เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ (ชุดที่10)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 15, 2022 11:17 pm

🚆ผู้หญิงตกรถไฟ ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2012
โดย เทเวน คานาล เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เช้าวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2010 ‘โรมา ตาลรีชา’ วัย 21 ปีมาถึงที่ทำงานแต่เช้าด้วยความ
แจ่มใส เธอจบปริญญาตรีด้านพาณิชยศาสตร์ และทำงานแผนกติดต่อลูกค้ามาได้สองปี
เธอรักงานนี้มาก เพราะทำให้เธอได้พูดคุยกับลูกค้าและรู้จักเพื่อนใหม่ ๆ ที่นั่น หลังเลิก
งานเย็นวันนั้น เธอกับเพื่อน ๆ ไปที่ห้องอาหารของบริษัท พูดคุยเฮฮาหยอกล้อกันและวาง
แผนเที่ยววันหยุดสุดสัปดาห์ จากนั้นโรมาก็เดินทางกลับบ้านตามลำพังเพื่อไปกินมื้อค่ำ
พร้อมหน้าพ่อแม่กับน้องชาย และคุยโทรศัพท์นาน ๆ กับวิชัย คู่หมั้นของเธอ

เธอเดินไปถึงสถานีรถไฟฟ้าสายชานเมืองของมุมไบที่อยู่ห่างจากที่ทำงานราว 5 นาที
เวลา18.32 น.รถไฟฟ้าเคลื่อนมาจอดที่สถานีเป็นเวลา 20 วินาที ผู้โดยสารต่างกรูกันเข้าไป
ในตู้โดยสาร 12 ตู้ที่อัดแน่นจนแทบหายใจไม่ออกซึ่งเป็นภาพปกติที่พบเห็นได้ทั้งในและรอบ ๆ
มหานครที่มีผู้คนแออัดมากที่สุดของอินเดีย (ราว 23 ล้านคน) โรมาเบียดตัวแทรกเข้าไปใน
“ตู้โดยสารเฉพาะสุภาพสตรี”ได้สำเร็จ รถไฟกระชากออกตัวไปข้างหน้า โรมาซึ่งถูกเบียดเสียด
อยู่ในหมู่ผู้หญิงคนอื่น ๆ อยู่ได้ครู่หนึ่ง จู่ๆ ก็ถูกผลัก เธอพยายามหาที่ว่างเพื่อยืนให้มั่นคงแต่ก็
ต้องตกใจเสียหลัก มือของเธอเอื้อมคว้าราวเหล็กเหนือศีรษะแต่พบความว่างเปล่า ขณะที่ตัวเธอ
ถูกเหวี่ยงออกจากรถ เสียงคำรามกึกก้องของรถไฟกลบเสียงร่างของโรมาที่กระแทกพื้นเบื้องล่าง
ห่างออกจากตัวรถไปเมตรกว่า เธอสลบไป

‘พาเลศวร’ วัย 20 ปียืนอยู่ใกล้ประตูรถไฟอีกขบวนหนึ่งซึ่งแล่นสวนมา เขาแทบไม่เชื่อสิ่งที่เพิ่งเห็น
นั่นคือหญิงสาวสวมชุดอินเดีย (ชุดซาลวาร์กามีช) สีดำนอนอยู่ข้างรางรถไฟ มีเสียงหวีดร้องด้วย
ความตกใจดังมาจากตู้ที่เขายืนอยู่ “มีผู้หญิงอยู่ข้างรางรถไฟ” หลายคนตะโกนบอก
พาเลศวรคว้าสายโซ่ฉุกเฉินสีแดงของรถไฟโดยอัตโนมัติและลนลานดึงมันลงมา รถไฟกรีดเสียง
ห้ามล้อขณะชะลอความเร็ว เขากวาดสายตาดูคนในตู้โดยสารซึ่งล้วนมีสีหน้าระแวดระวังตัว
“ไปช่วยกันเถอะ!” เขาตะโกน แต่ก็ไม่มีผู้ใดอาสา อาจไม่กล้าเข้าไปเกี่ยวข้องหรือกลัวตัวเองจะ
เดือดร้อนใจของพาเลศวรเต้นแรงทีเดียวขณะเบียดตัวมาจนถึงประตูแล้วกระโดดลงจากรถไฟที่
ยังเคลื่อนอยู่ช้า ๆ ตอนที่ตัวถึงพื้น เขารู้สึกเจ็บแปลบที่ข้อเท้า แต่ไม่เป็นอะไรมาก เขาลุกขึ้นยืน
และพบว่าพื้นรองเท้าฟองน้ำคู่เก่าฉีกขาดเนื่องจากการกระโดดลงมา จากนั้นก็รีบวิ่งตามรางขณะที่
รถไฟเริ่มเร่งความเร็วขึ้นอีกครั้งและลับตาไป

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ พ.ค. 14, 2022 9:41 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 15, 2022 11:23 pm

🚆ผู้หญิงตกรถไฟ ตอนที่ (2) จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2012 โดย เทเวน คานาล เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

จุดที่พาเลศวรกระโดดลงจากรถไฟอยู่ห่างจากโรมามากจนเขามองไม่เห็นตัวเธอ
“หวังว่าคงไม่สายเกินไป” เขาคิด หลังจากวิ่งไปได้สักครู่เขาก็พบเธอนอนเหยียดยาวอยู่ข้าง
ทางรถไฟ “พี่! พี่เป็นอะไรหรือเปล่าครับ” เขาถาม แต่ไม่มีเสียงตอบและก็ไม่มีผู้คนในบริเวณ
นั้นเลย ทั้งสองอยู่เพียงลำพังระหว่างสองสถานีที่อยู่ห่างกันราว 5 กิโลเมตรในอำเภอธานีซึ่ง
ติดกับเมืองมุมไบ พาเลศวรมองเห็นเลือดไหลออกมาจากบาดแผลยาวลึกทางด้านหลังศีรษะ
ของหญิงสาว เขาสวดมนต์ในใจพลางอุ้มร่างของโรมาซึ่งสูง 157 ซม. หนักราว 50 กก.ขึ้นอย่าง
ระมัดระวัง เขาเดินข้ามรางมองหาทางออกจากบริเวณนั้น เดินฝ่าดงพุ่มไม้ไปตามทิศทางของเสียง
จนพบถนน “พี่สาวผมบาดเจ็บ” เขาวิงวอนคนขับรถที่ขับผ่านมา “ช่วยผมพาเธอไปโรงพยาบาลด้วยครับ”
แต่ไม่มีใครหยุดรถเลย พาเลศวร เด็กหนุ่มร่างผอม เป็นนักเรียนมัธยมที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน
ไม่มีงานทำ เพิ่งมาที่เมืองมุมไบอาศัยอยู่กับพี่ชาย 2 คนและยังหางานทำไม่ได้ เขาต้องประคับประคอง
ชีวิตไปวัน ๆ และใช้เวลาแต่ละวันไปกับเพื่อน หาข้าวกลางวันกิน ขณะที่ขึ้นรถไฟกลับบ้านเย็นวันนั้น
เขาได้แต่ครุ่นคิดถึงอนาคตของตัวเอง
แต่ตอนนี้ เขาคิดอยู่อย่างเดียวคือการช่วยชีวิตคนแปลกหน้าคนหนึ่ง คนขับรถมากมายขับผ่านไป
บางคนก็ชะลอรถดูเด็กหนุ่มอุ้มหญิงสาวเลือดท่วมตัวไว้ในวงแขนอย่างทุลักทุเล แต่ขณะที่เขากำลัง
เริ่มจะถอดใจนั้นเอง รถบรรทุกเล็กคันหนึ่งก็แล่นมาจอด คนขับซึ่งเป็นชายกลางคนก้าวออกจากรถ
“ช่วยผมด้วยครับ” พาเลศวรกล่าววิงวอน ชายคนขับช่วยเขาอุ้มโรมาวางลงที่กระบะด้านหลัง พาเลศวร
รีบเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้คนขับรถฟัง ตอนที่ตำรวจจราจรมาถึง “พาเขาไปไอโรลีสิ” ตำรวจแนะนำ
“ที่นั่นมีโรงพยาบาล” แต่พาเลศวรไม่เห็นด้วย ไอโรลีอยู่ไกลออกไปกว่า 10 กม.
“ผมรู้จักโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กว่า” พาเลศวรบอก และ 10 นาทีต่อมา พวกเขาก็มาถึงโรงพยาบาลเล็ก ๆ
นางพยาบาลช่วยกันนำตัวหญิงสาวเข้าไป แต่เนื่องจากโรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากรและเครื่องมือ
แพทย์เวรทำได้เพียงให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และแนะนำให้ย้ายโรมาไปยังอีกโรงพยาบาลหนึ่ง
ที่อยู่ไม่ไกลนัก พาเลศวรกับคนขับรถไม่มีทางเลือกอื่น
นอกจากย้ายเธอกลับเข้ารถบรรทุกคันเดิม ตอนที่รถขยับโยกไปข้างหน้า โรมาขยับตัว กะพริบตาถี่ ๆ
“คุณชื่ออะไรครับ” พาเลศวรซึ่งนั่งที่ด้านหลังรถกับเธอถาม
“โรมา” เธอเค้นคำพูดออกมา
“ผมจะโทรศัพท์บอกใครได้” เขารีบถามต่อ เกรงว่าเธอจะสลบไปอีก
“ทิเนศ น้องชายฉัน” เธอตอบแล้วบอกเบอร์โทรศัพท์มือถือของน้องชายอย่างช้า ๆ พาเลศวรจำเบอร์นั้นไว้
เขาเฝ้าดูขณะที่นัยน์ตาของโรมาเลื่อนลอยและไม่ช้าก็หลับไปอีกครั้งหนึ่ง
“พี่ ขอยืมโทรศัพท์มือถือหน่อยครับ” พาเลศวรถาม คนขับรถส่งโทรศัพท์ให้เขา
ทิเนศ กำลังเก็บงานการตลาดของเขาในวันนั้นอยู่ที่ร้านค้าปลีกแห่งหนึ่งในเมืองอุลหัสนครตอนที่
โทรศัพท์มือถือของเขาส่งเสียงเรียกมาจากหมายเลขที่เขาไม่รู้จัก
“คุณทิเนศใช่ไหมครับ” เสียงเด็กหนุ่มถาม “โรมาพี่สาวคุณตกรถไฟ ตอนนี้เรากำลังจะพาเธอไป
โรงพยาบาลดีไวน์ในเมืองกันโสลี”
“ผมจะไปเดี๋ยวนี้” ทิเนศพูดพลางรีบรุดไปยังรถมอเตอร์ไซค์ โรมาไปถึงโรงพยาบาลในอึดใจต่อมา
พอนายแพทย์ผู้อำนวยการเห็นบาดแผลสาหัสของโรมา ก็รับตัวเธอเข้าห้องไอซียูทันทีโดยไม่ต้องทำ
ประวัติคนไข้ก่อน

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 15, 2022 11:29 pm

🚆ผู้หญิงตกรถไฟ ตอนที่ (3) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2012 โดย เทเวน คานาล
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หมอผู้รักษาขอให้พาเลศวรอยู่รอจนกว่าครอบครัวของโรมาจะมาถึง ตอนนั้นเองที่
พวกเขา เห็นว่า คนขับรถซึ่งหลังจากช่วยทำทุกอย่างเต็มที่แล้วก็หายไปพร้อมกับ
รถของเขา “เรายังไม่ได้ขอบคุณเขาเลย” พาเลศวรคิด

โรมายังไม่ได้สติ ภาพจากฟิล์มเอกซเรย์บอกให้รู้ว่า แม้บาดแผลจะดูสาหัส แต่สิ่งจำเป็น
ต้องทำมี แค่เย็บแผล ไม่มีการบาดเจ็บที่ต้องรักษาต่อเนื่องยาวนาน แต่หมอผู้อำนวยการ
เชื่อว่า ถ้าไม่มีใครช่วย เธออาจเสียเลือดมากจนถึงแก่ชีวิตได้
ในที่สุดเมื่อโรมาลืมตาขึ้นตอนค่ำวันนั้น น้องชายกับคู่หมั้นของเธออยู่ข้างเตียงเธอ
โรมาพูดแทบ ไม่ไหว ทำได้แต่เพียงพยักหน้าแล้วก็หลับไปอีก
เมื่อพาเลศวรมาเยี่ยมเธอตอนเช้าวันรุ่งขึ้น โรมายังมึน ๆ อยู่ ระหว่างทางไปโรงพยาบาล
พาเลศวรแวะไปตรงจุดที่โรมาตกรถไฟอีกครั้งเพื่อหาข้าวของของเธอ เพราะทิเนศบอกว่า
โทรศัพท์มือถือ กับกระเป๋าสะพายของโรมาหายไป พนักงานรถไฟบอกพาเลศวรว่ามีคนพบ
ข้าวของของโรมาไม่ไกล จากจุดเกิดเหตุ “เป็นอย่างไรบ้างครับ” พาเลศวรถามโรมา
“ไม่เป็นไรแล้วค่ะ” โรมากระซิบตอบ

วิชัย คู่หมั้นของโรมา นึกหาคำพูดอยู่นาน “ขอบคุณมากครับ” ในที่สุดเขาก็เอ่ยกับพาเลศวร
ซึ่งยิ้มอยู่ อีก 2-3 วันโรมาก็จะหายดี “ไม่อยากนึกเลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพาเลศวรไม่ได้อยู่
ตรงนั้น” เธอพูด นึกประหลาดใจเมื่อได้รับรู้วิธีการช่วยชีวิตเธอ

“ฉันว่าน่าแปลกมากที่คนไม่รู้จักกันจะกระโดดลงจากรถไฟและเสี่ยงชีวิตเพื่อฉัน ฉันไม่สามารถ
ทดแทนบุญคุณคุณพาเลศวรได้หมดค่ะ”

“ผมเพิ่งมาอยู่มุมไบ แต่ก็ได้เห็นว่า คนที่นี่ขี้กลัวกัน” พาเลศวรซึ่งยังมองหางานอยู่พูดขึ้น
“พวกเขากลัวถูกกักตัวอยู่ในศาลหรืออยู่กับตำรวจ”

“มีคนต้องการความช่วยเหลือ” พาเลศวรพูดเรียบ ๆ
“วันนั้นเป็นโรมา พรุ่งนี้อาจเป็นคุณหรือผมก็ได้ที่นอนเลือดไหลตามลำพังอยู่ข้างทางรถไฟ”

****************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.พ. 20, 2022 12:02 am

🌞ปาฎิหาริย์บนเที่ยวบิน 516 ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2012 โดย Kenneth Miller
และจากเรื่อง “Terror on Flight 516” เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เช้าวันที่มืดครึ้มและหนาวเย็นเดือนกันยายน 2010 ผู้โดยสาร 72 คนขึ้นเครื่อง TU-154
(Tupalev) เพื่อเดินทางเป็นเวลา 5 ชั่วโมงจากสนามบินโปลิอาร์นี (Polyarny) ทางตะวันตก
เฉียงเหนือของรัสเซียไปยังมอสโก สตานีสลาฟ (Stanislav)สามี กับภรรยา เอคาเทรีนา
(Ekaterina) วัย 30 ปีทั้งคู่เดินทางบินเส้นทางนี้บ่อยจนลูกเรือจำชื่อได้ แต่การเดินทาง
เช่นนี้ทุกครั้ง สามีรู้สึกเหมือนกับว่าเที่ยวบินนี้อาจไปไม่ถึงจุดหมาย และทุกครั้งเช่นกันที่
ภรรยาจะแย้งด้วยเหตุผลเดิม ๆ ว่า “ถ้าโชคชะตาบันดาลให้เราตก เราก็ต้องตก ถ้าบันดาล
ให้รอด เราก็รอด” อย่างไรก็ตาม เหตุผลของเธอไม่ได้ช่วยปลอบใจเขาเลย

สตานีสลาฟไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ทั้งสองอาศัยอยู่ในชุมชน
เหมืองเพชรใกล้เมืองอูดัชนี (Udachny) และมีเพียงสายการบินเดียวที่รัฐผูกขาดเชื่อมติดต่อ
ที่สะดวกที่สุดกับกรุงมอสโกที่อยู่ห่างไปทางตะวันออกเกือบ 7,000 กม.มิฉะนั้นต้องใช้เวลา
เดินทางถึง 5 วันหากเดินทางด้วย(เดินทาง)รถยนต์ นอกจากนั้นรัฐยังผูกขาดการทำเหมือง
เพชรอีกด้วย

เมื่อ 6 เดือนก่อน เอคาเทรีนาได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนกคดีอาญาเยาวชนในสังกัดกอง
ตำรวจภูมิภาค งานใหม่ของเธออยู่ที่เมืองมีร์นี (Mirny) ซึ่งอยู่ทางใต้ของเหมืองเพชรนี้ราว
500 กม.และไกลเกินกว่าจะเดินทางจากบ้านที่ปกติทั้งสองใช้ชีวิตอยู่กับลูกสาววัย 5 ขวบ
งานใหม่ทำให้เอคาเทรีนาต้องเช่าอพาร์ทเม้นต์ใกล้ที่ทำงาน ขณะที่สามีซึ่งทำงานเป็นคนคุม
เครื่องจักรหนัก ที่เหมืองเพชรไม่อาจย้ายงานได้ ทุก 2 เดือนเธอจึงได้กลับบ้านพบหน้าลูกและ
สามี ตั้งแต่เธอทำงานใหม่ ทั้งสองจำต้องส่งลูกสาวไปอยู่กับยายใกล้ทะเลดำระหว่างที่ยังไม่
สามารถหาวิธีอื่นที่ดีกว่าได้

การเดินทางครั้งนี้ ทั้งสองกำลังจะไปหาลูกสาวตัวน้อยและใช้เวลาช่วงวันหยุดอยู่ด้วยกันแบบ
ครอบครัว แต่สตานีสลาฟก็ยังไม่คลายความกังวลระหว่างการเดินทาง

ในห้องนักบินบรรยากาศค่อนข้างผ่อนคลาย ทีมนักบินมี 4 คนที่บินเส้นทางนี้มาเกือบ 10 ปี
กัปตันและผู้ช่วยวัย 40 ปีเศษมีประสบการณ์สูง เป็นคนใจเย็นและเงียบขรึม หลังเสร็จสิ้นการตรวจ
สอบเพื่อความปลอดภัยแล้ว เครื่องบินลำใหญ่ก็ทะยานออกจากสนามบินซึ่งมีเพียงทางวิ่งเดียว
หลังจากบินไปได้ราว 3 ชั่วโมงขณะบินอยู่เหนือเขตตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย เครื่องบินเกิด
สั่นอย่างรุนแรงและระบบการบินอัตโนมัติหยุดทำงาน กัปตันหันไปสั่งช่างประจำเครื่องให้หา
สาเหตุที่ระบบการบินอัตโนมัติหยุดทำงาน

“เราเจอปัญหาพลังงานขัดข้อง” ช่างเครื่องรายงานเวลา 6.59 น. เครื่องบินสลับไปใช้ระบบพลังงาน
สำรองจากแบตเตอรี่โดยอัตโนมัติซึ่งก็ไม่ทำงานเช่นกัน กัปตันจึงวิทยุไปที่ศูนย์ควบคุมจราจรทาง
อากาศภูมิภาคเพื่อแจ้งปัญหา “เราอาจต้องลงจอดฉุกเฉิน ช่วยหาสนามบินที่ใกล้ที่สุดให้ด้วย”

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.พ. 20, 2022 12:09 am

🌞ปาฎิหาริย์บนเที่ยวบิน 516 ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรกสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2012 โดย Kenneth Miller
และจากเรื่อง “Terror on Flight 516” เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

“กรุณาบอกเหตุผล...” เจ้าหน้าที่ควบคุมพูดไม่ทันจบ วิทยุก็ดับไป จากนั้นเครื่องวัดต่าง ๆ,
อุปกรณ์นำร่อง, และระบบควบคุมก็เริ่มหยุดทำงานลงทีละส่วน เครื่อง Tu-154 มีแบตเตอรี่
สำรอง 4 ลูกซึ่งใช้งานมาแล้ว 11 ปี (จากอายุการใช้งานทั้งหมด 12 ปี) ผู้สืบสวนสรุปในภาย
หลังว่า แบตเตอรี่ลูกหนึ่งเกิดปัญหา “ความร้อนฉับพลัน” ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนถึงจุดที่น้ำกรด
เดือดเป็นไอส่งผลให้แบตเตอรี่ลูกถัดไปไม่ทำงาน จากนั้นก็เกิดไฟฟ้ากระชากในระบบไฟฟ้า
หลักของเครื่องบินเสียหาย แบตเตอรี่ที่เหลืออีก 2 ลูกก็ไม่สามารถจ่ายพลังงานให้ระบบที่ซับซ้อน
ได้พอ ภายในเวลาไม่กี่นาที พลังงานที่เหลือก็จะหมดลง ทุกอย่างที่ยังใช้ได้ต้องเปลี่ยนเป็นโหมด
ทำงานด้วยมือ สตานีสลาฟและภรรยาซึ่งนั่งใกล้ด้านหน้าของชั้นประหยัดเห็นสัญญาณไฟเตือน
ให้คาดเข็มขัดค่อย ๆ หรี่แล้วจู่ ๆ เครื่องบินก็เอียงวูบไปข้างหนึ่ง ครู่ต่อมาดูเหมือนนักบินพยายาม
ประคองเครื่องบินได้ “มีบางอย่างผิดปกติ” สตานีสลาฟพูดกับภรรยา “เราต้องตกแน่”

“อย่ากังวลเลย” เธอตอบแบบอัตโนมัติ “ทุกอย่างจะต้องเรียบร้อย”

เอเลนา หัวหน้าพนักงานต้อนรับวัย 50 ปีซึ่งยังดูอ่อนวัยสังเกตเห็นความผิดปกติเช่นกัน เธอไปที่
ห้องนักบินแล้วถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น “เราเจอปัญหาใหญ่” กัปตันตอบห้วน ๆ “เดี๋ยวค่อยบอกราย
ละเอียดทีหลัง”
เอเลนาผ่านการฝึกจากสถาบันการบินพลเรือนของมอสโกและบินมานานถึง 30 ปี เธอเดาว่าคงเป็น
ปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง เธอกลับไปที่ห้องผู้โดยสารแล้วบอกให้พนักงานคนอื่นให้เตรียมพร้อมสำหรับ
คำสั่งต่อไป ทุกคนตรวจดูว่าบัตรประจำตัวอยู่ในกระเป๋าหรือไม่ ซึ่งเป็นระเบียบมาตรฐานเพื่อระบุ
ตัวจากศพได้
นักบินลดเพดานบินลงจาก 10,600 เมตรเป็น 3,000 เมตร จากนั้นก็ลงไปที่ระดับ 1,200 เมตรเพื่อให้
อยู่เหนือชั้นเมฆ(เมฆ) การบินต่ำกว่านี้เป็นอันตรายถ้าไม่มีเครื่องวัดความสูงที่ใช้งานได้ ซึ่งเป็น
อุปกรณ์ที่ช่วยให้นักบินรักษาระดับของปีกเครื่องเวลามีเมฆบดบัง พวกเขาบินต่อไปราว 150 กม.
เพื่อหาช่องว่างที่จะมุดลงไปได้อย่างปลอดภัยในการหาที่ลงจอด

ทันใดนั้น ไฟสัญญาณซึ่งเป็นอุปกรณ์ในไม่กี่อย่างที่ยังทำงานได้ก็สว่างขึ้น แสดงว่าระดับเชื้อเพลิงลดลง
ถึงจุดวิกฤตแล้ว ไม่นานต่อมาสัญญาณเตือนก็ดังขึ้นอีก น้ำมันไม่ไหลออกจากถังหลักเพราะไม่มีกระแส
ไฟฟ้าที่สม่ำเสมอพอที่จะทำให้ปั๊มทำงาน เครื่องยนต์ 3 เครื่องจึงใช้แต่เชื้อเพลิงที่เหลือค้างในถังเล็กซึ่ง
จ่ายเข้าเครื่องยนต์โดยตรง ลูกเรือรู้ว่าพวกเขาเหลือเวลาแค่ 30 นาทีก่อนเชื้อเพลิงจะหมด

ตอนนี้ทุกวินาทีมีค่า ต้นหน (navigator) วัย 52 ปีพยายามส่งสัญญาณ SOS ขอความช่วยเหลือ
ในช่องความถี่ฉุกเฉินโดยไม่ทราบว่าเครื่องส่งสัญญาณหยุดทำงานไปแล้ว

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.พ. 20, 2022 12:21 am

🌞ปาฎิหาริย์บนเที่ยวบิน 516 ตอนที่ (3)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2012
โดย Kenneth Miller และจากเรื่อง “Terror on Flight 516” เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

นิโคไล พนักงานต้อนรับชายอีกคนซึ่งเป็นสามีของเอเลนาและทำงานด้วยกันบนเครื่องมา 7 ปีแล้ว
เข้าไปถามกัปตันเผื่อจะมีอะไรช่วยได้บ้าง และได้รับคำตอบว่า “คุณกลับไปที่ห้องผู้โดยสารดีกว่า”
เขาเข้าใจถึงสถานการณ์ร้ายแรงอย่างชัดเจนทันที และแจ้งเรื่องความเตรียมพร้อมกับเอเลนา
และพนักงานต้อนรับคนอื่น โดยซ่อนความกลัวไว้ขณะบอกผู้โดยสารให้คาดเข็มขัดและเลี่ยง
ที่จะสบตากับภรรยา เพราะขณะนั้นทั้งคู่ต้องใส่ใจอยู่กับงานเท่านั้น
เมื่อเครื่องบินเริ่มลดระดับ รอบ ๆ ตัวมีแต่หมอกขาวจนจับทิศทางไม่ถูก กัปตันและผู้ช่วยจดจ่อกับ
การบังคับเครื่องให้นิ่ง โชคดีที่เมฆไม่หนามาก เพียงไม่กี่วินาทีพวกเขาก็โผล่ออกมาจากใต้เมฆ
แผ่นดินเบื้องล่างมีแต่ป่าไทกา (taiga) ซึ่งเป็นป่าสนและต้นเบิร์ชปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัสเซีย
ตอนเหนือ มีสันดอนทรายอยู่กลางแม่น้ำที่คดเคี้ยวซึ่งไม่เหมาะกับการนำเครื่องบินหนัก 82 ตันลง
จอดแต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าในป่า

“เราจะลงจอดที่ทราย” กัปตันบอกผู้ช่วย
หลังจากนิโคไลออกไปเตือนเพื่อนพนักงานแล้ว ทุกคนก็เริ่มปิดตู้ครัวให้แน่น ยึดอุปกรณ์ต่าง ๆ
ให้อยู่กับที่ แล้วย้ายผู้โดยสารให้พ้นทางออกฉุกเฉิน
นักบินขับเครื่องลงต่ำเพื่อจะมองเห็นภาพเบื้องล่างข้างหน้าใกล้ขึ้น พวกเขาสังเกตเห็นชุมชนเล็ก ๆ
แห่งหนึ่งจึงตัดสินใจบินวนดูรอบ ๆ และภาพที่เหลือเชื่อก็ปรากฏขึ้นต่อหน้า นั่นคือ มีทางวิ่งเครื่องบิน
ขนาดเล็กอยู่ตรงนั้น
อีชมา (Izhma) เป็นชุมชนเล็ก ๆ อยู่ห่างจากมอสโกขึ้นไปทางเหนือ 1,500 กม. อาชีพหลักของ
พวกเขาคือการต้อนกวางเรนเดียร์

ในอดีต ยุคสหภาพโซเวียตได้สร้างสนามบินขนาดเล็กของเอกชนขึ้นที่ท้ายหมู่บ้าน แต่ปิดตัวลง
ในปี 1997 และเปิดอีกครั้งเพื่อใช้เป็นสถานีเฮลิคอปเตอร์ ทางวิ่งของเครื่องบินไม่ได้ใช้งาน
มานาน มีพุ่มไม้ขึ้นตามรอยต่อของสนาม แต่ผู้จัดการสถานีคอยซ่อมแซมพื้นคอนกรีตให้อยู่
ในสภาพที่ดี
นักบินยังคงบินวนหาทางตั้งลำอย่างลำบากเพื่อลงจอด ทางวิ่งยาวเพียง 1,340 เมตร แต่ระยะทาง
ที่เครื่องของ Tu-154 ต้องการคือ 2,500 เมตร นักบินต้องทำให้เครื่องแตะพื้นตั้งแต่ปลายสุดของ
ทางวิ่งเพื่อให้เหลือระยะทางวิ่งมากที่สุด

โปรดติดตามตอนที่ (4) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.พ. 20, 2022 12:24 am

🌞ปาฎิหาริย์บนเที่ยวบิน 516 ตอนที่ (4)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2012
โดย Kenneth Miller และจากเรื่อง “Terror on Flight 516” เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ชุดฐานล้อสามารถบังคับด้วยมือให้กางลงได้ แต่แผ่นปะทะอากาศต่าง ๆ
(flaps, slats และ spoilers)ที่ใช้ชะลอความเร็วของเครื่องบินทำงานด้วยระบบไฟฟ้าจึงควบคุม
ด้วยมือไม่ได้ กัปตันและผู้ช่วยต้องใช้ทักษะในอดีตควบคุมคันบังคับและหางเสือเองเพื่อนำ
เครื่องบินขนาดมหึมาสมัยใหม่ลงจอดบนทางวิ่งที่ออกแบบไว้สำหรับเครื่องบินใบพัดขนาดเล็ก
พวกเขาขับบินวนไป 3 รอบโดยแต่ละรอบค่อย ๆ เพิ่มมุมปะทะเพื่อชะลอความเร็ว ส่วนพนักงาน
ต้อนรับก็ช่วยอธิบายขั้นตอนการลงจอดฉุกเฉินให้ผู้โดยสารในส่วนที่แต่ละคนรับผิดชอบฟังซ้ำ
ทุกครั้ง ผู้โดยสารบางคนเริ่มสวดภาวนาคิดถึงพระ บางคนอาเจียนใส่ถุง พนักงานต้อนรับเดิน
ยิ้มและปลอบขวัญ สตานีสลาฟถามภรรยาว่า “ถ้าเราไม่รอด ใครจะดูแลลูกน้อยของเรา”

“แม่ฉันจะดูแลเธออย่างแน่นอน” เธอตอบพร้อมกับบีบมือเขาไว้แน่น

ในการบินวนรอบที่สี่ นักบินบังคับเครื่องเข้าหาเป้าหมาย อุปกรณ์ที่ยังทำงานได้ดีมีแต่เครื่องวัด
ระดับความสูง เครื่องวัดความเร็วและเครื่องวัดความเร็วแนวดิ่ง ต้นหนจับตาดูเครื่องวัดและคอย
ขานความเร็วขณะที่นักบินนำเครื่องใกล้แตะพื้น
เมื่อ(เครื่องบิน)เครื่องบินตรงเข้าหาทางวิ่ง พนักงานต้อนรับนั่งประจำที่แล้วรัดเข็มขัดพร้อมกับ
ตะโกนว่า “ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ! เรากำลังลงจอดแล้ว!”

ทันใดนั้นข้างนอกหน้าต่างจะเห็นทิวทัศน์ของป่าไทกาพุ่งเข้าหาพวกเขาอย่างรวดเร็ว นักบินผู้ช่วย
ผลักคันบังคับไปข้างหน้าพอให้ข้ามพ้นแนว(ต้นไม้)ต้นไม้สุดท้าย จากนั้นก็ปักลงสู่ทางวิ่งอย่างว่องไว
เสี้ยววินาทีก่อนลงสู่พื้น กัปตันเดินเครื่องยนต์ถอยหลังและล้อหลังของเครื่องก็สัมผัสพื้นคอนกรีต
พอล้อหน้าถึงพื้น นักบินผู้ช่วยก็แตะเบรกเครื่องบินลดความเร็วอย่างฉับพลันจาก 380 เป็น 100 กม.
ต่อชั่วโมง แต่ทางวิ่งก็ยังสั้นเกินไป ปีกและส่วนหน้าของเครื่องบินเฉือนต้นไม้ขาดเหมือนใบเคียว
ขณะที่เครื่องบินแล่นพ้นทางคอนกรีตแล้วตรงเข้าไปในป่า

“พระเจ้าช่วยลูกด้วย” กัปตันอธิษฐานพร้อมกับคิดว่า “ทำได้ถึงขั้นนี้แล้ว ขออย่าให้เราต้องตายเพราะ
ต้นไม้ทะลุเข้ามาในห้องนักบินเลย”

ในห้องผู้โดยสาร ผู้คนหวีดร้องขณะที่กิ่งไม้กระแทกหน้าต่าง เมื่อเครื่องบินหยุดสนิทเป็นระยะทาง
200 เมตรเข้าไปในป่า มีควันลอยขึ้นจากล้อที่เสียดสีจนร้อนจัด ผู้โดยสารหลายคนปรบมือ
แต่บางคนเมื่อเห็นควันก็ร้องตะโกนว่า “เปิดประตู!”

โปรดติดตามตอนที่ (5) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.พ. 20, 2022 8:08 pm

🌞ปาฎิหาริย์บนเที่ยวบิน 516 ตอนที่ (5) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2012
โดย Kenneth Miller และจากเรื่อง “Terror on Flight 516” เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หนึ่งในนั้นคือสตานีสลาฟ เขาพรวดพราดลุกขึ้นและไปที่ทางเดิน แต่นิโคไลพนักงานต้อนรับ
ขวางไว้เพื่อกันไม่ให้ผู้โดยสารแตกตื่นจนเหยียบกันเอง “อยู่กับที่ก่อน” เขาพูด “กรุณานั่งลงครับ”

ในขณะนั้นเอง ภรรยาของเขาร้องไห้ออกมา สตานีสลาฟจึงคิดได้ว่าภรรยากำลังต้องการเขา
เขาจึงกลับไปนั่งและลูบไหล่เธอ “อย่ากังวลเลย” เขาพึมพำเบา ๆ “ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว
อย่างที่เธอเคยพูดไว้” ต้องใช้เวลาครู่ใหญ่เพื่อบอกให้ผู้โดยสารอยู่กับที่ เมื่อพนักงานต้อนรับ
คนหนึ่งเปิดประตูฉุกเฉิน มองออกไปข้างนอก แล้วประกาศว่าไม่มีไฟไหม้ ทุกคนจึงค่อยสงบลง
และในไม่ช้าผู้โดยสารทุกคนก็ออกมาจากเครื่องบินทางบันไดฉุกเฉิน ภายในเวลา 10 นาที
หน่วยกู้ภัยของท้องถิ่นก็มาถึง มีฝนโปรยปรายลงมา ทั้งเพื่อนและคนแปลกหน้าต่างสวมกอดกัน
แบ่งบุหรี่ ผลัดกันจิบวอดก้าและคอนยัค (Cognac) แต่สำหรับลูกเรือภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น
เครื่องบินต้องปิดตาย เจ้าหน้าที่ต้องให้ปากคำ หน่วยกู้ภัยในเครื่องแบบคนหนึ่งเดินตรงมาที่กัปตัน
พร้อมกับทำหน้าเครียด “มีไม่รอดอยู่หนึ่งราย” เขารายงาน

กัปตันมีสีหน้าสลดลงทันทีด้วยความตกใจ
“คุณฆ่ากระต่ายป่าไป 1 ตัว” เขากล่าวพร้อมกับระเบิดเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

(นักบิน)กัปตันจึงหัวเราะลั่นอยู่นานพร้อมกับสูดกลิ่นสดชื่นของป่าสนไทกาเข้าไปเต็มปอด

บ่ายวันนั้น ผู้โดยสารส่วนใหญ่บินไปมอสโกจากสนามบินของอีกเมืองหนึ่งด้วยเครื่อง Tu-154 อีกลำ
มีสามีภรรยาคู่หนึ่งเสียขวัญมากจนไม่กล้าบินและเลือกนั่งรถไฟแทน... แต่ไม่ใช่สตานีสลาฟและภรรยา

*****************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.พ. 25, 2022 10:20 pm

✈️เที่ยวบินสุดท้ายของเรือเหาะฮินเดนเบิร์ก ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับพิเศษ 2013 โดย เอ. เอ. โฮลิ่ง
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

20.00 น. ของวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 1937 เรือเหาะ “ฮินเดนเบิร์ก” (Airship LZ 129 Hindenburg)
พร้อมกับลูกเรือ 61 คนและผู้โดยสาร 36 คนค่อย ๆ ลอยขึ้น จากสนามบินใกล้เมืองแฟรงก์เฟิร์ต
ประเทศเยอรมนี มีสปอตไลต์จำนวนมากส่องอยู่ที่เครื่องหมายสวัสดีสีแดงมหึมาที่ส่วนหาง
นี่คือเรือเหาะที่ใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างมา และมีกำหนดลงจอดที่สนามบินของกองทัพเรือที่เลกเฮิสต์
(Naval Air Station Lakehurst) รัฐนิวเจอร์ซีย์ เวลา 6.00 น.ของวันพฤหัสฯ ที่ 6 พฤษภาคม

เรือเหาะลำนี้หรูหราใกล้เคียงกับเรือเดินสมุทร คือมีห้องพักส่วนตัว, ฝักบัวอาบน้ำ, แกรนด์เปียโน
อะลูมิเนียม, ห้องสูบบุหรี่ซึ่งมีฉนวนกั้นอย่างดี, ครัวซึ่งเก็บอาหาร 2 ตันพร้อมปรุงได้เกือบทุกอย่าง,
ห้องนั่งเล่นที่โอ่โถงพร้อมหน้าต่างกว้างที่เปิดตลอด

เรือเหาะลำนี้เคยไปกลับอเมริกามาแล้ว 10 เที่ยวโดยสวัสดิภาพ แต่ครั้งนี้ต่างจากปกติ รัฐบาล
เยอรมันถูกข่มขู่จากบุคคลนิรนามว่าจะทำลายเรือเหาะ แต่ไม่มีการเตือนผู้โดยสาร และถึงแม้
จะเตือน พวกเขาก็ไม่คิดว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้น

หลังจากเดินทางผ่านคืนแรกไปได้เรียบร้อย เช้าวันรุ่งขึ้นขณะบินลอยผ่านทะเลเหนือก็เป็นที่ทราบกัน
ว่าเรือเหาะจะไปถึงปลายทางช้ากว่ากำหนดเนื่องจากต้องหลบพายุฝนฟ้าคะนอง และต่อมาก็มีลม
ปะทะด้านหน้า แต่เรือเหาะก็ยังบินต่อไปได้อย่างนิ่มนวล โครงเรือเหาะเป็นอะลูมิเนียมมหึมาขนาด
248 เมตรส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าดเบา ๆ ไม่มีใครนึกถึงว่าชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับก๊าซไฮโดรเจนที่ติด
ไฟง่ายอยู่ในเรือเหาะจำนวน 200,000 ลูกบาศก์เมตร

เช้าวันพฤหัสซึ่งเป็นกำหนดลงจอดเดิมที่ปลายทาง เรือเหาะฮินเดนเบิร์กบินต่ำอยู่เหนือบอสตัน
และหลังมื้อกลางวันบินอยู่เหนือลองไอแลนด์ จากนั้นก็มีเมฆฝนขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตกก่อตัวขึ้น
ผู้บังคับการของสนามบินเลกเฮิสต์วิทยุแจ้งกัปตันเรือเหาะซึ่งเป็นเพื่อนกัน​ เพื่อเตือนเรื่องสภาพ
อากาศที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

ตั้งแต่ 16.00 น.จนเกือบถึง 19.00 น. เรือเหาะถูกสั่งให้บินฆ่าเวลาไปที่แอตแลนติกซิตี้ก่อนจะบิน
ย้อนกลับมาโดยหวังว่าสภาพอากาศจะดีขึ้นเพื่อลงจอด เพราะในช่วงนั้นเกิดพายุฝนและทัศนวิสัย
ต่ำมาก ความเร็วลม 37 กม./ชม.

ในที่สุดผู้บังคับการที่สนามบินก็แจ้งกัปตันเรือเหาะว่า ลมที่สนามบินลดกำลังลงเหลือ 11 กม./ชม.
และทัศนวิสัยดี ดูเหมือนพายุผ่านไปแล้ว สัมภาระถูกยกมากองที่ทางออก ผู้โดยสารพากันมาอยู่ริม
หน้าต่างขณะที่เรือเหาะปักหัวลง

มอร์ริสัน ผู้ประกาศของสถานีวิทยุ WLS ที่ชิคาโกรายงานว่า “สิ่งที่กำลังลอยลงมาหาเราคือ
เรือเหาะฮินเดนเบิร์ก...” จากดาดฟ้าชมวิว ผู้โดยสารกำลังมองพื้นดินที่ใกล้เข้ามา

ที่พื้นดิน ผู้คนนับพัน เพื่อนฝูงและญาติพี่น้องมองเห็นพวกเขาโบกมือและยิ้มกันอย่างชัดเจน

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.พ. 27, 2022 7:28 pm

✈️เที่ยวบินสุดท้ายของเรือเหาะฮินเดนเบิร์ก ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับพิเศษ 2013 โดย เอ. เอ. โฮลิ่ง เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

19.20 น. มีการโยนเชือกหลายเส้นออกจากหัวเรือเหาะ ลูกเรือภาคพื้นดิน 200 คนคว้าเชือก
แล้วเริ่มผูกเข้ากับเสาผูกยึด ขณะที่นายช่างผู้เตรียมจะตรวจสอบท่อทองแดงของฮินเดนเบิร์กรู้
สึกดีใจที่สามารถยืนอยู่ใต้ท้องยานเหนือศีรษะของเขาพอดี จู่ ๆ เขาก็เห็นประกายไฟเล็ก ๆ
“เหมือนไฟฟ้าสถิต” เต้นไปมาที่ข้างใต้ท้ายลำ แล้วลามขึ้นไปยังตัวเรือที่อ้วนใหญ่ เขาอ้าปาก
เพื่อจะร้องบอกคนที่อยู่ใกล้ที่สุดกับสิ่งที่เห็น ในเวลาเดียวกันผู้บังคับการที่สนามบินก็เห็น
เปลวไฟที่ตัวเรือเหาะ ขณะนั้นเป็นเวลา 19.23 น.
นายช่างฯ เล่าในภายหลังว่า “ส่วนหางทั้งหมดของเรือเหาะลุกเป็นไฟ ผมเริ่มวิ่งหนีทันที
เหนือหัวผม มีผ้าที่ลุกไหม้เริ่มร่วงลงมา” มอร์ริสัน ผู้ประกาศข่าวคนเดิมคว้าไมโครโฟนแล้ว
ร้องลั่นว่า “เรือเหาะไฟไหม้... มันกำลังตก มันกำลังตก... น่ากลัวจริง ๆ” มีเสียงระเบิดเกิดขึ้น
2 ครั้ง ข้างในเรือเหาะ ผู้โดยสารถูกเหวี่ยงลงกับพื้น ผู้โดยสารหญิงคนหนึ่งพอตั้งสติได้หลังจาก
เกิดแสงจ้าจากการระเบิดจนมองไม่เห็น รีบเปิดหน้าต่างแล้วผลักลูกชายวัย 8 ขวบออกจากเรือเหาะ
บางคนที่เห็นหน้าต่างเริ่มหลุดเป็นชิ้น ๆ ก็กระโดดออกจากเรือเหาะเช่นกันโดยหวังว่าจะตกลงบน
พื้นดินนุ่ม ๆ ขณะที่กัปตันยังคงพยายามบังคับเรือเหาะต่อไป
มอร์ริสันที่พื้นดินเห็นส่วนท้ายของยานครึ่งลำวอดไหม้ด้วยเปลวเพลิงและควัน​ ประกาศว่า
“เรือเหาะกำลังร่วงใส่เสาที่ผูกติดอยู่ น่ากลัวมาก...เปลวไฟสูง 152 เมตรพวยพุ่งขึ้นฟ้า!”
ผู้บังคับการที่สนามบินซึ่งอยู่ใต้เรือเหาะรีบเผ่นหนีอย่างรวดเร็วขณะที่เรือเหาะกำลังร่วงลงมา
ส่วนหน้าของยานตกถึงพื้นโดยทำมุมชี้ขึ้น 45 องศาและมีไฟพวยพุ่งผ่านหัวยานออกไป โทบิน
(Deck Officer) เห็นว่าซากเรือเหาะไม่โดนลูกเรือ จึงตะโกนสั่งว่า “ทหารเรือทุกคนประจำที่!
เราต้องช่วยทุกคนออกมาให้ได้!”

ตั้งแต่เกิดเปลวไฟแรกจนถึงเรือเหาะตกถึงพื้นดิน ไฟไหม้ใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 32 วินาที ไฮโดรเจน
2 แสนลูกบาศก์เมตรเผาไหม้ทุกสิ่งจนไม่เหลือสภาพเดิม​ ผู้ที่ตกลงมาถึงพื้นต่างล้มลุกคลุกคลาน
วิ่งหนี เสื้อผ้าของหลายคนถูกไฟไหม้ไปครึ่งหนึ่งขณะที่ไฟยังลามติดเสื้อผ้าอยู่
เด็กรับใช้ในเรือเหาะวัย 14 ปีคนหนึ่ง จู่ ๆ ก็โผล่ขึ้นมาจากซากเรือเหาะ เนื้อตัวมีน้ำเปียกโชกโดย
ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ เพราะแทงค์น้ำแตกกระจายเหนือศีรษะกันความร้อนไว้ได้ หลายคนหายสาบสูญ
กัปตันผู้บังคับฯ ถูกไฟลวกปางตายและหลังหัก​ มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ 36 คน เป็นผู้โดยสาร
13 คน, ลูกเรือ 22 คน, และคนที่พื้นดินอีก 1 คน

นายกรัฐมนตรีฮิตเลอร์ทราบข่าวเมื่อเวลาตีสองในค่ำคืนนั้น ดร.ฮูโก (Hugo Eckener : 1868–1954)
ผู้สร้างเรือเหาะฮินเดนเบิร์กประกาศว่า อุบัติเหตุเกิดจากก๊าซไฮโดรเจนรั่วหลังจากเกิดไฟฟ้าสถิต
แต่ก็มีหลายคนที่เชื่อว่าเป็นการก่อวินาศกรรม และเป็นจุดจบของยุคเรือเหาะตลอดไป
...............................
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.พ. 27, 2022 7:34 pm

🧑วีรบุรุษในชีวิตจริง ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2013, คลิป “การช่วยชีวิต” และ”กูเกิล”
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
https://twitter.com/thaiairways/status/ ... 3192897536

นายพิษณุ พงษ์แสงคำ สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาการตลาด
ให้สัมภาษณ์กับ “หนังสือสรรสาระ” หลังมีผู้โพสต์คลิปภาพหนุ่มนิรนามวัย 47 ปีกระโดดออก
จากเรือด่วนเจ้าพระยาลงไปช่วยชีวิตหญิงสาวกลางแม่น้ำเจ้าพระยาแบบไม่กลัวตาย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 9 เมษายน 2013 ปกติทุกวันทำงานราว 5.00 น. พิษณุจะขับรถยนต์
ส่วนตัวเดินทางจากบ้านที่นนทบุรีเพื่อไปทำงานที่บริษัทการบินไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
พิษณุเป็นคนร่างสันทัดค่อนข้างท้วม สวมแว่นสายตา พูดจาติดตลก เป็นคนเปิดเผยและมองโลก
ในแง่ดี อย่างไรก็ตาม เช้าวันนั้นพิษณุออกไปทำงานสายกว่าทุกวันเพราะต้องการทดลองเดินทาง
โดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะว่าจะใช้เวลานานเท่าไรเพื่อจะไปถึงสนามบินฯ โดยเริ่มจากการ
นั่งเรือด่วน เจ้าพระยาที่ท่าเรือเมืองนนท์ เพื่อต่อรถไฟฟ้าและรถไฟเชื่อมต่อไปสนามบินฯ

เมื่อลงเรือและหาที่นั่งได้แล้ว พิษณุก็เล่นเกมและดูข้อความจากเพื่อนทางโทรศัพท์มือถือก่อนจะ
งีบหลับไป เขาจำได้ว่ามีผู้โดยสารอื่น ๆ ลงเรือมาเพิ่มระหว่างทางตามท่าต่าง ๆ

“ผมสะดุ้งตื่นเมื่อได้ยินเสียงผู้คนในเรือตะโกนกันลั่นว่า ‘ช่วยด้วย! คนตกน้ำ’ เมื่อลืมตามองไปทาง
ท้ายเรือก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งลอยอยู่กลางแม่น้ำห่างจากเรือไปราว 20 เมตร จึงฝากเป้ไว้กับคนข้าง ๆ
แล้ววิ่งฝ่าผู้โดยสารที่ออกันอยู่ ผมดึงห่วงชูชีพที่แขวนที่ผนังเรือมาอันหนึ่งแล้วก็กระโดดพุ่งตัวลงน้ำ
ไปให้ใกล้ทางที่ผู้หญิงกำลังกระเสือกกระสนอยู่ในน้ำ”

พิษณุเล่าว่า เขาทราบภายหลังว่า ขณะนั้นเรือเพิ่งออกจากท่าน้ำเกียกกาย เมื่อเป็นเด็กเขาคุ้นเคย
กับการว่ายน้ำไปเกาะเชือกเรือโยงที่ขึ้นล่องผ่านไปมา เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ผ่านการฝึกอบรมจากศูนย์
กู้ชีพนเรนทร รวมทั้งเรียนรู้วิธีช่วยชีวิตผู้โดยสารในฐานะเจ้าหน้าที่การบินไทยคนหนึ่งด้วย แต่ครั้งนี้
พิษณุเล่าว่า กางเกงยีนส์ที่สวมอยู่อุ้มน้ำไว้หนักมากและกระแสน้ำเชี่ยวทำให้รู้สึกอ่อนล้าอย่างรวดเร็ว
“ผมเห็นเธอจมลงไป 3 ครั้ง​ ก็นึกในใจว่า "อย่าเพิ่งตายนะ" ผมจะพยายามไปให้ถึงให้ได้ แม้ตัวเอง
ก็จมไป 2 ครั้งเหมือนกัน แต่ผมไม่ท้อ ไม่กลัวและไม่ตกใจ เมื่อเข้าไปใกล้เธอพอสมควร ผมก็เหวี่ยง
ห่วงชูชีพไปให้”
“ที่จริงตอนนั้นเราอยู่ห่างกันไม่มากนัก แต่ความที่น้ำเชี่ยวมากทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ห่างกันไกลเหลือเกิน
ผมคิดแต่ว่า ถ้าเธอไม่จับห่วงที่โยนให้ก็หมายถึงทั้งชีวิตของเธอและของผมคงจบลงด้วยกัน แต่ที่สุด
เธอก็ยื่นมือคว้าห่วงชูชีพไว้ได้” คลิปภาพจบถึงตอนที่เธอคว้าห่วงชูชีพได้และครู่ต่อมาเธอก็ว่ายมา
ให้ผมเกาะไว้ด้วย
พิษณุเล่าต่อไปว่า “พอผมเกาะห่วงชูชีพได้ มือขวาผมก็ล็อกคอเธอไว้เพื่อช่วยส่งตัวเธอขึ้นเรือ ส่วนตัวเอง
เมื่อขึ้นเรือได้ก็นั่งหมดแรงอยู่พักใหญ่ แว่นสายตาที่ใส่อยู่ก็จมน้ำหายไปด้วย ผมล้วงกระเป๋ากางเกง
ด้วยความสงสัยว่าทำไมตอนอยู่ในน้ำจึงรู้สึกหนักมาก จึงพบว่าในกระเป๋ามีเหรียญรวมกันเกือบ 80 บาท
กระเป๋าสตางค์และบลูทูธเปียกโชก ผู้โดยสารในเรือส่งเป้คืนให้ หลายคนพูดชมผมก่อนแยกย้ายกันไป
เมื่อเรือเทียบท่า”

หลังจากอยู่บนเรือได้ครู่หนึ่ง พิษณุก็ฉุกคิดได้ว่า “ถ้าผมตายแล้วภรรยา พี่น้อง เจ้านาย ลูกน้อง
และสุนัข 3 ตัวที่เลี้ยงไว้จะได้รับผลกระทบอย่างไร ผมจึงกดโทรศัพท์ส่งข้อความถึงภรรยาว่า ‘
วันนี้เหนื่อยจังเลย รักมากนะ คิดถึงหมาทั้ง 3 ตัวด้วย’ “

ทั้งผู้รอดชีวิตและตัวเขาถูกพาส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หลังได้รับการตรวจร่างกายเสร็จประมาณ
8.30 น. เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่านำเสื้อผ้าแห้งมาให้เปลี่ยนชั่วคราว จากนั้นเขาก็ไปตัดแว่นสายตา
อันใหม่และกลับบ้าน

เย็นวันนั้น ภรรยาทักว่ามีอะไรหรือ ทำไมจึงดูโทรมเหลือเกิน พิษณุแก้ตัวว่า เหนื่อยงานและกินยา
เข้านอนพักผ่อน แต่ไม่ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย “ขืนบอกก็โดนเอ็ดแน่ เพราะเขาห่วงเรา
เนื่องจากเราเป็นพวกทำอะไรแบบนี้เป็นประจำจนเขารู้นิสัย”

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 03, 2022 11:16 pm

🧑วีรบุรุษในชีวิตจริง ตอนที่ (2) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรร​สาระ ฉบับเดือนกันยายน 2013,
คลิป “การช่วยชีวิต” และ”กูเกิล” เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ https://twitter.com/thaiairways/status/ ... 3192897536

เช้าวันรุ่งขึ้น พิษณุลาหยุดงานและออกไปนอกบ้าน ตอนสายเพื่อนโทรศัพท์มาบอกว่าเห็นคลิปภาพ
เขาช่วยชีวิตหญิงสาวที่ดังไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ พิษณุรีบโทรศัพท์ถึงภรรยาหวังจะเล่าให้ฟังก่อน
แต่ไม่ทันเสียแล้ว

คราวนี้ไม่ใช่เสียงภรรยาบ่น แต่เป็นเสียงถามพร้อมสะอื้นไห้ว่า “ไปทำอะไรมา ทำไมไม่บอก
ถ้าตายไปจะทำอย่างไร”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเขา ตั้งแต่วัยรุ่น พิษณุช่วยผู้อื่นทุกครั้งที่พบเห็น คนป่วยหรือคนประสบอุบัติเหตุ
ตลอดจนสัตว์ เขาเคยวิ่งออกไปโบกรถหยุดกลางถนนเพราะเห็นลูกแมวเดินหลงทาง หรือจอดรถ
กลางทางเพื่อช่วยจับงู ปู กิ้งก่าหรือคางคกข้ามถนนไปปล่อยยังที่ปลอดภัย สองปีก่อนนั้นเมื่อเกิด
น้ำท่วมใหญ่ เขาช่วยจับงูเหลือมหรือตะกวดหนีน้ำเข้าบ้านคนในละแวกบ้านไปปล่อยในที่ปลอดภัย

“ตอนเด็กผมเป็นตัวพิฆาตสัตว์ จนเมื่ออายุเกือบ 15 ปี วันหนึ่งผมจับงูเขียวเล็ก ๆ ได้ตัวหนึ่งในสวน
ระหว่างเดินไปก็ฉุกคิดว่าเขาก็มีชีวิตเหมือนเรา แล้วเราจะทำร้ายเขาทำไม เลยปล่อยไปและตั้งแต่
นั้นมาก็ไม่คิดทำร้ายสัตว์อีก”

พิษณุเป็นลูกชายคนเดียวในครอบครัวไทยเชื้อสายจีน มีพี่น้องหญิงอีก 3 คน แม่สอนให้เขารู้จักทำ
งานบ้าน ดูแลตัวเองและครอบครัวเช่นเดียวกับพี่น้องผู้หญิง เมื่อเขามีเรื่องชกต่อยกับคนอื่น แม่ไม่
เคยเข้าข้างลูกชาย แต่กลับลงโทษเขา แม่ไม่ชอบการใช้กำลังหรือรังแกคนอ่อนแอรวมทั้งสัตว์
ทุกวันทำงาน พิษณุตื่นตั้งแต่ 3.00 น.เศษ เตรียมอาหารมื้อเช้าให้ภรรยาและใส่กล่องไปกินมื้อกลางวัน
และให้อาหารสุนัข 3 ตัวก่อนไปทำงานที่สนามบินฯ ตอน 5.00 น.

หลังเหตุการณ์ในวันนั้น มีพนักงานในบริษัทเดียวกันทั้งที่คุ้นเคยกันและที่ไม่รู้จักต่างแผนกแวะเข้ามา
ทักทาย บางคนก็มาขอถ่ายรูปด้วย แท็กซี่บางคนจำเขาได้ก็ไม่ยอมรับค่าโดยสาร

“ภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำไป เหตุการณ์ครั้งนี้ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของบางคนที่เคยไม่เข้าใจผมมาเป็นมิตร
กับผม แต่ผมยังคงเป็นคนเดิม สิ่งสำคัญคือ การช่วยเหลือผู้อื่น​ ซึ่งทำได้ทุกคน แต่ต้องฝึกทำโดยเริ่ม
จากสิ่งเล็ก ๆ ก่อนและระลึกว่า สิ่งมีชีวิตต่างรักชีวิตของตน การช่วยเหลือคนอื่นไม่ใช่เรื่องยาก
แต่ต้องประเมินความพร้อมและความสามารถของตัวเองด้วย​ รวมทั้งต้องมีสติอยู่เสมอ”

หมายเหตุ : ช่วงที่มีการล็อคดาวน์หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาดต้นปี 2020 เราได้เห็นผู้คนที่มีน้ำใจ
มีจิตอาสาออกมาทำประโยชน์ให้ผู้คนมากมาย บ้างก็ออกมาแจกอาหารฟรี ตั้งตู้ปันสุขหรือช่วย
อำนวยความสะดวกต่าง ๆ พิษณุก็เป็นคนหนึ่งที่ให้บริการตุ๊กตุ๊ก “TG 469” ฟรีส่งกลับบ้านให้ทัน
เคอร์ฟิว 22.00 น.” ตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2020 โดยเริ่มออกรับส่งตั้งแต่ประมาณ 18.00 น.
ทุกคนที่เห็นเขารถขับผ่านและต้องการให้ช่วยรับส่ง สามารถเรียกได้ฟรี ที่จริงพิษณุได้ขับรถออก
บริการประชาชนมาหลายเหตุการณ์แล้ว เช่น ช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, พานักท่องเที่ยวเที่ยวในกรุงเทพฯ ฟรี
และให้บริการรับส่งฟรีในสถานการณ์ปกติด้วย

*******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ มี.ค. 14, 2022 11:29 am

…… บุรุษแห่งที่แก้บาป

เรื่องโดย : กอบกิจ ครุวรรณ (2) ตอนจบ

ตอนที่ (1):
ฟรังเชสโก ฟอร์จิโอเน (Francesco Forgione) เกิดวันที่ 25 พฤษภาคม 1887 ที่เมืองปิเอเตรลชีนา
ครอบครัวของเขายากจนมาก ๆ ผู้เป็นบิดาจำต้องอพยพไปทำงานในทวีปอเมริกาใต้ถึง 2 ครั้ง
เพื่อส่งเงินที่หามาได้เลี้ยงครอบครัว...
ตัวเขาเองได้สมัครเข้าอารามคาปูชินเมื่ออายุ 15 ปีและได้รับศีลอนุกรมบวชเป็นพระสงฆ์
เมื่ออายุ 23 ปี (รู้จักกันในนามของ คุณพ่อปีโอ ) 5 ปีต่อมาท่านได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่มอง
ไม่เห็นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 1915 และหลายปีต่อมา กลายเป็นรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่มองเห็นได้
ข่าวการมีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์แพร่ไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนพากันมาที่เมือง ซาน โยวันนี โรตอนดา
เพื่อมาดูพระสงฆ์อัศจรรย์ ผู้มีมือและเท้าทั้งสอง รวมทั้งที่สีข้างมีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่แปลกคือ
โลหิตที่ไหลออกมาจากรอยแผลทั้ง 5 ไม่แข็งตัวและมีกลิ่นหอม วิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่สามารถ
อธิบายถึงรอยแผลที่เจ็บปวดเหล่านี้ได้....
มีอัศจรรย์เกิดขึ้นหลายครั้ง และมีการกลับใจอยู่เสมอ กฏเกณฑ์ทางฟิสิกส์ไม่สามารถอธิบายถึง
"การหายตัวไป" ของคุณพ่อหรือความสามารถในการเข้าช่วยจัดการเรื่อง ที่อยู่ห่างไกลมาก ผู้ที่มา
แก้บาปกับคุณพ่อ ต่างทึ่งในความสามารถที่คุณพ่อทราบทุกสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเบื้องลึกในใจ
และวิญญาณของเขาแต่ละคนในทันที คุณพ่อ "แลเห็น"อดีตและอนาคตบนใบหน้าของผู้คน และจาก
การที่ท่านทราบถึงสภาพทางวิญญาณ ของคนบางคน คุณพ่อ ปีโอจึงมีปฏิกิริยาตอบสนองตาม
สภาพของแต่ละคนด้วย เช่นการแสดงอาการฉุนเฉียว รวมทั้งการไม่โปรดบาปแก่คนบางคน
คุณพ่อเล่าเรื่องนี้กับ คุณพ่อุ คาร์เมโล แห่งเซสซาโน ว่า "พ่อตอบสนองต่อวิญญาณของพวกเขา
ตามที่พวกเขาควรจะเป็นเมื่ออยู่เฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้า " ....
คุณพ่อพูดกับมารีเอลลา ล็อตตี เด็กหญิงวัย 12 ปี เมื่อเธอมาคุกเข่าเพื่อสารภาพบาปว่า
"ออกไปเลยนะ พ่อไม่สามารถฟังเธอสารภาพบาปได้ " มารีเอลลา รู้สึกสิ้นหวังท่ามกลางความงุนงง
ของบิดามารดาที่อยู่ในที่นั้น คุณพ่อปีโอจึงได้อธิบายให้มารีเอลลาว่า "พ่อจะฟังเธอสารภาพบาปก็ได้
แต่ที่พ่อไม่ทำก็เพื่อตัวเธอเอง เธอแทบไม่เคยไปวัดวันอาทิตย์ และไม่เรียนคำสอนเนื่องจากพ่อแม่
พาเธอไปที่อื่น ถ้าพ่อฟังเธอสารภาพบาปที่ไร้สาระ ทั้งที่เธอยังคงเพิกเฉยต่อสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต
อย่างท้าทาย เราก็คงจะเสียเวลากันเปล่า ๆ " มารีเอลลาจึงเข้าใจใน คำอธิบายของคุณพ่อ.......

(coffee) พักเบรค ตอนที่ (1)พรุ่งนี้ติดตาม ตอนที่ (2) (ไว้เจอกันใหม่)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ค. 10, 2022 5:51 pm

(+)ขอเพียงอยู่เคียงข้าง ตอนที่ (1) โดย Rachel Macy Stafford
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2556 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ฉันเพิ่งเป็นแม่มาได้ไม่ถึง 2 ปีตอนที่ได้รับบทเรียนยิ่งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการเป็นแม่ เป็นบทเรียน
ที่ได้รับจาก “ไคล์” เด็กชายอายุ 10 ขวบซึ่งมีแม่ติดยา เด็กคนนี้มีรอยแผลเป็นที่แขนซ้ายจากการ
ถูกตีด้วยสายพ่วงปลั๊กไฟ​ตอน 3 ขวบ ไคล์สอนฉันเกี่ยวกับการรักเด็กเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทาย
ของชีวิตว่า “จงอยู่ด้วยกัน”

ฉันทำงานเป็นครูสอนนักเรียนวัย 6-12 ขวบที่บกพร่องด้านการเรียนรู้และมีพฤติกรรมรุนแรงจน
เด็กถูกย้ายโรงเรียนหลายครั้ง ฉันกับเพื่อนครูใช้เวลาหลายสัปดาห์สอนเด็กให้มีพฤติกรรมที่
เหมาะสมในการออกสังคม

วันที่เกิดเหตุ เราจะไปเล่นมินิกอล์ฟและกินอาหารกลางวันที่ภัตตาคาร วันนั้นมีเด็กบางคนซึ่งรวม
ทั้งไคล์ไม่ได้รับสิทธิพิเศษไปร่วมด้วย ไคล์ตัดสินใจจะสำแดงความผิดหวังให้ทุกคนได้รับรู้กัน
ก่อนที่ทุกคนจะออกเดินทางไปกันเล็กน้อย ไคล์อยู่ที่ทางเดินระหว่างห้องเรียน เขาส่งเสียงกรีดร้อง
ตะโกนด่าไปทั่ว ถ่มน้ำลายและเหวี่ยงแขนใส่ทุกอย่างที่อยู่ในระยะแขนฟาดถึง เมื่อโทสะเริ่มเบาลง
เขาก็ทำสิ่งที่เคยทำมาแล้วเมื่ออยู่ในโรงเรียนก่อน ๆ รวมทั้งที่สถานพินิจเด็ก คือ “วิ่ง”
ไคล์พุ่งตัววิ่งไปที่ถนนหน้าโรงเรียนซึ่งมีการจราจรคับคั่งในยามเช้า ฉันได้ยินเสียงคนตะโกนว่า
“เรียกตำรวจ!” แต่ฉันไม่อาจยืนนิ่งอยู่เฉย ๆ ได้ จึงออกวิ่งตามไป
ไคล์เป็นเด็กตัวสูงกว่าฉันราว 1 ฟุตและวิ่งเร็วมาก พวกพี่ชายเขาเคยเป็นนักวิ่งที่โรงเรียนมัธยม
ในเขตนั้น เนื่องจากวันนั้นฉันสวมรองเท้าวิ่งเพื่อสะดวกในการดูแลเด็ก ๆ ไปทำกิจกรรมนอกสถานที่
หลังจากวิ่งฝ่ายวดยานที่แล่นสวนมาได้หลายช่วงตึกทีเดียว ไคล์ก็ผ่อนฝีเท้าลง เลี้ยวซ้ายหักศอกและ
เปลี่ยนเป็นเดินบริเวณด้านหน้าของศูนย์การค้าโทรม ๆ ที่ปลูกเป็นแถวก่อนจะหยุดยืนอยู่ข้างถังขยะ
และก้มตัวเอามือวางบนเข่า

ไคล์กำลังหอบอยู่ตอนที่เขาเห็นฉัน สารรูปของฉันในตอนนั้นคงดูพิลึกทีเดียว เสื้อด้านหน้ามีเหงื่อเปียกชุ่ม
สภาพผมที่หวีเป็นทรงแนบติดไปด้านข้าง ใบหน้าแดงก่ำ ไคล์ยืดตัวขึ้นจ้องมองมาที่ฉันราวกับสัตว์ป่า
ที่กำลังตกใจ แต่เขาไม่ได้มีท่าทีหวาดกลัวใด ๆ ฉันเห็นร่างเขาไม่เกร็งและไม่แสดงท่าจะออกวิ่งต่อ
ไคล์ยืนนิ่งจ้องฉันขณะที่ฉันเดินเข้าไปหา ฉันยังนึกไม่ออกว่าจะพูดหรือทำอะไรต่อไป
แต่ยังคงเดินเข้าไปใกล้

โปรดติดตามตอนที่ (2)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ค. 11, 2022 11:08 pm

(+)ขอเพียงอยู่เคียงข้าง ( ตอนที่2) (ตอนจบ)​
โดย Rachel Macy Stafford เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนมิถุนายน 2556 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

สายตาเราจับจ้องกัน ฉันส่งกระแสความเมตตาและความเข้าใจไปที่เขา ไคล์อ้าปากจะพูด
ตอนที่รถตำรวจแล่นมาจอดคั่นกลางระหว่างฉันกับไคล์อย่างกะทันหัน ครูใหญ่และเจ้าหน้าที่
ลงจากรถ ทั้งสองพูดปลอบโยนไคล์ซึ่งเข้าไปนั่งหลังรถแต่โดยดี
ฉันไม่ได้ยินว่าพวกเขาพูดอะไรกัน แต่ฉันไม่ได้ละสายตาไปจากใบหน้าของไคล์จนรถเคลื่อน
ออกไป ฉันอดรู้สึกไม่ได้ว่าฉันคงทำให้ไคล์ผิดหวัง เพราะฉันน่าจะพูดหรือทำอะไรมากกว่านั้น
และน่าจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้
ฉันเล่าความรู้สึกนี้ให้นักบำบัดซึ่งคุ้นกับประวัติของไคล์ดี
“ไม่เคยมีใครวิ่งตามเขามาก่อนเลย” นักบำบัดพูดตอบฉัน “ไม่มีเลย มีแต่ปล่อยเขาวิ่งไป”

ในที่สุดเมื่อไคล์กลับมาที่โรงเรียน ฉันสังเกตว่า เวลาที่เขามีโอกาสเลือกว่าจะทำงานกับครูคนไหน
หรือจะให้ครูคนไหนไปเข้าชั้นเรียนพิเศษด้วย ไคล์จะเลือกฉัน ผ่านไปหลายสัปดาห์ ไคล์ก็ติดหนึบ
อยู่ข้างตัวฉัน ทำตามที่ฉันบอก พยายามทำงานของตัวเอง บางครั้งก็ยิ้มด้วย สำหรับเด็กที่มีปัญหา
ขาดความรักแล้ว น่าทึ่งที่เขาพัฒนาความผูกพันกับฉันได้

วันหนึ่ง ไคล์คว้ามือ
ฉันอย่างไม่คาดคิด เป็นเรื่องไม่ธรรมดาสำหรับเด็กชายที่มีอายุและตัวโตขนาดเขาจะจับมือครู
แต่ฉันรู้ว่าตัวเองต้องแสดงอาการเหมือนกับว่านี่เป็นเรื่องธรรมดา เขาโน้มตัวเข้ามาใกล้และ
พูดอะไรบางอย่างเบา ๆ โดยฉันจะไม่มีวันลืม “ผมรักครูครับ ครูราเชล” เขากระซิบ
“ผมไม่เคยบอกใครแบบนี้มาก่อนเลย”

บางสิ่งในตัวฉันอยากถามเขาว่า “ทำไมถึงเป็นครูล่ะ” แทนที่จะพูดเช่นนั้น ฉันกลับชื่นชมช่วงเวลานั้น
เป็นพัฒนาการยิ่งใหญ่ที่ไม่นึกฝันจากเด็กซึ่งแฟ้มประวัติเขียนไว้ว่า “ไม่สามารถแสดงความรักหรือ
ความห่วงใยผู้อื่นได้”

อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไปตั้งแต่วันที่เขาวิ่งหนีและฉันวิ่งตาม แม้ฉันจะไม่มีคำพูดที่เหมาะสมและไม่สามารถ
ช่วยเขาให้พ้นจากสภาพสับสนที่เขาเจอในขณะนั้นได้ แต่ในวันนั้น ฉันไม่ยอมแพ้และไม่ได้ตัดสินว่า
เขาเป็นเด็กก้าวร้าวเกินไป ฉันไม่ได้คิดว่า เสียแรงเสียเวลาเปล่าเพราะเขาไม่มีวันจะดีขึ้นได้
และวันนั้นได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นวันที่มีเพียงฉันอยู่ด้วยก็พอแล้วที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ครั้งสำคัญต่อชีวิตของไคล์

*******************

จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 02, 2022 9:32 pm

*มิตรภาพที่ไม่อาจลืมเลือน*
ตอนที่ ( 1 ) จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2543 โดย Julie Akhurst
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ทันทีที่รถโดยสารจอดสนิท คนขับและผู้โดยสารชาวเนปาล 3 คนก็กระโดดลงจากรถ
ปล่อยให้ ‘เบริล’กับ‘ปีเตอร์ ชอร์’ (Beryl and Peter Shore) อยู่กันตามลำพัง

“นี่ไม่ใช่อุทยานแห่งขาติจิตวัน (Chitwan National Park) แน่เลย” เบริลพูดขึ้นพลางกวาด
สายตาผ่านป่าละเมาะรอบตัว เห็นหมู่บ้านอยู่ลิบ ๆ

“เราหลงทางแล้ว”

สองสามีภรรยาชาวอังกฤษมาเที่ยวเนปาลเพื่อฉลองครบรอบแต่งงานปีที่ 13 และยอมนั่งรถ
หลังขดหลังแข็งทั้งวันเพราะหวังจะได้เห็นแรดกับเสือในป่าจิตวัน แต่ขณะนี้ ทั้งสองต้องรีบแบกเป้เดิน
หลังแอ่นจากจุดรถจอดเพื่อหนีเสียงโหวกเหวกของเด็กขายของซึ่งต้อนหน้าต้อนหลังไม่ยอมห่าง

ปีเตอร์มองไปเห็นเด็กหนุ่มร่างผอมโย่งยืนอยู่ริมถนนจึงถามเขาว่า “จิตวันไปทางไหนครับ”
หนุ่มน้อยชี้ไปตามถนนแคบ ๆ ที่มีต้นกล้วยขนาบอยู่สองข้างทาง สลับกับนาข้าวและกระท่อมดินเหนียว
มุงจาก ฟ้าเริ่มมืดแล้ว

เด็กหนุ่มคนนั้นวิ่งเหยาะ ๆ ตามนักท่องเที่ยวทั้งสอง “คุณชื่ออะไรครับ” เขาถามเป็นภาษาอังกฤษ
ชัดถ้อยชัดคำ

เบริลหันมามองเขาอย่างเต็มตาเป็นครั้งแรก เด็กคนนั้นอายุราว 17 ปี สวมเสื้อสีมอๆ แต่รีดเรียบร้อย
ส่งยิ้มให้อย่างจริงใจและไม่คะยั้นคะยอให้ซื้อของเหมือนคนอื่น ๆ ใบหน้าอ่อนเยาว์เตือนให้ทั้งคู่คิดถึง
ลูกชายของตน

“เบริล กับ ปีเตอร์” ฝ่ายหญิงตอบ “แล้วเธอล่ะ”
“ผมชื่อ ‘หริ ภันตาริ’” เขาตอบอย่างภาคภูมิใจ “บ้านผมอยู่ที่หมู่บ้าน ’เมเกาลิ’ นี่เองครับ”

พอเดินพ้นหัวโค้ง ทั้งสามคนก็มาหยุดยืนอยู่ริมแม่น้ำสีขุ่นคลั่ก กว้างราว 50 เมตร

“มีทางข้ามไหม” ปีเตอร์ถาม
“ตรงนี้ข้ามไม่ได้ครับ” หริ ตอบ “สะพานอยู่ไกลออกไป 16 กิโลเมตร”
ปีเตอร์ปลดเป้ลงจากบ่าพูดกับเบริลว่า “งั้น เรานอนพักที่นี่ก็แล้วกันนะ”

หริ ตาเหลือก “นอนไม่ได้นะคุณ แถวนี้มีสัตว์ป่าชุกชุม ไปพักที่บ้านผมเถอะ ไม่ต้องเสียเงิน”

โปรดติดตามตอนที่ (2)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 02, 2022 9:34 pm

"มิตรภาพที่ไม่อาจลืมเลือน"
ตอนที่ ( 2 )จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2543 โดย Julie Akhurst
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตอนนั้นเอง มีหมาป่าตัวหนึ่งคาบซากอีแร้งไว้ในปากขณะวิ่งผ่านแนวป่า เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้อง
ลังเลอีกแล้ว ทั้งสองรีบเดินตามหริไปที่กระท่อมดินเหนียวในหมู่บ้าน

น้องสาววัยราว 12 ปีของหริให้ผู้มาเยือนดื่มนมควายในถ้วยทองเหลือง 2 ใบเพื่อรองท้อง
ระหว่างรอพี่สาวทำอาหารเย็น

ทั้งสองนั่งลงบนเสื่อเพื่อกินอาหาร
“แล้วของเธอล่ะ หริ” เบริลถาม
เขายักไหล่ “ผมกินแล้ว”
เบริลเหลือบมองปีเตอร์ ทั้งคู่เพิ่งรู้ตัวว่ากำลังกินอาหารของทุกคนในครอบครัว จึงรีบกินพอ
ให้อยู่ท้อง แล้วส่งข้าวที่เหลือให้พ่อแม่พี่น้องของหริซึ่งยิ้มรับด้วยความดีใจ

หริยกเตียงนอนหวายของเขาให้สองสามีภรรยา และปลุกทั้งสองก่อน 6 โมงเช้าเพื่อให้ทันรถ
โดยสารที่ให้บริการวันละเที่ยวเดียวจากหมู่บ้าน

“กลับถึงบ้านแล้วเขียนจดหมายถึงผมนะครับ” หริสั่งเสียพลางเขียนที่อยู่ให้
“ขอบคุณมากที่มาเที่ยวเนปาล”

เมื่อกลับถึงประเทศอังกฤษ ทั้งคู่รีบเขียนจดหมายขอบคุณเด็กหนุ่มซึ่งให้ที่พักและอาหาร
โดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน

“สวัสดี หริ เรากลับถึงอังกฤษอย่างปลอดภัยและเที่ยวเนปาลสนุกมาก...” นอกจากนี้
ยังเล่าเรื่องลูกชายทั้งสามได้แก่ เควิน, ไนเจล และ เครก ให้หริทราบด้วย

ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ก็ได้รับจดหมายตอบจากเนปาล หริเขียนเล่าเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับ
ครอบครัวและงานของเขา

หริวัย 17 ปี กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษา มีเด็กไม่กี่คนในหมู่บ้าน’เมเกาลิ’ที่ได้เรียนถึงระดับนี้
เพราะหริเกิดในวรรณะสูง “ผมเรียนภาษาอังกฤษ หวังว่าสักวันคงมีโอกาสไปจากหมู่บ้าน
เพื่อหาทางช่วยชาวบ้าน” หริบอก

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 02, 2022 9:37 pm

"มิตรภาพที่ไม่อาจลืมเลือน"
ตอนที่ ( 3 ) จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2543 โดย Julie Akhurst
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

♤♤ความหวังจากแดนไกล

หนุ่มเนปาลที่เมเกาลิกับชาวอังกฤษที่เมืองบริสทอล (Bristol) เขียนจดหมายติดต่อกันสม่ำเสมอ
หริเล่าว่า ได้งานทำเป็นบริกรในกรุงกาฐมาณฑุ 2-3 ปีต่อมา หริทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และ
หลังจากนั้นก็ย้ายงานไปเป็นเลขานุการในโรงพยาบาลโรคเรื้อน มีหน้าที่ขายเสื้อผ้าและของที่ระลึก
ฝีมือคนไข้เพื่อหาเงินทุนสนับสนุนกิจการของโรงพยาบาล

“ผมมีความสุขครับที่มีโอกาสช่วยให้หลายคนมีชีวิตดีขึ้น” หริเล่า

ทั้งสองฝ่ายเขียนติดต่อกันนานราว 10 ปี จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2539 หริส่งข่าวว่า พ่อกับแม่
ล้มป่วยด้วยวัณโรค เขาจึงต้องกลับไปดูแลท่าน “พ่อแม่ต้องเดินเกือบ 20 กิโลเมตรไปโรงพยาบาลซึ่ง
ใช้เวลาเป็นวัน เพราะหมู่บ้านเมเกาลิยังไม่มีไฟฟ้า ถนนก็ไม่ดี และไม่มีโทรศัพท์ ผมจะกลับไปดูว่า
อาการของท่านหนักแค่ไหน” หริบอกในจดหมาย

สองสามีภรรยารอจดหมายฉบับต่อไปอย่างใจจดใจจ่อ น้ำเสียงของหริยังคงหนักแน่น “ผมมีแผน”
เขาเขียนบอกพร้อมกับแนบภาพร่างของกระท่อมเล็ก ๆ หลังคามุงสังกะสี “นี่คือภาพของสถานีอนามัย
ที่ผมอยากสร้างขึ้นในหมู่บ้าน พ่อกับแม่จะได้ไม่ต้องลำบากเดินทางไปหาหมอ”

สถานีอนามัยในฝันของหริจะให้บริการโดยไม่คิดมูลค่า คาดว่าจะรักษาผู้ป่วยได้วันละ 20 – 30 คน
“ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 1,800 ปอนด์ (ราว 110,000 บาท--อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) รบกวนคุณช่วยหาทุน
ให้ได้ไหมครับ” หริขอร้อง

เมื่อไปถึงที่ทำงานในวันรุ่งขึ้น ปีเตอร์รีบส่งโทรสาร “ภาพกระท่อมของหริ” ไปให้เควินลูกชาย
วัย 26 ปีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแพทย์ประจำกองทัพเรือในกรุงยิบรอลตาร์ (Gibraltar) เพื่อถามความเห็น

ขณะเดียวกัน ปีเตอร์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการอาคารก็จัดแจงรวบรวมข้อมูลสาธารณสุขของเนปาล
และพบว่า ที่นั่นมีแพทย์หนึ่งคนต่อคนไช้ 21,000 คน ส่วนโรงพยาบาลที่พ่อแม่ของหริไปรักษานั้น ต้อง
ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ถึง 260 ตารางกิโลเมตร วัณโรคและโรคเรื้อนชุกชุมมาก ชาวเนปาลมีอายุขัย
โดยเฉลี่ยเพียง 53 ปี

แล้วเควินก็โทรศัพท์มาจากยิบรอลตาร์ “พ่อครับ สถานีอนามัยที่ว่านี้มีสภาพไม่ต่างจากกระท่อม
ปลายนาเลย น่าจะทำให้ดีกว่านี้นะครับ” เควินบอกตรงๆ จากนั้น เขาก็ออกแบบสถานีอนามัยก่อด้วย
อิฐพร้อมหน้าต่างกระจก

“เราไม่อยากได้อาคารสวยหรูกลางป่า” ปีเตอร์ติง “เอาแบบที่พึ่งตนเองได้ และเสียค่าบำรุงรักษาต่ำก็พอ”

ปีเตอร์ส่งแบบที่แก้ไขกลับไปให้หริ พร้อมกับบอกว่า “เราคิดว่าอาคารแบบนี้น่าจะเหมาะกว่า
ถ้าชาวบ้านช่วยกันสร้างเอง จะต้องใช้เงินเท่าไหร่”

“แล้วจะหาทุนจากที่ไหน” เบริลถาม เมื่อทราบว่า ค่าใช้จ่ายตกราว 5,000 ปอนด์ (ประมาณ 300,000 บาท)

“เราเคยเรี่ยไรมาแล้ว ก็ทำแบบนั้นอีกสิ” ปีเตอร์ตอบ เขากับลูก ๆ เป็นสมาชิกชมรมลูกเสือผู้บำเพ็ญ
ประโยชน์ “คุณช่วยชวนคนมาดื่มกาแฟตอนเช้าแล้วก็ถือโอกาสบอกบุญ... ผมจะคุยกับพวกลูกเสือเองว่า
จะทำอะไรได้บ้าง ส่วนเควินก็น่าจะระดมทุนในกองทัพเรือได้ ถ้ายังไม่พอ เราคงต้องช่วยควักกระเป๋า”

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 02, 2022 9:39 pm

*มิตรภาพที่ไม่อาจลืมเลือน*
ตอนที่ (4)จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2543 โดย Julie Akhurst
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

■■น้ำใจหลั่งไหลมา

การก่อสร้างตึกสถานีอนามัยต้องแล้วเสร็จภายใน 8 เดือนก่อนฤดูมรสุมในช่วง
เดือนกรกฎาคมปีหน้า (2540)

ขณะที่หริเดินเรื่องขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ปีเตอร์กับเบริลช่วยกันออกสลากจำนวน 1,000 ใบ
ซึ่งนอกจากจะเอ่ยถึงรางวัลแล้ว ยังสอดแทรกข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอนามัยที่จะสร้างด้วย สลากราคา
ใบละ 1 ปอนด์ แต่พอข่าวเรื่องสถานีอนามัยแพร่ออกไป ผู้ซื้อหลายรายยินดีบริจาคให้ใบละ 5-10 ปอนด์

ปีเตอร์พบช่างประปาที่ควักธนบัตรใบละ 5 ปอนด์โดยไม่ลังเล “ไปช่วยสร้างอนามัยในเนปาลกันไหม”
ปีเตอร์ขอร้อง

“ไปไม่ได้ครับ” ช่างตอบ “ผมต้องหาเลี้ยงลูกเมียทางนี้” แต่วันรุ่งขึ้น ช่างคนนั้นก็นำท่อประปาและ
ชิ้นส่วนอุปกรณ์มาให้หนึ่งคันรถ

ปีเตอร์จึงคิดขึ้นได้ว่า นอกจากเรี่ยไรเงินแล้ว ควรขอบริจาคสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ ด้วย เขาติดต่อ
บริษัทในเมืองบริสทอลหลายแห่ง และได้รับบริจาคมากมาย เช่น อุปกรณ์ประปา เครื่องเรือนแบบถอด
ประกอบได้ เครื่องมือก่อสร้าง แป้นเกลียว สลักเกลียวและตะปูเกลียว สีและน้ำยาทำความสะอาด
รวมทั้งของใช้จิปาถะ เช่น ดินสอ ปากกา ผ้ากันเปื้อน กระดาษชำระ ของเล่น และหนังสือ

หริส่งข่าวความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะ ๆ ทุกครั้งที่สามารถโทรศัพท์หรือส่งโทรสารติดต่อถึงกัน

ฐานรากของอาคารปูด้วยหินก้อนโต ๆ ที่หาได้ในละแวกนั้น แล้วเททับด้วยคอนกรีต
ผู้หญิงในหมู่บ้านช่วยกันลำเลียงหินขนาดลูกฟุตบอลย่อม ๆ จากแม่น้ำ งานขนหินหนักหลายตันกิน
เวลาหลายวัน ทั้งหญิงและชายช่วยกันขุดหลุมเพื่อวางรากฐานตึกและผสมคอนกรีต

โปรดติดตามตอนที่ (5)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 03, 2022 10:01 pm

*มิตรภาพที่ไม่อาจลืมเลือน*
ตอนที่ (5)จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2543 โดย Julie Akhurst
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

♡♡วางรากฐาน

หลังยื่นคำร้องไป 3 เดือน รัฐบาลเนปาลก็อนุญาตให้หริเข้าไปสำรวจป่าในอุทยานแห่งชาติ
จิตวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อเก็บไม้ล้มมาทำประตูหน้าต่าง ชาวบ้าน 80 คนนำช้างไปช่วยชักลากซุง
ออกจากป่า แล้วล่องตามลำธารยาวเกือบ 10 กิโลเมตร ก่อนข้ามแม่น้ำไปยังโรงเลื่อยในเมเกาลิ

ในระหว่างนั้น ปีเตอร์จะพูดถึงโครงการนี้ทุกครั้งที่พบปะสังสรรค์กับนักธุรกิจและหาวิธีเรี่ยไรอื่น ๆ
จนได้เงินบริจาคเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ถึงเวลาส่งสัมภาระทั้งหลายไปเนปาลแล้ว แต่ปัญหาคือ จะขนย้ายข้าวของมหาศาลได้อย่างไร

โชคดีที่เควินช่วยจัดการส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์ที่จะไปยังกองทหารกูรข่าในเนปาล แต่มีเวลาบรรจุ
หีบห่อเพียงสัปดาห์เดียว แล้วต้องรีบขนไปลงเรือก่อนจะล่องไปตามมหาสมุทรอีก 5 เดือน

เดือนกุมภาพันธ์ 2540 เควินกับปีเตอร์เดินทางไปกรุงกาฐมาณฑุเพื่อติดตามความคืบหน้าในการ
ก่อสร้าง โดยมีนัดหมายเข้าพบข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคน ทั้งสองถามเจ้าหน้าที่กรมที่ดินว่า เมเกาลิ
จะมีไฟฟ้าเร็วที่สุดเมื่อไร เจ้าหน้าที่หลบตาก่อนตอบว่า “จะให้เรื่องนี้ได้รับอนุมัติ ผมต้องคุยกับผู้ใหญ่อีก
ตั้งหลายคนนะครับ”

“ถ้าไม่อยากได้วิสกี้ก็คงต้องเงิน” หริกระซิบบอก “พวกข้าราชการก็เป็นแบบนี้แหละครับ”
สองพ่อลูกเสียความรู้สึกเมื่อเดินออกจากสำนักงานแห่งนั้น

“ผมจะไม่มีวันให้สินบน” ปีเตอร์ยืนกราน “คิดออกแล้วว่าควรจะทำยังไง”
เมื่อกลับถึงโรงแรม ปีเตอร์รีบโทรฯ ถึงหนังสือพิมพ์ “กาฐมาณฑุ ไทมส์” ซึ่งตีพิมพ์บทความเรื่อง
“สถานีอนามัยฟรีในเมเกาลิ”ในวันรุ่งขึ้น และต่อมาไม่นาน ก็ได้ข่าวว่าไฟฟ้าจะไปถึงเร็ว ๆ นี้

พอกลับถึงอังกฤษ เบริลบอกว่าได้เงินบริจาคทั้งหมด 5,400 ปอนด์ ต่อมากองทุนก็เพิ่มเป็น
9,000 ปอนด์ การก่อสร้างสถานีอนามัยจะสำเร็จแน่นอน

เดือนมีนาคม 2540 ชาวบ้านช่วยกันวางเสาเอก ในขณะที่หริรายงานความคืบหน้าทุกขั้นตอน เช่น
ก่อผนังและวางท่อน้ำทิ้งเรียบร้อย กำลังติดตั้งหน้าต่าง “ตอนนี้ รอให้คุณมาเยือน” หริเขียนบอกในที่สุด

โปรดติดตามตอนที่ (6)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 04, 2022 3:20 pm

*มิตรภาพที่ไม่อาจลืมเลือน*
ตอนที่ (6)จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2543 โดย Julie Akhurst
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

◇◇ตกแต่งขั้นสุดท้าย

เควินเริ่มรวบรวมทหารเรือชายหญิงที่สนใจจะเดินทางไปช่วยสร้างสถานีอนามัยและฝึกอบรม
เจ้าหน้าที่ในเนปาล : พยาบาล วิศวกร ช่างไฟฟ้า และช่างไม้ รวม 35 คนแสดงความจำนงอยากไปด้วย

เมื่อถึงสนามบินในกาฐมาณฑุ ร่างคุ้นตายืนรอกัลยาณมิตรจากอังกฤษอยู่ที่ห้องผู้โดยสารขาเข้า
เบริลสาวเท้าไปหาชายหนุ่มร่างสูงท่าทางขี้อาย “ตัวโตขึ้นเยอะเลยนะ” เธออุทานพลางสวมกอดเขา
ไว้แน่น “ดีใจจริง ๆ ที่ได้พบเธออีก” พูดได้แค่นั้น น้ำตาก็เอ่อท้น พอเงยหน้าขึ้นก็เห็นหยาดน้ำใส ๆ
คลอเบ้าตาหริเช่นกัน

พอไปถึงหมู่บ้านเมเกาลิ ก็เห็นสถานีอนามัยก่อด้วยอิฐโดดเด่นอยู่กลางดงกล้วยริมลำธาร เสียงค้อน
ดังกึกก้องอยู่ 2- 3 สัปดาห์ขณะที่ทหารเรือเดินสายไฟและต่อน้ำประปาเข้าสู่ตัวอาคารพร้อมกับ
ประกอบเครื่องเรือนและจัดวางให้เข้าที่

พยาบาลจัดอบรมผู้ช่วยประจำสถานีอนามัยให้รู้จักวิธีปฐมพยาบาลและรักษาความสะอาด
ตามหลักสุขลักษณะ

ปีเตอร์กับเบริลเดินสำรวจแต่ละห้องซึ่งยังมีกลิ่นสีและไม้กระดานใหม่ ๆ

“ไม่น่าเชื่อว่า ทุกอย่างจะเสร็จได้เร็วขนาดนี้” ปีเตอร์พูด

วันที่ 20 ตุลาคม 2540 แตรวงแห่รอบหมู่บ้านก่อนจะหยุดที่หน้าสถานีอนามัย ชาวบ้านตามมา
ปรบมือให้กำลังใจกันอื้ออึง หริลุกขึ้นกล่าวในพิธีเปิด “ขอบคุณที่ทำให้ชาวบ้านแถวนี้รู้ว่า
โลกนี้ยังไม่แล้งน้ำใจ” หริกล่าวพร้อมกับโค้งคำนับเบริล ปีเตอร์ และเควิน

เย็นวันนั้น พ่อแม่หริเชิญปีเตอร์กับเบริลไปรับประทานอาหารที่บ้านเพื่อฉลอง
ทั้งคู่มีโอกาสกลับไปบ้านที่เคยพักและกินอาหารเย็นเมื่อกว่าสิบปีก่อน ระหว่างกินอาหาร
เบริลรู้สึกว่ามีคนมาสะกิด
“คุณเบริล ครับ” หริพูดขึ้น “ผมขออนุญาตเรียกคุณว่า ‘แม่’ ได้ไหมครับ”

“ฉันรู้สึกเป็นเกียรติมาก” เบริลกล่าวตอบ รู้สึกตื้นตันในการให้ความเคารพและกตัญญูของหริ
“ตอนนี้ฉันมีลูกชาย 4 คนแล้ว”

ปัจจุบัน คลินิกแห่งนี้มีชื่อว่า “สถานีอนามัยมิตรภาพ” มีพยาบาลและผู้จัดการประจำอย่างละคน
มีการผ่าตัดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และแพทย์เฉพาะทางมาตรวจรักษาเป็นระยะ ๆ พ่อแม่ของหริก็เป็น
คนไข้ของอนามัยแห่งนี้ด้วย ทั้งสองไม่ต้องเดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาลไกล ๆ อีกต่อไป
หริยังจัดให้มีอาสาสมัครทางการแพทย์และบริหารกองทุนของอนามัยด้วยแม้ว่าครอบครัวของ
ปีเตอร์จะช่วยหาทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม ล่าสุดยอดบริจาครวมสูงถึง 25,000 ปอนด์

**********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 04, 2022 3:20 pm

:s002: :s002: :s002:
ตอบกลับโพส