เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ ( ชุดที่ 15 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ต.ค. 16, 2022 8:33 pm

สี่ขาเพื่อนยาก ตอนที่ (1) จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543
โดย Dr. Patrick Montgomery รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

“คุณหมอ มารู้จัก’แซมสัน’หน่อยสิครับ” แซมพูดขึ้นขณะเดินเข้ามาในห้องตรวจของผมที่
โรงพยาบาล ‘แซมสัน’ที่พูดถึงคือสุนัขที่’แซม’จูงมารออยู่หน้าห้อง

เพื่อนฝูงหาว่าผมไม่ชอบสุนัข แต่ผมว่า สุนัขต่างหากไม่ชอบผม งานผมล้นมือทุกวันเพราะ
เพิ่งเริ่มงานที่โรงพยาบาลนี้ได้ไม่นานและผมอยากใช้เวลาดูแลคนมากกว่าไปมัววุ่นวายกับ
พวกสี่ขา ประวัติคนไข้ระบุว่า แซมเป็นชายโสดอายุเกือบ 60 ปี เคยผ่าตัดสมองเมื่อราว 40 ปี
ก่อนเพราะเป็นโรคจิตเภทซึ่งมักมีอาการสับสนหรือปริวิตก ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้ว แต่ยังรู้สึกว่า
โลกนี้ยุ่งเหยิงเกินไป ผมเผ้าของแซมยาวรุงรัง ใบหน้ายิ้มกว้างไม่เคยหุบแต่ไร้ความรู้สึก
เวลามีคนถาม เขาจะขมวดคิ้ว ห่อลิ้น และพึมพำไม่เป็นภาษา หน้าที่อย่างเดียวของผมคือลงชื่อ
ในใบรับรองแพทย์ประจำปีให้

หลังจากพี่ชายเสียชีวิต แซมอยู่ในบ้านขนาดสามห้องนอนตามลำพังทั้งที่นักสังคมสงเคราะห์
ลงความเห็นว่า เขาอยู่คนเดียวไม่ได้ และแนะนำให้ส่งไปโรงพยาบาลประสาท
เมื่อมีคนยกแซมสันให้แซม นักสังคมสงเคราะห์ไม่พอใจมาก บอกว่าแค่ดูแลตนเอง แซมก็แทบ
จะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ประวัติคนไข้บันทึกว่า บางครั้งแซมคิดว่า ตัวเขาคือ’พี่ชายที่ตายจากไปแล้ว’
และเรียกสุนัขของเขาว่า’แซม’ นอกจากนั้นก็ยังพร่ำสอนอะไรต่ออะไรอีกยืดยาว อย่างไรก็ตาม ไม่นาน
ต่อมา สุนัขและคนก็ใกล้ชิดกันเหมือนเงาตามตัว

ผมออกไปดูสุนัขเพราะไม่อยากขัดใจแซม แซมสันตัวใหญ่และมอมแมมมาก ขนยาวพันกันยุ่ง

“สวัสดีคุณหมอหน่อยสิ แซมสัน” แซมบอก
เจ้าสี่ขาจ้องหน้าผมเขม็ง ตาสีเหลืองฉายแววฉลาดและไม่น่าไว้ใจ ผมรีบถอยไปตั้งหลัก
ในห้องตรวจ

เดือนตุลาคมปีต่อมา ผมถูกตามตัวไปตรวจแซมที่บ้าน ผมคิดในใจว่า ก็ดีเหมือนกัน จะได้เห็นว่า
เขาใช้ชีวิตอย่างไร บ้านแฝดที่แซมอยู่เก่าแก่เกือบ 60 ปี อยู่ในย่านชานเมืองเสื่อมโทรม พอเดิน
เข้าไปใกล้ก็รู้สึกว่า มีบางอย่างผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ตรงหน้าต่าง แซมสันนั่นเอง มันเห่าสลับกับแยก
เขี้ยววาววับรับกับประกายกร้าวในดวงตา

ผมกลัวจนไม่กล้าเคาะประตู รีบเดินขาสั่นลัดเลาะไปทางประตูหลังแต่ไม่มีคนเปิดประตูให้
จึงถือวิสาสะเปิดเข้าไปและพบแซมนอนซมอยู่ในห้องด้านหลัง โชคดีที่แซมสันถูกขังอยู่หน้าบ้าน

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ต.ค. 16, 2022 8:40 pm

สี่ขาเพื่อนยาก ตอนที่ (2) จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543
โดย Dr. Patrick Montgomery รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมตกใจแทบผงะเมื่อเห็นสภาพของแซม เขาไอจนหายใจขัด ร่างผอมผิดตา
ใบหน้าซีด ผลการตรวจคร่าว ๆ เป็นอย่างที่ผมกลัวคือ นอกจากติดเชื้อแล้ว
ยังมีเสียงหวีด ๆ ในลำคอและต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้บวม อาการทั้งหมดเข้า
ข่ายมะเร็งปอด เหลือบไปก็ เห็นที่เขี่ยบุหรี่เต็มจนล้น

แซมอาการหนักกว่าที่คิด ผมไม่แน่ใจว่าควรจะตรวจซ้ำดีไหม จึงให้ยาปฏิชีวนะ
ไปก่อนและบอกว่า อีกสองวันจะมาเยี่ยมใหม่ แซมสันเห่าไม่หยุดตอนที่ผมหันหลัง
เดินไปตามถนน

เมื่อไปเยี่ยมอีกครั้ง อาการแซมดีขึ้นมากจนลุกมาเปิดประตูให้ผมเข้าบ้านได้
แต่ย่างเข้าไปเพียงครึ่งก้าวก็สะดุ้งโหยง แซมสันพุ่งเข้าใส่จนผมนึกว่าต้องตายแน่ ๆ

“ไม่ต้องกลัวครับ มันเห่าแต่ไม่กัดหรอก” แซมบอก

“เจ้าของหมา 2 ตัวที่กัดผมก่อนหน้านี้ก็พูดเหมือนคุณนี่แหละ” ผมกระซิบตอบ

แต่ก็ต้องประหลาดใจเมื่อสุนัขตัวใหญ่ยืนสำรวจอย่างเงียบ ๆ แล้วหันหลังเดินไปนั่งบน
พรมขาด หน้าเตาผิงพลางจ้องผมอย่างระแวดระวัง
อาการติดเชื้อไม่ลุกลาม แต่ต้องเอกซเรย์ทรวงอกคนไข้ ผมจึงเรียกรถพยาบาลมารับไป
โรงพยาบาลใกล้ ๆ ในบ่ายวันนั้น แซมเป็นห่วงอยู่เรื่องเดียวคือพาแซมสันไปด้วยไม่ได้
“เอาหมาเข้าไปในโรงพยาบาลไม่ได้หรอก” ผมบอก
“หมาบางตัวดีกว่าคนเสียอีก” แซมตอบ

ผลการตรวจยืนยันสิ่งที่ผมกลัวที่สุด นั่นคือเซลล์มะเร็งกระจายเป็นวงกว้างแล้ว เขาคงจะ
มีชีวิตอยู่อีกไม่กี่สัปดาห์ ต่อมาเมื่อผมไปเยี่ยม แซมถามตรง ๆ ว่า ตัวเขาเป็นอะไร พอ
ทราบความจริงก็ทำหน้าเฉย ๆ ถามเพียงว่าจะทำอย่างไรกับสุนัขดี. ผมไม่ค่อยใส่ใจกับ
เรื่องนี้ แต่ก็ให้เลขาฯ หาเบอร์โทรศัพท์ของสถานรับเลี้ยงสุนัขในละแวกนั้น

เมื่อแซมพาแซมสันไปเดินเล่นไม่ไหว เพื่อนบ้านก็อาสาทำหน้าที่แทนโดยไม่มีท่าทางกลัว
มันเลย แม้แซมสันจะเชื่องเวลาอยู่กับเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังคงจ้องผมราวกับจะกินเลือดกินเนื้อ
ผมมอบแซมให้อยู่ในความดูแลของพยาบาลจากสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งใส่ใจทั้ง
เจ้าของและสุนัขอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะด้านการรักษาและสวัสดิการ
ทุกอย่างที่เขาพึงได้รับ

ผมเริ่มเห็นชีวิตอีกด้านของชายชราเมื่อไปเยี่ยมบ่อยขึ้น เขาพาผมไปดูห้องสมุดส่วนตัวซึ่ง
รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติไว้มากมาย แซมศึกษาเรื่องผีเสื้อและแมลงด้วยตัวเองจน
เชี่ยวชาญ เวลาคุยเรื่องที่เขาชอบ ดวงตาจะเป็นประกายและคำพูดที่พรั่งพรูออกมาได้ใจความ
ทุกคำ

เมื่อสุขภาพทรุดลง เจ้าหน้าที่ก็ต่อเตียงให้ใหม่ในห้องแคบ ๆ ซึ่งมีชั้นวางหนังสือแน่นแทบล้น
แต่แซมยังยิ้มได้เสมอแม้จะปวดกระดูกและเป็นโรคดีซ่าน ซึ่งกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งกระจายกว้าง
ยิ่งขึ้น ผมไปเยี่ยมแซมถี่ขึ้น แต่มีข้อแม้ว่า ต้องขังแซมสันไว้อีกห้องก่อน เพราะไม่แน่ใจว่ามันจะ
มีปฏิกิริยาอย่างไรเวลาเห็นผมแตะตัวแซม

โปรดติดตามตอนที่(3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ต.ค. 17, 2022 8:50 pm

สี่ขาเพื่อนยาก ตอนที่ (3) จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543
โดย Dr. Patrick Montgomery รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ที่สุด เขาอาการหนักถึงขั้นไม่อาจดูแลตัวเองได้และยอมรับว่าปวดจนทนไม่ไหวแม้จะกินยาแก้ปวด
เป็นกำ ๆ ผมจัดการให้แซมเข้าพักในสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งที่รู้ว่าเขาไม่อยากจากแซมสัน
แล้วก็ต้องประหลาดใจที่ทางสถานพยาบาลอนุญาตให้พาสุนัขไปอยู่ด้วยได้ เวลาผมไปเยี่ยม แซมจะ
นั่งบนเตียง สวมชุดนอนเรียบร้อยทับด้วยเสื้อคลุม ส่วนแซมสันนอนเงียบ ๆ อยู่ใต้เตียง
“เหมือนอยู่ในโรงแรมชั้นดีเลยครับหมอ” แซมหัวเราะ “ทุกคนดีกับแซมสันมาก” อาการป่วยของแซม
ดีขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่กำเริบอีก
ทั้งคู่กลายเป็นขวัญใจของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครซึ่งให้การเอาใจใส่เป็นอย่างดี แม้แซมจะอ่อนแอ
ลงทุกที แต่ก็ยังยิ้มกว้าง ส่วนแซมสันก็เชื่องอย่างไม่น่าเชื่อ

คริสต์มาสเวียนมาถึงอีกครั้ง เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลจัดงานฉลองให้แซมพร้อมมอบบัตรอวยพรกับ
ของขวัญมากมาย ของขวัญพิเศษสำหรับแซมสันคือพาไปร้านเสริมสวยสุนัข แซมดีใจมากเมื่อเห็น
สัตว์เลี้ยงคู่ยากเนื้อตัวสะอาดเอี่ยม

แซมสิ้นใจอย่างสงบหลังมีอาการหนักอยู่สองวัน แซมสันอยู่ดูใจเจ้านายจนวินาทีสุดท้าย
แล้วจึงเรียกพยาบาลด้วยการเห่า ซึ่งเป็นการเห่าเพียงครั้งเดียวในสถานพยาบาลแห่งนั้น

คนไปร่วมงานศพของแซมมากพอสมควร แซมสันก็อยู่ด้วยแต่หน้าตาเปลี่ยนไปมาก ดวงตาสีเหลือง
หม่นหมองไร้ชีวิตชีวาและท่าเดินเศร้าสร้อยเหมือนปลงตก

จะจัดการกับแซมสันอย่างไรนั้นไม่เป็นปัญหา เพราะอาสาสมัครคนหนึ่งขอรับไปเลี้ยง แซมสันอยู่
ต่อมาอีก 4 ปี ผมเห็นมันกับเจ้านายบางครั้ง ดูเชื่องจนนึกไม่ออกว่าสุนัขตัวนี้เคยเห่าจนผมเสียวสันหลัง
ตอนนี้ ทัศนคติของผมเกี่ยวกับสุนัขเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้ คืนหนึ่งระหว่างออกตรวจผู้ป่วยหญิงชราคนหนึ่ง ผมก็เอื้อมมือไปตบหัวสุนัขพันธุ์สแปเนียล
ตัวน้อยดูน่ารักน่าเอ็นดูของเธอ ผลก็คือต้องรีบกุมมือเหวอะหวะกลับโรงพยาบาล เพื่อนร่วมงานตำหนิ
ผมขณะเย็บแผลให้ว่า “ก็น่าจะรู้นะว่า หมาไว้ใจไม่ได้”
“หมาบางตัวดีกว่าคนเสียอีก” ผมตอบ

***************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ต.ค. 21, 2022 9:53 pm

💕💕ความรักนำพา ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543 โดย Suzanne Chazin
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ขณะที่ ’ลอร่าลี ซัมเมอร์’เด็กหญิงวัย (9) ขวบลุกขึ้นจากเตียงเหล็กยืนเท้าเปล่าบนพื้นคอนกรีต
ก่อนเริ่มแต่งตัว นาฬิกาบอกเวลา 6.00 น. ผู้หญิงแต่งตัวซอมซ่อ 3-4 คนเดินไปมาในห้อง
ปากบ่นพึมพำด่ากันไม่หยุด ทุกคนต้องออกจากบ้านพักก่อน 7.30 น.และจะกลับเข้ามาอีก
ได้หลัง 17.30 น. นี่คือบ้านพักคนไร้ที่อยู่ในเมืองซานตา บาร์บารา (Santa Barbara)
รัฐแคลิฟอร์เนีย

“รีบหน่อยลูก เดี๋ยวไปโรงเรียนสาย” เอลิซาเบธเตือนลูกสาวเบา ๆ จากเตียงติดกัน

“โรงเรียน” ลอร่าลีเคยรู้สึกดีเวลาเอ่ยคำนี้ แต่ตอนนี้กลับรู้สึกตรงกันข้าม
ลอร่าลีไม่มีสมาธิอ่านหนังสือเมื่ออยู่ที่บ้านพัก และไม่มีกะจิตกะใจจะเรียนเพราะต้องทนนั่ง
ในห้องเรียน ชั้นประถมสี่กับเพื่อน ๆ ที่มีความสุขและมีบ้านอยู่ ลอร่าลีอยู่กับแม่และต้องพึ่ง
เงินสงเคราะห์กับ ความช่วยเหลือของคนใจบุญ แม่เป็นคนตัดสินใจเร็วและไม่คิดตั้งหลักปักฐาน
เสียที ลาร่าลีย้าย บ้านมาแล้ว 8 ครั้งใน 3 รัฐ จึงรู้สึกเบี่อกับการใช้ชีวิตแบบนี้

“หนูไม่ไปโรงเรียน” เธอบอก
แม่หน้านิ่วขณะที่ลอร่าลีตะโกนย้ำพลางใช้กำปั้นน้อย ๆ ทุบผนังห้อง “หนูเกลียดแม่ เกลียดที่นี่
เกลียดโรงเรียน หนูไม่ไปโรงเรียน”

เอลิซาเบธวัย 45 ปีอยากให้ลูกสาวได้รับการศึกษา แต่ปลายปี พ.ศ.2529 ทั้งแม่และลูกก็เริ่ม
สงสัยว่าจะเป็นไปได้หรือ

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ต.ค. 22, 2022 3:15 pm

💕💕ความรักนำพา ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543 โดย Suzanne Chazin
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ


(+)วิมานและความฝัน

ตั้งแต่เด็ก ลอร่าลีไม่เคยรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรเพราะแม่จะคอยสอนเรื่องสนุก ๆ ให้ เช่น
นั่งศึกษาดวงดาวบนท้องฟ้าด้วยกัน และช่วยกันสร้างปราสาทจากกล่องกระดาษ เป็นต้น

แม้เมื่อโตขึ้น ลอร่าลีก็ยังไม่รู้ว่าที่เธอกับแม่ต้องนอนอ่านนิยายด้วยกันบนพรมเก่า ๆ ก็เพราะ
แม่ไม่มีเงินซื้อโทรทัศน์

เด็กน้อยไม่รู้ว่า บางครั้งแม่ให้กินขนมปังกรอบแทนมื้อเย็นเพราะสิ้นเดือนแล้วจึงเหลืออาหาร
อยู่เท่านั้น และไม่เคยเฉลียวใจว่า ที่ต้องเดินไกล ๆ อยู่เสมอเพราะแม่ไม่มีรถยนต์

เอลิซาเบธมีวิธีที่จะทำให้การเดินไกล ๆ เป็นเสมือนการผจญภัย และไม่ละเลยที่จะสอนลูกให้รู้จัก
ต้นไม้ต่าง ๆ ในสวน เธอแต่งนิทานและร้องเพลงกับลูก นับเป็นช่วงเวลาของความใสซื่อและสนุกสนาน

เมื่อเวลาผ่านไป ลอร่าลีเริ่มเข้าใจว่า ชีวิตมีสองด้าน ขณะที่แม่สามารถอ่านหนังสือหนักสมองเป็นเล่ม ๆ ได้
แต่กลับตัดสินใจบางเรื่องแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ ไม่ได้ เช่นมื้อเย็นจะกินอะไร หรือจะไปขึ้นรถประจำทางตอนกี่โมง
แม่มักตัดสินใจเรื่องสำคัญโดยไม่ฉุกคิด เช่น ขายทรัพย์สินและย้ายบ้านทั้งที่เพียงได้ยินมาว่า ที่อื่นมีงาน
ให้เลือกทำมากมาย อากาศดี และค่าครองชีพต่ำกว่า

ลอร่าลีหนีความสับสนด้วยการทุ่มอ่านหนังสือ และมักเลือกอ่านเรื่องที่คิดว่าจะช่วยชดเชยบางอย่าง
ในชีวิตที่ขาดไป เช่น การเดินทางผจญภัยแสนสนุกของสัตว์ในเทพนิยาย ซึ่งอ่านซ้ำหลายรอบจนจำ
ข้อความบางตอนได้ขึ้นใจ

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ต.ค. 23, 2022 12:54 pm

💕💕ความรักนำพา ตอนที่ (3)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543
โดย Suzanne Chazin
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)ตื่นจากความไร้เดียงสา

ทว่าโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้ายคอยแทรกตัวเข้ามาปลุกเธอตื่นจากภวังค์
ครั้งหนึ่ง แม่ไปติดต่อที่สำนักงานสวัสดิการสังคมและพยายามอธิบายปัญหาให้เจ้าหน้าที่ฟัง
แต่เจ้าหน้าที่กลับมองแม่ด้วยสายตาเหยียดหยาม ลอร่าลีได้แต่ก้มหน้าด้วยความอายและ
หงุดหงิด ที่ความรู้สึกแบบนี้ประดังเข้ามาทุกวัน
ทั้งที่ยังเศร้าโศกกับการจากไปของยาย แต่แม่ก็ตัดสินใจว่าจะพาลูกไปอยู่รัฐแคลิฟอร์เนีย
เพราะเชื่อว่าชีวิตจะดีขึ้น จากนั้นสองแม่ลูกก็เก็บของย้ายออกจากรัฐออริกอน

การใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านพักคนไร้ที่อยู่ 2 แห่งในแคลิฟอร์เนียทำให้ลอร่าลีเริ่มมองโลกด้วยสายตา
ที่แข็งกร้าว เห็นการแบ่งชนชั้นระหว่างคนมั่งมีกับคนยากจน

“วันไหนอากาศดี ฉันก็ไม่ไปโรงเรียน แต่จะไปขโมยของในร้านกับเพื่อน ๆ ฉันรู้ว่าผิด แต่ฉันชอบ
เสื้อผ้าสวย ๆ และชอบอยู่กับเพื่อน ฉันสวมกำไลโลหะและพลาสติกสีสวยเต็มแขนแบบที่พวกวัยรุ่นชอบ”

ลอร่าลีมักกุเรื่องให้แม่ฟังว่า ได้กำไลมาอย่างไร และแม่ก็ไม่เคยเฉลียวใจจนกระทั่งวันที่ลอร่าลีกับเพื่อน
ถูกจับข้อหาขโมยเสื้อแจ็กเกต ตำรวจเรียกแม่เด็กไปพบ แม่เด็กทั้งสองเดินขึ้นสถานีตำรวจพร้อมกัน
แม่ของเพื่อนเปิดฉากตะโกนด่าลูกสาวทันที ส่วนเอลิซาเบธไม่ปริปากพูด ดวงตาเบื้องหลังแว่นหนาเตอะ
มองลอร่าลีด้วยความผิดหวัง

ลอร่าลีใจหายวูบที่ทำให้แม่หมดความเชื่อถือในตัวเธอ จึงตั้งปณิธานว่าจะเลิกขโมยของอย่างเด็ดขาด
ขณะเดียวกันก็เริ่มตระหนักว่า นิสัยหุนหันพลันแล่นกับวิถีชีวิตที่สับสนของแม่มีผลเสียต่อครอบครัว

เวลาหงุดหงิด ลอร่าลีชอบพูดกระทบแม่ว่า “แม่ทำงานที่ไหนก็ไม่ยืด” แต่พูดแล้วก็รู้สึกเสียใจ ส่วนเอลิซาเบธ
ผู้มองโลกในแง่ดีเสมอตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่รัฐออริกอนเมื่อเห็นว่าลูกสาวไม่มีความสุข

โปรดติดตามตอนที่ (4)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ต.ค. 27, 2022 6:46 pm

💕💕ความรักนำพา ตอนที่ (4)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543
โดย Suzanne Chazin
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)ให้อภัยและความรัก

สองแม่ลูกอาศัยอยู่กับครอบครัวของ’เจน’ พี่สาวเอลิซาเบธระยะหนึ่ง เจนอยู่กับสามีและ
ลูก 6 คน พวกเขาใช้ชีวิตเรียบง่าย อาหารแต่ละมื้อมีการวางแผนและเตรียมไว้ล่วงหน้า ป้าเจน
ดูแล เด็กทุกคนอย่างมีระเบียบวินัยเหมือนกันหมด เธอทำงานเป็นเลขานุการโรงเรียน จึงคาดหวังว่า
ลอร่าลี จะไปโรงเรียนทุกวัน

ลอร่าลีซึ่งขณะนั้นอายุ 10 ขวบเข้าร่วมกลุ่มเยาวชนของโบสถ์ ขณะที่ป้าเจนกับลุงดูแลเธอกับแม่เป็น
อย่างดี ป้าไม่เคยว่ากล่าวแม่เลยทั้งที่แม่ทำตัวไม่เหมาะสมบ่อย ๆ เมื่อลอร่าลีถามป้าเจนว่า
“ทำไมถึงดีกับแม่เช่นนี้” -- ป้าตอบเพียงว่า “แม่เป็นน้องสาวของป้า และหนูก็เป็นหลาน แม้ว่าแม่จะไม่
เหมือนป้า แต่ป้าก็ยังรักเหมือนเดิม”

ลอร่าลีเริ่มเข้าใจมากขึ้น จึงละวางความโกรธที่สั่งสมไว้สมัยเร่ร่อนกับแม่และเริ่มคิดได้ว่า แม่พยายาม
ทำดีที่สุดแล้ว

ลอร่าลีมีความรู้สึกที่ดีต่อแม่อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ชอบไปโรงเรียนเหมือนเดิม เธอลาออกเมื่อขึ้นชั้นมัธยม
โดยให้เหตุผลว่า เบื่อโรงเรียนมัธยมต้นและโกรธที่ครูกล่าวหาว่า เรียงความซึ่งเธอพยายามเขียนเต็มที่
มีแนวคิดซับซ้อนเกินกว่าจะเป็นผลงานของเด็กอย่างเธอ

เอลิซาเบธยังคงเชื่อมั่นว่า ดอกไม้น้อย ๆ ของเธอจะบานสะพรั่งหากโอกาสอำนวย เธอตัดสินใจว่า
ลอร่าลีควรจะได้ไปอยู่ในที่ซึ่งมีโรงเรียนดี พร้อมด้วยกิจกรรมยกระดับจิตใจ และมีมหาวิทยาลัย
ให้เลือกหลายแห่ง
วันหนึ่งกลางฤดูร้อน เธอก็พูดกับลูกอย่างไม่มีปีมีขลุ่ยว่า “เราจะย้ายไปอยู่บอสตัน”

โปรดติดตามตอนที่ (5)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ต.ค. 27, 2022 6:51 pm

💕💕ความรักนำพา ตอนที่ (5)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543
โดย Suzanne Chazin
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)เริ่มนับหนึ่งใหม่

สองแม่ลูกไปถึงเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตต์โดยไม่รู้จักใครแม้แต่คนเดียว เงินที่ติด
ตัวมา ใช้จ่ายระหว่างเดินทางเกือบหมดที่สำนักงานสวัสดิการสังคม เจ้าหน้าที่จัดเตียงนอนให้
สองเตียง ในบ้านพักคนไร้ที่อยู่ ห่างจากใจกลางเมืองบอสตันหลายกิโลเมตร สองแม่ลูกย้ายออก
หลังจากได้ที่อยู่อีกแห่งต่อมา เอลิซาเบธคิดว่าลอร่าลีน่าจะอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์จนกว่าจะหา
บ้านที่เหมาะสม สำหรับเธอกับลูกได้

ครอบครัวใหม่ของลอร่าลีมีเด็กอุปถัมภ์อยู่แล้ว 6 คนและเลี้ยงสุนัขอีก 4 ตัว สภาพบ้านเป็นระเบียบ
เรียบร้อยมาก ทุกวัน เด็ก ๆ จะมีกิจกรรมทำไม่ว่างมือและรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง
เด็กทุกคนไปโรงเรียนและต้องช่วยทำงานบ้านด้วย ลอร่าลีเปิดใจรับสิ่งเหล่านี้ด้วยความกระตือรือร้น
สภาพที่เปลี่ยนไปทำให้ชีวิตของเธอมีเค้าโครงอย่างที่ใจปรารถนามานานแสนนาน และความรู้สึก
ชิงชัง โรงเรียนก็เริ่มหมดไป

ช่วงที่ลอร่าลีเรียนมัธยมสาม เอลิซาเบธได้อพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ จึงทำเรื่องขอลูกสาวกลับมาอยู่ด้วย
ลอร่าลีตั้งปณิธานว่าจะเป็นนักเรียนที่ดีและเข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่างหลังเลิกเรียน
แต่การเรียนหนักทำให้ลอร่าลีนอนไม่พอจนใบหน้าเริ่มซีดเซียว ขอบตามีรอยคล้ำเป็นวงรอบ
พอขึ้นชั้น มัธยมสี่ได้ไม่นาน ร่างกายก็สู้ไม่ไหว
ครูภาษาอังกฤษของลอร่าลีบอกผู้อำนวยการหลักสูตรทางเลือกของโรงเรียนว่า
“เราอาจเสียเด็กคนนี้ไปถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง”

ผู้อำนวยการฯ เป็นคนมีใจเมตตาและเคยได้ยินเรื่องราวของลอร่าลีที่ต้องระเหเร่ร่อนมาตั้งแต่เด็ก จึงเรียก
ลูกศิษย์คนนี้มาคุยด้วยความเป็นห่วง
ท่านช่วยเหลือเด็กวัยรุ่นที่ไร้จุดหมายในชีวิตมามากพอสมควร แต่ไม่เคยพบวัยรุ่นแบบเด็กสาวคนนี้
เมื่อถามว่า “เธอชอบทำอะไรบ้าง ก็อดทึ่งไม่ได้กับคำตอบที่ได้รับ

“วิ่งค่ะ” ลอร่าลีบอก “แต่ชอบอ่านหนังสือมากที่สุด”

ครูขยับนั่งตัวตรง เด็กวัยรุ่นที่บอกว่าชอบอ่านหนังสือมากเป็นพิเศษนั้นไม่ค่อยเจอบ่อยนัก

“ชอบอ่านเรื่องอะไรบ้าง” ท่านถามเรียบ ๆ และแทบไม่เชื่อหูเมื่อลอร่าลีบอกรายชื่อหนังสือยาวเฟื้อย
ตั้งแต่ วรรณกรรมของเชกสเปียร์ไปจนถึงนิยายยอดนิยมของวัยรุ่นปัจจุบัน

“ครูของเธอพูดถูก โรงเรียนไม่ควรเสียเธอไป” ผู้อำนวยการฯ นึกในใจ จากนั้นท่านก็จัดหลักสูตรที่
สอดคล้องกับความถนัดและความต้องการของเธอ และที่สุดท่านก็เสนอว่า ลอร่าลีน่าจะมีกิจกรรม
สอนการอ่านให้แก่เด็กที่อ่อนวัยกว่า

แนวคิดนี้ได้ผล สุขภาพของลอร่าลีเริ่มดีขึ้น รวมทั้งคะแนนวิชาต่าง ๆ ก็กระเตื้องขึ้นด้วย วันหนึ่ง
เพื่อนพูดเล่น ๆ ว่า เธอน่าจะฝึกเพื่อคัดตัวเป็นนักกีฬามวยปล้ำของโรงเรียน ลอร่าลีตัดสินใจลองดู
ทั้งที่สูงแค่ 160 เซนติเมตรและหนักราว 50 กิโลกรัม และเมื่อเธอทำตามที่เพื่อนแนะนำ เธอก็รู้สึกว่า
กีฬานี้คือส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่เธอโหยหามาตลอด

โปรดติดตามตอนที่ (6) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ต.ค. 27, 2022 6:52 pm

💕💕ความรักนำพา ตอนที่ (6)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543
โดย Suzanne Chazin
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)เสียงเรียกจากฮาร์วาร์ด

เดือนธันวาคม 2536 ขณะที่ลอร่าลีเรียนอยู่ปีสุดท้าย ผู้อำนวยการฯ สนับสนุนให้เธอสมัคร
เรียนหลักสูตรภาคค่ำวิชาศาสนาและวรรณคดีในโครงการเสริมการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ซึ่งเปิดให้แก่เด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมในเขตเมืองบอสตัน

ก่อนโรงเรียนปิดช่วงคริสต์มาส ครูคนหนึ่งถามลอร่าลีว่ามีแผนจะสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาไหน
หลังฟังคำตอบ ครูก็ถามเธอว่า “ทำไมไม่ลองที่ฮาร์วาร์ดล่ะ”

ลอร่าลีจ้องหน้าครูด้วยความประหลาดใจ

ปัจจัยหลายอย่างมีอิทธิพลต่อชีวิตและเข็มทิศของคนเรา หลายอย่างเป็นเรื่องของความบังเอิญและ
ปาฏิหาริย์ หรือจะเรียกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ บ่อยครั้ง เราไม่เข้าใจถึงแรงดลใจอันน่าฉงนที่จัดวางเรา
ในตำแหน่งอันเหมาะเจาะและในเวลาที่ลงตัวพอดี

หลังปรึกษาผู้อำนวยการฯ ลอร่าลีก็ตัดสินใจสมัครเรียนที่ฮาร์วาร์ด วันปิดรับสมัครใกล้เข้ามาแล้ว
ขณะที่เธอขลุกอยู่ในห้องนอนอพาร์ตเมนต์ซอมซ่อของแม่ตลอดสุดสัปดาห์เพื่อกรอกใบสมัครและ
เขียนเรียงความประกอบ

โปรดติดตามตอนที่ (7)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ต.ค. 27, 2022 6:54 pm

💕💕ความรักนำพา ตอนที่ (7) (ตอนจบ) จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2543
โดย Suzanne Chazin
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

สี่เดือนต่อมา มีจดหมายซองหนาเตอะส่งมาจากฮาร์วาร์ด เธอแกะซองด้วยมือที่สั่นเทา
“ดิฉันมีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า...”
“แม่รู้เสมอว่า ลูกมีความพิเศษอยู่ในตัว” เอลิซาเบธบอกลอร่าลีขณะสวมกอดแสดงความยินดี
ที่ฮาร์วาร์ด ลอร่าลีเริ่มแสดงความสามารถพิเศษดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์โดยสมัครเข้าคัดเลือก
เป็นนักกีฬามวยปล้ำของมหาวิทยาลัยและก้าวขึ้นเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของทีม

ลอร่าลีมุ่งมั่นศึกษาวิชาต่าง ๆ อย่างทุ่มเทและได้คะแนนดีตลอด 4 ปีจนจบหลักสูตรปริญญาด้าน
เด็กก่อนวัยรุ่น

บ่ายวันหนึ่งในเดือนมิถุนายน 2541 สาวน้อยท่าทางกระตือรือร้นยื่นหน้าพร้อมรอยยิ้มระรื่นมาจาก
แถวบัณฑิตสวมหมวกและเสื้อครุยสีดำของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ลอร่าลีกำลังรอรับปริญญาบัตร

สาวน้อยวัย 21 กวาดตามองผู้มาร่วมงานอย่างตื่นเต้น ขณะยืนเข้าแถวรอ ลอร่าลีหวั่นใจว่าแม่ซึ่ง
ไม่เคยตรงเวลาสักครั้งจะมาทันเธอรับปริญญาหรือไม่
ลอร่าลีพยายามสะกดใจไม่นึกถึงความผิดหวังแต่ครั้งก่อน ไม่ว่าจะเป็นการพลาดรถประจำทาง
อาหารเย็นที่กลายเป็นมื้อดึก หรือการคาดหมายว่าแม่จะรอตรงที่นัดแต่ไม่พบ
เสียงประกาศเรียกชื่อ’ลอร่าลี ซัมเมอร์’ดังขึ้น เธอเดินก้าวขึ้นเวทีอย่างละล้าละลังและรับปริญญาบัตร
หลังเสร็จพิธี เธอปีนขึ้นไปนั่งบนกำแพงเตี้ยชะเง้อดูผู้คนอีกครั้งให้แน่ใจ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็
เห็นแต่ผู้คนแต่งตัวสวยงาม ใบหน้ายิ้มแย้ม และคอยผลัดกันถ่ายรูปคู่กับลูกหลานที่ได้รับปริญญา

ขณะเดินผ่านโต๊ะอาหารซึ่งจัดไว้เลี้ยงแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่ ลอร่าลีได้ยินเสียงเรียกชื่อเธอ
เบา ๆ เมื่อหันไปตามเสียงก็เห็นแม่ยืนอยู่ ร่างเล็กบางของเอลิซาเบธอยู่ในชุดเหมือนบ้านนอกเข้ากรุง
สวมหมวกทีมมวยปล้ำของโรงเรียนมัธยมที่ลอร่าลีเคยเรียน ใบหน้ายิ้มแป้นราวกับผู้ชนะ

“แม่เห็นตอนหนูรับปริญญาหรือเปล่า” ลอร่าลีถามขณะสวมกอดแม่และชูปริญญาบัตรให้ดู

“แม่มาทันเวลาพอดี” เอลิซาเบธบอกพลางกอดลูกสาวแน่น “แม่รู้มาตลอดว่า ลูกทำได้ แม่ดีใจมาก ลูกรัก”

“ความสำเร็จนี้ไม่ใช่ของฉันคนเดียว แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแม่ผู้คิดอ่านไม่เหมือนใคร แม่คอยดูแล
ใส่ใจและแนะนำอย่างใกล้ชิด ทั้งยังกระตุ้นความคิด การศึกษาและการอ่านให้ฉันด้วยความรักที่นำ
พาฉันจนมาถึงจุดนี้”

***********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ต.ค. 27, 2022 7:16 pm

/ เรื่องราวต่อไปนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน /
.
“ถ้าเกิดเราพูดเรื่องปีศาจ หลายคนก็จะนึกคำว่าผีขึ้นมาทันที…
.
“นิยามง่าย ๆ ปีศาจก็จะตรงข้ามกับเทวดา และถ้าปีศาจตรงข้ามกับเทวดา ก็คือความไม่ดีนั่นเอง
คือความพยศชั่ว คือจอมมาร”
.
‘บาทหลวงยอแซฟ อนุชา ไชยเดช’ เอ่ยนิยามและความหมายของคำว่า ‘ปีศาจ’ ที่หลายครั้งหลายครา
เมื่อนึกถึง ก็คงมีใครหลายคนมีภาพที่ปรากฎขึ้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับศาสนาและความเชื่อของ
แต่ละบุคคล แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีจุดร่วมหนึ่งเดียว ว่าปีศาจน่าจะมีแนวโน้มที่จะเอนเอียงไปใน
ทางไม่ดีเสียมากกว่าด้านที่ดีอย่างเทวดา
.
“เมื่อคน ๆ หนึ่ง รู้สึกว่าถูกปีศาจสิงหรือครอบงำ เขาจะไปหาใคร แน่นอนว่าเขาอาจจะต้องสวดภาวนา
แต่มันอาจจะช่วยอะไรไม่ได้ เขาก็จะรู้สึกว่าต้องไปหาแหล่งที่พึ่ง เขาก็อาจจะไปหาบาทหลวง ไปหาคุณพ่อ
.
“ก็เมื่อมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นบนโลก ก็ต้องมีการจัดการช่วยเหลือเกิดขึ้น”
.
นอกจากนั้น ก็คงมีใครหลายคนที่เคยได้ยินถึงเรื่องราวของ ‘พิธีกรรมการขับไล่ปีศาจ’ (Exorcism)
ผ่านหูผ่านตามาบ้าง บ้างก็อาจจะเคยได้ยินผ่านเรื่องราวสยองขวัญ บ้างก็อาจจะเคยได้อ่านผ่านนิยาย
บ้างก็อาจจะเคยได้รับรู้ผ่านสารคดีและประวัติศาสตร์ บ้างก็อาจจะได้เห็นผ่านภาพยนตร์ หรือบ้างก็
อาจจะเคยได้ประสบมันต่อหน้าต่อตา…
.
ในบทสนทนากับคุณพ่ออนุชาในครั้งนี้ เราจึงได้มีโอกาสถามไถ่เชิงลึกถึงพิธีกรรมดังกล่าวจากมุมมอง
ของคริสต์ศาสนา ในแง่มุมของความเป็นจริงที่อาจจะมีความแตกต่าง (และในขณะเดียวกันก็มีความเหมือน)
จากภาพที่ถูกนำเสนอในจอภาพยนตร์หรือสื่อประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของลักษณะอาการหรือ
ขั้นตอนการดำเนินการ
.
“ในฐานะที่ผมเคยเข้ารับการอบรมเพื่อทำความเข้าใจเรียนรู้ในเรื่องพิธีกรรมการขับไล่ปีศาจ การสวด
ภาวนาก็จะมีบทสวดในการขับไล่โดยเฉพาะ จะมีหลักการต่าง ๆ อย่างน้อยจะต้องไม่หลงกลไม่เชื่อสิ่ง
ที่มันพูด เพราะเขาเป็นจอมมารแห่งการโกหกหลอกลวง เวลาขับไล่อาจจะต้องพูดด้วยเสียงดัง…”
.
คุณพ่ออนุชาอธิบายต่อถึงเกร็ดคร่าว ๆ ของพิธีกรรมการขับไล่ปีศาจตามแนวทางจากที่ท่านได้ไปรับ
การอบรมทางด้านดังกล่าวมาโดยตรง นอกจากนั้นท่านยังกล่าวอธิบายถึงลักษณะบางประการที่บ่งชี้
ถึงอาการความเป็นไปได้ว่าบุคคลดังกล่าวอาจถูกปีศาจเข้าครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลอกตา
เสียงแปลก หรือกลิ่นประหลาด
.
แต่ถึงกระนั้น บทสนทนาก็ดำเนินไปสำรวจลึกถึงความหมายที่แท้จริงในแง่มุมอื่นของ ‘ปีศาจ’ และ
‘พิธีการขับไล่ปีศาจ’ ว่าแท้จริงแล้ว ปีศาจที่เรานึกถึงและมีภาพจำที่ดูน่ากลัว อาจจะไม่ได้มา
ในรูปลักษณะนั้นเพียงอย่างเดียว แต่มันอาจจะคลืบคลานมาใกล้ตัวเราในรูปแบบที่เราอาจจะ
คาดไม่ถึง อาจจะเป็นสิ่งดีที่มอบความสุขชั่วคราวแต่ความทุกข์ชั่วนิรันดร์ก็เป็นได้…
.
ท้ายที่สุดแล้ว นิยามของปีศาจที่แท้จริงคืออะไร? พิธีกรรมการขับไล่ปีศาจเป็นแบบไหน?
การขายวิญญาณให้ปีศาจมีจริงหรือไม่? เมื่อถูกปีศาจครอบงำเราจะมีลักษณะอาการอย่างไร?
.
นี่เป็นเพียงบางส่วนของเนื้อหาการสนทนาเพียงเท่านั้น สามารถติดตามบทสัมภาษณ์แบบเต็ม ๆ
ที่จะมีการเจาะลึกถึงประเด็นต่าง ๆ ที่รายล้อมอยู่กับคำว่า ‘ปีศาจ’ และ ‘พิธีกรรมการขับไล่’
ได้ในคืนวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2565 เวลา 20.00 น. กับ ‘บาตรหลวงยอแซฟ อนุชา ไชยเดช
และพิธีกรรมการขับไล่ปีศาจในนิยามของศาสนจักรคาทอลิก’
.
“อะไรก็ตามที่ไปผูกโยงกับความชั่วร้ายมันน่ากลัว… ถ้าไม่จำเป็นคงไม่มีใครอยากไปข้องแวะ…
.
“ถามว่าอันตรายไหม… อันตรายแน่”
.
เรื่อง: รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์
ภาพ: กัลยารัตน์ วิชาชัย
.
#ThePeople #InspiringStory #พิธีกรรมการขับไล่ปีศาจ #Exorcism #คริสต์ศาสนา #ศาสนา #ความเชื่อ

CR. : The People
https://m.facebook.com/story.php?story_ ... bHGSsuzr6o
UDcuem92gtva9x5tgygbmSrXnJP9n1
J2YtTNB8LQW6jaQhb5MMl&id=1023078414531349&mibextid=WcD6dI
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 17, 2022 11:16 pm

บทเพลงของ’วลาดิมีร์’ (Vladimir’s Song) ตอนที่ ( 1 )

เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543
โดย Rick and Diana Stafford ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)จดหมายในขวด

สายวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน 2537 ‘บรูก’ จากสถานีวิทยุมวลชนของสหรัฐ (NPR) กำลังมุ่งหน้า
ไปยังสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าสำหรับเด็กเล็กใกล้กรุงมอสโก เธอตั้งใจจะสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่
สถานสงเคราะห์เกี่ยวกับกฎหมายการขอรับอุปการะเด็กในรัสเซีย

เมื่อไปถึง เธอพบ ดร.’โซเนีย’ ผู้อำนวยการสถานสงเคราะห์ฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กซึ่งพา’บรูก’
เข้าเยี่ยมชมตามห้องต่าง ๆ ที่มีเด็กอยู่กันอย่างค่อนข้างแออัด พวกพี่เลี้ยงพูดซ้ำอยู่หลายครั้งว่า
“คุณต้องเจอ ‘เจ้าหนูวลาดิมีร์’

เด็กชายตัวโตเท่ากับเด็กปกติ 4 ขวบ แต่’โซเนีย’บอกผู้มาเยือนว่า ‘วลาดิมีร์’อายุ 7 ขวบแล้ว
เป็นเด็กหน้าตาคมคายทีเดียว แต่รูปร่างเขาสะดุดตาผู้พบเห็นมากกว่า เขาเป็นเด็กพิการแต่กำเนิด
ข้อต่อบริเวณข้อศอกยึดขยับไม่ได้ ข้อมือหักงอทั้งสองข้างจึงอยู่ในสภาพแบมือตลอดเวลา เข่างอไม่ได้
และเท้าก็บิดขึ้นแล้วหักลง เมื่อมีคนจับให้ยืน เขาจะยืนบนหลังเท้าโดยมีส้นเท้าชี้ขึ้นด้านหลัง

‘โซเนีย’บอก’บรูก’ว่า ที่จริงต้องย้ายเขาไปอยู่สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าตั้งแต่ตอนที่อายุได้ 5 ขวบแล้ว
แต่เนื่องจากเขาเป็นเด็กพิการและตัวเล็กมาก เธอจึงทำใจไม่ได้เพราะเกรงว่า ‘วลาดิมีร์’จะไม่ได้รับการ
ดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร

แล้ว‘บรูก’ก็เข้าใจเหตุผลของ’โซเนีย’มากขึ้น เมื่อเข้าไปยังห้องสันทนาการที่มีเด็ก ๆ หลายคนรวมทั้ง
‘วลาดิมีร์’กำลังนั่งเล่นบนพื้นห้อง
‘โซเนีย’นั่งลงกับเด็ก ๆ พร้อมกับวางเทปบันทึกเสียงไว้ข้างตัว ‘วลาดิมีร์’เหลือบมองไมโครโฟนแวบหนึ่ง
แล้วก็ไถลตัวราวกับแมวน้ำเข้าไปใกล้ทันที จากนั้นเจ้าหนูก็คุยจ้อตลอดเวลาเป็นภาษารัสเซีย

: คุณชื่ออะไรครับ – นี่เครื่องอะไรครับ – ผมพูดใส่ไมโครโฟนได้ไหมครับ – ให้ผมร้องเพลงได้ไหมครับ ฯลฯ

ครู่ต่อมา ‘วลาดิมีร์’ ก็ขึ้นไปนั่งบนตักของ’บรูก’ ราวกับรู้จักคุ้นเคยกันมานาน ระหว่างเล่นด้วยกัน ‘วลาดิมีร์’
ยืนกรานจะร้องเพลงให้ได้ และไม่นานต่อมา เขาก็ครวญเพลงเสียงหวานด้วยบทเพลงที่พยาบาลพี่เลี้ยง
เคยสอนให้ ... เมื่อถึงเวลาที่ต้องลากลับ ‘วลาดิมีร์’ถาม’บรูก’ว่า “เมื่อไหร่คุณจะกลับมาอีกครับ”

เธอตอบว่าคงมาเยี่ยมได้แค่ครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น ประกายตาเขาสลดลงทันที มีเพียงริมฝีปากเม้ม
แน่นบ่งบอกถึงความรู้สึกว่ากำลังพยายามข่มความเสียใจอยู่

ค่ำวันนั้น ‘บรูก’เล่าเรื่องเด็กชายผู้สดใสและเต็มไปด้วยกำลังใจคนนี้ให้สามีฟัง เธอไม่อาจสลัดความ
รู้สึกฝังใจที่มีต่อเจ้าหนูน้อยคนนี้ได้ คิดแต่เพียงว่า “ฉันน่าจะทำอะไรให้เขาได้มากกว่านี้”

ที่สุด’บรูก’ก็ตัดสินใจใช้เพลงของ‘วลาดิมีร์’ประกอบรายการวิทยุของเธอ โดยเปิดเสียงเพลงนำสั้น ๆ
ก่อนพูดเข้ารายการซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวต่างชาติ
ที่ต้องการรับอุปการะเด็กชาวรัสเซียว่า “เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าต่างภาวนาให้เด็กคนนี้มี
แม่อุปถัมภ์จากต่างแดน”

‘บรูก’คิดว่ารายงานที่ออกอากาศไปนั้นเป็นเหมือนจดหมายที่ใส่ขวดน้ำแล้วโยนลงน้ำให้ล่องลอยไป
ในทะเลมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ฟังรายการของเธอ
วันที่ 30 ธันวาคม 2537 หนึ่งเดือนหลังรายการออกอากาศ เธอได้รับอีเมลจากบรรณาธิการในสหรัฐฯ
เขียนมาบอกว่า “มีผู้ชายคนหนึ่งสนใจจะรับเด็กที่คุณเคยพูดถึงในรายการของคุณเป็นบุตรบุญธรรม”

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 17, 2022 11:19 pm

บทเพลงของ’วลาดิมีร์’ (Vladimir’s Song) ตอนที่ ( 2 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดย Rick and Diana Stafford
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)เสียงเพลงของเด็กน้อย

เช้าวันนั้น ‘ริก’ (Rick Stafford) หลังจากจูบลา ‘ไดอาน่า’ภรรยาที่ยังหลับอยู่ก่อนออกจากบ้าน
ราว 7.00 น. ‘ไดอาน่า’ไม่มีชั่วโมงเรียนจนกว่าจะช่วงสาย การเรียนปริญญาโทเป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝัน
ผมดีใจที่เห็นเธอมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการหลังจากเพิ่งผ่านช่วงเวลาทุกข์ระทมมาด้วยกัน
ขณะขับรถเช้าวันนั้น ผมฟังรายการข่าวภาคเช้าของสถานี NPR:ซึ่งกำลังรายงานพิเศษเรื่องกฏข้อ
บังคับใหม่ในการรับเด็กรัสเซียเป็นบุตรบุญธรรม โดยมีเสียงพูดคุยของเด็กเป็นภาษารัสเซีย
ประกอบเป็นพื้นหลังขณะที่นักข่าว (บรูก) อ่านรายงาน

ผมไม่เข้าใจสิ่งที่เด็กคนนั้นพูด แต่ประทับใจเสียงของแกมากจนเปิดวิทยุให้ดังขึ้น นักข่าวบอกว่า
เด็กคนนี้ร่าเริงและฉลาดมาก แม้จะเกิดมาแขนขาพิการ แต่ก็ชอบพูดคุยตลกเล่นกับพยาบาลพี่เลี้ยง
ทำให้ทุกคนเบิกบานใจขณะดูแลพวกเขาที่นั่น นักข่าวพูดด้วยว่า ที่จริงเขามีอายุเกินกว่าจะอยู่สถาน
สงเคราะห์แห่งนี้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ช่วยกันหลบซ่อนเพราะไม่อยากให้เด็กถูกส่งไปบ้านเด็กกำพร้าแห่งอื่น
จากนั้น ผมก็ได้ยินเสียงร้องเพลงสั้น ๆ เป็นภาษารัสเซียของเด็กคนนี้ เสียงแหลมสูงและชัดใส...

สองปีมาแล้วที่ผมกับภรรยาพูดถึงการรับอุปการะเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เราอยากมีลูกเองรวมทั้งรับ
อุปการะเด็กมาหลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ท้ายที่สุดผมก็ทำใจยอมรับว่าชีวิตคู่ของเราเห็นทีจะ
ต้องอยู่โดยไม่มีลูก
หลังฟังรายการ ผมใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โทรฯ ไปยังสำนักงานของ NPR ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
เพื่อขอรายงานข่าวและเทปรายการที่ออกอากาศไปแล้ว
ขณะโทรฯ ความคิดหนึ่งก็แวบเข้ามา “เด็กคนนี้คือลูกของเรา”

ครึ่งชั่วโมงต่อมา แบตเตอรรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่หมด ผมจึงคิดรวบรวมคำพูดเพื่ออธิบายอย่างมีเหตุผล
ก่อนจะจอดรถข้างทางแล้วใช้โทรศัพท์สาธารณะหมุนเบอร์ที่บ้าน

ไดอาน่ารับสายพร้อมกับถามว่า “มีอะไรเหรอคะ”

“เอ่อ ที่รัก ผมเพิ่งได้ยินเสียงลูกของเราทางวิทยุ”

เสียงปลายสายเงียบไปนานทีเดียว จากนั้นเธอก็ถามผมว่าพูดถึงอะไร ผมพยายามอธิบายอย่างดีที่สุด
แล้วถามว่า “คุณคิดยังไงถ้าเราจะหาข้อมูลของเด็กเพิ่ม”

ฟังเหมือนผมเสียสติไปแล้ว แต่โชคดีที่ไดอาน่าไม่มีท่าทีตื่นตระหนก เธอตอบว่า “ได้สิคะ ลองหาข้อมูล
เพิ่มเติมดูก็ได้

ผมคิดว่า ตอนนั้นเราทั้งคู่คาดไม่ถึงหรอกว่า คำพูดเพียงไม่กี่คำนั้นจะเปลี่ยนแปลงเราทั้งชีวิตต่อมา

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 17, 2022 11:21 pm

บทเพลงของ’วลาดิมีร์’ (Vladimir’s Song) ตอนที่ ( 3 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดย Rick and Diana Stafford
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)เริ่มต้นการค้นหา

ผมกับไดอาน่าแต่งงานกันในปี 2526 และคิดจะมีลูกทันที เวลาผ่านไปหลายเดือน ไดอาน่าก็
ยังไม่ตั้งครรภ์ ตอนนั้นเรารู้สึกเฉย ๆ เธอเพิ่งอายุ 23 ปี เรายังมีเวลาเหลือเฟือ
ถึงปลายปี 2532 ความฝันจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์ยังคงห่างไกลความจริง เราไปพบแพทย์เพื่อ
ขอคำปรึกษาเรื่องการมีบุตรอยู่หลายครั้ง ที่สุดเราก็พักความคิดที่จะมีลูกไว้ชั่วคราว ผมกลับไป
เรียนต่อและสำเร็จการศึกษาด้านดนตรี

ปลายฤดูใบไม้ร่วงปี 2534 เราติดต่อองค์กรที่จัดการเรื่องการรับอุปการะเด็ก มีแม่ (2) ราย
ตกลงจะมอบลูกให้เป็นบุตรบุญธรรมของเรา แต่ต่อมาก็เปลี่ยนใจ เรารู้สึกผิดหวังมาก
สองปีต่อมา ผมก็ได้ยินเรื่องราวของเด็กรัสเซียทางข่าววิทยุ ไดอาน่ากับผมหารือกันหลายสัปดาห์
เรื่องการรับเด็กพิการชาวรัสเซียมาเป็นบุตรบุญธรรม เราต่างภาวนาและขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่
สังคมสงเคราะห์ รวมทั้งจากพ่อแม่และเพื่อนฝูง

ทุกคนแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “รอไปก่อนเถอะ ถ้าอยากจะอุปการะเด็กจริง ๆ ก็น่าจะเริ่มจาก
เด็กที่มีร่างกายสมบูรณ์และมีพื้นเพทางภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน” แต่ผมก็ไม่อาจสลัดเสียง
ที่สดใสของ‘วลาดิมีร์’ออกไปได้

วันที่ 30 ธันวาคม 2537 เมื่อเลิกงานกลับถึงบ้าน ผมรู้สึกเบื่อกับการนั่งดูรายการโทรทัศน์
ใจหวนคิดถึง‘วลาดิมีร์’ ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วบอกกับตัวเองว่า “แค่หาข้อมูลเพิ่มเติมเท่านั้น”

ผมโทรฯไปที่สถานี NPR ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เพื่อบอกว่า ผมอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ‘วลาดิมีร์’

บรรณาธิการโต๊ะข่าวต่างประเทศของสถานีฯ ส่งอีเมลถึง’บรูก’ และวันรุ่งขึ้น (31 ธ.ค.) ‘บรูก’ก็โทร
หาผมจากกรุงมอสโก

‘บรูก’เตือนผมแบบเดียวกับคำแนะนำที่ผมได้รับมาก่อนหน้านั้น “เด็กคนนี้พิการค่อนข้างมาก
ฉันไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจะผ่าตัดแก้ไขได้หรือไม่”

ผมถามถึงสภาพจิตใจและสติปัญญาของเด็ก ก็ได้รับคำตอบว่า “ยอดเยี่ยม เขาเป็นเด็กฉลาด
กระตือรือร้น สนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว”

ผมแทบไม่ต้องคิดทบทวนอีกครั้งก่อนจะพูดต่อ “เท่านี้แหละครับที่ผมอยากรู้ เด็กคนนี้ฟังดูเหมาะที่สุด”

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 17, 2022 11:23 pm

บทเพลงของ’วลาดิมีร์’ (Vladimir’s Song) ตอนที่ ( 4 ))
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดย Rick and Diana Stafford
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)ก้าวแรก

หลังจากคุยกันอีกเล็กน้อย ผมก็บอก‘บรูก’ว่า “ผมอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเด็ก จะได้
ตัดสินใจว่า ควรจะทำยังไงต่อ”

เธอให้หมายเลขโทรศัพท์ของ”ศูนย์แห่งความหวังในการอุปการะเด็ก” ที่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
โดยอธิบายว่า ศูนย์นี้ทำหน้าที่หาครอบครัวอุปถัมภ์ให้แก่เด็กกำพร้าในเขตที่เธอรับผิดชอบ

เมื่อผมโทรฯ ไปที่ศูนย์แห่งความหวังฯ ผมพูดกับ’เจมี่’‘เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของศูนย์ฯ และได้คำตอบว่า
“เราไม่เคยดำเนินการหาครอบครัวอุปถัมภ์จากคนที่ได้ยินเรื่องราวของเด็กจากรายการวิทยุมาก่อนเลย
ปกติเราจะตรวจสอบเพื่ออนุมัติครอบครัวที่ต้องการอุปการะเด็กก่อน จากนั้นจึงพยายามหาเด็กที่เหมาะ
กับครอบครัวนั้น ๆ” อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของผม ‘เจมี่’บอกว่า เขาจะส่งตัวแทนขององค์กรไปยัง
สถานสงเคราะห์ที่‘วลาดิมีร์’พักอาศัยอยู่ และตรวจสอบดูว่าเด็กพร้อมจะไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์หรือไม่
จากนั้นก็จะแจ้งผลของการติดต่อทั้งหมดให้ผมทราบ

ไม่กี่วันต่อมา ผมได้รับซองเอกสารหนาเตอะจากองค์กรดังกล่าว เมื่อเปิดซองดูก็ตระหนักถึง
“ความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก”

ผมกับไดอาน่าเคยกรอกใบสมัครขออุปการะเด็กอย่างละเอียดยิบมาแล้ว แต่เทียบไม่ได้กับการขออุปการะ
เด็กต่างชาติในคราวนี้ เราต้องเดินเรื่องขอแบบฟอร์มจำนวนมากจากหน่วยงานหลายแห่ง รวมทั้งกอง
ตรวจคนเข้าเมืองและทำเรื่องขอสัญชาติด้วย เมื่อกรอกเอกสารเสร็จก็ต้องนำไปให้ทนายรับรองและผ่าน
การตรวจสอบจากหน่วยงานด้านต่างประเทศของรัฐโอไฮโอ (Ohio)
จากนั้นยังต้องแปลเอกสารทุกฉบับเป็นภาษารัสเซีย ทางองค์กรจะพิจารณาใบสมัครและส่งข้อมูลทั้งหมด
ไปยังผู้อำนวยการโครงการที่กรุงมอสโก ซึ่งจะส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรัสเซีย

หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ได้รับเอกสารที่’เจมี่’จากศูนย์แห่งความหวังส่งมาให้ ผมอ่านเอกสารปึกหนา
ทุกหน้าและเก็บใส่ซองเดิม วางไว้บนโต๊ะในครัว สูดลมหายใจลึก ๆ เพื่อสงบสติอารมณ์
2-3 สัปดาห์ก่อน การตามหาตัว ‘วลาดิมีร์’ดูจะเป็นเรื่องยาก แต่ตอนนี้ การนำตัวเขามากลับเป็นงานที่
ยากกว่าหลายเท่า ผมชื่นชมความใจกว้างของไดอาน่า และรู้ดีว่า ถ้าภรรยาไม่พร้อมจะรับอุปการะ
เด็กคนนี้ ทุกอย่างก็เป็นอันจบ

บ่ายวันหนึ่งขณะที่ผมไปร่วมสัมมนาผู้นำเพลงของโบสถ์ที่นครนิวยอร์ก และเพิ่งเริ่มซ้อมร้องเพลงกับ
ผู้ชายกลุ่มใหญ่ มีเสียงวิทยุติดตามตัวดังขึ้น ผมปิดเสียงเครื่องซึ่งติดอยู่กับเข็มขัด และเมื่อถึงช่วงพัก
จึงเปิดอ่านข้อความที่ส่งมาจากไดอาน่าว่า “เด็กน่ารักจัง ตกลงค่ะ”

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ย. 18, 2022 3:40 pm

บทเพลงของ’วลาดิมีร์’ (Vladimir’s Song) ตอนที่ ( 5 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดย Rick and Diana Stafford
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)มหัศจรรย์เหลือเชื่อ

สิ่งเดียวที่โน้มน้าวการตอบตกลงของไดอาน่าคือ รูปของเด็กชายที่มีหน้าตายิ้มแย้ม
ผมสั้นเกรียนนั่งอุ้มตุ๊กตาหมีอยู่บนรถเข็น

เรานำประวัติการรักษาของ‘วลาดิมีร์’ไปปรึกษากุมารแพทย์และเพื่อนที่เป็นศัลยแพทย์
และได้คำตอบว่า มีวิธีผ่าตัดช่วยแก้ไขสภาพแขนขาบิดเบี้ยวของเขาได้

ผมกับไดอาน่าตัดสินใจเริ่มดำเนินการทันที แต่สิ่งที่ต้องการมากตอนนี้ก็คือ “เงิน”

เพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้ผมไปออกรายการสนทนาทางวิทยุในช่วงบ่าย... ที่สุดผมก็ได้พูด
ในรายการวิทยุประมาณ 2 นาทีเกี่ยวกับ‘วลาดิมีร์’และความผิดปกติจากโรคที่ข้อกระดูก
และการหาทางช่วยเหลือ

เพียง (2)สัปดาห์ ทั้งจดหมายและเช็คเริ่มหลั่งไหลมาจากผู้ฟังรายการ เพื่อนคนเดิมช่วย
ติดต่อนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ “ซินซินเนติ โพสต์” (Cincinnati Post) ผมเล่าเรื่อง
ของ‘วลาดิมีร์’ เปิดเทปเพลงที่เด็กร้อง และเอารูปให้เขาดู ... หนังสือพิมพ์ฯ
ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2538 ลงบทความที่เขาเขียน ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลเข้ามา
นอกจากนั้น ผมยังเขียนจดหมายถึงประธานสายการบินเดลตาแอร์ไลน์อธิบายสิ่งที่เรากำลัง
ทำอยู่ ท่านประธานฯ อนุมัติตั๋วลดราคาพิเศษให้เราเดินทางไปกลับมอสโกได้ตามเวลาที่สะดวก
ผมรู้สึกเหมือนพบสิ่ง มหัศจรรย์ครั้งแล้วครั้งเล่า

ราวกลางเดือนเมษายน 2538 ผมกับไดอาน่าเกือบพร้อมจะเดินทางแล้ว เอกสารต่าง ๆ
เรียบร้อย รวมทั้งอัลบั้มภาพถ่ายของเรา บ้าน และห้องนอนเด็ก

เมื่อใกล้วันเดินทาง เรารู้ดีว่ายังขาดเงินอีกราว 4,000-5,000 เหรียญเป็นค่าใช้จ่ายในการพา
‘วลาดิมีร์’กลับมาด้วยกัน ผมจึงเอ่ยปากขอให้บริษัทที่ผมทำงานอยู่ช่วย แต่ได้รับการปฏิเสธ
ด้วยเหตุผลว่า ทางบริษัทไม่มีนโยบายให้เงินช่วยเหลือเพื่อการนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผมไปประชุมพนักงานบริษัทที่รัฐแคลิฟอร์เนียทั้งที่จิตใจยังกังวลเรื่องเงินอยู่
ระหว่างงานเลี้ยงอาหารเย็นที่ชายหาด ผมมีโอกาสคุยกับรองประธานประจำภูมิภาคของบริษัทและ
ก่อนสิ้นสุดงานเลี้ยงค่ำวันนั้น รองประธานฯ ก็แจ้งให้ผมทราบว่า “คุณไรอัน ประธานกรรมการบริหาร
ของบริษัทของเราทราบเรื่องแล้ว และจะเขียนเช็คส่วนตัวให้ผม 5,000 เหรียญเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้”

ผมถึงกับตะลึง เพราะไม่รู้มาก่อนเลยว่า รองประธานฯ ส่งเรื่องของผมไปให้คุณไรอัน...ผมไม่เคยพบ
คุณไรอันหรือบอกใครเลยว่าต้องการเงินอีกเท่าไร ที่แน่ ๆ คือไม่เคยระบุว่ายังขาดอยู่อีกราว 5,000 เหรียญ
แต่แล้วก็ได้เงินนั้นมา มหัศจรรย์จริง ๆ!

โปรดติดตามตอนที่ ( 6 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ย. 23, 2022 6:49 pm

บทเพลงของ’วลาดิมีร์’ (Vladimir’s Song) ตอนที่ ( 6 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดย Rick and Diana Stafford
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)กลับบ้าน

วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2538 เราเดินทางไปถึงรัสเซีย เมื่อนั่งรถถึงทางเข้าสถานสงเคราะห์
ผู้หญิงในชุดขาวยืนต้อนรับอยู่ที่ประตูและพาเราไปนั่งในห้องรับแขก ครู่ต่อมา สตรีรัสเซียท่าทาง
เคร่งขรึมร่างสูง ผมสั้นสีเทา สวมเสื้อโค้ทสีขาวก้าวเข้ามาในห้อง
เธอยิ้มกว้างขณะเดินตรงมาหาเรา แล้วแนะนำตัวเป็นภาษารัสเซียว่าชื่อ “ดร.โซเนีย บาสลอฟยัก”
ผู้อำนวยการสถานสงเคราะห์แห่งนั้น จากนั้นเธอก็ออกจากห้องเพื่อไปพา‘วลาดิมีร์’มา และให้เรา
นั่งรออยู่ที่เดิม

ไม่กี่วินาทีต่อมา เราก็ได้ยินเสียงผู้ใหญ่คุยกันอยู่นอกห้อง เราได้ยินเสียงแหลมสูงของเด็กช่างเจรจา
ผมจำเสียง‘วลาดิมีร์’ได้ทันที ล่ามกระซิบแปลให้เราฟังว่า “เจ้าหนูน้อยไม่อยากพบคุณทั้งสองในสภาพ
ที่เขานั่งรถเข็นแบบนี้”

ผมหลับตาลงชั่วขณะ ทันทีที่ลืมตาขึ้นก็เห็น ‘โซเนีย’ยืนอยู่ตรงประตูห้องพลางประคองร่างเด็กชาย
ตัวเล็กผมสีทอง ใบหน้าน้อย ๆ บ่งบอกความมั่นใจเต็มเปี่ยม

‘โซเนีย’พูดเป็นภาษารัสเซียว่า “ดูสิ นั่นไง แม่กับพ่อของหนู” เด็กน้อยยิ้มกว้างและแทบจะถลาออกจาก
มือเธอมายังอ้อมแขนของเรา

“แม่ครับ พ่อครับ ผมรักพ่อกับแม่” เขาพูดภาษาอังกฤษสำเนียงรัสเซียขณะเข้ามากอดผมกับไดอาน่า
เราสองคนย่อตัวคุกเข่าลงข้าง ๆ มองเจ้าหนูแล้วยิ้มทั้งน้ำตา

‘โซเนีย’ยื่นช่อดอกไม้สีขาวช่อใหญ่ให้‘วลาดิมีร์’มอบให้แม่ ขณะส่งช่อดอกไม้ให้ไดอาน่า เขาชะงัก
ไปชั่วขณะพร้อมกับพูดว่า “ต้องแบ่งให้พ่อครึ่งหนึ่งนะครับ” ทุกคนยิ้มอย่างเอ็นดูในความยุติธรรม
ประสาเด็ก

ช่วงที่ทุกคนต่างนิ่งเงียบ ‘วลาดิมีร์’เริ่มซักถาม’โซเนีย’โดยมีล่ามแปลให้เราฟังว่า
“เราจะไปกันได้เมื่อไร...ให้ผมไปอเมริกาวันนี้เลยได้ไหมครับ”

การกลับบ้านเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายให้‘วลาดิมีร์’เข้าใจได้ เราต้องดำเนินการเรื่อง
เอกสารกับเจ้าหน้าที่รัสเซียอีกอย่างน้อย 1 วันและยังต้องไปสถานทูตสหรัฐฯ ก่อนเดินทางกลับ

บ่ายวันอังคารที่ 6 มิถุนายน หลังจากดำเนินการเรื่องเอกสารเสร็จเรียบร้อย เรากลับไปสถานสงเคราะห์ฯ
เพื่อร่วมงานเลี้ยงอำลา ‘วลาดิมีร์’แจกขนมและของเล่นที่เราซื้อไปฝากให้แก่เพื่อน ๆ จูบลาและสวมกอด
บรรดาพี่เลี้ยงทุกคน

ตอนตั้งแถวถ่ายรูปหมู่ ‘โซเนีย’ก้าวออกมาจากแถว หันมาทางเราและกล่าวสั้นว่า “ริกและไดอาน่าคะ
ขอให้คุณทั้งสองมีความสุขมาก ๆ คุณคงเห็นแล้วว่า ‘วลาดิมีร์’เป็นเด็กฉลาดหัวไว เหลือปัญหาเดียว
คือแก้เรื่องการเคลื่อนไหวของเขา ขอให้คุณทั้งสองผู้ใจบุญประสบแต่ความโชคดีค่ะ”

‘โซเนีย’ก้าวเข้ามากอดเราหลังกล่าวจบ ไดอาน่าและผมผลัดกันสวมกอดล่ำลาครูและพยาบาลพี่เลี้ยง
แต่ละคน เมื่อเราอุ้มลูกชายขึ้นรถ พนักงานและเด็ก ๆ ต่างกรูกันเข้ามา พยาบาลพี่เลี้ยงหลายคนเริ่มร้องไห้

โปรดติดตามตอนที่ ( 7 )ในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ พุธ พ.ย. 23, 2022 6:52 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ย. 23, 2022 6:52 pm

บทเพลงของ’วลาดิมีร์’ (Vladimir’s Song) ตอนที่ ( 7. )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดย Rick and Diana Stafford
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)ครอบครัวสมบูรณ์

ช่วงต้นของการสร้างครอบครัวใหม่ ส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข สัปดาห์แรกผมไม่ได้
ไปทำงาน ต่อมาทุกอย่างก็กลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ทุกเช้าเมื่อตื่นนอนและกินอาหารเช้าด้วยกัน
เราแลกเปลี่ยนคำศัพท์กันจากสิ่งของบนโต๊ะ ‘วลาดิมีร์’จะสอนภาษารัสเซียให้เรา ส่วนผมกับไดอาน่า
แปลเป็นภาษาอังกฤษ สุดท้ายแต่ละคนจะพยายามออกเสียงคำศัพท์นั้นให้ถูกต้อง กิจกรรมนี้เรียกเสียง
หัวเราะได้มาก ความช่างสงสัยของ‘วลาดิมีร์’ทำให้เรามองโลกที่คุ้นเคยด้วยมุมมองใหม่ ลูกชอบสระ
ว่ายน้ำในอพาร์ทเมนท์ของเรามาก ผมช่วยอุ้มขณะที่เขากระทุ่มน้ำเล่นอย่างสนุกสนาน

หลังมาอยู่ด้วยได้ไม่นาน เราก็เริ่มหาทางรักษา‘วลาดิมีร์’ กุมารแพทย์บอกว่าเด็กหนักเพียง
20 กิโลกรัมและสูง 109 เซนติเมตรซึ่งน้อยมากสำหรับเด็ก 7 ขวบ หมอฉีดยาให้ภูมิคุ้มกันแล้วส่งเขา
ไปพบทันตแพทย์

ตอนนี้เองที่เราเพิ่งรู้ว่า ไม่เคยมีใครสอนเขาแปรงฟัน แต่ถึงเขาจะงอแงขนาดไหน หมอก็จัดการ
ทำความสะอาด ขัดฟัน และเอกซเรย์จนเสร็จเรียบร้อย

รายการต่อไปคือพบจักษุแพทย์เพื่อตัดแว่นแก้ปัญหาสายตายาวและตาพร่า และทำให้เรารู้จัก
ลูกมากขึ้นว่า เขาเป็นคนรักสวยรักงาม เลือกกรอบแว่นอย่างพิถีพิถัน ใส่ใจว่าเสื้อผ้าต้องเข้าชุดกัน
และผมหวีเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้ เราจึงพาเขาไปตัดผมแบบอเมริกันเป็นครั้งแรก ก่อนจะพาไปซื้อ
แว่นกันแดดให้ซึ่งถูกใจเขามาก

ท่ามกลางความตื่นเต้นและความสุขในช่วงแรก มีเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ลงตัว คือ‘วลาดิมีร์’ติดผม
แจ แต่กลับสั่งให้ไดอาน่าทำโน่นทำนี่ให้ราวกับเป็นเจ้าหน้าที่ของสถานสงเคราะห์ เช่น
“หยิบเสื้อให้ผมหน่อย” หรือ “อาหารเช้าของผมล่ะ”... นี่ไม่ใช่ความรักและความสัมพันธ์ฉันแม่ลูก
ที่ภรรยาผมตั้งตารอ

ชื่อ‘วลาดิมีร์’แปลว่า “ปกครองโลก” ตอนแรกเราแกล้งล้อว่าเขาทำตัวสมชื่อจริง ๆ ซึ่งก็ไม่แปลก
เพราะเขาได้รับการเลี้ยงดูพะเน้าพะนอจากผู้หญิงล้วน ๆ มาก่อน และในฐานะเด็กกำพร้า เขาไม่เคย
เรียนรู้มารยาทที่ลูกพึงมีต่อพ่อแม่เลย

เราทั้งสองจึงต้องคอยอธิบายให้เขาเข้าใจทีละน้อยด้วยความรักและอดทน เราชี้ให้เขาเข้าใจ
เวลาที่เขาไม่เคารพยำเกรงไดอาน่าและกิริยาแบบนั้นทำให้เธอรู้สึกอย่างไร

ส่วนไดอาน่าตัดสินใจไม่รอให้‘วลาดิมีร์’เป็นฝ่ายเข้าหา เธอจะอุ้มเขาไว้ในอ้อมกอด
ให้นั่งตักเวลาดูวีดีโอ หรือเวลาอ่านหนังสือให้เขาฟัง

ตอนแรก‘วลาดิมีร์’แข็งขืน แต่ไดอาน่าอดทน แล้วความห่างเหินก็มลายไปในเย็นวันหนึ่ง
ขณะที่ภรรยาผมนั่งอยู่ที่โซฟาข้าง ๆ ลูกชาย พร้อมกับใช้นิ้วลูบผมเขา

แทนที่จะเบือนหน้าหนีเหมือนเคย เขากลับหันมาพูดกับเธอว่า “แม่ครับ ตอนนี้ผมไม่ว่า
อะไรแล้วนะครับ ถ้าแม่จะทำแบบนี้” ไดอาน่าน้ำตาคลอพลางกอดเขาไว้ด้วยความปีติ

โปรดติดตามตอนที่ ( 8 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ย. 23, 2022 7:01 pm

บทเพลงของ’วลาดิมีร์’ (Vladimir’s Song) ตอนที่ ( 8 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดย Rick and Diana Stafford
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)‘วลาดิมีร์’ในฝันของเรา

ด้านร่างกายนั้น การดูแลสุขภาพประจำวันของลูกทำให้เราทั้งเหนื่อยและเครียด เขาช่วยตัวเอง
ไม่ได้เลย ผมกับไดอาน่าต้องอาบน้ำแต่งตัวให้ตลอดจนอุ้มขึ้นลงเก้าอี้รถเข็นและเข้าออกจากรถ

เรื่องหนึ่งที่เราไม่ประหลาดใจเลย คือลูกเราฉลาด “หัวไวมาก” ถึงปลายหน้าร้อน เขาพัฒนา
ภาษาอังกฤษจนพอจะเข้าเรียนชั้นประถมหนึ่งได้ แต่ยังต้องมีคนช่วยในด้านกายภาพ

‘วลาดิมีร์’ยอมรับสภาพความพิการอย่างเปิดเผยและไม่เห็นว่าเป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เช้า
วันหนึ่งขณะที่เขาอยู่ในชั้นเรียนศาสนาวันอาทิตย์ ผมหลบแอบสังเกตอยู่ข้างห้องและเห็นเขาออก
คำสั่งกับเด็ก ๆ ในห้องว่า “เอาละ ทุกคน ไปยืนข้างหลังผม” ชั่วอึดใจต่อมา ‘วลาดิมีร์’ก็ไถลตัวไปตาม
พื้นราวกับแมวน้ำ ขณะที่เด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ทำตาม และท้ายสุดเด็กอื่น ๆ ทั้งหมดก็เดินตามเป็นพรวน
เป็นภาพที่น่าทึ่งทีเดียว

‘วลาดิมีร์’ไม่ได้เก่งแค่ผูกมิตรเท่านั้น แต่ยังถนัดหาเพื่อนที่อยากเลียนแบบทำท่านอนเคลื่อนตัว
แบบเขาด้วย

ถึงลูกจะไม่อายในความพิการ แต่สิ่งสำคัญคือการเดินได้ เขียนหนังสือได้โดยไม่ต้องมีใครช่วย
รวมทั้งวิ่งเล่นนอกห้องกับเพื่อน ๆ ในช่วงพัก สรุปคือเขาอยากมีแขนขาปกติเหมือนเด็กอื่น ๆ

เรายังไม่รู้เลยว่า จะหาเงินมาช่วยเขาได้อย่างไร เมื่อรับเขามาอยู่ด้วยค่าใข้จ่ายเริ่มสูงขึ้น เท่านี้ผม
กับไดอาน่าก็ลำบากพอแล้ว แต่สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นอีกครั้งทันเวลาพอดี

หลังจากตีพิมพ์บทความลงในหนังสือพิมพ์ได้ราว 1 สัปดาห์ เราได้รับจดหมายวิเศษสุดจากประธาน
สมาชิกองค์กรภราดรภาพชไรเนอร์ เมืองซินซินเนติ ท่านเสนอจะเป็นผู้อุปถัมภ์‘วลาดิมีร์’ให้มีสิทธิ์
เข้ารับการรักษาที่หน่วยเล็กซิงตัน ในโรงพยาบาลเด็กชไรเนอร์ รัฐเคนทักกี้ (Kentucky) ซึ่งเชี่ยวชาญ
ด้านศัลยกรรมกระดูก

ผมหมดห่วงเรื่องเงินทันทีเมื่ออ่านจดหมายฉบับนั้น เพราะไม่ต้องจ่ายเงินเลยถ้าเด็กได้เข้ารับการรักษา
ที่โรงพยาบาลแห่งนี้

(#)การรักษาแบบรัสเซีย

ที่โรงพยาบาลชไรเนอร์ เจ้าหน้าที่เทคนิคเอกซเรย์ ‘วลาดิมีร์’ทั้งตัว เราทั้งสองอดหดหู่ไม่ได้
เมื่อเห็นฟิล์มแสดงภาพความผิดปกติของข้อต่อต่าง ๆ ในตัวลูกอย่างชัดเจน

ศัลยแพทย์กระดูกกล่าวขณะตรวจดูฟิลม์อย่างละเอียดว่า “ถ้าผ่าตัดข้อมือให้ตรงก็พอจะใช้มือได้”
ผมแทบจะเข้าไปกอดหมอทันทีที่ได้ยิน

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายให้ฟังว่า จะใช้อุปกรณ์ “อีลีซารอฟ” (Ilizarov) ยึดมือ‘วลาดิมีร์’ให้ตรง
เครื่องมือนี้พัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยแพทย์ชาวรัสเซียเพื่อใช้ในการรักษากระดูกหัก เราอดขำใน
ความบังเอิญไม่ได้ ลูกชายเราเดินทางมาไกลขนาดนี้เพื่อรับการรักษาด้วยเทคนิคที่มาจาก
บ้านเกิดของเขาเอง

โปรดติดตามตอนที่ ( 9 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ย. 23, 2022 7:04 pm

บทเพลงของ’วลาดิมีร์’ (Vladimir’s Song) ตอนที่ ( 9 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดย Rick and Diana Stafford
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)นาทีที่มืดมน

หมอผ่าตัดแขนขวาของ‘วลาดิมีร์’ในวันที่ 5 กรกฏาคมก่อนวันเกิดครบรอบ 9 ขวบ 1 วัน
หลังผ่าตัด 1 สัปดาห์ อาการของเขาฟื้นอย่างรวดเร็ว 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด เราพาลูกกลับไป
โรงพยาบาลฯ เพื่อเอาอุปกรณ์ออกและใส่เฝือกแทน เขาถามหมออย่างกระตือรือร้นว่า
“เมื่อไหร่หมอจะผ่าตัดแขนอีกข้างของผมครับ”

ความใจสู้ของลูกทำให้หมอตัดสินใจจะใส่อุปกรณ์ “อีลีซารอฟ”ที่แขนซ้ายในวันที่ถอดเฝือก
แขนขวา คือในอีก 4 สัปดาห์

เรากลับไปโรงพยาบาลฯ ในเดือนกันยายนเพื่อถอดเฝือกข้างแรก หมอเตือนว่า ‘วลาดิมีร์’
ต้องเข้ารับการฝึกกายภาพบำบัดเพื่อหัดใช้มือให้เป็นประโยชน์ที่สุด

หลายสัปดาห์ต่อมา หมอถอดเฝือกอีกข้าง ผลออกมาน่าพอใจเช่นกัน มือและนิ้วแข็งแรงและ
ยืดหยุ่นมากขึ้นทุกวัน หลังจากนั้น หมอจะใช้เทคนิคเดิมคือติดอุปกรณ์”อีลีซารอฟ”กับขาของเขา

เช้าวันกำหนดผ่าตัด หมอแจ้งว่า “เพื่อนร่วมงานหลายคนไม่คิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะมีข้อเสียคือ
ทำให้เท้าแคระแกร็นและข้อเท้ายึด ไม่ยืดหยุ่น

ทางออกคือ ต้องตัดเท้าทิ้งแล้วใส่ขาเทียมแทนซึ่งจะช่วยให้เขาเดินได้ดีกว่าเทคนิคแบบแรก

รุ่งขึ้น หมอเชิญเราไปห้องตรวจเพื่อดูตัวอย่างของคนไข้ที่ผ่านการผ่าตัดดังกล่าวมาแล้ว ผู้สาธิต
เป็นเด็กชายฝาแฝดอายุราว 6 ขวบเกิดมาไม่มีกระดูกบริเวณส่วนล่างของขาเลย

ฝาแฝดทั้งสองสาธิตวิธีใส่ขาเทียมให้เราและ‘วลาดิมีร์’ดู ก่อนจะวิ่งด้วยขาเทียมไปมาในโถงทางเดิน
นอกห้องประชุม แถมยังเตะลูกบอลให้ดูอีกด้วย
เราหารือกันเรื่องการผ่าตัดอีกหลายวัน ที่สุด‘วลาดิมีร์’ต่อรองว่า ถ้าได้รองเท้าคู่ใหม่โดยผ่าตัดเพียง
ครั้งเดียวก็จะยอม เราก็รับปากไปตามนั้น
การผ่าตัดซับซ้อนใช้เวลาเกือบ 12 ชั่วโมง เราพยายามไม่คิดถึงเรื่องนี้โดยเดินไปมาที่โถงทางเดินเป็น
ร้อยรอบ พูดคุยและสวดภาวนา ในที่สุดหมอก็ออกจากห้องผ่าตัดและแจ้งว่า การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี

ประมาณ 20.30 น. ผมเห็น‘วลาดิมีร์’ถูกเข็นออกมาในลักษณะนอนอยู่ในเตียงคนไข้ มีสายท่อและ
ลวดระโยงระยาง ลูกลืมตาขึ้น “สวัสดีครับพ่อ” เขาพูดแค่นั้น และนั่นก็คือสิ่งที่ผมอยากได้ยิน

โปรดติดตามตอนที่ ( 10 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 24, 2022 7:12 pm

บทเพลงของ’วลาดิมีร์’ (Vladimir’s Song) ตอนที่ ( 10 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดย Rick and Diana Stafford
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)ก้าวเดิน

คืนก่อนที่‘วลาดิมีร์’จะออกจากโรงพยาบาล ผมถามคำถามที่ผมพยายามเลี่ยงมาตลอด
สัปดาห์ว่า “ลูกรู้สึกอย่างไรกับการไม่มีเท้า”

“ไม่เป็นไรหรอกครับ” เขาตอบและเสริมว่า “ป่านนี้เท้าของผมคงไปรอผมอยู่บนสวรรค์แล้วครับ”

เมื่อกลับไปให้หมอตรวจอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ทำขาเทียมวัดเท้าเพื่อทำขาเทียม และนัดพบเรา
ในอีก 2 สัปดาห์เมื่อทำขาเทียมเสร็จ

‘วลาดิมีร์’รอขาเทียมด้วยความอดทน เขารู้สึกกลัวมากที่จะต้องลองเดินเป็นครั้งแรก อย่างไร
ก็ตาม เช้าวันหนึ่งก่อนไปทำงาน ผมหว่านล้อมให้ลูกยอมเดินไปที่โถงพร้อมกัน เขาแกว่งเท้าลง
จากเก้าอี้นวมยาวที่นั่งอยู่ และให้ผมพยุงใต้แขน ส่วนเขายึดที่ช่วยเดินเอาไว้

วินาทีที่ตั้งตัวตรงและทิ้งน้ำหนักลงปลายเท้า ‘วลาดิมีร์’ส่งเสียงร้องลั่นขอให้ปล่อยเขานั่งลง
แต่ผมรู้ว่า หากยอมทำตาม ผมก็คงจะต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะทำให้เขายืนขึ้นอีก
ผมจำใจต้องทำในสิ่งที่ฝืนใจที่สุดในชีวิต คือไม่ยอมให้ลูกนั่ง บอกเขาว่า
“ลูกเป็นเด็กกล้าหาญเด็ดเดี่ยว พ่อรู้ว่าลูกต้องทำได้ ลูกลองเดินสัก 2-3 ก้าวไปที่ห้องน้ำก่อนดีไหม”

เขาหายใจลึก ๆ “ก็ได้” ลูกหยุดร้องไห้แล้ว แต่ผมก็ยังรู้สึกได้ถึงร่างที่สั่นเทาของเขา

ก้าวแรกเขาก็น้ำตาไหลออกมาอีก เราเดินกันไปจนเกือบถึงห้องน้ำ พักชั่วครู่ก่อน
เดินต่อไปที่เก้าอี้นวมยาว รวมระยะเกือบ 10 เมตร เขาร้องไห้ไปตลอดทาง

ทุกวันหลังจากนั้น เราซ้อมเดินทั้งเช้าและเย็น ก่อนเดินเราจะสวดภาวนาขอให้พระเจ้า
ประทานกำลังกายและความกล้าให้‘วลาดิมีร์’

การฝึกเดินที่บ้านวันละ 2 ครั้งทำให้ความเจ็บปวดลดลงเป็นลำดับ ไม่นานลูกก็เดินจาก
เก้าอี้นวมยาวไปยังห้องน้ำได้เอง

เมื่อไปถึงโรงพยาบาลเพื่อลองใส่ขาเทียม ก็เหมือนกับต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ‘วลาดิมีร์’ตัวสั่น
ตั้งแต่ตอนที่เราเข็นเขาเข้าไปในห้องกายภาพบำบัด ขาเทียมเป็นแท่งพลาสติกกลวง ตรงปลาย
เป็นเท้ายางเทียมมีรองเท้าไนกี้สีดำขาวใหม่เอี่ยมสวมอยู่

เมื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างนุ่มนวลขณะใส่ขาเทียมให้เขาเสร็จเรียบร้อยก็พูดขึ้นว่า
“เอาเป็นว่า ถ้าเจ็บก็ร้องแล้วกัน จะได้รู้ว่าต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง”

“ครับ ผมจะพยายาม” ‘วลาดิมีร์’ตอบเสียงสั่น

เจ้าหน้าที่แตะไหล่ลูกชายเราพูดอย่างอ่อนโยนว่า “เอาล่ะ คราวนี้ลองลุกขึ้นยืน แล้วเดินสัก 2-3 ก้าวสิ”
จากนั้นเขาก็จับตัว‘วลาดิมีร์’ยืนขึ้น

เขาซุกหน้ากับไหล่ของเจ้าหน้าที่ขณะขยับตัวก้าวเดิน และทันใดนั้น เขาก็เงยหน้าขึ้นพูดว่า
“แม่ครับ พ่อครับ ขาผมไม่เจ็บเลย” ทุกคนยิ้มออกด้วยความโล่งอก

โปรดติดตามตอนที่ ( 11 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ย. 25, 2022 7:26 pm

บทเพลงของ’วลาดิมีร์’ (Vladimir’s Song) ตอนที่ ( 11 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดย Rick and Diana Stafford
ย่อและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)ชีวิตติดล้อ

2 สัปดาห์ต่อมา ‘วลาดิมีร์’ยืนได้ด้วยความมั่นใจ เขาใช้ที่ช่วยเดินค่อย ๆ ขยับไปข้างหน้าทีละคืบ
และบัดนี้เราทั้งสองก็ยอมรับความจริงแล้วว่า ลูกคงต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเก้าอี้รถเข็นเนื่อง
จากเข่าและศอกขยับเขยื้อนไม่ได้ ต้องมีคนช่วยหยิบดินสอใส่มือให้เมื่อต้องการเขียนหนังสือ
รวมทั้งหั่นอาหารให้และช่วยแต่งตัว

แม้จะมีข้อจำกัดมากมายเช่นนี้ ไดอาน่าและผมก็อดภูมิใจไม่ได้ สองปีที่‘วลาดิมีร์’อยู่กับเรา
เขาเผชิญความเจ็บปวดและความกลัวอย่างกล้าหาญ รางวัลยิ่งใหญ่ที่ได้รับคือเขาสามารถเดินได้แล้ว

ก่อนผ่าตัด ลูกพูดถึงการขี่จักรยานไม่หยุดปาก แต่ที่แน่ ๆ คือขาเขาไม่สามารถงอได้มากพอ
จะปั่นจักรยานได้ ผมจึงค้นหาข้อมูลจนพบว่า มีจักรยานที่ใช้มือปั่นได้ซึ่งต้องสั่งทำพิเศษและราคา
แพงมาก แต่เราจะไม่มอบของขวัญชิ้นสุดท้ายที่จะช่วยให้ลูกเคลื่อนไหวสะดวกขึ้นได้อย่างไร
และดังนั้น เราจึงกล้ำกลืนใช้บัตรเครดิตกู้เงินซื้อจักรยานคันนี้ให้เขา

เมื่อจักรยานที่สั่งส่งมาถึงบ้าน ‘วลาดิมีร์’ก็มีหมวกนิรภัยพร้อมแล้ว เหลือแต่ซ้อมอีกนิดหน่อยเขาก็
จะใช้มือขี่จักรยานได้ เรารู้สึกว่าคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่งเมื่อเห็นลูกยิ้มร่าขณะใช้มือปั่นจักรยานไปรอบสนาม
และเลยออกไปบนทางเท้า ในที่สุด‘วลาดิมีร์’ก็ได้รับสิ่งที่ใฝ่ฝันตลอดมา คือมีพ่อแม่ เดินได้ และขี่จักรยาน

**********************
จบบริบูรณ์

:s007: :s007:
ตอบกลับโพส