Great Schism รายงานเมื่อเทอมที่แล้วของผม

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
Edwardius
โพสต์: 1392
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. ต.ค. 12, 2006 3:02 pm
ที่อยู่: Lamphun, Thailand

พุธ มี.ค. 07, 2007 3:01 pm

การแตกแยกครั้งใหญ่ (Great Schism) เป็นคำที่ถูกใช้เพื่ออธิบายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ระหว่างพระศาสนจักรตะวันออก และพระศาสนจักรตะวันตก การแตกแยกนี้เกิดขึ้นในคริสตศักราช 1054 สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้าใจผิด และความแตกต่างระหว่าง 2 ฝ่าย ทั้งในเรื่องของความเข้าใจเชิงปรัชญา อรรถกถาธรรม ภาษา วัฒนธรรม การเมืองภายในศาสนจักร และอิทธิพลการเมืองในภายนอก จุดแตกหักที่สำคัญที่สุดในศักราชนั้น เกิดขึ้นเมื่อพระสันตะปาปาเลโอที่ 9 (Pope Leo IX) พระสังฆราชแห่งโรม และพระอัยกาไมเคิล เซรูลาริอุส (Partriach Michael Celarius) พระสังฆราชแห่งคอมสแตนติโนเปิลประกาศบัพชนียกรรม (Excommunication) ระหว่างกัน
สาเหตุที่ทำให้คริสตจักรทั้งสองซีก แยกห่างกันมีอยู่มากมาย สาเหตุที่เห็นชัดได้แก่ความแตกต่างด้านความคิดเห็นต่อคำว่า Filioque  ตามที่บันทึกไว้ในหลักข้อเชื่อแห่งไนซีน (Nicene Creed) นอกจากนั้นยังมีความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมของตะวันตกที่กำหนดให้บรรพชิตต้องโกนหนวดเคราให้เกลี้ยงเกลา ในขณะที่ทางตะวันออกกลับนิยมให้บรรพชิตไว้หนวดคริสตจักรลาตินมีประเพณีนิยม การกำหนดให้อดอาหารวันเสาร์ในเทศกาลมหาพรต ร้องอัลเลลูยา (Alleluia) เฉพาะวันอีสเตอร์ การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย หรือมีเลือด การรักษาความโสดของบรรพชิตประจำแขวงการปกครองสงฆ์ในซีกตะวันตก แต่บรรพชิตของคริสตจักรซีกตะวันออกสมรสได้ (นี่เป็นสาเหตุทำให้ความแตกแยกรุนแรงขึ้น เมื่อนักปฏิรูปศาสนาในตะวันตกพยายามบังคับใช้กฎแห่งการครองโสด ภายในเขตการปกครองของพวกเขา) ซีกตะวันตกใช้ขนมปังไร้เชื้อ Unleavened Bread) ในพิธีศีลมหาสนิท (Eucharist) แทนที่จะใช้ขนมปังมีเชื้อ (Leavened Bread) อย่างที่กระทำในตะวันออก และยังมีธรรมเนียมในคริสตจักรกรีก ที่จะให้บัพติศมาอีกครั้งแก่ชาวละตินที่ปรารถนาจะเป็นสมาชิกในคริสตจักรกรีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
Edwardius
โพสต์: 1392
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. ต.ค. 12, 2006 3:02 pm
ที่อยู่: Lamphun, Thailand

พุธ มี.ค. 07, 2007 3:05 pm

อำนาจเผด็จการรัฐครอบคลุมกิจการพระศาสนจักร (Caesaropapism)

โชคไม่ดีที่ความใจกว้างของกษัตริย์คอนสแตนติน (Constantine) ที่พยายามปกป้องพระศาสนจักร และพระสันตะปาปามีผลเสียหายตามมา เพราะจักรพรรดิไม่สามารถยกเลิกธรรมเนียมการใช้อำนาจที่กดขี่ดั้งเดิม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการปกครองโดยจักรพรรดิในสมัยนั้นได้ อำนาจยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิอยู่เหนือการปกครองในทุกเรื่องรวมถึงพระศาสนจักร การที่ฝ่ายปกครองเข้ามาควบคุมกิจการต่างๆ ของพระศาสนจักรกินเวลาต่อเนื่องนานถึงศตวรรษที่ 5 ทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา ขณะที่ความเป็นเอกของพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลโรมได้เป็นที่ยอมรับ และปกป้องโดยคณะพระสังฆราช นักบวช ฆราวาส และเจ้าหน้าที่บ้านเมือง จักรพรรดิยังสงวนสิทธิที่จะใช้อำนาจเหนือพระสันตะปาปา จักรพรรดิแสดงอำนาจปกครองเหนือศาสนาเกิดขึ้นในสมัยเดียวกับที่พระสันตะปาปาโอนอ่อนผ่อนตาม
เมื่อมองด้วยรูปแบบการปกครองรัฐแบบจักรพรรดิ ซึ่งมีลักษณะของความเป็นเผด็จการสูงทางอำนาจสูงจะเห็นว่าการที่รัฐก้าวก่ายกิจในการพระศาสนจักรเป็นความเลวร้ายทีจำเป็น เพราะพระสันตะปาปาที่ปกครอกรุงโรมในสมัยนั้นดูเหมือนไม่สามารถอยู่ได้ไม่ว่าจะได้รับการสนับสนุน จากจักรพรรดิหรือไม่ เป็นเวลานานก่อนจะมีการแบ่งเป็นอาณาจักรตะวันออกและตะวันตก ความเข้มแข็งของบรรดาจักรพรรดิตั้งแต่สมัยคอนสแตนตินยิ่งมีมากเท่าใด อิสรภาพของพระสันตะปาปาประมุขสูงสุดก็ลดน้อยลง และดูเหมือนตกอยู่ในอันตรายของการคุกคามจากบรรดาจักรพรรดิที่ปกครองบัลลังก์ยุโรปเหนือมากเท่านั้น ความปลอดภัยที่พระสันตะปาปาได้รับในขณะนั้นสามารถย้อนดูได้จากเรื่องราวสมัยปกครองของกษัตริย์ที่ให้ความอุปถัมภ์คุ้มครอง
ภาวะเช่นนี้นำความเสียหายร้ายแรงต่อภาพลักษณ์พระสันตะปาปา ตัวอย่างเช่น ผู้เลื่อมใสศาสนานอกรีต ที่ถูกขับออกจากพระศาสนจักรจะใช้อุบายหลบหลีกอำนาจปกครองพระสันตะปาปา และอุทธรณ์โดยตรงต่อจักรพรรดิขอคืนสิทธิการเป็นสมาชิกพระศาสนจักร หรือบางครั้งผู้มักใหญ่ใฝ่สูงที่อยากมีตำแหน่งทางสงฆ์ก็จะขออนุมัติผ่านจักรพรรดิ ระบบอำนาจเผด็จการรัฐครอบคลุมกิจการพระศาสนจักร (Caesaropapism) นำความเสียหายมาสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรอย่างมาก ทั้งยังลดความสำคัญของอำนาจพระสันตะปาปาลงเป็นหัวหน้าพระศาสนจักรเพียงแต่ในนาม ไม่มีอำนาจปกครองใดๆ
แม้จักรพรรดิโอโดอาเซอร์ (Odoacer) นักปกครองอนารยชนของอิตาลี จะได้โค่นล้มอำนาจปกครองของจักรพรรดิอาณาจักรตะวันตกองค์สุดท้ายใน ค.ศ. 476 แล้ว บรรยากาศความตึงเครียดยังคงครอบคลุมจนถึงหลังศตวรรษที่ 5 บรรดาจักรพรรดิไบเซนไทน์ยังเข้ามาก้าวก่ายในงานพระศาสนจักรของพระสันตะปาปาเสมอ สิ่งที่จำเป็นต้องกล่าวถึงคือ แม้จักรพรรดิโอโดอาเซอร์จะมีความเชื่อศรัทธาในลัทธิอาเรียน (Arian) ของศาสดาอาริอุส แต่ทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติของความอ่อนโยนเมตตากรุณา ปฏิบัติตนสอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติโดยให้เกียรติแก่พระสันตะปาปานักบุญซิมปลีชิอุส (St. Simplicius) (ค.ศ. 468-483) มากกว่าบรรดาจักรพรรดิตะวันตกหลายองค์ในทศวรรษเดียวกันที่อ่อนแอ และเข้ามาก้าวก่ายในกิจการพระศาสนจักร
เมื่อคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) เมืองหลวงของอาณาจักรตะวันออกมีชื่อเสียงเลื่องลือเพิ่มขึ้น ขณะที่ความสำคัญของกรุงโรมค่อยๆ ลดน้อยลงทั้งด้านกิจการบ้านเมืองและกิจการพระศาสนจักร ราวกลางศตวรรษต่อมา ในการประชุมสภาสังคายนาที่คาลเชดอน (Chalcedon) เมืองโบราณในเอเชียไมเนอร์ บรรดาพระสังฆราชอาณาจักรตะวันออก ได้ไว้วางใจพระอัครสังฆราชแห่งเมืองคอนสแตนติโนเปิลให้มีอำนาจในการตัดสินคดีตามกฎหมายและมีสิทธิพิเศษตามตำแหน่ง ด้วยตระหนักในแนวโน้มที่บ่งชี้ว่าความเป็นเลิศทางการเมืองซึ่งกรุงโรมเคยครอง ทั้งยังเคยได้รับความไว้วางใจมอบอำนาจสูงสุดในการปกครองพระศาสนจักรได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป พระสันตะปาปาเลโอที่ 1 (Pope Leo I) รู้สึกตกใจ และได้ทรงแสดงปฏิกิริยาไม่ยอมรับแนวปฎิบัติของสังฆราชทางตะวันออก ด้วยความยากลำบาก และหนักหนาสาหัสพระสังฆราชแห่งกรุงโรมพยายามชักชวนคณะสงฆ์อาวุโสให้ยึดมั่นในความจริงที่ว่า ความเป็นเอกของกรุงโรมซึ่งยึดปฏิบัติสืบมาตั้งแต่สมัยนักบุญเปโตรเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ด้วยเกรงขามต่อการยืนยันที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิอำนาจการปกครองของพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม พระสังฆราชเหล่านั้นจึงยินยอมตามในที่สุด
เพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถูกต้อง จำเป็นต้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ระบบอำนาจเผด็จการรัฐครอบคลุมกิจการพระศาสนจักร (Caesaropapism) แม้จะทำความลำบากพระทัยต่อพระสันตะปาปาก็ตาม พระสันตะปาปาบางพระองค์แม้ก่อนสมัยพระสันตะปาปาเลโอที่ 1 ได้ยืนยันสิทธิ์อย่างมั่นคงถึงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของพระศาสนจักรบางเรื่องโดยไม่ฝ่ายรัฐเข้ามาก้าวก่ายได้ ต่อมาสมัยปกครองของพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 1 (Pope Sylvester I) (ค.ศ. 314-335) ชาวโรม พระองค์ทรงลงพระนามรับรองอนุมัติการตัดสินชี้ขาดของสภาสังคายนาเมืองนีเชอา (Council of Nicea) ในการดิ้นรนต่อสู้ของพระศาสนจักรเพื่อป้องกันอันตราย และการแพร่ระบาดของลัทธินอกรีตอาเรียน โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของจักรพรรดิ คณะพระสังฆราชที่ร่วมประชุมได้ออกหนังสือประณามอาริอุส พระสงฆ์แห่งเมืองอเล็กซานเดรียอย่างรุนแรง  มติที่ประชุมครั้งนี้ได้กำหนดข้อความในบทสวด Nicene Creed  และบทสวดภาวนานี้เองเป็นบทภาวนาสากลที่ใช้เหมือนกันทั่วโลกตามมติสังคายนาสากล มิใช่มติที่ประชุมของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะฉะนั้นพระศาสนจักรทั่วโลก ซึ่งมีพระสันตะปาปาเป็นประมุขมีสิทธิเรียกประชุมเพื่อปกป้องข้อความเชื่อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Edwardius
โพสต์: 1392
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. ต.ค. 12, 2006 3:02 pm
ที่อยู่: Lamphun, Thailand

พุธ มี.ค. 07, 2007 3:06 pm

การอ้างสิทธิ์ความเป็นทายาทจักรวรรดิโรมัน

ประเด็นปัญหาเหล่านี้ ถูกหยิบยกขึ้นโต้แย้งกันอย่างเผ็ดร้อน และบ่อยครั้งก็กระทำด้วยความขมขื่นทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันเป็นปัญหาผิวเผินเท่านั้น ปัญหาที่ฝังลึกอยู่ด้านใต้นั้นหนักหน่วงกว่าและเกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานมากกว่า โครงสร้างที่ปิดล้อมจักรวรรดิโรมัน ซึ่งเป็นที่มาของคริสตจักรคาทอลิก และทำให้เอกภาพของคริสตจักรคาทอลิกเกิดขึ้นได้นั้น มีอันต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ ขณะที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และจักรวรรดิบายเซนไทน์ ต่างอ้างความเป็นทายาท (Heir) ของจักรวรรดิโรมัน  ทั้งสองอาณาจักรได้แตกแยกกันอย่างชัดเจน ความเป็นอิสระระหว่างสันตะปาปาแห่งโรม และพระสังฆบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิลยังคงดำเนินต่อไป ซีกตะวันออกไม่พอใจที่สันตะปาปา างอำนาจการปกครองแบบสากล (Universal) เหนือคริสตจักรทั้งปวง การที่ชาวยุโรปตะวันตกรุกล้ำจักรวรรดิบายเซนไทน์ซึ่งมาถึงจุดเดือดเมื่อพวกเขายึดกรุงคอนสแตนติโนเปิล และยังแต่งตั้งพระสงฆบิดรลาตินขึ้นในกรุงนั้น ได้สร้างความขมขื่นใจให้กับมวลชนชาวกรีกอย่างมาก ผู้นำของพวกเขาแม้กระหายที่จะนำการคืนดีมาสู่อาณาจักรนี้ ด้วยเหตุผลทางการเมือง ก็ยังไม่สามารถดับความขมขื่นใจนี้ลงได้ นอกจากนั้น ชาวกรีกยังมองว่าชาวละตินเป็นชนป่าเถื่อนอีกด้วย
ภาพประจำตัวสมาชิก
Edwardius
โพสต์: 1392
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. ต.ค. 12, 2006 3:02 pm
ที่อยู่: Lamphun, Thailand

พุธ มี.ค. 07, 2007 3:07 pm

กรณีพิพาทฟิลิโอเค (Filioque Controversy)

สภาสังคายนาพระศาสนจักรไนเซีย (Council of Nicea) ได้มีข้อถกเถียงเรื่องธรรมชาติ และตำแหน่งของพระบุตร และพระจิตในพระเทวภาพยังคงดำเนินต่อไปอย่างรุนแรงตลอดศตวรรษที่ 4 จักรพรรดิธีโอโดซิอุสที่ 1 (Theodosius) ผู้ปกครองจักรวรรดิเหนือพระศาสนจักรตะวันออก และจักรพรรดิเกรเซียน (Gratian) ผู้ปกครองจักรวรรดิเหนือพระศาสนจักรตะวันตก ได้เรียกประชุมสภาสังคายนาแห่งคอนสแตนติโนเปิล การประชุมครั้งนี้ยืนยันคำสอนของสภาแห่งนีไซอา และเพิ่มเติมข้อคิดเห็นสำคัญว่า พระจิตทรงเสมอภาคกับพระบิดา และพระบุตร และร่วมกันเป็นพระตรีเอกภาพ

กรณีพิพาทเชิงอำนาจในพระศาสนจักร

สิ่งที่น่าแปลกคือ พระสันตะปาปาดามาซุสที่ 1 (Pope Damasus I) พระสังฆราชแห่งโรมไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการประชุมสภาสังคายนา และไม่ได้รับเชิญให้ร่วมประชุม อย่างไรก็ตามหนึ่งปีหลัง ในการประชุมสภาสังคายนาที่โรมซึ่งไม่ได้เป็นการประชุมสากล ที่ประชุมได้ยอมรับการประกาศข้อความเชื่อทั้งหมดของสภาสังคายนาแห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่ก็ได้ปฏิเสธข้อประกาศบางอย่างเกี่ยวกับการปกครอง และกฎระเบียบของพระศาสนจักร การกระทำเช่นนี้สร้างความขัดแย้งด้านการเมืองมากยิ่งขึ้นระหว่างศาสนจักรตะวันออก และศาสนจักรตะวันตก
สภาสังคายนาคาลเชดอน (Council of Chalcedon) มีพระสังฆราชเข้าร่วมประชุมมากกว่า 500 องค์ นับเป็นการร่วมตัวของพระสังฆราชจำนวนมากที่ของศาสนจักรในยุคนั้น การประชุมดำเนินไปด้วยอารมณ์รุนแรง และกินเวลายาวนานไปถึงกลางคืน ระหว่างแสดงความคิดเห็นมีเสียงโห่ร้องสนับสนุน ด่าทอ และเสียงครวญครางกระหึ่มทั่วห้องประชุม ก็ทำให้ทุกคนยอมรับความเห็นของพระสันตะปาปา
พระสันตะปาปาลีโอมีชัยชนะด้านข้อคำสอนที่คาลเชดอน แต่ล้มเหลวที่จะรักษาอำนาจสูงสุดสำหรับสถาบันพระสันตะปาปาเอาไว้ เนื่องจากพระศาสนจักรที่คอนสแตนติโนเปิลยังคงอ้างการมีสิทธิอำนาจร่วม การอ้างสิทธิของพระศาสนจักรคอนสแตนติโนเปิลปรากฏในกฎหมายพระศาสนจักรมาตราที่ 28 ซึ่งให้อำนาจทางตุลาการแก่พระศาสนจักรตะวันออกในเรื่องการปกครองพระศาสนจักรและการจัดระเบียบภายใน เมื่อพระศาสนจักรกรุงโรมปฏิเสธกฎหมายพระศาสนจักรมาตราที่ 28 ความตึงเครียดระหว่างกรุงโรม (พระศาสนจักรตะวันตก) กับกรุงคอนสแตนติโนเปิล (พระศาสนจักรตะวันตก) จึงยังคงมีอยู่

กรณีพิพาทจากฝ่ายอาณาจักร

จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 4 (Constantine IV) เรียกประชุมสภาสังคายนาแห่งคอนสแตนติโนเปิลครั้งที่ 3 เพื่อสมานสัมพันธภาพกับกรุงโรม และเพื่อให้มีกำลังเสริมในการต่อกรกับพวกมุสลิม ซึ่งกำลังคุกคามอย่างน่าพรั่นพรึง ในสภานี้เกี่ยวข้องกับข้อเชื่อที่ว่า พระคริสต์ทรงมีเจตจำนง (will) เดียว เพราะในฐานะเป็นพระบุตรของพระเจ้า พระองค์ย่อมไม่สามใรถขัดแย้งกับเจตจำนงของพระเจ้า ความคิดเห็นนี้ได้รับการรับรองอย่างไม่ไตร่ตรองให้ดีโดยพระสันตะปาปาโฮโนริอุส (Honorius) ในปี 630
กลยุทธ์ของจักรพรรดิคอนสแตนติโนเปิลคือ จะเสริมความมั่นคงทางการเมืองของพระองค์โดยทำพระองค์ให้เป็นที่โปรดปรานของพระศาสนจักรที่กรุงโรม และกลยุทธ์นี้ดูเหมือนจะได้ผลเพราะความเห็นเรื่องเจตจำนงเดียวของพระคริสตเจ้านี้ถูกประณาม และพระสันตะปาปาโฮโนริอุสถูกตำหนิที่สนับสนุนความเห็นนี้ นอกจากนี้ที่ประชุมยังประณามพระสังฆราชจารีตตะวันออกอีก 4 ครั้ง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรตะวันออก กับพระศาสนจักรตะวันตกยิ่งตึงเครียดขึ้นไปอีก
พระสันตะปาปาลีโอที่ 9 (Pope Leo IX) แต่งตั้งผู้แทนเพื่อนำสารเหล่านี้ไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล คณะผู้แทนประกอบด้วยพระสมณศักดิ์สูงสามองค์ หนึ่งในนั้นคือพระคาร์ดินัล ฮัมเบิร์ท (Cardinal Humbert) ผู้ไม่ประนีประนอมกับใคร และอีกองค์หนึ่งคือผู้ที่ต่อมาได้เป็นสันตะปาปาสตีเฟนที่ 9 (Pope Stephen IX) เป็นนักปฏิรูปที่ร้อนรน และสนับสนุนสิทธิอำนาจของสันตะปาปา จักรพรรดิยังคงต้องการคืนดี เพราะพระองค์ทรงปรารถนาเป็นพันธมิตรกับสันตะปาปา เพื่อรื้อฟื้นและธำรงไว้ซึ่งอิทธิพลของบายเซนไทน์ในอิตาลี อย่างไรก็ตามพระสังฆบิดรเซรูลาริอุสผู้ไม่ยอมอยู่ใต้การครอบครองของจักรพรรดิแข็งขืนต่อสันตะปาปา ด้วยเหตุนี้วันที่ 16 กรกฎาคม 1054 ผู้แทนของสันตะปาปา วางคำตัดสินไว้บนแท่นบูชาแห่งวิหารเซนต์ โซเฟีย (Altar of Sophia Hagia) ขณะที่แท่นนั้นถูกเตรียมพร้อมไว้สำหรับการทำพิธีศีลมหาสนิท แล้วเดินออกจากพระวิหารนั้นไปพร้อมๆ กับสลัดฝุ่นออกจากเท้า คำตัดสินดังกล่าวกำหนดให้บัพชนียกรรมพระสังฆบิดร และผู้สนับสนุนทั้งหลายจากคริสตจักร ในที่ประชุมสภาอันเงียบขรึม พระสังฆบิดรเซรูลาริอุสตอบโต้ภายในเวลาไม่กี่วันด้วยการบัพชนียกรรมผู้แทนของสันตะปาปาเช่นกัน

การรุกคืบของศาสนาอิสลาม: ต้นเหตุทางการเมือง

ในศตวรรษที่สิบชาวนูเบียส่วนมาก ซึ่งอาศัยเลยลงไปทางใต้ ณ ทางตอนบนของหุบเขาแห่งลุ่มน้ำไนล์ นับถือศาสนาคริสต์ พวกเขาต่อต้านการรุกรานของอิสลาม และการยึดครองของมิสลิมชาวอาหรับของอียิปต์ แต่โดยทั่วไป อิสลามรุดหน้าไปมากในช่วงสี่ศตวรรษ ในขณะที่คริสตจักรสูญเสียดินแดนของตน และยังเป็นช่วงเวลาที่คุณภาพชีวิตของชุมชนคริสเตียนเสื่อมทรามลงด้วย
ช่วงของชนรุ่นแรกของชาวฟาติไมท์ (Fatimite) กฎข้อบังคับเพื่อต่อต้านคริสเตียนได้รับการผ่อนผัน และมีชาวอิสลามกลับใจมาเป็นคริสเตียน คริสเตียนมีตำแหน่งสูงในราชสำนัก และอย่างน้อยหนึ่งในบรรดาคาลิปมีภรรยาเป็นคริสเตียน กระนั้นก็ตาม เป็นเวลาหนึ่งทศวรรษของกึ่งแรกของศตวรรษที่สิบเอ็ดที่คริสเตียนถูกข่มเหงอย่างรุนแรงจาก คาลิป ฮาคิม (Caliph Hakim) มีผู้กล่าวว่า คาลิปผู้นี้เป็นคนเสียสติ เขาเป็นพวกบ้าคลั่งศาสนา เขาสั่งให้ทำลายคริสจักรและข่มเหงคริสเตียนอย่างร้ายแรง ในช่วงเวลาของชนรุ่นต่อ ๆมา การอะลุ้มอล่วยและข่มเหงไม่มากก็น้อย เกิดขึ้นสลับสับเปลี่ยนกันไปอย่างไม่ปกติธรรมดา แต่ในช่วงกึ่งแรกของศตวรรษที่สิบสี่ การข่มเหงเกิดขึ้นอย่างผิดธรรมดา
โดยทั่วไป เราเห็นว่าศาสนาคริสต์ทางพรมแดนตะวันออก ขยายตัวออกไปมากทีเดียวในช่วงสี่ศตวรรษระหว่าง ค.ศ. 950-1350 ความเชื่อของคริสเตียนหยั่งรากลงอย่างมั่นคง ท่ามกลางชาวสลาฟแห่งคาบสมุทรบาลข่าน เราสามารถพบชุมชนคริสเตียนทั่วยูเร การขยายตัวทางตะวันออกบางส่วน กระทำผ่านมิชชันนารีคณะฟรานซิสกัน และโดมินิกัน อันเป็นผลพวงที่เกิดจากการตื่นตัวครั้งยิ่งใหญ่ ของศาสนาคริสต์ในยุโรปตะวันตก แต่การขยายตัวทางตะวันออกส่วนมาก กระทำผ่านคริสตจักรซีกตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสตจักรคาทอลิกซีกกรีกออร์โธด๊อกซ์ และคริสตจักรเสนทอเรียน
กระนั้นก็ตาม ศาสนาคริสต์ของตะวันออก อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงอย่างมาก จักรวรรดิบายเซนไทน์ ซึ่งเป็นป้อมปราการหลักด้านการเมืองทางตะวันออกกำลังเสื่อมสลายลงอย่างเห็นได้ชัด ชนกลุ่มน้อยเป็นตัวแทนของศาสนาคริสต์ในเกือบทุกหนทุกแห่งของเอเชีย หลายกลุ่มค่อย ๆ ยอมแพ้ต่อการครอบครองอย่างก้าวร้าวทางการเมือง และทางสังคมของอิสลาม ในชุมชนคริสเตียนเหล่านี้ บางกลุ่มมีกระแสแห่งชีวิตใหม่ที่ส่อให้เห็นได้จากการเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และสดใหม่ แต่การเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่อาจเปรียบได้ กับพลังชีวิตที่ก่อเกิดขึ้นในศาสนาคริสต์ของยุโรปตะวันตก ไม่น่าแปลกใจเลยที่ศาสนาคริสต์ในซีกตะวันออก ต้องเจ็บปวดกับการสูญเสียอย่างมากมายหลัง ค.ศ. 1350
ภาพประจำตัวสมาชิก
Edwardius
โพสต์: 1392
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. ต.ค. 12, 2006 3:02 pm
ที่อยู่: Lamphun, Thailand

พุธ มี.ค. 07, 2007 3:09 pm

เป็นส่วนตัดตอนจากรายงานกลุ่มเทอมที่แล้วของผมฮับ
เฉพาะบทที่ 5 เป็นการเสนอเชิงศาสนา-การเมืองนะฮับ
จากรายวิชา พลังทางการเมือง และอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาของโลก
หวังว่าคงสนุกสนานกับการอ่านนะฮับ อาจเข้าใจยากไปนิดนึง ก็ขออภัย
ตอบกลับโพส