เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ ( ชุดที่ 12 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ มิ.ย. 19, 2022 8:34 pm

ชำระไฟแค้น ตอนที่ ( 1 ))
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2551/2008 โดย ซกเรียกสา
และแปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565/2022 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)สิ้นสุดของความไร้เดียงสา
‘ซกเรียกสา’ (Sok Reaksa Himm) เกิดและเติบโตที่เสียมเรียบ เมืองเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของกัมพูชา
ครอบครัวผมอาศัยอยู่ในบ้านที่อยู่ห่างจากแม่น้ำเพียง 150 เมตร แม่น้ำสายเล็ก ๆ นี้ไหลเอื่อย ๆ
ผ่านกลางเมือง ตอนบ่าย ผมชอบไปว่ายน้ำเล่นที่แม่น้ำ บางทีผมกับพี่ชายก็ไปตกปลากับพ่อ
ผมมีพี่น้องทั้งหมด 11 คน จัดเป็นครอบครัวใหญ่ที่ผาสุกเพราะสมาชิกทุกคนกลมเกลียวกันมาก
พ่อแม่นับถือศาสนาพุทธมักพาลูก ๆ ไปไหว้พระที่โบสถ์ นอกจากนั้น ยังปลูกฝังเรื่องศีลธรรมกับ
ระเบียบวินัย คุณพ่อมีอาชีพครู​ จึงเน้นให้พวกเราตั้งใจเรียนสูง ๆ พ่อย้ำว่า “คนที่ไม่มีความรู้มัก
มีชีวิตที่ตกต่ำเพราะขาดความเข้าใจ”
ผมคิดไม่ถึงว่า วันคืนที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยความสุขจะจบลงอย่างกะทันหัน

กองกำลังเขมรแดงนำโดย พอล พต นำทัพทำสงครามกองโจร โค่นนายพล ลอน นอลฝ่ายรัฐบาล
ที่มีแต่ปัญหาคอร์รัปชั่นและทหารหนีทัพ​ เขมรแดงเข้ายึดอำนาจการปกครองในกัมพูชา
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518 (ค.ศ.1975) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ต้องการสร้างรัฐพึ่งตนเอง
เน้นเกษตรกรรม ปิดประเทศ ปฏิเสธการซื้อสินค้าจากต่างชาติ ปิดโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน
ยกเลิกระบบธนาคาร เงินตรา ฯลฯ สั่งอพยพทุกคนในเมืองไปอยู่ในชนบท ถ้าทหารเขมรแดงพบ
ผู้ใดในเมือง ผู้นั้นจะถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด กรุงพนมเปญและเมืองใหญ่ทุกเมืองในกัมพูชากลาย
เป็นเมืองร้าง ขณะนั้นผมอายุ 11ขวบ หลังจากนั้นไม่กี่วัน ครอบครัวผมและครอบครัวอื่น ๆ ก็ถูกบังคับ
ให้ออกจากบ้านไปทำงานในท้องทุ่ง ทุกคนต้องทำงานหนักตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างจนมืดค่ำ อาหารก็มี
แค่กินกันตายเท่านั้น ตกกลางคืนต้องนอนตามมีตามเกิด เราทุกคนเริ่มเหนื่อยอ่อน หมดกำลังใจและ
สิ้นหวัง ชาวเขมรทั่วประเทศต้องอยู่ใต้ระบอบการปกครองที่โหดเหี้ยม การฝ่าฝืนคำสั่งของ
“ตัวแทนกองกำลังเขมรแดง” หรือ “ชลอป” ก็อาจหมายถึงชีวิตได้

ผมเห็นเพื่อน ๆ หลายคนทยอยกันตายเพราะอดอาหาร ญาติ ๆ ของคนตายไม่มีแรงพอจะหามซาก
อันผอมเกร็งของเด็กอดอาหารไปถึงป่าช้าได้ ในที่สุด บรรดาเพื่อนบ้านต้องยื่นมือมาช่วยจัดการ
ฝังศพให้ ภาพที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของผมคือ ตอนน้องชายวัย 10 ขวบของผมถูกกล่าวหาว่าขโมย
ข้าวโพด ทหารผู้โหดร้ายจับน้องชายผมมัดมือไขว้หลังแล้วทุบตีเขาอย่างไม่ปรานี เตะอัดเข้าที่ใบหน้า
อย่างแรงซ้ำแล้วซ้ำอีกจนใบหน้ายับเยินไม่เหลือเค้าเดิม และเมื่อพี่ชายอีกคนถูกทารุณกรรมลักษณะ
เดียวกัน ครอบครัวเราก็เริ่มหมดอาลัยตายอยาก

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ มิ.ย. 20, 2022 1:03 pm

•••••ชำระ(ไฟ)แค้น ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือน​มิถุนายน 2551/2008 โดย ซกเรียกสา
และแปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565/2022 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เช้าวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2520 (ค.ศ.1977) ขณะที่ผมไปตักน้ำ ก็บังเอิญเห็น ‘ชลอป’กลุ่มหนึ่ง
กำลังลับมีดและขวานอย่างขะมักเขม้น ผมรีบวิ่งกลับบ้านไปเล่าให้พ่อฟัง “พ่อ สงสัยพวกมันคงจะ
ฆ่าเราทิ้งเช้านี้แน่” ผมพูดกับพ่อซึ่งตาเบิกโพลงด้วยความตกตะลึงและสิ้นหวัง พ่อไม่พูดอะไร

‘ชลอป’ เป็นพวกวัยรุ่นมาที่บ้านเราเพื่อแจ้งข่าวจากหัวหน้ากองกำลังเขมรแดงประจำหมู่บ้าน
พูดกับพ่อว่า “หัวหน้าบอกให้ไปพบที่ฐานเดี๋ยวนี้” แค่นี้ผมก็รู้แล้วว่า ชะตากรรมของพวกเรากำลัง
จะถึงฆาต “เดี๋ยวตามไป” พ่อบอก “ขอแต่งตัวก่อน”

พอแต่งตัวเสร็จ พ่อหันมาพูดกับผมว่า “เรียกสา วันนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพ่อ พ่ออยากให้ลูก
กับพี่ชาย 2 คนช่วยกันฆ่าคนพวกนี้แก้แค้นให้พ่อด้วย”

พูดเสร็จพ่อก็หันหลังเดินจากไป ผมแอบตามไปเพราะอยากรู้ว่าหัวหน้ากองกำลังเขมรแดงประจำ
หมู่บ้านจะทำอะไรพ่อ แล้วก็เห็น’ชลอป’คนหนึ่งตรงเข้ามาจับพ่อมัดมือประสานไว้เหนือท้ายทอย
อีกคนบอกว่า “แกเป็นศัตรูของเขมรแดง แกรับใช้ทหารอเมริกัน ไม่สมควรมีชีวิตอยู่อีกต่อไป”

ผมรีบวิ่งกลับไปบอกน้องสาวและน้องชาย “พ่อถูกจับ วันนี้พวกมันจะฆ่าพวกเราหมดทั้งบ้าน
ทำยังไงดี” ขณะนั้น ในบ้านมีแต่เด็ก ๆ อายุ 2-13 ปี ส่วนพี่ชายอีก 2 คนไปทำงานกับหน่วย
เคลื่อนที่ แม่กับพี่สาวไปทำงานในไร่ ‘ชลอป’ ลากพ่อกลับมาที่บ้านและเรียกให้พวกเราออกไป
ข้างนอก แล้วบอกว่า “เราจะประหารพวกแกโทษฐานเป็นศัตรูกับกองกำลังเขมรแดง ทุกคน
ตามพ่อพวกแกไปเดี๋ยวนี้” จากนั้นก็ต้อนพวกเราขึ้นเกวียนและพาออกไปจากหมู่บ้าน พวกทหาร
มัดพ่อไว้หน้าเกวียน บังคับให้เราเฝ้าดูพ่อในสภาพน่าเวทนาที่สุด

หลุมศพกลางป่าลึก
ขณะที่เกวียนพาพวกเราเข้าไปในป่าลึก เราเห็นเด็กคนอื่น ๆ มากับพ่อของพวกเขาด้วย บางคนก็
คุ้นหน้ากันดี เด็กทุกคนหน้าตาตื่นตระหนกรวมทั้งผมด้วย ผมพยายามจับมือน้องชายคนเล็กเอาไว้
แต่มือตัวเองกลับสั่นอยู่ตลอดเวลา ในใจผมเริ่มรู้สึกหวิว ๆ
หลังจากเดินทางห่างจากหมู่บ้านได้ราว 3 กิโลเมตร พวกเราก็ถูกสั่งให้หยุดและนั่งรอ ขณะที่ทหาร
ลงไปขุดหลุมซึ่งจะเป็นสุสานของพวกเรา ผมปีนลงจากเกวียน จากนั้นก็คว้าตัวน้องชายคนเล็กมา
อุ้มไว้แล้วตรงไปหาพ่อ พ่อทรุดตัวลงจูบลูกชายคนเล็ก จากนั้นก็จูบลูก ๆ ทุกคน ผมกอดพ่อ
แต่พ่อกอดตอบไม่ได้เพราะแขนทั้งสองข้างถูกมัดไว้น่น น้องสาวกรีดร้อง “พ่อจ๋า ช่วยหนูด้วย หนูกลัว”
พ่อไม่ตอบ ท่าทางพ่อยอมรับสภาพที่หมดหนทางจะปกป้องครอบครัวซึ่งกำลังจะถูกฆ่าตายพร้อม
กับตัวเอง

‘ชลอป’ซึ่งสวมเครื่องแบบสีดำ ผูกผ้าพันคอทอมือสีแดง บังคับให้พ่อคุกเข่าตรงหน้าหลุมที่ขุดไว้
(ผู้รวบรวมเรื่องขออนุญาตข้ามข้อความช่วงนี้ และขอพักชั่วครู่เพื่อสวดอุทิศให้แก่วิญญาณทั้งของ
ฆาตกรที่ต้องทำตามคำสั่งจาก ‘ผู้ใหญ่’ และเหยื่อผู้น่าสงสาร... สรุปคือทุกคนรวมทั้งแม่และพี่สาว
ก็ถูกตามตัวมาที่ “ทุ่งสังหาร” นี้ด้วย ผู้รวบรวมขอกล่าวถึงเฉพาะสิ่งที่‘ผม’ถูกกระทำและการหนีรอด)

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 22, 2022 8:45 pm

ชำระไฟแค้น ตอนที่ ( 3 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2551/2008 โดย ซกเรียกสา
และแปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565/2022 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมถูกตีจากด้านหลังหล่นลงไปทับร่างพ่อ พ่อยังมีลมหายใจอีก 2-3 เฮือกก่อนเงียบไป ผมยัง
ไม่หมดสติ แต่ขยับตัวไม่ได้ เพราะมีร่างของเด็กและผู้ใหญ่จากครอบครัวอื่นทับซ้อนอยู่ จากนั้น
ก็มีพวก’ชลอป’กระโดดลงมาและใช้จอบกระหน่ำตีพวกเราอย่างบ้าคลั่งจนทุกคนตายหมด ยกเว้น
ผมที่ถูกตีซ้ำอีกครั้ง แต่ก็ไม่แรงพอจะปลิดชีวิตผม
พวกมันคงคิดว่า ผมตายแล้วเพราะผมไม่ขยับขาและแขนเนื่องจากถูกศพอื่น ๆ ซ้อนทับอยู่
พวก’ชลอป’ช่วยกันโกยดินถมหลุม แต่จู่ ๆ หนึ่งในนั้นก็พูดขึ้นว่า “ยังไม่ต้องฝังตอนนี้ก็ได้ เราไป
จัดการกับศัตรูกลุ่มอื่นก่อนดีกว่า” พวกมันเข้าใจว่าเหยื่อในหลุมตายหมดทุกคนแล้ว จึงผละไปหา
เหยื่อกลุ่มใหม่ต่อ

(+)มุ่งมั่นแก้แค้น

พอพวกเขมรแดงคล้อยหลังไปได้ราว 5 นาที ผมก็พยายามแข็งใจลุกขึ้นยืน แต่กว่าจะพาตัวเอง
หลุดออกมาจากกองศพก็กินเวลาร่วมครึ่งชั่วโมงเพราะไม่มีแรง ผมพยายามตรวจดูว่าญาติพี่น้อง
เป็นอย่างไรบ้าง ก็พบว่าทุกคนไม่มีลมหายใจแล้ว ผมหมดอาลัยขณะทอดตัวลงนอนบนกองศพที่
ยับเยินเพราะคมจอบ รอให้พวก’ชลอป’กลับมาฆ่าให้ตายตามคนอื่นดีกว่า ผมร้องไห้อยู่นานจน
ไม่มีน้ำตาไหล

ผมนอนนิ่งอยู่อย่างนั้นอีกร่วมชั่วโมง แต่ไม่มีใครย้อนกลับมา ในที่สุด ผมก็ตัดสินใจปีนขึ้นจากหลุม
แล้วหันไปมองร่างไร้วิญญาณเป็นครั้งสุดท้าย พอเดินหันหลังให้หลุมได้ไม่กี่เมตร ผมก็เห็น’ชลอป’
กลุ่มหนึ่งเดินตรงมาจากทิศตะวันตกและทิศใต้ พร้อมกับลากเหยื่ออีกกลุ่มมุ่งหน้าไปยังหลุมที่ยัง
ไม่ได้กลบ หากผมยังอ้อยอิ่งอยู่อีกเพียง 2-3 นาทีก็คงถูกพวก’ชลอป’ฆ่าตายสมใจผมรีบหาที่ซ่อน
อยู่หลังแมกไม้ซึ่งสามารถมองเห็นว่าพวกชลอปกำลังทำอะไร พวกมันจัดการกับเหยื่อชุดใหม่
ในลักษณะเดิม ผมหมดเรี่ยวแรงได้แต่เฝ้าดู’ชลอป’ช่วยกันกลบฝังศพทั้งหมดอย่างลวก ๆ แล้ว
จากไป พอฟ้าเริ่มสาง ผมคลานออกจากแมกไม้พุ่งตรงไปที่หลุมฝังศพขนาดใหญ่ ใช้หัวโขกและ
มือทุบดินเหนือหลุมอย่างบ้าคลั่ง “แม่จ๋า รับผมไปด้วย” ผมคร่ำครวญหาแม่” เงียบ ไม่มีคำตอบ

ในที่สุด ผมก็ก้มหน้าอยู่เหนือหลุมฝังศพ แล้วตั้งปณิธาน (3) ข้อ “แม่ พ่อ พี่น้องทุกคน ตราบเท่าที่
ผมยังมีลมหายใจ ผมขอสัญญาว่าจะแก้แค้นให้ทุกคนอย่างแน่นอน ถ้าทำไม่ได้ ผมจะบวชเป็นพระ
แต่ถ้าทำตามสัญญา (2) ข้อนี้ไม่ได้ ผมจะไม่ขออยู่ในประเทศนี้อีกต่อไป”

พูดเสร็จผมก็รีบมองหาทางรอดให้ตัวเอง ผมซ่อนตัวอยู่ในป่าถึง 3 วันเต็ม ในที่สุด เมื่อทนความเหนื่อย
และกระหายน้ำไม่ได้ ผมก็ย้อนกลับไปที่หมู่บ้าน ไม่สนใจแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก แต่ต้องประหลาดใจ
อย่างมากเพราะชาวบ้านพากันต้อนรับผมอย่างอบอุ่นทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันยังกล่าวหาว่าผมเป็นศัตรู
ตัวฉกาจอยู่เลย

หลายคนตรงเข้ามาจับตัวผมอย่างไม่เชื่อสายตาและเรียกผมว่า “เด็กคืนชีพ” หรือ “เด็กดวงแข็ง”
พวกเขาหาด้ายสายสิญจน์มาผูกข้อมือผมเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้กลับคืนมา นอกจากนั้น
ยังหาเสื้อและอาหารมาให้ด้วย

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 22, 2022 8:54 pm

ชำระไฟแค้น ตอนที่ ( 4 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2551/2008 โดย ซกเรียกสา
และแปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565/2022 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ชาวบ้านเรียกประชุมพิเศษและลงมติให้ผมอาศัยอยู่กับผู้ชายชื่อ ‘มอฟ’ซึ่งต่อจากนี้จะเป็นพ่อ
บุญธรรมของผม ไม่กี่วันก่อน ผมยังสาบานว่าจะฆ่าพวก’ชลอป’ให้ได้ แต่บัดนี้กลับต้องอยู่
ในความอุปการะของคนที่จะห้ามผมไม่ให้แก้แค้น แต่สำหรับผม การแก้แค้นเป็นสัญลักษณ์
ของเกียรติยศ แทนที่จะรู้สึกโล่งใจและยินดีที่มีผู้ปกครองคนใหม่ ผมกลับสับสนอย่างบอกไม่ถูก
ชาวบ้านเหล่านี้จะคิดว่าผมเป็นเด็กพิเศษไปนานแค่ไหน แล้วผมจะเชื่อคำพูดของพวกเขาได้หรือไม่
หลังจากผมอยู่ในสภาพ ‘บุตรบุญธรรม’ 1 ปีเศษ วันคริสต์มาสที่ 25 ธันวาคม 2521 กองทัพเวียดนาม
ประมาณ 1.5 แสนคน​ บุกเข้ากัมพูชา และสามารถโค่นล้มระบอบคอมมิวนิสต์ของนายพอล พต ได้
ในวันที่ 8 มกราคม 2522 (ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์) รถถังทหารเวียดนามบดขยี้เขมรแดง เข้ามาปัก
ธงชัยในกรุงพนมเปญ หลังจากนั้น ผมก็ย้ายไปอยู่เสียมเรียบกับ’โสเพียบ’ พี่สาวคนเดียวที่รอดชีวิต
จากการสังหารหมู่ เพราะตอนนั้นพี่ไม่ได้อยู่กับพวกเรา ต่อมา ผมย้ายไปอยู่กับครอบครัวป้าที่เมือง
เสียมเรียบ กลับเข้าโรงเรียนและเริ่มต้นชีวิตใหม่
ปี 2526 ผมตัดสินใจรับราชการตำรวจเพราะแรงปรารถนาอันแรงกล้าลึก ๆ คืออาศัยตำแหน่งหน้าที่
แก้แค้นให้ครอบครัวอันเป็นที่รัก หัวใจผมมีแต่ความโกรธแค้น ขมขื่น และรุ่มร้อนด้วยแรงปรารถนา
ที่จะทำตามสัญญาที่สาบานไว้ต่อหน้าหลุมศพญาติพี่น้อง การเป็นตำรวจทำให้ผมมีสิทธิ์พกปืน
เพราะฉะนั้น ถ้ามีโอกาสผมจะต้องฆ่าศัตรูให้ได้
แต่จนแล้วจนรอด ผมก็หาโอกาสสังหารศัตรูไม่ได้แม้แต่คนเดียว ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสฆ่าคนที่ฆ่า
พี่ชายผม แต่มีพลังลึกลับยับยั้งผมไว้ แม้ตอนนั้นนิ้วของผมจะแตะอยู่ที่ไกปืนแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถ
แข็งใจ กระดิกนิ้วเหนี่ยวไกได้
เมื่อแก้แค้นไม่สำเร็จ ชีวิตผมก็มีแต่ความทุรนทุราย กลางปี 2527 ผมหนีข้ามชายแดนไปฝั่งไทยและ
ไปจนถึงค่ายผู้อพยพในอำเภออรัญประเทศ ผมเดินเรื่องขอลี้ภัยไปสหรัฐฯ แต่ถูกปฏิเสธ ระหว่างนั้น
ผมพยายามหาทางออกให้กับชีวิตด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมของชาวคริสต์ในค่าย ทำให้มีโอกาสได้ฟัง
คำเทศน์บ่อย ๆ แต่ผมยังไม่ค่อยสบายใจเท่าใดนักเพราะรู้สึกว่า บางครั้งก็ยังหาคำตอบให้กับความ
ข้องใจ บางอย่างไม่ได้ โดยเฉพาะความทุกข์ทรมานใจ
ต่อมา ผมตัดสินใจทำเรื่องขออพยพไปอยู่แคนาดา แต่กว่ากระบวนการทั้งหมดจะสิ้นสุดก็ต้องทนทุกข์
ในค่ายผู้อพยพ รวมทั้งที่เขาอีด่าง นานเกือบ 5 ปีก่อนจะได้ไปโทรอนโต (Toronto) แคนาดาในปี 2532
เจ้าหน้าที่จัดให้ผมอยู่ในศูนย์พักพิงซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิศุภนิมิต คนที่อาศัยอยู่ในนั้นต้อนรับผมเป็น
อย่างดี ใม่มีใครตำหนิเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผม ตรงกันข้าม ทุกคนพร้อมใจกันแสดงความรัก
ต่อผมอย่างจริงใจ ผมสนิทกับพนักงานของศูนย์ที่ชื่อ ‘ชัค เฟอร์กูสัน’ จนเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนกัน เขาให้
พระคัมภีร์เล่มหนึ่งซึ่งผมนำไปอ่านที่ห้องและหลังจากศึกษาพระคัมภีร์อยู่เป็นปี ผมกลับใจและรับศีลจุ่ม
ในปี 2533 เมื่อผมพบความจริงที่ยิ่งใหญ่ในพระคริสตเยซูผู้ทรงยินดีให้อภัยได้แม้แต่ผู้ที่ประหารพระองค์
‘ชัค’สวดภาวนาร่วมกับผม ทำให้ผมรู้สึกว่า ยังมีชีวิตใหม่รออยู่ข้างหน้าและนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ผมก็ไม่รู้สึกเหงาอีกต่อไป

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ มิ.ย. 24, 2022 10:12 pm

ชำระ(ไฟ)ไฟแค้น ตอนที่ ( 5 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2551/2008 โดย ซกเรียกสา
และแปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565/2022 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ปีต่อมา ผมเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยทินเดล
(Bachelor of Religious Studies; Tyndale University) ในโทรอนโต จากนั้นเรียนต่อจนได้
ปริญญาโทที่วิทยาลัยศาสนศาสตร์ (Master of Arts in Christian Education) ในปี 2539
หลังจากนั้น ผมก็เปิดบริษัททำความสะอาดในย่านชานเมืองโทรอนโต ธุรกิจไปได้ดีและผม
ก็พอใจกับชีวิตใหม่
เมื่อชีวิตมีความสุข ผมก็เริ่มปล่อยวางเรื่องในอดีต หลายปีผ่านไป มีคนถามว่าไม่คิดจะกลับไป
กัมพูชาบ้างหรือ ผมตอบอย่างหนักแน่นว่า “ไม่ไป ผมไม่มีวันกลับไปที่ซึ่งผมมีความทรงจำอันปวดร้าว”

หนทางสู่การให้อภัย
แม้ชีวิตใหม่ด้านธุรกิจดำเนินไปได้ราบรื่น แต่ในใจผมยังคงไม่สงบ ผมเริ่มตระหนักว่าชีวิตมีแต่
ความหมองหม่น ความอาฆาตทำให้ผมต้องทรมานกับความฝันที่สวนกับความจริง ผมไม่มีวัน
ได้แก้แค้น ไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากการตกเป็นทาสอารมณ์ที่ผมสร้างขึ้นมาในใจ ผม
อยากหลุดพ้นจากพันธนาการนี้ ใครเล่าจะช่วยได้บ้าง

ดังนั้นในปี 2541 (ค.ศ.1998) เมื่อผมได้รับจดหมายจากมูลนิธิศุภนิมิตในสหรัฐฯ แจ้งว่า ต้องการ
คริสเตียนที่ดีไปร่วมเผยแพร่คำสอนในกัมพูชา เพราะชาวกัมพูชาจำนวนมากต้องการคำปรึกษา
และแนวทางที่จะช่วยเยียวยาบาดแผลทางจิตใจที่เกิดจากน้ำมือของพวกเขมรแดง ในจดหมายยัง
ระบุด้วยว่า ผมมีคุณสมบัติครบถ้วนและดีเยี่ยมสำหรับงานนี้ ถึงเวลาที่ผมต้องคิดหนักแล้วว่า พร้อม
จะกลับไปยังดินแดนแห่งความทรงจำอันปวดร้าวหรือยัง

ความปรองดองไม่มีวันเกิดขึ้นได้หากไม่มีการให้อภัยเสียก่อน แต่ใครเล่าจะทำได้​ ถ้าบอกให้ผู้นั้น
ตื่นนอนตอนเช้า แล้วไปหาฆาตกรที่ฆ่าคนทั้งครอบครัวของเขา จากนั้นก็เริ่มสร้างมิตรภาพกับพวกเขา
ทันที ผมคิดว่า การเผชิญหน้ากับคนร้ายอย่างตรงไปตรงมานั้นเป็นเรื่องยากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อการ
กระทำของคนร้ายนั้นโหดเหี้ยมผิดมนุษย์
ผมเฝ้าคิดถึงเรื่องความปรองดองนี้อยู่หลายปีและสงสัยเสมอว่า ผมจะทำได้จริงหรือ ผมนึกไม่ออกว่า
ควรพูดหรือปฏิบัติตัวต่อคนร้ายอย่างไร คนพวกนี้สังหารครอบครัวผมเกือบยกครัว แต่ตอนนี้ ผมกำลัง
จะเดินทางไปสร้างความปรองดองกับพวกเขา คิดอย่างไรก็ไม่เห็นทางสำเร็จ
ผมสงสัยว่าพวกเขาอาจจะฆ่าผมเพราะคิดว่าผมจะมาแก้แค้น สิ่งแรกที่ผมคาดหวังจากการเดินทางครั้งนี้
คือแค่ได้เห็นหน้าพวกเขา ผมคิดว่าถ้าได้เจอหน้ากัน ผมคงสามารถให้อภัยได้ ปกติ คนกัมพูชาไม่ค่อย
พูดคำว่า “ขอโทษ” เพราะฉะนั้นผมจึงไม่หวังจะได้ยินคำขอโทษจากปากของพวกเขา ผมอยากบอก
พวกเขาว่า ที่มานี่แค่ต้องการยกเลิกการแก้แค้นและปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระตลอดไป

โปรดติดตามตอนที่ ( 6 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ มิ.ย. 24, 2022 10:17 pm

ชำระ(ไฟ)ไฟแค้น ตอนที่ ( 6 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2551/2008 โดย ซกเรียกสา
และแปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565/2022 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ผมก็เดินทางกลับไปกัมพูชาในเดือนพฤษภาคม 2542 ระหว่างไปเยี่ยมพี่สาว
ที่อาศัยอยู่ชานเมืองเสียมเรียบ เพื่อนฝูงหลายคนซึ่งบัดนี้มีตำแหน่งใหญ่โตพอสมควรเสนอว่า จะส่ง
ทหารมาคุ้มกันขณะผมเดินทางเข้าเสียมเรียบ เพราะอดีตทหารเขมรแดงหลายคนยังอยู่ในเมืองนี้
ตรงกันข้าม ผมเลือกเพื่อนเดินทางเป็นศาสนจารย์ชาวกัมพูชา 2 คนคือ ‘ศกชีต’ กับ ‘นาราท’
ถนนที่ทอดเข้าสู่หมู่บ้านยังอยู่ในสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อคือเป็นทางเกวียนเหมือนเดิม เรา 3 คนไปถึง
หมู่บ้านตอน 10.00 น. ผมตรงไปที่บ้านพ่อบุญธรรมเป็นอันดับแรก พอแม่บุญธรรมเห็นหน้าผมก็ทำท่า
ประหลาดใจ ก่อนจะบอกว่าพ่อบุญธรรมไม่อยู่ พรุ่งนี้ถึงจะกลับ ไม่นานข่าวแพร่สะพัดไปทั่วหมู่บ้านว่า
ผมกลับมาแล้ว พักเดียวก็มีชาวบ้านหลายคนมาชุมนุมกันที่บ้านพ่อแม่บุญธรรมของผม หลายคนเปลี่ยน
ไปจนผมจำไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องแนะนำตัวกัน

ผมถามถึงคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ครอบครัวของผม ชาวบ้านทำท่าตกใจที่ได้ยินคำถาม
ตรง ๆ ของผมแบบนี้ ทำไมผมต้องถามหาฆาตกรในเหตุการณ์ที่ผ่านไปกว่า 20 ปี ผมรู้ด้วยสัญชาตญาณว่า
พวกเขาต้องคิดว่าผมกลับมาเพื่อทวงหนี้ชีวิตแน่นอน ไม่มีใครยอมบอกว่าฆาตกรอยู่ที่ไหน ดังนั้น ผมจึง
ไปหาเพื่อนเก่าชื่อ ‘ศักดิ์’ เราสองคนเคยทำงานด้วยกันในไร่ช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจ ‘ศักดิ์’ถูกเกณฑ์
ไปเป็นทหารเขมรแดงซึ่งสั่งให้เขากับเพื่อนอีก 2 คนไปจับปลาโดยใช้ระเบิด โชคร้ายที่ระเบิดลูกหนึ่งเกิด
ระเบิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุ เพื่อน 2 คนตายคาที่ ส่วน‘ศักดิ์’ตาบอด
‘ศักดิ์’เล่าว่า คนที่ผมตามหา 4 ใน 6 คนถูกฆ่าตายระหว่างที่กองทัพเวียดนามบุกเข้ามาขับไล่เขมรแดง
ส่วนอีก 2 คนยังมีชีวิตอยู่ คนหนึ่งชื่อ’เหมา’เป็นคนใช้จอบฆ่าพ่อและตีหัวผม​ อาศัยอยู่ในเสียมเรียบ
ส่วนอีกคนที่ฆ่าแม่ผมคือ​ ’เอียน’ย้ายไปอยู่ในหมู่บ้านใกล้ ๆ

โปรดติดตามตอนที่ ( 7 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ มิ.ย. 26, 2022 8:44 pm

ชำระ(ไฟ)ไฟแค้น ตอนที่ ( 7 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเ​ดือนมิถุนายน 2551/2008 โดย ซกเรียกสา
และแปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565/2022 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)เผชิญหน้าฆาตกร

ผมไปที่บ้านของ’เหมา’ แต่เขาออกไปทำนา ดังนั้นผมจึงขอให้ผู้ใหญ่บ้านกับศาสนาจารย์’ศกชีต’
ช่วยไปตามเขามาพบผมที่บ้านพ่อแม่บุญธรรม “บอกเขาด้วยว่าไม่ต้องกลัว เพราะผมมาดี”
ผมสำทับ “ผมแค่อยากเจอหน้าเขาเพื่ออโหสิกรรมโดยตรงกับเขาเท่านั้น”

ขณะรอ’เหมา’ ผมพูดคุยกับชาวบ้านที่มาออกันแน่นบ้าน ทำให้ผมรู้ว่ามีใครถูกฆ่าไปบ้างระหว่าง
สงครามกลางเมือง คนแก่ ๆ หลายคนท่าทางลืมเหตุการณ์ที่เกิดกับครอบครัวของผมไปแล้ว​
ทีแรกพวกเขาไม่ค่อยกล้าคุยกับผม แต่ในที่สุดก็ถามว่าผมหายไปอยู่ที่ไหนตั้งนาน
‘เหมา’กำลังไถนาอยู่ตอนที่ศาสนาจารย์กับผู้ใหญ่บ้านไปถึง เขาตกใจมากเมื่อได้ยินว่าผมเชิญไป
พบที่บ้าน แม้จะระแวงอยู่ไม่น้อย แต่’เหมา’ก็ยอมเก็บคันไถและปล่อยวัวให้เล็มหญ้าอยู่แถว นั้น
แล้วตามผู้ใหญ่บ้านกลับเข้าไปในหมู่บ้าน

พอ’เหมา’มาถึง ผมสังเกตเห็นเขาทำหน้าใจดีสู้เสือ ผมรีบทักทายเขา จากนั้นก็เชิญให้นั่งลงกิน
อาหารกลางวันกับผม ชาวบ้านหลายคนมาร่วมวงด้วย ผมหยิบขนมปังที่เตรียมมาจากบ้านส่ง
ให้พร้อมกับบอกให้เขาทำใจให้สบาย ใครไม่รู้ส่งเหล้าให้เขาดื่ม พอดื่มไปได้นิดหน่อย ‘เหมา’
ก็เริ่มกล้าพูดกับผมมากขึ้น พอกินอาหารเสร็จ ผมเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อนด้วยการถามเขาว่า
รู้สึกอย่างไรที่พบผมในวันนี้ ‘เหมา’ได้แต่ยิ้ม

ผมถามต่อไป “คุณรู้ไหมว่า คุณใช้จอบฟาดถูกส่วนไหนของผม”
“รู้” เขาตอบ
“แล้วรู้ไหมว่า วันนั้นฆ่าไปทั้งหมดกี่คน”
“ไม่รู้ จำไม่ได้” เขาตอบ
“ทั้งหมด 33 คน แต่ตายไป 32 เหลือผมรอดชีวิตมาคนเดียว” ผมพูดตอบแทนเขา
ผมบอกได้เลยว่า ‘เหมา’ประหลาดใจมาก แต่เขาไม่พูดอะไร ท่าทางกลัวมากจนไม่ยอม
สบตาผมอีก

“ผมขอบอกว่า ที่เชิญคุณมาในวันนี้ก็เพื่อปลดปล่อยคุณให้หลุดพ้นจากความหวาดกลัว
ผมมีของขวัญมาฝากด้วย
“มันเป็นเรื่องของเวรกรรม” ผมพูดต่อ ขณะคล้องผ้าพันคอแบบพื้นเมืองของเขมรที่บ่าของเขา
“นี่คือสัญลักษณ์ของการให้อภัย และนี่คือเสื้อเชิ้ตที่ผมเตรียมมาให้คุณ เป็นสัญลักษณ์
ของความรักที่ผมมีให้คุณ”

เมื่อยืนอยู่ต่อหน้าฆาตกรที่สังหารพ่อ ผมรู้สึกว่ากว่าจะพูดออกไปได้แต่ละคำช่างยาก
ลำบากจริง ๆ คำพูดต่าง ๆ แล่นมาจุกที่คอหอยขณะที่หัวใจก็ปวดร้าวทุกครั้งที่หายใจเข้าออก
สมมุติว่า คุณมีแผลที่ขา หากแกะผ้าพันแผลออกแล้วราดด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล มันจะเจ็บปวด
ก็จริง แต่แผลก็จะค่อย ๆ หายไป ดังนั้น การล้างแผลให้สะอาดจึงเป็นขั้นตอนสำคัญของการรักษา
บาดแผล การเอ่ยปากบอกอโหสิกรรมแก่คนที่ฆ่าพ่อเป็นเรื่องเจ็บปวดสุดบรรยายสำหรับผม
แต่ก็ช่วยให้บาดแผลในใจดีขึ้น

โปรดติดตามตอนที่ ( 8 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ มิ.ย. 27, 2022 12:41 pm

ชำระ(ไฟ)ไฟแค้น ตอนที่ ( 8 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2551/2008 โดย ซกเรียกสา
และแปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565/2022 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมถามเหมาว่ารู้สึกอย่างไร แต่เขาไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกใด ๆ ไม่มีอาการเสียใจหรือสำนึกผิด
จิตใจเขาคงจะตายด้านไปแล้ว
“คุณรู้สึกอย่างไรที่ได้ยินผมบอกอโหสิกรรมอย่างนี้” ผมถาม
“ขอบคุณ” ‘เหมา’ตอบสั้น ๆ แล้วไม่พูดอะไรอีก
หลังจากคุยกันอยู่นาน 3 ชั่วโมง ผมมอบพระคัมภีร์เล่มหนึ่งให้’เหมา’ก่อนจะสวมกอด และพูดว่า
“ผมได้ให้อภัยคุณแล้ว ผมรู้ว่าคุณไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าครอบครัวผม แต่ต้องทำตามคำสั่งของพวก
เขมรแดง ขอให้เราเลิกแล้วต่อกัน และขอให้คุณมีชีวิตที่สุขสงบสืบไป”

ชาวบ้านหลายคนถึงกับตะลึงเมื่อเห็นผมสวมกอด’เหมา’ ทั้งนี้เพราะในวัฒนธรรมเขมร ผู้ชายจะ
ไม่ค่อยกอดกัน มีบ้างในกรณีที่สนิทสนมกันมานานหลายปี แต่จะกอดเฉพาะเวลาเจอหน้ากันและ
ลาจากกันเท่านั้น แต่วันนี้ ผมสวมกอดคนที่ฆ่าครอบครัวผมซึ่งชาวบ้านมองอย่างไรก็ไม่เข้าใจว่า
ทำไปเพื่ออะไร หลายคนอาจคิดว่า เป็นแค่การแสดงฉากหนึ่ง พวกเขาเข้าใจว่า ผมแกล้งทำดีเพื่อ
ตบตาทุกคนก่อนจะย้อนกลับมาเล่นงาน’เหมา’ในภายหลัง

ผมเห็น’เขมา’รองผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นคนออกคำสั่งให้’เหมา’กับเพื่อน ๆ ช่วยกันสังหารครอบครัวผม
เดินผ่านมาพอดี จึงเรียกให้เขาเข้ามานั่งคุยด้วย ทีแรกเขาตกใจมากที่เห็นหน้าผม เพราะก่อนหน้านั้น
ชาวบ้านพูดต่อ ๆ กันว่า ผมหายไปจากหมู่บ้านนานกว่า 20 ปี ‘เขมา’คงคิดว่าผมกลับมาแก้แค้นเช่นกัน
เขาถึงกับพูดไม่ออกและมีสีหน้ากังวลใจ
ชาวบ้านกลุ่มที่ยืนอยู่ข้าง ๆ บอกผมว่า “สมัยนั้น เขาเป็นรองผู้ใหญ่บ้านและเป็นคนออกคำสั่งทั้งหมด
ทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย” และ “เขาเป็นคนสั่งฆ่าครอบครัวคุณ”
คำบอกเล่าเหล่านี้ทำให้’เขมา’รู้สึกกลัวหนักขึ้น จนโพล่งออกมาว่า “ผมไม่ได้อยากทำอย่างนั้น แต่ต้องทำ
เพราะถูกบังคับ ไม่มีทางเลือก” ทุกคนฟังด้วยความเงียบกริบ เพราะทุกคำพูดคือความจริง

โปรดติดตามตอนที่ ( 9 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 29, 2022 9:10 pm

ชำระ(ไฟ)แค้น ตอนที่ (9. )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2551/2008 โดย ซกเรียกสา
และแปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565/2022 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมน้อมศีรษะเป็นการทักทายเขา ‘เขมา’ก็น้อมศีรษะตอบเช่นกัน พอเดินเข้ามาใกล้ ผมก็
เอื้อมมือไปแตะไหล่เขา ผมได้ยินเสียงเขาหายใจขัด ๆ
“เป็นอะไรหรือเปล่า” ผมถามเขาอย่างเป็นมิตร
ผมเพิ่งสังเกตเห็นว่า เขาสั่นเทิ้มไปทั้งตัวอย่างควบคุมไม่ได้ ดังนั้นผมจึงพยายามปลอบใจเขา
ด้วยการพูดว่า “ที่ผมมาในวันนี้ก็เพื่อปลดปล่อยคุณให้หลุดพ้นจากหนี้ชีวิตที่ติดค้างครอบครัวผมอยู่
ผมไม่ได้มาเพื่อทำอันตรายคุณ แต่มาเพื่อให้อโหสิ เมื่อครู่นี้ ผมก็เพิ่งอโหสิให้’เหมา’ไปแล้ว”
เขาหันไปมองหน้า’เหมา’ จากนั้นก็มีท่าทีผ่อนคลายขึ้น ผมคล้องผ้าพันคอพื้นเมืองของกัมพูชาบน
ไหล่ของ’เขมาและมอบพระคัมภีร์ให้ 1 เล่ม’พร้อมกับพูดว่า “นี่คือสัญลักษณ์การให้อภัยของผม
ต่อไปนี้เราสองฝ่ายเลิกแล้วต่อกัน ขอให้คุณมีชีวิตที่สงบสุขตลอดไป”

(+)สลายแค้น

ก่อนออกจากเสียมเรียบ ผมสัญญากับชาวบ้านว่าจะกลับมาช่วยขุดบ่อน้ำและสร้างโรงเรียนให้
แถมยังบอกว่าต้องการจะพบ’เอียน’คนที่ฆ่าแม่ผมเพื่อให้อภัยเขาด้วย

หลายเดือนต่อมา ผมมีโอกาสพบ’เอียน’ตอนที่เราไปที่บ้านเขา ‘เอียน’กำลังรอผมอยู่ ผมนึกขอบคุณ
พระเจ้าที่ประทานกำลังใจอันเข้มแข็งมาให้ผมจนสามารถปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้สำเร็จ
‘เอียน’ประหลาดใจมากที่พบผม แม้ทีแรกจะจำผมไม่ได้

เราคุยกันนานมาก ‘เอียน’ต่างจากสองคนแรกที่ผมเป็นคนพูดให้อภัยไปก่อน ส่วน’เอียน’เป็นคนพูดขึ้น
ก่อนว่า “ผมต้องขอโทษอย่างสูงในสิ่งที่ได้ทำกับครอบครัวคุณ ความจริงผมถูกบังคับให้ทำ ซึ่งทำให้
ผมรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต ขอให้คุณเข้าใจว่า ผมไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าผมไม่ทำตามคำสั่ง ผมก็ต้องถูกฆ่า
ตายเหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลอะไร การกระทำของผมก็เป็นเรื่องผิด”

โปรดติดตามตอนที่ (. 10. ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 29, 2022 9:15 pm

ชำระ(ไฟ)ไฟแค้น ตอนที่ ( 10 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2551/2008 โดย ซกเรียกสา
และแปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565/2022 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมรู้สึกตื้นตันอย่างบอกไม่ถูกเมื่อได้ยินคำพูดนี้ออกจากปากของ’เอียน ผมบอกเขาว่า
“ที่ผมมาวันนี้ก็เพื่ออโหสิให้คุณ“ พร้อมกับมอบพระคัมภีร์ให้เขา 1 เล่ม
‘เอียน’ตอบอย่างองอาจว่า “ผมขอบคุณที่คุณกล้าทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ โปรดอภัยให้ผม
ในความผิดที่กระทำลงไปด้วยเถอะ”

ทันทีที่เขาพูดจบ ผมก็รู้สึกว่าน้ำตาไหลท่วมอก หัวใจปลอดโปร่งขึ้นมาทันที ราวกับว่า
ความอาฆาตที่ผมเฝ้าสั่งสมและเก็บกดมานานนับสิบปี บัดนี้ ถูกปลดปล่อยและชะล้าง
ออกจากหัวใจจนหมด เหลือเพียงจิตใจที่เบิกบานและผ่องใสอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
‘เอียน’เป็นฆาตกรคนแรกที่ยอมรับว่า ตัวเองผิดและเอ่ยปากขอให้ผมอภัยให้เขา นี่คือคำพูด
ที่ผมรอคอยและอยากได้ยินมาตลอดชีวิต

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ‘ซกเรียกสา’อุทิศเวลาส่วนหนึ่งช่วยสร้างบ่อน้ำ โรงเรียนและโบสถ์ให้แก่
ชาวบ้าน ที่ยากจนในกัมพูชาโดยได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิ’รัตนาค’ในแคนาดา
หลังจาก’ซกเรียกสา’เสร็จสิ้นภารกิจ ‘ชำระไฟแค้น’ที่ยากที่สุดในชีวิตแล้ว เขาก็เดินทางกลับ
แคนาดา และศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาในสหรัฐฯในปี 2547
(Doctor of Psychology, Southern California University, 2004) เขาเขียนหนังสือ 2 เล่ม
ชื่อ “The Tears of my Soul” (น้ำตาแห่งจิตวิญญาณของฉัน) เล่าถึงการเดินทางสู่อิสรภาพของ
จิตวิญญาณด้วยความมุ่งมั่น และเรื่อง “After the Heavy Rain” (หลังจากถูกสายฝนกระหน่ำ)
เล่าถึงการเดินทางสู่การให้อภัยและการสมานฉันท์กับผู้ที่ฆ่าญาติพี่น้องของเขา
ปัจจุบัน ดร.ซกเรียกสา และภรรยา’โซฟาลี’ (Sophaly Eng) มีลูก 2 คน ‘ฟีลอส’และ‘โซเฟีย’
(Philos & Sophia) เขาทำงานเป็นมิชชันนารีในกัมพูชา ฝึกอบรมผู้นำชาวบ้าน ตั้งคลินิกรักษาโรค
และก่อตั้งโบสถ์คริสตจักรในหมู่บ้านที่ครอบครัวของเขาถูกฆ่า รวมทั้งโบสถ์ในท้องที่อื่นอีก 4 แห่ง
ทั้งนี้เพราะเขาเข้าใจดีถึงความทุกข์ทรมานในจิตใจของคนเขมรยิ่งกว่าใคร ๆ และต้องการสื่อ
ให้พวกเขาทราบว่า “ไม่มีสิ่งอื่นใดจะเยียวยาพวกเขาได้ นอกจากพระวาจาที่แสดงถึงความหวัง,
ความรัก และการให้อภัยของพระเยซูคริสตเจ้า”

******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มิ.ย. 30, 2022 4:26 pm

……เรื่องอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลีบัน มี ( 3 ) ตอนจบ

……อัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลีบัน ตอนที่ ( 1 )
รวบรวมจากกูเกิ้ล 2022 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(1)) ในยุคสงครามเย็นสหภาพโซเวียตบุกยึดครองประเทศอัฟกานิสถาน จนถึงปี 1979
ชาวอัฟกานิสถานส่วนหนึ่งต้องการเป็นอิสระจากโซเวียต จึงตั้งทหารกองโจร ‘มูจาฮีดีน’
โดย สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนเงินทุนและอาวุธและขับไล่โซเวียตออกไปได้ในปี 1989

(2)) กลุ่มมูจาฮีดีนเกิดจากการรวมตัวกันของพวกที่อยากให้ประเทศเจริญเหมือนชาติ
ตะวันตก และพวกที่อยากให้เป็นรัฐอิสลามอย่างเคร่งครัด

(3)) ปี 1994 โมฮัมเหม็ด โอมาร์ หนึ่งในทหารมูจาฮีดีนตั้งกองทหาร "ตาลีบัน" เพื่อจะนำพา
อัฟกานิสถานเป็นรัฐอิสลามเคร่งครัด และบุกยึดกรุงคาบูลได้ในปี 1996 พร้อมกับประกาศ
จะเปลี่ยนชื่อประเทศอัฟกานิสถาน เป็น “อิสลามิค เอมิเรตส์” และออกกฎหมายอิสลามที่
เข้มงวด เช่น ห้ามดูหนัง ห้ามฟังเพลง ห้ามเด็กผู้หญิงเรียนหนังสือ, ห้ามผู้หญิงที่โตแล้วทำงาน
นอกบ้าน ยกเว้นอาชีพหมอ และผู้หญิงต้องใส่ผ้าคลุมอย่างมิดชิดเห็นได้แค่ดวงตาเท่านั้น
แม้แต่ผู้ปกครองผู้ชาย หากควบคุมลูกสาวไม่ได้ ก็จะถูกลงโทษด้วย เช่น พ่อของเด็กหญิงวัย
15 ปีคนหนึ่งปล่อยให้ลูกสาวไปโรงเรียน ถูกกลุ่มตาลีบันบุกมาสังหารถึงบ้าน

(4)) ตาลีบันเกี่ยวโยงกับสหรัฐอเมริกาในปี 2001 เมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 เครื่องบินชนตึก
เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ โดย โอซาม่า บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ หนีมาซ่อนตัวอยู่ที่
อัฟกานิสถาน ภายใต้การคุ้มครองของตาลีบัน ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า กลุ่มอัลกออิดะห์ กับ
ตาลีบัน มีความสัมพันธ์ ต่อกันในฐานะ กองทหารอิสลาม (Islamist Militant Group)
ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯ สั่งตาลีบันให้ส่งตัวบินลาเดนมาให้จึงถูกตาลีบันปฏิเสธ ทำให้ประธานาธิบดี
จอร์จ บุช ประกาศว่า "ตาลีบันต้องชดใช้กับเรื่องนี้"

(5)) วันที่ 7 ตุลาคม 2001 สหรัฐฯ ร่วมกับสหราชอาณาจักร ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายที่มั่น
ของตาลีบันทั่วประเทศจนแตกพ่ายในเวลาเพียง 1 เดือน ขณะที่ บิน ลาเดนหนีไปกบดานที่ปากีสถาน

(6)) เมื่อตาลีบันแตกพ่ายแล้ว สหรัฐฯ ก็ช่วยอัฟกานิสถานมีรัฐบาลใหม่และมีร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ในปี 2004 มีการเลือกตั้งโดยฮามิด คาร์ไซ ได้เป็นประธานาธิบดีและอัฟกานิสถานก็เริ่มทำมาค้าขาย
กับชาติต่าง ๆ รายงานในปี 2004 ระบุว่า เศรษฐกิจโตขึ้นถึง 30% เทียบจากปีก่อน และทิศทางก็ดูจะ
ดีขึ้นเรื่อยๆ

(7)) ต่อมาตาลีบันที่แตกพ่ายไปแล้วรวมตัวกันอีกเพื่อจะนำประเทศปกครองตามแนวทาง
Pure Islamic Society (อิสลามบริสุทธิ์) โดยไม่มีรายงานว่าพวกเขาสะสมอาวุธได้จากที่ใดแต่ก็มี
อาวุธมากขึ้นและเริ่มทำสงครามกับรัฐบาลอัฟกานิสถานซึ่งก็ยาก เพราะสหรัฐฯ ที่มีอาวุธที่เหนือชั้น
กว่ามากสนับสนุนรัฐบาลฯ อยู่ ประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้ชื่นชอบตาลีบันนักโดยเฉพาะผู้หญิง เห็นได้ชัด
จากผลการสำรวจโดยเอเชีย ฟาวน์เดชั่น ที่ระบุว่าชาวอัฟกานิสถาน 85% ไม่อยากให้ตาลีบันขึ้นมา
ปกครองประเทศ อย่างไรก็ตาม ตาลีบันใช้กลยุทธ์ยื้อไปเรื่อยๆ พร้อมกับสะสมกองกำลังรอวันที่ฝ่าย
รัฐบาลอัฟกานิสถานอ่อนแรง ก็พร้อมบุกโจมตีในคราวเดียว

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ค. 01, 2022 7:25 pm

อัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลีบัน ตอนที่ ( 2 )
รวบรวมจากกูเกิ้ล 2022 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(8 )และวันนั้นก็มาถึง เนื่องจากประชาชนสหรัฐฯ ไม่เข้าใจว่าอเมริกาจะคุ้มครองรัฐบาลอัฟกานิสถาน
ไปอีกนานเท่าใด เพราะระหว่างปี 2002-2020 อเมริกาใช้เงินเพื่อปกป้องอัฟกานิสถาน และต่อสู้กับ
ตาลีบันไปแล้ว 946,200 ล้านดอลลาร์ (31 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นภาษีของคนสหรัฐฯ และยังมี
ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิตที่อัฟกานิสถานอีก 2,355 คน พวกเขาจึงตั้งคำถามว่า ในเมื่อสหรัฐฯ
ก็สังหารบิน ลาเดนและอยู่ช่วยอัฟกานิสถานมาอีก 20 ปีแล้ว จำเป็นจะต้องช่วยปกป้องอีกหรือ
โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรกลับมาสู่สหรัฐฯ เลย

(9 ) สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ กังวลในปี 2021 คือ ถ้ากองทัพสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถานแล้ว
กองทหารของอัฟกานิสถานจะไม่สามารถต้านทานตาลีบันได้เพราะในปี 2021 ตาลีบันมีทหาร
พร้อมรบมากกว่า 85,000 คน

(10) อย่างไรก็ตาม โจ ไบเดน ประกาศไว้อย่างชัดเจนตอนหาเสียงว่า เมื่อได้รับเลือก เขาจะ
"End the forever wars" (จบสงครามที่ไม่มีที่สิ้นสุดนี้ซะที) และไบเดนก็ทำตามที่พูดไว้ คือใน
วันที่ 14 เมษายน 2021 เขาประกาศจะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน และให้รัฐบาล
อัฟกานิสถานดูแลตัวเอง. ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม สหรัฐฯ ก็ทยอยถอนทหารออกและถอน
ออกจนหมดในวันที่ 11 กันยายน 2021 ขณะที่สหรัฐฯ เริ่มถอนกองทัพออกไปบางส่วน ตาลีบัน
ก็เริ่มบุกยึดเมืองต่างๆ วันที่ 13 สิงหาคม 2021 คันดาฮาร์ เมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ถูกยึด
และ 2 วันต่อมาเมืองหลวงคาบูลก็ถูกยึด ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ที่มาจากการเลือกตั้งบินหนี
ออกนอกประเทศ เช่นเดียวกับประชาชนนับแสนคนที่หนีออกจากประเทศเช่นกัน

(11) โฆษกของตาลีบันรายงานรับรองความปลอดภัยของประชาชน เพราะตาลีบันในยุคปัจจุบัน
ไม่เหมือนในอดีต แต่ก็มีรายงานว่า เริ่มมีคำสั่งให้บริษัทต่างๆ ไล่ผู้หญิงออกจากงาน ฯลฯ
ขณะที่ประชาคมโลกจะเลือกอยู่กับฝ่ายรัฐบาลเดิมที่โดนโค่นไปแล้ว หรืออยู่กับรัฐบาลตาลีบัน
คำตอบที่ได้อย่างรวดเร็ว คือจีน โดยหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ถ่ายรูปคู่กับ อัลดุล กานี
บาราดาร์ ผู้นำกลุ่มตาลีบัน ที่กรุงเทียนจิน แสดงจุดยืนของจีนที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน
ของอัฟกานิสถาน

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ค. 01, 2022 7:37 pm

อัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลีบัน ตอนที่ ( 3 )
รวบรวมจากกูเกิ้ล 2022 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(12)) เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2021 องค์กรสิทธิมนุษย์ช​น (HRW : Human Rights Watch) กล่าวหา
กลุ่มตาลีบัน ว่าได้ประหารชีวิตทหาร, ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของรัฐบาลชุดก่อนที่ยอมแพ้
หรือถูกจับตัวระหว่างวันที่ 15 ส.ค. ถึง 31 ต.ค.2021 มากกว่า 100 ราย แต่ นายบีลาล คาริมี รอง
โฆษกของกลุ่มตาลีบันปฏิเสธและระบุว่า ตาลีบันออกคำสั่งนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลชุดก่อน
ทุกคนตั้งแต่วันแรกที่พวกเขากลับมามีอำนาจในอัฟกานิสถาน

(13)) ต้นเดือนธันวาคม 2021 องค์การสหประชาชาติระบุว่า สิทธิสตรีในอัฟกานิสถานกำลังลดลง
อย่างรวดเร็ว แม้ตาลีบันจะให้คำมั่นว่า ผู้หญิงจะมีสิทธิภายใต้กฎหมายชาริอะห์ (Shariah) ซึ่งรวม
ถึงสิทธิ์ในการทำงานและการศึกษาก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ ผู้หญิงกลับถูกตั้งข้อจำกัดมากขึ้น ทั้ง
เสรีภาพในการเดินทาง, การเข้าถึงบริการช่วยชีวิต, ข่าวสาร, การคุ้มครอง, การศึกษา, การจ้างงาน
และโอกาสในชีวิต นอกจากนั้นกระทรวงส่งเสริมศีลธรรมฯ ก็เพิ่งออกคำสั่งห้ามผู้หญิงเดินทางไกล
กว่า 72 กม. ด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องมีญาติสนิทที่เป็นผู้ชายร่วมเดินทางไปด้วย และห้ามชาวอัฟกัน
เปิด-เล่นดนตรีบนยานพาหนะ

(14)) ตัวแทนกลุ่มตาลีบัน นำโดยอามีร์ ข่าน มุตตาคี รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศ จัดการเจรจา
ระหว่างวันที่ 23-25 ม.ค. 2022 กับตัวแทนชาติตะวันตกที่กรุงออสโล (นอร์เวย์) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่
ตัวแทนของกลุ่มได้เข้าร่วมประชุมอย่างเป็นทางการในยุโรป คาดว่าเป็นเรื่องขอให้ประชาชาติยอมรับ
ความชอบธรรมของรัฐบาลตาลีบัน และในการประชุมวันที่ 24 ม.ค. ตัวแทนกลุ่มตาลีบันยังเรียกร้อง
ให้ปล่อยเงินเกือบ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 330,000 ล้านบาท) ที่ถูกสหรัฐฯกับชาติตะวันตก
อายัดไว้ เพื่อนำมาแก้วิกฤติ ด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถานซึ่งสหประชาชาติเตือนว่ามีเด็กมากถึง
1 ล้านคนกำลังอดอยาก ขณะที่ชาติมหาอำนาจอาจยกประเด็นเรื่องสิทธิสตรีกับเด็ก รวมถึงข้อเรียก
ร้องให้กลุ่มตาลีบันแบ่งอำนาจทางการเมืองให้กับชนเผ่าและกลุ่มต่างศาสนา

(15)) ตาลีบันอนุญาตนักศึกษาหญิงในอัฟกันกลับเข้ามหาวิทยาลัย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)
แถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2022 ว่ามหาวิทยาลัยของรัฐในอัฟกานิสถานกลับมาเปิดเรียนเป็นครั้งแรก
ตั้งแต่วันนั้น (2 ก.พ.) และนักศึกษาหญิงได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนได้โดยต้องแยกเป็นส่วนออกจากนัก
ศึกษาชาย ขณะที่องค์การสหประชาชาติแสดงความยินดีหลังจากที่นักศึกษาหญิงกลับเข้าเรียน
ในมหาวิทยาลัยของรัฐได้ อย่างไรก็ดี แผนการของตาลีบันยังมีความคลุมเครือ ขณะที่เด็กนักเรียน
หญิงมัธยมปลายในหลายจังหวัดยังไม่ได้รับอนุญาตให้ไปโรงเรียน ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง
แม้จะเปิดเรียนแล้ว แต่ก็พบว่านักศึกษาหญิงยังไม่สามารถกลับไปเรียนได้

*******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ค. 10, 2022 3:41 pm

"แรงงานทาส" ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551 โดย Mary A. Fischer, รวบรวมและ
แปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565” โดย กอบกิจ ครุวรรณ

‘ชยีมา’ (Shyima) เกิดวันที่ 29 กันยายน 2532 ที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ครอบครัว
เธอมีลูกทั้งหมด 11 คน ฐานะยากจนมาก เธอเติบโตมาในบ้านที่มีเพียง 2 ห้องนอน ครอบครัว
ของเธอทั้ง 13 คนนอนในห้องนอนเดียวกัน บนพื้นที่ปูด้วยผ้าห่ม ส่วนอีก 1 ห้องนอนเป็นที่นอน
ของอีก 2 ครอบครัว ทั้งบ้านมีเพียงห้องน้ำเดียว ระหว่างกลางวันทุกคนจำต้องใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน
พ่อของชยีมาเป็นช่างปูนที่ไปทำงานก่อสร้างต่างถิ่นนานครั้งละหลายสัปดาห์ ชยีมาเล่าว่า
“เวลากลับมาบ้าน พ่อชอบตีพวกเรา พ่อทำตัวเหมือนกับผู้ชายส่วนใหญ่ที่นั่น คือเป็นคนเจ้าชู้แม้
แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าแม่ ทั้งสองพูดจาตะโกนใส่กันเป็นประจำ”

ชยีมาไม่ได้ไปโรงเรียนและอนาคตดูมืดมน แต่เธอก็ไม่สิ้นหวัง เธอเบิกความในศาลอีกหลายปี
ต่อมาว่า “อย่างน้อยเราก็มีความสุขกันตามอัตภาพ” เพราะตอนเป็นเด็กเธอชอบเล่นลูกหินกับพี่ ๆ
และมีความสุขทุกครั้งที่พ่อไม่อยู่บ้าน โดยเฉพาะเมื่อแม่พานั่งรถไฟไปเยี่ยมญาติของแม่ที่ต่างจังหวัด

พออายุ 8 ขวบ ชยีมาถูกส่งไปอยู่ที่บ้านของคู่สามีภรรยาเศรษฐีชื่อ ‘อิบราฮิม’ และ‘โมเตลิบ’
(Ibrahim & Motelib) ที่กรุงไคโร ทั้งนี้เพราะพี่สาวของเธอเคยเป็นคนรับใช้ที่บ้านนี้ แต่ถูกไล่ออก
เนื่องจากนายจ้างกล่าวหาว่าขโมยเงิน สองสามีภรรยาจึงตกลงกับพ่อแม่ของชยีมาให้ส่งเธอมา
ทำงานแทน

ดังนั้นตั้งแต่ 8 ขวบ ทุกวัน ชยีมามีหน้าที่ทำความสะอาดอาคาร 5 ชั้นซึ่งเป็นที่อยู่ของนายจ้าง,
รถยนต์ 17 คันในโรงรถ, และเนื่องจากตัวเธอยังเล็กอยู่ จึงต้องยืนบนม้านั่งเพื่อจะได้ล้างจานชามกอง
ใหญ่ในอ่างล้างจานได้ 2 ปีต่อมา ‘นายจ้างตัดสินใจย้ายครอบครัวและลูก 5 คนไปสหรัฐฯ พร้อมกับ
เริ่มทำธุรกิจนำเข้าและส่งออก ชยีมาไม่อยากไป แต่อิบราฮิมบอกว่า “แกไม่มีสิทธิ์เลือก” ชยีมายัง
จำได้ว่า วันนั้นเธอยืนอยู่นอกห้องครัว ได้ยินนายจ้างคู่สามีภรรยากำลังต่อรองกับพ่อแม่ของเธอ
“ฉันได้ยินพวกเขาคุยกันอยู่พักหนึ่ง ในที่สุด พ่อแม่ก็ตกลงขายฉันในราคา 30 เหรียญต่อเดือน” ชยีมากล่าว

ชยีมาเข้าสหรัฐฯ วันที่ 3 สิงหาคม 2543 (อายุเกือบ 11 ขวบ) โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยวปลอมระยะเวลา
6 เดือนและอยู่ในบ้านหรูหราของนายจ้าง เป็นบ้าน 2 ชั้นสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนและมีรั้วรอบขอบชิด
ตั้งอยู่เขตโอเรนจ์ (Orange) เมืองเออร์ไวน์ (Irwine) รัฐแคลิฟอร์เนีย เวลาเธอไม่ได้ทำงาน เธอต้อง
อยู่ในห้องแคบ ๆ (กว้าง 2.4 ม.x ยาว 3.6 ม.) ในโรงรถ เป็นห้องที่ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ
หรือเครื่องทำความร้อน เธอเล่าว่า บางครั้งสองสามีภรรยาก็ขังเธอไว้ในห้องนี้ ในห้องมีเพียงที่นอน
สกปรก 1 หลัง, โคมไฟตั้งพื้นและโต๊ะเล็ก ๆ เสื้อผ้าของเธอต้องเก็บไว้ในกระเป๋าที่ติดตัวมาจากอียิปต์
ทุกวันเธอต้องตื่นนอนตั้งแต่ก่อน 6.00 น. งานแรกคือสอบถามสมาชิกแต่ละคนว่าต้องการกินอะไร
เป็นอาหารเช้า ได้แก่ลูกชายฝาแฝด 2 คนของเจ้านายและพี่สาว 3 คนของฝาแฝดวัยไล่เลี่ยกันคือ
11, 13 และ 15 ปี จากนั้น เธอก็ลงมือทำอาหารเช้า เสิร์ฟอาหาร, ล้างจาน, เปลี่ยนผ้าปูที่นอนและ
จัดเก็บที่นอนของทุกคน, ซักผ้า, รีดผ้า, กวาดบ้าน, ดูดฝุ่น, ถูบ้าน และทำความสะอาดนอกชาน ปกติ
งานทั้งหมดจะเสร็จราวเที่ยงคืนแต่บางครั้งก็นานกว่านั้น

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 ))ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 11, 2022 7:05 pm

"แรงงานทาส" ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551 โดย Mary A. Fischer, รวบรวมและ
แปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565” โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ชยีมาต้องกินข้าวคนเดียว ไม่ได้ไปโรงเรียน และห้ามออกไปนอกบ้านเด็ดขาด ยกเว้นเมื่อ
สองสามีภรรยาพาไป ‘อิบราฮิม’ และ‘โมเตลิบ’ขู่สำทับว่า ห้ามนำเรื่องนี้ไปเล่าให้ใครฟัง
“มิฉะนั้นจะถูกตำรวจจับ เพราะฉันเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ชยีมากล่าว

แม้เธอจะไม่เคยปริปากว่าคิดถึงแม่ แต่ตอนป่วยเป็นไข้หวัด ก็อยากมีแม่อยู่เคียงข้าง เธอถึง
กับปล่อยโฮต่อหน้านายจ้างทั้งสอง “พวกเขาเห็นฉันทรมานเพราะพิษไข้ แต่ก็ไม่สนใจ ฉันยัง
ต้องทำงานทุกอย่างตามปกติ และไม่คิดแม้แต่จะหายารักษาให้”

ตกกลางคืน ชยีมานอนซมด้วยความเหนื่อยอ่อนและว้าเหว่ เธอเพ่งมองไปข้างหน้าและเห็น
แต่ความมืดมิด ‘อิบราฮิม’ยึดหนังสือเดินทางของเธอไป เธอจึงได้แต่กลัวว่าจะต้องติดคุกไป
ตลอดชีวิต

เมื่อเธออายุครบ 12 ปีก็ไม่มีงานฉลองใด ๆ เธอยังคงต้องทำงานเหมือนทุกวันทั้งที่เป็นวันเกิด
6 เดือนต่อมา เช้าวันที่ 9 เมษายน 2545 (ชยีมาอายุ 12 ปี 6 เดือน) แครอล เฉิน (Carole Chen)
เจ้าหน้าที่สำนักงานปกป้องเด็กและเยาวชนแห่งเขตออเรนจ์ ได้รับโทรศัพท์จากบุคคลลึกลับ
(เชื่อว่าคงเป็นเพื่อนบ้านแถวนั้น) แจ้งว่า มีการทรมานเด็ก คนที่โทรฯไปบอกว่า มีเด็กหญิงพัก
อยู่ในโรงรถและต้องทำงานเป็นคนรับใช้ ข้อสำคัญคือ ไม่ได้ไปโรงเรียน
เฉินรุดไปตรวจสอบพร้อมกับเทรซี่ จาค็อบสัน (Tracy Jacobson) เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน
พออิบราฮิมออกมาเปิดประตู ตำรวจถามว่า มีคนอื่นอาศัยอยู่ในบ้านหรือไม่ เขาตอบว่า
นอกจากตัวเขาก็มีภรรยากับลูกอีก 5 คน

“แล้วมีเด็กคนอื่นอีกไหม” ตำรวจถามต่อ อิบราฮิมยอมรับว่า มีเด็กอายุ 12 ขวบอีกคน แต่เขา
อ้างว่าเป็นญาติห่าง ๆ

“ขอคุยกับเด็กหน่อยได้ไหมคะ” จาค็อบสันถาม

ขณะนั้น ชยีมากำลังทำความสะอาดบันไดบ้าน และไม่รู้เลยว่า อิสรภาพรออยู่แค่เอื้อมแล้ว

อิบราฮิมเรียกเธอลงมาโดยใช้ภาษาอารบิก แต่เขาก็ยังยืนยันว่า ชยีมาไม่ได้ทำงานให้ตนกับ
ภรรยา ชยีมาเดินลงมาในสภาพมอมแมม สวมเสื้อยืดคอกลมสีน้ำตาลตุ่น กับกางเกงหลวมโพรก
เธอรีบเดินมาที่ประตูทันที
เฉินสังเกตเห็นมือของเด็กแดงและหยาบ จึงรีบโทรฯตามล่าม และทราบผ่านล่ามต่อมาว่า เธออยู่
ในสหรัฐฯ 2 ปีแล้วและไม่เคยไปโรงเรียน

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.ค. 12, 2022 10:37 pm

"แรงงานทาส" ตอนที่ ( 3 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551 โดย Mary A. Fischer,
รวบรวมและแปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565” โดย กอบกิจ ครุวรรณ

จาค็อบสันรับตัวเด็กมาอยู่ในความดูแลของตำรวจทันที ระหว่างนั่งอยู่หลังรถตำรวจมุ่งหน้า
สู่บ้านสงเคราะห์เด็กซึ่งจะเป็นที่อยู่ชั่วคราวของเธอ

ชยีมาวิงวอนว่า อย่าส่งเธอกลับไปเผชิญหน้ากับนายจ้างทั้งสองอีก “ชยีมาเป็นเด็กที่แปลกมาก
เพราะเธอเข้มแข็งจนไม่น่าเชื่อ เธอไม่ได้ร้องไห้เลย” จาค็อบสันกล่าว

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา จาค็อบสันกลับไปที่บ้านหลังนั้นอีกครั้งพร้อมหมายค้นและเจ้าหน้าที่จากหน่วย
สอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) และจากสำนักตรวจคนเข้าเมือง พอเข้าไปในโรงรถ เจ้าหน้าที่ก็ถ่ายรูป
ที่นอนซึ่งเต็มไปด้วยคราบสกปรกสารพัดที่ชยีมาอาศัยนอนมานานเป็นปีๆ ตามด้วยภาพกะละมัง
ใส่น้ำสบู่อยู่ใกล้กับโคมไฟตั้งพื้นซึ่งแตกแล้ว และเสื้อผ้าที่ม้วนกองอยู่บนพื้น

“สภาพที่อยู่ของชยีมาแตกต่างจากสมาชิกที่เหลือในบ้านอย่างลิบลับ” จาค็อบสันกล่าว

อิบราฮิมยังไม่วายหาข้อแก้ตัว โดยนำสัญญาที่เขียนด้วยลายมือและผ่านการรับรองเอกสาร
แล้วมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู เป็นสัญญาระหวางอิบราฮิมกับพ่อแม่ของชยีมาซึ่งทั้งคู่เซ็นชื่อไว้
“สัญญาระบุว่า เธอต้องทำงานให้สองสามีภรรยา 10 ปี” จาค็อบสันกล่าว

“โดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 30 เหรียญ ซึ่งพ่อแม่ของเธอรับไปหมดแล้ว”

สองสามีภรรยาถูกจับและถูกตั้งข้อหาร่วมกันข่มชืนใจให้ผู้อื่นทำงานเยี่ยงทาส บังคับใช้แรงงาน
ผู้อื่นให้ตนเองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ที่พักพิงแก่บุคคลต่างด้าว

หลังจากเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปช่วยชยีมาออกมา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเสนอให้ชยีมาตัดสินใจว่า
อยากจะกลับอียิปต์ หรือจะอยู่ต่อไปในสหรัฐฯ โดยต้องไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์
ก่อนตอบ ชยีมามีท่าทางประหม่าและสับสน เธอขอใช้โทรศัพท์ไปถึงพ่อในอียิปต์ และโพล่งออกมาว่า
“ฉันจะอยู่ในอเมริกาต่อไป” พ่อโกรธจัด แต่ชยีมาตัดสินใจแล้วว่า ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีกว่า
ในสหรัฐฯ

ช่วง 2 ปีต่อมา ชยีมาอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ 2 ครอบครัว ๆ แรก เธอหัดพูดและเขียนภาษาอังกฤษ
ต่อมาก็ย้ายไปอยู่กับครอบครัวในเมืองซาน โฮเซ่ (San Jose) ครอบครัวนี้ต้องการให้เธอเป็นมุสลิม
ที่เคร่งครัดจนมีปากเสียงกัน ที่สุดครอบครัวนี้ก็ส่งตัวเธอคืนให้สำนักงานดูแลเด็ก “ฉันอยากเป็นเด็ก
วัยรุ่นอเมริกันคนหนึ่งเท่านั้นเอง” ชยีมากล่าว

ไม่นานต่อมา เธอก็สมปรารถนากับครอบครัวของ ‘ชัคและเจนนี่ ฮอล’ (Chuck & Jenny Hall)
ซึ่งมีลูกสาว 2 คนกับลูกชาย 1 คน ทั้งสองเพิ่งซื้อบ้านขนาด 4 ห้องนอนในเขตออเรนจ์ ดังนั้นจึงลง
ความเห็นกันว่า มีห้องว่างสำหรับเด็กอีกหลายคน ก่อนหน้านั้น ทั้งสองเพิ่งรับเด็กสาววัย 15 ปีกับ
หลานชายวัย 13 ปีของชัคมาเป็นบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมเพิ่มอีกสักคนก็ไม่น่าจะยุ่งยาก
ตอนที่ทั้งสองพบกับชยีมาเป็นครั้งแรก “เรารู้สึกถูกชะตากันทันที” ชัคซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทผลิต
เครื่องแบบกล่าวว่า “ชยีมามีอารมณ์ขันแบบเดียวกับผม” ส่วนชยีมามี 2 คำถามกับ“ว่าที่พ่อแม่
บุญธรรม” คือ
1) ในบ้านมีกฎระเบียบอะไรบ้าง และ 2) เธอต้องทำงานบ้านอะไรบ้าง
ชัคตอบว่า “ทุกอย่างพูดคุยต่อรองกันได้”

ส่วนเจนนี่ซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษาให้เยาวชนมาหลายปีกล่าวว่า “กฎข้อที่ 1 คือ ต้องทำการบ้านและ
อ่านหนังสือก่อนทำอย่างอื่นเสมอ เราจะเลี้ยงเธอเหมือนลูกสาวคนหนึ่ง และเธอจะเป็นส่วนหนึ่ง
ของครอบครัวเรา”

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.ค. 13, 2022 9:01 pm

"แรงงานทาส" ตอนที่ ( 4 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551 โดย Mary A. Fischer, รวบรวมและ
แปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565” โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ขณะนั้น ชยีมาอายุ 15 ปีเต็ม กำลังจะโตเป็นสาวสวยสะพรั่ง แต่สิ่งที่ติดตัวเธอมาไม่ได้มีแต่กระเป๋า
ใส่เสื้อผ้า “ฉันยังมีอารมณ์โกรธคุกรุ่นอยู่ในใจ” ช่วง 6 เดือนแรก ชยีมามีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ
และมีอาการหวาดวิตกจนต้องไปปรึกษาแพทย์และกินยาคลายเครียดเป็นประจำ

เมื่อเวลาผ่านไป เธอเริ่มมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น พอไปโรงเรียนก็เริ่มมีเพื่อนรวมทั้งเพื่อน
ชายคนแรกในชีวิต ชยีมาเป็นนักกีฬาประเภทลู่ของโรงเรียน เวลาว่างเธอไปทำงานที่ร้านขาย
ช็อกโกแลต และเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อชุมชน นอกจากนั้นยังเป็นอาสาสมัครให้คำปรึกษาแก่เด็ก
มีปัญหาที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งหรือไร้คุณค่า

ในช่วงเวลาเดียวกัน อิบราฮิมกับโมเตลิบยอมรับเงื่อนไขการต่อรองคำรับสารภาพเพื่อจะได้ไม่ต้อง
ขึ้นศาล เดือนตุลาคม 2549 (หลังจากถูกดำเนินคดี 4 ปีครึ่ง) เป็นวันตัดสินโทษของสองสามีภรรยา
ชยีมานั่งกระสับกระส่ายอยู่ในศาลพิจารณาคดี ขณะที่อิบราฮิมอดีตนายจ้างแถลงต่อศาลเพื่อขอ
ความเมตตาว่า “สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดเกิดจากความไม่รู้กฎหมายของผมเอง แต่ผมก็ยังมีความรับผิด
ชอบตามสมควรทุกประการ”

โมเตลิบมีท่าทีแข็งกร้าวกว่า “ฉันปฏิบัติต่อเด็กคนนี้แบบเดียวกับที่จะปฏิบัติต่อเธอหากอยู่ในอียิปต์
ถ้าเด็กเดินเข้ามาขอร้องฉันตรง ๆ ว่าอย่าทำอย่างนี้ ฉันก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองทันที”

เมื่อได้ยินอดีตนายหญิงแถลงจบลง ชยีมาโกรธมากจนถึงกับขออนุญาตแถลงต่อศาลบ้างว่า
“โมเตลิบเป็นผู้ใหญ่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี ทำไมเธอจึงไม่มีความรัก
ความเมตตาให้ฉันเลย หรือฉันไม่ใช่คนเหมือนเธอ ตอนอยู่กับพวกเขา ฉันรู้สึกเหมือนเป็นตัว
อะไรสักอย่าง สิ่งที่พวกเขาทำกับฉันจะเป็นแผลใจไปจนชั่วชีวิต”

อิบราฮิมได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 3 ปี ส่วนโมเตลิบรับโทษจำคุก 1 ปี 10 เดือน ทั้งคู่ต้อง
ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยให้ชยีมาเป็นเงิน 76,137 เหรียญ นอกจากนั้น หลังพ้นโทษยังต้องถูก
เนรเทศกลับไปอียิปต์อีกด้วย

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ค. 15, 2022 3:21 pm

'แรงงานทาส" ตอนที่ ( 5 ) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551 โดย Mary A. Fischer, รวบรวมและ
แปลเพิ่มจากกูเกิ้ล 2565” โดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลังฟังการพิจารณาโทษ ชยีมาฉลองด้วยการเดินหาซื้อกระโปรงสำหรับใส่ไปงานเต้นรำที่
โรงเรียน เธอกับเจนนี่ข่วยกันเลือกจนได้ชุดราตรียาวสีดำวาว ชยีมานำเงินค่าชดเชยส่วนหนึ่ง
ไปซื้อคอมพิวเตอร์ กล้องดิจิตัล และรถยนต์คันเล็ก ส่วนที่เหลือเธอเก็บไว้เป็นทุนการศึกษา
ระดับอุดมศึกษาต่อไป

“เธอเป็นเด็กสาวที่มีความเด็ดเดี่ยวและเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร”
เจนนี่กล่าวว่า. เธอกับสามีเพิ่งจะจดทะเบียนรับชยีมาเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย
เมื่อปีที่ผ่านมา (2550)

เมื่อพูดถึงอนาคต ชยีมากล่าวว่า เธอ
อยากเป็นตำรวจเพื่อจะได้ช่วยเหลือคนอื่น ๆ และหวังว่าสักวันจะมีโอกาสกลับไปเยี่ยมพี่น้อง
ที่อียิปต์ แต่ตอนนี้ เธอมีความสุขกับชีวิตและชื่นชมความฝันที่กำลังกลายเป็นความจริง
นั่นก็คือความฝันที่ จะได้ใช้ชีวิตแบบเด็กอเมริกันคนหนึ่ง

(+)หมายเหตุ

ชยีมาได้รับสัญชาติอเมริกันเมื่ออายุครบ 21 ปี เธอเป็นอาสาสมัครให้กับสถานีตำรวจตั้งแต่ยัง
เป็นวัยรุ่นและทำงานอยู่ในคณะกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ ชยีมาเป็นวิทยากรเล่าเรื่อง
ของเธอในโรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ

นอกจากนั้น เธอยังเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตในหนังสือชื่อ “Hidden Girl” (240 หน้า)
วางตลาดวันที่ 21 มกราคม 2557
ปัจจุบัน เธอมีครอบครัวอยู่กับแฟนหนุ่ม และมีลูก 2 คน (หญิง 1,ชาย 1)
ตั้งถิ่นฐานในเมือง Riverside รัฐแคลิฟอร์เนีย

.................................
จบบริบูรณ์

:s012:
ตอบกลับโพส