เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ (ชุดที่ 14 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 04, 2022 9:13 pm

😄 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 1 )

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ เธอไม่ได้เป็นคนเก่งขั้นสุดยอดเท่านั้น
แต่ยังเป็นคนกล้าบ้าปิ่น และมีจิตใจเมตตาสร้างความอบอุ่นแก่คนรอบข้างเสมอ เธอมุ่งมั่นอุทิศตนเป็น
“เภสัชกรยิปซีพเนจร” คิดค้นผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ทั่วทวีปแอฟริกาเพื่อให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ยากไร้โดยไม่มีข้อจำกัดทางเชื้อชาติหรือศาสนา เธอกล่าวว่า..."ชีวิตคนทุกคนมีค่า
เท่ากัน ไม่ว่าจะผิวเหลือง ผิวขาว ผิวดำ หรืออาศัยอยู่ที่ซีกโลกใดก็ตาม" มีผู้ให้คำนิยามว่า “เธอเป็น
ผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้สมองและหัวใจได้อย่างคุ้มค่าที่สุด”

เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 มีพี่น้อง 2 คน
บิดาเป็นแพทย์และมารดาเป็นพยาบาล ในช่วงวัยเด็กได้รับการศึกษาที่เกาะสมุยบ้านเกิด แล้วย้ายมา
ศึกษาระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนราชินี และหลังจากสำเร็จปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว เธอรู้สึกว่ายังไม่อยากทำงานเพราะคิดว่ายังไม่มีความรู้มากพอ จึงตัดสินใจ
ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ สำเร็จปริญญาโทสาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตรัชคไลด์ (Strathclyde)
ในปี 2521และรับปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ (Bath) ในปี 2524

ภายหลังสำเร็จการศึกษา ดร.กฤษณาได้นำความรู้ที่กลับมาทำงานใกล้ภูมิลำเนาเดิมโดยเป็น
อาจารย์ประจำในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี พ.ศ.2524
แต่ในขณะนั้นสาขาวิชานี้ไม่เป็นที่สนใจกันนัก เธอจึงเป็นอาจารย์อยู่เพียง 2 ปีก็รู้สึกเบื่อ เพราะคิดว่า
ความรู้ที่เราอุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลไปร่ำเรียนมา น่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมได้มากกว่านั้น เธอจึงเปลี่ยน
มาทำงานที่องค์การเภสัชฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2526 ซึ่งมีนโยบาย ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของรัฐและ
ประชาชน และอีกเหตุผลหนึ่งคือ เธออยากผลิตยาที่มีคุณภาพดีราคาถูกให้กับคนไทย

ดร.กฤษณาเล่าว่า : ดิฉันเริ่มทำงานที่องค์กรเภสัชในตำแหน่งหัวหน้าแผนกพัฒนาวิธีวิเคราะห์ยา
ซึ่งตรงกับวิชาสำคัญวิชาหนึ่งที่เรียนที่ประเทศอังกฤษและเป็นวิชาที่มีประโยชน์มาก ผู้เรียนต้องรู้จักถอด
เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์และผลิตยาออกมาเป็นชิ้นๆ จากนั้นก็ต้องประกอบขึ้นมาใหม่เอง

ครั้งหนึ่ง เมื่อตอนเรียนอยู่ที่อังกฤษ ดิฉันอยากเปลี่ยนสายที่เรียนอยู่มาเป็นไบโอเคมี (ชีวเคมี)
แทน เพราะเห็นว่าที่เกาะสมุยบ้านเรามีมะพร้าวเยอะมาก จึงคิดว่าไบโอเคมีคงนำความรู้กลับมาใช้ได้
มากกว่า แต่เมื่อไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา ท่านถามกลับว่า ในประเทศไทยมีคนที่เรียนสาขาไบโอเคมีกี่คน
– ดิฉันก็ตอบไปว่ามีมากกว่าพันคน -- อาจารย์จึงถามต่อว่า แล้ววิชาที่เธอกำลังเรียนอยู่ตอนนี้น่ะ มีอยู่กี่คน
-- ดิฉันตอบไปว่ามีอยู่ 5 คน รวมตัวดิฉันด้วย

ที่สุด อาจารย์ก็โยนคำถามสุดท้ายมาให้ว่า เธออยากเป็นคนที่ห้า หรืออยากจะเป็นคนที่พันกว่า
-- เท่านั้นแหละ ดิฉันก็ได้คำตอบ

ดิฉันเป็นหัวหน้าแผนกพัฒนาวิธีวิเคราะห์ยาอยู่จนถึงปี 2532 ผู้อำนวยการองค์การเภสัชฯ เรียกดิฉัน
เข้าไปพบ และให้มาเริ่มทำงานวิจัย เพราะเป็นแผนกที่ตั้งมานานแล้ว แต่ไม่มีใครเข้ามาทำเลย แจ๊กพ็อต
เลยมาแตกที่ดิฉัน ดิฉันก็ตอบตกลงโดยมีข้อแม้ 3 อย่าง คือ

1. ขอเลือกคนที่จะมาร่วมทำงานเอง
2. ต้องปรับปรุงเรื่องสถานที่ให้ และ
3. ขอเป็นคนดูแลด้านการจัดชื้อเครื่องมือเอง และให้เวลากับตัวเองว่าถ้าภายใน 2 ปี ดิฉันยังไม่สามารถ
พัฒนาด้านการวิจัยได้ ก็จะลาออก

ตอนแรก ทั้งแผนกมีบุคลากรเพียงคนเดียวคือตัวดิฉันเอง แต่ตอนที่ดิฉันลาออกในปี 2545 ดิฉันอยู่
ในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และแผนกที่ดิฉันทำอยู่นั้นมีบุคลากรประมาณ 70 คน
ซึ่งเป็นผู้ที่ดิฉันคัดเลือกเองเมื่อตอนที่ออกไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ ศุกร์ ส.ค. 05, 2022 11:01 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 04, 2022 9:17 pm

😄 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 2 )

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(@)แรงบันดาลใจ

ปี 2535 ประเทศไทยมีผู้ป่วยเอดส์เพิ่มขึ้นมาก หลังจากที่พบผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อปี 2526
ดิฉันรู้สึกว่าผู้หญิงและเด็กที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ต้องมารับผลกระทบจากโรคนี้เป็นคนที่น่า
สงสารมาก เช่น ผู้หญิงบางคนติดเชื้อมาจากสามีแล้วก็แพร่ไปสู่ลูก ดิฉันจะมีจุดอ่อนเกี่ยวกับเด็ก
เห็นเด็กแล้วนึกสงสาร อยากช่วยเหลือเพราะคิดว่า เด็กคืออนาคตของชาติ พวกเขาจะเติบโตไป
สร้างและพัฒนาประเทศในอนาคต นี่คือจุดที่ทำให้ดิฉันตัดสินใจศึกษาและวิจัยผลิตยาต้านไวรัสเอดส์

ย้อนกลับไปช่วงที่ดิฉันคิดค้นยาต้านเอดส์ครั้งแรกและทดลองยาอยู่ประมาณ 3 ปี (2535 – 2538)
เริ่มแรกไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเลย แม้กระทั่งนักวิจัย ดิฉันทำทุกอย่างเองประมาณ 6 เดือน ทดลองกับ
ตัวเอง เจาะเลือดทุกชั่วโมง มีเข็มปักอยู่ที่แขนเกือบตลอดเวลา ถามว่าทำไปทำไม ตัวเองหรือญาติพี่น้อง
ก็ไม่มีใครป่วยเป็นโรคนี้ แต่เราจะปล่อยให้อุปสรรคทางกายมาเอาชนะเราได้อย่างไร ในเมื่อรู้อยู่แก่ใจ
ว่าเราช่วยได้

กว่าจะศึกษาและผลิตยาขึ้นมาได้ก็ต้องเจอกับอุปสรรคหลายอย่าง ตั้งแต่วัตถุดิบที่เราต้องนำเข้ามา
จากต่างประเทศและนำมาพัฒนาให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับยาที่ผลิตจากต่างประเทศ ต้องไปเจอกับคนที่
ขัดขวางเราเกี่ยวกับการผลิตยาตัวนี้ทั้งในองค์การเภสัชฯ เอง รวมทั้งในต่างประเทศด้วย ชื่อของดิฉันอยู่
ในแบล็กลิสต์ของบริษัทยาเกือบทุกบริษัท มีคดีต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกับบริษัทยาด้วย ซึ่งคิดว่าคงมาจาก
เรื่องของผลประโยชน์ เพราะถ้าดิฉันผลิตยาได้สำเร็จ ยอดขายของผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็ต้องตกแน่นอน
เพราะว่าราคาต่างกันมาก

ด้วยความที่ดิฉันเป็นผู้หญิงที่ค่อนข้างจะเข้มแข็งและต่อสู้เพื่อความยุติธรรมมาตลอด ในที่สุดก็ทำได้
สำเร็จเป็นประเทศแรกของโลกที่ผลิตยาชื่อสามัญว่า “ยาเอดส์” ในปี 2538 ทั้งนี้ ต้องขอบคุณกระทรวงการ
ต่างประเทศที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ขอบคุณสื่อมวลชน ขอบคุณ NGO ทั่วโลก และพันธมิตรต่างประเทศ
อีกมากมาย ทั้งในอเมริกาและฝรั่งเศส ที่คอยช่วยเหลือสนับสนุน ส่งข้อมูลต่างๆ มาให้

ยาตัวแรกที่เราผลิตคือ ZIDOVUDINE (AZT) เป็นยาลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ราคาที่คนอื่นขายกัน
แคปซูลละ 40 บาท แต่พอดิฉันทำออกมาขายได้แค่แคปซูลละ 7 – 8 บาทเท่านั้นเอง นี่ยังไม่เท่าไหร่นะคะ
มียาอีกตัวซึ่งเป็นของบริษัทที่ฟ้องร้องดิฉัน จากเดิมที่เขาเคยขายแคปซูลละ 284 บาท แต่ดิฉันทำออกมา
ขายได้ในราคาแค่แคปซูลละ 8 บาท จะเห็นว่าแตกต่างกันมาก ทางบริษัทของเขาเดือดร้อนมาก เลยต้อง
ฟ้องไงคะ ดิฉันถือว่าตัวเองได้ทำหน้าที่ที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างดีที่สุดแล้ว ไม่ได้คิดว่าจะตบหน้าใคร หรือมา
ทำให้ยอดขายของบริษัทไหนลดลง

หลังจากนั้น ดิฉันก็ผลิตยาตัวอื่นอีก 5 ชนิดและมีคนเข้ามาช่วยมากขึ้น มียาตัวหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก
คือ GPO-VIR หรือ “ยาต้านเอดส์สตรีคอกเทลล์“ เพราะปกติ ผู้ป่วยเอดส์จะต้องกินยาครั้งละ 3 เม็ดหรือ
มากกว่านั้น ในหนึ่งวันต้องกินเช้าและเย็นอย่างน้อย 6 เม็ด/วัน แต่ดิฉันสามารถนำตัวยามากกว่า 3 ชนิด
มารวมไว้ในเม็ดเดียวเป็นครั้งแรกในโลก ถ้าถามว่า -- ทำไมต่างประเทศเขาไม่ทำกัน -- คำตอบคือ เขา
ทำไม่ได้ เพราะว่าติดลิขสิทธิ์ของแต่ละบริษัท แต่เราทำได้เพราะเป็นของเราเองทั้งหมด ผู้ป่วยเอดส์ใน
ประเทศไทยจึงโชคดีกว่าผู้ป่วยที่อื่นเพราะค่าใช้จ่ายลดลง และวันหนึ่งก็กินยาแค่ 2 เม็ดเท่านั้น ยาต้าน
เอดส์ที่ผลิตขึ้นใหม่เหล่านี้มีราคาถูก จึงสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยเอดส์ของไทยถึง 100,000 คน จากเดิม
ที่รัฐบาลเคยให้ความช่วยเหลือแจกยาแก่ผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ประมาณพันคน

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 04, 2022 9:21 pm

😀 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 3 )

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(@)ทำงานเพื่อมนุษยธรรม •

ล่วงมาถึงปี 2542 ดิฉันเริ่มมองเห็นว่าการช่วยเหลือคนในประเทศของเราเริ่มไปได้ดีแล้ว
ทำให้อยากจะไปช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ บ้าง ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่
โชคร้ายมีผู้ป่วยเอดส์เยอะมาก จึงคิดว่าถ้าเรามีโอกาสไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาต้านไ
วรัสเอดส์ให้เขาได้ก็คงจะดี จึงได้ริเริ่มทำตามความคิดนี้

เมื่อทางองค์การอนามัยโลกทราบถึงเจตนารมณ์ จึงเชิญดิฉันไปที่แอฟริกาเพื่อไปดูว่าจะสามารถ
ช่วยประเทศไหนได้บ้าง ซึ่งตอนนั้นกำหนดไว้คร่าวๆ ว่ามี 5 ประเทศ รัฐมนตรีสาธารณสุขของไทย
ได้กล่าวในที่ประชุมขององค์การอนามัยโลกที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ว่า

ประเทศไทยยินดีจะช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการ
ผลิตยา ต้านไวรัสเอดส์ พูดไปทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าใครจะเป็นคนทำ เมื่อเรื่องนี้ได้แพร่ออกไปสู่เวทีโลก
ทางแอฟริกาก็ชื่นชมว่าประเทศไทยใจดีอย่างโน้นอย่างนี้ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย ดิฉันถูกเรียกไป
สอบถามว่า “องค์การเภสัชฯ จะได้อะไรจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีครั้งนี้?” --- ดิฉันตอบว่า “ไม่ได้
อะไรเลย ที่ดิฉันอยากทำก็เพราะมันเป็นเรื่องของมนุษยธรรมและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”
ดิฉันไม่เข้าใจว่า เวลาเราทำอะไรก็ตาม ทำไมจะต้องหวังผลจากการกระทำของเรา ทำไมถึงต้องคิดว่า
จะเสียอะไร หรือจะได้อะไรด้วย เพราะตัวดิฉันเองไม่เคยคิดว่า “การให้” จะต้องแลกกับ “การได้รับ”


โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 04, 2022 9:27 pm

😀 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 4 )

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(@)งาน...เปลี่ยนชีวิต •

เมื่อถึงเวลาที่ดิฉันต้องไปถ่ายทอดเทคโนโลยีจริงๆ ไม่มีใครไปด้วยเลย ดิฉันเริ่มคิดไม่ตกว่า
จะเอายังไงดี อยู่เมืองไทยเราทำคนเดียวได้ แต่อยู่ต่างประเทศ เรายังไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตาม
ในเดือนกันยายน ปี 2545 ดิฉันตัดสินใจขอลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา
เพื่อจะไปช่วยเหลือทางแอฟริกาได้อย่างเต็มตัว เพราะคิดว่าเราคงช่วยเหลือเขาได้อย่างเต็มที่

ไม่มีใครเห็นด้วยกับการตัดสินใจในครั้งนี้ รัฐมนตรีก็ไม่ยอมเซ็นใบอนุมัติการลาออกให้
เรียกไปคุยด้วย ดิฉันก็ตอบไปว่า “ไม่เปลี่ยนใจแล้ว”

ท่านยื่นข้อเสนอให้ใหม่ว่า เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม เอาไหม?
เอายาของเราไปขายที่แอฟริกาแทน เอาไหม? ดิฉันตอบปฏิเสธหมดทุกข้อเสนอ ดิฉันไม่เคยเสียใจ
เลยที่ตัดสินใจลาออกในวันนั้น เพราะดิฉันคิดว่าได้ทำเพื่อประเทศไทยอย่างเต็มที่แล้ว ดิฉันพอใจ
ที่คนไทยมียาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและคิดว่าบรรลุจุดประสงค์ที่ได้ตั้งไว้แล้ว

หลังจากนั้น ดิฉันก็ได้เดินทางไปที่ “คองโก” เป็นประเทศแรกในเดือนธันวาคม 2545 ไปโดย
ที่ไม่รู้อะไรเลย กะไปตายเอาดาบหน้าคนเดียวจริง ๆ หลังจากไปปักหลักอยู่ที่คองโกได้ไม่นาน
ก็มีคนติดต่อมาให้ไปช่วยผลิตยาให้เขา เนื่องจากทราบข่าวการทำงานของดิฉันจาก น.ส.พ. เยอรมัน
ชื่อดังฉบับหนึ่ง ดิฉันก็สัญญาว่าจะไปช่วยสอนให้

ในโลกนี้ไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่า “คำสัญญา” เมื่อเราบอกว่าจะช่วยแล้วก็ต้องช่วย เมื่อไป
ถึงก็ถามว่า -- ที่ไหนล่ะ จะให้ทำยาตรงไหน -- เพราะมองไปก็มีแต่เนินเขาเต็มไปหมด นั่นหมายความว่า
เราต้องเริ่มตั้งแต่วาดแปลนโรงงานที่จะใช้ผลิตยากันเลย ปลุกปล้ำอยู่ 3 ปี!

สุดท้าย ไม่น่าเชื่อว่า ยาต้านไวรัสเอดส์ ชื่อ AFRIVIR ซึ่งมีส่วนผสมเหมือนกับยาที่บ้านเราทุกอย่าง
ถูกผลิตขึ้นได้สำเร็จในประเทศที่มีความขัดแย้งมากที่สุดในโลก คือ ประเทศคองโก ในทวีปแอฟริกา
เป็นแห่งแรก หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าตัวยาเหมือนกัน ทำไมไม่เอายาบ้านเราไปขายให้เขาซะเลย
ดิฉันมีคำตอบให้ดังนี้ :

ดิฉันต้องการให้พวกเขาทำเองให้พึ่งตนเอง ดิฉันเชื่อว่า ถ้าเขาอยากกินปลา เราก็ควรสอนเขาตกปลาเอง
ไม่ใช่ว่าเอาปลาไปให้เขากิน มิฉะนั้น เขาจะไม่มีวันพึ่งตัวเองได้ ถ้าเรามองว่า เราสามารถนำยาจากเมืองไทย
ไปจำหน่ายได้ มันจะมีประโยชน์อะไร เพราะไม่มีความยั่งยืน บทสรุปคือบุคลากรที่ผลิตยาต้องเป็นคนที่อยู่
ในท้องถิ่นนั้น ๆ

บางคนมองว่าดิฉันบ้าหรือเปล่าที่จะไปสอนให้คนแอฟริกาทำยา เพราะแอฟริกาไม่ได้มีแต่คนโง่ทั้งทวีป
ดิฉันเคยทะเลาะกับคนใหญ่คนโตที่เป็นชาวแอฟริกัน เนื่องจากเขามาพูดกับดิฉันว่า “เธอไม่มีทางทำอะไร
ในแอฟริกาได้สำเร็จ เพราะเธอไม่ใช่คนแอฟริกัน เธอไม่รู้จักคนแอฟริกันดี”
ดิฉันโกรธมาก เพราะรู้สึกว่าเขาเป็นคนแอฟริกันแท้ๆ แต่กลับดูถูกพวกเดียวกันเอง ดิฉันจึงสวนกลับไปว่า
“ถ้าฉันทำยาได้สำเร็จเมื่อไหร่คุณเป็นคนแรกที่ฉันจะบอก” แล้วดิฉันก็บอกเขาเป็นคนแรกจริง ๆ แหม มันสะใจ
(หัวเราะ)

ยาตัวแรกที่ดิฉันเป็นคนคิดค้นและผลิตเองได้ในปี 2546 ที่ทวีปแอฟริกา คือ ยามาลาเรีย ซึ่งเป็นยา
ที่ขายดีที่สุดในประเทศ “แทนซาเนีย” ชื่อยา THAI-TANZUNATE เป็นยามาลาเรียที่ราคาถูกที่สุดในโลก
เดิมบริษัทยาอื่นเขาขายกันที่เม็ดละ 8 ยูโร (ประมาณ 360 บาท) แต่เราผลิตออกขายได้ในราคาเม็ดละ
80 เซ็นต์ คือ 36 บาทเท่านั้น

ด้วยความที่การผลิตยาในทวีปแอฟริกาค่อนข้างดำเนินไปได้ช้า ดิฉันจะมัวแต่มารอให้เวลาผ่านไป
เปล่า ๆ ไม่ได้ ในเวลาเดียวกัน ดิฉันยังต้องเดินทางไปที่ประเทศอื่นทั่วทั้งทวีปรวมทั้งที่ประเทศเอริเทรีย
(Eritrea) ประเทศเบนิน (Benin) และประเทศไลบีเรีย (Iberia) เพื่อจะสอนให้คนในประเทศเขาผลิตยา
ได้เอง และช่วยผู้ป่วยภายในประเทศของเขาได้โดยไม่ต้องรอรับการช่วยเหลือจากประเทศยักษ์ใหญ่

ส่วนที่ประเทศ “ซูดาน” ดิฉันได้รับคำเชิญจากผู้อำนวยการองค์การเภสัชฯ ของเขาว่า อยากให้ดิฉัน
ไปช่วยเรื่องการผลิตยา แต่ในประเทศเขามีปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาอย่างรุนแรง มีการสู้รบกัน
ตลอดเวลา และแบ่งเป็นซูดานตอนเหนือกับตอนใต้ ดิฉันจึงถามไปประโยคหนึ่งว่า “ถ้าให้ดิฉันไป
ช่วยประเทศซูดานทางเหนือจนทำยาแล้ว จะส่งยาไปช่วยทางใต้ได้หรือเปล่า”

เขาตอบว่า “ไม่” --- ดิฉันจึงบอกไปว่า “ถ้าอย่างนั้นดิฉันก็ไม่ไป” เพราะจุดประสงค์ของดิฉัน
คือต้องการให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้ยาได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเชื้อชาติหรือศาสนา แต่ถ้าพวกเขา
ยังมาแบ่งแยกกันอยู่ เช่น ถ้านับถือศาสนานี้จะไม่แบ่งยาให้ เราก็ไม่ตกลงด้วย

ประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกาเขายากจนกว่าบ้านเรามาก สมมุติว่าโรงพยาบาลหนึ่งมีเตียง 150 เตียง
แต่มีคนไข้ที่มาแอดมิด 450 คน นั้นหมายถึงว่าใน 1 เตียง มีคนไข้ 3 คน นอนบนเตียง 2 คน นอนกลับหัว
กลับหางกันและนอนใต้เตียงอีก 1 คน แทนที่จะอยู่โรงพยาบาลแล้วรักษาโรคหาย ก็กลับติดโรคกันมาหมด
นี่คือส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ดิฉันอยู่เฉยไม่ได้

ใครๆ อาจจะมองว่าดิฉันประสบความสำเร็จแล้ว แต่ความจริง ยังเลยค่ะเพราะแอฟริกามี 53 ประเทศ
จะช่วยยังไงไหว เกิดมาสิบชาติยังช่วยไม่หมดเลย แต่เราก็ทำเท่าที่เราจะทำได้ การทำงานคือสิ่งที่สนุก
และสร้างความสุขให้กับดิฉัน ทุกวันนี้ ไม่ว่าดิฉันจะเดินทางไปที่ประเทศไหนๆ ดิฉันก็จะพยายามกระตุ้น
ให้พวกเขาช่วยเหลือตัวเอง ทำเอง ผลิตเองให้ได้มากที่สุด เพราะดิฉันเชื่อในศักยภาพด้านการผลิตของ
แต่ละประเทศว่าต้องทำได้

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 04, 2022 9:34 pm

😀 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 5 )

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(@)สีสันของชีวิต •

ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า ไปๆ มาๆ ดิฉันได้ใช้ชีวิตอยู่ที่แอฟริกามา 5 ปีแล้ว ในปีหนึ่งๆ ดิฉันมี
เวลาอยู่ที่ประเทศไทยไม่ถึงหนึ่งเดือน ส่วน 11 เดือนที่เหลืออยู่ที่แอฟริกาตลอด ที่นั่น ดิฉัน
ใช้ชีวิตตัวคนเดียวแบบวันต่อวัน ร่อนเร่ไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถวางแพลนล่วงหน้าได้ เนื่องจากมี
หลายประเทศมากที่เขาอยากให้เราไปช่วยเหลือ แต่โชคดีที่ดิฉันไม่มีครอบครัว ไม่อย่างนั้นคง
ตะลอนๆ ไปทั่วทวีปแบบนี้ไม่ได้

เวลามีคนติดต่อมา เขาก็อาจจะช่วยเหลือเราด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พัก แต่บางครั้ง
ดิฉันก็จ่ายเองบ้างอย่างคองโกที่ดิฉันไปสอนเขาผลิตยามา 3 ปี ดิฉันก็ออกค่าใช้จ่ายเองทุกอย่างเ
พราะประเทศเขายากจนมาก ไม่มีเงินมาให้เราหรอก

ตารางเวลาการทำงานที่แน่นอนที่สุด คือ ตารางงานที่ได้มาจากกระทรวงการต่างประเทศ
นอกจากนั้นเอาแน่นอนไม่ได้เลยจริงๆ วันนี้อยู่ที่นี่ แต่พรุ่งนี้อาจจะต้องไปอีกประเทศหนึ่งก็ได้ บางครั้ง
ก็เคยคิดเหมือนกันว่า เราอายุ 55 แล้ว (พ.ศ.2550) แทนที่จะได้พักผ่อนอยู่กับบ้านสบายๆ หรือไม่ก็
ไปทำธุรกิจโรงแรมที่เกาะสมุยกับญาติพี่น้อง ทำไมชีวิตยังต้องเร่ร่อน ลอยไปลอยมา แต่ก็ยังหาคำตอบ
ไม่ได้ รู้แต่ว่า เราอยากใช้วิชาความรู้ที่มีมาช่วยเหลือคนให้ได้มากที่สุด

เวลามีคนถามว่าดิฉันเป็นอะไรทำไมถึงต้องมาตะลอนๆ อยู่แบบนี้ ดิฉันก็ตอบว่า ดิฉันเป็น
“เภสัชกรยิปซี”

ชีวิตการทำงานมันก็ไม่ได้สนุกไปเสียทั้งหมด อุปสรรคที่เคยเจอก็มีเยอะแต่ดิฉันมองว่าเป็นเรื่องขำๆ
มากกว่า เช่น เคยเจอเครื่องบินดีเลย์ไป 24 ชั่วโมง ก็ต้องนั่งรอแกร่วอยู่ตรงนั้นตั้งแต่เช้าวันนั้นไปจนถึงเช้า
ของอีกวัน เพราะแอฟริกาไม่มีสถานบันเทิงใดๆ ให้เราไปพักผ่อนหย่อนใจหรอก เวลานั่งรถไป มองสอง
ข้างทางก็แทบไม่เห็นคนหรือต้นไม้เลย เพราะมันแห้งแล้งมาก ส่วนใหญ่จะเจอแต่สัตว์

ตอนกลางวัน ถ้าออกจากที่พักปุ๊บ ก็ต้องเอาสเปรย์น้ำมาฉีดหน้าเลย เพราะว่าอากาศร้อนมาก แต่ก็ช่วย
อะไรไม่ได้มากนัก เพราะฉีดปุ๊บ ระเหยปั๊บ ปกติดิฉันเป็นคนชอบอากาศเย็น แต่กลับได้มาทำงานในที่ที่
อากาศร้อนมากตลอดเวลา คิดว่าคงเป็นเพราะกรรมเก่าที่ได้ทำมานะคะ

บางครั้งเครื่องบินก็พาไปลงผิดประเทศ ดันไปลงในประเทศที่เราไม่ได้ต้องการจะไปก็มี เวลาจะ
เดินทางด้วยเครื่องบิน กระเป๋าสะพายบ่าของดิฉันต้องมีเสื้อผ้าอย่างน้อย 3 ชุดอยู่เสมอ เพราะบางครั้ง
กระเป๋าเดินทางที่โหลดไว้ใต้ท้องเครื่องอาจจะมาช้าหรือไม่ก็หายไปเลย เราจึงต้องเตรียมพร้อมและเอา
ตัวรอดให้ได้

ที่คองโก มีอยู่คืนหนึ่งดิฉันกำลังนอนหลับอยู่ดี ๆ ก็มีแสงสว่างวาบๆ ขึ้นมา ก็คิดในใจว่า ทำไมถึงสว่าง
เร็วจัง ปรากฏว่าไม่ใช่ค่ะ เป็นระเบิดที่เขายิงมา โดยมีเป้าหมายที่บ้านพักของดิฉัน แต่เขากะพลาดไปหน่อย
ลูกระเบิดเลยไปตกข้างๆ บ้านแทน คิดว่าคงเป็นฝีมือของพวกที่เขาคิดว่าดิฉันเป็นศัตรูนั่นแหละค่ะ

โปรดติดตามตอนที่ ( 6 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ส.ค. 05, 2022 11:05 pm

😀 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 6 )

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ยังมีอีกครั้งที่ “ไนจีเรีย” เขาเชิญไปบรรยายและช่วยเหลือทางด้านอุตสาหกรรมยา ซึ่งปกติในตอน
กลางวัน ที่นั่นก็อันตรายมากอยู่แล้ว แต่ดิฉันเดินทางไปถึงสนามบินตี 1 ครึ่ง ไปคนเดียวด้วย ไม่มีใ
ครมารับ ดิฉันนั่งแท็กซี่ไป ระหว่างทางถูกคนเอาปืนมาจี้ 5 ครั้ง แต่ดิฉันไม่มีทรัพย์สินอะไรติดตัวไปเลย
มีแต่เสื้อผ้า กับเงินอีก 100 เหรียญ ก็บอกเขาไปว่า “ฉันมาช่วยคนในประเทศเธอนะ อยากได้อะไร
ก็เอาไปเลย” สรุปว่าทั้ง 5 ครั้งที่มีคนมาจี้ไม่มีใครเอาเงินของดิฉันไปเลยสักเหรียญเดียว คิดดูสิ
แค่ระยะทาง 20 กม.ในคืนนั้น ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง เพราะมัวแต่เสียเวลาโดนจี้
ต้องออกจากรถและกลับเข้ารถใหม่หลังเจรจากับคนจี้ซ้ำ ๆ ต้องพูดคำเดิมอยู่นั่นแหละ เพราะคนที่จี้
ขู่เราด้วยคำเดิมๆ เราก็ตอบไปเหมือนเดิม ไม่รู้ด้วยว่าคนที่จี้หน้าตาเป็นยังไง เพราะมันมืดมาก
เห็นแต่ลูกตากับฟัน

การโดนจี้ครั้งนั้นถือว่าเป็นเรื่องน่ากลัวที่สุดในชีวิต แต่ก็รอดมาได้ คนที่อดทนจริงๆ และบ้าบิ่น
เท่านั้น ถึงจะอยู่ในแอฟริกาได้ ที่พูดถึงนี่หมายความว่าใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนะคะ ไม่ใช่ว่าไปเที่ยวอาทิตย์
สองอาทิตย์แล้วกลับ เพราะเวลาแค่นั้น ไม่มีทางที่จะได้รู้จักและสัมผัสความเป็นตัวตนจริงๆ ของ
แอฟริกาหรอก ดิฉันถือว่าอุปสรรคคือสิ่งที่ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น อุปสรรคมีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลัว

อาจจะเป็นเพราะเรื่องที่เกิดกับดิฉันที่กล่าวมานี้เองที่สื่อของฝรั่งเศสและเยอรมนีลงข่าวชื่นชม
การทำงานของดิฉัน และในปี 2549 ก็มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง
“สิทธิการมีชีวิต – ยารักษาเอดส์สำหรับผู้คนนับล้าน”

(https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0 ... 4%E0%B8%A9 A Right to Live - Aids Medication for Millions) ซึ่งได้รับรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 3 รางวัล นอกจากนั้นยังมีการแสดงเป็นละครบรอดเวย์เรื่อง “คอกเทลล์” (Cocktail) ซึ่งเปิดแสดงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81 ... 8%E0%B9%8C - cite_note-PHA-12 ในสหรัฐฯ และการสร้างละครเวทีเรื่อง “นางฟ้านิรนาม” โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตั้งแต่ดิฉันทำงานมา ไม่เคยสนใจเลยว่า ทำไปแล้วจะได้รางวัลอะไรมั้ย? จะมีคนมายกย่องมั้ย?
นั่นเป็นเรื่องที่ไม่เคยคิด แต่พอเขาเอาเรื่องราวของเราไปสร้างเป็นภาพยนตร์ สร้างเป็นละครเวทีมันก็
ภูมิใจนะที่ยังมีคนมองเห็นคุณค่าการทำงานและความเสียสละของเรา

ดิฉันไปให้สัมภาษณ์ทางสถานีวิทยุของอเมริกาแค่ครึ่งชั่วโมง แล้วเชื่อมั้ยว่าอังกฤษและอเมริกา
มีคนเสนอปริญญากิตติมศักดิ์ให้ไม่รู้กี่ใบ! เราควรทำให้ทุกวันเป็นเหมือนวันสุดท้ายของชีวิต เพราะ
นั่นแปลว่าเราต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพราะไม่มีวันพรุ่งนี้ให้แก้ตัวอีกต่อไปแล้ว

โปรดติดตามตอนที่ ((7 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 09, 2022 3:10 pm

😀 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ (7 )

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(@)ผลงานในระดับประเทศ

1. สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่สามารถผลิตยา
ด้านเอดส์ที่มีคุณภาพ ลดค่าใช้จ่ายยาของผู้ป่วยเอดส์จากเดือนละ 20,000 - 30,000 บาทต่อคนเหลือ
เพียง 1,200 บาท/คน/เดือน และองค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาสูตรผสมเป็นยาที่อยู่ในคำแนะนำ
ขององค์การอนามัยโลกในการรักษาโรคเอดส์ (WHO’s treatment guideline for HIV/AIDS patients)

2. ระหว่าง ปี พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2545 พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสำหรับใช้เป็นยาอาหารและ
เครื่องสำอาง จำนวน 64 รายการ

3. ระหว่าง ปี พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2545 พัฒนาและผลิตยาแผนปัจจุบันจำนวนมาก อาทิ ยารักษา
โรคเบาหวาน ยาลดความดัน ยาลดคอเลสเตอรอล และยาสำหรับเด็ก ทำให้มียาคุณภาพดีออกสู่
ตลาดมากขึ้นและมีราคาถูกลง

4. เมื่อเดือนมกราคม 2552 ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรของไทยและร่วมมือ
กับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลิตยาสมุนไพรไทยตามองค์ความรู้ดั้งเดิม 4 ตำรับ
ทั้งยาเม็ดและยาหอม เพื่อใช้รักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง
นอกจากนั้นยังก่อตั้งหน่วยฝึกอบรมที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้เป็นสถานที่เรียนรู้
และฝึกงานการผลิตยาในขั้นอุตสาหกรรมแก่นักศึกษาไทยและชาวแอฟริกา


(@)ผลงานในระดับนานาชาติ

1.ระหว่างปี พ.ศ. 2545 - 2548 สร้างโรงงานผลิตยาต้านเอดส์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
และฝึกสอนพนักงานของโรงงาน Pharmakina ที่เมือง Bukavu ในการผลิตยาต้านโรคเอดส์และควบคุม
คุณภาพในขั้นอุตสาหกรรม สำเร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 เพื่อใช้รักษาคนงานที่ติดเชื้อเอดส์ของ
โรงงานและชาวคองโกที่ติดเชื้อเอดส์จำนวน 30,000 คน

2. ระหว่างปี พ.ศ. 2546 - 2548 สร้างโรงงานผลิตยาต้านเอดส์และยารักษาโรคมาลาเรียในประเทศ
สาธารณรัฐแทนซาเนียและฝึกสอนพนักงานของโรงงาน Tanzania Pharmaceutical Industry (TPI
) เมือง Arusha ในการผลิตยาต้านโรคเอดส์ ยาเม็ดและยาผงสำหรับรักษาโรคมาลาเรียสำหรับผู้ใหญ่
และเด็ก สำเร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2548 ช่วยชีวิตผู้ป่วยเอดส์ 60,000 คน และผู้ป่วยโรคมาลาเรียหลายล้านคน

3. ระหว่างปี พ.ศ. 2549 - 2550 ถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรมบุคลากรชาวแอฟริกาในการผลิตและ
ควบคุมคุณภาพยารักษาโรคมาลาเรีย ชนิดเม็ดยาและยาเหน็บ สำหรับผู้ใหญ่และเด็กในประเทศ
แอฟริกาตะวันตก : เบนิน เซเนกัล มาลี แกมเบีย และบูร์กินาฟาโซ ในแอฟริกาใต้ อาทิ แซมเบีย

4. ระหว่างปี พ.ศ. 2551 - 2552 สร้างโรงงานยาและถ่ายทอดความรู้ฝึกสอนบุคลากรท้องถิ่นใน
ประเทศสาธารณรัฐบุรุนดี ในการผลิตยา และควบคุมคุณภาพยาเม็ดรักษาโรคมาลาเรียสำหรับ
ผู้ใหญ่และเด็ก

5. ปี พ.ศ. 2552 สร้างโรงงานผลิตยา และก่อตั้งหน่วยงานวิจัยด้านพืชสมุนไพร รวมทั้งถ่ายทอด
ความรู้ด้านเภสัชกรรมให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัย Harbin Institute of Technology ประเทศ
สาธารณรัฐประชาชนจีน

โปรดติดตามตอนที่ (.8 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 09, 2022 3:12 pm

😀 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 8 )

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(@)ผลงานวิชาการ

1. เภสัชเคมีควบคุมคุณภาพ

2. บทความทางวิชาการกว่า 100 เรื่อง และงานวิจัยด้านเภสัชกรรมด้วยตนเอง และร่วมในการ
ทำงานวิจัยต่าง ๆ จำนวนมากกว่า 100 เรื่อง


(@)นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน

ดิฉันมีความเชื่อว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต” ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังนั้นจึงทำงาน
ในสิ่งที่ทวนกระแสหลักของโลก คือ กระแสทุนนิยมของโลกธุรกิจที่มุ่งหวังกำไรสูงสุด โดยการผลิตยา
ที่ราคาถูกกว่าในท้องตลาดหลายเท่า จึงสร้างความสั่นคลอนหวั่นไหวต่อบริษัทยาข้ามชาติที่ต้องสูญเสีย
รายได้มหาศาลจากผลประโยชน์ที่ได้มาอย่างไม่เป็นธรรมและบนความตายของผู้คน ดังนั้น เมื่อเดินทาง
ไปทำงานในแอฟริกา แม้สิ่งที่ทำไปอาจล้มเหลว หรือเราอาจเสียชีวิตก่อนที่จะได้เริ่มต้นก็ได้ แต่ดิฉันรู้
เพียงว่าต้องทำ, ทำในสิ่งที่ถูกต้องและทำให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง


(@)ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน

การช่วยให้คนจนเข้ารักษาโรคได้ในราคาไม่แพง คือ หลักยุติธรรมในสังคม และสิ่งนี้ คือเหตุผล
ที่ดิฉันต้องการสอนให้คนในท้องถิ่นผลิตยา เพื่อพวกเขาจะได้พึ่งพาตนเองได้ เพราะดิฉันมีความเชื่อว่า
การสอนคนให้ตกปลาเป็น ดีกว่าการให้ปลาแก่พวกเขา ดังนั้นเมื่อพวกเขาทำได้เอง ดิฉันก็รู้สึกถึง
ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน


(@)หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน

1.1 คณบดีเกียรติคุณนานาชาติของคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

1.2 Visiting Professor of Oriental Medicines at Harbin Institute of Technology, China

1.3 Pharmaceutical Consultant, Action Medeor, Germany

1.4 Consultant, Pharmakina, Democratic Republic of Congo

1.5 Chief Consultant, Tanzanian Pharmaceutical Industry, Tanzania

โปรดติดตามตอนที่ ( 9 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 09, 2022 3:15 pm

😀 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 9 )

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)รางวัลเกียรติยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์

1. ปี พ.ศ. 2544 รางวัล A Gold Medal at Eureka 50th World Exhibition of Innovation
, Research and New Technology ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม

2. ปี พ.ศ. 2547 รางวัล Global Scientific Award From The Letten Foundation เพื่อเป็น
การชื่นชมและยอมรับผลงานด้านวิทยาศาสตร์ดีเด่นในด้านการศึกษาวิจัยและรักษาโรคเอดส์

3. เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 ดร.กฤษณาได้รับรางวัล Reminders Day AIDS Award 2005
(ReD Awards) ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

4. ดร.กฤษณาได้รับคัดเลือกให้เป็น 2007 Speaker for the Chancellor’s Distinguished
Lectureship Series จากมหาวิทยาลัย Louisiana State University ประเทศสหรัฐอเมริกา

5. เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ดร.กฤษณาได้รับคัดเลือกจากนิตยสาร Reader’s Digest
ให้เป็น Asian of the Year 2007 และได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับประวัติชีวิตการทำงานของ
ดร.กฤษณาเป็นหลายภาษาใน 26 ประเทศทั่วโลก

6. คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีได้คัดเลือกให้ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์
เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม ประจำปีพุทธศักราช 2551

7. เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ได้มอบรางวัลพลเมืองคนกล้า (Citizen Hero) ให้แก่ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เพื่อยกย่องการอุทิศตน
ทำงานเพื่อสังคมและส่วนรวม

8. เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 สมาคมเภสัชกรโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้ยกย่องผลงาน
ความดีและความเสียสละเพื่อมนุษยชนของดร.กฤษณา โดยมอบรางวัลเภสัชกรเกียรติคุณ ซึ่งเป็น
รางวัลเกียรติยศ มอบทุก 2 ปี ให้แก่เภสัชกรที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม

9. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552 คณะกรรมการของมูลนิธิแม็กไซไซได้คัดเลือก ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์
เป็นบุคคลผู้ได้รับรางวัลรามอน แม็กไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2552 และยกย่องการนำ
ความรู้ความสามารถทางด้านเภสัชกรรมของเธอมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย โดยการอุทิศตัวและทุ่มเทชีวิต
อย่างกล้าหาญและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผลิตยาชื่อสามัญรักษาโรคที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในประเทศไทย
และในประเทศอื่นทั่วโลก

10. รางวัลสตรีดีเด่นในเวที/เครือข่ายระดับสากล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2553

11. ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสาย
สะพายปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (The Most Admirable Order of the Direkgunabhorn)
ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 เพื่อพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์
แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน

12. บิล เกตส์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ กล่าวยกย่อง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์
ในปี 2560 ผ่านเฟซบุ๊กและบล็อกส่วนตัวของเขาว่าเป็นบุคคลที่อุทิศตนทำประโยชน์เพื่อผู้ป่วยทั่วโลก

โปรดติดตามตอนที่ ( 10 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 09, 2022 3:19 pm

😀 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 10 )

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)อนาคตอยู่แค่หนึ่งเมตรข้างหน้า

เป็นคนไม่มองอะไรในระยะไกล เพียงใช้ชีวิตในทุกวันให้มีคุณค่า มองแค่หนึ่งเมตรข้างหน้าตัวเอง
บางคนยึดติดกับเกียรติยศ ชื่อเสียง จากโลกนี้ไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ แต่ถ้าเราทำเพื่อคนอื่นก็ยังจะมี
สิ่งที่ดีเหลืออยู่ และขอให้เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพในการช่วยเหลือผู้อื่น และควรจะเริ่มต้นทำตั้งแต่วันนี้

ผู้รวบรวมขอคัดบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งที่น่าสนใจโดย เพ็ญนภา หงษ์ทอง โอกาสที่ท่านแวะพักที่
ประเทศไทยเพื่อรอเวลาเดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2552 ดังนี้

1)คิดว่าเป็นเพราะอะไรที่เราทำให้แอฟริกาได้และคนทั้งโลกให้การยอมรับ แต่ทำในประเทศไทยไม่ได้

ในประเทศไทยเราทำไปแล้ว ทำ GPO-Vir ไง และผู้ป่วยเอดส์ทุกคนก็ได้รับยาฟรี อันนี้คือเราทำมาหมดแล้ว
ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ พี่ทิ้งเมืองไทยไปโดยไม่ได้ทำอะไรให้ประเทศไทยไม่ใช่นะคะ พี่ทำหมดแล้ว และคิดว่า
ถึงอยู่เมืองไทยไปเราก็ไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว เพราะมันติดสิทธิบัตรหมดแล้ว นอกจากว่าเราจะใช้
มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วตอนนี้พี่อัจฉราเขาอยู่ เขาก็ทำได้ต่อไป แล้วงาน
ที่พี่ทำไว้ หน่วยงานผลิตขององค์การเภสัชกรรมก็รับไปทำหมดแล้ว

2) อาจารย์จะหันกลับมาเริ่มพัฒนายาตัวใหม่ๆ ไหมคะ

ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็ดีแล้ว อาจจะดูเหมือน routine (เป็นการทำงานซ้ำ) เพียงแต่เปลี่ยนประเทศ แต่พี่ก็ได้
ทำงานสร้างโรงงาน บริหารจัดการโรงงาน เอาเครื่องจักรมาติดตั้ง แล้วพี่ก็คุ้นเคยกับทางนั้นอยู่แล้ว

3) หมายความว่าจะไม่กลับมาเมืองไทยอีกแล้ว

ไม่กลับมาแล้วค่ะ แต่ถ้ากลับมาก็มาทำงานย่อย ๆ เช่นไปช่วย อุบลหรือสงขลา แต่ไม่อยากกลับมาทำ
ประจำ อยู่ที่โน่นก็มีความสุขดีแล้ว พี่ไม่ได้ต้องการตำแหน่งหรือว่าชื่อเสียงอะไรทั้งสิ้น พี่ทำเพราะอยากทำ
ทำเพราะมีความสุขที่จะทำ มันอยู่ตรงโน้นก็มีความสุข เราพอใจกับการอยู่ตรงนั้น และเห็นว่าอยู่ตรงนั้น
เราได้ทำอะไรมากกว่าที่นี่

4) แต่ถ้าอาจารย์ยังอยู่เมืองไทยอุตสาหกรรมยาไทยอาจจะก้าวไกลไปกว่านี้

เมื่อหลายปีก่อนอุตสาหกรรมยาของไทยกับอินเดียอยู่ในระดับเดียวกัน แต่ปัจจุบันอินเดียไปไกลมาก
เราตามไม่ทันแล้ว ไม่ใช่เฉพาะอินเดีย เวียดนามด้วย ทุกคนกำลังจะแซงหน้าเราหมด เพราะพวกเรานึกว่า
เราเก่งไง เรามานั่งคิดกันตลอดเวลาว่าเราเก่งแล้วและเราควรจะต้องหันไปทางอื่นแล้ว มองกันว่าการพัฒนา
อุตสาหกรรมยา การพัฒนาสูตรยาในบ้านเรา มันถึงทางตันจนไม่มีอะไรจะทำอีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่มีอะไรให้ทำ
อีกตั้งเยอะแยะ พี่เคยพูดเมื่อประมาณเกือบ 20 ปีมาแล้ว ว่าเราควรจะทำระบบนำส่งยาแบบใหม่ มันเป็น
ทางเดียวที่เราจะรอดได้ แต่ก็ไม่เห็นมีใครทำอะไรสักอย่าง

5) มีคนเชื่อจริงๆ หรือคะว่าอุตสาหกรรมยาบ้านเราพัฒนามาจนถึงทางตัน

เราต้องถามตัวเองแล้ว เราเป็นอเมริกาไหม ความเจริญของเราเท่ากับอเมริกาไหม ก็ไม่ใช่ อเมริกา
เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เรากำลังพัฒนา มันไม่เหมือนกัน อเมริกาเขาทำยามาจนอิ่มตัวแล้ว แต่เราอิ่ม
หรือยัง เพราะเราเข้าใจตัวเองผิด เรานึกว่าเราเก่ง จริงๆ แล้วเราไม่เก่ง พูดย้ำหลายๆ ครั้งเลยนะว่า
เราไม่เก่ง การ scale up ของเราก็ไม่เก่ง เราไม่มีวิศวกรเคมีที่เยอะพอที่จะ scale up ได้ เวียดนาม
เขาไปไกลเพราะเขามีวิศวกรเคมีที่เข้มแข็งมาก เพราะเราไม่ได้มองตัวเอง หรือมองตัวเองผิด เราก็คง
มองตัวเองเหมือนกัน แต่เป็นการมองแบบหลงตัวเอง

โปรดติดตามตอนที่ ( 11 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ส.ค. 13, 2022 6:09 pm

😀 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 11 ))

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

6) อยากให้อาจารย์พูดถึงวันที่ตัดสินใจเข้ามาทำงานที่องค์การ กับวันที่ตัดสินใจออกไป

พี่ดีใจมากที่ได้ลาออกไป ตอนเข้ามาเรามาเพราะตอนนั้นอายุยังน้อย เข้ามาตอนอายุสามสิบ
ออกไปตอนห้าสิบ อายุมันก็ต่างกันแล้ว และพี่พอใจกับสิ่งที่พี่ทำ แต่พอเราแก่ตัวแล้วเราก็ต้อง
ชั่งใจแล้วว่า ถ้าเราเดินไปทางนี้ แล้วเราได้แค่นี้ หมายถึงสังคมได้นะคะ ถ้าเราเดินอีกทางเรา
ได้มากกว่า เราก็ต้องเลือกที่ได้มากกว่า เวลาเราจำกัด เราจะมานั่งเสียเวลา นั่งทะเลาะกับคนได้
ยังไง เสียเวลาไม่เอาแล้ว

7) อาจารย์ช่วยให้ประเทศในแอฟริกาผลิตยามาได้แล้วกี่ประเทศ

15 ประเทศค่ะ ที่นั่นมีประเทศด้อยพัฒนาและยากจนที่สุด (least developed nations) ทั้งหมด
26 ประเทศ พี่จะทำให้ทุกประเทศเข้าถึงยาได้ ตอนนี้กำลังทำอยู่ที่บูรุนดี (Burundi) ประเทศที่จน
ที่สุดในทวีป ที่นั่นเราได้กระทรวงต่างประเทศของไทยสนับสนุน ย้ำนะคะว่ากระทรวงต่างประเทศ
ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข

8) หากความฝันบรรลุทั้ง 26 ประเทศก็ยังจะไม่กลับเมืองไทยหรือ

โอ๊ย เกิดอีก 10 ชาติก็ไม่บรรลุ แต่ละประเทศมันซับซ้อนนะ กว่าเราจะเอาความรู้ลงไปได้ ต้องติดต่อ
รัฐบาล ติดต่อใครต่อใครมากมาย เยอะมาก อย่าคิดว่าเราเอาไปให้เขาแล้วเขาเปิดประตูรับนะ
ถ้าเป็นแบบนั้นพี่ทำเสร็จหมดแล้ว เขาไม่ได้ยินดีต้อนรับนะ แม้เราจะไปช่วยเขา แต่บางครั้งเขา
ไม่เข้าใจ การจะให้เขาเข้าใจว่าเรามาช่วยโดยไม่หวังทรัพยากรอะไรของเขาเป็นเรื่องยากมาก
เพราะเขาไม่เชื่อใจ คนขาวเคยแต่ไปเอาของเขา ใครจะไปเชื่อ ไม่เคยมีใครให้เขาแบบนี้

9) ได้ยินมาว่าอาจารย์ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากองค์กรอื่นใด ส่วนใหญ่จะใช้เงินส่วนตัว

มันมีสองแง่ พี่เคยได้รับความช่วยเหลือจากบางรัฐบาลในยุโรป พอไปช่วยเสร็จเขาคิดว่าเป็นผลงาน
เขาร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เคยคิดว่าเป็นผลงานของคนไทยคนหนึ่ง ทั้งที่เงินที่เขาให้ก็ไม่มาก แต่พอเขามาจับ
ก็กลายเป็นงานของเขาทันที เขานำไปโปรโมทองค์กรเขาได้ทันที เอาไปหาทุนต่อ พี่ว่ามันไม่แฟร์ จริงๆ
ทรัพย์สินทางปัญญาของเรื่องนี้มันมาจากคนไทย การรับเงินเขามาแล้วทำให้ผลงานความเป็นคนไทย
ของเราเสียไปพี่ไม่ยอมหรอก พี่เลยไม่อยากได้ของใคร บ้านพี่ก็มีเงินอยู่บ้าง แล้วพี่ก็ตัวคนเดียวตายไป
ก็ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไรได้ ไม่ใช่ว่าที่พี่ออกเองเพราะพี่อยากเก่ง อยากดัง ไม่ใช่ ไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อพี่
แต่ต้องบอกว่าเป็นผลงานของประเทศไทย ให้รู้ว่าประเทศไทยเราไม่ได้ร่ำรวยแต่เรามีน้ำใจ แค่นั้นเอง
โปรดักส์ที่พี่ทำเป็นชื่อไทยหมดเลยนะ เช่น ยา “ไทยแทนซาเวียร์” เมื่อไปผลิตที่บูรันดี ก็ใช้ชื่อ “ไทยบูระ”
กับ “ไทยบูแรม” ที่จริงก็เป็นยาตัวเดียวกัน แต่คนละชื่อเท่านั้นเอง

ตอนนี้พี่ก็กำลังจะใช้กองทุนส่วนตัวที่พี่มีอยู่ พานักเรียนเภสัชกรที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับสงขลานครินทร์
ไปดูงาน ไปทำงานกับพี่สักเดือนสองเดือน พี่ก็จะเลือกคนด้วยตัวเอง แต่ปีนี้ยังไม่พร้อม คิดว่าปีหน้า
น่าจะได้ คงจะเอาไปแค่สองคน เอาไปมากพี่เดือดร้อนดูแลไม่ได้ เอาไปสองคนเพราะต้องเป็นเพื่อนกัน
บางครั้งพี่อาจต้องทิ้งเขาทำงานกันสองคน ไม่ได้หวังว่ากลับมาแล้วเขาจะเป็นอะไร พี่แค่อยากให้ไปดู
ความทุกข์ยากของคนที่นั่น ไปดูการทำงานของพี่ กลับมาแล้วอาจจะเปลี่ยนความคิดบางอย่างได้

“ชีวิตที่เกิดมา ถ้าได้ช่วยคนสักคน ก็คุ้มค่าแล้วที่เกิดมา ตอนทำงานองค์กรเภสัชกรรมก็ได้ผลิตยา เมื่อทำ
มาพักหนึ่ง น้องๆ คนอื่นก็ทำได้ แล้วทำไมเราไม่ไปช่วยคนอื่นบ้าง” ศ. ภญ. ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ หรือ
เภสัชกรยิปซี เล่าว่า 12 ปีที่ร่อนเร่ทำงานในหลายประเทศของแอฟริกา สอนให้คนที่นั่นผลิตยาต้าน
เอดส์และยามาลาเรีย เธอบอกว่า เป็นการทำหน้าที่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แม้ตอนนั้นคนจะมองว่า
ทำไมต้องไปช่วยคนแอฟริกัน

เธอจึงตั้งคำถามว่า “แล้วพวกเขาไม่ใช่คนหรือ?”

“เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต ไม่ว่าขาวหรือดำ รวยหรือจน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ถามว่า
ทำงานในแอฟริกาลำบากไหม บอกเลยว่า เกิดมา ไม่เคยลำบากแบบนี้เลย เป็นความลำบากกาย
แต่ใจมีความสุข เพราะเอดส์ไม่ใช่ปัญหาสาธารณสุขอย่างเดียว ยังเป็นปัญหาสังคมด้วย เราชอบ
ทำงานสังคม ตั้งใจว่าจะผลิตยาให้คนใช้ โดยไม่ได้เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ไม่ได้คิดว่า ทำยาเหล่านี้แล้ว
จะโด่งดัง คิดแค่ว่า ถ้าผู้ป่วยได้ใช้ ก็บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว”

โปรดติดตาม ตอนที่ ( 12 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ส.ค. 13, 2022 6:14 pm

😀 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 12 )

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)งานท้าทายสุดท้าย กฤษณา ไกรสินธุ์ (06 ต.ค. 2561)

ตลอด 20 ปี เธอพัฒนายาให้มวลมนุษย์ไม่ต่ำกว่า 100 ชนิด และได้รับรางวัลมากมายจนนับไม่ถ้วน
ล่าสุดเพิ่งตั้ง “มูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 โดยมีทีมงานหลักสามคน คือเธอ
และน้องอีกสองคน ทำงานโดยไม่เรี่ยไรเงิน และหลายครั้งใช้เงินส่วนตัวทำงานให้สังคม ปัจจุบันยังคง
เดินทางไปๆ มาๆ หลายประเทศในแอฟริกา เพื่อสอนให้คนที่นั่นผลิตยา รวมถึงงานล่าสุดที่ประเทศเปรู
ใช้แนวคิดงานที่ “โรงพยาบาลสวนสราญรมย์โมเดล” จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแบบอย่าง
งานที่โรงพยาบาลนี้เป็นโครงการช่วยบำบัดผู้ติดยาเสพติด ฟื้นฟูสุขภาพและสมรรถภาพผู้ป่วยด้วยสมุนไพร
และพัฒนาทักษะการปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ และคิดว่าคงจะเป็นโครงการสุดท้ายในชีวิต
เพราะตอนนี้ ดร.กฤษณาอายุ 66 ปีแล้ว รวมถึงยังทำโครงการพัฒนาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานและโรงงาน
สมุนไพรในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง

“เราไม่ได้ใช้งบประมาณใคร ไม่ต้องห่วงอะไรเลย เงินหมดก็หยุดทำ เราเป็นประธาน วางแผนเอง
ปฏิบัติเอง ทำหลายอย่างในคนๆ เดียว ถ้าไม่มีเรา มูลนิธิก็ปิดได้เลย ไปทำงานที่ไหนก็สอนให้คนพึ่งตนเอง
สอนให้คนตกปลา ไปสร้างโรงงานสมุนไพรสามจังหวัดภาคใต้สิบกว่าปี ตอนนี้พยายามพัฒนาให้คนไทย
ปลูกสมุนไพรให้มีคุณภาพ”

เธอเรียกผู้ป่วยยาเสพติดที่มาบำบัดในโรงพยาบาลนี้ว่า “นักเรียน” ปกติใช้เวลาบำบัด 4 เดือน โดยเน้น
การบำบัดจิต ให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง และสร้างอาชีพปลูกสมุนไพรป้อนโรงงาน จากนั้นก็เอา
สมุนไพรที่ปลูกไปใช้กับผู้ติดยา อย่าง “เถาวัลย์เปรียง” แก้ปวดเมื่อย, “ย่านางแดง” กำจัดพิษ หรือ “รางจืด”
เอาโลหะออกจากร่างกา. ยาเป็นแค่สัญลักษณ์ให้เขารู้ว่า สิ่งที่ยากจริงๆ คือการเยียวยาจิตใจให้เขา
เป็นส่วนหนึ่งของสังคมซึ่งยากมาก

เมื่อคนเหล่านี้กลับไปอยู่ในชุมชน เป็นเรื่องง่ายที่พวกเขาจะกลับไปเสพยาอีก โครงการบำบัดผู้ป่วย
ยาเสพติด จึงสำเร็จได้ยาก เธอบอกว่า ถ้าบำบัดแค่ในโรงพยาบาล แล้วจบ ทำแบบนั้นได้ผลแค่
25 เปอร์เซ็นต์ ถ้าลงไปถึงชุมชนสร้างเครือข่ายมีโอกาสที่จะได้ผลเกิน 54 เปอร์เซ็นต์

“อย่าง “ศูนย์ที่เปรู” ได้ผล 54 เปอร์เซ็นต์โดยใช้สมุนไพรอย่างเดียวบำบัด 9-12 เดือน แต่ที่นี่ใช้เวลา
บำบัด 4 เดือน ปล่อยออกไปก็ติดยาอีก บำบัดแล้วก็ไม่มีประโยชน์ จึงต้องลงไปทำในชุมชนด้วย
เพราะบางครั้งมี “การฟอกตัว” โดยผู้ค้ายาติดสินบนตำรวจ บอกว่าผ่านการบำบัดแล้ว แต่กลับมาขายยาอีก
เป็นวังวนปัญหาใหญ่ของประเทศ แต่เนื่องจากเป็นโครงการสุดท้ายในชีวิตจึงต้องทุ่มทั้งแรงงานและแรงใจ
เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยยาเสพติดไม่กลับไปข้องแวะกับยาอีก ต้องใช้เทคนิคหลากหลายและใช้ใจที่เต็มเปี่ยม
ด้วยความเมตตา

“เราก็เคยไปดูงานที่วัดถ้ำกระบอก ที่นั่นบำบัดแค่ 15 วัน แต่เรา 4 เดือนยังทำไม่ได้เลย พอทำแล้วก็ถูกเชิญ
ให้ไปช่วยคนเปรู คนประเทศนั้นจะเคี้ยว “ใบโคคา” ตลอดเวลา ไม่ทำงานอะไรเลย เคยลองเคี้ยวดู
ก็อร่อยดี ที่นั่นมีศูนย์แห่งหนึ่ง ไม่ใช้ยาแผนปัจจุบันบำบัดผู้ติดยาเลย อย่างที่บอก ‘ยาไม่ได้เยียวยาอะไร’
อยู่ที่จิตใจ”

เธอเล่าต่อว่า เมื่อสามสิบปีก่อน เจ้าหน้าที่จากเปรู ก็มาศึกษาดูงานที่วัดถ้ำกระบอก และคนไทยก็ไปดูงาน
ที่เปรู ซึ่งก็เลียนแบบวิธีการบำบัดของวัดถ้ำกระบอกนั่นแหละ

“จริงๆแล้ว ไทยมีของดีมากมาย แต่ละเลย ถ้าเอาแนวคิดวัดถ้ำกระบอกมาทำทั่วประเทศก็น่าจะทำได้ ไม่ต้อง
ใช้เงินเยอะ ที่นั่นจะมีพิธีกรรมช่วยในเรื่องจิตใจ เพราะคนพวกนี้ จำในสิ่งที่ไม่ควรจำ เรื่องยาเสพติด มักจะ
กลับไปใช้อีก ก็ทำให้พวกเขามีอาชีพ ปลูกสมุนไพร รู้สึกมีคุณค่ามากกว่าปลูกผักบุ้งและคะน้า”

กระบวนการที่ดร.กฤษณาเล่า จึงไม่ใช่แค่ให้ยาสมุนไพร หรือลงแปลงการเกษตรอย่างเดียว เธอยังเป็นแรง
บันดาลใจให้คนเหล่านั้นเห็นว่า พวกเขามีคุณค่าในชีวิตไม่ต่างจากเธอและหลายคนที่อยู่บนโลกใบนี้
“ปรับจิตใจคนไม่ใช่ง่ายนะ ตัวเราเองยังปรับไม่ค่อยได้เลย”

เมื่อถามว่า สวนสราญรมย์โมเดล ประสบความสำเร็จหรือยัง เธอบอกว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ ต้องติดตามว่า
คนพวกนี้ออกไปแล้ว ยังใช้ยาเสพติดจำนวนเท่าไหร่ ต้องไปตามดูในชุมชน ก็ต้องสร้างเครือข่าย
“เวลาทำอะไร อย่ายึดติดว่าต้องทำอย่างนี้ตลอดไป ต้องเปลี่ยนแผนอยู่บ่อย ๆ แต่เนื่องจากมูลนิธิ
เรามีกันแค่สามคน เราจึงปรับเปลี่ยนแผนได้โดยยึด “หลักคุณธรรม”

"แพทย์แผนทางเลือก” ไม่ว่าแผนอินเดีย แผนไทย ก็จะทำตามความเชื่อของตน ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
ยืนยัน ส่วนแพทย์แผนปัจจุบัน จะเน้นการใช้ยาที่ออกฤทธิ์แรงและมีผลข้างเคียง แต่มีหลักฐานทาง
วิทยาศาสตร์รองรับ ถ้าเอาทั้งสองแผนมารวมกัน เลือกเฉพาะส่วนดีๆ ก็น่าจะใช้ร่วมกันได้ เพราะร่างกายเรา
เป็นธรรมชาติ แต่เรากลับแยกส่วนว่าต้องใช้แผนปัจจุบัน ซึ่งมีผลข้างเคียง ในฐานะผู้ผลิตยา เช่นยาเคมี
จำพวกพาราเซตามอล เราก็เอาผงยามาตอกเป็นเม็ด แต่ถ้าทำ “ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรที่ได้จากกิ่งและ
ใบซึ่งมีสารเคมีอยู่ 120 ตัว ถ้าผลิตไม่ดีแทนที่โรคจะหาย ก็อาจนำโรคอื่นเข้าไปด้วย คนไทยยังขาด
ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ คิดว่า โรคที่รักษาด้วยธรรมชาติจะหาย แต่ถ้าใช้
โดยไม่คำนึงถึงมาตรฐาน ก็มีปัญหา”

โปรดติดตามตอนที่ ( 13 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ส.ค. 13, 2022 6:18 pm

😀 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ตอนที่ ( 13 ) (ตอนจบ)

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนธันวาคม 2550 + นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 565 ปี 2550
และจากกูเกิ้ล รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

การบรรยายอบรมเรื่อง “ยารักษากาย ธรรมะรักษาใจ” ที่สวนโมกข์กรุงเทพ ครั้งที่ 34
โดยวิทยากร ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์

เธอกล่าวว่า ปกติเธอสวดมนต์ทุกวันวันละสองชั่วโมง เพื่อทำให้กายและใจสมดุล มีพลังทำงาน
เพราะ “คนเราต้องอารมณ์ดี จึงจะมีความสุข อีกอย่างคือต้องรู้จักเดินสายกลาง ไม่โลภ ทำแบบนั้น
ก็จะมีสารบางอย่างหลั่งออกมาที่ปลายประสาท ทำให้ไม่แก่ ไม่เป็นมะเร็ง เซลล์ไม่เสื่อม และเราควร
ทำวันนี้ให้เหมือนกับวันสุดท้ายของชีวิต เพราะไม่มีวันพรุ่งนี้ให้แก้ตัวแล้ว”

ทุกครั้งที่มีคนถามเรื่องชีวิต เธอบอกเสมอว่า ไม่ยึดติดสิ่งใด “เราเป็นคนบ้านนอก แต่ไม่รู้สึกขาดแคลน
เพราะครอบครัวมีความรักที่เต็มเปี่ยม มาเรียนกรุงเทพฯตั้งแต่เด็กๆ ที่โรงเรียนราชินี ที่นั่นผู้ดีเขาเรียนกัน
แต่เราไม่เคยรู้สึกว่าด้อย เราภูมิใจในตัวเรา มีแค่ไหนก็แค่นั้น ใครรับเราไม่ได้ไม่เป็นไร ปัญหาไม่ได้
อยู่ที่เรา ปัญหาอยู่ที่คนมอง เขาจะมองยังไง ก็เรื่องของเขา เขาก็ทุกข์เอง มีคนมองว่าทำไมเราอ้วนจัง
นั่นมันเรื่องของเขา เราไม่ได้คิดอะไร ชีวิตก็จะมีความสุขตลอดเวลา เพราะเราละไปแล้ว
และไม่ได้คิดว่าเรียนจบสูง ๆ แล้วใบปริญญาจะมีค่า คนเราจะมีค่าหรือไม่อยู่ที่การกระทำ แต่ก็ต้องหา
ปริญญามาเป็นตั๋วผ่านทาง เพราะบ้านเรายอมรับเรื่องนี้ และเธอก็ไม่เคยไปรับปริญญาเลย ไม่ได้มี
ความหมายอะไร" สำหรับเธอ สิ่งที่ทำได้คือ การช่วยเหลือ เพราะเขาเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของ
ครอบครัวเรา

"ทั้งๆ ที่ผิวดำสนิท (คนแอฟริกัน) และมีกลิ่นด้วย ก็เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน เราก็สอนให้เขาผลิตยา
เพื่อช่วยคนของเขา 12 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2545 ทำงาน 17 ประเทศในแอฟริกา ซึ่งติดอันดับประเทศ
ยากจนที่สุดในโลก และก่อนหน้านี้เราไม่ได้ตั้งเป้าว่า จะช่วยคนไทยได้กี่คน แต่ก็ช่วยได้ทั้งประเทศ
ไม่มีปัญหาเรื่องยาต้านเอดส์แพงแล้ว แต่ในแอฟริกา คนยากจนมาก เสียชีวิตด้วยเอดส์ปีละหนึ่งล้านคน
แต่ที่จริงพวกเขาเสียชีวิตด้วยมาลาเรียมากกว่า ปีละสองล้านคน ที่คนไม่พูดถึงมาลาเรีย เพราะเป็นเรื่อง
ของคนจน"

อนึ่ง การบรรยายที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ครั้งนี้ พิธีกรจะขอแบ่งเงินบริจาคออกเป็นสองส่วน
ส่วนหนึ่งให้ “มูลนิธิกฤษณา” แต่ดร.กฤษณา ปฏิเสธ โดยบอกว่า เงินเราพอมี (เงินส่วนตัว) ก็ใช้ไป
เราก็พอเพียง ถ้ามูลนิธิขาดแคลน ต้องใช้จริงๆ ก็ตัดที่ดินเกาะสมุยของครอบครัวขายไป ก็เท่านั้นเอง

เมื่อถามว่า เดินทางเยอะ แล้วมีเวลาอยู่บ้านไหม --- เธอตอบว่า บ้านคือที่ ๆ เรามีความสุข เรามีบ้านเยอะ
ในอาฟริกาก็มี บ้านจริง ๆ อยู่ที่เกาะสมุย และที่กรุงเทพฯ และอาจจะสร้างที่ศรีสะเกษอีกหลัง “พอเราตาย
ไปก็ให้คนอื่นมาอยู่ เราไม่มีบ้านหลังที่รักที่สุด รักไปทำไม ถ้าเรารัก เราก็ผูกติดกับสิ่งที่เรารักใช่ไหม
เราไม่ผูกติดกับมัน เราไม่มีออฟฟิศ เพราะออฟฟิศเคลื่อนที่ไปตามตัวเรา เราไปตรงไหน
ตรงนั้นก็คือที่ทำงาน”

ส่วนความหวังในชีวิต เธอตอบชัดถ้อยชัดคำว่า
“อยากทำให้คนมีความสุข แล้วคุณล่ะ มีความสุขหรือยัง”


***************************
จบบริบูรณ์


:s007: :s007:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 30, 2022 4:35 pm

เรื่องสั้น "หญิงสาวกับถุงนอน"

จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2551 โดย Bella Laffin
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หน้าหนาวปีนั้นอากาศทารุณมาก ฉันกับเพื่อนเดินทางเข้าเมืองแต่เช้าในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
เราสองคนดีใจที่ออกจากรถไฟที่แน่นขนัดเมื่อถึงสถานีกลางนครซิดนีย์ แล้วรีบเดินตาม
คลื่นมนุษย์ฝ่าลมหนาวไปสู่จุดหมายของตน เราสังเกตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเดินนำหน้าเรา

เธอสวมสูทแบบนักธุรกิจ มือข้างหนึ่งถือกระเป๋าเอกสาร อีกข้างถือถุงนอนใหม่เอี่ยม
ป้ายราคายังห้อยอยู่ ดูเป็นถุงนอนที่กันอากาศหนาวจัดได้เป็นอย่างดี

นี่เธอจะเอาไว้นอนค้างที่ทำงานหรือ เรานึกสงสัย แล้วเสื้อผ้าของใช้ของเธอเล่าอยู่ที่ไหน
เมื่อเดินตามเธอไปสักพักเราจึงเข้าใจ

เราเห็นเธอหยุดและก้มลงคุยกับชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเป็นคนไร้บ้านที่ปกตินั่งขอเงินอยู่ในอุโมงค์
คนเดินในสถานี เธอคุยกับเขาสักพักแล้วยื่นถุงนอนให้ เราได้ยินด้วยว่า เธอบอกว่าอุตส่าห์ซื้อ
ให้เขาโดยเฉพาะ เพราะอยากให้เขาไม่ต้องทนหนาวอีกต่อไป

ฉันรู้สึกอบอุ่นในหัวใจเพราะมีโอกาสเห็นคนใจบุญเยี่ยงนี้ เมื่อเดินผ่านชายหนุ่มไร้บ้าน
ในสถานีครั้งต่อ ๆ มา ฉันสังเกตว่า ถุงนอนใบนั้นไม่เคยห่างกายเขาเลย
เป็นของรักของหวงของเขาจริง ๆ

*********************
จบบริบูรณ์

:s012:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ย. 03, 2022 8:16 pm

*เรื่องสั้น "คุณลุงคนดี"
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2551
โดย ประภัสสร จิรธนวิชัย รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เมื่อเข้าค่ายตอนอยู่ชั้นมัธยมสอง ฉันต้องพักค้างแรมเป็นเวลา 2 คืน 3 วันที่โรงเรียน
ซึ่งอยู่ในซอยลึก จึงต้องนั่งรถสามล้อหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าไป วันนั้น ฉันไป
โรงเรียนพร้อมกระเป๋าเสื้อผ้าใบใหญ่และเงินติดตัวที่แม่ให้ไว้ 400 บาท ซึ่งสำหรับฉัน
เป็นจำนวนเงินมากทีเดียว ฉันเก็บเงินใส่กระเป๋ากระโปรงและเลือกจะนั่งรถสามล้อไป
โรงเรียน กว่าจะรู้ตัวว่าเงินร่วงหายไปก็ถึงตอนเข้าแถวแล้ว
ฉันกับเพื่อนช่วยกันเดินหาไปทั่วแต่ไม่พบ สักพักมีเสียงประกาศเรียกชื่อฉันให้ไปที่ห้อง
ประชาสัมพันธ์ ลุงคนขี่สามล้อนำเงินของฉันที่เขาเก็บได้มาส่งคืนให้ ในเวลานั้น ฉันยิ้ม
ทั้งน้ำตาพร้อมกับกล่าวขอบคุณลุงด้วยความดีใจเป็นที่สุด แม้ตอนที่เขียนเรื่องนี้ฉันอยู่
ชั้นมัธยม 4 แล้ว แต่ความประทับใจในน้ำใจและความซาบซึ้ง
ในความดีครั้งนั้นยังไม่เคยลบเลือนไปจากใจฉันเลย

**************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ต.ค. 12, 2022 5:52 pm

เงาของพ่อ ตอนที่ (1) จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543
โดย Linda Ching Sledge รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ดิฉันกับ‘แกรี’สามี กำลังนั่งเครื่องบินจากนครนิวยอร์กไปฮาวายเพื่อพา”ทิมมี่”ลูกชายวัย 5 เดือน
ไปให้พ่อแม่เห็นหน้าเป็นครั้งแรก แต่ภารกิจอันน่าชื่นใจนี้กลับทำให้ดิฉันหวาดหวั่นเพราะแทบไม่ได้
พูดคุยกับพ่อมา 5 ปีแล้ว พ่อรักลูกแต่เคร่งครัดแบบพ่อชาวจีนและเคร่งครัดกับดิฉันเป็นพิเศษ
แม้เราจะมีอะไรเหมือนกันอยู่ไม่น้อย แต่นับวันเราทั้งสองกลับยิ่งห่างเหินกัน

เมื่อดิฉันอยู่ในช่วงวัยรุ่น พ่อยกย่องแม่เป็นแบบอย่างของกุลสตรี แม่ชอบไปร่วมงานสังคมต่าง ๆ
แต่ดิฉันชอบอ่านหนังสือมากกว่า พ่อเกณฑ์ให้ดิฉันคบกับลูกของเพื่อน ๆ แต่ดิฉันยืนยันจะเลือกคบ
เพื่อนเอง พ่อนึกว่าดิฉันจะดำเนินรอยตามแม่ คือเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น และแต่งงาน
กับชายโสดเชื้อสายจีนเก่าแก่ซึ่งตั้งรกรากอยู่ที่ฮาวายเหมือนท่านกับแม่
แต่การณ์ไม่เป็นเช่นนั้นเลย ด้วยความเป็นคนหัวแข็งเหมือนพ่อ ดิฉันหนีไปเข้ามหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
ต่อมาดิฉันเกิดรักใคร่กับหนุ่มฝรั่ง”แกรี่”ตาสีฟ้าและผมสีทรายแบบฝรั่งทั้งหลาย ดิฉันบอกว่าเราจะไม่
แต่งงานกันที่ฮาวาย รวมทั้งไม่จัดพิธีแต่งงานใหญ่โตเอิกเกริก พ่อแม่เดินทางมาและพบแกรี่ก่อนหน้า
พิธีแต่งงานเล็ก ๆ ที่เรียบง่ายของเราเพียง 2 วัน หลังจากงานได้ไม่นาน เราก็ย้ายไปนครนิวยอร์กซึ่ง
อยู่ห่างจากเกาะฮาวายสุดหล้าฟ้าเขียว

การที่พ่อเงียบหายไปหลังจากนั้นบอกให้รู้ว่าท่านไม่พอใจ พ่อไม่เคยมาเยี่ยมดิฉันและดิฉันก็ไม่เคย
ไปเยี่ยมท่าน เวลาแม่โทรศัพท์มา พ่อไม่เคยขอพูดกับดิฉัน และดิฉันก็ไม่เคยขอพูดกับท่านเช่นกัน
เราคงจะเงียบเฉยกันต่อไปจนกลายเป็นความเหินห่างอย่างถาวร จนกระทั่ง”ทิมมี่”เกิด ดิฉันจึงอยาก
กลับไปฮาวายอีก ทั้งที่ไม่เคยคิดเช่นนี้มาก่อน

ระหว่างเที่ยวบินที่นานแสนนาน ความทรงจำในวัยเด็กเมื่อดิฉันเป็นเหมือนเงาตามตัวพ่อก็พรั่งพรูเข้ามา
ตอนนั้นดิฉันอายุ 3 ขวบ วิ่งตามพ่อขณะเดินผ่านสวนกล้วยในเมืองกสิกรรมซึ่งพ่อเป็นครูสอนหนังสืออยู่
พอดิฉันเหนื่อย พ่อก็แบกขึ้นบ่าเพื่อให้ดิฉันมองเห็นได้ไกล ๆ “เธอคือแสงตะวันของฉัน...”
(You are my sunshine) พ่อมักจะร้องเพลงนี้ ดิฉันจะหัวเราะและรับเอาความรักสุดซึ้งของพ่อไว้จนเต็มอิ่ม

บัดนี้ ลูกสาวผู้หลงระเริงกำลังกลับบ้านเกิดพร้อมด้วยเด็กลูกครึ่งตาสีน้ำตาลทอง ผิวสีเหลือง หน้าตาออกไป
ทางบรรพบุรุษชาวจีน พ่อจะมีปฏิกิริยาอย่างไรหนอ ถ้าพ่อไม่พอใจทิมมี่เหมือนที่เคยไม่พอใจดิฉัน รอยร้าว
ระหว่างเราก็คงถึงขั้นแตกหัก และดิฉันก็คงจะไม่มีวันกลับไปฮาวายอีก
เครื่องบินลงจอด ดิฉันจัดแจงส่งทิมมี่ซึ่งกำลังร้องไห้และหิวให้แม่ช่วยอุ้ม ยายยอมรับหลานทันทีโดยไม่มี
ข้อกังขาใด ๆ ทั้งสิ้น

โปรดติดตามตอนที่(2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ต.ค. 14, 2022 8:42 pm

เงาของพ่อ ตอนที่ (2) จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543
โดย Linda Ching Sledge รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

สีหน้าพ่อนิ่งเฉยยากจะอ่านความรู้สึกขณะทักทายเราอย่างสุภาพ “เดินทางเรียบร้อยดีหรือ”
แล้วค่อย ๆ เหลือบมองทิมมี่ซึ่งกำลังส่งเสียงร้องจ้าอยู่ พ่อถอยหลังด้วยความตกใจ ท่านกระอัก
กระอ่วนใจไหมหนอที่เด็กแปลกหน้าส่งเสียงร้องลั่นคนนี้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของท่าน

หลังอาหารค่ำที่บ้านพ่อแม่ ดิฉันกับแกรี่ไปพักผ่อนในห้องนอนเก่าของดิฉัน แม่เอาทิมมี่เข้านอน
ในเตียงเด็กที่ขอยืมมาและวางอยู่ในห้องติดกับห้องโถง

สี่ชั่วโมงต่อมา สัญชาตญาณแม่ปลุกให้ดิฉันตื่น ถึงเวลาที่ทิมมี่เคยตื่นกินนมแล้ว แต่แปลกไม่มีเสียง
ร้องแสดงความหิว มีแต่เสียงเด็กอ่อนหัวเราะเอิ๊กอ๊ากเบา ๆ ฟังแล้วรื่นหู ดิฉันเดินเขย่งปลายเท้าไป
ที่ห้องโถง ในห้องนั่งเล่น ทิมมี่นอนหนุนหมอนอยู่บนพื้นกลางแสงไฟที่ส่องสว่างเป็นวง กวัดแกว่งกำมือ
และเท้าอวบอูมเล็ก ๆ ไปมาอย่างร่าเริง ลูกจ้องดูใบหน้าคนเอเชียเกรียมแดดที่ก้มอยู่ มีรอยย่นที่หางตา
เวลายิ้ม พ่อกำลังป้อนนมทิมมี่ขณะจี้ท้องหลานพลางครวญเพลงเบา ๆ “เธอคือแสงตะวันของฉัน...”
ดิฉันเฝ้าดูอยู่ในความมืดเพราะไม่อยากขัดจังหวะ แล้วย่องกลับไปห้องนอน ตอนนั้นเองที่ดิฉันเริ่ม
สงสัยว่า พ่อก็คงอยากสมานรอยร้าวเช่นเดียวกันแต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ทิมมี่จึงกลายเป็นสะพานทอด
ให้เราเข้าหากัน

ตลอดเวลาที่เหลือ ความตึงเครียดค่อย ๆ คลายลง ทิมมี่ทำให้เราพ่อลูกไม่ต้องพูดถึงความขุ่นเคืองต่อกัน
เมื่อยอมรับหลานลูกครึ่ง พ่อก็เลิกยึดว่าครอบครัวเราต้องมีหน้าตาแบบเดียวกัน ทิมมี่เป็นที่รักของ
ทุกคน แม้ผมจะหยิกและตาสีน้ำตาลทองก็ตาม
เราไปเยี่ยมพ่อแม่อีกในฤดูร้อนปีต่อมา ทิมมี่ซึ่งกำลังเดินเตาะแตะลงเล่นน้ำตีคลื่นที่ชายหาดกับตา
และปีต่อมา ทั้งสองก็ช่วยกันสร้างบ้านบนต้นไม้ด้วยเศษไม้แล้วทาสีฟ้า

พ่อชอบใจที่ได้เป็นตา พ่อถึงกับปลดเกษียณตัวเองก่อนเวลาเมื่อทิมมี่อายุได้ 4 ขวบและเดินทางมา
อยู่กับลูกหลานในนิวยอร์กหลายครั้ง ภาพตากับหลานเดินด้วยกันนั้นช่างน่ารักเสียนี่กระไร
ชายชาวจีนเดินตามหลังเงาน้อยที่ต่างไปจากต้นแบบอย่างร่าเริง

************************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ พ.ย. 26, 2022 8:03 pm

"ดาราจำเป็น" ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2543 โดย Magnus Linklater
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เหตุเกิดขึ้นที่บ้านในเมืองเอดินบะระ (Edinburgh) สกอตแลนด์ ราวเที่ยงคืนที่เงียบสงัด
ภรรยาผมเพิ่งจัดกระเป๋าเตรียมตัวไปเที่ยวเสร็จ ระหว่างเดินผ่านโถงทางเดินในบ้าน แว่นตา
ของเธอพลัดตกลงไปในช่องแคบ ๆ ใต้พื้นบ้านที่ปูด้วยหินแข็งมาตั้งแต่ศตวรรษก่อน พอแซะ
หินออกบางส่วน ผมก็เห็นแว่นตาสะท้อนแสงอยู่ข้างใต้ ผมรีบนอนราบกับพื้นแล้วใช้มือซ้าย
ค่อย ๆ ล้วงเข้าไปตามช่อง

หลังจากใช้มือควานหาอยู่พักใหญ่ก็ยังคงไม่ได้แว่นตาออกมา ที่สุดผมก็เลิกล้มความตั้งใจ
โดยที่บางส่วนของแว่นตานอนเยาะหยันอยู่แค่เอื้อม จากนั้นผมก็ชักมือกลับแต่ดึงไม่ออก
เพราะข้อศอกไปติดอยู่ในซอกเล็ก ๆ ระหว่างคานเหล็กกับแง่งหินแข็ง ทีแรกผมค่อย ๆ ขยับ
ซ้ายขวา จากนั้นก็ออกแรงกระชาก แต่ข้อศอกไม่เขยื้อนแม้แต่น้อย

ผมพยายามขยับอีกครั้งแต่ไร้ผล ได้แต่นอนคว่ำหน้าอยู่ตรงนั้นอย่างหมดท่า ภรรยาเจ้าของ
แว่นตาซึ่งทำเป็นทองไม่รู้ร้อนแนะว่า ควรชโลมแขนให้ลื่นด้วยน้ำมันมะกอก เราสองคนช่วยกัน
กรอกน้ำมันมะกอกลงในช่องนั้น แต่แขนก็ยังติดอยู่ ชั่วขณะหนึ่ง ผมรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงกลั้น
หัวเราะแต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจเพราะเหลียวไปมองหน้าภรรยาได้ไม่ถนัด

“คงต้องเรียกหน่วยดับเพลิง” ภรรยาว่า

ผมตัดสินใจดิ้นสุดแรงเกิด เพราะการให้ภรรยาเห็นผมตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เป็นเรื่องน่าอายที่
พอทนได้ แต่นี่ถึงกับต้องให้หน่วยดับเพลิงทั้งโขยงมาเดินเพ่นพ่านทั่วบ้าน คิดแค่นี้ก็ขนหัวลุกแล้ว
ผมจึงออกแรงดึงและบิดข้อศอกต่อไปอีกกว่า 10 นาที ในที่สุดก็ถอดใจ

ภรรยาโทรฯ ไปปรึกษาตำรวจที่โรงพักใกล้บ้าน ซึ่งแนะนำว่าให้แจ้งหน่วยดับเพลิง

การเรียกหน่วยดับเพลิงมีอยู่วิธีเดียวคือ โทรฯหมายเลขฉุกเฉิน เมื่อได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง
ไม่ได้มาคนเดียว แต่มากันทั้งสถานี หลังจากนั้นไม่กี่นาที เสียงรถดับเพลิงก็แผดขึ้นกลางถนนที่ผู้คน
ในบริเวณที่รถแล่นผ่านกำลังหลับใหลกันอยู่ ไฟฉุกเฉินสีน้ำเงินวูบวาบมาแต่ไกล

ทันทีที่รถจอด เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสวมหมวกนิรภัยสีเหลือง 3 คนรีบลงจากรถ ขวานประจำตัวที่เหน็บอยู่
กับเข็มขัดของแต่ละคนแกว่งไปมา ผมได้แต่กลอกตามองรองเท้าบูตขนาดมหึมาที่ย่างเข้ามาใกล้
ทั้งสามทรุดตัวลงนั่งข้าง ๆ ผมแล้วประเมินสถานการณ์อย่างมืออาชีพ ไม่มีใครหัวเราะสักนิด

มีเสียงรถมาจอดหน้าบ้านอีกคัน รถตำรวจนั่นเอง ตำรวจ 2 นายเดินถือวิทยุสื่อสารซึ่งส่งเสียง
ครืดคราด ตรงเข้ามาสำรวจบริเวณที่ผมนอนอยู่ รองเท้าบูตของตำรวจใหญ่พอ ๆ กับของเจ้าหน้าที่
ดับเพลิง แต่ถ้าถามผมว่า ตำรวจกำลังอมยิ้มหรือไม่ ผมคงตอบไม่ได้

สักพักต่อมา ตำรวจกองปราบอีกนายก็มาสมทบ สาเหตุที่รุดมาเพราะได้รับรายงานที่สับสนว่า
มีชายคนหนึ่ง “พร้อมอาวุธครบมือติดอยู่ใต้ซอกตึก” เขาไม่เคยได้ยินเรื่องประหลาดแบบนี้มาก่อน
จึงต้องรีบรุดมาดู

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 02, 2022 8:54 pm

"ดาราจำเป็น" ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2543 โดย Magnus Linklater
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

อึดใจต่อมา ก็มีเสียงเบรกรถดังสนั่นหวั่นไหว รถพยาบาลนั่นเอง บุรุษพยาบาล 2 คน
กระโดดลงมาอย่างกระฉับกระเฉงพร้อมกระเป๋าเครื่องมือใบโต ถังออกซิเจนและอุปกรณ์ช่วย
ชีวิตครบชุด ทุกคนหมอบลงอยู่ข้างตัวผมและซักถามอาการอย่างละเอียดยิบ ผมรีบบอกว่า
“ไม่มีอะไรบุบสลาย”

ถึงตอนนี้ ในบ้านผมมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 8 คน และรถเปิดไฟฉุกเฉินจอดรออยู่หน้าบ้าน 3 คัน
ผมนอนคว่ำ แก้มแนบพื้นห้อง พอหันไปทางประตูด้านหน้า มองออกไปข้างนอก มีคนผ่านมาแล้ว
หยุดดูด้วยความประหลาดใจกับภาพที่เห็น นั่นคือร่างของผมนอนคว่ำหน้าอยู่กลางวงล้อมของ
เจ้าหน้าที่กู้ภัย แต่คิดว่าพวกเขากำลังสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้น

บุรุษพยาบาลผู้หนึ่งแนะให้ชโลมแขนด้วยน้ำมันมะกอกอีกครั้ง จากนั้นก็กรอกน้ำมันมะกอกราคาแพง
ซึ่งเหลือเพียงครึ่งขวดลงไปในช่อง พร้อมกับขยับร่างผมไปรอบ ๆ เพื่อหามุมที่แขนจะหลุดจากแง่งหิน

“เอาละ ดึงได้” บรุษพยาบาลสั่ง
ผมดึง ทันใดนั้นแขนก็เป็นอิสระในสภาพเลือดซิบ ๆ เพราะรอยถลอกปอกเปิกและเปรอะน้ำมันมะกอก
ที่เปื้อนขี้ผงจนเป็นคราบดำ

“ลองขยับนิ้วดูสิครับ” บุรุษพยาบาลบอก

ผมขยับนิ้วได้ไม่มีปัญหา

“คราวหน้าลองใช้ไม้แขวนเสื้อนะครับ” เขาบอกด้วยน้ำเสียงตำหนิเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในคืนนั้น

ตำรวจปิดสมุดบันทึกประจำวัน ตำรวจกองปราบเดินส่ายหน้าออกไปเหมือนไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง
เจ้าหน้าที่พยาบาลเก็บถังออกซิเจน
พนักงานดับเพลิงเหน็บขวานเข้าเอวตามเดิม ผมคิดเอาเองว่าคงไม่เต็มใจนัก

รถฉุกเฉินทั้งหมดถอยทัพไปพร้อมกับบันไดหนีไฟ และเสียงโหยหวนของหวอก็ค่อย ๆ จางหายไป

หลังจากดื่มเบียร์ไป 2-3 แก้ว ผมก็ลองใช้ไม้แขวนเสื้อและสามารถเกี่ยวแว่นตาขึ้นมาได้
ภายในไม่ถึง 2 นาที!


**********************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส