เรื่องดีๆ จากหนังสือสรรสาระ (ชุดที่ 13 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ค. 02, 2022 6:39 pm

😊อีกฟากของผืนฟ้า ตอนที่ ( 1 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดย ฟาราห์ อาห์เมดี
(Farah Ahmedi) ร่วมกับ Tamim Ansary และจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ฟาราห์ อาห์เมดี เกิดปี 2530 ในกรุงคาบูล อัฟกานิสถาน เรื่องราวชีวิตของเธอเป็นยิ่งกว่านวนิยาย
เรื่องของเธอชนะการแข่งชันในรายการ “Good Morning America's Story of My Life” ในปี 2548
ชะตาชีวิตของฉันถึงจุดพลิกผันเมื่อโรงเรียนเพิ่งเปิดเทอมได้ไม่กี่วันในปี 2537 ฉันตื่นนอนราว 8 โมงเช้า
วันนั้นขณะที่ทุกคนในบ้านยังนอนอุตุกันอยู่ ฉันเป็นเด็กอายุ 7 ขวบชั้นประถม 2 ชอบไปโรงเรียนมาก
เพราะครูมีเรื่องสนุก ๆ มาเล่าให้นักเรียนฟังทุกวัน

ฉันได้เรียนรู้โลกภายนอกที่กว้างกว่าแถว ๆ บ้าน ไกลกว่ากรุงคาบูลบ้านเกิด ทุกวัน ฉันเฝ้ารอว่าครูจะ
สอนเรื่องอะไร เช้าวันนั้น ความกระตือรือร้นก็เร่งเร้าให้ฉันประมาทจนเดินไปสู่ความหายนะ
พอย่างเท้าออกจากบ้าน ฉันคิดว่าวันนี้จะไปทางลัด เพราะถ้าเดินตัดป่าละเมาะก็จะถึงโรงเรียนเร็วขึ้น
อีกหน่อย ฉันจึงเลือกเดินทางนี้
ทันใดนั้น ฉันรู้สึกมีเปลวไฟแปลบเข้าที่ใบหน้า พร้อมกับดินที่เหยียบอยู่เคลื่อนตัวอย่างรุนแรง ตามมา
ด้วยเศษดินที่สาดเข้าใส่ราวกับห่าฝน จากนั้นก็จำอะไรไม่ได้เลย...

รู้ตัวอีกทีก็พบว่าตัวเองนอนอยู่ในโรงพยาบาลท้องถิ่นที่แทบไม่ได้รักษาอะไรให้เลยนอกจากใช้
แอลกอฮอล์เทใส่แผลที่น่ากลัว และเจ็บปวดแสนสาหัส ญาติพี่น้องทุกคนรายรอบเตียงที่ฉันนอนอยู่
แต่ไม่มีใครปริปากบอกว่าเกิดอะไรขึ้น

วันต่อมา ฉันรวบรวมความกล้าก้มลงดูขา 2 ข้าง จึงเห็นว่าขาแปรสภาพเป็นแผลเหวอะหวะ ถึงตอนนี้
ญาติ ๆ จึงพูดขึ้นว่า

“หนูเหยียบกับระเบิด”

ฉันพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในคาบูล 40 วัน ระหว่างนั้น หมอใจดีกับฉันมาก แต่ก็รักษาได้
ตามมีตามเกิด เพราะไม่มียา อุปกรณ์ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นใด ๆ เนื่องจากก่อนหน้านั้น
ประเทศอัฟกานิสถานอยู่ในภาวะสงครามหลายปี เริ่มจากกองทัพรัสเซียรุกรานในปี 2522 และจัดตั้ง
กลุ่ม ”มูจาฮีดีน” ที่พยายามควบคุมกรุงคาบูล หลังจากรัสเซียถอนกำลังออกไปในปี 2532 รัฐบาล
ใช้เวชภัณฑ์ทุกอย่างจนหมดเกลี้ยง และไม่มีเงินไปซื้อของใหม่จากต่างประเทศมาทดแทน

ทุก 3 เดือนจะมีองค์กรด้านมนุษยธรรมจากเยอรมนีมาที่คาบูลเพื่อคัดเลือกผู้ป่วยเด็กจำนวนหนึ่ง
ไปรักษาที่เยอรมนี คณะแพทย์ที่รักษาฉันบอกพ่อแม่ว่า “เราไม่สามารถรักษาฟาราห์ได้ อนุญาต
ให้คนเยอรมันพาตัวลูกสาวคุณไปรักษาเถอะ นี่คือโอกาสรอดครั้งสุดท้ายของเด็ก”

พอได้ยินคำพูดของหมอ ฉันรู้สึกกลัวมาก ตอนนั้นฉันแค่ 7 ขวบ ฉันจึงบอกว่า “หนูไม่ยอมไปคนเดียว
ต้องให้แม่ไปด้วย”

หมอใจดีมาพูดกับฉันสองต่อสองว่า “ไปกับคนเยอรมันเถอะ เพราะเขาจะได้รักษาขาของหนู
ให้หาย พอกลับมา หนูจะได้ใส่รองเท้าส้นสูงเดินไปเดินมา”

พอเจ้าหน้าที่เยอรมันมาถึง หมอใจดีก็ชี้มาที่ฉันพร้อมกับบอกว่า “รายนี้อาการหนักที่สุด”
ฉันรู้สึกโชคดีที่ได้รับเลือก หมอเยอรมันจะรักษาฉันให้หาย
แล้วฉันก็จะได้ใส่รองเท้าส้นสูงสมดังที่ใฝ่ฝัน

โปรดติดตามตอนที่ (two) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 04, 2022 2:27 pm

😍อีกฟากของผืนฟ้า ตอนที่ ( 2 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดย ฟาราห์ อาห์เมดี
(Farah Ahmedi) ร่วมกับ Tamim Ansary และจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)เดียวดายในต่างแดน

เจ้าหน้าที่ชาวเยอรมันพาเด็กชาวอัฟกันไปรักษาที่เยอรมนีทั้งหมดราว 30 คนรวมทั้งฉันด้วย
พอไปถึงโรงพยาบาล ก็สายเกินไปแล้วที่จะรักษาขาของเธอได้เนื่องจากติดเชื้อจนแผลเริ่มเน่า
ขาข้างซ้ายถูกตัดต่ำกว่าหัวเข่า ส่วนข้างขวามีการใช้แท่งโลหะเจาะเข้าไปในเนื้อกระดูกทั้งสอง
ท่อนเพื่อดามกระดูกต้นขาให้ติดกับกระดูกหน้าแข้งและอยู่ในสภาพนี้คืองอขาข้างนี้ไม่ได้อีก
ต่อไป เพราะไม่มีหัวเข่า

แต่หลังผ่าตัดรอบแรกได้ไม่นาน หมอก็นำฉันกลับเข้าห้องผ่าตัดอีกครั้งแล้ววางยาสลบ
ฉันไม่รู้เลยว่าหมอทำอะไรบ้าง รู้แต่ว่าหายปวดเหมือนปลิดทิ้ง ฉันเริ่มนึกภาพตัวเอง
กำลังกลับบ้าน ฉันจะทำท่าอย่างไรดีหนอตอนกระโดดลงบันไดเครื่องบิน แล้วจะวิ่งตัดลานบิน
โผเข้าหา ครอบครัวแบบไหนดี บางทีญาติพี่น้องอาจเตรียมรองเท้า(ส้นสูง)ไว้ให้ฉันก็ได้ ขอให้
เป็นสีแดงเถอะ

ฉันเริ่มร้องไห้ เพราะก่อนหน้านี้ฉันเฝ้าฝันหวานตามที่หมอในอัฟกานิสถานล่อหลอกเรื่องรองเท้า
ส้นสู นิทานของหมอทำให้ฉันมีกำลังใจสู้ต่อไป
ในตอนนั้น... ฉันร้องไห้ทุกคืน จนคืนหนึ่งน้ำตาของฉันก็ไปกระทบจิตใจของผู้หญิงคนหนึ่งที่มา
เยี่ยมลูกชายซึ่งนอนป่วยอยู่ในห้องข้าง ๆ บังเอิญเธอได้ยินเสียงสะอื้นไห้ของฉันจึงถามพยาบาลว่า
เกิดอะไรขึ้นกับฉัน พอรู้ว่าฉันมาจากอัฟกานิสถานและไม่มีญาติอยู่ในเยอรมนี เธอก็แวะมาที่ห้อง
เพื่อปลอบโยน คืนต่อมา หลังเยี่ยมลูกชายเสร็จ เธอแวะมาเยี่ยมฉันอีก หลังจากนั้นก็แวะมาเสมอ
จนกลายเป็นกิจวัตร

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา หมออนุญาตให้ลูกชายเธอกลับบ้าน แต่น้าคนนั้นผู้มีชื่อว่า “คริสตินา” ก็ยังแวะ
มาหาฉันที่โรงพยาบาลเป็นประจำพร้อมกับของฝากมากมาย เช่น ของเล่น ดอกไม้ การ์ดอวยพร
และลูกกวาด แถมยังหาอุปกรณ์ทำงานศิลปะมาให้ฉันด้วย เราสองคนช่วยกันวาดรูป น้าคริสตินา
เป็นช่างตัดเสื้อฝีมือดี จึงตัดเสื้อผ้าให้ฉัน เมื่อฉันแข็งแรงขึ้น น้าก็พาไปกินอาหารเย็นที่บ้าน

หนึ่งปีครึ่งผ่านไป ฉันแข็งแรงพอจะกลับอัฟกานิสถานได้ ถึงตอนนี้ ฉันเริ่มคุ้นกับขาเทียมจนเดิน
ได้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังส่งฉันกลับไม่ได้ เพราะสงครามทั้งในและรอบกรุงคาบูลรุนแรงขึ้นจน
เครื่องบินลงจอดไม่ได้ ดังนั้น ฉันจึงถูกส่งตัวไปอยู่ที่บ้านพักชั่วคราวพร้อมกับเด็กอีกหลายคน
เพื่อรอส่งตัวกลับบ้าน

น้าคริสตินาพาฉันไปที่บ้านบ่อย ๆ ทำให้ฉันได้รู้จักชีวิตของเธอมากขึ้น ฉันพูดภาษาเยอรมัน
ได้ดีพอสมควรแล้ว เราจึงคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ได้มากขึ้น ในใจฉันเฝ้าบอกตัวเองว่า ดูความทันสมัย
ของเมืองนี้สิ ผู้หญิงที่นี่ช่างมีอิสระจนน่าอิจฉา พวกเธอได้ไปโรงเรียน ไปทำงาน อยากทำงานอะไรก็ได้
ผู้คนต่างก็มีน้ำใจและอยู่ด้วยกันอย่างสันติ

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 04, 2022 2:38 pm

🤟อีกฟากของผืนฟ้า ตอนที่ ( 3 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดย ฟาราห์ อาห์เมดี
(Farah Ahmedi) ร่วมกับ Tamim Ansary และจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ใจหนึ่งฉันไม่อยากกลับไปอัฟกานิสถาน แต่ก็คิดถึงครอบครัวใจจะขาด อารมณ์สองขั้วต่อสู้กัน
อยู่ในจิตใจ ทันใดนั้นก็มีข่าวว่าทหารเลิกถล่มกรุงคาบูลแล้ว เจ้าหน้าที่บอกให้พวกเราเก็บของ
อีกครั้ง...ฉันกำลังจะกลับบ้าน

(+)เป็นคนแปลกหน้าในบ้านเกิด

2ปีในเยอรมันทำให้ฉันเปลี่ยนไปมาก วิถีชีวิตของครอบครัวฉันกลายเป็นความล้าหลัง ฉันยัง
สวมเสื้อผ้าที่ติดตัวมาจากเยอรมนี ตราบใดที่ฉันยังสวมเสื้อผ้าพวกนั้นอยู่ก็แสดงว่าฉันไม่ใช่.
“ส่วนหนึ่ง”ของสังคมล้าหลังที่นี่ แน่นอนที่สุด เมื่อฉันทำตัวแปลกแยกจากสังคมอัฟกานิสถานก็
เท่ากับทำตัวเหินห่างครอบครัวด้วย แต่ไม่มีใครมองฉันในแง่ลบ ตรงกันข้าม ญาติพี่น้องทุกคน
ช่วยกันดูแลฉันอย่างดี ฉันรู้ดีว่าทุกคนทำเพราะความรัก แต่ฉันมองเห็นว่า ลึก ๆ แล้วพวกเขา
เวทนาตัวฉัน

สงครามในคาบูลปะทุขึ้นอีกครั้ง ยามดึกขณะฉันนอนหลับสบาย จะมีคนมาเคาะประตูเรียก
“ตื่นเร็ว ๆ ไปรวมกันที่ห้องน้ำเดี๋ยวนี้” นี่คือสถานที่ปลอดภัยที่สุด จรวดถล่มเมืองทุกคืนอย่างน้อย
ก็คืนละครั้ง

แม้บ้านเมืองจะตกอยู่ในสภาวะสงครามรุนแรงขนาดนี้ แต่พ่อก็ยังไปทำงานที่ร้านตัดเสื้อทุกวัน
ทุกครั้งที่เราเห็นพ่อย่างเท้าออกจากบ้าน หัวใจจะหล่นวูบไปไหนก็ไม่รู้ ทุกคนจะรออย่างกระวน
กระวายจนกว่าพ่อจะกลับบ้านหลังฟ้ามืดแล้ว

ฉันปรับตัวให้เข้ากับชีวิตแบบนี้ไม่ได้ จึงพูดกับพ่อว่า “หนูไม่อยากมีชีวิตแบบนี้ หนูอยากไปจาก
อัฟกานิสถาน” จากนั้นก็เล่าถึงสิ่งที่ได้ไปเห็นมาทั้งหมดในเยอรมนี

“ลูกรัก โลกของเราอยู่ที่นี่ เราต้องทำให้ดีที่สุด” พ่อพูด เวลาว่าง พ่อจะสอนให้ฉันเย็บผ้า เพราะ
หวังว่า งานตัดเย็บคงช่วยให้ฉันเบี่ยงเบนความสนใจออกจากภาวะสงครามรอบตัว พอโตขึ้น
เมื่อมอง ย้อนกลับไปสู่ชีวิตช่วงนี้ ฉันก็ดีใจที่ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายจากประสบการณ์เลวร้าย
เหล่านั้น

หลังกลับบ้านได้ 4 เดือน ฉันยังคงสวมเสื้อผ้าที่ติดตัวมาจากเยอรมนี จนวันหนึ่ง ฉันเดินตรงเข้า
ไปบอกพ่อว่า

“ต่อไปนี้ หนูจะเลิกสวมเสื้อผ้าของเยอรมัน แล้วหันมาแต่งตัวแบบผู้หญิงอัฟกันเหมือนเดิม”

“เดี๋ยวพ่อจะตัดให้ใหม่เป็นโหลเลย”
พ่อพูดด้วยความดีใจ

ฉันไปตลาดนัดพร้อมแม่และพี่ชายกับน้องชาย เราเลือกซื้อผ้าตลอดช่วงเช้า เมฆหมอกในจิตใจ
ฉันเริ่มคลี่คลายแล้ว พร้อมรับความสดใสที่จะเข้ามาแทนที่

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 04, 2022 3:05 pm

😋อีกฟากของผืนฟ้า ตอนที่ ( 4 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดย ฟาราห์ อาห์เมดี
(Farah Ahmedi) ร่วมกับ Tamim Ansary และจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)สูญเสียอีกครั้งหนึ่ง

เรากลับบ้านด้วยความเบิกบานใจ แต่พอถึงหัวถนนที่ทอดตัวไปยังหน้าบ้านของเรา​ ก็เห็น
ชาวบ้านกลุ่มใหญ่วิ่งกรูไปยังจุดที่บ้านเราตั้งอยู่ เราพยายามแหวกฝูงชนเข้าไปด้านใน
ปรากฏว่าบ้านเราถูกจรวดถล่มอย่างจัง มองไปอีกทีก็เห็นร่างไร้วิญญาณ ผู้เห็นเหตุการณ์
ใช้ผ้าคลุมศีรษะกับผ้าห่มคลุมศพของพ่อและบรรดาพี่สาวของฉันไว้ ฉันจึงไม่เห็นศพอย่าง
ชัดเจน แต่ดูจากเค้าโครงก็รู้ว่าใครเป็นใคร

ฉันยืนนิ่งเหมือนถูกสาป น้ำตาไหลย้อนเข้าไปในอก
ตรงข้ามกับแม่ซึ่งกระชากผ้าคลุมศีรษะออกแล้วลงมือทึ้งผมของตัวเอง ผู้หญิงที่ยืนมุงอยู่กรู
กันเข้ามาช่วยยึดมือแม่ไว้ไม่ให้ทำร้ายตัวเอง แต่แม่ดิ้นรนอย่างสุดแรง นัยน์ตาว่างเปล่า
เหมือนคนถูกผีเข้า 3-4 วันหลังจรวดสังหารพ่อและพี่ ๆ ของฉันเกือบยกครัว กองกำลังของ
กลุ่มมูจาฮีดีนก็ล่าถอยจากคาบูลขึ้นไปทางเหนือ ปล่อยให้กลุ่มตาลีบันเข้าควบคุมสถานการณ์
ทหารกลุ่มตาลีบันเป็นชายหนุ่มไว้หนวดเคราเฟิ้ม ใจคอโหดเหี้ยม
ขณะนั้นเป็นเดือนกันยายน 2539 เมื่อบ้านเมืองตกอยู่ในความวุ่นวาย จึงไม่มีใครมีกะจิตกะใจ
ช่วยจัดงานศพให้พ่อและพี่ ๆ ของฉัน ผู้ชายกลุ่มหนึ่งรุดมาที่บ้านเรา แล้วหามศพทั้งหมดไปจัด
การฝังอย่างลวก ๆ ที่สุสาน ไม่มีการสวดหรือพิธีสรรเสริญพ่อและพี่ ๆ ของฉันเป็นครั้งสุดท้าย
แต่อย่างใด

เราได้ยินเสียงของกลุ่มตาลีบันครั้งแรกทางวิทยุขณะประกาศกฏเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ห้ามผู้หญิง
ออกนอกบ้านตามลำพังโดยไม่มีญาติผู้ชายไปด้วยโดยเด็ดขาด และแม้จะมีญาติผู้ชายตาม
ไปด้วย เวลาอยู่นอกบ้าน ผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า หลังจากนั้น
เราเริ่มเห็นสมาชิก ของกลุ่มตาลีบันเดินเพ่นพ่านอยู่ทั่วเมือง พวกเขาดูดุร้ายและแปลกแยก
เหมือนหลุดออกมาจากอีกโลก
ตอนนี้ ครอบครัวของเราเหลือกัน 4 คน คือ แม่ พี่ชายกับน้องชาย และตัวฉัน พวกเราย้ายไป
อยู่กับลุง แต่อยู่ได้ 2 สัปดาห์ก็อึดอัดจนต้องย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านซึ่งพังยับเยินพออาศัยซุกหัว
นอนตามห้องที่เหลือ ทั้งที่ตอนนั้นอากาศหนาวมาก พี่กับน้องชายต้องช่วยกันตอกประตูปิดหน้า
ต่างอย่างเร่งด่วน พอตอกเสร็จสภาพในห้องก็มืดมาก แต่เรากลัวมืดไม่เท่ากลัวหนาว

หลังพ่อจากไปราว 1 เดือน กลุ่มตาลีบันก็ประกาศว่า กองทัพต้องการทหารเพิ่ม ทุกครอบครัว
ที่มีลูกชายต้องเสียสละให้ทางการ ถึงตอนนี้ พวกเราเริ่มเห็นตัวตนที่แท้จริงของกลุ่มตาลีบัน
นั่นคือพวกนี้จงเกลียดจงชังชนกลุ่มน้อย”ฮาซารัส”เป็นพิเศษ ซึ่งรวมถึงครอบครัวของฉันด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าระหว่างการเกณฑ์ทหาร ถ้าพวกเขาเห็นเด็กชายชาวฮาซารัสก็อาจลงมือสังหาร
ได้ดื้อ ๆ แทนที่จะเกณฑ์ไปเป็นทหาร

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.ค. 06, 2022 11:21 pm

😉อีกฟากของผืนฟ้า ตอนที่ ( 5 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดย ฟาราห์ อาห์เมดี
(Farah Ahmedi) ร่วมกับ Tamim Ansary และจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เพื่อนบ้านของเราก็มีลูกชายเหมือนกัน ชาวบ้านแถวนี้เป็นพวกฮาซารัสเกือบทุกคน ดังนั้นคืนหนึ่ง
พวกเราจึงรวมตัวหารือกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ มีคนเสนอให้เด็กผู้ชายหนีไปที่ปากีสถาน
เมื่อไม่มีทางอื่น คนต้นคิดเสนออีกว่า “ควรให้เด็ก ๆ ไปพร้อมกันทีเดียว เพราะระหว่างทางจะได้
ดูแลกัน คนโตกว่าจะได้คุ้มครองคนที่เล็กกว่าด้วย”

บรรดาเพื่อนบ้านมีเงินให้ลูก ๆ ติดตัวคนละเล็กละน้อยเท่านั้น ขณะแม่ฉันยังพอมีทองรูปพรรณอยู่บ้าง
จึงวานให้เพื่อนบ้านช่วยนำไปขายในตลาด เมื่อได้เงินมา แม่ก็ส่งให้ลูกชายทั้งสองคนคือมาห์มูด
วัย 16 และกายูสวัย 9 ขวบ แม่สวมกอดลูกชายทั้งสอง ฉันเองก็กอดพี่กับน้องแน่นไม่แพ้กัน พวกเรา
ได้แต่ร้องไห้ จากนั้นช่วยกันประกอบพิธีบางอย่างขณะที่ทั้งสองก้าวเท้าออกจากบ้าน พี่ชายจูงมือ
น้องเดินไปสมทบกับลูกชายของเพื่อนบ้าน... ฉันไม่เคยพบหน้าพี่น้องสองคนนี้อีกเลย

(+)ข้ามพรมแดน

วันหนึ่ง เราได้รับจดหมายที่นักเดินทางถือมาส่งให้ น่าเสียดายที่ไม่ได้ส่งมาจากพี่ชายกับน้องชาย
ที่จากไป แต่มาจากลูกพี่ลูกน้องของแม่ที่เมืองเกตตา (Quetta)
ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคาบูลในพรมแดนของประเทศปากีสถาน ญาติผู้นี้ได้ข่าวว่า พ่อฉันเสียชีวิตและ
ครอบครัวเรากำลังเข้าตาจน จึงเร่งให้เราหาทางข้ามพรมแดนไปอยู่กับเธอ

เรารวบรวมของมีค่าที่เหลืออยู่ทั้งหมดใส่ห่อผ้าแล้วนั่งรถโดยสารมุ่งหน้าไปทางเมืองจาลาลาบัด
(Jalalabad) ทางตะวันออกของกรุงคาบูล ก่อนถึงชายแดนราวครึ่งกิโลเมตร คนขับก็ไล่ผู้โดยสารลง
วันนั้นมีคนต่อแถวข้ามพรมแดนยาวเหยียดไปตามแนวถนน ประเมินด้วยสายตาแล้วมีหลายร้อย
ครอบครัว ประตูฝั่งปากีสถานยังปิดอยู่ ฉันสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่ตรงประตูไม่ยอมให้ใครผ่านไปได้
แม้แต่คนเดียว คนที่เข้าแถวเริ่มดันไปข้างหน้าจนเจ้าหน้าที่ต้องใช้กระบองดันกลับมา บางครั้งก็
ทุบด้วยด้ามปืนไรเฟิล โอกาสที่ครอบครัวเราจะได้เข้าไปใกล้ประตูเท่ากับศูนย์
ใกล้ค่ำเข้าทุกที เราสองแม่ลูกตกค้างอยู่กลางทะเลทราย แต่อย่างน้อยอากาศไม่หนาว และเรา
ไม่ได้ตกค้างตามลำพัง คนที่รอเหมือนกันอีกหลายร้อยคนนั่งอยู่บนพื้นทราย ล้วนแต่เป็นชาวบ้าน
ผู้บริสุทธิ์ที่หมดหนทางดิ้นรน ไม่มีใครคิดทำร้ายใครแน่ ๆ

ในวันที่สอง ฉันทราบว่าจะข้ามพรมแดนได้ก็ต้องติดสินบนเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่เราต้องเก็บเงินเล็กน้อย
ที่มีอยู่เป็นค่าเดินทางต่อไปยังเมืองเกตตา คืนนั้น เราบังเอิญได้คุยกับหญิงใจดีซึ่งบอกเราว่า ‘อาลี’
สามีของเธอมีหนทางข้ามพรมแดนอีกวิธีหนึ่ง คือการเดินไปตามเส้นทางของแพะซึ่งต้องข้ามเขา
อีกหลายลูกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของด่าน รวมระยะทางหลายกิโลเมตร “หนูกับแม่ไปกับ
ครอบครัวเราก็ได้” หญิงผู้นั้นชวน
คืนต่อมา พวกเราตื่นนอนก่อนฟ้าสาง ละหมาดเช้าตามปกติเสร็จก็ตามครอบครัวของอาลีไป
หลังจากเดินบนทางเรียบได้หลายกิโลเมตร ทางข้างหน้าเริ่มชันขึ้น แม่หายใจขัดเพราะโรคหอบหืด
ทำให้เราต้องพักกันบ่อย ครั้งละหลายนาที การเดินทางจึงกินเวลาหลายชั่วโมง ทุกครั้งที่มองย้อน
ไปถึงเหตุการณ์ตอนนี้ ฉันรู้สึกประหลาดใจที่ตัวเองเดินขึ้นเขาได้อย่างง่ายดายจนสามารถข้ามเขา
ลูกนั้นไปได้ คงเป็นเพราะอาการป่วยของแม่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของฉันไปจากสุขภาพของ
ตัวเองก็ได้

อาลีเป็นคนดีมาก ทั้งอดทนและเมตตาต่อพวกเรา ทันทีที่ย่างเท้าลงบริเวณเชิงเขาอีกด้าน
เขาก็บอกว่า ตอนนี้เราอยู่ในเขตปากีสถานแล้ว ทุกคนเริ่มหัวเราะออกมาจนหยุดไม่ได้ หัวใจเต็ม
เปี่ยมด้วยความสุข ไม่รู้หรอกว่า อนาคตจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง แต่อย่างน้อย
ในขณะนี้ก็ได้สัมผัสกับความสุขที่สุด

โปรดติดตามตอนที่ ( 6 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.ค. 06, 2022 11:27 pm

🙄อีกฟากของผืนฟ้า ตอนที่ ( 6 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดย ฟาราห์ อาห์เมดี
(Farah Ahmedi) ร่วมกับ Tamim Ansary และจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)ค่ายผู้อพยพ

เราหาทางไปถึงเกตตาจนได้ แล้วอาศัยอยู่กับญาติของแม่หนึ่งปีเต็มในบ้านหลังเล็กและอยู่กัน
อย่างแออัด แต่โชคดีที่มีโทรศัพท์ อาลีให้ที่อยู่เราไว้ เราจึงเขียนจดหมายไปหาเขาพร้อมกับ
ให้เบอร์โทรศัพท์ของเราเผื่อว่าวันหนึ่งเขาบังเอิญพบพี่ชายและน้องชายของฉัน แต่อาลีก็ไม่เคย
ติดต่อกลับมาเลย
หลังจากนั้น เราเริ่มรู้สึกว่าสภาพความเป็นอยู่แออัดจนทนไม่ไหวแล้ว เราจึงตัดสินใจไปขอความ
ช่วยเหลือจากสหประชาชาติซึ่งตั้งศูนย์รับผู้อพยพอยู่นอกเมืองเกตตา ในค่ายมีเต็นท์ปลูกติดกัน
เป็นพืด ในที่สุด ฉันกับแม่ก็ได้เต็นท์เป็นของตัวเอง พอถึงฤดูหนาว อุณหภูมิลดลงอย่างฮวบฮาบ
ตามมาด้วยเสียงลมพัดหวีดหวิว ทุกวันฉันกับแม่ได้แต่นั่งอยู่ในเต็นท์ ร่างกายห่อหุ้มด้วยผ้าห่มผืน
บาง ๆ ฉันเฝ้าดูแม่ผ่ายผอมลงเรื่อย ๆ พร้อมกับเลือดฝาดที่เคยมีบ้างก็ค่อย ๆ จางหายไป ขณะที่
อาการไอของแม่เริ่มน่ากลัวขึ้นทุกวัน

ฉันรับจ้างเย็บผ้าเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่รายได้ก็หมดไปกับการพาแม่ไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการ
หอบหืด อย่างไรก็ตาม พวกเรารอดชีวิตอยู่ในเต็นท์แบบนี้ได้นานถึงหนึ่งปี แต่พอย่างเข้าฤดูหนาว
ปีที่สอง สุขภาพของแม่ย่ำแย่จนฉันเริ่มเห็นว่า ถ้าไม่ย้ายกลับเข้าไปในเมือง แม่จะต้องเสียชีวิตก่อน
สิ้นฤดูหนาวอย่างแน่นอน

ฉันตัดสินใจไปหาที่อยู่ในเมือง ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าฉันคงหางานทำไม่ได้ ใครที่ไหนจะจ้างเด็กผู้หญิง
อัฟกันขาพิการวัย 12 ปีทำงาน อย่างไรก็ตาม ในที่สุดมีครอบครัวใจดีเสนอให้ฉันกับแม่ทำงานแลก
อาหารและที่พัก

ฤดูหนาวปี 2543 ฉันกับแม่ย้ายออกจากค่ายสหประชาชาติ แล้วขนของเข้าไปอยู่ในห้องเล็ก ๆ ที่ใหญ่
กว่าห้องน้ำเล็กน้อย เราสองแม่ลูกต้องทำงานเยี่ยงทาสในบ้านหลังนั้น| ดูเหมือนว่าฉันต้องแบกรับ
ภาระทุกอย่างไว้คนเดียว

ฉันเริ่มโกรธพระเจ้า ดังนั้น คืนวันหนึ่งหลังจากทุกคนในบ้านหลับหมดแล้ว ฉันเดินออกไปที่ลาน
กลางบ้าน จากนั้นก็มองขึ้นไปบนท้องฟ้าที่มีดวงดาวพร่างพราย ซึ่งก็คือฟ้าผืนเดียวกับที่ฉันเคยมอง
ด้วยความพิศวงเมื่อตอนอยู่ชั้นประถมสองนั่นเอง ทันใดนั้นก็เกิดความรู้สึกอัศจรรย์ใจ เป็นความรู้สึก
ที่หลงลืมไปนาน
ฉันสื่อสารจากหัวใจถึงพระเจ้าโดยตรง “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โปรดนำข้าพระองค์ออกจากสถานการณ์
อันเลวร้ายเหล่านี้ด้วยเถิด ข้าพระองค์สละทุกอย่างที่มีอยู่ให้พระองค์หมดแล้ว ไม่มีการขัดขืนอีกต่อไป
ได้โปรดเมตตาข้าพระองค์ด้วยเถิด เพราะข้าพระองค์แบกรับความทุกข์อันหนักอึ้งเหล่านี้ต่อไปไม่ไหวแล้ว”

หลังจากนั้นไม่นาน ฉันก็ได้ข่าวว่าจะมีการรับผู้อพยพชาวอัฟกัน 1,000 คนจากปากีสถาน
เสียงในใจฉันบอกว่า นี่คือสัญญาณตอบรับจากพระเป็นเจ้า
ฉันกับแม่ต้องอยู่ในกลุ่ม 1,000 คนนี้แน่นอน”

โปรดติดตามตอนที่ ( 7 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ค. 07, 2022 7:33 pm

😘อีกฟากของผืนฟ้า ตอนที่ ( 7 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดย ฟาราห์ อาห์เมดี
(Farah Ahmedi) ร่วมกับ Tamim Ansary และจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)ทดสอบความศรัทธา

การเดินทางครั้งนี้ได้รับความสนับสนุนจากองค์กรบรรเทาทุกข์คริสเตียน “World Relief”
เราสองแม่ลูกไปยื่นความจำนงที่สำนักงานนอกเมืองพร้อมกับผู้อพยพกลุ่มใหญ่ที่มีแต่ผู้หญิง
และเด็ก แต่สถานการณ์ไม่เหมือนตอนไปต่อแถวที่ชายแดน เพราะทุกครั้งที่ประตูเปิดจะเห็น
ผู้อพยพ 2-3 คนได้เข้าไปด้านใน เจ้าหน้าที่ทยอยรับใบสมัครอย่างช้า ๆ ตามลำดับ

พอวันที่ 3 เราขยับไปด้านหน้าได้พอสมควร จู่ ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ผู้ชายชาวปากีสถานเดินออกมา
ประกาศว่า “วันนี้ เราจะพิจารณาผู้บาดเจ็บกับคนพิการเป็นลำดับแรก” ว่าแล้วเขาก็หันมามอง
หน้าฉันและพูดว่า “หนูคนนั้น เดินมาข้างหน้า” ฝูงชนต้องรีบเปิดทางให้เราสองแม่ลูก เมื่อเรา
เดินไปถึง เจ้าหน้าที่คนนั้นก็พูดว่า “เล่าเรื่องของหนูสิ”
ฉันเล่าให้เขาฟังตั้งแต่ตอนเด็กเมื่อเหยียบกับระเบิด ส่วนแม่พูดอะไรไม่ออก ได้แต่อ้าปากค้าง
เพราะความประหม่าและหวาดวิตกจนแทบยืนไม่ไหว “ตกลง เธอกับแม่เข้าไปข้างในได้”
พอเข้าไปด้านใน ฉันก็เห็นผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะ เขาเรียกให้เข้าไปใกล้ ๆ แล้วถามว่าเรา
สองแม่ลูกมาจากไหน ครอบครัวเรามีสมาชิกกี่คน เป็นใครบ้าง พอถามถึงตรงนี้ แม่เริ่มร้องไห้
ฉันจึงเป็นคนเล่าว่า ‘ตอนนี้เหลือเราสองคนแม่ลูก ส่วนคนอื่นไม่ตายก็หายสาบสูญไปหมดแล้ว’
เจ้าหน้าที่คนนั้นยื่นกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ซึ่งมีข้อความสั้น ๆ ใส่มือฉัน “หนูพาแม่ไปรับการสัมภาษณ์
ตามที่อยู่นี้” แต่ฉันอ่านหนังสือไม่ออก จึงขอให้เขาอ่านให้ฟังพร้อมกับถามว่าให้ไปเมื่อไร จากนั้น
ก็พยายามจำให้ขึ้นใจ

นี่คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการคัดกรองที่ทำให้เราสองแม่ลูกเหนื่อยแสนสาหัส ในที่สุด เราก็ได้
เดินทางไปกรุงอิสลามมาบัด (Islamabad) เพื่อไปที่สถานทูตสหรัฐฯ พอไปถึงก็เห็นสำนักงานโอ่อ่า
สดใส และพบกับเจ้าหน้าที่อเมริกันผมหงอกทั้งศีรษะนั่งอยู่หลังโต๊ะตัวใหญ่น่าเกรงขาม “ยินดีด้วย
คุณสองคนจะได้ไปสหรัฐฯ ตอนนี้กลับไปรอที่เกตตาก่อน แล้วสถานทูตจะติดต่อไปอีกที”

ผู้หญิงชาวปากีสถานแปลข้อความทั้งหมดให้เราฟังก่อนจะจดเบอร์โทรศัพท์บ้านญาติของแม่ไว้เพื่อ
ติดต่อเรา เราเดินทางกลับเกตตาพร้อมกับคิดว่าไม่น่าเชื่อเลยว่ากำลังจะได้ไปสหรัฐฯ
ขณะนั้นเป็นเดือนสิงหาคม 2544

โปรดติดตามตอนที่ ( 8 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ค. 08, 2022 11:32 pm

😏อีกฟากของผืนฟ้า ตอนที่ ( 8 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดย ฟาราห์ อาห์เมดี
(Farah Ahmedi) ร่วมกับ Tamim Ansary และจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)ความหวังพังทลาย

หลายสัปดาห์ต่อมา เราตื่นขึ้นมาเห็นข่าววินาศกรรมวันที่ 11 กันยายน 2544 เรารีบโทรศัพท์
ไปยังสำนักงานที่เมืองเกตตา เจ้าหน้าที่บอกว่า “เที่ยวบินไปสหรัฐฯ ทุกเที่ยวถูกยกเลิกหมด
ส่วนโครงการส่งผู้อพยพชาวอัฟกันไปสหรัฐฯ นั้นก็เลิกหวังได้” เพราะบิน ลาเดน ทำให้คำว่า
“อัฟกัน” แปลว่า “แดนก่อการร้ายไปแล้ว”

สัปดาห์ต่อมา สถานทูตโทรฯ มาแจ้งว่า “ตอนนี้ยังไม่มีการส่งผู้อพยพไปอเมริกาทั้งสิ้น
เราจะติดต่อไปอีกทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง”

ช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนวันที่ 11 กันยายน ชีวิตเราสองแม่ลูกเต็มไปด้วยความสุขและความหวัง
เหมือนดอกไม้บานยามเช้า แต่วันนั้น หลังจากคุยกับเจ้าหน้าที่สถานทูตแล้ว วางหูโทรศัพท์ลง
เราก็มีชีวิตแบบซังกะตาย ไม่สนใจสิ่งรอบตัวใด ๆ ทั้งสิ้น
แต่ลึก ๆ ลงไป ฉันยังไม่หมดหวังทีเดียว เพราะเชื่อมั่นว่า พระเจ้าไม่มีวันทอดทิ้งเราสองแม่ลูก
ฉันมั่นใจว่าพระองค์จะต้องช่วยพวกเราแน่นอน

(6) เดือนผ่านไปอย่างเชื่องช้า ย่างเข้าเดือนที่ (7) เราได้รับข่าวครั้งที่สองจากสถานทูตว่า
ยังไม่ล้มเลิกโครงการส่งผู้อพยพอัฟกันไปสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่จะจัดให้เราโดยสารเครื่องบิน
จากเกตตาไปที่อิสลามาบัดภายในสัปดาห์นี้ จากนั้น เราก็จะเหินฟ้าสู่อเมริกาในปี 2545

ทุกวันนี้ (ขณะที่เขียนเรื่องนี้) ฉันกับแม่ใช้ชีวิตอยู่ในย่านชานเมืองของชิคาโก ที่อยู่ของเราเป็น
อพาร์ทเม้นท์ที่สะดวกสบายมาก แม่ต้องทำความรู้จักกับผู้หญิงชาวอัฟกันในละแวกนั้น
ในวันที่อากาศอบอุ่น แม่กับเพื่อนบ้านจะออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะด้วยกัน แม่กับเพื่อน
ใหม่จะนั่งบนสนามหญ้า คุยกันไปสลับจิบน้ำชา วันหยุดสุดสัปดาห์มักมีครอบครัวชาวอัฟกัน
แวะมาหาเราทีอพาร์ทเม้นท์ หรือไม่เราแม่ลูกก็ไปเยี่ยมคนอื่น ๆ ที่บ้านบ้าง

พอถึงเทศกาลสำคัญทางศาสนา ทุกคนจะฉลองร่วมกัน
ยิ่งไปกว่านั้น แม่ยังเริ่มเรียนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละ 3 วัน หน้าตาของแม่แจ่มใสขึ้นเหมือนต้นไม้
ที่ได้รับความชุ่มชื้นจากหยาดฝนหลังรอคอยมานานแสนนาน เวลาที่แม่นั่งเงียบ ๆ และหายใจ
อย่างสบาย ฉันเฝ้าบอกตัวเองว่า อย่างน้อยชีวิตนี้ก็ได้ทำความดีอย่างหนึ่ง นั่นคือช่วยต่อลม
หายใจให้บุพการี ส่วนตัวฉัน ตอนนี้เริ่มหัดขับรถแล้ว และยังได้ไปเรียนวิทยาลัยใกล้บ้าน แต่ยังคิด
ไม่ตกว่าจะเลือกสาขาอะไรดี บางทีก็อยากทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือจะเรียนออกแบบ
แขนขาเทียมดีไหม กายอุปกรณ์เหล่านี้มีความหมายต่อชีวิตของคนพิการแขนขาขาด ยกตัวอย่าง
ตัวฉันเอง ขาเทียมให้ชีวิตใหม่แก่ฉัน ด้วยเหตุนี้ ฉันอยากมอบชีวิตใหม่แก่คนอื่นบ้าง

โปรดติดตามตอนที่ ( 9 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ค. 09, 2022 4:52 pm

😁อีกฟากของผืนฟ้า ตอนที่ ( 9 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดย ฟาราห์ อาห์เมดี
(Farah Ahmedi) ร่วมกับ Tamim Ansary และจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(3) ปีต่อมา : ย่อบทสัมภาษณ์ทางทีวี
ฟาราห์หนึ่งในผู้แข่งขันรายการทีวี “ABC-TV ปี 2548/2005” เรื่อง “ชีวิตของฉัน” มีผู้ส่งเรื่อง
เข้าแข่งขัน 6, 000 คนโดยใช้คำไม่เกิน 600 คำ มีผู้เข้ารอบสุดท้าย 3 คนซึ่งต่างก็ได้นำเสนอ
เรื่องของตนทางทีวีในรายการ “Good Morning America” โดยให้ผู้ชมรายการทั่วประเทศโหวต
มีผู้โหวตประมาณ 18,000 คนเลือกเรื่องของฟาราห์เป็นผู้ชนะได้เงินรางวัล 10,000 เหรียญ และมี
การจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “The Story of my Life : An Afghan Girl on the Other Side of the Sky”

ขณะที่ออกรายการทีวี ฟาราห์อายุ 17 ปี เธอเล่าถึงชีวิตวัยเด็กในอัฟกานิสถานที่สยองขวัญและ
น่าเศร้าที่เกิดจากสงคราม การรักษาขาในเยอรมนี โศกนาฏกรรมชีวิตของพ่อและพี่น้องทั้งหมด
การเดินข้ามเขาไปปากีสถานด้วยขาพิการ และชีวิตในค่ายที่ลี้ภัยก่อนจะได้รับเลือกมาอยู่ในสหรัฐฯ

(2) ปีแรกในสหรัฐฯ ฟาราห์เรียนชั้นประถม 1 และ 2 (First and Second Grade) พอเริ่มปีที่ (3)
เธอก็ได้เรียนในระดับมัธยมต้น (Freshman class) พร้อมกับเรียนภาษาอังกฤษแบบเร่งรัดเพื่อความ
อยู่รอด โดยมีอาสาสมัครหลายคนช่วยติวให้เธอเรียนทัน เธอเรียนรู้เร็วมากและเพียง (3) ปีก็สามารถ
ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์

พิธีกร : คุณฟาราห์รู้จักกับคุณอลิส (Allyce) ได้อย่างไร ?
ฟาราห์ : คุณอลิส เป็นอาสาสมัครเพื่อบรรเทาทุกข์ทั่วโลก เธอชอบแม่และฉัน เธอมาเยี่ยมเรา
เป็นประจำในช่วง 3 เดือนแรกและเราก็สนิทสนมกันมาก
อลิส : ดิฉันทำงานบริการสังคมกับเด็กที่ถูกทารุณกรรมและถูกทอดทิ้ง ดิฉันกับสามีเข้ารับการอบรม
กับองค์กร “World Relief” และได้รับเลือกเป็นอาสาสมัครให้คำแนะนำดูแลฟาราห์และ
แม่ของเธอ ซึ่งเป็นงานที่ดิฉันใฝ่ฝันมานานแล้ว
พิธีกร : คุณ (ฟาราห์) ทำงานกับนักเขียนมืออาชีพ ‘Tamin Ansary’ ในลักษณะไหนเพื่อเล่า
เรื่องชีวิตของคุณ
ฟาราห์: ฉันเป็นคนเล่าเรื่องชีวิตของฉันให้คุณ Tamin โดยใช้เวลาพูดคุยกัน 5 วัน ฉันเล่าทุกสิ่งได้
อย่างละเอียดเพราะคุณ Tamin พูดภาษาพื้นเมืองของฉันได้ (ภาษา ‘ฟาร์ซี’ : Farsi)
อลิส : คุณ Tamin ต้องการจัดพิมพ์เรื่องของฟาราห์เป็นหนังสือจากคำพูดจริง ๆ ของเธอ

โดยบันทึกเทปและถอดความตามที่ฟาราห์พูดทุกคำ ของผู้เข้ารอบนี้มี (3) คน​ แต่ละคนต่างก็มีเรื่อง
ที่ยอดเยี่ยม แต่เรื่องของผู้ชนะเท่านั้นที่จะได้รับการพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ และผู้ชนะจะได้ออก
ทัวร์ประชาสัมพันธ์ใน 10 เมืองใหญ่

พิธีกร : ชีวิตของคุณในอัฟกานิสถานเป็นอย่างไร?
ฟาราห์ : น่ากลัวมาก ฉันอยากหนีไปให้พ้น
พิธีกร : อะไรที่ทำให้คุณผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากต่าง ๆ มาได้?
ฟาราห์ : ทุกวันนี้ไม่มีใครที่ฉันรู้จักในอัฟกานิสถานเลย แต่ในสหรัฐฯ ฉันมีคุณอลิสผู้มีน้ำใจดีและ
เป็นผู้ที่ฉันนับถือเป็นแม่คนที่สอง​ ก่อนหน้านั้น ฉันอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีใครสักคนที่จะทักฉันว่า
'วันนี้ของคุณเป็นอย่างไรบ้าง' ฉันมีแม่ก็จริง แต่ท่านก็ป่วยอยู่​ มีแต่คุณอลิสที่โทรมาพูดคุยหรือ
มาเยี่ยมให้กำลังใจเป็นอย่างดี ทำให้หาฉันมุมานะสู้ชีวิต ได้เรียนภาษาอังกฤษกับเธอ
พิธีกร : ความประทับใจแรกของคุณในอเมริกาคืออะไร?
ฟาราห์ : เมื่อเครื่องบินมาถึงชิคาโก ฉันมองเห็นแสงไฟที่สวยงามอย่างที่ไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน
ในชีวิต ฉันเห็นอาคารและรถยนต์มากมาย และคิดในใจว่า 'โอ้ พระเจ้า ฉันตายแล้วเหรอ?
และนี่หรือคือสิ่งที่เขาเรียกว่าสวรรค์!'

ปัจจุบัน (2565) ฟาราห์วัย 35 ปี มีสามีเป็นคนอเมริกัน มีลูก 2คน อาศัยอยู่ที่ชิคาโกในรัฐอิลลินอยส์
(Illinois) โดยมีแม่อาศัยอยู่ด้วย เธอได้รับสัญชาติอเมริกันเมื่อต้นปี 2551 เรียนจบปริญญาตรี
เธอทำงานกับกลุ่มนานาชาติเพื่อการกู้ระเบิดทั่วโลก และทำงานกับมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทาง
ร่างกาย นอกจากนั้น เธอยังเป็นวิทยากร นักมนุษยธรรมและนักเคลื่อนไหวอีกด้วย

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้เธอกล่าวว่า “ดิฉันเป็นคนพิการขาขาด, สูญเสียครอบครัวและ
ต้องอยู่นอกประเทศ แต่ดิฉันไม่เคยยอมแพ้ และจะไม่หยุดที่จะก้าวเดินต่อไป”

*******************

จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ธ.ค. 05, 2022 9:40 pm

🎁ของขวัญถูกใจผู้รับ ตอนที่ ( 1 )จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2542
โดย Oliver Stahl
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตอนเป็นเด็ก 7 ขวบ ผมรู้สึกจนปัญญาไม่รู้จะหาของขวัญคริสต์มาสอะไรให้คุณยายที่
ผมเทิดทูนมากยิ่งกว่าใครอื่น เพราะคุณยายรักหลาน ๆ ชนิดที่หาใครเสมอเหมือนได้ยาก
ผมคิดตามประสาเด็กว่า ของขวัญที่จะให้คุณยายต้องมีค่าและพิเศษอย่างยิ่ง

ผมนึกออกแล้ว คุณยายเป็นคนรักสวยรักงาม พิถีพิถันเรื่องการแต่งตัว ตั้งแต่เลือกเครื่องสำอาง
เสื้อผ้าที่ถูกกาลเทศะ บรรจงทำผมอย่างแช่มช้อย พอเสร็จก็จะหยิบขวดน้ำหอมสวย จากลิ้นชัก
เพื่อฉีดน้ำหอมที่ซอกคอครั้งสองครั้ง จากนั้นจึงเก็บขวดกลับเข้าตู้

ของขวัญที่คุณยายชอบไม่น่าจะเป็นอย่างอื่นนอกจากน้ำหอมแบบนั้น พอลับตาคน ผมจึงแอบเปิด
ลิ้นชักของคุณยาย ค่อย ๆ หยิบขวดน้ำหอมออกมาพิจารณา

ผมเตรียมการอย่างรอบคอบ ผมมีกระดาษกับดินสอเพื่อจดชื่อบนขวดน้ำหอมซึ่งไม่เคยรู้จัก
มาก่อน ทุกวันนี้ผมจำได้เพียงว่าเป็นน้ำหอมฝรั่งเศส แต่ที่จำแม่นคือตอนเดินหัวใจเต้นระรัวเข้าไป
ในร้านขายน้ำหอมหรูหราในเมืองซึ่งเดี๋ยวนี้เลิกกิจการไปแล้ว

ผมประหม่ามากเมื่อเห็นกล่องน้ำหอมสวยงามเรียงรายอยู่ในร้าน ทั้งกลิ่นมะลิ กุหลาบ
และลาเวนเดอร์ หัวน้ำหอมฟุ้งอวลไปทั่ว ผมเดินตัวลีบไปที่เคาน์เตอร์ พนักงานสาวอดยิ้มไม่ได้
เมื่อเห็นเด็กอย่างผมเข้าไปซื้อน้ำหอม ผมเรียกชื่อน้ำหอมเป็นภาษาฝรั่งเศสไม่ถูก แต่ก็เพียรบอก
คนขายซ้ำแล้วซ้ำอีก เธอก็ยังคงไม่รู้เรื่องจริงๆ ที่สุดผมก็ล้วงเศษกระดาษที่คัดลอกยี่ห้อด้วยลายมือ
โย้เย้ของนักเรียนชั้นประถมสองออกมาจากกระเป๋ากางเกง

พนักงานขายเดินไปหยิบกล่องสีครีมจากชั้น แล้วมองหน้าผมด้วยความสงสัย

“แน่ใจนะจ๊ะว่าจะซื้อน้ำหอมยี่ห้อนี้” เธอถาม

ผมพยักหน้าด้วยความมั่นใจ แต่พอทราบราคาก็กลืนน้ำลาย หน้าแดงด้วยความอายและ
พูดตะกุกตะกักกับพนักงานขายว่าขอกลับไปคิดดูก่อน จากนั้นก็รีบเดินออกจากร้าน
ขาสั่นด้วยความอายและสิ้นท่า

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 06, 2022 2:23 pm

🎁ของขวัญถูกใจผู้รับ ตอนที่ (2) จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2542
โดย Oliver Stahl
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

แม่เป็นคนแรกที่สังเกตเห็นท่าทางแปลก ๆ ของผม พอกลับถึงบ้าน ผมก็ตรงเข้าห้องนอน
แม่ตามมานั่งบนเตียงข้าง ๆ ของพี่ชายผมซึ่งอยู่ห้องเดียวกัน แล้วเลียบเคียงถามจนผมสารภาพ
อย่างหมดเปลือก ผมรู้ว่าแม่กลั้นยิ้มแทบแย่ แถมยังหาทางออกให้อีกด้วย

“แม่ว่าของมีค่าที่ลูกจะให้คุณยายน่าจะมาจากฝีมือของลูกเองนะ”

“แล้วอะไรล่ะครับ” ผมถาม ทำท่าหมดหวัง

แม่ลูกจึงช่วยกันคิด ในที่สุด แม่ก็นึกออกว่าผมน่าจะทำซองใส่ปากกาหมึกซึม เพราะเงินเก็บ
ของผมคงพอซื้อหนังที่ตัดเรียบร้อยเพื่อนำมาประดิษฐ์ต่อได้เอง

ผมพยักหน้าอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก เพราะยังอาวรณ์ขวดน้ำหอมใบสวยอย่างบอกไม่ถูก
ผมเข้าไป ในเมืองอีกครั้งเพื่อหาซื้อหนัง ด้าย และเข็มเย็บหนัง แต่ก็ยังไม่อยากลงมือทำอยู่ด
ซองใส่ปากกาทำด้วยเศษหนังและเย็บด้วยฝีมือหยาบ ๆ จะไปเทียบกับน้ำหอมในขวดแสนสวยนั้น
ได้อย่างไร

ในที่สุด ผมนั่งที่โต๊ะกินข้าวในครัว หยิบอุปกรณ์ทุกอย่างออกจากถุงกระดาษสีน้ำตาล แล้ว
ตั้งอกตั้งใจเย็บ อย่างสุดฝีมือ

ขณะที่สองมือเย็บหนังซึ่งเจาะไว้ด้วยด้ายสีดำ ผมก็สนุกกับงานตรงหน้าทีละน้อย จนเวลาผ่านไป
2 ชั่วโมงอย่างรวดเร็ว แล้วผมก็ได้ชื่นชมซองสีฟ้าฝีมือตนเอง พร้อมกับแปลกใจมากที่ตลอดบ่ายวันนั้น
เรื่องน้ำหอมขวดสวยไม่ได้แวบเข้ามาในหัวเลย

ผมภูมิใจมากขึ้นเมื่อคุณยายแกะของขวัญชิ้นเล็ก ๆ ของผม นัยน์ตาคุณยายเป็นประกาย
สองมือลูบคลำซองสีฟ้าไม่หยุด แถมย้ำถามผมถึงสองครั้งว่า “ทำให้ยายกับมือเองเลยหรือลูก”

ใช่ครับ ผมทำให้คุณยายเป็นพิเศษ และไม่อยากเชื่อว่าจะเห็นคุณยายซึ่งผมขาวหลังเริ่มโกง
แสดงความดีใจเหมือนเด็ก ๆ คุณยายกอดผมแน่นและหอมแก้มทั้งสองข้าง พร้อมกับกระซิบขอบใจ
ซ้ำแล้วซ้ำอีก มือถือซองปากกานั้นไว้ตลอดค่ำ

ซองสีฟ้าของผมอยู่บนตู้คุณยายตั้งแต่นั้นมา คุณยายไม่ได้วางแอบไว้ในตู้เสื้อผ้าหรือซุก
ในลิ้นชัก ทุกครั้งที่คว้าแว่นตามาสวมเพื่อเขียนหนังสือ คุณยายจะเดินตรงไปหยิบซองสีฟ้าบนตู้
และดึงปากกาออกมา เวลามีแขก คุณยายมักเอามาอวดด้วยน้ำเสียงภูมิใจว่า
“ฝีมือโอลิเวอร์ หลานชายฉันเอง”... คุณยายอยู่ไม่ถึงฉลองคริสต์มาสในปีต่อมา

**********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 11, 2022 7:47 pm

👞👞รองเท้าของครู ตอนที่ (1)จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2542
โดย Goh Sin Tub รวบรวม และเพิ่มเติมจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมดีใจที่ได้รับจดหมายจากครูชาวญี่ปุ่น แต่ก็อดวิตกไม่ได้ ขณะนั้นตรงกับปี ค.ศ.1945
อังกฤษเพิ่งกลับมายึดครองเกาะสิงคโปร์อีกครั้ง ครูกับเพื่อนร่วมชาติอีกหลายคนถูกจับเป็นเชลย
สงคราม ขณะที่หนุ่มสาวชาวสิงคโปร์รวมทั้งวัยรุ่นอย่างผมเกิดความสับสนและขมขื่นที่ประเทศต้อง
อยู่ใต้อาณัติเป็นอาณานิคมของผู้รุกรานคนแล้วคนเล่า

ผมแปลกใจที่ครูยังไม่ถูกเนรเทศกลับญี่ปุ่น แต่ก็สบายใจที่กองทัพอังกฤษปฏิบัติต่อท่านอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ผมอดห่วงชะตากรรมของตัวเองไม่ได้ เพราะไม่แน่ใจว่าการได้รับจดหมายที่จ่าหน้า
ชัดเจนว่า ผู้ส่งเป็นฝ่ายศัตรูจะมีผลร้ายตามมาหรือไม่ แม้ว่าศัตรูผู้นั้นกำลังถูกคุมขังอยู่ก็ตาม
จดหมายอาจสะดุดตาหน่วยตำรวจลับ และตอนนี้สายสืบอาจกำลังจับตาว่าผมจะมีปฏิกิริยาอย่างไร
กับจดหมายของครูก็เป็นได้ เพราะดูเหมือนจะมีคนเปิดออกอ่านจดหมายแล้วปิดผนึกไว้อย่างเดิม
ก่อนส่งมาให้ผม

ในจดหมาย ครูพูดถึงรองเท้าคู่หนึ่งที่ครูยกให้ผมเมื่อพบกันครั้งสุดท้ายที่บ้านท่าน ตอนนั้นครูบอกว่า
“รับรองเท้าใหม่คู่นี้ไปสิ อาจหลวมเกินไปสำหรับเธอ แต่เธอกำลังโต สักวันก็คงใส่ได้พอดี ส่วนครูสวม
รองเท้าคู่เก่าไปเข้าค่ายกักกันก็ได้ ไม่มีปัญหา”

ครูรำพันในจดหมายว่าคิดถึงเพื่อน ๆ ไม่มีใครไปเยี่ยมเลย อยากให้ผมไปเยี่ยมที่”ค่ายไซเมโรด”
(Sime Road Camp) บ้าง และขออภัยที่ต้องขอรองเท้าคู่นั้นคืนเพราะคู่เก่าขาดวิ่นจนใส่ไม่ได้แล้ว

ผมสงสารครูมาก เพราะท่านเป็นคนมีน้ำใจและเมตตาต่อนักเรียนทุกคน อีกทั้งยังถ่ายทอดความคิดดี ๆ
ให้หลายอย่าง ครูถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในกองทัพญี่ปุ่นขณะสอนอยู่ในโรงเรียน จากนั้นก็ถูกส่งมาสอน
ภาษาญี่ปุ่นให้ประชาชนสิงคโปร์ หลังจากเรียนกับครูได้ไม่นาน นักเรียนก็ลงความเห็นว่า ท่านไม่เหมือน
พวกทหารญี่ปุ่นที่ทั้งจองหองและโหดร้าย ชอบข่มเหงชาวสิงคโปร์อย่างไร้ความปรานี

ครูนำอาหารที่ได้รับปันมาแจกจ่ายให้นักเรียนพร้อมกับหางานให้ทำ บางครั้งถึงกับออกหน้ารับแทน
และเสี่ยงชีวิตเป็นกระบอกเสียงให้นักเรียนกับญาติ ๆ ที่บังเอิญไปสร้างความขุ่นเคืองให้แก่ “เคมเปไต”
ซึ่งเป็นสารวัตรทหารในกองทัพญี่ปุ่นที่มีอำนาจและร้ายกาจเป็นที่เลื่องลือ

ตัวอย่างเช่นพ่อของ”ฟง”นักเรียนในชั้นซึ่งถูกคุมขังเพราะเมาแล้วเซไปเหยียบธงชาติญี่ปุ่น เมื่อ”ฟง”
ไปขอความช่วยเหลือ ครูก็รีบไปที่หน่วย”เคมเปไต”โดยไม่หวั่นเกรงและพูดขอร้องจนสารวัตรทหารปล่อย
พ่อของ”ฟง”ซึ่งเป็นชายชราออกจากคุกในสภาพกะปลกกะเปลี้ย ใช้ไม้เท้าช่วยเดินโขยกเขยกพลางลากขา
ข้างหนึ่งที่หมดความรู้สึกแล้ว ตั้งแต่นั้น ครูก็เป็นวีรบุรุษในหัวใจของผมเสมอมา

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 11, 2022 7:50 pm

👞👞รองเท้าของครู ตอนที่ ( 2. )จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2542
โดย Goh Sin Tub รวบรวม และเพิ่มเติมจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ขณะอ่านจดหมาย ผมคิดว่า “ครูต้องรู้สึกหดหู่อย่างมากที่ถูกกักขังอยู่ในค่าย” ผมรู้สึกว่าควรไป
เยี่ยมครู เรื่องคืนรองเท้านั้นไม่มีปัญหา เพราะคู่นั้นหลวมเกินไปและผมเองก็กำลังคิดจะขายอยู่แล้ว
แต่ว่าทางการจะเอาชื่อผมขึ้นบัญชีดำหรือไม่เมื่อไปเยี่ยมศัตรู เพราะก่อนเข้าเยี่ยมต้องลงชื่อและ
แสดงหลักฐานต่างๆ บันทึกเหล่านี้อาจย้อนกลับมาเล่นงานผมในภายหลังได้

ผมกลัวอย่างไม่มีเหตุผล แต่เด็กวัยรุ่นที่โตมาภายใต้อำนาจล้นฟ้าของหน่วย”เคมเปโต”เห็นว่า
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ข่าวลือเรื่องการทารุณกรรมระหว่างสงครามมีอยู่เป็นระยะ ๆ ชาวสิงคโปร์
ทุกคนเคียดแค้นพวกญี่ปุ่นและพร้อมจะล้างแค้นผู้ย่ำยีรวมทั้งผู้เอาใจฝักใฝ่ญี่ปุ่นทุกคน

“ไปเยี่ยมทำไม อยู่ดีไม่ว่าดี” บรรดาเพื่อนสนิททักท้วง “ลืมแล้วหรือว่าพวกญี่ปุ่นข่มเหงเราขนาดไหน”
ครูก็เป็นชาวญี่ปุ่นที่น่าชิงชังไม่ใช่หรือ

ครูเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เสียงมโนธรรมแว่วเตือนผมอยู่ในใจว่า ครูเป็นคนมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์
และยังมีน้ำใจกับผมเป็นพิเศษอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมไม่สนใจเสียงภายใน จากนั้นผมก็เขียนจดหมายโกหกครูว่าขายรองเท้าคู่นั้นไปแล้ว
ขณะนี้กำลังคร่ำเคร่งกับการเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบจึงไม่ค่อยมีเวลาว่างและหารถไปค่ายกักกันไม่ได้ด้วย

ผมทรมานใจเพราะสำนึกผิดอยู่หลายสัปดาห์ กระทั่งวันหนึ่ง ผมเห็นชายชราแปลกหน้าเดินกะเผลกลาก
ขาข้างหนึ่งที่หมดความรู้สึกไปตามถนน ผมนึกเห็นภาพครูผู้รอรองเท้าจากผมอยู่ในบัดดล

ผมปั่นจักรยานไปที่ค่ายพร้อมด้วยรองเท้าคู่นั้น พอไปถึงก็เหงื่อออกท่วมตัว แต่ก็หนาวอยู่ในอกขณะ
โค้งคำนับทหารอังกฤษที่เฝ้าอยู่หน้าประตูด้านนอก ผมหยิบจดหมายของครูออกมาแสดง จากนั้นก็กรอก
รายละเอียดในสมุดเยี่ยมที่ดูน่าหวาดหวั่นเป็นยิ่งนัก

ขณะเดินตามทหารเข้าไปในค่าย ผมกอดรองเท้าไว้แน่นราวกับจะยึดเป็นพี่พึ่ง

ยามพาผมไปรอที่กระโจมโรงอาหาร มีคนนั่งอยู่ในนั้น 10 กว่าคน มีทั้งนักโทษและผู้มาเยี่ยม ผมแทบ
กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เมื่อเห็นครูผอมโซหน้าตาซีดเซียวเหมือนคนหมดอาลัยตายอยาก ตอนแรกครูจำผมไม่ได้
หรือไม่อยากจำก็ไม่รู้ ท่านเมินหลบสายตาผม

พอเริ่มคุย ครูก็ยังสุภาพแต่ห่างเหินและถนอมคำพูดอยู่ในที ผมยื่นรองเท้าให้ แต่ครูก็ยังเฉยไม่ยื่นมือมารับ
ผมเลยวางลงบนโต๊ะตรงหน้า

ผมสารภาพว่ากลัวสารวัตรทหารมาก จึงเขียนจดหมายหลอกครู แต่ท่านก็ไม่ปริปากว่าอะไร

โปรดติดตามตอนที่ ( 3. )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 11, 2022 7:54 pm

👞👞รองเท้าของครู ตอนที่ ( 3. )จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2542
โดย Goh Sin Tub รวบรวม และเพิ่มเติมจากกูเกิ้ล 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมเพิ่งรู้เดี๋ยวนั้นเองว่า จดหมายของผมทำร้ายครูอย่างแสนสาหัส ท่านอาจไม่แน่ใจว่า ผมมา
อย่างมิตรหรือมาอย่างเสียมิได้ หรือมาเพราะความเวทนา ผมพยายามชวนคุยต่อ แต่ครูก็ยังถามคำ
ตอบคำจนกระทั่งเวลาเยี่ยมซึ่งค่อนข้างจำกัดใกล้จะหมดลง

ในที่สุด ผมก็พูดอย่างหมดหวังว่า “ครูครับ ผมรู้ตัวแล้วว่าไม่ควรเขียนจดหมายมาหลอกครูแบบนั้น
ผมจะไถ่โทษครั้งนี้ได้อย่างไร อย่าโกรธผมเลยนะครับ เราจะจากกันฉันมิตรได้ไหม เราอาจไม่ได้พบกัน
อีกชั่วชีวิตก็ได้”

พูดแค่นั้นผมก็ปล่อยโฮอย่างสุดกลั้น แต่ครูยังคงนิ่งอยู่ จนแล้วจนรอดก็ไม่ยอมสบตาผมเสียที

ความคิดบางอย่างแวบเข้ามาในสมอง ผมลุกขึ้นยืนต่อหน้าครูท่ามกลางผู้มาเยี่ยมคนอื่น ๆ
จากนั้นผมก็ร้องเพลง “Aogeba toutoshi” ที่มีเนื้อหากินใจและเป็นเพลงที่ครูเคยสอนให้
เพลงนี้นักเรียน ญี่ปุ่นทุกคนจะใช้ร้องลาครูในวันสำเร็จการศึกษา เนื้อเพลงมีว่า

“Aogeba toutoshi wagashi no on” = เราเป็นหนี้บุญคุณครูมากเพียงใด
พอร้องถึงตอนนี้ ทุกคนในโรงอาหารเงียบกริบ ทันใดนั้นคนญี่ปุ่นที่อยู่ในกระโจมโรงอาหารและเพื่อน ๆ
ผู้มาเยี่ยมก็ลุกขึ้นยืนทีละคนพร้อมกับร่วมร้องเพลงกับผม ไม่รู้ว่าเพราะอยากช่วยผมกล่าวคำอำลาครู
ที่เคารพรัก หรือเพราะอยากอำลาเพื่อน ๆ ที่มาเยี่ยมด้วยความรู้สึกจากหัวใจ

“Oshie no niwa ni mo haya ikutose” = วันเวลาผันผ่านไปอย่างรวดเร็ว เวลาติดปีกแล้วโบยบินไป
ทันใดนั้น ผมก็ได้ยินเสียงครูร้องคลอกับผมด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบา
“Omoeba itotoshi kono toshi tsuki” = ศิษย์จะไม่ลืมวันเวลาที่เคยใช้ชีวิตในสถานศึกษาแห่งนี้
“Ima koso wakareme izasaraba” = ตอนนี้ ถึงเวลาที่เราต้องจากกันแล้ว”

ครูยกเนื้อเพลงท่อนสุดท้ายกล่าวกับผมว่า “เราจะจากกันฉันมิตร” ครูน้ำตารื้นขณะสบตาผม

ครูผลักรองเท้าบนโต๊ะคืนให้ผม พร้อมกับพูดด้วยรอยยิ้มว่า “เก็บไว้เถอะ ครูได้รับแจกคู่ใหม่แล้ว”

ผมนำรองเท้าคู่นั้นกลับบ้านและเลิกความคิดที่จะขายต่อ ผมรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น
และคงมีโอกาสสวมรองเท้าของครูสักวัน

เนื้อเพลง “Aogeba toutoshi” ภาษาญี่ปุ่น :
仰げば尊し わが師の恩
教えの庭にも はや いくとせ
おもえば いと疾し このとし月
いまこそ 別れめ いざさらば
..........................................
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 11, 2022 7:58 pm

"ความตายอยู่แค่คืบ" ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2542 โดย Michael Bowker
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

‘ดาน่า’ วัย 13 ปีนั่งหน้านิ่วอยู่บนก้อนหินขณะมองไปยังภูเขาหินรอบตัว เธอไม่เห็นเงาใครเลย
แม้แต่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือครูจากโรงเรียนในรัฐแคลิฟอร์เนีย หน้าผาชันที่อยู่เบื้องล่าง
เต็มไปด้วยหินขรุขระ ความมืดเริ่มก่อตัวในทิวป่าสนไกลออกไป เธอรู้สึกหงุดหงิดและอ้างว้าง

“สวัสดี” เด็กหญิงผมดำส่งเสียงตะโกน “มีใครได้ยินหนูบ้าง” ไม่มีเสียงตอบ
วันนั้นตรงกับวันที่ 2 มิถุนายน 2540 ดาน่ากับเพื่อน ๆ ในชั้นเพิ่งไปถึงอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี
(Yosemite National Park) เพื่อทัศนศึกษาช่วงปลายปี หลังอาหารเย็น พวกนักเรียนพากันเดินป่าขึ้นเขา

ขณะที่เพื่อน ๆ กระจัดกระจายเดินเข้าไปในแนวป่า ดาน่าเลือกเส้นทางขรุขระที่เป็นผาหินขรุขระ เธอปีน
ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเวลาผ่านไปราวครึ่งชั่วโมงจึงรู้ตัวว่าหลงอยู่ตามลำพัง

“ช่วยด้วย” ดาน่าตะโกนอีกครั้งหนึ่ง “มีใครอยู่แถวนี้บ้าง” ไม่มีเสียงตอบ เธอเริ่มรู้สึกโกรธพลางคิด
น้อยใจ “ไม่มีใครสนใจฉันเลย”

ตอนอยู่ชั้นประถม 6 เมื่อปีที่แล้ว เธอปักใจว่าเพื่อนในชั้นไม่ชอบเธอๆ จึงมักอยู่ตามลำพังด้วย
ความน้อยเนื้อต่ำใจ
พอขึ้นประถม 7 ดาน่าปฏิญาณว่าจะคบเพื่อนมากขึ้นและเป็นตัวของตัวเอง มาถึงตอนนี้เธอก็ฮึดสู้
“เราจะต้องหาทางลงจากเขาให้ได้”

ดาน่าค่อย ๆ ปีนลงอย่างระมัดระวัง ฝนทำให้ผิวดินค่อนข้างอ่อน พอปีนลงไปได้สักครู่ก็มาถึงผาหิน
ใหญ่กว้างเกือบ 5 เมตรเว้าเข้าไปในเขา ดาน่ากระโดดลงบนผาหิน แต่พลาดเหยียบก้อนหินขนาด
เท่าลูกแตงโมจนลื่นล้มหน้าคว่ำลงบนแอ่งเล็ก ๆ

เธอไม่รู้สึกเจ็บตรงไหนจึงตั้งท่าจะลุกขึ้นเดินต่อ แต่แล้วกลับปวดแปลบที่ขาทั้งสองข้างและสันหลัง
เธอกลัวว่าจะหายใจไม่ออกจึงพยายามฝืนลุกขึ้นอย่างเต็มที่ เธอสูดลมเข้าเต็มปอดพลางค่อย ๆ
เหลียวไปรอบ ๆ และเธอก็ตกใจแทบสิ้นสติเมื่อพบว่ามีหินกลิ้งลงมาทับที่ขาจนตัวเธอติดอยู่กับพื้น
ขยับได้เพียงศีรษะ เท้าซ้ายและมือขวา เธอตื่นกลัวและพยายามร้องตะโกน แต่แทบไม่มีเสียงออกจ
ากปากเลย

หินก้อนนั้นใหญ่เกือบเท่ารถเก๋งขนาดเล็ก และหินก้อนนั้นยังขยับตัวทับร่างของเธอจมลึกลงไปอีก
เล็กน้อย ดาน่าพยายามดิ้นและยันตัวเองขึ้นจากก้อนหินยักษ์ แต่ไม่ช้าเธอก็ต้องยอมแพ้หมดแรง
และนอนนิ่ง ๆ รู้สึกเจ็บปวดแทบทนไม่ไหว

หินก้อนที่ทับเธออยู่เริ่มนิ่ง ทำให้เธอพอหายใจได้ ความมุ่งมั่นค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ความกลัว
เธอคิดในใจว่า “เลิกคิดถึงความตายได้แล้ว ร้องให้คนมาช่วยดีกว่า” คราวนี้เสียงเธอดังสะท้อน
ก้องไปตามแนวเขา

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 11, 2022 8:02 pm

"ความตายอยู่แค่คืบ" ตอนที่ ( 2. )จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2542
โดย Michael Bowker รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ราว 20 นาทีต่อมา ‘เกรแฮม เพียซ’ผู้ดูแลหน่วยพยาบาลของอุทยานวัย 34 ปีได้รับสัญญาณ
จากวิทยุฉุกเฉิน ครูคนหนึ่งได้ยินเสียงร้องของดาน่าและแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่จึงติดต่อ
เพียซ ซึ่งรีบจัดอุปกรณ์และนำทีมพร้อมผู้ช่วยอีก 2 คนตะบึงรถพยาบาลออกไป

เพียซรู้สึกเครียดผิดปกติขณะขับรถไปตามหุบเขาโยเซมิตี เพราะมีรายงานว่ามีหินถล่มและอาจทับ
เหยื่อเคราะห์ร้ายถึงตาย เพียซหวนนึกถึงเรื่องที่เพิ่งผ่านไปเมื่อ 2 เดือนก่อน เขาได้รับแจ้งให้ไปยัง
จุดเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ หนุ่มวัย 20 เศษได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่ยังมีสติติดอยู่ใต้รถพ่วงคันใหญ่
เพียซพยายามปลอบใจเขาอยู่นานกว่าชั่วโมงขณะรออุปกรณ์ เด็กหนุ่มดูเหมือนแข็งแรงดี แต่ในเวลา
ไม่กี่วินาทีหลังจากยกรถพ่วงคนนั้นขึ้นได้ เขากลับหัวใจวายและหมดลมในอ้อมแขนของเพียซ

ขณะที่รถพยาบาลไปถึงเชิงเขาบริเวณที่ดาน่าติดอยู่ เพียซกับทีมงานต้องปีนเขานานกว่า 20 นาที
จึงถึงตัวดาน่า

เพียซหน้าตื่นทันทีที่เห็นสภาพของดาน่าซึ่งนอนคว่ำบนหน้าผาที่ลาดลง โดยมีหินก้อน ขนาด 5 ตันทับ
อยู่บนตัวเธอเป็นภาพที่น่าหวาดเสียวมาก เรียกได้ว่า ถ้าหินกลิ้งอีกนิดเดียว กะโหลกศีรษะคงแหลกละเอียด
โชคดีที่ตรงนั้นเป็นแอ่งทำให้เธอยังรอดอยู่ได้

“ท่าจะลำบาก” เพียซพูดเบา ๆ กับ ‘คิม’เจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉินขณะเดินไปที่ดาน่าซึ่งติดอยู่ใต้ก้อนหิน
เกือบ 1 ชั่วโมงแล้วและเริ่มมีอาการประสาทเสีย “ช่วยหนูออกไปทีค่ะ” เธอตะโกนบอก

“เราจะช่วยหนูให้เร็วที่สุด” เพียซบอกอย่างใจเย็นพร้อมกับตรวจชีพจรเด็กหญิง
“แต่คงต้องใช้เวลาหน่อย หนูจะต้องทำใจกล้าไว้มากๆ ทำได้ไหม”

ดาน่าพยักหน้า แต่เพียซเห็นความกลัวในแววตาของเธอ

‘คีท โลเบ่อร์’ ผู้อำนวยการหน่วยค้นหาและกู้ภัยของอุทยานโบกมือเรียกเพียซไปหา
ส่วน’คิม’ยังคงอยู่กับดาน่า

โลเบ่อร์พูดกับเพียซว่า “ปัญหาใหญ่ทีเดียว ถ้าเราขยับก้อนหินพลาดแค่หนึ่งหรือสองคืบ
มันอาจกลิ้งไปทับเด็กหรือคนที่อยู่ใกล้ๆ ได้ทันที”

ทั้งสองรู้ดีว่า ดาน่ามีโอกาสรอดน้อยมาก แม้พวกเขาจะช่วยเธอหลุดออกจากก้อนหินได้
อย่างปลอดภัย แต่เธอก็อาจได้รับบาดเจ็บภายในจากการถูกหินทับในสภาพนั้น

เพียซตัดขากางเกงยีนของดาน่าออกจนเกือบถึงรอยฟกช้ำดำเขียวบริเวณขา เขาคลำหา
เส้นชีพจรที่ขาทั้งสองข้างไม่พบ หินที่หล่นลงมาทับคงทำให้เส้นเลือดที่เลี้ยงอวัยวะจากใต้เอวลงมาขาด
แต่ถ้ารอดชีวิต เขาคิดว่าเธออาจเสียขาทั้งสองข้าง

โปรดติดตามตอนที่ ( 3. )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 13, 2022 6:52 pm

"ความตายอยู่แค่คืบ" ตอนที่ ( 3 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2542
โดย Michael Bowker รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ดาน่าส่งเสียงร้องเมื่อรู้สึกเจ็บปวด เพียซมีมอร์ฟีนอยู่ในกระเป๋ายา แต่ยาแก้ปวดจะทำให้
ความดันเลือดต่ำลงไปอีก การรักษาความดันของเหลวในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติเป็นเรื่อง
สำคัญ เพียซเรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับผู้ที่ถูกของหนักทับแบบนี้ตั้งแต่อุบัติเหตุครั้งที่หนุ่มใต้ท้อง
รถพ่วงเสียชีวิต เมื่อเซลล์ในตัวมนุษย์ฉีกขาดหรือถูกบดขยี้ก็จะหลั่งสารโปแตสเซียมจำนวนมาก
เข้าสู่เส้นเลือด ถ้าน้ำหนักของวัตถุขนาดใหญ่ที่กีดขวางการไหลเวียนของเลือดถูกยกออกไป
จำนวนโปแตสเซียมที่เอ่อท้นอาจทำให้เกิดอาการบีบที่หัวใจ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ
ดังกล่าว จะต้องฉีดของเหลวเข้าสู่ร่างกายเพื่อไปรักษาระดับความดันของเลือดให้คงที่ เพียซเริ่ม
จัดการกับเส้นเลือดก่อน แต่เขาไม่มีเลือดหรือพลาสมา จึงวิทยุขอเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยแพทย์
ทางอากาศที่ศูนย์การแพทย์ที่อยู่ห่างออกไปราว 160 กิโลเมตรช่วยจัดการนำมาให้

แต่ตอนนี้ เด็กหญิงติดอยู่ใต้ก้อนหินนานเกือบ 2 ชั่วโมงแล้ว เพียซเพียรพูดกับเธอ
ด้วยน้ำเสียงที่ให้ความมั่นใจและปลอบโยน ขณะที่ดาน่าหลับตาและบีบมือเขาแน่น

แสงไฟส่องสว่างพื้นที่บนเขาซึ่งตอนนี้มีเจ้าหน้าที่กู้ภัยกว่า 30 คนพยายามช่วยกันนำตัวดาน่า
ออกจากก้อนหิน ป่ารอบ ๆ มืดสนิท ภายใต้การควบคุมดูแลใกล้ชิดของโลเบ่อร์

ทีมหนึ่งทำหน้าที่เจาะรูที่ก้อนหินแล้วตรึงสมอบกที่ด้านบน จากนั้นก็ผูกเชือกกับสมอบกแล้ว
โยงเชือกไปผูกปลายอีกข้างไว้กับต้นไม้ใหญ่ที่อยู่บนเนินเหนือขึ้นไป โลเบ่อร์หวังว่าเชือกจะไม่ลื่น
ไหลขณะที่พวกเขาพยายามยกก้อนหินขึ้นให้พ้นร่างของดาน่า

อีกทีมหนึ่งทำหน้าที่วางตำแหน่งเครื่องยกไฮดรอลิกเพื่อช่วยยกก้อนหิน ส่วนทีมที่สามรับหน้าที่
นำถุงนิรภัยไปวางใต้ก้อนหิน ทุกอย่างต้องทำอย่างแม่นยำที่สุด มิฉะนั้นก้อนหินจะขยับกลิ้งได้

เพียซเฝ้าดูอาการของดาน่าอย่างใกล้ชิด หัวใจเต้นแรงดีอยู่ แต่ยังคงไม่มีเส้นชีพจรที่บริเวณ
ขาทั้งสองข้าง “อีกไม่นานเราก็จะช่วยกันพาหนูออกไปจากที่นี่แล้ว” เขาปลอบพร้อมกับยิ้มให้กำลังใจ
รู้สึกดีใจที่เธอไม่รู้ความจริง

เวลาเดียวกัน สมาชิกคนหนึ่งของหน่วยค้นหาและกู้ภัยเดินเข้ามาหาเพียซด้วยสีหน้ากังวล บอกว่า
มีหินอีกก้อนที่ท่าทางง่อนแง่นและมีขนาดประมาณรถบัสอยู่ในตำแหน่งเดียวกันเหนือขึ้นไปราว 20 เมตร
“การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่กำลังทำกันอยู่นี้ อาจทำให้หินก้อนนั้นกลิ้งลงมา” เพียซรู้สึกวิตกและพูดตอบว่า
“เราจะต้องเอาตัวเด็กออกมาเดี๋ยวนี้”

อีกไม่กี่นาทีต่อมาทุกอย่างเริ่มเข้าที่ ทันทีที่โลเบ่อร์ออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่ก็อัดลมเข้าไปในถุงนิรภัย
หินก้อนที่ทับดาน่าอยู่ขยับสูงขึ้นเล็กน้อย แล้วเริ่มโยก

“หยุด” โลเบ่อร์ตะโกนขณะที่ทีมงานสอดแผ่นไม้เข้าไปใต้ถุงนิรภัย ก้อนหินไม่ขยับเขยื้อน

“ไม่เป็นไรนะ” เพียซปลอบใจดาน่า “เราใกล้จะยกหินออกได้แล้ว” เขาอยู่ข้างตัวเธอทั้งที่รู้ว่า
คงหนีใม่ทันถ้าหินกลิ้งลงมา

ปฏิบัติการยังคงดำเนินต่อไปอย่างเชื่องช้า

“หยุด หยุด” ดาน่าได้ยินทีมงานพูดคำนี้ซ้ำอยู่หลายครั้ง เธอพยายามรวบรวมสมาธิกับเสียง
ของเพียซเพื่อข่มความกลัว “หลายคนที่อยู่บนนี้เป็นห่วงหนูจริง ๆ นะ” เพียซยังพูดปลอบเธอไปเรื่อย ๆ

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 13, 2022 7:04 pm

"ความตายอยู่แค่คืบ" ตอนที่ ( 4 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2542
โดย Michael Bowker รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

กว่าจะยกก้อนหินขึ้นได้แต่ละเซนติเมตรต้องใช้เวลานานทีเดียว ดาน่ายังคงติดแน่นอยู่
ใต้ก้อนหิน เพียซกับโลเบ่อร์พยายามไม่คิดถึงหินง่อนแง่นก้อนที่อยู่ข้างบน คืนนั้นอากาศเย็น
แต่เสื้อของเพียซโชกไปด้วยเหงื่อ

ครู่ต่อมา ทีมงานก็นำเลือดและพลาสมามาให้เพียซฉีดเข้าที่แขนของดาน่า

เกือบ 22.30 หลังจากดาน่าติดอยู่ใต้ก้อนหินนานกว่า 3 ชั่วโมงครึ่ง เพียซพูดให้กำลังใจ
ขณะห่มผ้าให้ “จวนแล้วละ” เพียซบอกโลเบ่อร์ว่าถีงเวลาลงมือขั้นสุดท้ายแล้ว

เพียซคุกเข่าลงข้าง ๆ ดาน่า “เราจะยกก้อนหินขึ้นเดี๋ยวนี้” เขาบอก “เข้มแข็งไว้ อีกอึดใจเดียว
เราก็จะพาหนูออกไป”

เพียซและโลเบ่อร์เข้าประจำที่ข้างเท้าดาน่า ทีมงานค่อย ๆ อัดอากาศเข้าไปในถุงนิรภัย
ก้อนหินโคลงเคลงเล็กน้อยและเริ่มลอยขึ้น เมื่อหินยกตัวขึ้นสูงเกือบ 3 เซนติเมตร ชายทั้งสอง
มองหน้ากันแล้วพยักหน้าเป็นสัญญาณ “เอาเลย” โลเบ่อร์ตะโกนและช่วยกันดึงตัวดาน่า

“เธอขยับแล้ว” โลเบ่อร์ตะโกน “หลุดแล้ว”

ทีมงานโห่ร้องด้วยความตื่นเต้น พวกเขาช่วยเพียซกับโลเบ่อร์ยกตัวเธอออกมาให้พ้นก้อนหินได้
ดาน่าหมดเรี่ยวแรงได้แต่ยิ้ม เจ้าหน้าที่รัดตัวเธอไว้กับกระดานยึดหลังซึ่งใช้สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บ
ที่สันหลังและคอ จากนั้นก็ค่อย ๆ หย่อนร่างเธอลงในกระเช้าซึ่งหน่วยกู้ภัยต้องใช้เชือกหย่อน
ลงไปตามด้านชันของภูเขา

ดาน่ามองดูดวงดาวที่อยู่เหนือศีรษะ เธอแทบไม่รู้ตัวเลยว่ามีคนเดินไปมาอยู่ข้างตัว

“หนูนี่โชคดีนะ” เธอได้ยินเสียงคนพูดอยู่ใกล้ ๆ “ได้นั่งกระเช้าสวรรค์ฟรี”

ทั้งหมดไปถึงเชิงเขาเมื่อใกล้เที่ยงคืน รถพยาบาลบึ่งพาคนเจ็บไปที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์
หน่วยแพทย์รออยู่ บนเครื่องไม่มีที่ว่างพอสำหรับเพียซ

“แล้วเจอกันพรุ่งนี้นะ หนูไม่เป็นอะไรแล้ว” เฮลิคอปเตอร์ทะยานขึ้นขณะที่เพียซภาวนาขอให้
คำพูดของตนเป็นจริง

เช้าวันรุ่งขึ้น เพียซรีบไปที่ชั้นสองของศูนย์การแพทย์โมเดสโต เมื่อเปิดประตูเข้าไปในห้อง
ของดาน่าก็เห็นเธอนั่งอยู่บนเตียงพร้อมกับยิ้มกว้าง “คุณช่วยชีวิตหนู ขอบคุณมากค่ะ”
เธอกางแขนแล้วทั้งคู่ก็สวมกอดกัน

เหมือนปาฏิหาริย์ที่ดาน่าไม่ได้รับบาดเจ็บภายในหรือกระดูกหักเลย อาการบาดเจ็บสาหัส
ที่สุดคือเข่าขวาบิดและเป็นแผลฟกช้ำดำเขียวซึ่งใช้เวลาเกือบ 3 เดือนจึงหาย

ในช่วงพักฟื้น เพื่อนร่วมชั้นนับสิบพากันมาเยี่ยม สองเดือนหลังเกิดอุบัติเหตุ ดาน่าส่งบัตร
แสดงความขอบคุณไปให้เพียซ เธอเขียนบอกว่า “ตอนนี้หนูเผชิญหน้าได้เกือบทุกอย่างในโลก
ถ้าหนักไม่ถึง 5 ตัน หนูไม่กลัวหรอกค่ะ”

**********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ธ.ค. 14, 2022 5:35 pm

💰เงินต่อชีวิต ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2542
โดย Marvin J. Wolf
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมยืนเขย่งเท้ายื่นส่งใบประกาศหาคนช่วยงานที่ได้จากทางโรงเรียนให้กับเจ้าของร้าน
อาหาร’มอร์ต’ เมืองลอสแอนเจลิส ชายร่างสูง หน้าแดงก่ำยืนอยู่หลังเคาน์เตอร์ชื่อเดียวกับชื่อร้าน
สวมหมวกพ่อครัวและผ้ากันเปื้อนสีขาวสะอาด ส่ายศีรษะทำหน้าย่นทั้งที่ผมยังไม่ทันได้เอ่ยปาก
พูดอะไรเลย
“งานที่นี่หนักเกินไปสำหรับเด็กตัวเล็กอย่างเธอ” ชายผู้นั้นบอก “ฉันอยากได้เด็กตัวโตและแข็งแรง”

ผมอายุ 16 ปีแล้วแต่หน้าตาดูเด็กและสูงยังไม่ถึง 150 เซนติเมตรดี “หน้าร้อนปีที่แล้ว
ผมทำงานล้างจานที่ค่ายลูกเสือ” ผมบอก “ผมล้างจานด้วยน้ำร้อนๆ ได้ จานสกปรกหรือของหนัก
ผมก็ไม่เกี่ยงครับ”

“ฉันอยากได้เด็กตัวโตกว่าเธอ” เขายืนยัน “เธอหางานที่เหนื่อยน้อยกว่านี้ได้ไม่ยากหรอกนะ”

ขณะนั้นเป็นเดือนกันยายน 2500 ครอบครัวเราเพิ่งย้ายมาอยู่ที่เมืองนี้ พ่อผมเป็นคนงานใน
โรงงานเหล็กแผ่น และนับว่าโชคดีที่พ่อได้งานทำสัปดาห์ละ 2-3 วัน แม้จะเพิ่งเข้าสังกัดสหภาพ
แรงงานท้องถิ่นได้ไม่นาน กระนั้น เงินเก็บสะสมของครอบครัวที่มีอยู่เล็กน้อยก็เกลี้ยงบัญชี ผมเป็น
ลูกคนโตจากจำนวนซึ่งจะเพิ่มเป็น 6 คนในไม่ช้า และเป็นคนเดียวที่พอจะทำงานช่วยเหลือครอบครัวได้
ผมเคยไปสมัครที่ร้านค้าปลีกหลายแห่ง แต่เจ้าของร้านไม่อยากให้ผมจับเงินสดเพราะไม่มีหนังสือ
รับรองจากร้านอื่นในย่านนั้น

“อย่างนี้ได้ไหมครับ” ผมเสนอ “ผมจะทำงานให้จนถึงวันเสาร์ ถ้าท่านไม่พอใจผลงาน
ไม่ต้องจ่ายค่าแรงก็ได้ครับ”

ชายร่างสูงจ้องผมแล้วพยักหน้า “ฉันชื่อ’มอร์ต รูบิน’ เธอชื่ออะไรล่ะ”

หลังโรงเรียนเลิกและวันแรกที่ร้านมอร์ต เครื่องครัว ถาดและจานชามเปรอะเปื้อนทยอยมาไม่ขาดสาย
ผมต้องยืนล้างและขัดถูมือเป็นระวิง พอเสร็จงานก็ปวดขามากเพราะยืนทำงาน 4 ชั่วโมงเต็ม

ใกล้เวลาเลิกงานวันเสาร์ ผมยิ่งกระวนกระวายใจ ไม่รู้ว่ามอร์ตจะจ่ายค่าแรงให้หรือไม่
เขาเรียกผมไปพบตอนใกล้เลิก “โรงเรียนบอกหรือเปล่าว่างานนี้ให้ค่าจ้างเท่าไหร่” มอร์ตถาม

“ชั่วโมงละ 1 เหรียญครับ” ผมพึมพำ “ตามอัตราต่ำสุด” ใจคิดว่าถึงจะให้ต่ำกว่านี้ก็รับได้

“น้อยไปสำหรับเด็กขยันอย่างเธอ” เขาบอก “ฉันให้ชั่วโมงละ 1.25 เหรียญก็แล้วกัน”

ช่วง 2-3 สัปดาห์ต่อมา ผมรู้จักมอร์ตดีขึ้น เขาแก่กว่าพ่อผม 2-3 ปี อพยพมาจากเมืองชิคาโก
และมีลูกสาวอายุเท่าผมคนหนึ่ง ช่วงลูกค้าไม่มาก เขามักเล่าเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
ที่เขาเกือบเสียชีวิตในการรบดุเดือดที่นิวกินี และต้องพักรักษาบาดแผลฉกรรจ์ที่ศีรษะอยู่นาน

ร้านเราปิดวันอาทิตย์ ทุกเสาร์ มอร์ตจะบอกให้ผมนำซุปที่เหลือในหม้อใบใหญ่กลับบ้าน ซุปข้น
ปรุงด้วยไก่งวง ข้าว และผักหลายชนิดของมอร์ตเป็นอาหารที่กินให้อิ่มท้องได้สบาย และถือเป็นมื้อ
พิเศษสำหรับครอบครัวที่แร้นแค้นอย่างเรา

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 15, 2022 9:05 pm

💰เงินต่อชีวิต ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกันยายน 2542
โดย Marvin J. Wolf รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ช่วงนั้น พ่อมักไปรับหลังเลิกงานเพราะผมหิ้วหม้อซุปใบใหญ่ขณะขี่จักรยานกลับบ้านไม่ได้
เสาร์วันหนึ่ง พ่ออนุญาตให้ผมขับรถไปทำงาน

หลังเลิกงาน ผมขับรถกลับบ้านแล้วจอดรถในที่ประจำ จากนั้นก็ถือหม้อซุปร้อนเดินตัดสนาม
ผ่านหน้าต่างห้องนั่งเล่น ผมเห็นชายร่างใหญ่ศีรษะล้านนั่งตรงเก้าอี้ตัวโปรดของพ่อ คิดดูสิเก้าอี้
ของพ่อผมเชียวนะ หม้อซุปแทบหล่นจากมือเมื่อผมได้ยินเสียงชายผู้นั้นกำลังด่าว่าพ่อผมด้วยน้ำ
เสียงดูถูกเหยียดหยาม สีหน้าพ่อสงบนิ่งไร้ความรู้สึก ส่วนแม่ร้องไห้

ผมย่องเข้าทางหลังบ้าน วางหม้อซุปลงบนโต๊ะแล้วเงี่ยหูฟังเรื่องราวจึงทราบว่า ชายคนนั้นจะมา
ยึดรถของเรา พ่อเสนอขอผ่อนชำระเงินที่ขาดส่งโดยแบ่งเป็น 3 งวด แต่เขายืนกรานให้จ่ายหมดรวด
เดียว 325 เหรียญ ไม่เช่นนั้นจะยึดรถ

ผมอยู่เมืองลอสแอนเจลิสนานพอที่จะรู้ว่ารถยนต์เป็นสิ่งจำเป็น ผมย่องกลับออกไปนอกบ้าน
เข็นรถไปตรงมุมถนน ติดเครื่องแล้วขับวนรอบ ๆ บ้าน สมองคิดหาทางออก ใครพอจะมีเงิน
325 เหรียญบ้าง ถึงจะมี ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีใครให้ยืมเงินก้อนโตขนาดนี้

ผมนึกถึงมอร์ตได้คนเดียว จึงเลี้ยวรถกลับไปที่ร้าน ผมเคาะประตูหลังและรอจนกระทั่งบังตา
ประตูเปิด จากนั้นปากกระบอกปืน .45 ก็จ่ออยู่ตรงหน้า “เธอต้องการอะไร” มอร์ตถามเสียงหงุดหงิด
ก่อนลดปืนลง

ผมเล่าเสียงตะกุกตะกักเรื่องชายศีรษะล้านที่ใช้คำด่าหยาบคาย และการยื่นคำขาดแบบไม่ปรานี
ปราศรัยของเชา “คุณพอจะให้พ่อผมยืมเงิน 325 เหรียญได้ไหมครับ” ผมสรุปทั้งที่รู้ว่าฟังดูไม่เข้าท่า
มอร์ตจ้องหน้าผมเหมือนจะเจาะทะลวงให้ถึงก้นบึ้งของจิตใจ

ผมถอยหลังไปก้าวหนึ่งเมื่อนึกขึ้นได้ว่า เขาถือปืนอยู่ในมือ ทันใดนั้นมอร์ตก็ยิ้มออก
“ฉันไม่ยิงเธอหรอก” เขาบอกขณะวางปืนลงบนโต๊ะตัวเล็ก แล้วนั่งคุกเข่าแกะกระเบื้องสีแดงซีดที่พื้นห้อง
เผยให้เห็นตู้ซ่อนเงิน จากนั้นก็หมุนรหัสเปิดตู้

มอร์ตนับเงิน 2 ครั้งก่อนใส่ในซองจดหมายใช้แล้ว “นี่เงิน 325 เหรียญ” เขาบอก
“ช่วงโรงเรียนปิดค่อยมาทำงานเต็มเวลา ฉันจะหักค่าแรงเธอไว้ครึ่งหนึ่งทุกครั้งจนกว่าจะจ่ายคืนหมด”

“ขอบคุณมากครับ” ผมตอบ “ต้องให้พ่อผมเซ็นอะไรไหมครับ”

เขาส่ายหัว “ไม่ต้องเจ้าหนู ฉันเชื่อว่าเธอจะใช้คืน”

ผมเดินเข้าทางประตูหลังด้วยหัวใจพองโตคับบ้าน พ่อวิ่งพรวดเข้าไปในครัวโดยมีชายศีรษะล้าน
ไล่หลังมาติด ๆ “เร็วเข้า” พ่อร้องบอก “ขับรถหนีไปเร็ว”

ผมวางสีหน้าสงบขณะยื่นซองให้ชายผู้นั้น “นับเงินดู เขียนใบรับเงินให้พ่อผมด้วย แล้วรีบออกไป
จากบ้านเรา” ผมพูดประโยคที่ซักซ้อมมาตลอดทางขณะขับรถกลับบ้าน

คืนนั้น ผมกลายเป็นพระเอกของครอบครัว แต่พระเอกตัวจริงคือ’มอร์ต รูบิน’ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วย
ฉุดครอบครัวเราจากความขัดสนขั้นวิกฤตเท่านั้น แต่ยังขึ้นเงินเดือนให้ผมทุกเดือนจนได้
ชั่วโมงละ 2.50 เหรียญ หรือสองเท่าของเงินเดือนแรกเข้า

ผมทำงานให้กับมอร์ตต่ออีก 2 ปีจนเรียนจบชั้นมัธยมและสมัครเป็นทหารบก เราติดต่อกันสม่ำเสมอ
หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี หลายปีผ่านไป ผมไม่ได้ข่าวคราวเขาอีกเลย และไม่ทราบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่

แต่สิ่งที่ผมรู้แน่ชัดคือ ‘มอร์ต รูบิน’ ทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นมาก

**********************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส