ประวัตินักบุญอย่างย่อ เดือน กรกฎาคม (วันทื่ 1-15 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ค. 01, 2022 7:42 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑ กรกฎาคม
นักบุญฮูนิเปอโร เซอร์รา
St. Junipero Serra

ฮูนิเปอโร เซอร์รา (ค.ศ.๑๗๑๓-๘๔) เป็นพระสงฆ์ฟรังซิสกันชาวสเปนที่บุกเบิกงานแพร่ธรรม
ครั้งแรกในแคลิฟอร์เนีย ท่านเกิดที่เมือง Majorca ประเทศสเปน ท่านเข้าคณะฟรังซิสกันและ
บวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๗๓๗ หลังจากทำหน้าที่สอนระยะหนึ่ง ท่านไปที่ "สเปนใหม่"
(ปัจจุบันคือเม็กซิโกและรัฐเท็กซัส) ในปี ๑๗๔๙ ท่านทำงานแพร่ธรรมที่นั่น ๒๐ ปี ท่านขยาย
งานแพร่ธรรมสู่ภาคเหนือของแคลิฟอร์เนียในปี ๑๗๖๙ และก่อตั้งศูนย์แพร่ธรรม ๙ แห่งใน
ทั้งหมด ๒๑ แห่งของคณะฟรังซิสกันตามชายฝั่งแปซิฟิก ท่านล้างบาปผู้กลับใจถึง ๖ พันคน

กระบวนการแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญกลายเป็นเหตุขัดแย้งระหว่างศาสนจักรคาทอลิกกับผู้นำ
ชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน พวกเขาประท้วงการกดขี่ของพวกมิสชันนารีฟรังซิสกันที่กระทำต่อ
ชาวชนเผ่าเพื่อให้กลับใจ แต่เซอร์ราเองเป็นผู้ปกป้องคนท้องถิ่นไม่ให้ถูกทำร้ายและฉกฉวย
ผลประโยชน์ ท่านเน้นถึงความเสมอภาคต่อหน้าพระเจ้า ท่านเสียชีวิตที่ Monterey
ในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๑๗๘๔

ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของกระแสเรียกและได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ
เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๐๑๕โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ค. 02, 2022 6:42 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒ กรกฎาคม
นักบุญเบอร์นาร์ดิโน รีอาลิโน
St. Bernardino Realino

เบอร์นาร์ดิโน รีอาลิโน (ค.ศ.๑๕๓๐-๑๖๑๖) เป็นพระสงฆ์เยสุอิตชาวอิตาเลียน
ท่านทำงานเป็นพ่อเจ้าวัดใน Lecce (เลชเช) เป็นเวลา ๔๒ ปี ท่านทำมิสซา
เทศน์ฟังสารภาพบาป เยี่ยมคนป่วย สอนคำสอนเด็ก ให้คำแนะนำด้านจิตวิญญาณ
และเยี่ยมเยียนลูกวัด

ท่านเป็นที่รักเคารพอย่างยิ่งของชาวเมือง ผู้นำของเมืองมาเฝ้าข้างเตียงเมื่อท่าน
ใกล้ตายขอให้ท่านรับปากว่าจะเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ในสวรรค์ของชาวเมืองเลชเช
ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๙๔๗

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 04, 2022 2:42 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓ กรกฎาคม
นักบุญโทมัส อัครสาวก
St. Thomas, Apostle

โทมัส (ศตวรรษที่๑) ถูกเรียกว่า Didymus แปลว่า "ฝาแฝด" ท่านเป็นหนึ่งในอัครสาวก
สิบสองคน ท่านแสดงความกังขาเมื่อได้ยินว่าพระเยซูกลับคืนชีพ ดังนั้น ท่านจึงถูกเรียกว่า
"โทมัสผู้สงสัย" โทมัสเป็นอัครสาวกคนแรกที่ยืนยันว่าตนพร้อมจะตายกับพระเยซูใน
อาหารค่ำมื้อสุดท้ายโทมัสยอมรับว่าไม่ทราบว่าพระเยซูจะไปไหน ซึ่งพระองค์ตอบว่า
พระองค์เป็นหนทางความจริงและชีวิต เมื่อโทมัสประกาศความเชื่อหลังจากได้พบพระเยซู
ผู้กลับคืนพระชนม์โทมัสเรียกพระเยซูว่าพระเจ้า ซึ่งเป็นการเรียกพระเยซูว่าเป็นพระเจ้า
เพียงครั้งเดียวในพระธรรมใหม่

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าโทมัสกระทำภารกิจใดหลังวันพระจิตเสด็จลงมา นักประวัติศาสตร์
Eusebiusระบุว่าท่านเทศน์สอนพวก Parthians ในดินแดนที่เป็นประเทศอิรักปัจจุบัน
มีธรรมประเพณีที่เชื่อมโยงท่านกับภาคใต้ของอินเดียและระบุว่าท่านก่อตั้งพระศาสนจักร
ที่นั่นหลังการเทศน์สอนที่ซีเรียและเปอร์เซียคริสตชนชาวซีเรียที่ Malabar ซึ่งถูกเรียกว่า
คริสตชนโทมัส อ้างว่าพวกเขาได้รับการประกาศพระวรสารจากโทมัส ท่านถูกสังหารด้วย
หอกและถูกฝังไว้ที่ Mylapore ใกล้ Madres อย่างไรก็ตาม คริสตชนชาวอินเดียยืนยันว่า
ท่านถูกฝังในอินเดียที่ San Tome อันเป็นสถานที่ที่ท่านถูกสังหารและต่อมาได้ถูกสร้างเป็น
อาสนวิหารนักบุญโทมัส

ในศาสนจักรซีเรียที่ Malabar เชื่อกันว่าโทมัสเสียชีวิตในวันที่๓ กรกฎาคม ค.ศ.๗๒
เมื่อมีการปฏิรูป ปฏิทินพิธีกรรมคาทอลิกในปี๑๙๖๙ ศาสนจักรคาทอลิกและศาสนจักรอังกฤษ
ก็ฉลองท่านวันนี้

โทมัสเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของประเทศอินเดีย ปากีสถาน
นักสำรวจคนงานก่อสร้าง ช่างไม้และสถาปนิก

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 04, 2022 2:43 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๔ กรกฎาคม
นักบุญเอลีซาเบธราชินีแห่งโปรตุเกส
St. Elizabeth of Portugal, Queen

เอลีซาเบธ (ค.ศ.๑๒๗๑-๑๓๓๖) เป็นราชินีแห่งโปรตุเกส ทรงสมรสกับกษัตริย์ Denis
ท่านเกิดที่เมืองZaragaza ประเทศสเปน เป็นธิดาของกษัตริย์แห่ง Aragon
มีพระนามว่าอิสซาเบลลาแต่ชีวิตสมรสของเอลีซาเบธไม่มีความสุข ท่านจึงทุ่มเทกำลัง
ไปกับการสวดภาวนาการเอาใจใส่คนป่วย เด็กกำพร้า ผู้ยากไร้ นักจาริกแสวงบุญ
และโสเภณี หลังจากพระสวามีสิ้นพระชนม์ในปี ๑๓๒๕ เอลีซาเบธเข้าเป็นสมาชิกฆราวาส
คณะฟรังซิสกันและใช้ชีวิตอย่างสมถะ ท่านป้องกันไม่ให้เกิดสงครามระหว่างโปรตุเกสกับ
แคว้น Castile

ท่านเสียชีวิตที่ Estramoz ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๑๓๓๖
และได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๖๒๕ ท่านเป็นหนึ่งในบรรดา
นักบุญอุปถัมภ์ของประเทศโปรตุเกส

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.ค. 06, 2022 11:07 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๕ กรกฎาคม
นักบุญอันตน มารีย์ ซัคคาเรีย
Anthony Mary Zaccaria

อันตน มารีย์ ซัคคาเรีย (ค.ศ.๑๕๐๒-๓๙) เป็นผู้ก่อตั้งคณะ Barnabite ท่านเกิดที่เมือง Cremona
ในภาคเหนือของอิตาลี อันตนทำงานเป็นแพทย์ในบ้านเกิดจนกระทั่งท่านตัดสินใจเปลี่ยนจาก
การบำบัดเยียวยาทางร่างกายมาเป็นทางจิตวิญญาณ ท่านบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๕๒๘
และอีกสองปีต่อมา ท่านก็ก่อตั้งคณะสงฆ์เพื่อฟื้นฟูความรักต่อพิธีกรรมและวิถีชีวิตคริสตชน
โดยการเทศน์สอนเน้นถึงงานเขียนของนักบุญเปาโลและการอภิบาลศีลศักดิ์สิทธิ์อย่างซื่อสัตย์

คณะของท่านได้รับการรับรองจากโรมในปี ๑๕๓๓ แรกเริ่ม คณะของท่านถูกต่อต้านจากสังฆราช
และพระสงฆ์ท้องถิ่น แต่โรมหนุนหลังคณะอันตนทำงานปฏิรูปหลายประการ ท่านจัดสัมมนา
ให้พวกพระสงฆ์ ตั้งกลุ่มสมาพันธ์ฆราวาสผู้มีชีวิตสมรส เทศน์สอนในที่กลางแจ้งและอภิบาลคนป่วย

ในปีสุดท้ายของชีวิต ท่านริเริ่มการก่อสร้างวัดนักบุญบาร์นาบัสในเมืองมิลานซึ่งเป็นศูนย์กลาง
ของคณะ ดังนั้นจึงเป็นที่มาที่สมาชิกในคณะเป็นที่รู้จักในชื่อว่า Barnabites (ชาวบาร์นาบัส)
ท่านเสียชีวิตวันที่ ๕ กรกฎาคม ๑๕๓๙ ด้วยวัย ๓๗ ปี

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.ค. 06, 2022 11:09 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๖ กรกฎาคม
นักบุญมารีอา กอเร็ตตี พรหมจารีและมรณสักขี
St. Maria Goretti, Virgin and Martyr

มารีอา เทเรซา กอเร็ตตี (ค.ศ.๑๘๙๐-๑๙๐๒) เกิดในครอบครัวชาวนาในเมือง Corinaldo
ซึ่งอยู่ใกล้เมือง Ancona ประเทศอิตาลี หลังการเสียชีวิตของพ่อ มารีอาในวัย ๑๒ ปีถูกปล่อย
ให้ดูแลบ้านตามลำพังขณะที่แม่ของเธอออกไปทำงานในไร่นา หนุ่มเพื่อนบ้านคนหนึ่งถือ
โอกาสพยายามละเมิดทางเพศเธอแต่มารีอาขัดขืน เขาแทงเธอหลายครั้ง มารีอาถูกนำตัว
ไปโรงพยาบาลที่เมือง Nettuno เธอเสียชีวิตในวันต่อมาคือวันที่ ๖ กรกฎาคม ๑๙๐๒
ก่อนสิ้นใจเธอกล่าวให้อภัยผู้ทำร้ายเธอ หนุ่มฆาตกรถูกตัดสินลงโทษจำคุก ๓๐ ปี ภายหลัง
เขาสำนึกผิดและได้แสดงความเศร้าเสียใจต่อสิ่งที่ได้กระทำ เขามีชีวิตยืนยาวจนได้เห็นเหยื่อ
ของเขาได้รับการประกาศเป็นบุญราศีในปี ๑๙๔๗ และเป็นนักบุญในปี ๑๙๕๐
ในฐานะมรณสักขีแห่งความบริสุทธิ์ มารีอากอเร็ตตีเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเด็กสาววัยรุ่น

CR. : Sinapis


6 กรกฎาคม
ระลึกถึง นักบุญ มารีย์ กอเรตตี พรหมจารี และมรณสักขี
(St Maria Goretti, Virgin & Martyr, memorial)

ชื่อเต็มคือ มารีย์ เทเรซา กอเร็ตตี เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1890 เป็นลูกคนที่สามจาก
ทั้งหมด จำนวนเจ็ดคนของครอบครัวกรรมกรที่ทำงานในฟาร์มที่เมืองคอรินาลโด (Corinaldo)
อยู่ในจังหวัด Marche ประเทศอิตาลี เนื่องจากครอบครัวยากจนจึงไม่มีโอกาสได้เข้าโรงเรียน
แต่เธอได้รับการสอนให้มีพื้นฐานคุณธรรมแบบคริสตชนจากแม่ผู้ศรัทธาแม้ไม่รู้หนังสือผู้มีนามว่า
Assunta โดยเธอสอนคำสอนให้ลูกจากความจำของเธอ เมื่อมารีย์อายุได้ 9 ปี ครอบครัวเธอ
ย้ายไปอยู่ที่เน็ตตูโน (Nettuno) ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงโรม เพื่อหางานทำ ในปีต่อมา พ่อของเธอ
ที่ชื่อว่า ลุยจี(Luigi)เสียชีวิต ทำให้ครอบครัวลำบากมาก แม่และพี่ๆของเธอต้องออกไปรับจ้าง
ทำงานในฟาร์ม ส่วนเธอเองต้องดูแลบ้าน และดูแลน้องๆด้วย

เมื่ออายุ 11 ปี มารีย์ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก ซึ่งเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของเธอ
โดยเธอได้ไปเข้าเงียบตระเตรียมจิตใจเป็นพิเศษก่อนจะได้รับศีลฯ ซึ่งการเข้าเงียบนี้ก่อให้เกิด
ความประทับใจอย่างลึกซึ้ง เธอเป็นตัวอย่างของความนอบน้อมเชื่อฟัง ความถ่อมตน และความบริสุทธิ์
และมีความเกรงกลัวลึกๆที่จะทำบาปผิดต่อพระเยซูเจ้า เธอจึงเพิ่มความพยายามขึ้นเป็นสองเท่าที่จะ
ทำให้พระเจ้าพอพระทัย และคอยช่วยเหลือทุกๆคน การไปรับศีลอภัยบาปแต่ละครั้ง เธอต้องเดิน
ไปถึงเจ็ดไมล์ และกลับอีกเจ็ดไมล์ แต่เธอถือว่าไม่มีอะไรจะมาเปรียบเทียบได้กับการที่จิตใจได้รับ
การเติมเต็มด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์

เนื่องจากครอบครัวของมารีย์ ต้องอาศัยอยู่ในตึกเดียวกันกับครอบครัว Serenelli ที่ทำงานรับจ้าง
ในฟาร์มเหมือนกัน หนุ่มวัย 20 ปีชื่อว่า Alessandro จากครอบครัว Serenelli ได้มาชักชวนและ
ข่มขู่ให้เธอมามีความสัมพันธ์กับเขา แต่เธอปฏิเสธ หลังจากความพยายามครั้งที่สามของเขา
ไม่เป็นผลสำเร็จ โดยถูกมารีย์ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง เธอพูดกับเขาว่า "มันเป็นบาป พระเจ้าไม่ทรง
ต้องการเช่นนี้" เขาจึงแทงเธอด้วยมีดถึง 14 แผล เธอถูกนำไปโรงพยาบาล แต่ก็เสียชีวิต
ในวันต่อมา คือวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1902 ด้วยอายุ 12 ปี ก่อนตายเธอได้ให้อภัยแก่ Alessandro
และได้ภาวนาเพื่อให้เขากลับใจ ต่อมา Alessandro ถูกจับ และไปชดใช้โทษในคุก ทีแรกเขา
เกือบจะถูกโทษประหารชีวิต แต่เพราะเขายังเป็นผู้เยาว์ (อายุแค่ 20 ปี) จึงถูกจำคุกเป็นเวลา 30 ปีแทน
คืนหนึ่งหลังจากอยู่ในคุกมาได้ 6 ปี มารีย์ กอเร็ตตี ประจักษ์มาหาเขาในคุกนั้น เธอยิ้มให้เขา
เธอมาพร้อมกับดอกลิลลี่ที่สวยงามมาก เขารู้ทันทีว่ามารีย์ อภัยโทษให้เขาแล้ว ชีวิตของเขา
มีความสงบมากขึ้น ประพฤติตัวดี จนได้ออกจากคุกหลังจากติดมา 27 ปี เขาไปพบแม่ของมารีย์
เพื่อขอให้ยกโทษให้ คุณแม่ Assunta ก็ทำเช่นเดียวกับมารีย์ลูกสาว คือเต็มใจยกโทษให้
วันคริสต์มาสของปีนั้น Alessandro ไปที่วัดพร้อมกับ Assunta คุณแม่ของมารีย์ เขาได้พูดต่อ
ที่ชุมนุมนั้น ขอโทษพระ และขอโทษทุกคนในสิ่งที่เขาได้ทำผิดไป ที่ประชุมยกโทษให้เขา

มารีย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศี เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1947 และอีกสามปีต่อมา
คือในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1950 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 12
เนื่องจากปีนั้นเป็นปีศักดิ์สิทธิ์พอดี จึงมีผู้คนหลั่งไหลมาที่มหาวิหารนักบุญเปโตรกันมากมาย
พิธีสถาปนานักบุญจึงออกมาจัดที่จัตุรัสกลางที่อยู่ด้านหน้า แทนที่จะเป็นภายในมหาวิหารอย่างที่
เคยเป็นมา ที่พิเศษคือในการแต่งตั้งนักบุญนี้ แม่ของนักบุญคือคุณแม่ Assunta ซึ่งชรามากแล้ว
ได้มาอยู่ในพิธีด้วย และ Alessandro ผู้ที่ฆ่าเธอ ก็อยู่ในพิธีด้วย ต่อมา Alessandro ไปเป็น
บราเดอร์ฆราวาส ของคณะภราดาน้อยกาปูชิน (Lay brother of the Order of Friars Minor Capuchin)
อาศัยอยู่ในอารามแผนกต้อนรับแขก และทำสวน จนตายไปในปี ค.ศ. 1970 อายุ 87 ปี อาจกล่าว
ได้ว่า นักบุญมารีย์ กอเร็ตตี เป็น "นักบุญอักเนส แห่งศตวรรษที่ 20" นักบุญมารีย์ กอเร็ตตี
เป็นองค์อุปถัมภ์ของเหยื่อที่ถูกข่มขืน เหยื่ออาชญากรรม หญิงสาววัยรุ่น และเยาวชนสมัยปัจจุบัน

(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe และจาก Wikipedia)

:s005: :s005:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ค. 07, 2022 7:38 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๗ กรกฎาคม
บุญราศีราล์ฟ ไมล์เนอร์
Blessed Ralph Milner

ท่านเกิดที่หมู่บ้าน Slackstead แคว้น Hampshire ประเทศอังกฤษ ในต้นศตวรรษที่ 16
ท่านเป็นชาวไร่ชาวนา ไม่รู้หนังสือ ต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูภรรยาและลูก 8 คน ท่านเติบโต
โดยการอบรมแบบแองกลิกัน แต่ได้กลับใจเป็นคาทอลิก ในวันที่ท่านรับศีลมหาสนิทครั้งแรก
ท่านถูกจับด้วยข้อหาเปลี่ยนศาสนาและถูกคุมขังในคุกเมือง Winchester ด้วยอายุที่มากและ
ความประพฤติดีทำให้ท่านได้รับอนุญาตให้ออกไปนอกคุกได้เสมอๆ และแม้กระทั่งได้รับความ
ไว้วางใจให้ถือกุญแจเรือนจำ ท่านใช้โอกาสนี้นำพระสงฆ์มาส่งศีลให้พวกนักโทษ และต่อมาก็
เป็นผู้นำพระสงฆ์ไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่ออภิบาลด้านศีลศักดิ์สิทธิ์ให้ชาวบ้าน

ในที่สุด ท่านถูกจับพร้อมกับคุณพ่อ Dicconson ศาลขอให้ท่านเข้าร่วมพิธีในโบสถ์โปรเตสแตนท์
เพื่อจะไม่ต้องขึ้นตะแลงแกงแต่ท่านปฏิเสธ ขณะถูกนำตัวขึ้นแท่นประหาร พวกเขาพาลูกๆ มาให้ท่าน
เห็นเพื่อท่านจะได้เปลี่ยนใจแต่ท่านยังคงแน่วแน่ท่านอวยพรลูกๆ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนถูกแขวนคอ

วันที่ท่านถูกประหารชีวิตตรงกับวันที่ 7 กรกฎาคม 1591
ท่านได้รับการยกย่องเป็นมรณสักขีและได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศีในปี 1929

Cr: Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ค. 08, 2022 10:59 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๘ กรกฎาคม
นักบุญอาควิลาและพริสซิลลา มรณสักขี
Sts. Aquila and Priscilla, Martyrs

อาควิลาและพริสซิลลา (ศตวรรษที่หนึ่ง) เป็นสามีภรรยากัน ทั้งคู่เป็นศิษย์ของนักบุญเปาโล
พวกท่านต้องอพยพออกจากอิตาลีช่วงเวลาหนึ่งเพราะมีประกาศของจักรพรรดิในปี ๔๙
ห้ามพวกยิวอาศัยอยู่ในโรม เปาโลเยี่ยมท่านทั้งสองที่เมืองโครินธ์และได้ทราบว่าอาควิลา
มีอาชีพทำเต๊นท์เหมือนท่าน ดังนั้นเปาโลจึงพักอาศัยอยู่กับพวกท่านและทำงานด้วยกัน
เมื่อเปาโลออกจากเมืองโครินธ์ อาควิลาและพริสซิลลาร่วมเดินทางไปด้วยแต่ทั้งสองหยุด
อยู่ที่เมืองเอเฟซัส ขณะที่เปาโลไปต่อถึงซีเรียในเมืองเอเฟซัส ทั้งสองได้สอนอพอลโลซึ่ง
เป็นชาวยิวจากเมืองอเล็กซานเดรีย

อาควิลาและพริสซิลลาเสียชีวิตในเอเชียไมเนอร์ แต่มีธรรมประเพณีเล่าว่าพวกท่านถูก
สังหารเป็นมรณสักขีที่โรม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีวัดชื่อนักบุญพริสซิลลา
อยู่บนเนินเขา Adventine ในโรม

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ค. 09, 2022 4:01 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๙ กรกฎาคม
มรณสักขีแห่งกอร์คุม
Martyrs of Gorkum

วันนี้เราระลึกถึงมรณสักขี ๑๙ คนที่ถูกสังหารโดยพวกโปรแตสแตนท์นิกาย Calvinists
ในอารามเมืองReggen ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี ๑๕๗๒ พวกท่านเหล่านี้ประกอบไปด้วย
ภราดาคณะฟรังซิสกัน ๑๑ คน พร้อมกับผู้ดูแลพวกเขาคือ Nocholas Pieck พระสงฆ์คณะ
Norbetrines ๒ คน คณะโดมินิกัน ๑ คน คณะออกัสติเนียน ๑ คน
และพระสงฆ์สังฆมณฑล ๔ คน พวกท่านถูกจับกุมตัวและคุมขังที่Gorkum
ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน จนถึง ๖ กรกฎาคม จากนั้นถูกนำลงเรือไปที่ Briel พวกท่านได้รับ
ข้อเสนอให้อิสรภาพหากปฏิเสธคำสอนคาทอลิกเรื่องศีลมหาสนิทและอำนาจปกครองของ
พระสันตะปาปา แต่พวกท่านไม่ยอมจึงถูกแขวนคอที่เมือง Ruggen
พวกท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๘๖๗

CR. : Sinapis


"ตามรอยพระบาท" วันนี้ (ส 9/7/2022) ให้เราดูตัวอย่างของ นักบุญ ออกัสติน เซา รง พระสงฆ์
และเพื่อนมรณสักขีชาวจีน (1746-1815) ท่านเป็นทหารชาวจีน ต่อมา ได้รับศีลล้างบาป
และได้บวชเป็นพระสงฆ์ ติดตามทำงานรับใช้พระสังฆราชยอห์น เกเบรียล โตแรง ดูแฟรส
แห่งสำนักมิสซังต่างประเทศ กรุงปารีส ฝรั่งเศส; ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ พร้อมกับ
เพื่อนมรณสักขีอื่นๆ ที่มีทั้งคริสตชนชาวจีน และคริสตชนที่เกิดในต่างแดน ที่ไม่ยอมละทิ้ง
ความเชื่อในพระเจ้า แม้ถูกขู่เข็ญถึงชีวิตก็ตามอีกรวมจำนวน 120 คน (ช่วงปีตั้งแต่ 1648-1930)
โดยพระสันตะปาปา ยอห์นปอล ที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2000 ที่กรุงโรม; มรณสักขีที่ได้รับการ
แต่งตั้งเหล่านี้ ส่วนใหญ่ (87 คน) เกิดในเมืองจีน เป็นเด็กบ้าง เป็นพ่อแม่บ้าง เป็นครูคำสอนบ้าง
และบางคนก็เป็นคนงานทั่วๆไป; ที่เหลืออีก 33 คน เป็นชาวต่างชาติ ที่เป็นพระสงฆ์ นักบวช นักเทศน์
ของคณะต่างๆ เช่น คณะเยสุอิต ซาเลเซียน และฟรังซิสกัน เป็นต้น; เมื่อฝ่ายปกครองของจีน นำเอา
เรื่องการเมือง มาปนกับเรื่องของศาสนา จึงทำให้เกิดอคติว่า ทุกคนที่นับถือศาสนาของฝรั่งคือ
ศัตรูหมด และจำเป็นต้องทำการกวาดล้างให้สิ้นซากด้วยการสังหารหมู่ และนี่คือที่มาของมรณสักขี
จำนวนมากที่เกิดขึ้นในยุคนั้น รวมถึงนักบุญ เซา รง ที่โดดเด่นเป็นที่รู้จัก และมีรายชื่อ
ในวันฉลองของพระศาสนจักรในวันนี้ด้วย

:s002:
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ อาทิตย์ ก.ค. 10, 2022 4:15 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ค. 10, 2022 4:11 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม
นักบุญเวโรนิกา กุยลิอานี
St. Veronica Giuliani

เวโรนิกา กุยลิอานี (ค.ศ.๑๖๖๐-๑๗๒๗) เป็นนักพรตหญิงคณะฟรังซิสกันที่ถือว่าให้ภาพตัวแทน
มิสติคยุคบาโรคได้ดีที่สุด ท่านเกิดในครอบครัวคนชั้นกลางในเมือง Urbino โดยมีชื่อว่า
Orsola ปี ๑๖๗๗ ท่านเข้าอารามกาปูชินที่เมือง Citta di Castello ในแคว้น Umbria ท่านรับ
ชื่อว่าเวโรนิกาและเริ่มต้นชีวิตนวกชนอย่างทรหดเพราะความเข้มงวดของอธิการิณีกล่าวกันว่า
ท่านได้รับอัศจรรย์หลายอย่างและได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีบาดแผลของมงกุฎหนามบนศีรษะ
ท่านด้วย ท่านทำหน้าที่นวกจารย์เป็นเวลา ๓๔ ปี และเป็นอธิการิณีของอาราม ๑๐ ปี ท่านเขียน
บันทึกชีวิตภายในซึ่งตกทอดมาถึงเราจำนวน ๑๐ เล่ม

ท่านเสียชีวิตในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๑๗๒๗ และได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๘๓๙

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 11, 2022 7:01 pm

ฉลองนักบุญวันที่ ๑๑ กรกฎาคม
นักบุญเบเนดิกต์แห่งนูร์เซีย
St. Benedict of Nursia, Abbot

เบเนดิกต์แห่งนูร์เซีย (ประมาณ ค.ศ.๔๘๐-๕๕๐) เป็นผู้สถาปนาอารามนิยมของตะวันตก
ท่านเขียนพระวินัยของชีวิตนักพรต ซึ่งพระวินัยนี้เป็นที่รู้จักและนำไปปฏิบัติกันทั่ว ท่านเป็น
นักบุญอุปถัมภ์ของยุโรป (ประกาศโดยพระสันตะปาปาเปาโล ที่ ๖ ในปี ๑๙๖๔) เราทราบ
เรื่องราวชีวิตของท่านจากเรื่องเล่าในหนังสือ "บทสนทนา" ของนักบุญเกรกอรีมหาราช

เบเนดิกต์เกิดในอิตาลีภาคกลาง ท่านไปศึกษาที่โรมแต่เห็นความไร้ศีลธรรมของสังคมที่นั่น
จึงออกจากเมืองเมื่อประมาณปี ๕๐๐ ไปใช้ชีวิตเป็นฤษีที่ Subiaco มีผู้ติดตามจำนวนไปอยู่
ร่วมกับท่าน ท่านจัดแบ่งพวกเขาเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๑๐ คน มีทั้งหมด ๑๒ กลุ่ม เบเนดิกต์ใช้ชีวิต
อยู่ที่ Subiaco เป็นเวลา ๒๔ ปีจากนั้นท่านออกเดินทาง พร้อมกับศิษย์จำนวนหนึ่งไปที่
Monte Cassino ใกล้เมืองเนเปิล ที่นี่เองที่ท่านได้เขียนพระวินัยอันมีชื่อเสียงของท่านจนแล้วเสร็จ

พระวินัยของเบเนดิกต์เน้นเรื่องอำนาจและการนบนอบเชื่อฟัง ความสม่ำเสมอ และชีวิตกลุ่ม
ภารกิจหลักของพวกนักพรตคือการสวดทำวัตรร่วมกัน เสริมด้วยการอ่านพระคัมภีร์ และงานใช้มือ
ประเภทต่างๆ ท่านยืนยันว่าอธิการต้องถูกเลือกโดยนักพรตทั้งหมดของอาราม และควรเป็นบุคคล
มีความปรีชาฉลาด รอบคอบ ผ่อนปรน และเรียนรู้พระบัญญัติของพระเจ้าและเป็นบิดาฝ่ายจิตของ
อาราม เช่นเดียวกับท่าน พระวินัยผ่อนปรนให้ปรับปรุงวิถีชีวิตนักพรตเหมาะสมกับความต้องการ
ของสังคม เพื่อให้อารามเป็นศูนย์กลางของวิชาการการเกษตร การแพทย์ และสถานบำบัดเยียวยา
เบเนดิกต์เสียชีวิตที่ Monte Cassino ประมาณปี ๕๕๐

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.ค. 12, 2022 10:39 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม
นักบุญหลุยส์ มาร์แต็ง และมารี-อเซลี กูแรง
Sts. Louis Martin and Marie-Azélie Guérin

หลุยส์ มาร์แตง และมารี-อเซลี กูแรง มาร์แตง เป็นสองสามีภรรยาชาวฝรั่งเศส พวกท่านเป็น
บิดามารดาของนักบุญเทเรซาแห่งลิซิเออร์ ทั้งสองท่านเป็นคู่สมรสคู่แรกในประวัติศาสตร์
พระศาสนจักรที่ได้รับการประกาศเป็นนักบุญ

หลุยส์ มาร์แตง เป็นลูกคนที่สามในจำนวนพี่น้อง ๕ คน คนอื่นๆ เสียชีวิตทั้งหมดก่อนอายุ ๓๐ ปี
หลุยส์ตั้งใจจะเป็นนักพรต ท่านสมัครเข้าอารามคณะออกัสติเนียน แต่ถูกปฏิเสธเพราะเรียนภาษา
ละตินไม่ผ่าน ท่านจึงเลือกจะเป็นช่างทำนาฬิกาและได้ฝึกฝนอาชีพนี้ในเมือง Rennes และ Strasbourg

อเซลี-มารี (เรียกสั้นๆ ว่า เซลี) กูแรง เป็นลูกสาวคนที่สองของครอบครัว พี่สาวคนหนึ่งของท่านเป็น
ซิสเตอร์คณะ Visitandine ส่วนน้องชายเป็นเภสัชกร เซลีปรารถนาจะเป็นซิสเตอร์แต่คณะซิสเตอร์
เมตตาธรรมของนักบุญวินเซนเดอปอลไม่รับท่าน เพราะปัญหาหืดหอบและอาการปวดหัวบ่อยๆ
ท่านได้ประกอบอาชีพเป็นช่างทำสร้อย

ในปี ๑๘๕๘ เซลีพบรักกับช่างทำนาฬิกา หลุยส์มาร์แตงและอีกสามเดือนต่อมา ทั้งสองก็แต่งงานกัน
ธุรกิจของเซลีประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งจนกระทั่งปี ๑๘๗๐ หลุยส์ก็ขายกิจการทำนาฬิกาของเขา
เพื่อช่วยเธอ สิบเดือนแรกหลังชีวิตสมรส หลุยส์และเซลียังอยู่กันเหมือนพี่ชายน้องสาวจนกระทั่งพ่อ
ผู้แนะนำวิญญาณแนะให้พวกท่านอยู่กันฉันสามีภรรยา ทั้งสองมีลูก ๙ คน แต่มีลูกสาวเพียง ๕ คน
เท่านั้นที่อยู่รอดจนโต

หลุยส์รักธรรมชาติอย่างละเอียดอ่อนลึกซึ้งและถ่ายทอดสิ่งนี้ให้กับเทเรซา ทำให้เธอรักต้นไม้
ภูมิทัศน์ท้องถิ่น เมฆ ทะเลและดาว หลุยส์ยังเป็นนักแสวงบุญที่เดินทางไปหลายแห่ง ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติ
รักการผจญภัยที่เทเรซารับมาด้วยเช่นกัน หลุยส์เป็นคนศรัทธา ท่านทำห้องใต้หลังคาเป็นที่สวดภาวนา
อ่านหนังสือ และรำพึงภาวนา ท่านแบ่งเวลาแต่ละวันเหมือนตารางเวลาชีวิตอารามคือมีช่วงสวดนมัสการ
ทำงานในสวน และพักผ่อน ท่านให้ชื่อเล่นแก่ลูกๆ ทุกคน ท่านเรียกเทเรซาว่าราชินีองค์น้อย

เซลีเสียชีวิตด้วยมะเร็งทรวงอกในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๑๘๗๗ ขณะอายุ ๔๕ ปีไม่กี่สัปดาห์ให้หลังหลุยส์
ก็ขายกิจการทำสร้อยและบ้าน ท่านย้ายไปอยู่ที่ลิซิเออร์ แคว้นนอร์มังดีที่ซึ่งน้องชายของเซลีอยู่ที่นั่น
กับภรรยาและลูกสาวสองคน หลังจากเซลีสิ้นชีวิต ลูกสาว ๔ คนได้เป็นภคินีในอารามคาร์เมไลท์
ส่วนอีกคนหนึ่งเข้าคณะ Visitandine

ในปี ๑๘๘๙ หลุยส์เป็นอัมพฤกษ์หลังอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ท่านต้องอยู่ในโรงพยาบาลผู้ป่วย
ทางจิตเป็นเวลา ๓ ปี และเมื่อออกมาก็ได้รับการดูแลจากลูกๆ อย่างเอาใจใส่จนสิ้นชีวิต
ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๑๘๙๔

พระสันตะปาปาฟรังซิสได้สถาปนาหลุยส์และเซลีเป็นนักบุญในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๐๑๕

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.ค. 13, 2022 8:51 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม
นักบุญเคลลีอา บาร์บิเอรี
St. Clelia Barbieri
(๑๓ ก.พ. ๑๘๔๗ - ๑๓ ก.ค. ๑๘๗๐)

เคลลีอา บาร์บิเอรี เป็นนักบุญชาวอิตาเลียนและเป็นผู้ก่อตั้ง
คณะ Little Sisters of the Mother of Sorrows ท่านเป็นผู้ตั้งคณะนักบวชที่มีอายุน้อยที่สุด
ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิก

เคลลีอาเกิดในเมือง Bologna ประเทศอิตาลีบิดามารดาเป็นคนงานยากไร้ ท่านมีน้องสาวหนึ่งคน
บิดาเสียชีวิตเมื่อท่านมีอายุเพียง ๘ ปีท่านต้องช่วยแม่ปั่นเชือกป่านทำงานเลี้ยงครอบครัว แต่แม้จ
ะเติบโตในสภาพยากจน เคลลีอาก็ได้รับการอบรมให้มีความศรัทธา ท่านเริ่มใช้เวลาในการสวด
ภาวนาตั้งแต่อายุยังน้อย

เคลลีอาช่วยเป็นครูคำสอนเมื่ออายุ ๑๔ ปีท่านแสดงถึงความเป็นผู้นำจนคุณพ่อเจ้าวัดมอบหมาย
ให้สอนข้อความเชื่อทางศาสนาแก่พวกเด็กสาว เมื่ออายุ๑๗ ปีเคลลีอาปฏิเสธคำขอแต่งงาน
ท่านมุ่งจะดำเนินชีวิตอุทิศตนตามความศรัทธา

ในปี ๑๘๖๘ เคลลีอาได้ตั้งคณะนักบวช ขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๒๑ ปี สมาชิกคณะของท่านทำงาน
ช่วยเหลือคนยากไร้และเจ็บป่วยในท้องถิ่น สองปีหลังการตั้งคณะ ท่านก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
ในปี ๑๘๗๐

ปัจจุบัน คณะที่ท่านก่อตั้งยังคงดำเนินภารกิจในอิตาลี อินเดีย แทนซาเนีย และบราซิล
มีบ้านของคณะ๓๕ แห่ง มีสมาชิกทั้งหมด ๒๙๖ คน

พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ ประกาศแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญในวันที่ ๙ เมษายน ๑๙๘๙

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ค. 14, 2022 4:16 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม
นักบุญกาเตรี เตกักวิธา
องค์อุปถัมภ์ของนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม

กาเตรีเป็นชาวพื้นเมืองอเมริกัน (อินเดียนแดง) คนแรกที่ถูกตั้งเป็นนักบุญ เธอได้รับฉายาว่า
"ดอกลิลลี่แห่งเผ่าโมฮ็อก" แม้จะมีอุปสรรคและได้รับการต่อต้านจากคนในเผ่าแต่เธอก็ดำเนิน
ชีวิตศักดิ์สิทธิ์และเปี่ยมด้วยคุณธรรม

กาเตรีเกิดในปี ๑๖๕๖ ที่เขต Auriesville รัฐนิวยอร์ก มารดาเป็นสตรีเผ่า Algonquin และเป็น
คริสตชนส่วนบิดาเป็นหัวหน้าเผ่าโมฮ็อก ตอนเธอยังเล็กไข้ทรพิษได้แพร่ระบาดในชุมชน
บิดามารดาของเธอเสียชีวิต เธอรอดมาได้โดยมีรอยแผลเป็นบนใบหน้าและสายตาที่บกพร่อง
ลุงของเธอผู้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าเผ่าได้รับเธอเป็นลูกบุญธรรม และพวกป้าๆ ได้วางแผนเตรียมการ
แต่งงานให้เธอตั้งแต่ยังเล็ก

ปี ๑๖๖๗ มีพระสงฆ์เยสุอิต ๓ คนมาเยี่ยมหมู่บ้าน และพักในกระโจมกับลุง พวกเขาได้พูดเรื่อง
พระเยซูกาเตรีได้รับฟังด้วยและแม้เธอจะไม่ได้ขอรับศีลล้างบาป แต่ในใจเธอเชื่อถึงพระเยซูด้วย
ความแน่วแน่อย่างน่าประหลาด เธอยังรู้แก่ใจตนด้วยว่าเธอถูกเรียกให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกับ
พระเจ้าในฐานะพรหมจารีย์

กาเตรีต้องดิ้นรนอย่างยากลำบากเพื่อรักษาความเชื่อของเธอไว้ในท่ามกลางการต่อต้านของคน
ในเผ่าพวกเขาเย้ยหยันสิ่งที่เธอเชื่อและโดดเดี่ยวเธอเพราะเธอปฏิเสธที่จะแต่งงานตามแผนที่
เตรียมไว้ให้ เมื่อเธออายุ ๑๘ ปี คุณพ่อ Jacques de Lamberville กลับมาเยี่ยมหมู่บ้านโมฮ็อก
และครั้งนี้เธอได้ขอรับศีลล้างบาป ชีวิตในหมู่บ้านโมฮ็อกทวีความรุนแรงและการประพฤติผิด
ทางเพศถือเป็นเรื่องธรรมดา เธอตระหนักว่าสภาพเช่นนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและทางเลือกของเธอ
ดังนั้นเธอจึงหนีออกไปอยู่ที่เมืองCaughnawaga ในควิเบกและที่นั่นเธอใช้ชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์และ
มีศรัทธาอย่างยิ่งต่อศีลมหาสนิท

ตลอดอายุขัยที่ไม่มากของเธอ กาเตรีทำพลีกรรมและสวดภาวนาเป็นประจำ กล่าวกันว่าเธอได้บรรลุถึง
ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในระดับสูงและมีอัศจรรย์หลายอย่างเกิดขึ้นในชีวิตเธอ กาเตรีเสียชีวิต
ในวันที่ ๑๗ เมษายน ๑๖๘๐ ด้วยวัยเพียง ๒๔ ปี มีพยานยืนยันว่าหลังการตายไม่กี่นาทีรอยแผลจาก
ไข้ทรพิษได้จางหายหมดสิ้น และใบหนาเธอเปล่งประกายเรืองรองงดงาม ความศรัทธาต่อกาเตรีมีขึ้น
ทันทีที่เธอเสียชีวิต ร่างของเธอถูกฝังใน Caughnawaga และมีผู้แสวงบุญจำนวนมากมาเยือนทุกปี

พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ ประกาศตั้งเธอเป็นบุญราศีในปี ๑๙๘๐
และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๐๑๒ โดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ ๑๖

…………………………………

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม

นักบุญคามิลโล เดอ เลลลิส
St. Camillus de Lellis

คามิลโล เดอ เลลลิส (ค.ศ.๑๕๕๐-๑๖๑๔) เป็นผู้ก่อตั้งคณะนักบวชคามิลเลียน ท่านเป็นนักบุญองค์
อุปถัมภ์ของโรงพยาบาล (ร่วมกับนักบุญยอห์นแห่งพระเจ้า) ของพยาบาลและคนป่วย

คามิลโลเกิดที่เมือง Bucchioanico ประเทศอิตาลี เมื่ออายุ ๑๗ ปีท่านเข้าร่วมกองทัพรบสู้กับพวกเติร์ก
ท่านติดเชื้อที่รักษาไม่หายที่ขา ในปี ๑๕๗๔-๗๕ คามิลโลสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะการพนัน ท่านเกิด
ประสบการณ์กลับใจและสมัครเข้าคณะฟรังซิสกันแต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ท่านจึงเข้า
ทำงานในโรงพยาบาล San Giacomo ในโรม ที่ซึ่งท่านเคยเป็นผู้ป่วยที่นั่นมาก่อน คามิลโลดูแลเอาใจ
ใส่พวกคนป่วยที่เป็นโรคไม่อาจรักษาให้หายแต่ท่านตกใจกับสภาพย่ำแย่ของการดูแลคนป่วยของ
โรงพยาบาล ดังนั้นเอง ตามคำแนะนำของพ่อวิญญาณของท่านคือนักบุญฟิลิป เนรีคามิลโลจึงออกมา
ตั้งโรงพยาบาลของท่านเอง ท่านบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๕๘๔ และร่างพระวินัยที่เรียบง่ายสำหรับตัว
ท่านและผู้ช่วยที่อาสาดูแลเหยื่อโรคระบาด คนป่วยในโรงพยาบาล ที่บ้านและที่คุก

ในปี ๑๕๙๑ คณะได้รับการรับรองและเปิดบ้านใหม่ที่เมืองเนเปิล คามิลโลและเพื่อนอีก ๒๕ คนได้เพิ่ม
ข้อปฏิญาณตนพิเศษอีกประการหนึ่งคือ "จะดูแลผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยเฉพาะผู้เจ็บป่วย
เพราะโรคระบาด" เครื่องแบบของสมาชิกในคณะเป็นสีดำ มีไม้กางเขนสีแดงขนาดใหญ่บนหน้าอกเสื้อ
ในปี ๑๕๙๕ และ ๑๖๐๑ สมาชิกบางคนในคณะได้ช่วยเหลือผู้รับบาดเจ็บในการรบที่ฮังการีและโครเอเชีย
ซึ่งเป็นบันทึกแรกสุดของการมีหน่วยพยาบาลในสงคราม

คามิลโลเสียชีวิตที่โรมในวันที่ ๑๔กรกฎาคม ๑๖๑๔ ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๗๔๖

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.ย. 06, 2022 8:50 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม
นักบุญโบนาเวนตูรา นักปราชญ์ของพระศาสนจักร
St. Bonaventure, Doctor of the Church

โบนาเวนตูรา (ค.ศ.๑๒๒๑-๗๔) มีฉายาว่านักปราชญ์เทวดา ท่านเป็นนักเทววิทยาที่ยิ่งใหญ่
ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร ท่านได้รับการยกย่องว่า
เป็นผู้ก่อตั้งคณะฟรังซิสกันคนที่สอง

โบนาเวนตูราเกิดในครอบครัวขุนนางใกล้เมือง Orvieto มีชื่อว่า Giovanni de Fidanza
ท่านเข้าคณะฟรังซิสกันในปี ๑๒๔๓ และได้รับศาสนนามว่าโบนาเวนตูรา พรสวรรค์ด้านสติปัญญา
ของท่านเป็นที่ประจักษ์ในไม่ช้า ท่านถูกส่งไปศึกษาที่ปารีสกับนักเทววิทยาชาวฟรังซิสกันที่
มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งคือAlexander แห่ง Hales โบนาเวนตูราได้เป็นอาจารย์ของสำนักศึกษาของ
คณะฟรังซิสกันในปารีสในปี ๑๒๕๓ แนวคิดทางเทววิทยาของท่านสืบสายนักบุญออกัสตินมากกว่า
อริสโตเติ้ล ท่านเน้นเรื่องความรักยิ่งกว่าการใช้สติปัญญาหาเหตุผล สำหรับท่านแล้วเป้าหมาย
ของความรู้ของมนุษย์รวมทั้งเทววิทยาไม่ใช่เพื่อคิด แต่เพื่อให้รัก

ในปี ๑๒๕๗ เมื่อโบนาเวนตูราอายุ ๓๖ ปีท่านได้รับเลือกเป็นมหาอธิการของคณะฟรังซิสกัน
ท่านผดุงรักษาอุดมคติของคณะอย่างเข้มแข็ง แต่ท่านก็มีสิ่งที่ต่างไปจากนักบุญฟรังซิส
โดยท่านเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเล่าเรียน และดังนั้น จำเป็นต้องครอบครองหนังสือ
และมีอาคาร ท่านยืนยันให้สมาชิกคณะปฏิบัติตามจิตตารมณ์ฟรังซิสกันในขณะที่ทำหน้าที่สอน
ในมหาวิทยาลัย ทำงานเทศน์สอน แนะนำชีวิตจิต และในทุกภารกิจ ท่านดำเนินชีวิตเรียบง่ายและ
เคร่งครัด ท่านต้องรับตำแหน่งสังฆราชอย่างไม่เต็มใจและมีบทบาทผู้นำในการประชุมสังคายนา
เมืองลียงครั้งที่ ๒ ในปี ๑๒๗๔

ท่านเสียชีวิตที่เมืองลียงในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๑๒๗๔
ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญในปี ๑๔๘๒
และถูกประกาศเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรในปี ๑๕๘๘

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.ย. 06, 2022 8:50 pm

:s002: :s002:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 17, 2023 9:21 pm

:s002: :s002:
ตอบกลับโพส