เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ ( ชุดที่ 11 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ พ.ค. 14, 2022 9:40 pm

วันนั้นบน⛰️ยอดเขาเอเวอเรสต์ ตอนที่ (1)โดย เท็นซิง นอร์เก (Tenzing Norgay)
และเจมส์ แรมซีย์ อุลล์มาน จากหนังสือ “สรรสาระ” ฉบับเดือนมิถุนายน 2556
และจากกูเกิล 2565 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผม (เท็นซิง) เป็นคนเชอร์ปา ชนชาวเขาแห่งเทือกเขาหิมาลัย ผมเป็นคนโชคดี มีความฝัน
และฝันนั้นก็เป็นจริงในการพยายามเป็นครั้งที่ 7
ผมอายุ 21 ปีตอนที่ได้ร่วมงานไต่เขาครั้งแรกกับคณะสำรวจเขาเอเวอเรสต์ปี ค.ศ.1935
ผมเป็นลูกหาบเชอร์ปาคนหนึ่งที่แบกสัมภาระขึ้นไปสูงถึง 23,000 ฟุต ซึ่งสูงสุดเท่าที่การสำรวจ
ครั้งนั้นไปถึงที่ระดับความสูงขนาดนี้ ลูกหาบเชอร์ปาทุกคนล้วนดีใจที่จะได้ลงสักที แต่ผมกลับอยาก
ไต่สูงขึ้นไปอีก หลายปีต่อมา มีคณะสำรวจอีกหลายชุดที่เรียกหาผมเป็นลูกหาบ ปี 1952
ผมได้เป็น “ซีร์ดาร์” คือเป็นหัวหน้าลูกหาบเชอร์ปาในทีมชาวสวิส 2 ทีมที่ปีนเขาเอเวอเรสต์ หลังจาก
นั้นผมก็ได้รับจดหมายจากหลายประเทศ มีอยู่ฉบับหนึ่งชวนผมปีนเขาเอเวอเรสต์ในตำแหน่ง
“ซีร์ดาร์”กับคณะสำรวจของอังกฤษ นำโดยผู้พันฮันต์ (John Hunt) ผู้ร่วมคณะเป็นนักปีนเขา
ชาวอังกฤษที่ผ่านการคัดตัวมาแล้ว และชาวนิวซีแลนด์ 2 คน คนหนึ่งคือ เอ็ดมันต์ ฮิลลารี
(Edmund Hillary) ผู้เคยร่วมคณะมาแล้วในการสำรวจเขาเอเวอเรสต์ปี 1951
ผมไม่ได้ให้คำตอบทันที แต่สุดท้ายก็ตกลงไป จากนั้นผมก็คัดเลือกทีมลูกหาบเชอร์ปาที่แข็ง
แกร่ง 20 คน ส่วนใหญ่เคยขึ้นเขาเอเวอเรสต์มาก่อน
ผมปฏิบัติตัวเหมือนกับทุกครั้งก่อนออกสำรวจครั้งสำคัญ คือพยายามฟื้นฟูร่างกายให้สมบูรณ์ที่สุด
ผมตื่นแต่เช้า เอาหินใส่เป้หลังแล้วเดินขึ้นลงเนินเขาแถวบ้านอยู่นาน ผมไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่
ไม่ไปงานเลี้ยงต่าง ๆ ที่ปกติผมชอบไป ผมคิดวางแผนและคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อขึ้นเขา
เอเวอเรสต์ครั้งที่ 7 ตอนนี้ผมอายุ 39 ปีแล้ว ผมจึงบอกตัวเองว่า “นายต้องทำให้ได้ ไม่งั้นก็ตายซะ”
เรากำหนดจะออกเดินทางจากเมืองดาร์จีลิง
(Dajeeling : เมืองในเทือกเขาหิมาลัย รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย ) วันที่ 1 มีนาคม 1953
เพื่อนคนหนึ่งมอบธงชาติอินเดียผืนเล็กให้ผมติดตัวไปเพื่อให้ผม “ปักตรงที่เหมาะ ๆ” นิมา ลูกสาว
คนเล็กของผม ให้ดินสอสีแดง-น้ำเงินแท่งสั้นกุดที่เธอใช้ในโรงเรียน ซึ่งผมสัญญาเช่นกันว่า จะนำ
ขึ้นไปวาง “ตรงที่เหมาะสม” หากพระเจ้าทรงประสงค์เช่นนั้นและทรงเมตตาผม

โปรดติดตามตอนที่ (2)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ พ.ค. 14, 2022 9:46 pm

วันนั้นบน⛰️ยอดเขาเอเวอเรสต์ ตอนที่ (2)
โดย เท็นซิง นอร์เก (Tenzing Norgay) และเจมส์ แรมซีย์ อุลล์มาน
จากหนังสือ “สรรสาระ” ฉบับเดือนมิถุนายน 2556
และจากกูเกิล 2565 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

คณะสำรวจที่นำโดยผู้พันฮันต์ครั้งนี้ มีผู้ร่วมเดินทางทั้งหมดมากกว่า 400 คน ประกอบด้วย
ลูกหาบธรรมดา 362 คน, ลูกหาบเชอร์ปา 20 คน, ทีมนักปีนเขาหลายทีม แต่ทีมที่ได้รับเลือก
ให้ปีนจนถึงยอดเขามี 2 ทีม คือทีมของดร.อีแวนส์ (Dr. Charles Evans) กับ ทอม (Tom Bourdillon)
และทีมของผมกับฮิลลารี สัมภาระและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องแบกมีน้ำหนักราว 4,500 กก.
ก่อนออกเดินทาง แพทย์ตรวจร่างกายผมที่ฐานพักเชิงเขาและบอกว่า ผมสมบูรณ์กว่าผู้ร่วมคณะ
ทุกคน​ ฮิลลารีเป็นนักปีนเขาที่เก่งกาจน่าทึ่ง เขาเคยฝึกไต่ขึ้นยอดเขาน้ำแข็งที่นิวซีแลนด์มาแล้ว
หลายครั้ง เป็นคนพูดน้อย แต่ไม่นานนักเราก็กลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งและมั่นใจ

ตัวอย่างวิธีทำงานร่วมกันของเราครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นตอนที่เราอยู่บนโตนน้ำแข็ง ช่วงบ่ายแก่ ๆ
วันนั้น เรากำลังไต่ลงมา มัดเชือกติดตัวโยงพ่วงกัน ฮิลลารีนำหน้าไต่เลาะตามทางคดเคี้ยวระหว่าง
แท่งน้ำแข็งสูง จู่ ๆ หิมะใต้เท้าฮิลลารีเกิดพังถล่ม ร่างของเขาดิ่งลงไปในรอยแยกของน้ำแข็ง
เขาตะโกนเรียกชื่อผมด้วยความตกใจ เคราะห์ดีที่เชือกโยงเราไว้ไม่ยาวจนเกินไปและผมก็เตรียม
พร้อมอยู่ตลอดเวลา ผมรีบสับขวานใส่หิมะตรงจุดเกิดเหตุพร้อมกับเหวี่ยงตัวลงไปข้าง ๆ หลังจาก
ลงไปราว 4.5 เมตร ผมก็สามารถรั้งร่างเขาไว้ได้ แล้วค่อย ๆ ฉุดดึงจนเขาขึ้นมาได้อีกครั้ง ตอนที่เขา
โผล่พ้นรอยแยกมาได้ ถุงมือของผมขาดเพราะแรงฉุดจนเต็มกำลัง
เมื่อเรากลับลงมาถึงแคมป์ เขาบอกคนที่นั่นว่า “วันนี้ ถ้าไม่มีเท็นซิง ผมคงจบเห่แล้ว” เป็นคำชมที่
วิเศษมาก แต่เหตุการณ์เช่นนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะนักปีนเขาทุกคนย่อมช่วยเหลือกันเสมอ
ช่วงสัปดาห์แรก ๆ ที่ฮิลลารีกับผมร่วมงานกัน เราแบกสัมภาระเบา ๆ จากฐานที่พักเชิงเขา
(Base Camp) ไปยังหุบเขารูปแอ่งด้านตะวันตก หรือไม่ก็ช่วยกันพาลูกหาบเชอร์ปามือใหม่ปีน
เส้นทางชันผ่านโตนน้ำแข็ง ขณะเดียวกัน ทีมปีนกับลูกหาบเชอร์ปาทีมอื่น ๆ ก็กรุยทางนำหน้าเราไป
ตามเส้นทางที่คณะสำรวจชาวสวิสเคยใช้ในฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา เราตั้งแคมป์ที่ช่องเขาทางทิศใต้
เมื่อถึงวันที่ 20 พฤษภาคม คณะสำรวจที่ล่วงหน้าไปก็พร้อมเคลื่อนย้ายไปที่ซอกเขานั้น

แผนการปีนให้ถึงยอดเขาของคณะสำรวจคือ ให้ทีมของอีแวนส์กับทอมขึ้นไปที่ช่องเขาทิศใต้ก่อน
พร้อมกับทีมสนับสนุน ถัดมาอีกวันขณะที่ทั้งคู่พยายามปีนให้ถึงยอดเขา ฮิลลารีกับผมก็จะตามไป
ที่ช่องเขาโดยมีทีมช่วยเหลือของโลว์ กับ เกรกอรี (George Lowe & Alfred Gregory) และลูกหาบ
เชอร์ปาชั้นเยี่ยมอีก 8 คน
ทีมของ ดร.อีแวนส์กับทอมจะออกจากค่ายพักที่ 8 บนช่องเขาทิศใต้ แล้วไต่ขึ้นให้สูงที่สุดหรือถ้า
เป็นไปได้ก็ให้ถึงยอดเขาเลย ระหว่างช่องเขากับยอดเขาอยู่ห่างกันราว 1000 เมตรและไม่มีค่ายพัก
ระหว่างทาง ฉะนั้นถ้าไปถึงยอดเขาได้ ก็ต้องกลับลงมาให้ได้ภายในวันเดียวกันซึ่งนับว่ายอดเยี่ยมจริง ๆ
ถ้าทำได้
ถ้าทั้งสองไปต่อไม่ไหว ก็ถึงตาของฮิลลารีกับผม ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ทีมของผู้พันฮันต์ก็จะทำค่ายพัก
ให้กับทีมของเราเสร็จแล้วเป็นแห่งที่ 9 แล้วเราก็จะไต่ขึ้นจากแคมป์ที่ 9 นี้ซึ่งได้เปรียบกว่ามาก

โปรดติดตามตอนที่ 3 ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ พ.ค. 14, 2022 9:50 pm

วันนั้นบน⛰️ยอดเขาเอเวอเรสต์ ตอนที่ (3)
โดย เท็นซิง นอร์เก (Tenzing Norgay) และเจมส์ แรมซีย์ อุลล์มาน
จากหนังสือ “สรรสาระ” ฉบับเดือนมิถุนายน 2556 และจากกูเกิล 2565
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

😊การปีนขึ้นยอดเอเวอเรสต์

วันที่ 23 พฤษภาคม 1953 ทีมของ ดร.อีแวนส์ กับทอม เริ่มปีนจากช่องเขา และวันถัดมาเรา
ก็ตามหลังพวกเขาไป คืนนั้นเราพักแรมกันที่ค่ายพักที่ 7 จากนั้นเราก็ขึ้นไปจนถึงค่ายพักที่ 8
เราพบลูกหาบเชอร์ปาอยู่ที่ค่ายพักนี้คนเดียว เขาเป็นลูกหาบเชอร์ปาหนึ่งในสองคนที่ติดตาม
ผู้พันฮันต์ แต่เนื่องจากเช้านั้นเขาไม่สบายและไม่สามารถไต่ขึ้นไปสูงกว่านั้นได้ ผู้พันฮันต์กับ
เชอร์ปาอีกคนจึงล่วงหน้าไปกันเองโดยแบกสัมภาระหนักเต็มกำลัง

หลังจากเราขึ้นไปถึงช่องเขาได้สักครู่ เราก็เห็นผู้พันฮันต์กับเชอร์ปาไต่ลงมา ทั้งสองเหน็ดเหนื่อย
สาหัส ผมให้ผู้พันจิบน้ำมะนาวอุ่น ๆ และช่วยพาไปพักในเต็นท์ เมื่อได้พักผ่อนครู่หนึ่ง ผู้พันฯ
ก็เล่าให้เราฟังว่า พวกเขาปีนขึ้นไปสูงประมาณ 27,350 ฟุต แล้วก็ทิ้งสัมภาระต่าง ๆ สำหรับให้เรา
ใช้เป็นค่ายพักที่ 9 รวมทั้งถังออกซิเจนเพื่อให้เราใช้เมื่อเราไต่ขึ้นไปถึงที่นั่นด้วย การที่ทั้งสองไต่
ลงมาโดยไม่มีออกซิเจนช่วย คือเหตุผลที่ทั้งคู่หมดสภาพเมื่อกลับลงมาถึงค่ายพักที่ 8 หลังจากนั้น
พวกเราที่นั่นก็รอทีมปีนเขาของ ดร.อีแวนส์ กับทอม

หลังจากรอและแหงนมองอยู่นาน ที่สุดเราก็เห็น ดร.อีแวนส์กับทอมไต่ลงมาตามลาดหิมะ ผมนึก
ในใจว่า “พวกเขาทำไม่สำเร็จ แต่ก็มีเวลาไม่พอที่จะปีนถึงยอดเขาสำหรับเราเช่นกัน” เรารีบออกไป
รับคนทั้งสองซึ่งเหน็ดเหนื่อยจนแทบไม่มีแรงพูดหรือขยับตัว ทั้งคู่ขึ้นไปถึงยอดทางทิศใต้ซึ่งนับเป็น
จุดสูงสุดเท่าที่มีคนเคยขึ้นถึง แต่ก็สุดความสามารถเพียงเท่านั้น

เมื่อพวกเขาพอมีแรงกลับคืนมา เราก็ซักถามถึงเส้นทางและปัญหาต่าง ๆ แม้จะยังอ่อนเปลี้ยอยู่
แต่ทั้งคู่ก็ยินดีแนะนำและช่วยเราเต็มที่
คืนนั้นพวกเรา 10 คนพักค้างบนช่องเขาอัดรวมกันในเต็นท์ 3 หลัง ฮิลลารีกับผมตั้งใจจะ ออกเดินทาง
แต่เช้าตรู่ แต่คืนนั้นสายลมโหมแรงกว่าปกติ ตอนฟ้าสางเสียงลมคำรามก้องราวกับเสือนับพันตัว
เราจึงได้แต่รอและหวังให้พายุพัดจนหมดแรงไปเอง เราพยายามดูแลตัวเองให้อบอุ่นอยู่เสมอด้วย
การดื่มน้ำชา กาแฟ ซุปและน้ำมะนาว

คืนต่อมาอากาศยังคงเลวร้ายอยู่... วันที่ 28 พฤษภาคม 1953 ตอนฟ้าเริ่มสาง ลมยังคงพัดกระหน่ำอยู่
แต่พอ 8.00 น. ลมเริ่มอ่อนแรง เรามองหน้ากันแล้วพยักหน้าเป็นสัญญาณว่าจะลองดู

ก่อน 9.00 น.เล็กน้อย ทีมสนับสนุนของโลว์กับเกรกอรี และเชอร์ปาล่วงหน้าไปก่อน แต่ละคนแบก
สัมภาระหนักกว่า 18 กก.พร้อมออกซิเจนช่วยหายใจ จากนั้นอีกสักชั่วโมงต่อมา ฮิลลารีกับผมจึง
ตามไปพร้อมกับสัมภาระคนละ 23 กก. แผนการคือ ให้ทีมสนับสนุนของเราช่วยปรับน้ำแข็งให้เดิน
ง่ายขึ้นเพราะเป็นงานหนักและกินเวลา จากนั้นเราก็ค่อยตามไปจะได้ไม่ต้องเหนื่อยเกินไป

โปรดติดตามตอนที่ (4) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ค. 16, 2022 11:17 am

วันนั้นบน⛰️ยอดเขาเอเวอเรสต์ ตอนที่ 4 )


โดย เท็นซิง นอร์เก (Tenzing Norgay) และเจมส์ แรมซีย์ อุลล์มาน จากหนังสือ “สรรสาระ”
ฉบับเดือนมิถุนายน 2556 และจากกูเกิล 2565 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เราข้ามโขดหินและไต่เนินหิมะขึ้นไปตามร่องน้ำที่ทอดขึ้นสู่สันเขา ทุกสิ่งเป็นไปตามแผน
ขั้นทางเดินที่คนอื่นฟันไว้ให้ก่อนช่วยให้เราไต่ได้ง่ายขึ้น เราตามไปทันทีมสนับสนุนตอนที่
พวกเขาไปถึงตีนสันเขาตอนเที่ยงวันและมาถึงจุดสูงสุดที่ผู้พันฮันต์และเชอร์ปาอีกคนขึ้นถึง
เมื่อสองวันก่อน สิ่งที่กองอยู่ในหิมะที่นั่นคือเต็นท์, อาหาร และถังออกซิเจนที่ผู้พันฮันต์และ
เชอร์ปาทิ้งไว้ให้เรา ถึงตอนนี้เราต้องแบกของเหล่านี้รวมกับสัมภาระที่มีอยู่แล้วทำให้ต้อง
แบกน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นคนละ 27 กก. สันเขาชันขึ้นตลอดเวลา เราก้าวได้ช้าลงขณะที่หิมะ
เริ่มหนาขึ้น ทีมสนับสนุน 3 คนช่วยกันเหวี่ยงขวานฟันทางนำหน้าเราต่อไปจนถึงเวลา 14.00 น.
ทุกคนก็เหนื่อยล้า หลังจากพักชั่วครู่ เราก็อวยพรร่ำลากันแล้วทีมสนับสนุนทั้ง 3 คนก็แยกลงไป
ฮิลลารีกับผมถูกทิ้งไว้ที่ความสูง 27,900 ฟุต ที่ซึ่งเราเตรียมทำเป็นค่ายพักที่สูงสุดเท่าที่เคยมี
เราพยายามปรับพื้นให้เรียบ ทำงานกันจนฟ้าจวนมืด แต่สุดท้ายเราก็กางเต็นท์ได้สำเร็จ
เราหารือกันถึงแผนการของวันรุ่งขึ้น และพยายามนอนให้หลับในถุงนอนโดยสวมเสื้อผ้าครบทุกชิ้น
ผมสวมบูทหนังกวางนอนด้วย แต่นักปีนเขาส่วนใหญ่รวมทั้งฮิลลารีถอดรองเท้าวางไว้ข้างถุงนอน
เพราะเชื่อว่าช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเท้าได้ดีกว่า

29 พฤษภาคม 1953... เราเริ่มขยับตัวตั้งแต่ตี 3.30 น. ผมก่อไฟต้มหิมะไว้ชงน้ำมะนาวกับกาแฟ
เรากินอาหารกันไม่มาก ลมยังสงบนิ่ง เมื่อเปิดปีกเต็นท์ออกในแสงยามรุ่งสาง ผมสวดอ้อนวอน
ในใจว่า “พระเจ้าแห่งบิดามารดาของผม วันนี้ได้โปรดเมตตาเราด้วยเถิด”
แต่สิ่งแรกที่เกิดขึ้นก็ไม่ดีเสียแล้ว นั่นคือรองเท้าบูทของอิลลารีกลายเป็นก้อนน้ำแข็งเหล็กสีดำ 2 ก้อน
เราต้องถือรองเท้าทั้งสองข้างอังเหนือเตาไฟเป็นชั่วโมง พร้อมกับดึงและบีบนวดหนังรองเท้าจนเต็นท์
เหม็นตลบไปด้วยกลิ่นหนังไหม้ เราทั้งคู่หอบแฮกราวกับไปไต่ขึ้นยอดเขากันมาแล้ว
เราคลานออกจากเต็นท์ตอน 6.30 น. ขณะนั้นอากาศ แจ่มใส ไม่มีลม เราสวมถุงมือซ้อนกัน 3 ชั้น
(ถุงมือผ้าไหม, ถุงมือขนสัตว์และถุงมือกันลม) ก่อนจะติดตะปูยึดปลายแหลมสำหรับย่ำหิมะกับส้น
รองเท้าบูท จากนั้นก็เหวี่ยงเครื่องออกซิเจนหนัก 18 กก.ขึ้นหลัง ผมพันธง 4 ผืนไว้ที่ด้ามขวานของผม
ได้แก่ธงสหประชาชาติ, ธงชาติอังกฤษ, ธงชาติเนปาล และธงชาติอินเดีย ส่วนในกระเป๋าเสื้อแจ็กเกต
ของผมมีดินสอกุด ๆ ของลูกสาว... แล้วเราก็ออกเดิน
เนื่องจากบูทของฮิลลารียังแข็งและฝืดอยู่ เท้าของเขาจึงเย็นเฉียบ ฮิลลารีจึงขอให้ผมนำหน้า เราไต่
เชือกด้วยกันตามสันเขาไปทางยอดเขาทิศใต้ ไม่นานเท้าของฮิลลารีก็อุ่นขึ้น เราจึงเริ่มผลัดกันนำหน้า
คนละช่วงเพื่อเปลี่ยนกันทำหน้าที่ปราบและถากทาง
ตอน 9.00 น. เราอยู่บนยอดเขาทิศใต้และพัก 10 นาทีขณะแหงนมองระยะซึ่งเหลืออีกเพียง เกือบ 100 เมตร
แต่เป็นสันเขาที่ทั้งแคบและชัน ทางซ้ายมือเป็นหน้าผาที่ดิ่งลงไปในหุบเขาลึกเกือบ 2.5 กม. ส่วนทางขวา
เป็นเงื้อมหิมะที่ยื่นออกไปเหนือธารน้ำแข็งที่อยู่ลึกลงไปราว 3 กม.

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ค. 16, 2022 12:35 pm

วันนั้นบน⛰️ยอดเขาเอเวอเรสต์ ตอนที่ ( 5 )
โดย เท็นซิง นอร์เก (Tenzing Norgay)อ และเจมส์ แรมซีย์ อุลล์มาน
จากหนังสือ “สรรสาระ” ฉบับเดือนมิถุนายน 2556 และจากกูเกิล 2565
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เราค่อย ๆ ขึ้นไปช้า ๆ จนถึงจุดที่อาจเป็นอุปสรรคสุดท้ายซึ่งเป็นผาหินที่ตั้งดิ่งขึ้นและปิดกั้นสันเขาไว้
ฮิลลารีซึ่งตอนนี้นำหน้าอยู่ค่อย ๆ คลำทางขึ้นไปอย่างระมัดระวังและโชคดีที่ขึ้นไปถึงยอดผาหินนั้นได้
โดยสวัสดิภาพ จากนั้นก็ยึดเชือกไว้ให้ผมไต่ตามขึ้นไป
เราพักเหนื่อยบนยอดผาหินแล้วค่อย ๆ สูดออกซิเจน ตอนนี้เราเห็นยอดเขาอยู่ใกล้มากแล้ว หัวใจผม
เต้นด้วยความตื่นเต้นยินดี
ขณะนี้เหลือระยะอีกเพียง 30 เมตรจากยอดเขา เราขึ้นมาถึงกลุ่มหินโล่งเตียนที่อยู่สูงสุดแล้ว ผมเลือก
เก็บหินเล็ก ๆ 2 ก้อนใส่กระเป๋า จากนั้นเราก็อยู่กลางเนินหิมะหลายเนินที่ลดเลี้ยวไปทางด้านขวา
ในที่สุดเราก็มาถึงที่ซึ่งสามารถมองเลยผ่านเนินต่าง ๆ เราเห็นท้องฟ้าโล่งกว้างและพื้นที่ราบสีน้ำตาล​
เบื้องหน้าเราเหลือเนินหิมะอีกเพียงเนินเดียว... เนินสุดท้ายแล้ว
ผมคิดมากทีเดียวเกี่ยวกับสิ่งที่จะพูดตรงนี้ คือจะเล่าว่า ฮิลลารีกับผมขึ้นไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์กันอย่างไร
เพราะหลังจากที่เราลงจากเขาแล้ว คนยังพูดเหลวไหลกันว่าใครถึงก่อนกัน เพื่อหยุดเสียงวิจารณ์ทำนองนั้น
ฮิลลารีกับผมจึงร่วมกันลงนามในแถลงการณ์ที่กาฐมาณฑุ (เมืองหลวงของเนปาล) ซึ่งระบุว่า
“เราถึงยอดเขาเกือบพร้อมกัน” แต่คนก็ยังถามกันไม่เลิกราโดยจี้คำว่า “เกือบ” หมายความว่าอย่างไร
ที่จริงนักไต่เขาทุกคนเข้าใจดีว่า เป็นคำถามที่ไร้สาระ เพราะเมื่อร่างคนสองคนผูกโยงไว้กับเชือกเส้นเดียวกัน
คนทั้งสองย่อมอยู่ด้วยกัน และนี่คือความหมายของคำว่า “เกือบ” นั่นเอง แต่หลายคนกลับไม่เข้าใจ
ขณะนั้น ฮิลลารีกับผมหยุดอยู่ต่ำกว่ายอดเขาเล็กน้อย เราแหงนมองแล้วก็เดินต่อ เชือกที่โยงเราไว้ยาว
9 เมตร แต่ผมสาวม้วนเป็นวงไว้ในมือเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เราอยู่ห่างกันไม่ถึง 2 เมตรเท่านั้น ผมจึง
ไม่พะวงกับคำว่า “ที่หนึ่ง” หรือ “ที่สอง” ... เราค่อย ๆ คืบหน้าไปด้วยกันอย่างมั่นคงแล้วเราก็อยู่ตรงนั้น
ฮิลลารีก้าวขึ้นไปบนยอดก่อน แล้วผมก้าวตามหลังไป ถ้าการที่ผมก้าวตามหลังฮิลลารีไปหนึ่งก้าว
เป็นเรื่องน่าขายหน้า ผมก็ยอมทนอยู่กับความขายหน้านั้นครับ
สิ่งแรกที่เราทำบนยอดเขาเอเวอเรสต์ก็เหมือนกับที่นักไต่เขาทั้งหลายทำกันเมื่อขึ้นไปถึงยอดเขา
คือเราจับมือกันเขย่า แต่สำหรับเอเวอเรสต์เท่านี้ย่อมไม่เพียงพอ ผมโบกไม้โบกมือว่อน เหวี่ยงแขน
โอบรอบตัวฮิลลารี เราตบหลังกันและกันจนกระทั่งแทบหายใจไม่ออก​ แม้ได้ออกซิเจนช่วย แล้วเรา
ก็มองไปรอบ ๆ ตอนนั้นเป็นเวลา 11.30 น.แสงอาทิตย์สาดส่อง ท้องฟ้าสีน้ำเงินแจ่มจ้าที่สุดเท่าที่ผม
เคยเห็น มีสายลมโชยมาเบา ๆ จากทิศที่ตั้งทิเบต พร้อมกับละอองหิมะที่เล็กละเอียดมากโปรยปราย
ไปทั่วเทือกเขาหิมาลัยอันมโหฬารล้อมรอบเราทุกด้าน ต่ำลงไปไกลลิบเป็นยอดเขาสูงหลายยอด
เราปิดออกซิเจนที่ใช้ เพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งออกซิเจนตราบที่เราไม่ออกแรง จนเมื่อเราเริ่มลงจาก
ยอดเขาจึงเปิดออกซิเจนใช้อีกครั้งหนึ่ง
ฮิลลารีหยิบกล้องที่ซุกไว้ใต้เสื้อผ้าออกมา ส่วนผมคลี่ธง 4 ผืนที่พันรอบด้ามขวาน แล้วฮิลลารีก็ถ่ายรูปผม
ผมทำท่าจะถ่ายรูปให้เขาบ้าง แต่เขาส่ายศีรษะปฏิเสธด้วยเหตุผลบางอย่าง เขาไม่อยากได้รูปตัวเอง
แต่เริ่มเก็บภาพรอบ ๆ รวมทั้งภาพมุมต่ำทุกด้าน ระหว่างนั้น ผมหยิบห่อช็อกโกแลตกับดินสอแท่งกุดของ
ลูกสาวออกจากกระเป๋าเสื้อและขุดหลุมตื้น ๆ ในหิมะก่อนจะวางของที่เตรียมไว้ลงไป ฮิลลารีเห็นผม
ทำอย่างนั้นก็ยื่นไม้กางเขนอันเล็กที่ผู้พันฮันต์มอบให้เขาส่งให้ผมซึ่งผมก็วางไว้ข้าง ๆ กันพร้อมกับคิด
ในใจว่า “เวลาอยู่บ้าน เราให้ขนมแก่คนใกล้ชิดที่เรารัก เอเวอเรสต์เป็นที่รักของผมเสมอและบัดนี้มัน
ก็อยู่ใกล้ตัวผมแล้ว” ผมสวดมนต์ในใจขณะกลบของถวายเหล่านั้น
แล้วผมก็พูดกับเขาเอเวอเรสต์ว่า “ตูจิเช โชโมลุงมา” (ผมสำนึกคุณ)

โปรดติดตามตอนจบในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ค. 18, 2022 11:05 pm

วันนั้นบน⛰️ยอดเขาเอเวอเรสต์ ตอนจบ
โดย เท็นซิง นอร์เก (Tenzing Norgay) และเจมส์ แรมซีย์ อุลล์มาน
จากหนังสือ “สรรสาระ” ฉบับเดือนมิถุนายน 2556 และจากกูเกิล 2565
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หมายเหตุจาก “กูเกิล” หลังการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์
เท็นซิง
1. สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่เพิ่งรับการสวมมงกุฎใหม่ทรงอนุมัติใน
วันที่ 1 กรกฎาคม 1953 ให้มอบเหรียญ “George Medal” และเหรียญพระราชพิธี
บรมราชาภิเษกของควีนอลิซาเบธที่ 2
2. ในปี 1953 กษัตริย์ตรีภูวันแห่งเนปาลได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ดวงดาวแห่งเนปาล ชั้นที่ 1
3. เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันการปีนเขาหิมาลัย (เมืองดาร์จีลิง) ในปี 1954 และผู้อำนวยการ
ฝ่ายฝึกอบรมภาคสนามของสถาบัน
4. ในปี 1959 รัฐบาลอินเดียได้มอบรางวัลปัทมา ภูชัน ซึ่งเป็นรางวัลพลเรือนสูงสุด
อันดับสามของอินเดีย

เท็นซิงเสียชีวิตด้วยอาการเลือดออกในสมองที่เมืองดาร์จีลิง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 1986 อายุ 71 ปี

ฮิลลารี
1. วันที่ 6 มิถุนายน 1953 ฮิลลารีได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการอัศวินแห่งจักรวรรดิอังกฤษ
(Knight Commander of the Order of the British Empire) และได้รับเหรียญราชาภิเษก
ควีนอลิซาเบธที่ 2 ในปีเดียวกัน
2. ในปี1953 ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ “the Order of Gorkha Dakshina Bahu” ชั้นที่ 1
ของราชอาณาจักรเนปาล
3. โอกาสครบรอบ 50 ปีของการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ครั้งแรก รัฐบาลเนปาลได้มอบสัญชาติ
กิตติมศักดิ์แก่ฮิลลารีในงานฉลองกาญจนาภิเษกพิเศษในเมืองกาฐมาณฑุ ฮิลลารีจึงเป็น
ชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
4. ตั้งแต่ปี 1992 ธนบัตร $5 ของนิวซีแลนด์มีภาพของฮิลลารี ทำให้เขาเป็นบุคคลคนเดียว
ขณะที่มีชีวิตอยู่และไม่ใช่ประมุขของรัฐที่มีภาพอยู่บนธนบัตรของนิวซีแลนด์
5. ฮิลลารีก่อตั้งองค์กร “Himalayan Trust” ในปี 1960 เพื่ออุทิศตนช่วยเหลือชาวเชอร์ปาของ
เนปาลนานถึง 47 ปีจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต องค์กรนี้ได้สร้างโรงเรียนและโรงพยาบาล
หลายแห่งในพื้นที่ห่างไกลของเทือกเขาหิมาลัย นอกจากนั้นฮิลลารียังเป็นประธานกิตติมศักดิ์
ของมูลนิธิ “American Himalayan Foundation” ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐ
อเมริกาที่ช่วยปรับปรุงนิเวศวิทยาและสภาพความเป็นอยู่ของเทือกเขาหิมาลัย และเป็นประธาน
กิตติมศักดิ์ขององค์กรเอกชนระหว่างประเทศ “Mountain Wilderness” เพื่อการปกป้องภูเขาทั่วโลก
6. วันที่ 22 เมษายน 2007 ระหว่างการเดินทางไปกาฐมาณฑุ ฮิลลารีล้มป่วย และเข้ารับการรักษาใน
โรงพยาบาลหลังจากเดินทางกลับนิวซีแลนด์ ฮิลลารีเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว
วันที่ 11 มกราคม 2008 มีการลดธงครึ่งเสาตามอาคารสาธารณะของนิวซีแลนด์
และที่ฐานทัพสก็อตในแอนตาร์กติกา

*****************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ค. 18, 2022 11:05 pm

เรื่องใหญ่ที่🏫โรงเรียนไม่เคยสอน ตอนที่ ( 1 )
โดย มณฑานี ตันติสุข จาก “สรรสาระ” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2550
และจากกูเกิล 2565 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ฉัน (โจ มณฑานี ตันติสุข) มีรายได้จากการเป็นดีเจ, พิธีกร
และเขียนหนังสือ ทุกเดือนมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท บางเดือนก็มากถึง 2 แสนบาท
ฉันรู้สึกว่าเงินหาได้ง่ายและไม่เคยตระหนักเลยว่าเงินอาจบินจากเราไปได้ง่าย ๆ เช่นกัน
ฉันเป็นคนไม่ฟุ่มเฟือย แต่บริหารเงินไม่เป็น ฉันไม่ซื้อของแพงกิน-ใช้ก็จริง แต่ไม่เคยคิดว่า
เป็นของที่คุ้มค่ากับการซื้อหรือไม่ อยากได้ก็ซื้อเลย ไม่เคยทำบัญชี ไม่เคยจ่ายค่าน้ำค่าไฟเอง
ให้เลขาฯ ทำให้ตลอด

บ้านของฉันเองก็ไม่ได้ปลูกฝังเรื่องการใช้เงิน มีการออมบ้างแต่ก็บริหารเงินไม่เป็น โดยเฉพาะ
กับนิสัยการใช้จ่ายเงินของพ่อแม่ที่ทำให้ครอบครัวต้องลำบาก เนื่องจากคุณพ่อเป็นลูกคนมั่งมี
ที่มีกิจการปั๊มน้ำมัน และโรงสี ทำให้มีเงินใช้ไม่ขาดมือ แต่เมื่อลาออกจากราชการ คุณพ่อก็ผัน
ตัวเองมาขับแท็กซี่ แม้จะมีรายได้ดีแต่นิสัยการใช้เงินฟุ่มเฟือยของคุณพ่อทำให้คุณพ่อไม่มีเงินเก็บ
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อก็มีข้อดีคือลูกเมียไม่เคยอด แถมยังซื้อเลโก้และตุ๊กตาบาร์บี้ให้ฉันเล่น
ฉันจึงไม่เคยต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องการเงินตามลำพัง

กระทั่งวันหนึ่งในปี 2540 ฉันตัดสินใจซื้อห้องชุดระดับกลางย่านรัชโยธิน (ราคา 3.7 ล้านบาท)
เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะไม่ต้องให้เงินแม่​ เนื่องจากฉันมีเครดิตดี ธนาคารจึงอนุมัติค่าตกแต่งให้ด้วย
ฉันดีใจโดยไม่รู้เลยว่า ณ วันนั้น อัตราดอกเบี้ยงสูงถึง 15% ฉันส่งค่างวดห้องชุดเดือนละ 49,000 บาท​
ซึ่งเป็นดอกเบี้ย 42,000 บาท! และหลังส่งได้ 3 เดือน ประเทศไทยก็เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก
ช่วงนั้นฉันเพิ่งตั้งบริษัทค่ายเทปที่นำเข้าเพลงเกาหลีได้ไม่นาน เมื่อประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์ปรับจาก 25 บาทต่อดอลล่าร์ฯ เป็น 41 บาท ต้นทุนนำเพลงเข้าจึงสูงขึ้นอีก
เกือบเท่าตัว ฉันต้องมีเงินหมุนเดือนละเกือบ 1 ล้านบาทเพื่อพยุงธุรกิจและส่งค่างวดฯ ...
ที่สุดฉันก็ส่งค่างวดไม่ไหว​ เมื่อไม่ส่งค่างวดปีครึ่ง ดอกเบี้ยทบต้นเพิ่มไปอีก 2 ล้าน รวมเป็นหนี้
ทั้งหมดเกือบ 6 ล้านเฉพาะค่าห้องชุด
ฉันเพิ่งมารู้หลังจากผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวดนี้ว่า ที่จริง ฉันสามารถเจรจาต่อรองกับธนาคาร
ขอผ่อนส่งได้โดยไม่ต้องปล่อยให้ดอกเบี้ยสูงท่วมอย่างที่เป็นอยู่ได้ ถ้าเพียงแต่ฉันรู้...

ปี 2541 ฉันถูกฟ้องล้มละลาย ต้องหาทนายและขึ้นศาลซึ่งให้ฉันประนอมหนี้โดยจ่ายดอกเบี้ย
เดือนละ 30,000 บาท หลังจากฉันจ่ายได้ 9 เดือน ห้องชุดของฉันก็ถูกไฟไหม้ภายในหมดเกลี้ยง
เหลือแต่รองเท้า 200 คู่!... แต่เรื่องแย่ที่สุดนี้กลับกลายเป็นเรื่องดี เมื่อฉันได้เงินประกันมาเพื่อจ่าย
ค่าห้องชุดไปส่วนหนึ่ง รวมทั้งค่าซ่อมแซมทำผนังใหม่ ตัวเองต้องนั่งกินข้าวกับพื้น ไม่มีโต๊ะ ไม่มีโซฟา
อยู่อย่างนั้นทุกวันเป็นเวลาหนึ่งปี
ช่วงที่มีปัญหาเรื่องห้องชุดนั้น ธุรกิจของฉันก็ถูกโกง บริษัทแชนนอล เอ็กซ์ของเราทำธุรกิจคอนเสิร์ต
ครบวงจรกับต่างประเทศ มีการนำนักแสดงเกาหลีเข้ามาแสดงที่ไทย แต่หุ้นส่วนของฉันเบี้ยวไม่ส่งเงิน
ให้ทางเมืองนอก บริษัทจึงมีหนี้ทันทีอีก 6 ล้านบาท ฉันไปขอแม่ช่วยโดยจะขอที่ดินที่ฉันเคยซื้อให้แม่คืน
แต่แม่ตอบว่า “ที่ดินนั้นเป็นของแม่ ไม่เกี่ยวกันแล้ว”

โปรดติดตามตอนจบในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ พุธ พ.ค. 18, 2022 11:19 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ค. 18, 2022 11:14 pm

เรื่องใหญ่ที่🏫โรงเรียนไม่เคยสอน ตอนจบ
โดย มณฑานี ตันติสุข จาก “สรรสาระ​” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2550
และจากกูเกิล 2565 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ทุกอย่างดูจะรุมเร้าเข้ามา วันที่ฉันเหลือเงินอยู่ 3 บาทและมีลูกน้องอีก 5 ชีวิตที่ต้องจ่ายเงินเดือน
ฉันรู้สึกว่าชีวิตถึงทางตันและคิดอยากตาย ฉันร้องไห้จนเหนื่อยและหลับไป ระหว่างหลับ ๆ ตื่น ๆ
ก็เกิดความคิดแวบขึ้นมาว่า ไม่ว่าฉันจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร โลกก็ยังคงไม่เปลี่ยนไป ดวงอาทิตย์
ยังคงขึ้นทุกเช้า และมนุษย์ทุกคนก็ยังคงทำมาหากิน ถ้าฉันฆ่าตัวตาย โลกก็ไม่ได้หยุดหมุน ฉัน
เป็นเพียงมนุษย์ที่กระจ้อยร่อยมาก
พอตื่นขึ้นมา ลูกน้องที่บริษัทมาเคาะประตูห้องชุดที่ฉันยังติดหนี้ธนาคารอยู่ แล้วถามว่า
“พี่มีเงินใช้ไหม” พวกน้อง ๆ พูดต่อไปว่า ไม่ต้องให้เงินเดือนจนกว่าจะมีให้ แล้วพวกเขาก็ซื้อข้าว
มาล้อมวงกินกัน จากนั้นเรื่องราวค่อย ๆ คลี่คลาย พี่ตู่ (นพพล โกมารชุน) มาจ้างเล่นละครโดยไม่รู้
เลยว่าเป็นงานที่มีความหมายต่อฉันมากเพียงไร บริษัทที่เคยติดหนี้ค่างานหนังสือเริ่มทยอยจ่ายคืน
บริษัทของฉันที่มีปัญหาก็ปิดตัวลงเนื่องจากมีบริษัทอื่นมาจ้างฉันไปบริหารงาน หนี้สินที่เหลือก็ใช้
เกือบหมด และเจ้าหนี้ยกหนี้ที่เหลือให้ ราวกับว่า เมื่อชีวิตตกลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว ชีวิตก็เริ่มมีขาขึ้นบ้าง
และฉันก็ไม่เคยคิดเรื่องฆ่าตัวตายอีกเลย
แต่ฉันต้องกลับมาเผชิญหน้ากับตัวเองอีกครั้งและตระหนักว่า การไม่มีเงินไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง
ปัญหาไม่ใช่ความจน แต่เกิดจากการบริหารเงินไม่เป็น ฉันหยุดโทษคนอื่นทั้งหมด เริ่มซื้อหนังสือ
เกี่ยวกับการบริหารเงิน เข้าเว็บไซต์ที่ให้ความรู้โดยเฉพาะเรื่องการจัดการกับหนี้สิน เรียนรู้เรื่อง
การอ่านบัญชีการเงิน, เรื่องหนี้เสีย และการเจรจาต่อรองกับธนาคาร ความรู้เหล่านี้ส่วนใหญ่ได้
จากการเข้าเว็บไซต์ต่างประเทศ
เมื่อหาความรู้ได้สักปีครึ่ง ฉันก็เริ่มพูดคุยกับคนรอบข้างและพบว่าแทบทุกคนไม่มีใครรู้เรื่องการบริหาร
เงินของตัวเอง รวมทั้งเรื่องการเงินอื่น ๆ เช่นวิธีการต่อรองกับธนาคาร​ เป็นต้น ทำให้ฉันเกิดแรง
บันดาลใจเขียนบทความเรื่อง “เงิน เรื่องใหญ่ที่โรงเรียนไม่เคยสอน” และตีพิมพ์เป็นตอน ๆ
ในนิตยสาร “ออฟฟิศเมท” ต่อมามีการจัดพิมพ์รวมเล่มเป็นครั้งแรกในปี 2549 และกลายเป็นหนังสือ
ขายดีถึงกับมีการพิมพ์ครั้งที่ 4
การเปลี่ยนแปลงตัวเองที่แท้จริงเกิดจากการเขียนหนังสือนี้เอง เพราะขณะที่เขียน ฉันก็สำรวจด้าน
การเงินของตัวเองและลงมือปฏิบัติ เพราะถ้าจะเขียนบอกคนอื่น ตัวฉันเองก็ต้องลงมือทำด้วย ไม่เช่นนั้น
จะไม่เกิดพลังในงานเขียน

ฉันเริ่มมีวินัยทางการเงิน ทำบันทึกการเงินทุกวัน บันทึกทุกอย่างตั้งแต่ค่ากินข้าว ค่าแท็กซี่ ฯลฯ
ทั้งรายรับและรายจ่าย เริ่มรู้จักวางแผนการเงินได้ดีขึ้น เมื่อจิตใจเราเป็นระเบียบขึ้น สิ่งภายนอกก็
เปลี่ยนไปด้วย ตอนนี้ฉันมีความสุขมาก มีความนับถือตัวเองมากขึ้น งานเขียนของฉันสามารถทำเงิน
และช่วยส่งหนี้ค่าห้องชุดได้เดือนละ 24,000 บาท ปีนี้ (ปีที่เขียนบทความนี้) ฉันออมเงินได้ 4 แสนบาท
จากลิขสิทธิ์งานเขียนอย่างเดียว ฉันต่อสู้และทยอยปลดหนี้จนหมด ทำให้ได้ห้องชุดกลับมาเป็นของ
ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ปาฏิหาริย์ของฉันเกิดจากการปรับปรุงแก้นิสัยตัวเองโดยไม่รอโชคชะตาและหา
ความรู้ตลอดเวลา
เราทุกคนอยู่ในสังคมที่อยากรวย แต่ฉันก็รู้แล้วว่า ความร่ำรวยแท้จริงอยู่ที่ใจของเราเอง อยู่ที่ความพอเพียง
ในใจ ไม่ว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้ฉันจะมีเงินในกระเป๋าเท่าไร แต่ฉันรู้ว่า ฉันจะมีเงินเพียงพอเสมอ ผู้ที่ยังไม่พบทา
งออกเรื่องการเงิน เธอขอฝากวิธีปฏิวัติที่เธอใช้อยู่ ซึ่งมีเพียง 6 ข้อสั้นๆ และให้ลงมือปฏิบัติ :

• จะต้องแยกระหว่าง “ความอยากได้” กับ “ความจำเป็น”
• จะต้องรู้สถานการณ์การเงินของคุณเป็นอย่างดี ทั้งตัวเลขในบัญชี, ใบแจ้งหนี้ และยอดชำระต่างๆ
• ทำบันทึกทางการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่ว่า “เงินฉันหายไปไหน” ?
• ให้รางวัลตัวเองด้วยการออมไม่ว่าจะออมแบบไหนก็ตาม
• ฝึกนิสัย มีเงินสดจึงค่อยซื้อ จะได้ไม่เป็นหนี้บัตรเครดิต
• ทิ้งมนุษย์พิษที่เป็นตัวบั่นทอนสุขภาพทางการเงินของคุณ แต่ให้สะสมมนุษย์ยอดเยี่ยมเอาไว้

หลักง่ายๆ เพียงเท่านี้ก็อาจจะช่วยทำให้ชีวิตคุณดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

****************** จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ค. 20, 2022 11:00 pm

⭕วีรบุรุษเสื้อเหลือง (ตอนที่(1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 โดย เดชา เวชชพิพัฒน์
และจากกูเกิ้ล เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เวลาประมาณ 15.30 น. ของวันที่ 16 กันยายน 2550 ฝนตกกระหน่ำที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต
ขณะที่เครื่องบินของสายการบิน “วัน-ทู-โก” เที่ยวบินที่ OG269 กำลังจะร่อนลงจอด
ไพบูลย์ ผาพันธ์ ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศวัย 39 ปี ผู้โดยสารหมายเลขที่นั่ง 23E กำลังเดินทาง
กลับจากดูงานเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศที่กรุงเทพฯ พร้อมกับเจ้านายและครอบครัวของเจ้านาย
ซึ่งมีภรรยาและลูกชายวัย 12 ขวบ ไพบูลย์ไม่เคยเห็นฝนตกหนักและลมแรงขนาดนี้มาก่อน เขาจึง
จับยึดเบาะหน้าไว้ทั้งสองมือตอนเครื่องบินกำลังจะแตะทางวิ่ง

เมื่อเครื่องบินมาถึงท่าอากาศยานตอนแรก กัปตันไม่สามารถนำเครื่องลงจอดได้ จึงต้องบินวน
หนึ่งรอบ จากนั้นกัปตันก็ตัดสินใจลงจอด แต่ขณะที่เครื่องกำลังแล่นอยู่บนทางวิ่งเพียงครู่เดียว
ปรากฏว่ากัปตันได้บังคับเครื่องบินให้เชิดหัวเหมือนจะบินขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่เครื่องเกิดไถลออกไป
ด้านข้าง

ขณะที่ล้อเครื่องบินแตะทางวิ่ง ไพบูลย์ได้ยินเสียงดัง “ตึง” แล้วก็ตามด้วยเสียง “ตึง” อีกครั้งหนึ่งเมื่อ
เครื่องบินไถลออกจากทางวิ่งพุ่งชนเนินดิน ครู่ต่อมา เปลวไฟและควันพุ่งมาจากส่วนหัวของเครื่องบิน
“เหมือนกับที่เห็นในภาพยนตร์ไม่มีผิด” ไพบูลย์คิด หลังจากนั้นก็เกิดระเบิดขึ้น 2 ครั้ง ไฟลุกไหม้และ
ลำตัวเครื่องฉีกขาดเป็น 2 ท่อนก่อนเครื่องบินจะหยุดนิ่งและไฟฟ้าในตัวเครื่องบินก็ดับวูบลง

ไพบูลย์พยายามมองหาหน้ากากแต่ไม่พบ ทันใดนั้น เขาก็ได้ยินเสียงเปิดประตูฉุกเฉิน ครู่เดียว
ก็มีแสงสว่างลอดเข้ามาจากฝั่งตรงข้ามด้านซ้ายเยื้องที่นั่งของเขาและห่างออกไปเพียง 3-4 เมตร
ไพบูลย์จึงรีบปลดสายรัดเข็มขัดนิรภัย​ เสี้ยววินาทีนั้น ภาพลูกเมียเเละญาติพี่น้องที่บ้านก็แวบเข้ามา
ในความคิด “เราจะตายไม่ได้” แสงสว่างที่เห็นทำให้ไพบูลย์เชื่อว่าเขาจะต้องรอดแน่ แล้วเขาก็นึกถึง
เจ้านายกับครอบครัวจากแสงรำไร เขาเห็นว่าเจ้านายซึ่งนั่งอยู่ด้านซ้ายมือติดกับเขายังดูปลอดภัยดี
แม้จะร้องด้วยความเจ็บปวด แต่ในขณะนั้น ไพบูลย์หายใจเอาควันเข้าไปเต็มปอดและกำลังจะขาดใจ
อยู่แล้ว เขาดึงเสื้อขึ้นมาปิดจมูกพลางหันไปบอกเจ้านายว่า “ขอผมออกไปสูดอากาศข้างนอกก่อน
แล้วจะกลับเข้ามาช่วยครับ”

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ มิ.ย. 12, 2022 9:32 pm

⭕วีรบุรุษเสื้อเหลือง(เหลือง) (ตอนที่ (2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวา​ ​2550 โดย เดชา เวชชพิพัฒน์
และจากกูเกิ้ล เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

บนเครื่องบินลำเดียวกัน โรเบิร์ต บอร์แลนด์ ชายออสเตรเลียวัย 48 ปีซึ่งอาศัยและทำธุรกิจ
ในไทยมาแล้ว 10 ปีเป็นผู้โดยสารหมายเลขที่นั่ง 24F ติดทางออกฉุกเฉินด้านขวามือของเครื่องบิน
เขาตกใจแทบสิ้นสติกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้น กางเกงเขาเปียกโชกด้วยน้ำมันเครื่องบินและ
ไฟกำลังลุกท่วมที่ขาทั้งสองข้าง

โรเบิร์ตคว้าที่จับประตูฉุกเฉินซึ่งอยู่ข้างที่นั่งของเขา แต่ตัดสินใจไม่เปิดออกเพราะเห็นเปลวไฟกำลัง
โหมอยู่ด้านนอกเครื่องบินใกล้ประตูฉุกเฉินนั้น เขาจึงกระเสือกกระสนไปอีกฟากหนึ่งท่ามกลางผู้คน
ที่ชุลมุนแย่งกันออกจากเครื่อง ขณะนั้นภายในเครื่องเพลิงยังลุกไหม้ระคนกับควันไฟที่พวยพุ่งอยู่.
ทั้งที่ไฟกำลังไหม้ที่ขากางเกงและรู้สึกปวดหลังอย่างมาก โรเบิร์ตพยายามรวบรวมพลังสุดชีวิต
คลานตรงไปที่แสงสว่างของประตูฉุกเฉิน แต่ก็จำต้องหยุดอยู่ที่หน้าประตูนั้นเพราะไม่มีแรงพอจะ
ยกตัวข้ามพ้นประตูออกไปได้
ส่วนไพบูลย์ เมื่อก้าวพ้นประตูฉุกเฉินออกไปยืนที่ปีกเครื่องบินได้ก็รีบสูดเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดอีกครั้ง
ถึงตอนนั้น มีคนยืนอออยู่ที่ประตูไม่กี่คน ไพบูลย์รีบไปช่วยประคองหลายคนที่โซซัดโซเซให้ออกมา
ยืนที่ปีกเครื่องบิน และกำลังจะเข้าไปช่วยเจ้านาย
เมื่อไพบูลย์โผล่หน้าเข้าไปในเครื่องบิน ก็เห็นชายต่างชาติล้มลงนอนนิ่งที่หน้าประตู ไฟลุกท่วมตัวอย่าง
น่ากลัว “ถ้าไม่ช่วยชายผู้นี้ เขาต้องถูกไฟคลอกตายแน่” ไพบูลย์คิด ขณะนั้น มีแต่ศีรษะของโรเบิร์ตที่
โผล่พ้นประตู ตัวเขายังคาอยู่ภายในเครื่อง ไพบูลย์ไม่รอช้า คว้าข้อมือทั้งสองข้างของโรเบิร์ตแล้ว
ออกแรงฉุดดึงเต็มกำลัง ชายผู้นั้นร่างใหญ่กว่าไพบูลย์เกือบเท่าตัว กว่าจะลากพ้นประตูออกมาได้ก็
ทุลักทุเลเต็มที จากนั้นโรเบิร์ตก็ไถลตัวลงไปตามปีกเครื่องบินมากองอยู่กับพื้นดินด้านล่าง แล้วฝนที่
ตกหนักก็ช่วยดับเปลวไฟที่ตัวโรเบิร์ต... เมื่อไพบูลย์จะกลับเข้าไปในตัวเครื่องบินอีกครั้งก็เห็นเจ้านาย
เดินออกมาอย่างเหนื่อยอ่อน

โปรดติดตามตอนที่ (3 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ มิ.ย. 17, 2022 9:18 pm

วีรบุรุษเสื้อเหลือง(เหลือง) (ตอนที่ (3)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 โดย เดชา เวชชพิพัฒน์
และจากกูเกิ้ล เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลังเหตุการณ์ผ่านไปได้ 10 วัน โรเบิร์ตกล่าวว่า “ผมจำได้ว่า มีผู้ชายไทยตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งสวมเสื้อ
สีเหลืองแบบที่คนไทยใส่เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาดึงตัวผม
ออกไปที่ปีกเครื่องบิน นับว่าเป็นการแสดงน้ำใจอันยิ่งใหญ่ เพราะในเวลานั้น เครื่องบินอาจระเบิด
ขึ้นได้ทุกวินาที คุณไพบูลย์เป็นวีรบุรุษ เขาคือคนที่พยายามช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่คิดถึงตัวเอง
เขาช่วยเหลือผู้อื่นทุกคน ช่วยแม้กระทั่งคนที่เขาไม่รู้จัก ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณเขาจริง ๆ”

ส่วนไพบูลย์กล่าวถึงสิ่งที่เขาทำอย่างถ่อมตัวว่า “ผมไม่คิดว่า ตัวเองเป็นวีรบุรุษหรอก ผมเป็นแค่คนใจเย็น
และคุมสติได้ เมื่อเห็นว่าตัวเองยังมีชีวิตอยู่ ยังมีแรงมีกำลังพอจะช่วยคนอื่นได้ ผมก็ช่วยเท่านั้นเองครับ”

ไพบูลย์และโรเบิร์ตเป็นผู้โดยสาร 2 คนในผู้รอดชีวิต 40 คนจากผู้โดยสาร 123 คนและลูกเรือ 7 คน
ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 90 คน เจ้านายของไพบูลย์และลูกชายรอด แต่ภรรยาเสียชีวิต

ผลของการสืบสวนสาเหตุของโศกนาฏกรรมสรุปเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ว่าเป็นเพราะการทำงาน
ผิดพลาดของนักบิน และในเดือนกันยายน 2553 สายการบิน “วัน-ทู-โก” ก็ได้รวมเข้ากับสายการบิน
โอเรียนท์ไทย

หลังพักรักษาตัวจากอาการกระดูกสันหลังยุบที่โรงพยาบาล 2 สัปดาห์ ไพบูลย์ก็กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
ส่วนโรเบิร์ตอาการหนักกว่ามาก ต้องพักรักษาตัว 99 วันในโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตจากอาการแขนหัก
บาดเจ็บที่หลัง และไฟลวกขาทั้งสองข้าง ทั้งสองยังคงอาศัยอยู่และทำงานในภูเก็ตเช่นเดิม เพียงแต่มี
เรื่องน่ายินดีเพิ่มอีกเรื่องหนึ่งคือ ทั้งสองสาบานเป็นพี่น้องกัน พร้อมให้ความช่วยเหลือกันและกันตลอดไป

*****************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ มิ.ย. 18, 2022 6:44 pm

😊อภัยในสิ่งที่ไม่อาจให้อภัย จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนกรกฎาคม 2547/2004 โดย ลิซา คอลเลียร์ คูล
และจากกูเกิ้ล 2022 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เบตตี้ เฟอร์กูสัน (Betty Ferguson) ทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่คงไม่อาจทำได้ นั่นคือให้อภัย
ผู้ที่ฆ่าลูกของเธอ เช้าวันศุกร์ในเดือนสิงหาคม 1976 เบ็ตตี้รู้สึกโกรธจัดเมื่อเข้าไปในห้อง
ของลูกสาววัยรุ่นของเธอและพบเตียงของเธอว่างเปล่า 2-3 วันต่อมา​ มีผู้พบศพเด็บบี้
(Debbie) ลูกสาวซึ่งกำลังจะขึ้นชั้นมัธยมปลาย ถูกรัดคอตายโดยมีสายไฟมัดร่างอยู่
เบ็ตตี้เศร้าเสียใจอย่างหนักจนไม่สามารถไปร่วมงานศพของลูกสาวได้ ขณะที่ตำรวจกำลัง
สืบหาตัวฆาตกรอยู่นั้น เธอได้แต่นั่งอยู่กับบ้านทั้งวันทั้งคืน และเอาแต่ดื่มเหล้าเพื่อดับ
ความทุกข์ระทม สามี เพื่อน พระสงฆ์และนักบำบัดจิตไม่สามารถปลอบประโลมใจเธอได้เลย
เธอไม่สนใจใยดีแม้แต่กับลูกๆ อีก 4 คนซึ่งมีอายุ 10-14 ปี
ในขณะนั้น เธอครุ่นคิดถึงวาระสุดท้ายสุดสยองของลูกสาวและโกรธแค้นฆาตกรเป็นยิ่งนัก

ในที่สุด ตำรวจสืบจนทราบว่าฆาตกรคือ ‘เรย์ เพ็น’ (Ray Payne) ครูภาษาอังกฤษที่ลักพาตัว
เด็บบี้ไปฆ่า การที่เรย์ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ได้รับทัณฑ์บน
ในปี 1977 รวมทั้งการชนะคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายได้ 1.4 ล้านเหรียญไม่ได้ช่วยบรรเทา
ความเจ็บปวดของเบตตี้เลย วันแล้ววันเล่าเธอเฝ้าแต่สาปแช่งเรย์ เธอกล่าวในภายหลังว่า
“ความเกลียดชังกัดกร่อนหัวใจของฉัน” และเธอก็ยังคงจมอยู่ในความทุกข์จนศีรษะปวดระบม
และลามไปปวดหลังอย่างรุนแรงจนแทบจะยืนไม่ได้

ล่วงมาในปี 1981 สุขภาพกายและสุขภาพจิตของเธออยู่ในขั้นวิกฤต เธอจึงเริ่มตระหนักว่า
เพื่อจะเอาชีวิตรอด เธอจะต้องหาเส้นทางอื่นที่ไม่ใช่การแก้แค้น ข้อความตอนหนึ่งจาก
บทสวดที่ว่า : “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าอภัยแก่ผู้อื่น” ก็ทำงานในจิตใจ
ของเธอ​ เบตตี้เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับการให้อภัยและรู้สึกว่าการให้อภัยน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้
เธอไปเยี่ยมสุสานที่ฝังศพเด็บบี้และอ่านข้อความบนแผ่นหินที่จารึกว่า :
“สิ่งที่โลกต้องการในขณะนี้คือ ความรักและความเมตตา”

ไม่นานต่อมา เบตตี้ก็พูดกับตัวเธอว่า “ฉันเต็มใจที่จะอภัยให้เรย์” เธอพูดออกมาดัง ๆ ซ้ำ ๆ
หลายหนเหมือนกับท่องมนต์ แล้วภายในเวลาไม่ถึงปี เธอก็เขียนจดหมายถึงเรย์
“ฉันเลิกโกรธคุณแล้ว ฉันจะไปเยี่ยมคุณและเล่าถึงชีวิตของฉันให้คุณทราบ”

ในปี 1986 หลังการฆาตกรรม 11 ปี เบตตี้ไปเยี่ยมเรย์ที่เรือนจำ “ฉันบอกเขาว่า เด็บบี้ลูกสาว
มีความหมายอย่างไรต่อฉัน ฉันรู้สึกสูญเสียและจิตใจแตกสลายมากเพียงใด เขานั่งนิ่งฟังแล้วเรา
ก็ร้องไห้ด้วยกัน เมื่อฉันกลับออกมา ฉันรู้สึกเหมือนเป็นคนใหม่ที่มีจิตใจอ่อนโยนปลอดโปร่ง
และมีเมตตามากขึ้น”
เบตตี้มีคำตอบพร้อมให้กับเพื่อน ๆ ที่ถึงกับตกตะลึงกับการกระทำของเธอนั่นคือ
“การให้อภัยเป็นของขวัญสุดประเสริฐที่ฉันให้แก่ตัวเองและลูก ๆ” เบตตี้กล่าว ขณะที่เขียน
บทความนี้ เธอทำงานเป็นผู้สมานความปรองดองระหว่างผู้ถูกกระทำและผู้ก่ออาชญากรรม
ในโครงการของรัฐเพนซิลเวเนียซึ่งเริ่มในปี 1998 ที่จัดขึ้นสำหรับเหยื่ออาชญากรรมรุนแรง”
เส้นทางการเยียวยาของฉัน ช่างมีพลังจนแทบไม่น่าเชื่อ และการให้อภัยช่วยชีวิตฉันได้ในที่สุด”

*****************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ มิ.ย. 18, 2022 6:53 pm

"ด่วนที่สุด" ตอนที่ (1)จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนธันวาคม 2550 โดย จอห์น ไคสัน เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ณ เวลา 02.00 น. ของคืนหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 2547 ‘เหรินหั่ง’ ช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์
ที่กรุงไทเป กำลังคิดว่าจะเลิกงานแล้วกลับบ้าน ขณะออนไลน์อยู่ เขาคลิกไปที่หน้ากระดานข่าว
ซึ่งปกติมักมีข้อความจากคนที่ต้องการคำแนะนำเรื่องการซื้อสินค้าและอยากพูดคุย

ข้อความล่าสุดที่โพสต์เข้ามาจุดความสนใจของเขา ลงชื่อโดย Cutecat0604 บอกแค่ว่า
“ฉันอยากคุย” ด้วยความอยากรู้ เหรินหั่งจึงส่งหมายเลขโทรศัพท์ไปให้ ครู่ต่อมา มือถือก็
ดังขึ้น หญิงสาวคนหนึ่งอยู่ในสาย “ฉันนอนไม่หลับ” เธอบอก น้ำเสียงอ่อนล้า
“กลุ้มใจนิดหน่อย ฉันไม่ชอบอยู่ลำพังคนเดียว”

“ไม่เอาน่า เจ้าหญิงน้อย” เหรินหั่งพูดอย่างร่าเริง “อย่าเป็นแบบนี้สิ”

กว่าเขาและเธอจะวางสายในอีก 2 ชั่วโมงให้หลัง มิตรภาพก็เริ่มต้นขึ้น

เหรินหั่งทำงานช่วงกลางคืนอันเงียบเหงายาวนานอยู่ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ “ไชน่าโพสต์”
พร้อมรอแก้ปัญหาเผื่อคอมพิวเตอร์ ในห้องทำงานบนชั้นที่สี่ซึ่งระเกะระกะไปด้วยจอคอมพิวเตอร์
แป้นพิมพ์ เครื่องพิมพ์ และสายไฟ เหรินหั่งมักจะฆ่าเวลาไปกับกระดานข่าวพีทีที
(professional technology temple) ซึ่งมีผู้ใช้เกือบล้านคน และกลุ่มเสาวนาอีก 10,000 กลุ่ม
พีทีทีจึงเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นออนไลน์ใหญ่ที่สุดในโลกของชาวจีน

ชายหนุ่มท่าทางเรียบร้อยหน้าตาดีสวมแว่นทรงเรียวยาวจะหัวเราะหึ ๆ ระหว่างไล่ดูกระทู้ที่โพสต์
ในกลุ่มเสาวนาชื่อ "Hate” หรือกลุ่ม ‘เกลียด’ ซึ่งเริ่มจากการเป็นเวทีให้ผู้ใช้เว็บพีทีทีแสดงความ
ไม่พอใจประเด็นอะไรก็ได้ก่อนพัฒนามาเป็นแหล่งแพร่ข่าวซุบซิบ ข่าวสาร ขำขัน รวมถึงระบาย
ความโกรธ

ชื่อ ‘เหรินหั่ง’ แปลว่า “ผู้มีเมตตาอันยิ่งใหญ่” และชายหนุ่มก็เป็นคนชอบช่วยเหลือ ไม่นานนัก
เขาก็รู้ว่าชื่อจริงของ ‘Cutecat’ คือ ‘หยาง ยู่ถิง’ เธออายุ 22 ปี กำลังศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ
ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองเกาซุง ( Kaohsiung) ศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหญ่ห่างจาก
กรุงไทเปไปทางใต้ 300 กิโลเมตร

เขาและเธอคุยกันทุกคืน บางครั้งนานเป็นชั่วโมง

“ถ้าฉันนั่งอยู่ข้าง ๆ คุณตอนนี้ คุณจะกอดฉันไหม” คืนหนึ่ง ยู่ถิงถามขึ้น

“กอดสิ กอดให้แน่นที่สุดในโลกเลย เจ้าหญิงน้อย” เหรินหั่งสัญญา

เมื่อยู่ถิงบอกว่า เธอมีบล็อกของตัวเอง เหรินหั่งเปิดเข้าไปดู และเห็นรูปในบล็อกของเธอ
เธอดูเป็นคนตัวเล็กนิดเดียวและบอบบางพอ ๆ กับตุ๊กตาตาโต ยู่ถิงย้อมผมสีแดงทิ้งลงมา
ประบ่า ยิ้มหน้าทะเล้น ชื่อ “ ‘cutecat’ ที่เธอใช้สมกับตัวดีแล้ว ”
เขาคิด “แมวน้อยผู้น่ารักจริง ๆ ด้วย”

โปรดติดตามตอนที่ (2)ในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ ม.ค. 14, 2023 8:05 pm, แก้ไขไปแล้ว 2 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ มิ.ย. 18, 2022 6:58 pm

"ด่วนที่สุด" ตอนที่ ( 2 )จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนธันวาคม 2550 โดย จอห์น ไคสัน เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

แต่ยู่ถิงมีความทุกข์ใจเห็นได้ชัด เธอยอมรับกับเหรินหั่งว่า เคยกินยาฆ่าตัวตายหลายครั้งแล้ว
แต่ก็มีคนมาพบทันเวลาทุกที “ใจฉันโบ๋เป็นรูใหญ่เบ้อเริ่ม ไม่มีทางปะซ่อมได้” เธอบอกเขา

เหรินหั่งค่อย ๆ ค้นพบเหตุผลเบื้องหลังความซึมเศร้าของเธอ ตอนอายุ 15 ปี พ่อเธอไปมี
สัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ยู่ถิงเคยมีแฟนเป็นตัวเป็นตนมาแล้ว 2 คน แต่นิสัยของเธอที่
“กลัวเหลือเกินว่าจะต้องอยู่คนเดียว” ก็ผลักไสจนพวกเขาเลิกราไป

ปี 2547 ยู่ถิงสักรูปหัวใจมีปีกไว้ที่ท้อง “สักวันฉันจะโบยบิน” เธอให้คำมั่นกับตัวเอง

สุ้มเสียงร่าเริงของเหรินหั่งทางโทรศัพท์ช่วยรักษาอาการซึมเศร้าของยู่ถิงได้ดีกว่ายา
ที่หมอสั่งเสียอีก เขาดูเหมือนจะเข้าใจเธอและรู้สึกได้ว่าตัวเองกำลังช่วยให้หญิงสาว
เผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ ได้ และเสียงของเธอก็ช่วยเติมเต็มชั่วโมงอันเงียบเหงา
ของเขาในที่ทำงานได้ดีทีเดียว

แต่แล้ววันที่ 20 ธันวาคมทุกสิ่งเปลี่ยนไป

ยู่ถิงจอดรถสกูตเตอร์ของเธอไว้นอกโรงแรม และเดินเข้าไปในห้องโถงสดใสตกแต่งด้วย
ดอกกุหลาบปลอมโรยกากเพชร “มีห้องว่างไหมคะ” ยู่ถิง ถาม ‘หวง ซู่เผิง’ ผู้จัดการซึ่งมา
ต้อนรับแขก “เข้าพักกี่คนครับ” ซู่เผิงถามโดยไม่ได้สังเกตเธอละเอียดลออนัก “คนเดียวค่ะ”
เธอจ่ายค่าห้อง 18 เหรียญ แล้วรับกุญแจไปไขห้อง 808 ห้องนั้นมีเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้น
มีเตียงคู่หนึ่งเตียง เก้าอี้หวายสองตัวกับรูปภาพดอกลิลลี่สีแดง

พอนั่งลงบนเตียง ยู่ถิงก็หยิบยานอนหลับที่หมอสั่งออกมาแล้วกลืนลงไปทีละเม็ด
รวมประมาณ 20 เม็ด

จากนั้น เธอก็แก้ห่อเตาบาร์บีคิวที่ลอบเอาเข้ามาในโรงแรมโดยซ่อนไว้ในเสื้อโค้ท
และจุดหัวจุดเตา ติดไฟทันทีก่อนจะเผาไหม้ก้อนถ่านเชื้อเพลิงและปล่อยควันพิษ
ออกมาจนเต็มห้องอย่างรวดเร็ว

ยู่ถิงนั่งลงบนเตียงแล้วเขียนลงในสมุดบันทึกว่า “ขอโทษด้วย ฉันเหนื่อยเหลือเกินและ
อนาคตก็ไม่มีคำตอบ พ่อจ๋า แม่จ๋า น้องสาว หนูรักทุกคนจ้ะ”

แล้วเธอก็โทรฯ หาเหรินหั่ง

20.55 น.
เหรินหั่งซึ่งนั่งอยู่ที่ห้องคอมพิวเตอร์ยิ้มเมื่อโทรศัพท์ดังขึ้น เขารู้ว่าจะเป็นใครไปไม่ได้
แต่เสียงของยู่ถิงแปลกไป ฟังดูเซื่องซึมและล่องลอย

“รู้ไหมว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่” เธอถามลอย ๆ
“ทำอะไรล่ะ”
“กำลังจุดเตาบาร์บีคิวเผาถ่าน”

เหรินหั่งผุดลุกขึ้นนั่งตัวตรง ใจเต้นรัว การเผาถ่านปล่อยก๊าซพิษคาร์บอนมอนอกไซด์เป็น
วิธีฆ่าตัวตายที่พบมากที่สุดแบบหนึ่งในไต้หวัน

“คุณอยู่ที่ไหน” เขาถาม

“ฉันอยู่ที่โรงแรม คุณจะได้หาฉันไม่เจอ” พอเธอเริ่มพูดน้ำเสียงอ้อแอ้ ทำให้เหรินหั่งก็รู้ทันทีว่า
เธอกินยาเข้าไปด้วย
“โรงแรมชื่ออะไร”
“ไม่บอก คุณไม่มีทางรู้ว่าฉันอยู่ที่ไหน ฉันกำลังจะโบยบินไป”
“ก็ได้ งั้นห้องคุณเบอร์อะไร”
“ไม่บอกหรอก”
“อยู่ชั้นไหน”
“เอ้อ สำคัญด้วยเหรอ” ยู่ถิงถอนหายใจ “ฉันอยู่ชั้น 8”
“ผมมีธุระต้องทำ” เหรินหั่งบอกห้วน ๆ แล้ววางสาย

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ ม.ค. 14, 2023 8:05 pm, แก้ไขไปแล้ว 2 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ มิ.ย. 18, 2022 7:02 pm

"ด่วนที่สุด" ตอนที่ ( 3 ) จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนธันวาคม 2550 โดย จอห์น ไคสัน เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

21.07 น.
เหรินหั่งออนไลน์เข้าไปที่กลุ่ม “เกลียด” ในเว็บพีทีที นิ้วเขารัวอยู่เหนือแป้นพิมพ์ขณะพิมพ์
กระทู้ใหม่เข้าไปว่า “หญิงสาวคนหนึ่งในเมืองเกาซุงพยายามจะฆ่าตัวตายอยู่ในขณะนี้
แต่ผมอยู่ไทเป สาเหตุเป็นเรื่องปัญหาด้านความสัมพันธ์และโรคซึมเศร้า เธอชื่อหยาง ยู่ถิง
เพิ่งเช็กอินเข้าห้องพักบนชั้น 8 ของโรงแรมแห่งหนึ่ง และกำลังเผาถ่านเพื่อรมแก๊สตัวเอง
ชาวเน็ตในเกาซุงช่วยหาตัวเธอด้วย เพราะเธอเป็นสมาชิกคนหนึ่งของเรา ถ้าภายในหนึ่ง
ชั่วโมงนับจากนี้เราหาเธอพบ เราอาจช่วยชีวิตเธอได้”

แล้วเขาก็พิมพ์เพิ่มว่า “ช่วยชีวิตคนหนึ่งคน ได้บุญมากกว่าสร้างเจดีย์ 7 ชั้น ได้โปรดเถอะครับ”

เขาพิมพ์คำว่า “ด่วนที่สุด” ไว้บนหัวข้อเรื่อง แล้วส่งกระทู้ออกไป

กระทู้นั้นไปที่ผู้ดูแลเว็บซึ่งจะต้องตรวจกรองข้อความก่อน เขายิงคำถามกลับมาที่เหรินหั่งทันที

“นี่เป็นเรื่องจริงหรือล้อเล่น”
“เรื่องจริงแน่นอน” เหรินหั่งตอบ
ผู้ดูแลเว็บติดดาวเหลืองให้กระทู้เพื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและส่งไปตามกระดานข่าวอื่น ๆ
ด้วย ชั่วพริบตาต่อมา กระทู้นั้นก็โผล่ขึ้นบนจอคอมพิวเตอร์หลายร้อยจอทั่วทั้งเกาะไต้หวัน
มีผู้ตอบเข้ามาแทบจะทันที

“เร็วเข้า” YivanL โพสต์ “ชาวเน็ตรีบไปช่วยเธอด้วย”
“หลายโรงแรมในเกาซุงสูงเกิน 8 ชั้น” wowowo60 เขียนมา “ลดขอบเขตให้แคบลงหน่อยได้ไหม”
“ช่วยทำรายชื่อโรงแรมด้วย” gogomisa บอก “โทรฯ ไปตามโรงแรมแล้วถามดูซิว่า มีแขกชื่อนี้หรือเปล่า”

ความเร็วอันน่าทึ่งของข้อความที่โพสต์เข้ามาทำให้เหรินหั่งใจชื้นขึ้น เขาโทรฯ หาหน่วยดับเพลิง
และรถพยาบาล อธิบายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่เกาซุง เจ้าหน้าที่รับปากว่า จะแจ้งหน่วยบริการฉุกเฉินที่นั่นให้

ชายหนุ่มกดเบอร์ของยู่ถิง แต่ไม่มีคนรับสาย
เหรินหั่งวาดภาพควันพิษ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แผ่ออกไปเรื่อย ๆ จนเต็มห้อง แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านั้น

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 ) ในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ ม.ค. 14, 2023 8:05 pm, แก้ไขไปแล้ว 2 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ มิ.ย. 18, 2022 7:09 pm

"ด่วนที่สุด" ตอนที่ ( 4 )จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนธันวาคม 2550 โดย จอห์น ไคสัน เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

21.45 น.
‘เฉิน เว่ยฉวน’ ออนไลน์เข้าไปในเว็บพีทีที นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 28 ปี ขี้อาย รูปร่างบึกบึน
สูง 188 เซนติเมตร อาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่เกาซุง คืนนี้ ด้วยอารมณ์พาไป เขาทำบางอย่างที่นาน ๆ
ครั้งจึงจะทำ นั่นคือคลิกเข้าไปที่กลุ่ม “เกลียด”
กระทู้ของ ‘เหรินหั่ง’ โดดผลุงขึ้นมาบนจอในฉับพลัน มีคนตอบมาแล้ว 40 รายการ และยังมี
เข้ามาตลอดทุกนาที
“มีใครรู้จักเธอบ้าง” sh5inq ถาม “ช่วยกันโทรฯ หาพ่อแม่ แฟน หรือเพื่อนของเธอเร็วเข้า”
“แล้วใครสักคนก็จำชื่อยู่ถิงได้ และให้ชื่อมหาวิทยาลัยมา
“เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเธอ ได้โปรดโทรฯ ไปปลอบใจเธอด้วย” yanki826 บอก
VGA แจ้งว่ายู่ถิงเรียนชั้นเดียวกับเธอตอนมัธยมปลาย แต่ขาดการติดต่อกันไป
“เราจะช่วยอะไรได้บ้าง” เว่ยฉวนใช้ความคิด ขณะอ่านกระทู้นั้นซ้ำอีกครั้ง แล้วเขาก็จด
ประเด็นสำคัญ ๆ ลงในกระดาษว่า
- มหาวิทยาลัยที่ยู่ถิงเรียนอยู่ในเขตซานหมิ่น (Sanmin) ไม่ไกลจากที่นี่เท่าไร
- โรงแรมสูง 8 ชั้นเป็นอย่างน้อย นี่ก็อีกประเด็น
- ผู้หญิงคนนั้นเป็นนักศึกษา น่าจะเป็นโรงแรมที่ไม่แพง
เว่ยฉวนตรวจดูเว็บไซต์ของโรงแรมราว 20 แห่งโดยใช้เกณฑ์ที่เขาเลือก เขารู้ว่าคงต้อง
ใช้เวลานานมากกว่าจะดูครบทุกแห่ง ถึงตอนนั้น เธออาจตายไปแล้วก็ได้

เขาตัดสินใจเริ่มจากโรงแรมอีด้าซึ่งมี 10 ชั้น ราคาถูก และอยู่ใกล้บ้านเขา
เว่ยฉวนกดโทรศัพท์ ผู้ชายรับสาย เขารู้ว่าปกติโรงแรมมักไม่ค่อยยอมให้ข้อมูลเกี่ยวกับ
แขกที่มาพัก เขาจึงขอจองห้อง “ขอจองห้องพักวันอาทิตย์นี้ได้ไหมครับ”

“ได้ครับ” ผู้จัดการบอก แล้วเริ่มจดรายละเอียด
“อ้อ เกือบลืม” เว่ยฉวนพูดต่อ “ผมมีเพื่อนชื่อหยาง ยู่ถิง เธออาจมาเช็กอินแล้ว
เธออยู่ที่นั่นหรือเปล่าครับ”

“อ้อ ครับ เธออยู่ที่นี่”

เว่ยฉวนแทบไม่อยากเชื่อสิ่งที่ได้ยิน เขารีบพูดตอบด่วนจี๋ว่า “คุณครับ ผู้หญิงคนนี้กำลัง
ฆ่าตัวตาย รีบไปเคาะประตูห้องเธอเร็ว ๆ”

หวง ซู่เผิง ผู้จัดการโรงแรม โทรฯ เรียกหน่วยบริการฉุกเฉินแล้วเผ่นพรวดขึ้นข้างบน เขาทุบ
ประตูห้องแต่ไม่มีคนมาเปิด เขาใช้กุญแจกลางของโรงแรมเปิดล็อก แต่ประตูคล้องโซ่อยู่
เขาจึงกระแทกแรง ๆ สองทีก็เปิดออก
ทั้งห้องแน่นทึบไปด้วยหมอกควัน แต่เด็กสาวยังหายใจอยู่ ซู่เผิงผลักบานหน้าต่างเปิดออก
ตบแก้มยู่ถิงเบา ๆ เพื่อปลุกเธอไม่ให้หมดสติ แล้วรีบอุ้มเธอไปวางลงบนรถเข็นกระเป๋าก่อน
พาเธอออกจากห้อง

22.23 น.
ข้อความจากเว่ยฉวนปรากฏขึ้นบนจอทุกจอ “เพิ่งโทรศัพท์และหาคนคนนี้พบแล้วที่โรงแรมอีด้า”

ตอนนี้กระทู้ตอบเปลี่ยนแนวใหม่ “ฉันอยากร้องไห้” malakaki เขียน “เธอไม่เป็นไรใช่ไหม”
“หวังว่าคงไม่สายเกินไป” sorryboy เขียนมา

23.30 น.
ที่ไทเป เหรินหั่งรู้สึกโล่งอกและดีใจ เขาพูดกับน้องสาวของยู่ถิงและหน่วยบริการ
รถพยาบาลเกาซุง ชายหนุ่มโพสต์ข้อความสุดท้ายพลางยิ้มกว้าง
“คุณหยางอยู่ในโรงพยาบาล ครอบครัวของเธอขอให้ผมบอกขอบคุณทุกคน เธออาจ
โกรธผม แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ทำให้เธอรู้แล้วว่า มีคนไม่สิ้นหวังกับตัวเธอ
ผมจึงหวังว่าเธอจะไม่หมดหวังกับตัวเอง”

หนึ่งเดือนต่อมา ยู่ถิงเดินทางมาไทเปเพื่อพบเหรินหั่ง ทั้งคู่คุยกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้น
“คุณติดค้างฉันอยู่อย่างหนึ่ง จำได้ไหม” ยู่ถิงพูด
“ใช่ ผมรู้” เหรินหั่ง ตอบพร้อมกับโน้มตัวลง สวมกอดเธอไว้แน่นตามที่เคยสัญญาไว้
“ขอบคุณสำหรับทุกอย่างที่คุณทำลงไป” เธอบอกเขาพร้อมรอยยิ้มอย่างจริงใจ

***************
จบบริบูรณ์
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ ม.ค. 14, 2023 8:05 pm, แก้ไขไปแล้ว 2 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 16, 2022 10:17 pm

: (&)ด้วยรักจากคนอ่านหนังสือพิมพ์ ตอนที่ ( 1 )จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนธันวาคม 2539 โดย Marvin J. Wolf รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ความจำเป็นทำให้ผมต้องออกหาเงินตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ผมไปของานรับส่งหนังสือพิมพ์
หลังเลิกเรียนจากคุณมิเชลี ตัวแทนส่งสำนักพิมพ์เฮรัลด์ (Chicago Herald American:1939-1953)
ที่อยู่ใกล้บ้านผมในชิคาโก เขาบอกว่าถ้าผมมีจักรยาน ก็ส่งหนังสือพิมพ์ได้

ตอนนั้นพ่อผมทำงานถึง 4 อย่างด้วยกัน ตอนกลางวันพ่อเป็นช่างทำป้ายนีออน เลิกงานก็ไป
ส่งดอกไม้จนถึง 2 ทุ่ม จากนั้นก็ขับรถแท็กซี่ถึงเที่ยงคืน พอสุดสัปดาห์ยังออกขายประกันตามบ้านอีก
พ่อซื้อจักรยานเก่าๆให้ผมคันหนึ่ง ยังไม่ทันจะสอนให้ผมขี่เป็น พ่อก็ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะ
โรคปอดบวม คุณมิเชลีแค่ขอดูจักรยานแต่ไม่ได้บอกให้ขี่ให้ดู ผมจึงเข็นจักรยานไปให้เขาดูแล้วก็
ได้งานทำ

ช่วงแรกๆผมอัดม้วนหนังสือพิมพ์ใส่ถุงจนเต็มแล้วห้อยไว้กับแฮนด์จักรยานและเข็นรถไปตาม
ทางเท้า แต่วิธีดังกล่าวค่อนข้างลำบาก ผมจึงทิ้งจักรยานไว้ที่บ้านหลังจากนั้นเพียง 2 วัน และขอยืม
รถลากสองล้อที่แม่ใช้จ่ายกับข้าวไปใช้แทน

การขี่จักรยานส่งหนังสือพิมพ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีโอกาสโยนหนังสือพิมพ์เพียงครั้งเดียว
ถ้าโยนพลาดไม่ไปตกที่ระเบียงหรือหน้าประตูบ้านก็ถือว่าแย่ แต่ด้วยรถลากของแม่ ผมสามารถทิ้ง
รถไว้บนทางเท้าแล้วหยิบหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับไปวางไว้ให้ถึงหน้าบ้าน และถ้าต้องโยนหนังสือพิมพ์
ขึ้นไปบนระเบียงชั้นสองแต่เกิดโยนพลาดก็ยังแก้ตัวใหม่ได้ สำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ซึ่งทั้ง
หนาและหนักกว่าปกติ ผมจึงต้องใช้วิธีถือแต่ละฉบับเดินขึ้นบันไดไปวางไว้ให้อย่างเรียบร้อย วันไหน
ที่ฝนตก ผมจะสอดหนังสือเข้าทางประตูหรือไปวางไว้ในห้องโถงทางเข้าในกรณีที่เป็นอพาร์ตเมนท์
เวลาฝนหรือหิมะตก ผมจะเอาเสื้อโค้ตเก่าๆของพ่อมาคลุมรถลากไว้กันไม่ให้หนังสือพิมพ์เปียก

การส่งหนังสือพิมพ์ด้วยรถลากกินเวลามากกว่าส่งด้วยจักรยานก็จริง แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะช่วย
ให้ผมได้รู้จักกับผู้คนในละแวกนั้นซึ่งเป็นคนทำงานหาเช้ากินค่ำหลายเชื้อชาติ ทั้งอิตาเลียน เยอรมัน
โปแลนด์และต่างก็มีน้ำใจดีกับผม ผมยังได้หยุดดูอะไรเพลินๆระหว่างที่ลากรถส่งหนังสือพิมพ์อีกด้วย
เช่นดูแม่หมาเล่นกับลูกๆของมัน หรือสีรุ้งที่เกิดจากคราบน้ำมันบนพื้นถนนยางมะตอยเปียกๆ เป็นต้น

พ่อกลับไปทำงานกลางวันตามเดิมหลังออกจากโรงพยาบาล แต่ต้องเลิกทำงานอย่างอื่นเพราะ
ยังไม่แข็งแรงดี ตอนนี้เราต้องเอาเงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ไปใช้จ่าย ที่บ้านจึงจำต้องขายจักรยาน
ซึ่งผมไม่ขัดข้องเพราะยังไงผมก็ขี่ไม่เป็นอยู่ดี

คุณมิเชลีคงรู้ว่าผมไม่ได้ใช้จักรยาน แต่ก็ไม่เคยพูดกับผมเรื่องนี้ อันที่จริงเขาแทบจะไม่เคยพูดกับ
เด็กส่งหนังสือพิมพ์คนไหนด้วยซ้ำไป นอกจากจะต่อว่าเวลาเราขาดส่งหนังสือพิมพ์ให้ลูกค้าหรือทิ้ง
หนังสือพิมพ์ให้เปียกน้ำ

ลูกค้าในสายส่งของผมเพิ่มจาก 36 รายเป็น 59 รายใน 8 เดือน ส่วนใหญ่ได้มาจากลูกค้าเก่าที่
แนะนำเพื่อนบ้านให้มารับกับผม บางครั้งก็มีคนบอกรับเป็นสมาชิกขณะที่ผมกำลังเดินส่งหนังสือพิมพ์
อยู่บนทางเท้า

ผมได้ค่าแรงหนึ่งเซนต์ต่อฉบับสำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับวันจันทร์ถึงเสาร์ และ 5 เซนต์ต่อฉบับสำหรับ
หนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ ผมต้องไปเก็บเงินจากลูกค้าทุกเย็นวันพฤหัส ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะให้พิเศษ
อีกคนละ 5-10 เซนต์. ไม่นานนักเงินทิปจากลูกค้าก็มากพอๆกับเงินค่าจ้างจากคุณมิเชลี ซึ่งนับว่าดีทีเดียว
เพราะพ่อยังทำงานหนักเหมือนเดิมไม่ได้ ผมเอาเงินค่าจ้างส่วนใหญ่ที่ได้ให้แม่

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ ม.ค. 14, 2023 8:06 pm, แก้ไขไปแล้ว 2 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 31, 2022 9:22 pm

(&)ด้วยรักจากคนอ่านหนังสือพิมพ์ ตอนที่ ( 2 )จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนธันวาคม 2539 โดย Marvin J. Wolf รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เย็นวันพฤหัสก่อนวันคริสต์มาสในปี พ.ศ.2494 ผมไปกดกริ่งหน้าบ้านลูกค้ารายแรก ไฟในบ้าน
เปิดอยู่แต่ไม่มีใครมาเปิดประตู ผมจึงเดินไปบ้านหลังถัดไป ไม่มีใครเปิดประตูอีกเช่นกัน และก็เป็น
เหมือนกันหมดทุกบ้าน จนในที่สุดผมทั้งเคาะทั้งกดกริ่งบ้านลูกค้าครบทุกหลังแต่ไม่มีใครอยู่บ้านสัก
รายเดียว

ผมเริ่มวิตกกังวลเพราะต้องจ่ายค่าหนังสือพิมพ์ทุกวันศุกร์ ถึงแม้จะใกล้วันคริสต์มาส ผมก็ไม่เชื่อว่า
ทุกคนจะออกไปซื้อของพร้อมกันหมด

ผมดีใจมากที่ได้ยินเสียงดนตรีและผู้คนพูดคุยกันจากบ้านคุณกอร์ดอนขณะเดินเข้าไปใกล้
ผมกดกริ่งหน้าบ้าน ประตูเปิดออกทันทีและคุณกอร์ดอนก็ดึงผมเข้าไปข้างใน

ลูกค้าเกือบทั้ง 59 รายของผมอัดกันอยู่ในห้องนั่งเล่น ตรงกลางห้องมีจักรยานยี่ห้อชวินน์ (Schwinn)
สีแดงสดใสคันใหม่เอี่ยมตั้งอยู่ มีไฟหน้าแบบใช้แบตเตอรี่ พร้อมกระดิ่งและถุงผ้าใบเต็มไปด้วยซอง
หลากสีห้อยอยู่กับแฮนด์จักรยาน

“สำหรับเธอ” คุณกอร์ดอนบอกผม “พวกเราลงขันกัน”

ในซองมีการ์ดคริสต์มาสพร้อมกับเงินค่าหนังสือพิมพ์ประจำอาทิตย์นั้นบวกกับทิปค่อนข้างเยอะ
ผมตะลึงงันจนไม่รู้จะพูดอะไรดี ในที่สุดผู้หญิงคนหนึ่งก็บอกให้ทุกคนเงียบและจูงผมไปกลางห้อง
“เธอเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ดีที่สุดที่พวกเราเคยมีมา ไม่มีซักวันเลยที่เราจะไม่ได้หนังสือพิมพ์หรือ
ได้หนังสือพิมพ์สาย และไม่เคยมีซักวันที่หนังสือพิมพ์จะเปียก เราเคยเห็นเธอลากรถตากทั้งฝนทั้งหิมะ
พวกเราเลยคิดว่าเธอสมควรจะมีจักรยาน” ผู้หญิงคนนั้นพูด ผมตอบได้เพียงว่า “ขอบคุณครับ ขอบคุณครับ”
พูดซ้ำๆอยู่อย่างนั้นแหละ

เมื่อกลับถึงบ้าน ผมนับเงินทิปได้มากกว่า 100 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้ผมกลายเป็นวีรบุรุษในครอบครัว
และช่วยให้ทุกคนในบ้านได้ฉลองเทศกาลคริสต์มาสอย่างอิ่มเอม

ลูกค้าคงโทรฯไปเล่าให้คุณมิเชลีฟังเพราะเขาออกมายืนรอผมอยู่ข้างนอกตอนเช้าวันรุ่งขึ้น
เมื่อผมไปรับหนังสือพิมพ์
“เอารถจักรยานมาด้วยพรุ่งนี้เช้าตอน 10 โมง ฉันจะสอนให้เธอขี่จักรยานเอง” เขาบอกผมและผมก็ทำตาม

พอเริ่มชินกับการขี่จักรยาน คุณมิเชลีก็ให้ผมส่งหนังสือพิมพ์เพิ่มอีก 1 สาย เท่ากับเพิ่มขึ้นอีก 42 ฉบับ
การส่งหนังสือพิมพ์ทั้งสองเส้นทางด้วยจักรยานเร็วกว่าส่งด้วยรถลากมาก

แต่หากฝนตก ผมก็ต้องลงจากจักรยานและถือหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับไปวางไว้ในที่ร่ม ถ้าโยนพลาด
ไม่ลงระเบียงสูง ผมก็จะหยุดรถ เอาขาตั้งจักรยานลงและไปหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาโยนใหม่

ผมไปเป็นทหารหลังจากจบมัธยมปลายจึงมอบจักรยานให้เท็ดน้องชาย ผมจำไม่ได้แล้วว่าเท็ดเอา
จักรยานไปทำอะไร แต่ตระหนักดีเสมอมาว่า ของขวัญอีกชิ้นที่พวกลูกค้ามอบให้ผมนั้น คือบทเรียนอันมีค่า
เกี่ยวกับความภูมิใจในงานที่ทำแม้จะเป็นงานกระจ้อยร่อยเพียงไรก็ตาม ผมนำของขวัญวันคริสต์มาส
ชิ้นหลังนี้มาใช้อยู่บ่อยๆและไม่เคยลืมชาวชิคาโกผู้ใจดีกลุ่มนั้นเลย

************************
จบบริบูรณ์
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ ม.ค. 14, 2023 8:06 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ม.ค. 14, 2023 8:03 pm

🎁ของขวัญวันแห่งความรัก ตอนที่ (one)โดย Jo Ann Larsen
รวบรวมจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2542
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

แลรี่และโจแอนเป็นคู่สามีภรรยาธรรมดา ๆ ในบ้านหลังธรรมดา ๆ เช่นเดียวกับสามีภรรยา
คู่อื่น ๆ ทั้งสองต้องกระเบียดกระเสียรให้เดือนชนเดือนและทำในสิ่งที่ถูกที่ควรเพื่อลูก ๆ

และแล้วก็เกิดสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ขึ้นในวันหนึ่ง
“รู้มั้ย โจแอน ผมมีตู้วิเศษที่เปิดลิ้นชักออกมาทีไร จะมีถุงเท้าและกางเกงชั้นในอยู่เต็มทุกครั้งเลย”
แลรี่เอ่ย “ขอบคุณที่คอยใส่ไว้ให้ผมเสมอตลอดหลายปีที่ผ่านมา”
โจแอนเหลือบตาลอดแว่นจ้องสามี “จะเอาอะไรหรือ แลรี่”
“ก็ไม่มีอะไรหรอก แค่อยากให้คุณรู้ว่า ผมดีใจที่มีลิ้นชักวิเศษอย่างนั้น”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แลรี่ทำตัวแปลก ๆ โจแอนจึงไม่ใส่ใจ จนกระทั้งอีกสองสามวันต่อมา

“โจแอน ขอบคุณนะที่ช่วยจดเบอร์ต้นขั้วเช็คให้ผม จากที่คุณจดทั้งหมด 16 ครั้ง มีผิดแค่
ครั้งเดียวเอง นับว่าทำลายสถิติเลยนะ”

โจแอนเงยหน้าจากผ้าที่เย็บอยู่อย่างไม่เชื่อหู “เอ๊ะ ได้ยินแต่บ่นว่าฉันชอบจดเบอร์เช็คผิด
คราวนี้เป็นอะไรไปหรือ”

“ไม่มีอะไรหรอก แค่อยากให้รู้ว่ารู้สึกขอบคุณจริง ๆ ที่คุณอุตส่าห์ทำให้”

โจแอนส่ายหน้าแล้วก้มลงเย็บผ้าต่อ “เป็นอะไรของเขานะ” เธอพึมพำ
อย่างไรก็ตาม เมื่อโจแอนจ่ายเช็คที่ร้านขายของชำในวันรุ่งขึ้น เธออดไม่ได้ที่จะเหลือบดู
สมุดเช็คอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าจดหมายเลขถูกต้อง พลางบอกตัวเองว่า “แปลกดี ที่จู่ ๆ ก็มา
ตั้งใจจดหมายเลขบ๊อง ๆ พวกนี้”

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 15, 2023 8:01 pm

🎁ของขวัญวันแห่งความรัก
ตอนที่ ( 2 )โดย Jo Ann Larsen รวบรวมจากนิตยสารสรรสาระ
ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2542 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เธอพยายามไม่สนใจเหตุการณ์วันนั้น แต่แลรี่กลับมีพฤติกรรมแปลกชึ้นเรื่อย ๆ
“โจแอน อาหารเย็นวันนี้อร่อยมาก” เขาพูดขึ้นตอนค่ำวันหนึ่ง
“ชื่นใจจังเลยในสิ่งที่คุณทำให้ตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา คุณทำอาหารให้ผมกับลูก ๆ มากกว่า
14,000 มื้อแล้วมั้ง”

แล้วยังมี “โอ้โฮ โจแอน บ้านสะอาดเรียบร้อยดีจัง คุณคงเหนื่อยน่าดูที่ต้องดูแลบ้านให้ดีอย่างนี้”
เท่านั้นยังไม่พอ “ขอบคุณนะโจแอนที่ยังเหมือนเดิม คุณช่างเป็นเพื่อนที่ดีจริง ๆ”

โจแอนเริ่มวิตก พลางนึกสงสัย “เอ๊ะ คำเสียดสีตำหนิติเตียนหายไปไหน”
ในที่สุด เชลซีลูกสาววัย 16 ก็ยืนยันในข้อกังขาของเธอ

เชลซีบ่นว่า “พ่อท่าจะติ๊งต๊องแล้วแม่ จู่ ๆ ก็มาชมว่าหนูดูน่ารัก ทั้งที่หนูแต่งหน้าไม่ได้เรื่องและ
ใส่เสื้อผ้าโทรม ๆ พ่อเป็นอะไรหรือเปล่าคะแม่”

ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง แลรี่ยังคงทำตัวเหมือนเดิม และมองหาแต่สิ่งดี ๆ ในชีวิตวันแล้ววันเล่า
โจแอนเริ่มคุ้นเคยกับพฤติกรรมประหลาดของสามีตลอดหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา บางครั้งยังกัดฟัน
“ขอบคุณ” เขาด้วย เธอออกจะภูมิใจและยอมรับคำชมทั้งหลายแต่โดยดี แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเรื่อง
แปลกเกิดขึ้นจนเธออดงงไม่ได้

“คุณพักเสียบ้างเถิด” แลรี่บอก “ผมจะล้างจานเอง วางมือจากระทะนั่นแล้วออกจากครัวไปเถอะ”

(หลังจากนิ่งเงียบอยู่นาน) “ขอบคุณนะคะแลรี่ ขอบคุณมาก ๆ”

โจแอนเดินตัวเบาและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นจนถึงกับหลุดปากร้องเพลงออกมา
อารมณ์ขุ่นมัวจางหายไป “แลรี่ทำตัวใหม่แบบนี้ก็ดีเหมือนกันนะ” เธอคิด

เรื่องน่าจะจบลงแค่นั้น แต่แล้ววันหนึ่งกลับมีสิ่งประหลาดมหัศจรรย์อย่างที่สุดเกิดขึ้นอีก
คราวนี้โจแอนเป็นฝ่ายพูดขึ้นบ้าง

“แลรี่ ขอบคุณนะคะที่ออกไปทำงานหาเงินเลี้ยงดูพวกเรา ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ยังไม่เคยบอกคุณเลยนะว่าชื่นใจมาก”

แลรี่ไม่เคยเปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ว่าโจแอนจะ
คาดคั้นอย่างไรก็ตาม ซึ่งก็คงจะเป็นปมปริศนาของชีวิตสืบไป แต่ฉันก็ยินดีที่จะอยู่กับ
ความลึกลับนี้... เพราะโจแอนคือตัวดิฉันเอง

**********************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส