ประวัตินักบุญอย่างย่อเดือนมกราคม วันที่ ( 16-31)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 16, 2022 10:47 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๖ มกราคม
นักบุญมาร์เซลัส พระสันตะปาปา
St. Marcellus, Pope

มาร์เซลัสเป็นพระสันตะปาปาในยุคสิ้นสุดการเบียดเบียนศาสนาโดยจักรพรรดิ Diocletian
ราวปี ๓๐๘-๓๐๙ ผลการเบียดเบียนครั้งนั้นทำให้พระศาสนจักรไร้พระสันตะปาปาปกครอง
นานกว่าหนึ่งปี เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นพระสันตะปาปา มาร์เซลัสต้องพยายามสร้างเสริม
ให้พระสงฆ์มีจำนวนมากขึ้น ท่านยังต้องทำงานหนักเพื่อต้อนรับผู้ที่ได้ประกาศทิ้งศาสนา
เพื่อรักษาชีวิตตัวเองให้กลับคืนสู่ศาสนจักร

กลุ่มผู้ประกาศทิ้งศาสนากลุ่มหนึ่ง ชื่อพวก Lapsi ไม่ยอมทำกิจใช้โทษบาปในการคืนสู่
ศาสนจักร มาร์เซลัสจึงไม่ยอมรับพวกเขา แต่คนกลุ่มนี้ก่อความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง
จนจักรพรรดิ Maxentius ทรงขับไล่มาร์เซลัสออกจากเมืองเพื่อให้เกิดความสงบ
ท่านเสียชีวิตเพราะความทุกข์ยากลำบากที่ประสบในระหว่างการเนรเทศนี้
คริสตชนถือว่าท่านเป็นมรณสักขี

ท่านถูกฝังใต้พระแท่นวัด San Marcello al Corso ที่กรุงโรม

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 19, 2022 10:53 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๗ มกราคม
นักบุญแอนโทนีแห่งอียิปต์
St. Anthony of Egypt, Abbot

แอนโทนีมีชีวิตในช่วงปี ๒๕๑-๓๕๖ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งวิถีชีวิต
นักพรตในอาราม

แอนโทนีเกิดในครอบครัวร่ำรวยของอียิปต์ เมื่อท่านอายุ ๒๐ ปี บิดามารดาเสียชีวิต
ท่านขายทรัพย์สมบัติทุกอย่างและแจกจ่ายเงินทองให้คนจนตามที่พระวรสารแนะนำ
(มธ ๑๙:๒๑)

ท่านออกใช้ชีวิตเป็นฤาษีอยู่ไม่ห่างไกลจากบ้าน โดยมีฤาษีอาวุโสคนหนึ่งคอยให้คำ
แนะนำ ต่อมา ท่านเข้าอาศัยอยู่ในคูหาฝังศพว่างเป็นเวลา ๑๒-๑๕ ปี หลังจากนั้น
ท่านออกเดินทางไปพำนักอยู่ในป้อมที่ถูกทิ้งร้างในทะเลทรายห่างไกลผู้คน

ชีวิตของแอนโทนีดึงดูดคนจำนวนมากให้ติดตามเป็นศิษย์ ท่านจึงก่อตั้งอารามนักพรต
แห่งแรกโดยรวบรวมบรรดาฤาษีที่พักในถ้ำหรือห้องแคบๆ เข้าเป็นกลุ่ม
นักบุญอธานาซีอุสเขียนเรื่องราวชีวิตของแอนโทนีอันทำให้
ท่านเป็นที่รู้จักในนาม "บิดาของฤาษี"

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 19, 2022 10:55 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๘ มกราคม
นักบุญชาร์ลส์แห่งเซสซี
St. Charles of Sezze

ชาร์ลส์เกิดที่เมืองเซสซี อิตาลี เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๑๖๑๓ ครอบครัวของท่านซึ่งเป็น
คนชนบทศรัทธาในศาสนามาก ในวัยเด็ก ชาร์ลส์ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลแกะ ท่านไม่ได้
รับการศึกษา จึงอ่านและเขียนได้อย่างจำกัด ท่านเข้าคณะนักบวชฟรังซิสกันในฐานะ
ภราดาฆราวาส ได้ทำหน้าที่เป็นพ่อครัว ผู้เฝ้าประตู และคนทำสวน

ชาร์ลส์มีชื่อเสียงในความศักดิ์สิทธิ์ ความเรียบง่ายและจิตใจเมตตา ท่านเอื้อเฟื้อต่อ
ผู้จาริกแสวงบุญและผู้เสาะแสวงหาคำแนะนำทางจิตวิญญาณ ปี ๑๖๕๖ ท่านทำงานอย่าง
ไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อดูแลเหยื่อโรคระบาด มีเรื่องเล่าว่าท่านถูกเรียกตัวไปเฝ้าข้างเตียง
เพื่ออำนวยพรให้พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ ๙ ผู้ใกล้สิ้นพระชนม์

ท่านเสียชีวิตวันที่ ๖ มกราคม ๑๖๗๐ ที่โรม ท่านถูกฝังในวิหารนักบุญฟรังซิส
พระสันตะปาปายอห์น ที่ ๒๓ ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๙๕๙

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 19, 2022 10:56 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๙ มกราคม
นักบุญคานูตัส กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
St. Canutus, King of Denmark

คานูตัสสืบราชบัลลังก์เดนมาร์กต่อจากพระเชษฐา กษัตริย์แฮโรลด์ในปี ๑๐๘๐
พระองค์รบชนะศัตรูและปลูกฝังความเชื่อลงในดินแดนที่พิชิตได้ พระองค์ทรง
ถวายคารวะต่อไม้กางเขน มอบพระองค์และราชอาณาจักรแด่พระเยซูเจ้า ผู้เป็น
กษัตริย์แห่งกษัตริย์ พระองค์ทรงเสกสมรสกับเจ้าหญิงเอ็ลธา พระธิดาของเอิร์ล
แห่งแฟลนเดอร์

ความยุติธรรมของกษัตริย์คานูตัสเป็นที่ล่วงรู้ทั่วไป พระองค์ทรงปฏิรูปเรื่องคอร์รัปชั่น
ในหมู่ข้าราชการ ทรงบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อทุกคนอย่างเสมอภาค
พระองค์ทรงให้เกียรติผู้ศักดิ์สิทธิ์และให้สิทธิพิเศษหลายประการแก่พระสงฆ์นักบวช

แต่เกิดการขบถขึ้นในประเทศ ขณะนั้นกษัตริย์คานูตัสอยู่ที่วัด พระองค์ทรงสารภาพบาป
รับศีลมหาสนิท และกางพระกรต่อหน้าพระแท่นรับดาบของพวกศัตรูที่รุมสังหารพระองค์

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 21, 2022 3:10 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๐ มกราคม
นักบุญเซบัสเตียน
St. Sebastian

เซบัสเตียนเป็นบุตรครอบครัวโรมันที่มั่งคั่ง ท่านได้รับการศึกษาที่มิลาน และเข้าประจำการ
ในกองทัพจักรวรรดิโรมัน ท่านเป็นหัวหน้ากองกำลังรักษาพระองค์ และเป็นคนโปรด
ของจักรพรรดิ Diocletian ในยุคนี้ซึ่งมีการเบียดเบียนคริสตศาสนา เซบัสเตียนเยี่ยมเยียน
คริสตชนที่ถูกคุมขังในคุกเพื่อให้อาหารและปลอบบรรเทา เล่ากันว่าท่านรักษาภรรยาของ
เพื่อนทหารคนหนึ่งให้หายด้วยการทำเครื่องหมายกางเขนบนร่างเธอ ระหว่างที่ ท่านประจำการ
ในกองทัพ เซบัสเตียนทำให้ทหารจำนวนมากกลับใจมานับถือคริสตศาสนา
รวมทั้งผู้ว่าการคนหนึ่ง

ปี ๒๘๘ เซบัสเตียนถูกจับในข้อหาเป็นคริสตชน ท่านถูกมัดกับต้นไม้ ยิงด้วยลูกธนู
แต่ท่านไม่เสียชีวิต ยังสามารถเทศน์สั่งสอนจักรพรรดิได้ ที่สุด
พระองค์สั่งให้พวกทหารทุบตีท่านจนเสียชีวิต

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 21, 2022 3:14 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๑ มกราคม
นักบุญอักแนส
St. Agnes

แม้จะไม่มีรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับชีวิตของอักแนส แต่เรื่องราวของเธอถูกเล่าต่อกันมา
ด้วยความเคารพตั้งแต่ศตวรรษที่ ๔ ชื่ออักแนสในภาษาละตินหมายถึงลูกแกะ
ในวันฉลองของเธอ พระสันตะปาปามีธรรมเนียมอำนวยพรแก่พวกแกะ ซึ่งขนของพวกมัน
จะถูกนำมาทำเป็นสายพาดบ่า (Pallium) ของพระสังฆราช

อักแนสเกิดในครอบครัวมั่งคั่งในปลายศตวรรษที่ ๓ เธออาศัยอยู่ในกรุงโรมในช่วงเวลา
ของการเบียดเบียนพระศาสนจักรครั้งสุดท้ายโดยจักรพรรดิ Diocletian แม้ว่าจักรพรรดิ
จะอดทนต่อบรรดาคริสตชน แต่ในปี ๓๐๒ พระองค์ทรงเปลี่ยนพระทัย กลับมุ่งจะกวาดล้าง
พระศาสนจักรคาทอลิกให้หมดสิ้นจากจักรวรรดิ

จักรพรรดิทรงสั่งให้ทำลายวัดและเผาหนังสือ พระสงฆ์และฆราวาสถูกจับคุมขังและ
ลงทัณฑ์ทรมาน บังคับให้นมัสการจักรพรรดิแทนพระคริสต์

อักแนส ซึ่งเป็นหญิงสาวเลอโฉมและมีเสน่ห์ ได้รับความสนใจจากพวกข้าราชการระดับสูง
มากมาย แต่เธอตั้งใจจะใช้ชีวิตเป็นโสดเพื่อยืนยันถึงอาณาจักรพระเจ้าตามอย่างพระคริสต์
และนักบุญเปาโล เธออธิบายแก่เหล่าผู้ติดตาต้องใจเธอว่าเธอได้ให้คำมั่นสัญญาไว้แล้วกับ
คู่ครองที่มองไม่เห็นและอยู่บนสวรรค์

คนเหล่านั้นมีทั้งที่เข้าใจและที่ไม่ยอมรับการตัดสินใจของเธอ บางคนรายงานเรื่องเธอเป็น
คริสตชนให้ทางการทราบ หวังจะให้เธอเปลี่ยนใจ อักแนสถูกนำมายืนต่อหน้าผู้พิพากษา
ซึ่งทีแรก พยายามหว่านล้อม ต่อมาก็ข่มขู่ให้เธอปฏิเสธความเชื่อ

ผู้พิพากษาแสดงทัณฑ์ทรมานที่เธออาจได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเผาไฟ เกี่ยวด้วยตะขอเหล็ก
หรือยึดกับรางเพื่อยืดร่างฉีกอวัยวะ แต่อักแนสก็ไม่ยอมตาม เธอถูกพามายืนหน้าแท่นเทพเจ้า
เพื่อกราบไหว้นมัสตามธรรมเนียมปฏิบัติของจักรวรรดิโรม

แต่เธอปฏิเสธ ผู้พิพากษาจึงสั่งให้ส่งตัวเธอไปที่ซ่องโสเภณีเพื่อให้เธอเสียพรหมจรรย์
อักแนสทำนายว่าพระเจ้าจะไม่ยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น และถ้อยคำของเธอก็เป็นจริง ชายคนแรก
ที่พยายามเข้าหาเธอตาบอดในทันทีด้วยแสงที่สว่างวาบฉับพลัน คนอื่นไม่กล้าจะเข้าใกล้เธออีก

แต่มีชายคนหนึ่งที่ลุ่มหลงอักแนสจนกลายเป็นความแค้น เขาจ่ายสินบนให้ผู้พิพากษาตัดสิน
ประหารเธอ ก่อนจะถูกตัดศีรษะ เพชฌฆาตให้โอกาสเธอครั้งสุดท้ายที่จะปฏิเสธพระคริสต์
แต่อักแนสแน่วแน่ เธออธิษฐานภาวนาและยอมรับความตายอย่างกล้าหาญ

อักแนสเสียชีวิตในปี ๓๐๔ เธอเป็นมรณสักขีคนสำคัญที่ได้รับการจารึกนามในพระศาสนจักร

CR. : Sinapis


วันที่ 21 มกราคม

ระลึกถึง นักบุญอักแนส พรหมจารีและมรณสักขี

( St Agnes, Virgin & Martyr, memorial )

นักบุญอักแนส เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติอย่างสูงทั่วทั้งพระศาสนจักร ชื่อของท่านนักบุญ
ปรากฏอยู่ใน "บทขอบพระคุณ" ในบูชามิสซา (The Canon of the Mass) เรารู้ความจริงแน่ๆ เกี่ยวกับ
ชีวิตแสนสั้นของเธอน้อยมาก แต่จากความรู้น้อยนิดที่เกี่ยวกับเธอนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ เธอ
ปรารถนาอย่างยิ่งจะถวายชีวิตของเธอแด่พระคริสตเจ้าแต่เพียงผู้เดียว และได้ปฏิเสธอย่างสุภาพต่อ
ชายหลายคนที่หมายปองในตัวเธอ นี่ทำให้เธอถูกจับไปอยู่ในสถานโสเภณี แต่ไม่มีใครได้สัมผัสเธอ
เธอมักจะประกาศว่า "พระคริสต์ทรงเป็นเจ้าบ่าวของดิฉัน พระองค์ทรงเป็นผู้เลือกดิฉันก่อน และฉันจะ
เป็นของพระองค์ผู้เดียว" ตามตำนานเล่าว่า เหตุการณ์นี้เกิดราวต้นศตวรรษที่ 4 โดยที่อักแนสเป็นคน
ที่ร่ำรวยและเป็นคนสวย แต่เธอปฏิเสธหนุ่มๆ ชาวโรมันทุกคน บางคนพยายามบังคับให้เธอแต่งงานด้วย
มิฉะนั้นจะฟ้องว่าเธอเป็นคริสตชน เวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่มีการเบียดเบียนคริสตชนในสมัยของ
พระจักรพรรดิดิโอเคลเตียน (The Emperor Diocletian) ในเมื่อเธอไม่ยอม จึงถูกทรมานในหลายรูปแบบ
แต่เธอก็ยังกล่าวว่า "องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงปกป้องผู้ที่เป็นของพระองค์" ที่สุด ผู้ปกครองโรมันได้ตัดสิน
ประหารชีวิตเธอ ขณะนั้นเธอมีอายุแค่ 13 ปีเท่านั้น เราไม่รู้ว่าเธอถูกประหารด้วยการตัดศีรษะหรือถูกแทง
ทะลุลำคอ อย่างไรก็ตาม นักบุญอักแนสได้หันคอให้กับเพชฌฆาตและยอมรับความตาย ร่างของเธอถูกฝัง
ไว้บนพื้นที่ของครอบครัวเธอที่ถนนโนเมนตานา (Nomentana) ห่างจากกรุงโรมไปประมาณหนึ่งไมล์ครึ่ง
มีการสร้างบาสิลิกาขึ้นเหนือหลุมศพของเธอในปี ค.ศ.324 และต่อมาพระสันตะปาปา Honorius ได้ทรงสร้าง
ขึ้นใหม่ทั้งหมดในปี ค.ศ. 630 และยังคงตั้งอยู่เรื่อยมานับแต่บัดนั้น ถือเป็นเพชรเม็ดงามของสถาปัตยกรรม
โรมันแบบเก่าเลยทีเดียว

จากความมีชื่อเสียงของเธออันเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างแพร่หลาย เล่าขานกันว่า เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนติน
อยากจะให้พระธิดาของพระองค์ทรงรับศีลล้างบาป พระองค์ทรงโปรดให้ทำพิธีใกล้จุดที่ฝังร่างของ
นักบุญอักแนส
นักบุญอักแนสเป็นองค์อุปถัมภ์ของความบริสุทธิ์ ของเยาวสตรีโดยทั่วๆไป ตามธรรมประเพณีได้ยกย่อง
เธอเสมอว่าเป็นแบบอย่างของความบริสุทธิ์ ความถ่อมตน และการที่เธอสามารถรักษาความเชื่อของเธอ
แม้ว่าจะถูกล่อลวงในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งถูกข่มขู่ และได้รับความทรมาน

ในทุกๆปี วันที่ 21 มกราคมนี้ที่เป็นวันระลึกถึงท่านจะมีการนำลูกแกะสีขาว 2 ตัว - สัญลักษณ์ของ
ความบริสุทธิ์ - นำมาอวยพรอย่างสง่าบนพระแท่นในวัดของนักบุญอักแนส และจะนำไปถวาย
พระสันตะปาปา และจากขนของพวกมัน ต่อมาจะนำไปทำ "ผ้าแถบคล้องคอ" (Pallium - a)
ที่พระสันตะปาปาจะส่งให้พระอัครสังฆราชประจำอัครสังฆมณฑล (The Metropolitan) ทั่วโลก
เพื่อสวมใส่ในพิธีกรรม อันเป็นสัญลักษณ์ถึงการมีส่วนร่วมของพวกเขากับพระองค์อย่างครบสมบูรณ์
ในตำแหน่งหน้าที่พระสันตะปาปาของพระองค์ ("the plenitude of pontifical office")

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ
1. Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe
2. A Calendar of Saints ; เขียนโดย James Bentley)
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ ม.ค. 21, 2023 9:27 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ม.ค. 22, 2022 11:27 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๒ มกราคม
นักบุญวินเซนต์
St. Vincent

วินเซนต์เป็นสังฆานุกรของเมือง Saragossa (ซาราโกซา) ท่านเป็นมรณสักขี
ในสมัยจักรพรรดิ Diocletian (ปี ๓๐๔)

วินเซนต์ได้รับการอบรมสั่งสอนจากสังฆราช Valerius แห่งซาราโกซา ภายหลังจาก
ได้รับศีลบวชเป็นสังฆานุกร ท่านทำหน้าที่เทศน์ในสังฆมณฑลเนื่องจากพระสังฆราช
ถูกห้ามเทศน์สอน ผู้ว่าการเมืองสั่งให้นำตัววินเซนต์และสังฆราชมาที่วาเลนเซีย
ทั้งสองถูกจำจองไว้ในคุกเป็นเวลานาน ต่อมาพระสังฆราช Valerius ถูกปล่อยตัว
แต่วินเซนต์ต้องรับทัณฑ์ทรมานนานัปการจนเสียชีวิต

ร่างกายของท่านถูกโยนให้พวกแร้งกิน แต่มีกาตัวหนึ่งมาปกป้อง ผู้ว่าการเมืองจึงสั่ง
ให้ทิ้งศพลงทะเล แต่ร่างของท่านก็ลอยคืนสู่ฝั่งและได้รับการฝังโดยแม่ม่ายใจศรัทธา
คนหนึ่ง หลังจากความสงบกลับคืนมา วัดแห่งหนึ่งได้ถูกสร้างเหนือบริเวณที่ฝังศพของ
ท่านนอกกำแพงเมืองวาเลนเซีย

วินเซนต์เป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเมืองวาเลนเซีย ซาราโกซา และประเทศโปรตุเกส

CR. : Sinapis

––––––––––––––––––––
วันที่ 22 มกราคม
ระลึกถึงบุญราศีเลารา วีกุญญา (1891 – 1904)
(Memorial of Bl. Laura Vicuna)

เลารา เกิดที่เมืองซานติเอโก ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 1891 บิดาของเลารา
เป็นนายทหารจากตระกูลสูง ส่วนมารดาเป็นหญิงสวยสามัญชนและไม่เป็นที่ยอมรับจาก
ญาติฝ่ายบิดา เมื่อเกิดการปฏิวัติในชีลี ครอบครัวของบิดาต้องอพยพหนีออกนอกเมือง
ขณะนั้นเลารามีอายุเพียง 5 เดือน บิดาของเลาราทำงานเลี้ยงครอบครัวด้วยความขยัน
ขันแข็งและเสียชีวิตเมื่อเลาราอายุ 2 ขวบ และน้องคนเล็กเพิ่งจะเกิดได้ไม่นาน
มารดาของเลาราได้บากบั่นทำงานจนสามารถเปิดร้านขายของเล็กๆ ในหมู่บ้าน
แต่ถูกโจรบุกเข้าปล้นร้านและขนเอาทรัพย์สินเงินทองไปหมด จึงพาบุตรสาวทั้งสองคน
อพยพไปหางานทำที่ประเทศอาร์เจนตินา
เมื่อเลาราอายุ 9 ขวบ มารดาได้นำมาฝากเป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนของซิสเตอร์
คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ เมื่ออายุ 10 ขวบ เลาราได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก และสัญญา
กับพระเยซูเจ้าว่าจะรักพระองค์มากกว่าตนเอง จะมัธยัสถ์ จะยอมตายดีกว่าทำเคืองพระทัย
พระองค์ ตามแบบอย่างของนักบุญดอมินิก ซาวีโอ จะเผยแพร่พระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของ
พระเยซูเจ้าและจะชดเชยใช้โทษบาปแทนคนบาปทั้งหลาย
เมื่อเลาราทราบว่ามารดาของตนซึ่งทำงานเป็นแม่บ้านให้กับเจ้าของฟาร์มแห่งหนึ่ง
มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับเจ้าของฟาร์ม เลาราเสียใจมาก เพราะไม่ปรารถนาให้มารดาของตน
เจริญชีวิตในบาป เลาราได้วอนขอพระพรจากพระเจ้าให้มารดาละทิ้งสภาพบาปและเจริญชีวิต
ในศีลในพรของพระ
พร้อมๆ กับความทุกข์ใจและการสวดภาวนาเพื่อวอนขอพระพรดังกล่าว เลาราได้พลีกรรม
มัธยัสถ์ตน ใจกว้าง เสียสละช่วยเหลือทุกคน เลือกทำงานที่หนักและลำบาก เลาราไม่ละเว้น
โอกาสเพื่อทำความดี และที่สุดเลาราได้ขออนุญาตจากคุณพ่อวิญญาณรักษ์ เพื่อถวายชีวิต
ของตนเป็นยัญบูชา เพื่อขอพระพรแห่งการกลับใจให้มารดา
เลาราได้ล้มป่วยและได้สิ้นใจ เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1904 อายุ 13 ขวบ ในวันฝังศพ
ของเลารา มารดาของเลาราได้ละทิ้งชีวิตเก่า ได้แก้บาป รับศีลศักดิ์สิทธิ์ และหันมาเจริญชีวิต
ในศีลและพระพรของพระ
พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงประกาศแต่งตั้งเลาราให้เป็นบุญราศี
เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1988 และได้เสนอตัวอย่างชีวิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่องของเลารา
ให้กับเยาวชนในยุคปัจจุบัน

🙏📄 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ซิสเตอร์คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์
(Salesian Sisters of Don Bosco : Daughters of Mary Help of Christians)

#แผนกคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
#คำสอนผู้ใหญ่
#RCIA

CR. : https://www.facebook.com/10280804539155 ... 098569912/
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 23, 2022 10:21 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๓ มกราคม
นักบุญอิลเดฟอนซัส
St. Ildephonsus

อิลเดฟอนซัสเป็นอัครสังฆราชของเมือง Toledo ท่านเป็นหลานของนักบุญ Eugenius
นับแต่เยาว์วัย ท่านสนใจชีวิตนักพรตและได้เข้าอาราม ท่านบวชเป็นสังฆานุกร และได้
เป็นอัครสังฆราชของ Toledo ในปี ๖๕๗ ซึ่งท่านทำหน้าที่อยู่นาน ๙ ปี

ท่านมีความศรัทธาแรงกล้าต่อพระนางมารีย์ เล่ากันว่าพระนางปรากฏให้ท่านเห็นในคุก
ท่านเสียชีวิตในปี ๖๖๗

งานเขียนของอิลเดฟอนซัสเป็นที่รู้จักกันมากกว่ารายละเอียดของชีวิตท่าน และทำให้ท่าน
มีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะนักเขียนชาวสเปน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 24, 2022 6:32 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๔ มกราคม

นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์
พระสังฆราชและนักปราชญ์ของพระศาสนจักร
St. Francis de Sales

ฟรังซิสเกิดในปี ๑๕๖๗ ที่เมือง Savoy ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส
บิดาของท่านเป็นทูต ครอบครัวท่านศรัทธายิ่งต่อนักบุญฟรังซิส อัสซีซี

ในวัยหนุ่ม ฟรังซิสเรียนวิชาวาทศิลป์ ศิลปศาสตร์ และกฎหมายเพื่อเตรียมทำงานด้าน
การเมือง ท่านมีความศรัทธาลึกซึ้งต่อพระนางมารีย์ และได้ตัดสินใจลับๆ ที่จะถือโสด
ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องทะเลาะกับบิดา เพราะบิดาท่านได้จัดเตรียมการแต่งงานไว้ให้แล้ว

ช่วงเวลานั้นเอง พระสังฆราชแห่งเจนีวาได้ตั้งฟรังซิสให้ทำงานในพระศาสนจักรของสวิส
ซึ่งทำให้ท่านตัดสินใจเรียนและรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๕๙๓

เพียงไม่นาน คุณพ่อฟรังซิส เดอ ซาลส์ก็มีชื่อเสียงโดดเด่นในการเป็นนักเทศน์และทำงาน
อภิบาลคนจนและคนป่วย ที่สุด ท่านได้เป็นสังฆราชแห่งเจนีวาในปี ๑๖๐๒ ซึ่งท่านทำหน้าที่
อย่างดีเลิศในการบริหาร การเทศน์ การสอนคำสอน ให้การอบรมพระสงฆ์นักบวช และให้
คำแนะนำชีวิตฝ่ายจิตแก่บุคคลต่างๆ ท่านทำงานเพื่อฟื้นฟูวัดวาอารามและคณะนักบวช
ในเจนีวา ท่านยังช่วยเหลือนักบุญเจน ฟรังซิส เดอ ซังตาล ให้ก่อตั้งคณะนักบวชหญิงด้วย

ในระหว่างทำหน้าที่สังฆราช ท่านสามารถนำชาวโปรแตสเตนท์ ๔๐,๐๐๐-๗๐,๐๐๐ คนให้กลับ
มาถือความเชื่อคาทอลิก แม้จะต้องเผชิญกับความโกรธแค้นชิงชังและถูกขู่ฆ่าหลายครั้ง

ท่านเสียชีวิตในปี ๑๖๒๒ และเพียง ๓ ปีต่อมาก็ได้รับการประกาศเป็นนักบุญ ในปี ๑๘๗๗
ท่านได้รับการยกย่องเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร

แก่นสำคัญของคำสอนของท่านคือ ความเพียบพร้อมในชีวิตฝ่ายจิตนั้นไม่ได้ถูกกำหนดไว้เฉพาะ
บุคคลพิเศษบางคน และไม่ต้องใช้ชีวิตถือพรตทรมานตนเคร่งครัดหรือถอนตัวจากชีวิตประจำวัน
ทางโลก ท่านเป็นผู้วางรากฐานให้ชีวิตภายในของฆราวาส ท่านเขียนหนังสือชีวิตฝ่ายจิตที่เป็น
คลาสสิค ชื่อ Introduction to the Devout Life (ข้อแนะนำเบื้องต้นของชีวิตศรัทธา)
มีคณะนักบวชมากมายที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้ชื่ออุปถัมภ์ของท่าน

ฟรังซิส เดอ ซาลส์เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของนักเขียน
ดังนั้น วันฉลองของท่านจึงเป็นวันที่พระสันตะปาปาทรงออกพระสมณสาสน์
เนื่องในวันสื่อมวลชนโลก

CR. : Sinapis

วันที่ 24 มกราคม

ระลึกถึง นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์
พระสังฆราชและนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร

(St Francis de Sales, Bishop & Doctor, memorial)

นักบุญฟรังซิส เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1567 เป็นบุตรคนโตสุดในจำนวนทั้งหมด 13 คน
ของขุนนางที่ชื่อ Francis de Boisy และ Frances de Sionnaz เกิดที่ปราสาทของตระกูลซาลส์
แถบซาวอย ประเทศฝรั่งเศส เมื่ออายุ 25 ปีได้จบปริญญาเอกทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยของเมืองปาดัว
(Padua) อิตาลี แต่ในปีต่อมาท่านปฏิเสธตำแหน่งสมาชิกสภาสูง และละทิ้งวิชากฎหมายเพื่อมุ่งหน้า
จะเป็นพระสงฆ์ แม้ว่าพ่อของท่านจะคัดค้านอย่างหนักหน่วงก็ตาม

แคว้น Le Chablais ที่อยู่ชายฝั่งด้านใต้ของทะเลสาบเจนีวาในขณะนั้นเพิ่งยอมแพ้ให้แก่ ดยุค
แห่งซาวอย ซึ่งเป็นคาทอลิก หลังจากตกอยู่ใต้อิทธิพลของโปรแตสตันท์ของกรุงเบอร์น (Berne)
มาเป็นเวลา 50 ปี ดังนั้นฟรังซิสและญาติของท่านคือ the Canon Louis de Sales ได้อาสาที่จะพา
ประชาชนที่ไปนับถือลัทธิคาลวินิสต์ (Calvinist) ให้กลับมาสู่ความเชื่ออีกครั้งหนึ่ง ท่านได้ตั้งกฎเกณฑ์
ของพระศาสนจักรขึ้นมาเรื่อง "ข้อโต้แย้ง" ("Controversies") ที่มีชื่อเสียงมาก ได้คัดลอกลายมือเป็น
แผ่นปลิวสอดไปตามประตูบ้าน หรือช่องว่างตรงกำแพง

ผู้คนมากมายค่อยๆหลั่งไหลมาฟังคำเทศน์ของท่านแล้วก็กลับใจ ด้วยความที่ท่านเป็นคนดีและ
ซื่อจนหาคนเปรียบได้ยาก รวมทั้งมีความอดทนและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อีกทั้งคำสอนที่ชัดเจนและไม่อาจ
คัดค้านได้ ท่านเคยกล่าวว่า "คุณสามารถจับแมลงมากมายด้วยน้ำผึ้งเพียงช้อนเดียว มากกว่าใช้น้ำส้ม
เป็นร้อยๆ ถัง" ภายในเวลา 4 ปีที่ท่านทำงานอย่างหนัก ผ่านการเดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ
อย่างสม่ำเสมอ ประสบภัยอันตรายต่างๆ มากมาย ฟรังซิสก็สามารถทำให้ผู้นับถือลัทธิคาลวินิสต์กลับใจ
ได้ถึง 70,000 คน และในที่สุดก็มีความยินดีที่ได้เห็นวัดต่างๆ เปิดขึ้นใหม่มาเป็นแบบคาทอลิก ความสำเร็จ
จากการงานที่ยากลำบากเหล่านี้และชื่อเสียงทางด้านความศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นที่เลื่องลือไป ทำให้ท่าน
ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชผู้มีสิทธิ์สืบทอดตำแหน่ง (Bishop-coadjutor) ในปี ค.ศ. 1599 แม้ขณะนั้น
ท่านมีอายุเพียง 32 ปีเท่านั้น พระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 8 มีความประทับใจในตัวท่านมาก ทรงเชิญท่าน
เป็นการส่วนตัวมาสอบถามต่อหน้าบรรดาพระคาร์ดินัลของพระองค์

เมื่อพระสังฆราช Granier สิ้นชีพในปี ค.ศ. 1602 ฟรังซิสก็รับตำแหน่งต่อทันที และจากนั้นมาเป็นเวลา
20 ปีในตำแหน่งพระสังฆราชที่ท่านทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เช่น บ้านพักอาศัย อาหาร เครื่องแต่งกาย
ถูกลดทอนให้เรียบๆ ง่ายๆ ที่สุดตามที่ท่านต้องการ เพื่อท่านจะได้ดูแลช่วยเหลือคนยากจนและคนที่ขาด
แคลนทั้งหลาย ด้วยใจร้อนรนท่านออกเยี่ยมวัดที่อยู่ห่างไกลทั้งหลาย ซึ่งยากต่อการไปถึงเพราะอยู่บน
เทือกเขาที่ห่างไกลมาก ท่านไปที่ไหนก็เทศน์ที่นั่น ฟังแก้บาป ปฏิรูปคณะนักบวชต่างๆ สอนและทำหนังสือ
สอนคำสอนด้วยภาษาง่ายๆ ที่เหมาะสำหรับคนหนุ่มสาวและคนแก่ และยังจัดให้มีการประชุมซีนอดประจำปี
สำหรับบรรดาสมณะของท่าน และสิ่งที่ควรกล่าวถึงอีกด้วย คือการที่ทำให้ทุกคนประทับใจอย่างยิ่งในบท
เทศน์ที่มีคุณค่าแบบสั้นๆ ตรงไปตรงมา ไม่แต่งเติม วางอยู่บนพื้นฐานของคำคมที่ว่า
"ยิ่งคุณพูดมาก คนจะจำได้น้อยลง" และ "เพื่อจะพูดอย่างดี เราต้องการเพียงรักให้ดี" ในขณะเดียวกัน
ฟรังซิสก็หาเวลาทำงานด้านการเขียนอย่างกว้างขวางด้วย ผลงานชิ้นเอกของท่านเกี่ยวกับการแนะนำวิญญาณ
ที่ชื่อว่า Introduction to the Devout Life, Treatise on the Love of God และ Spiritual Conferences.
โดยที่หนังสือ 2 เล่มหลังเขียนให้กับคณะซิสเตอร์ชื่อ "แม่พระเสด็จเยี่ยม" (The Sisters of the Visitation Order)
ซึ่งท่านและนักบุญ Jane Frances de Chantal ได้ตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1610 บทนำของท่านบอกว่าเขียนเป็น
พิเศษสำหรับบรรดาฆราวาส

ฟรังซิสสิ้นชีพเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ.1622 ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1662
โดยพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7 และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาองค์เดียวกัน
ในปี ค.ศ. 1665 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1877 นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ ได้รับการประกาศเป็น
นักปราชญ์ของพระศาสนจักร โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 และเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดานักเขียน
ซึ่งได้รับการประกาศโดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 เมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1923

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ อังคาร ม.ค. 24, 2023 2:45 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ม.ค. 25, 2022 7:53 pm

วันที่ ๒๕ มกราคม
การกลับใจของนักบุญเปาโล
Conversion of St. Paul

เปาโล (เกิดประมาณปีค.ศ.๑/๕ เสียชีวิตปี ๖๒/๖๗) เป็นธรรมทูตยุคแรกเริ่มคนสำคัญที่สุด
ของของคริสตศาสนา ท่านได้รับฉายาว่า "อัครสาวกของคนต่างศาสนา"

เปาโลเกิดที่เมืองทาซัสในเอเชียไมเนอร์ ครอบครัวของท่านเป็นชาวยิวเชื้อสายเผ่าเบนจามิน
ท่านได้ชื่อว่าเซาโล และได้รับการศึกษาทั้งทางยิวและกรีก ท่านมีสัญชาติโรมัน ท่านเล่าว่า
ท่านตามล่าเบียดเบียนศิษย์ยุคแรกของพระเยซูอย่างเอาจริงเอาจัง ในเหตุการณ์สังหารสเตเฟน
มรณสักขีคนแรกของพระศาสนจักร เปาโลมีส่วนรู้เห็นเป็นพยานด้วย

แต่เปาโลได้พบประสบการณ์ลึกซึ้งที่ทำให้ท่านกลับใจอันเป็นที่มาของวันระลึกฉลองวันนี้
ประสบการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบนถนนไปเมืองดามัสกัสประมาณปี ค.ศ.๓๕ ท่านอธิบายถึง
เหตุการณ์นี้ว่าเป็นกระแสเรียกให้ท่านประกาศเรื่องพระคริสต์ผู้กลับคืนชีพแก่บรรดาคนต่างศาสนา
หลังจากอยู่ที่เมืองดามัสกัสเป็นเวลา ๓ ปี ท่านก็ออกเดินทางทำงานธรรมทูตครั้งแรก (ปี ๓๘-๔๘)
ในซีเรียและเอเชียไมเนอร์

จากนั้นท่านใช้เวลา ๘ ปี (ปี ๔๙-๕๗) ในการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนทั่วเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก
ในระหว่างการเดินทาง ท่านเขียนจดหมายหลายฉบับ ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมใหม่
ในปี ๕๗ ท่านเดินทางกลับเยรูซาเล็ม ที่ซึ่งท่านถูกจับคุมขังเป็นเวลา ๒ ปี ท่านร้องเรียนต่อซีซาร์
ในฐานะพลเมืองชาวโรมัน จึงทำให้ถูกส่งตัวไปที่โรม และท่านถูกขังบริเวณในบ้านแห่งหนึ่งเป็น
เวลาอีก ๒ ปี ในระหว่างช่วงปี ๖๒ และ ๖๗ ท่านถูกสังหารด้วยคำสั่งของผู้มีอำนาจท้องถิ่น

CR. : Sinapis


วันที่ 25 มกราคม

ฉลองการกลับใจของนักบุญเปาโลอัครสาวก

(The Conversion of St. Paul, The Apostle, feast.)

นักบุญเปาโลเองได้บอกว่าท่านเกิดที่เมืองทาร์ซัส (Tarsus) ในแคว้นซิลิเซีย จากพ่อแม่ที่
เป็นชาวยิว ซึ่งเลี้ยงดูท่านมาด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่งตามขนบธรรมเนียมแบบฟาริสีและ
ความศรัทธาแรงกล้า ตามที่นักบุญเยโรมให้ข้อมูลไว้ว่า ครอบครัวของเปาโลมีต้นกำเนิดจาก
แคว้นกาลิลี เป็นชนเผ่าเบนยามิน ตอนที่รับพิธีเข้าสุหนัต ท่านได้รับชื่อว่า ซาอูล หรือ เซาโล (Saul)
ตามชื่อกษัตริย์พระองค์แรกของชาติยิว และตามมาด้วยชื่อภาษาโรมันของท่าน คือ เปาโล (Paul)
ซึ่งเป็นธรรมเนียมของพวกชาวยิวสมัยนั้นที่ถือสัญชาติโรมัน

เมื่อโตขึ้น เซาโลได้ร่ำเรียนวิชาชีพในการเตรียมขนแพะเพื่อมาทำเป็นเต้นท์ ซึ่งกลายเป็นความรู้
ที่ช่วยให้ท่านหาเลี้ยงชีพเองในหลายๆปีต่อมา โดยเฉพาะเมื่อท่านออกเดินทางยาวนานเพื่องาน
ประกาศข่าวดี ภาษาพูดของท่านคือ ภาษาอาราเมอิก แต่ท่านก็พูดกรีกได้ดี และคุ้นเคยกับตำนาน
พื้นบ้านแบบกรีก

ในวัยหนุ่ม เซาโลถูกส่งไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการศึกษาตามแบบชาวยิว เป็นไปได้ที่เป็นลูกศิษย์
ของกามาลิเอล (Gamaliel) ซึ่งเป็นนักปราชญ์ทางด้านกฎหมาย และเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพอย่างสูง
ในบรรดาสมาชิกสภาซันเฮดริน ตามธรรมประเพณีดั้งเดิมเล่าขานกันว่าทั้งกามาลิเอลและนิโคเดมัส
ต่อมากลับใจโดยนักบุญเปโตรและนักบุญยอห์น ข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งคือพวกเขาเก็บความลับจนสามารถ
ช่วยพี่น้องคริสตชน โดยการที่ท่านทั้งสองปรากฎตัวในสภาสูงของชาวยิวอย่างต่อเนื่อง

เราได้ยินเรื่องของเซาโลต่อมาในช่วงเวลาการเป็นมรณสักขีของนักบุญสเทเฟน ตอนนั้นเซาโล
เพิ่งอายุ 30 ต้นๆ และกำลังเป็นฟาริสีหนุ่มผู้มีใจเร่าร้อน เขากระตือรือร้นในการเบียดเบียนอย่างบ้าคลั่ง
และรุนแรงต่อพระศาสนจักรของพวกคริสตชนที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ถึงกับได้รับอำนาจจากมหาสมณะที่จะ
นำคริสตชนจากเมืองต่างๆ มาคุมขังไว้ เป็นขณะที่เซาโลกำลังเดินทางไปกรุงดามัสกัสเพื่อการนี้นี่เอง
ที่องค์พระเป็นเจ้าทรงปรากฏองค์ให้เขาได้เห็น และทำให้นักล่าผู้ดุดันคนนี้กลับใจโดยฉับพลัน
กลายมาเป็นผู้ขอรับศีลล้างบาปที่ถ่อมตนและอ่อนโยน ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็น "อัครสาวกของคนต่างชาติ"
ที่ยิ่งใหญ่ของพระศาสนจักร

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ พฤหัสฯ. ก.พ. 02, 2023 10:02 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 26, 2022 10:55 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๖ มกราคม
นักบุญทิโมธีและทิตัส สังฆราชและมรณสักขี
Sts. Timothy and Titus

ทิโมธีและทิตัสเป็นผู้ที่นักบุญเปาโลเขียนจดหมายถึง ๓ ฉบับ แต่เราไม่ทราบเรื่องราว
ของท่านทั้งสองมากนัก

ทิโมธี (เสียชีวิตปี ๙๗) มาจากเมือง Lystra ในเอเชียไมเนอร์ (ประเทศตุรกีในปัจจุบัน)
แม่ของท่านเป็นชาวยิวที่เป็นคริสต์ ส่วนบิดาเป็นชาวกรีก นักบุญเปาโลพบท่านในระหว่าง
การเดินทางเทศน์สอนครั้งที่ ๒ ทิโมธีร่วมทางไปกับนักบุญเปาโล และอีกครั้งในการเดินทาง
ครั้งที่ ๓ เปาโลส่งทิโมธีไปให้กำลังใจชาวเมืองเธสสะโลนิกา และช่วยแก้ปัญหาในเมืองโครินธ์
และฟิลิปปี ธรรมประเพณีของคริสตชนถือว่าทิโมธีเป็นสังฆราชคนแรกของเมืองเอเฟซัส
จดหมายของนักบุญเปาโลที่เขียนถึงทิโมธีแนะนำให้ท่านตักเตือนพวกที่สอนคำสอนผิดๆ
และให้แต่งตั้งผู้ดูแลคริสตชน (สังฆราช) และสังฆานุกร

ทิตัสเป็นชาวกรีกโดยกำเนิด และอาจจะเป็นชาวเมืองอันติโอก ในปี ๔๘ ท่านร่วมทางกับเปาโล
และบาร์นาบัสจากเมืองอันติโอกไปเยรูซาเล็มเพื่อพบบรรดาผู้นำของศาสนจักรเยรูซาเล็มเกี่ยว
กับประเด็นที่คริสตชนต่างชาติต้องรับพิธีเข้าสุหนัตและถือบัญญัติของโมเสสหรือไม่ เปาโลยก
ทิตัสเป็นตัวอย่างของชาวกรีกที่ไม่ถูกบังคับให้เข้าสุหนัตเมื่อกลับใจเป็นคริสตชน ทิตัสรับ
ใช้เปาโลในฐานะเพื่อนร่วมงานและเลขานุการที่เมืองเอเฟซัส เปาโลส่งทิตัสไปเมืองโครินธ์เพื่อ
เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในระหว่างคริสตชนที่นั่น เรารู้ว่าทิตัสทำงานสำเร็จเพราะเปาโล
ได้รับความบรรเทาใจจากข่าวที่ทิตัสนำมาแจ้ง ทิตัสเป็นสังฆราชคนแรกของเกาะครีต

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 27, 2022 8:57 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๗ มกราคม
นักบุญอัญจลา เมริชี
St. Angela Merici

อัญจลาเป็นผู้ก่อตั้งคณะนักบวชหญิงอุร์สุลิน เธอเกิดประมาณปี ๑๔๗๐/๗๔ ที่เมือง
Desenzano ในเวนิส เธอเป็นกำพร้าแต่เยาว์วัย ต่อมา เธอย้ายไปอยู่เมือง Brescia
ที่ซึ่งเธอได้เป็นสมาชิกฆราวาสของคณะฟรังซิสกันและเริ่มต้นทำงานอุทิศตนเพื่อการ
ศึกษาของสตรียากจน เธอและเพื่อนๆ มอบตัวเองภายใต้ความคุ้มครองของนักบุญอุร์สุลา
ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหญิงอังกฤษในศตวรรษที่ ๔ และหลบหนีไปอยู่เมืองโคโลญจน์เพื่อรักษา
พรหมจรรย์และถูกสังหารพร้อมกับมิตรสหาย คณะซิสเตอร์อุร์สุลินไม่ได้ถือคำปฏิญาณ
และสวมเสื้อผ้าฆราวาส แต่พระวินัยบ่งบอกให้ยึดถือการปฏิบัติพรหมจรรย์ ความยากจน
และความนบนอบ

อัญจลา เมริชีเสียชีวิตวันที่ ๒๗ มกราคม ๑๕๔๐ และถูกประกาศเป็นนักบุญเมื่อปี ๑๘๐๗


CR. : Sinapis

วันที่ 27 มกราคม

นักบุญอังเยลา เมริชี พรหมจารี

(St Angela Merici, Virgin)

นักบุญอังเยลาเกิดแถบชายฝั่งทะเลสาบ การ์ดา (Garda) ทางภาคเหนือของอิตาลี
(อาจจะเกิดวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1474) เธอเป็นกำพร้าเมื่ออายุได้ 10 ขวบ เนื่องจากตั้งแต่
แรกรุ่นเธอได้เจริญชีวิตอย่างเคร่งครัด เมื่ออายุ 13 ปี ความศักดิ์สิทธิ์ของเธอและความเข้าใจ
เรื่องชีวิตจิตได้แสดงออกมาให้เห็นเด่นชัด จนกระทั่งเธอได้รับอนุมัติให้รับศีลมหาสนิทในวัน
ธรรมดาระหว่างสัปดาห์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิพิเศษจริงๆ ในช่วงเวลานั้น
(ในสมัยนั้นไม่สนับสนุนให้รับศีลฯ ได้ทุกๆ วัน) เธอได้เข้าร่วมคณะของนักบุญฟรังซิสชั้นสาม
และอุทิศเวลาให้กับการเรียนการสอนศาสนาให้กับบรรดาเด็กหญิงทั้งหลาย และเอาใจใส่ดูแล
หญิงที่เจ็บไข้ได้ป่วย ในปี ค.ศ.1495 เธอได้รับการแจ้งทางภาพนิมิตให้ก่อตั้งคณะนักบวชเพื่อ
ให้การอบรมสั่งสอนบรรดาเด็กหญิงทั้งหลาย โดยมีจุดหมายสูงสุดอยู่ที่การรื้อฟื้นครอบครัวขึ้นใหม่
และผ่านทางครอบครัวไปสู่สังคมทั้งมวล แต่เนื่องจากเงื่อนไขทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ในตอนนั้น
ทำให้ต้องใช้เวลานานถึง 40 ปี กว่าจะสามารถทำให้ความฝันนั้นสำเร็จเป็นจริงขึ้นมาได้ ในห้วงเวลา
นั้นเธอก็แสวงหาคำแนะนำทางด้านจิตเพิ่มมากขึ้น และค่อยๆ ลดทอนอุปสรรคต่างๆ ลงไป

ในปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ.1525 เธอได้ไปที่กรุงโรม และพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 12 ทรงได้ยินเรื่อง
ชีวิตศักดิ์สิทธิ์และงานของเธอ ได้ทรงพยายามจะให้เธออยู่ที่กรุงโรม แต่เมื่อเธอเปิดเผยแผนเรื่องการ
ให้การศึกษากับบรรดาหญิงสาว ซึ่งจะกลายเป็นแม่ๆ ในอนาคตให้พระองค์ทรงทราบ พระองค์ได้ทรง
อวยพรให้ความพยายามของเธอประสบผลสำเร็จ ต่อจากนั้นเธอต้องเผชิญเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย
และมีสงคราม แต่อีก 10 ปีต่อมา เธอก็สามารถก่อตั้งบ้านอย่างเป็นทางการหลังแรกที่เมือง Brescia
ได้สำเร็จ โดยมีชื่อว่า คณะของนักบุญอูร์ซูลา ในตอนต้นมีหญิงสาว 28 คนอุทิศถวายความเป็นพรหมจารี
แด่พระเจ้าพร้อมกับเธอ ภายในหนึ่งเดือนจำนวนผู้ร่วมงานเพิ่มขึ้นเป็น 72 คน และได้เพิ่มงานคือการไป
เยี่ยมตามโรงพยาบาล และในคุก เพื่อไปทำการสอนในที่เหล่านั้นด้วย ทั่วทั้งเมือง Brescia ชื่นชมคณะ
ของเธอ แต่นักบุญอังเยลาคงมีชีวิตต่อไปอีกเพียง 5 ปีเท่านั้น ต้องถือว่าเธอหัวก้าวหน้ามากในสมัยนั้น
ในเรื่องการจัดการเกี่ยวกับโรงเรียน คณะของเธอเป็นคณะนักบวชแรกของพระศาสนจักรที่อุทิศตนเป็น
พิเศษต่อการสอน

นักบุญอังเยลาเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและกล้าหาญ เธอยินดีร่วมมือกับเพื่อนร่วมคณะเมื่อเห็น
ความจำเป็นที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสมในเรื่องกฎและการทำงานต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ
ความต้องการของกาลสมัย

เธอสิ้นชีพเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1540 และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1807

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ พฤหัสฯ. ก.พ. 02, 2023 9:58 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 30, 2022 10:47 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๘ มกราคม
นักบุญโทมัส อไควนัส นักปราชญ์ของพระศาสนจักร
St. Thomas Aquinas

โทมัสเป็นนักบวชคณะโดมินิกัน ได้รับฉายาว่า "ปราชญ์เทวดา" เพราะท่านเป็นนักเทววิทยา
ที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร

โทมัสเกิดเมื่อปี ๑๒๒๕ ท่านได้รับการศึกษาในอารามเบเนดิกตินที่ Monte Cassino
และมหาวิทยาลัย Naples ท่านสมัครเข้าคณะโดมินิกันในปี ๑๒๔๔ แม้จะถูกทัดทานอย่างรุนแรง
จากครอบครัว พวกพี่ๆได้ลักพาตัวท่านไปขังไว้ในปราสาทเป็นเวลา ๑ ปี และพยายามชักชวน
ให้ท่านละทิ้งกระแสเรียกด้วยการหาหญิงสาวมาใกล้ชิด แต่โทมัสหลุดพ้นออกมาได้ ท่านไป
ปารีสเพื่อศึกษาต่อ และจากนั้นไปเมืองโคโลญจน์ ศึกษากับนักบุญอัลเบิร์ต ผู้ยิ่งใหญ่
ในระหว่างนี้ ท่านบวชเป็นพระสงฆ์

โทมัสทำหน้าที่สอนสมาชิกร่วมคณะในหลายเมือง จนเมื่อมาอยู่ที่โรม ท่านจึงเริ่มเขียนหนังสือ
ที่มีชื่อเสียงที่สุดของท่าน คือ Summa Theologiae โดยใช้เวลานาน ๕ ปี แต่แล้ว
ในวันที่ ๖ ธันวาคม ๑๒๗๓ ท่านกลับชะงักการเขียนอย่างฉับพลัน จะเป็นเพราะท่านตระหนักว่า
สิ่งที่เขียนไม่สามารถบรรยายความลึกซึ้งที่ท่านประสบ หรือเพราะปัญหาด้านสุขภาพ ก็ไม่อาจคาดเดา
ท่านเสียชีวิตไม่กี่เดือนต่อมาในวันที่ ๗ มีนาคม ๑๒๗๔

พันธกิจในฐานะผู้สอนและนักเทศน์ของโทมัสคือการถ่ายทอดสิ่งที่ท่านได้รับจากการรำพึงภาวนา
ซึ่งสำหรับท่านแล้วนับเป็นกิจการสูงส่งที่สุดเมื่อกระทำด้วยความรัก ความเปิดกว้างและใจเมตตา
การุณย์ส่งผลให้ท่านศึกษางานเขียนของคริสตชน ชาวยิวหรือแม้กระทั่งคนต่างศาสนาที่จะสามารถ
นำท่านไปสู่ความจริงได้

โทมัสได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๓๒๓ และประกาศเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร
ในปี ๑๕๖๗ ท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยคาทอลิก

Cr : Sinapis

:s002: :s002:

+ ปัญหาความชั่วร้ายตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส กับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

😈 ความชั่วร้าย มี 2 ชนิด คือ

1. ความชั่วร้ายทางกายภาพ (Physical Evils) ได้แก่ แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ และภัยพิบัติ เป็นต้น

2. ความชั่วร้ายทางศีลธรรม (Moral Evils) ได้แก่ บาปที่บุคคลทำ เช่น การลักขโมย การฆ่าคน
การประพฤติผิดในกาม และการทารุณกรรมต่างๆ เป็นต้น

+++

1. ว่าด้วยความชั่วร้ายทางกายภาพ (Physical Evils)

ความชั่วร้ายทางกายภาพ หมายถึง ความชั่วร้ายที่ไม่ได้เกิดจากการที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ แต่เป็น
การเกิดขึ้นอย่างอิสระ อยู่เหนือการควบคุมและความเข้าใจของมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถคาดเดาได้
อย่างแน่นอนว่าความชั่วร้ายทางกายภาพจะเกิดขึ้นที่ใด เมื่อไร และอย่างไร เป็นความชั่วร้ายที่มนุษย์
ต้องการหลีกเลี่ยง และพยายามหยุดเหตุการณ์เหล่านั้นไว้ให้ได้ แต่ก็ไม่สามารถกระทำได้

ความชั่วร้ายทางกายภาพ กล่าวได้อีกคือ เป็นความเจ็บป่วยทางกายภาพ (Physical injures)
การพังทลาย (damages) และความบกพร่อง (defects) และสาเหตุต่างๆ ทางกายภาพที่ทำให้
ความชั่วร้ายทางกายภาพเกิดขึ้น เช่น การทำลายล้าง เมื่อเกิดน้ำท่วม พายุที่พัดทำลายบ้านเรือนและ
สิ่งต่างๆ รวมทั้งโรคร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ร่างกาย หรือสิ่งบกพร่องทางกายภาพต่างๆ ด้วย เช่น
แขนขาด ขาขาด ตาบอด ฯลฯ นอกจากความชั่วร้ายที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีความชั่วร้ายที่เกิดจาก
น้ำมือมนุษย์ คือมนุษย์เป็นผู้กระทำให้เกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติ ทำให้สภาพทางธรรมชาติ
เปลี่ยนไป เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก การปล่อยน้ำเสีย
ลงคลอง ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้น้ำไม่สะอาดพอที่สัตว์น้ำจะอาศัยได้ สิ่งต่างๆ ที่มนุษย์
กระทำต่อธรรมชาติ ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป และทำให้ธรรมชาติเสียสมดุลทางนิเวศ ส่งผล
กระทบทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อโลกโดยตรง โดยที่มนุษย์ไม่สามารถรู้ได้

2. ว่าด้วยความชั่วร้ายทางศีลธรรม (Moral Evils)

ความชั่วร้ายทางศีลธรรม หมายถึง ความชั่วร้ายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง เป็นทั้งความ
ไม่สมบูรณ์ทางศีลธรรมหรือเป็นการละเลย หรือเป็นการกระทำที่เบี่ยงเบนออกจากบรรทัดฐานของ
กฎแห่งความดี เป็นความบกพร่องทางศีลธรรม ซึ่งศีลธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดีในตัวเองอยู่แล้วเป็นความดี
ที่เป็นจริยธรรมส่วนบุคคล และจริยธรรมทางสังคม เมื่อมนุษย์ไม่กระทำตามกฎทางศีลธรรม ก็จะทำ
ให้เกิดความบกพร่องทางศีลธรรมและทางสังคมตามมา ความชั่วร้ายทางศีลธรรมที่มนุษย์ได้กระทำนี้
เป็นเจตจำนงเสรีที่มนุษย์ตัดสินใจเลือกที่จะกระทำในแต่ละจังหวะของชีวิต ดังนั้น ความชั่วร้ายทาง
ศีลธรรมจึงเกิดจากการกระทำของมนุษย์โดยตรง ผลที่ตามมาของการผิดศีลธรรม คือความเลวร้าย
หรือความชั่วร้ายส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

+++

1. มุมมองปัญหาความชั่วร้ายตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส

1.1 การขาดความดีของสัตว์เป็นความชั่วร้าย

นักบุญโทมัส อไควนัส ให้ความคิดเกี่ยวกับความชั่วร้ายว่าเป็นการขาดความดีของสัตว์
ในโลกที่พระเจ้าทรงสร้าง พระองค์ทรงสร้างให้ทุกสิ่งดีพร้อม แต่สรรพสิ่งที่ดีพร้อมนั้นก็ย่อม
มีวันที่ จะต้องสูญเสียสิ่งที่ตนเองมี เพราะทุกสิ่งมีความจำกัดและมีขอบเขต ไม่มีความหยั่งยืน
เหมือนผู้ที่ได้สร้างสรรพสิ่งมา เพราะฉะนั้น สรรพสิ่งจึงเป็นความดี และการมีอยู่ของสรรพสิ่งนั้น
จึงเป็นความดีด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์ให้สรรพสิ่งที่ดีนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีความชั่วร้าย
จึงเป็นเพียงความบกพร่องที่เกิดขึ้นในสรรพสิ่ง เพราะสิ่งนั้นๆ ได้สูญเสียสภาพของความดีและ
ตกต่ำไป (the privation of good) หรือ การมีความดีที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ความชั่วร้ายจึงไม่
สามารถมีอยู่ในฐานะเป็นสัตหรือความเป็นอยู่ ความดีต่างหากที่เป็นอยู่ แต่เป็นอยู่อย่างจำกัด
ในความจำกัดของความดีนี้ ทำให้ความชั่วร้ายเข้ามา แต่ความชั่วร้ายนี้ก็ไม่ได้ทำให้
ความดีสูญหายไปได้

1.2 จักรวาลที่สมบูรณ์ในความหลากหลายของสรรพสิ่ง

เราจะเห็นว่าสรรพสิ่งในจักรวาลถูกสร้างให้เป็นระบบระเบียบ มีตั้งแต่สิ่งที่ดีมากคือมนุษย์
ไปจนถึงสิ่งที่ดีน้อยที่สุด ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ทำไมพระเจ้าไม่ทรงสร้างสรรพสิ่งให้มีความดี
เท่าเทียมกัน ทำไมต้องสร้างสิ่งหนึ่งให้ดีกว่าสิ่งหนึ่ง เช่น สร้างมนุษย์ให้ดีกว่าสัตว์ สร้างสัตว์ให้
ดีกว่าพืช นักบุญโทมัส อไควนัส ตอบว่า ความหลากหลายเป็นความดีของจักรวาล เป็นการแสดง
ธรรมชาติแห่งความดีที่พระเจ้าทรงมีอย่างสมบูรณ์และเป็นตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงแสดง
ออกมาให้มนุษย์ได้เห็นในพระเจ้าอย่างสมบูรณ์

นักบุญโทมัส อไควนัส กล่าวต่อไปว่า ความชั่วร้าย ก็เป็นสิ่งที่ทำให้จักรวาลสวยงามเช่นกัน
ทั้งนี้ เพราะพระเจ้าทรงสร้างจักรวาลและสรรรพสิ่งต่างๆ ให้มีระดับขั้นความสมบูรณ์ นั่นคือ การมี
ความสมบูรณ์ที่แตกต่างกัน และมีสิ่งที่ตรงข้ามกัน ความดีก็ตรงข้ามกับความชั่วร้าย เหมือนกับ
ดอกไม้ในสวนที่มีหลายดอกที่อยู่ด้วยกัน การที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้ายในจักรวาล
หรือในโลกนี้ก็เพื่อสร้างความสมดุลให้กับจักรวาล โดยที่มองจากภาพรวม ไม่ใช่มองเฉพาะจุด
เพราะหากมองโดยรวม จะพบว่ามีความสวยงามของธรรมชาติในจักรวาลอย่างแท้จริง เช่น
ในชีวิตของมนุษย์มีเรื่องราวมากมายเข้ามาในชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความสุขและความทุกข์
เสียงหัวเราะ น้ำตา และอื่นๆ นี่คือชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายอย่างแท้จริง เมื่อเรามองเหตุการณ์
ที่ผ่านเข้ามา ก็จะพบว่าชีวิตนี้มีความสุขมากกว่าทุกข์แน่นอน แม้จะทุกข์ก็จะสุขในความทุกข์นั้น

1.3 เจตจำนงเสรีของมนุษย์ทำให้เกิดความชั่วร้าย

นักบุญโทมัส อไควนัส กล่าวว่า พระเจ้าทรงสร้างทุกอย่างล้วนดี ให้มีเสรีภาพ และให้มนุษย์นั้น
เป็นสิ่งสร้างที่ดีที่สุด ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่ชั่วร้ายในตัวมันเอง ความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการใช้
เสรีภาพในทางที่ผิดหรือถูกของมนุษย์ในการกระทำสิ่งต่างๆ

1.3.1 การกระทำโดยสมัครใจ (Voluntary actions) หมายถึง การกระทำที่เป็นอิสระจากเจตจำนง
ของผู้กระทำ โดยอาศัยสติปัญญา ที่มีเหตุผลของมนุษย์ที่จะสามารถตัดสินความดี ความชั่วได้
และพระเจ้าจะไม่ทรงบังคับให้มนุษย์กระทำสิ่งต่างๆ เพราะพระองค์ทรงสร้างให้มนุษย์มีสติปัญญา
และเสรีภาพในการกระทำสิ่งต่างๆ มนุษย์จึงกระทำสิ่งต่างๆ โดยความสมัครใจของตน ผลจากการ
กระทำของมนุษย์ก็จะส่งผลให้เกิดสิ่งต่างๆ ทั้งในระยะเวลาอันสั้น และระยะยาว ตามแต่ว่าจะเกิดไป
ในทางที่ดีและทางที่ไม่ดี

1.3.2 การกระทำที่ถูกบังคับ (Involuntary actions) หมายถึง การกระทำที่ไม่เป็นอิสระ จากการ
ไม่เกิดจากเจตจำนงของผู้กระทำ แต่เป็นปัจจัยภายนอกที่กระทำหรือถูกผู้อื่นบังคับให้กระทำ
โดยที่ผู้กระทำไม่ยินยอมตามความสมัครใจนั้น ผลที่เกิดขึ้นก็อาจจะดีและไม่ดี แตกต่างกันไปตาม
การกระทำที่ทำขึ้น แต่การกระทำประเภทนี้จะไม่ออกมาจากเสรีภาพที่แท้จริงของผู้กระทำ ในทาง
จริยธรรมถือว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพโดยผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นไม่อาจตัดสินใจในการกระทำสิ่งนั้นๆ
ด้วยตนเอง

2. ภัยพิบัติ : ความบกพร่องทางธรรมชาติ , มนุษย์กระทำ หรือ พระเจ้าสร้างขึ้น

ในปัจจุบันมนุษย์ได้รับผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มนุษย์
ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า มันจะเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร ที่ใด กับใคร ดังจะเห็นจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ
เช่น สึนามิ พายุนากีส์ และแผ่นดินไหว 8.0 ริกเตอร์ เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มนุษย์หลาย
คนละทิ้งพระเจ้า และไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ในเมื่อบางคนกระทำความดีมาตลอด แต่ทำไมจึงมา
เกิดสิ่งที่เลวร้ายกับตนเช่นนี้

ตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส การเกิดขึ้นของเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องในหลายๆ
ด้าน ถ้ามองจากความบกพร่องทางธรรมชาติ เหตุการณ์นี้ก็เป็นการบกพร่องอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดได้
เป็นความบกพร่องทางธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ของแผ่นเปลือกโลก นักวิทยาศาสตร์และภูมิศาสตร์ได้ให้
ความเห็นว่าการเกิดขึ้นของภัยพิบัติในปัจจุบันนั้นไม่สามารถคาดเดาความรุนแรงได้เลย ดังนั้นการ
ป้องกันจึงไม่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์

มนุษย์เป็นผู้กระทำให้เกิดภัยพิบัติหรือ ถ้าจะกล่าวว่าเป็นความชั่วร้ายที่มนุษย์ทำขึ้นก็อาจจะใช่
เพราะมนุษย์ได้กระทำให้ธรรมชาติเสียระบบ เช่น การเทน้ำเสียลงในแม่น้ำ การใช้สารเคมีก่อ
ให้เกิดมลพิษทางอากาศ การใช้พลังงานนิวเคลียร์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป
ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและเบาบ้างตามผลที่มนุษย์ได้กระทำต่อธรรมชาติที่ตนเอง
ต้องพึ่งพาอาศัย
สุดท้าย เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกิดการสูญเสียต่างๆ ที่เกิดกับคนที่ตนเองรักและรักตนเอง
ก็จะโทษว่าพระเจ้าลงโทษ และไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนเองรัก ทั้งที่ตนก็ทำความดีมาตลอด สิ่งต่างๆ
เหล่านี้ ตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้
เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยที่จะมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน เช่น การช่วย
เหลือกัน การรู้จักแบ่งปันกัน และการรู้จักรักคนที่เรารักมากยิ่งขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มนุษย์ไม่ได้มอง
เห็นว่ามันเกิดขึ้น เพราะว่ายังรู้สึกสูญเสียกับสิ่งที่ขาดหายไปอยู่นั่นเอง

3. สรุปแนวความคิด

นักบุญโทมัส อไควนัส ได้ให้คำอธิบายปัญหาความชั่วร้ายที่ค่อนข้างชัดเจน ท่านได้ให้คำจำกัด
ความของความชั่วร้ายไว้ว่า “ความชั่วร้ายคือการขาดความดีของสัตว์” การขาดความดีของสัตว์ คือ
การขาดธรรมชาติที่สัตควรจะมี ควรจะเป็น และควรจะได้และควรจะทำ ความชั่วร้ายไม่ได้มีอยู่ด้วย
ตัวเองอย่างชัดเจน แต่ความชั่วร้ายเกิดขึ้นมาเมื่อความดีหรือธรรมชาติที่แท้จริงในสัตว์ขาดหายไป
แต่เมื่อธรรมชาติของสัตว์นั้นกลับคืนมาความชั่วร้ายก็สูญสิ้นไป ความชั่วร้ายมีอยู่ในลักษณะของ
ด้านลบเท่านั้น ไม่ได้มีอยู่เพราะมันจำเป็นต้องมีอยู่ แต่ความชั่วร้ายมีอยู่โดยบังเอิญ เช่น การเจ็บป่วย
อาจจะเป็นเพราะการรักษาสุขภาพที่ไม่ดี การทำงานหนักเกินไปหรือด้วยเหตุอื่นๆ ที่ส่งผลให้ร่างกาย
ต้องป้องกันตนเอง ด้วยอาการเจ็บป่วย แต่เมื่อกินยาและพักผ่อนอย่างเพียงพออาการเจ็บป่วยเหล่านั้น
ก็จะหายไป หรือว่า ในการกระทำชั่วของมนุษย์ เป็นเพราะมนุษย์ขาดเหตุผลในการพิจารณาสิ่ที่ดีและ
สิ่งที่ชั่วร้าย ตามเจตจำนงเสรีที่มนุษย์มี

นักบุญโทมัส อไควนัส มองว่า ความชั่วร้ายต่างๆ นั้น พระเจ้าทรงอนุญาต ให้มีในจักรวาล ก็เพื่อ
ให้มนุษย์ได้ค้นพบความดีสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นความชั่วร้ายในแบบใด มนุษย์จะค้นพบว่าสิ่งต่างที่มนุษย์
มองเห็นในโลกนั้น ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง รวมถึงมนุษย์ด้วยที่ไม่อาจจะสมบูรณ์เท่าพระเจ้า

นักบุญโทมัส อไควนัส ได้อธิบายเพิ่มเติมต่อจากนักบุญออกัสตินว่า การมีความบกพร่อง กล่าวคือ
ความชั่วหรือความไม่สมบูรณ์ต่างๆ นั้นเป็นสิ่งดี เพราะจะทำให้มนุษย์มองเห็นความดี ความสมบูรณ์
เป็นสิ่งจำเป็น และความดี ความสมบูรณ์จะได้เด่นชัดขึ้น มิเช่นนั้นแล้ว ศีลธรรมจะไม่มีความหมาย
เพราะถ้ามีแต่ความดี ความสมบูรณ์แล้ว มนุษย์ก็จะไม่รู้จักสิ่งที่เป็นบ่อเกิดของความทุกข์ยากต่างๆ
มนุษย์ต้องเปรียบเทียบ อาศัยความบกพร่อง ความสมบูรณ์ เมื่อมนุษย์เป็นโทษของความชั่ว มนุษย์
จึงเห็นคุณค่าของความดีเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าไม่มีความชั่ว ความบกพร่องแล้ว มนุษย์จะไม่รู้ว่าความดี
และความสมบูรณ์คืออะไร ความสมบูรณ์และเป็นสิ่งที่ดีสูงสุดก็คือพระเจ้า ผู้ทรงกำหนดให้ทุกสิ่งเป็น
ไปตามพระประสงค์ของพระองค์

📚 หนังสืออ้างอิง

เดือน คำดี.ปัญหาปรัชญา.กรุงเทพฯ:โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.2530
สลัน ว่องไว.ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาความชั่วร้ายตามแนวคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส.
นครปฐม:วิทยาลัยแสงธรรม.2547
สมเกียรติ จูรอด.ความชั่วร้ายตามแนวปรัชญากับการปรับเปลี่ยนมุมมองของคน
ในปัจจุบัน.นครปฐม:วิทยาลัยแสงธรรม.2540

😇 ชีวประวัตินักบุญโทมัส อไควนัส (Saint Thomas Aquinas)
http://www.kamsonbkk.com/catholic-catec ... 28-45/8052
-นักบุญ-โทมัส-อไควนัส-ชีวประวัติของนักบุญสำหรับเด็กชาย

CR. : https://iam2life.blogspot.com/2009/03/b ... tml?m=1ค่ะ
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 30, 2022 11:03 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๙ มกราคม
นักบุญกิลดัส อธิการอาราม
St. Gildas, Abbot

กิลดัสเกิดประมาณปี ๕๑๗ ในภาคเหนือของอังกฤษหรือเวลส์ บิดาของท่านชื่อ Cau
(หรือ Nau) สืบเชื้อสายขุนนาง ท่านมีพี่น้องชายหญิงหลายคน มีหลักฐานว่าน้องชาย
คนหนึ่งของท่าน ชื่อ Cuil (หรือ Hueil) ถูกกษัตริย์อาเธอร์สังหาร และกิลดัสให้อภัย
กษัตริย์อาเธอร์

ยุคนั้น อิทธิพลของโรมเริ่มเสื่อมถอยในอังกฤษ กองกำลังลีเจียนภายใต้การนำของ
Maximus ถอนตัวออกไปเพื่อบุกล้อมโรมและตัวเขาขึ้นดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ

กิลดัสเข้าอารามนักพรตหลังจากภรรยาเสียชีวิต ท่านโดดเด่นในความศรัทธาและมี
การศึกษาสูง ท่านไม่หวั่นเกรงที่จะตำหนิผู้ปกครองประเทศในเวลานั้น แม้จะเสี่ยงต่อ
การถูกทำร้าย

ท่านเขียนหนังสือชื่อ ซากปรักหักพังของอังกฤษ (De Excidio Britanniae) อธิบายถึง
ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของผู้ปกครองทางโลกและพระสงฆ์นักบวชในอังกฤษเวลานั้น
ว่าเป็นเพราะชัยชนะของผู้บุกรุกชาวแองโกลเซ็กซัน

ท่านตั้งอารามบนเกาะแห่งหนึ่งในอ่าว Morbihan ของอังกฤษ ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางของ
กลุ่มอารามของท่าน ปัจจุบันเกาะแห่งนี้ยังมีชื่อเรียกว่า "เกาะของพวกฤาษี"

ท่านเสียชีวิตประมาณปี ๕๗๑ ที่เมือง Rhuys

ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของศาสนจักรอังกฤษยุคแรก
งานเขียนของท่านยังส่งผลมาถึงยุคกลาง โดยเฉพาะต่อศาสนจักรเคลท์ ท่านเป็นนักเขียน
อังกฤษคนแรกที่งานเขียนตกทอดมาถึงคนรุ่นหลังอย่างครบสมบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 30, 2022 11:05 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๐ มกราคม
นักบุญไฮยาซินธา มาริสคอตตี
St. Hyacintha of Mariscotti

ไฮยาซินธา (๑๕๘๖-๑๖๔๐) เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มดูแลคนป่วย ผู้สูงวัยและคนยากจนในเมือง Viterbo
เธอเกิดในครอบครัวขุนนางอิตาลี ได้รับชื่อเมื่อรับศีลล้างบาปว่า คลาริส และรับการอบรมใน
อารามคณะฟรังซิสกันใกล้บ้าน

ไฮยาซินธาถูกพ่อแม่ส่งเข้าอารามเพราะอารมณ์รุนแรงเอาแต่ใจตัวของเธอ เธอได้รับชื่อใหม่ว่า
ซิสเตอร์ไฮยาซินธา แต่สิบปีแรกในอาราม เธอดำเนินชีวิตนักบวชเพียงแต่ชื่อ เธอกินอยู่อย่าง
หรูหราและมีสิ่งของเครื่องใช้ฟุ่มเฟือย เธออยู่อย่างสุขสบายในอารามนักบวชที่สาบานตนถือ
เคร่งทรมานกาย

แต่ครั้งหนึ่งเธอล้มป่วย พระสงฆ์ฟังแก้บาปนำศีลมหาสนิทมาส่งให้เธอที่ห้อง เขารู้สึกสะดุดต่อ
ข้าวของบรรดามีของเธอ จึงตักเตือนให้เธอดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

คำแนะนำนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวไฮยาซินธา เธอสละอาภรณ์สูงค่าและอาหารพิเศษ
เลือกจะจำศีลอดอาหาร พร้อมทั้งยอมทำงานต่ำต้อยที่สุดในอาราม เธอฝึกตนจนก้าวหน้า
ในความศรัทธาต่อพระมหาทรมานของพระคริสต์เป็นพิเศษ ความเปลี่ยนแปลงของเธอเป็นแรง
บันดาลใจและตัวอย่างให้กับเพื่อนซิสเตอร์ในอาราม จนกระทั่งเธอได้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลนวกชน

เธอเสียชีวิตในวันที่ ๓๐ มกราคม ๑๖๔๐ และได้รับประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๘๐๗

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 01, 2022 9:05 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๑ มกราคม
นักบุญยอห์น บอสโก
St. John Bosco

ท่านเป็นผู้ก่อตั้งคณะนักบุญฟรังซิสเดอซาลส์ หรือที่รู้จักกันในนามคณะซาเลเซียน
ท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของการพิมพ์คาทอลิก บรรณาธิการ และผู้ฝึกงานวัยรุ่น

ยอห์น บอสโก เกิดในเดือนสิงหาคม ปี ๑๘๑๕ ครอบครัวของท่านเป็นชาวนา เมืองเกิด
ของท่านคือ Castelnuovo d'Asti ซึ่งภายหลังได้ถูกตั้งชื่อใหม่เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านว่า
Castelnuovo Don Bosco

บิดาของยอห์นตายเมื่อยอห์นอายุเพียง ๒ ขวบ แต่ยอห์นได้รับการดูแลอย่างดีจากมารดา
คุณแม่มาร์การิต้า ผู้ซึ่งปลูกฝังความเชื่อลึกซึ้งให้กับยอห์น

ยอห์นบวชเป็นสงฆ์ในปี ๑๘๔๑ และอุทิศตัวเองเพื่อการศึกษาและอบรมเด็กและวัยรุ่นชาย
โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน สมตามความฝันในวัยเด็ก

ท่านเปิดศูนย์ฝึกอาชีพช่างทำรองเท้า ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างพิมพ์และงานตีเหล็ก ดังนั้น
ดอน บอสโก จึงเป็นผู้บุกเบิกโรงเรียนฝึกอาชีพ ต่อมา เมื่อมีพระสงฆ์อื่นๆ มาช่วย พวกเขา
ก็ได้ รวมตัวกันเป็นหมู่คณะ และกลายเป็นคณะนักบวชซาเลเซียนซึ่งได้รับการรับรอง
จากสันตะสำนักในปี ๑๘๘๔

ยอห์น บอสโกสิ้นใจเวลาเช้าตรู่ของวันที่ ๓๑ มกราคม ๑๘๘๘ คำพูดสุดท้ายของท่านคือ
"บอกพวกเด็กๆ ด้วยว่าพ่อจะรอพวกเขาทุกคนในสวรรค์"

พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๑ ซึ่งเมื่อครั้งเป็นสงฆ์หนุ่มได้รู้จักดอนบอสโก
ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๙๓๔

CR. : Sinapis


+ คณะซาเลเซียนของคุณพ่อบอสโก (Salesians of Don Bosco)

คณะซาเลเซียน เป็นคณะนักบวชชายที่คุณพ่อบอสโก จากการที่ท่านเล็งเห็นว่า กิจการเพื่อเยาวชนที่ยากจนของท่าน จำเป้นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้สืบทอด ท่านจึงได้ตั้งคณะนักบวชเพื่อจะได้มีสมาชิกที่อุทิศตนเพื่อการอบรมตามจิตตารมณ์ของท่าน จุดมุ่งหมายแรกของคณะซาเลเซียน คือการเปิดยุวสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมของเด็กและเยาวชนในวันอาทิตย์ เพื่ออบรมให้เขาเป็นคนดี มีศีลธรรม และให้รู้จักหน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อประเทศชาติ ต่อบิดามารดา ต่อตนเอง และต่อเพื่อมนุษย์ด้วยกัน

เนื่องด้วยมีเยาวชนเป็นจำนวนมากที่ยากจน และยิ่งกว่านั้นยังถูกทอดทิ้งปราศจากการอบรม ทางคณะซาเลเซียนจึงเปิดกิจการที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า จากผุ้ใจบุญ และจากสมาชิกในครอบครัวซาเลเซียนด้วยกัน

กิจการของคณะซาเลเซียนได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งในจำนวนสมาชิก และจำนวนกิจการที่เปิดขึ้นเพื่อบรรดาเยาวชนมิใช่เพียงแค่ในประเทศอิตาลีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในต่างประเทศด้วย

✝️ ตราคณะซาเลเซียน

ดาวจำรัสแสง : คุณธรรมแห่งความเชื่อ
สมอเรือใหญ่ : คุณธรรมแห่งความไว้ใจ
หัวใจเพลิง : คุณธรรมแห่งความรัก คุณธรรมเหล่านี้เป็นฤทธิ์กุศล
ที่สมาชิกนักบวชซาเลเซียนยึดถือ
นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลล์ : องค์อุปถัมภ์ของคณะซาเลเซียน
หมู่ไม้ : นักบุญยวง บอสโก (บอสโก แปลว่า หมู่ไม้)
ยอดเขาสูง : ยอดความครบครันที่สมาชิกต้องพยายามบรรลุถึง
ช่อชัยพฤกษ์ : บำเหน็จรางวัลแก่สมาชิกซาเลเซียน ผู้ที่ได้ดำเนินชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์
และเสียสละ “Da Mihi Animas Caetera Tolle” ภาษาลาติน แปลว่า
“ขอเพียงแต่วิญญาณ สิ่งอื่นไม่ต้องการ”
อันเป็นอุดมคติของคุณพ่อบอสโก ที่ต้องการช่วยเยาวชนให้รอดไปสวรรค์

📍 พิกัด สำนักงานเจ้าคณะแขวงซาเลเซียนแห่งประเทศไทย
https://goo.gl/maps/9hVZqFaoPjg9H4hJA

🖥 เว็บไซต์
http://www.salesianthailand.org/home/

👍 เพจ
https://www.facebook.com/SalesianThailand/

📹 YouTube
https://youtube.com/channel/UCibwZZq5qvkDCg-8QGvLVmQ

CR. : 1.http://fma.or.th/thaifma/?page_id=1267
2. http://www.salesianthailand.org/home/ตราคณะซาเลเซียน
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 01, 2022 9:07 pm

…ประวัติน. ดอนบอสโกโดยคุณพ่อ วิชา
วันที่ 31 มกราคม
ระลึกถึงนักบุญยอห์น บอสโก พระสงฆ์
(St John Bosco, Priest, memorial)

นักบุญยอห์น บอสโก เกิดที่ Piedmont ในเขตสังฆมณฑลตุริน ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ. 1815
ตั้งแต่วัยเด็กมาแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระแม่มารีย์ได้ดลใจนักบุญยอห์น ซึ่งเป็นเด็กชาย
ชาวนายากจนทางภาคเหนือของอิตาลี ในรูปแบบที่ท่านให้คำนิยามว่า “เป็นความฝันที่จะช่วย
เยาวชนจากหนทางแห่งความชั่ว และฝึกอบรมพวกเขาให้ทำงานอย่างซื่อสัตย์ แต่ต้องทำด้วย
ความนุ่มนวลและความรักเมตตา” ดังนั้น หลังจากได้รับศีลบวชที่เมืองตุรินแล้ว ท่านก็ตั้งใจที่
จะหาทุกๆ วิถีทางเพื่อชนะใจพวกเยาวชน ทำให้พวกเขาไว้วางใจและเป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็น
การเล่นกล โยนบอล ไต่เชือก เล่นไวโอลิน ร้องเพลง เล่านิทาน เล่นละคร เล่นเกมส์ พาเที่ยว
โดยจะมีการสอนคำสอนง่ายๆ ตอนเริ่มต้นกับตอนจบของแต่ละกิจกรรม หรือมีการสวดสาย
ประคำ และการอธิบายพระวรสารประจำวัน ความลำบากต่างๆ ที่ท่านต้องพานพบคือการ
พยายามหาสถานที่ให้บรรดาเด็กๆ มาประชุมกันทุกวันอาทิตย์ในช่วงฤดูหนาว ลองจินตนาการ
สิว่า ภายในปี ค.ศ. 1845 พวกเด็กๆ เยาวชนของท่านมีจำนวนมากกว่า 800 คน

แต่งานของนักบุญยอห์น บอสโก ก็ได้รับการรับรู้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ และมี “ผู้ร่วมงาน” หลายคน
คอยสนับสนุน จนกระทั่งท่านสามารถตั้งโรงเรียนที่สอนตอนกลางคืนขึ้นมาได้ และได้วางรากฐาน
ที่ถาวรในการก่อตั้งสถาบันซาเลเซียนของท่านในเมืองตุริน และมอบให้อยู่ในความปกป้องคุ้มครอง
พระแม่มารีย์องค์อุปถัมภ์ของคริสตัง และนักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ มีโรงเรียนอาชีวะเต็มเวลาเกิด
ขึ้นมาเพื่อฝึกงานและหอพักนักเรียนซึ่งได้สร้างขึ้นมา ทำให้เด็กๆ ของท่านได้เรียนเรื่องศาสนา
การอ่าน การเขียน และการค้าภายใต้ระบบการศึกษาที่โดดเด่น โดยวางรากฐานให้มีการแก้บาป
เป็นประจำและมีมิสซาประจำวัน

Don Bosco ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันดี สามารถอ่านใจของนักเรียนของท่านได้ ในทางกลับกันพวกเด็ก
มองท่านว่าเป็นนักบุญ อิทธิพลที่พิเศษของท่านที่มีต่อคนอื่นๆ เห็นได้อย่างชัดเจน เช่นในโอกาส
หนึ่งท่านได้รับอนุมัติให้นำนักโทษจำนวน 300 คนจากคุกในเมืองออกมาข้างนอกในวันหยุด
โดยไม่ต้องมีผู้คุมมาดูแล และเพื่อขยายงานช่วยเหลือไปยังเด็กผู้หญิงด้วย ท่านนักบุญได้ร่วมมือ
กับนักบุญมารีย์ มาซซาเร็ลโล (St. Mary Mazzarello) ก่อตั้งคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ของ
คริสตังขึ้นมาในปี ค.ศ. 1872 คณะซาเลเซียนเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนสมาชิกและเป็นที่
น่ารักชื่นชอบ ในขณะที่นักบุญยอห์น บอสโก สิ้นชีพเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1888 ก็มีบ้านของ
คณะอยู่แล้ว 200 หลัง และได้ผลิตพระสงฆ์มากกว่า 2,500 องค์

ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1929 โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 11
และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1934 โดยพระสันตะปาปาพระองค์เดิม

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)


:s002: :s002: :s002:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ม.ค. 21, 2023 9:22 pm

:s002: :s002:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 01, 2024 11:00 pm

:s002: :s002: :s002:
ตอบกลับโพส