขืนรออยู่
ที่นี่ต่อไป

ค่ำคืนนั้น ผมล้มตัวลงนอนกับเพื่อน ๆ ในเครื่องบินเป็นครั้งสุดท้าย พยายามข่มตาให้หลับ
เพราะรุ่งเช้า ผมก็พร้อมที่จะเดินจากไป

ผมสวมกางเกงยีน 3 ตัว เสื้อสเวตเตอร์ 3 ตัวทับเสื้อเชิ้ตคอโปโลและสวมถุงเท้า 4 คู่โดยมี
ถุงพลาสติกหุ้มถุงเท้ากันเปียก ใส่รองเท้ารักบี้แล้วดึงหมวกแก๊ปขนสัตว์ครอบศีรษะไว้
มีเนื้อดิบที่ปันส่วนกับของจิปาถะอีกเล็กน้อย โรแบร์โตกับอันโตนีโอแต่งตัวเสร็จและจะไปกับ
ผมด้วย ขณะนั้นในซีกโลกใต้เป็นฤดูใบไม้ผลิ อุณหภูมิอยู่เหนือจุดเยือกแข็งเล็กน้อย เหมาะ
สำหรับการปีนเขาเพราะลมไม่แรง และท้องฟ้าเป็นสีครามสดใส

หลังจากบอกลาเพื่อน ๆ แล้ว เราทั้งสามก็เดินบนพื้นหิมะในชุดเสื้อกันหนาวอนาถาอยู่ 3 วัน
จนมาถึงยอดของภูเขายอดแรก หลังจากประเมินสภาพของพวกเราและระยะทางอีกไกล
ในการเดินลงเขา เราก็ตัดสินใจส่งอันโตนีโอกลับเพราะเราต้องการอาหารส่วนของเขาเพื่อ
ไปต่อให้ถึงชิลี และผมกับโรแบร์โตก็เป็นนักไต่เขาที่แข็งแรงกว่า ก่อนจากกันผมบอกเขาว่า
“จำไว้นะ เราจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเสมอ ถ้าหน่วยกู้ภัยมา ส่งพวกเขาไปตามหาเราด้วย”

เช้าวันที่ 19 ธันวาคม หลังจากเดินกันมาหลายชั่วโมง พื้นรองเท้าของผมก็อ้าออก อุณหภูมิอุ่นขึ้น
ในบริเวณที่ลดระดับลงมาในขณะนั้น เราจะไม่เสี่ยงกับการหนาวตายหรือการตกเขาอีกต่อไป
ตอนสายวันนั้น เราเห็นต้นไม้ไกลออกไปข้างหน้าในหุบเขา ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา โรแบร์โตก้มตัว
ลงหยิบกระป๋องซุปขึ้นสนิมขึ้นมาพร้อมกับพูดขึ้นว่า “เคยมีคนอยู่ตรงนี้”ขณะเดินต่อไป เราก็พบ
ร่องรอยที่อยู่อาศัยของมนุษย์มากขึ้น เป็นต้นว่า มูลวัว ขี้ม้า ตอไม้ที่มีรอยขวานจาม ขณะที่เดินพ้น
โค้งแห่งหนึ่ง เราก็เห็นวัวฝูงเล็ก ๆ ห่างไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร “ต้องมีบ้าน โรงนา หรืออะไรสักอย่าง
ใกล้ ๆ นี้แน่นอน” โรแบร์โตพูด

บ่ายวันต่อมา ผมทิ้งโรแบร์โตซึ่งเจ็บขามากไว้บนเนินหญ้า แล้วผมก็เดินต่อไปตามโตรกธาร
ผมเห็นวัวเล็มหญ้าอีกครั้งหนึ่ง แต่พอเดินไปเกือบ 300 เมตรก็เห็นลำน้ำสายใหญ่ไหลเชี่ยวอีก
สายหนึ่ง เราถูกตัดขาดที่จุดบรรจบของลำน้ำใหญ่ 2 สายซึ่งคงไม่มีทางข้ามได้

ผมกลับไปหาโรแบร์โต เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เห็น ท้องฟ้าเริ่มจะมืดและอากาศก็หนาวเย็นขึ้น

“ฉันจะออกไปหาไม้ฟืนสักหน่อย” ผมพูด แต่พอเดินตัดทุ่งหญ้าไปได้ไม่กี่เมตร ผมได้ยินโรแบร์โต
ตะโกนขึ้นว่า “นันโด มีคนขี่ม้า” เขาชี้มือไปที่หน้าผาตรงสุดปลายลำธาร

ผมวิ่งล้มลุกคลุกคลานลงไปตามเนินเขาก่อนจะเห็นชาย 3 คนขี่ม้ามา คนหนึ่งตะโกนมา แต่เสียง
ครึกโครมของน้ำกลบคำพูดส่วนใหญ่ของเขาไปหมด ได้ยินแต่คำว่า “mañana” (มาญาน่า : พรุ่งนี้)

เรากลับไปที่จุดพักแรมแล้วล้มตัวลงนอน ใจผมตอนนี้เปลี่ยนไปเป็นห่วงคนที่เราทิ้งไว้ข้างหลัง
ความผมที่หมกมุ่นอยู่กับการเอาชีวิตรอดทำให้ผมแทบไม่ได้นึกถึงพวกเขาเลยตั้งแต่ออกเดินมา
จากจุดที่เครื่องบินตก

โปรดติดตามตอนที่ (5) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ธ.ค. 22, 2021 6:02 pm

(*)ฉันยังไม่ตาย ตอนที่ (5) (ตอนจบ)
ย่อจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกันยายน 2006 และวิกิพีเดีย 2021
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

วันรุ่งขึ้น วันที่ 21 ธันวาคม 1985 เราตื่นก่อนฟ้าสางและเหลือบมองข้ามลำน้ำออกไป
ใช่เลย ผู้ชาย 3 คนนั่งอยู่ข้างกองไฟ ผมวิ่งแล้วปีนลงไปที่ริมตลิ่ง บนตลิ่งอีกฟาก
ชายคนหนึ่งในกลุ่มซึ่งสวมชุดแบบชาวนาก็ทำแบบเดียวกัน ผมตะโกนพูดกับเขาแต่
เสียงน้ำกลบคำพูดของผมไปหมด

ชายผู้นั้นหยิบกระดาษจากกระเป๋าเสื้อมาเขียนหนังสือ จากนั้นใช้เชือกมัดกระดาษกับ
ก้อนหิน สอดดินสอเอาไว้กับเชือก แล้วขว้างก้อนหินข้ามแม่น้ำมา

ผมคลี่กระดาษออกอ่าน “เดี๋ยวจะมีคนมาอีก บอกผมด้วยว่าคุณต้องการอะไร”

มือผมสั่นขณะเขียนว่า “ผมมาจากเครื่องบินที่ตกในเทือกเขา ผมเป็นคนอุรุกวัย เราเดินมา
10 วันแล้ว ยังมีคนบาดเจ็บอยู่ที่เครื่องบินอีก 14 คน เราไม่มีอาหาร เราอ่อนเพลียมาก
คุณจะมาช่วยพวกเราได้เมื่อไร ได้โปรดเถอะครับ”

ผมขว้างกระดาษกลับไปด้วยกำลังที่เหลืออยู่น้อยนิด ก้อนหินเกือบไปไม่ถึงอีกฝั่ง พออ่านข้อ
ความเสร็จ เขาก็ชูฝ่ามือขึ้นสื่อให้ทราบว่า “รอตรงนั้น ผมเข้าใจแล้ว” ก่อนไป เขาโยนขนมปัง
มาให้ ผมแบ่งกับโรแบร์โต เราสวาปามหมดในพริบตา จากนั้นก็ตั้งตาคอย

ประมาณ 9.00 น. ผู้ชายอีกคนก็มา และหลังจากนั้น มีตำรวจชิลี 2 คนขี่ม้ามา

วันรุ่งขึ้น ทันทีที่หมอกจางลง ผมก็นำทางหน่วยเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยไปยังจุดเครื่องบินตก
ใจผมเต้นแรงเมื่อเห็นร่างคนตัวเล็ก ๆ ออกมายืนเป็นแถวอยู่นอกตัวเครื่องบิน แม้จะมองจาก
ระดับสูง ผมก็ดูออกว่าใครเป็นใครบ้างที่กำลังยืนรอคอยด้วยความหวังที่นั่นเราขึ้นเครื่องบิน
ไปยังฐานทัพแห่งหนึ่ง ทีมแพทย์และพยาบาลช่วยนำพวกเราไปยังโรงพยาบาล ขณะถอดเสื้อผ้า
สกปรกออกจากตัวและได้อาบน้ำอุ่น ผมอ้าปากค้างเมื่อมองเห็นสภาพของตัวเอง : ซี่โครงผมบาง
กระดูกสะโพกปูด แขนขาเหี่ยวลีบ หัวเข่ากับข้อศอกโปน

แต่ผมกระซิบกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “ฉันยังไม่ตาย”

ทันใดนั้นผมก็ได้ยินเสียงพี่สาวตะโกนมาจากทางเดิน “น้องชายฉันอยู่ในนั้น
ฉันต้องไปหาเขา ได้โปรด”

ผมเห็นกราซีอา พี่สาวผมดันตัวเดินผ่านบุรุษพยาบาล ผมเรียกชื่อเธอ ชั่วพริบตา เธอก็มาร้องไห้
สะอึกสะอื้นอยู่ในอ้อมแขนของผม

ตรงกลางทางเดิน ร่างค้อมผอมบางของพ่อผมยืนอยู่ตรงนั้น ผมเดินไปหาพ่อ โอบแขนรอบตัว
แล้วยกพ่อขึ้นจนตัวลอยจากพื้น “เห็นไหม พ่อ” ผมพูดพลางวางพ่อลง “ผมยังแข็งแรงพอจะยก
พ่อไหว” พ่อจับตัวผมเหมือนให้แน่ใจว่า เป็นผมจริง ๆ แล้วผมก็ได้อยู่พร้อมหน้าครอบครัว
เพื่อร่วมแบ่งปันปาฏิหาริย์ที่ได้รอดชีวิตมาพบพวกเขาอีกครั้งจนได้

หมายเหตุ : เครื่องบินตกบนเทือกเขาแอนดิสบริเวณชายแดนสุดทางตะวันตกของประเทศ
อาร์เจนตินาติดกับประเทศชิลี (เขต Malargüe, จังหวัด Mendoza) ลูกเรือ 3 คน
และผู้โดยสาร 8 คนเสียชีวิตทันทีที่เครื่องบินตก มีการส่งทีมกู้ภัยออกค้นหาแต่ไม่พบร่องรอย
ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะลำตัวเครื่องบินเป็นสีขาวกลมกลืนไปกับหิมะ และทีมกู้ภัยยกเลิก
การค้นหาหลังจากพยายามบินค้นหาอยู่ 8 วัน ช่วงเวลา 72 วันนับแต่เกิดอุบัติเหตุจนถึง
วันที่ได้รับความช่วยเหลือ มีผู้รอดชีวิตล้มตายไปอีก 13 คนเนื่องจากบาดแผล ความหิว
และความหนาวเหน็บ ผู้รอดชีวิตทั้ง 16 คนรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเป็นอย่างมากเมื่อต้อง
สารภาพว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะรักษาชีวิตของตนด้วยเนื้อของผู้อื่น

**สาเหตุของเครื่องบินตกเกิดจากความผิดพลาดของนักบิน

******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ธ.ค. 22, 2021 6:17 pm

ปฏิบัติการกู้ชีพปลาวาฬ ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนตุลาคม 2006 และจาก Internet
เรื่อง “Whale of a rescue” 6 โดย Anita Bartholomew ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

วาฬหลังค่อม (humpback whale) หนัก 50 ตันถูกเชือกรัดและใกล้จะจมน้ำตาย อาสา
สมัครผู้กล้าหาญเหล่านี้เสี่ยงชีวิตเข้าช่วยเหลือให้เป็นอิสระ

วันอาทิตย์กลางเดือนธันวาคม 2005 มิก (Mick Menigoz) กัปตันเรือตกปลาให้เช่าและ
พานักท่องเที่ยวดูปลาวาฬ ขณะอยู่ในบ้านบนเนินเขาที่ Pacifica รัฐแคลิฟอร์เนีย ทันใดนั้น
มีโทรศัพท์จากชาวประมงวางลอบดักปูคนหนึ่งแจ้งว่า มีวาฬติดเชือกผูกลอบดักปูอยู่กลาง
ทะเล เขารีบรวบรวมนักดำน้ำเพื่อช่วยอาสาสมัครจากศูนย์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล
(the Marine Mammal Center of Sausalito)

มิกรีบส่งข่าวต่อไปถึงเจมส์ (James Moskito) วัย 40 ปีนักดำน้ำที่ทำงานในบริษัทที่พานัก
ท่องเที่ยวดำน้ำลงไปอยู่ในกรงเหล็กเพื่อชมฉลามขาวในแหล่งหากินของมันนอกชายฝั่งหมู่
เกาะ Farallon ที่อยู่ห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกราว 30 ไมล์​ เจมส์ตกลงไปร่วมทีมกู้ภัย
โดยไม่ลังเล

จากนั้น มิกก็โทรศัพท์ไปถึงทิม (Tim Young) วัย 47 ปี ช่วงเวลา 26 ปีที่ทิมทำงานในกองทัพ
อากาศ เขาเคยกระโดดร่มจากเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบิน ซี-130 พร้อมอุปกรณ์ดำน้ำและเวชภัณฑ์
เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน ทิมตกลงร่วมทีมทันทีเช่นกัน

ขณะที่มิกจัดเตรียมทีมกู้ภัยอยู่นั้น เขารีบขนอุปกรณ์ดำน้ำใส่รถไปด้วย จากนั้นก็ขับรถมุ่งหน้าสู่
ท่าเรือ ที่เรือ “Superfish” ยาว 56 ฟุตของเขาเทียบท่าอยู่

หลังจากรับสัตวแพทย์ของศูนย์ฯ และอาสาสมัครอีก 2 คนระหว่างทางแล้ว มิกก็แล่นเรือผ่านสะพาน
โกลเดนเกตออกสู่ทะเล เขาลากเรือยางขนาดเล็กติดเครื่องยนต์ของศูนย์ฯไปด้วย

ประมาณ 13.30 น. เรือก็เข้าใกล้ถึงพิกัดจีพีเอสที่เป็นตำแหน่งของวาฬที่ได้รับแจ้ง มิกให้ทุกคน
มองหาไปตามขอบฟ้า ครู่ต่อมา อาสาสมัครคนหนึ่งชี้ไปยังพวยน้ำที่พุ่งขึ้นมาจากทะเลเหมือน
ไอหมอก เป็นน้ำที่วาฬหลังค่อมพ่นออกมานั่นเอง

ขณะแล่นเรือเข้าใกล้ พวกเขาก็เห็นส่วนบนของหัวสีเทาขนาดใหญ่อยู่พ้นน้ำ ดูเหมือนมันจะถูกตรึง
อยู่กับที่ ไม่ว่ายน้ำหรือแม้แต่ลอยไปกับกระแสน้ำ มิกรู้ด้วยความชำนาญว่า ตัวมันเอียงไปข้างหนึ่ง
เมื่อเรือคืบหน้าช้า ๆ ไปถึงระยะ 30 เมตร ทุกคนก็เห็นทุ่นขนาดถังแกลลอน 4 อันลอยอยู่รอบตัววาฬ
แต่ละทุ่นโยงอยู่กับโลหะหนัก 45 กิโลกรัมและผูกติดกับลอบดักปูที่อยู่ก้นมหาสมุทร ”ที่จริงลอบแค่
4 อันไม่น่าจะหยุดวาฬขนาดนี้ได้” มิกคิด “แล้วทำไมวาฬจึงขยับตัวไม่ได้ล่ะ”

จากนั้นมิกกับทิมและเจมส์ก็ลงเรือยางออกไปตรวจดูใกล้ ๆ เรือยางแล่นโคลงเคลงออกไปในทะเล
เมื่อเข้าใกล้ สิงโตทะเลตัวหนึ่งซึ่งว่ายน้ำอยู่ใกล้ ๆ กระโดดขึ้นจากน้ำข้ามตัววาฬที่ลอยอยู่กับที่
เจมส์นักดำน้ำถือเป็นสัญญาณที่ดีเพราะสิงโตทะเลจะไม่ว่ายน้ำในบริเวณที่ฉลามหากิน

เมื่อสวมชุดดำน้ำเรียบร้อยแล้ว เจมส์กับทิมก็ทดสอบหน้ากากและท่อหายใจก่อนจะหงายหลังลงทะเล
ไปในน้ำทะเลที่อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส มีไขวาฬที่ถูกเชือกเฉือนออกมาจากตัววาฬเป็นชิ้นเล็ก ๆ
สีขาวมากมายลอยอยู่รอบตัวของทั้งสอง หลังจากตรวจสภาพเบื้องต้นแล้วทั้งสองก็กลับมาที่เรือยาง
เพื่อสวมใส่อุปกรณ์ดำน้ำลึกก่อนจะดำน้ำลงไปและพบว่าเป็นปลาเพศเมีย ยาวราว 15 เมตร ที่หางมี
เชือกพันอยู่เกือบ 20 เส้นซึ่งแต่ละเส้นผูกอยู่กับลอบดักปูหนัก 45 กิโลกรัมทำให้ตรึงวาฬอยู่กับที่
มันจึงทำได้เพียงพยุงตัวเพื่อให้รูพ่นน้ำอยู่พ้นน้ำเท่านั้น

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 24, 2021 3:41 pm

😭เมื่อวิญญาณออกจากร่าง……
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนตุลาคม 2006
โดย Randall Sullivan และจากวิกิพีเดีย ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 1982 มีการจัดงานวันเกิดให้กับหนูน้อยคริสเทิล (Kristle Merzlock)
วัย 7 ขวบในบริเวณสระน้ำเมือง Pocatello รัฐไอดาโฮ เธอยังว่ายน้ำไม่เป็นเพราะเพิ่งเรียน
ว่ายน้ำได้ไม่กี่วัน หลังจากสนุกสนานอยู่ในสระน้ำพักใหญ่ เธอก็ขึ้นจากสระ แต่ขณะที่กำลัง
เดินอยู่ใกล้ขอบสระช่วงส่วนที่ลึกมาก มีเด็กชาย 2 คนกำลังวิ่งเล่นกันอยู่ใกล้ ๆ และชนเธอ
แรงมากจนเธอตกลงไปในสระและจมอยู่ที่ก้นสระ

คริสเทิลถูกนำส่งโรงพยาบาลในสภาพหมดสติหลังจมน้ำอยู่นานกว่า 10 นาที แพทย์เวร
ประจำ ห้องฉุกเฉินรีบตามตัวกุมารแพทย์ มอร์ส (Dr. Melvin Morse) ผู้มีประสบการณ์ด้าน
ปฏิบัติการกู้ชีพอย่างโชกโชน

หมอมอร์สจำได้ว่า ม่านตาของคริสเทิลขยายและไม่ตอบสนองต่อแสงซึ่งเป็นสัญญาณบอกถึง
สภาวะสมองหยุดทำงาน ผลการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบสมองบวมรุนแรง
เธอต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ ผลตรวจเลือดพบภาวะเลือดเป็นกรดระดับสูง อาการเหล่านี้
บ่งชัดว่าเป็นภาวะสมองตาย​ “ทางการแพทย์ถือว่าเธอเสียชีวิตแล้ว (clinically dead)”
หมอมอร์สกล่าวเวลา 15.30 น.

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดคริสเทิลรอดชีวิต เธอฟื้นขึ้นหลังหมดสติ (โคม่า) 3 วัน และพบว่าสมอง
ยังคงทำงานเป็นปกติ เธอเล่าถึงประสบการณ์เฉียดตาย (near-death experience) ว่า เธอตื่น
ขึ้นเป็นครั้งแรกในอุโมงค์มืดที่ผนังเป็นสีอิฐ เธอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่เธอก้าวเดินไป
และเห็นสตรีคนหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “เอลิซาเบธ” บอกว่ากำลังจะมาช่วยเธอ จากนั้นก็พาเธอ
เข้าไปในแสงสว่างและในสวรรค์ เธอบอกด้วยว่ามีอยู่ตอนหนึ่งที่เธอเห็นตัวเองนอนอยู่บนโต๊ะ
ปฏิบัติการที่มีหมอหลายคนกำลังตรวจดูอาการเธออยู่ และไม่กี่วินาทีต่อมาเธอก็กลับเข้าสู่ร่าง
เดิมสมองของคริสเทลยังคงทำงานเป็นปกติ หมอมอร์สประหลาดใจมาก แต่สิ่งที่น่าทึ่งกว่านั้น
คือ เธอเล่าให้แม่ฟังว่า เธอจำหมอมอร์สได้ “คนที่ไว้เคราไง” เธอบอกกับแม่ “หมอคนแรกรูป
ร่างสูงแต่ไม่มีเครา หมอมอร์สคือหมออีกคนที่ตามมาทีหลัง” เธอพูดไม่ผิด เพราะหมอมอร์สไว้
เครา ส่วนหมอเวรประจำห้องฉุกเฉินที่รับตัวเธอคนแรกหน้าตาเกลี้ยงเกลาและรูปร่างผอมสูง

2 สัปดาห์ต่อมา แม่พาคริสเทิลไปพบหมอมอร์สที่โรงพยาบาล คริสเทลบรรยายภาพห้องฉุกเฉิน
ได้ชัดเจนและถูกต้อง “เธอกล่าวถึงอุปกรณ์และจำนวนคนในห้องได้ตรงกับความจริงทุกอย่าง”
หมอมอร์สอธิบาย และเธอยังรู้ด้วยว่าพวกเขาให้การรักษาวิธีใดบ้าง “ตอนนั้นเธอหลับตาอยู่
และนอนไม่มีสติตลอดเวลา แต่เธอกลับ‘เห็น’ทุกอย่างที่เกิดขึ้น”

นักจิตวิทยาและแพทย์หลายคนศึกษาวิจัยเรื่องเหลือเชื่อของคริสเทิล บางคนเชื่อว่าประสบการณ์
ของเธอเป็นเรื่องทางกายภาพเนื่องจากปฏิกิริยาทางเคมีและปรากฏการณ์อื่นที่อยู่ภายในตัวเธอ
ขณะที่คนอื่นเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติที่อยู่เหนือเหตุผล

คริส (Chris Exguelston) วัย 8 ขวบติดอยู่ในรถยนต์ที่จมลงในแม่น้ำเล่าให้ฟังว่า เขาหลุดเข้าไป
ในท่อขนาดใหญ่ซึ่งไปสิ้นสุดที่ถ้ำของสัตว์ป่า มีผึ้งนำน้ำผึ้งมาให้กินและพาเขาไปสวรรค์

มิเชลล์ (Michelle Wilson) ซึ่งฟื้นจากภาวะหมดสติเนื่องจากโรคเบาหวานเล่าว่า เธออยู่บนรถ
โรงเรียนเก่า ๆ มีหมอรูปร่างสูง 2 คนบอกว่า ถ้าอยากจะฟื้นให้เธอกดปุ่มสีเขียว

คริส เดวิสวัย 7 ขวบซึ่งรอดชีวิตจากอุบัติเหตุหลุมทรายบนชายหาดกลบทับทั้งตัวกล่าวว่า
“มีพ่อมดสวมชุดขาวเดินเข้ามาหาและบอกผมว่า “จงดิ้นรนหากเจ้าอยากมีชีวิตรอด”

ตัวอย่างเรื่องราวที่มีพลังเหล่านี้ดึงดูดความสนใจของหมอมอร์สยิ่งนัก เขาจึงตัดสินใจ
“ศึกษาเรื่องนี้โดยจะหาหลักฐานให้หนักแน่นรัดกุมที่สุด” เขาอ่านเวชระเบียนของผู้ป่วยทุกราย
อย่างละเอียด ดูบันทึกรายการยาที่ใช้ การใช้ยาสลบและระดับออกซิเจนในเลือดซึ่งอาจทำ
ให้เกิดภาพหลอนได้

เมื่อตีพิมพ์ผลงานวิจัยใน “วารสารการแพทย์โรคทางกุมารศาสตร์” หมอมอร์สมั่นใจว่า
ประสบการณ์เฉียดตายไม่ใช่ผลข้างเคียงจากยาหรือการอดนอน และไม่ใช่ฝันร้าย เขาสามารถ
หาหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์มายืนยันถึงประสบการณ์นี้และเรียกว่า “กระบวนการธรรมชาติทาง
จิตวิทยาซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต” ดังนั้น แม้จะยังไม่ค้นพบสาเหตุของประสบการณ์เฉียดตาย
แต่เขาสามารถพิสูจน์ได้ว่า ประสบการณ์แปลกประหลาดที่บางครั้งอยู่เหนือคำอธิบายเหล่านี้
เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

******************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 26, 2021 3:38 pm

✔️เส้นทางยาวไกลของฉันกับพ่อ ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนธันวาคม 2006 โดย สรีวันท์ วาทะวัฒนะ (เปรียว)
และจากวิกิพีเดีย 2021 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตั้งแต่จำความได้ ฉัน (เปรียว : สรีวันธ์ วาทะวัฒนะ เกิดปี 1986) มีพ่ออยู่เคียงข้างตลอดเวลา
พ่อ(อี๊ด)บอกว่า ตอนที่ฉันอายุ 2-3 ขวบ เวลาพ่อเล่นดนตรีเปิดหมวกอยู่ตามฟุตพาทข้างถนน
พ่อก็จะให้ฉันกับน้องเล่นกันอยู่ในกล่องกีตาร์ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางดนตรีของฉัน

พ่อหารายได้จากการเล่นดนตรีตามฟุตพาทมาตลอดจนใคร ๆ เรียกพ่อว่า “อี๊ด ฟุตพาท”
พ่อบอกว่า “ความงามของดนตรีเกิดขึ้นได้ทุกที่”

ส่วนฉันเข้าเป็นสมาชิกของวงเต็มตัวตอนอายุ 5 ขวบเมื่อพ่อทำอัลบั้มชุด “น้ำพักน้ำแรง” พ่อจับ
ฉันและปิ๊ค น้องสาววัย 3 ขวบเข้าห้องอัดร้องเพลง “จดหมายถึงพ่อ” ที่ต่อมาติดอันดับหนึ่งทาง
คลื่นวิทยุอยู่หลายปี เราสองพี่น้องจึงกลายเป็นนักร้องของพ่อและออกเดินสายไปกับพ่อทั่วประเทศ
โดยมีแม่เป็นผู้จัดการวงและดูแลเรื่องความเป็นอยู่รายได้จากการเล่นดนตรีเป็นรายได้อย่างเดียว
ของเรา 4 ชีวิต บางทีพ่อก็ทำเทปเพลงวางขายเองข้างถนนม้วนละ 30 บาท ฉันไม่เคยรู้หรอกว่า
เราจนหรือรวย รู้แต่ว่าฉันมีความสุขที่ได้ร้องเพลง ขายอัลบั้ม และช่วยพ่อหาเงิน

ความสำเร็จจากเพลง “จดหมายถึงพ่อ” ทำให้พ่อตัดสินใจส่งฉันไปเรียนดนตรีที่โรงเรียนสอน
ดนตรี”เอื้อมอารีย์”ตอนอายุ 10 ขวบ บางเดือนพ่อไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน พ่อก็จะขอผ่อนผัน
กับทาง โรงเรียนไว้ก่อน ฉันเลือกเรียนไวโอลินเพราะเคยเห็น “เวเนสซา เม” (Vanessa Mae)
นักไวโอลินระดับโลกแสดงฝีมือทางโทรทัศน์โดยนำเครื่องดนตรีคลาสสิกมาประยุกต์เล่นกับ
เพลงป๊อปได้อย่างน่าประทับใจ และดังนั้นไวโอลินจึงทำให้ฉันกับพ่อเล่นดนตรีด้วยกันได้ทุกที่

พ่อเก็บเงินอยู่นานกว่าจะซื้อไวโอลินตัวแรกได้ในราคา 16,000 บาท พ่อยินดีลงทุนให้ลูกเรียน
ดนตรีและบอกว่า “สิ่งที่ได้มาจะติดตัวเราไปชั่วชีวิตและไม่มีใครเอาไปจากเราได้”

แต่ก่อนฉันร้องเพลงอย่างเดียว แต่ต่อมาฉันเล่นไวโอลินด้วย ส่วนปิ๊ค น้องสาวเล่นปิคโคโล
(piccolo), เซลโล (cello) และร้องเพลง เราเล่นดนตรีที่จตุจักร สนามหลวง สวนลุมไนท์บาซาร์
หรือบางทีก็ไปช่วยเหลือสังคมที่ต้องการเพลงเพื่อชีวิต หรือ เห็นที่ไหนมีคนเยอะ
เราก็เปิดหมวกเล่นเลย

การมีโอกาสเล่นดนตรีท่ามกลางประชาชนทำให้ได้เห็นชีวิตของผู้คนจริง ๆ เราให้ความสุข
เล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตแก่พวกเขา แล้วความสุขก็กลับมาหาเราเสมอ ที่สำคัญ การได้อยู่ท่ามกลาง
ผู้คนที่มีวิถีชีวิตที่หลากหลายทำให้ฉันไม่ลืมสิ่งที่พ่อสอนไว้ว่า “อย่าลืมว่าเราเป็นใคร มาจากไหน”

ฉันเคยไปเล่นดนตรีให้คนพิการฟัง พวกเขาร้องเพลงของเราได้และสนุกกับเรามาก บางคนเข็น
เก้าอี้รถเข็นมาฟัง มาร่วมร้องกับเราทั้งที่บางคนตบมือยังไม่ได้เลย มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เชียงใหม่
คุณลุงคนหนึ่งฟังเพลง “จดหมายถึงพ่อ” จบแล้วก็เอาเงินใส่มือฉันและน้องคนละ 1,000 บาท
พร้อมกับบอกว่า
“ลุงประทับใจมากและน้ำตาไหลกับเพลงนี้ และนี่เป็นน้ำตาของความภูมิใจในตัวหนูกับน้อง”

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 26, 2021 3:43 pm

✔️เส้นทางยาวไกลของฉันกับพ่อ ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนธันวาคม 2006 โดย สรีวันท์ วาทะวัฒนะ (เปรียว)
และจากวิกิพีเดีย 2021 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

จากการที่ได้เห็นพ่อเหน็ดเหนื่อยจากการเปิดหมวกหาเงินเพื่อให้ลูกทั้งสองได้ก้าวหน้าทาง
วิชาดนตรี ทำให้เราสองพี่น้องได้เห็นพ่อต่อสู้มาทุกทางแล้ว บางวันก็เห็นทั้งพ่อทั้งแม่ร้องไห้
ต้องจ่ายเงินอาทิตย์ละ 1,000 บาทเพื่อเป็นค่าเรียนให้กับเรา ซึ่งช่วงแรกพ่อยังคงพอมีงานก็
จะไม่เดือดร้อนอะไร แต่ช่วงหลัง ๆ งานน้อยลง พ่อได้พูดกับลูกสาวทั้งสองว่า "ลูกต้องเก่งนะ
เรามาอยู่จุดนี้แล้วต้องมีฝีมือ ครอบครัวหนูไม่ได้ร่ำรวยถึงขนาดที่อยากเรียนอะไรก็ได้เรียน"

ฉันกับน้องจบการศึกษาชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนเทศบาลวัดละหารด้วยเกรด 4.00 และ 3.93
ตามลำดับ ก่อนหน้านั้นเราเคย "วางแผนกันว่าจะต้องเรียนสูง ๆ และไปทางสายวิทย์"
"พอมารู้สึกตัวอีกที อ้าว ชีวิตเราไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากเล่นดนตรี แต่ถ้าให้ไปทำ
อย่างอื่น ก็คงถนัดไม่เท่าดนตรีหรอกค่ะ" เปรียวกล่าวในที่สุด ดังนั้นสิ่งเดียวที่เราสองพี่น้อง
จะทำได้ ในตอนนั้นคือฝึกซ้อมให้เก่ง

ยิ่งเล่นดนตรีกับพ่อ เราก็ยิ่งผูกพันกันมาก มีประสบการณ์เดียวกัน มีความรู้สึกเหมือนกัน
ประสบการณ์ดนตรีจากการเล่นกับพ่อตามที่ต่าง ๆ ทำให้ฉันไม่หวั่นกลัวที่จะแสดงดนตรีไม่ว่า
จะเป็นเวทีไหนก็ตาม

หลังจบมัธยมสามที่โรงเรียนเทศบาลวัดละหาร อ.บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ฉันทราบว่ามี
การคัดเลือกเยาวชนดนตรีทั่วประเทศเพื่อเข้าเรียนวิชาดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งมีวงดนตรีเยาวชนชื่อวงด็อกเตอร์แซ็ก (Dr. Sax Chamber Orchestra) เป็นวงดนตรีคลาสสิก
ในโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษาของโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ ก่อตั้งในปี 1997
โดย สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จริงชื่อวง "Dr. Sax"
ก็มาจากฉายาของ รศ.ดร.สุกรี นั่นเองเพราะท่านจบการศึกษาด้าน Saxophone จากอเมริกา
วงออเคสตร้านี้มุ่งเน้นให้ผู้เล่นมีประสบการณ์แสดงดนตรี มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและ
ชาวต่างประเทศเป็นผู้ฝึกสอน จัดให้มีการแสดงสด และบันทึกเสียงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้เล่น
สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในระดับสากล

ฉันเคยได้รับรางวัลประกวดดนตรีเยาวชนระดับประถมในปี 1998 และระดับมัธยมปลายปี 2003
ในการคัดเลือกผู้สมัครหลายร้อยคนจากทั่วประเทศ ฉันเป็นหนึ่งในห้าคนที่ได้เหรียญทองและ
มีสิทธิ์เข้าเรียนได้เลย ซึ่งต่อมาน้องปิ๊คก็ผ่านการคัดเลือกเช่นกัน อาจารย์ ดร.สุกรีเห็นว่า เราไม่มี
เงินเรียนแต่มีฝีมือ ท่านจึงมอบทุนการศึกษาให้เราทั้งคู่

ตั้งแต่เป็นนักเรียนระดับมัธยม ฉันมีโอกาสได้เข้าแคมป์เรียนดนตรีที่ประเทศฮังการีเป็นเวลา 1 เดือน
ในปี 2000 และได้ร่วมแสดงดนตรี ณ กรุงมิวนิค ประเทศเยอรมนี

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ธ.ค. 27, 2021 10:54 pm

✔️เส้นทางยาวไกลของฉันกับพ่อ ตอนที่ (3)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนธันวาคม 2006 โดย สรีวันท์ วาทะวัฒนะ (เปรียว)
และจากวิกิพีเดีย 2021 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ปี 2002 ได้ร่วมแสดงดนตรีกับวงเยาวชนของประเทศนอร์เวย์เป็นเวลา 1 เดือน
และในปีเดียวกัน เราสองพี่น้องได้แสดงคอนเสิร์ตร่วมกับ Vanessa Mae นักไวโอลิน
ระดับโลก และร่วมกับวง Sayowe (วง Symphony ของเอเชียอาคเนย์) นอกจากนั้น
ยังได้แสดงเดี่ยวไวโอลินกับวงจากประเทศเยอรมนี และได้เรียนส่วนตัวกับ
Midori Goto นักไวโอลินชื่อดังชาวญี่ปุ่น

การเรียนที่นี่หนักไปทางดนตรีคลาสสิก และบางครั้งก็ได้เข้าแคมป์ดนตรีเยาวชน
ในต่างประเทศรวมทั้งที่นอร์เวย์ แคนาดาและจีน แต่ฉันก็ยังคงชอบไปเล่นเพลงเพื่อ
ชีวิตกับพ่อเหมือนเดิม ทุกครั้งที่อยู่ในวงกับพ่อ เราได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่

ปี 2004 ฉันได้เข้าแคมป์เรียนดนตรีและร่วมแสดงดนตรีที่ประเทศออสเตรียเป็นเวลา
1 เดือน และต้นปี 2005 ได้แสดงร่วมกับวง Dr.sax Chamber Orchestra ต้อนรับ
นายกรัฐมนตรีประเทศมองโกเลีย ที่ทำเนียบรัฐบาล
ระหว่างวันที่ 26 - 29 เดือนกันยายน 2005 วง Dr. Sax Chamber Orchestra ได้เข้าร่วม
การประกวดดนตรีเยาวชนนานาชาติ ในรายการ
“International Youth Chamber Music Competition 2005” ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกของวงนี้และของประเทศไทย เป็นการแข่งขัน
กับวงดนตรีอีก 17 วงจากออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย เยอรมนี มองโกเลีย
และสาธารณรัฐเช็ก หลายวงจากยุโรปทำท่าดูหมิ่นเหมือนจะบอกว่า
“พวกเธอจะมาสู้อะไรกับฉันในเรื่องเพลงคลาสสิก” พวกเขาไม่ใช่คู่แข่งของเรา​
เพราะเราต้องการเพียงมาหาประสบการณ์เท่านั้น

ปีที่เราเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกนั้น ฉันกับน้องสาวเป็นสมาชิกของวงนี้มาแล้ว 8 ปี
ในขณะนั้นฉันเรียนอยู่ปี ๑ ส่วนปี๊คเรียนอยู่ชั้น ม. ๕ หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี
การแข่งขันครั้งนี้ไม่อนุญาตให้มีผู้ควบคุมวง (Conductor) ฉันจึงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง
(Concert Master) ซึ่งปกติเป็นตำแหน่งรองจาก Conductor คือมีหน้าที่ควบคุม
ทำนองเพลง และดูแลวงทั้งหมด

ก่อนไป วงของเราซ้อมกันหนักมากอยู่ 3 เดือนและซ้อมกันไม่ต่ำกว่าวันละ 6 ชั่วโมง
หลักเลิกเรียนตั้งแต่บ่าย 3 ถึง 3 ทุ่มทุกวัน และวันไหนที่ไม่มีเรียน เราซ้อมกันถึง
12 ชั่วโมงตั้งแต่เช้าจนถึง 3 ทุ่ม เพลงที่ใช้เล่นในการประกวดครั้งนี้ เป็นเพลงที่เล่น
ยากมากๆ ฉันกับน้องคุยกันว่า ไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาเป็นอย่างไร พวกเราทุกคน
ก็ภูมิใจที่มีโอกาสไปร่วมแข่งขันในครั้งนี้ และแม้ว่าพ่อช่วยไม่ได้มากนักในเรื่องเพลง
คลาสสิกแต่พ่อก็แนะนำว่า “เล่นดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้จักแก้ปัญหาด้วยเพราะสิ่งไม่
คาดคิดบนเวทีเกิดขึ้นได้เสมอ” คำแนะนำนี้ทำให้ฉันเชื่อมั่นในการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง

เมื่อเข้ารอบ 9 วงสุดท้าย ฉันรีบโทรฯบอกพ่อ พ่อส่งเสียงดีใจแล้วบอกว่าจะจุดพลุฉลอง
ฉันมารู้ทีหลังว่า พ่อจุดพลุจริง ๆ

โปรดติดตามตอนที่ (4) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 28, 2021 10:26 pm

✔️เส้นทางยาวไกลของฉันกับพ่อ ตอนที่ (4)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนธันวาคม 2006 โดย สรีวันท์ วาทะวัฒนะ (เปรียว)
และจากวิกิพีเดีย 2021 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

รอบตัดสินจัดขึ้นที่ห้องแกรนด์บอลรูมของโรงแรมวิกทอรี (Victory Hotel) ซึ่งมีคนบอกว่า
เป็นโรงแรมที่ดีที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ แค่เข้าไปในสถานที่ก็ตื่นตะลึงแล้ว นอกจากกรรมการ
เกือบ 10 คนที่นั่งเรียงหน้ากระดานอยู่หน้าเวทีแล้วก็มีผู้ชมมาชมกันเต็มห้อง

พอเราเล่นจบ คนดูลุกขึ้นยืนปรบมือกันอยู่นานมากจนเราต้องออกมาโค้งเป็นครั้งที่สอง
เมื่อทุกวงแสดงจบ ก็เป็นการประกาศผลโดยเริ่มจากอันดับที่ 3, 2 แล้วก็อันดับที่ 1

พวกเรานั่งกันเงียบเพราะไม่เข้าใจภาษาเยอรมัน จนโค้ชชาวเยอรมันของเราลุกขึ้นแสดงท่า
ตื่นเต้นดีใจแล้วหันมาบอกว่า “เราได้ที่ 1” นั่นแหละเราถึงรู้ตัว เราทุกคนดีใจจนพูดไม่ถูก
แล้วก็เล่นเพลงชาติไทยกันอยู่ในห้องของเรา สิ่งที่ได้รับเกินกว่าที่เรานึกฝันไว้มาก

ฉันรีบโทรฯ บอกพ่อ เช่นเคย พ่อกำลังเดินสายอยู่แถวภาคใต้ พ่อดีใจตะโกนลั่นรถ นับเป็น
ความภูมิใจของพ่อและแม่เป็นล้นพ้น ท่านทั้งสองเป็นกำลังใจและเป็นแรงผลักดันให้ลูกสาว
ทั้งสองตลอดมา และที่สุดผลแห่งความพากเพียรพยายามของเราทั้ง 15 คน ก็ส่งผลให้วง
Dr. Sax Chamber Orchestra สามารถพิสูจน์ให้วงการดนตรีคลาสสิกระดับโลกเห็นว่า
เด็กไทยก็มี ความสามารถไม่แพ้ประเทศที่มีรากทางวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิก ...ต่อจากนั้น
ก็เป็นการเลี้ยงฉลองกันไม่เลิก

เราอดถามกรรมการไม่ได้ว่าทำไมจึงตัดสินให้พวกเราได้ที่หนึ่ง กรรมการบอกว่า เพราะพวกเรา
ทั้ง 15 คนนอกจากทุกคนเล่นได้ดีแล้ว ยังเล่นด้วยใจเดียวกันทั้งที่ไม่มีวาทยกรประจำวงทั้งโล่
เกียรติยศ และเงินรางวัล สำหรับฉันอาจไม่มีความหมายมากนัก แต่สิ่งที่มีความหมายคือการที่
ฉันได้ตระหนักว่า ระยะทางจากจุดเริ่มต้น จากเพลงเพื่อชีวิตข้างถนนกับพ่อ กว่าจะมาถึงตรงนี้ที่
ได้รับเกียรติเป็นแชมป์โลกนั้นช่างยาวไกล ไม่ใช่ไกลเพราะระยะทาง แต่เป็น เรื่องของการทุ่มเท
เวลา, หัวใจและความมุ่งมั่น นอกจากนั้นบนเส้นทางนี้ ฉันมีพ่ออยู่เคียงข้างมาตลอด พ่อที่คอยสอน
ฉันว่า “อย่าลืมว่าเราเป็นใคร”

ฉันไม่รู้ว่า ดนตรีและไวโอลินที่พ่อซื้อให้จะพาฉันไปอีกไกลแค่ไหน ฉันรู้เพียงว่าที่ที่ฉันเริ่มต้นและ
ที่ที่ฉันจะกลับมาเสมอก็คือที่ “ฟุตพาท” ของเรา

โปรดติดตามตอนที่ (5) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 30, 2021 11:56 am

✔️เส้นทางยาวไกลของฉันกับพ่อ ตอนที่ (5) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนธันวาคม 2006 โดย สรีวันท์ วาทะวัฒนะ (เปรียว)
และจากวิกิพีเดีย 2021 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ประวัติการศึกษาของ ผศ.สรีวันธ์ วาทะวัฒนะ (เปรียว)

1) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

2) ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการแสดงดนตรี มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานการแสดงดนตรี

- สมาชิก กลุ่ม Violin วง Thailand Philharmonic Orchestra

- สมาชิก วง ฟุตพาท

- อาจารย์พิเศษ Violin โรงเรียนนานาชาติ

- อาจารย์พิเศษ Violin มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)

ผลงานทางวิชาการ : หนังสือ/ตำรา/เอกสารประกอบการสอน

1) สร้างสุขและพัฒนาการที่ดีแก่ลูกน้อย

2) ดนตรีเด็กเล็กแบบ Suzuki (SECE) กรุงเทพฯ (2017)

3) ความคล้ายคลึงและความแตกต่างด้านการบรรเลงซอด้วงและไวโอลิน.
วารสารสุริยวาทิต. 2016 ปัจจุบัน : ครูเปรียว สรีวันท์ วาทะวัฒนะ

“ครูสอนดนตรีและนักไวโอลินชั้นนำของเมืองไทย อาจารย์พิเศษสอนไวโอลิน
คณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และเป็นนักดนตรีในวง
Thailand Philharmonic Orchestra ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ยังเป็นนักดนตรีประจำวงฟุตพาท ทริโอ ค่ายรถไฟดนตรี เล่นเพลงเพื่อชีวิต
ร่วมกับครอบครัว และยังเป็นนักไวโอลินไทยที่เคยไปคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว”

เปิดชั้นเรียนสอนไวโอลินกลุ่มสำหรับเด็กอายุ 9-1 และ 13 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่มีพื้นฐาน
หรือมีพื้นฐานชั้นต้น ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-11.00 น.

******************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.พ. 02, 2023 9:33 pm

ปิดฉากโหดที่ชุมชนซิมเปิลซิตี้
ตอนที่ ( 1 )
โดย Debra Dickerson จากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

บทนำ ชุมชนการเคหะแห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ชื่อ “ซิมเปิลซิตี้”
เป็นแดนอันตรายขนาดเจ้าของบ้านต้องตอกตะปูหน้าต่างปิดตายและลากเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนัก ๆ มาตั้ง
ขวางประตูไว้ แค่เดินออกไปซื้อขนมปังยังต้องระวังตัวแจ

ย่านนี้อยู่ในเขตอิทธิพลของอันธพาล 2 แก๊งคือ “เซอร์เคิล” (Circle) และ “อะเวนิว” (Avenue)
สมุนของทั้งสองแก๊งจะยืนปักหลักบนเนินคนละฟากของสนามฟุตบอลแล้วด่าทอกัน ชาวบ้านอาศัย
เสียงท้าทายระทึกนี้เป็นสัญญาณเตือนว่า เหลือเวลา 5 นาทีในการเตรียมตัวหาที่กำบังก่อนที่สองฝ่าย
จะสาดกระสุนเข้าใส่กัน กลุ่มอันธพาลดังกล่าวยิงกันเกือบทุกวัน

เดวิด กิลมอร์ เจ้าหน้าที่ดูแลการเคหะประจำเขตพยายามเข้าไปสำรวจชุมชนซิมเปิลซิตี้ แต่คน
ขับรถไม่ยอมเสี่ยงเข้าไปใจกลางบริเวณดังกล่าว แค่นั่งดูสิ่งที่เกิดขึ้นจากในรถก็สยองแล้ว หลังตรวจ
สอบสถิติอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านการเคหะแห่งนี้ ตลอดจนตัวเลขค่าเช่าค้างชำระและการทำลาย
สาธารณสมบัติไม่หยุดหย่อน เดวิดสรุปว่า ซิมเปิลซิตี้หมดหนทางเยียวยาและต้องรื้อถอนตึกบางหลังทิ้ง

เหตุการณ์ที่ตอกย้ำความประหวั่นพรั่นพรึงของเดวิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2534 เมื่อ
“ดาริล ออล” เด็กชายวัย 12 ถูกลักพาตัวระหว่างทางจากโรงเรียนกลับบ้าน หลายวันต่อมา พบว่า
เด็กชายกลายเป็นศพ มีร่องรอยถูกทำร้ายและเสียชีวิตด้วยการถูกมัดแล้วจ่อยิง ว่ากันว่าเป็นฝีมือของ
แก๊งเซอร์เคิล

สองสัปดาห์หลังจากนั้น เดวิดรู้สึกประหลาดใจเมื่อได้ยินเรื่องเหลือเชื่อที่เกิดขึ้นในชุมชนเคหะ
แห่งนี้ และสั่งระงับแผนการรื้อถอนตึก สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ ทั้งสองแก๊งสงบศึกกัน ดูราวกับว่าแก๊ง
อันธพาลพลิกจุดยืนจากหน้ามือเป็นหลังมือในชั่วข้ามคืน

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.พ. 02, 2023 9:39 pm

ปิดฉากโหดที่ชุมชนซิมเปิลซิตี้ ตอนที่ ( 2 )
โดย Debra Dickerson จากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)เป้าหมายสูงส่ง

การหยุดยิงไม่มีทางเกิดขึ้นหากไม่ได้ความช่วยเหลือจากลุ่มคนซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเข้ามา
เกี่ยวข้องได้ จุดเริ่มต้นของกลุ่มเกิดจากการรวมตัวของสหายวัย 40 กว่าห้าคน บ้างเป็นอดีต
อาชญากร บางก็เคยติดยา หรือบางคนเป็นทั้งสองอย่าง คนพวกนี้กลับตัวกลับใจรอดจากคุก
และวงการนักเลงมาได้ แต่ไม่วายสลดใจกับการสังหารผลาญชีวิตในละแวกบ้านของพวกเขา

พาร์เกอร์ โจรปล้นธนาคารกลับใจและตอนนี้เป็นผู้ประสานงานชุมชนการเคหะแห่งวอชิงตัน
เป็นคนหนึ่งในกลุ่มนี้ที่รู้สึกสิ้นหวัง หลังจากลูกชายถูกประทุษร้ายถึงชีวิต ทั้ง 5 คนนั่งล้อมวง
คุยกันหลังเลิกงานที่ร้านเสริมสวยของพาร์เกอร์ซึ่งอยู่ห่างจากซิมเปิลซิตี้ประมาณ 3 กิโลเมตร
คุยไปคุยมาก็วกกลับมาที่เรื่องเดิมคือ “การฟื้นฟูชุมชน”

ในปี 2534 พวกเขาตัดสินใจเดินหน้าโดยไม่มี “แผนการ สำนักงาน หรืองบประมาณ”
เอริก จอห์นสัน อดีตคนติดยาที่อยู่ระหว่างการบำบัดและตอนนี้เป็นช่างพิมพ์ของกรมธนารักษ์เล่าว่า
“พวกเขาตั้งชื่อกลุ่มว่า ‘แนวร่วมผู้ห่วงใย’ และวางเป้าหมายไว้สูงส่งคือ จะลดคดีฆาตกรรมในเขต
วอชิงตัน ดี.ซี.ลงร้อยละ 50 ภายในสองปี

กลุ่มแนวร่วมฯ ใช้รถส่วนตัว เวลาส่วนตัว ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และความเสี่ยงส่วนตัวในการ
ตระเวนไปตามจุดอันตรายที่มักเกิดเรื่อง พวกเขามองหาเด็กหนุ่ม ๆ ที่จับกลุ่มกันแล้วเข้าไป
พูดคุยด้วย พวกเขาไม่เคยคาดโทษเด็กหนุ่มพวกนี้ หรือขู่ว่า จะต้องตกนรก เพราะประสบการณ์
ในวัยหนุ่มของพวกตนที่เคยเผชิญหน้ากับตำรวจและพระสงฆ์สอนให้รู้ว่า วิธีดังกล่าวส่งผลในทางลบ
กลุ่มแนวร่วมฯ เชื่อว่าเด็กหนุ่มเหล่านี้รู้ตัวดีว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นผิด แต่ไม่รู้จะถอนตัวได้อย่างไร

เมื่อข่าวฆาตกรรมดาริล ฮอล แพร่ออกไป กลุ่มแนวร่วมฯ รู้ว่าจะต้องมีการแก้แค้นนองเลือดแน่
จึงตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะเข้าไปเจรจากับแก๊งต่าง ๆ ในซิมเปิลซิตี้แล้วถามพวกเขาว่า จะให้ทำ
อย่างไรถ้าจะให้เลิกราต่อกัน

กลุ่มแนวร่วมฯ ตามหาตัวหัวหน้าแก๊งที่เป็นศัตรูกันอย่างเร่งด่วน และเข้าถึงตัวบรรดาหัวหน้า
เหล่านี้ในซอยมืดสุมไปด้วยขยะ “เราเชื่อในพระเจ้า” เจมส์ อดีตขี้เหล้าที่กำลังรักษาตัวและตอนนี้
เป็นผู้อำนวยการโครงการของกลุ่มแนวร่วมฯ พูดถึงอันตรายที่พวกเขาเผชิญ ภายในอาทิตย์เดียว
กลุ่มแนวร่วมฯ สามารถเจรจาให้ทั้งสองฝ่ายมาพบกันได้ในพื้นที่ซึ่งเป็นกลาง

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.พ. 05, 2023 8:39 pm

ปิดฉากโหดที่ชุมชนซิมเปิลซิตี้ ตอนที่ ( 3 )
โดย Debra Dickerson จากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)ท่าทางไม่รักสันติ

สมาชิกแก๊งที่น่ากลัวมากคนหนึ่งคือโทมัส รอส จากแก๊งเซอร์เคิลซึ่งจัดว่าเป็นบุคคล
อันตรายประจำถิ่น เขาย้ายมาอยู่กับป้าและญาติ ๆ ที่ซิมเปิลซิตี้เมื่อปี 2524 หลังจากนั้น
ไม่นาน ความรุนแรงก็เริ่มทวีขึ้น ขณะที่อาคารเริ่มชำรุดทรุดโทรม ที่บ้านของรอส มีเตาที่
ใช้การไม่ได้มานานหลายเดือนแล้วจนถึงวันขอบคุณพระเจ้าปี 2532 ซึ่งจะต้องมีงานเลี้ยง
ใหญ่ ตอนนั้น รอสอายุ 15 ปี เขาศึกษากลไกภายในของเตาและงัดเข้าไปในห้องที่ไม่มีคนอยู่
ขโมยชิ้นส่วนของเตาที่ต้องการออกมา เขาสารภาพว่า วันขอบคุณพระเจ้าปีนั้นคือจุดเริ่มต้น
การเป็นอาชญากร เป็นวันที่ครอบครัวเขามีอาหารร้อน ๆ รับประทาน และเป็นครั้งแรกที่เขา
ตระหนักว่า ทุกคนต้องเอาตัวรอดในซิมเปิลซิตี้

ไม่นานต่อมา เขาเริ่มบุกรุกทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นและสาธารณสมบัติ มีอาวุธในครอบครอง
เขาถูกจับข้อหาขับรถที่ถูกโจรกรรมและได้รับโทษให้กักกันตัวไว้ที่บ้านคุมประพฤติเด็กเป็นเวลา
11 เดือนและที่บ้านสงเคราะห์เด็กอีก 8 เดือน จากนั้นเขาเริ่มเข้า ๆ ออก ๆ สถานกักกันจนอายุ 18 ปี
หกปีต่อมา รอสซึ่งเรียนไม่จบชั้นมัธยม เป็นพ่อของลูก 4 คนที่เกิดกับผู้หญิง 4 คนโดยไม่ได้แต่งงานกัน
นอกจากนี้ยังเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีลักพาตัว ทำร้ายร่างกายและค้าโคเคน แต่ไม่เคยถูกตัดสินลงโทษ

อย่างไรก็ตาม ใจจริงแล้ว รอสอยากถอนตัวจากสิ่งเหล่านี้ เพราะนับวันยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น
เขารู้อยู่แก่ใจว่าคงจะมีสักวันที่อาจต้องลงเอยในคุกหรือไม่ก็หลุมฝังศพ “เราอยากเลิกกันทั้งนั้น”
เขาสารภาพ “แต่ใครล่ะจะเป็นคนแรก”

ต่อมา กลุ่มแนวร่วมฯ ก็ปรากฏตัวขึ้นที่ซิมเปิลซิตี้ รอสเล่ากลั้วหัวเราะว่า “พวกพี่ ๆ พยายาม
เข้าหาพวกเราทุกคน” รอสเตือนเพื่อน ๆ อย่าไปสุงสิงเพราะแน่ใจว่าพวกนี้เป็น “ตำรวจที่พยายามจะ
หลอกเรา” แต่ในที่สุด ตัวเขาเองกลับยอมไปร่วมประชุมสงบศึก ตลอดเวลาเขาได้แต่ทำหน้านิ่วคิ้ว
ขมวดและปฏิเสธที่จะไปยืนร่วมกับแก๊งอาเวนิวคู่อริ

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.พ. 05, 2023 8:41 pm

ปิดฉากโหดที่ชุมชนซิมเปิลซิตี้ ตอนที่ ( 4 )
โดย Debra Dickerson จากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)ระเบียบปฏิบัติ

ในการเจรจาสงบศึกประจำสัปดาห์ กลุ่มแนวร่วมฯ มักตั้งคำถามมากมาย หนึ่งในคำถาม
ที่หยิบยกขึ้นมาบ่อย ๆ คือ ทำไมถึงยิงกัน ไม่มีใครสักคนในบรรดาพลพรรคทั้งสองแก๊งที่จำ
สาเหตุเริ่มต้นของความขัดแย้งได้ เมื่อประเด็นสำคัญตรงนี้เป็นที่เข้าใจทั่วกันแล้ว กลุ่มแนวร่วมฯ
จึงถามบรรดาหนุ่ม ๆ ว่า “คิดอยากเปลี่ยนอะไรในละแวกบ้านที่ตัวเองอาศัยอยู่บ้าง”

กลุ่มแนวร่วมฯ ซึ่งอาวุโสกว่าตั้งระเบียบปฏิบัติในการเจรจาว่า “ให้สวดก่อนเปิดและปิด
การเจรจา ห้ามใช้คำหยาบ ห้ามใช้อาวุธ ห้ามขัดคอ ห้ามใช้ความรุนแรงระหว่างเจรจา”

ตอนแรกสมาชิกแก๊งทั้งหลายต่างยืนเฉยขณะที่กลุ่มแนวร่วมฯ เป็นคนนำสวด แต่พอประชุม
ไปได้ 2-3 ครั้ง พวกหนุ่ม ๆ ก็เริ่มนำสวดและยังเสนอให้ประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

เดวิด ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงแรกของการเจรจาสงบศึก หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มต่อต้าน
อาชญากรรมชื่อ “เทพพิทักษ์” ก็ออกมาแถลงว่า มีแผนจะทาสีทับภาพเขียนที่เลอะเทอะบนกำแพงตึก
ทั่วซิมเปิลซิตี้ แต่สมาชิกทั้งสองแก๊งประกาศอย่างเกรี้ยวกราดและชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้คนนอก
เข้ามากระทำการดังกล่าวเด็ดขาด เดวิดจำต้องปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่มเทพพิทักษ์ไปอย่างสุภาพ

แต่แล้วหลังจากนั้น สมาชิกแก๊งก็รุกถามเดวิดว่า ทำไมเขาถึงไม่จัดการลบภาพเขียนเลอะเทอะ
บนกำแพงเอง เดวิดไม่อยากย้อนถามพวกนั้นกลับไปว่า “แล้วใครเล่าที่เป็นคนขีดเขียนขึ้นตั้งแต่แรก”

อย่างไรก็ตาม เขาได้ตอบไปโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่ทันคาดคิดถึงผลที่จะตามมาด้วยซ้ำว่า
“ผมจะไม่จัดการอะไรทั้งสิ้น ถ้าอยากลบออก ก็ทำเองสิ”

เดวิดตกกระไดพลอยโจนสนับสนุนโครงการลบภาพเขียนบนกำแพงโดยสมาชิกของทั้งสองแก๊ง
โดยตกลงจะจ่ายค่าแรงสมาชิกแก๊งชั่วโมงละ 6.50 เหรียญเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งเหมือนยิงปืนนัดเดียว
ได้นกหลายตัว หนุ่ม ๆ เหล่านี้ได้สิ่งที่พวกเขาต้องการที่สุดคือ คำแนะนำจากผู้ใหญ่ มีงานทำ
และหลุดพ้นจากแวดวงนักเลง

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.พ. 06, 2023 11:55 am

ปิดฉากโหดที่ชุมชนซิมเปิลซิตี้ ตอนที่ ( 5 )
โดย Debra Dickerson จากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนตุลาคม 2541
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)ล้ำเส้น
ช่วงเวลานั้นเอง รอสตัดสินใจแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการสงบศึกและเจตนาแน่วแน่
ที่จะกลับเนื้อกลับตัวใหม่ เขาพาเพื่อนร่วมแก๊งเดินข้ามสนามฟุตบอลที่ไม่มีใครกล้าล่วงล้ำมาก่อน
หน้านั้นเพราะถือเป็นเขตต้องห้ามของทั้งสองฝ่าย แก๊งของรอสเดินข้ามสนามฟุตบอลโดยไม่มีใคร
พกอาวุธหรือการคุ้มกันใด ๆ รอสบอกว่า “ต้องลองล้ำเส้นดู จึงจะรู้ว่าสงบศึกกันได้จริงหรือเปล่า”

พวกเขาเอ่ยปากทักทายไปก่อนเมื่อสมาชิกแก๊งอะเวนิว 6 คนขับรถผ่านมา ทั้งสองแก๊งมองหน้า
กันพักใหญ่ จากนั้นแต่ละฝ่ายก็พยักหน้าให้กัน แล้วแยกย้ายไปตามทาง

ต่อมา สมาชิก 26 คนในกลุ่มก็เริ่มทำงานในโครงการกำจัดภาพเขียนบนกำแพง โดยเริ่มจาก
การลบคำประกาศ “เขตสงคราม”ออกเป็นลำดับแรก เมื่อได้รับเงินค่าจ้าง ก็กันส่วนหนึ่งจ่ายเป็นค่า
อาหารและสร้างสนามบาสเกตบอลให้พวกเด็กผู้ชาย ก่อนถึงเวลาเข้ากะทำงาน พวกเขาปลีกเวลา
ส่วนตัวใปตรวจตราความสะอาดและเก็บขยะในสนาม อีกทั้งไม่ยอมให้พวกค้ายามาหากินในถิ่นของตน
งานเสร็จก่อนกำหนด 3 เดือน ทั้งกลุ่มจึงเรียกร้องของานประจำทำต่อ

(+)คืนสู่ชุมชน

ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2540 ซึ่งเป็นวันสงบศึกเป็นต้นมา ไม่มีการฆาตกรรมเกิดขึ้น
ในซิมเปิลซิตี้เลย โรเบิร์ต ไวต์ รองหัวหน้าตำรวจนครบาลยกความดีให้กับกลุ่มแนวร่วมฯ ที่เปลี่ยนแปลง
ซิมเปิลซิตี้ได้สำเร็จ เขาบอกว่า “คนมั่วสุมตามมุมถนนน้อยลง ไม่ดื่มเหล้าเมามายและเกกมะเหรกเกเร
เหมือนเมื่อก่อน ทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยอีกครั้ง”

ทำไมกลุ่มแนวร่วมฯ จึงสามารถทำในสิ่งที่โครงการของรัฐบาลและตำรวจที่ดำเนินการอย่างจริงจัง
มาหลายปีกลับล้มเหลว ทั้งนี้เพราะกลุ่มแนวร่วมฯ ให้สิ่งที่ขาดหายไป 2 อย่าง นั่นคืองานและการมีส่วน
ร่วมโดยตรง แทนที่จะเป็นการต่อต้านสมาชิกแก๊ง

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ เด็กหนุ่มของชุมชนประมาณ 75 คนได้งานทำผ่านโครงการ “เบนนิง เทอเรส”
ตามมาด้วยงานจากภาคเอกชน นอกจากนี้ กลุ่มแนวร่วมฯ ยังช่วยพวกเขาตั้งบริษัทรับงานออกแบบภูมิทัศน์

กลุ่มแนวร่วมฯ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกทั้งหมด 8 คนยังให้ความช่วยเหลือพาพวกเด็กหนุ่มไปจดทะเบียน
รถยนต์เป็นครั้งแรกในชีวิต ต่อรองกับบริษัทประภัยและระบบราชการในการจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูบุตรซึ่ง
เป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับพวกเขาในอดีต กลุ่มแนวร่วมฯ ซื้อเสื้อสูทชุดแรกให้เด็กหนุ่มเหล่านี้และสอน
ให้พวกเขาหัดผูกเนคไท นอกจากนี้ยังสวมกอด ให้คำชมและ
ลงโทษตามโอกาสที่เหมาะสม

พีต แจ็กสัน อดีตนักโทษซึ่งกลายมาเป็นรองผู้คุมเรือนจำที่เพิ่งเกษียณกล่าวว่า “เราฝึกพวกเขาให้กลับไป
อยู่ในชุมชนโดยมีภูมิคุ้มกันสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย”

โทมัส รอส สอบผ่านขั้นสามัญศึกษาและขณะที่เขียนเรื่องนี้กำลังเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่ง
อเมริกาเพื่อเรียนรู้การเป็นผู้จัดการหมู่บ้านการเคหะ เมื่อเด็กหนุ่ม ๆ ในชุมชนพากันออกจากโรงเรียน
กลางคันเพื่อแย่งกันสมัครทำงาน รอสตั้งโครงการช่วยพวกเขาให้กลับเข้าไปเรียนต่อ โดยหางานให้ทำ
ในตอนเย็นและช่วงสุดสัปดาห์

ชายหนุ่มที่เคยหน้านิ่วคิ้วขมวดและเป็นตัวอันตรายแทบไม่เหลือร่องรอยเดิมในตอนนี้ เขายังคงยิ้มได้
แม้เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาตลอดวัน ทั้งงานออกแบบภูมิทัศน์ ปรับปรุงที่พักอาศัยและบำรุงรักษา
สาธารณูปโภคในซิมเปิลซิตี้ เขาบอกว่า “เมื่อก่อนชีวิตไม่มีอะไรน่ารื่นรมย์ แต่ตอนนี้ ผมอยู่ได้แล้ว”

**********************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส