ประวัตินักบุญอย่างย่อ เดือนกรกฎาคม (วันที่16-31)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ค. 17, 2022 1:47 pm

ฉลองวันที่ ๑๖ กรกฎาคม
แม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล
Our Lady of Mount Carmel

ภูเขาคาร์แมลอยู่ห่าง ๓ ไมล์ทางทิศใต้ของเมือง Haifa ประเทศอิสราเอล เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง
กับกำเนิดของคณะคาร์เมไลท์ เมื่อประมาณปี ค.ศ.๑๒๐๐ ฆราวาสฤษีกลุ่มหนึ่งดำเนินชีวิตร่วมกัน
บนเนินเขาทางตะวันตกในระหว่างปี ๑๒๐๖-๑๒๑๔ พวกเขาได้รับ "รูปแบบสำหรับการดำเนินชีวิต"
จากพระอัยกาของเยรูซาเล็ม ซึ่งให้พวกเขาร่วมมิสซาประจำวัน สวดภาวนาเสมอ (โดยเฉพาะบทสดุดี)
และถือความเงียบ นอกเหนือจากงานใช้มือและการพลีกรรมทรมานกายตามธรรมเนียมของยุคสมัย

นับแต่จุดเริ่มต้น ชาวคณะคาร์เมไลท์ถือว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระนางมารีย์
จนกระทั่งต่อมาวันฉลองแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมลก็ได้กลายเป็นวันฉลององค์อุปถัมภ์ของคณะ

CR. : Sinapis


📌 วันนี้มีเรื่องราวอยากจะมาแบ่งปันกับทุกท่านเกี่ยวกับ "ความเป็นมาของสายจำพวก"
(แต่ก่อนคือเป็นเสื้อจำพวก) ในโอกาสฉลองแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล ครับ

––––––––––––––––––––
👉 ประวัติของเสื้อจำพวก (the Holy Brown Scapular) สีน้ำตาลแห่งคณะคาร์เมไลท์
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1251 ในขณะที่คณะคาร์เมไลท์กำลังตกอยู่ในอันตราย ที่จะแตกสลาย
ตกต่ำ และกำลังประสบกับการเบียดเบียน พระมารดาของพระเจ้าได้ประจักษ์มาแก่นักบุญ ซีมอน สต็อก
(Simon Stock) และได้มอบ “เสื้อจำพวก” (the Holy Brown Scapular) พร้อมทั้งคำสัญญาอันล้ำค่า
ดังนี้
“ลูกรัก จงรับเสื้อจำพวกของคณะฯนี้ไว้ อันเป็นสิทธิพิเศษสำหรับลูกๆ คณะคาร์แมล ผู้ใดก็ตามเสียชีวิต
ขณะที่สวมเสื้อจำพวกนี้ จะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานในไฟนิรันดรเป็นอันขาด เสื้อจำพวกนี้เป็นเครื่องหมาย
แห่งความรอด เป็นเครื่องป้องกันในยามอันตราย เป็นคำสัญญาแห่งการปกป้องพิเศษ”
นอกจากคำสัญญานี้แล้ว ปัญหาต่างๆ ในคณะฯ ก็สิ้นสุดลงด้วย
ท่านได้ก่อตั้ง “คณะภราดรภาพแห่งเสื้อจำพวก” ขึ้น ท่านได้รับการเตือนสอนจากพระนางพรหมจารีมารีอา
ในการประจักษ์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1251 ที่ Cambridge ชาวคาทอลิกและคาร์เมไลท์ในเวลานั้น
กำลังได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง พระนางมารีอาได้ตรัสแก่ท่านซีมอนให้ก่อตั้งความศรัทธานี้
คณะภราดรภาพ (Confraternity) นี้ ได้รับการรับรองและเป็นที่ศรัทธาโดยพระสันตะปาปาหลายพระองค์
กฎเกณฑ์ที่เสนอให้สมาชิกปฏิบัติ โดยมิได้บังคับใดๆ ก็เรียบง่าย นั่นคือ
– สมาชิกสวมเสื้อจำพวก (อย่างลับๆ) ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของคณะฯ
– สวดทำวัตรต่อแม่พระ หรือบททำวัตรของพระศาสนจักร เป็นประจำทุกวัน หากว่าเป็นไปไม่ได้
ให้สวดบท “ข้าแต่พระบิดา” “วันทามารีอา” และ “สิริพึงมีแด่พระบิดา” 7 รอบ แทนการสวดทำวัตรที่กฎหมาย
พระศาสนจักรบัญญัติให้ปฏิบัติ 7 ครั้งต่อวัน
– สมาชิกต้องอดเนื้อในวันพุธ วันศุกร์ และวันเสาร์ หากว่าไม่สามารถทำได้ ก็ให้สวดภาวนา
“ข้าแต่พระบิดา” “วันทามารีอา” และ “สิริพึงมีแด่พระบิดา” 7 รอบ แต่ 2 ครั้ง
สมาชิกคณะคาร์เมไลท์เชื่อว่า ผู้ใดก็ตามที่สวมใส่เสื้อจำพวกแห่งภูเขาคาร์แมล จะรอดพ้นจากไฟชำระ
ในวันอาทิตย์หลังจากความตาย ซึ่งเรียกกันว่า “Sabbath Indulgence” ท่านซีมอนได้รักษาคนป่วยมากมาย
ด้วยการมอบเสื้อจำพวกให้ การกระทำดังนี้ ทำให้กษัตริย์ Edward ที่ 1 แห่งประเทศอังกฤษ และพระเจ้าหลุยส์
แห่งประเทศฝรั่งเศส เข้าเป็นสมาชิกในคณะภราดรภาพนี้ด้วย

👉 เสื้อจำพวกได้รับการรับรองจากพระศาสนจักร
เสื้อจำพวกนี้เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงการปกปักรักษาของพระนางมารี พระมารดาของพระเจ้า
และเป็นเครื่องหมายแห่งความรอด ความศรัทธา 3 ประการที่พึงมีต่อพระนางมารีอา ได้แก่
– การถวายเกียรติ (Homage)
– ความวางใจ (Confidence)
– ความรัก (Love)

ทุกครั้งที่เราสวมเสื้อจำพวกนี้ ก็เท่ากับเราได้ถวายเกียรติแด่แม่พระด้วยการเป็นสมาชิกของกองทัพ
แห่งพระราชินีผู้นี้ เราปฏิญาณความซื่อสัตย์ และมอบความวางใจในคำสัญญาของพระนาง และเป็นบุตร
แห่งความรักอย่างพิเศษของพระนางด้วย ด้วยการสวมเสื้อจำพวกนี้ไปจนตลอดชีวิต เราแสดงให้พระนาง
เห็นว่าเราเคารพยกย่องพระนาง เชื่อในพระนาง และรักพระนาง
ในปี ค.ศ. 1910 พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 10 ประกาศว่า เสื้อจำพวกสามารถใช้เหรียญจำพวกแทนได้
โดยให้มีด้านหนึ่งของเหรียญนั้นมีรูปพระนางมารีอา ข้อยกเว้นนี้ใช้ได้เฉพาะในประเทศที่มีอากาศร้อน
มากเท่านั้น พระองค์ยังตรัสอีกว่า “เราเชื่อในภาพนิมิตแห่งเสื้อจำพวก และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า
จะสวมเสื้อจำพวกนี้เสมอไป”
พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 15 มีความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องการใช้เหรียญจำพวก จึงตัดสินใจ
ทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจน โดยสอนว่า เหรียญจำพวกไม่สามารถที่จะนำมาใช้แทนเสื้อจำพวกได้
ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นอย่างที่สุด พระองค์ประกาศเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1916 ว่า : “เพื่อให้ทุกคน
ทราบว่า เป็นความปรารถนาของเราที่จะให้ทุกคนสวมเสื้อจำพวก เราจึงขอให้พระหรรษทานพิเศษแด่ผู้
สวมใส่ ซึ่งพระหรรษทานนี้ ผู้ใส่เหรียญจำพวกจะไม่สามารถได้รับ” นอกจากนี้ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 15
ยังได้มอบพระคุณการุญ 500 วันแด่ผู้ที่จูบเสื้อจำพวกทุกครั้ง วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1916 อันเป็น
วันฉลองเสื้อจำพวก พระองค์ตรัสกับบรรดาสามเณรแห่งกรุงโรมว่า : “ขอให้พวกท่านทุกคนมีภาษาเดียวกัน
มีเหรียญคุ้มครองอันเดียวกัน ภาษานั้นหมายถึงพระวาจาในพระวรสาร เหรียญคุ้มครองได้แก่ เสื้อจำพวก
แห่งภูเขาคาร์แมล ซึ่งพวกท่านควรจะสวมใส่ เพื่อจะได้รับการปกป้องพิเศษไปจนกระทั่งหลังความตาย”
พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 11 เคยตรัสขณะเปลี่ยนชุดพระสันตะปาปา และเจ้าหน้าที่ได้นำเสื้อจำพวก
ของพระองค์ออกไปด้วย ว่า : “ปล่อยให้เสื้อจำพวก (แม่พระ) อยู่กับฉันเถอะ มิฉะนั้น พระนางจะทิ้งฉันไป”
(Leave me Mary (the Scapular) lest Mary leave me)
นักบุญ ยวง เวียนเนย์ และนักบุญ Claude de la Colombière ต่างก็ขอความคุ้มครองจากเสื้อจำพวกนี้
เพื่อให้พ้นจากการประจญล่อลวง และเพื่อจะได้รับความรอดอย่างแน่นอน ในสมณสาสน์ของพระสันตะปาปา
ปีโอ ที่ 12 ได้กล่าวถึงเสื้อจำพวกในฐานะที่เป็นเครื่องหมายแห่งการถวายตนแด่พระหฤทัยอันนิรมลของ
พระนางมารีย์ พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 สนับสนุนให้สวมเสื้อจำพวก โดยการมอบพระคุณการุญครบบริบูรณ์
อุทิศให้แก่วิญญาณในไฟชำระ แด่ทุกคนที่เยี่ยมวัดคาร์แมลในวันฉลองเสื้อจำพวก คือวันที่ 16 กรกฎาคม
พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 เคยตรัสว่า : “พระศาสนจักรสอนสั่งเสมอในเรื่องความศรัทธาภักดีที่มีต่อพระนาง
พรหมจารีมารีอา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสวดสายประคำ และการสวมเสื้อจำพวกแห่งภูเขาคาร์แมล”
ครั้งหนึ่ง คุณพ่อ Claude แห่งคณะคาร์แมลสวมรองเท้า มีโอกาสคุยกับซิสเตอร์ลูซีอา ผู้ได้รับการประจักษ์
ที่ฟาติมาของแม่พระ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1950 คุณพ่อถามว่า : “ซิสเตอร์ต้องการจะบอกว่า การสวมเสื้อ
จำพวกไม่ใช่เพียงแค่บางสิ่งที่พระมารดาต้อง การให้เราทำเท่านั้น แต่ว่าเป็นใจความสำคัญแห่งข่าวสาร
ของพระนางเอง?” ซิสเตอร์ลูซีอา ตอบว่า : “ถูกต้องที่สุด ไม่มีใครสามารถทำตามข่าวสารแห่งฟาติมาได้
นอกเสียจากว่าจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 5 ประการ และเงื่อนไข 1 ใน 5 ประการนั้น ได้แก่ การสวมเสื้อจำ
พวกตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน”

👉 คุณค่าและความหมายของเสื้อจำพวก
พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 14 ในโอกาสฉลองพระนางพรหมจารีมารีอา ได้ทรงประกาศว่า พระองค์
เชื่ออย่างเต็มเปี่ยมถึงภาพนิมิตของพระนางที่มีต่อท่านนักบุญซีมอน สต็อค อีกครึ่งศตวรรษต่อมา พระนาง
มารีย์ได้ทรงเผยแสดง และสัญญากับพระสันตะปาปายอห์น ที่ 22 ว่า พระนางจะช่วยสมาชิกคณะภราดรภาพ
แห่งเสื้อจำพวกให้พ้นจากไฟชำระโดยเร็วที่สุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันเสาร์แรกหลังจากความตาย
ตามถ้อยคำของพระนางมารีย์นี้ เราจะได้รับประโยชน์ 4 ประการจากเสื้อจำพวก
1. เสื้อจำพวกเป็นการปกป้องและคำสัญญาแห่งการพิทักษ์รักษาให้พ้นจากอันตราย ทั้งทางกายและ
วิญญาณ (มีอัศจรรย์เกี่ยวกับเสื้อจำพวกหลายเรื่องที่พิสูจน์เรื่องนี้)
2. เสื้อจำพวกเป็นเครื่องหมายแห่งความรอด ซึ่งหมายความว่า ผู้ใดก็ตามที่สวมเสื้อจำพวกในขณะที่
เสียชีวิตจะได้รับความรอด ผู้ชอบธรรมจะได้รับพระหรรษทานแห่งความพาก เพียรจนถึงที่สุดจากแม่พระ
และสำหรับคนบาป เขาจะได้รับพระหรรษทานแห่งการกลับใจ และได้รับสถานะแห่งพระหรรษทาน
เขาจะได้พบพระสงฆ์เพื่อแก้บาป หรือจะได้รับการเป็นทุกข์ถึงบาปบริบูรณ์ก่อนตาย
3. เสื้อจำพวกให้เรามั่นใจได้ว่าจะพ้นจากไฟชำระโดยเร็ว
4. เสื้อจำพวกจะทำให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในกิจการดี การใช้โทษบาป คุณงามความดีต่างๆ
ซึ่งสมาชิกในคณะคาร์เมไลท์ได้กระทำ

แต่เดิมนั้น เสื้อจำพวกจะถูกมอบให้แก่สมาชิกของคณะคาร์เมไลท์เท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ ใครก็ตามที่
ได้รับเสื้อจำพวกจากพระสงฆ์ ก็จะได้รับคุณประโยชน์จากเสื้อจำพวกนี้เช่นกัน รูปแบบของเสื้อจำพวก
ในสมัยก่อนนี้ เป็นเสื้อที่ทำด้วยขนแกะ คลุมไหล่ลงมาถึงเท้าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง คล้าย ๆ กับเสื้อผ้า
ของนักบวช แต่ปัจจุบันนี้มีขนาดเล็ก แต่ก็ยังต้องทำจากขนแกะ และต้องคลุมไหล่ลงมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
เพื่อที่จะได้รับสิทธิพิเศษที่จะหลุดพ้นจากไฟชำระโดยเร็ว ตาม Bulla Sabbatina (The First Saturday)
มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติคุณธรรมแห่งความบริสุทธิ์ตามฐานะชีวิตของตน ต้องสวดทำวัตร
พระนางพรหมจารีมารีย์ หากไม่สามารถสวดทำวัตรได้ ก็ให้อดอาหารวันพุธและวันศุกร์แทน หรือทำกิจ
ศรัทธาบางอย่าง ซึ่งพระสงฆ์ผู้มีหน้าที่เป็นผู้กำหนด เช่น การสวดสายประคำประจำวัน เป็นต้น

👉 ความหมายทางเทววิทยาของเสื้อจำพวก
1. เสื้อจำพวกเป็นเสื้อผ้าของนักบวช เป็นเครื่องหมายของการถวายตนแด่แม่พระ และหนทางชีวิตของ
พระนาง โดยผ่านทางเสื้อจำพวกนี้ เราได้เข้ามาสู่พันธสัญญาแห่งความรักและไว้วางใจในพระนางมารีอา
เสื้อจำพวกเป็นเครื่องหมายของคณะคาร์แมล และเป็นเครื่องหมายแห่งการคุ้มครองป้องกันของ
พระมารดามาช้านาน มีความหมายทางชีวิตจิต และได้รับการรับรองจากพระศาสนจักร
– เสื้อจำพวก หมายถึง การอุทิศตนติดตามองค์พระเยซูเจ้า เช่นเดียวกับพระนางมารีย์ ซึ่งเป็นรูปแบบ
ที่สมบูรณ์ของบรรดาศิษย์พระเยซูเจ้า การอุทิศตนนี้มีจุดกำเนิดอยู่ที่ศีลล้างบาป ซึ่งทำให้เราทุกคน
เป็นบุตรพระเจ้า
– เสื้อจำพวก นำพวกเราทุกคนเข้ามาสู่ประชาคมนักบวชชายและหญิง ซึ่งมีอยู่ในพระศาสนจักรเป็น
เวลานานกว่า 8 ศตวรรษ นั่นคือ คณะคาร์แมล
– เสื้อจำพวก เตือนใจเราให้ระลึกถึงแบบอย่างของบรรดานักบวชแห่งคาร์แมล และทำให้เรา
มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ในฐานะพี่และน้องต่อกันและกัน
– เสื้อจำพวก เป็นการแสดงออกซึ่งความเชื่อของเรา ว่า เราจะพบกับพระเจ้าในชีวิตนิรันดร
โดยผ่านทางความช่วยเหลือ คำภาวนาวอนขอของพระนางมารีย์ พระมารดา
– เสื้อจำพวก เป็นเครื่องหมายแห่งการปกป้องคุ้มครองของพระนางมารีย์ และเครื่องหมายแห่งการ
เป็นสมาชิกในครอบครัวคาร์แมล และสมาชิกจะดำเนินชีวิตตามน้ำพระทัยของพระเจ้าด้วยความเต็มใจ

2. คำสอนแห่งพระนางพรหมจารีมารีย์
– จงเปิดใจต่อพระเจ้า และน้ำพระทัยของพระองค์ ซึ่งแสดงต่อเราโดยทางเหตุการณ์ประจำวัน
– รับฟังพระวาจาของพระองค์ในพระคัมภีร์และในชีวิต เชื่อพระวาจา และนำไปปฏิบัติในชีวิต
ประจำวันของเรา
– จงสวดภาวนาอยู่เสมอ เพื่อจะได้พบกับการสถิตอยู่ของพระเจ้าในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา
– จงเอาใจใส่ ดูแล ความต้องการของเพื่อนพี่น้องอยู่เสมอ

👉 กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับเสื้อจำพวก
1. การรับเสื้อจำพวกนี้รับได้เพียงครั้งเดียว โดยรับจากพระสงฆ์ หรือผู้มีอำนาจหน้าที่
2. เสื้อจำพวกนี้สามารถแทนที่ได้โดยเหรียญจำพวก ซึ่งด้านหนึ่งเป็นรูปของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของ
พระเยซูเจ้า และอีกด้านหนึ่งเป็นรูปของพระแม่มารีย์ ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็น และได้รับความเห็นชอบ
จากพระสงฆ์ผู้มีอำนาจหน้าที่
3. เสื้อจำพวกรวมเราให้มีชีวิตคริสตชนที่แท้ ด้วยการดำเนินชีวิตตามคำสอนแห่งพระวรสาร การรับศีล
ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มีความศรัทธาพิเศษต่อพระแม่มารีย์ ซึ่งเราแสดงออกด้วยการสวดบทวันทามารีอา 3 บททุกวัน

👉 กฎเกณฑ์ทั่วไปของพระศาสนจักรเกี่ยวกับเสื้อจำพวกขนาดเล็ก
(General Ecclesiastical Regulations concerning the Small Scapulars)
เสื้อจำพวกขนาดเล็ก ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ผืนผ้าที่ทำด้วยขนแกะ
สี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาว 2¾ นิ้ว และความกว้าง 2 นิ้ว ทั้ง 2 ส่วนนี้ถูกเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยสาย
หรือแถบ เพื่อให้สามารถสวมให้ส่วนหนึ่งอยู่ด้านหน้า และอีกส่วนหนึ่งอยู่ด้านหลัง วัสดุที่ใช้ทำ
ต้องทำมาจากผ้าทอขนแกะ และมีสีที่เป็นสีของเครื่องแบบคณะคาร์แมล

🙏📄 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์คณะฆราวาสคาร์เมไลท์แห่งกรุงเทพฯ

#แผนกคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
#คำสอนผู้ใหญ่
#RCIA

CR. : แผนกคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ - RCIA
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 18, 2022 4:58 pm

……………ขอเสริมเรื่องเกี่ยวกับสายจำพวก

👿 ซาตานเกลียดสายจำพวกเพราะเหตุนี้

เมื่อเราใส่สายจำพวกด้วยความเชื่อ สิ่งคล้ายศีลนี้จะกลายเป็นอาวุธต่อสู้กับปีศาจ

ในบรรดาอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักรคาทอลิก สายจำพวกสีน้ำตาลเป็นสิ่งที่มีผู้นิยมสวม
ใส่มากที่สุดอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งคล้ายศีลที่จะสวมใส่ไว้รอบคอซึ่งจะทำให้เรามีความใกล้ชิดกับ
พระเยซูคริสต์และพระมารดาของพระองค์

ในประวัติศาสตร์ตลอดมา สายจำพวกได้ช่วยวิญญาณคริสตชนนับไม่ถ้วนและพิสูจน์ให้เห็นว่า
เป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพต่อการโจมตีของซาตาน ในหนังสือศรัทธาชื่อ อาภรณ์แห่งพระ
หรรษทาน (Garment of Grace) ได้เล่าเรื่องราวที่เป็นหลักฐานในข้อนี้ในชีวิตของ
บุญราศี Francis Ypes เรื่องเป็นดังนี้ "วันหนึ่งสายจำพวกของท่านหล่นไปที่พื้น และขณะที่ท่านกำลัง
เก็บขึ้นมาใส่นั้น ปีศาจก็พูดด้วยเสียงโหยหวนว่า 'ทิ้งสิ่งนี้ไปเถิด มันเป็นสิ่งที่ฉกฉวยวิญญาณมากมาย
ไปจากเรา!' ฟรานซิสจึงบังคับให้ปีศาจยอมรับว่ามีสามสิ่งที่เจ้าปีศาจร้ายกลัวมากที่สุด นั่นคือพระนาม
อันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสตเจ้า , พระนามของพระมารดามารีย์ และสายจำพวกแห่งคาร์เมลอันศักดิ์สิทธิ์ "

และขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งของอำนาจแห่งสายจำพวกในการ "ฉกฉวย" วิญญาณมาจากปีศาจ
นักบุญปีเตอร์คลาเวอร์ St. Peter Claver ใช้สายจำพวกสีน้ำตาลในภารกิจการแพร่ธรรมของท่าน
ในแต่ละเดือนจะมี "เรือขนทาสจำนวน 1,000 คนมายังเมือง Cartegena, ประเทศโคลัมเบีย,
ในอเมริกาใต้ นักบุญปีเตอร์ใช้วิธีนี้เพื่อประกันความรอดของผู้กลับใจเลื่อมใส ประการแรกท่าน
สอนคำสอนให้ความรู้ทางศาสนาแก่ทาส จากนั้นท่านก็จะให้พวกเขารับศีลล้างบาปและให้สวม
สายจำพวก มีนักบวชบางคนกล่าวหานักบุญว่าเป็นคนงมงาย แต่นักบุญปีเตอร์เชื่อมั่นว่าพระแม่มารีย์
จะคอยเฝ้าระวังผู้ที่ท่านทำให้กลับใจทุกคน และผู้ที่ท่านช่วยให้กลับใจนั้นมีจำนวนถึง 300,000 คน!

เรื่องราวเหล่านี้และเรื่องราวอื่นๆ สะท้อนถึงสิ่งที่พระสงฆ์ผู้ทำพิธีขับไล่ปีศาจหลายคนได้มี
ประสบการณ์ พระสงฆ์ผู้มีชื่อเสียง Fr. Gabriele Amorth กล่าวว่าปีศาจเคยพูดกับท่านในระหว่าง
การไล่ผี "ข้ามีความกลัวเป็นอย่างยิ่งเมื่อแกเอ่ยพระนามของแม่พระ เพราะข้ารู้สึกอับอายมากยิ่งนัก
จากการถูกเฆี่ยนตีโดยสิ่งสร้างของพระเจ้า มากกว่าการถูกเฆี่ยนตีโดยพระเจ้าเอง"

ดังนั้น เมื่อการสวมใส่สายจำพวกสีน้ำตาลทำให้ผู้สวมใส่มีพัฒนาการความเชื่อที่ดีขึ้น ก็จะเท่ากับ
เป็นปราการป้องกันที่แข็งแกร่งต่อการโจมตีของซาตาน เพราะสายจำพวกนำบุคคลผู้สวมใส่ให้ใกล้ชิด
พระแม่มารีย์มากขึ้น พระแม่ผู้ทรงอำนาจซึ่งปีศาจกลัวมากที่สุด

CR. : https://www.facebook.com/FaithOfLord/ph ... NkQtVmUeks


✝️ คุณพ่อฮิกกินส์กับสายจำพวกสีน้ำตาล

มีใครบ้างที่ไม่สนุกสนานในการกินบาร์บีคิวกับเพื่อนๆ? เมื่อผมเชื้อเชิญคู่แต่งงานใหม่ให้มาร่วม
พิธีมิสซาที่บ้านของคู่สามีภรรยาคู่หนึ่งสำหรับกลุ่มผู้สมรสและร่วมในงานเลี้ยงสังสรรค์ด้วยบาร์บีคิว
ผมจัดเตรียมศาสนภัณฑ์ต่างๆ และออกเดินทางไปที่บ้านนั้น ผมไปถึงเวลาเย็น 18.00 น. ด้วยหัวใจ
ที่ชุ่มชื่นที่จะได้พบกับคู่สมรสหนุ่มสาวจำนวนประมาณ 15 คน แล้วเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นและทุกสิ่ง
ก็เปลี่ยนไป ผมต้องขับรถประมาณ 140 ไมล์ไปที่โรงพยาบาลในกรณีเหตุฉุกเฉิน

ผมขับรถไปอย่างรวดเร็ว ด้วยความคิดว่าคนไข้อาจใกล้เสียชีวิต แอนคงกำลังรอคอยผมอยู่
ผมรู้จักเธอ, สามีของเธอและลูกๆของเธอที่โบสถ์ เมื่อผมเดินเข้าไปเห็นทีมกู้ชีพอยู่กับคนไข้
ผมจึงรีบเดินเข้าไป

“ขอโทษด้วยค่ะ พ่อยอห์น คุณพ่อมาสายเกินไป เขาจากไปแล้วค่ะ” แอนยิ้มและพูดกับผม เ
ธอรู้สึกเสียใจแต่ก็เข้าใจดีว่าผมพยายามมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว พวกเขากำลังดึงสายยาง
ออกจากชายชรา ผมสังเกตว่าเขาสวมใส่สายจำพวกสีน้ำตาลแบบเก่าอยู่ที่คอ ผมจึงเข้าไปใกล้และ
พูดว่า “เขาสวมสายจำพวกแบบเก่าอยู่” เมื่อผมสัมผัสสายจำพวก ก็มีเสียงบี๊บดังขึ้นจากเครื่องอ่าน
หัวใจและก็มีเสียงตามมาอีก แอนซึ่งเป็นนางพยาบาลพูดว่า “คุณพ่อทำอะไรคะ?”

ผมตอบว่า “เปล่า” แอนและนางพยาบาลคนอื่นรีบเข้าไปดูแลคนไข้ พวกเขาต่อสายยางเข้าไปใหม่
ทีมกู้ชีพต่างอ้าปากค้างด้วยความประหลาดใจ คนไข้ลืมตาขึ้นมาและพูด (เป็นสำเนียงชาวไอริช)
“โอ คุณพ่อครับ ผมกำลังคอยคุณพ่ออยู่ ผมต้องการสารภาพบาป”

ผมเกือบจะเป็นลม ผมไม่ได้ทำอะไรเลยเพียงแต่ยืนมองและสัมผัสสายจำพวกเท่านั้น สิ่งต่อไปที่ผมรู้
ก็คือ พวกเขากำลังทำงานกับคนไข้อยู่ คนไข้ไม่ได้สารภาพบาป แต่ผมได้โปรดศีลอภัยบาปกรณีพิเศษ
ฉุกเฉินแก่เขาในระหว่างที่ทีมกู้ชีพกำลังทำงาน คนหนึ่งในทีมกู้ชีพพูดกับผมว่า ผมสบายดีไหมและ
นำผมไปนั่งที่โต๊ะ

สองสัปดาห์ต่อมา ชายคนนั้นก็ได้มาหาผมเพื่อสารภาพบาปและเขาบอกผมว่า แพทย์ไม่รู้ว่าอะไรที่
ทำให้เขาฟื้นขึ้นมาได้ และแพทย์ได้ฉีกใบมรณะบัตรซึ่งได้เซ็นรับรองไว้เรียบร้อยแล้ว ทีมกู้ชีพได้มา
เยี่ยมเขาที่โรงพยาบาลและเอาใบบันทึกงานของทีมให้เขาดู ที่ด้านล่างสุดของใบบันทึกเขียนบันทึก
เวลาและสถานที่ที่เขาเสียชีวิตเอาไว้ และมีตัวหนังสือตัวใหญ่กำกับว่า “กลับมามีชีวิตโดยพระเป็นเจ้า”

อัศจรรย์ยังคงเกิดขึ้น และไม่, ผมไม่ได้เป็นผู้ทำ มันเกิดขึ้นตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า ทำไม
พระองค์จึงทรงทำอัศจรรย์กับคนหนึ่งและไม่ได้ทำอัศจรรย์กับอีกคนหนึ่ง? ผมไม่รู้จริงๆ ผมอธิบายไม่ได้
แต่ผมรู้ว่าพระเป็นเจ้าทรงทำอัศจรรย์ในชีวิตของผม สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผมนั้นไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ทรง
ทำให้กับใครคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้กับตัวผมเอง พระองค์ทรงทำให้ผมกลับมาจากบาป
และความตายของผม โดยอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์และความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์

ชายคนนั้นยังคงเสียชีวิตตามธรรมชาติและเขาจะได้กลับคืนมามีชีวิตนิรันดร พระเยซูเจ้าผู้ทรง
กลับฟื้นคืนพระชนม์ทรงประทานชีวิตนิรันดรแก่พวกเราทุกคน และนั่นเป็นสิ่งที่
พวกเรากำลังแสวงหาและมุ่งไปสู่อีสเตอร์

Father Higgins

CR. : https://www.facebook.com/FaithOfLord/ph ... 10/?type=3
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 18, 2022 5:02 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม
นักบุญมาร์แซลลีนา
St. Marcellina

มาร์แซลลีนาเป็นลูกสาวของผู้ดูแลแคว้น Gaul และเป็นน้องสาวของนักบุญอัมโบรส
ท่านไปที่โรมพร้อมกับครอบครัวตั้งแต่ยังเยาว์วัยในปี 353 ท่านถวายตัวสู่ชีวิตนักบวช
โดยผู้รับคำปฏิญาณคือพระสันตะปาปา Liberius ท่านดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัด
กระทั่งเมื่อไปเยี่ยมนักบุญอัมโบรสที่เมืองมิลานก็ถูกขอให้ผ่อนเพลาลงบ้าง นักบุญอัมโบรส
อุทิศงานเขียนชิ้นสำคัญของท่านว่าด้วยการถือพรหมจรรย์
แก่มาร์แซลลีนา ผู้เป็นน้องสาว ท่านเสียชีวิตในปี 398

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 18, 2022 5:03 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม
นักบุญพามโบ
St. Pambo, Hermit

พามโบ (ค.ศ.๓๐๓-๓๙๐) หรือ Pamo (พาโม) เป็นฤษีชาวอียิปต์ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ
นักบุญอันตน ท่านได้รับการยกย่องจากนักบุญอธานาซีอุสในเรื่องการดำเนินชีวิตที่ดี
และปกป้องข้อคำสอนจากการประชุมสังคายนาเมือง Nicaea (ปี ๓๒๕) พามโบบวช
เมื่อปี ๓๔๐ ท่านดำเนินชีวิตเหมือนฤษีร่วมสมัยคือ ทำงานด้วยมือ อดอาหาร
พลีกรรมทรมานกาย และใช้เวลาสวดภาวนายาวนาน ท่านถือว่าความสามารถในการ
รักษาความเงียบเป็นพื้นฐานก้าวแรกของชีวิตฝ่ายจิตที่ลึกซึ้ง ท่านเทศน์เสมอว่า
"จงระวังมโนธรรมเมื่ออยู่กับเพื่อนบ้าน แล้วท่านจะรอด"

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.ค. 20, 2022 11:55 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม
นักบุญมาครินา พรหมจารีย์
St. Macrina the Younger, Virgin

มาครินา (ค.ศ.๓๒๗-๗๙) เป็นพี่สาวของนักบุญบาซิลและเกรกอรีแห่งนิสซา ท่านเกิดที่
เมือง Caesarea ใน Cappadocia มาครินาเป็นพี่สาวคนโตของน้องๆ ๙ คน ท่านถูก
หมั้นหมายตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี แต่คู่หมั้นเสียชีวิต มาครินาจึงสาบานจะถือพรหมจรรย์ตลอดชีวิต
ท่านช่วยอบรมน้องชายน้องสาวที่บ้าน เมื่อบาซิลกลับจากการศึกษาที่เอเธนส์ มาครินาโน้มน้าวเขา
ให้สละทรัพย์สมบัติและไปเป็นฤษี ภายหลัง บาซิลจัดที่พำนักให้มารดาและพี่สาวของเขา
ในเมือง Pontus ร่วมกับกลุ่มสตรีคนอื่นๆ ที่มาใช้ชีวิตร่วมกัน

เมื่อมารดาเสียชีวิตในปี ๓๗๓ มาครินาก็บริจาคข้าวของทั้งหมด และทำงานเลี้ยงชีพ
ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง มาครินาเสียชีวิต ๙ เดือนหลังการตายของบาซิลในปี ๓๗๙

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.ค. 20, 2022 11:57 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม
นักบุญมาร์กาเร็ตแห่งอันติโอก
St. Margaret of Antioch

ตามตำนานเล่าว่ามาร์กาเร็ตเป็นลูกสาวของพระสงฆ์ต่างลัทธิในเมืองอันติโอกใน Pisidia
เธอมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Marina

มาร์กาเร็ตกลับใจถือคริสตศาสนา เป็นเหตุให้ถูกพ่อขับไล่ออกจากบ้าน เธอได้ทำงานเป็น
คนเลี้ยงแกะ ผู้ปกครองของเมืองหลงใหลความงามของเธอ แต่เธอปฏิเสธไมตรีเขา จึงถูกจับ
ข้อหาเป็นคริสตชน เขาให้คนลงทัณฑ์ทรมานและคุมขังเธอ ขณะอยู่ในคุกเธอเผชิญหน้ากับ
ปีศาจซึ่งจำแลงมาในร่างมังกร มันกลืนเธอเข้าไป แต่ไม้กางเขนที่เธอถือในมือขวางลำคอ
จนมันต้องคายเธอออกมา ด้วยเหตุนี้เธอจึงเป็นนักบุญอุปถัมถ์ของการคลอด

พวกเขายังพยายามประหารเธอด้วยการเผาไฟและกดน้ำแต่เธอก็รอดพ้นได้อย่างอัศจรรย์
คนหลายพันที่เห็นเหตุการณ์ต่างพากันกลับใจ ที่สุดเธอถูกตัดศีรษะ ตัวตนและการถูกสังหาร
เป็นมรณสักขีของมาร์กาเร็ตน่าจะเป็นเรื่องจริงแต่เรื่องอื่นๆ อาจเป็นการเสริมแต่งเข้ามา
อย่างไรก็ตามเรื่องของมาร์กาเร็ตเป็นที่นิยมอย่างมากในยุคกลาง ถูกบอกเล่าเผยแพร่ไปทั่ว
จากตะวันออกสู่ยุโรปตะวันตกเธอเป็นหนึ่งใน ๑๔ ผู้อุปถัมภ์ศักดิ์สิทธิ์ เสียงของมาร์กาเร็ต
เป็นหนึ่งในเสียงที่โจน ออฟ อาร์คได้ยินในเวลาเธอได้รับนิมิต

CR : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 25, 2022 5:33 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ 21 กรกฎาคม
นักบุญวิคตอร์
St. Victor

ตามตำนาน วิคตอร์เป็นทนายในกองทัพโรมันประจำการที่เมือง Marseilles ท่านถูกผู้ปกครอง
เมืองจับและส่งตัวให้จักรพรรดิ Maximian ในฐานะผู้ยืนยันความเชื่อคริสตชน ท่านถูกลากตัวไป
ตามถนนเฆี่ยนตีและถูกจำคุกขณะอยู่ในคุก ท่านทำให้ผู้คุม 3 คนกลับใจเป็นคริสตชน ผู้คุม
เหล่านั้นถูกตัดศีรษะ ส่วนท่านได้รับทัณฑ์ทรมานที่สุด เมื่อท่านปฏิเสธไม่นมัสการเทพจูปิเตอร์
ท่านก็ถูกหินโม่บดและตัดศีรษะ สุสานของท่านได้กลายเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญที่มีชื่อเสียงที่สุด
แห่งหนึ่งใน Gaul ท่านเสียชีวิตในปี 290

CR : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 25, 2022 5:35 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม
นักบุญมารีย์ชาวมักดาลา
St. Mary Magdalene

ชื่อของเธอมาจาก "มักดาลา" เมืองในแคว้นกาลิลีอันเป็นถิ่นฐานของเธอ พระวรสารกล่าวถึงเธอว่า
เป็นผู้หญิงที่ "ได้รับการรักษาให้พ้นจากวิญญาณชั่วและโรคภัยต่างๆ"... คนที่มีผีเจ็ดตนออกจากตัว
(ลก๘:๒)

นักวิชาการบางคนถือว่ามารีย์ชาวมักดาลาคือหญิงบาปที่นำน้ำมันชะโลมพระบาทพระเยซูในบ้าน
ของซีมอน ชาวฟาริสี (ลก ๗:๓๖-๕๐) บางคนเชื่อมโยงเธอกับมารีย์ น้องสาวของมาร์ธาและลาซารัส
(ลก ๑๐:๓๘-๔๒, ยน ๑๑) บ้างก็เชื่อว่าสามคนนี้คือคนเดียวกัน แต่บ้างก็คิดเห็นว่าพวกเธอเป็นบุคคล
สามคน

แต่ที่พระวรสารบอกอย่างชัดเจนเกี่ยวกับมารีย์ชาวมักดาลาก็คือเธอเป็นผู้ติดตามพระเยซูเธอร่วม
เดินทางไปด้วยและคอยรับใช้พระองค์ (ลก ๘:๒-๓) พระวรสารบันทึกว่าเธอเป็นหนึ่งในสตรีที่อยู่เชิง
กางเขนของพระเยซูและเป็นพยานในการถูกตรึงกางเขน พระวรสารทั้งสี่ฉบับกล่าวถึงเธอ ๑๒ ครั้ง
ซึ่งมากกว่าอัครสาวกคนอื่นๆ

ยิ่งกว่านั้น เธอเป็นพยานคนแรกที่บอกเล่าถึงการกลับคืนพระชนม์ชีพ พระวรสารทุกฉบับบรรยายว่า
มารีย์ไปที่คูหาฝังศพในเช้าวันปัสกา เมื่อเห็นคูหาว่างเปล่า เธอยืนอยู่ข้างนอกร่ำไห้พระเยซูได้ปรากฏ
แก่เธอและถามเธอว่า "สตรีเอ๋ยเธอร้องไห้ทำไม เธอกำลังมองหาใคร" (ยน ๒๐:๑๕) แต่เธอจำพระองค์
ไม่ได้คิดว่าพระองค์เป็นคนสวน ต่อเมื่อพระเยซูเรียกชื่อเธอ "มารีย์" เธอจึงจำพระองค์ได้เธอกลับไปบอก
พวกศิษย์ที่กำลังโศกเศร้าถึงข่าวการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า

เธอได้รับการยกย่องเป็นตัวแทนโดดเด่นของสตรีที่ติดตามพระเยซูในยุคกลาง มารีมักดาลีนได้รับการ
ยกย่องเป็นนักบุญอุปถัมถ์ของโสเภณีที่กลับใจ

CR : Sinapis


22 กรกฎาคม
ฉลองนักบุญมารีย์ ชาวมักดาลา
(St Mary Magdalene, feast)

พระวรสารทั้งหมดต่างเห็นคล้องต้องกันถึงบทบาทสำคัญของนักบุญมารีย์ ชาวมักดาลา ที่ไม่มี
ใครเหมือน ในบรรดาผู้ติดตามพระเยซูเจ้าทั้งหลาย ชื่อ "มักดาลา" อาจมีที่มาจากสถานที่เกิด
ของท่าน คือมีเมืองชื่อ มักดาลา ตั้งอยู่ใกล้ทิเบเรียส บนชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี ตามธรรมประเพณี
โบราณของพระศาสนจักรลาตินเชื่อว่า มารีย์ ผู้เป็นคนบาป เป็นคนเดียวกับมารีย์ แห่งเบธานี ซึ่ง
เป็นน้องสาวของมารธาและลาซารัส และเป็นคนเดียวกับ มารีย์ ชาวมักดาลา มารีย์คนนี้ที่ถูกเรียกว่า
"ชาวมักดาลา" เป็นผู้ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขับไล่ผีเจ็ดตนออกไปจากนาง คนบาปผู้นี้ได้ชโลม
พระบาทของพระองค์ด้วยความรัก และตามพระวรสารของนักบุญยอห์น ที่เล่าว่าคือ มารีย์ แห่งเบธานี
(ดังนั้นก็เป็นน้องสาวของมารธา) ผู้ซึ่ง "นั่งแทบพระบาทขององค์พระผู้เป็นเจ้า และคอยฟังพระวาจา
ของพระองค์" แต่อย่างไรก็ตาม พระศาสนจักรตะวันออก ให้ความเคารพนับถือมารีย์โดยแยกแยะ
เป็นสามบุคคลที่ต่างกัน นักพระคัมภีร์ และนักวิชาการต่างๆในปัจจุบันส่วนใหญ่ ก็เชื่อว่าเป็นสาม
บุคคลแตกต่างกัน

มารีย์ชาวมักดาลาซึ่งเป็นผู้ติดตามที่รักพระองค์อย่างเหลือล้นผู้นี้ ได้ยืนอยู่กับพระมารดาผู้เป็นที่รัก
ของพระองค์แทบเชิงกางเขนของพระเยซูเจ้า ท่านยังเป็นพยานในการฝังพระองค์ในพระคูหา
และเป็นคนแรกที่ได้เห็นทั้งพระคูหาที่ว่างเปล่า และได้เห็นพระอาจารย์เจ้าผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ
(the risen "Rabboni") ในเช้าตรู่ของวันปัสกา โดยแท้จริงแล้ว เป็นท่านเองที่ถูกส่งไปโดยพระผู้ทรง
กลับฟื้นคืนพระชนมชีพให้นำข่าวดีไปแจ้งให้อัครสาวกคนอื่นๆทราบ ภารกิจนี้ทำให้ท่านได้รับขนาน
นามว่าเป็น "อัครสาวกของบรรดาอัครสาวก" (= Apostle to the Apostles)
ในสมัยพระศาสนจักรแรกเริ่ม

ชาวคาทอลิกนับถือนักบุญมารีย์ ชาวมักดาลา ว่าเป็นแบบอย่างของชีวิตรำพึงภาวนา
และของการเป็นทุกข์กลับใจ ท่านอาจสิ้นชีพที่เมืองเอเฟซัส

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 25, 2022 7:30 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม
นักบุญยอห์น แคสเซียน
St. John Cassian

ยอห์น แคสเซียน (ค.ศ.๓๖๐-๔๓๕) เป็นฤษีและนักเขียนหนังสือเทววิทยา ท่านไปที่ปาเลสไตน์
ในปี ๓๘๐ กับเพื่อนคนหนึ่ง และได้เป็นฤษีในอียิปต์ในปี ๔๐๐ ท่านเข้าเป็นศิษย์ของนักบุญยอห์น
คริสซอสโตม ท่านเดินทางไปโรมเพื่อปกป้องพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ ๑ หลังได้รับการบวช
ที่โรม ท่านได้ก่อตั้งอารามนักพรตในภาคใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นการบุกเบิกชีวิตอารามของยุโรป
ท่านเขียนหนังสือเทววิทยาหลายเล่มที่ส่งอิทธิพลต่อคนรุ่นหลัง แม้พระศาสนจักรตะวันตกจะไม่เคย
ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญอย่างเป็นทางการ แต่พระศาสนจักรตะวันออกถือว่าท่าน
เป็นนักบุญคนสำคัญคนหนึ่ง

CR: Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 25, 2022 7:32 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม
นักบุญเดคลัน พระสังฆราช และโทมัส อาเคมปีส
Sts. Declan, Bishop ; Thomas A Kempis

เดคลัน (ต้นศตวรรษที่ ๕) เป็นสังฆราชชาวไอริชในดินแดน Waterford ท่านเป็นหนึ่งในสี่สังฆราช
ที่ทำงานในไอร์แลนด์ก่อนหน้าที่นักบุญแพทริกจะมาถึง ตามประวัติชีวิต เดคลันกำเนิดในชาติ
ตระกูลสูงใกล้เมือง Lismore ท่านได้รับอภิเษกเป็นสังฆราชและได้ก่อตั้งวัดที่ Ardmore ซึ่งยังมี
ซากอารามและบ้านพักฤษีพร้อมกับบ่อน้ำหลงเหลืออยู่ เล่ากันว่าบ่อน้ำนี้บำบัดโรคได้เมื่ออายุมากขึ้น
เดคลันก็ลา เกษียณสู่ห้องพักฤษีของท่าน ท่านได้กลับมายัง Ardmore และเสียชีวิตที่นั่น

ในวันเดียวกันนี้พระศาสนจักรเอปิสโคปัลในสหรัฐระลึกถึง โทมัส อาเคมปีส (ค.ศ.๑๓๘๐-๑๔๗๑)
ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้เขียนหนังสือคลาสสิค The Imitation of Christ (จำลองแบบพระคริสต์) ซึ่งได้รับ
การแปลออกเป็นภาษาต่างๆ มากกว่าหนังสือเล่มใดนอกเหนือจากพระคัมภีร์เนื้อหาของหนังสือเน้น
ถึงความสำคัญของความศรัทธามากกว่าความรู้และชีวิตภายในมากกว่างานรับใช้ทางโลก
ท่านไม่ได้รับการประกาศตั้งเป็นบุญราศีหรือนักบุญแต่อย่างใด

CR : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 25, 2022 7:34 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม
นักบุญคริสโตเฟอร์มรณสักขี
St. Christopher, Martyr

คริสโตเฟอร์เป็นมรณสักขีในศตวรรษที่ ๓ ท่านเป็นที่รู้จักดีที่สุดในฐานะนักบุญองค์อุปภัมถ์
ของผู้ขับรถ ชื่อของท่านมาจากภาษากรีกซึ่งหมายความว่า "ผู้อุ้มพระคริสต์" ท่านถูกสังหาร
ในเมือง Lycia ในยุคเบียดเบียนศาสนาโดยจักรพรรดิ Decius (ค.ศ.๒๔๙-๕๑) ชาวคาทอลิก
นิยมสวดขอให้คริสโตเฟอร์ช่วยดูแลคุ้มครองในระหว่างเดินทางให้ปลอดภัยและไร้อุบัติเหตุ

มีเรื่องเล่าว่าเด็กชายคนหนึ่งขอให้คริสโตเฟอร์ช่วยแบกขึ้นไหล่พาข้ามลำธาร คริสโตเฟอร์
พยายามอุ้มเด็กคนนั้นแต่พบว่าเด็กมีน้ำหนักมากเกินเขาจะแบกไหว เด็กชายจึงบอกว่าพระองค์
คือพระเยซูผู้ต้องแบกน้ำหนักของโลกทั้งโลก

วันฉลองของคริสตโตเฟอร์ถูกถอดออกจากปฏิทินสากลของพระศาสนจักรในปี ๑๙๖๙
แต่ในบางท้องถิ่นก็ยังมีการรำลึกฉลองท่าน

CR : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ค. 31, 2022 9:20 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม
นักบุญโยอาคิมและอันนา
St. Joachim and Anne, Parents of Mary

โยอาคิมและอันนา (ศตวรรษแรก) ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในพระวรสาร ความเชื่อว่าท่านเป็นบิดามารดา
ของพระนางมารีย์อิงจากพระวรสารของนักบุญยากอบ (Protevangelium of James) ซึ่งเป็นหนังสือ
ในศตวรรษที่ ๒ และเป็นที่นิยมอย่างมากในยุคกลาง ตามเรื่องเล่าในวรสารฉบับนี้โยอาคิมและอันนา
มีอายุมากแล้วแต่ไม่มีลูก โยอาคิมออกไปอยู่ในทะเลทรายเพื่ออดอาหารและสวดภาวนา อันนาซึ่งคง
อยู่ที่บ้านเศร้ารันทดกับชะตากรรมของตน แต่แล้วเทวดาองค์หนึ่งก็ปรากฏ บอกอันนาว่าท่านจะตั้งครรภ์
และให้กำเนิดเด็กคนหนึ่งซึ่งจะมีชื่อเสียงไปทั่วโลก โยอาคิมก็ได้รับการแจ้งข่าวเดียวกันจากเทวดา

วันฉลองของอันนาและโยอาคิมมีครั้งแรกในศาสนจักรตะวันออกจนถึงปลายศตวรรษที่ ๖ และเริ่มมี
การฉลองในศาสนจักรตะวันตกเมื่อกลางศตวรรษที่ ๑๔ ความศรัทธาต่ออันนามีมากเป็นพิเศษ
ในประเทศแคนาดา อันนาเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของแคนาดาร่วมกับนักบุญโยเซฟ

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ค. 31, 2022 9:21 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ 27 กรกฎาคม
นักบุญแพนตาเลียน มรณสักขี
St. Pantaleon, Martyr

แพนตาเลียน (เสียชีวิต ค.ศ.๓๐๕) เป็นที่ศรัทธาจากพระศาสนจักรตะวันตกในฐานะเป็นหนึ่ง
ในนักบุญผู้ช่วยบรรเทาทั้งสิบสี่ พระศาสนจักรตะวันออกถือว่าท่านเป็นมรณสักขีผู้ยิ่งใหญ่และ
เป็นผู้ทำอัศจรรย์ ท่านเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของแพทย์รองจากนักบุญลูกา

แพนตาเลียนเกิดที่เมือง Nicomedia บิดาเป็นคนต่างศาสนา มารดาเป็นคริสตชน ท่านได้เรียน
ด้านแพทย์และถูกตั้งให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของจักรพรรดิ Galerius ขณะทำหน้าที่นี้ใน
วังแพนตาเลียนละทิ้งความเชื่อ ท่านกลับมาเป็นคริสตชนอีกครั้งเพราะเพื่อนชาวคริสต์คนหนึ่ง
มีตำนานเล่าว่าแพนตาเลียนรักษาคนป่วยให้หายได้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านช่วยเด็กคนหนึ่งให้ฟื้น
จากความตายและท่านมีพละกำลังมหาศาล หลังกลับใจแพนตาเลียนถูกจับในยุคเบียดเบียนศาสนา
โดยจักรพรรดิ Diocletian ท่านถูกทรมานและตัดศีรษะ โลหิตของท่านถูกเก็บรักษาไว้ในเมือง
คอนสแตนนิโนเปิล มาดริด และ Ravello กล่าวกันว่าโลหิตแห้งที่ Ravello จะกลายเป็นโลหิตเหลว
ในวันฉลองของท่านเหมือนกับโลหิตของนักบุญ Januarius ที่เมืองเนเปิล

CR : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ค. 31, 2022 9:23 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม
นักบุญโปรคอรุส นิคานอร์ ติมอน และปาร์เมนัส สังฆานุกร
Sts. Prochorus, Nicanor, Timon and Parmenas, Deacons

โปรคอรุส นิคานอร์ ติมอน และปาร์เมนัส เป็นชายหนุ่ม 4 คนจากจำนวน 7 คนที่ถูกระบุชื่อ
ในหนังสือกิจการอัครสาวก (กจ 6:1-6) ว่าเป็นสังฆานุกรรุ่นแรกสุด ภารกิจของสังฆานุกรอีก 2 คน
คือสเตเฟนและฟิลิป แสดงให้เห็นว่างานของสังฆานุกรไม่ได้จำกัดเพียงการรับใช้ที่โต๊ะอาหาร
แต่ทำหน้าที่บริการพวกคริสตชนเชื้อสายกรีกในวิถีทางเดียวกับที่อัครสาวกทั้งสิบสองกระทำกับ
คริสตชนเชื้อสายยิว

โปรคอรุส ในภายหลังได้เป็นสังฆราชของ Nicomedia และเป็นมรณสักขีที่เมืองอันติโอก
ธรรมประเพณีเล่าว่านิคานอร์ไปที่ไซปรัส ที่ซึ่งท่านถูกสังหารภายใต้คำสั่งของจักรพรรดิ Vespasian
ติมอนได้เป็นสังฆราชของ Bostra ในอาราเบียและถูกสังหารด้วยการจับเผาไฟใน Basrah
ปาร์เมนัสเทศน์สอนหลายปีในเอเชียไมเนอร์และได้เป็นสังฆราชเมือง Soli ในไซปรัสก่อนจะถูกสังหาร
ที่เมืองฟิลิปปีในปี ค.ศ.๙๘ ในยุคของจักรพรรดิ Trajan

วันฉลองพวกท่านเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในปฏิทินโรมัน แต่ศาสนจักรกรีกและออร์โธดอกซ์รัสเซีย
จัดฉลองระลึกถึงพวกท่าน

CR. : Sinapis

28 กรกฎาคม
ฉลองและระลึกถึง..
นักบุญอัลฟอนซา แห่ง การปฏิสนธินิรมล
(St. Alphonsa of the Immaculate Conception)
องค์อุปถัมภ์ : ผู้เจ็บป่วย

"อัลฟอนซา" ปลาคาร์ฟน้อยผู้ทรหดแห่งอินเดีย

อัลฟอนซาเป็นชาวอินเดียคนแรกที่ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ ท่านเกิดเมื่อ
วันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1910 ที่เมืองกุดามัลลูร์ ในรัฐเกราลา ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย
ท่านเป็นลูกคนที่สี่ของยอแซฟ มุททาธุปาดาทู มัททาทูพาดาทู กับ มารีย์ พูธุคารี

มารดาของท่านคลอดท่านก่อนกำหนดในเดือนที่แปดของการตั้งครรภ์ท่านจากความตกใจกลัว
อย่างสุดขีด โดยเรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่ง เนื่องด้วยอากาสที่แสนจะร้อนอบอ้าว นางพูธุคารีซึ่งตั้งท้องท่าน
ได้แปดเดือนจึง\ออกมานอนที่ชานระเบียงบ้านเพื่อรับลมที่พัดมา แต่ขณะกำลังงีบหลับอยู่นั้นเอง
พลันก็มีงูตัวหนึ่งเลื้อยมาจากไหนไม่รู้ แล้วเข้าไปรัดเอวนาง จนพอที่จะทำให้นางสะดุ้งตื่น ซึ่งเมื่อนาง
เห็นว่าสิ่งใดปลุกนาง สัญชาตญาณก็สั่งให้นางรีบขว้างงูนั้น แล้วเขวี้ยงไปให้ไกลตัวโดยพลัน แต่แม้นงู
จะไม่หยุดอยู่แล้ว นางก็ยังคงอยู่ สภาพช็อคสุดขีด จนทำให้ท่านคลอดก่อนกำหนดในที่สุด
กลับมาที่เหตุการณ์ของเราต่อ ภายหลังจากลืมตาดูโลกได้แปดวัน ในวันที่ 26 สิงหาคม ท่านก็ได้รับศีล
ล้างบาป ด้วยนามว่า ‘อันนา หรือ อันนากุตติ’ ณ วัดพระแม่มารีย์ กูดามาลูร์ แต่อนิจจาเพียงสามเดือน
ให้หลังจากที่ ท่านเกิด มารดาของท่านก็ถึงแก่กรรมลงอย่างสงบ ดังนั้นชีวิตนับแต่วันนั้นมา ท่านจึงมีคุณตา
คุณยายซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเอลุมพารัมบิลเป็นคนคอยเลี้ยงดูควบคู่ไปกับบิดาของท่าน และก็ผ่านคุณยาย
ผู้เคร่งและรักการภาวนา ในวัย 5 ปี ท่านก็เริ่มเรียนรู้มันอย่างกระตือรือร้น และเริ่มสวดภาวนาร่วมกับ
ครอบครัว ในทุกๆเย็นที่ห้องพระ

เมื่ออายุได้ 7 ปี ท่านก็ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1917 ซึ่งเมื่อเล่าย้อนถึง
วันนั้นในอีกหลายปีต่อมากับเพื่อนๆของท่าน ท่านก็เล่าว่า “เธอรู้ไหมว่าทำไมฉันถึงความสุขเป็นพิเศษ
ในวันนี้ ก็เพราะฉันได้มีพระเยซูเจ้าในหัวใจไงละ” และแต่นั้นมา ท่านก็ไปมิสซาและรับศีลเป็นประจำทุกวัน

แม้จะไม่มีมารดาเช่นเด็กคนอื่นๆ บุคคลสำคัญที่คอยปลูกฝังความเชื่อของท่านก็คือคุณยายของท่าน
หญิงชราทั้งปลูกฝังความจงรักภักดีต่อพระนางมารีย์ มารดาของชาวเราและบรรดานักบุญทั้งหลาย และ
ยังคอยเล่าเรื่องราวของนักบุญต่างๆให้ท่านฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบุญเทเรซาแห่งอาวีลาและนักบุญ
ดอกไม้น้อยๆแห่งลิซิเออร์(นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู) จนทำให้ท่านมีคามปรารถนาที่จะเป็นนักบุญ
มากยิ่งขึ้นเรื่อย นอกนั้นแล้วผ่านทางบิดา ท่านก็เรียนรู้วิธีพลีกรรมชดเชยบาป(คือการคุกเข่าสวดบนก้อนกวด)
อีกด้วย

ส่วนการศึกษาในโรงเรียน ในปีเดียวกันที่ท่านรับศีลมหาสนิทครั้งแรก ท่านก็ได้เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียน
ประถมอาร์พุคคาระ โธนนันคูซี ณ ที่นั่นท่านได้เพื่อนสนิทที่สุดเป็นชาวฮินดูชื่อ ลักษมี ซึ่งได้เล่าในยามชราว่า
“แม่จำอันนากุตติได้เสมอ แม่ไม่มีทางลืมเธอได้หรอก” ทั้งสองชอบไปเล่นด้วยกัน และมักไปมาหาสู่กันมิได้ขาด
ดังนั้นเธอจึงได้เป็นหนึ่งในประจักษ์พยานชีวิตอันน่าอัศจรรย์ของท่าน ที่แม้เธอจะเป็นคนฮินดู เธอก็ยอมรับ
หนึ่งคำพยานเหล่านั้นก็คือเรื่องราวการอภัยของท่านกับเด็กชายเกเรที่แกล้งท่าน “มันเป็นเพราะนิสัยให้อภัย
ของอันนากุตตีนี้เองที่ทำให้เธอเป็นนักบุญ ไม่ใช่อย่างอื่นที่ทำ เธอเปี่ยมไปด้วยการให้อภัย” เธอกล่าวสรุปเรื่อง

วันหนึ่งหลังจากลักษมีละจากการเล่นชิงช้าที่ท่านชอบกับท่านแล้ว ท่ามกลางความเงียบ จู่ๆก็ปรากฏร่างหนึ่ง
ขึ้นเบื้องหน้าท่าน ยังความกลัวให้แผ่ซ่านไปทั่วร่างของท่าน ท่านถามร่างนั้นคือใคร ร่างนั้นก็ตอบกลับมาว่า
“อย่ากลัวไปเลย ฉันคือดอกไม้น้อยๆ คุณยายของหนูเคยอ่านเรื่องของฉันให้หนูฟังแล้วมิใช่หรือ พระเยซูเจ้า
ทรงพอพระทัยหนูเป็นอย่างยิ่งนะอันนากุตติ พระองค์ทรงประสงค์ให้หนูเป็นนักบวชและมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์
และเพื่อโลกนี้ และหนูจะกลายเป็นเจ้าสาวที่รักของพระองค์” ท่านจึงถามกลับไปว่าท่านจะทำเช่นนั้นได้อย่างไรกัน
นักบุญเทเรซาก็ตอบท่านว่า “หนูจะต้องยอมรับองค์พระเยซูเป็นเจ้าบ่าวในหัวใจของหนู หนูทำได้ไหม” ท่านจึง
ตอบว่าได้ “เด็กดี” พูดเสร็จร่างของนักบุญเทเรซาน้อยก็อันตรธานหายไป

ท่านเรียนที่นั่นอยู่สามปี ในปี ค.ศ.1918 นางอันนัมมา มูริคคาน คุณป้าผู้เจ้าระเบียบที่รักและเอ็นดูท่าน
ก็มารับท่านไปเรียนต่อในโรงเรียนที่หมู่บ้านมุททุชิรา ทำให้นับแต่เวลานั้นมา ท่านจึงได้รับการเลี้ยงดู
ให้เป็นแม่ศรีเรือนที่เพียบพร้อมด้วยความรักจากนางอันนัมมาผู้เสมือนหนึ่งเป็นมารดาอีกคนของท่าน
“อันนากุตติรักคุณป้าของเธอมาก” ลักษมีเล่า ดังเองอนาคตของท่านจึงถูกวางไว้ให้ออกเย้าออกเรือน
ไปกับชายที่เหมาะสมในเวลาที่สมควร ซึ่งขัดกับความปรารถนาของท่านเสียจริง “เธอไม่ชอบการแต่งงาน
เธอไม่ชอบแม้กระทั้งการได้ยินเรื่องแต่งงาน แต่คุณป้าของก็พยานจะทำมันให้สำเร็จไป เธอสงวนหัวใจ
ของเธอไว้ให้กับพระเจ้าของเธอไว้ภายใน เธอมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์”

ในวัยสาวสะพรั่ง ท่านก็ตัดสินใจบอกกับทุกคนว่าท่านปรารถนาจะเป็นนักบวช ซึ่งแน่นอนทันที่ทั้งคุณป้า
และญาติคนอื่นๆ ของท่านก็ต่างพากันคัดค้านแผนของท่าน พวกเขาต้องการให้ท่านได้แต่งงานกับ
ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ร่ำรวยและหล่อ แต่หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรท่านก็ยอม ท่านพยายามอ้อนวอนคุณลุงว่า
ไม่อยากแต่งงาน แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนความคิดของคุณป้าได้ แน่นอนว่าเรื่องนี้ยังความทุกข์ใจให้ท่านเป็น
อันมาก “เธอร้องไห้เยอะมาก” กุนจามา ชาวาลา เพื่อนสนิทอีกคนของท่าน

แต่กระนั้นด้วยความรักต่อพระสวามีเจ้าเยซู ท่านจึงได้วางแผนเผาเท้าของท่านเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการ
แต่งงานในครั้งนี้โดยการเผาเท้าของท่านในหลุมเผาถ่าน โดยเท่าเล่าว่า “การแต่งงานของดิฉันถูก
ตระเตรียมไว้ตั้งแต่ดิฉันอายุได้สิบสามปี ดิฉันจะหลีกเลี่ยงจากมันได้อย่างไร ดิฉันสวดภาวนาตลอดทั้งคืน…
แล้วดิฉันก็คิดขึ้นได้ว่าหากร่างกายของฉันเกิดมีความพิการเล็กน้อยก็จะไม่ใครต้องการดิฉัน” แต่ในความ
พยายามครั้งนั้น ขณะท่านกำลังเอาเท้าลนไฟอยู่เพื่อให้เกิดแผลเพียงเล็กน้อย ท่านก็เกิดลื่นตกลงไปใน
หลุมถ่าน ทำให้เท้าทั้งสองของท่านถูกไฟครอกจนเป็นแผลใหญ่ ที่กว่าจะรักษาให้หายขาดได้ก็ต้องกิน
เวลาถึงหนึ่งปี

ความเด็ดเดี่ยวครั้งนี้ของท่านไม่ไร้เปล่า เพราะมันเป็นผลให้คุณป้าของท่านอนุญาตให้ท่านเข้าอาราม
คณะฟรานซิสกัน กลาริสได้ อันนับเป็นการเสียสละครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเธอ จนเธอไม่อาจจะหักห้ามใจ
ได้ และได้ตรอมใจตายในเวลาต่อมาด้วยความเสียใจ กลับมาที่ท่าน เมื่อได้รับอนุญาตเช่นนี้แล้ว ด้วย
ความช่วยเหลือของคุณพ่อยากอบ มูริคเคน หลังติดต่ออันพร้อมสรรพแล้ว
ในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1927 ด้วยวัย 17 ปี ท่านจึงได้เข้านวกะสถานของคณะที่เมืองภาระนันกานัม
สังฆมณฑลปาลาย หลังจากนั้นในวันที่ 2 สิงหาคม ปีถัดมาท่านจึงได้รับผ้าคลุมศีรษะ และกลายโปสตุลันต์
ของคณะด้วยชื่อใหม่ว่า ‘ภคินีอันฟอนซาแห่งการปฏิสนธินิรมล’ ภายหลังจากวันฉลองนักบุญอัลฟอนโซ

ท่านเข้าพิธีรับชุดของคณะในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ.1930 ต่อหน้าพระสังฆราชยากอบ คาลาเชร์รี
แห่ง สังฆมนฑลชานกานาเชร์รี และในวันเดียวกันนั้นเอง ท่านก็ได้กล่าวว่า “ฉันสมัครเข้าอารามเพื่อ
เป็นนักบุญ และมีชีวิตผ่านอุปสรรคนานา ฉันจะมีชีวิตไปเพื่ออะไรละ ถ้าไม่ใช่เพื่อการเป็นนักบุญ” แต่ยัง
จะได้ทำอะไรมาก ท่านก็ล้มป่วยลงด้วยปัญหาเรื่องเลือด ท่านจึงจำต้องเข้ารับการผ่าตัดที่เมืองเอร์นากุลัม
กระทั้งหายดี ท่านจึงถูกส่งไปทำงานเป็นครูชั่วคราวที่โรงเรียนนักบุญเปาโล แอล พี วาคักคัด เป็นเวลาปี
หนึ่งคือระหว่างปี ค.ศ.1932 – ค.ศ.1933 ขนาบไปกับการเรียนต่อที่โรงเรียนนักบุญเทเรซา ชานกานาเชร์รี

“ท่านสวยเฉียบด้วยแก้มสีชมพูระเรื่อ” ชายชราอดีตนักเรียนคนหนึ่งเล่า “บางเวลาพวกเราขอให้เธอร้องเพลง
ให้ฟัง” ชายชราอีกคนเป็นพยาน “ตายังจำเพลงหนึ่งได้นะ ท่านบอกว่าเพลงนี้คุณแม่ของท่าน(น่าจะคือคุณป้า
เพราะท่านมักเรียกคุณป้าว่าคุณแม่)เป็นคนสอนท่าน ขณะท่านร้องดวงตาของท่านจะปริ่มน้ำตา – โปรดเสด็จ
มาเถิด องค์พระเยซูเจ้า พระผู้ไถ่ที่รักยิ่งของลูก เสด็จเถิด เสด็จเถิด โปรดเสด็จมาในสวนแห่งดวงใจของลูก
โปรดประทับในตัวลูก และหลั่งเปลวไฟแห่งรักของพระองค์ โปรดครองราชย์ในตัวของลูก และสำแดงแสง
สว่างแห่งสวรรค์ไปชั่วกาลนาน” อดีตนักเรียนคนเดียวกับที่ชมท่านว่าสวยเล่า “ท่านตีผมเบาๆ และอธิบายว่า
ทำไมท่านถึงต้องลงโทษ เหตุการณ์นี้แหละที่ช่วยตาโตมาอย่างว่านอนสอนง่ายตลอดเวลา” ชายชราคนที่สอง
เล่าเกี่ยวกับเรื่องที่เขาแอบโดดเรียนมาเล่นน้ำแล้วถูกท่านจับได้

ท่านได้กลายเป็นนวกะที่เมืองชานกานาเชร์รี ในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1935 แต่หลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์
อาการเลือดคลั่งในจมูกและตาของท่านก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น ผนวกกับแผลที่เป็นหนองที่ต้นขาของท่าน
ก็ส่งผลทำให้ท่านต้องนอนอยู่บนเตียงตลอด คุณอธิการิณีจึงคิดว่าจะส่งตัวท่านกลับภาระนันกานัม แต่หลัง
จากที่พระสังฆราชได้มาและพูดคุยกับท่านแล้ว พระคุณเจ้าก็ลงความเห็นว่าจะให้ท่านอยู่ที่นี่ต่อไป

ท่านนอนซมอยู่เป็นเตียงได้นานหลายเดือน คุณพ่อหลุยส์ แห่งคณะคาร์เมไลท์แห่งพระนางมารีย์
ผู้ปฏิสนธินิรมล ซึ่งเป็นจิตตาธิการของบรรดานวกะก็แนะให้บรรดานวกะร่วมกันทำนพวารต่อ
คุณพ่อคูริอาคอส เอลีอาส ชาวารา ผู้ก่อตั้งคณะของคุณพ่อ(ภายหลังได้เป็นบุญราศีพร้อมท่าน
และในปี ค.ศ.2015 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสก็สถาปนาคุณพ่อเป็นนักบุญ) และในวันสุดท้าย
ของการทำนพวารนั้นเอง คุณพ่อชาวาราก็ประจักษ์มาหาท่าน คุณพ่อได้อวยพรและสัมผัสตัวท่าน
พร้อมบอกกับท่านว่า “ลูกจะหายจากโรคนี้ และลูกจะไม่ได้รับผลใดๆจากมันอีก แต่ลูกก็จะต้องแบก
รับความทุกข์ยากอื่นๆแทน” ทันใดนั้นเอง ท่านก็ได้รับการรักษาให้หายขาดอย่างน่าอัศจรรย์

ดังนั้นท่านจึงได้กลับเข้ามารับการฝึกหัดต่อ กระทั้งได้ปฏิญาณตนในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1936
และได้กลับมายังอารามที่เมืองภาระนันกานัมอีกครั้ง แต่ทันทีคำถามมากมายก็ถูกสาดเทมากที่ท่าน
ทั้งเรื่องท่านป่วยเป็นวัณโรคหรือเปล่า แล้วท่านหายขาดเพราะใครกัน เพราะในหกเดือนนั้นมีการ
ทำนพวารทั้งต่อนักบุญเทเรซาน้อย และต่อคุณพ่อคูริอาคอส เอลีอาส ชาวารา ดังนั้นเพื่อความกระจ่าง
ในเรื่องเหล่านี้ จึงมีการสอบสวนขึ้น จนท่านต้องยอมเผยถึงเรื่องนิมิตของคุณพ่อชาวารา ทำให้ข้อกังขา
ทุกอย่างเป็นที่กระจ่างในที่สุด

ที่ภาระนันกานัมท่านได้รับหน้าที่ให้เป็นครูในโรงเรียนมัธยมสตรี ระหว่างนั้นแม้จะไม่มีโรคร้ายที่เคย
เกือบฆ่าชีวิตท่านไปมารุมเร้า แต่ก็มีอาการป่วยออดๆแอดๆรุมเร้าท่านตลอด แต่ทุกวันท่านก็ไม่เคย
แสดงให้ใครเห็นเลยว่าท่านกำลังเผชิญกับอาการป่วย ในยามกลาวันท่านจะดำเนินชีวิตเช่นบรรดา
ซิสเตอร์คนอื่นๆที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ในเวลากลางคืนที่ไม่มีใครเห็น ท่านก็ทนทรมานกับอาการป่วย
จนหลายครั้งถึงขั้นนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ “รับทรมานด้วยความรักและความชื่นชมยินดีต่อมัน นี่แหละ
คือทุกสิ่งที่ดิฉันต้องการบนโลกใบนี้” ท่านเขียนในจดหมายฉบับหนึ่ง

ท่านระลึกเสมอว่าทุกคนที่ทำให้เธอทุกข์ใจและความทุกข์ยากต่างล้วนเป็น ‘เครื่องมือพิเศษของพระเจ้า’
ซึ่งพระองค์ทรงประทานมาเพื่อทำให้ท่านศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นท่านจึงเพียรทนน้อมรับมันเสมอ ครั้งหนึ่ง
มีคนเคยถามท่านว่า “เธอทำอะไรระหว่างคืน” ทันทีท่านก็ตอบท่านกำลังอยู่ในห้วงแห่ง ‘รัก’ อยู่ และที่สุด
วันหนึ่งท่านก็รับการรักษาให้หายจากอาการป่วยออดๆแอดๆนี้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านจึงได้กลับมามีชีวิต
ปกติสุขเช่นซิสเตอร์คนอื่นๆ

แม้จะหายจาโรคแล้ว การทดลองและความยากลำบากมากมายๆก็เข้ามาท่านโดยตลอด แต่ทุกครั้งท่าน
ก็สามารถที่จะเอาชนะมันและก้าวผ่านมันไปได้เสมอ ด้วยเคล็ดลับง่ายๆก็คือการรักพระและเพื่อนพี่น้อง
ท่านมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น และส่งผ่านความงดงามของพระเจ้าไปยังผู้คนรอบตัวท่านด้วยรอยยิ้มที่
โอบอ้อมอารี ซึ่งสะท้อนชัดถึงวิญญาณอันสุกใสของท่าน

มารีย์ เชชี แม่ครัวประจำอารามที่สนิทกับท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านไปได้ผลโทงเทงฝรั่งสองผลมาจาก
ครูที่โรงเรียน ท่านจึงเรียกให้เธอไปพบและขอให้เธอนำผลโทงเทงฝรั่งที่ท่านได้มาไปทำชัทนีย์หรือ
แกงข้นอินเดียมาให้ท่านรับประทาน พร้อมบอกว่าท่านไม่ชอบชัทนีย์ผลตะลิงปลิง ฝั่งมารีย์เมื่อรู้ความ
ต้องการของท่านแล้วก็รับเอาผลโทงเทงมา แล้วเอาไปย่าง แต่ด้วยภาระงานมากมาย เธอจึงลืมไปว่า
ย่างผลโทงเทงไว้ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวอีกทีผลโทงเทงนั้นก็ไหม้เสียแล้ว แต่ด้วยรับคำมาแล้ว เธอจึงใช้ผล
ตะลิงปลิงซึ่งมีรสเปรี้ยว เหมือนกันมาทำแทน(เหตุการณ์นี้เกิดหลังท่านล้มป่วยหนัก)

แต่ไม่ทันจะหายขาดได้นานเท่าใดในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1939 ท่านก็ล้มป่วยลงอีกครั้ง คราวนี้
ท่านมีไข้ขึ้นสูง จนไม่อาจทำอะไรได้ ซึ่งภายหลังเมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจดูก็สรุปว่าท่านป่วยเป็น
โรคปอดบวม ดังนั้นท่านจึงต้องละจากงานทุกอย่างในอาราม และได้รับคำสั่งจากคุณแม่อธิการ
ให้พักรักษาตัวอยู่ที่ห้องของท่านแทน

เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะขณะท่านป่วยนั้นเอง ในกลางดึกของวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1940
โจรก็ได้บุกเข้ามาในอาราม และได้เผชิญหน้ากับท่าน ด้วยความกลัวสุดขีด ท่านถึงกับเสียสติและเริ่ม
ทำตัวเหมือน เด็กเล็กๆ ท่านไม่อาจจะจดจำอะไรได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ผ่านมา หรือการอ่านหรือการ
เขียน ท่านหวาดกลัว ทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่บิดาที่มาเยี่ยม ท่านก็ยังเห็นเป็นโจร แต่…ท่ามกลางสภาพเหล่านี้
จิตใต้สำนึกของท่านก็ ยังชิดสนิทกับพระเป็นเจ้า ท่านยังคงสวดภาวนาเพื่อผู้อื่นโดยตลอด
“อัลฟอนซาไม่บอกเลยว่าสวดอะไร แต่ ในขณะที่เธออยู่ในสภาพคลุ้มคลั่งนั้นเธอก็มักสวดบทภาวนาสั้นๆ
นี่แหละจึงเป็นวิธีที่ฉันได้เรียนรู้บทอีแจ็คคิวเลชั่นถึงสองบท – ข้าแต่พระเยซูของลูก โปรดพิทักษ์ลูกให้พ้น
จากมลทินแห่งบาปทั้งหลาย และรักษาให้วิญญาณของลูกบริสุทธิ์อยู่เสมอ โปรดประดับวิญญาณของลูก
ด้วยชุดเจ้าสาวแห่งคุณธรรมสวรรค์ด้วยเทอญ ข้าแต่สันตะมารีย์ มารดาของลูก โปรดให้ดวงใจของลูก
เป็นสวนอันน่าภิรมย์ของพระบุตรของพระแม่ด้วยเทอญ”
มารี เชชีเล่าด้วยรอยยิ้มซื่อๆเช่นปกติ ในเวลา 12.30 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1946 ท่านก็ได้จบ
การเดินทางบนโลกใบนี้ของท่านอย่างสงบ ด้วยวัยเพียง 35 ปี ในห้องของท่านที่อารามเมืองภาระนันกานัม
รายล้อมด้วยบรรดาพี่น้องร่วมอารามที่กว่าจะรู้ตัวอีกที ท่านก็จากไปแล้ว

ร่างของท่านถูกบรรจุในโลงอย่างเรียบง่ายและถูกฝังในวันรุ่งขึ้น กุนเย็ตตันเล่าว่า “พ่อยืนอยู่ใกล้ๆและ
มองเห็นทุกสิ่ง ท่านดูสวยมากในโลง ท่านดูไม่เหมือนคนตายสักนิด เมื่อท่านยังมีชีวิต ใครๆก็ต่างบอกว่า
ท่านเป็นคนสวยมากๆ ท่านมีพระพรที่พิเศษจริงๆ พวกเรามีภาพถ่ายของท่านขณะมีชีวิตอยู่สี่ถึงห้าใบ
แต่ไม่รูปใดเลยที่จะสะท้อนความงามจริงๆของท่านเลย มันมีเอกลักษณ์มากๆ ดังนั้นพ่อขอสรุปว่าความงาม
ของท่านนั้นเป็นประจักษ์พยานถึงพระหรรรษทานพิเศษของพระเจ้าในตัวท่าน กล้องไม่อาจบันทึกความงดงาม
ของพระเจ้าไว้ได้”

หลายปีต่อมาภายหลังจากการจากไปของท่าน เสียงดำรัสหนึ่งก็ตรัสขึ้นในพิธีมิสซาโดยบุรุษผู้หนึ่งว่า
“ท่านได้เข้ามายังความรักต่อความทุกข์ทรมาน เพราะท่านรักความทรมานของพระคริสตเจ้า ท่านได้เรียนรู้
ความรักต่อไม้กางเขนผ่านความรักต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน” ซึ่งก็ไม่ใช่เสียงของใครที่ไหน
นั่นก็คือเสียงของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ที่ตรัสเทศน์ในโอกาสสถาปนาซิสเตอร์อันฟอนซา
แห่งการปฏิสนธินิรมลและคุณพ่อคูริอาคอส เอลีอาส ชาวาราขึ้นเป็นบุญราศี
ในวันเสาร์ ที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1986 ณ ปรำพิธีชั่วคราว สนามกีฬานาฮรู เมืองก็อตตายัม ประเทศอินเดีย

และที่สุดในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.2008 ซิสเตอร์ธรรมดาๆคนหนึ่งไร้ยศถาบรรดาศักดิ์ ก็ได้เป็นศักดิ์ศรี
แก่ประเทศอินเดีย เมื่อดำรัสแต่งตั้งนักบุญของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 จบลงภายหลังการ
ทูลขอการแต่งตั้ง พร้อมกันนั้น พระองค์ได้ตรัสเทศน์ถึงท่านว่า “ภคินีอัลฟอนซาเป็นสตรีที่ยอดเยี่ยมมาก
ท่านมั่นใจว่าการรับทรมานทั้งทางกายและทางใจจะเป็นหนทางนำเราไปสวรรค์ ท่านเชื่อว่าสิ่งนี้
(ความทุกข์ทั้งกายและใจ)คือชุดวิวาห์ที่พระบิดาเจ้าทรงประทานให้ เพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับคำเชิญ
เข้างานมงคลสมรส ท่านได้มอบชีวิตของตนให้เป็นของพระคริสตเจ้า และตอนนี้ ท่านได้ร่วมสุข
ในงานเลี้ยงด้วยเนื้อวัวอ้วนพีและเหล้าองุ่นในอาณาจักรสวรรค์แล้ว”

ซึ่งหากเรามองดีๆจากมุมมองของผู้แปลแล้วชีวิตของท่านก็เหมือนปลาคาร์ฟในความเชื่อสืบทอดมา
แต่โบราณในประเทศจีนที่ว่า ที่ ณ ต้นน้ำของแม่น้ำฮวงโห จะเป็นช่วงที่กระแสน้ำมีความเชี่ยวกรากเป็น
อย่างยิ่ง ปลาทุกตัวที่ว่ายทวนน้ำขึ้นไป จะถูกกระแสน้ำพัดตกลงมาตายหมดทุกตัว จะมีก็แต่เพียง
ปลาคาร์ฟเท่านั้น ที่สามารถว่ายทวนน้ำตกขึ้นไปได้ ปลาคาร์ฟที่ว่ายทวนขึ้นกระแสน้ำขึ้นไปถึงประตูมังกร
จะกลายร่างเป็นมังกร และบินไปสู่สรวงสวรรค์ เปรียบกับท่านที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรค์มากมายในชีวิตของ
ท่านไม่จะเรื่องต่างมากมาย แต่สุดท้ายท่านก็มาถึงฝั่งฝันและได้รับผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่
จากพระสวามีเจ้าของท่าน คือชีวิตนิรันดร์กาล

“พระเยซูเจ้าทรงเป็นคู่ชีวิตคนเดียวของฉัน และไม่มีใครอื่นอีก”
ท่านบอกกับพี่สาวของท่าน เมื่อท่าอายุได้ 12 ปี

ที่มา: http://servan-of-god.blogspot.com/2013/ ... t.html?m=1

CR. : https://www.facebook.com/10006349051575 ... W3ivl/?d=n
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ค. 31, 2022 9:53 pm

เพิ่มเติมค่ะ………

ซีโร - มาลาบาร์คาทอลิก กลุ่มคริสเตียนอินเดียโบราณ มุ่งสืบสานพันธกิจนักบุญโธมัส
.
ตามตำนาน ศาสนาคริสต์ไปถึงอินเดียตั้งแต่ยุคอัครสาวกแล้ว โดยมีนักบุญโธมัสไปเผยแผ่
ที่นั่นเมื่อค.ศ. 52 ท่านไปขึ้นฝั่งที่มาลาบาร์ หรือรัฐเกรละ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย
ในปัจจุบัน และได้สถาปนาชุมชนคริสเตียนขึ้นมา 7 ชุมชน ก่อนสิ้นชีพเป็นมรณสักขีเมื่อค.ศ. 72
.
ชาวอินเดียที่เปลี่ยนเป็นคริสต์จึงได้ชื่อว่าเป็น คริสเตียนของนักบุญโธมัส (St. Thomas Christians)
หรือ นาซารานี (Nazrani) อันหมายถึงผู้ตามรอยพระเยซูแห่งนาซาเร็ธ
.
หนึ่งในศาสนจักรของคริสเตียนกลุ่มดังกล่าวที่ใหญ่ที่สุดและยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
เป็นศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกครับ นามว่า "ซีโร - มาลาบาร์คาทอลิก"
(Syro-Malabar Catholic Church)
.
ช่วงศตวรรษแรก ศาสนจักรคริสเตียนของนักบุญโธมัสอยู่ใต้การนำของศาสนจักรแห่งตะวันออก
(เนสตอเรียน) โดยจะส่งบิชอปมาปกครองจากเปอร์เซีย ส่วนในอินเดีย จะมีอัครสังฆานุกร
(จริงๆ คือบาทหลวงนั่นล่ะ เป็นชื่อตำแหน่งเขาเฉยๆ) เป็นผู้นำชุมชนคริสเตียนท้องถิ่น
ศาสนจักรจึงรับเอาเทววิทยาและจารีตประเพณีแบบซีรีแอกตะวันออก ตามศาสนจักรแม่
ที่เปอร์เซียด้วย
.
เมื่อโปรตุเกสมาถึงอินเดีย แม้ดีใจในตอนแรกว่ามีคริสเตียนอยู่ที่นี่ก่อนแล้ว แต่ก็เลิกดีใจ
เมื่อรู้ว่าคริสต์ในอินเดียมีส่วนเชื่อมโยงกับศาสนจักรเนสตอเรียนในเปอร์เซียซึ่งถือเป็น
ศาสนจักรนอกรีต อีกทั้งยังถือจารีตซีรีแอกตามเขา โปรตุเกสที่ถือจารีตละตินไม่คุ้นเคย
กับคริสต์แบบนี้ เพราะมันไม่ใช่คริสต์ในแบบของโปรตุเกสเขา
.
ดังนั้นเมื่อบิชอปจากเปอร์เซียองค์สุดท้ายเสียชีวิตลง โปรตุเกสที่ร้อนรนในศาสนา
จึงเข้าปกครองศาสนจักรคริสเตียนของนักบุญโธมัส โดยอาร์คบิชอปแห่งกัวตั้งสภาดายัมเปอร์
(Synod of Diamper) ค.ศ.1599 เพื่อรวมศาสนจักรไปขึ้นกับอัครสังฆมณฑลโรมันคาทอลิกที่กัว
ผ่านสิทธิ์อุปถัมภ์ ที่โปรตุเกสได้รับสิทธิ์จากพระสันตะปาปาทำหน้าที่ดูแลกิจการศาสนาดินแดน
ใหม่ที่ค้นพบ
.
และเพราะโปรตุเกสไม่ปลื้มจารีตซีรีแอก จึงทำการปรับจารีตซีรีแอกเดิมให้มีความเป็นละติน
และเผาเอกสารซีรีแอกโบราณทิ้งหมด ทำให้ชาวคริสต์กลุ่มนี้ไม่พอใจมาก จึงให้สัตย์สาบานกับ
กางเขนคูนัน (Coonan Cross Oath) ในปี 1653 ว่าจะไม่เอาพระเยซูอิตโปรตุเกสและโรม
จนทางโรมต้องส่งคนมาเคลียร์ใจ
.
กลุ่มที่เปลี่ยนใจและขออยู่กับคาทอลิกต่อ คือศาสนจักรซีโร-มาลาบาร์ในปัจจุบัน ส่วนกลุ่มที่ยังไง
ก็ไม่เอาพระละตินมาปกครองแน่ จึงย้ายนิกายเป็นออเรียนทัลออร์โธด็อกซ์
.
แต่ภายหลัง ปี 1887 ทางโรมได้ช่วยซีโร-มาลาบาร์ โดยให้มีสังฆมณฑลปกครองเอง ไม่ต้องผ่าน
โรมันคาทอลิกที่กัวอีกต่อไป มีอัครสังฆมณฑลปี 1923 จากนั้นก็ค่อยๆฟื้นจารีตประเพณีเดิม
เติบโตอย่างรวดเร็วจนผู้นำได้ตำแหน่ง Major Archbishop (เหนือกว่าอาร์คบิชอป เทียบเท่าอัครบิดร)
ในปี 1992
.
คำว่า "ซีโร-มาลาบาร์" เป็นการประดิษฐ์คำจากจารีตซีรีแอก (ซีโร) กับชายฝั่งมาลาบาร์ อันเป็นชื่อเดิม
ของพื้นที่รัฐเกรละ มีผู้นับถือราว 4 ล้านกว่า (บางแห่งให้ 5 ล้าน) ถือว่ามากที่สุดในบรรดาศาสนจักร
ที่สืบจากนักบุญโธมัสทั้งหมด
.
ซีโร-มาลาบาร์คาทอลิกยึดถือจารีตซีรีแอกตะวันออก (East Syriac rite) เหมือนคาลเดียนคาทอลิกที่อิรัก
ด้วยความเกี่ยวโยงกับศาสนจักรเนสตอเรียนในอดีต แต่เพราะผ่านอิทธิพลละตินมานานจากโปรตุเกส
ศาสนจักรจึงรับความเป็นละตินหลายประการ อย่างการใช้แผ่นปังแบบไร้เชื้อ
.
แต่กระนั้น ศาสนจักรก็ยังคงธรรมเนียมโบราณได้มากเช่นกัน เช่น หลายโบสถ์ไม่มีม้านั่ง
ผู้ร่วมพิธีต้องยืน โดยชายหญิงยืนแยกกันและผู้หญิงจะคลุมศีรษะตลอดเมื่ออยู่ในโบสถ์ เป็นต้น
.
ในภาพที่ผมทำมา มีนักบุญที่มีชื่อเสียงของซีโร-มาลาบาร์ 2 องค์ ซึ่งผมว่าควรรู้จัก

- คนผู้ชายคือคุณพ่อคูรีอาโคส เอลียาส ชาวารา (Kuriakose Elias Chavara)
ผู้ร่วมก่อตั้งคณะคาร์เมไลต์แห่งพระนางมารีย์นิรมล (Carmelites of Mary Immaculate - C.M.I.)
อันเป็นคณะนักบวชที่ใหญ่ที่สุดของศาสนจักร เป็นนักบุญชายชาวอินเดียคนแรก
สถาปนาโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส ปี 2014

- คนผู้หญิงคือซิสเตอร์อัลฟองซา (Saint Alphonsa) สังกัดคณะฟรังซิสกันชั้นสาม เป็นนักบุญหญิง
ชาวอินเดียคนแรกเหมือนกัน สถาปนาโดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ปี 2008
.
ผมนำภาพน่าสนใจมาให้ดูกันทางซ้ายด้วย คือในปี 1986 เพื่อฉลองครบรอบ 1 ปี
ที่สมณกระทรวงศาสนจักรตะวันออกรับรองหนังสือพิธีกรรมของซีโร-มาลาบาร์
พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 จึงสวมอาภรณ์แบบซีโร-มาลาบาร์เมื่อครั้งเสด็จเยือนรัฐเกรละด้วย
พระองค์เคารพจารีตท้องถิ่นมากทีเดียว

/AdminMichael

CR. : https://www.facebook.com/16741195761929 ... qnBRl/?d=n
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ค. 31, 2022 9:55 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม
นักบุญมาร์ธา
St. Martha, Disciple

มาร์ธา (ศตวรรษที่หนึ่ง) เป็นน้องสาวของลาซารัสผู้ฟื้นจากความตาย และเป็นพี่สาวของมารีย์
พระวรสารกล่าวถึงมาร์ธา 3 เหตุการณ์ ครั้งแรก พระเยซูไปเยี่ยมเธอที่บ้านเบธานี มาร์ธายุ่ง
กับงานบ้านขณะที่มารีย์นั่งแทบพระบาทฟังพระวาจาพระเยซู เมื่อมาร์ธาขอให้พระองค์บอก
มารีย์ให้ไปช่วยเธอในครัว พระเยซูตอบว่ามารีย์ "ได้เลือกสิ่งที่ดีกว่า" (ลก ๑๐:๓๘-๔๒)

เหตุการณ์ที่สองคือการฟื้นจากความตายของลาซารัส พี่ชายของเธอ (ยน ๑๑:๑-๔๔)
มาร์ธาออกไปพบพระเยซูขณะที่มารีย์รออยู่ในบ้าน พระเยซูให้ความมั่นใจกับมาร์ธาว่าพี่ชาย
ของเธอจะกลับมีชีวิตอีกพระองค์ตรัสว่า "เราคือการกลับคืนชีพและชีวิต... ทุกคนที่เชื่อในเรา
จะไม่ตาย" มาร์ธาจึงประกาศยืนยันว่าพระองค์เป็นพระเมสสียาห์

เหตุการณ์ที่สามเกิดขึ้นก่อนการรับพระมหาทรมาน มาร์ธา มารีย์ และลาซารัสรับประทานอาหารค่ำ
กับพระเยซูที่บ้านเบธานี (ยน ๑๒:๑-๘) มาร์ธาทำหน้าที่เสิร์ฟอาหาร ส่วนมารีย์ชะโลมน้ำมันหอม
ที่พระบาทพระเยซู

อย่างไรก็ตาม หลังการเสด็จกลับคืนชีพของพระเยซูในพระวรสารไม่มีการกล่าวถึงมาร์ธาอีก
และไม่ระบุว่าเมื่อใดหรือสถานที่แห่งไหนที่เธอเสียชีวิต

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ค. 31, 2022 9:56 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม
นักบุญเปโตร คริโซโลโก
St. Peter Chrysologus

เปโตร คริโซโลโก (ค.ศ.๓๘๐-๔๕๐) เป็นอัครสังฆราชแห่ง Ravenna ท่านเกิดที่เมือง Imola
ทางภาคเหนือของอิตาลี ท่านเป็นสังฆานุกรก่อนที่จักรพรรดิ Valentinian ที่ ๓ แต่งตั้งท่าน
ให้เป็นสังฆราชของเมืองราเวนนา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิตะวันตกในศตวรรษที่ ๙

ท่านได้รับฉายาว่า "นักเทศน์วาทะทอง" เพื่อให้พระศาสนจักรตะวันตกมีนักเทศน์เก่งเทียบเท่า
นักบุญยอห์น คริสซอสโตม ที่มีฉายา "นักเทศน์ลิ้นทอง" ของพระศาสนจักรตะวันออก บทเทศน์
จำนวนมากของท่านตกทอดมาถึงเรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านกระตือรือร้น อบอุ่น และตระเตรียม
เนื้อหาอย่างใส่ใจบทเทศน์ของท่านบอกให้เราทราบถึงชีวิตคริสตชนของเมืองราเวนนา
ในศตวรรษที่ ๕ ท่านเสียชีวิตประมาณปี ๔๕๐
และได้รับการประกาศเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรในปี ๑๗๒๙

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ค. 31, 2022 9:57 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม
นักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา
ผู้ตั้งคณะเยสุอิต
St. Ignatius of Loyola

ท่านเป็นนักบุญชาวสเปนผู้ตั้งคณะของพระเยซู (Society of Jesus) หรือที่รู้จักกันว่า เยสุอิต
ท่านเป็นผู้ริเริ่มวิธี "การฝึกปฏิบัติชีวิตจิต" ซึ่งนิยมใช้ในการเข้าเงียบ

นักบุญอิกญาซีโอเกิดในตระกูลขุนนาง ปี ๑๔๙๑ ในเมือง Guipuzcoa ประเทศสเปน ท่านเคยรับใช้
ในราชสำนักของกษัตริย์เฟอร์ดินานด์และราชินีอิสเบลล่า ต่อมาท่านเป็นทหารในกองทัพสเปน
และได้รับบาดแผลที่ขาระหว่างการสู้รบที่ Pamplona ในปี ๑๕๒๑ ขณะนอนพักรักษาตัว
ท่านอ่านหนังสือ "ชีวิตของนักบุญ" ซึ่งได้ทำให้ท่านกลับใจ ท่านเกิดความต้องการจะอุทิศตัวเอง
เพื่อความเชื่อของคาทอลิก

หลังจากทำการสารภาพบาปครั้งใหญ่ที่อารามใน Montserrat ท่านได้ใช้ชีวิตสันโดษ ๑ ปี
ท่านเขียน "การฝึกปฏิบัติทางจิต" และจาริกแสวงบุญไปที่โรมและดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เทศน์ประกาศ
ให้ชาวมุสลิมกลับใจ

ท่านกลับมาศึกษาต่อที่สเปนและฝรั่งเศสจนได้รับปริญญาด้านเทววิทยา หลายคนดูแคลนชีวิต
สมถะของท่าน แต่ปรีชาญาณและคุณธรรมของท่านก็ดึงดูดให้หลายคนติดตาม จนกระทั่ง
คณะของพระเยซู (เยสุอิต) ได้ถือกำเนิด

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 17, 2023 9:19 pm

:s002: :s002:
ตอบกลับโพส