รวมเรื่องสั้นคติเตือนใจ ดีมาก ( ชุดที่7 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6000
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ เม.ย. 07, 2023 12:35 pm

*** สุดยอดบทความจากหนังสือสีแดง ของวินทร์ เลียววาริณ

วิไลซื้อกระเป๋าถือใบหนึ่งจากห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งในรายการลด 50 เปอร์เซ็นต์
เมื่อเดินผ่านอีกห้างหนึ่ง เห็นกระเป๋าอย่างเดียวกันวางขายอยู่ ก็ลองเปรียบเทียบราคาดู
แล้วพบว่าห้างแห่งที่สองขายกระเป๋าแบบเดียวกันถูกกว่าห้างแรก 250 บาท ทั้งนี้เพราะ
ห้างแรกใช้ลูกเล่นตั้งราคาสูงกว่าปกติแล้วลดราคาลงมาเท่าเดิม เธอโกรธตัวเอง ด่าตัวเอง
ว่าโง่เง่าจนถูกเขาหลอก ทำไมเลินเล่ออย่างนี้ ทำไมไม่ตรวจสอบราคาหลาย ๆ ห้างก่อน
ทำไมไม่ถามเพื่อน ฯลฯ ขณะกลับบ้านก็โมโหไปตลอดทาง ถึงบ้านแล้วก็ยังกลุ้มใจ ลูกมา
หาก็ไม่อยากคุยด้วย ครั้นเวลาอาหารเย็นก็กินไม่อร่อย คิดถึงแต่เรื่องนี้ เวลานอนก็ไม่หลับ
เพราะยังโมโหตัวเองไม่หาย กลุ้มใจไปหลายวัน

นี่เรียกว่า เสียสองเด้ง

เด้งแรกคือเสียทางวัตถุ เด้งที่สองคือเสียทางจิตใจ

วิไลเลิกซื้อสินค้าจากห้างแห่งนั้น ผ่านไปหนึ่งปี สองปี วิไลก็ยังโกรธตัวเองและห้างไม่หาย
ในเหตุการณ์นั้น ทุกครั้งที่โกรธ เธอก็มีอาการหัวใจเต้นแรง นอนไม่หลับ

มันเพิ่มจากเสียสองเด้งเป็นเสียสามเด้ง สี่เด้ง

ผ่านไปสิบปี เธอยังโกรธเรื่องนี้อยู่ คราวนี้จาก 3-4 เด้ง กลายเป็น 10-20 เด้ง กลายเป็นทุกข์
ทบต้น เป็นดอกเบี้ยอารมณ์ที่ทบซ้ำไม่หยุดหย่อน ตราบที่ยังไม่สามารถปล่อยวางเรื่องนี้ได้

รวมพลังงานที่เสียไป, เวลาที่หายไปกับการครุ่นคิดเรื่องนี้, สารพิษที่ร่างกายหลั่งออกมาตอน
กลัดกลุ้ม, ความเสื่อมของหัวใจที่เกิดจากความโกรธ คำนวณออกมาแล้วจะพบว่าค่าเสียหาย
ของงานนี้มากกว่า 250 บาท

สุดาทะเลาะกับสามี สามีด่าเธอด้วยถ้อยคำรุนแรง วันรุ่งขึ้นสามีขอโทษเธอ บอกว่าเมื่อคืนนี้ใช้
คำพูดหยาบคายเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เธอยกโทษให้เขา แต่ทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้ ในใจเธอยังรู้สึก
น้อยใจและโกรธ และงอนเขาไปหลายวันโดยที่เขาไม่รู้

ผ่านไปสิบปีความน้อยใจยังไม่จางหาย ผ่านไปยี่สิบปี ทุกครั้งที่นึกถึงเหตุการณ์นี้ เธอก็สัมผัสความ
โกรธและน้อยใจที่ปะทุวูบขึ้นมา

นี่ก็คือทุกข์ทบต้น เป็นดอกเบี้ยอารมณ์ที่ทบซ้อนไม่หยุดหย่อน ตราบที่ยังไม่สามารถปล่อยวาง
ตะกอนในใจได้

สมยศกับเพื่อนลงทุนในธุรกิจหนึ่ง กิจการของทั้งสองไม่เคยได้รับกำไร ผ่านไปสองปีสมยศเพิ่งพบว่า
เพื่อนโกงเงินกำไรทั้งหมด ทั้งสองเลิกกิจการที่ทำด้วยกัน แต่สมยศไม่เคยลืมความเจ็บช้ำครั้งนี้ ผ่านไป
สิบปี เขาประสบความสำเร็จในธุรกิจของเขาเองแล้ว ความโกรธแค้นนั้นยังคงอยู่ มันทำให้เขาไม่มี
ความสุขทุกครั้งที่นึกถึงมัน

ทุกข์ทบต้น!

.……………….

ความทรงจำของมนุษย์มีความแปลกอย่างหนึ่งคือ มันจดจำเรื่องไม่ดีได้ลึกกว่านานกว่าเรื่องดี ๆ

เรามักจดจำเรื่องที่คนอื่นทำแย่ ๆ ต่อเราได้ ไม่ว่าผ่านมากี่สิบปีแล้ว เราจำเรื่องที่เราพูดหน้าชั้นเรียน
แล้วถูกเพื่อนหัวเราะเยาะได้ เราจำเรื่องที่ใครบางคนนินทาเราลับหลังและเราบังเอิญได้ยินได้

คนแก่บางคนเริ่มมีอาการขี้ลืม แต่กลับจำเรื่องที่คนอื่นทำไม่ดีต่อเขาเมื่อห้าสิบปีก่อน แล้วความโกรธ
ก็ปะทุขึ้นมาเหมือนว่าเหตุการณ์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อครู่นี้เอง หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก และคืนนั้นก็นอนไม่หลับ

เป็นดอกเบี้ยทบต้นที่แพงเหลือเกิน

ทุกข์ทบต้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน เกิดขึ้นกับแทบทุกคน แต่คนฉลาดเลือกจบมันตั้งแต่เกิดความ
เสียหายแรก คนเขลาต่อเติมความเสียหายแรกเป็นความเสียหายใหม่ที่มักใหญ่กว่าเดิม

การจบมันก่อนคือการยอมปล่อยมันลง ไม่แบกมันไว้

PUT IT DOWN!

วางมันลง

วางมันลง

วางมันลง

นี่ก็คือเรื่องการยึดมั่นถือมั่นที่พระเทศน์ มันเข้าใจไม่ยากอย่างที่คิด

ลองใช้หลักบัญชีง่าย ๆ แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสองช่อง ช่องซ้ายคือกำไร ช่องขวาคือขาดทุน

กำไรคือความสุข ความสบายใจ การได้เงินเพิ่ม

ขาดทุนคือความทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ค่าเสียเวลาไปหาหมอ ค่าบิลโรงพยาบาล
ค่าเสียโอกาสในการทำเรื่องสร้างสรรค์อื่น ๆ ค่าเสียโอกาสในการเล่นกับลูก ไม่ได้หัวเราะ
ไม่ได้ยิ้ม ฯลฯ แล้วคูณจำนวนวันเดือนปีที่อารมณ์บูดเข้าไป

เด็กประถมก็รู้ว่าควรเลือกทางไหน

แต่คนไม่ยอมใคร เลือกที่จะไม่รู้!

กูไม่ยอมโว้ย!

เสียรู้ห้างไป 250 บาท ไม่ตายก็หาใหม่ได้ เพื่อนโกงเงินไม่ตายก็หาใหม่ได้ อย่าแบกมันไว้นานเป็นปี ๆ
เพราะค่าแบกแพงกว่าค่าเสียหายในตัวเงิน ทะเลาะกับสามีเป็นเรื่องปกติธรรมดา
มีใครบ้างที่ไม่ทะเลาะกับสามี?

เสียเงินไปแล้ว ไยต้องเสียอารมณ์เพิ่ม? ทุกข์เรื่องหนึ่งแล้ว ทำไมต้องทุกข์เพิ่มอีกเรื่อง?

ค่าใช้จ่ายในการไม่ยอมคนอื่นนี้มักแพงกว่าการยอม ๆ เขาบ้าง แล้วยุติความเสียหายแรกเพียงแค่นั้น
อย่าให้มันลามมาถึงใจจนกลายเป็นมะเร็งที่เกาะกินทั้งชีวิต

คำโบราณที่ว่า ยิ่งให้ยิ่งได้ ก็ตรงกับเรื่องนี้

ยอมให้เขาไป ได้ความสงบทางจิตคืนมา

.……………….

คราวนี้ลองใช้หลักการ ‘หลายเด้ง’ ในอีกด้านหนึ่งของตาชั่งอารมณ์ อาจได้ผลต่างกัน

ซื้อขนมมากิน รสชาติอร่อยเหลือเกิน ก็แบ่งให้เพื่อนชิม จากสุขคนเดียวก็กลายเป็นสุขสองคน
หรือสุขสองเด้ง

อ่านขำขันแล้วขำมาก เล่าให้เพื่อนสองคนฟัง ก็กลายเป็นสุขสามเด้ง ได้ยินธรรมที่ดีมาก
เล่าให้เพื่อนสามคนฟังแล้วนำไปปฏิบัติ กลายเป็นสุขสี่เด้ง

ลองคิดดูว่าหากเราสามารถทำเรื่องดี ๆ ให้คนนับพัน นับหมื่นนับล้านคน มันก็กลายเป็นสุขพันเด้ง
สุขหมื่นเด้ง สุขล้านเด้ง

และหากเราระลึกถึงความสุขชนิดนี้ ทุกครั้งที่นึกถึงเรื่องดี ๆ ที่เคยได้ยินได้ฟังนี้ หัวใจเราจะอาบซ่าน
ด้วยความปีติ มันก็กลายเป็นสุขทบต้น

แล้วมีอะไรในโลกที่ดีไปกว่าสุขทบต้น?

.……………….

จากหนังสือ ยาเม็ดสีแดง

โดย วินทร์ เลียววาริณ
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ ศุกร์ พ.ค. 03, 2024 12:00 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6000
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ค. 02, 2024 11:59 pm

เรื่องราวของเด็ก9ขวบที่สอนบทเรียนอันยิ่งใหญ่แก่สังคมโลก

มาฟังของจริงดีกว่าที่มีหลักฐานมั่นคงชัดแจ้งพิสูจน์ได้เลยครับคือเรื่องจากเมืองฟุคุชิมาที่โดนสึนามิ
ถล่มเสียราบไปเลยนั่นแหละ

โดยตำรวจญี่ปุ่นแต่เป็นคนเวียดนามอพยพซึ่งได้สัญชาติญี่ปุ่นแล้วนะครับชื่อนายฮาหมิ่นถาน ได้เขียน
จดหมายถึงเพื่อนที่เวียดนามเล่าถึงประสบการณ์ของการปฏิบัติหน้าที่ของเขาที่โรงเรียนประถมเล็กๆ
แห่งหนึ่งซึ่งเรื่องนี่เผยแพร่โดยสำนักข่าวนิวอเมริกันมีเดีย (New America Media-NAM) ซึ่งเป็นสำนัก
ข่าวที่ที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในทางเสนอข่าวทางชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ฝรั่งตะวันตกพูดง่ายๆ
คือสำนักข่าวที่มุ่งเสนอข่าวสำหรับคนในโลกที่ไม่ใช่ฝรั่งนั่นเอง

ฮาหมิ่นถามเขียนเล่าว่า ตำรวจของเมืองฟุคุชิมาต้องทำงานกันวันละ 20 ชั่วโมง งานหลักคือการขนย้าย
ศพผู้ตายจากสึนามิแบบว่าลืมตาขึ้นมาก็เห็นศพ จนหลับพอตื่นขึ้นมาก็ขนย้ายศพต่อ

นายฮาหมิ่นถานบอกเพื่อนว่า น่าแปลกใจในความสงบและการปฏิบัติตัวที่สุภาพมีมารยาทของชาวญี่ปุ่น
ที่สูญสิ้นแทบทุกอย่าง อย่างมีศักดิ์ศรีตลอด 1 สัปดาห์ภายหลังสึนามิ แต่เขากังวลว่าหากนานไปอีกความ
อดอยากก็จะทำให้เกิดมีสัญชาติดิบของการเอาตัวรอดขึ้นมาได้เนื่องจากอาหารน้ำยังขาดแคลนอย่าง
สุดแสนในช่วงแรกทั้งๆ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม

ฮาหมิ่นถานเขียนเล่าว่า เขาได้รับบทเรียนที่มีค่าที่สุดจากเด็กญี่ปุ่นอายุ 9 ขวบ ที่สอนให้เขาซึ่งเป็นผู้ใหญ่
รู้ถึงการปฏิบัติตนว่ามนุษย์ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร!

ฮาหมิ่นถานเล่าว่า เมื่อคืนที่แล้วเขาไปปฏิบัติหน้าที่ตำรวจในการดูแลความสงบของการแจกอาหารให้แก่
ผู้ประสบภัยสึนามิที่โรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตฟุคุชิมาโดยมีอาหารวางกองรวมกันอยู่เพื่อแจก
ให้ตามคิวที่จัดเป็นแถววกวนสลับกันเหมือนกับการเข้าคิวเข้าสวนสนุกซึ่งมีคนเป็นจำนวนมากและฮาหมิ่นถาน
เห็นเด็กนักเรียนชายใส่กางเกงขาสั้นและเสื้อยืดคอกลมตัวเล็กอายุประมาณ 9 ขวบ ยืนอยู่เป็นคนสุดท้าย
ซึ่งคะเนจากจำนวนคนแล้วอาหารที่กองอยู่อาจจะหมดเสียก่อนถึงคิวเด็กเสียด้วยซ้ำ

ฮาหมิ่นถานจึงเดินเข้าไปชวนเด็กคนนั้นคุยซึ่งก็ได้ความว่าในช่วงที่สึนามิโถมตัวเข้าฝั่งนั้นเด็กคนนี้อยู่บนชั้น
สามของโรงเรียนมองเห็นรถยนต์ที่พ่อของเขาที่ขับมารับเขาที่โรงเรียนถูกน้ำพลัดหายไปต่อหน้าต่อตา

เมื่อถามถึงแม่เด็กก็บอกว่าบ้านเขาอยู่ใกล้ชายหาดแม่และน้องสาวก็คงตกเป็นเหยื่อของคลื่นสึนามิอย่าง
ไม่ต้องสงสัย เด็กเบือนหน้าหนีในขณะที่เล่าถึงเรื่องเศร้าสลดของตนเพื่อเช็ดน้ำตาอย่างสงบ

เด็กเล็กคนนั้นเริ่มตัวสั่นเทาด้วยความหนาวเย็นในยามค่ำคืน ฮาหมิ่นถานจึงถอดเสื้อแจ๊คเก็ตของเขา
คลุมไหล่ให้เด็กโดยที่กล่องอาหารที่ฮาหมิ่นถานได้รับแจกก่อนมาปฏิบัติงานที่ร่วงลงจากกระเป๋าเสื้อ
แจ๊คเก็ต ฮาหมิ่นถานก้มลงเก็บกล่องอาหารแล้วยื่นให้กับเด็กผู้นั้นพร้อมพูดว่า

"นี่เป็นอาหารส่วนของฉันซึ่งฉันกินเรียบร้อยแล้ว หนูเอาไปกินเถอะเพราะว่ากว่าจะถึงคิวหนูได้รับแจก
อาหาร อาหารกองนั้นอาจจะหมดก่อนก็ได้"

เด็กอายุ 9 ขวบคนนั้นโค้งอย่างสุภาพแล้วรับเอากล่องอาหารไปพร้อมกับโค้งแล้วโค้งอีกเสร็จแล้ว
จึงเดินเอากล่องอาหารนั้นไปวางรวมไว้กับกองอาหารรวมที่เอาไว้แจกตามคิวทำให้ฮาหมิ่นถาน
ประหลาดใจถามเด็กเมื่อเขากลับมาอยู่ท้ายคิวตามเดิมว่า

"ทำไมหนูไม่กินอาหารเสียเล่า? ไม่หิวหรือไง? ทำไมถึงเอากล่องอาหารไปรวมกับกองอาหารส่วนกลาง?"

เด็กญี่ปุ่นอายุ 9 ขวบคนนั้นตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า

"เพราะว่าผมเห็นว่ามีคนมากมายทีเดียวที่หิวมากกว่าผม ถ้าผมเอากล่องอาหารไปวางรวมเป็นส่วนกลาง
แล้วทุกคนก็จะได้รับแบ่งเฉลี่ยไปกินเท่าๆ กัน"

ฮาหมิ่นถานต้องหันหน้าไปอีกทางหนึ่งเพื่อไม่ให้ใครเห็นเขาร้องไห้ เขาสรุปในจดหมายถึงเพื่อนชาว
เวียดนามของเขาว่า

A society that can produce a 9-year-old who understands the concept of sacrifice
for the greater good must be a great society, a great people

พากษ์ไทยว่า "สังคมที่สามารถผลิตเด็กอายุ 9 ขวบให้เข้าใจในความหมายของการเสียสละเพื่อความ
ไพบูลย์ของสังคมส่วนรวมได้ต้องเป็นสังคมที่ยิ่งใหญ่และเป็นผู้คนที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง"

โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

มติชน

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 12100 มติชนรายวัน

ส่งให้ #THUGSIN อ่านด้วย
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6000
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ค. 03, 2024 10:24 pm

*เรื่องสั้น*

(@)มะเร็งลำไส้ใหญ่...ต้องใส่ใจเรื่องอาหาร จากหนังสือ “เล่าแล้วอิ่ม อ่านแล้วอุ่น”
วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพฯ และวชิรพยาบาล ฉบับเดือนมิถุนายน 2552,
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ลุงพิเชษฐ์เป็นพ่อบ้าน อายุ 66 ปี ปกติเป็นคนสุขภาพแข็งแรงดี แต่แล้วอยู่ๆ ก็มีอาการ
ไม่ถ่ายมา 1 สัปดาห์ จึงได้มาพบแพทย์

“ช่วงนั้นรู้สึกกังวลว่าตัวเองเป็นโรคอะไร กินไม่ค่อยได้ เห็นอะไรก็เบื่อไปหมด กินไป 2-3 คำก็ไม่อยากกิน
ต่อจนลูกเมียรู้สึกผิดสังเกต ลูกก็เลยคะยั้นคะยอจะพาไปหาหมอ ลุงกลัวว่าถ้าเป็นโรคร้ายลูกเมียจะกังวล
ทำใจไม่ได้ แต่ตัวลุงเองก็อยากรู้ว่าลุงเป็นอะไรกันแน่ ที่สุดลุงก็เลยแอบไปหาหมอเอง”

เมื่อได้พบแพทย์และได้เอ็กซเรย์ตรวจดู “หมอก็บอกว่า ลุงน่าจะลำไส้อุดตัน เขาก็นัดให้ลุงมาส่องกล้อง
พอส่องไปก็เจอเนื้องอก หมอก็ขอตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ แล้วนัดลุงมาฟังผล”
ผลชิ้นเนื้อระบุว่า “คุณลุงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 3”

“ที่จริง ก่อนจะรู้ผลลุงก็เผื่อใจเอาไว้บ้างแล้วละ แต่พอหมอบอกว่าลุงเป็นเนื้อร้าย ลุงก็ยังตกใจทำอะไร
ไม่ถูก แล้วพอลุงกลับบ้าน ลูกเมียก็ถามว่าเป็นอะไร พอลุงบอกไปว่าเป็นเนื้อร้าย เมียลุงก็ร้องไห้เสียใจมาก
ลูกลุงเองก็ใจเสีย พอลุงเห็นลูกเมียเสียใจลุงก็สงสาร และรู้สึกว่าจะต้องต่อสู้กับโรคร้ายนี้ให้ได้ อะไรจะเกิด
ก็ต้องเกิด ลุงไม่อยากทำให้คนที่รักลุงต้องเสียใจ”

หลังเข้ารับการผ่าตัด ความรู้สึกก็ดีขึ้นมาก
“ตอนนี้ลุงก็ไม่คิดอะไรแล้วล่ะ หมอเขาผ่าตัดให้ลุงแล้ว ลุงคิดว่าอีกหน่อยลุงก็คงหายจากโรคนี้ เพราะว่าลุง
ก็มารับยาเคมีตามที่หมอนัดตลอด ทานอาหาร ออกกำลังกายตามที่หมอแนะนำ แล้วก็มีไปเข้าวัดฟัง
พระเทศน์บ้าง ก็รู้สึกสบายใจขึ้น”

จากประสบการณ์การต่อสู้กับโรคร้าย ลุงพิเชษฐ์ต้องปรับตัวในการดำเนินชีวิตพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เรื่องอาหารการกิน

“ลุงก็ปรับเรื่องอาหารการกิน ไม่กินอาหารปิ้งทอดหมักดอง ส่วนบุหรี่ เหล้า ลุงก็เลิกมานานแล้ว ลูกเมียลุง
ก็เริ่มทำใจได้ เพราะลุงบอกว่าอยู่กับหมอไม่ต้องเป็นห่วง เดี๋ยวก็หาย เมียลุงก็ไปหาสูตรอาหารเพื่อสุขภาพ
มาทำให้ลุงกิน คอยชวนลุงไปวัดไหว้พระสวดมนต์ ว่างๆ ลุงก็ปลูกต้นไม้”
ลุงอยากจะให้กำลังใจผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาสุขภาพอย่างเดียวกับลุงว่า “อย่าท้อ อยู่กับหมอแล้ว
ไม่ต้องกลัว ทำตามที่หมอแนะนำ หาอะไรทำไม่ให้เครียด ไม่ให้ฟุ้งซ่าน แล้วสำหรับญาติๆ ผู้ป่วยนะ
ลุงก็อยากให้คอยเป็นกำลังใจ คอยดูแลผู้ป่วยเหมือนอย่างที่ลุงได้รับสิ่งต่างๆ เหล่านี้จากคนที่รักลุง”

***********************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6000
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ค. 03, 2024 10:31 pm

*เรื่องสั้น*

(@)มะเร็งปากมดลูก คิดให้สุขต้องคิดบวก จากหนังสือ “เล่าแล้วอิ่ม อ่านแล้วอุ่น”
วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพฯ และวชิรพยาบาล ฉบับเดือนมิถุนายน 2552,
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

น้าไพลิน ผู้ป่วยอายุ 40 ปี อาชีพแม่บ้าน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
เมื่อ พ.ศ.2549 ซึ่งขณะที่ได้รับการวินิจฉัยนั้น แพทย์บอกน้าไพลินว่า มะเร็งที่เป็นนั้นเป็นระยะสุดท้ายแล้ว

คุณน้าเล่าความรู้สึกและการปรับตัวหลังจากที่รู้ว่าป่วยเป็นมะเร็งว่า “น้าไม่ได้มีความรู้สึกหวาดกลัว
ต่อโรคมะเร็ง ก็แค่รู้สึกว่าเป็นอีกโรคหนึ่งซึ่งคนทั่วไปก็สามารถเป็นได้ แค่มันรักษาไม่หายขาดเท่านั้น
ยังไงเราทุกคนเกิดมาก็ต้องตาย ดังนั้นเราป่วยก็ต้องรักษาไปตามวิธีที่หมอแนะนำ น้าไม่เคยเชื่อพวกที่
ไปกินยาสมุนไพรอะไรพวกนี้ เพราะว่าสุดท้ายก็เห็นว่าต้องกลับมาให้หมอรักษาทุกราย”

“การปรับตัวหลังจากที่รู้ว่าเป็นมะเร็งแล้วก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่ทำตัวตามปกติ ทำอะไรที่อยากทำ
กินอะไร ที่อยากกิน ใช้ชีวิตให้มีความสุขกับปัจจุบันก็พอ เพราะว่าเราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอดีตที่มัน
เกิดขึ้นไปแล้วได้ โรคที่เกิดขึ้นก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของกรรมที่เราเคยทำมาตั้งแต่สมัยก่อน อย่างเช่น เราอาจ
จะเคยยิงนกตกปลาอะไรพวกนี้ ตอนนี้ก็เหมือนเรามาใช้กรรมให้เขาไป”

ในระหว่างการรักษา มีหลายครั้งที่น้าไพลินต้องเจ็บปวดทรมาน ซึ่งต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก
แต่คุณน้าก็ไม่เคยคิดท้อเลย สำหรับสิ่งที่คอยเป็นกำลังใจให้คุณน้าก็คือ...

“ครอบครัวค่ะ เวลาอยู่บ้าน น้องสาวจะเป็นคนดูแลตลอด แล้วปกติที่บ้านเมื่อพี่น้องมารวมกันทุกวันเสาร์
มากินข้าวด้วยกัน กินสุกี้บ้าง กินขนมจีนบ้าง กินข้าวเสร็จก็จะเล่นไพ่กัน นั่งคุยเรื่องตลกๆ กันในหมู่พี่น้อง
เวลาอยู่บ้านก็เลยมีความสุขมากเพราะว่าที่บ้านไม่มีคนที่เครียดกับชีวิต อันนี้มันก็เป็นกำลังใจในการดูแล
ตัวเองที่ดีอันหนึ่ง อีกข้อที่ดีมากๆ คือ จะมองโลกในแง่ดีตลอด สุดท้ายน้าคิดว่าสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนมาก
ในการรักษาตัว อย่างที่โรงพยาบาลนี่ ถ้าสิ่งแวดล้อมภายในหอผู้ป่วยดี ห้องน้ำสะอาด อยู่ใกล้ มีพยาบาล
คอยดูแลเอาใจใส่ นี่มันช่วยได้มาก เราก็มีกำลังใจ พอกินได้ ทำอะไรได้บ้าง อย่างที่หอที่อยู่ตอนนี้ดีมากเลย
ต้องขอชม

เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ป่วยจะต้องมีเรื่องให้คอยวิตกกังวลบ้าง สำหรับน้าไพลินนั้น สิ่งเดียวที่เฝ้าห่วงใย
คือลูกสาวซึ่งเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจ
“ตอนนี้เรื่องที่ยังห่วงอยู่ก็คือเรื่องของลูกสาว ซึ่งปีนี้ก็อายุ 20 แล้ว ช่วงหลังมานี่ก็เกเรบ้าง แต่ว่าตั้งแต่
เด็กๆ เขาก็มีข้อดีของเขา คือพยายามหาเงินส่งตัวเองเรียนตลอด แม่ไม่เคยต้องไปจ่ายค่าเทอมให้แลยสักครั้ง
เขาหาของเขาเอง ไปทำงานร้านเซเว่นหรืออะไรแบบนี้ ตอนนี้ก็ทำงานแล้วให้เงินเดือนแม่ตลอด ถึงเขาจะเกเร
บ้างแต่เขาก็รักแม่ แม่ก็รู้ แต่มันก็ต้องมีความเป็นห่วงบ้าง กังวลบ้างเป็นธรรมดา กลัวว่าเขาจะป่วยเป็นแบบ
เราในอนาคต”

แต่ถึงแม้ว่ากำลังเผชิญโรคร้ายที่คุกคามชีวิต สิ่งที่น้าไพลินกลัวกลับไม่ใช่ความตาย เพราะคุณน้า
ตระหนักดีว่าความตายเป็นภาวะธรรมชาติ สิ่งที่คุณน้ากลัวกลับเป็นการพยายามฝืนธรรมชาติมากกว่า

“ถ้าน้าจะต้องตายนี่ ก็ไม่ได้กลัวเลยนะว่าจะตาย แต่ที่กลัวอย่างเดียวคือ อย่ามาใส่ท่อ เอาเหล็กมาปั๊ม
ให้ฟื้น ไม่เอาเลย เราทรมานด้วยโรคของเรามานานแล้ว ไม่อยากต้องมาทรมานจากของพวกนี้อีก จะบอก
คนรอบข้างไว้ตลอด เพราะว่าตอนนี้มะเร็งที่เป็นมันก็ลามมาที่กระดูกตรงสะโพกกับกระเพาะปัสสาวะแล้ว
ก็เตรียมใจตัวเองเอาไว้ตลอดตั้งแต่ตอนที่ต้องมาฉายแสงครั้งที่ 2”

คุณน้าฝากข้อคิดและกำลังใจไปถึงผู้ป่วยมะเร็งว่า

“โรคมะเร็งไม่ว่าชนิดใดก็ตาม จะต้องเข้าใจว่าโรคมันเป็นอย่างนี้ เราเป็นแล้วเราก็ต้องรักษา ถึงจะมี
แพ้ยาบ้าง กินข้าวไม่ได้บ้าง สักพักมันก็จะดีขึ้นเอง ค่อยๆ ปรับตัวไป ไม่ต้องกังวล เราไม่ได้จะตายกัน
ใน 3 วัน 7 วันหลังจากรู้ตัว ต้องดูแลตัวเองกันต่อไปให้ดีที่สุด”

************************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6000
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ค. 03, 2024 10:35 pm

“...ลูกเหลือเพียงสองสิ่งที่มีค่าในชีวิตนี้ที่พระองค์ทรงมอบให้ลูก คือ ‘ความทรงจำ’ ของการได้รักผู้อื่น
และการได้รับรักกลับมา ลูกจะปล่อยให้มันหายไปไม่ได้ ลูกจะไม่ขอให้พระองค์ช่วยชีวิต... แต่ได้โปรด
, ให้ลูกได้เก็บรักษาความทรงจำเหล่านี้ไว้... จนกว่าลมหายใจสุดท้าย...”
.
นั่นคือ ถ้อยคำอธิษฐานของ ฮงแฮอิน เธอเป็นโรคร้ายเนื้องอกในสมองที่ต้องผ่าตัดถึงจะรักษาชีวิตไว้ได้
แต่ต้องแลกกับการสูญเสียความทรงจำทั้งหมดไป... โดยเฉพาะความทรงจำสวยงามกับคนรักของเธอ
.
ขณะที่ ก่อนหน้านี้ แบคฮยอนอู คนรักของเธอ ก็สวดอธิษฐานเช่นกัน แต่...

“ผมไม่ได้สวดอธิษฐานให้ผมได้ขึ้นสวรรค์... ผมสวดอธิษฐานให้คุณยอมผ่าตัด - - ผมไม่ได้ขอกับ
พระเจ้าว่า คุณจะต้องจำได้ทุกอย่าง... ผมแค่ขอให้คุณยังมีชีวิตอยู่...”
. . . . .
.
นั่นเป็นเพียงบทสวดอธิษฐานของตัวละครจากบทภาพยนตร์* ทีทำให้หลายคนหลั่งน้ำตา แต่ปฏิเสธ
ไม่ได้ว่าในชีวิตจริงก็ไม่ต่างกัน...
.
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ซึ่งหาทางออกให้ชีวิตไม่ได้
หรือโลกวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ไม่สามารถให้คำตอบ
ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องเลือกเชื่อ- -
เชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น, เชื่อในสิ่งที่ไม่เคยยอมรับในยามปกติ
เรายอมคุกเข่า สองมือประนม ร้องขอทั้งน้ำตา...

วาระนั้น เรารู้สึกว่า “กฎธรรมชาติ”ที่นักวิทยาศาสตร์ยึดมั่นไม่เพียงพอ
ยังมี “กฎจักรวาล”ที่อยู่เหนือสติปัญญามนุษย์ ให้หวังพึ่งพา...

เราจึงเห็นบรรดามนุษย์ทั้งเศรษฐีแสนล้าน
และยาจกไร้เศษสตางค์ยอมก้มศีรษะภาวนา
หรือ แม้แต่นักบินอวกาศยังสวดอธิษฐานให้การเดินทางปลอดภัย...
.
การสวดภาวนาจึงไม่ใช่เรื่องงมงาย ที่ไม่เกิดประโยชน์ใด แต่ในความจริง การสวดภาวนาทำให้
เราถ่อมตน ไม่ประมาท

การสวดภาวนา เตือนตนว่าเราไม่ได้ยิ่งใหญ่แข็งแกร่งตลอดเวลา บางครั้ง เราก็อ่อนแอได้และ
ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น

การสวดภาวนา ไม่ใช่เรื่องคนแพ้พ่าย ขี้ขลาด หมดหนทาง แต่เป็นเรื่องคนที่ต้องการสู้ หยัดยืน
และมีความหวัง...
.
การสวดภาวนายังทำให้ใจที่กระด้างนั้น อ่อนลง, ใจที่คับแคบ กว้างขึ้น และใจที่เย็นชา จะรู้สึกถึง
ความอบอุ่นของความรัก…
.
การอธิษฐานภาวนาอย่างไม่ท้อถอย จึงไม่ใช่เพียงอ้อนวอนพระเจ้าให้ใจอ่อน แต่สร้างพลังใจเราเอง
ให้แข็งแกร่ง พร้อมก้มหน้ารับทุกเรื่องราว และเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่สิ้นหวัง!
.
ปะการัง
.
___
* จาก Ep. 14 ของ Queen of Tears ซีรีย์เกาหลีที่กำลังมาแรง (เรตติ้ง Ep.นี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
สูงมากจนใกล้จะแซงเรื่อง “Crash Landing on You” แล้ว) นำแสดงโดย คิมซูฮยอน
(รับบท แบคฮยอนอู) และคิมจีวอน (รับบท ฮงแฮอิน) เขียนบทโดย พัคจีอึน (นักเขียนบทซีรีส์ฝีมือดี
ที่มีผลงานโด่งดังก่อนหน้า อย่างเช่น
Crash Landing on You, My Love from the Star, The Producers, The Legend of the Blue Sea)
.
สถานที่ถ่ายทำฉากนี้ คือ อาสนวิหารเบอร์ลิน Berlin Cathedral ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 6000
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ค. 03, 2024 10:42 pm

*เรื่องสั้น*

ต้องฟอกไต แต่ใจสู้ จากหนังสือ “เล่าแล้วอิ่ม อ่านแล้วอุ่น”
วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพฯ และวชิรพยาบาล ฉบับเดือนมิถุนายน 2552,
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ลุงมา ในวัย 55 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจอู่ซ่อมรถยนต์ ย่านตลิ่งชัน กทม. เป็นผู้หนึ่งที่กำลังประสบ
ปัญหาในด้านสุขภาพ ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2549 ลุงมามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เมื่อไปพบแพทย์
ก็ทราบว่ากล้ามเนื้อขาดเลือดและมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย แพทย์ได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นโรคที่รักษา
ไม่หายขาด ต้องรักษาโดยการรับประทานยา การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และ
การออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้โรคดำเนินไปในทางที่รุนแรงขึ้น

ถึงแม้ลุงมาจะมาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอและพยายามทำตามคำแนะนำของแพทย์ แต่บ่อยครั้ง
ก็มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงจนต้องมานอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่อเดือนที่แล้วลุงมามีอาการ
เจ็บหน้าอกและเหนื่อย เมื่อมาตรวจที่โรงพยาบาลก็พบว่ามีน้ำท่วมปอด และแพทย์แจ้งให้ทราบว่า มีภาวะ
ไตวายร่วมด้วย จึงต้องเริ่มฟอกไต และต้องฟอกไตไปตลอดชีวิต

หลังจากที่เป็นโรคหัวใจ ชีวิตของลุงมาต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะมีอาการเจ็บหน้าอก
บ่อยมาก จนต้องวางมือจากอาชีพที่ทำมากว่าครึ่งของชีวิตและให้ภรรยาดูแลกิจการแทน ส่วนตัวคุณลุง
ก็อยู่บ้านทำงานเล็กๆ น้อยๆ ทำให้คุณลุงรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว
มาก่อน แต่คุณลุงก็พยายามคิดว่าเป็นผลจากพฤติกรรมของตนเอง เพราะคุณลุงเป็นคนสูบบุหรี่จัดประมาณ
วันละ 2 ซอง ถ้าวันใดไปเล่นการพนันก็อาจสูบถึง 4-5 ซอง นอกจากนี้ยังชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
ดื่มกาแฟวันละหลายแก้ว และยังดื่มเครื่องดื่มชูกำลังด้วย แต่หลังจากเป็นโรคหัวใจ คุณลุงค่อยๆ ลดการ
สูบบุหรี่ลงจนเลิกได้ในที่สุด รวมถึงการไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารรสเค็มตามที่แพทย์แนะนำ

ลุงมาเล่าให้ฟังว่าเริ่มฟอกไตเมื่อเดือนก่อน และต้องฟอกไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งใช้เวลา 4 ชั่วโมง
ทั้งๆ ที่มีโรครุมเร้าต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ แต่คุณลุงก็ไม่เคยย่อท้อ โดยคุณลุงมีข้อคิดว่าโรคภัย
ไข้เจ็บนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว การคิดน้อยใจในโชคชะตาไม่ใช่หนทางรักษาโรคให้หายได้ ลุงมาไม่เคยคิด
เปรียบเทียบกับคนอื่นว่าทำไมโรคนี้ต้องมาเกิดกับตนเอง ในเมื่อเป็นแล้วก็ต้องรักษาไปตามโรคเพื่อรักษา
ชีวิตที่เหลืออยู่เอาไว้

ลุงมาสามารถทำใจยอมรับกับปัญหาสุขภาพได้เพราะคิดในสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต คุณลุงคิดว่า
ชีวิตที่ผ่านมาก็ใช้คุ้มค่าแล้ว มีบ้าน มีรถ มีหน้าที่การงาน ครอบครัวลูกของคุณลุงทั้ง 5 คนจบการศึกษา
มีหน้าที่การงานที่มั่นคง ไม่มีภาระใดที่ต้องห่วงอีกต่อไปแล้ว และการที่คุณลุงเจ็บป่วยก็ได้รับกำลังใจที่ดี
จากภรรยาและลูกๆ คุณลุงเล่าให้ฟังว่า ทุกครั้งที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ภรรยาจะมาเฝ้าทุกวัน ทำอาหารมา
ให้รับประทาน ทุกครั้งที่มาฟอกไตก็มีภรรยามาเป็นเพื่อนโดยที่ภรรยาไม่เคยบ่นถึงปัญหาสุขภาพของคุณลุง
หรือบ่นว่าเหนื่อยเลยสักครั้ง ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่นี้ ลุงมาหวังเพียงแต่ว่าโรคที่เป็นอยู่จะไม่ทรุดลง สามารถ
ใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างมีความสุขและไม่เป็นภาระของคนในครอบครัวก็เพียงพอแล้ว หากจะต้อง
ตายไปก็ทำใจได้เพราะคิดว่าท้ายที่สุดแล้วชีวิตก็ต้องเดินมาถึงปลายทาง

ท้ายที่สุด ลุงมาได้ฝากกำลังใจไปถึงผู้ที่กำลังประสบปัญหาสุขภาพว่า เมื่อเป็นโรคแล้วโดยเฉพาะ
โรคที่รักษาไม่หาย ก็ต้องทำใจยอมรับสภาพให้ได้ อย่าไปทุกข์กังวล เศร้าเสียใจ เพราะนอกจากจะไม่ช่วย
ให้หายได้แล้ว สุขภาพจิตที่ไม่ดีอาจทำให้ร่างกายทรุดลงได้อีก เมื่อโรคเกิดขึ้นแล้วถึงแม้จะรักษาไม่หายขาด
แต่ก็สามารถรักษาเพื่อให้มีคุณภาพขีวิตที่ดีขึ้นได้ ทางที่ดีที่สุดคือรักษาสุขภาพร่างกายควบคู่ไปกับรักษา
สุขภาพจิตที่ร่าเริงแจ่มใส การที่จะสุขหรือทุกข์อยู่ที่ความคิดของเรา ดังนั้นเป็นตัวเราเองที่เป็นคนกำหนดว่า
จะมีความสุขกับชีวิตที่เหลืออยู่ หรือจะทุกข์ใจกับโรคที่เป็นไปตลอดชีวิต

*******************
ตอบกลับโพส