ประวัตินักบุญอย่างย่อเดือนสิงหาคม (วันที่16-31 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 16, 2022 5:21 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๖ สิงหาคม
นักบุญสตีเฟน แห่งฮังการี
St. Stephen of Hungary

ท่านเป็นกษัตริย์ของประเทศฮังการี ราชวงศ์ของท่านนำประเทศเข้าถือความเชื่อคาทอลิก
ในศตวรรษที่ ๑๑ ก่อนให้กำเนิดท่านในปี ๙๗๕ พระมารดา ดัชเชสแห่งซาโรลท์ (Sarolt)
เห็นภาพนิมิตของนักบุญสเตเฟน มรณสักขีคนแรกของพระศาสนจักร ปรากฏมาบอกว่าเธอ
จะคลอดบุตร ผู้ซึ่งจะนำข่าวดีของพระวรสารมาสู่แผ่นดินของพวกเขา ดัชเชสแห่งซาโรลท์และ
สามีของพระนาง ดุ๊กแห่งเกซา (Geza) ผู้เป็นชาวฮังกาเรียนได้กลับใจและรับศีลล้างบาปโดย
พระสังฆราชนักบุญอดัลแบร์แห่งปราก (St.Adalbert of Prague) ท่านนักบุญองค์นี้ได้ล้างบาป
ให้บุตรชายของพวกเขา วาอิก (Vaik) ในปี ๙๘๕ และให้ชื่อนักบุญอุปภัมภ์ว่าสตีเฟน

ท่านเกซาต้องการนำชาวฮังกาเรียนให้กลับใจถือความเชื่อคาทอลิกและความเร่าร้อนดังกล่าวนี้
สตีเฟนก็รับสืบทอดเมื่อเขาเติบโต หลังจากพิชิตกองทัพของพวกต่างศาสนาที่เป็นคู่แข่ง สตีเฟน
ใช้ทรัพย์สมบัติที่ได้มาสร้างวัดวาอาราม และเชิญพวกนักบวชมาเทศน์สอนประชาชนให้กลับใจ
สตีเฟนออกกฎหมายที่ให้สิทธิ์คริสตศาสนาเหนือกว่ากลุ่มอื่น ท่านส่งทูตไปที่โรม
ขอให้พระสันตะปาปาประกาศตั้งท่านเป็นกษัตริย์ พระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ ที่ ๒ ทรงตกลง
ทรงส่งมงกุฎและกางเขนทองสำหรับขบวนแห่และให้สิทธิพิเศษทางกฎหมายแก่สตีเฟน

กษัตริย์สตีเฟนเอาใจใส่ดูแลประชาราษฎร์อย่างดีขณะเดียวกันก็ไม่ว่างเว้นในการปฏิบัติศาสนกิจ
ท่านเมตตาช่วยเหลือคนจนและคนเจ็บป่วย ส่งเสริมพิธีนมัสการพระเจ้าและดูแลกิจของราชสำนัก
พระชายาของพระองค์ กิเซลา (Gisela) เป็นน้องสาวของผู้ครองแคว้นหนึ่ง ซึ่งภายหลังท่านผู้นั้น
ก็ได้รับประกาศเป็นนักบุญด้วยคือ จักรพรรดินักบุญเฮนรี่ ที่ ๒

สตีเฟนมีความศรัทธาใหญ่หลวงต่อพระนางมารีย์พรหมจารีท่านสร้างวัดหลายแห่งเป็นเกียรติถวาย
แด่พระนางทั้งในฮังการีและนอกราชอาณาจักร ท่านเชื่อว่าพระนางได้ช่วยปกป้องไม่ให้เกิดสงคราม
ระหว่างฮังการีกับจักรวรรดิโรมันศักดิ์สิทธิ์ภายใต้จักรพรรดิคอนราด ที่ ๒ และยังช่วยให้แผนลอบสังหาร
ท่านล้มเหลว

ท่านก่อตั้งอารามในเยรูซาเล็ม และสร้างบ้านพักช่วยเหลือผู้แสวงบุญในเมืองใหญ่ๆ สตีเฟนถือว่า
บรรดานักบุญเป็นมิตรสหายของท่าน ท่านเขียนจดหมายถึงพวกนักบุญเสมอๆ ท่านได้ทำหน้าที่ที่
พระสันตะปาปามอบหมายให้สำเร็จโดยการใช้อำนาจกษัตริย์เพื่อกิจการดีของพระศาสนจักร

อย่างไรก็ตาม ความทุกข์ใหญ่หลวงก็เกิดขึ้นกับท่าน เอเมริก (Emeric) พระโอรสองค์เดียวผู้โตมา
ภายใต้การอบรมตามความเชื่อคาทอลิกและถูกคาดหวังว่าจะสืบบัลลังค์พระบิดากลับเสียชีวิต
ในอุบัติเหตุล่าสัตว์ปี ๑๐๓๑ ภายหลัง เจ้าชายเอเมริกก็ได้รับประกาศเป็นนักบุญ และสตีเฟนก็กลับ
ปีติชื่นชม บุตรชายของท่านได้เข้าอยู่กับพระเจ้าแล้ว ปีท้ายๆ ของชีวิต ท่านล้มป่วย เกิดการวิวาท
บาดหมางในหมู่ญาติเรื่องสืบทอดตำแหน่ง ในปี ๑๐๓๘ ซึ่งเป็นวันฉลองแม่พระขึ้นสวรรค์ สตีเฟน
ก็มีคำสั่งเสียถึงผู้นำศาสนจักรและรัฐขอให้พวกเขาปกป้องความเชื่อคาทอลิกและนำความเชื่อนี้
แผ่ขยายออกไป

ท่านสวดบทภาวนาสุดท้ายถึงพระนางมารีย์พรหมจารีว่า "แด่พระราชินีแห่งสวรรค์และแด่การปกป้อง
อารักขาของพระนาง ข้าพเจ้าขอถวายศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ สังฆราช และพระสงฆ์นักบวชทุกคนอาณาจักร
ของข้าพเจ้า ผู้ปกครอง และปวงประชาราษฎร์แด่พระนาง และข้าพเจ้าขอมอบถวายดวงวิญญาณของ
ข้าพเจ้าภายใต้การปกป้องคุ้มครองของพระนางด้วยเทอญ"

นักบุญสตีเฟน แห่งฮังการีเสียชีวิตในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๑๐๓๘ ท่านถูกฝังเคียงข้างบุตรชายของท่าน
นักบุญเอเมริก ทั้งสองได้รับการประกาศเป็นนักบุญพร้อมกันในปี ๑๐๘๓

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 18, 2022 8:57 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๗ สิงหาคม
นักบุญไฮยาซินธ์
St. Hyacinth

ท่านเป็นสมาชิกรุ่นแรกๆ ของคณะดอมินิกัน เป็น "อัครสาวกแห่งดินแดนภาคเหนือ"
และท่านได้รับสมญานามว่า "อัครสาวกแห่งโปแลนด์"

ไฮยาซินธ์เกิดในตระกูลสูงศักดิ์ในปี ๑๑๘๕ ที่ปราสาท Lanka ประเทศโปแลนด์ท่านได้รับ
การศึกษาอย่างดี ท่านเรียนจบปริญญาเอกด้านกฎหมายและเทววิทยาก่อนจะเดินทางไป
โรมพร้อมกับลุงของท่านผู้เป็นสังฆราชแห่งคราคูฟ ที่โรม ท่านพบกับนักบุญดอมินิกและ
ตัดสินใจเข้าร่วมคณะทันที ท่านได้รับชุดเครื่องแบบคณะจากมือนักบุญดอมินิกเอง
ในปี ๑๒๒๐

หลังสิ้นสุดปีนวกภาพ ท่านถวายตัวและถูกแต่งตั้งให้เป็นอธิการของมิสชันนารีกลุ่มเล็กๆ
ที่ถูกส่งไปเทศน์สอนที่โปแลนด์ ที่นั่นคณะนักเทศน์ได้รับการต้อนรับอย่างดีการเทศน์ของ
พวกท่านทำให้คนกลับใจมากมาย

ท่านตั้งบ้านคณะหลายแห่งในโปแลนด์งานเทศน์ของท่านแผ่ขยายไปถึงปรัสเซียและลิธัวเนีย
ท่านเดินทางข้ามทะเลบอลติก เทศน์สอนที่เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์และรัสเซียจนกระทั่งถึง
ดินแดนชายฝั่งทะเลดำ

ท่านเสียชีวิตขณะเดินทางกลับโปแลนด์เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๑๒๕๗
พระธาตุบางส่วนของท่านถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดคณะดอมินิกันในปารีส

ท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ประเทศโปแลนด์

Cr : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 18, 2022 8:58 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๘ สิงหาคม
นักบุญเฮเลนา
St. Helena

จักรพรรดินีเฮเลนา เป็นพระมารดาของพระเจ้าคอนสแตนตินมหาราช พระนางเป็นชาวบิไธเนีย
แต่งงานกับแม่ทัพชาวโรมัน ชื่อคอนสแตนติอุส ที่ ๑ ราวปี ๒๗๐ แต่ต่อมาคอนสแตนติอุส ที่ ๑
ได้เป็นซีซาร์ จึงหย่ากับเฮเลนาและแต่งงานกับลูกสาวบุญธรรมของนายพลมักซีเมียน ผู้เป็นสหาย

เมื่อคอนสแตนตินได้เป็นจักรพรรดิในปี ๓๑๒ ภายหลังการสู้รบชี้ชะตาที่สะพาน Milvian เฮเลนาก็ได้
เป็น ออกุสตา หรือจักรพรรดินีพระนางได้กลับใจถือคริสต์และทำกิจเมตตาช่วยเหลือผู้คน รวมทั้ง
สร้างวัดหลายแห่งในโรมและในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงจาริกแสวงบุญที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์นี้เอง
เฮเลนาได้ค้นพบกางเขนที่ใช้ตรึงพระเยซู

พระนางเสียชีวิตที่ Nicomedia โลงหินแกรไนต์ของท่านถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วาติกัน
ตามภาพวาดในพิธีกรรม เฮเลนาสวมอาภรณ์จักรพรรดินี และถือไม้กางเขน

Cr : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ส.ค. 19, 2022 8:12 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๙ สิงหาคม
นักบุญยอห์น เอิ๊ด
St. John Eudes

ท่านเป็นมิสชันนารีชาวฝรั่งเศส ท่านก่อตั้งคณะพระมารดาแห่งความเมตตา และเป็นผู้แต่งบท
ภาวนานมัสการพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าและแม่พระ

ท่านเกิดที่เมือง Ri ประเทศฝรั่งเศสในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๑๖๐๑ เมื่ออายุ ๑๔ ปีท่านปฏิญาณ
ถือความบริสุทธิ์ และนับแต่เยาว์วัยท่านพยายามดำเนินชีวิตตามแบบอย่างพระเยซู ท่านบวช
เป็นพระสงฆ์เมื่ออายุ ๒๔ ปี และได้รับมอบหมายให้ดูแลคนป่วยจากโรคระบาด ท่านเอาใจใส่
พวกเขาทั้งที่เสี่ยงต่อชีวิตตนเอง ท่านยังริเริ่มเทศน์มิสชั่นและมีชื่อเสียงในฐานะนักเทศน์คนสำคัญ
ทั้งที่อายุยังน้อย ท่านเทศน์ มิสชั่นไปทั่วฝรั่งเศส โดยเฉพาะนอร์มังดี

ในปี ๑๖๔๑ ท่านตั้งคณะพระมารดาแห่งความเมตตาของผู้ลี้ภัยเพื่อให้เป็นที่พึ่งพิงของพวกโสเภณี
ปี ๑๖๔๓ ท่านตั้งคณะของพระเยซูและแม่พระเพื่ออบรมพระสงฆ์และงานธรรมทูต ท่านส่งเสริม
ความศรัทธาต่อดวงหทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูและแม่พระ ท่านเขียนหนังสือเกี่ยวกับความศรัทธา
ต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ท่านเสียชีวิตที่เมือง Caen ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๑๖๘๐

ชีวิตศักดิ์สิทธิ์ของท่านได้รับการยกย่องจากคนทุกหมู่เหล่า
พระศาสนจักรประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๙๒๕

Cr :Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ส.ค. 21, 2022 8:41 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๐ สิงหาคม
นักบุญแบรฺนารฺด์แห่งแกลรฺโวส์
St. Bernard of Clairvaux

ท่านเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรงานเขียนและบทเทศน์ของท่านมีอิทธิพลอย่างสูงต่อยุโรป
ในศตวรรษที่ ๑๒ ท่านพยายามช่วยไม่ให้เกิดการแตกแยกในศาสนจักรในปี ๑๑๓๐

ท่านเกิดในปี ๑๐๙๐ ใช้ชีวิตวัยเยาว์ใกล้เมืองดิยองฝรั่งเศส และเข้าร่วมคณะฤษีซิสเตอเซียน
เมื่ออายุ ๒๒ ปี ท่านได้รับการศึกษาดีเลิศ ความร้อนรนในความเชื่อของท่านจูงใจให้พี่น้อง ลุง
และเพื่อนๆ เข้ามาเป็นฤษีด้วย

ท่านอยู่ในอารามที่เมืองซิโต ๓ ปีจึงถูกส่งพร้อมกับเพื่อนนักพรต ๑๒ คนให้ไปตั้งอารามใหม่
ในสังฆมณฑลแชมเปญ อารามแห่งนี้ต่อมามีชื่อเรียกว่าคลาร์โว (หุบเขาแห่งแสงสว่าง)
ท่านเป็นอธิการอารามแห่งนี้ตลอดชีวิต

นักบุญแบรฺนารฺด์สร้างความกลมกลืนของชีวิตบำเพ็ญภาวนากับงานธรรมทูต วินัยถือความเงียบ
และภาวนาเคร่งครัดไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการประกาศพระวรสารอย่างแข็งขันของท่าน ความสุภาพ
และความมุ่งมั่นปราบอารมณ์ร้อนของท่านเป็นตัวอย่างแก่คนอื่น

ท่านยังโดดเด่นเรื่องความศรัทธาต่อแม่พระ ท่านเป็นผู้ส่งเสริมการสวดภาวนา "Memorare" ท่านมีชื่อ
เสียงไปทั่วยุโรป เป็นที่ปรึกษาของพระสันตะปาปาและผู้นำฝ่ายบ้านเมือง ท่านเสียชีวิตในปี ๑๑๕๓
และถูกประกาศเป็นนักบุญในอีกไม่ถึงสามสิบปีต่อมา ในปี ๑๑๗๔

Cr : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ส.ค. 21, 2022 8:45 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๑ สิงหาคม
นักบุญปีโอ ที่ ๑๐ พระสันตะปาปา
St. Pius X, Pope

กุยเซ็ปเป เมลชิออร์ซาร์โต เกิดในปี ๑๘๓๕ ที่เมือง Riese ใกล้เวนิส ท่านเป็นหนึ่งในพี่น้องเก้าคน
ของครอบครัวยากจน ตั้งแต่เยาว์วัยกุยเซ็ปเปรู้สึกถึงกระแสเรียกเป็นพระสงฆ์ ต่อมาก็ได้เข้า
บ้านเณรและรับการอบรมศึกษาจนได้รับศีลบวชเมื่อปี ๑๘๕๘ ยี่สิบหกปีหลังจากนั้น ท่านได้เป็น
สังฆราชของ Mantua อิตาลี แล้วในปี ๑๙๐๓ ก็รับตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์แรกของ
ศตวรรษที่ ๒๐ โดยใช้พระนามว่า ปีโอ ที่ ๑๐

ในสมณสมัย พระองค์ออกกฤษฎีกาให้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ และ
ให้สัตบุรุษสามารถรับศีลมหาสนิทได้ทุกวัน พระองค์ส่งเสริมฆราวาสให้อ่านพระคัมภีร์ ทรงฟื้นฟู
พิธีกรรมสนับสนุนการเทศน์อย่างเรียบง่ายและชัดเจน และทรงนำการขับร้องเพลงเกรกอเรียนกลับมา
ใช้ในพิธีกรรม พระองค์ปรับปรุงบทสวดทำวัตรประจำวันของพระสงฆ์จัดระเบียบเจ้าหน้าที่
บริหารวาติกัน (curia) และริเริ่มการปรับปรุงกฎหมายพระศาสนจักร

พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ๑๙๑๔ มีรายงานว่าทรงกังวลอย่างยิ่งกับสงครามโลกครั้งที่ ๑
ที่กำลังเริ่มขึ้นในเวลานั้น

พระองค์ได้รับประกาศเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒ ในปี ๑๙๕๔

Cr : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ส.ค. 24, 2022 11:39 am

22 สิงหาคม
ระลึกถึงพระนางมารีย์ ราชินีแห่งสากลโลก
(The Queenship of the Blessed Virgin Mary, memorial)

"การสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ถูกฉลองยาวต่อเนื่องมาถึงวันฉลองการเป็น
ราชินีแห่งสากลโลกของพระนางมารีย์ ซึ่งฉลองในอีก 7 วันต่อมา ในวันนี้เราพินิจรำพึงถึงพระนาง
ผู้ประทับเคียงข้างองค์ราชาแห่งทุกกาลสมัย ทรงส่องแสงเจิดจ้าในฐานะพระราชินีและผู้วิงวอนเพื่อเรา
ในฐานะของมารดา" (คำกล่าวของ นักบุญ ปอลที่ 6 พระสันตะปาปา ใน Marialis Cultus 6)

นับจากสมัยศตวรรษแรกๆของพระศาสนจักร บรรดาคริสตชนได้ภาวนาด้วยความร้อนรน
และขับบทเพลงสรรเสริญพระนางพรหมจารีมารีย์ อันเนื่องมาจากความโดดเด่นของพระนางจึง
ทรงได้รับตำแหน่งทรงเกียรติสูงสุดเท่าที่สิ่งถูกสร้างใดๆพึงได้รับ สำหรับพระนางก็คือตำแหน่ง
พระราชินีผู้ทรงสิริรุ่งเรืองของสากลจักรวาล

บรรดาคริสตชนได้ตระหนักรับรู้เสมอมาถึงความพิเศษสุดของความเป็นพระมารดาของพระเจ้า
ผู้ซึ่งพระบุตร "จะปกครองวงศ์ตระกูลของยาโคบตลอดไป" (ลก 1:33)

บรรดานักประพันธ์ของพระศาสนจักรเรียกพระนางมารีย์ว่า "พระมารดาของพระมหากษัตริย์"
"พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า" เช่นว่า นักบุญเกรโกรีแห่งนาซีอาน เรียกพระนางว่า
"พระมารดาแห่งพระมหากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล" และ "พระมารดาพรหมจารีผู้ทรงให้กำเนิด
พระมหากษัตริย์แห่งสากลโลก"

จากคำยืนยันของบรรดาปิตาจารย์และนักเทววิทยาทั้งหลายได้ให้ข้อสรุปว่า พระนางพรหมจารี
ทรงเป็นพระราชินีของทุกสิ่งสร้าง ทรงเป็นนายหญิงผู้เปี่ยมศักดิ์ของมนุษย์ทุกคน "เหตุเพราะว่า
พระนางพรหมจารีมารีย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้ทรงถูกยกขึ้นไปสู่ศักดิ์ศรีของการเป็นพระมารดาของจอมราชัน
พระศาสนจักรจึงเพียงแต่เทิดพระเกียรติของพระนาง และปรารถนาเฉลิมพระนามอันรุ่งเรืองยิ่งแด่
พระนางด้วยตำแหน่ง พระราชินี"

พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 9 ได้ตรัสถึงพระแม่มารีย์ว่า "ทรงโน้มดวงพระทัยของแม่มายังเรา
และช่วยในเรื่องที่เกี่ยวกับความรอดพ้นของเรา พระนางจึงทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับมวลมนุษยชาติ
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสถาปนาให้เป็นพระราชินีแห่งสวรรค์และแผ่นดิน และทรงยกย่องให้เหนือกว่า
บรรดานิกรเทวดา และบรรดานักบุญทั้งหลายในสวรรค์ ประทับเด่น ณ เบื้องขวาของพระบุตรผู้ทรง
บังเกิดจากพระนาง คือองค์พระเยซูคริสตเจ้าของเรา พระนางทรงวอนขอด้วยคำภาวนาของแม่ที่
ทรงอำนาจที่สุด และจะทรงได้รับในสิ่งที่พระนางทรงแสวงหา"

เพื่อนำเสนอข้อคำสอนทางธรรมประเพณีเรื่องความเป็นราชินีของพระแม่มารีย์นี้
พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 กล่าวไว้ในสมณสาส์นที่ชื่อว่า "Ad Coeli Reginam" ว่า "เราขอให้คำ
แนะนำว่าในวันฉลองนี้เราจะรื้อฟื้นการมอบถวายมวลมนุษยชาติแด่ดวงพระทัยอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ของพระนางพรหมจารีมารีย์ ซึ่งการทำเช่นนี้เราจะพบความหวังที่ยิ่งใหญ่ว่ายุคสมัยแห่งความสุข
จะบังเกิดขึ้นมา อันจะนำมาซึ่งความยินดีในชัยชนะของศาสนาและก่อให้เกิดสันติสุขในคริสตชน
ดังนั้น ให้เราทุกคนเปี่ยมไปด้วยความไว้วางใจมากกว่าแต่ก่อน เข้าไปหาบัลลังก์แห่งความเมตตา
และพระหรรษทานของพระราชินีและพระมารดาของเรา เพื่อทูลขอให้ทรงช่วยเหลือเราในความยาก
ลำบากต่างๆ และขอให้พวกเราพยายามเป็นอิสระจากที่เคยเป็นทาสของบาป... ฉะนั้น ใครก็ตาม
ที่เทิดเกียรติพระนางผู้ประทับสูงกว่าบรรดาเทวดาและมนุษย์ทั้งปวง ให้เขาร้องหาพระนางในฐานะ
เป็นพระราชินีที่แท้จริงที่สุด และในฐานะพระราชินีผู้ทรงนำพระพรแห่งสันติสุขมาให้ เพื่อว่าพระนาง
จะได้ทรงแสดงให้ทุกคนเห็นว่า ภายหลังจากการเนรเทศนี้ พระเยซูเจ้าจะทรงเป็นสันติสุขและ
ความชื่นชมยินดีที่ไม่มีวันสิ้นสุดของเขา"

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)


ฉลองวันที่ ๒๒ สิงหาคม
ระลึกถึง พระนางมารีย์ราชินีแห่งสากลโลก
Queenship of Mary

วันนี้พระศาสนจักรให้เกียรติแม่พระในฐานะราชินีแห่งสวรรค์และแผ่นดินในสมณสาสน์
Ad Coeli Reginam พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒ ทรงยืนยันถึงข้อความเชื่อตามธรรมประเพณี
เรื่องความเป็นราชินีของพระนางมารีย์ และกำหนดให้เป็นวันฉลองของศาสนจักรสากล

พระองค์ทรงกล่าวว่า "ในฐานะของราชินี แม่พระเอาใจใส่เรา ช่วยเหลือเราในกิจการเพื่อ
ความรอดพระนางใส่ใจมวลมนุษยชาติพระเจ้าทรงตั้งพระนางให้เป็นราชินีแห่งสวรรค์และ
แผ่นดิน ทรงรับการเทิดทูนอยู่เหนือบรรดาทูตสวรรค์และนักบุญทุกระดับ ทรงประทับที่เบื้องขวา
ของพระบุตรองค์เดียวของพระนาง พระเยซูคริสตเจ้าของเรา พระนางวอนขอพร้อมภาวนาอย่าง
มารดาและพระนางได้รับใน สิ่งที่ต้องการเพื่อลูกๆ ของพระนาง"

"ดังนั้น ขอให้เราเข้าหาพระนางด้วยความเชื่อมั่นยิ่งกว่าแต่ก่อน แทบบัลลังก์แห่งความเมตตา
และพระหรรษทานของพระราชินีและพระมารดา เพื่อวอนขอความช่วยเหลือในยามทุกข์ยาก
ขอแสงสว่างในความมืด และความบรรเทาในความลำบากและโศกเศร้า"

Cr : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ส.ค. 24, 2022 11:42 am

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๓ สิงหาคม
นักบุญโรซาแห่งลีมา
St. Rose of Lima

ท่านเป็นนักบุญองค์แรกของโลกใหม่ (ทวีปอเมริกา ซึ่งชาวยุโรปค้นพบในศตวรรษที่ ๑๕
และให้ชื่อดังกล่าวแก่ดินแดนที่เพิ่งรู้จัก) ท่านเกิดที่เมืองลีมา ประเทศเปรูในปี ๑๕๘๖
บิดามารดาเป็นชาวสเปน ท่านถวายตัวแด่พระเจ้าตั้งแต่ยังเยาว์วัยถือปฏิบัติการภาวนา
อย่างเข้มข้น และทำพลีกรรมทุกวัน หลายครั้งด้วยการอดอาหารและไม่นอน

ท่านเข้าร่วมคณะดอมินิกันชั้นสาม และใช้ชีวิตในกระท่อมเล็กในสวนของบิดามารดา
ทำงานเพื่อเลี้ยงดูพวกท่าน สามปีสุดท้ายของชีวิต ท่านต้องนอนป่วยบนเตียง มีเจ้าหน้าที่
รัฐบาลและภรรยาช่วยดูแล ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุ ๓๑ ปี ในปี ๑๖๑๗ และ
ได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๗๖๑

Cr. : Sinapis

เพิ่มเติม

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 22 สัปดาห์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา
บทอ่าน 2ธส 2:1-3,14-17 / มธ 23:23-26
พระสันตะปาปาฟรานซิสได้เตือนคนหนุ่มสาวของลิมาว่า “เปรูเป็นดินแดนแห่งนักบุญ” ระหว่าง
การเสด็จเยือนประเทศเปรูในต้นปี 2018 คำตรัสของพระองค์เป็นจริงในสมัยของนักบุญโรซา
แห่งลิมาเช่นกัน ลีมาเคยเป็นบ้านเกิดของนักบุญอีกสามคนในช่วงชีวิตของนักบุญโรซา
เมื่อโรซาปฏิเสธความปรารถนาของพ่อแม่ที่ต้องการให้เธอแต่งงาน เธอตั้งใจจะเป็นนักบวช
จึงต้องพบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากครอบครัวและเพื่อนๆ ของเธอ แต่เมื่อพ่อแม่ของเธอยอม
ล้มเลิกความตั้งใจ ที่จะให้เธอแต่งงาน เธอจึงสมัครเข้าอารามนักบุญคลารา พี่ชายของเธอเดินทาง
ไปกับเธอ เพื่อเข้าอาราม ระหว่างทาง เธอแวะที่วัดแห่งหนึ่ง และเริ่มสวดภาวนาต่อหน้าพระแม่แห่ง
สายประคำ และรู้สึกว่าตนเองหนักอึ้ง พี่ชายของเธอไม่สามารถยกเธอขึ้นได้ จนกระทั่งเธอสัญญาว่า
จะไม่เข้าไปในอาราม เธอจึงสามารถขยับตัวได้อีกครั้งหนึ่ง โรซาได้ถวายตัวแด่พระเยซูเจ้า โดยสมัคร
เข้าเป็นสมาชิกชั้นสามของนักบุญ ดอมินิก เธอก็ได้รับความรักจากพระเยซูเจ้า เช่นเดียวกับ
นักบุญแคทเธอรีนแห่งเซียนา พระเยซูเจ้าเองตรัสกับเธอว่า “กุหลาบในใจเรา จงมาเป็นเจ้าสาวของเราเถิด”
การเจริญชีวิตที่ซื่อสัตย์ต่อคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า ทำให้นักบุญโรซาแห่งลีมามีความศักดิ์สิทธิ์ที่
แท้จริง ไม่เหมือนกับพวกฟาริสีและธรรมาจารย์ ที่มีแต่ทำตัวหน้าไหว้หลังหลอก สอนอย่างหนึ่ง
แต่ประพฤติตัวอีกอย่างหนึ่ง ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราว่า เราอย่าทำตัวเหมือนฟาริสี
“ท่านล้างด้านในของถ้วยชามให้สะอาดเสียก่อน แล้วภายนอกก็จะสะอาดด้วย “ ( มธ 23:26 )
สรุป พระองค์ทรงต้องการสอนเราว่า เราไม่ควรดำเนินชีวิตด้วยมาตรฐานสองแบบ เราต้องดำเนินชีวิต
ให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า ไม่มีอะไรมากหรือน้อยกว่านี้ และถ้าเราดำเนินชีวิตดังนี้แล้ว
เราจะได้รับพระพรในชีวิตเหมือนอย่างนักบุญโรซา แห่งลีมาในวันนี้ จะไม่มีการเสแสร้ง ไม่มีอาการหน้าไหว้
หลังหลอก ไม่มีการโกหกหลอกลวง ข้าแต่นักบุญโรซา แห่งลีมา ช่วยวิงวอนเทอญ.

Cr : คุณพ่อ ชวลิต กิจเจริญ
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ส.ค. 24, 2022 11:47 am

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๔ สิงหาคม
นักบุญบาร์โธโลมิวอัครสาวก
St. Bartholomew, Apostle

นักบุญบาร์โธโลมิวเป็นหนึ่งในอัครสาวกของพระเยซูเจ้า ชื่อของท่านหมายถึง
บุตรของธาลมาย ซึ่งเป็นชื่อฮีบรูโบราณ

นอกจากกล่าวว่าบาร์โธโลมิวเป็นอัครสาวกคนหนึ่งแล้ว พระวรสารก็ไม่ได้เอ่ยถึงท่านอีก
แต่นักเขียนยุคโบราณและธรรมเนียมคาทอลิกเชื่อว่าท่านคือนาธานาแอลในพระวรสารนักบุญยอห์น

บทอ่านในมิสซาวันฉลองท่าน คือข้อความจากพระวรสารนักบุญยอห์น (ยน. ๑:๔๕-๕๑)
ที่นาธานาแอลได้รับการแนะนำจากฟิลิป เพื่อนของท่านให้รู้จักพระเยซู และพระเยซูตรัสแก่ท่านว่า
"นี่ล่ะชาวอิสราเอลแท้ไม่มีมารยาในตัว"

นิสัยใจคอของท่าน ดังที่พระเยซูเจ้ากล่าวเป็นชาวยิวที่ดี ซื่อสัตย์จริงใจ เป็นคนเที่ยงธรรม
ใช้เวลาเพื่อการรำพึงภาวนา "ใต้ต้นมะเดื่อ" และรอคอยพระเมสสิยาห์

และเพราะความเป็นชาวยิวแท้นี่เอง นาธานาแอลคงจะได้อ่านพระคัมภีร์มาอย่างดีและรู้ว่า
พระคัมภีร์พูดถึงพระเมสสิยาห์อย่างไร และพระองค์มาจากไหน ท่านจึงเคลือบแคลงกับความเห็น
ของฟิลิปที่ประกาศว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์ "จะมีอะไรดีมาจากนาซาเร็ธหรือ?" ท่านตั้งคำถาม

แต่เพราะความไม่มีมารยาของท่าน ท่านจึงเปิดกว้างและ "มาดูเอง" ตามคำชวนของฟิลิป และเมื่อ
พบพระเยซูและได้ยินพระวาจาพระองค์ท่านก็ชื่นชมยินดีและสารภาพความเชื่ออย่างซื่อๆ ว่า

"อาจารย์ท่านเป็นบุตรพระเจ้า ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิว"พระเยซูตรัสในบทเทศน์บนภูเขา (มธ. ๕:๘) ว่า
"เป็นบุญของผู้มีจิตใจบริสุทธิ์เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า" นาธานาแอลคือตัวอย่างของผู้มีใจบริสุทธิ์เช่นนั้น
ท่านเห็น ท่านเชื่อและติดตามพระองค์

ธรรมประเพณีของศาสนจักรเล่าว่าหลังจากพระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ นาธานาแอลหรือบาร์โธโลมิว
ได้เดินทางเทศน์ประกาศยังดินแดนตะวันออกและเสียชีวิตด้วยการเป็นมรณสักขีในอาร์เมเนีย

CR. : Sinapis

24 สิงหาคม
ฉลองนักบุญบาร์โธโลมิว อัครสาวก
(St Bartholomew, Apostle, feast.)

นักบุญบาร์โธโลมิว คือคนเดียวกับ "นาธานาเอล" ที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงเขาว่า
"นี่คือชาวอิสราเอลแท้ เป็นคนไม่มีมารยา" ตอนที่ฟิลิปนำท่านมาแนะนำตัวต่อพระเยซูเจ้า
นั่นเอง (ยน 1:47) ในความเป็นจริงแล้วเราไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับอัครสาวกองค์นี้เลย นอกจาก
เชื่อกันว่าท่านมาจากเมืองคานาในแคว้นกาลิลี และได้รับเครดิตว่าเป็นคนแรกที่ยอมรับ
พระเยซูเจ้าในฐานะที่ทรงเป็น เมื่อท่านประกาศว่า "รับบี พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า
พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ของชนชาติอิสราเอล" (ยน 1:49)

ท่านได้ไปเทศนาที่แคว้น Arabia ตามธรรมประเพณีเล่าว่าท่านได้เป็นมรณสักขีโดย
การถูกถลกหนังทั้งๆที่ยังมีชีวิตที่ Armenia ก่อนที่จะถูกตัดศีรษะ เมื่อปันเธนุส (Pantaenus)
ซึ่งเป็นอาจารย์ของโอริเจน (Origen) ได้ไปเป็นมิชชันนารีที่ประเทศอินเดียในศตวรรษที่ 2
เขาได้รับทราบว่านักบุญบาร์โธโลมิวได้เคยมาที่นั่นก่อนหน้าเขา และได้นำเสนอพระวรสาร
ของนักบุญมัทธิวเป็นภาษาฮีบรู ซึ่งพระศาสนจักรที่อินเดียได้เก็บรักษาไว้ พระธาตุของนักบุญ
บาร์โธโลมิว ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดนักบุญบาร์โธโลมิว ที่อยู่บนเกาะกลางแม่น้ำไทเบอร์
(St Bartholomew-on-the-Tiber), กรุงโรม มากว่าพันปีมาแล้ว และท่านเป็นองค์อุปถัมภ์
ของช่างปูน ช่างฟอกหนัง และคนขายเนื้อ และจะถูกวอนขอเพื่อต่อสู้กับโรคชักกระตุก

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 25, 2022 11:47 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๕ สิงหาคม
นักบุญหลุยส์ ที่ ๙ กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส
St. Louis IX of France

พระองค์เป็นโอรสของกษัตริย์หลุยส์ ที่ ๘ กับพระนางบลองช์แห่งคาสตีล ทรงเกิดวันที่
๒๕ สิงหาคม ๑๒๑๕ และขึ้นครองราชย์เมื่ออายุเพียง ๑๑ ปี ทรงมีบุตรธิดา ๑๑ คน

กษัตริย์หลุยส์ดำเนินชีวิตตัวอย่าง ทรงรำลึกถึงคำสั่งสอนของพระมารดาที่ว่า
"แม่เห็นเจ้าตายแทบเท้ายังดีกว่าจะเห็นเจ้าทำบาปหนัก" ผู้เขียนประวัติชีวิตของพระองค์เล่าว่า
พระองค์ใช้เวลานานๆ ในการสวดภาวนา อดอาหาร และทำพลีกรรมชดเชยบาป
โดยที่ประชาราษฎร์ไม่รู้เลย

พระองค์เป็นผู้รักความยุติธรรม ทรงใส่ใจให้กระบวนการตัดสินเรื่องต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง
ชาวคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในยุโรปยึดถือพระองค์เป็นผู้ตัดสินกรณีพิพาทระหว่างประเทศ

พระองค์มีชื่อเสียงด้านเมตตาจิต พระองค์กล่าวว่า "สันติภาพและพระพรของราชอาณาจักรมาสู่
พวกเราผ่านทางผู้ยากไร้" พวกขอทานได้รับการเลี้ยงดูบนโต๊ะอาหาร พระองค์จะรับประทาน
อาหารเหลือจากพวกเขา ล้างเท้าให้พวกเขา และดูแลความต้องการของคนโรคเรื้อน เลี้ยงอาหาร
คนจนมากกว่าหนึ่งร้อยคนทุกวัน พระองค์ก่อตั้งโรงพยาบาลและบ้านพักมากมายเช่น บ้านพัก
สำหรับโสเภณีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิต บ้านพักสำหรับคนตาบอด ๓๐๐ คน

พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยโรคระบาดใกล้เมืองทูนิส วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๑๒๗๐
ในระหว่างสงครามครูเสดครั้งที่สอง

พระศาสนจักรยกย่องให้พระองค์เป็นนักบุญอุปถัมภ์ของสถาปนิกและช่างก่อสร้าง

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 30, 2022 4:01 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๖ สิงหาคม
นักบุญเจน เอลิซาเบ็ธ เดบิชีแอร์ เด อังเกส
St. Jeanne Elizabeth des Bichier des Anges

ท่านเกิดในปี ๑๗๗๓ ที่เมือง La Blanc ประเทศฝรั่งเศส เสียชีวิตวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๑๘๓๘
และได้รับประกาศเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒ ในปี ๑๙๔๗

ครอบครัวของเจน เอลิซาเบ็ธมีฐานะดี ท่านได้รับการอบรมศึกษาในโรงเรียนของคอนแวนต์
ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส ท่านมีอายุ ๑๖ ปี ได้เป็นประจักษ์พยานและรับผลกระทบ
จากเหตุการณ์เขย่าประเทศฝรั่งเศสครั้งนั้น

เมื่อบิดาเสียชีวิต ท่านย้ายไปอยู่ที่ La Guimetiere กับมารดาในปี ๑๗๙๖ ท่านตระหนักว่าจะต้อง
ทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องพระศาสนจักรและรักษาความเชื่อให้ดำรงอยู่ในท่ามกลางการโจมตี
ของพวกนักปฏิวัติ จึงตัดสินใจทำงานสอนหนังสือและช่วยเหลือคนจน ท่านรวบรวมผู้มีความเชื่อ
ในเมืองให้เป็นกลุ่มก้อน ซึ่งในช่วงเวลานั้นไม่มีพระสงฆ์หรือนักบวชเหลืออยู่เลย ท่านจัดให้มี
การพบปะเพื่อสวดภาวนาศึกษาพระคัมภีร์และขับร้องบทเพลงศาสนา

เมื่อมารดาเสียชีวิต ท่านเข้าอารามคณะคาเมไลท์ในปี ๑๘๐๔ แต่ภายหลังย้ายเข้าคณะแห่งพระญาณ
สอดส่อง ตามคำแนะนำของนักบุญอันดรู ฟูร์เน (St.Andrew Fournet)

นักบุญอันดรูฟูร์เน ตระหนักว่าเจน เอลิซาเบ็ธเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกให้มานำกลุ่มสตรีที่ท่านกำลัง
รวบรวมอยู่ดังนั้น ท่านทั้งสองจึงได้ร่วมกันก่อตั้งธิดาแห่งไม้กางเขนในปี ๑๘๐๗ เพื่อดูแลคนป่วย คน
ยากไร้ และสอนข้อความเชื่อ

ในปี ๑๘๓๘ ที่เจน เอลิซาเบ็ธสิ้นชีพ คณะมีบ้านสาขามากกว่า ๖๐ แห่งทั่วประเทศฝรั่งเศส

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 30, 2022 4:05 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๗ สิงหาคม
นักบุญมอนิกา
St. Monica

มอนิกาเกิดในปี ๓๓๒ ที่เมือง Tagaste แอฟริกาเหนือ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศแอลจีเรีย)
ครอบครัวของท่านเป็นคาทอลิก ท่านได้รับการปลูกฝังความเชื่อและคุณธรรมคาทอลิกจากพี่เลี้ยง
ท่านแต่งงานแต่เยาว์วัยกับปาตริซีอุส (Patricius) ข้าราชการของชาวโรมัน เขามีอารมณ์ร้าย
และดูถูกศาสนาของภรรยา

มอนิกาต้องอดทนต่อพฤติกรรมเลวร้ายของสามี รวมทั้งความไม่ซื่อสัตย์ในชีวิตสมรส แต่ที่ทำให้
ท่านเสียใจที่สุด คือการที่สามีไม่อนุญาตให้ลูกทั้งสามคน ออกัสติน นากิวิอุส และแปร์เปตูอารั
บศีลล้างบาป เมื่อออกัสติน ลูกชายคนโตป่วยหนักและใกล้จะตาย ปาตริชิอุสจึงยอมให้รับศีล
ล้างบาป แต่ก็กลับคำเมื่อเห็นเขากลับฟื้นคืนดี

ที่สุด คำภาวนาและความเพียรทนอย่างทุกข์ทรมานยาวนานของมอนิกาก็เกิดผล ปาตริซีอุสมองเห็น
ความเลวร้ายของชีวิตตัวเอง และขอรับศีลล้างบาปหนึ่งปีก่อนเสียชีวิตในปี ๓๗๑ แต่ลูกชายคนโต
ออกัสติน ยังใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาก่อทุกข์โศกให้ท่านต่อไป ออกัสตินมีลูกชายนอกสมรสหนึ่งคน
ในปี ๓๗๒ และเขาได้เข้ากลุ่มกับลัทธินอกรีตมานิเค ความกดดันและโศกเศร้าแสนสาหัส
ทำให้มอนิกาตัดใจจากลูกชายคนนี้ แต่ท่านเกิดความฝันประหลาดที่สร้างกำลังใจให้ ผู้มาในฝันบอกว่า
"ลูกชายของท่านจะอยู่กับท่าน" หลังประสบการณ์นี้ซึ่งเกิดขึ้นในปี ๓๗๗ ท่านก็ยอมรับให้ออกัสตินกลับ
มาอยู่บ้าน และสวดวอนขอพระเจ้าเพื่อการกลับใจของเขาต่อไป

แต่การกลับใจของออกัสตินจะยังไม่เกิดขึ้นจนอีก ๙ ปีให้หลัง ซึ่งในระหว่างนั้นมอนิกาปรึกษาพระสงฆ์
ท้องถิ่น ขอให้พวกเขาช่วยดึงลูกชายออกจากกลุ่มมานิเค สังฆราชองค์หนึ่งให้ความมั่นใจกับมอนิกาว่า"
เป็นไปไม่ได้เลยที่ลูกชายของแม่ผู้ร่ำไห้ด้วยน้ำตาเนืองนองเช่นนี้จะพินาศในนรก"

น้ำตาและการภาวนายิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อออกัสตินในวัย ๒๙ ปี หลบหนีจากมอนิกาขณะที่ท่านอยู่สวด
ในวัด เขาขึ้นเรือเดินทางไปโรมโดยไม่บอกลามารดา แต่เหตุการณ์น่าเจ็บปวดนี้กลับรับใช้จุดหมาย
ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ออกัสตินจากไปเพื่อจะเป็นอาจารย์ในสถานที่ๆ เขาจะเป็นคาทอลิก

ภายใต้อิทธิพลที่ได้รับจากสังฆราชนักบุญอัมโบรสแห่งมิลาน ออกัสตินประกาศละทิ้งคำสอนของ
พวกมานิเคในปี ๓๘๔ มอนิกาติดตามลูกชายมาที่มิลาน ท่านมีกำลังใจเมื่อเห็นเขาสนใจต่อการเทศน์
ของพระสังฆราชนักบุญองค์นี้ และแล้ว หลังจากเวลาสามปีของการดิ้นรนต่อสู้กับกิเลสตัณหาและ
ความสำนึกผิด ออกัสตินก็ยอมจำนนต่อพระหรรษทาน เขารับศีลล้างบาปในปี ๓๘๗

ก่อนสิ้นชีพไม่นาน มอนิกาเกิดประสบการณ์ล้ำลึกเหนือธรรมชาติกับออกัสติน ซึ่งออกัสตินเล่าไว้
ในหนังสือ "คำสารภาพ" ของเขา ท่านพูดกับเขาว่า "ลูกเอ๋ย สำหรับแม่แล้วแม่ไม่มีสิ่งใยดีอะไรอื่นอีก
ในชีวิต บัดนี้ความหวังของแม่ในโลกได้รับการตอบสนองแล้ว แม่ไม่รู้ว่าจะต้องการอะไรจากที่นี่อีก
หรือจะอยู่ในโลกนี้อีกต่อไปทำไม"

"สิ่งเดียวที่แม่ขอจากพวกลูกทั้งสอง" ท่านบอกออกัสตินและน้องชายของเขา นากิวิตุส
"ก็คือจงจดจำแม่ที่พระแท่นของพระเจ้าทุกเวลาที่พวกเจ้าอยู่ที่นั่น"

นักบุญมอนิกาเสียชีวิตเมื่ออายุ ๕๖ ปี ในปี ๓๘๗ ท่านเป็นแรงบันดาลใจและตัวอย่าง
ของการสวดภาวนาและทำพลีกรรมแก่ลูกๆ ที่ทอดทิ้งความเชื่อ

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 30, 2022 4:09 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๘ สิงหาคม
นักบุญออกัสติน
St. Augustine

ออกัสตินเกิดที่เมือง Tagaste (ปัจจุบันคือเมือง Souk-Ahras ประเทศแอลจีเรีย)
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๓๕๓ ท่านเป็นนักคิดคนสำคัญและมีอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์
พระศาสนจักรคาทอลิก คำสอนของท่านเป็นพื้นฐานความเชื่อของคริสตชนมานับพันปี เรื่องราว
ชีวิตของท่านตั้งแต่เล็กจนถึงการกลับใจถูกเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่าน ชื่อ "คำสารภาพ"
(Confessions) งานเขียนนี้เป็นการมองเข้าไปอย่างลึกซึ้งภายในวิญญาณของคนๆ หนึ่ง ซึ่งผู้อ่าน
จะรู้สึกใกล้ชิดผูกพันด้วย และทั้งยังเป็นงานเขียนที่เป็นวรรณกรรมและกวีนิพนธ์ให้ข้อคิด
ทางเทววิทยา ปรัชญาและรหัสนัยอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ออกัสติน ซึ่งแม้จะถูกเลี้ยงดูมาในฐานะคริสตชน แต่กลับดำเนินชีวิตเกลือกกลั้วกับบาป และไม่ช้า
ก็ถอยห่างจากพระศาสนจักร อย่างไรก็ตามในความคิดส่วนลึก ท่านไม่ได้ทอดทิ้งพระคริสต์ ผู้ซึ่ง
พระนามพระองค์ท่านรู้จักและยอมรับ "ข้าฯ เก็บรักษาไว้ในหัวใจ ทุกอย่างทั้งปวงที่เสนอให้ข้าฯ
แม้จะสูงส่ง เขียนอย่างดี และมีความจริงบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ข้าฯ เพริศเตลิดไปทั้งหมด"
(คำสารภาพ ๑, ๔)

ท่านไปศึกษาที่เมืองคาร์เธจและมีชื่อเสียงในความฉลาดหลักแหลมและชำนาญในวาทะศิลป์
ท่านต้องการประกอบอาชีพเป็นนักวาทะศิลป์หรือทนายความ แต่ได้รู้จักและหลงรักปรัชญา
เมื่ออายุ ๑๙ ปี ช่วงเวลานี้ท่านถูกดึงดูดเข้าหากลุ่มมานิเค (Manichaeanism) ศิษย์ผู้ศรัทธาของ
กลุ่มสัญญากับท่านว่าพวกเขามีคำตอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในเรื่องความลับของธรรมชาติ
พวกเขาสามารถพิสูจน์ว่าพระวรสารไม่เป็นจริงและสามารถอธิบายปัญหาเรื่องความชั่วร้ายได้
ออกัสตินเป็นศิษย์ติดตามกลุ่มนี้อยู่ 9 ปี ท่านเรียนรู้ทุกอย่างที่พวกเขาสอนก่อนจะปฏิเสธว่าลัทธินี้
หลอกลวงและไม่มีคำสอนที่แท้จริง

ออกัสตินเดินทางไปโรม แล้วต่อไปที่มิลานในปี ๓๘๖ ที่มิลาน ท่านพบนักบุญอัมโบรส สังฆราชและ
นักปราชญ์ของพระศาสนจักร บทเทศน์ของนักบุญอัมโบรสกระตุกใจท่าน ให้มองหาความจริงที่
พยายามแสวงหาอยู่ตลอดเวลาในความเชื่อที่ตนเคยปฏิเสธ ท่านขอรับศีลล้างบาป ซึ่งเป็นเรื่องที่
สร้างความยินดีที่สุดให้มารดาของท่าน นักบุญมอนิกา ท่านเดินทางกลับแอฟริกาคืนสู่บ้านเกิด
เมือง Tagaste "เขาได้สลัดความสนใจต่อโลกทั้งหมดหลุดพ้นจากตัว ดำเนินชีวิตเพื่อพระเจ้ากับผู้คน
ที่อยู่ร่วม ด้วยการอดอาหาร ภาวนาและกิจการงานที่ดี รำพึงถึงพระบัญญัติของพระเจ้าทุกคืนทุกวัน"

ครั้งหนึ่งออกัสตินไปเยือนเมืองฮิปโป ที่นั่น ท่านได้รับการประกาศให้เป็นสงฆ์และเป็นสังฆราชทั้งที่
ท่านพยายามปฏิเสธ ท่านยอมรับในที่สุดว่านี่เป็นน้ำพระทัยของพระ และได้ทำงานเป็นผู้อภิบาล
ในเมืองแห่งนั้นจนตลอดชีวิต

ที่เมืองฮิปโป ท่านเขียนหนังสือจำนวนมากโต้ตอบพวกที่มีความเชื่อและสอนผิดๆ ท่านเขียนหนังสือ
"นครของพระเจ้า" (The City of God) เพื่อโต้แย้งกับคนนอกศาสนาเรื่องการล่มสลายของ
จักรวรรดิโรมัน ด้วยน้ำมือของพวกแวนดัล (Vandals)

วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๔๓๐ ขณะที่เมืองฮิปโปถูกปิดล้อมด้วยพวกแวนดัล
ออกัสตินเสียชีวิตลงในวัย ๗๖ ปี มรดกของท่านได้สร้างโฉมหน้าของพระศาสนจักร
ดังที่เราเห็นในทุกวันนี้

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 30, 2022 4:11 pm

วันที่ ๒๙ สิงหาคม
นักบุญยอห์นถูกตัดศีรษะ
The Beheading of John the Baptist

ท่านใช้ชีวิตโดดเดี่ยวในที่เปลี่ยว ภายหลังได้รับการดลใจจากพระจิต ท่านออกประกาศสอน
ให้ผู้คนเป็นทุกข์ถึงบาป และเข้ารับพิธีล้างด้วยน้ำเพื่อเตรียมตัวต้อนรับพระเมสสิยาห์

กษัตริย์เฮโรดคุมขังท่านไว้เพราะท่านประณามที่พระองค์อยู่กินกับนางเฮโรเดียส
ภรรยาของน้องชายตัวเอง

ในงานเลี้ยงฉลองวันเกิดของกษัตริย์เฮโรด ลูกสาวของเฮโรเดียสออกมาเต้นรำถวาย
เฮโรดพอใจมากสัญญาจะให้ทุกอย่างตามที่เธอขอเธอปรึกษาแม่ผู้ซึ่งบอกให้ขอศีรษะของยอห์น
ใส่ถาดมาให้ เฮโรดไม่ต้องการฆ่ายอห์น แต่เพราะคำสัญญาจึงจำใจออกคำสั่งให้ตัดศีรษะยอห์น

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 30, 2022 4:15 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๐ สิงหาคม
นักบุญเจน ยูกัง
St. Jeanne Jugan

เจน ยูกัง หรือที่รู้จักในชื่อ ซิสเตอร์มารีย์แห่งไม้กางเขน เป็นผู้ก่อตั้งคณะซิสเตอร์ผู้ต่ำต้อย
ของคนยากไร้(Little Sisters of the Poor) ซึ่งมีจุดประสงค์จำลองแบบความสุภาพถ่อมตน
ของพระคริสต์ในการรับใช้ผู้สูงอายุ

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๑๗๙๒ ในเมืองท่าของฝรั่งเศส แคว้นบริตานี สมัยนั้นเป็นยุค
ปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งสร้างผลกระทบเปลี่ยนแปลงศาสนาและการเมือง เมื่ออายุ ๔ ขวบ บิดาของท่าน
สูญหายในทะเล มารดาต้องดิ้นรนเพื่อปากท้องของลูกๆ แต่ก็ยังสอนความเชื่อด้านศาสนา
ให้พวกเขา อย่างลับๆ ในบรรยากาศต่อต้านคาทอลิกของยุคสมัย

เจนทำงานเป็นผู้เลี้ยงแกะ และต่อมาเป็นสาวใช้ในบ้าน เมื่อท่านอายุ ๑๘ ปี และ ๒๔ ปีได้ปฏิเสธ
คำขอแต่งงานจากผู้ชายคนเดิมทั้งสองครั้ง ท่านบอกแม่ว่าพระเจ้ามีแผนการอื่น พระองค์เรียกท่าน
ให้"ทำงานที่ยังไม่มีใครทำ"

เมื่ออายุ ๒๕ ปีท่านเข้าร่วมคณะนักบุญยอห์น เอิ๊ด ชั้นที่สาม ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนาสำหรับฆราวาส
ก่อตั้งในศตวรรษที่ ๑๗ ท่านทำงานเป็นพยาบาลในเมือง Saint-Servan อยู่ ๖ ปีแต่ต้องลาออก
เพราะปัญหาสุขภาพ ภายหลัง ท่านได้ทำงานเป็นคนใช้ของเพื่อนสมาชิกในคณะชั้นที่สามอยู่เป็น
เวลา ๑๒ ปี จน กระทั่งสตรีคนนั้นเสียชีวิตในปี ๑๘๓๕

ระหว่างปี ๑๘๓๙ เกิดความอัตคัตทางเศรษฐกิจในเมือง Saint-Servan เจนแบ่งห้องอยู่ร่วมกับสตรี
สูงวัยและเด็กสาวกำพร้าคนหนึ่ง ฤดูหนาวของปีนั้น ท่านพบแอน โชวิง สตรีชราผู้ตาบอด เป็นอัมพาต
บางส่วน และไม่มีใครดูแลท่านแบกแอน โชวิงขึ้นหลังมายังห้องพัก มอบเตียงของตนให้สตรีชรานอน
ส่วนตัวเองขึ้นไปหาที่หลับอยู่บนห้องใต้หลังคาทอีกไม่นาน ท่านก็นำสตรีสูงวัยอีกสองคนเข้ามาดูแล
และภายในปี ๑๘๔๑ ท่านก็เช่าห้องเพื่อทำเป็นที่พักสำหรับคนสูงวัย ๑๒ คน ปีต่อมา ท่านได้รับอนุญาต
ให้ใช้ตึกของอารามแห่งหนึ่งเป็นที่พักสำหรับคนชรา ๔๐ คน

ระหว่างปี ๑๘๔๐ สตรีเยาว์วัยหลายคนเข้ามาร่วมงานดูแลรับใช้ผู้ยากไร้สูงอายุและโดยอาศัยการ
ขอทานจากผู้ใจบุญ ท่านก็สามารถตั้งบ้านอีก ๔ หลังสำหรับดูแลคนสูงวัย เมื่อถึงปี ๑๘๕๐
สตรีกว่า ๑๐๐ คนได้สมัครเข้าร่วมคณะซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า ซิสเตอร์ผู้ต่ำต้อยของคนยากไร้

อย่างไรก็ตาม ท่านถูกบังคับให้พ้นจากการเป็นผู้นำคณะโดยคุณพ่อออกุส เล พาอิลเลอ
(Auguste Le Pailleur) พระสงฆ์ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัคราธิการของคณะ เขามีคำสั่งให้ท่านหยุด
ปฏิบัติภารกิจทุกอย่างและให้ไปอยู่อย่างไม่มีหน้าที่แน่นอนที่บ้านศูนย์กลางคณะเป็นเวลาถึง ๒๗ ปี

ในระหว่างเวลาหลายปีเหล่านั้น ท่านรับใช้คณะด้วยการสวดภาวนาและยอมรับการทดสอบที่พระเจ้า
ยอมให้เกิดขึ้นกับท่าน เมื่อท่านสิ้นใจในวัย ๘๖ ปีในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๑๘๗๙ สมาชิกรุ่นใหม่ไม่รู้ว่า
ท่านเป็นผู้ก่อตั้งคณะนักบวชของพวกเขา ซึ่งในเวลานั้นมีสมาชิกถึง ๒,๔๐๐ คนและทำงานอยู่ทั่วโลก

แต่อย่างไรก็ตาม ในปี ๑๘๙๐ คุณพ่อพาอิลเลอก็ถูกสอบสวนและถูกคุมประพฤติให้ใช้ชีวิตจำกัด
ในอารามแห่งหนึ่ง แล้วนักบุญเจน ยูกังก็เป็นที่รับทราบว่าเป็นผู้ก่อตั้งคณะนักบวชคณะนี้

พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ ๑๖ ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญวันที่ ๑๑ เดือนตุลาคม ปี ๒๐๐๙

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ย. 03, 2022 8:27 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๑ สิงหาคม
นักบุญเรมอนด์ นองนาตุส
St. Raymond Nonnatus

ท่านได้เป็นพระสงฆ์เพราะความไม่ย่อท้อในการศึกษาและสวดภาวนาท่านเกิดในครอบครัว
ชาวสเปนมีฐานะในปี ๑๒๐๔ มารดาตายขณะคลอดท่าน บิดาคาดหวังสูงว่าลูกชายคนนี้จะได้
ทำงานในราชสำนัก แต่หนุ่มน้อยเรมอนด์กลับสนใจชีวิตนักบวช ผู้เป็นบิดาจึงสั่งให้ท่านทำ
หน้าที่ดูแลฟาร์มแห่งหนึ่งของตระกูลเพื่อหันเหความสนใจ แต่แม้จะใช้เวลากับการงานในไร่นา
เรมอนด์ก็ยังคงศึกษาและสวดภาวนาไม่หยุดหย่อน จนในที่สุด บิดาก็ยอมแพ้ต่อความตั้งใจ
เด็ดเดี่ยวอนุญาตให้ท่านเข้าบวชในคณะ Mercederians

คุณพ่อเรมอนด์ใช้เงินทองจากมรดกของตนไถ่ถอนพวกทาส ท่านเคยเสนอตัวเองเพื่อแลก
ให้ทาสคนหนึ่งเป็นอิสระ ท่านถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ให้จำคุกรอเงินค่าไถ่ตัวซึ่งเป็นจำนวน
มหาศาลระหว่างถูกคุมขัง ท่านเทศน์สอนผู้คุมหลายคนจนพวกเขากลับใจ ผู้จับกุมท่านไม่พอใจ
ดังนั้น เพื่อมิให้ท่านสามารถเทศน์สอนได้อีกจึงใช้เหล็กเผาไฟเจาะริมฝีปากท่านเป็นรูคล้องกุญแจไว้
ท่านถูกไถ่ตัวเป็นอิสระในที่สุด และเดินทางกลับเมืองบาเซโลน่าในปี ๑๒๓๙ ในปีนั้นเอง
ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลโดยพระสันตะปาปาเกรกอรี ที่ ๙
ปีถัดมา ท่านถูกเรียกตัวไปโรม แต่เสียชีวิตก่อนในวัย ๓๖ ปี

นักบุญเรมอนด์เป็นองค์อุปถัมภ์ของสตรีมีครรภ์ การคลอด และทารกเกิดใหม่

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ย. 03, 2022 8:27 pm

:s002: :s002:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 03, 2023 9:48 pm

:s002:
ตอบกลับโพส