เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ (ชุดที่ 8 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 19, 2022 11:07 pm

สะพานเชื่อมใจ ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
โดย โรเบิร์ต คีเนอร์ และจากวิกิพีเดีย 2021 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

โทนี่ (Toni Rüttimann) ชาวสวิส เกิดในปี 1967 ที่เมือง Pontresina ซึ่งอยู่ในหุบเขาเล็ก ๆ
เขามีชีวิตที่สุขสบายตั้งแต่เล็ก ก่อนจบมัธยมปลาย 2 สัปดาห์ เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่
เอกวาดอร์ (6 มี.ค.1987) ประเทศที่โทนี่รู้จักผ่านการอ่านหนังสือ เด็กหนุ่มวัย 19 ปีรู้สึก
ตระหนกกับภาพที่เห็นในโทรทัศน์ที่เห็นคนหลายพันคนเสียชีวิตและไร้บ้าน
เพื่อน ๆ ของโทนี่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร 6 เดือนตามที่ทางการบังคับ แต่ทางการปฏิเสธการเป็น
ทหารของโทนี่เพราะเป็นโรคผิวหนัง อย่างไรก็ตาม “ความรู้สึกอยากจะทำอะไรสักอย่างที่ดี”
รบกวนจิตใจเขา และที่สุดเขาก็ตัดสินใจไปเอกวาดอร์
“แกจะทำอะไรได้ พูดภาษาสเปนก็ไม่ได้ด้วยซ้ำ” พ่อพูดเย้ยหยัน พ่อของเขาเป็นผู้จัดการร้าน
ขายเคมีภัณฑ์ “ผมรู้ พ่อพูดถูก” โทนี่ตอบ “แต่ถึงอย่างไรผมก็จะไป เพราะผมอยากทำอะไร
ที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์”
เขารวบรวมเงินบริจาคจากเพื่อนนักเรียนและเพื่อนบ้านได้ประมาณ 300,000 บาท และใช้เงิน
ออมของตัวเองซื้อตั๋วเครื่องบินไปกรุงกีโต (Quito) เมืองหลวงของเอกวาดอร์ เขาไปถึงที่นั่น
โดยพกความกระตือรือร้นเต็มเปี่ยมกับเงินฟรังก์สวิสเต็มกระเป๋า (1 ฟรังก์สวิส = 35 บาท)
และยังไม่รู้ว่าจะใช้เงินที่รับบริจาคมาอย่างไร
โทนี่ใช้เวลา 3 วันไปกับการนั่งรถโดยสาร โบกรถ ล่องแพและเดินเท้าเพื่อไปให้ถึงหมู่บ้าน
ฟลอร์ เดล วาเญ (Flor del Valle) ที่อยู่ห่างจากกรุงกีโต 450 กม.และเป็นหมู่บ้านที่โทนี่รับรู้
จากสื่อว่ากำลังต้องการสะพานใหม่ด่วนที่สุดเนื่องจากแผ่นดินไหวตัดขาดชาวบ้านจากโลก
ภายนอก พวกเขากำลังจะตายเพราะไม่สามารถไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลได้ทันเวลา

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ พ.ค. 14, 2022 9:51 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 21, 2022 12:39 pm

……สะพานเชื่อมใจ ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
โดย โรเบิร์ต คีเนอร์ และจากวิกิพีเดีย 2021 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

โทนี่เดินเข้าไปในสำนักงานของวิศวกรสำรวจน้ำมันชาวอเมริกันซึ่งมีฐานประจำการ
อยู่ในป่า “ไม่ทราบว่าคุณพอจะมีท่อเหล็กเหลือ ๆ บ้างไหมครับ” โทนี่เอ่ยปากกับ
นักสำรวจน้ำมันผู้ผ่านโลกมามาก เขาประทับใจที่เห็นเด็กหนุ่มมีความคิดกว้างไกล
และปรารถนาอยากช่วยผู้ประสบภัย ในเวลาไม่ถึงชั่วโมงนักสำรวจน้ำมันผู้นั้นก็ตกลง
จะให้ท่อและสายเคเบิลเพื่อใช้สร้างสะพาน และยังขอให้วิศวกรชาวดัตช์ที่นั่นสอนวิธี
สร้างสะพานให้ด้วย
โทนี่ซื้อปูนซิเมนต์และอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วยเงินฟรังก์สวิสที่อยู่กับตัว ต่อจากนั้นก็ขอแรง
ชาวบ้านและคนงานอาสาสมัครจากแหล่งน้ำมันใกล้ ๆ มาช่วยกันสร้างสะพานแขวน
ยาว 55 เมตรและเป็นสพานแรกที่เชิงเขาแอนดิสโดยใช้เวลาสร้าง 5 เดือน
หลังสร้างสะพานเสร็จ โทนี่เดินทางกลับสวิตฯ และสมัครเรียนหลักสูตรวิศวกรรมโยธา
ในมหาวิทยาลัย ระหว่างเรียนเขารู้สึกร้อนใจมากเมื่อคิดว่า “ที่สวิตฯ เรามีมากเหลือเกิน
แต่พวกเขามีน้อยจริง ๆ“ หลังจากเรียนได้เพียง 6 สัปดาห์ โทนี่ก็ลาออกแล้วกลับไป
เอกวาดอร์อีก สะพานที่สองตามมา แล้วก็อีกสะพาน ทุกสะพานสอนให้โทนี่เชี่ยวชาญมากขึ้น
ทั้งเรื่อง ก่อสร้างและวิธีการขอรับบริจาควัสดุหรือขอแรงจากชาวบ้าน ด้วยเงินที่จำกัด
โทนี่จำต้องปรับวิธีการ ปกติการสร้างสะพานต้องใช้ปั้นจั่นหรือเครื่องจักรกลหนักในการ
ขึงสายเคเบิลข้ามแม่น้ำ หรือยกเสาสะพานไปวางให้เข้าที่ แต่โทนี่พึ่งพละกำลังล้วน ๆ
ของชาวบ้านหลายร้อยคนในการชักลากทรายและหินจากแม่น้ำ ตัดต้นไม้จากป่า และผสม
คอนกรีตเอง ไม่ช้าข่าวก็แพร่ไปทั่วลุ่มน้ำอเมซอน “ถ้าอยากได้สะพาน ให้ติดต่อโทนี่ คนสวิส”
โทนี่ผนึกกำลังร่วมกับวอลเตอร์ (Walter Yánez) ชาวเอกวาดอร์ที่มีแนวคิดเหมือนกัน
ทั้งคู่ตระเวนไปทั่วละตินอเมริกาเป็นเวลา 13 ปี​ ค้นหาชุมชนซึ่งอยู่ห่างไกลและยากจนข้นแค้น
ที่สุด ทั้งสองสร้างสะพานขึ้นในนิการากัว, เอลซัลวาดอร์, อาร์เจนตินา, โคลอมเบียและเม็กซิโก

ปี 2000 ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ยินเรื่องของโทนี่และเห็นว่าน่าจะนำความรู้ความสามารถ
พิเศษนี้มาใช้ที่กัมพูชาบ้าง 2-3 เดือนต่อมา โทนี่และวอลเตอร์ก็มาสำรวจชนบทของกัมพูชา
เพื่อหาทำเลที่เหมาะสม จากนั้นวอลเตอร์ก็กลับไปสร้างสะพานต่อในละตินอเมริกาโดยมีโทนี่
ให้คำแนะนำโดยผ่านทางโทรศัพท์มือถือและแล็ปท็อป ส่วนโทนี่ช่วยสร้างสะพานนับสิบเเห่ง
ในกัมพูชา​ โดยมีช่างเชื่อมและช่างยนต์ชาวกัมพูชาให้ความช่วยเหลือ

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 21, 2022 2:45 pm

สะพานเชื่อมใจ ตอนที่ (3)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
โดย โรเบิร์ต คีเนอร์ และจากวิกิพีเดีย 2021 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ปกติโทนีจะเดินทางไปดูสถานที่ 3 ครั้ง ครั้งแรกมองหาจุดก่อสร้าง สำรวจพื้นที่ คำนวณและ
ติดต่อขอแรงชาวบ้าน ครั้งที่สองจะคอยดูแลให้คำแนะนำชาวบ้านระหว่างเทฐานคอนกรีต
สำหรับโครงสร้างหลักรับน้ำหนัก ครั้งสุดท้ายจะกลับไปเพื่อตั้งโครงรับน้ำหนัก ขึงสายเคเบิล
และทางเดิน โดยเฉลี่ยแล้ว สะพานหนึ่งใช้เวลาสร้าง 5 สัปดาห์ ต้นทุนส่วนใหญ่ไม่ถึง
120,000 บาท ขณะที่ปกติการสร้างสะพานแบบเดียวกันใช้เงินมากกว่า 10 เท่า
“โทนี่ คนสวิส” หรือ “คุณโทนี่” หรือ “นายช่างเทวดา” เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกขณะที่เขาสร้าง
สะพานคนเดิน โทนี่กล่าวว่า “การสร้างสะพานให้คนยากจนเป็นวิธีแสดงออกถึงความรักที่
ผมมีต่อโลกและต่อผู้คนที่อาศัยอยู่บนโลกนี้”
โทนี่สร้างสะพานแบบเรียบง่ายและประหยัดต้นทุนมากที่สุด โดยใช้สายเคเบิลและท่อเหล็ก
ที่ได้รับบริจาค อีกทั้งได้รับเงินอุดหนุนจากผู้บริจาครายย่อยชาวสวิส เขาระมัดระวังเรื่องรายจ่าย
ปฏิเสธเงินทุนหรือเงินบริจาคของรัฐบาล ไม่มีเงินเดือนให้ตัวเอง ไม่มีเลขานุการ เว็บไซต์
หรือสำนักงาน และไม่ซื้อบ้านหรือรถยนต์
เมื่อถามถึงบ้าน โทนี่จะยิ้มแล้วยกกระเป๋าสีดำใบแรกให้ดู ข้างในมีกางเกงขายาว 3 ตัว,
กางเกงยีน 2 ตัว, เสื้อเชิ้ต 4 ตัว, เสื้อคอกลม 2 ตัว, รองเท้าบูทใส่ทำงาน 1 คู่และเนคไท 1 เส้น
สำหรับโอกาสพิเศษ
เมื่อถามถึงสำนักงาน เขาก็ยกกระเป๋าอีกใบขึ้นมา ใบนี้ใส่คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ,
เครื่องปาล์มและแฟ้ม 2-3 เล่ม
โทนี่เดินทางอย่างประหยัดที่สุด และเรียกร้องชาวบ้านที่ต้องการสะพานจะต้องยินยอมร่วมลงแรง
ซึ่งจำเป็นต่อการก่อสร้างด้วย
โทนี่แทบไม่ได้หยุดพักผ่อน ทุกคืนเขาจะอ่านและตอบอีเมล, ตรวจดูคลังข้อมูลเรื่องสะพานต่าง ๆ,
จัดเตรียมส่งสายเคเบิลใช้แล้วจากบริษัทสวิสเพื่อส่งไปกัมพูชา, จัดแบ่งท่อเหล็กนับ 10 ตันที่ได้รับ
บริจาคจากบริษัทเหล็กกล้าของอาร์เจนตินาเพื่อส่งไปสร้างสะพานในละตินอเมริกาและเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจ่ายค่าจ้างให้ช่างเชื่อมและคนงานในสองภูมิภาคนี้ รายการงานที่
ต้องทำยังมีอีกยาวเหยียด “อีเมลนี้ถูกใจผมมาก” เขาพูดขณะอ่านโน้ตบุค คู่แต่งงานในสวิตฯ
ขอร้องแขกว่าไม่ต้องซื้อของขวัญ แต่ขอรับบริจาคเงินให้โทนี่แทน ทั้งสองส่งภาพใบคำสั่งจ่าย
เป็นเงินประมาณ 32,000 บาทมาให้ เรื่องทำนองนี้ทำให้เขานึกถึง ”ดาเนียล” เด็กชายสวิส
วัย 10 ขวบเล่นไวโอลินริมถนนในเมืองดาวอส (Davos) โทนี่เล่าเรื่องนี้อย่างสะเทือนอารมณ์ว่า
“ที่เท้าของหนูน้อยขณะเล่นไวโอลิน มีป้ายเขียนว่า ‘ผมเล่นเพื่อสะพานของโทนี่’ หนูน้อยดาเนียล
ส่งเงินประมาณ 12,000 บาทมาช่วยสนับสนุนงานของโทนี

โปรดติดตามตอนที่ (4) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 21, 2022 2:51 pm

สะพานเชื่อมใจ ตอนที่ (4) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
โดย โรเบิร์ต คีเนอร์ และจากวิกิพีเดีย 2021 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ต้นปี 2002 ระหว่างสร้างสะพานในกัมพูชา โทนี่ป่วยด้วยโรคประสาทอักเสบซึ่งเป็น
โรคอัมพาตประเภทหนึ่งซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์บอกเขาว่า
เขาเฉียดตายมาก โทนี่ใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายอยู่ 1 ปีในศูนย์กายภาพบำบัดที่ประเทศไทย
จนเคลื่อนไหวได้เกือบปกติ เขายังเดินเป๋นิดหน่อย ก่อนหน้านั้นเขาขยับตัวบางส่วนของ
ร่างกายไม่ได้เลย โทนี่ดีใจมากขณะมองดูสะพานข้ามแม่น้ำสาละวันที่ชาวบ้านหลายพัน
คนเพิ่งช่วยกันสร้างเสร็จ เขาเห็นชาวบ้านขนผักผลไม้ ไก่ กระบุง ตะกร้าและผลิตผลอื่น ๆ
ไปยังเมืองสาละวันโดยไม่ต้องลุยข้ามแม่น้ำหรือจ้างเรือข้ามฟาก อีกไม่นานพวกเขาก็อาจ
มีเงินพอซื้อจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ และขนสินค้าไปตลาดได้มากขึ้น น้อย ทิพาพอน
ชาวเมืองสาละวันพูดแทนคนที่นั่นว่า “คุณโทนี่ เปลี่ยนแปลงชีวิตเรา พวกเราจะจดจำบุญคุณ
เขาไว้ตลอดไป”

ปี 1997 โทนี่รับรางวัล “Adele Duttweiler Award 1997” เป็นเงินรางวัล 50,000 ฟรังก์สวิส

ปี 1999 รับเงินรางวัล 200,000 ฟรังก์ : “Dr. J.E. Brandenberger Award” ที่มอบให้แก่ผู้ที่
โดดเด่นเป็นพิเศษของสวิสในด้านมนุษยธรรมหรือการยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิต
ของชาวโลก

ปี 2000 รับรางวัลพิเศษของสมาคมระหว่างประเทศด้านวิศวกรรมสะพานและโครงสร้าง
(IABSE) เพื่อยกย่องการมีส่วนร่วมของเขาในการสร้างสะพานเพื่อช่วยเหลือคนยากจน

ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา โทนี่ปฏิเสธการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลทุกประเภท โทนี่กล่าวว่า
"ผมคิดว่า ผมเป็นคนที่อยู่ในระดับเดียวกับทุกคนที่ผมร่วมทำงานด้วย...ผมไม่ขอรับ
รางวัลใด ๆ และจะปฏิเสธการเชิญเข้าร่วมงานประเภท “กาล่าดินเนอร์” ทุกงาน

วันที่ 31 มีนาคม 2018 Toni Rüttimann แต่งงานกับสาวไทยวัย 37 ปีในเมียนมาร์
เป็นงานเลี้ยงฉลองการแต่งงานและการเปิดสะพานที่ 777 ที่โทนี่เป็นหัวเรือใหญ่ สาวไทย
คู่ชีวิตประทับใจผลงาน ของโทนี่มาก เธอลาออกจากการเป็นครูและร่วมเดินทางกับโทนี่
ขณะสร้างสะพานมาได้ราวปีครึ่ง ก่อนหน้านั้น

ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://vimeo.com/270987089/767fd0c442
ความยาวเกือบ 8:50 นาที​ ถ่ายทำที่งานแต่งงานบนสะพานที่ 777 ซึ่งเป็นสะพานเชือก
ท่ามกลางชาวกะเหรี่ยงที่มาร่วมแสดงความยินดี ในคลิปนอกจากจะเห็นวิธีการสร้าง
“สะพานเชือก”โดยชาวกะเหรี่ยงแล้ว ยังจะได้เห็นโทนี่สวมหมวกแก๊ปสีขาวก้าวเดินบน
สะพานก่อนจะสวมแหวนแต่งงานให้กับสาวไทยที่กลางสะพาน เธอให้คำมั่นสัญญาเป็น
ภาษาอังกฤษที่แปลได้ว่า “จะอยู่เคียงข้างและช่วยเขาสร้างสะพานต่อไปเพื่อประโยชน์
ของมวลชน” โดยมีเพลงไทย “ลมหายใจของกันและกัน” ประกอบคลิปวีดีโอ
นี่คือเรื่อง “A BridgeBuilderStory” ที่มีการเล่าเรื่องถึง 16 ภาษา ซึ่งโทนี่เขียนกำกับสั้น ๆ ว่า
“Feel free to download and share.
Best wishes, Toni”
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 21, 2022 2:55 pm

🎁ของขวัญจากฆาตกร ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
และหนังสือเรื่อง “Walking After Midnight” โดย Katy Hutchison
ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เหตุเกิดในคืนวันส่งท้ายปีเก่า ค.ศ.1997 บ๊อบ (Bob McIntosh) แวะไปดูความเรียบร้อย
ที่บ้านของเพื่อนบ้านชื่อริชาร์ดซึ่งขณะนั้นไปเที่ยวเม็กซิโก ปล่อยให้เจมี่ลูกชายดูแลบ้าน
บ๊อบมีอาชีพเป็นทนายความและเป็นนักกีฬาชื่อดังของเขต “สความิช” (Squamish) รัฐบริติช
โคลัมเบีย แคนาดา เมื่อไปถึงที่บ้านหลังนั้น ก็พบว่ามีวัยรุ่นร่วม 200 คนกำลังจัดงานปาร์ตี้กัน
อย่างสุดเหวี่ยง ทุกคนดื่มเหล้าและเสพยากัน บ๊อบพยายามบอกให้ทุกคนออกจากบ้าน
แต่กลับถูกชกจนล้มคว่ำและถูกเตะซ้ำอย่างไม่นับที่ศีรษะ เมื่อมีผู้นำร่างไร้สติของเขาส่งถึง
โรงพยาบาล ปรากฏว่าบ๊อบเสียชีวิตแล้วเพราะเลือดคั่งในสมอง

เคที (Katy ผู้เขียนเรื่องนี้) ภรรยาของบ๊อบกับลูกฝาแฝดชายหญิงวัย 4 ขวบ (เอมม่ากับแซม)
แม้จะเกิดเรื่องร้ายแรงที่สุดในชีวิต แต่เธอก็สัญญากับลูกทั้งสองว่าจะหาของขวัญมาให้พวกเขา
ให้ได้ ของขวัญชิ้นนี้จะต้องเยียวยาจิตใจของครอบครัวและของฆาตกรที่สังหารสามีของเธอด้วย
การตายอย่างอนาถของบ๊อบทำให้ฉัน (เคที)หมดความมั่นใจในชีวิตและคิดหาที่อยู่ใหม่เพื่อให้
ลูกทั้งสองเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและอยู่ใกล้ทะเล โดยหวังว่าหาดทรายและเกลียว
คลื่นจะช่วยชำระจิตใจได้ ดังนั้น ฉันจึงพาลูกทั้งสองไปที่เมืองวิคตอเรียบนเกาะแวนคูเวอร์อันเป็น
ที่ที่ฉันเติบโตมา
ฉันไปดูบ้านพร้อมที่ดินหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้ชายหาด ทันทีที่ย่างเท้าเข้าไปในบ้าน ฉันรู้สึกว่าได้พบ
บ้านที่ร่มเย็นเหมาะกับเราสามคนแม่ลูกแล้ว ฉันโทรฯ ไปถึงหุ้นส่วนทางกฎหมายของบ๊อบเพื่อให้
เขาช่วยจัดการซื้อบ้านหลังนี้ในนามของฉัน
ฉันกลับไปที่สความิชเพื่อเก็บของอยู่ 2 เดือนที่บ้านหลังเดิม ขณะที่ตำรวจกำลังสอบปากคำคนที่
ร่วมงานปาร์ตี้ต่อ หนุ่มวัยรุ่นที่ชกบ๊อบล้มคว่ำถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา แต่ตำรวจเชื่อว่า
เรื่องยังไม่จบแค่นั้น
หลังจากหารือเรื่องค่าใช้จ่ายและประเด็นทางกฎหมายกับหุ้นส่วนของบ๊อบแล้ว เขาก็แนะให้ฉันจ้าง
ทนายซึ่งเรียนกฎหมายมากับเขาและมีที่อยู่ใกล้บ้านหลังใหม่ในเมืองวิกตอเรีย แถมบอกด้วยว่า
“ไมเคิล ฮัทชิสัน (Hutchison) ทนายคนนี้ เป็นนักรักบี้ร่างยักษ์และเป็นคนดี”

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 21, 2022 2:59 pm

🎁ของขวัญจากฆาตกร ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
และหนังสือเรื่อง “Walking After Midnight” โดย Katy Hutchison
ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลายสัปดาห์ต่อมา ฉันโทรฯไปนัดกับไมเคิลและไปพบเขาที่ห้องทำงาน เขามีท่าทาง
เป็นมิตรและส่งยิ้มให้ก่อนจะแสดงความเสียใจกับฉัน จากนั้นเราก็คุยกันเรื่องประเด็น
ทางกฎหมายต่าง ๆ เรานัดพบกันอีกครั้งเรื่องการฟ้องริชาร์ดในฐานะเจ้าของบ้าน
หรือไม่ก็ฟ้องเจมี่ลูกชายเขาในฐานะเจ้าภาพจัดงานปาร์ตี้
ไมเคิลเป็นคนง่าย ๆ เพียงการพบกันครั้งที่สอง ฉันก็สามารถวางตัวตามสบายและน้ำตา
ก็พรั่งพรูไหลออกมาต่อหน้าเขา ไมเคิลจดบันทึกรายละเอียดทุกอย่างก่อนเดินทางไป
สความิชเพื่อสัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์คืนนั้น
ช่วง 3 เดือนต่อมา ฉันไปที่บริษัทของเขาทุกสัปดาห์ จากการสนทนากันทำให้ฉันทราบว่า
เขาเป็นพ่อม่ายหย่าเมีย โดยมี”อดัม”ลูกชายคนโตอยู่กับเขา และลูกสาววัย 8 ขวบอยู่กับ
อดีตภรรยา ลูกสาวมาเยี่ยมพ่อสัปดาห์เว้นสัปดาห์
มีอยู่ช่วงหนึ่ง ไมเคิลบอกว่า ฉันทุ่มเทให้กับลูกทั้งสองจนไม่มีเวลาสำหรับตัวเองเลย
“คุณควรเปิดโอกาสให้ใครสักคนทำอะไรเพื่อคุณบ้าง” ไมเคิลกล่าว “คุณจะอนุญาตให้ผม
พาคุณออกไปกินอาหารค่ำนอกบ้านสักมื้อได้ไหม” แม้จะรู้ว่าเขาเสนอตัวเพราะสงสาร
แต่ฉันก็อดยิ้มกับตัวเองไม่ได้ขณะเดินออกจากห้องทำงานของไมเคิล
หลังเหตุการณ์ผ่านไปครึ่งปี ในวันที่ 3 กรกฎาคม 1998 ขณะที่เด็ก ๆ ดูหนังอยู่กับป้าของฉัน
ที่อาสามาช่วยดูแลลูกให้ ทันใดนั้น เสียงออดประตูดังขึ้น เอมม่าวิ่งไปเปิดประตู และก่อนที่
ไมเคิลจะก้าวเข้ามาในบ้าน เอมม่าก็ถามเขาซื่อ ๆ ว่า “คุณจะแต่งงานกับแม่ของหนูหรือเปล่าคะ”

“จะตอบยังไงดีล่ะ” ไม่เคิลตอบ “อาคิดว่าวันนี้จะพาแม่หนูไปกินข้าวนะ” แต่เอมม่ายังไม่ยอมลดละ
“ถ้าจะแต่ง ก็แต่งก่อนวันเปิดเรียนนะคะ เพราะหนูอยากมีพ่อพาไปที่โรงเรียนอนุบาล”

ไมเคิลคุยสนุกและมีเรื่องเล่าน่าสนใจมากมายจนฉันลืมไปว่าฉันน่าจะรู้สึกแปลก ๆ ที่นั่งโต๊ะ
อาหารกับผู้ชายที่ไม่ใช่บ๊อบ พอเขามาส่งที่บ้าน ฉันเขย่งตัวขึ้นไปจูบเขาที่แก้มและบอกว่า
ฉันมีความสุขมากที่ได้ออกไปกินข้าวกับเขา พอเข้าไปในบ้าน ฉันก็เล่าเรื่องการไปกินอาหาร
เย็นด้วยกันให้ป้าฟัง ป้าดีใจมากที่เห็นฉันมีความสุขกับการนัดครั้งนี้ และสรุปว่า
“เป็นคนที่ใช่ก็แล้วกัน”

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 21, 2022 3:06 pm

🎁ของขวัญจากฆาตกร ตอนที่ (3)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
และหนังสือเรื่อง “Walking After Midnight” โดย Katy Hutchison
ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

วันต่อมา ฉันพบดอกไม้ช่อใหญ่วางอยู่ตรงประตูพร้อมกับจดหมายจ่าหน้าซองด้วยลายมือ
ที่ฉันจำได้ว่าเป็นของไมเคิล โน้ตข้างในเขียนว่า “เคที ขอบคุณสำหรับค่ำคืนแสนวิเศษ
ผมโชคดีมากที่ได้รู้จักคุณ ในชีวิตคนเรา ความรู้สึกดี ๆ เกิดขึ้นไม่ง่ายนัก ‘ ขอบคุณไมเคิล ‘
คืนนั้น ไมเคิลโทรฯมาบอกว่า จะต้องเดินทางไปต่างเมืองหลายวัน และบอกด้วยว่า
สัปดาห์หน้า เราจะประกาศฟ้องคดีแพ่งกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
ช่วง 5 วันต่อมา เราติดต่อกันทางโทรศัพท์และอีเมลถึงกันตลอด หลังจากเราสำรวจความรู้สึก
ในใจอย่างตรงไปตรงมา ในที่สุด ไมเคิลก็พูดสิ่งที่อยู่ในใจเราสองคน คือถึงเวลาที่ฉันต้อง
ตัดสินใจแล้วว่า จะจัดให้ไมเคิลเป็น​”ทนาย” หรือ “คนรัก” ทั้งที่จริงขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่
ไม่เหมาะนักที่จะพูดเรื่องความรัก แต่เมื่อความรักมาเยือน เราก็หมดสิทธิ์เลือกเวลาไม่ใช่หรือ...
เราตกลงกันว่า พอประกาศฟ้องคดีแพ่งเสร็จ เราก็จะยุติความสัมพันธ์เชิงธุรกิจกัน

ในงานแถลงข่าว ฉันตอบคำถามเรื่องความโกรธและการแก้แค้น ฉันคิดถึงบ๊อบมากก็จริง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฉันต้องเกลียดคนที่ทำให้เขาตาย เพราะความเกลียดชังจะทำให้เรา
สิ้นหวังและหลุดพ้นจากเรื่องร้าย ๆ ได้ยาก
เราจัดพิธีแต่งงานเรียบง่ายที่บ้าน ประมาณ 23.00 น.แขกก็กลับหมด แล้วก็ถึงเวลาเตรียม
เสื้อผ้าสำหรับวันเปิดเรียนของลูก.. และเอมม่าก็สมหวังตามที่เคยเอ่ยปากขอไว้

ช่วง 2-3 ปีต่อมา คนที่ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนายังคงถูกดำเนินคดีในข้อหาเดิม
คำให้การของพยานหลายปากขัดแย้งกัน อัยการเริ่มกลัวว่าคดีจะล้ม ที่สุดในปี 2000
ฉันตัดสินใจถอนฟ้องคดีแพ่งที่ยื่นไปแล้วตามคำแนะนำของทนาย

เดือนมิถุนายน 2001 ฉันได้รับแจ้งว่าจะมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกหนึ่งคนแต่ตำรวจยังไม่มั่นใจ
ในหลักฐานนัก และกลางปี 2002 ฉันเดินทางไปที่สความิชเพื่อพบสิบตำรวจโทฮิวจ์ซึ่งเป็นเจ้าของ
คดีตั้งแต่ต้น เขาบอกว่าตำรวจจะจับผู้ต้องสงสัยเพิ่มอีกคนชื่อไรอัน (Ryan Aldridge)
ตำรวจประหลาดใจเมื่อฉันบอกเขาว่า ฉันอยากไปเห็นด้วยตาตัวเองตอนที่ตำรวจจับไรอัน

“ไม่ใช่ว่าฉันจะสะใจที่เห็นเขาถูกจับใส่กุญแจมือนะคะ” ฉันอธิบาย “แต่ฉันอยากมั่นใจว่าจะ
สามารถเผชิญหน้ากับไรอันได้ และอยากบอกให้เขารู้ด้วยว่าการตายของบ๊อบส่งผลกระทบ
ต่อฉันและครอบครัวอย่างไรบ้าง” ฮิวจ์บอกว่า
“เราจะบันทึกวีดีโอเทปคำพูดที่คุณต้องการบอกกับไรอัน แล้วจะเปิดให้เขาดูหลังจากได้ตัวเขามาแล้ว”

โปรดติดตามตอนที่ (4) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ม.ค. 22, 2022 11:51 pm

🎁ของขวัญจากฆาตกร ตอนที่ (4)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
และหนังสือเรื่อง “Walking After Midnight” โดย Katy Hutchison
ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

สัปดาห์ต่อมา ฉันกลับไปที่สความิชอีกครั้งเพื่อบันทึกเทปดังกล่าว ฉันเตรียมคำพูด
ถ่ายทอดความรู้สึกลึก ๆ ในใจให้ไรอันทราบ เขาควรรับรู้รายละเอียดของคนที่ตาย
ด้วยน้ำมือของเขา ให้เขารู้ว่าตัวฉันและลูกลำบากแค่ไหนรวมทั้งการทำใจเพื่อดำรง
ชีวิตต่อไป ฉันย้ำว่าถึงเวลาที่เขาต้องชดใช้กรรม เขาอาจหลบซ่อนตัวอยู่ในสความิช
โดยหวังว่าสักวันผู้คนจะลืมเรื่องทั้งหมดไปเอง สุดท้าย ฉันบอกไรอันว่า ถ้าเขาสามารถ
สารภาพความจริงทุกอย่าง ฉันจะเป็นกำลังใจให้เขา​ ตลอดเวลาการดำเนินคดี
วันที่ 21 มิถุนายน 2002 ฉันได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่าไรอันถูกจับแล้ว ไรอันดูเทปที่ฉัน
อัดเอาไว้ หลังจากนั้นไรอันขอให้ตำรวจต่อโทรศัพท์หาแม่ของเขา เขาปล่อยโฮก่อนจะ
สารภาพหมดทุกอย่างกับแม่ และในที่สุดตำรวจก็ได้ข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วน
หลังจากนั้น ไรอันเขียนจดหมายขอโทษ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งส่งให้ฉันกับลูก อีกฉบับเขียนถึง
ชุมชนเขตสความิช เขาถามตำรวจว่าจะมอบจดหมายให้ฉันด้วยตัวเองได้ไหม. ฉันยังอยาก
พบเขาอยู่หรือไม่ ถ้าพบ เราจะได้รับอนุญาตให้อยู่ด้วยกันตามลำพังโดยไม่มีตำรวจเฝ้า
เพียงแต่จะมีการบันทึกเทปทุกอย่างไว้ ถ้าฉันตกลง พรุ่งนี้ตำรวจจะส่งเฮลิคอปเตอร์มารับ
ฉันแต่เช้าตรู่
ขณะที่กำลังคิดว่าจะเผชิญหน้ากับไรอันหรือไม่อยู่นั้น ฉันก็ฉุกคิดได้ว่า “ในวันที่บ๊อบพบ
จุดจบนั้น ฉันสัญญากับเอมม่าและแซมว่า จะหาของขวัญมาให้พวกเขา” ถึงตอนนี้ ในใจฉัน
รู้แล้วว่า การพบกับไรอันในวันรุ่งขึ้นจะบอกให้รู้ว่า ของขวัญที่ฉันมองหานั้นมีอยู่จริงในโลกนี้

พอไปถึงโรงพัก ตำรวจพาฉันไปนั่งรอในห้องที่ไม่มีหน้าต่าง เมื่อประตูเปิด ฉันเห็นไรอันซึ่งเป็น
คนตัวเล็ก อายุไม่น่าจะถึง 25 ปี และนึกภาพไม่ออกว่าเขาสามารถเตะคนจนตายได้อย่างไร
ฉันทำลายความเงียบก่อนด้วยการพูดกับเขาว่า “เรื่องร้ายแรงที่สุดผ่านพ้นไปแล้วตั้งแต่เธอ
สารภาพความจริง” ไรอันบอกว่า เขาเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เมื่อฉันให้เขาเล่าถึงสิ่งที่
เกิดขึ้นในคืนนั้น เขาไม่มีคำอธิบายใด ๆ เขาบอกแต่เพียงว่า เขาไม่รู้ตัวเลยว่าเข้าไปเตะบ๊อบ
ได้อย่างไร เป็นการกระทำของคนขลาดที่คึกคะนองเพราะความเมา ฉันเล่าเรื่องครอบครัวให้
เขาฟังและถามเรื่องครอบครัวของเขา ฉันบอกว่าการพิจารณาจะทำให้คนที่เราทั้งสองรักจะต้อง
เจ็บปวดทุกคน และขอร้องให้เขาสารภาพผิดในข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาในศาล

โปรดติดตามตอนที่ (5) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 23, 2022 10:26 pm

🎁ของขวัญจากฆาตกร ตอนที่ (5)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
และหนังสือเรื่อง “Walking After Midnight” โดย Katy Hutchison
ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ไรอันยื่นจดหมายให้ฉันขณะที่ตำรวจนักสืบเดินเข้ามาบอกว่าหมดเวลาเยี่ยมแล้ว
เมื่อฉันไปถึงห้องทำงานของฮิวจ์ ฉันเห็นจอโทรทัศน์วงจรปิดในห้องมีภาพของไรอัน
นั่งสะอื้นไห้อยู่คนเดียว ในมือเขากำกรอบรูปถ่ายเอมม่าและแซม และภาพของบ๊อบ
ที่นอนหมดลมหายใจอยู่ที่โรงพยาบาล ชีวิตของคนคนหนึ่งสูญไปแล้ว ขณะที่อีกชีวิตหนึ่ง
แขวนอยู่บนเส้นด้าย ฉันตั้งปณิธานว่า “เราต้องไม่เสียไรอันไปอีกคนเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้”
การพบกับไรอันแบบตัวต่อตัว 20 นาทีมีความหมายต่อฉันมากกว่ากระบวนการพิจารณาคดี
ทั้งหมดจนฉันคาดไม่ถึง เมื่อกลับไปบ้าน ฉันกับไมเคิลอ่านจดหมายของไรอันทั้งสองฉบับ
เราตัดสินใจส่งฉบับที่เขาเขียนถึงคนในสคามิชไปให้สื่อมวลชน และเก็บฉบับที่เขาเขียนถึง
ครอบครัวเราไว้เป็นสมบัติส่วนตัว
ไรอันให้การสารภาพเมื่อขึ้นศาลวันที่ 17 ตุลาคม 2002
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2002 เป็นวันพิจารณาโทษ ฉันลุกขึ้นอ่านเอกสารแสดงผลกระทบที่เกิดขึ้น
กับตัวเองและครอบครัวด้วยน้ำเสียงที่เยือกเย็น “ทุกวันนี้ฉันยังจำภาพในห้องฉุกเฉินของ
โรงพยาบาลได้อย่างชัดเจน พอกลับถึงบ้าน ฉันต้องรับหน้าที่แจ้งข่าวร้ายให้ลูกฝาแฝดวัย 4 ขวบ
ทั้งสอง ช่วงสัปดาห์ต่อ ๆ มา ภาพทุกอย่างดูพร่ามัว มีตำรวจ นักข่าว ญาติ ๆ เตียงนอนใหญ่ที่ต้อง
นอนอย่างเดียวดาย ฉันต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตโดยไม่มีเขา...”
ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 11 ธันวาคม 2002 ไรอันต้องโทษจำคุก 5 ปี (ผู้ต้องหาอีกคนรับ
สารภาพ ในข้อหาทำร้ายร่างกาย และได้รับการปล่อยตัวไปโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเข้าร่วมกระบวน
การสมานฉันท์ตามที่ศาลสั่ง)
ส่วนฉันยังคาใจอยู่ว่า “เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และฉันจะช่วยป้องกันการสูญเสียแบบนี้ได้ไหม”
ไม่นานต่อมาฉันก็ได้คำตอบขณะขับรถผ่านโรงเรียนเก่าที่ฉันเคยเรียน ฉันโทรศัพท์ไปคุยกับเรด้า
ผู้ประสานงานด้านการพัฒนาชีวิตและการงานของโรงเรียน เพื่อขออนุญาตไปพูดให้นักเรียนวัยรุ่นฟัง
ต่อมาฉันได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจของแคนาดา “ผมได้ข่าวว่าคุณเตรียมไปพูด
ให้เด็ก ๆ ฟัง ตอนนี้ ผมขอจองเวลาไว้ที่โรงเรียนมัธยม “Parkland Secondary School”
วันพฤหัสหน้านะครับ”
คืนนั้น ฉันรวบรวมภาพถ่ายเก่าเพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอีกมาก ฉันใช้กล้องดิจิทัล
ถ่ายภาพแล้วโหลดเข้าคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว จัดหน้าด้วยโปรแกรม “Powerpoint” อย่างง่าย ๆ
ไม่นานก็เรียบร้อย

โปรดติดตามตอนที่ (6) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 24, 2022 9:07 pm

🎁ของขวัญจากฆาตกร ตอนที่ (6)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
และหนังสือเรื่อง “Walking After Midnight”
โดย Katy Hutchison ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เด็กวัยรุ่น 30 คนนั่งยุกยิกอยู่ในห้องเรียนขณะที่ฉันต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับเครื่องฉาย
แล้วฉันก็เริ่มต้นด้วยภาพของบ๊อบขณะเป็นทารกบนจอใหญ่ ฉันแนะนำว่านี่คือบ๊อบ
พวกเด็ก ๆ หัวเราะกันครืน ฉันรุกต่อด้วยภาพของบ๊อบที่เป็นนักกีฬา ทุกคนเริ่มสนใจ
เมื่อเห็นภาพตอนที่เขาเล่นวินด์เซิร์ฟ ฮอกกี้ และตีลังกาลอยตัวอยู่กลางอากาศขณะเล่น
สกีจั๊มและเข้าร่วมแข่งขันไตรกีฬา เสียงหัวเราะดังกระหึ่มเมื่อฉันพูดถึงเรื่องตลกของเขา
เด็ก ๆ กำลังเพลิดเพลินอยู่จนลืมไปว่า หัวข้อที่ฉันเตรียมมาพูดคือเรื่องอะไร แล้วทั้งห้อง
ก็เงียบกริบเมื่อฉันฉายภาพของบ๊อบในห้องดับจิต!... อะไรกันนี่ เรื่องกำลังสนุกอยู่แล้ว
ทำไมจึงจบลงห้วน ๆ แบบนี้ ขณะที่เริ่มฉายวีดีโองานศพของบ๊อบ เด็กทั้ง 30 คนจ้องหน้าฉัน
อย่างไม่เชื่อหูตัวเองขณะที่ฉันเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนวันนั้น
ฉันเริ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องความรับผิดชอบและความเสี่ยงที่เกิดจากการ
ดื่มสุราและเสพยา เมื่อถามว่าในห้องนี้มีใครเคยไปร่วมงานปาร์ตี้ที่มีคนมากกว่า 100 คน
โดยไม่มีผู้ปกครองดูแลบ้าง... มีคนยกมือมากกว่าครึ่งห้อง ฉันลำดับภัยที่เกิดจากการดื่ม
เหล้าจนขาดสติ, ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ, การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันจนติดโรคและ
การตั้งครรภ์ การท้าท้ายกัน, การนั่งรถที่คนขับเมาไม่ได้สติ ฯลฯ
ทุกคนพยักหน้าเมื่อฉันพูดถึงเรื่องที่พบกันบ่อยที่สุดคือการที่ต้องมานั่งเสียใจภายหลังเพราะ
พฤติกรรมของตัวเอง ฉันพยายามพูดไม่ให้เหมือนกับครูกำลังสอน แต่ให้พวกเขาหาข้อสรุป
ได้ด้วยตัวเอง สุดท้าย ฉันฝากข้อคิดไว้ให้ดูแลเพื่อน ๆ ให้ดีและรีบโทรฯขอความช่วยเหลือ
เมื่อเห็นว่ามีคนที่ควบคุมสติไม่ได้อยู่ในงาน
เมื่อเรด้าทราบว่า การพูดของฉันประสบความสำเร็จมาก เธอก็จัดเวลาให้ฉันไปพูดที่
โรงเรียนมัธยม “Oak Bay High School” ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่มีฐานะดี ไปต่างประเทศ
บ่อยและปล่อยให้ลูกวัยรุ่นดูแลบ้านตามลำพัง
หลังพูดเสร็จ มีนักเรียนหญิงคนหนึ่งเดินมาหาด้วยน้ำตานองหน้า เธอเล่าถึงปาร์ตี้เมื่อ
สุดสัปดาห์ที่เธอเชิญเพื่อน ๆ มาที่บ้านซึ่งไม่มีผู้ใหญ่อยู่ รู้ตัวอีกทีก็มีแขกมาถึง 80 คน
เธอหมดปัญญาควบคุมสถานการณ์ บางคนทำเบียร์หกใส่เฟอร์นิเจอร์จนเปียกโชก
พรมปูพื้นถูกก้นบุหรี่เป็นรอยไหม้ กว่าจะจัดการให้ทุกคนออกจากบ้านได้ก็ปาเข้าไป
ตีสาม ฉันตบไหล่เธอและบอกว่าเธอกล้าหาญมากที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง และแนะให้เธอไปเล่า
ให้พ่อแม่ฟังถึงสิ่งที่เธอเรียนรู้จากการพูดของฉัน พ่อแม่เธออาจโกรธ แต่แน่นอนพวกเขาคง
ตระหนักถึงบทเรียนที่ลูกสาวเพิ่งประสบเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่เด็กสาวเดินจากไป ฉันจึงตระหนักว่าการพูดของฉันไม่สูญเปล่า ถ้ามีเด็กอยากฟัง
เรื่องราวของบ๊อบ สังคมก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ถึงช่วงกลางปี 2003 ฉันพูดให้เด็กฟังไปแล้ว 800 คน
ฉันทำให้บ๊อบมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งและสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล

โปรดติดตามตอนที่ (7) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ม.ค. 25, 2022 11:25 pm

🎁ของขวัญจากฆาตกร ตอนที่ (7)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
และหนังสือเรื่อง “Walking After Midnight” โดย Katy Hutchison
ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ในช่วงเวลาที่ฉันเดินสายพูดอยู่นั้น ฉันอ่านบทความเรื่องการสมานฉันท์ระหว่างเหยื่อกับ
อาชญากร พออ่านจบ ฉันก็ติดต่อเดวิด เจ้าหน้าที่โครงการสมานฉันท์ฯ ของรัฐฯ ทันที
เดวิดอธิบายว่าในกรณีของฉัน ขั้นแรกเจ้าหน้าที่จะต้องไปสอบถามเบื้องต้นที่เรือนจำซึ่ง
ไรอันรับโทษอยู่ ฉันเขียนจดหมายบอกเขาว่าฉันอยากพบเขามาก พอไรอันตอบตกลง
เดวิดก็จัดการนัดหมายโดยกำหนดเป็นวันที่ 27 ตุลาคม 2003
ในวันนั้น มีเจ้าหน้าที่พาฉันไปที่ห้องและบอกให้รอไรอันที่นั่น พอไรอันเข้ามาและทรุดตัว
ลงนั่ง ฉันรู้สึกดีใจที่เห็นแววตาแสดงถึงความจริงใจของเขา การพบกันของเราถูกบันทึกเทป
แต่จะไม่เปิดให้ผู้ใดดูเด็ดขาดเว้นแต่เราจะอนุญาต
ไรอันเล่าถึงเหตุการณ์คืนวันสิ้นปี 1997 ภาพการดื่มเหล้าและเสพยา เล่าถึงครอบครัวด้วย
ความเคารพและเป็นห่วง สิ่งที่เกิดขึ้นภายในพริบตาที่ทำให้ทั้งครอบครัวหมดความสุข
จากนั้นฉันก็ให้ไรอันรับรู้ถึงการที่ฉันไปพูดตามโรงเรียนต่าง ๆ เพราะฉันไม่อยากทำงานนี้
ลับหลังเขา ฉันเอาคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วไปด้วยและมือสั่นขณะเปิดภาพพร้อมกับอธิบายสิ่ง
ที่ฉันพูดตามโรงเรียน ไรอันจ้องหน้าจอแบบตาไม่กระพริบ
หลังสร้างความปรองดองกับไรอันสำเร็จลง นับถึงกลางเดือนธันวาคม 2003 ฉันพูดให้วัยรุ่นฟัง
ไปแล้วกว่า 1100 คนและยังมีคนติดต่อให้ไปพูดไม่ได้ขาด เดวิดโทรฯ มาหาฉันก่อนคริสต์มาส
และบอกว่ามี “ของขวัญพิเศษสุด” จะส่งมาให้ทางไปรษณีย์... ปรากฏว่าเป็นจดหมายจากไรอัน
โน้ตด้านหน้าเขียนว่า “ผมหวังว่าประวัติส่วนตัวของผมสั้น ๆ นี้คงจะทำให้การพูดของคุณสมบูรณ์ขึ้น”
ด้านในซองเป็นจดหมายพิมพ์ดีด :
“ผมชื่อไรอัน ตอนนี้รับโทษจำคุกข้อหาฆ่าคนตาย ผมอยากช่วยคุณเคทีทำงานในโครงการของเธอ
และหวังว่าวัยรุ่นจะไม่ผิดพลาดเหมือนที่ผมเคยทำมาแล้ว”

“ผมเติบโตมาในเขตสความิช ผมเหมือนวัยรุ่นทั่วไปขณะเรียนมัธยม คือหมกมุ่นกับการคบเพื่อนใหม่
และพยายามทำตัวให้เพื่อนยอมรับ ช่วงแรกผมถูกล้อและถูกรังแกบ่อย ๆ แต่ผมไม่ได้เล่าให้พ่อแม่ฟัง
เพราะคิดว่าจัดการปัญหานี้ได้ ในที่สุด ผมก็เข้ากลุ่มได้และเริ่มดื่มเหล้ากับไปเที่ยวงานปาร์ตี้”
“เกรดของผมเริ่มตกต่ำจนเกือบเรียนไม่จบ ผมประสบอุบัติเหตุเพราะเหล้า 3 ครั้ง และในวันฉลองเรียน
จบ ชั้นมัธยม ผมเกือบเสียเพื่อนคนหนึ่งเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ แทนที่จะสำนึก ผมกลับมองหา
คำตอบอย่างผิด ๆ ตอนนั้นผมอายุ 19 ปี และชีวิตเริ่มออกนอกลู่นอกทางจนกู่ไม่กลับ”

โปรดติดตามตอนที่ (8) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 26, 2022 11:03 pm

🎁ของขวัญจากฆาตกร ตอนที่ (8) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ​้ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007
และหนังสือเรื่อง “Walking After Midnight” โดย Katy Hutchison
ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

“คืนวันสิ้นปี 1997 เพื่อนคนหนึ่งจัดงานปาร์ตี้ที่บ้านขณะที่พ่อแม่ไม่อยู่ คนไปร่วมส่วนใหญ่
เป็นวัยรุ่นราว 150 คน มียาเสพติดและเหล้าเพียบ ผมเมามากและฟังเพลงอยู่ที่ชั้นบนของบ้าน
มีแขกแปลกหน้าคนหนึ่งเดินขึ้นมาบอกให้พวกเราออกไปจากบ้าน เพื่อนผมโต้เถียงกับเขา
ก่อนจะชกชายคนนั้น พอเขาล้มลง ผมก็ตรงเข้าไปเตะเขา (4 ครั้งโดยที่ผมไม่รู้ตัวเลย)
หลังจากนั้น ทุกอย่างก็โกลาหล รถพยาบาลมาถึง ตามมาด้วยตำรวจ เมื่อเห็นตำรวจผมก็หลบ
ออกไปพร้อมกับเพื่อน ๆ และไปต่องานปาร์ตี้อีกแห่ง”

“เช้าวันรุ่งขึ้น ผมถึงรู้ว่าชายที่ถูกผมเตะเสียชีวิตแล้ว ผมไม่รู้จะทำอย่างไร รู้สึกมึนงงไปหมดเหมือน
ฝันร้าย ผมไม่อยากคิดเลยว่า ตัวเองจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ครอบครัวจะรู้สึกอย่างไรกับผม
ด้วยความกลัว ผมจึงไม่ปริปากพูดเรื่องนี้แต่ก็ถูกฝันร้ายตามหลอกหลอนตลอด 4 ปีจนผมทนไม่ไหว
ผมเดินไปสารภาพกับตำรวจนอกเครื่องแบบคนหนึ่ง ขณะนั้นตำรวจก็มีพยานหลักฐานพอที่จะดำเนิน
คดีกับผมอยู่แล้ว ครอบครัวผมเสียใจเป็นที่สุด”

“ชีวิตที่มีค่าของคนคนหนึ่งต้องปิดฉากลงเพราะความขาดสติของผม พ่อถูกพรากไปจากลูก สามีต้อง
จากภรรยา ผู้ชายคนหนึ่งหมดโอกาสเห็นหน้าครอบครัวและเพื่อน ๆ ตลอดไป คำถามสำคัญที่ผมถาม
ตัวเองคือ ทำไมผมถึงเตะเขา ผมไม่เคยได้คำตอบเลยจนทุกวันนี้ แต่ผมรู้อย่างหนึ่งว่า การรับโทษ
ในคุกนั้น ยังถือว่าง่ายเมื่อเทียบกับการที่ถูกมโนธรรมติเตียนไปตลอดชีวิต”

คำพูดที่ฉันบอกเล่าให้นักเรียนวัยรุ่นฟังเทียบไม่ได้เลยกับข้อความในจดหมายของไรอัน ฉันจึงนำข้อ
ความทั้งหมดของเขาผนวกเข้าไปในเนื้อหาที่จะพูดในครั้งต่อไปโดยไม่รอช้า

เดือนกุมภาพันธ์ 2004 ไรอันถูกย้ายไปอยู่เรือนจำที่เข้มงวดน้อยลง ฉันขออนุญาตเจ้าหน้าที่เรือนจำ
ใหม่นี้เพื่อจะขอไปพูดเรื่องชีวิตของบ๊อบให้ผู้ต้องขังที่นั่นฟัง คำตอบคือ “ไรอันขอร่วมพูดด้วย” ซึ่งทำ
ให้ฉันถึงกับอึ้ง มีผู้ฟังราว 80 คน ไรอันนั่งติดกับเจ้าหน้าที่ประสานความปรองดอง พอพูดถึงเรื่อง
”จดหมายของไรอัน” ซึ่งปกติฉันเป็นคนอ่าน แต่ครั้งนี้ ฉันเชิญให้เจ้าของจดหมายเป็นคนอ่านด้วยตัวเอง
แล้วฉันก็นั่งลง ไรอันเงียบอยู่ 2-3 อึดใจก่อนรวบรวมความกล้าสำเร็จ
ทุกคนในห้องจดจ่อกับคำพูดของไรอัน ฉันกล่าวขอบคุณที่เขามาร่วมพูดด้วย และกล่าวกับทุกคนใน
ห้องว่า “ฉันกับไรอันเดินทางไปด้วยกันแบบคู่ขนาน โอกาสที่เราสองคนจะได้มายืนอยู่ด้วยกันและเล่า
ถึงเหตุการณ์เดียวกันให้พวกท่านฟังนั้น เป็นของขวัญสุดประเสริฐ เราทั้งสองหวังว่า พวกท่านจะกลับ
ไปคิดถึงสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะอะไร”
หลังจากนั้น ฉันก็เริ่มเตรียมสำหรับ ”การพูดคู่” ในครั้งต่อไป ฉันอดยิ้มไม่ได้เมื่อนึกถึงภาพที่เราสองคน
นั่งปรึกษากันอย่างใกล้ชิดจนหัวแทบชนกันและช่วยกันวางตารางวันพูดอยู่บ่อย ๆ
ในการพูดครั้งหลัง ๆ ฉันสังเกตว่าไรอันแทบไม่ใช้โน้ตเวลาพูด เขายืนถ่ายทอดเรื่องได้อย่างคล่องแคล่ว
ต่อมามีนักข่าวถามเราว่า คิดว่าอีกฝ่ายจะเป็นเพื่อนได้หรือไม่ เราต่างเงียบไปอึดใจ ไรอันยืนกระวน
กระวายขณะที่ฉันตอบด้วยน้ำเสียงที่มั่นคงว่า “น่าจะเป็นเพื่อนกันได้” และเสริมว่า “ถ้าเพื่อนคือคนที่คุณ
เรียนรู้ที่จะให้เกียรติเขา หรือเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์บางอย่างร่วมกับคุณ แล้วต่างฝ่ายต่างได้เรียนรู้
แง่มุมใหม่ ๆ ในชีวิต ถ้าเป็นเช่นนี้ เราก็เป็นเพื่อนกัน”

เมื่อไรอันเข้ารับการพิจารณาการพักการลงโทษในวันที่ 21 ธันวาคม 2005 คณะกรรมตัดสินให้
ไรอันได้รับการพักการลงโทษลงกึ่งหนึ่ง โดยตอนกลางวันให้ไปอยู่ที่ “บ้านกึ่งวิถี” ในแวนคูเวอร์
จนถึงเดือนเมษายน 2006 หลังจากนั้นจึงจะได้รับการพักการลงโทษเต็มรูปแบบจนถึงเดือน
ธันวาคม 2008 คณะกรรมการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ฉันไปพบกับครอบครัวของไรอันได้
เราสวมกอดกันราวกับ เพื่อนสนิทขณะพร่ำบอกต่อกันว่า “จบสิ้นเสียที”

และในค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2005 ที่บ้านของฉันก็มีกลิ่นอาหารหอมหวนอบอวลไปทั่วห้องครัว
ที่มีแขกอยู่เต็ม เราเพลิดเพลินกันจนลืมดูนาฬิกา เผลอนิดเดียวก็เหลืออีก 10 นาทีจะถึงเที่ยงคืน
ฉันไม่ได้อยู่ดึก ๆ ในวันสิ้นปีแบบนี้มาหลายปีแล้ว เราช่วยกันนับถอยหลังอย่างสุดเสียง
กระทั่งนาฬิกาตี 12 ครั้ง ไมเคิลสวมกอดฉันขณะที่เอมม่าและแซมวิ่งเล่นอยู่นอกบ้านที่มีแสงไฟ
กระพริบที่เราประดับไว้

หมายเหตุ : จนถึงปัจจุบันเธอพูดให้วัยรุ่นฟังมากกว่า 1 แสนคนทั้งในแคนาดาและสหรัฐฯ
ส่วนไรอันหลังพ้นโทษ ก็มีชีวิตเช่นคนทั่วไปคือมีงานทำ แต่งงานและมีลูก 1 คน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.katyhutchisonpresents.com.
****************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 01, 2023 8:09 pm

ทางแห่งความสุข ตอนที่ ( 1 ))
โดย ร. รัตติกาล จากหนังสืออนุสรณ์ โรงเรียนเบญจมราชาลัย 2511
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

วันปีใหม่หวนกลับมาอีกครั้ง สถานที่แต่ละแห่งจัดงานรื่นเริงขึ้น วันนี้ทุกคนตื่นแต่เช้า
ตักบาตรทำบุญ แล้วก็ออกเที่ยวหาความสำราญกัน

“อนงค์”เด็กสาววัย 16 ปี รีบตื่นแต่เช้าหุงหาอาหารแล้วหาบขนมไปขายที่ตลาด ปีใหม่ทุกปี
ขนมขายดีเสมอ สำหรับเธอ “ปีใหม่” สำคัญที่ตรงนี้เอง โดยเฉพาะปีนี้ เธอได้รับอนุญาตจาก
มารดาให้ไปเที่ยวในวันปีใหม่ได้เมื่อขายขนมหมด ดังนั้นเธอจึงเริ่มเก็บเงินไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน
ครอบครัวของเธอค่อนข้างยากไร้ เธอจึงมิได้รบกวนเงินจากมารดา นอกจากเงินที่มารดาให้ไว้
วันละเล็กน้อย ซึ่งเธอเก็บไว้โดยไม่ยอมแตะต้องเลย จวบจนวันนี้เงินที่เธอเก็บสะสมไว้ได้ 30 บาท
พอดี ช่างมากมายสำหรับเธอเสียเหลือเกิน

ยังไม่ถึงเที่ยงขนมก็ขายหมด เธอรีบแบกหาบกลับบ้าน อาบน้ำแต่งกายด้วยชุดเรียบและสะอาด
ที่สุด ใบหน้าเธอสดชื่นแจ่มใส แต่แล้วสีหน้าก็ต้องเปลี่ยนเป็นตื่นตระหนก เมื่อได้ยินเสียงเอะอะ...
เสียงพ่อกับแม่เถียงกันนั่นเอง

“พ่อคงขอเงินแม่ไปกินเหล้าอีกกระมัง” เธอคิด เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เธอประสบอยู่จำเจแทบทุกวัน
ใจของเธอคิดว่า เหตุการณ์นี้คงจะสงบลงได้ แต่ อะไรนั่น... เสียงยิ่งดังขึ้น พร้อมทั้งมีเสียงโครมคราม
ตามมาด้วย คราวนี้เองที่เธอต้องรีบวิ่งออกจากห้อง

ภาพที่เห็นนั้นทำให้ใจเธอวูบลง พ่อกำลังปัดของลงจากหิ้ง ฝ่ายแม่นั้นเล่า ก็โกรธจนน้ำตาไหล

“พ่อ หยุดทีเถอะ” เธอรีบร้องห้าม ใจนั้นก็กลัวว่าพ่อจะโกรธเพิ่มขึ้นเหมือนกัน

“อย่ายุ่ง ไปไหนก็ไปให้พ้น” เสียงพ่อไล่อย่างฉุนเฉียว

“โธ่พ่อ เงินยิ่งไม่ค่อยมีจะซื้อของอยู่ด้วย”

“คำสองคำก็ไม่ค่อยมีเงิน วันนี้ขายขนมได้ตั้งมากมาย หายไปไหนหมด.... หา”

“ก็...ก็ ต้องเก็บไว้เป็นทุนทำขนมไปขายพรุ่งนี้ซิพ่อ วันนี้... อ้า... พ่องดกินเหล้าสักวันไม่ได้หรือ”

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 02, 2023 12:12 pm

ทางแห่งความสุข ตอนที่ ( 2 )
โดย ร. รัตติกาล จากหนังสืออนุสรณ์ โรงเรียนเบญจมราชาลัย 2511
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

“อะไรกัน วันปีใหม่ทั้งที จะให้พ่ออดเหล้าหรือวะ ถ้าวันนี้ไม่ได้กิน รับรอง ว่าเกิดเรื่องแน่”
ทันทีที่พูดจบพ่อก็ตรงรี่ไปยังหิ้งพระ ซึ่งเธอรู้ดีว่าแม่ชอบนำเงินไปซ่อนไว้เสมอ ถ้าพ่อพบเงิน
ก็คงจะเอาไปหมด แล้วพรุ่งนี้จะเอาทุนที่ไหนมาทำขนมขาย พอคิดได้เช่นนั้น เธอก็วิ่งเข้า
ขวางหน้าพ่อไว้ทันที

“อะไร...อะไร... ถอยไปนงค์” พ่อดุจนเธอกลัว แต่ก็ยังฝืนยิ้ม

“เดี๋ยวซิพ่อ... เอ้อ...พ่อต้องการเงินสักเท่าไรหรือคะ...”

“ถามทำไม เอ็งมีให้พ่อหรือ”
“ก็พ่อบอกมาสิว่าจะเอาเท่าไร”

“ไม่มากหรอก ขอแค่ 20 บาทเท่านั้นแหละ”

“อ้า... จ้ะ...แต่เอาไปเถอะพ่อ หนูให้” พูดจบเด็กสาวก็ตัดสินใจหยิบเงิน 20 บาทส่งให้บิดา

“แหม... ดีจริง อย่างนี้สิถึงจะรักพ่อ... เอาละ แล้วพ่อจะใช้คืนให้” พ่อพูดแล้วก็เดินจากไป
อย่างเป็นสุข อนงค์รู้ดีว่าไม่มีโอกาสจะได้เงินจำนวนนั้นคืนแน่ น้ำตาแทบไหล แต่ก็ยังฝืนยิ้มกับ
มารดา

“โธ่ลูก นั่นเป็นเงินที่ลูกเก็บไว้เที่ยวไม่ใช่หรือ” นางเอ่ยด้วยน้ำเสียงละห้อย มองหน้าลูกด้วย
ความสงสาร

“เอ้า... ไปหยิบเงินจากหิ้งพระ 20 บาทเถอะลูก แม่ให้”

“ไม่ต้องหรอกจ้ะแม่ หนูยังมีเหลืออีก 10 บาท เงินของแม่เก็บไว้ทำทุนเถอะ” เด็กสาวรีบตอบ

“10 บาทจะพอหรือลูก” ในใจรู้ดีว่าลูกรู้สึกอย่างไร

“พอจ้ะแม่ หนูเที่ยวได้สนุกแน่ค่ะ แม่อย่าห่วงเลยนะ” เธอกล่าวตอบด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใส
แต่ในใจนั้นเล่า... หมองมัวสิ้นดี

เที่ยงกว่าแล้ว อนงค์เดินจากบ้านมาเรื่อย ๆ ผ่านฝูงชนที่เดินกันขวักไขว่ ผ่านร้านสรรพสินค้า
ซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม เธอเดินไปด้วยจิตใจที่ว้าวุ่น ไม่รู้ว่าจะไปไหน เงิน 10 บาทที่เหลือดูช่าง
ไร้ค่าเหลือเกินในเวลานี้

เธอเห็นภาพเด็กในเครื่องแบบนักเรียนเดินมาเป็นขบวน ช่างเป็นเครื่องแบบที่งดงามเหลือเกิน
เครื่องแบบที่เธอไม่มีโอกาสได้สวมเลย นึกขึ้นมาแล้วน่าน้อยใจนัก

“เราเกิดมาเพียงนี้ก็ดีแล้ว บางคนเกิดมาแย่ยิ่งกว่าเราอีก” อา...จริงสินะ มารดาเธอเคยพูด
ให้ฟังเมื่อเธอยังเล็ก

ความคิดของเธอเตลิดไปจนกระทั่ง...
“คุณหนูเจ้าขา ทำบุญทำทานเถอะค่ะ” เสียงของหญิงชราในเสื้อผ้าที่เก่าคร่ำคร่า ผมหงอกเต็มศีรษะ
ใบหน้าเหี่ยวย่น ร่างงองุ้ม มือที่ยกขึ้นดูเหมือนประสานกันนั้นก็มีแต่หนังหุ้มกระดูก ช่างน่าสงสาร
เหลือเกิน เด็กสาวบอกกับตัวเอง

โปรดติดตามตอนที่ (3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ม.ค. 03, 2023 11:22 am

ทางแห่งความสุข ตอนที่ ( 3 )
โดย ร. รัตติกาล จากหนังสืออนุสรณ์ โรงเรียนเบญจมราชาลัย 2511
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

“ทำบุญเถอะค่ะหนู” เสียงหญิงชราพูดขึ้นอีก

“ทำบุญ” จริงสินะ เรายังไม่มีโอกาสได้ทำบุญในวันปีใหม่เลย เราคงทำบุญกับยายคนนี้ได้กระมัง
“เธอคิด”

ดวงตามีแววสุกใสขึ้นมาโดยพลัน เงิน 5 บาทถูกแบ่งไปให้หญิงชราขอทาน

“อา ทำบุญมากเหลือเกินหนูจ๋า”

“หนู อยากให้มากกว่านี้จ้ะยาย แต่... เงินหนูมีน้อยจ้ะ” เธอกล่าวอย่างน้อยใจในวาสนา
นึกเสียดายเงิน 20 บาทที่ให้บิดาไปกินเหล้า

“ยายไม่เคยได้ทานมากถึง 5 บาทเลย ขอให้หนูมีความสุขความเจริญ อายุมั่นขวัญยืนด้วยเถิดนะ”
หญิงชราพูด ดวงตาที่ฝ้ามัวบอกให้รู้ถึงความลึกซึ้งในน้ำใจของเธอ

“พรวันปีใหม่” ช่างไพเราะเหลือเกิน เด็กสาวคิด เธอไม่เคยได้รับพรจากใครในวันดีเช่นนี้
มาก่อนเลย นอกจากของแม่ ดังนั้นพรที่ได้รับนี้จึงดูเหมือนกับส่งตรงลงมาจากสวรรค์โดยแท้

บ่ายมากแล้ว อนงค์เดินดูร้านสรรพสินค้าและดูเครื่องแต่งกายของเหล่าสตรีที่ออกมาหา
ความสำราญ ซึ่งดูหลากสี แน่ละ...เธอไม่มีโอกาสได้สวม แต่ขอเพียงแค่ได้มองก็พอใจสำหรับ
คนยากอย่างเธอแล้ว

เด็กสาวเดินมาจนรู้สึกเบื่อ คิดว่าควรกลับบ้านเสียที แต่แล้ว...เธอก็ได้ยินเสียงอะไรอย่างหนึ่ง
เสียงเด็กร้องไห้นั่นเอง เด็กหญิงร่างเล็กน่ารักยืนร้องไห้อยู่ริมทาง ดูช่างไม่มีใครสนใจต่อร่าง
ของหนูน้อยคนนั้นเลย เด็กสาวรีบเดินตรงไปยังร่างเล็กนั้น พลางก้มลงถามด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน

“หนูจ๋า ร้องไห้ทำไมจ๊ะ” เด็กหญิงไม่ตอบ แต่กลับร้องไห้หนักขึ้น

“หนู บอกน้าซิ ร้องไห้ทำไมน่ะ” หญิงสาวถามซ้ำ

เด็กหญิงมองหน้าเธออยู่นาน พลางตอบด้วยเสียงที่สั่นเครือ “แม่หนูหายไปค่ะ ไม่รู้ไปไหน
คุณน้าเจอแม่หนูไหม” เด็กหญิงถามแล้วก็ร้องไห้หนักขึ้นอีก

“หนูคงหลงกับแม่แล้ว บ้านหนูอยู่ไหนล่ะ บอกน้าซิ”

“ไม่รู้ค่ะ” เด็กหญิงตอบพลางส่ายหน้า

“ไม่รู้” เด็กสาวทวนคำ “แถวบ้านหนูเขาเรียกกันว่าอะไร หนูไม่รู้หรือ ลองนึกให้ดีสิจ๊ะ”

เด็กหญิงหยุดร้องยืนคิด “ฝั่งธนค่ะ” เด็กหญิงตอบ

“ฝั่งธนตรงไหนจ๊ะ ตรงไหนล่ะ”

“ไม่รู้... ไม่รู้ หนูคงไม่เจอแม่อีกแล้วละ” เด็กหญิงร้องตะโกนพลางร้องไห้ขึ้นอีก เด็กสาวได้แต่
โอบร่างเด็กนั้นไว้ ในใจคิดหาทางช่วยเด็ก และในที่สุดเธอก็คิดได้

“เออหนู ไปกับน้าเถอะ น้าจะพาไปหาตำรวจ”

“ไม่เอา หนูไม่ใช่ผู้ร้ายนี่”

“ไปเถอะจ้ะ ตำรวจไม่ทำอะไรหนูหรอก”

“ไม่เอา ไม่เอา หนูไม่ไปหาตำรวจ”

“ก็ตำรวจจะพาหนูไปหาแม่ไงล่ะ ตำรวจเขาดีนะจ๊ะ ไปเถอะ”

“น้าอย่าโกหกหนูนะ”

“ไม่จ้ะ....น้า สัญญา” เด็กสาวตอบพลางอุ้มร่างของเด็กหญิงขึ้น

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 04, 2023 9:24 pm

ทางแห่งความสุข ตอนที่ ( 4 )
โดย ร. รัตติกาล จากหนังสืออนุสรณ์ โรงเรียนเบญจมราชาลัย 2511
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

จากการสอบถามผู้คนแถวนั้น อนงค์จึงทราบว่า สถานีตำรวจอยู่ห่างออกไปจากที่นั่นไกล
พอสมควร เธอว่าจ้างรถสามล้อเครื่องให้ไปส่งที่สถานีตำรวจในราคา 3 บาท เมื่อมาถึงเธอก็นำ
เด็กหญิงเข้าพบนายตำรวจพร้อมทั้งแจ้งเรื่องให้ทราบ

“เอาละ เด็กต้องอยู่ที่นี่ก่อนนะหนู จนกว่าแม่จะมารับ” นายตำรวจกล่าวอย่างสุภาพ

“ค่ะ... นานไหมคะกว่าแม่ของเด็กจะทราบเรื่อง”

“ก็ไม่แน่หรอกหนู ถ้าวันนี้ยังไม่มารับ เราก็จะลงประกาศในหนังสือพิมพ์แล้วก็วิทยุ” ฝ่ายเด็กหญิง
ได้ยินดังนั้นก็โพล่งขึ้นว่า

“ถ้าวันนี้แม่ไม่มาหาหนู หนูจะไปอยู่กับน้านะคะ”

“ไม่ได้หรอกค่ะ น้าต้องกลับบ้านก่อนจ้ะ หนูอยู่ที่นี่ได้ไม่ต้องกลัวหรอก”

“ทำไมคุณน้าต้องกลับบ้านล่ะคะ”

“น้าก็ต้องกลับไปเจอแม่สิจ้ะ” เด็กสาวตอบพลางดึงร่างเด็กมาโอบไว้

“น้ากลับก่อนนะหนู”

“แล้วหนูจะได้เจอน้าอีกไหมคะ”

“เจอสิจ๊ะ”

“หนูรักน้าค่ะ”

“น้าก็รักหนูจ้ะ เอ้า... น้าให้หนู 2 บาทเป็นค่าขนมตอนที่หนูรอแม่นะจ๊ะ”

“ขอบคุณมากค่ะ คุณน้าใจดีจัง” เด็กหญิงตอบพลางเงยหน้าขึ้นจุมพิตที่แก้มของเด็กสาว
อนงค์ไม่รู้ว่าตนมีความรู้สึกอย่างไร ชั่วขณะหนึ่งที่ร่างกายหยุดนิ่งเหมือนรูปปั้น มีสิ่งเดียวเท่านั้น
ที่เคลื่อนไหว สิ่งนั้นก็คือหยาดน้ำใส ๆ ซึ่งไหลพรูออกมาจากดวงตาทั้งคู่นั่นเอง อา... ความรู้สึก
ซาบซึ้งได้เกิดขึ้นแล้วระหว่างเด็กหญิงกับเด็กสาวผู้ซึ่งสวรรค์ดลบันดาลให้มาพบกัน

อนงค์เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ชาตินี้เธอมิได้เกิดมามีกรรมมากมายจนหาความสุขในชีวิตไม่ได้
เพราะทางแห่งความสุขนั้นเธอได้พบแล้ว พบในวันนี้วันปีใหม่นี่เอง ช่างเป็นของขวัญวันปีใหม่ซึ่ง
เด็กสาวอย่างเธอดิ้นรนค้นหามานานแสนนาน และทำให้เธอตระหนักได้ว่า ในโลกที่กว้างใหญ่
ไพศาลนั้น มีผู้คนมากมายที่จะให้ความสุขความเข้าใจและความรักแก่เธอได้เช่นเดียวกับเด็กหญิง
คนนี้...
สำหรับคนยากไร้อย่างเธอ สิ่งที่เธอเพิ่งค้นพบก็คือสวรรค์ซึ่งอุบัติขึ้นแล้วในดวงใจ
ที่บริสุทธิ์สะอาดของเธอ

ความสุขวันปีใหม่ที่อนงค์จะไม่มีวันลืม ส่วนความสุขวันปีใหม่ของนักเที่ยวทั่วไปนั้น
จางหายไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมง สำหรับท่านล่ะ ท่านได้เคยทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง
และแก่ผู้อื่นในวันปีใหม่บ้างไหมหนอ?

**********************
จบบริบูรณ์
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ พฤหัสฯ. ม.ค. 05, 2023 11:22 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 05, 2023 11:21 pm

มาดามคูรี่ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก ตอนที่ ( 1 )
โดย สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร รวบรวมและเรียบเรียง
จากหนังสืออนุสรณ์ โรงเรียนเบญจมราชาลัย 2509 และจากวิกิปีเดีย โดย กอบกิจ ครุวรรณ

มาดามคูรี่ นามของเธอเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เธอได้ประกอบกิจอันเป็นสาธารณประโยชน์
อย่างใหญ่หลวงแก่มนุษยชาติ เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ค้นพบวิธีรักษาโรคมะเร็ง
โดยใช้รังสีเรเดียม ซึ่งช่วยให้ชีวิตมนุษย์นับจำนวนไม่ถ้วนรอดพ้นจากความตายด้วยโรคร้ายนี้
เนื่องจากคนส่วนมากรู้จักผลงานของเธออยู่แล้ว ในที่นี้จึงขอเสนอด้านชีวประวัติที่น่าสนใจบาง
ตอนของเธอเท่านั้น

มาดามคูรี่เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาฟิสิกส์เกี่ยวกับทฤษฎีของกัมมันตภาพ
รังสีเคียงคู่กับสามี “ปีแอร์ คูรี่” (Pierre Curie : 1859-1906) ชาวฝรั่งเศสในปี 1903. เธอเป็นสตรี
คนเดียวจนถึงปัจจุบันที่ได้รับรางวัลโนเบิลถึง 2 ครั้งจากผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ 2 สาขา
(ฟิสิกส์และเคมี) ในปี 1906 เธอยังเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำ
มหาวิทยาลัยปารีส หรือมหาวิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne)

มาดามคูรี่รับรางวัลโนเบิลครั้งที่ 2 สาขาเคมีในปี 1911 จากการค้นพบแร่ “โปโลเนียม”
(Polonium )และแร่ “เรเดียม”โดยใช้เทคนิคที่เธอคิดค้นเพื่อแยกไอโซโทปกัมมันตภาพรังสี
เธอตั้งชื่อแร่ ”โปโลเนียม” เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศโปแลนด์ทั้งที่ในขณะนั้นเธอได้รับสัญชาติ
เป็นชาวฝรั่งเศสแล้ว

มาดามคูรี่ (Marie Salomea Skłodowska–Curie : 1867-1934) เดิมชื่อมารี เกิดเมื่อ
วันที่ 7 พ.ย.1867 ในกรุงวอร์ซอว์ (Warsaw) ประเทศโปแลนด์ ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณาจักรหนึ่ง
ของจักรวรรดิรัสเซีย บิดาเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยวอร์ซอว์
มารดาเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงในกรุงวอร์ซอว์ กล่าวได้ว่ามารีได้เจริญวัยขึ้นภายใต้
สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศแห่งวิทยาการ เธอสนใจวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เยาว์วัย
แม้เธอจะเป็นน้องคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง (5) คน แต่พี่ ๆ ทุกคนต่างยอมว่าเธอเป็นน้องคนที่ขยัน
และเฉลียวฉลาดที่สุด เธอสามารถเขียนบทความทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้ตั้งแต่เมื่ออายุ
เพียง 16 ปีและได้รับรางวัลชมเชยพร้อมกับสมญาว่า “ศาสตราจารย์สาววัยรุ่น”

เนื่องจากรัสเซียในขณะนั้นออกกฎหมายบังคับมากมายกับชาวโปแลนด์ มารีจำต้องศึกษา
ในมหาวิทยาลัยใต้ดิน (Flying University) ในวอร์ซอว์. จนถึงปี 1891ขณะมีอายุได้ 24 ปีเธอจึงลาจาก
ครอบครัวที่อบอุ่นไปศึกษาต่อพร้อมกับพี่สาวคนหนึ่งที่กรุงปารีสซึ่งมีค่าครองชีพที่สูงกว่ามาก เธอจึง
มีชีวิตที่ยากลำบาก ต้องทำงานบ้านทุกอย่างพร้อมกับศึกษาหาความรู้อย่างเคร่งเครียดในสภาพเศรษฐกิจ
ที่รัดตัว และแม้จะได้พยายามอดทนอย่างที่สุดแล้ว แต่บ่อยครั้งเธอก็พ่ายแพ้ล้มป่วยเป็นลมเพราะอดอาหาร
อย่างไรก็ตาม ในร่างที่บอบบางนั้น จิตใจของเธอยังคงแข็งแกร่งและมุ่งมั่นอยู่เสมอ

โชคยังเข้าข้างเธออยู่บ้าง เมื่อเธอสามารถเข้าศึกษาต่อได้ใน “มหาวิทยาลัยปารีส” โดยได้รับความ
ช่วยเหลือจากอาจารย์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนของบิดาเธอ และได้รู้จักกับอาจารย์หนุ่มคนหนึ่ง (ปีแอร์ คูรี่)
ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทางด้านฟิสิกส์และเป็นผู้มีจิตเมตตาชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 06, 2023 1:56 pm

มาดามคูรี่ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก ตอนที่ ( 2 )
โดย สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสืออนุสรณ์
โรงเรียนเบญจมราชาลัย 2509 และจากวิกิปีเดีย โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เมื่อแรกพบ อาจารย์คูรี่รู้สึกทึ่งกับสติปัญญาอันเฉียบคมของศิษย์ใหม่ผู้เปลี่ยนอคติที่ท่านเคย
มีต่อผู้หญิงดังที่เคยเขียนไว้ในบันทึกไว้ว่า “อันสตรีเพศไซร้ หาเฉลียวฉลาดได้ยากแท้” หลังจากนั้น
ความเข้าใจ ความช่วยเหลือที่ทั้งสองมีต่อกันได้ค่อย ๆ ปูพื้นฐานเป็นความรักในเวลาต่อมา

และแล้วในวันหนึ่ง อาจารย์คูรี่ได้ขอเธอแต่งงาน มารีนึ่งอึ้งไม่ทราบจะตอบอย่างไร ทั้งนี้เพราะ
ในขณะนั้น ในสมองของเธอมีแต่เรื่องที่กำลังศึกษาค้นคว้าอยู่มากจนไม่มีเวลาสนใจเรื่องความรักเลย
ทั้งที่ใจจริงแล้ว เธอก็รู้สึกดีใจอยู่ไม่น้อยเพราะเธอก็รักเขาอยู่เช่นกัน และทั้งสองก็ได้ลงเอยด้วยการ
แต่งงานในที่สุดในปี 1895

ภายหลังการสมรส นอกจากมาดามคูรี่จะต้องสอนหนังสือแล้ว เธอยังต้องทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน
แม่เรือนที่ดี และที่สำคัญที่สุด เธอยังได้เจียดเวลามาช่วยสามีทำการค้นคว้าในห้องทดลองอยู่เสมอ
ไม่ว่าจะค่ำมืดดึกดื่นเพียงใด เธอไม่ยอมพักผ่อนตามลำพังตราบใดที่สามีของเธอยังคร่ำเคร่งอยู่
กับงาน เธอเป็นภรรยาที่ซื่อสัตย์และเป็นเพื่อนร่วมงานที่เข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา แม้เธอจะได้รับบาดเจ็บ
ระหว่างการทดลอง และบางครั้งยอมเสี่ยงอันตรายเมื่อเตาไฟฟ้าที่ร้อนระอุในห้องทดลองเกิดระเบิดขึ้น
โดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่สิ่งเหล่านี้มิได้ทำให้เธอหวาดหวั่นท้อถอยแต่ประการใด

ครอบครัวคูรี่ในช่วงเวลานี้อาจนับได้ว่าเป็นครอบครัวที่มีความสุขที่สุดครอบครัวหนึ่ง เพราะงาน
ค้นคว้าของทั้งสองใกล้จะประสบผลสำเร็จ อีกทั้งยังมีลูกสาวเป็นสมาชิกครอบครัวอีก 2 คน ซึ่งทำให้
ชีวิตครอบครัวสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

แต่เคราะห์ร้ายอันไม่คาดฝันก็บังเกิดแก่ครอบครัวนี้จนได้ นอกจากเรื่องที่มาดามคูรี่ถูกรังสีเรเดียม
ทำลายดวงตาทั้งสองข้างขณะปฏิบัติการทดลองแล้ว สิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้นและเกิดขึ้นไม่นานต่อมาคือ
สามีถูกรถชนเสียชีวิตขณะเดินครุ่นคิดแก้ปัญหาการทดลองอยู่ ความโหดร้ายของชะตาชีวิตนี้เกือบทำ
ให้สตรีร่างแบบบางผู้นี้ทนต่อไปไม่ไหว เพราะสามีจากเธอไปขณะมีอายุเพียง 47 ปีเท่านั้น โดยทิ้งงาน
ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ค้างไว้

โปรดติดตามตอนที ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ม.ค. 07, 2023 7:32 pm

มาดามคูรี่ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก ตอนที่ ( 3 )
โดย สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสืออนุสรณ์
โรงเรียนเบญจมราชาลัย 2509 และจากวิกิปีเดีย โดย กอบกิจ ครุวรรณ

อย่างไรก็ดี มาดามคูรี่ผู้มีจิตใจทรหด เธอยืนหยัดสานต่องานของสามีต่อจนประสบผลสำเร็จ
ในที่สุด และเธอยังโชคดีอยู่บ้างที่ขณะนั้นลูกสาวทั้งสองได้เติบใหญ่ขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้
เป็นมารดาแล้ว ลูกสาวคนโตทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยที่ดีเลิศของเธอ ส่วนลูกสาวคนเล็กก็สามารถเล่น
เปียโนปลอบใจมารดาในยามที่เธอว้าเหว่หรือเมื่อยล้าจากการทำงาน

แม้ว่ามาดามคูรี่จะพูดถึงคติพจน์ของเธออยู่เสมอว่า “ศึกษาเพื่อการศึกษา” แต่ที่จริงเธอมิได้
ทำเพื่อตัวเธอเท่านั้น เพราะเธอใช้ความรู้ที่เธอได้รับเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่นในช่วง
สงครามโลกครั้งที่ 1 เธอเป็นอาสาสมัครท่ามกลางภัยสงครามเพื่อช่วยชีวิตทหารผู้บาดเจ็บ
ในสนามรบ เธอทำงาน ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย แม้ขณะนั้นเธอเริ่มย่างเข้า
วัยชราและสุขภาพไม่สู้แข็งแรงนักก็ตาม

หลังสงครามโลกครั้งแรก เธอสาละวนอยู่กับการรักษาโรคมะเร็งซึ่งได้ช่วยชีวิตมนุษย์ไว้ได้
หลายหมื่นคน และแม้การค้นพบของเธอจะมีคุณค่าสูงส่งถึงเพียงนี้ เธอก็ไม่เคยคิดสงวนการค้นพบนี้
ไว้เป็นสมบัติส่วนตัว เธอเปิดเผยทุกสิ่งที่เธอค้นพบ ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น
“แม่พระของมวลมนุษย์”

แม้ชื่อเสียงของเธอจะโด่งดังไปทั่วโลก แต่เธอก็ยังคงดำรงชีวิตด้วยความเรียบง่ายเช่นที่เคย
ปฏิบัติมา เธอใช้จ่ายอย่างกระเหม็ดกระแหม่ รายได้ของครอบครัวมีทางเดียวเท่านั้น คือ จากอาชีพ
สอนหนังสือของเธอ รางวัลโนเบิลที่ได้รับทั้งหมด เธอได้นำไปใช้จ่ายเพื่อค้นคว้าวิจัยในห้องทดลองที่
เก่าคร่ำคร่าของเธอ

เมื่อมาดามคูรี่เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ได้เชิญเธอเข้าพบ
และมอบเช็คราคา 10,000 เหรียญของสถาบันค้นคว้าโรคมะเร็งให้แก่เธอ แต่มาดามคูรี่ได้ขอร้อง
ให้ท่านนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อแร่เรเดียมเพื่อประโยชน์แก่สังคม เธอเป็นสุขเมื่อผลงานค้นคว้าของเธอ
สามารถช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานจากโรคร้าย ถึงแม้สตรีผู้นี้ได้จากเราไปแล้ว
แต่นามของเธอ “มารี คูรี่” จะยังคงฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของมวลชนรุ่นหลังตลอดไป


**************************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส