ประวัติบุญราศีต่างๆ

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 01, 2022 11:22 pm

……บุญราศีไมเน็ตตี ตอนที่ (1 )
แปลและเรียบเรียงจาก วิกิพีเดีย และจากกูเกิ้ล โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ซิสเตอร์ไมเน็ตติ (Maria Laura MAINETTI : 20 ส.ค. 1939 – 6 มิ.ย. 2000) ชาวอิตาลี
คณะธิดาแห่งไม้กางเขน (The Daughters of the Cross) อายุ 61 ปีถูกเด็กสาววัยรุ่น 3 คน
แทงเสียชีวิตในคืนวันที่ 6 มิถุนายน 2000 ที่เมืองเคียเวนนา (Chiavenna) เมืองเล็ก ๆ ทางเหนือ
ของมิลาน ซึ่งมีสาเหตุจาก “ความเกลียดชังต่อพระศาสนา”


ซิสเตอร์ฯ เป็นอธิการิณีของอารามเมืองเคียเวนนา ชาวเมืองรู้จักเธอดีในฐานะซิสเตอร์ที่ทำงานกับ
เยาวชนและคนยากจนด้านสังคมและงานการกุศลต่าง ๆ

ราว 4 ทุ่มคืนวันที่ 6 มิถุนายน 2000 เด็กสาว 3 คนอายุ 16-17 ป๊​ ที่เรียนคำสอนกับซิสเตอร์ฯ
หลอกให้เธอไปพบที่สวนสาธารณะโดยแจ้งว่า มีพวกเธอคนหนึ่งถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์และกำลัง
คิดจะทำแท้ง

เมื่อซิสเตอร์ไปถึงที่นัดหมาย พวกเธอบังคับให้ซิสเตอร์คุกเข่าลงตะคอกใส่ด่าว่า คนหนึ่งใช้
ก้อนอิฐทุบตี ขณะที่อีกคนหนึ่งจับศีรษะโขกกำแพงซ้ำไปมา พร้อมกับใช้มีดทำครัวผลัดกันแทง
ถึง 19 ครั้ง สื่ออิตาลีรายงานว่า พวกเธอตั้งใจจะแทงซิสเตอร์ฯ 18 ครั้ง คือแทงคนละ 6 ครั้งเพื่อ
ให้ได้ตัวเลข “666” เพื่อเซ่นบูชาถวายซาตาน
ขณะที่ซิสเตอร์ฯ ถูกทำร้ายอยู่นั้น เธอได้แต่สวดวิงวอนขอพระเจ้ายกโทษให้กับการกระทำของ
ลูกศิษย์ทั้งสาม

มอนสิญอร์บาลัตติ (Msgr.Balatti) อดีตคุณพ่อเจ้าวัดที่เมืองเคียเวนนา และรู้จักซิสเตอร์ไมเน็ตติ
กล่าวกับผู้สื่อข่าววาติกันนิวส์หลังเกิดเหตุว่า : “หนึ่งในสามคนเล่าว่า ขณะที่พวกเธอด่าว่าและ
แทงซิสเตอร์อยู่นั้น ซิสเตอร์ร้องวิงวอนขอพระเจ้าให้อภัยพวกเธอ คำภาวนาของซิสเตอร์นี้เป็น
ลำแสงที่เจิดจ้าในช่วงเวลาแห่งความมืดมนของชาวเมืองเคียเวนนา”

มอนสิญอร์ฯ กล่าวว่า “การฆาตกรรมครั้งนี้เผยให้เห็นตัวจริงที่เจิดจรัสของซิสเตอร์ฯ ซึ่งหาก
ไม่เกิดเหตุร้ายดังกล่าวกับเธอ ก็คงแทบไม่มีผู้ใดล่วงรู้จิตวิญญาณที่แท้จริงของเธอ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่
เกิดขึ้นเสมอกับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ตามแนวทางของพระวรสาร”

“ในตอนแรก มีปัญหาอยู่บ้างในกระบวนการการเป็นบุญราศี แต่เรามุ่งมั่นให้กรณีของซิสเตอร์นี้
เป็นของกำนัลสำหรับพระศาสนจักรทั้งมวล เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าความดีคืออะไร และความ
ชั่วร้ายไม่สามารถอยู่เหนือความดีได้” “ความชั่วร้ายของมนุษย์ อาจคร่าชีวิตฝ่ายเนื้อหนังของเราได้
แต่ไม่สามารถขโมยและทำลายความรักได้ นี่คือพื้นฐานของความจริงทั่วไป ไม่ใช่แต่เฉพาะกับผู้มี
ความเชื่อเท่านั้น”
ในวันที่ซิสเตอร์ไมเน็ตติปฏิญาณตัวตลอดชีพ เธอเขียนในบันทึกว่า​ : “ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดให้ลูก
มีความรู้สึกเช่นเดียวกับบรรดาผู้มีบุญ คือเป็นคนยากจนผู้วางใจ สละตนเอง รักความทุกข์ยาก
มีส่วนร่วมในพระมหาทรมานของพระคริสต์ องค์ความรอด, ความเมตตา, ความบริสุทธิ์ของร่างกาย,
ขอและจิตใจที่สุภาพถ่อมตน”
“การรับใช้พระคริสต์คือการยอมรับด้วยความยินดีว่า : ตัวฉันอยู่ที่นี่… ฉันยินดีรับใช้ผู้อื่นเสมอตาม
พระประสงค์ของพระเจ้า”

“เด็กสาวทั้งสามที่ได้ก่อเหตุเพื่อทำลายความดี ต่างตระหนักดีว่า พวกเธอเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในท้ายที่สุด
สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความพ่ายแพ้ของซิสเตอร์ กลับเป็นชัยชนะอย่างขาวสะอาด และพระศาสนจักร
ก็ได้ยืนยันด้วยการบันทึกนามของเธอเป็นบุญราศี”

โปรดติดตามตอนจบในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 01, 2022 11:27 pm

……บุญราศีไมเน็ตตี ( ตอนจบ )
แปลและเรียบเรียงจาก วิกิพีเดีย และจากกูเกิ้ลแมพ โดย กอบกิจ ครุวรรณ

พวกเธอสารภาพว่า ทีแรกพวกเธอตั้งใจจะฆ่าคุณพ่อเจ้าวัด แต่เปลี่ยนใจเพราะคุณพ่อเป็นคน
สูงใหญ่แข็งแรงและอาจทำการไม่สำเร็จ พนักงานสอบสวนกล่าวว่าสมุดบันทึกของพวกเธอมี
แต่เรื่องเกี่ยวกับซาตาน และพวกเธอได้กรีดเลือดสาบานที่จะเซ่นบูชาถวายซาตานไว้หลายเดือน
ก่อนการลงมือ
หลังคำตัดสินลงโทษ มิเลนา (Milena) หนึ่งในสามของกลุ่มฆาตกร ได้เขียนจดหมายถึงสัตบุรุษ
ในเขตวัดที่เธอสังกัดอยู่ว่า เรื่องการสวดวิงวอนขอให้พระเจ้าอภัยโทษให้พวกเธอนั้น ตราตรึงอยู่
ในชีวิตของเธอตลอดไป : “สิ่งเดียวที่ดิฉันจดจำซิสเตอร์ได้ คือความทรงจำแห่งความรัก ซึ่งไม่เกี่ยว
กับเรื่องการเชื่อพระเจ้าหรือซาตาน แต่เป็นเรื่องของสตรีธรรมดาคนหนึ่งที่สูงส่งอยู่เหนือความชั่วร้าย”

หนังสือพิมพ์ Corriere della Sera รายงานว่า พวกเธอถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกขังคุก หลังได้
รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในปี 2006 พวกเธอมีครอบครัว เปลี่ยนชื่อและแยกย้ายกันไปอยู่ใน
เมืองใหญ่ของอิตาลี

มิเลนากล่าวในภายหลังว่า “ปัจจุบัน ดิฉันยึดซิสเตอร์ฯ เป็นผู้ให้กำลังใจและทำให้ดิฉันอดทนต่อ
ทุกสิ่งได้ ดิฉันสวดอธิษฐานอยู่เสมอและมั่นใจว่า ซิสเตอร์ฯ จะช่วยให้ดิฉันเป็นคนที่ดีขึ้นได้”

คุณพ่อมัสซี (Mazzi) น้องชายของซิสเตอร์ฯ กล่าวว่า “มิเลนาทราบดีถึงสิ่งที่เธอได้กระทำ เธอกลับใจ
และเชื่อว่าจะสามารถมีชีวิตใหม่ที่ดีได้”

มิเลนาเป็นวิทยากรรับเชิญในงานของ “ชุมชนผู้อพยพที่เมืองเวโรนา” อยู่หลายปี ในหัวเรื่อง
“การป้องกันและบำบัดการติดยาของชุมชน” ที่คุณพ่อมัสซีเป็นผู้ก่อตั้ง
สังฆมณฑลโคโม (Como) จัดตรีวาร 3 วันเริ่มตั้งแต่ค่ำวันพฤหัสฯ ที่ 3 มิถุนายน 2021
ที่วัด San Bernardino da Siena เมือง Villatico di Colico ที่ซิสเตอร์ฯ ถือกำเนิดในปี 1939
มีการแสดงความเคารพศีลมหาสนิท, อ่านและรำพึงจากบันทึกประจำวันของซิสเตอร์ฯ

พิธีบูชาขอบพระคุณและประกาศการเป็นบุญราศีฯ จัดขึ้นที่สนามกีฬาของเมืองเคียเวนนา
วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน 2021 เวลา 16.00 น. มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์แห่งชาติของอิตาลี
และออนไลน์ผ่านสตรีมสดบนเว็บไซต์การเป็นบุญราศีอย่างเป็นทางการ

พระคาร์ดินัลเซเมราโร (Semeraro) ประธานในพิธีแทนสมเด็จพระสันตปาปาฟรังซิส เทศน์ในพิธี
การประกาศการเป็นบุญราศีฯ ว่า “ชีวิตของซิสเตอร์ไมเน็ตติก็คือสำเนาของพระวรสาร”
พระคาร์ดินัลฯ ให้ข้อสังเกตว่า “ซิสเตอร์ผู้เป็นมรณสักขีของเราเขียนในบันทึกของเธอว่า
“เส้นทางจิตวิญญาณของเธอนั้นเรียบง่ายมาก คือการทำสิ่งที่ดีงามเพื่อผู้อื่นอย่างเต็มที่ในชีวิต
ประจำวัน เช่นเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมิได้เกิดจากผลของความพยายามของมนุษย์
แต่ความศักดิ์สิทธิ์จะแตกหน่องอกงามเหมือนดอกไม้เล็ก ๆ บนสนามหญ้า”

“มรณสักขีของเราได้เลือกปฏิบัติตามที่เธอได้บันทึกไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งนับเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่
ที่สุดและเป็นการแสดงถึงความรักอย่างแท้จริง แผ่นดินที่ก่อกำเนิดความศักดิ์สิทธิ์นี้มิใช่เป็นสิ่ง
แปลกประหลาดใด ๆ แต่เกิดจากความสัตย์ซื่อในการดำเนินชีวิตประจำวัน”

หลังการสวด “บททูตสวรรค์แจ้งข่าว” ของวันที่บันทึกนามบุญราศีฯ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัส
ที่วาติกันว่า “วันนี้ที่เมืองเคียเวนนา สังฆมณฑลโคโม ซิสเตอร์มาเรีย ลอรา ไมเน็ตติ คณะธิดาแห่ง
ไม้กางเขน ซึ่งถูกเด็กสาว 3 คนที่ได้รับอิทธิพลจากนิกายซาตานทำร้ายจนเสียชีวิตเมื่อ 21 ปีที่แล้ว
ได้รับการบันทึกนามในสารระบบบุญราศี ซิสเตอร์ฯ รักและให้อภัยเด็กสาวที่ตกเป็นเหยื่อของซาตาน
เธอได้มอบแบบอย่างการดำเนินชีวิตให้เรา คือทำทุกสิ่งด้วยความเชื่อ ความรัก และความกระตือรือร้น
ขอพระเป็นเจ้าประทานความเชื่อ ความรัก และความกระตือรือร้นแก่เราทุกคน”

******************* จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 01, 2022 11:31 pm

🔻บุญราศี รานี มารีอา วัตตาลิล (Rani Maria Vattalil) ตอนที่ ( 1 )

(+)วัยเด็กและการศึกษา
วัตตาลิล (Vattalil) เกิดในรัฐเกราลา (Kerala : ใต้สุดของประเทศอินเดียฝั่งตะวันตก)
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 1954 เป็นลูกคนที่สองในเจ็ดคนของครอบครัว เธอรับศีลมหาสนิทครั้งแรก
วันเดียวกับศีลกำลังในวันที่ 30 เมษายน 1966

ชีวิตการเป็นซิสเตอร์
หลังเรียนจบชั้นมัธยมปลาย วัตตาลิลสมัครเข้าอารามคณะคลาริสต์ ฟรังซิสกัน
(Franciscan Clarist Congregation) วันที่ 3 กรกฎาคม 1971 และมีชื่อใหม่ทางศาสนาว่า
"รานี มาเรีย" (Rani Maria) หลังการปฏิญาณตัวครั้งแรก วัตตาลิลถูกส่งไปสอนหนังสือที่
เมืองบิจนอร์ (Bijnor) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงนิวเดลี 160 กม. เธอปฏิญาณตนตลอดชีพ
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 1980 และกลางปี 1983 เธอถูกย้ายไปเป็นผู้ประสานงานกิจกรรมทางสังคม
ที่เมืองโอดากาดี (Odagady) ตั้งแต่กลางปี 1985 เธอเป็นอธิการิณีของบ้านคณะฯ ที่เมือง Aluva
กลางปี 1989 วัตตาลิลศึกษาต่อและได้รับปริญญาด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเรวา (Rewa)
ในเดือนพฤษภาคม 1992 หลังจากนั้นเธอถูกย้ายไปทำงานที่หมู่บ้าน Udayanagar ในรัฐมัธยประเทศ
ตอนกลางซึ่งมีชาวฮินดูมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์และมีคาทอลิกไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์จึงเป็นพื้นที่ที่ชุมชน
คาทอลิก​ มีปัญหาการเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ
วัตตาลิลทำงานร่วมกับคนยากจนที่ไม่มีที่ดินของตนเอง พวกเขาถูกกดขี่ค่าแรงในการทำงานให้กับเจ้า
ของที่ดินรายใหญ่ ซิสเตอร์กระตุ้นให้พวกเขาละทิ้งอบายมุขต่าง ๆ เช่น การเล่นพนันและการดื่มสุรา
เธอสอนพวกเขาให้รู้จักวิธีทำการเกษตรที่ทันสมัยและช่วยหาวิธีการให้ลูก ๆ ของพวกเขาได้รับการ
ศึกษาในโรงเรียน
เธอจัดตั้งกลุ่มสตรีในหมู่บ้านให้รู้จักช่วยเหลือตนเอง ตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
ในกรณีฉุกเฉิน และให้แต่ละครอบครัวเปิดบัญชีออมทรัพย์ ผลจากการทำงานของเธอช่วยให้สมาชิก
ของกลุ่มไม่ต้องพึ่งพานายทุนที่เคยหาผลประโยชน์จากการขูดรีดพวกเขา ดังนั้นจึงมีนายทุนที่เสียผล
ประโยชน์ดังกล่าววางแผนจ้างคนกำจัดเธอ

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 01, 2022 11:35 pm

🔻บุญราศี รานี มารีอา วัตตาลิล (Rani Maria Vattalil) ตอนที่ ( 2 )

(+)การถูกฆาตกรรม

วันที่ 25 ก.พ.1995 หลังจากฟังมิสซาและรับประทานอาหารเช้าแล้ว วัตตาลิลออกเดินทาง
จากบ้านคณะฯ เพื่อขึ้นรถบัสไปทำงานที่เมืองคาปิล (Kapil) โดยมีเพื่อนซิสเตอร์คนหนึ่งช่วย
ถือกระเป๋าส่งเธอขึ้นรถซึ่งมีที่นั่งด้านหน้าใกล้คนขับรถ
เมื่อเริ่มออกเดินทาง มีชายในชุดขาวคนหนึ่งขอให้เธอไปนั่งด้านหลัง ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติเพราะ
ปกติรถบัสทุกคันที่นั่นมีที่นั่งที่ด้านหน้าสำรองสำหรับซิสเตอร์โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม เธอทำ
ตามที่ชายในชุดขาวบอก
เมื่อไปถึงที่นั่งด้านหลัง วัตตาลิลก็พบว่ามีผู้ชายที่นั่น 3 คน (มีแผนจะฆ่าเธอรออยู่) หัวหน้าชื่อ
ซิงห์ (Jeevan Singh) ซิงห์เริ่มพูดจาดูถูกเหยียดหยามเธอ จากนั้นลูกน้องคนหนึ่งของเขาก็
ลุกขึ้นไปสั่งให้คนขับจอดรถ ซิงห์ออกไปนอกรถและใช้ก้อนหินข้างทางทุบลูกมะพร้าวแตก จากนั้น
ก็กลับเข้าไปในรถเพื่อแจกชิ้นมะพร้าวให้ผู้โดยสารในรถ เขาเดินเข้าไปในรถจนถึงวัตตาลิลและ
ทำท่ายื่นมะพร้าวชิ้นหนึ่งให้ จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นชักมีดแทงเธอที่ท้องหลายครั้ง ก่อนจะลากเธอออก
จากรถบัสและแทงซ้ำอีก ผู้โดยสารในรถกว่า 50 คนต่างตกใจกลัวและไม่มีใครกล้าให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนั้นบางคนยังรีบหนีไปจากที่เกิดเหตุอีกด้วย

วัตตาลิลถูกแทงเป็นแผลใหญ่ 40 แผล มีรอยฟกช้ำอีก 14 รอย ระหว่างที่เธอนอน ทนทรมานเพราะ
บาดแผลจนถึงลมหายใจเฮือกสุดท้าย เธอพูดซ้ำไปซ้ำมาว่า "พระเยซู!"

10:45 น. ตำรวจที่มาในที่เกิดเหตุติดต่อแจ้งข่าวไปที่บ้านคณะฯ ว่ามีซิสเตอร์ถูกฆ่าเสียชีวิตอยู่ที่ข้างถนน
ซิสเตอร์ที่บ้านคณะฯ จึงแจ้งเรื่องต่อไปถึงBishop of Indore George Anathil” จนบ่าย 2 โมงจึงมีการนำ
ร่างไร้ชีวิตที่โชกไปด้วยเลือดของเธอไปยังบ้านพักของบิชอปเพื่อทำความสะอาดและประกอบพิธี
ทางศาสนา

โปรดติดตามตอนที่ (3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 01, 2022 11:41 pm

🔻บุญราศี รานี มารีอา วัตตาลิล (Rani Maria Vattalil) ตอนที่ ( 3 )

(+)การสดุดีวีรกรรม
พระคาร์ดินัล “Cardinal Oswald Gracias” กล่าวสดุดียกย่องวัตตาลิลว่าเป็น "วีรชนผู้กล้าหาญ ...
ทำงานอยู่ข้างคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส และเป็นต้นแบบการประกาศพระวรสารในประเทศที่
ประชาชนมีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกัน เธอทำงาน และเสียชีวิตขณะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ
ของเธอ" มีการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอมีอยู่ในเออร์นาคูลัม ศพของเธอถูกขุดขึ้นมา
ตรวจสอบและฝังใหม่ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2016 ในเมืองอินดอร์ (Indore)

ซิงห์ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมวัตตาลิลและถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.​ 2002 ระหว่างการถูกขัง ซิสเตอร์ Selmi Paul ซึ่งเป็นน้องสาวของซิสเตอร์รานี
มารีอาไปเยี่ยมซิงห์ในคุกในปี 2002 และผูกราห์คี (Rahki) ไว้ที่ข้อมือของเขา

ราห์คี เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองเทศกาลฮินดูของ Raksha Bandhan ซึ่งแปลว่า
"สายใยแห่งการคุ้มครอง" เป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง และระหว่างชาย-หญิง
ที่มีลักษณะเป็นพี่น้องกัน ปัจจุบันมีการปรับเทศกาลนี้ให้ครอบคลุมกลุ่มศาสนาอื่นในอินเดียรวมทั้ง
คริสตศาสนาด้วย

ซิงห์ประทับใจและซาบซึ้งกับการให้อภัยของน้องสาวซิสเตอร์ฯ มาก โดยเฉพาะการผูกราห์คี เขา
สำนึกผิดและประกาศกับเอเชียนิวส์ต่อมาว่า
“ผมเสียใจและสำนึกผิดที่ฆ่าซิสเตอร์ผู้บริสุทธิ์ ซึ่งทำงานโดยไม่เห็นแก่ตัวเพื่อยกระดับคนยากจน
และทำให้ประเทศของเราก้าวหน้า”

“แม้ว่าผมถูกจ้างให้ฆ่าซิสเตอร์ แต่ผมก็ชอรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับการสังหารซิสเตอร์รานี มาเรีย
อย่างชั่วร้าย ผมพูดไม่ได้ว่าผมถูกยุยง เพราะเป็นมือของผมเองที่แทงเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า และด้วยเหตุนี้
ผมจึงเสียใจกับการกระทำในครั้งนี้ไปจนวันตาย”

“ทุกวันนี้ ผมพยายามทำตามแบบอย่างของเธอ ด้วยการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าผม เช่น
คนในกลุ่มคริสตชนและทุกคนที่อยู่ชายขอบ”

มารดาของวัตตาลิลก็ไปเยี่ยมซิงห์เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2003 และจุมพิตมือของซิงห์เป็นสัญลักษณ์แห่งการ
ให้อภัยด้วยใจจริง

ในปี 2006 ครอบครัววัตตาลิลและผู้นำคาทอลิกที่นั่นยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยซิงห์จากเรือนจำ
และศาลอนุมัติการปล่อยตัวในปีเดียวกัน
หลังจากซิงห์ได้รับอิสรภาพ ทุกคนในครอบครัวของวัตตาลิล ยอมรับให้เขาเป็นสมาชิกของครอบครัว
อีกด้วย ซิงห์ไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้เมื่อทราบข่าวว่า วัตตาลิลจะได้รับการบันทึกนามในสารบบบุญราศี
ในเดือนมีนาคม 2017 และตั้งใจจะไปร่วมพิธีจนออกนอกหน้า

ปัจจุบันซิงห์ยังคงนับถือศาสนาฮินดู เขาสนับสนุนความสามัคคีระหว่างศาสนาในอินเดีย
และชื่นชมยินดีกับงานของชุมชนคาทอลิกในประเทศ

โปรดติดตามตอนจบในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 01, 2022 11:43 pm

🔻บุญราศี รานี มารีอา วัตตาลิล (Rani Maria Vattalil) ตอนจบ

(+)การบันทึกนามในสารบบบุญราศี

มีการดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2003 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอนุมัติและ
ให้มีการบันทึกนามในสารบบบุญราศีโดยมีพิธีในวันที่ 4 พ.ย.2017 ที่เมืองอินดอร์ (Indore)
ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐมัธยประเทศ (Madhya Pradesh) ที่ปกครองโดยพรรคชาตินิยมฮินดู
(พรรคภารติยะชนตะ : BJP) ที่ควบคุมรัฐบาลแห่งชาติและยังมีการต่อต้านคริสตชนที่รุนแรงอยู่
ในรัฐนี้ รวมทั้งการจับกุมคริสตชนหลายคนโดยการใช้กฎหมายต่อต้านการแปลงสภาพของรัฐ
ภาพยนตร์สารคดี เรื่องการกลับใจของซิงห์ มีการสร้างเป็นภาพยนต์สารคดีความยาว 56 นาที
ชื่อเรื่อง “Heart of a Murderer” (หัวใจของฆาตกรคนหนึ่ง) และนำออกฉายในปี 2013
เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับรางวัลสูงสุดจากงานเทศกาลภาพยนตร์ด้านความสัมพันธ์
ระหว่างศาสนา (World Interfaith Harmony Film Festival)

*******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 08, 2022 11:43 pm

+ จากผู้นำลัทธิซาตาน สู่การประกาศเป็นบุญราศี +

'Every saint has a past, and every sinner has a future.'
- Oscar Wilde
"นักบุญทุกคนมีอดีต และคนบาปทุกคนมีอนาคต"

คำกล่าวของ ออสการ์ ไวลด์ กวีชาวไอริชผู้โด่งดังนี้ บุคคลคนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างได้ดีที่สุด
คือ บาร์โทโล ลองโก้ ชายผู้ครั้งหนึ่งเคยชื่นชอบลบหลู่ดูหมิ่นพระเจ้า เข้าร่วมลัทธิซาตานจน
ได้รับการอภิเษกแต่งตั้งเป็นนักบวชผู้นำลัทธิซาตาน และกระทำบาปทุกสิ่งที่คำสอนของศาสนา
อันล้าหลังคร่ำครึในสายตาเขาได้ห้ามไว้ แล้ววันฟ้าถล่มดินทลายของชีวิตเขาก็มาถึง เขาได้กลับ
ตัวกลับใจ อุทิศชีวิตแก่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ จนได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวินของพระศาสนจักร
ได้รับการคำนับและยกย่องจากบรรดาพระสันตะปาปา และได้เข้าสู่กระบวนการแต่งตั้งนักบุญ
และในขณะนี้อยู่ในสถานะ "บุญราศี"

บาร์โทโล ลองโก้ (Bartolo Longo)ชาวอิตาลี เกิดเมื่อ10กุมภา1841 ในครอบครัวคาทอลิก
เมื่อพ่อของเขาเสียชีวิตไปเมื่ออายุได้10ขวบ เขาก็ค่อยๆห่างไกลจากความศรัทธาในศาสนาไป
เรื่อยๆ จนอายุได้20ปี เขาได้เข้ามหาวิทยาลัยเนเปิ้ลส์(Naples) เพื่อเรียนวิชากฎหมาย

หากแต่ว่าในช่วงศตวรรษที่19 เป็นช่วงเวลาวุ่นวายทางการเมืองของอิตาลี มีการปฎิวัติหลายครั้ง
และในช่วง 1860 มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองชาตินิยม ที่ชี้ประเด็นว่าศาสนาและโดยเฉพาะ
คาทอลิก เป็นสิ่งถ่วงความเจริญของอิตาลี ให้ล้าหลังคร่ำครึ และพระสันตะปาปาถูกมองว่าเป็น
ศัตรูของแนวคิดชาตินิยม การเหยียดนักบวช หรือล้อเลียนศาสนาเป็นตัวตลก เป็นเทรนด์นิยม
ของคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้น และ มหาวิทยาลัยเนเปิ้ลส์ในเวลานั้นนอกจากเป็นที่สอนหนังสือ ยังเป็น
ที่เผยแพร่อุดมการณ์ต่างๆ กลายเป็นแหล่งรวมของกลุ่ม สมาคม ชมรม ทุกรูปแบบ และรวมแนวคิด
ที่ต่อต้านระเบียบจารีตยุคเก่า อันนำเอาคริสตศาสนาคาทอลิกมาเป็นจำเลย ก็เฟื่องฟูในมหาวิทยาลัย
มีชมรม หรือสมาคม ที่นำเอาเรื่องศาสตร์คุณไสยจากต่างประเทศรูปแบบต่างๆ ทั้งแม่มด คนทรง
ไปจนถึงแนวคิดบูชาซาตาน เข้ามาเฟื่องฟูในมหาวิทยาลัยด้วย

บาร์โทโล นักศึกษาหนุ่ม เข้าสมาคมสื่อวิญญาณ(séances) อันพาเขาลุ่มหลงไปกับไสยศาสตร์วิชามาร
การมั่วสุมใช้ยาเสพติดทุกชนิด และการมั่วเพศแบบเซ็กส์หมู่ เพื่อทำให้ผีปีศาจพอใจและลบหลู่ศีลธรรม
แบบคริสตศาสนา บาร์โทโล ได้รับการยกย่องชื่นชม ในการท้าทายเหยียดหยามศาสนาดูหมิ่นพระเจ้า
ในที่สาธารณะ จนชาวคณะทำการบวช(ordained) เขาเป็นบาทหลวงซาตาน(Satanic priest)
ในระดับผู้นำลัทธิ(Satanic bishop)

บาร์โทโล หลงระเริงในความสุขเนื้อหนังและอบายมุขและการยกย่องชื่นชมจากบรรดาปัญญาชนผู้รัก
ในวิถีชีวิตเสรีที่แหวกขนบธรรมเนียมล้าหลัง ในหมู่เพื่อนเขาคือฮีโร่ แต่กับครอบครัว ญาติพี่น้อง
และเพื่อนเก่า เห็นว่า เขาเหมือนคนบ้า มีอาการเหมือนคนเป็นโรคประสาท มีการนอยด์ตลอดเวลา
และหมกมุ่นในโลกส่วนตัว เหมือนคนเสียสติ มากกว่าคนฉลาดที่มีการศึกษาอย่างที่เขาเคยเป็น

+ คำอธิษฐานภาวนาของครอบครัว +

เมื่อครอบครัวของเขารู้เรื่องที่เขาไปบ้าคลั่งลัทธิจนชีวิตพัง ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากสวดภาวนาขอ
พระเจ้าให้เขากลับใจ และคำภาวนาของผู้คนที่รักเขาก็ได้รับการตอบรับ

คืนหนึ่งขณะที่ บาร์โทโล ผู้มีการการเครียด ซึมเศร้า และวิตกจริตกำลังจะหลับ เขาได้ยินเสียงที่เขาคุ้นเคย
ในวัยเด็ก เขาจำได้ดีว่าคือเสียงพ่อที่จากไปของเขา ร้องเสียงดังว่า "กลับมาหาพระเจ้าเถิดลูกเอ๋ย!"

บาร์โทโล เอง รู้ตัวดีว่า เส้นทางความสุขจอมปลอมที่เขาเดินทางเข้ามาจมปลักนั้น ทำลายตัวตนของเขา
ไปมาก แต่ความสับสนในชีวิต ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกขังในห้องมืดที่ไม่รู้จะออกจากสภาพนี้ได้ยังไง
แต่เสียงของพ่อคืนนั้นเหมือนใครสักคนผลักประตูเข้ามาจนแสงสว่างจ้าเห็นทางออก บาร์โทโลรีบไป
พบเพื่อนเก่า ชื่อ วีเซนโซ่ เปป( Vincenzo Pepe) และขอความช่วยเหลือจากเพื่อน เปปร้องไห้พูดกับ
เขาว่า"นายอยากตายในสถานบำบัดคนโรคจิตแล้วตกนรกไปตลอดกาลหรือไง?" ทั้งสองตกลงกันว่า
ต้องช่วยกันพากันออกจากชีวิตเหลวแหลกนี้ เปปพาบาร์โทโล ไปพบคุณพ่ออัลเบอโต้
(Fr. Alberto Radente)พระสงฆ์คณะโดมินิกัน

บาร์โทโล เข้าสู่การสารภาพบาป และบำบัดที่เหมือนเข้าเงียบระยะยาว กับคุณพ่ออัลเบอโต้ ผู้ซึ่ง
อดทนใช้เวลาในการในคำปรึกษาฝ่ายจิตแก่เขาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและอดทน หลังจากบำบัดกับ
คุณพ่อนานนับเดือน บาร์โทโลฟื้นฟูจิตวิญญาณของตน จนในปี 1871 บาร์โทโล สมัครเข้าเป็นสมาชิก
โดมินิกันชั้น3(ฆารวาสที่ร่วมปฎิบัติวินัยบางข้อของคณะนักบวชที่เข้าร่วมสังกัด) และกลับไปยังสมาคม
สื่อวิญญาณของมหาวิทยาลัย ในคาเฟ่ ท่ามกลางปาร์ตี้มั่วสุมของนักศึกษา และยืนขึ้นบนโต๊ะประกาศว่า
"ผมขอประกาศลาออกจากลัทธิวิญญาณนี้ เพราะมันคือเขาวงกตแห่งความหลงผิดและความเท็จ"
เขาใช้เวลา6ปี ในการอุทิศตนนำคนที่หลงผิดแบบเขากลับมาหาพระเจ้า และช่วยเหลือรับใช้คนยากจน

- ที่หลบภัยของคนบาป +

แต่ดูเหมือนชีวิตมันไม่ง่ายเช่นนั้น เมื่ออาการทางจิตประสาทกลับมาคุกคามเขา อาการวิตกจริด
และนอยด์ กลับมาหลอกหลอนเขาอีก เขาเริ่มหลอนว่าตนเองยังถูกซาตานยึดวิญญาณไว้ และกลัวว่า
พระเจ้าจะยังไม่ให้อภัย เขาจะต้องตกนรก เขาเริ่มมีอาการซึมเศร้าจนอยากจะฆ่าตัวตาย แต่ก็กลัว
ตกนรก กลัวต้องกลับไปอยู่กับซาตาน วันหนึ่งเขานึกถึงวัยเด็ก กิจศรัทธาเรียบง่ายอย่างการสวด
สายประคำ และ ความรักอันอ่อนโยนของแม่พระที่เขาจำได้ และเขาได้ยินแม่พระพูดกับเขาว่า
"โดยการสอนผู้อื่นเรื่องสายประคำ ลูกจะปลอดภัย"

ในเทววิทยา พระแม่มารีย์ไม่ใช่ผู้ไถ่บาป แต่แม่เป็น "ที่หลบภัยของคนบาป" เป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณ
โดยเฉพาะของผู้ที่ขาดความวางใจหรือเสียใจในบาปมากเสียจนคิดว่าพระเจ้าจะไม่ให้อภัย เหมือน
ความรู้สึกของลูกล้างผลาญที่บอกกับพ่อว่า "ลูกไม่สมควรเป็นลูกของพ่อ" แม่พระทำสิ่งที่เหมือนนาง
รีเบคาห์ แม่ของฝาแฝด เอซาวและยาโคบ คือเป็นที่พึ่งและกำลังใจให้ยาโคบ ที่คิดว่าตนไม่เป็นที่รัก
ของพ่อแบบเอซาว แม่พระจึงเหมือนนางรีเบคาห์ที่เป็นแม่ผู้เชื่อมพ่อลูกที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์
ต่อกันไว้ไม่ให้แตกหักลงไป

บาร์โทโล จึงได้เอาชนะความวิตกจริต และการป่วยทางจิต โดยมุ่งมั่นทำพันธกิจการแผยแพร่เรื่อง
การสวดสายประคำ เขาเดินทางไปยังปอมเปอี ซึ่งเขาได้เขียนเล่าในบันทึกว่า

"เต็มไปด้วยเรื่องซูแปร์ติซัง(ความเชื่อโชคลางคุณไสย)มีทั้งการใช้เวทย์มนต์คาถา แม่มด คนทรง
เครื่องรางของขลังมั่วไปหมด"

เหตุการณ์เมื่อครั้งนักบุญโดมินิกได้รับสายประคำจากพระเยซูและแม่พระ โดยอาศัยการสวดสายประคำ
ขับไล่ลัทธิหลงผิดในยุคของท่าน บาร์โทโล ก็เดินหน้าเปลี่ยนแปลงความหลงผิดของที่นี่ด้วยสายประคำ
เช่นกัน

+ พันธกิจของผู้รับใช้พระเจ้า +

กว่า50ปี ของการทำพันธกิจเพื่อความศรัทธาในพระเจ้า บาร์โทโลและภรรยา เค้าท์เตส มาเรียน่า
(Countess Mariana di Fusco) ได้ตั้งโรงเรียนเพื่อเด็กยากจน บ้านเด็กกำพร้า และบ้านพักพิง
สำหรับเด็กที่พ่อแม่จำคุก และการปฏิวัติแท้จริงก็คือ ปอมเปอี จากพื้นที่ซูแปร์ติซัง ได้กลายเป็น
ชุมชนความศรัทธา ท่านได้ฟื้นฟูโบสถ์ที่ถูกทิ้งร้าง จนกลายเป็นวิหารพรหมจารีย์แห่งสายประคำ
แห่งปอมเปอี(Shrine of the Virgin of the Rosary of Pompei) ซึ่งมีผู้แสวงบุญจำนวนมาก

พระศาสนจักรมอบเกียรติให้ท่าน โดยแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน ชั้น
Order of the Holy Sepulchre of Jerusalem และมหาวิหารนี้คือที่วางร่างของชายเป็นที่รักและ
อยู่ในความทรงจำของผู้คนในโลงแก้วเพื่อทุกคนจะระลึกถึงเขาได้ตลอดเวลา บรรดาพระสันตะปาปา
ล้วนมาคำนับศพเขา จากนักบวชลัทธิซาตานพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่2เรียกเขาว่าเป็น
"คนของแม่พระ" และพระศาสนจักร ประกาศให้ บาร์โทโล เป็นบุญราศี และมีวันที่ระลึกถึง
ในวันที่ 5 ตุลาคม

🙏 เพื่อพระเจ้าจะโปรดการกลับใจ แก่ผู้หลงผิด จะทรงรักษาผู้ติดยา และชี้ทางสว่างแก่ผู้หลงไหล
ในลัทธิซาตาน ขอ บุญราศี บาร์โทโล ช่วยวิงวอนเทอญ 🙏

ปล.ภาพซ้ายบนคือภาพบาร์โทโลในวัย22ปี ขณะเป็นเจ้าลัทธิซาตาน ภาพขวาบน คือภาพของเขา
ท่ามกลางเด็กกำพร้าที่เขาดูแล สีหน้าและแววตานั้นต่างกันราวคนละคน

cr.www.facebook.com/holysmn
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ย. 26, 2022 6:18 pm

2. นักบุญลาซารัส ดีวาสะหะยาม (Lazarus Devasahayam)


(+)ชีวิตในวัยเด็ก

“ลาซารัส ดีวาสะหะยาม” เกิดในตระกูลฮินดูที่มั่งคั่งในเขต “กันยากุมารี” (Kanyakumari)
ทางใต้ของอินเดียเมื่อวันที่ 23 เมษายน 1712 บิดาของท่านเป็นพราหมณ์ ในรัฐที่ปัจจุบัน
เรียกว่า “เกราลา” (Kerala)
ครอบครัวของท่านมีอำนาจมากในพระราชวังของกษัตริย์แห่งรัฐทราวันคอร์ (Travancore)
เมื่อเป็นหนุ่ม ท่านเข้ารับราชการในพระราชวัง และไม่นานก็ได้รับหน้าที่ดูแลกิจการของรัฐ

(+)การเปลี่ยนมาเป็นคาทอลิก

ในปี 1741 บริษัท Dutch East India ส่งกัปตัน “เดอ ลานนอย” (De Lannoy) ผู้บัญชาการ
ทหารเรือชาวดัตช์ ไปยึดและตั้งท่าเรือการค้าในเขตปกครองของกษัตริย์แห่งรัฐทราวันคอร์
ผลการต่อสู้ปรากฏว่าฝ่ายดัตช์พ่ายแพ้ กัปตัน”เดอ ลานนอย” ยอมจำนน คนของกัปตัน
ส่วนหนึ่งเสียชีวิตในการต่อสู้ และที่เหลือถูกคุมขังพร้อมกับกัปตัน

ต่อมากัปตันและชาวดัตช์ที่ถูกคุมขังได้รับการอภัยโทษโดยมีเงื่อนไขว่าพวกเขาจะรับใช้ใน
กองทัพของกษัตริย์ฯ กัปตันและชาวดัตช์ช่วยงานในกองทัพเป็นอย่างดี พวกเขาฝึกกองกำลัง
ชนพื้นเมืองแบบยุโรปรวมทั้งการใช้อาวุธปืนให้ กัปตันในฐานะผู้บัญชาการทหาร นำทัพรบ
ชนะหลายครั้งยังผลให้กษัตริย์ฯ ผนวกดินแดนใกล้เคียงได้อีกไม่น้อย

ในช่วงที่กัปตันและชาวดัตช์ช่วยงานด้านการทหารของกษัตริย์ฯ อยู่นั้น “ดีวาสะหะยาม”ก็ได้อยู่
ใกล้ชิดคุ้นเคยกับกัปตันเป็นอย่างดี ท่านได้ขอให้กัปตันสอนเรื่องความเชื่อคาทอลิกให้
ซึ่งนำสู่การกลับใจเปลี่ยนมานับถือศาสนาคาทอลิกและการใช้ชื่อ 'ลาซารัส' ของท่าน

(+)การรับศีลล้างบาป

“ดีวาสะหะยาม”รับศีลล้างบาปในวัดคาทอลิกที่ตั้งอยู่ในรัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu)
ซึ่งมีพระสงฆ์คณะเยซูอิตเป็นผู้ดูแล ขณะเดียวกันภรรยาและญาติอีกหลายคนของท่านก็ได้
รับศีลล้างบาปในคราวเดียวกันด้วย หลังจากรับศีลล้างบาปแล้ว ภรรยาของท่านก็ย้ายถิ่นไปอยู่
ในเขตอื่นเพราะกลัวอันตรายถึงชีวิตจากคนพื้นเมืองในรัฐทราวันคอร์เนื่องจากการเปลี่ยนศาสนา

(+)ข้อกล่าวหา

หัวหน้าพราหมณ์ของรัฐทราวันคอร์, ขุนนางศักดินา, สมาชิกของราชวงศ์ และชุมชนพื้นเมือง ได้นำ
ข้อกล่าวหาเท็จขึ้นฟ้องกษัตริย์ฯว่า “ดีวาสะหะยาม”เตรียมการเปลี่ยนมานับถือศาสนาคาทอลิก
เพราะอยู่ในตำแหน่งที่มีอิทธิพล, ใช้เงินทุนของรัฐจูงใจให้ผู้คนเปลี่ยนศาสนา” หลังจากนั้นก็ถูก
กล่าวหาเพิ่มอีกว่า “เป็นคนขายชาติ เปิดเผยความลับของรัฐต่อคู่แข่งโดยเฉพาะชาวยุโรป
เนื่องจากนับถือศาสนาเดียวกัน”

“ดีวาสะหะยาม” ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกขังคุกอยู่ 3 ปี ในช่วงเวลานั้นกษัตริย์ฯ ถูกกดดัน
อย่างหนักจากชาวยุโรปที่เรียกร้องให้ปล่อยตัว และที่สุดกษัตริย์ก็ทรงมีพระราชโองการเนรเทศท่าน
โดยให้นั่งบนหลังควาย (ประจานท่านต่อหน้าสาธารณชน) ไปที่ชายแดนและปล่อยตัวให้เดินทาง
เข้าไปในเขตปกครองของฮอลแลนด์ได้

อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนพระราชโองการนี้ในเวลาต่อมา “ดีวาสะหะยาม” ถูกประจานบนหลังควาย
ถูกเจ้าหน้าที่ของราชสำนัก 10 คนทรมานก่อนถูกปล่อยตัวในบริเวณป่าภูเขาที่ชายแดนของอาณาจักร
ที่เป็นศัตรูของกษัตริย์ฯ

(+)ธรรมประเพณีที่เล่าสืบต่อกันมา

“ดีวาสะหะยาม” อยู่ในท่านั่งกลับหลังบนควาย ขณะถูกกองทหารนำตัวออกจากพระราชวังของ
กษัตริย์ฯ เป็นเวลา 2-3 วัน พวกเขาปฏิบัติต่อท่านเช่นเดียวกับอาชญากรในสมัยนั้น คือมีการ
ใช้สีแดงและสีดำทาเป็นจุด ๆ ทั่วร่าง จงใจให้ขบวนผ่านไปในบริเวณที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น
ทรมานท่านทุกวันด้วยการเฆี่ยนตีด้วยสายหนัง 80 เส้น พร้อมกับใช้พริกไทยถูไถไปตามบาดแผล
และรูจมูก ตากแดด และให้ดื่มน้ำเน่าข้างทาง

เล่ากันต่อมาในหมู่คริสตชนว่า ขณะที่ขบวนหยุดพักครั้งหนึ่ง พระผู้เป็นเจ้าทรงดับกระหายของ
“ดีวาสะหะยาม” ด้วยการโปรดให้มีน้ำใสไหลผ่านรูเล็กๆ ของก้อนหินตรงจุดที่ท่านคุกเข่าอธิษฐาน
ภาวนา ปัจจุบันยังคงมีรูน้ำของหินก้อนนั้นอยู่ในบริเวณวัดที่เมือง ”ปูลิโยร์คูริชี” (Puliyoorkurichi)
เชื่อกันด้วยว่า ที่หมู่บ้าน “เปรุวิไล“ (Peruvilai) ใบของต้นสะเดา(Margosa) ที่ท่านถูกมัดติดกับต้น
ระหว่างการเนรเทศ สามารถใช้รักษาโรคได้ นอกจากนั้นยังมีอัศจรรย์อีกมากที่เกี่ยวเนื่องกับ
“ดีวาสะหะยาม”

(+)วาระสุดท้าย
พระราชโองการของกษัตริย์ฯ ที่ออกในปี 1752 คือให้เนรเทศ“ดีวาสะหะยาม” ไปยังดินแดน
”ปันยา” (Pandya) และให้ปล่อยตัวในป่าใกล้เมือง “อารัลไวโมซี” (Aralvaimozhy) เชื่อกันว่า
หลังจากได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว “ดีวาสะหะยาม” ทำสมาธิสงบนิ่งอยู่ในบริเวณนั้น
มีผู้คนจากหมู่บ้านใกล้เคียงพากันมาหาท่าน แหล่งข่าวของคริสตชนระบุว่า ในช่วงเวลาที่ถูก
ปล่อยตัวเป็นอิสระอยู่นั้น คนฮินดูที่เป็นวรรณะสูงกลุ่มหนึ่งวางแผนกำจัดท่าน

หลายคนเชื่อว่ามีทหารพยายามยิงท่านแต่ไม่สำเร็จ ท่านจึงใช้มือหยิบปืนจากทหารคนนั้น,
อวยพรและส่งปืนคืนให้ ทหารคนนั้นจึงใช้ปืนกระบอกนั้นยิงท่าน 5 ครั้งก่อนจะโยนร่างของท่าน
ทิ้งลงไปใกล้เชิงเขาที่”คัทตะดิมาลัย” (Kattadimalai) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 1752 หลังจากนั้น
มีคนนำร่างของท่านไปฝังไว้หน้าพระแท่นบูชาในวัดเซเวียร์ คอลตาร์ (Xavier Koltar)
เมืองนาเกอร์คอยล์ (Nagercoil) ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างใหม่เป็น “มหาวิหารนักบุญฟรังซิสเซเวียร์”
แห่งสังฆมณฑลรัฐทมิฬนาฑู
นับตั้งแต่วันที่มีการฝังศพของ“ดีวาสะหะยาม” มีนักแสวงบุญคาทอลิกจำนวนมาก
มาอธิษฐานภาวนา ณ ที่ฝังศพของท่าน

(+)ขั้นตอนการบันทึกนามในสารบบนักบุญ

ในปี 2004 สภาบิชอปรัฐทมิฬนาฑู และสภาบิชอปแห่งอินเดียยื่นเรื่องการบันทึกนามของท่าน
ในสารบบบุญราศี แต่ถูกองค์กรฮินดูคัดค้านโดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานการกดขี่ทางศาสนา
ในรัฐทราวันคอร์ในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตาม สภาบิชอปฯ มีหลักฐานที่ชี้บ่งว่า เจ้าหน้าศาล
ในยุคนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนเป็นคาทอลิกของท่าน

วันที่ 28 มิถุนายน 2012 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงประกาศการบันทึกนาม
เป็นมรณสักขี “ผู้น่าเคารพ” (Vulnerable) ของ ลาซารัส ดีวาสะหะยาม และการบันทึกนาม
ในสารบบบุญราศีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2012

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2020 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงออกสมณกฤษฎีการับรอง
อัศจรรย์ที่เกิดจากการเสนอคำวิงวอนผ่านบุญราศี ลาซารัส ดีวาสะหะยาม
และให้มีการบันทึกนามในสารบบนักบุญเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2022

*************************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ย. 29, 2022 4:40 pm

3. นักบุญเซซาร์ เดอ บืส (César de Bus)

เซซาร์ เดอ บืส เกิดที่เมืองกาไวญอง (Cavaillon) ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1544
เมื่ออายุ 18 ปี ท่านได้เข้าร่วมกองทัพของกษัตริย์สู้รบกับพวกโปรเตสแตนท์ “อือเกอโนต์”
(Huguenot) หลังสงคราม ท่านใช้เวลาเขียนบทกวีนิพนธ์และวาดภาพ ไม่นานต่อมา ท่านตัดสินใจ
เข้าร่วมกองเรือรบของกษัตริย์เพื่อปิดล้อมเมืองท่า “ลา โรแชล” (La Rochelle) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญ
ของฝ่ายโปรแตสแตนท์ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ แต่ท่านเกิดป่วยหนักและไม่สามารถเข้าร่วมรบได้

หลังจากหายป่วย ท่านใช้ชีวิตในโลกียสุขที่กรุงปารีสเป็นเวลา 3 ปีก่อนกลับบ้านที่เมืองกาไวญอง
เพื่อรับตำแหน่งสืบต่อจากน้องชายซึ่งเป็นพระสงฆ์แห่งซาลอน (Salon-de-Provence)
และเพิ่งมรณภาพ ท่านรับเงินค่าครองชีพประจำตำแหน่ง (Stipend) ที่น้องชายเคยได้รับและ
นำไปปรนเปรอเพื่อความสุขส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้น ท่านก็กลับใจหันมาดำเนินชีวิตในคุณธรรมและศึกษาต่อก่อนจะ
รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี 1582 ท่านเริ่มโดดเด่นด้านงานการกุศลและกระตือรือร้นในการเทศน์

ในปี 1592 ท่านตั้งคณะกลุ่มพระสงฆ์ฆราวาสเทศน์สอนตามหลักคำสอนของพระศาสนจักรที่เมือง
”ลีลเลอ” (L'Isle) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนฝรั่งเศส กลุ่มที่ตั้งขึ้นนี้รู้จักกันในชื่อ
“คุณพ่อผู้สอนคำสอน” (Christian Doctrine Fathers) และในปีต่อมาก็มีการตั้งกลุ่มนี้ขึ้นอีกที่
เมืองอาวิญอง (Avignon) ประเทศฝรั่งเศส

กลุ่มคุณพ่อผู้สอนคำสอนมีพัฒนาการเป็นคณะนักบวชที่สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนที่ 8
(1592-1605) ทรงอนุมัติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 1597

นอกจากการตั้งคณะนักบวชชายแล้ว ท่านยังได้ก่อตั้งคณะนักบวชหญิง "ธิดาแห่งคำสอนคริสต์
ศาสนา" (Daughters of Christian Doctrine) ซึ่งต่อมาเรียกว่า "เออร์ซูลิน" (Ursulines) ที่ได้ปิด
ตัวลงในศตวรรษต่อมา ท่านเขียนหนังสือคำสอนชุด 5 เล่มชื่อ “คำสอนที่คุ้นเคยกัน”
(Instructions Familières) ซึ่งมีการตีพิมพ์ที่ปารีสในปี 1666

(+)ขั้นตอนการบันทึกนามในสารบบนักบุญ

สมเด็จพระสันตะปาปาปิโอที่ 7 (1800-1823) ทรงประกาศให้บันทึกนามในสารบบ “ผู้น่าเคารพ”
ในปี 1821 และสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 (1963-1978) ทรงอนุมัติการบันทึกนาม
ในสารบบบุญราศีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 1975

ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2020 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงออกสมณสมณกฤษฎีกา
รับรองอัศจรรย์ที่เกิดจากการเสนอคำวิงวอนผ่านบุญราศี ซีซาร์ เดอ บุส และให้มีการบันทึกนาม
ในสารบบนักบุญเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2022

**************************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ย. 29, 2022 4:44 pm

4. นักบุญ ลุยจี มารีอา ปาลาสโซโล (Luigi Maria Palazzolo)

ลุยจิ มารีอา ปาลาสโซโล เกิดที่เมืองแบร์กาโม (Bergamo) ทางภาคเหนือของประเทศอิตาลี
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1827 ลุยจิเป็นน้องคนสุดท้องของครอบครัวที่มีลูก 8 คน ท่านมีวัยเด็ก
ที่ฟุ่มเฟือยหรูหรามากเนื่องจากบิดามารดาเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านหลายหลัง
ในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy)

ในช่วงเวลาที่ท่านยังเป็นเด็กอยู่นี้ พี่ ๆ เสียชีวิตหมดรวมทั้งผู้เป็นบิดาก็เสียชีวิตเมื่อลุยจิอายุไ
ด้ 10 ขวบ เนื่องจากท่านเป็นเด็กที่ฉลาดมากและไร้เดียงสา ผู้คนรอบข้างจึงตั้งฉายาท่านว่า
“พระราชวังน้อย” (Palazzolino)" และมักใช้ชื่อนี้เรียกท่านจนตลอดชีวิต
เมื่ออายุได้ 17 ปีลุยจิเข้ารับการศึกษาเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์อยู่ 6 ปีและได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์
ในปี 1850 ท่านทำงานแพร่ธรรมอย่างแข็งขันจนได้เป็นคุณพ่ออธิการวัด “ซาน แบรนารดีโน”
(San Bernardino)

ในปี 1855 ท่านตั้งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เมืองทราโอนา (Traona) ในปี 1872 ซึ่งดำเนินกิจการ
มานานกว่าครึ่งศตวรรษและปิดตัวลงในปี 1928

ในปี 1864 ขณะที่ท่านเดินไปตามตรอกในย่านชานเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่าน ท่านพบเด็กกำพร้า
เร่ร่อน ร่างกายท่อนบนเปลือยเปล่า ท่านถอดเสื้อคลุมของท่านและห่มร่างของหนูน้อย พาไป
ทำความสะอาดเนื้อตัวก่อนจะจัดหาอาหารให้ หลังจากนั้นก็ให้การดูแลต่อเพื่อไม่เป็น
เด็กเร่ร่อนอีกต่อไป

ในปี 1869 ท่านได้พบเด็กหญิงพิการเป็นง่อยคนหนึ่ง ท่านพาเธอไปอยู่ในศูนย์สตรีคาทอลิก
ที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง ท่านเขียนในสมุดบันทึกส่วนตัวว่า ท่านตั้งใจ "ทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้"
เพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม สตรีคนหนึ่งที่ร่วมงานกับท่านคือ “มารีอา เทเรซา กาบรีเอลี”
(Maria Teresa Gabrieli : 1837-1908) – ซึ่งต่อมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “คณะภคินีของผู้ยากไร้”
(Suore delle Poverelle – Istituto Palazzolo) สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
ทรงประกาศให้เธอเป็น “ผู้น่าเคารพ” เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2019

ตั้งแต่ปี 1885 คุณพ่อลุยจิเริ่มมีปัญหาด้านการหายใจและไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ
ท่านจำต้องนอนบนเก้าอี้ขนาดใหญ่จนเกิดแผลกดทับที่แขนและขาและไม่สามารถถวายมิสซาได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ท่านทนทุกข์ทรมานอยู่นั้น คุณพ่อฯ ได้รับความบรรเทาใจเมื่อบิชอป
”กวินดานี” (Guindani) มาเยี่ยมท่านในวันที่ 12 พฤษภาคม 1885 เพื่อแจ้งว่า ท่านอนุมัติธรรมนูญ
ของ “คณะภคินีของผู้ยากไร้” ที่คุณพ่อฯ เป็นผู้ก่อตั้ง
ไม่นานต่อมาในคืนหนึ่ง คุณพ่อลุยจิลื่นตกจากที่นอนและไม่สามารถลุกขึ้นจากพื้นห้องได้
เป็นเวลา 3 ชั่วโมง คุณพ่อฯ มรณภาพกลางดึกของคืนวันที่ 15 มิถุนายน 1886
ขณะพึมพำพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า

(+)หลังมรณกรรม

บิชอป ”กวินดานี” พอใจกับการดำเนินงานของ “คณะภคินีของผู้ยากไร้” และส่งเรื่องไปที่สันตะสำนัก
กรุงวาติกัน สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 (1903-1914) ทรงอนุมัติธรรมนูญของคณะฯ
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1912

(+)ขั้นตอนการบันทึกนามในสารบบนักบุญ

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 (1958-1963) ทรงประกาศให้ “ลุยจิ มารีอา ปาลาสโซโล”
เป็น “ผู้น่าเคารพ” ในปี 1962 ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม 1963 พระองค์ทรงประกาศรับรอง
2 อัศจรรย์ที่เกิดจากการเสนอคำวิงวอนผ่านท่าน

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (13 มีนาคม 2013 - ปัจจุบัน) ทรงประกาศรับรองอัศจรรย์
ที่เกิดจากการเสนอคำวิงวอนผ่านท่านเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2019
แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด—19 จึงได้เลื่อนการบันทึกนามในสารบบนักบุญ
เป็นวันที่ 15 พฤษภาคม 2022

*****************************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ย. 29, 2022 4:53 pm

5. นักบุญจุสติโน่ มารีอา รุสโซลิลโล่ (Giustino Maria Russolillo)

จุสติโน่ มารีอา รุสโซลิลโล่ เกิดในย่าน “เปียนูร่า” (Pianura) ชานเมืองเนเปิลทางใต้ของ
ประเทศอิตาลีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 1891 ท่านเป็นลูกคนที่สามในหมู่พี่น้อง 10 คน เมื่อเป็นเด็ก
ท่านเรียนหนังสือกับคุณป้าที่บ้านและเรียนภาษาละตินกับพระสงฆ์ที่วัดใกล้บ้าน หลังจากนั้นก็
สมัครเรียนเตรียมเป็นพระสงฆ์

ในวันรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี 1913 ”รุสโซลิลโล่” ตั้งปณิธานว่าจะตั้งคณะนักบวชเพื่อ
ส่งเสริมกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์และนักบวช วันที่ 30 เมษายน 1914 คุณพ่อ”รุสโซลิลโล่”
เริ่มให้การอบรมและสอนเยาวชนชายกลุ่มหนึ่งเพื่อเตรียมพวกเขาเป็นพระสงฆ์ และประสบ
ความสำเร็จเมื่อผู้อยู่ในความดูแลของท่านบางคนได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ คุณพ่อฯ พยายาม
สร้างกลุ่มพระสงฆ์ที่อุทิศตนเพื่องานกระแสเรียก แต่กลุ่มดำเนินการได้ไม่นานนัก

ในปี 1920 หลังจากคุณพ่อ”รุสโซลิลโล่” รับตำแหน่ง “พระสงฆ์เจ้าวัด” ในย่าน“เปียนูร่า”ที่เป็นถิ่น
กำเนิดของท่านเพียง 1 เดือน คุณพ่อฯ ก็ตั้ง “คณะพระสงฆ์เพื่อกระแสเรียก”
(The Vocationist Fathers} เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1920 และในปีต่อมา (2 ต.ค.1921) คุณพ่อฯ
ตั้ง “คณะภคินีเพื่อกระแสเรียก” (The Vocationist Sisters) สำหรับสตรีอีกด้วย
บิชอปประจำสังฆมณฑลอนุมัติการดำเนินงานของ “คณะพระสงฆ์เพื่อกระแสเรียก” อย่างเป็นทางการ
วันที่ 26 พฤษภาคม 1927 คุณพ่อฯ ปฏิญาณตนเป็นพระสงฆ์ในคณะที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 1931

ต่อมาตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 1947 “คณะภคินีเพื่อกระแสเรียก” เข้าอยู่ในความดูแล
ของสันตะสำนัก และตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 1948 “คณะพระสงฆ์เพื่อกระแสเรียก”
ก็อยู่ในความดูแลของสันตะสำนักเช่นกัน

ในปี 1950 คุณพ่อ”รุสโซลิลโล่” ส่งพระสงฆ์ของคณะที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้งไปเปิดสาขาที่ประเทศบราซิล
ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 1955 ท่านเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพและเป็นลมหมดสติอยู่หลายครั้ง แม้ขณะ
รับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่เมืองเนเปิล ท่านก็ยังออกเยี่ยมเณรของคณะระหว่าง
วันที่ 20 – 27 กรกฎาคม 1955 หลังจากนั้นจึงทราบจากการตรวจโลหิตว่า ท่านเป็นโรคมะเร็ง
เม็ดเลือดขาว (leukemia) และมรณภาพเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1955 หลังจากรับ “ศีลเจิมคนไข้”

ปัจจุบันคณะนักบวชทั้งสองที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง มีการดำเนินงานในประเทศต่าง ๆ ดังนี้ :

อเมริกาเหนือ : สหรัฐอเมริกา และแคนาดา
ละตินอเมริกา : บราซิล, อาร์เจนตินา, ชิลี, เอกวาดอร์ และโคลัมเบีย
แอฟริกา : ไนจีเรีย, มาดากัสการ์ และแอฟริกาใต้
ยุโรป : อิตาลี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส
เอเชีย : อินเดีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ออสเตรเลีย

(+)ขั้นตอนการบันทึกนามในสารบบนักบุญ

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 (1978-2005) ทรงอนุมัติให้บันทึกนามในสารบบ
“ผู้น่าเคารพ” ในปี 1997 ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2010 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 6
ทรงประกาศรับรองอัศจรรย์ที่เกิดจากการเสนอคำวิงวอนผ่านท่านและบันทึกนามในสารบบบุญราศี
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (13 มีนาคม 2013 - ปัจจุบัน) ทรงประกาศรับรองอัศจรรย์ที่สองเกิด
จากการเสนอคำวิงวอนผ่านท่านในปี 2020
และบันทึกนามในสารบบนักบุญเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2022

***************************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ต.ค. 04, 2022 8:53 pm

6. นักบุญชาร์ล เดอ ฟูโกด์ (Charles de Foucauld)

ชาร์ล เดอ ฟูโกด์ เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1858 ในจังหวัดเปริกอร์ด (Périgord) ทางภาคใต้
ของประเทศฝรั่งเศส เมื่ออายุได้ 3 ขวบครึ่ง คุณแม่ได้ให้กำเนิดน้องสาว คุณแม่เป็นคนเคร่งศาสนา
และอบรมลูกทั้งสองในความเชื่อคาทอลิก อย่างไรก็ตามคุณแม่เสียชีวิตเนื่องจากการแท้งบุตรขณะที่
ชาร์ล เดอ ฟูโกด์อายุได้ 6 ขวบ และไม่นานต่อมาในปีเดียวกันคุณพ่อก็เสียชีวิตด้วยโรคประสาทอ่อน
(neurasthenia) สองพี่น้องจึงอยู่ในความดูแลของคุณตาซึ่งมียศเป็นนายพันที่เมืองสตาร์สบูร์ก
(Strasbourg)

คุณตาและภรรยาเลี้ยงดูหลานทั้งสองด้วยความรักเป็นอย่างดี ชาร์ล เดอ ฟูโกด์กล่าวถึงคุณตาใน
ภายหลังว่า “คุณตาเป็นคนเก่งและน่ารักมาก วัยเด็กของเราจึงอยู่ในบรรยากาศของความรักและ
ความอบอุ่นที่สัมผัสได้” ในปี 1870 หลังจากฝรั่งเศสแพ้สงครามในการรบกับรัสเซีย ครอบครัวคุณตา
ได้อพยพไปอยู่ที่เมืองนันซี่ (Nancy) ชาร์ล เดอ ฟูโกด์ รับศีลมหาสนิทครั้งแรกและศีลกำลังเมื่ออายุ
ได้ 14 ปี และกลายเป็นคนไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าในปีต่อมาขณะที่ศึกษาวิชาวาทศาสตร์ (Rhetoric)
ท่านกล่าวในภายหลังว่า “ผมใช้เวลา 12 ปีโดยไม่รู้ว่าจะเชื่อดี หรือไม่เชื่อดี เรื่องพระเจ้า ผมรู้สึกหมด
หวังเพราะหาข้อพิสูจน์เรื่องพระเจ้าไม่ได้ สิ่งนี้ทำให้ผมไม่สบายใจ ผมกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวและคิดถึง
แต่เรื่องการทำความชั่ว”

ชาร์ล เดอ ฟูโกด์ สำเร็จระดับมัธยมศึกษาด้วยคะแนนที่สูงมาก และเข้าเรียนต่อที่กรุงปารีสในโรงเรียน
ประจำที่ดำเนินการสอนโดยคณะสงฆ์เยสุอิตที่เคร่งครัดเพื่อเตรียมสอบเข้าสายวิชาการทหาร ท่านไม่
เห็นด้วยกับความเข้มงวดของโรงเรียน จึงเลิกปฏิบัติศาสนกิจโดยสิ้นเชิงและถูกไล่ออกจากโรงเรียน
ประจำเมื่ออายุได้ 18 ปี หลังจากนั้นท่านก็กลับไปเรียนต่อที่บ้านที่เมืองนันซี่ โดยมีครูสอนส่วนตัวและ
สอบผ่านเข้าศึกษาด้านการทหารจนสำเร็จเป็นนายทหาร

หลังจากได้รับมรดกมูลค่ามหาศาลหลังการเสียชีวิตของคุณตา ชาร์ล เดอ ฟูโกด์ ก็ได้สมัครเข้าเป็น
ทหารม้าและถูกส่งไปประจำการในแอลจีเรียที่ตั้งอยู่ทางเหนือของทวีปแอฟริกาซึ่งขณะนั้นอยู่ในปกครอง
ของฝรั่งเศส ท่านใช้ชีวิตอย่างสำราญเต็มที่ขณะประจำการอยู่ที่นั่น แต่ที่สุดก็รู้สึกเบื่อหน่ายกับความไร้
สาระของชีวิตและลาออกจากชีวิตทหารก่อนจะปลอมตัวเป็นคนยิวเพื่อสำรวจดินแดนประเทศโมร็อกโค
, ทะเลทรายซาฮาราและปาเลสไตน์ ผลงานการสำรวจที่โดดเด่นของท่านได้รับรางวัลเหรียญทองคำจาก
สมาคมภูมิศาสตร์แห่งกรุงปารีสในปี 1888 และมีการตีพิมพ์ในหนังสือ
“Reconnaissance au Maroc (1888)”

หลังการสำรวจดินแดนทางเหนือของทวีปแอฟริกาแล้ว ท่านได้กลับมาใช้ชีวิตเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด
และสมัครเข้าคณะนักพรตแทร็ปปิสต์ (Trappist) เมื่ออายุ 32 ปี ท่านเป็นนักพรตของคณะที่มีอารามอยู่ที่
ชายแดนซีเรีย-ตุรกี แม้การใช้ชีวิตของชาวคณะจะเคร่งครัดตามคำปฏิญาณถือความยากจน แต่ท่านกลับ
พบว่า ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกวัดกลับมีชีวิตที่ยากจนยิ่งกว่า ดังนั้น หลังจากใช้ชีวิตเป็นนักพรตอยู่ได้ 7 ปี
ท่านก็ขอลาออกจากคณะและใช้ชีวิตในการสวดภาวนาพร้อมกับทำงานเป็นคนรับใช้ที่อารามของคณะ
กลาริสกาปูชิน (Capuchin Poor Clares) ที่นาซาเร็ธ และที่เยรูซาเล็ม ท่านเขียนเรื่องเกี่ยวกับสมาธิซึ่ง
ต่อมาเป็นรากฐานที่สำคัญของจิตวิญญาณของท่าน ต่อมาไม่นาน มีผู้แนะนำให้ท่านบวชเป็นพระสงฆ์
ท่านจึงได้กลับประเทศฝรั่งเศสและบวชเป็นพระสงฆ์ที่เมืองวีวีเอส์ (Viviers) เมื่ออายุได้ 43 ปี

หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์แล้ว ท่านตัดสินใจตั้งรกรากในฐานะฤษีในทะเลทรายซาฮาราในเขตประเทศ
แอลจีเรีย ท่านสร้างอาศรมเล็ก ๆ เป็นสถานที่บำเพ็ญภาวนาและตั้งใจที่จะใช้เป็นจุดกำเนิดของประชาคม
ใหม่ แต่ไม่มีผู้ใดสนใจสมัครเข้าร่วมเป็น “คณะน้องชายของพระเยซู" กับท่านเลย ท่านใช้ชีวิตร่วมกับ
ชนเผ่าเร่ร่อน “ทัวเร็ก” (Tuareg ซึ่งเป็นชาวเบอร์เบอร์ : Berber เร่ร่อนที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายซาฮารา)
และประกาศพระศาสนาในรูปแบบใหม่ คือไม่ใช้วิธีการเทศน์สอน แต่ใช้วิธีการดำเนินชีวิตเป็นตัวอย่าง
ท่านศึกษาวัฒนธรรมและชีวิตความของพวกเขา 12 ปีจนสามารถทำพจนานุกรมภาษาทัวเร็ก-ฝรั่งเศสได้
เป็นคนแรก ท่านรวบรวมบทกวีภาษาทัวเร็กไว้หลายร้อยบทและได้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส
วันที่ 1 ธันวาคม 1916 ขณะที่ ชาร์ล เดอ ฟูโกด์ (อายุ 58 ปี) ถูกโจรที่ติดต่อกับเผ่าเบดูอิน (Bedouin
) ลักพาตัวออกจากอาศรมอยู่นั้น ทหารอูฐฝรั่งเศส 2 คนผ่านมาพบพอดีจึงได้เข้าขัดขวางแต่ไม่สำเร็จ
เด็กหนุ่มวัย 15 ปีหนึ่งในกลุ่มโจรผู้ลักพาตัวเกิดตกใจและยิงปืนเข้าที่หน้าผากของท่านเสียชีวิตทันที
ทหารอูฐทั้งสองก็ถูกยิงตายด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อดีตทาสชาวแอฟริกาคนหนึ่งที่กลับใจและปฏิบัติ
ศาสนกิจเป็นผู้ช่วยใช้ชีวิตอยู่กับท่านเห็นเหตุการณ์และเป็นพยาน เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสใช้เวลาสืบสวนติดตาม
จับกุมโจรกลุ่มนี้อยู่นานกว่า 30 ปี ที่สุดก็จับตัวคนที่ยิงท่านได้และลงโทษประหารชีวิตในปี 1944

แทบจะทันทีหลังการมณภาพของ ชาร์ล เดอ ฟูโกด์ ผู้มีความเชื่อเข้าใจตรงกันว่า ท่านเสียชีวิตในฐานะ
“มรณสักขีผู้ประกาศความเชื่อ” ฆราวาสและนักบวช 48 ท่านในฝรั่งเศสร่วมกันก่อตั้ง
“สมาคมความเป็นพี่น้องชายหญิงแห่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า” ตามแนวทางของท่าน
โดยเฉพาะหลังจากที่มีการพิมพ์ชีวประวัติของท่านในปี 1923 ชีวิตและงานเขียนของท่านเป็นแรง
บันดาลใจให้กับการตั้งคณะนักบวชขึ้นใหม่หลายคณะ รวมทั้งมีการรื้อฟื้นวิธีการใช้ชีวิตนักพรตขึ้นใหม่

(+)ขั้นตอนการบันทึกนามในสารบบนักบุญ

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงประกาศการบันทึกนามในสารบบ“ผู้น่าเคารพ”
(Vulnerable) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2001
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงอนุมัติการบันทึกนามในสารบบบุญราศี
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ต่อมาสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงออกสมณสมณกฤษฎีกา
รับรองอัศจรรย์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2020 และให้มีการบันทึกนาม
ในสารบบนักบุญเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2022

***************************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ต.ค. 04, 2022 8:55 pm

7. นักบุญ มารีอา รูบัตโต (Maria Rubatto)

มารีอา รูบัตโต เกิดในปี 1844 ท่านมีพี่น้อง 8 คน บิดาเสียชีวิตเมื่อเธอมีอายุได้ 4 ขวบ
เมื่อเป็นวัยรุ่น เธอปฏิเสธการแต่งงานเนื่องจากเธออยากเป็นภคินี มารดาของเธอถึงแก่กรรม
เมื่อเธอมีอายุได้ 19 ปี หลังจากนั้นเธอก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองตูริน และทำความรู้จักจนสนิทสนมกับ
นาง “มารีอันนา” (Marianna) สตรีผู้สูงศักดิ์
“มารีอา รูบัตโต” ช่วย “มารีอันนา”สอนคำสอนเด็กๆ, เยี่ยมผู้ป่วยและคนยากจน หลังจาก“มารีอันนา
”เสียชีวิตในปี 1882 “มารีอา รูบัตโต” ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเช่นเดิม จนเช้าวันหนึ่งหลังมิสซาเลิก
มีก้อนหินตกจากสถานที่ก่อสร้างใกล้อารามภคินีที่อยู่ติดกับวัดถูกคนงานคนหนึ่ง“ มารีอา รูบัตโต”
เห็นเหตุการณ์ก็รีบกุลีกุจอเข้าช่วยคนงานผู้เคราะห์ร้าย ภคินีที่อารามสังเกตการณ์ดูอยู่ด้วยปักใจเชื่อว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “เครื่องหมาย” ถึงการมีกระแสเรียกของเธอ และในปี 1885 “มารีอา รูบัตโต” ก็มีชื่อใหม่
เมื่อเธอปฏิญาณตนเป็นภคินีว่า "มารีอา ฟรังเชสก้าแห่งพระเยซู" (Maria Francesca of Jesus).
ไม่นานต่อมา บิชอป “ฟีลิปโป อัลเลโกร” (Filipo Allegro) มอบหมายให้เธอเป็นคุณแม่อธิการิณี
“คณะภคินีกาปูชินแห่งคุณแม่รูบัตโต” (The Capuchin Sisters of Mother Rubatto)

ปี 1892 คุณแม่รูบัตโตเดินทางไปแพร่ธรรมที่กรุงมอนเตวีเดโอ (Montevideo) ประเทศอุรุกวัย
และในอาร์เจนตินา คุณแม่ฯ มรณภาพด้วยโรคมะเร็งที่มอนเตวีเดโอในปี 1904

(+)ขั้นตอนการบันทึกนามในสารบบนักบุญ

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 (1978-2005) ทรงอนุมัติการบันทึกนามในสารบบ
“ผู้น่าเคารพ” ในปี 1988. ต่อมาในวันที่ 10 ตุลาคม 1993 พระองค์ทรงประกาศรับรองอัศจรรย์ที่
เกิดจากการเสนอคำวิงวอนผ่านท่านและบันทึกนามในสารบบบุญราศี
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (13 มีนาคม 2013 - ปัจจุบัน) ทรงประกาศรับรองอัศจรรย์ที่สองเกิด
จากการเสนอคำวิงวอนผ่านท่านในปี 2020 และบันทึกนามในสารบบนักบุญเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2022

**************************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ต.ค. 04, 2022 8:59 pm

8. นักบุญ มารีอาแห่งพระเยซู ซานโตคานาเล (Maria of Jesus Santocanale)

“มารีอาแห่งพระเยซู ซานโตคานาเล” เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1852 ที่เมืองปาแลร์โม
(Palermo) บนเกาะซีซิลี ประเทศอิตาลี ท่านมีชาติตระกูลเป็นขุนนาง

เมื่อเธอมีอายุได้ 19 ปี เธอไปเฝ้าไข้ข้างอยู่เตียงคุณปู่ที่ป่วยหนัก และก่อนที่คุณปู่จะเสียชีวิต
เธอได้พบกับคุณพ่อ “เมาโร เวนูตี” (Mauro Venuti) ซึ่งไม่นานต่อมาทำหน้าที่เป็นจิตตาภิบาล
ของเธอและเมื่อมีผู้มาสู่ขอเธอแต่งงาน เธอก็ได้ตัดสินใจปฏิเสธการแต่งงานเพราะเธอรู้สึกมี
ความปรารถนาแรงกล้าที่จะปฏิญาณตนเป็นภคินี แต่เธอยังตัดสินใจไม่ได้ว่า จะเป็นภคินีที่ทำงาน
รับใช้คนยากจนหรือผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุได้ 21 ปี เธอตัดสินใจรับหน้าที่เป็นประธานของ
”คณะธิดาพระนางมารีย์” (The Daughters of Mary) ของวัดนักบุญอันตน เมืองปาแลร์โม
ซึ่งทำงาน ให้การช่วยเหลือผู้ป่วย
ในช่วงเวลาที่เธอทำงานรับใช้ผู้ป่วยนี้เอง เธอติดโรคและต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมากถึง 16 เดือน
หลังจากหายป่วยในปี 1887 เธอยังคงคิดหาวิธีทำงานที่รวมจิตภาวนาและการลงมือทำงานกับผู้ป่วย
และคนยากจนอย่างจริงจัง และที่สุดวันที่ 13 มิถุนายน 1887 เธอก็ได้ตัดสินใจปฏิญาณตนเข้าอยู่
ในสังกัดของ “คณะฆราวาสฟรังซิสกัน” (The Secular Franciscan Order :SFO)
ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 (1878-1903) ทรงสนับสนุนการทำงานของคณะนี้อยู่พอดี
และในวันปฏิญาณตนนั้น เธอก็มีชื่อใหม่ว่า “มารีอา ดี เจซู” (Maria di Gesù)

งานของเธอคือการแบกถุงเสบียงอาหารและยารักษาโรค เดินทางไกลไปตามบ้านแต่ละหลัง
เพื่อมอบสิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีพให้แก่ผู้ป่วยและคนยากจน เธอจึงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในเขต
เมืองปาแลร์โม

หลังจากปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้อยู่หลายปี เธอก็ตัดสินใจตั้งคณะการทำงานขึ้นใหม่เมื่อ
วันที่ 3 ธันวาคม 1909 โดยให้ชื่อว่า “คณะภคินีกาปูชินแห่งการปฏิสนธินิรมลเมืองลูร์ด”
(The Capuchin Sisters of the Immaculata of Lourdes)
คณะภคินีใหม่นี้ ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการโดยอัครสังมราชแห่งปาแลร์โมเมื่อ
วันที่ 24 มกราคม 1923 หลังจากนั้นไม่กี่วัน เธอก็ได้จากโลกนี้ไป
สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 (1939-58) ทรงออกสมณสมณกฤษฎีการับรองธรรมนูญของ
คณะในปี 1947

(+)ขั้นตอนการบันทึกนามในสารบบนักบุญ

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 (1978-2005) ทรงอนุมัติการบันทึกนามในสารบบ
“ผู้น่าเคารพ” ในปี 2000 ต่อมาในวันที่ 12 มิถุนายน 2016 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรง
ประกาศรับรองอัศจรรย์ที่เกิดจากการเสนอคำวิงวอนผ่านท่านและบันทึกนามในสารบบบุญราศี
พระคาร์ดินัล “อันเจโล อามาโต” (Angelo Amato) ทำหน้าที่เป็นประธาน
ในนามของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ประกาศการบันทึกนามในสารบบนักบุญ
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2022

****************************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ต.ค. 04, 2022 9:01 pm

9. นักบุญ มารีอา โดเมนีกา มันโตวานี (Maria Domenica Mantovani)

“มารีอา โดเมนีกา มันโตวานี” เกิดเมื่อวันที่12 พฤศจิกายน 1862 ที่เมืองเวโรนา
ทางเหนือของประเทศอิตาลี เธอเป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน เมื่อเป็นเด็ก เธอเรียน
ในโรงเรียนในละแวกบ้านเป็นเวลาสั้น ๆ พ่อแม่ของเธอเป็นผู้อบรมและสอนเธอเรื่องศาสนา
ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการตอบรับกระแสเรียกเป็นภคินีของเธอในภายหลัง

เมื่อเธอมีอายุได้ 15 ปี คุณพ่อ“นัสซิมเบนี”(Nascimbeni) พระสงฆ์เจ้าวัดและเป็นคุณพ่อวิญญาณ
ของเธอสนับสนุนให้เธอทำกิจกรรมเยี่ยมผู้ป่วยและสอนคำสอนในเขตวัด วันที่ 8 ธันวาคม 1886
เธอปฏิญาณตนเป็นการส่วนตัวในการถือ “ความบริสุทธิ์” และวอนขอให้พระมารดาเป็นผู้ชี้นำ
กระแสเรียกที่ครบครันที่สุดสำหรับตัวเธอ ในปี 1892 เธอเป็นผู้ก่อตั้ง
“คณะภคินีน้อยแห่งครอบครัวศักดิ์สิทธิ์” (The Little Sisters of the Holy Family)
ร่วมกับคุณพ่อวิญญาณ โดยเธอทำหน้าที่เป็นอธิการิณีของคณะต่อเนื่องกันเป็นเวลาถึง 40 ปี
“มารีอา โดเมนีกา มันโตวานี” และสมาชิก 4 คนปฏิญาณตนเป็นภคินีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1892
สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 (1922-39) ทรงอนุมัติธรรมนูญของคณะเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 1932

เธอมรณภาพในปี 1934 เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบัน
คณะภคินีนี้ดำเนินงานอยู่ในประเทศอัลบาเนีย (Albania) และบราซิล

(+)ขั้นตอนการบันทึกนามในสารบบนักบุญ

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 (1978-2005) ทรงอนุมัติการบันทึกนามของเธอในสารบบ
“ผู้น่าเคารพ” ในปี 2001. ต่อมาในวันที่ 27 เมษายน 2003 พระองค์ทรงประกาศรับรองอัศจรรย์
ที่เกิดจากการเสนอคำวิงวอนผ่าน “มารีอา โดเมนีกา มันโตวานี” และบันทึกนามในสารบบบุญราศี
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (13 มีนาคม 2013 - ปัจจุบัน) ทรงประกาศรับรองอัศจรรย์ที่สองเกิด
จากการเสนอคำวิงวอนผ่าน “บุญราศี มารีอา โดเมนีกา มันโตวานี”
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2021 และบันทึกนามในสารบบนักบุญเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2022

***************************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ต.ค. 08, 2022 8:51 pm

10. นักบุญ อาน-มารี รีวีเอร์ (Anne-Marie Rivier)

อาน-มารี รีวีเอร์ เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 1768 ในจังหวัดอาร์แด็ช (Ardèche) ทางภาคใต้
ของประเทศฝรั่งเศส เธอเป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 4 คน เมื่ออายุได้ 16 เดือน เกิดอุบัติเหตุ
ทำให้สะโพกข้างหนึ่งและข้อเท้าแตกจนเดินไม่ได้และเคลื่อนตัวได้ด้วยการคลานกับพื้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเธอมีอายุได้ 5 ขวบ คุณแม่พาเธอไปที่สักการสถาน “วัดน้อยของผู้สำนึกผิด”
(The Chapel of the Penitents) ที่อยู่ในท้องที่ไม่ไกลจากบ้านนัก คุณแม่อธิษฐานภาวนาอยู่เงียบ ๆ
ต่อหน้าพระรูป “ลา ปีเอต้า” (La Pietà : แม่พระอุ้มพระศพพระเยซู) นานนับชั่วโมง และเมื่อ
วันที่ 8 กันยายน 1774 เธอก็สามารถใช้ไม้ค้ำช่วยเดินได้แม้ว่าเธอยังคงเป็นโรคกระดูกอ่อน (rickets)อยู่
และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เธอสูงเพียงประมาณ 130 ซ.ม. ก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่หมดหวังกับการที่จะเดินได้อีก
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอก็ถือเป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว นอกจากเธอพอจะเดินได้แล้ว เรี่ยวแรงที่เคยมีอยู่
น้อยนิดก็กลับมีกำลังวังชามากขึ้นแม้จะไม่เท่ากับคนปกติก็ตาม

เมื่อเธอมีอายุได้ 16 ปีในปี 1785 เธอสมัครเข้า “คณะภคินีแห่งแม่พระ”(the Sisters of Notre Dame)
ที่อยู่ไนเขต “Pradelles” ใกล้บ้านเกิด แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากปัญหาทางสุขภาพ แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้
และก่อตั้งโรงเรียนขึ้นเองในบริเวณบ้านเกิดของเธอในปีต่อมา (1786)

3 ปีต่อมาเกิดปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส (1789) รัฐบาลสั่งปิดคณะสงฆ์และนักบวชทั่วประเทศ กิจกรรม
ทางศาสนาทุกชนิดถูกตั้งข้อสงสัยว่าไม่หวังดีต่อบ้านเมือง กระนั้นก็ดี สาวน้อย ”อาน-มารี” ยังคงยึดมั่น
ในองค์พระเยซูคริสต์ แม้พระสงฆ์ถูกห้ามถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท แต่เธอก็
ยังคงใช้ชีวิตต่อไปด้วยความศรัทธา เธอจัดกิจกรรมทางศาสนา, สอนคำสอนและเรื่องในพระคัมภีร์
เธอศรัทธาเป็นพิเศษต่อนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ (1506-52) และนักบุญฟรังซิส เรจิส
(Francis Regis : 1597-1640) นักบุญทั้งสองเป็นชาวฝรั่งเศสและเป็นพระสงฆ์คณะเยสุอิต

ในปี 1794 ทางการได้ยึดอาคารโรงเรียนของเธอ “อาน-มารี และเพื่อนๆ จึงย้ายไปที่หมู่บ้าน”ตือเอท์”
( Thueyts) ในจังหวัดเดียวกันโดยมีคุณพ่อลุยจิ (Luigi) พระสงฆ์คณะเยสุอิตให้ใช้อาคารเป็นที่พัก
และสอนหนังสือได้ และในห้องใต้หลังคาของอาคารนี้เอง สตรี 5 คนได้ให้คำมั่นที่จะอุทิศตนแด่พระเจ้า
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 1796 ซึ่งเป็นรากฐานอย่างเป็นทางการของคณะภคินีใหม่ของเธอ
พวกเธอเริ่มทำงานด้วยการสอนเด็กกำพร้าและออกเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านของพวกเขา

วันที่ 21 พฤศจิกายน 1797 คณะซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 12 คนได้ปฏิญาณตนเป็นภคินี
ในปี 1801 ทางการได้ทำสนธิสัญญากับสันตะสำนัก (Concordat 1801) อนุญาตให้นักบวชและ
พระสงฆ์ในฝรั่งเศสประกอบศาสนกิจได้อีกครั้งหนึ่ง
ในปี 1805 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 7 ก่อนเสด็จกลับกรุงโรมได้ประทานพรให้กำลังใจชาวคณะ
และตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 1807 ชาวคณะได้สวมเครื่องแบบของคณะเป็นครั้งแรก กิจการของ
คณะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้สมัครเข้าคณะมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนต้องขยายไปยังสถานที่
ใหม่ที่กว้างขวางที่ตำบล “บูร์ก-แซงตังเดออล” (Bourg-Saint-Andéol) ในปี 1815

อาน-มารี ทำงานด้วยใจเร่าร้อนทรงพลัง เธอพูดด้วยความสุภาพและชัดเจนกับการเลือกเส้นทางเดิน
ชีวิตว่า “เพื่อให้พระเยซูคริสต์เป็นที่รู้จัก หรือไม่ก็อย่าอยู่เป็นผู้คนเลย” เมื่อเธอเสียชีวิตด้วยโรคท้องมาน
(dropsy) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1838 เธอเป็นผู้ก่อตั้งบ้านของคณะ 141 แห่งและมีจำนวนภคินี
ในคณะมากกว่า 350 คนที่ดำเนินงานของคณะต่อ

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 แห่งฝรั่งเศส (1834-1920) ทรงอนุมัติการดำเนินงานของคณะ
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 1830 หลังจากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 16 (1831-46)
ทรงออกสมณสมณกฤษฎีกาสรรเสริญ (decree of praise) แก่คณะภคินีนี้
และสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 (1903-14) ทรงออกสมณสมณกฤษฎีกาอนุมัติธรรมนูญ
ของคณะเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1909
ก่อนมรณภาพ เธอเคยกล่าวว่า “ภคินีของคณะจะได้ข้ามน้ำข้ามทะเลในอนาคต” และคำกล่าวของ
เธอก็เป็นความจริงในปี 1853 เมื่อชาวคณะส่วนหนึ่งเดินทางข้ามมหาสมุทรไปถึงประเทศแคนาดา
ในปี 1873 มีการเปิดสาขางานของคณะที่เมือง “เกล็นฟอลส์”(Glens Falls) นิวยอร์ค ทุกวันนี้มีการ
ดำเนินงานของคณะใน 19 ประเทศในทวีปยุโรป, อเมริกาเหนือ, แอฟริกา และเอเชีย
(ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย)

(+)ขั้นตอนการบันทึกนามในสารบบนักบุญ

สมเด็จพระสันตะปาปาปีเลโอที่ 13 (1878-1903) ทรงอนุมัติการบันทึกนามในสารบบ “ผู้น่าเคารพ”
ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม 1982 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงประกาศรับรองอัศจรรย์
และให้บันทึกนามท่านในสารบบบุญราศี และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงประกาศการบันทึกนาม
ในสารบบนักบุญเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2022

*************************
ตอบกลับโพส