เรื่องดีๆจากหนังสือ สรรสาระชุดที่ (16 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 21, 2023 7:36 pm

❤❤พลังรักของแม่ (A Mother’s Love) ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2541
โดย Joseph A. Reaves และจากกูเกิ้ล
เเปลและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ไฟนีออนที่มีอยู่ดวงเดียวในห้องคนไข้สามัญของโรงพยาบาลกลางฟิลิปปินส์กะพริบแสง
สร้างเงาที่ชวนขนลุกบนใบหน้าของหนูน้อยซีซาร์ มาตา (Caesar Mata)

“แม่ครับ ผมกำลังจะตาย” ซีซาร์พูดเสียงแผ่วเบา

“ไม่หรอก ลูกไม่เป็นอะไรหรอก” ผู้เป็นแม่พึมพำตอบ พลางเอามือลูบหน้าผากลูกน้อย

เออร์ม่า มาตา (Erma Mata) กับสามีพยายามรักษาและวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือให้แก่
ลูกชายซึ่งป่วยเป็นโรคโลหิตเป็นพิษชนิดที่รักษาไม่หายจนเงินที่สะสมไว้หมดเกลี้ยง ซีซาร์อายุ
เกือบ 9 ขวบ แต่หนักเพียง 13.5 กิโลกรัมและสูงเพียง 96 เซนติเมตร หมอบอกว่าเด็กจะมีชีวิตอยู่
ได้อีกไม่กี่ปี และแนะนำว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่อาจรักษาโรคนี้ได้ แต่ครอบครัวของ
เธอจะไปสหรัฐฯ ได้อย่างไรกัน

ในคืนร้อนอบอ้าวเดือนมิถุนายน 2526 ขณะที่ลูกชายผล็อยหลับไป ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้น
ในสมองของเออร์ม่า เธอจะเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เพราะได้ยินมาว่าท่าน
เป็นคนดี เธอบอกกับตัวเองว่า

“ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จะต้องช่วยได้แน่นอน”

มีแต่ความสิ้นหวังของคนจนตรอกเท่านั้นที่จะโน้มนำให้หญิงชาวนาขวัญกระเจิงจากฟิลิปปินส์
คิดเช่นนี้ได้ แต่เออร์ม่าไม่ใข่คนที่ยอมแพ้ง่าย ๆ

(at)สัญญาณบอกเหตุ

ซีซาร์ ต่างจาก “ดอน” พี่ชายตรงที่เป็นคนตัวเล็กไม่สมวัย เด็กน้อยปัสสาวะขัดบ่อยแต่ก็ไม่เคย
บ่นและอดทนเหมือนแม่

ไม่นานหลังวันเกิดครบ 4 ขวบในปี 2521 เนื้อตัวของซีซาร์ดูซีดและอ่อนเพลียมาก
“ต้องรีบพาเด็กส่งโรงพยาบาลในกรุงมะนิลานะ” หมอในตัวจังหวัดเตือนเออร์ม่า

คืนนั้น เออร์ม่าเล่าเรื่องที่หมอบอกให้สามีฟังด้วยน้ำตานองหน้า สองสามีภรรยามีเงินรวมกันแค่
8 เปโซ (ราว 10 บาทกว่าในตอนนั้น) และจังหวัดอัลเบย์ (Albay) ก็อยู่ห่างจากมะนิลาถึง 340 กิโลเมตร
ผู้เป็นพ่อมีอาชีพขับรถจี๊ปนีย์โดยสารรับจ้าง

ญาติพี่น้องทุกคนยากจน แต่ยายของเออร์ม่าก็อุตส่าห์ให้ลูกหมูตัวหนึ่งมาขายพอได้เงินบ้าง
ซีซาร์กับพ่อแม่เดินทางเข้ากรุงมะนิลาด้วยรถกระบะที่ขอยืมมาจากเพื่อนบ้าน

หมอที่โรงพยาบาลกลางฟิลิปปินส์บอกว่า ซีซาร์เป็นโรคทาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเกิดจาก
ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ โรคนี้จะขัดขวางการสร้างเม็ดโลหิตแดงและทำให้เกิดโรคโลหิตจางอย่าง
รุนแรง เออร์ม่าไม่เข้าใจคำอธิบายยืดยาวของหมอ แต่จับความได้เพียงว่า โรคนี้ไม่มีทางรักษา
ให้หายขาดได้

“คงทำอะไรไม่ได้นอกจากถ่ายเลือดให้ลูกของคุณ เมื่อเม็ดเลือดแดงลดจำนวนลงถึงขีดอันตราย”
หมอบอกเธอ ธาตุเหล็กซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตแดงจะค่อย ๆ สะสมในตัวของ
ซีซาร์ ผลจาการถ่ายเลือดหลายครั้งจะทำให้เด็กเติบโตช้าไม่สมอายุและท้ายสุดจะไปทำลายหัวใจ ตับ
และการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ คนไข้ที่เป็นโรคนี้อย่างรุนแรงมักเสียชีวิตก่อนพ้นวัยหนุ่มสาว

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.พ. 22, 2023 8:31 pm

❤❤พลังรักของแม่ (A Mother’s Love) ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2541
โดย Joseph A. Reaves และจากกูเกิ้ลแปลเเละเรียบ้รียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)มุ่งมั่นไม่ลดละ

“ไม่ต้องห่วงหรอกลูก” เออร์ม่าพูดกับซีซาร์ขณะนั่งรถประจำทางกลับบ้านต่างจังหวัด
แต่ในส่วนลึกแล้ว เธอไม่ค่อยมั่นใจนัก

เออร์ม่าไม่ใช่คนที่ชอบยกความยากจนเป็นข้ออ้าง เธอมีพี่น้อง 12 คน เคยเป็นเด็กเรียนดี
และสั่งสมจิตสำนึกแห่งการต่อสู้ชีวิตมาโดยตลอดอย่างไม่ย่อท้อ
จิตสำนึกส่วนนี้กำลังถูกทดสอบชนิดถึงแก่น ในช่วง 2-3 ปีต่อมา เออร์ม่ากับลูกชายต้องเดิน
ทางไปกลับระหว่างบ้านในต่างจังหวัดกับกรุงมะนิลาเป็นระยะทาง 670 กิโลเมตรทุก 6-12 สัปดาห์
เพื่อถ่ายลือด เออร์ม่ากล้ำกลืนศักดิ์ศรีเพื่ออ้อนวอนขอตั๋วโดยสารจากการรถไฟฟิลิปปินส์และบริษัท
รถโดยสารประจำทาง

ครั้งหนึ่งเธอเดินเป็นเวลาหลายชั่วโมงมุ่งหน้าสู่ทำเนียบ “มาลากาญัง” (Malacañang) ของ
ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส เสื้อผ้าเก่าซอมซ่อทำให้เธอรู้สึกสังเวชและอายตัวเองที่ต้องมา
ยืนอยู่หน้าอาคารหรูหราระดับชาติแห่งนี้ แต่ลูกของเธอกำลังป่วยซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
เธออ้อนวอนเลขานุการทำเนียบจนได้บัตรสีแดงสำหรับให้ลูกชายเข้าตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการของ
โรงพยาบาลรัฐบาลโดยไม่ต้องเสียเงิน

เออร์ม่าขอความช่วยเหลือไปทั่วทุกหนทุกแห่งในกรุงมะนิลา เรื่องราวความบากบั่นของเธอ
สร้างความประทับใจให้บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ “The Manila Bulletin” ”ซีซาร์ไม่รู้ตัวว่าความตาย
กำลังคืบคลานใกล้เข้ามาทุกที” นี่คือข้อความในบทความซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2522 พร้อม
ลงรูปชวนสลดใจของซีซาร์ และคำสวดอ้อนวอนของเออร์ม่าขอให้ได้พบ “คนดีมีน้ำใจที่ยินดีช่วย
ให้ลูกชายของฉันรอดพ้นความตาย”

“เด็กคนนี้อาจเป็นลูกของฉันก็ได้” เชเช ลาซาโร (Che Che Lasaro) ดาราชื่อดังรำพึงเมื่อเห็น
เด็กขาโก่งอย่างซีซาร์จ้องเธอจากหน้าหนังสือพิมพ์ ลาซาโรเริ่มแวะเวียนไปเยี่ยมดูอาการของซีซาร์
ที่โรงพยาบาล โดยมีของขวัญติดมือไปและให้เงินแม่ของเขาไว้เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย

แซลลี่ โอลิเวรอส (Sally Oliveros) เลขานุการอธิบดีกรมสรรพากรฟิลิปปินส์ เป็นอีกคนหนึ่ง
ที่รู้สึกสะเทือนใจ เธอทำความรู้จักกับเออร์ม่าและช่วยหางานให้ทำที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน

พ่อของซีซาร์ซึ่งกำลังหางานใหม่เพื่อจะมีรายได้มากขึ้นได้ข่าวว่าบริษัทแห่งหนึ่งในซาอุดีอาระเบีย
ต้องการช่างเครื่องยนต เออร์ม่าบอกให้สามีไปสมัครแต่เขาไม่ยอม ทั้งคู่ทะเลาะกันอยู่หลายวัน
แต่เออร์ม่าไม่ยอมแพ้ เพราะนี่เป็นวิธีเดียวที่สามีจะช่วยครอบครัวได้ ในที่สุด สามีก็ออกเดินทางไป
ซาอุดีอาระเบียในปี 2524

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.พ. 23, 2023 3:36 pm

❤❤พลังรักของแม่ (A Mother’s Love) ตอนที่ ( 3 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2541
โดย Joseph A. Reaves และจากกูเกิ้ล แปลเเละเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)จดหมายถึงเรแกน

สองปีต่อมา อาการของซีซาร์ทรุดหนัก ม้ามทำงานผิดปกติและกินเม็ดโลหิตแดงอย่างต่อเนื่อง
หมอที่โรงพยาบาลกลางฟิลิปปินส์คิดจะผ่าตัดม้ามทิ้ง แต่ซีซาร์ผอมและตัวเล็กเกินไป

ภาพลูกชายนอนซมอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลช่วงนั้นบันดาลใจให้เออร์ม่าลงมือเขียนจดหมาย
ไปสหรัฐฯ เธอเขียนแบบเด็กนักเรียนคัดลายมือ อธิบายอดีตที่แสนเศร้าและอนาคตอันมืดมนของซีซาร์
รวมทั้งความสิ้นหวังแทบหมดกำลังใจของคนในครอบตรัว “ได้โปรดช่วยต่อชีวิตลูกดิฉันด้วยค่ะ”
เออร์ม่าบรรจงเขียน พร้อมแนบรูปถ่ายและประวัติคนไข้ใส่ซองจ่าหน้าถึงนางแนนซี่ เรแกน โดยไม่ลืม
ฝากความนับถือไปยังประธานาธิบดีเรแกนด้วย

หน่วยตรวจสอบติดตามการสื่อสารของทำเนียบประธานาธิบดีเรแกน ส่งจดหมายของเธอต่อไป
ให้สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ พร้อมทั้งแจ้งให้ทางสถาบันฯ “ตอบโดยตรง”

6 สัปดาห์ต่อมา เออร์ม่าใจชื้นขึ้นเมื่อได้รับจดหมายจาก “โคลด ลังฟังต์” (Claude Lenfant)
ผู้อำนวยการสถาบันโรคหัวใจ ปอด และโลหิตแห่งชาติในสังกัดของสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ
คุณลังฟังต์เขียนตอบมาว่า แพทย์ที่สถาบันฯ กำลังวิจัยโรคทาลัสซีเมียอยู่ การรักษาด้วยยาแบบเดิม
จะไม่หายขาด และต้องถ่ายเลือดคนไข้ตลอดไป แต่คณะแพทย์จะใช้วิธีกำจัดธาตุเหล็กที่สะสมอยู่ใน
เลือดออกจากร่างกาย เป็นการป้องกันไม่ให้อวัยวะสำคัญเสียหายในระยะยาวซึ่งมักทำให้คนไข้เสียชีวิต
ในที่สุด

คุณลังฟังต์ระบุในจดหมายด้วยว่า การรักษาของสถาบันฯ มีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 4,000 เหรียญ
คนไข้ต้องเข้ารับการตรวจเลือดและตัดเนื้อวินิจฉัยโรคที่สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติในรัฐแมรี่แลนด์
ปีละครั้ง

เออร์ม่ามุ่งมั่นจะหาทางพาลูกชายไปสหรัฐฯ ให้จงได้ ระหว่างนั้น เธอจะคอยดูแลให้ลูกก้าวผ่าน
ช่วงวิกฤติต่าง ๆ โดยไม่สิ้นหวัง ซีซาร์กล้าหาญและเด็ดเดี่ยวเหมือนแม่ จึงรอดพ้นปัญหาเรื่องม้ามผิด
ปกติมาได้และเอาใจใส่การเรียนจนจบการศึกษาจากสถาบันเลกัสปีซิตี้ (Legazpi City)

โปรดติดตามตอนที่ ( 4. )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.พ. 24, 2023 12:54 pm

❤❤พลังรักของแม่ (A Mother’s Love) ตอนที่ ( 4 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2541
โดย Joseph A. Reaves และจากกูเกิ้ลเเปลเเละเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ไม่ยอมแพ้ (1)

ปลายปี 2536 สิบปีหลังจากเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีเรแกน เออร์ม่าได้รับ
จดหมายจากนายแพทย์อาเธอร์ นีนฮุส (Arthur W. Nienhuis) ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านโรค
ทาลัสซีเมีย ก่อนหน้านั้นเมื่อครั้งประจำอยู่ที่สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ นายแพทย์นีนฮุสเคย
เขียนเล่าความก้าวหน้าของงานวิจัยล่าสุดเรื่องโรคนี้ให้เออร์ม่าทราบ ตอนนี้ท่านเป็นผู้อำนวยการ
โรงพยาบาลวิจัยโรคเด็กเซนต์จู๊ด (St. Jude Children's Research Hospital) เมืองเมมฟิส
รัฐเทนเนสซี่ ทางโรงพยาบาลยินดีรักษาซีซาร์โดยไม่คิดมูลค่า รวมทั้งออกค่าเครื่องบินในสหรัฐฯ
และจัดที่อยู่ในเมืองเมมฟิสให้ด้วย ขอเพียงจัดส่งเด็กคนไข้ไปยังเมืองใดก็ได้ในสหรัฐฯ หลังจากนั้น
ทางโรงพยาบาลเซนต์จู๊ดจะดูแลรับผิดชอบทั้งหมด

นี่แหละคือสิ่งที่เออร์ม่าอยากได้เหนือสิ่งอื่นใด เธอติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังเชเช ลาซาโร
ซึ่งเป็นธุระจัดหาตั๋วเครื่องบินฟรีของสายการบินฟิลิปปินส์ให้สองแม่ลูก หลายเดือนต่อมาในกลาง
ปี 2537 เออร์ม่าและลูกชายก็ได้เดินทางไปถึงสหรัฐฯ

ซีซาร์สูงแค่ 122 เซนติเมตรทั้งที่อายุเกือบ 20 ปี ในใจของเขาเอ่อล้นด้วยความหวังขณะเดิน
เข้าไปในโรงพยาบาลเซนต์จู๊ดพร้อมแม่

เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว ซีซาร์ก็บินกลับลอสแอนเจลิสเพื่อเข้ารับการรักษา
ขั้นต้น แพทย์ผ่าตัดม้ามและถุงน้ำดีของเขาทิ้ง เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียเม็ดโลหิตแดงอย่าง
ต่อเนื่องและลดความจำเป็นในการถ่ายเลือดเป็นประจำ นายแพทย์บารอน ประธานแพทยสมาคม
ฟิลิปปินส์แห่งรัฐแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ผ่าตัดให้โดยไม่คิดเงิน และรับสองแม่ลูกมาอยู่ที่บ้าน พร้อม
ให้การดูแลโดยไม่ขาดตกบกพร่องตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ซีซาร์พักฟื้น

ชาวฟิลิปปินส์ในสหรัฐฯ ประทับใจในความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของซีซาร์และพลังรักลูกอย่างสุดใจ
ชองเออร์ม่า จึงยื่นมือเข้าช่วยในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งแจ้งข่าวความคืบหน้าด้านการรักษาซีซาร์
ให้บรรดาผู้ช่วยของอดีตประธานาธิบดีเรแกนและภรรยาทราบ

วันหนึ่ง เออร์ม่าได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่า อดีตประธานาธิบดีเรแกนและภรรยาต้องการพบซีซาร์,
เออร์ม่า, และนายแพทย์บารอน

“เราจะได้เข้าพบอดีตประธานาธิบดีเรแกน เออร์ม่าตะโกนร้องด้วยความดีใจ “เหลือเชื่อจริง ๆ”

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 02, 2023 7:44 pm

❤❤พลังรักของแม่ (A Mother’s Love) ตอนที่ ( 5 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2541
โดย Joseph A. Reaves และจากกูเกิ้ล
แปลเละเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ไม่ยอมเเพ้ (2)

เมื่อถึงเวลานัดหมายที่สำนักงานส่วนตัวของเรแกนในรัฐแคลิฟอร์เนีย อดีตประธานาธิบดี
เรแกนออกมาทักทายพวกเขาอย่างอบอุ่น เรแกนจับมือน้อย ๆ ของซีซาร์ ส่วนเออร์ม่าตื้นตัน
จนพูดไม่ออก พลางนึกย้อนไปถึงเย็นวันที่ตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากอดีตประธานาธิบดี
แห่งสหรัฐฯ ท่านนี้

หลังจากนั้นไม่นาน ซีซาร์เดินทางกลับไปโรงพยาบาลเซนต์จู๊ดเพื่อให้แพทย์เอาธาตุเหล็ก
ที่สะสมไว้เกินขนาดออก ธาตุเหล็กนี้เกิดจากการถ่ายเลือดติดต่อกันมานานหลายปี คณะผู้
เชี่ยวชาญ ด้านต่อมไร้ท่อพัฒนาระบบการชดเชยฮอร์โมนขึ้นมาใช้กับเขาโดยเฉพาะ

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ซีซาร์สูง 155 เซนติเมตรซึ่งสูงกว่าเมื่อครั้งเริ่มเข้ารับการรักษาในสหรัฐฯ
ถึง 33 เซนติเมตร ซีซาร์ดูแลให้ยาตัวเองตลอดเวลาที่อยู่บ้านในฟิลิปปินส์ และไม่
ต้องถ่ายเลือดอีกเลยหลังผ่าตัดเอาม้ามออกในปี 2537

ซีซาร์เรียนต่อระดับอุดมศึกษาในเมืองเลกัสปีซิตี้ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไม่กี่กิโลเมตร
“ผมอยากศึกษาเรื่องโรคที่ผมเป็น” ซึซาร์ซึ่งตั้งความหวังไว้ว่าอยากเป็นแพทย์วิจัยบอก “อาชีพนี้
จะช่วยให้ผมมีโอกาสทดแทนบุญคุณผู้คนที่เคยช่วยผม”

นายแพทย์นีนฮุสคกล่าวว่า ซีซาร์เป็นหนึ่งในคนไข้โรคทาลัสซีเมียกลุ่มแรกที่เข้ารับการรักษา
ด้วยกรรมวิธีบำบัดด้วยยีนทันทีที่ทำได้ ระหว่างนี้ ซีซาร์มีชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปเกือบทุกอย่าง

ตอนไปที่โรงพยาบาลเซนต์จู๊ดครั้งแรก พยาบาลมอบเสื้อยืดให้เออร์ม่าและซีซาร์คนละตัว
บนเสื้อมีคติประจำโรงพยาบาลเขียนไว้ว่า “จงอย่ายอมแพ้เป็นอันขาด” และนี่ก็เป็นคติประจำใจ
ที่เออร์ม่ายึดมั่นปฏิบัติมาตลอดชีวิตเช่นกัน

**********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 02, 2023 7:48 pm

🎶🎶เพื่อดนตรีอันเป็นที่รัก ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2541
โดย Linda DeLibero และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

จอน นากามัตสึ (Jon Nakamatsu เกิดปี 2511 ที่เมืองซานโฮเซ่ แคลิฟอร์เนีย)
กวาดตามองผู้ชมในห้องแสดงคอนเสิร์ตที่ “Fort Worth, Texas” และพูดกับตัวเองว่า นี่คือการเล่น
เปียโนครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต หนุ่มอเมริกันวัย 28 ปีในขณะนั้นกำลังจะแสดงในรอบชิงชนะเลิศ
ของการแข่งขันเปียโนนานาชาติ “Van Cliburn International Piano Competition” ประจำปี 2540
ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดของวงการดนตรีโลก

เส้นทางอาชีพดนตรีคลาสสิกของจอนแตกต่างกับผู้เข้ารอบสุดท้ายคนอื่น ๆ ซึ่งล้วนสำเร็จการ
ศึกษาจากวิทยาลัยดนตรีที่มีชื่อเสียง และมีเวลาฝึกฝนทั้งวันทั้งคืน ขณะที่จอนทำงานเป็นครูใน
โรงเรียนมัธยมตลอดช่วง 6 ปีหลัง และเรียนเปียโนกับครูคนเดิมมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ

“ผมไม่เหมาะกับเวทีนี้” จอนนึกในใจ ซึ่งไม่ต่างไปจากทัศนะของนักวิจารณ์ดนตรีที่ตั้งข้อสังเกตว่า
แม้จอนจะได้เปรียบที่เป็นชาวอเมริกันคนเดียวที่เหลืออยู่ในการแข่งขัน แต่ฝีมือยังไม่ทัดเทียมบรรดา
คู่แข่งขันรายอื่นซึ่งต่างช่ำชองกับการแสดงบนเวที สถิติยังตอกย้ำด้วยว่า ชาวอเมริกันไม่เคยได้รับ
รางวัลการแข่งขันรายการนี้เลยตลอดช่วง 16 ปีที่ผ่านมา

คาสมัน (Yakov Kasman) จากรัสเซียเป็นผู้เข้าแข่งขันโดดเด่นที่สุด เมื่อคืนวานเพิ่งโชว์การเล่นเปียโน
คอนแชร์โตหมายเลช 3 “Rach III” ซึ่งขึ้นชื่อว่าเล่นยากมากและภาพยนตร์เรื่อง “Shine” นำไปเผยแพร่
จนโด่งดัง คาสมันสามารถใส่อารมณ์ได้อย่างถึงแก่นและมีพลังยิ่ง และนี่คือเพลงที่จอนจะเล่นในการแสดง
รอบชิงชนะเลิศ

ขณะยืดคลายนิ้วด้วยความกระวนกระวายใจ เขานึกถึงคำพูดของมารีนา (Marina Derryberry)
ครูเปียโนที่เตือนว่า “จอน อย่าเล่นเพียงเพราะต้องการเอาชนะ แต่จงเล่นด้วยความรู้สึกรักดนตรี”

นานนับ 22 ปีตั้งแต่วันที่ครูมารีนา ยิ้มกว้างต้อนรับเด็กน้อยวัย 6 ขวบหน้าประตูบ้านของเธอที่เมือง
“Sunnyvale” รัฐแคลิฟอร์เนีย ตอนนั้น ครูมารีนาคิดแต่เพียงว่า ดวงตาของเด็กน้อยฉายแววกระตือรือร้น
และเฉลียวฉลาด แต่ก็ยังเด็กเกินกว่าจะทนนั่งหน้าเปียโนนาน ๆ ได้

ปกติ มารีนาจะไม่รับเด็กอายุน้อยเช่นนี้ แต่เดวิด นากามัตสึ (David Nakamatsu) เป็นเพื่อนสนิทของ
สามีเธอ “ลูกชายผมรบเร้าไม่เลิกราให้พาไปเรียนเปียโน” เดวิดบอก

วันนั้น เด็กน้อยตื่นเต้นจนระงับใจไม่อยู่เมื่อเห็นแกรนด์เปียโนหลังมหึมา “ผมขอลองเล่นได้ไหมครับ”
จอนวิงวอน

มารีนาเฝ้ามองขณะที่นิ้วน้อย ๆ พลิ้วพรมลงบนคีย์ขาวดำ ขาสั้น ๆ แกว่งลอยอยู่เหนือที่เหยียบที่ยัง
แตะไม่ถึง “เล่นได้ดีทีเดียว” มารีนานึกในใจ “มีความมุ่งมั่นดี”

มารีนามองเห็นตั้งแต่แรกว่า เด็กน้อยมีพรสวรรค์และมีวินัย อีกทั้งยังมีความผูกพันกับเครื่องดนตรี
อย่างลึกซึ้งซึ่งเป็นลักษณะที่หาได้ยาก “เอาละ” มารีนาเอ่ยขึ้น “ช่วงแรกจะสอนให้ 10 ครั้ง
หลังจากนั้นค่อยตกลงกันอีกที”

โปรดติดตามตอนที่ ( 2. )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 02, 2023 7:52 pm

🎶🎶เพื่อดนตรีอันเป็นที่รัก ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2541
โดย Linda DeLibero และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

จอนเพลิดเพลินอย่างยิ่งในชั่วโมงที่ครูมารีนาสอนวิธี “เข้าถึงอารมณ์เพลง” ในแต่ละท่อน
ของแต่ละบท “อย่าเล่นตามโน้ตเฉย ๆ แต่ค้นหาอารมณ์ความรู้สึกของเพลงด้วย”

มารีนาบอกกับพ่อแม่ของจอนในเวลาต่อมาว่า จอนเป็นเด็กที่มีศักยภาพสูงและน่าจะเรียนเปียโน
อย่างจริงจัง แต่พ่อแม่ของจอนซึ่งเป็นลูกหลานชาวญี่ปุ่นอพยพที่ก่อร่างสร้างตัวด้วยการทำงานหนัก
เกรงว่า การเล่นดนตรีอาจไม่มั่นคงสำหรับอนาคตของจอน

“จอนจะเลี้ยงตัวด้วยอาชีพนี้ได้ไหมครับ” เดวิดตั้งข้อสงสัย
“ค่อนข้างยากค่ะ” มารีนายอมรับ เธออธิบายว่า นักเปียโนอายุน้อยที่สามารถก้าวไปเป็นศิลปิน
คอนเสิร์ตได้นั้นมีน้อยมาก จำนวนที่มีเป็นพัน ๆ คนจะถูกคัดออกจากวงการอาชีพนี้ไปในการแข่งขัน
ระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ หรือไม่ก็ระดับชาติ

เดวิดกับภรรยาตัดสินใจยอมให้ลูกชายสานฝันที่วาดไว้ แต่ก็พยายามไม่ให้ดนตรีเข้ามากระทบวิถีชีวิต
ตามปกติในเรื่องการเรียน การคบเพื่อน และสายสัมพันธ์กับครอบครัว

จอนพร้อมแสดงเดี่ยวเปียโนครั้งแรกเมื่ออายุ 9 ขวบ เขานั่งลงหน้าแกรนด์เปียโน ตอนนี้เท้าแตะที่เหยียบ
ถึงพอดี ขณะที่ผู้ชมด้านล่างเวทีนั่งรอด้วยใจจดจ่อ ทันใดนั้น ความไม่มั่นใจก็พรั่งพรูขึ้นในสมองว่า
นิ้วจะยอมลื่นไหลไปบนคีย์ตามต้องการหรือไม่ และจะผิดพลาดไหมหนอ เขาสบตาพ่อแม่ และใจชื้น
เมื่อเห็นครูมารีนานั่งอยู่ในหมู่ผู้ชมด้วย เธอสบตาพร้อมกับผงกหัวช้า ๆ ให้ลูกศิษย์

หลังจบการแสดง จอนได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง เขาออกแสดงอีกหลายครั้งและประสบความสำเร็จ
มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกสัมผัสบนคีย์บ่งบอกถึงความมุ่งมั่น โน้ตทุกตัวสะท้อนความหนักแน่นและมีสีสัน
พอจอนอายุ 12 ปี มารีนาติดต่อกับครูของสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงในเมืองฟิลาเดลเฟียเรื่องการรับ
เขาเข้าเป็นศิษย์ของสถาบัน มารีนาอธิบายให้พ่อแม่ของจอนฟังว่า นี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญ แต่ทั้งสอง
ไม่สู้เห็นด้วยเท่าไรนัก
“เราอยากให้จอนมีชีวิตวัยเด็กเหมือนคนอื่น ๆ ดนตรีเป็นสิ่งสำคัญ แต่เขาก็ควรมีพื้นฐานทางวิชาการ
ที่แน่นอนพอจะทำงานในอนาคตได้ด้วย”
อนาคตที่มารีนาวาดหวังไว้ให้จอนพังครืนทันทีเมื่อจอนถามเธอว่า “ผมจะเอาดีทางเล่นคอนเสิร์ตได้ไหมครับ”
มารีนาต้องแสร้งทำเป็นไม่ได้ยิน เธอทราบดีว่า เส้นทางนักเปียโนที่เป็นศิลปินคอนเสิร์ตนั้นตีบตัน
อย่างสิ้นเชิง สำหรับผู้ไม่เคยผ่านการฝึกฝนในระดับวิทยาลัยดนตรี

มารีนาครุ่นคิดอยู่นานและที่สุดก็หาทางให้จอนจนได้ เธอคิดว่าถ้าเด็กในวิทยาลัยดนตรีเรียนและฝึกฝน
ดนตรีกันเป็นกลุ่ม เธอก็จะตั้งกลุ่มให้จอนบ้าง และถ้าพวกเด็ก ๆ ได้มีโอกาสแสดงคอนเสิร์ตมากขึ้น
เธอจะรับหน้าที่เป็นผู้จัดการของจอนเอง รวมทั้งจะจัดคิวให้เขาได้แสดงบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เธอจะ
ติดต่อให้จอนได้เรียนกับนักเปียโนชื่อดัง โดยสรุป มารีนาจะจัดตั้งตนเองมีลักษณะเป็นวิทยาลัยดนตรี
โดยลำพัง ขณะที่จอนซึ่งโตเป็นหนุ่มแล้ว ฝึกซ้อมทุกวัน วันละหลายชั่วโมง

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 02, 2023 7:56 pm

🎶🎶เพื่อดนตรีอันเป็นที่รัก ตอนที่ ( 3 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2541
โดย Linda DeLibero และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เมื่อถึงวัยเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย จอนยอมเดินตามเส้นทางที่พ่อแม่หวังไว้โดยสมัครเข้าเรียน
ต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เลือกเรียนวิชาเอกภาษาเยอรมันและเตรียมตัวออกไปประกอบอาชีพครู

หลังจบการศึกษา จอนสอนวิชาภาษาเยอรมันระดับชั้นมัธยมในเมือง “Mountain View” รัฐแคลิฟอร์เนีย
ความฝันที่จะเป็นศิลปินคอนเสิร์ตดูไกลเกินเอื้อม แต่มารีนายังคงทุ่มเทอย่างเต็มที่ต่อไปเพื่อผลักดัน
ให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จด้านดนตรี และต้องอดหลับอดนอนทั้งคืนบ่อย ๆ เพื่อจัดคิวการแสดง
คอนเสิร์ตให้สอดคล้องกับตารางการสอนของจอน เพื่อนของเธอหลายคนในวงการดนตรีเห็นว่า
การทุ่มเทให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งเช่นนี้ดูจะมากไปหน่อย

จอนฝึกซ้อมเปียโนวันละ 3 ชั่วโมงทุกวันหลังเลิกงาน ขณะที่คู่แข่งขันในวิทยาลัยดนตรีต่างอุทิศตน
ฝึกฝนทั้งกลางวันและกลางคืน

นับแต่เริ่มเข้าแข่งขันจนถึงปี 2538 จอนได้รับรางวัลจากรายการใหญ่ 2 รายการและอีกหลายรางวัล
จากรายการเล็ก ๆ ดูเหมือนว่าในที่สุดการทุ่มเทให้กับดนตรีเริ่มผลิดอกออกผล เขาเดินทางไปกรุงวอร์ซอ
พร้อมกับมารีนา แต่พลาดตกรอบแรกในรายการนี้

“ผมบ้าไปหรือเปล่าที่หลงคิดว่า ครูโรงเรียนมัธยมจะเป็นนักดนตรีฝีมือดีได้” เขาถามตัวเองด้วยความท้อแท้

ในโลกของดนตรีคลาสสิกซึ่งมีการแข่งขันสูงมาก มารีนารู้ดีว่า จอนซึ่งขณะนั้นวัย 27 ใกล้จะหมดเวลาแล้ว
สำหรับวงการนี้ เมื่อกลับไปถึงสหรัฐฯ ผู้จัดการรายหนึ่งพูดกับจอนเรื่องคิวคอนเสิร์ตและรายได้หลังชม
การแสดงของเขา “คุณจำเป็นต้องชนะการแข่งขันรายการใหญ่ ๆ ระดับนานาชาติสักครั้ง” เขาอธิบาย
“เพราะถ้าคุณอายุ 30 และยังใม่มีชื่อเสียงโด่งดังพอที่จะขายตั๋วได้หมดก่อนวันแสดง เราคงจะจัดคิว
ให้คุณแสดงไม่ได้แน่”

จอนสมัครแข่งขันรายการ “Cliburn Piano Competition” ที่สามารถทำให้นักดนตรีนิรนามเด่นดัง
เป็นพลุได้ในชั่วข้ามคืน แต่จอนไม่ผ่านตั้งแต่รอบทดสอบ การแข่งขันครั้งนี้
(Van Cliburn International Piano Competition) จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่เขาจะเข้าแข่งขัน
เป็นรายการการแข่งขันที่จัดขึ้นทุก 4 ปี เพราะครั้งต่อไป เขาจะขาดคุณสมบัติเนื่องจากอายุเกิน 30 ปี

“เธอต้องลงแข่งรายการนี้นะ จอน” มารีนายืนยัน “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น งานนี้เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน”

2 สัปดาห์ต่อมา จอนแทบไม่เชื่อว่าตนเป็นหนึ่งในนักเปียโน 35 คนที่ได้รับคัดเลือกเข้าแข่งขันในรายการ
จอนเล่นเป็นคนแรก ๆ ในรอบแรก เขาเริ่มต้นได้ดี แต่หลังจากนั้น นิ้วไม่ยอมทำงานตามที่สมองสั่ง

คำพูดของมารีนาดังก้องในหัว “จอน อย่าเล่นตามโน้ตไปเฉย ๆ บรรเลงดนตรีไปด้วยสิ” กำลังใจและ
สมาธิของเขากลับคืนมาจนสามารถบรรเลงเพลง “Sonata Brahms” จนจบกระบวน แต่ทำได้แค่นี้จะ
เพียงพอหรือ
กรรมการตัดสินดูเหมือนจะใช้เวลาชั่วกัปชั่วกัลป์ในการประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบรองสุดท้าย 12 คน
จอน นากามัตสึ เป็นหนึ่งในจำนวนนี้ด้วย การแสดงของเขาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และก้าวขึ้นมายืนเป็นหนึ่ง
ในผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ ต่อจากนั้นอีก 10 วัน เขาจะต้องบรรเลงเพลง “Rach III” ที่แสนยาก

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 02, 2023 7:59 pm

🎶🎶เพื่อดนตรีอันเป็นที่รัก ตอนที่ ( 4 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2541
โดย Linda DeLibero และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

คืนวันแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ผู้ชม 3,000 คนนึกกันไปต่าง ๆ นานาว่า ครูโรงเรียนมัธยมซึ่งเป็น
“มวยรอง” จะสำแดงฝีไม้ลายมืออย่างไร มารีนานั่งอยู่ในแถวหลังสุดขณะที่ไฟค่อย ๆ หรี่ลง เธอมอง
เห็นลูกศิษย์ที่กลายมาเป็นลูกชายในโลกแห่งดนตรีของเธอ เธอเดินตัดเวทีเข้ามานั่งประจำที่หน้าเปียโน
“ขอให้เขาเล่นดีด้วยเถิด” เธอพึมพำวิงวอนเบา ๆ กับตัวเอง

นิ้วของจอนบรรจงพลิ้วพรมลงบนคีย์ขาวดำ ความมั่นใจเพิ่มขึ้นหลังจากบรรเลงผ่านพ้นตอนยากที่สุด
ของเพลงไปแล้ว บัดนี้ไม่มีวี่แววของจอน ครูโรงเรียนมัธยมที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายให้เห็นอีกเลย ผู้ที่อยู่บน
เวทีขณะนี้เป็นศิลปินซึ่งกำลังบรรเลงเพลงอย่างมีจินตนาการและเปี่ยมด้วยพลังร้อนแรง

ทันทีที่จอนปล่อยนิ้วจากโน้ตตัวสุดท้าย ผู้ชมพากันลุกขึ้นยืนปรบมือดังกึกก้อง พร้อมกับร้องตะโกนว่า
“ยูเอสเอ ๆ!” (USA) จอนหันหน้าไปตอบรับด้วยความอิ่มเอม และไม่สนใจว่าจะแพ้หรือชนะการแข่งขัน
รู้เพียงว่า วันนี้เล่นได้ดีที่สุดในชีวิต

ตอนประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงและเหรียญเงิน จอนนึกในใจว่า เหรียญทองคงจะตก
เป็นของคาสมินผู้มีพรสวรรค์โดดเด่น- วาทยกรประกาศว่า เหรียญทองแดงเป็นของอาวีรัม
(Aviram Reichert) จากอิสราเอล จากนั้นก็กล่าวช้า ๆ เพื่อสร้างความตื่นเต้นว่า
“ผู้ที่ได้รับเหรียญเงินได้แก่...คาสมัน”
จอนถึงกับน้ำตาซึมด้วยความปีติ เพราะรางวัลที่เหลือมีเพียงรางวัลเดียว นั่นคือเหรียญทอง พร้อมกับ
เงินสด 20,000 เหรียญ และชื่อผู้แข่งขันก็เหลืออยู่เพียงชื่อเดียว นั่นคือชื่อของเขาเอง

ในการแถลงข่าวหลังการประกาศผล นักวิจารณ์ดนตรีถามจอนถึงชัยชนะที่เพิ่งได้รับ เขาตอบว่า
“พ่อแม่ช่วยให้ผมมีชีวิตที่มั่นคง ส่วนครูมารีนาเฝ้าทะนุถนอมความฝันของผม และการร่วมแรงร่วมใจ
ของพวกเราทุกคนทำให้ผมประสบความสำเร็จในวันนี้ครับ”

จอน นากามัตสึ ทำสัญญา 2 ปี กับมูลนิธิ “Van Cliburn Foundation” ซึ่งดูแลจัดคอนเสิร์ตและทำสัญญา
บันทึกเสียงสำหรับผู้ชนะเลิศรางวัลเหรียญทอง จอนเดินทางแสดงคอนเสิร์ตทั่วทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป
รวมทั้งการเดินทางไปแสดงเปียโนเพลง “Gershwin's "Rhapsody in Blue." ร่วมกับวง
“Stanford Symphony Orchestra” ที่ประเทศจีนในช่วงฤดูร้อนปี 2551

**********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 02, 2023 8:02 pm

🪴เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย Jim Hutchison และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เดือนมิถุนายน ปี 2535 ครูแทมมี่ (Tammy Bird) วัย 30 ปี รู้สึกใจหายแทนเด็กนักเรียน
มัธยม “Crenshaw High School” เพราะครึ่งหนึ่งของนักเรียนประมาณ 2,700 คนเรียนไม่จบ
โรงเรียนตั้งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุจลาจลรุนแรงระหว่างผิวถึงขั้นวางเพลิง ฆาตกรรม และปล้นสะดม
เมื่อ 2 เดือนก่อน

“เด็กนักเรียนพวกนี้แสนจะอัตคัดขัดสน แล้วยังเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีกยิ่งแย่ไปกันใหญ่”
ครูแทมมี่ได้แต่ครุ่นคิดหลังเหตุจลาจลครั้งนั้น

อีวานวัย 15 ปีนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 ของโรงเรียนนี้ พ่อของเขาพาครอบครัวอพยพมาจาก
ประเทศกัวเตมาลา อีวานเกิดที่นิวยอร์ก หลังจากนั้นครอบครัวก็ย้ายมาที่ลอสแอนเจลิส และต้องมา
เห็นภาพตึกทั้งแถบถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน

เจเนล นักเรียนหญิงรู้สึกเศร้าใจเมื่อเห็นการปล้นสะดม ตัวเธอเองโตขึ้นมาอย่างปากกัดตีนถีบ
ซ้ำร้ายแม่ยังเคยติดคุกข้อหาค้ายาตอนเธออายุ 8 ขวบ เธอเรียนรู้ที่จะต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด
แต่ไม่มีวันยอมให้คนอื่นมาลากเธอให้ตกต่ำได้

คาร์ลา เพื่อนร่วมชั้นเป็นเด็กขี้อาย เธออยากเป็นครูมาตั้งแต่เด็ก แต่ในสภาพแวดล้อมอัน
เลวร้ายนี้ ความฝันดูเหมือนจะไกลเกินเอื้อม

ครูแทมมี่เชื่อว่า เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากประสบการณ์โดยตรง เธอตัดสินใจอย่าง
เด็ดเดี่ยวว่า “ถึงเวลาแล้วที่เด็ก ๆ เหล่านี้จะต้องได้เห็นอะไรบางอย่างงอกเงยขึ้นจากเถ้าถ่าน

เมลินดา (Melinda McMullen) เจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทประชาสัมพันธ์ที่มีชื่อเสียง
ในลอสแอนเจลิส ทราบถึงสิ่งที่ครูแทมมี่ต้องการทำและเห็นช่องทางที่จะร่วมมือด้วย

ครูแทมมี่และเมลินดาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ครูแทมมี่สอนหนังสือมานาน 8 ปีในย่าน
เสื่อมโทรมกลางเมือง แต่เมลินดาไม่เคยย่างกรายเข้าไปแถบนี้เลย ทั้งสองพบกันครั้งแรกหลัง
เหตุจลาจล 2 เดือนบนที่ดินว่างเปล่าหลังห้องเรียนของครูแทมมี่ และต่างก็เห็นคุณค่าของการ
ให้เด็ก ๆ เรียนรู้การทำสวน ครูแทมมี่เห็นว่า การปลูกพืชสวนครัวจะช่วยเยียวยาจิตใจ แต่เมลินดา
มองว่าวิธีนี้จะช่วยสอนให้เด็ก ๆ รู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนและรู้จักลงทุนทำการค้าขาย

“เด็ก ๆ ควรมีโอกาสเป็นเจ้าของอะไรสักอย่าง แม้จะเป็นแค่ผืนดินเล็ก ๆ ก็ตาม”

เดือนกันยายนปีนั้น ทั้งสองเสนอโครงการร่วมทุนทางธุรกิจกับพวกนักเรียน นั่นคือ การทำสวน
หลังเลิกเรียน พร้อมกับเสนอให้คะแนนพิเศษในวิชาวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ
เด็กหลายคนยิ้มเยาะไม่สนใจ แต่ก็มีเด็ก 10 กว่าคนอาสาเข้าร่วม ในจำนวนนี้มีอีวาน เจเนลและคาร์ลา
รวมอยู่ด้วย

“สวนนี้เป็นของพวกเธอ” ครูแทมมี่กล่าวในที่ประชุมครั้งแรก “พวกเธออยากทำอะไรกับสวนนี้บ้างล่ะ”

“เราอยากทำอะไรตอบแทนให้ชุมชน” นักเรียนคนหนึ่งตอบ ทั้งหมดลงมติตั้งชื่อโครงการนี้ว่า
“อาหารจากชุมชน” และตกลงกันว่าจะปลูกผักปลอดสารพิษและนำผลผลิตบางส่วนไปให้ผู้ยากไร้

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ มี.ค. 03, 2023 9:03 pm

🍀เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย Jim Hutchison และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ความร่วมมือของชุมชน

วันที่ 3 ตุลาคม 2535 นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ลงมือขุดถอนวัชพืช ถางหญ้าบนพื้นดิน
รกร้างที่อยู่หลังห้องเรียน (250 ตารางวา) เมลินดาและครูแทมมี่ออกเงินส่วนตัวซื้อเครื่องมือทำสวน
ทุกเย็นหลังเลิกเรียน พวกเด็ก ๆ ลงมือขุดดิน ถอนวัชพืช เตรียมดินก่อนทำการเพาะปลูก

สองอาทิตย์ผ่านไป จึงเริ่มลงมือหว่านเมล็ดมะเขือเทศ บวบฝรั่ง พริกหวาน และสมุนไพรต่าง ๆ
ทุกวันเด็ก ๆ เฝ้าดูการเติบโตของเมล็ดพืชที่ลงดินไว้ 10 วันผ่านไป คาร์ลาวิ่งเข้ามาในกลุ่มเพื่อน
ๆ ร้องเสียงตื่นเต้นว่า “โผล่ออกมาแล้ว” ทุกคนวิ่งกรูกันไปดูสีเขียวหย่อมแรกที่โผล่พ้นดินขึ้นมา

ช่วง 2-3 อาทิตย์จากนั้น พืชผลที่เริ่มผลิดอกออกใบดึงดูดผีเสื้อและนก แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น
คือ สวนนี้ก่อให้เกิดความสมัครสมานปรองดองกัน เด็ก ๆ ต่างสีผิวทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กัน
คาร์ลาซึ่งมีเชื้อสายละตินทำงานร่วมกับเด็กผิวดำอย่างเจเนลด้วยความมุ่งมั่นสู่จุดหมายเดียวกัน
และทุกคนก็สนุกกับสิ่งที่ทำอยู่

เมื่อบรรดาพ่อแม่เห็นลูก ๆ ทำสวน ก็รู้สึกประทับใจถึงขนาดลงมือช่วยเด็ก ๆ ด้วย ในไม่ช้าบรรดา
พี่น้องของเด็ก ๆ ก็มาช่วยลงมือลงแรง สวนแห่งนี้จึงกลายเป็นแหล่งชุมนุมของชุมชนไปโดยปริยาย

เด็กที่ไม่เข้าร่วมโครงการฯ ยังไม่วายเยาะเย้ยพูดจาถากถาง แต่เมื่อพืชที่ลงดินไว้เริ่มเติบโตงอกงาม
เด็ก ๆ ที่ทำสวนก็เริ่มติดใจขุมทรัพย์สีเขียวแห่งนี้มากยิ่งขึ้น และมีผู้มาขอเข้าร่วมโครงการมากขึ้นจน
มีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 30 คน

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ มี.ค. 05, 2023 8:17 pm

🌾เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง ตอนที่ ( 3 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย Jim Hutchison และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ทำลายกำแพง

วันที่ 18 ธันวาคม 2535 “กลุ่มอาหารจากชุมชน” เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นครั้งแรก
หนึ่งอาทิตย์ก่อนวันปีใหม่ พวกนักเรียนช่วยกันบรรจุผักลงกล่องได้หลาย 10 กล่องเพื่อนำไป
ให้ธนาคารอาหารของท้องถิ่น เจเนลพูดแทนทุกคนที่ล้วนปลาบปลื้มยินดีว่า “การให้ผลผลิต
ที่เราปลูกเองแก่ผู้หิวโหย ทำให้รู้สึกว่าเรากำลังอยู่ในบรรยากาศของการฉลองจริง ๆ”

ช่วงหลายเดือนต่อมา ครูแทมมี่ เมลินดาและบรรดานักเรียนต่างปรึกษารายละเอียดโครงการ
ลงทุน พวกนักเรียนตกลงกันว่า จะบริจาคผลผลิตร้อยละ 25 ให้ผู้หิวโหย ส่วนกำไรจากการขาย
ผลผลิตที่เหลือจะสะสมเป็นทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย นักเรียนคนไหนสละเวลาในการทำ
สวนมากก็จะได้รับทุนการศึกษาเพิ่มตามสัดส่วน

วันเสาร์แรกของเดือนเมษายน 2536 เด็ก 5-6 คนนำผลผลิตไปวางขายที่ตลาดนัดเกษตรกร
ในย่านชานเมืองของคนมีอันจะกิน แผงขายผักอื่น ๆ มองพวกเด็ก ๆ ด้วยสายตาอยากรู้อยากเห็น
แต่ลูกค้าต่างเดินผ่านไปโดยไม่มีใครหยุดซื้อ

ทีแรกพวกเด็ก ๆ รู้สึกประหม่า แต่สักพักต่อมานักเรียนชั้นมัธยม 4 ตัวสูงใส่แว่นในกลุ่มก็เริ่มทัก
ลูกค้าก่อน

“สวัสดีครับ ผมชื่อเบ็น พวกเรามาจากโรงเรียนมัธยมฯ กำลังหาเงินสมทบทุนการศึกษามหาวิทยาลัยครับ”

เมื่อกำแพงแห่งความเงียบถูกทลายลง ผลผลิตของเด็กนักเรียนก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า พวกเด็ก ๆ
ช่วยกันขายของจนหมดได้กำไร 300 เหรียญ

นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่จะต้องหาทางเพิ่มกำไรให้ได้มากกว่านี้ ถึงเดือนมิถุนายน โครงการฯ
มีเงินสะสมแค่ 600 เหรียญเพื่อแบ่งกันในหมู่นักเรียนที่จบชั้นมัธยมปลายปีนั้น นี่ขนาดครูแทมมี่และ
เมลินดาลงขันให้แล้วถึง 5,000 เหรียญ ความฝันของพวกเด็กที่จะหาเงินเรียนมหาวิทยาลัยดูเหมือน
จะสลายเพียงแค่นั้น

แทมมี่พูดกับเมลินดาว่า “ฉันไม่รู้เหมือนกันว่า จะหาเงินได้จากไหนอีก แต่ที่รู้แน่ ๆ คือ
คำตอบจะต้องอยู่ในสวนนี้”

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ มี.ค. 05, 2023 8:19 pm

🪴เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง ตอนที่ ( 4 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย Jim Hutchison และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)น้ำสลัดปรุงรส

ในการประชุมทุกบ่ายวันอังคาร เมลินดาพูดขึ้นว่า “เราต้องหาหนทางอื่นเพื่อทำรายได้เพิ่ม”
ที่ประชุมช่วยกันระดมความคิด บางคนเสนอให้ทำน้ำสลัด คาร์ลาเห็นด้วย “ในเมื่อเราปลูกผัก
สำหรับกินเป็นสลัดอยู่แล้ว ก็น่าจะทำน้ำสลัดด้วยเลย"

เมลินดารู้ดีว่าต้องลงทุนลงแรงเต็มที่ถ้าอยากให้ธุรกิจนี้สำเร็จ “ฉันจะขอลางาน 1 ปี” เธอบอกเด็ก ๆ
เธอจะใช้บ้านเป็นที่ทำงานและใช้เงินออมเพื่อยังชีพในช่วงที่ลางาน

ขณะที่พวกเด็กเริ่มทดลองในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพื่อหาส่วนผสมทำน้ำสลัดจากสมุนไพร
น้ำมัน และน้ำส้มสายชู

เมลินดาติดต่อองค์กรเอกชนที่ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ “Rebuild LA” ซึ่งแนะนำให้เธอรู้จักกับ
บริษัท “Sweet Adelaide” ผู้ผลิตน้ำสลัด หลังจากเด็ก ๆ ช่วยกันคิดค้นน้ำสลัดแบบอิตาเลียนจนได้
รสชาติตามที่ต้องการแล้ว บริษัทฯ ก็เข้ามาช่วยพัฒนาสูตรในการผลิตเพื่อการค้า

ในช่วงคริสต์มาสปีนั้น ขณะที่ช่วยกันนำผลผลิตไปแจกจ่ายให้ผู้ยากไร้ พวกเด็กก็ได้รับจดหมาย
ที่อ่านแล้วถึงกับตกตะลึง องค์กรเอกชน “Rebuild LA” แจ้งว่า หาผู้บริจาคที่จะให้เงินลงทุนเริ่มต้น
50,000 เหรียญได้แล้ว

“มีคนที่เชื่อมั่นในสิ่งที่พวกเธอทำ” ครูแทมมี่พูดขึ้น เด็กทุกคนต่างกระโดดกอดกันด้วยความดีใจ

เจ้าของน้ำสลัด “Bernstein's Salad Dressing” ซึ่งเป็นยี่ห้อขายดีที่สุดของอเมริกาเข้ามา
ช่วยเหลือทั้งด้านจัดจำหน่ายและเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดของโครงการฯ

พวกนักเรียนตั้งชื่อสินค้าว่า “น้ำสลัดข้นสไตล์อิตาเลียนสดจากสวน” บริษัทจัดจำหน่ายอาหาร
โบรเมอร์ตกลงจะนำน้ำสลัดออกวางตลาดให้ เมื่อพวกนักเรียนคิดกันว่า จะเดินสายติดต่อซูเปอร์ม
าร์เก็ตและร้านขายสินค้าพิเศษให้วางขายน้ำสลัด เมลินดาจึงติดต่อตัวแทนขายทางโทรทัศน์ระดับ
ประเทศมาสอนหลักสูตรเร่งรัดถึงวิธีการสื่อสารอย่างมืออาชีพให้พวกนักเรียน

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ มี.ค. 06, 2023 1:08 pm

🍃เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง ตอนที่ ( 5 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย Jim Hutchison และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)เริ่มต้นจากศูนย์

เจเนลรู้สึกประหม่าเมื่อมีผู้ขายในชุดสูทมาห้อมล้อมขณะออกตลาดครั้งแรก รองประธาน
อาวุโสของบริษัทวอนส์ซึ่งมีเครือข่ายร้านซูเปอร์มาร์เก็ตกว้างขวางรู้สึกประทับใจมากเมื่อได้ยินเจเนล
พูดถึงผลิตภัณฑ์อย่างคนรู้จริงและมั่นใจว่าสินค้าจะขายดี เขาตกลงสั่งซื้อน้ำสลัดนี้มาวางจำหน่าย
และบริษัทห้างร้านอื่น ๆ ก็สั่งซื้อตาม

วันที่ 28 เมษายน 2537 น้ำสลัดของนักเรียนเริ่มวางจำหน่ายเคียงคู่กับน้ำสลัดยี่ห้อดังทั้งหลาย
ในร้านค้ามากกว่า 2,000 ร้านใน 22 รัฐทางตะวันตก พวกเขารู้สึกโล่งใจเมื่อยอดขายน้ำสลัดค่อย ๆ
ไต่อันดับขึ้นจนเป็นสินค้ายอดนิยม

ในการประชุมกลุ่มเดือนกันยายน 2537 เมลินดาบอกที่ประชุมว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุ
มารแห่งอังกฤษ จะเสด็จเยือนลอสแอนเจลิส และที่เป็นรู้กันทั่วไปว่า พระองค์ทรงสนพระทัยโครงการ
เกษตรและกิจกรรมเยาวชน คาร์ลอสที่ตามอีวานพี่ชายเข้าร่วมโครงการ เสนอขึ้นว่า
“น่าจะเชิญพระองค์มาที่นี่ด้วยนะ”

หลังจากนำจดหมายทูลเชิญไปส่งให้สถานกงสุลอังกฤษในลอสแอนเจลิส คาร์ลอสคิดในใจว่า
“ไม่มีทางที่พระองค์จะเสด็จมาหรอก” แต่ 2 อาทิตย์ต่อมา สถานกงสุลโทรศัพท์มาแจ้งว่า
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงยินดีตอบรับคำเชิญ

3 สัปดาห์ก่อนเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เสด็จเยือน พวกเด็กเปิดประตูเข้าไปในสำนักงานก็ตกใจเมื่อ
เห็นข้าวของกระจัดกระจาย กระจกหน้าต่างแตก สายไฟขาดห้อยรุ่งริ่งจากกำแพง มีขโมยเข้ามา
ลักเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรสาร เครื่องพิมพ์ และทุกอย่างที่มีค่าไปหมด

เด็กบางคนเดินพล่านเป็นหนูติดจั่น บางคนถึงกับร้องไห้โฮ ต่างคิดว่าความฝันหมดสิ้นกันตรงนี้เอง
เบ็นพูดทำลายความเงียบขึ้นว่า “ในเมื่อพวกเรายังไม่ถึงกับตาย พวกเราก็น่าจะแข็งแกร่งขึ้นนะ ต้องรีบ
ช่วยกันฟื้นขึ้นมาให้ดีกว่าเดิมอีกนะ”

คนในละแวกที่ทราบข่าวร้ายโกรธแค้นกับการย่องเบาครั้งนี้ บริษัทต่าง ๆ ช่วยกันบริจาคอุปกรณ์
สำนักงาน ผู้คนหลั่งไหลอาสาช่วยและ “กลุ่มอาหารจากชุมชน” ก็กลับเข้าทำงานตามปกติได้ในเย็น
วันรุ่งขึ้น

เที่ยงวันที่ 1 พฤศจิกายน คาร์ลอสสัมผัสพระหัตถ์เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเป็นผู้นำพระองค์เยี่ยมชม
ห้องเรียนกึ่งสำนักงานของพวกเขา พวกนักเรียนเลือกคาร์ลา ซึ่งเคยเป็นเด็กขี้อายเป็นผู้นำพระองค์
ชมสวน ขณะที่คาร์ลากำลังอธิบายถึงพืชพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งนักเรียนช่วยกันปลูก บรรดานักข่าวก็กรูกันเข้ามา
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงโบกพระหัตถ์ให้พวกนักข่าวถอยออกไป และรับสั่งกับคาร์ลาว่า
“พวกเขาเกือบย่ำแปลงผักของพวกเธอเข้าแล้ว”

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เสวยผักสลัดจากสวนและน้ำสลัดของพวกนักเรียนจนหมดขณะเสวย
พระกระยาหารเที่ยงที่สวนผักนั้น

“สวนของพวกเธอน่าชื่นชมจริง ๆ” พระองค์รับสั่งกับบรรดานักเรียน ทางกงสุลอังกฤษมอบรถกระบะ
ให้กับโครงการฯ นักเรียนตั้งชื่อรถคันนี้ว่า “เกวียนของช้าก (นามเล่นของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์)”

โปรดติดตามตอนที่ ( 6 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 09, 2023 8:28 pm

🌱🌱เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง ตอนที่ (6 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย Jim Hutchison และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ความสำเร็จที่น่าทึ่ง

แม่ของคาร์ลอสร้องไห้น้ำตานองหน้าด้วยความดีใจขณะสวมกอดครูแทมมี่ในงานรับ
ประกาศนียบัตรของลูกชายเมื่อเดือนมิถุนายน 2539

“ขอบคุณมากที่เป็นแรงผลักดันให้กับลูก ๆ ของดิฉันค่ะ” เธอพูดกับครูแทมมี่
“ครูทำให้พวกเด็กรู้ซึ้งว่า พวกเขาสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้ ถ้ามีความมุ่งมั่นทำจริง”

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ คาร์ลอสกำลังเรียนมหาวิทยาลัยด้านหนังสือพิมพ์อยู่ปีสองด้วยเงินทุนที่
เขาทำงานและสะสมจากโครงการอาหารจากชุมชน ปีก่อนหน้านั้น นักเรียนซี่งมีส่วนร่วมใน
โครงการอาหารจากชุมชนจำนวน 39 คน ขายน้ำสลัดได้ 10,000 ลัง ในจำนวนนี้ 25 คนได้เงิน
เป็นทุนการศึกษาเป็นเงิน 3,000 – 12,000 เหรียญซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่แต่ละคนทำงานกับโครงการฯ

ในกลุ่มนักเรียนที่ร่วมโครงการฯ ไม่มีใครลาออกจากโรงเรียนกลางคันเลย นับเป็นความสำเร็จ
ที่น่าทึ่งในโรงเรียนที่ขาดแคลนเช่นนี้ บรรดาเด็กนักเรียนที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่อีวาน ซึ่งตั้งใจ
จะเรียนต่อด้านสัตววิทยา คาร์ลามีแผนจะสอนในโรงเรียนประถมหลังจบมหาวิทยาลัย และเจเนล
ทำงานเป็นนักศึกษาฝึกหัดอยู่ที่รายการข่าวสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส (CBS Morning News)

“พวกเด็กปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง” ครูแทมมี่สรุปในตอนท้าย “สิ่งที่งอกเงยขึ้นมา
คือความเด็ดเดี่ยวและความมุ่งมั่น ใครจะนึกฝันว่า สิ่งดี ๆ เหล่านี้จะงอกเงยขึ้นมาจากสวนเล็ก ๆ
แปลงหนึ่ง”

**********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 09, 2023 8:32 pm

🌐ด้วยรักจากสถานีอวกาศมีร์ ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย Anita Bartholomew และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เจอรี่ (Jerry Linenger : เกิดวันที่ 16 ม.ค. 2498) ยืนอยู่ที่ลานจอดรถของศูนย์อวกาศจอห์นสัน
เมืองฮูสตัน สายตาเพ่งผ่านกระจกรถมองไปที่จอห์น ลูกชายวัยหนึ่งขวบที่นั่งอยู่ในรถและจำหน้าพ่อได้
จอห์นกระโดดโลดเต้นอ้าแขนรอให้พ่อมาอุ้ม แต่เจอรี่ต้องข่มใจได้แต่ยิ้มและโบกมือให้ เพราะเขากำลัง
จะถูกกักตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

แคทรีนผู้เป็นภรรยาซึ่งตั้งท้อง 4 เดือนพูดขึ้นขณะโอบกอดสามี “คุณก็รู้ว่า คุณจับต้องตัวลูกไม่ได้”
เธอเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดประจำองค์การนาซ่า งานหลักของเธอคือดูแลสุขภาพของ
นักบินอวกาศ

อีกไม่กี่วัน เจอรี่นักบินอวกาศวัย 41 ซึ่งมีอาชีพเป็นแพทย์ด้วยจะเดินทางสู่อวกาศไปสมทบกับ
นักบินที่สถานีอวกาศมีร์ (Space Station Mir : 2529-2544) เพื่อทำการทดลองบางอย่างและการเดิน
ท่องอวกาศ เจอรี่อุ้มลูกไม่ได้เพราะเด็กมักเป็นพาหะนำเชื้อ จึงอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อถึงนักบินอวกาศ
คนอื่นด้วย

สองสามีภรรยาไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการสัมผัสตัวกันจะทำให้รู้สึกโหย
หาถึงกันได้เพียงนี้ คืนวันที่ 11 มกราคม 2540 เป็นโอกาสสุดท้ายที่ได้โอบกอดกันเพราะจะไม่ได้พบหน้า
กันอีกราว 4 เดือนครึ่ง (อยู่ในอวกาศ 132 วัน 4 ชั่วโมง 1 นาที)

เจอรี่ใจจดใจจอเฝ้ารออยู่ในกระสวยอวกาศแอตแลนติส (Space Shuttle Atlantis) ก่อนจะทะยาน
สู่เวหาในเช้าวันรุ่งขึ้น เขาอดตื่นเต้นไม่ได้ที่จะได้เดินทางใน “แท่งไอพ่น” ขนาดมหึมาสู่ฟากฟ้าเป็น
เวลา 8 ½ นาทีนับแต่วินาทีที่เครื่องส่งจรวดจุดเชื้อเพลิงจนดับเครื่องยนต์หลัก

แล้วก็ถึงเวลาที่กระสวยยักษ์แหวกฟ้าด้วยความเร็ว 28,157 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมุ่งสู่จุดนัดพบกับ
สถานีอวกาศมีร์ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 400 กิโลเมตร

นักบินอวกาศอเมริกันทำงานร่วมกับนักบินอวกาศรัสเซียที่ศูนย์ฝึกอบรมนักบินอวกาศยูริ กาการิน
ในเมืองสตาร์ซิตี้ (ชื่อสามัญของพื้นที่ปิดในเขต Moscow Oblast ซึ่งเป็น "หมู่บ้านทหารปิดที่ 1"
ในประเทศรัสเซียตั้งแต่ปี 1960)

เจอรี่และแคทรีนเรียนภาษารัสเซียและฝึกสถานการณ์จริงในสถานีมีร์จำลองนาน 18 เดือน

ขณะนี้เขากำลังเข้าสู่การผจญภัยจริงตามที่เคยฝึกมา เมื่อเพ่งมองออกไปนอกประตูก็เห็นกระสวย
อวกาศแอตแลนติสเคลื่อนเข้าหา “มีร์” อย่างช้า ๆ กระบอกสูบโลหะยื่นออกมาทางมุมขวาของจรวดยาน
ลูกและแผงรับแสงอาทิตย์ที่แผ่ออกมาหลายทิศทาง

ในที่สุดก็เชื่อมกันสำเร็จ วงแหวนของสถานีกระทบกันสนิทกับวงแหวนของกระสวยอวกาศ
ฝาครอบเครื่องเปิดขึ้น เจอรี่แทรกตัวผ่านช่องทางแคบ ๆ เข้าไปในมีร์ ทันทีที่เข้าไปถึง เขาก็พบกับ
วาเลรี (Valery Korzun) ผู้บังคับการสถานีอวกาศมีร์ซึ่งรู้จักกันก่อนหน้านั้นที่เมืองสตาร์ซิตี้

“ยินดีต้อนรับ” วาเลรีกล่าวทักทายพลางเข้ามาสวมกอดเจอรี่ในสภาพบางเบาไร้น้ำหนัก
โดยไม่รอช้า วาเลรีแนะนำให้เจอรี่รู้ถึงการใช้ชีวิตบนสถานีอวกาศมีร์

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 09, 2023 8:36 pm

🌐ด้วยรักจากสถานีอวกาศมีร์ ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย Anita Bartholomew และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

นับแต่ปี 2529 สถานีอวกาศรัสเซียมีร์โคจรรอบโลกมากกว่า 64,000 วงโคจรซึ่งนานกว่า
อายุการใช้งานที่กำหนดไว้เดิมถึงสองเท่า สิ่งของหลายอย่างในสถานีจึงเก่าและบางชิ้นก็อยู่
ในสภาพพอใช้ได้ชั่วคราว ภายในยานมี “ห้อง” ที่เรียกว่า “โมดูล” 6 ห้องขนาด 6-13 เมตร
มีช่องทางเชื่อมถึงกันแต่แคบมากจนไม่สามารถสวนกันได้

กิจกรรมส่วนใหญ่ทำกันที่ศูนย์กลางสถานีที่เรียกว่า “ห้องฐาน” ซึ่งนักบินอวกาศจะมากินอาหาร
และพบปะพูดคุยกัน ด้านเกือบปลายสุดของห้องฐานเป็น “ศูนย์บัญชาการ”พร้อมด้วยจอคอมพิวเตอร์
และแผงควบคุมซึ่งมีไฟวูบวาบอยู่ตลอดเวลา

วาเลรีนำเจอรี่ไปยังห้อง “Kvant-1” ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเท่าตู้เย็นและอธิบายว่า เป็นเครื่องทำ
ออกซิเจนหนึ่งในสองเครื่องที่มีอยู่ น่าเสียดายที่เครื่องนี้เสียแล้ว แต่ยังมีสำรองอีกเครื่องหนึ่งซึ่งก็อยู่
ในสภาพที่พังได้ทุกเมื่อ

เจอรี่มีท่าทางเป็นกังวล แต่วาเลรีหัวเราะและบุ้ยมือไปที่แท่งกระบอก “เรามีเทียนช่วยทำออกซิเจน”
เขาพูด “แค่จุดก็จะทำปฏิกิริยาเคมีผลิตออกซิเจนได้”

แต่เจอรี่ก็ยังไม่หายกังวลเรื่องระบบช่วยชีวิต เมื่อคิดว่าทุกคนจะต้องท่องอวกาศไปกับอุปกรณ์ที่
มีอายุมากกว่า 10 ปี

แม้เจอรี่จะพูดภาษารัสเซียได้คล่องถึงขั้นสื่อสารกับนักบินอวกาศรัสเซียได้ค่อนข้างดี แต่เขาก็ยัง
รู้สึกเหงาและคิดถึงลูกชายมาก เจอรี่มีหน้าที่ติดต่อรายงานการทำงานกับศูนย์ควบคุมในรัสเซียทุก 2
ชั่วโมงซึ่งใช้เวลาไม่กี่นาที แต่ก็ทำให้เขาแทบไม่มีโอกาสพูดคุยกับภรรยาและลูกทางวิทยุ เจอรี่ทำได้
เพียงส่งอีเมลซึ่งมีข้อความว่า

23 มกราคม 2540
จอห์น ลูกรัก : พ่อรู้ดีว่าลูกเพิ่งอายุได้ขวบเดียว และถึงพ่อจะชอบคิดเหมือนพ่อทั้งหลายที่เห่อลูกว่า
ลูกเป็นเด็กที่เก่งกาจ แต่พ่อก็ไม่คิดว่าลูกจะอ่านอีเมลนี้ได้ รอไว้ให้ลูกอ่านออกเสียก่อน แล้วลูกจะรู้ว่า
พ่อรักลูกมากเพียงใด

การท่องอวกาศเป็นงานอันตราย พ่อเคยสนุกกับงานนี้ แต่ทว่าตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง พ่อเริ่มตั้งคำ
ถามว่า ตัวเองกำลังจะทำอะไรอยู่ แล้วก็ได้คำตอบว่า พ่อต้องสูญเสียมากเพียงใดที่ต้องใช้ชีวิตอยู่
ห่างจากทั้งลูกและแม่ ขณะล่องลอยอยู่เหนือพื้นโลก พ่อรู้สึกเจ็บปวดเมื่อต้องพลัดพรากกับความภาค
ภูมิใจในความเป็นพ่อที่ถูกลิดรอน และความเปล่าเปลี่ยวของสามีที่ต้องจากภรรยา

ถ้อยคำพรั่งพรูจากใจสู่ปลายนิ้ว อย่างน้อยเขาก็รู้สึกอ้างว้างน้อยลงเมื่อพิมพ์อีเมลเสร็จ

“ออด!” เสียงสัญญาณเตือนภัยดังก้องปลุกเจอรี่ ระบบเตือนภัยของสถานีเก่าแก่อย่างมีร์มักจะ
ผิดพลาดเสมอ เช่นครั้งนี้ก็ทำหน้าที่แค่เป็นนาฬิกาปลุกว่าถึงเช้าวันใหม่แล้ว เขาบิดขี้เกียจอยู่ในถุงนอน
พร้อมกับปลดห่วงที่ยึดตัวไม่ให้ลอยละล่องขณะนอนอยู่

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร มี.ค. 14, 2023 8:51 pm

🌐ด้วยรักจากสถานีอวกาศมีร์ ตอนที่ ( 3 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย Anita Bartholomew และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เรื่องพื้น ๆ บนโลกกลายเป็นเรื่องยุ่งยากเมื่ออยู่ในอวกาศ เช่น เวลาแปรงฟันจะต้องไม่ลืม
ปิดปากอมแปรงไว้ตลอดเวลา มิฉะนั้นยาสีฟันจะลอยออกจากปาก แม้แต่วิธีอาบน้ำก็ต้องเรียน
รู้ใหม่ เพราะน้ำจะจับตัวกันเป็นเม็ด ๆ คล้ายลูกแก้วตามผิวหนังขณะถูตัว

ด้วยความที่เป็นหมอด้วย เจอรี่จึงสนใจสุขภาพของเพื่อนนักบินอวกาศเป็นพิเศษ แม้การดูแล
ทุกคนจะไม่ใช่งานหลักของเขาก็ตาม วิธีหนึ่งที่เขาทำได้ดีคือการตรวจเลือด “แค่มดกัดเท่านั้นแหละ”
เจอรี่บอกวาเลรีขณะเจาะตัวอย่างเลือดจากปลายนิ้วของเพื่อนชาวรัสเซีย เวลาตรวจเลือดจึงเหมือน
การทำพิธีกรรมอะไรสักอย่าง พวกนักบินอวกาศจะผลัดกันเจาะเลือดให้กันแล้วบีบเลือดใส่ขวดเล็ก ๆ

การเจาะตรวจเลือดกลายเป็นกิจวัตรที่สำคัญ แม้เจอรี่จะต้องกินอยู่หลับนอนในพื้นที่แคบ ๆ
เช่นเดียวกับคนอื่น แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขากลายเป็นนักบินอวกาศอย่างเต็มตัว การเป็นหนึ่งในหมู่คณะ
เป็นคุณสมบัติที่เขาต้องพิสูจน์ตนเองก่อน

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมสนับสนุนในปฏิบัติการมีร์ขององค์การนาซ่า แคทรีนกับจอห์น
ต้องย้ายไปพักที่เมืองสตาร์ซิตี้ในรัสเซีย ทำให้เธอรับอีเมลของสามีได้สะดวก ขณะอ่านอีเมล
ใบหน้าของสามีก็ปรากฏขึ้นพร้อมกับรอยยิ้มบาง ๆ ซึ่งเป็นสีหน้าปกติของเขาในยามมุ่งมั่นฮึดสู้

“แคทรีน ผมรักคุณ และรักมากเหมือนเดิม รู้สึกเหงามากเมื่ออยู่บนอวกาศอย่างนี้ เวลาเงียบ ๆ
ผมจะคิดถึงคุณตลอด บางครั้งเมื่ออยู่คนเดียว ผมก็จะหัวเราะเสียงดังลั่น เมื่อคิดถึงสิ่งที่เราทำร่วมกัน
หรือคำพูดติดปากของคุณ เหมือนคุณอยู่ข้าง ๆ ผมตลอดเวลา”

มีนักบินอวกาศอีก 3 คนตามมาสมทบที่สถานีมีร์หลังจากเจอรี่มาถึงได้ไม่นาน

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ นักบินทั้งหมดกินอาหารเย็นร่วมกันที่ ”ห้องฐาน” เมื่อมีคนเพิ่มเป็นสองเท่า
ก็ต้องเพิ่มกำลังการผลิตออกซิเจนเช่นกัน อเล็กซานเดอร์จึงแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อไปเปิดเครื่อง
ทำออกซิเจนสำรองที่อยู่ในห้อง Kvant-1

เจอรี่เพิ่งนึกออกว่าจะต้องตรวจสอบข้อมูลบางอย่างเมื่อเห็นอเล็กซานเดอร์ลอยตัวออกไปจากโต๊ะ
เจอรี่จึงลอยตัวออกไปที่คอมพิวเตอร์ของตนใน “ห้องสเป็กตร์ (Spektr)”

“ออด!” เสียงสัญญาณเตือนภัยดังอีกครั้งหนึ่ง เจอรี่ไม่ตื่นเต้นเพราะคุ้นกับเสียงเตือนโดยไม่รู้
สาเหตุแบบนี้ แต่อเล็กซานเดอร์ลอยกลับมาที่ห้องด้วยความตื่นตระหนก

“เกิดอะไรขึ้น” เจอรี่ถาม ก่อนที่อเล็กซานเดอร์จะเอ่ยปาก เจอรี่ก็รู้คำตอบแล้วเมื่อเห็นควันสีเทา
หนาทึบลอยไล่หลังนักบินอวกาศรัสเซียผู้นี้ ต้นเหตุเกิดจากเครื่องทำออกซิเจนสำรองระเบิด แล้ว
พ่นหยดโลหะหลอมเหลวสีขาวกระจายเต็มผนังห้อง Kvant-1 นั้น

เจอรี่คิดไปไกลว่า คงเป็นเรื่องใหญ่แน่ เพราะควันอาจทำให้ทุกคนสำลัก หายใจไม่ออก และถ้า
เปลวไฟเปลี่ยนทิศ หยดโลหะเหล่านั้นก็อาจเจาะทำลายตัวสถานีและทำให้แรงกดอากาศในสถานี
ลดวูบ ส่งผลให้ร่างกายของทุกคนในสถานีระเบิดแตกปริด้วยแรงดันอากาศในตัวของพวกเขา

เจอรี่ลอยตัวกลับไปที่ “ห้องฐาน” ซึ่งมีหน้ากากออกซิเจนเก็บอยู่ หน้ากากอันแรกที่คว้ามาสวม
ไม่ทำงาน เขากระชากออกและหยิบอีกอันมาสวมพร้อมกับสูดออกซิเจนเข้าเต็มปอด

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร มี.ค. 14, 2023 8:55 pm

🌐ด้วยรักจากสถานีอวกาศมีร์ ตอนที่ ( 4
)จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย Anita Bartholomew และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

นักบินอวกาศคนอื่นพากันสวมหน้ากาก วาเลรีสั่งให้อเล็กซานเดอร์และวาสิลี (Vasily Tsibliyev)
เตรียมแคปซูลอวกาศโซยุส (Soyuz) หนึ่งในสามเครื่องที่มีอยู่เพื่อสละสถานี
แคปซูลเครื่องที่สองอยู่อีกด้านหนึ่งของสถานีโดยมีไฟขวางอยู่ ถ้าจำเป็นต้องสละสถานี นักบิน 3 ใน
6 คนบนสถานีอวกาศก็คงต้องติดอยู่ในสถานีนั้น

“ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะต้องมาจบชีวิตแบบนี้” เจอรี่คิด แล้วพูดออกมาว่า
“แคทรีน ผมรักคุณ ดูแลจอห์นให้ดีนะ” จากนั้นก็หันหน้ามุ่งไปยังห้อง Kvant-1

“ไปที่ต้นเพลิงกัน” เจอรี่ตะโกนบอกวาเลรี วาเลรีรีบเข้าไปในอุโมงค์เพื่อดับไฟนรกด้วยเครื่องดับเพลิง
ส่วนเจอรี่ตามไปติด ๆ ไฟเริ่มเผาผลาญไป 4 นาทีแล้วและยังคงปะทุอยู่ ควันไฟหนามากจนเจอรี่มอง
ไม่เห็นเพื่อน

ฝ่ายอเล็กซานเดอร์และวาสิลีก็เตรียมแคปซูลโซยูซตัวที่อยู่ใกล้ ภายในเก็บชุดอวกาศของเจอรี่ซึ่ง
คนอื่นใส่ไม่ได้ เจอรี่รู้เรื่องนี้ดีจึงรู้สึกโล่งอกไม่น้อย แต่เสี้ยววินาทีต่อมา เจอรี่ก็คิดได้ว่าเขาไม่อาจ
ทิ้งเพื่อนไปได้ ทุกคนจะต้องอยู่ช่วยกันดับไฟหรือไม่ก็ตายด้วยกันหมด บนพื้นโลกที่สตาร์ซิตี้ ไม่มี
ใครรู้ว่ากำลังเกิดเหตุการณ์คับขันกับสถานีมีร์เนื่องจากสถานีอยู่ในวงโคจรช่วงที่ไม่สามารถติดต่อ
ทางวิทยุได้

แคทรีนและจอห์นเสร็จภารกิจประจำวันและกำลังจะสวดภาวนาก่อนเข้านอนตามปกติ
หลังอ่านหนังสือนิทานจบ แคทรีนให้ลูกดูรูปพ่อซึ่งไม่ได้เจอหน้ามา 6 สัปดาห์แล้ว

“นี่พ่อหนูนะ” เธอบอก เพราะกลัวลูกจะลืมใบหน้าเปื้อนยิ้มนี้เสีย “พ่อไปไม่นานนะลูก
พ่อรักเราและกำลังจะกลับมาหาเราจ้ะ”

ไฟยังลุกโหมสถานีอวกาศมีร์อยู่ นักบินอวกาศรีบตรวจสอบตามวิธีปฏิบัติยามฉุกเฉิน นั่นคือ
ปิดเครื่องระบายอากาศ ปิดระบบต่าง ๆ และทิ้งสิ่งที่จะติดไฟออกไปให้หมด ถึงกระนั้นเปลวไฟ
ก็ยังลุกฝ่าม่านควันหนาทึบ เจอรี่สงสัยว่าไฟจะลามไหม้อีกนานแค่ไหนก่อนจะทำลายตัวสถานี

“ถ้าเปลวไฟชี้ลงล่าง แปลว่าแรงกดอากาศลดลงแล้ว ให้เตรียมตัว” ใครคนหนึ่งตะโกนบอกใน
สิ่งที่ทุกคนหวาดกลัวที่สุด

“จะเตรียมตัวรับแรงกดอากาศที่ลดลงได้อย่างไรกัน” เจอรี่คิด “แคทรีน! จอห์น!” ชื่อหน้าของคน
ทั้งสองลอยอยู่ตรงหน้าตลอดเวลา

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร มี.ค. 14, 2023 8:57 pm

🌐ด้วยรักจากสถานีอวกาศมีร์ ตอนที่ (5) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย Anita Bartholomew และจากวิกิปีเดีย 2565 โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ขณะที่วาเลรีใช้เครื่องดับเพลิง เจอรี่สังเกตเห็นอะไรบางอย่าง อาจเป็นความคิดเข้าข้างตัวเอง
หรือว่าไฟเริ่มลดความดุดันลงแล้ว เปล่าเลย เขาไม่ได้คิดไปเอง เปลวไฟเริ่มมอดลงเมื่อเผาผลาญ
เชื้อเพลิงเคมีจนหมด พวกเขากำลังจะเอาชนะมันได้!”

เมื่อไฟมอดลง นักบินอวกาศรีบเปิดระบบระบายอากาศเพื่อฟอกอากาศ เจอรี่ตรวจระบบหายใจของ
เพื่อน ๆ และไม่เห็นสิ่งผิดปกติ ขณะเดียวกัน วาเลรีก็รายงานไปยังศูนย์ควบคุมฯ ว่า
”เกิดเพลิงไหม้ แต่ควบคุมเพลิงได้และทุกคนปลอดภัย”

คืนนั้น บรรดานักบินอวกาศหมดแรงและหลับเป็นตาย ก่อนที่เจอรี่และวาเลรีจะมุดเข้าถุงนอน
ทั้งสองขยิบตาและยิ้มให้กัน ไม่ต้องพูดก็รู้กันว่าทั้งคู่โล่งอกที่ปลอดภัยและจะได้กลับไปหาคนที่
ตนรักโดยสวัสดิภาพ

วันที่ 21 พฤษภาคม เจอรี่ร่ำลาเพื่อน ๆ แล้วขึ้นยานแอตแลนติสเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้าน

เมื่อกระสวยอวกาศใกล้ถึงศูนย์อวกาศเคนเนดี้ เจอรี่กอดอำลาเพื่อนนักบินอวกาศรัสเซียทุกคน
และเมื่อยานแอตแลนติสแตะพื้น เขาก็ถูกนำตัวไปยังอาคารเล็ก ๆ ซึ่งแคทรีนและจอห์นรออยู่

ท้องของแคทรีนใหญ่ขึ้นกว่าตอนที่จากกัน กำหนดคลอดในอีกไม่กี่สัปดาห์ เธอดูสวยขึ้น

“เจอรี่” เธอสะอื้นด้วยความโล่งใจ ส่วนจอห์นเมื่อเห็นแม่ร้องไห้ก็ปล่อยโฮตาม เจอรี่โผกอด
ทั้งคู่ไว้ในอ้อมแขน

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น เจอรี่เดินเล่นที่สนามหลังบ้าน ทุกอย่างดูเขียวขจีไปหมด ทั้งต้นโอ๊ก ต้นยี่โถ
และต้นหญ้า เขาไม่เคยนึกมาก่อนว่า สีสันของต้นไม้จะสวยสดงดงามและทำให้คิดถึงได้
มากมายเช่นนี้มาก่อน แล้วเจอรี่ก็คุกเข่าลงดึงวัชพืชขึ้นมาจ้องดูใกล้ ๆ ช่างเป็นความรู้สึกแสน
วิเศษจริง ๆ ที่ได้ใช้มือสัมผัสพื้นผิวดินเย็นชื้นและอบอุ่นของพื้นผิวโลก

**************************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ มี.ค. 24, 2023 8:58 pm

เรื่องสั้น บทเรียนหลากชีวิต
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมิถุนายน 2541
โดย H. Jackson Brown รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หนังสือเล่มแรกที่ผมเขียนเรื่อง “หนังสือเล่มน้อยคอยเตือนใจ” (Life’s Little Instruction Book)
เป็นการเขียนขึ้นจากคำแนะนำที่ให้แก่ลูกชายตอนที่เขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและได้รับการตีพิมพ์
ในปี 2534 หนังสือเล่มนี้ติดอันดับยอดขายสูงจนผมเองยังแปลกใจ ผู้อ่านหลายท่านทยอยส่งคำคม
ที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันและคำแนะนำที่สามารถปฏิบัติตามได้มาให้มากมาย

ข้อคิดคำคมต่อไปนี้รวบรวมมาจากบุคคลหลายท่าน บางข้อไม่ใช่สิ่งที่จะเรียนรู้ได้ง่าย ๆ ข้อคิดหลาย
ข้อเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์นานปี บางข้อเป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งขึ้นเอง และในข้อคิดคำคมแต่ละ
ข้อนั้น บุคคลผู้เป็นเจ้าของได้เรียนรู้ว่า :

1) พูดโกหกขณะสบตาแม่นั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง – อายุ 9

2) อย่าอุ่นอาหารในตู้อบไมโครเวฟทั้งที่มีช้อนส้อมคาอยู่ในจาน – อายุ 13

3) ยิ่งทำผิดบ่อยเท่าไร ยิ่งฉลาดขึ้นเท่านั้น – อายุ 13

4) การหยุดพักกลางคันขณะยังทำงาน ไม่ช่วยให้ปลอดโปร่งโล่งใจเท่ากับการหยุดพัก
เมื่อเสร็จงาน – อายุ 16

5) ขนมหวานไม่กี่ขีดอาจเพิ่มน้ำหนักตัวได้เป็นกิโล – อายุ 16

6) เอ่ยทักทายกับใครสักคนในวันนี้ อาจทำให้มีเพื่อนใหม่ในวันหน้า – อายุ 18

7) ลองใส่ชุดว่ายน้ำใหม่ตอนเปียกๆ ก่อนใส่ให้คนอื่นดู – อายุ 21

8) หากยังพูดถึงแต่สิ่งที่ทำเมื่อวาน แสดงว่าวันนี้ไม่ค่อยได้ทำอะไร – อายุ 21

9) คิดนานขึ้นอีกสักนาทีก่อนทำสิ่งใด จะได้ไม่ต้องวิตกกังวลอีกหลายชั่วโมงในภายหลัง – อายุ 22

10) เมื่อพ่อแม่พูดว่า “พ่อแม่จะคิดยังไงก็คงไม่สำคัญ ลูกเป็นคนคบหาเขานี่” แปลว่าพ่อแม่ไม่ชอบ
ผู้ชายคนนั้น – อายุ 24

11) อย่าซื้อพรมสีขาวเป็นอันขาด หากคุณเลี้ยงสุนัขสีดำ – อายุ 30

12) เพื่อนบ้านที่ดีมีเสมอ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน – อายุ 30

13) การให้เพื่อนหรือญาติยืมเงิน ทำให้พวกเขาเป็นโรคความจำเสื่อม - อายุ 32

14) เราจะประหลาดใจเมื่อพบว่า คนที่คิดว่าจะซ้ำเติมเวลาเราล้ม กลับเป็นคนที่เอื้อมมือมา
ดึงเราขึ้นมา – อายุ 32

15) เมื่อไม่มีโทรศัพท์เข้า จงโทรศัพท์ไปหาคนอื่น – อายุ 35

16) ถ้าคุณไม่มีเวลาให้เพื่อน แปลว่าคุณไม่มีเวลาจริง ๆ – อายุ48

17) ความสุขของแม่อยู่ที่เห็นลูกมีความสุข – อายุ 49

18) จงเปิดใจ แต่อย่าเปิดมากจนเสียสติ – อายุ 54

19) นักศึกษาที่หาเงินเรียนเอง ไม่มีวันสอบตกจนถูกออก – อายุ 55

20) ชีวิตเหมือนรถจักรยานสิบเกียร์ หลายเกียร์เราไม่เคยได้ใช้ – อายุ 59

21) สถานการณ์อาจเลวร้าย แต่อารมณ์ร้ายของคุณอาจทำให้แย่ลงไปอีก – อายุ 71

22) เมื่อสิ้นวัน ฉันมีความสุขอย่างยิ่งที่จะถามตัวเองว่า “อะไรคือสิ่งดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับฉัน
ในวันนี้” – อายุ 72

23) การกระทำที่ดีงามไม่เคยสูญเปล่า อาจใช้เวลาสักหน่อยกว่าคนอื่นจะเห็น เหมือนกระเป๋า
เดินทางที่เลื่อนมาบนสายพาน มิช้ามินานก็จะวนกลับมาใหม่ – อายุ 77

24) โอกาสไม่เคยสูญหายไปไหน หลุดจากมือคุณ ก็ไปตกอยู่ในมือคนอื่น – อายุ 89

***************************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส