ประวัตินักบุญอย่างย่อเดือนธันวาคม (วันที่16-31)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 16, 2022 10:15 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๖ ธันวาคม
นักบุญอาเดลลา
St. Adelaide

อาเดลลาเกิดในปี ๙๓๑ ที่แคว้นเบอร์กันดี ประเทศฝรั่งเศส เธอเป็นพระธิดาของกษัตริย์รูดอล์ฟ ที่ ๒
แห่งเบอร์กันดี พระบิดาหมั้นหมายเธอไว้ตั้งแต่อายุ ๒ ขวบ กับโลติเยร์ ผู้เป็นบุตรและทายาทศัตรู
ของพระองค์ Hugh แห่งโพรวองซ์

โลติเยร์ถูกสังหารแต่ยังเยาว์ อาเดลลาจึงถูกหมายปองจากกษัตริย์และขุนนางมากมาย ชีวิตเธอ
อยู่ท่ามกลางการต่อสู้เพื่ออำนาจการเมืองของยุคสมัย ในที่สุด อาเดลลาก็สมรสกับ
จักรพรรดิอ็อตโตมหาราชแห่งเยอรมนี ผู้บุกครองอิตาลี

เมื่อจักรพรรดิอ็อตโต ที่ 2 สิ้นพระชนม์ พระโอรสของอาเดลลาขึ้นครองราชย์โดยทรงพระนามว่า
อ็อตโต ที่ 3 แต่เพราะยังเยาว์วัย อาเดลลาจึงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เธอใช้อำนาจ
เยี่ยงจักรพรรดินีส่งเสริมการประกาศพระวรสารโดยเฉพาะในดินแดนยุโรปเหนือ เธอโปรด
ให้สร้างอารามและวัดจำนวนมากมายและช่วยเหลือคนยากจน

อาเดลลาสิ้นพระชนม์ปี ๙๙๙ ในอารามแห่งหนึ่ง พระสันตะปาปาอูร์บานี ที่ ๒
ทรงประกาศตั้งเธอเป็นนักบุญในปี ๑๐๙๗

*****************

บุญราศีทั้ง ๗ แห่งประเทศไทย

มรณสักขีแห่งสองคอน คือคริสตศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกชาวไทย ๗ คน ที่ถูกตำรวจ
ยิงเสียชีวิตเพราะไม่ยอมเลิกนับถือศาสนาคริสต์ ทั้ง ๗ คนได้รับการยกย่องจากพระศาสนจักร
โรมันคาทอลิกว่า เป็นมรณสักขีและได้รับการประกาศเป็นบุญราศีพร้อมกัน
โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒
ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๒
นับเป็นคริสตชนชาวไทย กลุ่มแรกที่ได้เป็นบุญราศี

รายนามมรณสักขี
มรณสักขีทั้งเจ็ดท่าน มีรายนามดังต่อไปนี้
บุญราศีฟิลิป สีฟองอ่อนพิทักษ์ (อายุ 33 ปี)
บุญราศีอักแนส พิลา ทิพย์สุข (อายุ 31 ปี)
บุญราศีลูซีอา คำบาง สีคำพอง (อายุ 23 ปี)
บุญราศีอากาทา พุดทา ว่องไว (อายุ 59 ปี)
บุญราศีเซซีลีอา บุดสี ว่องไว (อายุ 16 ปี)
บุญราศีบีบีอานา คำไพ ว่องไว (อายุ 15 ปี)
บุญราศีมารีอา พร ว่องไว (อายุ 14 ปี)

Cr : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 17, 2022 8:13 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๗ ธันวาคม
นักบุญโฮเซ มานยาเน ยีวีเวส
St. José Manyanet Y Vives

โฮเซ มานยาเน เกิดเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๑๘๘๓ ในแคว้นคาตาโลเนีย ประเทศสเปน
เมื่ออายุ ๕ ขวบมารดาถวายท่านแด่พระนางมารีย์พรหมจารี

เมื่อเติบโตโฮเซก็สมัครเข้าบ้านเณร ในปี ๑๘๕๙ ท่านรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ท่านได้
ทำงานเป็นเลขานุการของสังฆราชแห่งอูร์เกล เป็นผู้ดูแลห้องสมุดของบ้านเณร และเป็น
ที่ปรึกษาของสังฆมณฑล ต่อมา ท่านตอบรับต่อเสียงเรียกของพระให้ตั้งคณะนักบวช ๒ คณะ

ท่านตั้งคณะบุตรแห่งครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ (Congregation of the Sons of the Holy Family)
ในปี ๑๘๖๔ และคณะธิดาธรรมทูตแห่งครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของนาซาเร็ธ
(Missionary Daughters of the Holy Family of Nazareth) ในอีกสิบปีให้หลัง ทั้งสอง
คณะอุทิศตนเพื่อให้การอบรมศึกษาและปกป้องครอบครัวคริสตชน พร้อมกับทำงานด้าน
การศึกษาและงานอภิบาลในวัดด้วย

ท่านยังก่อตั้งโรงเรียนและศูนย์อื่นๆ อีกเพื่อส่งเสริมความศรัทธาต่อครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
ท่านเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและการแนะนำชีวิตฝ่ายจิต ท่านยังช่วยเหลือ
ในการก่อสร้างวิหารแห่งครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ในบาร์เซโลนา

ตลอดชีวิต ท่านรับทุกข์ทรมานเนื่องด้วยอาการเจ็บป่วยฝ่ายกาย โดยเฉพาะบาดแผลที่
สีข้าง ๒ แห่งที่เรื้อรังอยู่ตลอด ๑๖ ปีสุดท้ายของชีวิต ท่านสิ้นใจเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๑๙๐๑
พระสันตะปาปายอห์นปอล ที่ ๒ ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๐๐๔

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ธ.ค. 19, 2022 8:16 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๘ ธันวาคม
นักบุญกาเตียนแห่งตูรส์
St. Gatian of Tours

เราไม่รู้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับชีวิตของนักบุญกาเตียน เราทราบเพียงว่าท่านเป็นสังฆราช
คนแรกของเมืองตูรส์ในฝรั่งเศส และกล่าวกันว่าท่านเป็นศิษย์ของนักบุญเดนิสแห่งปารีส

เมื่อท่านมาถึงดินแดนของคนต่างศาสนาซึ่งไม่เคยได้ยินข่าวดีของพระวรสารเลย ท่านได้หว่าน
เมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อเป็นครั้งแรกลงในดินแดนตูรส์ ท่านวางพื้นฐานของพระศาสนจักร
ในเมืองของนักบุญมาร์ตินผู้ยิ่งใหญ่นักบุญกาเตียนเสียชีวิตในปี ๓๓๗

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ธ.ค. 19, 2022 8:19 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๙ ธันวาคม
บุญราศีพระสันตะปาปาอูร์บานี ที่ ๕
Blessed Pope Urban V

กุยเลาเม เด กริโมอาร์ด (Guillaume de Grimoard) เกิดที่ Grisac ใน Languedoc
เมื่อปี ๑๓๑๐ ท่านศึกษากฎหมายพระศาสนจักรและเทววิทยาที่เมืองอาวิญอง และได้
บวชเป็นฤษีคณะเบเนดิกติน ท่านเป็นอธิการอารามในปี ๑๓๕๒ และต่อมา ได้เป็นทูต
ของพระสันตะปาปา ท่านถูกส่งให้ไปทำหน้าที่หลาย
แห่ง ท่านเป็นสังฆราชในอิตาลีและหลายที่ในยุโรป

ปี ๑๓๖๒ ท่านได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาทั้งที่ยังไม่ได้เป็นคาร์ดินัล ตลอดสมณสมัย
พระสันตะปาปาอูร์บานี ที่ ๕ มีพันธกิจในการสร้างสันติภาพระหว่างกษัตริย์ฝรั่งเศสกับอิตาลี
พระองค์ก่อตั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่งและทรงกระตือรือร้นต่อการส่งนักรบครูเสดไปกู้
ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ย้ายกลับมาประทับที่โรม ทำให้สิ้นสุดยุคพระสันตะปาปาพำนัก
ที่อาวิญอง

อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสทำให้พระองค์ต้องกลับมาอาวิญองเพื่อ
ภารกิจรักษาสันติภาพ ระหว่างการเดินทางครั้งนี้พระองค์สิ้นพระชนม์ พระกายซึ่งถูกฝังไว้
ที่อาวิญองถูกย้ายมาที่เมืองมาร์กเซย์ตามพระประสงค์ ที่นั่น สุสานของพระองค์เป็นสถานที่
เกิดอัศจรรย์มากมาย พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๑๓๗๐

พระองค์มีจิตใจเป็นนักพรตเบเนดิกตินตลอดเวลา ถึงแม้เป็นพระสันตะปาปาแต่พระองค์ก็คง
สวมชุดนักพรตเบเนดิกติน คุณธรรมและความสัตย์ซื่อจริงใจของพระองค์ฉายเด่นในยุคสมัย
ที่ยุโรปอุดมไปด้วยเรื่องอื้อฉาวและคอร์รัปชั่น เล่ากันว่าเมื่อป่วยหนัก พระองค์ทรงเรียกให้ผู้คน
มารอบเตียง ตรัสกับพวกเขาว่า "ประชาชนต้องได้เห็นว่าพระสันตะปาปาตายอย่างไร"

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 20, 2022 9:12 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๐ ธันวาคม
นักบุญดอมินิกแห่งซีลอส
St. Dominic of Silos

ดอมินิกเกิดในปี ๑๐๐๐ ในแคว้น Navarre ประเทศสเปน ท่านเป็นชาวนา เมื่อเยาว์วัย
ท่านทำหน้าที่ดูแลฝูงแกะจนกระทั่งเข้าอารามเบเนดิกติน กษัตริย์ของแคว้น Navarre
ต้องการที่ดินของอาราม แต่ดอมินิกปฏิเสธที่จะส่งมอบ ท่านและนักพรตอีก ๒ คนจึง
ถูกบังคับให้ออกจากอาราม

ท่านหนีไปแคว้นคาสตีลได้รับการต้อนรับโดยกษัตริย์ที่นั่น ท่านเข้าอารามนักบุญเซบาสเตียน
แห่งซีลอส ซึ่งสมาชิกดำเนินชีวิตค่อนข้างหละหลวม เมื่อท่านได้รับเลือกเป็นอธิการอาราม
ท่านก็ฟื้นฟูชีวิตจิตของบรรดานักพรตและได้ปรับปรุงด้านการก่อสร้าง การบริหารเงินทอง
และงานเมตตาจิต ท่านมีชื่อเสียงเรื่องอัศจรรย์เยียวยารักษาคนป่วย ท่านยังช่วยจ่ายเงินไถ่ตัว
นักโทษคริสตชนจากพวกมัวร์จำนวนมาก

ท่านเสียชีวิตในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๑๐๗๓

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 10:57 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๑ ธันวาคม
นักบุญปีเตอร์ คานิซิอุส
St. Peter Canisius

ปีเตอร์ คานิซิอุส เป็นบุคคลสำคัญในยุคปฏิรูปพระศาสนจักรในศตวรรษที่ ๑๖ ท่านเป็นพระสงฆ์
คณะเยสุอิตและเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร

บทบาทของท่านในการเป็นนักเทศน์ นักเขียน ผู้อบรมด้านศาสนา ทำให้ความเชื่อคริสตชนแข็งแกร่ง
อย่างมากในเยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และภาคกลางของยุโรป ซึ่งยุคนั้นกำลังเกิดความ
สับสนเรื่องข้อความเชื่อ

ปีเตอร์ คานิส เกิดที่เนเธอร์แลนด์ในปี ๑๕๒๑ บิดาของท่านเป็นเจ้าหน้าที่บริหารบ้านเมืองฐานะดี
แต่มารดาเสียชีวิตหลังให้กำเนิดท่านไม่นาน ปีเตอร์เริ่มเรียนในมหาวิทยาลัยโคโลญจน์เมื่ออายุ ๑๕ ปี
และได้รับปริญญาโทก่อนอายุ ๒๐ ปี มิตรสหายของท่านในช่วงเวลานี้มีหลายคนที่ยังคงยึดความเชื่อ
คาทอลิก แม้ว่าความเชื่อโปรเตสแตนท์เริ่มเข้ามาตั้งมั่นในเยอรมนี

บิดาต้องการให้ปีเตอร์แต่งงาน แต่ท่านตัดสินใจที่จะถือโสด สามปีต่อมา ท่านเข้าคณะเยสุอิต ปีเตอร์
ก่อตั้งบ้านคณะเยสุอิตแห่งแรกในเยอรมันนีปี ๑๕๔๖ ท่านบวชเป็นพระสงฆ์และมีบทบาทร่วมบีบบังคับ
ให้อัครสังฆราช Hermann แห่ง Wied ของเมืองโคโลญจน์ลาออกหลังจากที่เขาเปลี่ยนไปถือตามคำสอน
ของโปรเตสแตนท์

เพียงหนึ่งปีหลังการบวช ปีเตอร์ก็ร่วมทางกับสังฆราช Augsburg ไปร่วมประชุมสังคายนาเมืองเทรนท์
ในฐานะที่ปรึกษาเทววิทยา ท่านใช้เวลาส่วนหนึ่งในการทำงานกับนักบุญอิกญาซีโอโลโยลาก่อนจะ
เดินทางไปบาวาเรียเพื่อเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งสอนคำสอนและเทศน์ด้วย ภารกิจ
ทั้งด้านวิชาการและงานอภิบาลคงดำเนินต่อไปที่เมืองเวียนนา ท่านไปเยี่ยมและช่วยวัดในออสเตรีย
จำนวนมากที่ไม่มีพระสงฆ์

ในปี ๑๕๕๐ การเดินทางประกาศพระวรสารของปีเตอร์นำท่านไปถึงเมืองปราก ท่านตั้งโรงเรียนเยสุอิต
ที่นั่น และอีกแห่งที่บาวาเรียและต่อมาแห่งที่สามที่มิวนิค ปี ๑๕๕๕ นักบุญอิกญาสิโอเลื่อนท่านขึ้นดำรง
ตำแหน่งผู้นำในคณะ ซึ่งท่านจะทำหน้าที่จนถึงปี ๑๕๖๙ ท่านจัดพิมพ์คำสอนคาทอลิกที่ท่านเขียน
คำสอนเล่มนี้ต่อมาจะถูกตีพิมพ์หลายร้อยครั้งและใช้กันสืบต่อหลายศตวรรษ

ปีีเตอร์ทำงานหนักเพื่อให้ข้อกำหนดต่างๆ จากการสังคายนาได้ถูกนำมาปฏิบัติในเยอรมนี ความพยายาม
อย่างไม่เหน็ดเหนื่อยของท่านกว่ายี่สิบปีมีส่วนสำคัญที่ทำให้คาทอลิกในเยอรมันกลับฟื้นฟูขึ้นมาใหม่
ในปี ๑๕๘๐ ท่านมุ่งหน้าทำงานเช่นเดียวกันที่เมือง Freibourg ของสวิสฯ

ประสบการณ์รหัสนัยในปี ๑๕๘๔ ทำให้ท่านมั่นใจว่าควรจะยุติการเดินทางและพำนักอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์
ตลอดชีวิตที่เหลือ ท่านสร้างพระศาสนจักรใน Freibourg โดยการเทศน์สอนและเขียน

ท่านเสียชีวิตวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๑๕๙๗ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๑ ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญ
และนักปราชญ์ของพระศาสนจักรในปี ๑๙๕๒

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 10:58 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๒ ธันวาคม
นักบุญเชโรมอน
St. Chaeromon

เรารู้เพียงว่านักบุญเชโรมอนเป็นสังฆราชของเมือง Nilopolis ในอียิปต์ ท่านอายุมากแล้ว
เมื่อจักรพรรดิ Trajanus Decius เริ่มการเบียดเบียนคริสตชนอย่างรุนแรง

ท่านและสหายหลบหนีไปอาราเบียและเชื่อกันว่าท่านเป็นมรณสักขีที่นั่น

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 23, 2022 8:21 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๓ ธันวาคม
นักบุญธอร์แลคแห่งไอซ์แลนด์
St. Thorlak of Iceland

ชาวสแกนดิเนเวียแห่งไอซ์แลนด์ฉลองนักบุญอุปถัมภ์ของพวกเขาคือ นักบุญธอร์แลค ธอร์ฮอลล์สัน
(Thorlak Thorhallsson) ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม พวกเขาประกาศว่าท่านเป็นนักบุญในปี ๑๑๙๘
เพียงห้าปีหลังการตายของท่าน แต่การประกาศตั้งนักบุญ "อย่างไม่เป็นทางการนี้" ไม่มีอยู่ใน
ปฏิทินพิธีกรรมของศาสนจักรจนกระทั่งพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ ทรงรับรอง
ในเดือนมกราคม ๑๙๘๔

ธอร์แลคเกิดในปี ๑๑๓๓ สองศตวรรษหลังจากมิสชันนารีชาวเยอรมันและนอร์เวย์เริ่มประกาศ
พระวรสารอย่างเกิดผลในไอซ์แลนด์ การกลับใจของชาวไอซ์แลนด์ต้องผ่านขั้นตอนที่ยากลำบาก
เพราะประชาชนไอซ์แลนด์จำนวนมากยังยึดถืออย่างเอาเป็นเอาตายกับศาสนาบรรพบุรุษของพวกเขา
ซึ่งมีธรรมเนียมการนมัสการรูปเคารพและสังหารทารก

พระศาสนจักรคาทอลิกตั้งมั่นแล้วในช่วงเวลาที่ธอร์แลคถือกำเนิด อย่างไรก็ตาม การถือปฏิบัติศาสนา
ยังคลอนแคลน เพราะพวกพระสงฆ์ไม่ใส่ใจกฎการถือโสด พวกเขาขายตำแหน่งในศาสนจักร
และทำผิดระเบียบอื่นๆ

บิดามารดาของธอร์แลค ซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนา สังเกตว่าลูกชายพวกเขามีพรสวรรค์จึงนำไปให้รับการ
อบรมจากพระสงฆ์ท้องถิ่น ธอร์แลคได้รับศีลบวชเป็นอนุสงฆ์ก่อนอายุ ๑๕ ปี และเป็นพระสงฆ์
เมื่ออายุ ๑๘ ปี

หลังจากนั้น ท่านเดินทางออกจากไอซ์แลนด์เพื่อไปศึกษาเทววิทยาที่ฝรั่งเศสและอังกฤษ ระหว่างนี้
ท่านดำเนินชีวิตตามพระวินัยของคณะออกัสติเนียน พระวินัยไม่เพียงกำหนดให้พระสงฆ์ต้องถือโสด
แต่ยังให้ใช้ชีวิตหมู่คณะโดยปราศจากทรัพย์สินส่วนตัว ตามแบบอย่างของพวกอัครสาวก
ในศาสนจักรยุคแรกเริ่ม

ธอร์แลคยังคงถือปฏิบัติตามพระวินัยนี้แม้ว่าเมื่อกลับมาไอซ์แลนด์ท่านจะถูกกดดันให้แต่งงาน
กับแม่ม่ายที่เป็นเศรษฐีนีคนหนึ่งก็ตาม ท่านตั้งอารามตามวินัยของคณะออกัสติเนียน ซึ่งมีชื่อเสียง
ในการสวดภาวนาและการศึกษา สิบปีหลังการก่อตั้งอาราม อัครสังฆราชชาวนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้ดำเนิน
ชีวิตตามพระวินัยของคณะออกัสติเนียน ก็ได้เชิญให้ธอร์แลคเป็นสังฆราชแห่งสังฆมณฑล Skalholt
ของไอร์แลนด์

ในฐานะสังฆราช ธอร์แลคตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูและให้แนวทางพวกพระสงฆ์นักบวช
ท่านพยายามนำเอาการฟื้นฟูที่พระสันตะปาปาเกรกอรี่ ที่ ๗ ทรงริเริ่มในศตวรรษก่อนมาปฏิบัติ
ให้เป็นจริง ไม่เพียงแต่เรื่องการถือโสดอย่างเคร่งครัดของพระสงฆ์แต่ยังพยายามให้พระศาสนจักร
เป็นอิสระไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจทางบ้านเมือง

ธอร์แลคพยายามปรับปรุงศีลธรรมของสังคมด้วย ท่านกล้าเผชิญหน้ากับหัวหน้าเผ่าผู้มีชื่อเสียงและ
มีอำนาจที่สุดของไอซ์แลนด์ ซึ่งกล่าวกันว่ามีความสัมพันธ์พิเศษกับน้องสาวของท่านเอง ท่านเกิด
ความต้องการจะวางทุกเรื่องราวและกลับคืนสู่ชีวิตในอารามอยู่บ่อยๆ แต่ก่อนจะทำเช่นนั้น
ท่านได้เสียชีวิตลงในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ปี ๑๑๙๓

นักบุญธอร์แลคเป็นนักบุญพื้นเมืองของไอซ์แลนด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคที่ประเทศเป็นคาทอลิก
มีวัดกว่า ๕๐ แห่งที่สร้างเพื่ออุทิศแด่ท่านก่อนที่ไอซ์แลนด์จะถือลัทธิลูเธอรันอย่างเป็นทางการ
ในระหว่างศตวรรษที่ ๑๖

แต่การฉลองนักบุญธอร์แลคก็ยังคงมีอยู่ทั่วไปในฐานะประเพณีของประเทศ ชาวไอซ์แลนด์
ฉลองท่านวันที่ ๒๓ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนวันคริสตสมภพ และมีธรรมเนียมชุมนุมกัน
เพื่อรับประทานปลาเคอร์ดในวันนี้

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 24, 2022 3:25 pm

วันที่ ๒๔ ธันวาคม
Vigil of Christmas

ในยุคแรกๆ ของพระศาสนจักร ทุกคืนก่อนวันฉลองจะมีการตื่นเฝ้า ตอนเย็น ผู้มีความเชื่อ
จะมารวมตัวกันในวัดหรือสถานที่ที่จะมีการฉลอง พวกเขาเตรียมตัวด้วยการสวดภาวนา
อ่านบทอ่าน และบางครั้งก็ฟังการเทศน์ ในโอกาสนี้จะมีพิธีมิสซาในตอนเย็นด้วย เมื่อ
ใกล้รุ่งอรุณ ผู้คนจะแยกย้ายกันไปอยู่ตามถนนหรือพักในบ้านใกล้วัด รอคอยพิธีมิสซา
อย่างสง่าก่อนเที่ยง

พิธีตื่นเฝ้าเป็นสิ่งที่ถือปฏิบัติในชีวิตคริสตชน นักบุญออกัสตินและนักบุญเยโรมก็สนับสนุน
และแนะนำให้กระทำ แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงหยุดพักตอนเช้าก็เป็นโอกาสให้เกิดการกระทำ
ไม่เหมาะสมด้วยฝูงชนบางกลุ่มพากันขับร้องเริงระบำไปตามท้องถนนและศาลารอบวัด ซึ่ง
นักบุญเยโรมเขียนตำหนิพฤติกรรมเช่นนี้

การประชุมสมัชชาที่เมือง Seligenstadt ในปี ๑๐๒๒ กล่าวถึงการอดอาหาร ๒ สัปดาห์ก่อน
วันฉลองการบังเกิดของนักบุญยอห์น บัปติสท์และพิธีตื่นเฝ้าก่อนวันพระคริสตสมภพ ก่อนวัน
พระคริสตเจ้าทรงสำแดงองค์วันฉลองอัครสาวก วันแม่พระเสด็จสู่สวรรค์ วันฉลองนักบุญลอเรนซ์
และนักบุญทั้งหลาย

หลังศตวรรษที่ ๑๑ การอดอาหาร สวดทำวัตรและมิสซาของพิธีตื่นเฝ้าถูกเลื่อนขึ้นมาหนึ่งวัน
ก่อนวันฉลอง และแม้ปัจจุบัน พิธีในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ (ตื่นเฝ้าวันปัสกา) ก็แสดงให้เห็นว่าเดิมที
แล้วไม่ได้กระทำในเช้าวันเสาร์ แต่ในระหว่างคืนปัสกา ดังนั้น พิธีกรรมหนึ่งวันก่อนวันฉลอง
จึงถูกเรียกว่าวันตื่นเฝ้า

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 25, 2022 3:32 pm

วันที่ ๒๕ ธันวาคม
การบังเกิดของพระเยซูคริสตเจ้า - วันพระคริสตสมภพ
The Nativity of the Lord - Christmas

คำเรียกคริสต์มาส ในภาษาอังกฤษโบราณ คือ Cristes Maesse (มิสซาของพระคริสต์)
คำนี้เราพบครั้งแรกในปี ๑๐๓๘ และได้กลายเป็น Cristes-messe ในปี ๑๑๓๑
ส่วนภาษาละติน มีชื่อว่า Dies Natalis (วันบังเกิดของพระเจ้า)

วันพระคริสตสมภพไม่ได้ถูกจัดเป็นวันฉลองของพระศาสนจักรในยุคแรกเริ่ม นักบุญอิเรเนอุส
และแตร์ตูเลียนไม่ได้บรรจุวันนี้ลงในรายชื่อวันฉลองต่างๆ ส่วนออริเยนยืนยันว่าในพระวรสาร
พวกคนบาปเท่านั้น ไม่ใช่นักบุญ ที่ฉลองวันเกิดของพวกเขา อาร์โนบิอุส (Arnobius) ยังเย้ยหยัน
"วันเกิด" ของพวกเทพเจ้าด้วย

หลักฐานแรกของการฉลองวันพระคริสตสมภพมาจากอียิปต์ประมาณปีค.ศ. ๒๐๐ เคลเมนต์แห่ง
อเล็กซานเดรียเขียนว่านักเทววิทยาชาวอียิปต์บางคน ได้กำหนดให้วันที่พระคริสต์บังเกิดเป็น
วันที่ ๒๕ ของเดือน Pachon (ตรงกับวันที่ ๒๐ พฤษภาคม) ในปีที่ ๒๘ ของรัชสมัยจักรพรรดิออกุสตุส

ส่วนการฉลองในเดือนธันวาคมได้มีขึ้นในระหว่างปี ๔๒๗-๔๓๓ ในโรม หลักฐานแรกสุดอยู่ในปฏิทิน
Philocalian ซึ่งรวบรวมในปี ๓๕๔ ปฏิทินนี้แบ่งหัวข้อสำคัญ ๓ กลุ่ม ในปฏิทินของฝ่ายบ้านเมือง
วันที่ ๒๕ ธันวาคมถูกเรียกว่า Natalis Invicti ส่วนในรายชื่อมรณสักขีของศาสนจักร ซึ่งอยู่ภายใต้
กลุ่ม Depositio Martyrum ในวันที่ ๒๕ ธันวาคมนั้น เราพบความว่า
"พระคริสต์ทรงบังเกิดในเบธเลเฮ็ม แคว้นยูเดีย"

มีข้อถกเถียงกันด้วยว่าศาสนจักรโรมรับเอาการฉลองวันสำแดงองค์ของพระคริสตเจ้า
(แก่พวกนักปราชญ์ทั้งสามจากแดนไกล) มาจากศาสนจักรตะวันออกและกำหนดเอาเป็น
วันที่ ๒๕ ธันวาคม ภายหลังศาสนจักรตะวันออกและตะวันตกแยกวันฉลองกัน ทำให้วันสำแดงองค์
เป็นวันที่ ๖ มกราคม ส่วนวันคริสตสมภพเป็นวันที่ ๒๕ ธันวาคม อย่างไรก็ตาม
ข้อสันนิษฐานเก่าก่อนยังคงเป็นที่นิยมมากกว่า

แต่โดยที่สุดแล้ว ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วันเฉลิมฉลองพระอาทิตย์ของชาวโรมัน
(Natalis Invicti) ที่กระทำกันในวัน ๒๕ ธันวาคมน่าจะเป็นที่มาของกำหนดวันคริสตสมภพ
ลัทธินมัสการดวงอาทิตย์ในจักรวรรดิโรมันได้รับความนิยมมาตลอด และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จนถึงจุดสูงสุดในปี ๒๗๔ ซึ่ง
เป็นยุคของจักรพรรดิ Aurelian ภายหลัง ในปี ๑๗๐๐ ฟิลิปโป เดล ตอเร (Filippo del Torre)
เป็นคนแรกที่สังเกตเห็นความเกี่ยวข้องกันดังกล่าวในปฏิทินของ Philocalus

การอธิบายถึงภาษาและความหมายของดวงอาทิตย์ที่ใช้สื่อถึงพระเจ้าถึงเรื่องบทบาทของ
พระผู้ไถ่ (Messiah) และความศรัทธาค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้น พร้อมกับบทขับร้องสรรเสริญและ
บทสวดทำวัตรของวันคริสตสมภพ จนกระทั่งได้ถูกรวบรวมไว้อย่างสมบูรณ์โดยคูมอง (Cumont)

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ธ.ค. 26, 2022 3:47 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๖ ธันวาคม
นักบุญสเตเฟน
St. Stephen

หลังวันพระคริสตสมภพ พระศาสนจักรรำลึกถึงมรณสักขีคนแรก นักบุญสเตเฟน ซึ่งเป็นหนึ่ง
ในสังฆานุกรกลุ่มแรกของพระศาสนจักรด้วย

ในหนังสือกิจการอัครสาวก นักบุญลูกายกย่องสเตเฟนว่า "เป็นชายหนุ่มผู้เปี่ยมไปด้วยความเชื่อ
และพระจิตเจ้า" เขาได้ "กระทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์และเครื่องหมายอันยิ่งใหญ่ในท่ามกลางประชาชน"
ในยุคแรกเริ่มของพระศาสนจักร

สเตเฟนเป็นชาวยิวที่เชื่อในพระเยซู ขณะพระองค์ปฏิบัติภารกิจในโลกเขาอาจเป็นหนึ่งในศิษย์ ๗๐ คน
ที่พระเยซูส่งไปประกาศการมาถึงของอาณาจักรพระเจ้า โดยให้เดินทางไปโดยปราศจากข้าวของติดตัว

จิตตารมณ์ของการไม่ยึดติดวัตถุสิ่งของเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปในพระศาสนจักรยุคแรก นักบุญลูกา
เล่าว่า พวกผู้มีความเชื่อ "นำเอาทุกอย่างที่มีมารวมกัน" และ "พวกเขาขายสิ่งของและทรัพย์สมบัติ
เพื่อนำมาแจกจ่ายแก่ผู้ขัดสน"

แต่กิจเมตตานี้ได้เป็นที่มาของความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างชาวยิวกับคนต่างศาสนา แม่ม่าย
ชาวกรีกกลุ่มหนึ่งรู้สึกถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับความใส่ใจเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่เป็นยิว

ชื่อเสียงด้านความศักดิ์สิทธิ์ของสเตเฟนทำให้พวกอัครสาวกเลือกเขา พร้อมกับคนอื่นอีก ๖ คน
ให้ทำหน้าที่ช่วยบรรเทาความขัดแย้ง โดยอำนาจทางศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พวกอัครสาวกได้รับจาก
พระคริสต์ พวกท่านบวชผู้ชายทั้งเจ็ดคนเป็นสังฆานุกรและส่งไปช่วยเหลือบรรดาหญิงม่าย

ในฐานะสังฆานุกร สเตเฟนเทศน์สอนถึงพระคริสต์ว่าเป็นผู้ทำให้กฎบัญญัติของพระธรรมเก่าและ
คำทำนายของบรรดาประกาศดูสมบูรณ์ สมาชิกศาลาธรรมไม่อาจโต้แย้งกับคำสอนของสเตเฟน
จึงนำตัวเขามาต่อหน้าผู้มีอำนาจทางศาสนา ใส่ความว่าสเตเฟนจ้องจะทำลายธรรมเนียมประเพณี
ของชาวยิว

สเตเฟนตอบด้วยถ้อยคำซึ่งมีบันทึกในบทที่เจ็ดของหนังสือกิจการอัครสาวกเขาพูดถึงชาวอิสราเอล
ที่ดื้อดึงต่อหรรษทานของพระเจ้าในอดีต และกล่าวว่าผู้มีอำนาจทางศาสนาในปัจจุบัน "ต่อต้านพระจิต"
และปฏิเสธพระผู้ไถ่

สเตเฟนเห็นภาพพระคริสต์ในพระสิริรุ่งโรจน์ "ดูสิ" เขาบอกพวกเหล่านั้น
"ข้าพเจ้าเห็นสวรรค์เปิดออก และบุตรแห่งมนุษย์ยืนอยู่เบื้องขวาของพระเจ้า"

พวกอยู่ในที่ประชุมพากันลากสเตเฟนออกไปและใช้ก้อนหินทุ่มใส่ท่านจนเสียชีวิต"ขณะที่พวกเขา
กำลังใช้หินทุ่มใส่สเตเฟน เขาก็สวดภาวนาว่า พระเยซูพระเจ้าข้า โปรดรับจิตวิญญาณของข้าพเจ้า
ด้วยเทอญ จากนั้น เขาคุกเข่าลงและร้องด้วยเสียงอันดังว่า พระเจ้าข้าอย่าถือโทษบาปพวกเขาเหล่านี้
เลยเมื่อกล่าวดังนั้นแล้วเขาก็สิ้นใจ" (กจ.๗)

เหตุการณ์เสียชีวิตของมรณสักขีคริสตชนคนแรกอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ของฟาริสีคนหนึ่งชื่อ
ซาอูล(เซาโล) ภายหลังเขาเปลี่ยนชื่อเป็นเปาโลและจะมีประสบการณ์กับพระคริสต์จนเปลี่ยน
ให้เขาเป็นผู้มีความเชื่อแล้วก็เป็นมรณสักขีด้วยเช่นกัน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ธ.ค. 28, 2022 8:04 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๗ ธันวาคม
นักบุญยอห์น อัครสาวก
St. John the Apostle

ยอห์นเป็นบุตรของเสเบดีและเป็นน้องชายของยากอบ ท่านถูกเรียกให้เป็นอัครสาวก
โดยพระเยซูเจ้าในปีแรกของพันธกิจของพระองค์ ยอห์นเป็น "ศิษย์ที่พระองค์ทรงรัก"
และเป็นคนเดียวในอัครสาวกสิบสองคนที่ไม่ทอดทิ้งพระเยซูในเวลาที่พระองค์รับ
พระมหาทรมาน ยอห์นยืนอย่างซื่อสัตย์ภักดีที่เชิงไม้กางเขน และพระเยซูคริสต์ทรงมอบ
ให้ท่านเป็นผู้ดูแลพระมารดาของพระองค์

ยอห์นดำเนินชีวิตในช่วงต่อมาที่เยรูซาเล็มและที่เมืองเอเฟซัส ท่านตั้งกลุ่มคริสตชนหลายแห่ง
ในเอเชียไมเนอร์ ธรรมประเพณีเล่าว่าท่านถูกนำตัวไปที่โรมภายใต้คำสั่งของจักรพรรดิโดมีเทียน
ท่านถูกโยนลงกะทะที่ต้มน้ำมันเดือด แต่ท่านไม่เป็นอันตราย ท่านถูกขับไล่ไปอยู่ที่เกาะ Pathmos
หนึ่งปี ท่านมีชีวิตยืนยาวกว่าอัครสาวกคนอื่นๆ ท่านเสียชีวิตที่เอเฟซัสประมาณปี ค.ศ.๑๐๐

ยอห์นได้ชื่อว่าอัครสาวกแห่งความรัก ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ท่านได้เรียนรู้จากพระเยซูคริสต์พระอาจารย์
ของท่าน และเป็นสิ่งที่ท่านได้สอนและปฏิบัติเป็นตัวอย่าง "ศิษย์ที่พระองค์ทรงรัก" ท่านนี้เสียชีวิตที่
เมืองเอเฟซัส มีวัดแห่งหนึ่งสร้างขึ้นเหนือสุสานของท่าน ซึ่งภายหลังถูกดัดแปลงเป็นสุเหร่าของ
ศาสนาอิสลาม

ยอห์นได้รับชื่อให้เป็นผู้เขียนพระวรสารและจดหมายสามฉบับ แม้ว่านักวิชาการส่วนมากเชื่อว่าการ
รวบรวมสุดท้ายของพระวรสารกระทำโดยคนอื่นก่อนท่านสิ้นใจ หนังสือวิวรณ์ก็ได้
ใช้ชื่อท่านเป็นผู้เขียนด้วย

CR. : Sinapis
………………………………………

27 ธันวาคม

ฉลองนักบุญยอห์น อัครสาวกและผู้นิพนธ์พระวรสาร

(St. John, Apostle & Evangelist, feast)

นักบุญยอห์น เป็นน้องชายของนักบุญยากอบองค์ใหญ่ ทั้งคู่มาจากครอบครัวชาวประมงที่มี
ฐานะแห่งทะเลสาบกาลิลี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทั้งคู่ผู้มีสมญาว่า "บุตรแห่งเสียงฟ้าร้อง" (Sons of Thunder)
เป็นผู้ช่วยงานของบิดาของพวกเขาที่ชื่อ เศเบดี ทั้งสองพี่น้องได้เคยเป็นศิษย์ของยอห์น บัปติสต์ มาก่อน
จนกระทั่งองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเรียกพวกเขา นักบุญยอห์นเป็นหนึ่งในสามอัครสาวกที่ได้สิทธิพิเศษ
ขอบคุณเป็นพยานด้วยตาในเหตุการณ์อัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงปลุกลูกสาวของไยรัสให้ฟื้นคืนชีพ
และเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง (Transfiguration) นักบุญยอห์นและนักบุญ
เปโตรต่างก็ถูกส่งเข้าไปในเมืองเพื่อเตรียมการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย และในโอกาสที่สำคัญนั้น
นักบุญยอห์นซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคนที่หนุ่มสุดในบรรดาอัครสาวก ได้รับอนุญาตให้เอียงศีรษะพิงพระอุระ
ของพระอาจารย์ นักบุญยอห์น "ซึ่งเป็นสานุศิษย์ผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก" ได้รับอนุญาตด้วยให้เข้าไป
ในวังของคายาฟาสในคืนที่พระเยซูเจ้าทรงถูกทรยศ "ด้วยว่าเป็นที่รู้จักกับมหาสมณะ" ท่านเป็นเพียง
หนึ่งเดียวในอัครสาวกทั้งสิบสองที่ได้ยืนอยู่ใต้เชิงกางเขนตลอดพระทรมานของพระคริสต์ และเป็น
เพราะท่านเป็นคนที่เอาใจใส่ด้วยความรัก องค์พระผู้ไถ่ซึ่งกำลังจะสิ้นพระชนม์ได้ทรงมอบพระมารดา
ผู้นิรมลของพระองค์ให้ท่านคอยดูแล ในช่วงวันปัสกาแรกก็เป็นท่านยอห์นอีกนั่นแหละพร้อมกับ
นักบุญเปโตรที่พากันวิ่งไปที่พระคูหาที่ว่างเปล่า

หลังการกลับฟื้นคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าแล้ว เราจะเห็นนักบุญยอห์นดำเนินชีวิตเป็น
ประจักษ์พยานยืนยันถึงพระเยซูเจ้า พระผู้เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ที่ท่านเห็นว่าเป็นข้อพิสูจน์ที่แท้จริง
ถึงความใกล้ชิดของพระกับประชากรของพระองค์ เริ่มแรกจากการที่ท่านจดจำพระเยซูเจ้าได้ในการ
ปรากฏองค์แก่บรรดาอัครสาวกบนชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี ต่อมาเป็นท่านอีกนั่นเองกับนักบุญเปโตร
ที่ทำอัศจรรย์แรกหลังการกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ ซึ่งก็คือ การรักษาคนง่อยที่ประตูพระวิหาร และ
ภายหลังจากที่ท่านถูกคุมขังโดยชาวยิว ท่านก็ได้เดินทางไปสะมาเรียเพื่อเยี่ยมเยียนพวกที่กลับใจใหม่

กระทั่งช่วงการเบียดเบียนของกษัตริย์เฮโรด อะกริปปาที่ 1 ประมาณ 12 ปีหลังการเสด็จขึ้นสวรรค์
ของพระเยซูเจ้า พวกอัครสาวกยังดูเหมือนคงอยู่ในปาเลสไตน์ และเมื่อพวกเขาต้องกระจัดกระจายไป
นักบุญยอห์นได้ไปยังเอเซียไมเนอร์ และจากเมืองเอเฟซัสที่ใช้เป็นศูนย์กลางในการจัดตั้งและปกครอง
"พระศาสนจักรทั้งเจ็ด" ณ ที่นี่เองที่อยู่ท่ามกลางคนต่างศาสนาที่ยังคงนับถือตามธรรมประเพณีของชาว
โรมันและชาวกรีกรวมทั้งระบบปรัชญาต่างๆ คำศัพท์ "พระวจนะ" (Logos = the Word) ก็ถูกนำมาใช้
ซึ่งเป็นคำที่ใช้บ่อยๆ และมีความหมายตรงกับพระผู้ไถ่ หรือพระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งเป็นพระผู้ซึ่งชาวต่าง
ศาสนาก็คาดหวังรอคอย และเป็นที่เมืองเอเฟซัสนี้เองที่นักบุญยอห์นได้เขียนสิ่งที่เรียกว่าเป็น "ข่าวดีฝ่ายจิต"
(Spiritual Gospel) หรือพระวรสารของท่าน โดยท่านได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมพระวรสารสหทัศน์ทั้งสาม
(คือพระวรสารที่เขียนโดย มาระโก มัทธิว และลูกา ที่มีความคล้ายคลึงกันพอควร) อย่างรอบคอบ โดย
ลงลึกในรายละเอียดต่างๆอย่างยอดเยี่ยม และเน้นความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์เพื่อคัดค้านความคิด
ของพวกเหตุผลนิยม (Gnostics) ที่ทรงอิทธิพลและแพร่หลายมากในขณะนั้น หลังจากนั้นไม่นาน ท่านถูก
เนรเทศไปที่เกาะปัทมอส (Patmos) โดยพระจักรพรรดิโดมีเทียน (Emperor Domitian) ซึ่งเป็นที่ที่ท่าน
เขียนหนังสือวิวรณ์ (Apocalypse) ถือกันว่าเป็นการไขแสดงจากสวรรค์ที่มอบหมายให้ท่านทำ เป็นคำ
ทำนายเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างพลพรรคของซาตานกับผู้ติดตามพระเป็นเจ้า จน
กระทั่งจุดสูงสุดคือการทำลายล้างโลก และการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสต์ ถ้าพิจารณาความลึกซึ้ง
จากข้อเขียนต่างๆของท่านต้องถือว่าท่านเป็น "ขั้นเทพ" (Divine) ทีเดียว นักเทววิทยาได้ใช้สัญลักษณ์
นกอินทรีย์ที่บินขึ้นสูงสู่ดวงอาทิตย์โดยปราศจากความกลัวกับท่าน

ความร้อนรนของนักบุญยอห์นและความอ่อนโยนในการเอาใจใส่ดูแลฝูงแกะของท่านสะท้อนออกมา
ในคำเตือนสอนบ่อยๆของท่าน เช่นว่า "ลูกรัก จงรักกันและกันเถิด" "ลูกที่รักทั้งหลาย เราอย่ารักกันแต่
ปากเพียงด้วยคำพูดเท่านั้น แต่จงรักกันด้วยการกระทำและด้วยความจริง" "เพราะผู้ไม่รักพี่น้องที่เขาแลเห็นได้
ย่อมไม่รักพระเจ้าที่เขาแลเห็นไม่ได้" "ผู้ใดรัก ก็มีชีวิตของพระเจ้าในตัวเขา พระเจ้าทรงเป็นความรัก"

นักบุญยอห์นได้อาศัยอยู่ที่เมืองเอเฟซัสจนอายุชรามาก โดยท่านได้กลับจากเกาะปัทมอสเมื่อ
พระจักรพรรดิสิ้นชีพลง ท่านเป็นอัครสาวกที่สิ้นชีพเป็นคนสุดท้าย นักบุญยอห์นได้รับความเคารพในฐานะ
เป็นองค์อุปถัมภ์ของแคว้นเอเซียไมเนอร์ และถูกอ้อนวอนขอยามเมื่อฝนตกหนัก ลูกเห็บตก และฟ้าแลบ
ฟ้าร้องที่รุนแรง

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ธ.ค. 28, 2022 8:13 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๘ ธันวาคม
ทารกผู้วิมล
Holy Innocents

เรื่องของทารกผู้วิมลถูกเล่าไว้ในพระวรสารนักบุญมัทธิว บทที่ ๒:๑๖-๑๘ และครั้งนั้น
กษัตริย์เฮโรด เมื่อทราบว่าพระองค์ถูกลวงโดยพวกนักปราชญ์ทั้งสาม ก็โกรธจัด สั่งให้
ทหารฆ่าทารกชายอายุตั้งแต่ ๒ ขวบลงมาในเมืองเบ็ธเลเฮมและเมืองชายแดน เหตุการณ์นี้
สำเร็จตามคำทำนายของประกาศกเยเรมีห์ที่ว่า "มีเสียงร้องไห้คร่ำครวญในรามาห์ ราเชลร่ำไห้
ต่อการตายของลูกๆ เธอไม่รับการปลอบบรรเทาใดๆ"

พิธีกรรมทางกรีกกล่าวว่าเฮโรดฆ่าเด็กจำนวน ๑๔,๐๐๐ คน ทางซีเรียกล่าวว่า ๖๔,๐๐๐ คน และ
นักเขียนในยุคกลางเล่าว่า ๑๔๔,๐๐๐ คนตามหนังสือวิวรณ์บทที่ ๑๔ ข้อ ๓ แต่นักเขียนยุคใหม่
ลดจำนวนเด็กลงอย่างมากเพราะเบ็ธเลเฮมเป็นเมืองค่อนข้างเล็ก Knabenbauer กล่าวว่ามีเพียง
๑๕ หรือ ๒๐ คน Bisping ว่ามี ๑๐ หรือ ๑๒ คน และ Kellner คิดว่ามีเพียง ๖ คน

อย่างไรก็ตาม การกระทำอันโหดร้ายของเฮโรดครั้งนี้ไม่ได้ถูกกล่าวถึงโดยฟลาวิอุส โยเซฟุส
(Flavius Josephus) นักประวัติศาสตร์ชาวยิวแม้ว่าเขาจะได้เล่าถึงเหตุการณ์เลวร้ายหลายอย่าง
ที่กษัตริย์องค์นี้ได้ทรงปฏิบัติในปีท้ายๆ ของรัชสมัย จำนวนเด็กที่เสียชีวิตอาจน้อยจนดูไม่สำคัญ
เมื่อเทียบกับพฤติกรรมอื่นๆ ของเฮโรด

มาโครบิอุส (Macrobius) เล่าว่าเมื่อจักรพรรดิออกุสตุสทรงทราบว่าลูกชายเฮโรดถูกสังหารด้วย
คำสั่งของเขาเอง พระองค์ตรัสว่า "เป็นหมูของเฮโรดยังดีกว่าเป็นลูกชายของเขา" ตามกฎบัญญัติ
ของชาวยิวห้ามรับประทานเนื้อหมูดังนั้น หมูจึงไม่ถูกฆ่า พระศาสนจักรยุคกลางเชื่อถือเรื่องการสังหาร
ทารกผู้วิมล อเบลาร์ด (Abelard) ได้บรรจุบทขับร้องวันฉลองทารกผู้วิมลไว้ในหนังสือพิธีกรรมที่เขาเขียน

เราไม่อาจกำหนดแน่นอนถึงวันเวลาการตายของทารกผู้วิมล ที่เรารู้คือพวกทารกถูกสังหารภายในเวลา
๒ ปีนับแต่การปรากฏของดวงดาวแก่นักปราชญ์ทั้งสาม พระศาสนจักรถือว่าทารกเหล่านี้เป็นมรณสักขี
นักบุญออกัสตินกล่าวในบทเทศน์ของท่านว่าเด็กเหล่านี้เป็นหน่อแรกของพระศาสนจักรที่ถูกเบียดเบียน
พวกเขาไม่เพียงแต่พลีชีพเพื่อพระคริสต์เท่านั้น แต่ยังสิ้นใจในพระองค์ด้วย

พระศาสนจักรกำหนดให้มีการฉลองรำลึกถึงทารกผู้วิมลแต่เมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐาน แต่คงจะไม่เกิน
สิ้นศตวรรษที่ ๔ และไม่ช้าไปกว่าปลายศตวรรษที่ ๕

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 31, 2022 8:36 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๙ ธันวาคม
นักบุญโทมัส เบ็คเก็ต
St. Thomas Becket

โทมัสเกิดเมื่อปี ๑๑๑๗ ที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ครอบครัวของท่านศรัทธาในศาสนา
มารดาของโทมัสกลับใจเป็นคริสตชนเพราะตัวอย่างชีวิตของสามี โทมัสได้รับการอบรมอย่างดี
ท่านเรียนที่อารามนักพรตและต่อมาในโรงเรียนที่ลอนดอน เมื่อบิดามารดาเสียชีวิต โทมัสตัดสินใจ
เรียนกฎหมายพระศาสนจักร ท่านประสบความสำเร็จและได้ทำงานเป็นเลขานุการของศาลในลอนดอน

หลังจากทำงานช่วงเวลาหนึ่ง โทมัสก็ตัดสินใจสละชีวิตที่เหลือเพื่อพระเจ้า ท่านเรียนเตรียมเป็นพระสงฆ์
และที่สุด ได้รับศีลบวช คุณพ่อโทมัส เบ็คเก็ตมีชื่อเสียงในความศักดิ์สิทธิ์และการทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์
จนเป็นที่สนพระทัยของกษัตริย์เฮนรี ที่ ๒ ดังนั้น ในปี ๑๑๕๗ โทมัสได้รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระองค์
ต่อมา สังฆราชแห่งแคนเทอร์เบอรีเสียชีวิต กษัตริย์มีพระประสงค์ให้โทมัสได้รับเลือกสืบทอดตำแหน่ง
โทมัสเตือนพระองค์ว่าเรื่องนี้อาจเป็นสาเหตุสร้างปัญหาภายหน้า แต่ท่านก็ยอมรับหน้าที่ในที่สุด

ในฐานะสังฆราช โทมัสทำงานรับใช้ช่วยเหลือผู้คน ท่านทำพลีกรรมใช้โทษบาปและเอื้ออารีอย่างยิ่ง
ต่อคนจน ท่านให้ทั้งเวลาและเงินทองแก่พวกเขา แต่กษัตริย์เฮนรีเริ่มจะเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นกับกิจการ
ภายในของพระศาสนจักร และที่สุดทำให้เกิดความเห็นไม่ตรงกัน โทมัสเดินทางไปฝรั่งเศสพักหนึ่ง
เมื่อกลับมา ท่านก็มีเหตุขัดแย้งกับกษัตริย์อีกอัศวินบางคนของกษัตริย์ถือว่าท่านทรยศและลงมือสังหารท่าน
ในอาสนวิหาร กษัตริย์เฮ็นรีเสียพระทัย พระองค์ประกอบกิจใช้โทษบาปที่หลุมฝังศพของท่าน ภายหลัง
สุสานของโทมัสได้กลายเป็นสถานที่มีชื่อเสียงสำหรับการจาริกแสวงบุญ

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 31, 2022 8:37 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ 30 ธันวาคม
นักบุญอานีเซีย มรณสักขีแห่งกรีซ
St. Anysius

ท่านเป็นสตรีมั่งคั่งของเมือง Salonika ใน Thessaly ท่านใช้ทรัพย์สินเงินทองช่วยเหลือ
คนยากจน วันหนึ่ง ท่านถูกทหารจับตัวบนถนนและถูกลากไปยังสถานบูชายัญของคนต่าง
ศาสนา ท่านขัดขืนจึงถูกทหารคนนั้นสังหารด้วยดาบ

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 31, 2022 8:40 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๑ ธันวาคม
นักบุญ พระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์
St. Sylvester, Pope

ซิลเวสเตอร์เกิดที่โรมประมาณปี ๒๕๐ เมื่อเยาว์วัย ท่านได้รับการอบรมเรื่องการปฏิบัติศาสนา
และศึกษาพระคัมภีร์จากพระสงฆ์คนหนึ่ง ซิลเวสเตอร์ชอบจัดหาที่พักให้ชาวคริสต์ที่เดินทางมาโรม
ท่านจะล้างเท้า เสิร์ฟอาหาร และจัดแจงข้าวของที่จำเป็นให้พวกเขา

คริสตชนคนหนึ่งที่ซิลเวสเตอร์เป็นเจ้าบ้านรับรองคือทิโมธีจากเมืองอันติโอก ทิโมธีเทศน์ประกาศ
ความเชื่ออย่างเปิดเผย ชาวเมืองกลัวภัยจึงไม่กล้าให้ที่พำนัก แต่ซิลเวสเตอร์กลับถือว่าเป็นเกียรติ

ทิโมธีประกาศพระวรสารของพระเยซูคริสต์อย่างร้อนรนที่โรมเป็นเวลา ๑ ปีโดยพักอยู่กับซิลเวสเตอร์
เมื่อทิโมธีเสียชีวิตโดยการเป็นมรณสักขี ซิสเวสเตอร์ช่วยในการฝังร่างเขา แต่ท่านกลับถูกกล่าวหาว่า
ลักซ่อนสมบัติของทิโมธี และถูกผู้ปกครองเมืองสั่งจำคุก

ซิลเวสเตอร์ตอบข้อกล่าวหาว่า "สิ่งที่ทิโมธีทิ้งไว้ให้ข้าพเจ้าคือมรดกความเชื่อและความกล้าหาญของเขา"

แล้ววันหนึ่งผู้ปกครองเมืองเสียชีวิตเพราะก้างปลาติดคอ ผู้ดูแลคุกปล่อยซิลเวสเตอร์ให้เป็นอิสระ เรื่องราว
ความกล้าหาญของซิลเวสเตอร์ทราบไปถึงพระสันตะปาปา Melchiades พระองค์จึงบวชให้เขาเป็นสังฆานุกร

การเบียดเบียนคริสตชนรุนแรงมากขึ้นในสมัยของจักรพรรดิ Diocletian คริสตชนจำนวนมากถูกนำตัวมา
นมัสการเทวรูป มิฉะนั้นจะถูกสังหาร ซิลเวสเตอร์พระสงฆ์หนุ่ม ได้ให้กำลังใจผู้ยืนยันซื่อสัตย์ในความเชื่อ
และเลือกจะตายเยี่ยงมรณสักขี ช่วงเวลานี้พระเจ้าทรงช่วยซิลเวสเตอร์จากอันตรายถึงชีวิตหลายครั้ง

หลังจากพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ในปี ๓๑๔ ซิลเวสเตอร์ก็ได้รับเลือกเป็นสันตะปาปา ท่านดูแล
พระศาสนจักร จนถึงปี ๓๓๕ ท่านมีบทบาทสำคัญในสังคายนาเมืองนิเชีย และเป็นผู้ประกอบพิธีล้างบาป
ให้จักรพรรดิคอนสแตนติน อันนำไปสู่ยุครุ่งเรืองของพระศาสนจักร

มีเรื่องเล่าว่าก่อนกลับใจเป็นคริสตชน คอนสแตนตินติดเชื้อโรคเรื้อน แล้วคืนหนึ่ง นักบุญเปโตรและ
เปาโลปรากฏแก่พระองค์บอกให้ไปพบพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ผู้จะรักษาพระองค์ให้หายด้วย
การล้างบาป เมื่อพระองค์ทำตาม ก็ทรงหายจากโรค

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 31, 2022 8:40 pm

:s002: :s002: :s002:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 02, 2023 7:08 pm

:s005: :s005: :s005:
ตอบกลับโพส