ประวัตินักบุญอย่างย่อ เดือนพฤศจิกายน (วันที่1-15)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 01, 2022 10:55 pm

วันที่ ๑ พฤศจิกายน
วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย
All Saints' day

การฉลองนักบุญทั้งหลายถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เกียรติแด่นักบุญทุกองค์ทั้งที่รู้จักและไม่เป็นที่
รู้จัก พระสันตะปาปาอูร์บัน ที่ ๔ ทรงกล่าวว่าการระลึกถึงในวันนี้เพื่อชดเชยต่อบรรดานักบุญที่
ขาดหายไปในระหว่างปี

ในยุคแรกของพระศาสนจักร ชาวคริสต์มีการชุมนุมกันในวันเสียชีวิตของมรณสักขีณ สถานที่ๆ
พวกท่านสิ้นใจ เมื่อถึงศตวรรษที่ ๔ สังฆมณฑลที่อยู่ใกล้เคียงเริ่มจัดชุมนุมพิธีรำลึกร่วมกัน
มีการแบ่งพระธาตุและฉลองวันสำคัญๆ พร้อมกัน ดังคำเชิญของนักบุญบาซิลแห่งเซซารียา
(ปี ๓๙๗) ที่มีไปยังบรรดาสังฆราชของแคว้นปอนตุส บ่อยครั้งกลุ่มมรณสักขีถูกสังหาร
ในวันเดียวกัน ซึ่งทำให้สามารถรำลึกถึงพวกท่านร่วมกันได้

ในการเบียดเบียนยุคจักรพรรดิ Diocletian จำนวนมรณสักขีมีมากจนกระทั่งกำหนดวันสำหรับ
แต่ละท่านไม่พอ ดังนั้น พระศาสนจักรจึงกำหนดให้มีวันๆ หนึ่งสำหรับระลึกถึงพวกท่านทุกคน

แรกเริ่ม มีเพียงแต่บรรดามรณสักขีและนักบุญยอห์น บัปติสต์เท่านั้นที่มีวันฉลองพิเศษ
ในปฏิทินพิธีกรรม ต่อมา นักบุญองค์อื่นๆ ได้ถูกเพิ่มเติม และมีจำนวนมากขึ้นเมื่อมีการกำหนด
ขั้นตอนสถาปนาการเป็นนักบุญ

พระสันตะปาปาเกรกอรี่ ที่ ๓ (ปี ๗๓๑-๗๔๑) อภิเษกวัดน้อยในอาสนวิหารนักบุญเปโตรถวายแด่
นักบุญทั้งหลาย และกำหนดวันฉลองให้เป็นวันที่ ๑ พฤศจิกายน

พระสันตะปาปาเกรกอรี ที่ ๔ (ปี ๘๒๗-๘๔๔) ประกาศให้การรำลึกนี้เป็นวันฉลองของ
พระศาสนจักรทั้งมวล มีพิธีตื่นเฝ้าที่จัดพร้อมกับการประกาศนี้

Cr :Sinapis

สมโภชนักบุญทั้งหลาย (1 พฤศจิกายน)

วันภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ (2 พฤศจิกายน)

เดือนระลึกถึงผู้ล่วงลับ (ตลอดเดือนพฤศจิกายน)


ชีวิตมนุษย์ยืนยาวเพียงแค่ต้นหญ้า ออกดอกงอกงามอยู่เพียงชั่วประเดี๋ยว แล้วก็เหี่ยวเฉา
ร่วงโรยสิ้นสุดไป เหมือนต้องลมก็ปลิวกระจายไป

ไฉน มนุษย์จึงคิดจะมีชีวิตยืนยาว คิดค้นหาอาหารและยาอายุวัฒนะ กะจะต่อชีวิตให้ยืดยาว
ไปอย่างหาที่สุดมิได้ แต่พันวันของมนุษย์ก็เท่ากับแค่หนึ่งวันของพระเจ้า

อันที่จริง พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ โดยเฉพาะจิตวิญญาณให้เป็นอมตะ นิรันดร มนุษย์จึงควรคิด
คำนึงถึงชีวิตทางด้านฝ่ายจิต มิใช่คิดถึงแต่ชีวิตทางฝ่ายกายนี้เท่านั้น

วันนี้เราระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีผู้คนมากมายเหลือคณานับที่ได้รับการต้อนรับเข้าไปใน
พระอาณาจักรของพระเจ้า พวกเขาคือพระศาสนจักรซึ่งได้รับชัยชนะแล้ว ซึ่งก็คือบรรดานักบุญ
ทั้งหลายนั่นเอง

จากหนังสือวิวรณ์ นักบุญยอห์นได้เห็นภาพนิมิต “ประชาชนมากมายเหลือคณานับจากทุกชาติ ทุกเผ่า
ทุกประเทศและทุกภาษา กำลังยืนอยู่เฉพาะพระบัลลังก์และเฉพาะพระพักตร์ลูกแกะ” นี่แสดงให้เห็นว่า
มีคนธรรมดาๆ มากมายที่อยู่ในโลกนี้ ที่อาจจะไม่มีใครสังเกต พวกเขาได้ทำความดี และได้ผ่านพ้น
จากการเบียดเบียนครั้งใหญ่ พวกเขาได้รับการชำระล้างด้วยพระโลหิตของพระชุมพา จากหนังสือ
พระวรสารโดยนักบุญมัทธิว (บทที่ 5 : 1-12) บรรดาผู้มีบุญ ก็คือบุคคลธรรมดาๆ ทั้งหลาย ผู้มีใจ
ยากจน ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ผู้มีใจอ่อนโยน ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ผู้มีใจเมตตา ผู้มีใจบริสุทธิ์
ผู้สร้างสันติให้เกิดขึ้น ผู้ที่ยอมถูกเบียดเบียน ดูหมิ่น ข่มเหง และใส่ร้ายต่างๆ นานา พวกที่ผ่านการเ
บียดเบียนและทุกขเวทนาเหล่านี้ ก็จะได้พระราชัยสวรรค์เป็นกรรมสิทธิ์ นี่แสดงให้เห็นว่า มีคนธรรมดาๆ
มากมาย ในโลกนี้ ในวัดของเรานี้ พวกเขาได้ถือตามคำสอนเรื่องบุญลาภ หรือ "ความสุขแท้จริง"
ของพระเยซูเจ้าอย่างดี และเมื่อตายไปก็ได้รับการต้อนรับในพระอาณาจักรของพระองค์

น่าสงสารคนที่พลาดไป คนที่ยังมีความขาดตกบกพร่อง คนที่ตายไปโดยที่ยังขาดความพร้อมของการ
กลับใจที่แท้จริง คนที่ยังมีโทษบาปหลงเหลืออยู่ให้ทำการใช้โทษ คนที่เมื่ออยู่บนตาชั่งเฉพาะพระพักตร์
พระเจ้าและพบว่ายังขาดไป เขาเหล่านั้นยังไม่ได้รับรางวัลทันที ต้องไปใช้โทษอยู่ในไฟชำระ พวกเขา
คือพระศาสนจักรที่กำลังทนทุกข์ กำลังได้รับการชำระให้ปราศจากบาปมลทิน จนกว่าจะถึงวันที่หลุดพ้น
จากไฟชำระขึ้นสวรรค์

พวกเราช่วยเขาเหล่านั้นได้ด้วยคำภาวนา โดยเฉพาะคำภาวนาในพิธีบูชามิสซา คำภาวนาและการทำ
พลีกรรมเป็นพิเศษให้ท่านเหล่านั้น เราเป็นพระศาสนจักรที่กำลังเดินทางแสวงบุญอยู่ในโลกนี้
เป็นสหพันธ์นักบุญเดียวกัน (หรือปัจจุบันใช้คำว่า "ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์")
พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกัน ภาวนาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เพื่อว่า สักวันหนึ่ง เราจะได้อยู่ร่วม
เป็นหนึ่งเดียวกันในพระอาณาจักรของพระบิดาของเราทั้งหลาย

อย่าลืมถวายคำภาวนาแด่พระเจ้าตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายนนี้เพื่อผู้ที่ล่วงลับไปในพระคริสตเจ้า

( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนเมื่อปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 2008)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 03, 2022 8:50 pm

วันที่ ๒ พฤศจิกายน
วันระลึกถึงบรรดาผู้ล่วงลับ
All Souls day

แนวคิดทางเทววิทยาที่อธิบายถึงวันระลึกนี้คือข้อความเชื่อที่ว่าวิญญาณทั้งหลายเมื่อออก
จากร่างกายแล้วยังไม่สะอาดสมบูรณ์เพราะมีบาปติดตัว หรือยังไม่ได้ชดใช้บาปในอดีตที่
กระทำมา ดังนั้นจึงยังไม่สามารถประสบพบความรุ่งเรืองงดงามของพระเจ้าได้ คริสตชน
ในโลกสามารถช่วยเหลือพวกผู้ล่วงลับได้ด้วยการสวดภาวนา การทำบุญให้ทาน และ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุทิศถวายในมิสซา

ยุคแรกๆ ของคริสตศาสนา มีการจดบันทึกรายชื่อคริสตชนที่เสียชีวิตไว้ ต่อมาภายหลัง
ในศตวรรษที่ ๖ อารามคณะเบเนดิกตินมีธรรมเนียมให้จัดวันระลึกถึงสมาชิกคณะที่ล่วงลับ
นักบุญ Odilo แห่ง Cluny มีคำสั่งให้จัดพิธีระลึกถึงผู้ล่วงลับเช่นนี้ขึ้นทุกปีในอารามทุกแห่ง
ของคณะ นับจากนั้น ธรรมเนียมนี้ก็
แพร่หลายออกไปสู่คณะคาร์ธูเซียนและคณะอื่นๆ

ต่อมาธรรมเนียมวันระลึกถึงผู้ตายได้เริ่มถือปฏิบัติในพระศาสนจักรท้องถิ่นของอิตาลี สเปน
โปรตุเกสและละตินอเมริกา พระสงฆ์จะทำมิสซา ๓ มิสซาในวันนี้

CR. : Sinapis

วันที่ 2 พฤศจิกายน
วันภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ
(The commemoration of all the faithful departed)

พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์

- สำหรับผู้ที่จะได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ เพื่ออุทิศให้บรรดาดวงวิญญาณ
ในไฟชำระ คือคริสตชนที่ปฏิบัติดังนี้

1) ไปเยี่ยมสุสานด้วยความตั้งใจในช่วงระหว่างวันที่ 1-8 พฤศจิกายน หรือ เพียงแต่
ภาวนาอย่างตั้งใจอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ

2) ในวันที่ 2 พฤศจิกายน (ซึ่งเป็นวันตรงที่เราระลึกถึงบรรดาผู้ล่วงลับ) ไปเยี่ยมวัดหรือ
วัดน้อย และสวดบทภาวนา 2 บท อุทิศให้กับบรรดาผู้ล่วงลับ คือ "บทข้าแต่พระบิดา" และ
"บทข้าพเจ้าเชื่อ"


พระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์

- สำหรับผู้ที่จะได้รับพระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์ เพื่ออุทิศให้บรรดาดวงวิญญาณ
ในไฟชำระ คือ คริสตชนที่ปฏิบัติดังนี้

1) ไปเยี่ยมสุสานด้วยความตั้งใจ หรือ เพียงสวดภาวนาอย่างตั้งใจให้กับผู้ล่วงลับ
(ไม่ระบุวัน วันไหนก็ได้ ถ้าตรงกับวันที่ 1-8 พฤศจิกายน ก็จะเป็นพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์)

2) สวดบททำวัตรเช้า หรือ ทำวัตรเย็น ของวันระลึกถึงผู้ล่วงลับ หรือภาวนาว่า
"โปรดประทานการพักผ่อนตลอดนิรันดรแก่........."

(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ แปลจากหนังสือ
Order for the Celebration of Mass and the Liturgy of the Hours, 2020-2021
ซึ่งนำมาจาก Manual of Indulgences, edition of 1999, concession 29)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 03, 2022 8:56 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓ พฤศจิกายน
นักบุญมาร์ติน เดอ พอร์เรส
St. Martin de Porres

"จากช่างตัดผมผิวสีสู่นักบุญ"

มาร์ติน เดอ พอร์เรส เกิดที่เมืองลิมา เปรู ในปี ๑๕๗๙ บิดาของท่านเป็นชาวสเปน
มารดาเป็นคนพื้นเมือง การเป็นลูกผสมทำให้ท่านมีฐานะต่ำในสังคม แต่บิดาดูแล
ท่านอย่างดีและให้ท่านฝึกอาชีพเพื่อเลี้ยงตัว

มาร์ตินเรียนเป็นช่างตัดผม ซึ่งในยุคนั้นจะต้องเรียนรู้เรื่องการเยียวยารักษาโรคไปด้วย
ท่านเป็นที่รู้จักว่ามีจิตใจเมตตาและเชี่ยวชาญในฝีมือตัดผม ท่านช่วยเหลือคนจำนวนมาก
รวมทั้งพวกสัตว์ด้วย ต่อมาท่านสมัครเป็นสมาชิกฆราวาสของคณะโดมินิกัน และได้ใช้ชีวิต
อยู่ที่อารามนักบวช แม้ท่านปรารถนาจะเป็นธรรมทูต แต่ก็ไม่ได้รับโอกาส

ชีวิตภาวนาของมาร์ตินเป็นไปอย่างเข้มข้น ท่านบำเพ็ญพรตและทำกิจพลีกรรมอย่างจริงจัง
บางครั้งร่างท่านลอยขึ้นขณะอยู่ในปีติศานต์หน้าพระแท่น ท่านได้รับการยกย่องว่ามีปรีชาญาณ
ผู้คนจำนวนมากมาขอคำแนะนำและขอให้ท่านช่วยสวดวิงวอนให้

ท่านเสียชีวิตปี ๑๖๓๙ แม้การสืบสวนเพื่อตั้งท่านเป็นนักบุญจะเริ่มต้นอย่างรวดเร็วหลังการตาย
แต่เกิดความล่าช้าอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ เรืออับปางและอื่นๆ กระทั่งในที่สุด
ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญในอีก ๓๐๐ ปีให้หลัง คือในปี ๑๙๖๒

Cr : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ย. 04, 2022 3:26 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๔ พฤศจิกายน
นักบุญชาร์ลส์ โบร์โรเมโอ
St. Charles Borromeo

ทุกยุคสมัยในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิกมีเรื่องสับสนวุ่นวายและความคดโกง
เสื่อมเสียกระนั้น ก็จะมีบุคคลหรือขบวนการหนึ่งก่อเกิดขึ้นมาเป็นตัวแทนความเชื่อที่ชัดเจน
และแสดงให้เห็นด้วยการกระทำ นักบุญชาร์ลส์โบร์โรเมโอ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในสังคายนา
เมืองเตรนท์เป็นตัวอย่างของความเป็นผู้นำในยุคที่พระศาสนจักรปั่นป่วนวุ่นวาย

ชาร์ลส์เกิดเมื่อปี ๑๕๓๘ ในตระกูลมั่งคั่ง บิดามารดาท่านเป็นผู้สูงศักดิ์แต่ท่านสนใจที่จะรับใช้
พระศาสนจักรอย่างจริงใจ ท่านขอร้องให้บิดาแจกจ่ายเงินทองส่วนใหญ่ของครอบครัวให้คนยากไร้

ชาร์ลส์ใช้ฐานันดรในสังคมของท่านเพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักร ท่านทำงานเป็นทนายความ
และนักกฎหมาย เมื่อท่านอายุ ๒๒ ปี ลุงของท่านก็ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๔ ท่าน
ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นทูตของพระสันตะปาปา และเป็นผู้ดูแลคณะนักบวชใหญ่ๆ ทั้งหลาย

ท่านพักผ่อนด้วยการอ่านวรรณกรรมและฟังดนตรี ไม่หลงใหลไปกับสิ่งเย้ายวนใจทั่วโรมของยุค
สมัยเรอเนซองส์ตอนปลาย ท่านถึงกับคิดอยากจะถือชีวิตเข้มงวดในอารามนักพรต แต่พระเป็นเจ้า
จะให้ท่านทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนจักรได้มากกว่า ซึ่งรวมถึงสิ่งที่ท่านจะกระทำ
ในการสังคายนาเมืองเตรนท์

สังคายนาสากลครั้งนี้เริ่มต้นปลายปี ๑๕๔๕ แต่ประสบความล่าช้าเพราะเหตุการณ์หลายอย่าง
ภารกิจ๒ ประการของสังคายนาครั้งนี้คือการกำหนดข้อคำสอนคาทอลิกเพื่อต่อสู้กับการปฏิเสธ
ต่อต้านของโปรเตสแตนท์ และการฟื้นฟูภายในพระศาสนจักรเนื่องด้วยปัญหาต่างๆ ที่หมักหมม
ยาวนาน ในฐานะตัวแทนของพระสันตะปาปา ชาร์ลส์เข้าร่วมการประชุมสรุปสังคายนาในปี ๑๕๖๓
ซึ่งขณะนั้นท่านอายุเพียง ๒๕ ปี ท่านยังมีบทบาทเป็นผู้นำคนสำคัญของการรวบรวมข้อสรุปของ
คำสอนโรมัน ที่เรียกกันว่าคำสอนแห่งสังคายนาเมืองเตรนท์

รางวัลที่ชาร์ลส์ได้รับคือภารกิจหนักหน่วงยิ่งขึ้นอีก ท่านได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ระหว่างการ
ประชุมสังคายนา และได้เป็นอัครสังฆราชและคาร์ดินัลเพียงอีกไม่กี่เดือนต่อมา ท่านพบว่า
สังฆมณฑลมิลานที่ท่านรับมอบหมายให้ดูแลอยู่ในสภาพเสื่อมทราม ไม่มีการบริหารหรือดูแลจาก
ผู้นำของสังฆมณฑลมาถึง ๒ ชั่วอายุคน พระสังฆราชชาร์ลส์ดำเนินการตั้งโรงเรียน บ้านเณร
และศูนย์กลางสำหรับชีวิตนักบวช

การปฏิรูปสังฆมณฑล ซึ่งสอดคล้องกับกฤษฎีกาของสังคายนาเกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
พวกฤษีกลุ่มหนึ่งที่เสียผลประโยชน์ถึงกับพยายามลอบสังหารท่าน การรอดชีวิตมาได้นั้นถูกเล่า
กันว่าเป็นเพราะอัศจรรย์จากพระเจ้า

ความพยายามของท่านในการสอนคำสอนและอบรมเยาวชนเกิดผลสำเร็จเป็นพิเศษ ทำให้มีการ
ก่อตั้งกลุ่มเพื่อคำสอนคริสตชน และได้เกิดชั้นเรียนคำสอนวันอาทิตย์เป็นครั้งแรก ท่านยังเอาใจใส่
อภิบาลพวกคาทอลิกชาวอังกฤษที่หนีเข้ามาอิตาลีเพราะกฎหมายต่อต้านความเชื่อคาทอลิกที่อังกฤษ
ในเวลา
นั้น

ความขยันเอาการเอางาน การเดินทางอยู่เสมอและการดำเนินชีวิตถือพรตเคร่งครัดส่งผลต่อสุขภาพ
ของท่าน ท่านเสียชีวิตในปี ๑๕๘๔ ด้วยอายุเพียง ๔๖ ปี และในอีก ๒๖ ปีต่อมาก็
ได้รับประกาศตั้งเป็นนักบุญในปี ๑๖๑๐

ท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของครูคำสอนและผู้เรียนคำสอน

CR. : Sinapis


4 พฤศจิกายน

ระลึกถึง นักบุญ ชาร์ลส์ โบโรเมโอ พระสังฆราช

( St Charles Borromeo, Bishop, memorial )

เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของท่านเคานต์ จิแบร์โต โบโรเมโอ (Count Giberto Borromeo) และ
มาร์เกริตา เด เมดิชี (Margherita de' Medici) ซึ่งเธอเป็นน้องสาวของพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 4
(Pope Pius IV) นักบุญชาร์ลส์ได้รับศีลขั้นโกน (tonsure) เมื่ออายุ 12 และจบการศึกษาปริญญาเอก
ทางด้านกฎหมายทั้งฝ่ายบ้านเมือง และฝ่ายศาสนจักรเมื่ออายุ 21 ปี ท่านถูกเรียกตัวไปที่กรุงโรม
โดยลุงของท่าน ซึ่งก็คือพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 4 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารรัฐของพระสันตะปาปา
ได้รับตำแหน่งคาร์ดินัล (Cardinal Deacon) และเป็นทูตของพระสันตะปาปา เมื่ออายุ 22 แม้ว่า
ยังคงเป็นแค่สังฆานุกร ก็ได้รับตำแหน่งให้เป็นผู้บริหารอัครสังฆมณฑลมิลาน และด้วยคำสั่งจาก
พระสันตะปาปาให้สภาสังคายนาแห่งเมืองเตรนท์ที่เคยถูกระงับไป ให้กลับมาประชุมกันใหม่
และนักบุญชาร์ลส์เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อสภาสังคายนานี้มาก เสมือนเป็นจิตวิญญาณของสภา
ครั้งนี้เลยทีเดียว ซึ่งมีการประกาศข้อคำสอนที่ทำให้เกิดความกระจ่างชัด และการปฏิรูปพระ
ศาสนจักรด้วย นักบุญชาร์ลส์ ซึ่งขณะนั้นบวชเป็นพระสงฆ์แล้ว ก็ได้รับการอภิเษกเป็นพระอัครสังฆราช
แห่งมิลาน แต่ยังต้องอยู่ที่กรุงโรมไปอีกระยะหนึ่งเพื่อทำการปรับปรุงเรื่องคำสอน เรื่องมิสซา
และบทสวดทำวัตร รวมไปถึงการปฏิรูปดนตรีศักดิ์สิทธิ์ และศูนย์บริหารงานของพระศาสนจักรที่กรุงโรม
(Roman Curia) เพื่อให้สอดคล้องกับกฤษฎีกาของสภาสังคายนา ต่อมาเมื่อท่านไปอยู่ที่มิลานท่านได้
จัดการบริหารอย่างเรียบง่ายที่สุด และประหยัดด้วย ได้ขายเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงของท่าน และเรือใบ
โบราณติดอาวุธออกไป ท่านจำกัดการรับประทานอาหารเหลือเพียงหนึ่งมื้อต่อวัน - ซึ่งมีเพียงขนมปัง
น้ำ และลูกมะเดื่อแห้ง และนอนวันละแค่ 4 ชั่วโมง "มันไม่มีความจำเป็นใดๆว่าฉันจะต้องอยู่ไปจน
เป็นพระสังฆราชแก่ๆ แต่จำเป็นที่ฉันจะต้องเป็นคนดีคนหนึ่ง" ท่านได้กล่าวไว้ในคราวหนึ่ง

นอกจากท่านจะเป็นรูปแบบของบุคคลที่ทรงอิทธิพลในการปฏิรูปพระศาสนจักรส่วนกลางแล้ว
งานที่ท่าน ได้ทำในสังฆมณฑลของท่านตลอดระยะเวลา 19 ปีที่เหลืออยู่ก็มีมากมายอย่างเหลือเชื่อ
ท่านได้ปฏิรูปบรรดาสมณะของท่าน 3,000 คน ก่อตั้งสามเณราลัย 6 แห่ง ก่อตั้งวิทยาลัยสำหรับ
ชาวสวิสในเมืองมิลาน
ก่อตั้งครูคำสอนฆราวาสจำนวนมากเพื่อช่วยเตรียมเด็กๆ สำหรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในหมู่บ้านที่อยู่
ใกล้เคียง ท่านได้สร้างวัดและอารามฤาษีใหม่ๆ ได้ช่วยพวกที่เชื่อเวทมนต์ คาถา และพวกเฮเรติ๊ก
จำนวนมากให้กลับใจ ได้เทศน์สอน และแจกศีลมหาสนิทเป็นเวลาหลายชั่วโมง ท่านเป็นแรง
บันดาลใจ ให้บรรดาสมณะ และฆราวาสที่ได้เห็นจากตัวอย่างการกระทำของท่านที่ไม่เคยรีรอ
หรือแม้แต่ท่านยอม นั่งบนถนนเพื่อสอนคนสูงวัย หรือบางทีสอนพวกเด็กๆ และเมื่อเกิดโรคระบาด
ที่มิลานเป็นเวลา 2 ปี
นักบุญชาร์ลส์ได้ทำพินัยกรรมอย่างสงบ เตรียมตัวเองรับความตาย และท่านไปเยี่ยมคนป่วยที่
โรงพยาบาล และตามบ้านเสมอๆ ในช่วงที่มีความอดอยาก ท่านก็จัดหาอาหารเลี้ยงคนจน
วันละ 3,000 คน แม้กระทั่งก่อให้เกิดหนี้กับท่าน เมื่อกองทุนของท่านเองก็หมดไป

นักบุญชาร์ลส์ โบโรเมโอ เกิดที่ ร็อกกา ดาโรนา (Rocca d' Arona) ใกล้ทะเลสาบมัจจอเร่
(Lago Maggiore) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1538 ท่านสิ้นชีพเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.1584
ที่มิลาน อายุ 46 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 5 (Pope Pius V)
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1610 ท่านได้รับความนับถือว่าเป็นองค์อุปถัมภ์ของครูคำสอน
และจะถูกวิงวอนขอให้ช่วยเมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น

(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ เขียนเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.2019
โอกาสวันระลึกถึงนักบุญชาร์ลส์ โบโรเมโอ
Based on : Saint Companions for Each Day
by : A.J.M Mausolfe
J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ พ.ย. 06, 2022 8:29 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๖ พฤศจิกายน
นักบุญฌอง เธโอฟาน เวนาร์ด
St. Jean-Théophane Vénard

ท่านเป็นมิสชันนารีชาวฝรั่งเศส ทำงานธรรมทูตที่เวียดนาม และเป็นมรณสักขี

ฌอง เธโอฟาน เป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักบุญเทเรซาแห่งลิซิเออร์ กล่าวกันว่าท่านเป็น
บุคคลที่ได้ดำเนินชีวิตตามภาพลักษณ์ความเป็นมรณสักขีและมิสชันนารีของนักบุญเทเรซา

ท่านเกิดในฝรั่งเศส หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์ในคณะธรรมทูตมิสซังต่างประเทศ ท่านก็ถูก
ส่งตัวไปทำงานที่เวียดนาม

ในสมัยนั้น เวียดนามอยู่ใต้การปกครองของจักรพรรดิมินห์หมาง มีการเบียดเบียนศาสนาคริสต์
พวกพระสงฆ์จึงต้องซ่อนตัวในป่าและใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำ พวกเขาจะแอบออกมาเวลากลางคืนเพื่อ
ทำมิสซาและฟังแก้บาป แต่มีบุคคลหนึ่งทรยศ ซึ่งทำให้ฌอง เธโอฟานถูกจับ ในระหว่างการไต่สวน
ท่านไม่ยอมปฏิเสธความเชื่อจึงถูกตัดสินให้รับความตาย ช่วงเวลาสองสามสัปดาห์สุดท้ายของชีวิต
ท่านถูกขังอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง

ในช่วงเวลานี้ท่านได้เขียนจดหมายหลายฉบับ บางฉบับเขียนถึงคนในครอบครัวของท่าน ข้อความ
ที่มีชื่อเสียงที่สุดมาจากจดหมายที่ท่านเขียนถึงบิดา "พวกเราเป็นดอกไม้ที่ถูกปลูกบนโลก พระเจ้า
จะเด็ดไปตามเวลาที่พระองค์เห็นควร บางครั้งเร็ว บางครั้งช้า คุณพ่อและผมจะพบกันในสวรรค์
ผมขอไปก่อน ลาก่อนครับ"

เมื่ออ่านจดหมายนี้นักบุญเทเรซาเข้าใจอย่างซาบซึ้งและใช้ภาพเปรียบเทียบดอกไม้น้อยสำหรับ
ตัวเธอเองว่าพระเจ้าทรงเอาใจใส่และดูแลรักษา แม้เธอจะเล็กน้อยไม่สำคัญเพียงใดก็ตาม

ฌอง เธโอฟาน ถูกตัดศีรษะในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๑๘๖๑ ศีรษะของท่านถูกขุดค้นภายหลังและ
เก็บรักษาเป็นพระธาตุในเวียดนาม ร่างกายส่วนอื่นถูกบรรจุในโลงที่บ้านของคณะของท่านในปารีส

Cr. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 08, 2022 8:18 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๗ พฤศจิกายน
นักบุญเปโตร อู๋
St. Peter Ou

เปโตร อู๋ เป็นหนึ่งในบรรดามรณสักขีของจีน ท่านเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้เป็นคริสตชน
ในปี ๑๗๖๘ ในวัยหนุ่ม ท่านรักความยุติธรรมและเป็นปากเสียงให้กับคนยากจนและ
คนถูกกดขี่ข่มเหงอยู่เสมอ

ท่านแต่งงานและเปิดโรงแรมขนาดใหญ่ เมื่อมิสชันนารีมาถึงดินแดนที่ท่านอยู่อาศัย
ท่านเป็นคนแรกๆ ที่กลับใจเป็นคริสตชน และได้รับชื่อเปโตรในการล้างบาป ท่านสอน
เรื่องคริสตศาสนาอย่างกระตือรือร้นให้กับทุกคนที่ผ่านไปมา ภายหลังท่านเป็นผู้นำฆราวาส
ของกลุ่มผู้กลับใจในตำบลนั้น ท่านยังเป็นครูสอนคำสอนด้วย

ปี ๑๘๑๔ ท่านถูกจับคุมขังและลงทัณฑ์ทรมาน แต่แม้ในสภาพเช่นนั้น ท่านยังให้กำลังใจ
เพื่อนนักโทษให้มีความเชื่อ ท่านนำการสวดภาวนาในห้องคุมขัง ที่สุด ท่านถูกตัดสินประหารชีวิต
เพราะไม่ยอมเหยียบไม้กางเขน

พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๒๐๐๐
Cr : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 08, 2022 8:21 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๘ พฤศจิกายน
บุญราศีเอลิซาเบธแห่งพระตรีเอกภาพ
Blessed Elizabeth of The Trinity

เอลิซาเบธ คาเธซ (Elizabeth Catez) เกิดที่เมือง Bourges ประเทศฝรั่งเศส ในปี ๑๘๘๐
บิดาของเธอซึ่งเป็นนายร้อยในกองทัพเสียชีวิตเมื่อเธออายุ ๗ ขวบ มารดาให้การอบรม
เลี้ยงดูเธอและมาร์กาเร็ต น้องสาว

เอลิซาเบธเป็นเด็กหญิงร่าเริงและเป็นนักเล่นเปียโนที่มีพรสวรรค์ แต่เธอก็เป็นคนหัวรั้น
และขึ้งโกรธได้นาน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอารมณ์ขึ้นลงรุนแรง เธอก็มีความรักต่อพระเจ้า
และสนใจชีวิตภาวนาและการพิศเพ่งรำพึงตั้งแต่วัยเยาว์ เธอเยี่ยมคนป่วยบ่อยๆ และสอน
คำสอนให้พวกเด็ก

เมื่ออายุ ๒๑ ปี เอลิซาเบธตัดสินใจเข้าคณะนักบวชคาร์เมไลท์ในปี ๑๙๐๑ แม้จะขัดกับความ
ปรารถนาของมารดาก็ตาม เธอก้าวหน้าอย่างยิ่งในชีวิตฝ่ายจิต แต่ก็ทุกข์ทรมานกับห้วงเวลา
ของความมืดหนักหน่วงจนทำให้พ่อวิญญาณสงสัยในกระแสเรียกของเธอ แต่เธอก็ผ่านปีนวกภาพ
และได้ถวายตัวตลอดชีพในปี ๑๙๐๓ เธอเสียชีวิตในอีก ๓ ปีต่อมาเมื่ออายุเพียง ๒๖ ปี
สาเหตุด้วยโรค Addison ในช่วงเวลาชีวิตนักบวชที่ไม่นานนักของเธอเธอได้เป็นผู้นำวิญญาณ
ให้กับหลายคน และได้ทิ้งมรดกอันมีคุณค่าเป็นจดหมายและข้อแนะนำการเข้าเงียบ

เธอเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของผู้สูญเสียบิดามารดา

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 10, 2022 11:15 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๙ พฤศจิกายน
นักบุญเบนอิงกัส แห่งคิลบันนอง
St. Benignus of Kilbannon

เบนอิงกัสเป็นลูกชายของ Sesenen หัวหน้ากลุ่มชนแถบ Meath ในไอร์แลนด์ นักบุญปาตริก
ได้โปรดศีลล้างบาปให้ท่าน ท่านเป็นศิษย์คนโปรดและผู้ร่วมงานคนสำคัญของนักบุญปาตริก

เบนอิงกัสติดตามอาจารย์ในการเดินทางทำงานธรรมทูตทุกหนแห่ง ท่านช่วยตั้งกลุ่มนักขับร้อง
ในแต่ละท้องที่ เหตุนี้จึงทำให้ท่านถูกเรียกว่า นักขับเพลงของปาตริก ท่านดึงดูดผู้คนจำนวนมาก
เข้าหาพระคริสต์ด้วยน้ำเสียงไพเราะเสนาะโสตของท่าน

ท่านช่วยดำเนินการรวบรวมกฎหมายของไอริช และมีบทบาทสำคัญในการประชุมสมัชชา
เพื่อออกระเบียบทางด้านศาสนา ซึ่งได้บันทึกไว้ในหนังสือ Armagh

ท่านลาเกษียณจากหน้าที่การงานในปี ๔๖๗ และสิ้นชีพปลายปีนั้นเอง

CR. : Sinapis


9 พฤศจิกายน

ฉลองวันครบรอบการถวายพระวิหารลาเตรัน

(The Dedication of the Lateran Basilica, feast.)

วันนี้เป็นวันฉลองการถวายพระวิหารของนักบุญยอห์น แห่งลาเตรันในกรุงโรม ซึ่งเป็นประดุจ
"มารดาและนายหญิงของวัดทั้งหลายในเมืองและในโลกนี้" เพราะว่าเป็นธรรมาสน์ขั้นสังฆราชา
ขององค์พระสันตะปาปา ในฐานะที่ทรงเป็นสังฆราชของกรุงโรม พระวิหารนี้จึงอยู่ในอันดับสูงกว่า
พระวิหารนักบุญเปโตร (วาติกัน)

พระนาง Fausta ซึ่งเป็นพระคู่ครองของจักรพรรดิคอนสแตนตินผู้ยิ่งใหญ่ ได้ทรงมอบวังลาเตรัน
ของพระนางถวายแด่นักบุญ Miltiades, พระสันตะปาปา ราวปี ค.ศ. 313
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.324 นักบุญซิลเวสเตอร์ที่ 1 พระสันตะปาปา ได้ทำการเสกอย่าง
สง่าในภาคส่วนที่เป็นบาสิลิกาขององค์พระผู้ไถ่ผู้ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด
(ชื่อเดิม = the Basilica of the Most Holy Saviour) - เป็นการเสกวัดต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก
ของพระศาสนจักร พิธีทั้งหมดอาจจะเป็นแบบเรียบๆง่ายๆในเวลานั้น แต่ต่อมาที่มีการเสกวัดอย่าง
สง่าที่เต็มไปด้วยรายละเอียดทางพิธีกรรมจนถึงปัจจุบันนี้ มีหลักฐานเป็นที่รับรู้ว่าได้ใช้มาตั้งแต่
สมัยศตวรรษที่ 9 ในส่วนของวังลาเตรันที่เหลือ(ที่ไม่ได้เป็นเขตพระวิหาร) ก็เป็นวังที่ประทับของ
บรรดาพระสันตะปาปามากกว่า 1,000 ปีนับแต่นั้นมา และปัจจุบันก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์

ในช่วงศตวรรษที่ 4-16 มีการประชุมสภาสังคายนา 5 ครั้ง ประชุมซีโน้ด 20 ครั้ง ที่จัดขึ้นในบาสิลิกา
หลังนี้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นพระวิหารนักบุญยอห์น แห่งลาเตรัน เพื่อเทิดเกียรติแด่
นักบุญยอห์น บัปติสต์ และนักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร ที่จริงแล้ว ลาเตรันได้เป็นเหมือนโลกของ
คาทอลิกในอดีต ดุจดังที่วาติกันกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ คือเป็นที่ตั้งธรรมาสน์ของการตัดสิน และ
เป็นศูนย์กลางการปกครองของพระศาสนจักร

โครงสร้างของพระวิหารหลังเดิมและต่อๆมาเสียหายไปหมด เพราะสงคราม เพราะแผ่นดินไหว และ
เพราะเปลวไฟ หลังที่เป็นบาโรค(Baroque) ทั้งหมดที่ทำขึ้นมาใหม่รวมทั้งการตกแต่งดังที่เราเห็น
ในปัจจุบันนี้ดำเนินการโดย ฟรานเชสโก บาร์โรมินี (Francesco Barromini)
ในสมณสมัยพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 (Pope Innocent X) ในปี ค.ศ. 1646 ซึ่งถือเป็นหนึ่ง
ในพระวิหารที่สง่างามมากที่สุดของกรุงโรม โดยมีหอคอยด้านหน้าอาคารใหญ่ ที่สร้าง
โดย อเล็กซานเดอร์ กาลิเลอี (Alexander Galilei) ในปี ค.ศ. 1735 ประดับด้วยรูปปั้นใหญ่มหึมา 15 รูป
ซึ่งมีพระรูปพระคริสต์อยู่ตรงกลาง ขนาบสองข้างด้วยรูปนักบุญยอห์น บัปติสต์ และนักบุญยอห์น
ผู้นิพนธ์พระวรสาร และนักปราชญ์ของพระศาสนจักรอีก 12 องค์ ในบรรดาพระธาตุสำคัญๆ ที่เก็บรักษา
ไว้ในสักการสถานยิ่งใหญ่ของคริสตชนแห่งนี้ ได้รับการบอกกล่าวกันมาว่ามีส่วนศีรษะของนักบุญเปโตร
และนักบุญเปาโล ซึ่งบรรจุไว้ภายในกล่องเงินแท้ อยู่ภายใต้พระแท่นถวายบูชาตรงกลาง ยังมีเศษของ
โต๊ะไม้เล็กๆ ที่นักบุญเปโตรได้เคยถวายบูชามิสซาในบ้านของ Pudens และพระธาตุไม้จากโต๊ะที่ใช้
ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายขององค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ด้วย

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

:s012:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 10, 2022 11:22 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน
นักบุญพระสันตะปาปาเลโอผู้ยิ่งใหญ่
Pope St. Leo the Great

พระสันตะปาปาเลโอ ที่ ๑ แห่งศตวรรษที่ ๕ เป็นที่รู้จักในสมัญญานักบุญเลโอผู้ยิ่งใหญ่ ท่านจัด
ประชุมสังคายนาที่ช่วยปกป้องการเผยแพร่คำสอนที่ผิดๆ ในเรื่องสภาวะพระเจ้าและธรรมชาติ
มนุษย์ของพระคริสต์

ท่านยังป้องกันพระศาสนจักรตะวันตกให้ปลอดภัยด้วยการโน้มน้าวให้อัตติลา หัวหน้าชนเผ่าฮั่น
ถอยกลับไม่รุกรานโรม

ต้นกำเนิดของท่านไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่กล่าวกันว่าท่านสืบเชื้อสายจากตระกูล Tuscany
ท่านเป็นสังฆานุกรที่โรมประมาณปี ๔๓๐ ในสมณสมัยของพระสันตะปาปาเซเลสติน ที่ 1

ในช่วงเวลานี้อำนาจศูนย์กลางเริ่มเสื่อมถอยจากจักรวรรดิโรมันตะวันตก ท่านได้รับบัญชาจาก
จักรพรรดิวาเลนติเนียน ที่ ๓ ให้ไปยังแคว้น Gaul และระงับข้อพิพาทระหว่างกองทัพกับเจ้าหน้าที่
บ้านเมือง

เมื่อพระสันตะปาปาซิสตุส ที่ ๓ สิ้นพระชนม์ในปี ๔๔๐ ท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา
ท่านทำหน้าที่นานกว่า ๒๐ ปี พยายามรักษาเอกภาพของพระศาสนจักรในเรื่องข้อความเชื่อและ
ความปลอดภัยต่อการรุกรานของพวกบาร์บาเรียน

สันตะปาปาเลโอบังคับใช้อำนาจของพระองค์ทั้งในทางข้อความเชื่อและการปกครอง เพื่อควบคุม
พวกเฮเรติกที่สร้างปัญหาให้กับศาสนจักรตะวันตกในเวลานั้น ซึ่งได้แก่กลุ่ม Pelagiznism ซึ่งปฏิเสธ
เรื่องบาปกำเนิด กลุ่ม Manichaeanism และกลุ่ม Gnosticism ที่ถือว่าโลกวัตถุชั่วร้าย ในช่วงเวลา
เดียวกัน ชาวคริสต์ทางตะวันออกก็เริ่มถกเถียงกันถึงความเป็นมนุษย์และพระเจ้าของพระเยซู

ท่านเข้าเกี่ยวข้องกับการโต้เถียงนี้ซึ่งกำลังจะส่งผลถึงการแตกแยกระหว่างศาสนจักรที่เมือง
อเล็กซานเดรียและคอนสแตนติโนเปิล แล้วที่สุดก็เป็นจริง เกิดการแยกกันระหว่างศาสนจักร
ออร์โธด็อกซ์ตะวันออกและศาสนจักรที่เรียกว่า non-Chalcedonian มาจนปัจจุบัน

ความขัดแย้งทางความคิดเห็นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ยังดำเนินต่อไป สันตะปาปาเลโอจึงเรียกประชุม
สังคายนาเพื่อหาข้อตกลง สังคายนา Chalcedon ในปี ๔๕๑ ได้กำหนดเรื่องอำนาจคำสอนของ
พระสันตะปาปา ซึ่งบรรดาสังฆราชแห่งนิกายตะวันออกก็ให้การยอมรับ พวกเขากล่าวว่า
"เปโตรพูดผ่านปากของเลโอ"

คำสอนของสันตะปาปาเลโอยืนยันถึงความเป็นพระเจ้าแต่นิรันดร์ของพระคริสต์ และธรรมชาติที่
ไม่ได้รับหรือปฏิเสธต่อธรรมชาติมนุษย์ที่พระองค์ได้รับในการเข้าสู่กาลเวลาเมื่อบังเกิดเป็นมนุษย์

"ดังนั้น โดยมิได้ทอดทิ้งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาของพระองค์ พระบุตรพระเจ้าได้ลงมาจากบัลลังก์
สวรรค์และเข้าสู่โลกของเรา" ท่านสอน "ขณะที่ยังคงสภาวะก่อนการดำรงอยู่ของสิ่งทั้งปวง พระองค์ก็
ทรงเริ่มการดำรงอยู่ในกาลเวลา เจ้านายของจักรวาลผู้ยิ่งใหญ่สุดหยั่งถึงทรงรับเอาสภาพทาส พระเจ้า
ผู้ไม่รู้จักความทุกข์ทรมาน ไม่ทรงรังเกียจจะมาบังเกิดเป็นมนุษย์ผู้ทุกข์ทน และพระองค์ผู้ไม่ตายก็
ยอมรับกฎของความตาย"

ปี ๔๕๒ หนึ่งปีหลังสังคายนา Chalcedon สันตะปาปาเลโอเป็นผู้นำการเจรจากับกษัตริย์อัตติลา
เพื่อป้องกันการบุกโรม เมื่อผู้นำทัพพวก Vandal ชื่อ Genseric ยึดครองโรมในปี ๔๕๕ ท่านก็เผชิญหน้า
กับเขาโดยปราศจากอาวุธและได้รับการรับประกันว่าชาวเมืองและวัดวาอารามต่างๆ จะปลอดภัย

สันตะปาปาเลโอผู้ยิ่งใหญ่สิ้นพระชนม์วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ปี ๔๖๑ พระองค์ได้รับประกาศตั้งเป็น
นักปราชญ์ของพระศาสนจักรโดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ ๑๔ ในปี ๑๗๕๔ งานเขียนและ
บทเทศน์ของท่านตกทอดมาถึงคนในยุคเราจำนวนมาก

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ย. 11, 2022 12:51 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน
นักบุญมาร์ตินแห่งตูรส์
St. Martin of Tours xz

มาร์ตินเกิดเมื่อปี ๓๑๖ ในดินแดนที่เป็นประเทศฮังการีทุกวันนี้ครอบครัวของเขาต้องย้ายไป
อิตาลีเพราะบิดาซึ่งเป็นทหารในกองทัพโรมันได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่นั่น พ่อแม่ของ
มาร์ตินเป็นคนนอกศาสนา แต่เขาสนใจความเชื่อคาทอลิกซึ่งได้รับการประกาศรับรองแล้ว
จากจักรพรรดิในปี ๓๑๓ เขาได้รับการอบรมด้านศาสนาเมื่ออายุ ๑๐ ขวบ และสนใจอยาก
เป็นฤษีในทะเลทราย

แต่สภาพแวดล้อมบังคับให้มาร์ตินต้องเข้าร่วมกองทัพโรมันตั้งแต่อายุ ๑๕ ปีเขาใช้ชีวิต
เคร่งครัดตามระเบียบวินัยของกองทัพ เงินเดือนที่ได้รับเขาแจกจ่ายให้คนยากจน นิสัยเอื้อเฟื้อ
เผื่อแผ่ของเขานำไปสู่เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิต เขาพบชายคนหนึ่งกำลังนอนตัวสั่นเทาเพราะ
ปราศจากเสื้อผ้าอบอุ่นที่ประตูเมือง Amiens ใน Gaulเพื่อนทหารต่างผ่านเลยไป แต่มาร์ตินชะงัก
เขาตัดแบ่งเสื้อคลุมของเขาเป็นสองส่วนด้วยดาบ และมอบครึ่งหนึ่งของเสื้อคลุมแก่ขอทานผู้ใกล้
จะหนาวตาย คืนนั้น เขาเห็นพระคริสต์ในความฝัน พระองค์สวมเสื้อคลุมครึ่งส่วนที่เขาตัดแบ่งให้
ผู้ยากไร้คนนั้น พระเยซูตรัสแก่เขาว่า "มาร์ตินได้ห่มคลุมเราด้วยอาภรณ์ของเขา"

มาร์ตินรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่เขาจะเข้าสู่พระศาสนจักร เขาจึงรับศีลล้างบาป เขายังทำงานในกองทัพ
อีก 2 ปีแต่มีความปรารถนาตลอดเวลาที่จะอุทิศชีวิตแด่พระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมยิ่งกว่าอาชีพทหาร
อย่างไรก็ตามเมื่อเขาขอลาออกจากกองทัพ ซึ่งขณะนั้นกำลังรบสู้กับพวกเยอรมัน เขาก็ถูกกล่าวหา
ว่าขลาดกลัวมาร์ตินให้คำตอบด้วยการเสนอจะออกไปเผชิญหน้ากองกำลังศัตรูโดยปราศจากอาวุธ
"ในพระนามของพระเยซู และไร้ซึ่งเกราะหรือโล่ห์แต่ด้วยเครื่องหมายกางเขน ข้าฯ จะเดินเข้าสู่แถว
นักรบหนาแน่นที่สุดของศัตรูโดยไม่หวาดหวั่น" แต่การแสดงความเชื่อของเขายังไม่จำเป็นเพราะ
พวกเยอรมันได้ขอสงบศึก มาร์ตินถูกปลดประจำการตามที่เขาต้องการ

หลังจากดำเนินชีวิตคาทอลิกช่วงเวลาหนึ่ง มาร์ตินก็เดินทางไปพบสังฆราชฮิลารีแห่ง Poitiers
ซึ่งเป็นนักเทววิทยาที่มีชื่อเสียง และภายหลังได้รับประกาศเป็นนักบุญด้วย สังฆราชฮิลารีประทับใจ
ในการอุทิศตนต่อความเชื่อของมาร์ตินและเชื้อเชิญเขาไปที่สังฆมณฑลของท่าน มาร์ตินขอเดินทาง
ไปเยี่ยมบิดามารดาที่ฮังการีก่อน ที่นั่น เขาได้โน้มน้าวมารดาให้รับศีลล้างบาปเป็นคาทอลิก...

อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันนั้น สังฆราชฮิลารีได้ก่อความโกรธแค้นให้กับพวก Arians ซึ่งเป็นกลุ่ม
ปฏิเสธว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า ส่งผลให้ท่านถูกขับไล่ ดังนั้นมาร์ตินไม่สามารถเข้าสังฆมณฑลของ
ท่านสังฆราชดังตั้งใจได้ เขาจึงหาสถานที่ดำเนินชีวิตบำเพ็ญพรตอย่างเข้มงวดจนเกือบเสียชีวิต
ที่สุดทั้งสองคนได้พบกันในปี ๓๖๐ เมื่อสังฆราชฮิลารีสามารถกลับคืนสู่สังฆมณฑล Poitiers ของ
ท่านสังฆราชฮิลารีอนุญาตให้มาร์ตินตั้งอารามนักพรตแห่งแรกในอาณาจักร Gaul ในช่วงเวลาสิบปี
แห่งชีวิตฤษีมาร์ตินมีชื่อเสียงจากการเรียกผู้ตายสองคนให้กลับคืนชีพโดยคำภาวนาของเขา
ประจักษ์พยานความศักดิ์สิทธิ์นี้ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสังฆราชคนที่ ๓ แห่งตูรส์ซึ่งอยู่ตอน
กลางของฝรั่งเศสในปัจจุบัน

แต่มาร์ตินไม่อยากเป็นสังฆราช บรรดาผู้ต้องการให้ท่านเป็นผู้นำศาสนจักรท้องถิ่นถึงกับต้องใช้กลวิธี
หลอกล่อท่านออกจากอาราม เมื่อรับตำแหน่ง มาร์ตินยังคงดำเนินชีวิตเยี่ยงฤษี ท่านสวมใส่ชุดธรรมดา
และไม่ครอบครองทรัพย์สมบัติ ท่านเดินทางไปทั่วสังฆมณฑล ซึ่งท่านกล่าวว่าเพื่อขับไล่การถือปฏิบัติผิดๆ
ของคนต่างศาสนา

เมื่ออายุมากขึ้น มาร์ตินยังดำเนินชีวิตเคร่งครัด ท่านใส่ใจกับการดูแลวิญญาณของสัตบุรุษ
นักบุญซัลพิซิอุส เซเวรุส (Sulpicius Severus) ศิษย์และผู้เขียนประวัติชีวิตของมาร์ติน เล่าว่าท่านช่วยเ
หลือทุกคนที่มีปัญหา ไม่ว่าจะด้านศีลธรรม สติปัญญา และชีวิตฝ่ายจิต ท่านยังช่วยฆราวาสจำนวนมาก
เข้าสู่กระแสเรียกชีวิตนักบวช

มาร์ตินรู้ล่วงหน้าถึงการตายของตนและบอกพวกศิษย์ แต่เมื่อการเจ็บป่วยสุดท้ายมาถึงระหว่างเดินทาง
ทำงานอภิบาล ท่านก็ไม่แน่ใจที่จะต้องทอดทิ้งพวกเขา ท่านสวดภาวนาว่า "พระเจ้าข้าถ้าหากข้าพเจ้า
ยังเป็นที่ต้องการสำหรับประชากรของพระองค์ ข้าพเจ้าไม่ขอปฏิเสธภารกิจขอให้พระประสงค์
ของพระองค์จงสำเร็จไป"

มาร์ตินมีไข้แต่ไม่หลับพักผ่อน ท่านใช้เวลาเจ็ดคืนสุดท้ายของชีวิตด้วยการสวดภาวนาในการประทับ
อยู่ของพระเจ้า

"พี่น้องของข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้มองสู่สรวงสวรรค์ยิ่งกว่าโลกนี้ เพื่อวิญญาณของข้าพเจ้าจะ
โบยบินถึงพระเจ้า" ท่านบอกกับบรรดาศิษย์ก่อนจะเสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายนปี ๓๙๗

นักบุญมาร์ตินแห่งตูรส์เป็นนักบุญผู้เป็นที่รักยิ่งคนหนึ่งในประวัติศาสตร์พระศาสนจักรยุโรป

CR. : Sinapis


วันที่ 11 พฤศจิกายน

ระลึกถึงนักบุญ มาร์ติน แห่งตูร์ พระสังฆราช

( St Martin of Tours, Bishop, memorial )

นักบุญมาร์ตินเกิดในราวปี ค.ศ. 316 คุณพ่อของท่านเป็นคนต่างศาสนา และเป็นทหารดูแล
ฝูงชน แต่ขณะนั้นประจำการอยู่ที่ Pannonia (คือประเทศฮังการีในปัจจุบัน) ท่านนักบุญจึง
เกิดที่นั่น ต่อมาคุณพ่อของท่านถูกย้ายไปที่เมือง Pavia อยู่ในแคว้น Lombardy
(ทางเหนือของประเทศอิตาลี)
ที่นี่เองเมื่ออายุ 15 ปี ท่านนักบุญได้รับการคัดเลือกอยู่ในกองทหารม้าของจักรวรรดิ
ประจำการที่ Amiens (Gaul, ฝรั่งเศส)

วันหนึ่งท่านขี่ม้าผ่านขอทานที่กำลังสั่นเพราะความหนาวเย็น เนื่องจากเขาเกือบจะไม่มีเสื้อผ้า
สวมใส่ ด้วยความสงสาร ท่านได้ตัดเสื้อคลุมของท่านเป็นสองส่วน และยื่นให้ขอทานที่ยากจน
คนนั้นหนึ่งส่วน
ต่อมาในคืนวันนั้นเอง พระคริสต์ได้ทรงปรากฏองค์กับท่านโดยทรงสวมเสื้อคลุมนั้น
เสื้อคลุมครึ่งตัว ที่เหลืออยู่นั้นถูกเก็บรักษาไว้เป็นเวลายาวนานในวัดน้อยของ Frankish Kings
รู้จักกันในชื่อว่า "เสื้อคลุมของนักบุญมาร์ติน" (St Martin 's Cloak)] หลังจากเกิดเหตุการณ์
ครั้งนี้ไม่นานนัก มาร์ตินก็ได้รับศีลล้างบาป และทันทีที่ไม่ต้องเป็นทหารม้ารับใช้แล้ว ท่านก็เข้า
ไปเป็นศิษย์ของนักบุญฮีลารี พระสังฆราช (St Hilary of Poitiers)

ในขณะที่ท่านกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่เมือง Pavia ก็ได้ทำให้แม่กลับใจ แม้ว่าพ่อของท่านยังคง
เป็นคนต่างศาสนาอยู่ ในช่วงเวลานั้น พวกถือนอกรีต Arians ประสบความสำเร็จในการขับไล่
อาจารย์ของท่าน คือนักบุญฮีลารีให้ออกนอกแผ่นดินโกล (Gaul) ท่านจึงไปดำเนินชีวิตแบบฤาษี
ที่เกาะแห่งหนึ่งที่อยู่ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ในปี ค.ศ. 361 ท่านพร้อมกับนักบุญฮีลารีได้ถูกเรียกโดยคำสั่งให้กลับไปเมือง Poitiers อีกครั้งหนึ่ง
ท่านได้สร้างอารามฤาษีขึ้นมามีชื่อดั้งเดิมว่า "อารามฤาษีของนักบุญมาร์ติน แห่ง Ligugé" ทีละเล็ก
ทีละน้อยก็ค่อยๆมีผู้ติดตามมาเป็นฤาษีเหมือนกับท่าน พวกฤาษีในสมัยแรกเริ่มดำเนินชีวิตตามวินัย
ของพวกปิตาจารย์ที่อาศัยอยู่บริเวณทะเลทรายของประเทศอียิปต์ แต่ละคนจะอยู่ในกระท่อมเล็กๆ
ของตน ที่นี่นักบุญมาร์ตินจะยอมออกจากห้องเล็กๆในอารามเป็นระยะๆ เพื่อเดินทางไปแพร่ธรรม
ทั่วภาคกลาง และด้านตะวันตกของโกล ซึ่งชาวพื้นเมืองเหล่านั้นจำนวนมากยังคงนับถือพระเท็จเทียม
อารามฤาษีแห่งนี้ ถือเป็นอารามฤาษีแห่งแรกบนแผ่นดินโกล (ในกาลเวลาต่อมาอารามแห่งนี้มีการ
เปลี่ยนแปลงมากมาย จนในที่สุดอยู่ในความดูแลของคณะเบเนดิกติน ถือเป็นอารามฤาษีเบเนดิกติน
ที่มีชื่อเสียงแห่งเมือง Ligugé)

วันหนึ่งในปี ค.ศ. 371 ท่านได้ถูกเรียกให้เข้าไปในเมืองตูร์ (Tours) ในฝรั่งเศส และได้รับคะแนน
เสียงอย่างท่วมท้นบังคับให้ท่านต้องรับตำแหน่งเป็นบิชอปองค์ใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างเปล่าอยู่
โดยที่ท่านไม่ค่อยเต็มใจมากนัก การบริหารสังฆมณฑลของนักบุญมาร์ตินกระทำด้วยความหนักแน่น
และยุติธรรม และด้วยความร้อนรนใหญ่หลวงที่จะชำระความเชื่อให้ถ่องแท้เพื่อต่อสู้กับพวกนอกรีต
2 พวก คือ Priscillianist และ Arian ท่านดำรงชีวิตเรียบง่าย สุภาพถ่อมตน และทำพลีกรรม
อย่างไรก็ดี เพื่อหลีกให้พ้นจากความหลงใหลของตัวเมือง ท่านได้สร้างห้องเล็กๆ อยู่ในชนบทใกล้ๆ
ซึ่งต่อมาไม่นานมีฤาษีอื่นๆ ตามมาอยู่ด้วย ต่อมาที่แห่งนี้กลายเป็นอารามของ Marmoutier
ที่ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

นักบุญมาร์ติน แห่งตูร์ สิ้นชีพเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 397 ท่านได้เป็นนักบุญองค์แรกของ
พระศาสนจักรตะวันตกที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวางแม้ไม่ได้เป็นมรณสักขี โดยเฉพาะ
ในยุคกลางท่านมีชื่อเสียงมาก จะเห็นได้จากการที่มีการสร้างวัดขึ้นมากมายโดยใช้ชื่อของท่าน
เป็นผู้อุปถัมภ์ และชื่อเมืองก็นำมาจากชื่อของท่าน

(ถอดความโดย : คุณพ่อวิชา หิรัญญการ
Based on : Saint Companions For Each Day ; by : A.J.M. Mausolfe, J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ พ.ย. 12, 2022 8:46 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน
นักบุญเกอทรูด ผู้ยิ่งใหญ่
St. Gertrude the Great

เกอทรูดเป็นซิสเตอร์ของอารามชีลับในยุคกลาง เธอเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตภายใน
ตามแนวทางคณะเบเนดิกติน ชื่อจริงของเธอคือเกรทรูดแห่งเฮล์ฟตา (Helfta) แต่เป็นรู้จักกัน
ในนามเกอทรูดผู้ยิ่งใหญ่ เธอมีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู

เกอทรูดเกิดเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๑๒๕๖ เธอถูกส่งเข้าอารามนักพรตหญิงที่เฮล์ฟตาตั้งแต่
อายุ ๕ ขวบเพื่อรับการศึกษาและอบรมด้านศาสนา อารามที่มีชื่อเสียงแห่งนี้อยู่ภายใต้การ
ปกครองของคุณแม่อธิการิณีผู้ได้รับการยกย่องในด้านชีวิตภายในและสติปัญญาคือ
คุณแม่เกอทรูดแห่งแฮคกีบอร์น (Gertrude of Hackeborn)

เกอทรูดเป็นนักเรียนที่กระหายหาความรู้ เธอมีผลการศึกษาเป็นเลิศในด้านศิลปศาสตร์และ
วิทยาศาสตร์ของยุคสมัย แต่พร้อมกันนั้น เธอก็ดำเนินชีวิตตามวินัยเคร่งครัดของนักบุญเบเนดิกต์

อย่างไรก็ตาม เธอเล่าว่ามีบางอย่างที่ขาดหายไปในความศรัทธาส่วนตัวของเธอ ซึ่งทำให้เธอ
ทุกข์ทรมาน นั่นคือเธอสนใจต่อความรู้ทางสติปัญญาและวัฒนธรรมทางโลกเกินไป

ความเปลี่ยนแปลงมาถึงเกอทรูดในปลายปี ๑๒๘๐ เธอมีอายุ ๒๔ ปีและโดดเด่นเป็นเลิศใน
ความรู้หลายสาขา แต่กลับพบว่าความสำเร็จเหล่านี้ไร้ความหมายเมื่อเธอไตร่ตรองถึงจุดประสงค์
และความหมายแท้จริงของกระแสเรียกชีวิตในอารามนักพรตของเธอ เกอทรูดซึ่งกระวนกระวาย
และซึมเศร้ารู้สึกว่าเธอได้สร้าง "หอแห่งความฟุ้งเฟ้อว่างเปล่า" แทนที่จะแสวงหาความรักของพระเจ้า
เหนือสิ่งอื่นใด และดำเนินชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์

เดือนมกราคมของปีถัดมา เธอเห็นภาพนิมิตพระคริสต์ ได้ยินพระองค์กล่าวกับเธอว่า
"เรามาเพื่อปลอบบรรเทาเธอและนำความรอดมาให้" ลำดับความสำคัญในชีวิตเธอเปลี่ยนแปลง
อย่างฉับพลัน จากการใฝ่หาความรู้ทางโลกถึงการศึกษาพระคัมภีร์และเทววิทยา เกอทรูดกลับอุทิศ
ตัวเองให้การสวดภาวนาส่วนตัวและการพิศเพ่งภาวนา เธอเริ่มเขียนบันทึกประสบการณ์ชีวิตจิตเพื่อ
ประโยชน์แก่ซิสเตอร์ร่วมอาราม

เกอทรูดเข้าใจถึงความรักของพระคริสต์ว่าเป็นสัจธรรมที่เป็นฐานรากและสิ่งสูงสุด เธอถ่ายทอด
สัจธรรมนี้ในหนังสือที่เขียนและพยายามดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความจริงดังกล่าว เธอสำนึกถึง
ความผิดพลาดที่ยังคงมีอยู่เสมอในตัวเองแต่เธอก็เข้าใจในความเมตตาลึกซึ้งของพระเจ้า เธอยอม
รับโรคภัยและความเจ็บปวดทรมานในปีท้ายๆ ของชีวิตด้วยจิตใจสงบ อุทิศเป็นพลีกรรม โดยรำลึก
ถึงความดีของพระเจ้าที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอ

เกอทรูดสิ้นใจวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ของปี ๑๓๐๑ หรือ ๑๓๐๒ หนังสือหลายเล่มที่เธอเขียน
ได้ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 15, 2022 7:14 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน
นักบุญฟรานเชส คาบรินี
St. Frances Cabrini

ฟรานเชส คาบรินี ปรารถนาจะเป็นธรรมทูตที่ประเทศจีนตั้งแต่เยาว์วัย แต่พระเจ้าทรง
มีแผนการอื่นสำหรับเธอ

ฟรานเชสเกิดที่อิตาลีเมื่ออายุ ๑๘ ปีก็เป็นกำพร้า เธอสมัครเข้าคณะซิสเตอร์แห่ง
พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ (Sisters of the Sacred Heart) และได้รับชื่อว่า เซเวียร์ตามชื่อ
นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ธรรมทูตระบือนามแห่งตะวันออกไกล

พระสันตะปาปาเลโอ ที่ ๑๓ แนะนำเธอว่า "ไม่ใช่ตะวันออกแต่จงไปตะวันตก" เธอจึงไปทำงาน
ธรรมทูตที่สหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของพระสังฆราชคอร์ริแกนแห่งนิวยอร์ก เธอเดินทางไปมา
ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกถึง ๓๐ ครั้ง และได้ไปทั่วประเทศสหรัฐเพื่อก่อตั้งบ้านเด็กกำพร้า
โรงพยาบาล อารามนักบวชหญิง และโรงเรียน โดยเฉพาะสำหรับชาวอพยพอิตาเลียนที่เป็น
คนชายขอบสังคมในเวลานั้น

ฟรานเชสได้รับสัญชาติเป็นชาวอเมริกัน เธอเสียชีวิตในปี ๑๙๑๗ และถูกประกาศ
เป็นนักบุญในปี ๑๙๔๖ ก่อนคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่จะมาสู่สหรัฐ

ฟรานเชส คาบรินี เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของผู้อพยพ

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 15, 2022 7:16 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน
บุญราศียอห์น ลิกชี
Blessed John Licci

ยอห์น ลิกชี เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่อายุยืนที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์พระศาสนจักร ชีวิตยาวนาน
ถึง ๑๑๑ ปีของท่านในเมืองเล็กใกล้ปาเลอร์โม เกาะซิซิลี เต็มไปด้วยเรื่องอัศจรรย์มากมาย

มารดาเสียชีวิตในการคลอดยอห์น บิดาซึ่งเป็นชาวนายากจนและทำงานหนักในไร่นาจำใจต้อง
ทอดทิ้งทารกแรกเกิด สตรีเพื่อนบ้านได้ยินเสียงเด็กทารกร้องไห้จึงนำกลับมาที่บ้านตัวเองและ
ให้นม นางวางทารกยอห์นไว้บนเตียงถัดจากสามีผู้นอนป่วยเป็นอัมพาต ปรากฏว่าเขาหาย
เป็นปรกติในทันที

เมื่อเติบโตขึ้น ยอห์นได้รับคำแนะนำจากบุญราศีปีเตอร์ เกเรมีอา ให้ใช้ชีวิตเป็นนักบวช เขาจึง
เข้าคณะโดมินิกันในปี ๑๔๑๕ ที่สุดแล้วเขาจะเป็นนักบวชนานถึง ๙๖ ปี นานที่สุดเท่าที่ทราบ
ในทุกคณะนักบวช

ยอห์นรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์และตั้งอารามนักบุญ Zita ใน Caccamo บ้านเกิดของเขา ระหว่าง
ก่อสร้างอารามมีเรื่องอัศจรรย์มากมาย ตั้งแต่ทำเลที่สร้างจนถึงไม้คานสุดท้ายที่วางเข้าที่ เช่น
วันหนึ่งคนงานขาดแคลนวัตถุก่อสร้าง ก็มีเกวียนที่ลากด้วยวัวตัวใหญ่มาจอดหน้าสถานที่
ในเกวียนนั้นบรรทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการ หรือเมื่อไม้หลังคาถูกตัดสั้นเกินไป ยอห์นจะสวดภาวนา
และไม้ก็ยืดออกมา บางวันยอห์นทวีขนมปังและเหล้าองุ่นเพื่อเลี้ยงพวกคนงานด้วย

เมื่อยอห์นและเพื่อนสมาชิกโดมินิกัน ๒ คนถูกโจรปล้นบนถนน โจรคนหนึ่งพยายามแทงท่าน
แต่มือของเขากลับบิดงอและเป็นอัมพาต พวกแก๊งค์โจรรีบปล่อยพวกท่าน ขอร้องให้ยกโทษ
ยอห์นทำเครื่องหมายกางเขนเหนือพวกเขาและมือของโจรคนนั้นก็กลับใช้การได้

การสวดอวยพรของยอห์นทำให้กล่องบรรจุขนมปังของหญิงม่ายเพื่อนบ้านเต็มอยู่ตลอดเวลา
ช่วยให้เธอสามารถเลี้ยงดูลูกๆ 6 คนได้ ยอห์นยังช่วยป้องกันโรคร้ายไม่ให้ลามสู่ฝูงสัตว์ของลูกวัด
และช่วยรักษาคน ๓ คนที่ศีรษะถูกกระทบรุนแรงในอุบัติเหตุซึ่งทำให้ท่านถูกยกเป็น
นักบุญองค์อุปถัมภ์ของผู้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

ยอห์นเกิดในปี ๑๔๐๐ ท่านเสียชีวิตในปี ๑๕๑๑ ด้วยอายุขัยตามธรรมชาติ

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 15, 2022 7:17 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน
นักบุญอัลเบิร์ต ผู้ยิ่งใหญ่
St. Albert the Great

นักบุญอัลเบิร์ตเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร และเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของนักวิทยาศาสตร์
ท่านเป็นชาวเยอรมัน มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ ๑๓ ท่านเข้าร่วมคณะนักบวชที่เพิ่งก่อตั้งใหม่
ในเวลานั้นคือคณะโดมินิกัน ท่านได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีส
และสอนเทววิทยาที่นั่น และในเมืองโคโลญจน์
เยอรมนี

อัลเบิร์ตได้ชื่อว่า "ผู้ยิ่งใหญ่" เพราะความสามารถด้านสติปัญญา ท่านเป็นนักปรัชญาที่ผู้คน
เคารพนับถือ เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทววิทยา และอาจารย์ ท่านคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของ
ชาวอาหรับนักเรียนคนหนึ่งของท่าน ซึ่งภายหลังได้เป็นเพื่อนและนำวิธีศึกษาของท่านไปปรับ
ใช้คือโทมัส อไควนัส

ท่านเสียชีวิตในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๒๘๐

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 15, 2022 7:18 pm

:s006: :s006: :s006: :s006: :s006:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ พ.ย. 04, 2023 10:59 pm

:s004: :s004: :s004:
ตอบกลับโพส