เรื่องดีๆจากหนังสือสวรสาระ ( ชุดที่ 29 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ เม.ย. 17, 2024 5:51 pm

………ปาฏิหาริย์เงือกน้อย มีทั้งหมด ( 4 ) ตอนจบ

ปาฏิหาริย์เงือกน้อย ตอนที่ ( 1 )
โดย แดน เลวิน เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนเมษายน 2551 และจากกูเกิล 2566
เรื่อง “ Surgery on Peru’s ‘mermaid’ baby successful’ รวบรวมและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ณ หมู่บ้านที่ห่างไกลในเขตฮวน กาโย (Juan Cayo) บนเทือกเขาแอนดีส ประเทศเปรู
ซารา อะราวโก (Sara Arauco) หญิงสาววัย 19 ปีคลอดบุตรในคลินิกเล็กๆ การคลอดเป็นไป
อย่างทุกลักทุเลจนเวลาผ่านไป 11 ชั่วโมง ที่สุดซาราก็ให้กำเนิดลูกสาวคนแรก แต่แทนที่จะ
ได้ยินเสียงโล่งใจของพยาบาล ทั้งห้องกลับเงียบกริบ “อะไรกันนี่” พยาบาลอุทาน ไม่มีใครกล้า
เอ่ยปากใดๆ ทารกน้อยถูกอุ้มออกไปนอกห้องทันทีให้พ้นสายตาซาราผู้เป็นมารดา
ในคืนเดียวกันที่กรุงลิมา (Lima) ซึ่งอยู่ห่างออกไป 400 กิโลเมตร นายแพทย์บลูอิส รูบีโอ
(Dr Luis Rubio) ศัลยแพทย์ตกแต่งผู้บริหารโรงพยาบาลโซลิดาริตี (Hospital Solidarity)
ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับคนยากจนในเขตเมืองลิมา เดินกลับบ้านหลังเลิกงาน โทรศัพท์มือถือ
ของเขาดังขึ้น นายกเทศมนตรีลูอิส กาสตาเนดา (Lima Mayor Luis Castaneda) โทรฯมาแจ้งว่า
“หมอเห็นข่าวในโทรทัศน์หรือยัง มีข่าวของรีการ์โด เซอร์รอน (Ricardo Cerron) บิดาวัย 24 ปี
จากฮวน กาโยขอความช่วยเหลือเพื่อรักษาทารกแรกเกิดของเขา เขาไม่มีเงินและในท้องที่นั้น
ก็ไม่มีแพทย์ที่สามารถช่วยชีวิตลูกของเขาได้ เราพอจะช่วยอะไรเขาได้บ้างครับ คุณหมอ”

หมอรูบีโอกับแพทย์อีก 2 คนเตรียมรถพยาบาลและบึ่งไปที่หมู่บ้านฮวน กาโยทันทีเพื่อรับตัว
ทารกน้อย กับผู้ปกครองมาที่กรุงลิมา

วันถัดมา เมื่อเห็นทารกนอนอยู่ในเปล เขาแทบไม่เชื่อสายตา ทารกหญิงมีขาทั้งสองข้างตั้งแต่ช่วง
เอวถึงข้อเท้าเชื่อมติดกันเป็นชิ้นเดียว มีเพียงปลายเท้าที่แยกออกจากกันคล้ายหางปลา นักข่าวจึง
เรียกทารกน้อยว่า “เงือกน้อย”

หมอรูบีโออุ้มทารกหนัก 2,000 กรัมไว้ในอ้อมแขน หนูน้อยเริ่มร้องไห้พร้อมกับยกขาทั้งสองตั้งขึ้น
“ฉันควรจะทำอย่างไรดี”

หมอรูบีโอถามตัวเอง เขาจ้องมองทารกผมดำขลับในอ้อมแขนพร้อมกับครุ่นคิดอย่างหนัก
“เด็กคนนี้จะอยู่รอดได้จริงหรือ”
หมอค่อยๆ ตรวจดูร่างกายส่วนล่างของทารกเพื่อศึกษาลักษณะของกระดูก กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ
โดยรอบ หนูน้อยเป็นโรคพันธุกรรมที่พบน้อยมากเรียกว่า “ไซเรโนมีเลีย” (Sirenomelia) ซึ่งเป็น
ภาวะที่ทารกขาดเลือดเลี้ยงร่างกายท่อนล่างตั้งแต่อยู่ในครรภ์

หมอรูบีโอเคยอ่านพบโรคนี้ แต่ไม่คิดว่าจะมีโอกาสพบได้จริง โรคนี้ค่อนข้างร้ายแรงเนื่องจากทารก
ส่วนใหญ่มีไตและกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ หลายคนเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอดไม่กี่วัน
เขาทราบว่ามีเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้เพียงรายเดียวที่รอดชีวิตหลังผ่าตัดแยกขาทั้งสองข้าง

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ เม.ย. 17, 2024 6:02 pm

ปาฏิหาริย์เงือกน้อย ตอนที่ ( 2 )
โดย แดน เลวิน เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนเมษายน 2551 และจากกูเกิล 2566
เรื่อง “ Surgery on Peru’s ‘mermaid’ baby successful’ รวบรวมและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เมื่อตรวจร่างกายทารกเสร็จแล้ว หมอรูบีโอวางแผนว่า ขั้นตอนแรกที่ต้องลงมือคือ
ตรวจโครงสร้างภายใน”ท่อนหาง”อย่างละเอียด ดูว่ากระดูกและเนื้อเยื่อต่างๆ มีครบหรือไม่
เส้นประสาทกับ กล้ามเนื้อเป็นอย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือลักษณะของหลอดเลือด เมื่อทราบ
ข้อมูลทั้งหมดแล้ว เขาจึงวางแผนการรักษาเพื่อช่วยชีวิตทารกน้อยและผ่าตัดแยกขาทั้งสองข้าง
เผื่อว่าเธอจะเดินได้ เขาสั่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์อย่างละเอียด หากกระดูกขาหรือข้อเท้า
เชื่อมติดกันแม้เพียงชิ้นเดียว การผ่าตัดแยกขาอาจกลายเป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย

ผลตรวจพบข่าวดี กระดูกขาทั้งสองข้างสมบูรณ์ดีและแยกจากกันเด็ดขาด มีเพียงเนื้อเยื่อและ
เส้นเอ็นที่เชื่อมติดกัน ข่าวร้ายคือทารกมีไตข้างเดียวที่ทำงานได้แต่ก็ไม่สมบูรณ์นัก อวัยวะอีก
หลายส่วนยังมีปัญหาอยู่ หมอรูบีโอเริ่มวางแผนการรักษาอย่างละเอียด เขาขอความช่วยเหลือ
จากศัลยแพทย์ตกแต่งจากรัฐฟลอริดาซึ่งเคยผ่าตัดแยกขาผู้ป่วยโรคนี้สำเร็จขณะที่เด็กคนนั้น
อายุ 16 ปี

คณะแพทย์เห็นว่าควรรอให้ทารกแข็งแรงกว่านี้จึงลงมือผ่าตัด เมื่อหมอรูบีโอวางแผนการรักษา
เรียบร้อย เขาแจ้งพ่อแม่เด็กว่าจะผ่าตัดเมื่อทารกอายุ 4 เดือน แต่ไม่อยากให้ทั้งคู่คาดหวังสูง
เกินไป
จึงกล่าวว่า “หมอเกรงว่าโอกาสสำเร็จอาจมีไม่มากนัก”

เมื่อทารกอายุ 2 เดือน พ่อกับแม่ตั้งชื่อลูกว่า “มิลากรอส” (Milagros) ซึ่งแปลว่า “ปาฎิหาริย์” ซารา
กล่าวว่า “เราคิดเสมอว่าเป็นเรื่องปาฎิหาริย์ที่ทำให้ลูกมีชีวิตรอดถึงทุกวันนี้”

เมื่อทารกอายุครบ 4 เดือน สุขภาพของมิลากรอสพร้อมสำหรับการผ่าตัด แต่โรคนี้ทำให้ภูมิ
ต้านทานของทารกอ่อนแอและติดเชื้อได้ง่าย การผ่าตัดจึงต้องเลื่อนออกไปอีกหลายเดือนทำ
ให้ซารากับริการ์โด บิดาเริ่มกังวล

ทารกน้อยยังคงร่าเริงสดใสและเป็นที่รักของทุกคนที่พบเห็น แม้แต่หมอรูบีโอซึ่งเคยผ่าตัดผู้ป่วย
เห็นเด็กมาแล้วหลายร้อยคนก็ยังหลงใหลในความน่ารักของมิลากรอส เขาเคยกล่าวว่า รอยยิ้ม
ของหนูน้อย “เปรียบเหมือนของขวัญพิเศษ” ผู้สื่อข่าวยังคงสนใจเรื่องนี้และรายงานข่าวของ
“เงือกน้อย”จนเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศเปรู

ก่อนลงมือผ่าตัด แพทย์ต้องเตรียมผิวหนังให้พร้อมเพื่อใช้คลุมบาดแผลบนขาทั้งสองข้าง
เมื่อมิลากรอสอายุ 10 เดือน นายแพทย์ผู้ช่วยของหมอรูบีโอผ่าตัดถุงซิลิโคนไว้ใต้ผิวหนังที่เชื่อม
ขาทั้งสองข้างและฉีดน้ำเกลือเข้าในถุงทีละน้อยเพื่อขยายผิวหนัง แต่วิธีนี้ทำให้เกิดแผลบนผิวหนัง
ตามมา แพทย์จึงต้องรักษาด้วยวิธีอบแผลในห้องความกดอากาศสูงเพื่อกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น

อาการของทารกดีขึ้นภายใน 3 เดือนต่อมา หมอรูบีโอรู้ดีว่าหากไม่ผ่าตัดเวลานี้
เขาอาจไม่มีโอกาสอีก

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ เม.ย. 17, 2024 6:08 pm

ปาฏิหาริย์เงือกน้อย ตอนที่ ( 3 )
โดย แดน เลวิน เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนเมษายน 2551 และจากกูเกิล 2566
เรื่อง “ Surgery on Peru’s ‘mermaid’ baby successful’ รวบรวมและเรียบเรียง
ขอโดย กอบกิจ ครุวรรณ

คณะแพทย์ตรวจประเมินหลอดเลือดดำกับหลอดเลือดแดงอย่างละเอียดเป็นอันดับแรก
หากมีปัญหาขัดข้องซึ่งทำให้ขาใช้งานไม่ได้ การผ่าตัดคงไร้ความหมาย

ศัลยแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือดสั่งตรวจหลอดเลือดด้วยวิธีแองจิโอแกรม (Angiogram)
ซึ่งเป็นการฉีดสีเข้าหลอดเลือดใหญ่บริเวณต้นขา พร้อมกับฉายเอ็กซเรย์เพื่อดูลักษณะการ
แตกแขนงของหลอดเลือดทั่วร่างกายบนจอภาพ

ผลตรวจยังไม่เป็นที่พอใจของศัลยแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากการไหลเวียนเลือด
ของขาขวามีน้อยมากต้องอาศัยหลอดเลือดขนาดเล็ก 3 เส้นที่เชื่อมจากขาซ้ายบริเวณใต้หัวเข่า
การผ่าตัดแยกอาจทำให้ขาขวาขาดเลือดหรืออาจจำเป็นต้องตัดขาขวาออก
ความหวังเดียวของศัลยแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือดคือเข็มสำหรับฉีดสีที่ข้างขวาอาจใหญ่
เกินไปจนอุดกั้นการไหลเวียนเลือดทำให้ตรวจไม่พบแขนงหลอดเลือดของขาขวา

คณะแพทย์ตัดสินใจเดินหน้าต่อ วันที่ 31 พฤษภาคม 2548 หมอรูบีโออุ้มเด็กน้อยวัย 13 เดือน
ไปยังห้องผ่าตัด ระยะทางเพียง 50 เมตร แต่เขากลับรู้สึกเหมือนไกลแสนไกล

ซารากับริการ์โดอยู่ในห้องพักและเฝ้าดูการผ่าตัดผ่านโทรทัศน์วงจรปิด ซาราสวดอธิษฐาน
ขณะที่ริการ์โดนั่งคอตกร้องไห้

ในห้องผ่าตัด มีแพทย์ 11 คนและพยาบาลอีกจำนวนหนึ่งรายล้อมอยู่รอบตัวหนูน้อยมิลากรอส
ศัลยแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือดเริ่มกรีดมีดยาว 15 เซนติเมตรบริเวณใต้หัวเข่าเพื่อค้นหา
หลอดเลือดขนาดเล็กทั้ง 3 เส้น หลังแหวกผิวหนังและเนื้อเยื่อ หลอดเลือดก็ปรากฏขึ้น นิ้วเท้าขวา
ของมิลากรอสมีเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเนื้อเยื่อติดอยู่ หากขาขวาอาศัยเลือดจากหลอดเลือด
ทั้ง 3 เป็นหลัก การหนีบหลอดเลือดจะทำให้ระดับออกซิเจนของขาขวาลดต่ำลงทันที

พยาบาลยื่นคลิปขนาดเล็กสำหรับหนีบหลอดเลือดให้ศัลยแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด เขาเริ่ม
หนีบหลอดเลือดทีละเส้นจนครบ 3 เส้นและรออีก 5 นาทีเพื่ออ่านผลระดับออกซิเจน

ศัลยแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือดถอยออกมาเพื่ออ่านค่าระดับออกซิเจนบนจอภาพ รอยยิ้มกว้าง
ที่แอบซ่อนอยู่หลังหน้ากากทำให้ดวงตาเขาหรี่ลง

“ทุกอย่างปกติ พวกเราลงมือต่อกันได้”

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ เม.ย. 17, 2024 6:29 pm

ปาฏิหาริย์เงือกน้อย ตอนที่ ( 4 )
โดย แดน เลวิน เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนเมษายน 2551 และจากกูเกิล 2566
เรื่อง “ Surgery on Peru’s ‘mermaid’ baby successful’ รวบรวมและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

หมอปินโต (Pinto) จับขาของหนูน้อยยกขึ้นเพื่อความสะดวกในการลงมีดผ่าตัดทั้งด้านหน้า
และด้านหลัง หมอรูบีโอใช้มีดผ่าตัดกรีดผิวหนังระหว่างส้นเท้าทั้ง 2 ข้าง พยาบาลช่วยดึงผิวหนัง
เพื่อเผยให้เห็นเนื้อเยื่อสีแดงด้านในซึ่งเชื่อมขาทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน
หมอรูบีโอและแพทย์ทุกคนในคณะต้องใช้ทักษะชั้นสูงด้านการผ่าตัดเพื่อแยกเส้นประสาท เส้นเอ็น
และหลอดเลือดออกจากกัน แพทย์ค่อยๆ เลาะเนื้อเยื่อทีละน้อยพร้อมกับห้ามเลือดด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า
ผิวหนังที่ปลูกเพิ่มด้วยวิธีฉีดถุงซิลิโคนถูกแยกออกเพื่อนำมาเย็บปิดแผลผ่าตัดบริเวณขาด้านใน
การผ่าตัดเสร็จสิ้นภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง หมอรูบีโอเดินออกจากห้องผ่าตัดไปยังห้องพักและ
สวมกอดซาราและริการ์โดด้วยความดีใจ “การผ่าตัดสำเร็จเรียบร้อยดีครับ” หมอกล่าว

วันต่อมา มิลากรอสฟื้นขึ้นและกินอาหารได้ตามปกติ เมื่อเห็นหมอรูบีโอมาเยี่ยม หนูน้อยยิ้มให้ทันที
พร้อมกับร้องเรียกด้วยเสียงแหลมเล็กเบาๆ ว่า “หมอคะ”

สามเดือนต่อมา มิลากรอสมีปัญหาแผลผ่าตัดติดเชื้อทำให้ขาทั้งสองเชื่อมต่อกันอีก
เดือนกันยายนต่อมา หมอรูบีโอจึงต้องผ่าตัดแยกขาอีกครั้งเป็นการถาวร

หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน ห้องโถงของโรงพยาบาลโซลีดาริตีก็เนืองแน่นไปด้วยช่างภาพ นักข่าว
และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซารานั่งบนพื้นพร้อมกับลูกสาวอยู่บนตัก หมอรูบีโอซึ่งยืนอยู่ไม่ไกล
ร้องเรียก “มิลากรอส มาทางนี้หน่อย” เด็กน้อยเดินตรงมาหาเขาพร้อมเสียงหัวเราะอย่างร่าเริงโดย
มีพยาบาลคอยประคอง เธอส่งจูบให้ทุกคนที่เฝ้าดูโดยรอบและส่ายสะโพกเล็กน้อยเหมือนกับ
จะเต้นรำให้ดู หมอรูบีโอกลิ้งลูกบอลสีเขียวไปให้ หนูน้อยเตะลูกบอลโดยไม่ลังเล -- “เข้าประตู”
หมอรูบีโอตะโกนตอบ พร้อมกับอุ้มตัวเธอชูขึ้นเหนือศีรษะและหอมแก้มฟอดใหญ่

หมายเหตุ

มิลากรอสช่วยให้โรงพยาบาลโซลิดาริตีของหมอรูบีโอเป็นที่รู้จักกว้างขวาง และโรงพยาบาลฯ
ได้รับเงินบริจาคสำหรับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ขณะเขียนเรื่องนี้ จำนวนคลินิกในเขตยากจนของกรุงลิมา
ก็เพิ่มขึ้นเป็น 16 แห่ง และมีผู้รับบริการมากกว่าวันละ 25,000 ราย หมอรูบีโอเปิดคลินิกอีก 1 แห่ง
เพื่อรักษาเด็กพิการแต่กำเนิดชนิดร้ายแรง

**************************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. เม.ย. 18, 2024 9:12 pm

………… เป็นเบาหวาน ยังยิ้มหวานได้ มีทั้งหมด ( 2 )ตอนจบ


เป็นเบาหวาน ยังยิ้มหวานได้ ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือ “เล่าแล้วอิ่ม อ่านแล้วอุ่น” วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพฯ และวชิรพยาบาล
ฉบับเดือนมิถุนายน 2552, รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ป้าอิ่ม ผู้ป่วยหญิงวอร์ดอายุรกรรมหญิง 2 (เตียงที่ 20) ผู้ซึ่งดูภายนอกแล้วเหมือนคนสุขภาพดี
ทั่วไปไม่น่าจะมีความผิดปกติอะไร แต่ใครจะรู้ว่าป้าอิ่มเป็นโรคเบาหวานมานาน 4 ปีแล้ว ซ้ำร้าย
เบาหวานเจ้ากรรมยังได้ลามไปที่ตาและไตของคุณป้าแล้วด้วย ทำไมคุณป้าถึงยังดูแข็งแรง สบายดี
ยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนคนปกติทั่วไป ทั้งๆ ที่ภายในร่างกายไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย มาดูกันว่าคุณป้า
มีวิธีจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

ป้าอิ่มเป็นชาวจังหวัดพิจิตรโดยกำเนิด แต่ได้ย้ายเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯตั้งแต่
ปี พ.ศ.2514 โดยยึดอาชีพขายขนมหวานช่วยสามีที่เป็นเทศกิจเลี้ยงลูก 3 คนมาตลอด จนกระทั่ง
เมื่อ 4 ปีก่อน คุณป้ามีแผลที่มือข้างซ้ายซึ่งเกิดจากแรงดีดของหนังยางที่คุณป้าใช้รัดถุงขนม เนื่องจาก
คุณป้าไม่ได้ไปพบคุณหมอตั้งแต่เริ่มเป็น กระทั่งแผลมีขนาดใหญ่ขึ้นจนทนเจ็บไม่ไหวจึงได้ไปหาหมอ
และพบว่าต้องตัดเนื้อตายทิ้ง และยังพบด้วยว่าคุณป้าเป็นโรคเบาหวานซึ่งอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำ
ให้แผลไม่หายและอาจลุกลามจนต้องตัดมือทิ้งในที่สุด

ยังดีที่โชคเข้าข้างคุณป้า แผลหายเป็นปกติดีทำให้ไม่ต้องตัดมือ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้คุณป้าต้อง
เปลี่ยนอาชีพไปขายพวงมาลัยและต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคเบาหวานที่ศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้าน
เป็นประจำเพื่อรับยาและตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยคุณป้ามีความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานจาก
คำแนะนำของแพทย์เพียงว่า “โรคนี้รักษาไม่หายขาด มันจะตายไปพร้อมกับตัวเรา เราเพียงแต่ต้องระวัง
ไม่ให้มีโรคแทรกซ้อนก็จะมีชีวิตอยู่ได้เหมือนคนทั่วไป” คุณป้าจึงไม่วิตกกังวลอะไรมากเนื่องจากเชื่อว่า
คนอื่นที่เป็นยังมีชีวิตอยู่ได้ ป้าเองก็ต้องอยู่ได้เหมือนกัน

ป้าอิ่มยังใช้ชีวิตประจำวันเหมือนเดิม ที่เพิ่มขึ้นมาคือการทานยาและไปตรวจตามนัด แต่เนื่องจาก
คุณป้าค่อนข้างขี้ลืมจึงมักจะลืมทานยาอยู่บ่อยครั้งทำให้ยาเหลือ พอถึงวันนัดคุณป้าจึงไม่ได้ไปเพราะว่า
ยายังไม่หมด และเป็นเช่นนี้อยู่บ่อยครั้งแต่ก็ยังไม่มีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับคุณป้า

2 ปีก่อนคุณป้าเลิกขายพวงมาลัย หันมาเป็นแม่บ้านและเลี้ยงหลาน 2 คนอย่างเต็มตัว เนื่องจากลูกๆ
ต้องไปทำงาน หลานทั้ง 2 คนนี้คุณป้าเลี้ยงมาตั้งแต่เกิดทำให้มีความรักและความผูกพันมาก เหตุการณ์
ยังดำเนินต่อไปอย่างปกติ แต่อาจเป็นเพราะคุณป้าเป็นคนทานข้าวเก่ง ถ้ากับข้าวอร่อยๆ ก็ยิ่งทานเยอะ
คุณป้าไม่ค่อยควบคุมการทานอาหารจนบางครั้งสามีของคุณป้าต้องคอยเตือนว่า “เป็นโรคเบาหวานอยู่นะ
ทานเข้าไปเยอะเดี๋ยวน้ำตาลก็ขึ้นหรอก” แต่คุณป้าก็ไม่ได้สนใจเนื่องจากคิดว่าทานยาอยู่ทุกวันคงไม่น่า
มีปัญหาอะไร

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. เม.ย. 18, 2024 9:15 pm

เป็นเบาหวาน ยังยิ้มหวานได้ ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือ “เล่าแล้วอิ่ม อ่านแล้วอุ่น” วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพฯ และวชิรพยาบาล
ฉบับเดือนมิถุนายน 2552, รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

จนกระทั่งช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา คุณป้ามีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง
จึงมาตรวจที่โรงพยาบาลพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทางคุณหมอเห็นว่าคุณป้าทานยาไม่ค่อย
สม่ำเสมอจึงส่งคุณป้าไปตรวจตาและไตเพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ ครั้งนี้โชคไม่เข้าข้างคุณป้า
เหมือนเคย ผลตรวจบ่งบอกว่าคุณป้ามีความผิดปกติของตาและไตอันเป็นผลจากโรคเบาหวาน คุณป้า
รู้สึกตกใจในแวบแรกที่รู้ผล รู้สึกวิตกกังวลเล็กน้อย แต่ก็ตั้งสติได้เมื่อได้ฟังคำอธิบายจากคุณหมอว่า
ถ้าดูแลรักษาตัวเองอย่างเคร่งครัดก็จะช่วยพยุงอาการไม่ให้เป็นมากขึ้นได้

ดังนั้นคุณป้าจึงเปลี่ยนมุมมองและความคิดใหม่ว่าจะปล่อยชีวิตให้ดำเนินไปแบบเดิมไม่ได้แล้ว ยังมี
หลาน 2 คนซึ่งเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจที่คุณป้าต้องดูแล ยังมีสามีและลูกๆ ที่รักและห่วงใยคุณป้ามา
โดยตลอด บุคคลเหล่านี้เป็นแรงและพลังให้คุณป้าสามารถลุกขึ้นต่อสู้ ยืนหยัด ฟันฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปได้
ป้าอิ่มได้ฝากเตือนไปยังคนอื่นๆ ว่า “ไม่ว่าคุณจะเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ให้ระวังเรื่องการกิน การอยู่
การปฏิบัติตัว อย่าไปกินมาก หมั่นออกกำลังกายรวมทั้งตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ อย่าปล่อยปละ
ละเลยตัวเองหรือทุ่มเทให้กับสิ่งรอบตัวมากเกินไปจนลืมไปว่า สิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือร่างกายของเรา
เพราะถ้าพลาดไปแล้วมันจะไม่มีโอกาสย้อนเวลากลับไปได้อีก และจะมีโรคอื่นๆ ตามมาอีกหลายโรค
เช่นป้ากว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป ไม่ปกติ จะทำอะไรก็ลำบากไม่เหมือนคนปกติคนอื่น

แต่กระนั้นป้าอิ่มก็ไม่ได้ท้อแท้หรือโทษตัวเอง กลับพยายามปรับปรุงแก้ไขรวมทั้งรวบรวมกำลังใจจาก
คนรอบข้างมาต่อสู้และมีชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข ป้าอิ่มยังทิ้งท้ายคำพูดไว้คอย
เตือนใจทุกคนที่กำลังหมดกำลังใจว่า

“ในเมื่อคนอื่นที่เป็นแบบป้ายังอยู่กันได้ แล้วทำไมป้าจะอยู่ไม่ได้ล่ะ ยังมีคนที่ป้ารักและคนที่รักป้าคอย
ให้กำลังใจอยู่ เพราะฉะนั้นคนอื่นอยู่ได้ป้าก็ต้องอยู่ได้”

สุดท้ายนี้ ป้าอิ่มยังได้ชื่นชมบุคลากรของวชิรพยาบาลทุกๆ คนที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้ป้า
เป็นอย่างดีโดยบอกว่า “โรงพยาบาลรักษาดี สะอาด การกินการอยู่ก็ดี พยาบาลดูแลเป็นอย่างดีคอย
มาถามตลอดเลยว่าเหนื่อยมั้ย กินข้าวได้มั้ย ช่วยเทน้ำและหยิบของให้ แม้แต่ตอนกลางคืนก็ยังคอย
เดินดูแลตลอด ขอบคุณคุณหมอที่ดูแลรักษาป้าจนหายดี ป้าปลื้มใจที่ได้มาที่นี่ ถ้าป้ากลับไป
จะดูแลตัวเอง ฉีดยาตรงเวลาแน่นอน” ป้าอิ่มกล่าวทิ้งท้ายด้วยใบหน้าที่เปื้อนยิ้มเช่นเดิม

******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ เม.ย. 20, 2024 4:00 pm

………มะเร็งในช่องอก ต้องพก 3 คาถา ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือ “เล่าแล้วอิ่ม อ่านแล้วอุ่น” วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพฯ และวชิรพยาบาล
ฉบับเดือนมิถุนายน 2552, รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

“ทีแรกก็รับไม่ได้นะ ทำไมต้องเป็นเรา อายุก็ยังน้อยอยู่เลย”

จากวินาทีแรกที่รับทราบผลการวินิจฉัยโรคจากคุณหมอ ทศพลเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจและ
ปฏิเสธที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยวัยเพียง 19 ปี ชีวิตของทศพลต้องยืนด้วยลำแข้งของตนเอง เขา
เกิดในครอบครัวฐานะปานกลาง มีพี่สาวหนึ่งคนและน้องชายหนึ่งคน ตัวเองเป็นลูกคนกลาง หลังจบ
ชั้นมัธยม 3 ทศพลก็ออกมาทำงานโรงงานหาเลี้ยงชีพ จากนั้นก็หันมายึดอาชีพเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
ทำงานหาเช้ากินค่ำ ชีวิตที่ผ่านมาจากที่ราบรื่นดีตามประสาคนหนุ่ม กลับถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต

“ตอนนั้นเริ่มมีอาการเหนื่อยง่ายผิดปกติ ผมก็สงสัยจึงไปหาหมอเอ็กซเรย์ดู หมอบอกว่ามีก้อนเนื้อในช่องอก

แฟนสาวบอกว่า หลังนำชิ้นเนื้อไปตรวจ คุณหมอได้ขอพูดคุยกับญาติๆ ก่อน ซึ่งก็คือ แม่ของทศพล
และน้องชายเพื่อฟังผลตรวจชิ้นเนื้อ คุณหมอแจ้งว่า ก้อนใหญ่มากและคงผ่าตัดไม่ได้

“เราถามหมอว่า เขาจะตายไหม หมอบอกไม่ตายหรอก แต่ไม่แน่ว่าจะหายขาดได้ไหม แต่เปอร์เซ็นต์
หายก็ยังมีอยู่ ตอนนั้นจิตใจสับสนมาก มีคำถามมากมายเต็มไปหมด”

ทันทีที่ได้รับทราบ แม่ของทศพลทำใจยอมรับไม่ได้เลย ร้องไห้ตลอด ทุกคนนั่งน้ำตาไหล ทางครอบครัว
ขอให้คุณหมออย่าเพิ่งบอกทศพลในทันที แต่ในขณะเดียวกันนั้น สิ่งที่ทศพลรับรู้มาตั้งแต่แรก ทำให้เขา
เตรียมทำใจไว้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หลังทราบผลสภาพจิตใจของทศพลก็ยังเปลี่ยนไปมาก เขามี
อาการเซื่องซึม กินอาหารไม่ลง ไม่เหมือนปกติ เป็นแบบนี้อยู่เกือบหนึ่งเดือนขณะที่อยู่ในโรงพยาบาล
ครั้งแรก จนเขาค้นพบ 3 คาถาสำหรับเป็นกำลังใจให้ตัวเอง ได้แก่

1. “ท้อได้แต่อย่าถอย”
ทศพลบอกตัวเองว่าอย่างนั้น สำหรับเขา กำลังใจที่ได้รับอย่างล้นเหลือมาจากครอบครัวและเพื่อนๆ ซึ่ง
พอรู้ข่าวก็แห่กันมาเยี่ยม ให้กำลังใจ คำพูดของเพื่อนๆ ที่บอกว่า “เป็นแค่นี้ไม่ตายหรอก คนอื่นเป็น
มากกว่ายังอยู่ได้”นั้น สามารถชโลมจิตใจให้เขารู้สึกดีขึ้นมาบ้าง

หลังแอดมิด (admit) เพื่อให้ยาเคมีบำบัดครั้งแรก ทศพลก็ได้รับหนังสือเป็นของขวัญคริสต์มาสจาก
หอผู้ป่วยที่ รพ. วชิรพยาบาล เป็นหนังสือให้กำลังใจซึ่งเขียนโดยผู้ป่วยที่ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน
เมื่ออ่านแล้วเขาก็รู้สึกดีขึ้น เริ่มทำใจได้

2. “รักตัวเองให้มากขึ้น”
จากชีวิตสนุกสนานตามประสาคนหนุ่ม กินเหล้า สูบบุหรี่ นอนดึก ใช้ชีวิตหักโหมสุดขั้ว การเจ็บป่วยครั้งนี้
ทำให้ทศพลต้องหันมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นคนใหม่ที่รักตัวเองมากขึ้น เลิกสูบบุหรี่ กินเหล้า และนอนดึก
อย่างที่เคย แม้จะยังพอขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ได้ แต่บางวันถ้าทำงานหนักเกินไปก็ทำให้เหนื่อย ต้อง
หยุดพัก แม้จะสูญเสียรายได้ไปบ้าง แต่เขาก็จำเป็นต้องทำเพื่อสุขภาพของตนเอง เขาไม่อยากทำให้คน
รอบข้างทุกข์ใจเดือดร้อนไปกับเขาด้วย

“ผมเชื่อว่า การเจ็บป่วยครั้งนี้ คงเป็นผลจากกรรมเก่าที่ผ่านมา ผมจึงทำบุญมากขึ้น” เขากล่าวอย่างอารมณ์ดี

โปรดติดตามคาถาที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ เม.ย. 20, 2024 4:03 pm

………มะเร็งในช่องอก ต้องพก 3 คาถา ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือ “เล่าแล้วอิ่ม อ่านแล้วอุ่น” วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพฯ และวชิรพยาบาล
ฉบับเดือนมิถุนายน 2552, รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

3. “ชีวิตที่เหลือเพื่อแม่”
กว่าครึ่งปีที่ต้องต่อสู้กับโรคร้าย ทศพลบอกว่ากำลังใจที่สำคัญที่สุดก็คือคุณแม่ ตอนแรกที่คุณหมอ
แนะนำว่า จะรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อให้ก้อนเนื้อยุบตัวเนื่องจากผ่าตัดไม่ได้ ทศพลเองก็
ลังเลในการตัดสินใจรักษาและกังวลต่อผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดเฉกเช่นเดียวกับผู้ป่วยรายอื่นๆ
แต่แม่และครอบครัวคือพลังใจสำคัญที่ผลักดันและสนับสนุนให้รักษาอย่างเต็มที่

เป้าหมายชีวิตหลังจากนี้ ทศพลยังคงยึดถือพระในใจของเขาเสมอ คือเพื่อแม่ เพราะเป็นห่วงแม่ เขาจึง
อยากจะหาย อยากจะมีชีวิตยืนยาวต่อไปเพื่อทดแทนพระคุณพ่อและแม่ ตอนนี้สภาพจิตใจทุกคนรอบ
ไม่ข้างดีขึ้นมาก ทศพลเองก็ยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคได้ แม้บางวันจะทุกข์บ้าง สุขบ้าง แต่นั่นก็
เป็นธรรมชาติของชีวิต อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แต่เราต้องมีความหวัง แฟนสาวของเขาเสริมว่า
ความปรารถนาเดียวของครอบครัวในตอนนี้ คือให้ทศพลหายจากโรคเท่านั้น

สุดท้ายทศพลอยากจะฝากให้กำลังใจผู้ป่วยรายอื่นๆ ว่า “ไม่ว่าคุณจะเป็นโรคอะไรอยู่ ขอให้สู้ต่อไป
ให้เข้มแข็ง อย่ายอมแพ้ โรคพวกนี้ต้องมีทางรักษาหาย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน”

สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยนั้น หากวันใดรู้สึกท้อแท้ การนึกถึงตนเอง ครอบครัวและบุคคลรอบข้างที่รัก
ให้มากๆ จะทำให้มีพลังที่จะสู้ต่อไปเพื่อที่บุคคลเหล่านั้นจะได้มีความสุขในความสำเร็จของเรา เพราะ
ครอบครัวและความรักเป็นแหล่งกำลังใจที่สำคัญที่สุดของทุกคน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลย
ที่ผลการติดตามการรักษาล่าสุดพบว่า ก้อนเนื้อในช่องอกของทศพลตอบสนองต่อการรักษาเป็นอย่างดี
มีขนาดเล็กลง และนั่นก็เป็นเพราะมันกำลังยอมแพ้ต่อจิตใจที่เข้มแข็งของเขาและครอบครัวนั่นเอง

********************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส