ประวัตินักบุญอย่างย่อเดือนสิงหาคม (วันที่ 1-15 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 04, 2022 8:35 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑ สิงหาคม
นักบุญอัลฟอนโซ แห่งลิโกวรี
ผู้ตั้งคณะพระมหาไถ่
พระสังฆราชและนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร
St. Alphonsus Liguori

ท่านเป็นนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร มีบทบาทสำคัญในคำสอนด้านเทวศาสตร์ศีลธรรม
ท่านเกิดปี๑๖๙๖ ที่เมืองเนเปิล สติปัญญาของท่านดีเลิศตั้งแต่เด็ก ท่านสำเร็จการศึกษาระดับ
ปริญญาเอกด้านกฎหมายด้วยวัยเพียง ๑๗ ปี ต่อมา ท่านลาออกจากอาชีพทนายความที่กำลัง
รุ่งเรือง เพราะแพ้คดีความเรื่องหนึ่ง

ท่านสมัครเข้าบ้านเณรและได้รับการบวชในอีก ๓ ปีต่อมา ไม่ช้า ท่านก็เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง
และเป็นผู้ฟังแก้บาปที่ใครๆ ก็ต้องการสารภาพบาปด้วย ท่านใช้ภาษาธรรมดาในการเทศน์
แต่จัดเตรียมเนื้อหาอย่างมีระบบ ดึงดูดผู้คนมาฟังมากมาย ทั้งปัญญาชนและชาวบ้านธรรมดา
ในปี ๑๗๓๒ ท่านไปที่เมืองสกาลาและตั้งคณะนักเทศน์ชื่อพระมหาไถ่ ท่านเป็นนักเทวศาสตร์
ศีลธรรมคนสำคัญ หนังสือที่ท่านเขียนได้ตีพิมพ์หลายครั้งและเป็นที่นิยมทั่วไป

ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชทั้งที่อายุมากแล้ว ท่านทำหน้าที่ปกครองสังฆมณฑลอย่างดี
และหลังลาเกษียณในปี ๑๗๗๕ ท่านกลับสู่คณะที่ท่านก่อตั้งและเสียชีวิตในปี ๑๗๘๗

ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๘๓๙

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 04, 2022 8:37 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒ สิงหาคม
นักบุญเปโตร จูเลียน ไอมาร์ด
St. Peter Julian Eymard

นักบุญเปโตร จูเลียน ไอมาร์ด ช่วยให้ชาวคาทอลิก ทั้งพระสงฆ์นักบวชและฆราวาส
ให้เห็นความสำคัญของศีลมหาสนิท ท่านเป็นผู้ริเริ่มชักนำให้ฆราวาสมีบทบาทมากขึ้น
ในพระศาสนจักร

ท่านเกิดใกล้เมือง Grenoble ประเทศฝรั่งเศสในปี ๑๘๑๑ ตั้งแต่ยังเยาว์วัย ท่านปรารถนา
จะเป็นพระสงฆ์แต่บิดาห้ามไว้เพราะต้องการให้ท่านรับช่วงดูแลธุรกิจของครอบครัว

เมื่ออายุ ๑๘ ปีท่านได้รับอนุญาตให้เป็นนวกชนของคณะ Oblate แต่ท่านล้มป่วยและมี
อาการหนักมากถึงขนาดถูกส่งกลับไปเตรียมตัวตายที่บ้าน ทว่า ท่านกลับหายป่วยและ
เข้าบ้านเณรอีกครั้งหลังจากบิดาเสียชีวิต ท่านบวชเป็นพระสงฆ์ของสังฆมณฑล
ในปี ๑๘๓๔ แต่ภายหลังเข้าร่วมกับคณะนักบวช Marists

ในปี ๑๘๕๑ ท่านตอบรับต่อเสียงเรียกให้ตั้งคณะนักบวชที่อุทิศตนเพื่อการนมัสการศีลมหาสนิท
คือคณะแห่งศีลมหาสนิท (Congregation of the Blessed Sacrament) ภารกิจของคณะคือ
การส่งเสริมความสำคัญและความหมายที่พิเศษของศีลมหาสนิท คณะนี้ยังทำงานกับคนจนและ
ช่วยเตรียมตัวพวกเขาสำหรับการรับศีลมหาสนิทครั้งแรก

ท่านเสียชีวิตในปี ๑๘๖๘ และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญในปี ๑๙๖๒

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 04, 2022 8:38 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓ สิงหาคม
นักบุญนิโคเดมัส
St. Nicodemus

นิโคเดมัสเป็นศิษย์ของพระเยซูอย่างลับๆ เพราะเป็นสมาชิกของสภาซันเฮดริน
ท่านจะแอบมาพบพระเยซูตอนกลางคืนเพื่อไม่ให้คนอื่นเห็น ท่านเป็นผู้เตือนสภา
ซันเฮดรินว่าพระเยซูมีสิทธิที่จะรับการไต่สวนก่อน ท่านร่วมกับนักบุญโยเซฟแห่งอาริมาเธีย
จัดเตรียมพระศพพระเยซูและนำพระองค์บรรจุในคูหาฝังศพ ตามธรรมประเพณี
ท่านเป็นมรณสักขีแม้จะไม่มีบันทึกไว้ก็ตาม

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 04, 2022 8:40 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๔ สิงหาคม
นักบุญยอห์น มารีย์ เวียนเนย์
องค์อุปถัมภ์ของพระสงฆ์
St. John Mary Vianney

ยอห์น เวียนเนย์ หรือรู้จักกันอีกชื่อว่าคุณพ่อผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งอาร์ส (the Holy Curé de Ars)
เกิดวันที่ ๘ พฤษภาคม ๑๗๘๖ ท่านรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๘๑๕ และถูกส่งไปยังดินแดน
ห่างไกล อาร์ส (Ars) เพื่อเป็นพ่อเจ้าอาวาสที่นั่น

ทันทีที่มาถึง ท่านสวดภาวนาและปฏิบัติภารกิจเพื่อการกลับใจของลูกวัด แม้ท่านจะเห็นว่าตัวเอง
ไม่มีค่าพอสำหรับงานในฐานะพ่อเจ้าวัด แต่ด้วยความรักร้อนรนต่อพระเจ้าท่านจึงทำงานรับใช้
ผู้คนที่นั่น ท่านค่อยๆ ช่วยให้ความเชื่อของชุมชนกลับฟื้นมีชีวิตชีวาโดยผ่านการสวดภาวนาและ
การเป็นประจักษ์พยานด้วยรูปแบบชีวิตของท่าน ท่านเทศน์อย่างทรงพลังถึงเรื่องความรักและ
เมตตาของพระเจ้า เล่ากันว่าแม้แต่คนบาปหนักที่สุดก็กลับใจเมื่อได้ฟังท่านเทศน์ ท่านซ่อมแซมวัด
สร้างบ้านเด็กกำพร้า และช่วยเหลือคนยากจน

ชื่อเสียงในฐานะผู้ฟังแก้บาปของท่านโด่งดังไปทั่ว นักจาริกแสวงบุญหลั่งไหลมาขอแก้บาปกับท่าน
และท่านจะใช้เวลาถึง ๑๖ ชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อฟังแก้บาป ท่านมุ่งมั่นต่อการกลับใจของทุกคน

ท่านถูกทดสอบด้วยความทุกข์ยากหลายอย่างและถูกปีศาจรบกวน แต่ท่านก็ยังคงมั่นคงในความเชื่อ

ท่านศรัทธาในศีลมหาสนิท ใช้เวลานานในการสวดภาวนาและทำพลีกรรมทรมานกาย ท่านกินน้อย
นอนน้อย ทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยด้วยความถ่อมตน อ่อนโยน อดทน และร่าเริง

ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุ ๗๐ ปี ผู้คนกว่าหนึ่งพันมาร่วมพิธีฝังศพท่าน รวมทั้งพระสังฆราชและพระสงฆ์
ของสังฆมณฑล ชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์

พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๑ ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๙๒๕ ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของพระสงฆ์
ทุกวันนี้มีผู้จาริกแสวงบุญไปที่อาร์สเพื่อระลึกถึงชีวิตศักดิ์สิทธิ์ของท่านอย่างไม่ขาดสาย

ในปี ๒๐๐๙ ในการรำลึกถึงการเสียชีวิต ๑๕๐ ปีของท่าน พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ ๑๖ ประกาศให้
เป็นปีแห่งพระสงฆ์ พระองค์เขียนจดหมายถึงพวกพระสงฆ์ สนับสนุนให้พวกเขาเอาท่านเจ้าอาวาสแห่
งอาร์สเป็นตัวอย่างของการอุทิศตนตามกระแสเรียกชีวิตสงฆ์

CR. : Sinapis


ราว ค.ศ.1852 ในเขตอาสนวิหารอัสสัมชัญ เมืองกัป ประเทศฝรั่งเศส มีเด็กชายวัย 3 ขวบคนหนึ่งเติบโต
มาพร้อมกับร่างกายที่อ่อนแอ มารดาได้ยินกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ท่านหนึ่งซึ่งคนทั่วไปรู้จักในนาม
“เจ้าอาวาสแห่งอาร์ส” เธอจึงพาบุตรชายเดินทางกว่าสองร้อยกิโลเมตรเพื่อไปแสวงบุญยังวัด
นักบุญฟิโลเมน่า ณ ที่นั้นคุณพ่อเจ้าอาวาสได้มอบความบรรเทาใจแก่มารดาผู้เป็นทุกข์ด้วยคำมั่นว่า
“บุตรสุดที่รักของเธอจะมีอายุยืนนานถึง 80 ปี”

หลังจากนั้นเด็กชายก็เจริญวัยขึ้นอย่างแข็งแรง ได้สมัครเข้าบ้านเณร ครั้นลุถึงศักดิ์สงฆ์ในปี 1871
“คุณพ่อเอมิล กอลมเบต์” จึงออกเดินทางไกลอีกครั้งเพื่อเป็นธรรมทูตยังดินแดนสยาม รับมอบหมาย
เป็นเจ้าอาวาสที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ ชื่อเดียวกับวัดบ้านเกิดของท่าน โดยคุณพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
ที่วัดอัสสัมชัญนาน 58 ปี และมีชีวิตยืนยาวถึง 84 ปี ตามที่”นักบุญยอห์น มารี เวียนเนย์” เจ้าอาวาสผู้ศักดิ์สิทธิ์
แห่งอาร์สได้ลั่นวาจาไว้

จดหมายแจ้งการเสียชีวิตไปที่ฝรั่งเศสในปี 1933 คุณพ่อหลุยส์ โชแรงได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
คุณพ่อกอลมเบต์ สร้างสถาบันการศึกษา ดูแลเด็กยากจน ตั้งมั่นสอนคริสตชนด้วยหัวใจ และมีความสุภาพ
ถ่อมตนเยี่ยงนักบุญยอห์น มารี เวียนเนย์

สุขสันต์วันระลึกถึงนักบุญยอห์น มารี เวียนเนย์ องค์อุปถัมภ์ของพระสงฆ์และผู้ฟังแก้บาปทั้งหลาย



คุณพ่อเอมิล ออกุสต์ กอลมเบต์
มิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ชาวฝรั่งเศส เกิด 26 พฤษภาคม 1849 รับศีลบวช
23 ธันวาคม 1871 เดินทางถึงกรุงเทพฯ 5 เมษายน 1872 เรียนภาษาไทยและสอนที่บ้านเณร
พระหฤทัยบางช้าง 2 ปี จากนั้นรับหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่วัดกาลหว่าร์ 1 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 1875
จึงรับแต่งตั้งจากพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ ได้สร้างโรงเรียนของวัดขึ้น
ต่อมาได้มอบหมายให้ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลดูแลโรงเรียน คุณพ่อจึงเริ่มสร้างวัดอัสสัมชัญ
หลังใหม่แล้วเสร็จในปี 1919 ท่านมีอายุยืนพอที่จะอยู่ถึงเวลาที่คุณพ่อยอห์น มารี เวียนเนย์
เจ้าอาวาสแห่งอาร์สผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ คุณพ่อกอลมเบต์มรณภาพ
วันที่ 23 สิงหาคม 1933 เดือนเดียวกับที่นักบุญเวียนเนต์มรณภาพและเป็นเดือนที่สมโภช
แม่พระอัสสัมชัญอันเป็นนามของวัดบ้านเกิดและวัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสมาตลอดชีวิตสงฆ์

…………………………………………………………
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ส.ค. 05, 2022 10:56 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๕ สิงหาคม
บุญราศีเฟรเดริกแจนซูน
Blessed Frederic Janssoone

ความปรารถนาสูงสุดของบุญราศีเฟรเดริกคือช่วยให้ผู้คนใกล้ชิดพระเจ้า งานอภิบาลในฐานะ
สมาชิกคณะฟรังซิสกันส่งเสริมให้ท่านได้ทำตามความตั้งใจนี้ในหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป
แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์และอเมริกาเหนือ

ท่านเกิดใน Flanders ปี ๑๘๓๘ เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวน ๑๓ คน ครอบครัวของท่านมีฐานะดี
เมื่อท่านอายุ ๙ ขวบ บิดาได้เสียชีวิต ภายหลัง ท่านลาออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานเป็นเซลล์แมน
ที่ต้องเดินทางไปทั่วเพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัว ผู้เป็นมารดาเสียชีวิตเมื่อท่านอายุ ๒๓ ปี ท่านเรียน
จนจบและสมัครเข้าคณะฟรังซิสกัน ท่านได้รับศีลบวชในปี ๑๘๗๐ และทำงานเป็นจิตตาธิการของ
ทหารในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย จากนั้น ท่านถูกส่งไปทำงานที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ที่นั่น ท่านได้จัด
สถานที่ตั้งกางเขนระลึกถึงพระมหาทรมานตามถนนในเยรูซาเล็ม ท่านได้สร้างวัดหลังหนึ่งที่เบธเลเฮม
และช่วยตกลงต่อรองในกลุ่มคริสต์คาทอลิก คริสต์นิกายตะวันออก และอาร์เมเนียน เรื่องสักการสถาน
ในเมืองเบธเลเฮม
ท่านเดินทางมาถึงแคนาดาครั้งแรกในปี ๑๘๘๑ เพื่อเทศน์ระดมทุน แต่อีก ๗ ปีต่อมาท่านก็ได้มาประจำ
อย่างถาวร ท่านช่วยพัฒนาสักการสถานที่มีชื่อเสียงของควิเบกคือแม่พระแห่ง Cap-de-la-Madeleine

ท่านเขียนประวัตินักบุญหลายองค์ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์และขายหนังสือศรัทธาแบบเคาะถึงประตูบ้าน

ท่านเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารในปี ๑๙๑๖ และถูกฝังที่ Trois-Rivieres
อันเป็นเมืองซึ่งตั้งอยู่ใกล้สักการสถานของแม่พระ พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒
ประกาศตั้งท่านเป็นบุญราศีในปี ๑๙๘๘

CR. : Sinapis



วันที่ 5 สิงหาคม : วันถวายพระวิหารแม่พระแห่งหิมะ
(Dedication of the Basilica of St. Mary Major)

ได้มีการโต้เถียงกันทางด้านเทววิทยาเรื่องธรรมชาติทั้งสองของพระคริสต์ในฐานะที่เป็นพระเจ้า
และเป็นมนุษย์ จนกลายเป็นประเด็นขัดแย้งที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลในต้นสมัยศตวรรษที่ 5 เช่น
Athanasius ได้เทศน์ต่อต้านตำแหน่งที่ใช้เรียกพระนางมารีย์ว่า “พระมารดาของพระเจ้า”
(= Theotokos = Mother of God) โดยยืนยันว่าพระนางมารีย์เป็นเพียงแม่ของพระเยซูที่เป็น
มนุษย์เท่านั้น อย่างไรก็ดี สังคายนาที่เมืองเอเฟซัส (Ephesus) ในปี ค.ศ. 431 ได้ยืนยันอีกครั้งว่า
ตำแหน่งของพระนางมารีย์คือ พระมารดาของพระเจ้า และเพื่อระลึกถึงเรื่องนี้ พระสันตะปาปาซิสตุสที่ 3
(432-440) ได้สร้างบาสิลิกาขึ้นมาใหม่ในกรุงโรมและอุทิศถวายแด่พระนางมารีย์ มีชื่อเรียกเป็นภาษา
อิตาเลียนว่า Santa Maria Maggiore หรือภาษาอังกฤษเรียกชื่อบาสิลิกานี้ว่า St. Mary Major

ได้ทำการสร้างขึ้นบนเนิน Esquiline ซึ่งเป็นเนินเขา 1 ใน 7 ของกรุงโรม มหาวิหารแม่พระนี้ถือเป็น
1 ใน 4 ของมหาวิหารสำคัญของกรุงโรมเพื่อระลึกถึงสำนักหลักๆ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของ
พระศาสนจักรสมัยแรกๆ อันได้แก่

1) มหาวิหารนักบุญยอห์น แห่งลาเตรัน แทนสำนักแห่งกรุงโรมที่เป็นธรรมาสน์ของนักบุญเปโตร

2) มหาวิหารนักบุญเปาโล นอกกำแพง แทนสำนักแห่งกรุงอเล็กซานเดรีย

3) มหาวิหารนักบุญเปโตร แทนสำนักแห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล…. และ

4) มหาวิหารแม่พระแห่งหิมะ แทนสำนักแห่งกรุงอันทิโอก

ซึ่งมหาวิหารแม่พระนี้ถือเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของคริสตศาสนาที่สร้างถวายเกียรติแด่พระโดยผ่านทาง
พระแม่มารีย์ ตำนานเล่าว่ามหาวิหารที่ยิ่งใหญ่ตระการตานี้ เดิมทีได้สร้างไว้โดยพระสันตะปาปา
ลีเบริอัส (Liberias) ช่วงสมณสมัยคือปี 352-366 ซึ่งเป็นผลมาจากความฝันของสามีภรรยาชาวโรมัน
ที่ร่ำรวยคู่หนึ่ง แต่พวกเขาไม่มีบุตร จึงต้องการให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้แด่
พระมารดาของพระเจ้า พระนางทรงรับรองคำสัญญานั้นโดยทรงทำให้มีหิมะตกลงมากลางฤดูร้อน
ในคืนวันที่ 4 สิงหาคม 355 และทรงปรากฏมาแนะนำพวกเขาให้สร้างวัดขึ้นตรงจุดที่หิมะตกมานั้น
และพระสันตะปาปาได้ฝันถึงเรื่องนี้สอดคล้องต้องกัน

ในช่วงดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 5 (ราวปี 1566-1572) พระองค์ได้ทรงทำให้วันฉลองนี้
กลายเป็นวันฉลองทั่วพระศาสนจักรสากล และพระศพของพระสันตะปาปาพระองค์นี้ได้ถูกฝังไว้
ในมหาวิหารนี้

[N.B. พระสันตะปาปาฟรังซิสมีธรรมเนียมปฏิบัติที่จะเสด็จไปยังมหาวิหารแม่พระแห่งหิมะนี้ทุกครั้ง
ก่อนการเดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อการแพร่ธรรมที่สำคัญๆ (On important apostolic visits) เช่น
การเสด็จเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ โดยพระองค์จะทรงไปคุกเข่าภาวนาต่อหน้าพระรูปที่ทรงคุณค่ายิ่ง
ของพระนางมารีย์พรหมจารี (และเมื่อเสด็จกลับกรุงวาติกันก็จะไปภาวนาที่นี่อีกครั้ง) พระรูปของ
แม่พระนี้เป็นศิลปะแบบไอคอน (icon) กล่าวกันว่านักบุญลูกาเป็นผู้วาดรูปนี้เอง และรูปนี้ถูกเก็บ
รักษาไว้เหนือพระแท่นของวัดน้อยทางด้านซ้ายของพระแท่นหลักที่อยู่ตรงกลาง]

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 09, 2022 3:27 pm

ฉลองวันที่ ๖ สิงหาคม
พระเยซูประจักษ์พระวรกายต่อหน้าอัครสาวก
The Transfiguration

ก่อนที่พระเยซูจะเสด็จเข้าเมืองเยรูซาเล็มอย่างสง่า พระองค์ขึ้นไปบนภูเขาทาบอร์พร้อมกับ
ศิษย์ ๓ คนคือเปโตร ยากอบ และยอห์น ขณะที่พระองค์สวดภาวนาอยู่บนภูเขานั้น ร่างกาย
ของพระองค์ก็เปลี่ยนไปด้วยแสงสว่างเจิดจ้าจากพระกายและอาภรณ์ของพระองค์แล้วโมเสส
และประกาศกเอลียาห์ก็ปรากฏตัวข้างพระองค์ ทั้งสองกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระคริสต์ต้องรับ
ทรมานและสิ้นพระชนม์ก่อนจะกลับคืนพระชนม์ชีพ

นักบุญมัทธิว มาระโก และลูกา ต่างก็บันทึกว่ามีสุรเสียงของพระเจ้ายืนยันว่าพระเยซูเป็นบุตรของ
พระองค์ เปโตรและยอห์นได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ในจดหมายและวรสารของพวกท่าน ว่าพระเยซู
มีสภาวะพระเจ้าและพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ แสงสว่างจากพระคริสต์ทั้งในการสำแดงพระองค์
และหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพ คือชัยชนะอย่างถาวรเหนืออำนาจแห่งความมืด

ชาวคริสต์นิกายตะวันออกถือว่าวันฉลองนี้สำคัญเป็นพิเศษ พวกเขายกเอาการประจักษ์พระวรกาย
เป็นต้นแบบของความสว่างในชีวิตฝ่ายจิต ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับศิษย์ของพระเยซู "การประจักษ์แจ้ง
" จะเกิดขึ้นโดยผ่านความเคร่งครัดเรื่องภาวนา อดอาหาร และประกอบกิจเมตตา

"การแสดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง..." ท่านอัครสังฆราช Raya เขียน
"ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒ พันปีที่แล้ว หรือเป็นเรื่องของอนาคต แต่เป็นความเป็นจริงปัจจุบัน
นี่คือสิ่งที่พร้อมจะเกิดกับบรรดาผู้ชิดสนิทพระคริสต์"

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 09, 2022 3:29 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๗ สิงหาคม
นักบุญกาเยตาน พระสงฆ์
Saint Cajetan

ท่านเป็นคนสำคัญในยุคปฏิรูปพระศาสนจักรยุคนั้นมีการโกงกินและมัวเมากับเรื่องทางเนื้อหนัง
คนจำนวนมากทรยศต่อพระศาสนจักร แต่ความภักดีของท่านกาเยตานมั่นคงแน่วแน่

ท่านเกิดในเดือนตุลาคม ปี ๑๔๘๐ บิดาเสียชีวิตเมื่อท่านอายุ ๒ ขวบ มารดากวดขันท่านเรื่องการ
ศึกษาความรู้ด้านกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายพระศาสนจักรทำให้ท่านได้ทำงานเป็นนักกฎหมาย
ในพระราชวังของพระสันตะปาปาจูลิอุส ที่ 2 หลังการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปา ท่านก็ลาออก
เพื่อเรียนเตรียมเป็นพระสงฆ์

ท่านรับศีลบวชเมื่ออายุ ๓๖ ปีและตั้งกลุ่มพระสงฆ์ที่ใช้ชีวิตแบบนักพรตในอาราม ถือเคร่งเรื่องความ
ยากจนและการสวดภาวนา แต่ก็ใช้ชีวิตและทำงานใกล้ชิดกับผู้ยากไร้เพื่อต่อสู้กับความเหลวแหลก
ทั้งทางด้านชีวิตจิตและด้านการเมืองของยุคสมัย คณะของท่านชื่อ Congregation of Clerks Regular
เรียกกันทั่วไปว่า Theatines ตามชื่อตำแหน่งของสหายคนหนึ่งของท่าน คือโจวันนี ปิเอโตร การาฟา
ผู้เป็นพระสังฆราชแห่ง Chieti ซึ่งเขียนเป็น Theate ในภาษาละติน พระสังฆราชท่านนี้ภายหลังได้รับ
เลือกเป็นพระสันตะปาปาเปาโล ที่ ๔

ความเอาใจใส่ต่อคนจนเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในชีวิตของท่าน ท่านช่วยเหลือคนอื่นเสมอไม่ว่า
จะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือการตั้งสถาบันอย่างโรงพยาบาลเพื่อช่วยผู้คนที่เป็นโรครักษาไม่หาย นอกจากนี้
ท่านยังตั้งธนาคารสำหรับคนจน ให้พวกเขายืมเงินโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแพงๆ อย่างที่ต้องเสีย
ให้พวกเจ้าหนี้เงินกู้ ในปี ๑๕๓๓ ท่านสร้างบ้านของคณะในเมืองเนเปิลส์ ที่นี่ท่านต้องต่อสู้กับการเติบโต
ของกลุ่มลูเธอรัน

ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๑๕๔๗ พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ ๑๐
ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๖๗๑

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 09, 2022 3:37 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๘ สิงหาคม
นักบุญดอมินิกแห่งกู๊ซมาน
St. Dominic Guzman

ท่านเกิดที่เมืองคาเลรูเวกา ประเทศสเปน ประมาณปี ๑๑๗๐ บิดามารดาของท่านอยู่ในตระกูลขุนนาง
ภายหน้า มารดาของท่าน โยอานาจะได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีเช่นเดียวกับน้องชายที่เป็นสมาชิก
คณะดอมินิกัน

ท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากลุงผู้เป็นพระสงฆ์ จากนั้นท่านเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย Palencia
เป็นเวลา ๑๐ ปี มีเรื่องน่าประทับใจเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ท่านขายหนังสือหายากที่สะสมไว้ทั้งชุด
เพื่อเอาเงินช่วยเหลือคนจน

หลังบวชเป็นพระสงฆ์ พระสังฆราชดีเอโกแห่งออสมาขอให้ดอมินิกช่วยฟื้นฟูศาสนจักรท้องถิ่น ท่านอยู่ที่
ออสมา ๙ ปี ดำเนินชีวิตภาวนาอย่างเข้มข้น จากนั้น ท่านถูกเรียกตัวให้ร่วมเดินทางไปกับพระสังฆราช
เพื่อปฏิบัติภารกิจให้กษัตริย์อัลฟอนโซ ที่ ๙ แห่ง Castile ในปี ๑๒๐๓ ขณะเดินทางในฝรั่งเศสกับท่าน
สังฆราช ดอมินิกสังเกตเห็นผลเลวร้ายของคำสอนผิดๆ ของพวกอัลบีเจนเซียน (Albigensians)ซึ่งมีอยู่
ทั่วไปในดินแดนตอนใต้ของฝรั่งเศส ลัทธินี้ฟื้นฟูแนวคำสอนเดิมของลัทธิมานีเค(Manicheasnism)
ซึ่งประนามโลกวัตถุว่าเป็นอาณาจักรชั่วร้ายที่ไม่ได้ถูกสร้างโดยพระเจ้า ด้วยความกังวลต่อการแพร่ขยาย
ของคำสอนผิดๆ ดอมินิกจึงคิดจะตั้งคณะนักบวชเพื่อสอนถึงข้อความเชื่อที่จริงแท้ในปี ๑๒๐๔ ท่านและ
สังฆราชดิเอโกถูกพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ ๓ ส่งไปช่วยงานต่อต้านพวกอัลบีเจนเซียน ซึ่งนอกจาก
การใช้กำลังทางทหารแล้วยังต้องใช้การชักชวนจูงใจด้านเทววิทยาด้วย

ในฝรั่งเศส ดอมินิกเข้าร่วมวงโต้วาทีเกี่ยวกับข้อคำสอนอยู่เนืองๆ และท่านได้ตั้งอารามซึ่งใช้พระวินัย
ที่ต่อมาเป็นแนวทางสำหรับคณะดอมินิกันหญิง ท่านปฏิบัติภารกิจเทศน์สอนระหว่างปี ๑๒๐๘-๑๒๑๕
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการใช้กำลังทางทหารอย่างรุนแรงกับกลุ่มอัลบีเจนเซียน

ในปี ๑๒๑๔ สุขภาพของท่านทรุดโทรมเพราะการทรมานตน อาการวิกฤต แม่พระทรงประจักษ์มา
และแนะนำให้ท่านเผยแผ่การสวดสายประคำ ใช้ข้อรำพึงเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับเอากาย และชีวิต
ของพระคริสต์ต่อสู้กับทัศนะของพวกอัลบีเจนเซียน ที่เห็นว่าโลกวัตถุชั่วร้าย

ในปีเดียวกันนี้เอง ท่านคืนสู่เมือง Toulouse และได้รับความเห็นชอบจากพระสังฆราชในการตั้งคณะ
นักบวชเพื่อการเทศน์ ท่านเดินทางพร้อมกับพระสังฆราชไปโรมเพื่อเข้าร่วมสังคายนาสากล
ในปี ๑๒๑๕สังคายนาครั้งนี้เน้นถึงความจำเป็นของพระศาสนจักรที่จะต้องมีการเทศน์สอนที่ดีกว่าเดิม
แต่ก็กำหนดข้อขัดขวางสำหรับการก่อตั้งสถาบันนักบวชใหม่ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม คณะของท่านได้รับ
การอนุมัติจากพระสันตะปาปาในปี ๑๒๑๖ คณะนักเทศน์ (Order of Preachers) หรือคณะดอมินิกัน
(Domicans) แผ่ขยายไปทั่วยุโรปด้วยความสนับสนุนของพระสันตะปาปาองค์นี้

ท่านใช้เวลาปีท้ายๆ ของชีวิตกับภารกิจเทศน์สอน กล่าวกันว่าท่านได้ทำให้คนกลับใจถึง ๑ แสนคน
วันที่ ๖ สิงหาคม ๑๒๒๑ ท่านสิ้นใจหลังป่วยหนักอยู่หลายสัปดาห์ พระสันตะปาปาเกรกอรี่ ที่ ๙
ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๒๓๔

CR. : Sinapis


🌹 "สายประคำ…ชนะบาป ปราบอธรรม"

วันหนึ่ง ขณะที่นักบุญดอมินิกกำลังเทศน์เรื่องการสวดสายประคำใกล้เมืองคาร์แคสซอน มีคนนำ
ชายคนหนึ่งถูกปีศาจสิงมาหาท่าน ท่านได้ทำพิธีไล่ปีศาจต่อหน้าฝูงชนประมาณ 12,000 คน ปีศาจที่สิง
อยู่ในคนบาปหนานี้ถูกบังคับให้ตอบคำถามของท่าน มันบอกว่า มีปีศาจ 15,000 ตน สิงอยู่ในร่างของ
ชายผู้น่าสงสารนี้ เพราะเขาได้โจมตีรหัสธรรม 15 ข้อของการสวดลูกประคำ ปีศาจ 1,000 ตัว
ต่อ 1 รหัสธรรม มันเป็นพยานว่าการเทศนาให้คนเกิดความศรัทธาต่อสายประคำนั้น ทำให้นรกหวาด
กลัวมาก และ ท่านนักบุญเป็นคนที่พวกปีศาจเกลียดที่สุด เพราะท่านได้ฉุดวิญญาณออกจากเขี้ยวเล็บ
ของมัน ด้วย ความศรัทธาต่อลูกประคำ

นักบุญดอมินิกได้เอาสายประคำของท่านคล้องคอชายผู้นั้น และสั่งให้ปีศาจตอบท่านว่า "ในสวรรค์
ใครคือผู้ที่มันกลัวอย่างที่สุด และใครคือผู้ที่มนุษย์รักและเคารพนับถืออย่างที่สุด?" พอถามคำถามนี้
มันส่งเสียงร้อง แล้วใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบายทุกชนิด เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม ปีศาจร้องไห้สะอึกสะอื้น
อย่างน่าสงสาร มันพูดโดยปากของชายคนนั้น ขอร้องว่า “ท่านดอมินิก โปรดสงสารเราเถิด เราขอสัญญา
กับท่าน เราจะไม่ทำร้ายท่าน ท่านเป็นผู้มีใจเมตตากรุณาต่อคนบาป และคนที่เป็นทุกข์โศกเศร้า
โปรดสงสารเรา เพราะเรากำลังทุกข์อย่างมหันต์ เราทนทุกข์ทรมานมามากแล้ว ทำไมท่านยินดีให้เรา
เจ็บปวดทรมานเพิ่มขึ้น โปรดให้เราทรมานเท่าที่เป็นอยู่ก็พอแล้ว อย่าเพิ่มอีกเลย โปรดสงสารเราด้วย”

นักบุญดอมินิกไม่สงสารจิตชั่วร้ายแม้แต่นิดเดียว และสั่งให้มันตอบคำถามของท่าน มันบอกว่ามัน
จะกระซิบให้ท่านได้ยินเพียงคนเดียว ท่านบอกให้มันตอบชัดๆ ดังๆ ปีศาจนิ่งเงียบ ไม่ยอมพูด ไม่สนใจ
คำสั่งของท่าน ดังนั้น ท่านจึงคุกเข่าวิงวอนขอพระแม่ว่า “ข้าแต่พรหมจารีมารีย์ ผู้ทรงฤทธานุภาพ
ข้าพเจ้าอ้อนวอนท่าน โดยพระคุณแห่งสายประคำศักดิ์สิทธิ์ โปรดออกคำสั่งให้ศัตรูของมนุษยชาติ
ตอบ คำถามของข้าพเจ้า”

ท่านนักบุญสวดยังไม่ทันจบ มีไฟแลบออกจากหู รูจมูก และปากของชายที่ถูกปีศาจสิง ทุกคนสั่น
ด้วยความกลัว แต่ไฟไม่ทำอันตรายใคร ปีศาจร้องว่า “ดอมินิก เราวิงวอนท่าน โดยพระมหาทรมานของ
พระเยซูคริสตเจ้า และโดยฤทธิ์กุศลของพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ และของนักบุญทั้งหลาย
โปรดอนุญาตให้เราออกจากร่างของชายผู้นี้โดยไม่ต้องพูดอะไร เพราะทูตสวรรค์จะตอบคำถามของ
ท่านเมื่อท่านปรารถนา เราเป็นจอมโกหกหลอกลวงไม่ใช่หรือ ทำไมท่านยังเชื่อคำพูดของเรา
โปรดอย่าทรมานเราอีกต่อไป โปรดสงสารเราเถิด”

นักบุญดอมินิกพูดว่า “หายนะแก่เจ้า จิตชั่วร้าย เจ้าไม่สมควรให้ผู้ใดได้ยินเจ้า”
ท่านคุกเข่าวิงวอนพระแม่ว่า “ข้าแต่พระมารดาแห่งปรีชาญาณ ข้าพเจ้าอ้อนวอนเพื่อฝูงชนที่กำลัง
ชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ซึ่งรู้จักการสวด ลูกประคำ ข้าพเจ้าวิงวอนพระแม่ โปรดบังคับให้ศัตรูของพระแม่
ประกาศความจริงของการสวดสายประคำ ณ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ต่อหน้าฝูงชนด้วยเถิด”

นักบุญดอมินิกสวดยังไม่ทันจบ ท่านเห็นพระนางพรหมจารีมารีย์อยู่ใกล้ๆ ล้อมรอบด้วย
กองทัพทูตสวรรค์ พระนางทรงแตะชายผีสิงด้วยคฑาทองคำที่อยู่ในพระหัตถ์ ตรัสว่า
“เจ้าจงตอบคำถามของธรรมทูตของเราเดี๋ยวนี้” ฝูงชนมองไม่เห็นพระแม่ มีแต่ท่านนักบุญเห็นเพียง
คนเดียว แล้วปีศาจส่งเสียงร้องว่า

“ท่านคือศัตรูของเรา ความล่มจมและความหายนะของเรา ทำไมท่านจึงลงมาจากสวรรค์เพื่อ
ทรมานเราอย่างมหันต์ โอ้ ท่านผู้บรรเทาทุกข์ของคนบาป ท่านคือผู้กระชากวิญญาณออกจากปากนรก
ท่านคือหนทางสู่สวรรค์ ทำไมเราต้องบอกความจริงและสารภาพต่อทุกคนว่า ใครคือผู้เป็นเหตุแห่ง
ความอับอายขายหน้าและความหายนะของเรา เจ้าแห่งความมืด

คริสตชนทั้งหลาย จงฟังให้ดีๆ พระมารดาของพระเยซูคริสตเจ้าทรงฤทธานุภาพยิ่งนัก พระนาง
สามารถช่วยผู้รับใช้ของพระนางให้พ้นจากนรก พระนางคือดวงอาทิตย์ที่ทำลายความมืดแห่ง
เล่ห์เหลี่ยมเพทุบายของเรา พระนางคือผู้เปิดโปงแผนการชั่วร้ายต่างๆ ของเรา ทำลายกับดักของเรา
และทำให้การล่อลวงของเราไม่ได้ผล เราต้องสารภาพอย่างไม่เต็มใจว่า ไม่มีวิญญาณแม้แต่ดวงเดียว
ที่บากบั่นพากเพียรในการรับใช้พระนาง จะต้องมาอยู่กับเราในนรก เรากลัวพระนางยิ่งกว่านักบุญ
ทั้งหลายในสวรรค์รวมกัน เราไม่สามารถทำอะไรกับผู้รับใช้ที่จงรักภักดีต่อพระนาง คริสตชนหลายคน
ที่เรียกหาพระนางในวาระสุดท้าย จะได้รับความรอดโดยคำเสนอวิงวอนของพระนาง ถ้าพระนางมารีย์
(ปีศาจออกชื่อพระแม่ด้วยความฉุนเฉียว) ไม่ได้ใช้พระฤทธานุภาพกับพวกเราและไม่ได้ล้มโครงการต่างๆ
ของเรา เราคงได้รับชัยชนะ และได้ทำลายพระศาสนจักรไปนานแล้ว เราคงทำให้คณะนักบวชต่างๆ
ในพระศาสนจักรตกอยู่ในความหลงผิดและความยุ่งเหยิง

บัดนี้ เราถูกบังคับให้พูดว่า ใครที่บากบั่นพากเพียรในการสวดสายประคำจะไม่มีวันตกนรก
เพราะพระนางได้ขอพระหรรษทานแห่งการเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างจริงใจ สำหรับบาปของเขาทั้งหมด
โดยวิธีนี้เขาจะได้รับการอภัยบาปและพระเมตตากรุณาจากพระเจ้า”

นักบุญดอมินิกได้ขอให้ฝูงชนสวดสายประคำพร้อมกันอย่างช้าๆ ด้วยความศรัทธา และได้เกิดมหัศจรรย์
ทุกครั้งที่ฝูงชนสวดวันทามารีอาจบ ปีศาจฝูงใหญ่ได้หลุดออกจากร่างของชายผู้น่าสงสารในรูปของ
ถ่านไฟสีแดงๆ เมื่อปีศาจทั้งหมดถูกขับออกไปแล้ว ชายผู้นั้นก็ได้รับอิสรภาพกลับคืนมา พระแม่ผู้ซึ่งมนุษย์
มองไม่เห็น ทรงอวยพรฝูงชน และเขาทั้งหลายเปี่ยมด้วยความสุข และความยินดี เพราะมหัศจรรย์นี้
คนต่างศาสนาจำนวนมากได้กลับใจ และสมัครเป็นสมาชิกคณะของนักบุญดอมินิก

"การสวดสายประคำ คือ พระหรรษทานและความรอด
ที่พระเจ้าประทานแก่ผู้สวดลูกประคำทุกวันอย่างดีอย่างสัตย์ซื่อ"

CR. : http://www.marymagz.com

:s005:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 09, 2022 3:49 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๙ สิงหาคม
นักบุญเทเรซา เบเนดิกตา แห่งไม้กางเขน
St. Teresa Benedicta of the Cross

ชื่อเดิมของท่านคือเอดิธ สไตน์ ท่านกลับใจจากถือศาสนายิวเป็นคาทอลิกในช่วงศึกษาปรัชญา
ภายหลังท่านเข้าเป็นนักบวชคณะคาร์เมไลท์ และเสียชีวิตในค่ายกักกันของนาซีที่เอาชวิทซ์
ในปี ๑๙๔๒

เอดิธ สไตน์ เกิดวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๑๘๙๑ วันนั้นตรงกับวันฉลองยัม คิปปูร์ (Yom Kippur)
วันแห่งการชดเชยบาปของชาวยิวพอดี บิดาเสียชีวิตขณะท่านอายุ ๒ ขวบ เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น
ท่านก็เลิกถือความเชื่อแบบยิว

เอดิธมีสติปัญญาลึกซึ้ง ท่านได้เลือกศึกษาด้านปรัชญาและเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง
แห่งยุคคือ เอ็ดมุนด์ ฮุสเซิล ในชั้นเรียน เอดิธผู้ไม่ถือศาสนาใดได้รู้จักชาวคริสต์หลายคนที่เธอ
ชื่นชมในความเฉลียวฉลาดและชีวิตฝ่ายจิตของพวกเขา

หลังจบการศึกษาโดยได้รับปริญญาเกียรตินิยมสูงสุดจากมหาวิทยาลัย Gottingen ในปี ๑๙๑๕
ท่านสมัครทำหน้าที่พยาบาลในโรงพยาบาลสนามช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และกลับคืนสู่งาน
วิชาการ ท่านได้รับปริญญาเอกจากวิทยานิพนธ์ที่ถือว่าโดดเด่น เรื่องปรากฏการณ์ของความเห็นใจ

ในปี ๑๙๒๑ ขณะเยี่ยมและพักผ่อนกับเพื่อน เอดิธใช้เวลาทั้งคืนอ่านประวัติชีวิตของซิสเตอร์คาร์เมไลท์
ในศตวรรษที่ ๑๖ คนหนึ่ง ชื่อของซิสเตอร์คนนั้นคือเทเรซาแห่งอาวีลา "เมื่อฉันอ่านจบ" ท่านเล่าภายหลัง
"ฉันบอกตัวเองว่า นี่ล่ะคือความจริง" เธอรับศีลล้างบาปเป็นคาทอลิกในวันแรกของเดือนมกราคม
ปี ๑๙๒๒

เอดิธตั้งใจจะเข้าคณะคาร์เมไลท์ทันทีหลังการกลับใจ แต่ท่านต้องรอคอยอีก 11 ปีก่อนจะสมหวังระหว่างนั้น
ท่านสอนที่โรงเรียนของคณะดอมินิกัน และให้การบรรยายหัวข้อเรื่องสตรี ท่านเขียนหนังสือเกี่ยวกับ
นักบุญโทมัส อไควนัส และรับตำแหน่งสอนในมหาวิทยาลัยปี ๑๙๓๒

ปี ๑๙๓๓ ลัทธินาซีเริ่มเรืองอำนาจเอดิธผู้มีเชื้อสายยิวถูกบังคับให้ยุติอาชีพการสอน หลังการอำลา
อย่างเจ็บปวดกับแม่ซึ่งไม่อาจยอมรับการเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ของลูกสาว ท่านได้เข้าอารามคาร์เมไลท์
ในปี ๑๙๓๔ และเลือกใช้ชื่อ "เทเรซา เบเนดิกตา แห่งไม้กางเขน" เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับ
ความทุกข์ยากลำบาก

"ฉันรู้สึกว่า..." เธอเขียน "ผู้ที่เข้าใจถึงไม้กางเขนของพระคริสต์ควรรับแบกไว้แทนทุกคน" เธอเห็นว่า
กระแสเรียกของเธอคือ "การวิงวอนพระเจ้าเพื่อคนอื่นๆ" แต่เธอภาวนาพิเศษสำหรับชาวยิวในเยอรมัน
ซึ่งชะตากรรมน่าสลดกำลังปรากฏชัด "ฉันขอให้พระองค์ทรงรับเอาชีวิตและความตายของฉัน"
ท่านเขียนในปี ๑๙๓๙ "เพื่อว่าพระองค์จะได้เป็นที่ยอมรับของประชากรของพระองค์และอาณาจักรของ
พระองค์จะรุ่งเรือง เพื่อความรอดของเยอรมันและสันติสุขของโลก"

หลังเสร็จสิ้นงานเขียนชิ้นสุดท้าย ซึ่งเกี่ยวกับนักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขน ชื่อ "ศาสตร์แห่งไม้กางเขน
" ท่านก็ถูกจับพร้อมกับโรซา น้องสาวที่กลับใจเป็นคาทอลิกด้วยและพร้อมกับสมาชิกในบ้านนักบวช
เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๑๙๔๒ การจับกุมครั้งนี้เป็นการโต้ตอบพวกสังฆราชชาวดัชท์ที่เขียนจดหมาย
ประณามการกระทำของพวกนาซีต่อชาวยิว

เทเรซา เบเนดิกตา แห่งไม้กางเขน เสียชีวิตในค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ในวันที่ ๙ สิงหาคม ๑๙๔๒
พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๙๙๘ และปีถัดมาประกาศ
ให้ท่านเป็นหนึ่งในนักบุญองค์อุปถัมภ์ของยุโรป

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ส.ค. 13, 2022 5:51 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๐ สิงหาคม
นักบุญลอเรนซ์
St. Lawrence

"พระคริสต์มอบชีวิตของพระองค์เพื่อเราฉันใด เราควรจะมอบชีวิตของเราเพื่อพี่น้องฉันนั้น"
ท่านลอเรนซ์เข้าใจสิ่งนี้ดี และท่านได้ลงมือกระทำให้เห็นจริงในชีวิต ท่านรักพระคริสต์ในความตาย
ท่านได้ดำเนินตามรอยพระบาทพระองค์" นักบุญออกัสติน บทเทศน์ในวันฉลองนักบุญลอเรนซ์

นักบุญลอเรนซ์เป็นมรณสักขีในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ปี ๒๕๘ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเบียดเบียนพระ
ศาสนจักรโดยจักรพรรดิวาเลรีอัน ท่านเสียชีวิตพร้อมกับพระสงฆ์ชาวโรมันคนอื่นๆ จำนวนมาก
ท่านเป็นหนึ่งในสังฆานุกรคนสุดท้ายของโรม

ภายหลังจากพระสันตะปาปาซิกส์ตุส ที่ ๒ ถูกประหารเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ลอเรนซ์ก็ได้เป็นผู้เก็บรักษา
ทรัพย์สินของพระศาสนจักร เมื่อถูกเรียกตัวไปต่อหน้าผู้กดขี่ข่มเหง ท่านนำเอาสิ่งมีค่าทั้งมวลของ
พระศาสนจักรไปด้วย ท่านยืนร่วมกับคนพิการ คนยากไร้ คนป่วย บอกพวกเขาว่า "นี่ล่ะ ทรัพย์สมบัติ
แท้จริงของพระศาสนจักร" ท่านถูกนำตัวไปตะแลงแกงทันทีพวกเขาจับท่านย่างทั้งเป็น

ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักบุญองค์อุปถัมภ์ของโรม ร่วมกับนักบุญเปโตรและเปาโล

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ส.ค. 13, 2022 5:54 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๑ สิงหาคม
นักบุญคลาราแห่งอัสซีซี
St. Clare of Assisi

"จงก้าวไปข้างหน้าอย่างปราศจากความหวาดกลัววิญญาณคริสตชนเอ๋ย เพราะเจ้ามีมัคคุเทศก์ที่ดี
สำหรับการเดินทางของเจ้า จงเดินต่อไปอย่างไม่พรั่นพรึง พระองค์ผู้ทรงสร้างเจ้าได้ทำให้เจ้าศักดิ์สิทธิ์
ทรงพิทักษ์เจ้าตลอดเวลา และรักเจ้าประดุจมารดา" วาทะสุดท้ายของนักบุญคลาราก่อนสิ้นใจ

นักบุญคลาราเกิดเมื่อปี ๑๑๐๓ ที่เมืองอัสซีซี ตระกูลของเธอมียศศักดิ์ ก่อนให้กำเนิด มารดาได้รับ
เครื่องหมายว่าลูกสาวคนนี้จะนำแสงสว่างของพระเจ้ามายังโลก คลาราชอบการภาวนาตั้งแต่เยาว์วัย
เธอเฝ้าศีลมหาสนิทอย่างศรัทธา และแสดงความออนโยนแก่ผู้ยากไร้ เมื่ออายุ ๑๘ ปีคลาราได้ฟัง
นักบุญฟรังซิสเทศน์ที่ลานจัตุรัสกลางเมืองในช่วงมหาพรต เธอรู้ทันทีว่า พระเจ้าต้องการให้เธอสละ
ตัวเองเพื่อพระองค์ เย็นวันต่อมาคลาราหลบออกจากบ้านในเวลากลางคืน วิ่งไปพบนักบุญฟรังซิสและ
กลุ่มของท่านที่วัดซึ่งพวกท่านพำนัก เธอบอกถึงความปรารถนาที่จะใช้วิถีชีวิตเหมือนอย่างท่าน
นักบุญฟรังซิสรับเธอไว้ มอบเสื้อนักพรตให้ ตัดผมยาวสลวยสีทองของเธอ และส่งเธอไปที่อาราม
เบเนดิกตินเพราะไม่สามารถให้เธอพักกับกลุ่มภราดาได้ น้องสาวของเธออักแนสก็ตามมาอยู่ร่วมกับ
เธอด้วย ทั้งสองต้องขัดขืนอย่างหนักต่อแรงกดดันของครอบครัวที่ต้องการให้ทั้งคู่กลับบ้าน

เมื่อคลาราอายุ ๒๒ ปี นักบุญฟรังซิสมอบหมายให้ท่านเป็นอธิการิณีดูแลบ้านนักบวชแห่งหนึ่ง
ท่านทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลาถึง ๔๒ ปีจนกระทั่งเสียชีวิต "พวกคลาริสยากจน" เป็นชื่อที่ผู้คน
เรียกพวกท่าน พวกท่านดำเนินชีวิตที่ถือพรตเคร่งครัดผิดจากสตรีในสมัยนั้น พวกท่านเดินเท้าเปล่า
ทั่วเมืองเพื่อขอทาน สวมใส่เสื้อผ้ากระสอบ และไม่ครอบครองทรัพย์สมบัติใดๆ สิ่งที่เน้นเป็นสำคัญ
ในชีวิตของพวกท่าน คือการรำพึงภาวนา เยาวสตรีสูงศักดิ์จำนวนมากละทิ้งทุกอย่างมาสวมชุด
นักบวชคณะคลาริส

คณะเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการก่อตั้งบ้านคณะตามที่ต่างๆ ทั่วอิตาลี ทุกคนยึดเอาคลาราเป็นต้นแบบ
และแรงบันดาลใจ ชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของคลาราเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เมื่อใกล้วาระสุดท้าย
พระสันตะปาปาเป็นผู้มาโปรดศีลทาสุดท้ายให้ท่านในปี ๑๒๕๓ พระองค์อยากจะประกาศให้ท่านเป็น
นักบุญทันทีที่ท่านสิ้นใจ หากแต่ได้รับคำแนะนำจากเหล่าคาร์ดินัลให้รอก่อน คลาราสิ้นใจอย่างสงบ
ท่านพูดกับภราดาคนหนึ่งที่เฝ้าอยู่ข้างเตียงว่า "บราเดอร์ที่รัก ตั้งแต่ฉันรู้จักพระหรรษทานของพระเยซู
คริสตเจ้าพระเจ้าของเราผ่านทางฟรังซิส ผู้รับใช้ของพระองค์ ความเจ็บปวดหรือการป่วยไข้ใดๆ
ไม่เคยทำให้ฉันทุกข์เลยในชีวิต"

ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๒๕๕ เพียงสองปีหลังการตายของท่าน

CR. : Sinapis


ตำนานศีลมหาสนิทไล่ทัพมุสลิม
.
หนึ่งในตำนานดังของนักบุญคลาราแห่งอัสซีซี (St. Clare of Assisi) คงหนีไม่พ้นอัศจรรย์จาก
ศีลมหาสนิท ที่ไล่ทัพมุสลิมออกไปจากคอนแวนต์เธอนี่แหละครับ เมื่อช่วงสาย แอดฟรองซัวได้
เกริ่นถึงนิดนึง เห็นว่าน่าสนใจ เลยขอขยายความหน่อย
.
ตำนานมีอยู่ว่า ปี 1234 (บ้างก็ว่า 1240) มีกองทัพมุสลิมจะมาปล้นสะดมเมืองอัสซีซีและคอนแวนต์
ของนักบุญคลารา เนื่องจากปรารถนาซึ่งทรัพย์สมบัติและนางชี
.
เมื่อเห็นจะยกพวกมา นักบุญคลาราซึ่งกำลังนอนป่วยอยู่นั้น จึงลุกจากเตียง หยิบแผ่นศีลมหาสนิทจาก
โบสถ์น้อยใกล้ที่พักออกมา ใส่ซิบอริอุม (ผอบศีล) ชูขึ้น ให้ทหารมุสลิมที่กำลังปีนขึ้นมาบนกำแพง
คอนแวนต์เห็น แล้วภาวนาว่า
.
"ดูเถิด พระเจ้าข้า เป็นไปได้หรือ ที่พระองค์ต้องการส่งพวกเรา หญิงรับใช้ผู้ไร้ทางสู้ของพระองค์ที่ลูกสอนสั่ง
ด้วยความรักพระองค์ สู่มือของพวกนอกศาสนากระนั้นหรือ? ลูกขอวิงวอนต่อพระองค์ พระเจ้าผู้ประเสริฐ
โปรดปกป้องหญิงรับใช้เหล่านี้ ที่ลูกไม่สามารถปกป้องได้ด้วยเถิด"
.
ทันใดนั้น นักบุญคลาราก็ได้ยินเสียงของเด็ก บอกว่า "เราจะคอยดูแลพวกเขาตลอด" เธอจึงภาวนา
ขอปกป้องเมืองอัสซีซี เสียงเด็กนั้นก็ดังมาอีก ยืนยันว่าจะปกป้องให้
.
จากนั้น ทหารมุสลิมที่ปีนขึ้นมาก็ตาพร่าร่วงตกบันไดกันเป็นแถว ที่กำลังตามๆขึ้นมาก็เกิดกลัว ถอยหนี
ไปหมดอย่างน่าอัศจรรย์
.
ถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าผู้อ่านอาจสงสัยว่า "กองทัพมุสลิม" มายังไง เพราะเมืองอัสซีซีอยู่ทางตอนในของ
ภาคกลางอิตาลี มุสลิมจะบุกฝ่าเวนิส ถล่มกองเรือครูเสด แล้วขึ้นฝั่งบุกอัสซีซีเอาดื้อๆเลยหรือ?
.
กองทัพมุสลิมกลุ่มนี้ จริงๆ ไม่ใช่ทัพที่ส่งจากรัฐตะวันออกกลางหรอกครับ หากแต่เป็นทหารมุสลิมรับจ้าง
ของจักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากได้ซิซิลี เกาะทางภาคใต้ของอิตาลี
ไว้ในครอบครอง ทำให้มีการจ้างทหารมุสลิมจากที่นั่นไปรบด้วยบ่อยๆ
.
พระองค์ไม่ถูกกับพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 9 มาก เพราะพระสันตะปาปาได้ประกาศบัพพาชนียกรรม
พระองค์ เนื่องจากเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ ผิดคำสัญญาบ่อยครั้ง ว่าจะยกพลขึ้นฝั่งไปยังแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
แต่ก็ดีเลย์อยู่นั่นเลยไม่ได้ไป
.
และเนื่องจากพระองค์ได้ทั้งซิซิลี เบอร์กันดี และแผ่นดินส่วนใหญ่ของอิตาลีในครอบครอง พระองค์
ก็พยายามกันไม่ให้ดินแดนเหล่านี้ตกอยู่ใต้อิทธิพลพระสันตะปาปา ฝ่ายพระสันตะปาปา นอกจากจะ
ไม่ไว้ใจ เกลียดขี้หน้า ก็ระแวงจักรพรรดิอยู่แล้ว จึงทำสงครามเรื่อยๆ
.
และเพราะพระองค์คงแค้นมาก เลยไม่ว่าอะไร หากทหารของพระองค์จะปล้นสะดมทั่วภาคกลางอิตาลี
เรียกได้ว่าโหดทั้งจักรพรรดิและกองทัพเลย
.
ตำนานยังมีต่ออีกนิดนึง (ยัง ยังไม่จบ) คือไม่นานหลังจากทัพมุสลิมรับจ้างล่าถอย ข่าวก็ทราบไปถึง
นายพลวิตาเล ดิ อเวอร์ซา (Vitale di Aversa) นายพลของจักรพรรดิ เมื่อเห็นว่าพวกนี้ยึดคอนแวนต์
และเมืองอัสซีซีไม่ได้ เลยยกทัพมาตีเองกับมือ นักบุญคลาราก็ภาวนาขอพระเจ้าปกป้องอีก
ทีนี้พายุถล่มเลยครับ ทำลายเต็นท์และพัดทหารกันไปคนละทิศละทาง จนต้องถอยทัพกลับแล้วไม่มา
เหยียบอัสซีซีอีกเลย
.
ตำนานนี้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญนักบุญคลารา ที่แม้จะป่วยติดเตียง ก็ยังลุกออกมารับมือ
กับผู้รุกรานชาวมุสลิมได้ ไม่กลัวถูกฆ่า เพราะแน่นอนว่าคอนแวนต์คงทำอะไรไม่ได้ เพราะมีแต่ผู้หญิง
ไม่มีอาวุธ มีเพียงคำภาวนาและคำสอนของพระเยซูคริสต์
.
แต่แม้เป็นเช่นนั้น นักบุญคลาราก็ยังแสดงตนเป็นผู้นำ กล้าหาญ และเสียสละ ซึ่งถือแบบอย่างที่ดี
เหมาะสมแล้วที่เป็นที่เคารพศรัทธาของทั้งชาวเมืองอัสซีซีเอง ตลอดจนชาวคาทอลิกทุกคน
.
/AdminMichael

ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.newadvent.org/cathen/04004a.htm
https://www.ewtn.com/saintsHoly/saints/ ... assisi.asp
http://www.newadvent.org/cathen/06796a.htm

CR. : ประวัติศาสตร์คริสตศาสนา - ทั้งตะวันตกและตะวันออก
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ส.ค. 13, 2022 6:00 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๒ สิงหาคม
นักบุญเจน ฟรังเชส เดอ ชังตาล
St. Jane Frances de Chantal

"ในตัวมาดามเดอชังตาล ข้าพเจ้าเห็นสตรีที่สมบูรณ์ครบครัน อย่างที่กษัตริย์ซาโลมอนจะหาได้ยาก
ในเยรูซาเล็ม" นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ ผู้แนะนำชีวิตจิตของเธอ

เจน ฟรังเชส เกิดในตระกูลผู้ดีบิดาเป็นประธานสภาเบอร์กันดี เมื่ออายุ ๒๐ ปีท่านสมรสกับ
บารอนเดอ ชังตาล มีลูก ๔ คน ท่านรักและดูแลครอบครัวอย่างดีจนกระทั่งสามีเสียชีวิตในอุบัติเหตุล่าสัตว์
เมื่อเขาอายุ ๒๘ ปี ท่านจำต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของพ่อสามีเป็นเวลา ๗ ปี ต้องอดทนรับอารมณ์เกรี้ยวกราด
ของเขา ในช่วงเวลานี้ท่านปฏิญาณว่าจะไม่แต่งงานใหม่ ท่านภาวนาขอให้พระเจ้าส่งผู้แนะนำมาให้และ
ได้เห็นในภาพนิมิตถึงหน้าตาของผู้ที่พระองค์จัดเตรียมไว้ ช่วงระหว่างมหาพรตปี ๑๖๐๔ ท่านไปเยี่ยมบิดา
ที่เมืองดิจอง ที่นั่น นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์กำลังเทศน์ที่วัด Sainte Chapelle ท่านจำได้ทันทีว่านี่คือบุคคลที่
เห็นในภาพนิมิต จึงสมัครมอบตัวอยู่ภายใต้การแนะนำของท่านนักบุญ บุคคลทั้งสองเขียนจดหมายติดต่อกัน
มากมายหลายฉบับ ซึ่งตกทอดเป็นมรดกล้ำค่าในเรื่องการแนะนำชีวิตฝ่ายจิต

ในปี ๑๖๑๐ ท่านเดินทางไปเมือง Annecy ที่ซึ่งท่านเชื่อว่าพระเจ้าต้องการให้ท่านตั้งคณะนักบวชหญิงที่มี
กระแสเรียกดำเนินชีวิตคริสตชนครบครัน โดยไม่ต้องปฏิบัติเคร่งครัดเหมือนคณะนักบวชในเวลานั้นท่าน
จึงก่อตั้งคณะแห่งการเยี่ยมเยียน (Visitation) ในวันที่ ๖ มิถุนายน ๑๖๑๐ แนวทางชีวิตจิตของซิส
เตอร์คณะผู้เยี่ยมเยียน เป็นแนวทางอย่างเดียวกับของนักบุญฟรังซิส คือให้รักษาจิตใจเป็นหนึ่งกับ
พระประสงค์ของพระเจ้า และทำทุกอย่างให้พระองค์พอพระทัย เมื่อท่านสิ้นใจในอีก ๓๑ ปีต่อมา มีอาราม
คณะผู้เยี่ยมเยียนมากถึง ๘๖ แห่ง ชีวิตจิตของนักบุญเจน ฟรังเชส เดอ ชังตาลเข้มแข็งแต่ก็ยืดหยุ่น ท่านไม่
ชอบเห็นลูกๆ ของท่านยอมแพ้ต่อความอ่อนแอประสามนุษย์ ท่านกระตุ้นพวกเขาเสมอๆ ให้ต่อสู้กับกิเลส
และความโน้มเอียงที่นำตนให้ห่างจากพระ ท่านพบการทดสอบอย่างต่อเนื่องและทนรับอย่างกล้าหาญ
ท่านรับแบกกางเขนภายใน โดยเฉพาะระยะเวลา ๙ ปีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานยิ่ง
ในวิญญาณ แต่ท่านก็หลุดพ้นเป็นอิสระได้ใน ๓ เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นใจ

ชื่อเสียงด้านความศักดิ์สิทธิ์ของท่านขจรขจาย พระราชินีเจ้าชายเจ้าหญิงหลั่งไหลกันมายังห้องรับแขก
ของอาราม ที่แห่งใดก็ตามที่ท่านไปตั้งสาขาคณะผู้คนพากันชื่นชมต้อนรับ "พวกคนเหล่านี้" ท่านกล่าว
"ไม่รู้จักฉัน พวกเขาเข้าใจผิดไปแล้ว" ร่างของท่านได้ถูกเก็บแสดงให้ผู้คนเคารพร่วมกับ
นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ ในวัดของคณะที่ Annecy ท่านถูกประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๗๖๗

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ส.ค. 13, 2022 6:03 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๓ สิงหาคม
นักบุญมักซีมุส
St. Maximus

"การควบคุมความอิจฉา ความโกรธเคือง ความรำคาญต่อผู้ทำผิดต่อท่านยังไม่ใช่ความรัก
เพราะแม้ปราศจากความรัก บุคคลก็ยังสามารถควบคุมตนที่จะไม่ตอบแทนความเลวด้วยความเลวได้
แต่การตอบแทนความชั่วร้ายด้วยความดีชนิดที่เป็นไปเองตามธรรมชาติต่างหากที่เป็นความรักของ
ชีวิตฝ่ายจิตที่สมบูรณ์" นักบุญมักซีมุส

นักบุญมักซีมุสเป็นที่รู้จักในชื่อ "นักเทววิทยา" และ "มักซีมุสผู้ฟังแก้บาป" ท่านเกิดที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล
ประมาณปี ๕๘๐ และเสียชีวิตในการถูกอัปเปหิวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๖๖๒ ท่านทำงานร่วมกับพระสันตะปาปา
มาร์ติน ที่ ๑ ต่อสู้กับพวกนอกรีต Monothelist และเข้าร่วมสังคายนาลาเตรันปี ๖๔๙ ท่านเป็นนักปราชญ์
ของนักเทววิทยาในเรื่องการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระวจนาตถ์และรหัสนิยมเคร่งครัด

ท่านมาจากครอบครัวสูงศักดิ์ของเมืองคอนสแตนติโนเปิล ท่านทำงานเป็นเลขานุการให้จักรพรรดิเฮราคลิตุส
ซึ่งโปรดปรานท่านมาก แต่มักซีมุสกลับปลีกตัวจากโลก ใช้ชีวิตในการรำพึงภาวนาในอารามที่ครีโซโปลีส
ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองคอนสแตนติโนเปิล ท่านได้เป็นอธิการอาราม แต่ต้องออกจากอารามเพราะ
ความอาฆาตของศัตรู

ท่านพยายามปกป้องข้อความเชื่อเที่ยงแท้ ทำให้ถูกกล่าวหาว่าทรยศ ท่านถูกจับกุมตัวและบังคับด้วยกำลัง
ให้กลับไปเมืองคอนสแตนติโนเปิล ที่นั่น ท่านผ่านวันเวลาทุกข์ยากในที่คุมขัง จนกระทั่งถึงอายุ ๘๒ ปี
จึงถูกพิพากษาครั้งสุดท้าย

ท่านถูกประกาศว่ามีความผิดด้านข้อคำสอน ร่วมกับนักบุญมาร์ตินและนักบุญโซโฟรนิอุส ผู้ปกครองเมืองสั่ง
ให้ทุบตีพวกท่าน ตัดลิ้นและมือขวา ลากประจานให้คนทั้งเมืองเห็น และถูกส่งตัวไปคุมขัง ภายใต้คำสั่ง
เนรเทศตลอดชีวิต

จดหมายของชาวโรมันคนหนึ่ง ชื่อ อนาธาซีอุส บอกให้เราทราบถึงความทุกข์ทรมานในการเดินทางไป
เมือง Colchis ที่ซึ่งพวกท่านถูกแยกขังในป้อม เขาบอกเราว่านักบุญมักซีมุสเห็นล่วงหน้าถึงวันที่ท่าน
จะตาย และแสงสว่างน่าอัศจรรย์ปรากฏทุกคืนบนหลุมฝังศพของท่าน

ท่านมักซีมุสตายเพื่อคำสอนที่เที่ยงแท้และด้วยความนบนอบต่อศาสนจักรโรม
ท่านเป็นหนึ่งในนักเขียนเด่นด้านเทววิทยาของศาสนจักรกรีก
และได้รับเกียรตินามว่า นักเทววิทยา

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ส.ค. 14, 2022 7:38 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๔ สิงหาคม
นักบุญมักซีมีเลียน โกลเบ
St. Maximilian Kolbe

ท่านเป็นพระสงฆ์คณะฟรังซิสกันชาวโปแลนด์ เป็นมิสชันนารีและเป็นมรณสักขี ท่านเสียชีวิต
ในค่ายกักกันเอาชวิทช์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเป็นที่จดจำในฐานะ "มรณสักขีแห่ง
ความรัก" เพราะยอมสละชีวิตตายแทนเพื่อนนักโทษคนหนึ่ง พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2
ตั้งท่านเป็น นักบุญวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๑๙๘๒

ท่านยังทำงานโดดเด่นด้านแพร่ธรรม ท่านใช้สื่อสมัยใหม่ประกาศพระวรสาร ท่านมีความศรัทธา
พิเศษต่อพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล ท่านก่อตั้งองค์กร Militia Immaculata
(กองกำลังของแม่พระปฏิสนธินิรมล) ซึ่งยังคงสืบสานภารกิจชักจูงบุคคลและสังคมเข้าสู่ศาสนจักร
คาทอลิก โดยอุทิศถวายแด่พระนางมารีย์พรหมจารี

ตามประวัติชีวิต ท่านถูกเรียกจากพระนางมารีย์ให้ดำเนินชีวิตศักดิ์สิทธิ์และเป็นมรณสักขี ในวัยเด็ก
ท่านอารมณ์ร้อนและทำตัวไม่ดี ท่านได้สวดขอพระนางให้ช่วยนำทาง และเล่ากันว่าพระนางปรากฏ
องค์แก่ท่าน ถือมงกุฎ ๒ วง วงหนึ่งสีขาว แทนความบริสุทธิ์ และอีกวงสีแดง แทนการเป็นมรณสักขี
เมื่อถูกถามว่าจะเลือกมงกุฏใด ท่านตอบว่าท่านต้องการทั้งสอง เหตุการณ์นี้ได้เปลี่ยนชีวิตท่าน
ท่านสมัครเข้าบ้านเณรเล็กเมื่ออายุ ๑๓ ปี

ท่านปฏิญาณตนในคณะฟรังซิสกันเมื่ออายุ ๒๐ ปี และศึกษาจนสำเร็จปริญญาเอกด้านปรัชญา
ในปีถัดมา แต่ท่านเป็นวัณโรคเรื้อรัง ซึ่งทำลายปอดไปข้างหนึ่งและอีกข้างอ่อนแอ

ในปี ๑๙๑๗ ท่านก่อตั้ง Militia Immaculata เพื่อรับมือกับกลุ่มต่อต้านคาทอลิกที่เรียกว่ากลุ่ม
Freemasons อิตาเลียน การก่อตั้งกลุ่มบังเอิญตรงกับเหตุการณ์ปฏิวัติบอลเชวิกในรัสเซีย
และการประจักษ์ของพระแม่ที่ฟาติมา โปรตุเกส

ท่านกลับไปทำงานที่โปแลนด์ในช่วงทศวรรษ ๒๐ ที่นั่น ท่านทำงานส่งเสริมความเชื่อคาทอลิก
ผ่านทางหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ซึ่งมียอดพิมพ์จำนวนสูงมาก

ปี ๑๙๓๐ ท่านย้ายไปทำงานที่ญี่ปุ่น และก่อตั้งหนังสือพิมพ์คาทอลิกญี่ปุ่นพร้อมกับตั้งอาราม

ท่านกลับคืนโปแลนด์ ปี ๑๙๓๓ เยอรมันบุกโปแลนด์ ท่านถูกจับและได้รับการปล่อยตัวช่วงสั้นๆ
ซึ่งท่านพิมพ์นิตยสารฉบับสุดท้ายก่อนถูกจับอีกครั้งและถูกส่งตัวไปค่ายกักกันเอาชวิทซ์ในปี ๑๙๔๑

ต้นเดือนสิงหาคมของปีนั้น นักโทษ ๑๐ คนโดนสั่งประหารชีวิตด้วยวิธีให้อดตายเพราะมีเพื่อนนักโทษ
หลบหนี นักโทษคนหนึ่งร้องไห้คร่ำครวญ เขามีภรรยาและลูกหลายคน มักซีมีเลียน โกลเบจึงอาสาขอรับ
ความตายแทนเขา

ผู้รอดชีวิตจากค่ายนั้นให้การว่าพวกนักโทษประหารที่ต้องอดอาหาร พากันสวดภาวนาและร้องเพลง
สรรเสริญพระเจ้า นำโดยพระสงฆ์ผู้อาสารับความตายอย่างทรมานกับพวกเขา หลังจากนั้น 2 สัปดาห์
ในคืนก่อนวันฉลองการเสด็จสู่สวรรค์ของพระนางมารีย์ พวกทหารดูแลค่ายตัดสินใจเร่งความตาย
ของคุณพ่อโกลเบให้เร็วขึ้นด้วยการฉีดกรดคาร์บอลิกเข้าตัว

ร่างกายของท่านถูกเผาในวันตรงกับวันฉลองแม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ส.ค. 14, 2022 8:25 pm

15 สิงหาคม
สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ

(The Assumption of the Blessed Virgin Mary, solemnity)


แม้ไม่มีการกล่าวถึงอย่างชัดเจนถึงสิทธิพิเศษของการรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ของแม่พระในพระคัมภีร์
ภาคพันธสัญญาใหม่ แต่ทางธรรมประเพณีและดูเหมือนเหตุผลทางเทววิทยาก็ชี้ให้เห็นถึงการไขแสดง
โดยปริยายในพระคัมภีร์ถึงเรื่องนี้

ในพันธสัญญาเดิม เอกลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของพระแม่มารีย์ถูกประกาศในฐานะเป็น
"สตรี" ที่โดยผ่านทางเธอ การไถ่ให้รอดที่ทรงสัญญาไว้จะเป็นไปได้จริง (ปฐก 3:15)

ในพันธสัญญาใหม่ได้ประกาศความจริงเรื่องการไถ่ให้รอดนั้น (ลก 1:31-35; 1ยน 3:9) และพระนาง
พรหมจารีมารีย์เป็นผู้ "เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน" ซึ่งจะไม่สามารถทรงเป็นผู้ครบครันบริบูรณ์ดังที่องค์
พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสไว้ เว้นแต่ว่าพระนางจะทรงดำรงอยู่โดยไม่เสื่อมสลายไป (เทียบ 1คร 15:54-57)

จึงเป็นการถูกต้องแล้วที่ นักบุญเยอร์มานุส แห่งคอนสแตนติโนเปิล (ราวปี 733) ได้เขียนไว้ว่า
"พระวรกายอันเป็นพรหมจรรย์ของพระนางมารีย์เป็นสิ่งที่รวมทั้งความศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์เข้าไว้ด้วยกัน
ซึ่งดำรงอยู่เพื่อพระเจ้า และไม่มีวันจะเสื่อมสลายเป็นฝุ่นดินเลย"

ธรรมประเพณีเรื่องการรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ได้ถูกประกาศมาแต่เนิ่นนานแล้วตั้งแต่ในปี ค.ศ.749
โดยนักบุญยอห์น ดามาซีน (St. John Damascene) ส่วนพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 (1159-1181)
ได้เขียนไว้ว่า พระนางมารีย์ได้ให้บังเกิดโดยไม่มีความด่างพร้อยทางพรหมจรรย์ ทรงให้กำเนิดพระบุตร
โดยปราศจากความเจ็บปวด ดังนั้น จึงเสด็จจากไปโดยไม่เน่าเปื่อย ตามคำของทูตสวรรค์ หรือโดยพระเจ้า
ตรัสผ่านทางทูตสวรรค์ว่า "พระนางจะทรงเป็นผู้ที่มีพระหรรษทานเต็มเปี่ยม ไม่ใช่แบบครึ่งๆกลางๆ" และ
ในปี 1568 พระสันตะปาปาปีโอที่ 5 ได้ทรงประกาศให้วันสมโภชการรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์
ทั่วทั้งพระศาสนจักร

การพัฒนาของข้อความเชื่อนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับวันฉลองที่อุทิศแด่แม่พระที่กระทำในวันที่ 15 สิงหาคม
เพื่อระลึกถึง "การบรรทมของพระนาง" (her dormition or "falling asleep") เมื่อวันฉลองนี้ ซึ่งแต่เดิมเกิดขึ้น
ในสมัยจักรวรรดิไบเซนไทน์ - อาจจะในศตวรรษที่ 5 - เข้ามาสู่พระศาสนจักรตะวันตก คำว่า "บรรทม"
(dormition) ก็ถูกแทนด้วยคำว่า "ได้รับยกขึ้นสวรรค์" (assumption) นี่เป็นผลมาจากการเน้นถึงความสำคัญ
ทางเทววิทยาที่เพิ่มขึ้นในเรื่องพระสิริรุ่งโรจน์ของความเป็นบุคคลทั้งครบของพระนางมารีย์ ตัวอย่างเช่น
ในเรื่องของกายและวิญญาณของพระนาง ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นล่วงหน้าถึงสถานะที่ทรงสัญญาไว้กับมนุษยชาติ
ทั้งมวลที่ยังมาไม่ถึง

อนึ่ง คริสตชนมักจะถือว่าพระนางมารีย์เป็นพระมารดาของพระเจ้า และนั่นหมายถึงตั้งแต่แรกที่พระนาง
ปฏิสนธิเลยทีเดียว บาปไม่มีอำนาจใดๆเหนือพระนาง จึงทรงพร้อมเสมอที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า
ในฐานะทาสีของพระองค์ พระนางทรงอยู่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งความรอด
เป็นรองก็เพียงแต่พระบุตรของพระนางเท่านั้น และเพราะว่าพระคริสต์ทรงเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต
พระองค์เองก็ได้ตรัสว่า "เราอยู่ที่ใด ผู้รับใช้ของเราก็จะอยู่ที่นั่นด้วย" (ยน 12:26) ถ้าเป็นเช่นนี้
ทำไมพระ มารดาของพระองค์เองจะไม่มีส่วนร่วมในสถานที่พำนักของพระองค์เล่า ผลที่ตามมาก็คือ
พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ภายหลังจากทรงสอบถามบรรดาพระสังฆราชทั่วโลกด้วยแบบประเมินอย่างเป็น
ทางการเกี่ยวกับความรู้สึกของคริสตชนจากทุกสังฆมณฑลและทรงได้รับคำตอบแล้ว จึงทรงประกาศอย่าง
เป็นทางการว่า "การรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณของพระนางพรหมจารี" (the Assumption)
เป็นข้อความเชื่อของพระศาสนจักร ในสมณลิขิตของพระองค์ที่มีชื่อว่า "Munificentissimus Deus,"
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1950

บัดนี้ ผู้ที่เป็นเสมือนหีบพันธสัญญาใหม่อันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงให้กำเนิดองค์พระผู้สร้างในครรภ์ของพระนาง
ได้เสด็จมาพักผ่อนในพระวิหารของพระเจ้าเอง วันนี้ พระศาสนจักรปลื้มปิติในการเทิดเกียรติทาสีผู้ต่ำต้อย
ขององค์พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงแล้ว องค์พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพผู้ได้ "ทรงทำสิ่งยิ่งใหญ่" สำหรับพระนางมารีย์
ดังที่พระนางได้ทรงประกาศไว้ในบท "สรรเสริญของพระนาง" (Magnificat) มาบัดนี้ได้ทรงกระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่
ที่สุดกว่าทุกสิ่งเพื่อพระนาง แท้จริงแล้วเรื่องการเข้าสู่สวรรค์ของพระนาง (Assumption) อาจจะอธิบายได้เป็น
อย่างดีในฐานะว่าเป็นปัสกาของพระมารดาของเรา (as Our Lady's Easter) เพราะในวันนี้ เราสมโภชไม่เพียง
เฉพาะพระนางเสด็จผ่านจากชีวิตบนโลกนี้เท่านั้น แต่สมโภชการกลับคืนชีพของพระนาง และการเสด็จสู่สวรรค์
ที่เต็มไปด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ด้วย ณ ที่นั้น พระนางทรงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับชัยชนะ
ขององค์พระผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ

ภายใต้จิตสำนึกเช่นนี้ บท Magnificat อาจจะเข้าใจได้ดีที่สุดว่าเป็น พันธสัญญาแห่งความเชื่อของ
พระนางมารีย์เอง (as Mary's own Testament of Faith) - เป็น "พันธสัญญา" ที่ทำให้เรากล้าจะแสดง
ความเชื่อในส่วนลึกของเราออกมา เป็นความเชื่อที่ท้าทายเราให้พิจารณาเข้าไปภายใน ดังเช่นที่
นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา ได้ตรัสไว้ว่า "เราแต่ละคนต้องพิจารณาชีวิตของตนเองด้วยสายตา
ของพระแม่มารีย์ - ทุกสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำต่อพระแม่ พระองค์ได้ทรงกระทำเพื่อเรา และดังนั้นได้ทรง
กระทำในเรา" ดังนั้น ในวันสมโภชนี้ ซึ่งเป็นวันสมโภชที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวันสมโภชทั้งหลายของ
พระนางมารีย์ พระศาสนจักรทั่วสากลร่วมเสียงเป็นหนึ่งเดียวกับพระนางสรรเสริญพระเจ้าว่า
"พระนามของพระองค์ทรงศักดิ์สิทธิ์"

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)


วันที่ ๑๕ สิงหาคม
สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ
The Assumption of the Blessed Virgin Mary

วันนี้ชาวคาทอลิกฉลองการเข้าสู่สวรรค์ของพระนางมารีย์พรหมจารี พระนางเสด็จจากโลกนี้เข้าร่วม
ประทับอยู่กับพระเจ้าทั้งกายและวิญญาณ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒ ประกาศข้อความเชื่อนี้ในปี ๑๙๕๐
ในธรรมนูญของพระศาสนจักรเรื่อง “Munificentissimus Deus” (พระเจ้าทรงอานุภาพสูงสุด)
แต่ความเชื่อนี้มีมาแต่ช้านานแล้วในธรรมประเพณีของพระศาสนจักร ปิตาจารย์ของพระศาสนจักร
หลายท่านได้เขียนข้อรำพึงทางเทววิทยาจากข้อความหลายตอนในพระคัมภีร์ซึ่งบ่งแสดงว่าแม่พระ
เสด็จสู่สวรรค์หลังจากชีวิตบนโลกสิ้นสุดลง

เหตุการณ์เสด็จสู่สวรรค์ของแม่พระแม้จะไม่มีบันทึกในพระวรสาร แต่ธรรมประเพณีของคาทอลิกระบุว่า
แม่พระก็คือ "สตรีที่มีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์" ตามที่หนังสือวิวรณ์ของนักบุญยอห์น บทที่ ๑๒ กล่าวถึง
ในข้อความตอนนี้สตรีผู้นั้นเป็น "หมายสำคัญยิ่งใหญ่" ซึ่ง "ปรากฏบนท้องฟ้า" เธอคือมารดาของ
พระเมสสิยาห์ "ดวงจันทร์อยู่ใต้เท้านางและเหนือศีรษะมีมงกุฎที่มีดาว ๑๒ ดวงล้อมรอบ" ดังนั้นจึงมักมี
ภาพวาดพระนางมารีย์เสด็จสู่สวรรค์ด้วยลักษณาการนี้

ชาวคริสต์ออร์โธดอกซ์ก็ถือว่าการเสด็จสู่สวรรค์ของพระนางมารีย์เป็นข้อความเชื่อที่สำคัญ
พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒ กล่าวถึงข้อความในพิธีกรรมไบเซนไทน์ยุคแรกเริ่มหลายตอน นักบุญยอห์น
แห่งดามัสกัส นักเทววิทยาชาวอาหรับ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ ๘ เขียนถึงการเสด็จสู่สวรรค์ของแม่พระว่า
"เหมาะควรยิ่งแล้วที่พระนาง ผู้คงพรหมจรรย์แม้ยามให้กำเนิด จะคงร่างกายไม่เปื่อยเน่าหลังความตาย"
และ "พระนางผู้อุ้มพระผู้สร้างในวัยเด็กไว้แนบอกควรจะประทับอยู่ในแท่นบูชาแห่งสวรรค์"

เดิมทีธรรมเนียมคริสต์ออร์โธดอกซ์เรียกชื่อวันฉลองนี้ว่าการนิทรา (Dormition) ของพระนางมารีย์
พวกเขาเตรียมฉลองโดยให้มีการจำศีลอดอาหารลวงหน้าก่อนเป็นเวลา ๒ สัปดาห์

CR. : Sinapis

:s002: :s002:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 03, 2023 9:47 pm

:s002:
ตอบกลับโพส