บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง พระสงฆ์และมรณสักขี นักบุญ-นักโทษ

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:37 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

📄 รายงานสนับสนุนกรณีคุณพ่อนิโคลาส จากพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์

รูปภาพ

อดีตอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง และเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในการเสนอเรื่องบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย

คำให้การของพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์

ข้าพเจ้า พระคุณเจ้าเกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ในระหว่างปี ค.ศ. 1959-1980 เวลานี้อายุ 76 ปี พักอยู่ที่บ้านซีเมออน ท่าแร่

จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้ารู้จักกับคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ในฐานะที่เป็นพระสงฆ์องค์หนึ่งรู้จักชีวิตและเรื่องราวของคุณพ่อดีพอสมควร ในฐานะที่ข้าพเจ้าเคยเป็นประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสนอเรื่องบุญราศีทั้งเจ็ดแห่งประเทศไทย ข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรอย่างยิ่งที่จะเสนอเรื่องคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ให้เป็นบุญราศีด้วย แต่ทางอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ในเวลานั้น มิได้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณ

เหตุผลที่ข้าพเจ้าเห็นสมควรในเรื่องนี้ คือ คุณพ่อนิโคลาสถูกจับจากเหตุผลความเกลียดชังในคริสตศาสนา (In Odium Fidei) และตายในคุกจากสาเหตุนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าคุณพ่อนิโคลาส เวลานี้อยู่บนสวรรค์แล้ว

ข้าพเจ้าขอสาบานว่า ทุกสิ่งที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้เป็นความจริงทุกประการ ข้าพเจ้าให้การต่อหน้าพยานของคณะกรรมการแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จึงลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน ที่บ้าน

ซีเมออน วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1997

ลงชื่อ (ลายนิ้วหัวแม่มือซ้าย)

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์

อดีตประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง

หมายเหตุเพราะไม่สามารถเซ็นชื่อได้

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic53.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:38 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

📄 รายงานสนับสนุนกรณีคุณพ่อนิโคลาส จากพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน

รูปภาพ

อัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง และเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในการเสนอเรื่องบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย

คำให้การของพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน

ข้าพเจ้า พระคุณเจ้าลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน เป็นอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1980 จนถึงปัจจุบัน (1997) ขณะนี้อายุ 69 ปี พักอยู่ที่สำนักมิสซังท่าแร่-หนองแสง ในจังหวัดสกลนคร

ข้าพเจ้ารู้จักคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง จากคำเล่าลือเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านขณะต้องถูกจำจอง อยู่ในคุกบางขวาง และข้าพเจ้าเองเป็นเณรอยู่ที่บ้านเณรซาเลเซียน บางช้าง บรรดาพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในบ้านเณรได้นำเรื่องราวของคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด เล่าให้บรรดาเณรได้ทราบว่า ท่านถูกจำจองในคุกเพราะความเกลียดชังของศาสนาคาทอลิก (In Odium Fidei) โดยแท้ และท่านเองเวลาอยู่ในที่คุมขัง ได้สอนคำสอนแก่นักโทษด้วยกันจนพวกเขาหลายคนเกิดมีความเชื่อ ความศรัทธายิ่งในศาสนาคาทอลิก และเมื่อคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด ป่วยหนัก และรู้ว่าท่านจะตาย ท่านได้ทำพิธีล้างบาปแก่ผู้สมัครรับศีลล้างบาปหลายคน และท่านก็สิ้นใจในคุกนั่นเอง โดยมีคนคุกคริสตังใหม่ห้อมล้อม ภาวนาส่งวิญญาณท่าน

จากข้อกล่าวหาทางการที่ต้องตัดสินจำจองคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด ในคุกจนท่านเสียชีวิตในคุก และเมื่อพิจารณาดูความร้อนรน ช่วยวิญญาณของเพื่อนนักโทษผู้ถูกจำจองในคุกเดียวกัน ย่อมประจักษ์ชัดว่า ท่านรักพระและรั กวิญญาณเพื่อนมนุษย์อย่างมาก วิญญาณของท่านจักต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักต่อพระ และต่อความรอดของวิญญาณเพื่อนพี่น้องอย่างท่วมท้น เป็นแบบฉบับแก่ผู้แพร่ธรรมอย่างยิ่ง

เมื่อครั้งมีการดำเนินเรื่องการแต่งตั้งผู้ถูกประหาร 7 ท่านแห่งสองคอน เป็นบุญราศีนั้น
มีการพูดในระหว่างคณะกรรมการดำเนินการว่า น่าจะขอเสนอเรื่องคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิดไปพร้อมๆกัน เพราะพวกเราทราบว่าคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด เอง ถูกเบียดเบียนถึงกับตายในคุกในสมัยเบียดเบียนศาสนาคราวเดียวกัน และพวกเราก็สำนึกอยู่เสมอว่าท่านยอมติดคุกและตายในคุกเพราะความเกลียดชัง (In Odium Fidei) เช่นเดียวกันกับบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทยและพวกเราก็เชื่อในชีวิตศักดิ์สิทธิ์ของคุณพ่อโดยไม่มีข้อสงสัย และมั่นใจว่าท่านอยู่ในสวรรค์เป็นรางวัลนิรันดรแก่ท่าน ด้วยการพลีสละชีวิตเพราะความรักพระและศาสนาคาทอลิก

ข้าพเจ้าเห็นควรอย่างยิ่งที่จะขอให้พระศาสนจักรรับทราบมรณสักขีของคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด และเห็นว่าท่านเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบุญราศีในพระศาสนจักรคาทอลิก

ข้าพเจ้าจึงลงชื่อไว้ข้างล่างนี้ พร้อมกับประทับตราประจำตำแหน่งด้วย เพื่อเป็นหลักฐานการยืนยันของข้าพเจ้า

(ตราประทับ) ลายเซ็น (ลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน)

17 เมษายน ค.ศ. 1997

พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic54.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:38 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

📄 รายงานสนับสนุนกรณีคุณพ่อนิโคลาส จากคุณพ่อแอนดรูว์ สำราญ วงศ์เสงี่ยม

รูปภาพ

อุปสังฆราชของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง และเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในการเสนอเรื่องบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย
คำให้การของคุณพ่อแอนดรูว์ สำราญ วงศ์เสงี่ยม

ข้าพเจ้า คุณพ่อแอนดรูว์ สำราญ วงศ์เสงี่ยม ปัจจุบันอายุ 56 ปี อยู่ที่สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี บ้านสองคอน ตำบลป่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ในขณะที่จะมีการประกาศแต่งตั้งบุญราศีทั้ง 7 ท่านแห่งสองคอน ประเทศไทย ข้าพเจ้าเป็นผู้ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้ดำเนินเรื่อง (Vice-Postulator)

ในความเห็นส่วนตัว ข้าพเจ้าเห็นดีด้วยอย่างมากที่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จะเสนอเรื่องคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ให้เป็นบุญราศี เพราะเป็นกรณีและสาเหตุเดียวกันกับบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย เพียงแต่ท่านไม่ได้ถูกฆ่าตายทันที แต่ค่อยๆ ตายไปในคุก เพราะพระนามของพระคริสตเจ้า ข้าพเจ้าได้อ่านทราบประวัติของท่านในคุกแล้ว เห็นว่าท่านได้เป็นพยานที่เข้มแข็งของพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง

อีกประการหนึ่ง บุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทยมีบุคคลที่จะถือเป็นเยี่ยงอย่างสำหรับคริสตชนเกือบทุกวัย เพศ และฐานะ ไม่ว่าจะเป็นนักบวชที่เป็นซิสเตอร์ ครูคำสอน แม่บ้าน เยาวชน อายุ 14-59 ปี มีทั้งชายและหญิง ถ้าจะมีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นบุญราศีด้วย ประเทศไทยก็จะมีพระสงฆ์ที่เป็นบุญราศีกับเขาด้วย

ข้าพเจ้าขอสาบานว่า ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นความจริงทุกประการ และให้การนี้ต่อหน้าพยานที่เป็นคณะกรรมการของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จึงลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน ณ สำนักมิสซังท่าแร่-หนองแสง วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1997

ลงชื่อ คุณพ่อแอนดรูว์ สำราญ วงศ์เสงี่ยม

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic55.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:39 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

📄 รายงานสนับสนุนกรณีคุณพ่อนิโคลาส จากคุณพ่ออังเดรโอนี ฟรังซิสโก

รูปภาพ

พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ผู้เคยทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้ดำเนินเรื่อง (Vice-Postulator) ในกรณีบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย

คำให้การของคุณพ่ออังเดรโอนี ฟรังซิสโก
ข้าพเจ้า คุณพ่ออังเดรโอนี ฟรังซิสโก เป็นพระสงฆ์คณะ M.E.P. อายุ 86 ปี เวลานี้อาศัยอยู่ที่บ้านพักพระมารดาพระสงฆ์ ตู้ ป.ณ. 103 อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ในเวลาที่ดำเนินเรื่องบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย ข้าพเจ้าได้เคยทำหน้าที่ Vice-Postulator ในขณะนั้น ทางอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ไม่ได้คุยกันว่าน่าจะเอากรณีของคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุงเข้าร่วมส่วนในการดำเนินเรื่องโดยส่วนตัวของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเคยรู้จั กและรู้เรื่องเกี่ยวกับคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิดกฤษบำรุง พอสมควร และมีความเห็นว่าสมควรที่จะดำเนินเรื่องคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ให้เป็นบุญราศี ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยว่าคุณพ่ออยู่บนสวรรค์แล้วข้าพเจ้าขอสาบานว่าทุกสิ่งที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ เป็นความจริงทุกประการ ต่อหน้าคณะกรรมการของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1997 ที่บ้านพักพระสงฆ์ วัดแม่พระเมืองลูร์ด บ้านไผ่ จ. ขอนแก่น

ลงชื่อ คุณพ่ออังเดรโอนี ฟรังซิสโก

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic56.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:39 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

📄 รายงานสนับสนุนกรณีคุณพ่อนิโคลาส จากคุณพ่อเสนีย์ สกลธวัฒน์

รูปภาพ

พระสงฆ์ผู้เคยทำหน้าที่เลขานุการ (Notarius) สำหรับกรณีบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย

คำให้การของคุณพ่อเสนีย์ สกลธวัฒน์

ข้าพเจ้าชื่อ คุณพ่อเสนีย์ สกลธวัฒน์ เวลานี้อายุ 76 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41 หมู่ 8 ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้ารู้จักกับคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ตั้งแต่ก่อนบวชเป็นพระสงฆ์ เคยเห็นคุณพ่อนิโคลาส บางครั้ง เวลาคุณพ่อนิโคลาสมาเยี่ยมบ้านเณร หรือเวลาไปฉลองวัดในขณะที่มีการเสนอชื่อบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทยเพื่อได้รับการแต่งตั้ง ข้าพเจ้าได้เป็นผู้ทำหน้าที่ Notarius ของกรณีนี้ เวลานั้นในคณะกรรมการของมิสซังท่าแร่-หนองแสง มิได้พูดถึงการนำเอาคุณพ่อนิโคลาสเข้ามารวมในกรณีนี้ด้วย แม้ว่าจะมีความเห็นด้วยกับกรณีนี้ของคุณพ่อนิโคลาส

ในส่วนตัว ข้าพเจ้ามีความเห็นด้วยที่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จะเสนอเรื่องของคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ให้เป็นบุญราศี เพราะเป็นกรณีและสาเหตุเดียวกันกับบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย ประกอบกับเวลานั้นคุณพ่อเอดัวรด์ก็ถูกจับเช่นเดียวกัน

ข้าพเจ้าขอสาบานว่า ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นความจริงทุกประการ และให้การนี้ต่อหน้าคณะกรรมการของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จึงลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน ณ บ้านซีเมออน ท่าแร่ วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1997

ลงชื่อ คุณพ่อเสนีย์ สกลธวัฒน์

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic57.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:40 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

🤫 เบื้องหลังการดำเนินเรื่อง คุณพ่อนิโคลาส คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ และคุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง

รูปภาพ

ความคิดที่จะเสนอชื่อคุณพ่อนิโคลาส ให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งกำลังเสนอเรื่องบุญราศีทั้ง 7 ที่สองคอนแล้ว คือ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980-1989 แต่เนื่องจากการจัดเตรียมเอกสารเรื่องราวของคุณพ่อนิโคลาสนั้นไม่สามารถทำได้ทันเวลา ก็เลยไม่ได้เสนอร่วมกันไป สาเหตุที่มีความคิดเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในสมัยสงครามอินโดจีน โดยมีสภาพทางการเมืองและสภาพการเบียดเบียนศาสนาเหมือนกัน เพียงแต่เกิดคนละแห่ง และเป็นบุคลากรของต่างมิสซังกันเท่านั้น แต่การเป็นมรณสักขีของบุญราศีทั้ง 7 ที่สองคอนนั้นชัดเจนมาก

เนื่องจากถูกยิงเสียชีวิตเพราะความเชื่อและไม่ยอมละทิ้งศาสนา การดำเนินเรื่องนี้จึงค่อนข้างง่าย

แต่กลับใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน

อันที่จริง การเสนอเรื่องบุญราศีทั้ง 7 ที่สองคอนได้เสนอกันมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็มาขาดตอนกันไป มาดำเนินเรื่องกันใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1980 ซึ่งในเวลานั้นยังคงใช้กฎหมายพระศาสนจักรเล่มเก่าอยู่ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 เป็นต้นมา กฎหมายพระศาสนจักรเล่มใหม่ได้ลดขั้นตอนและความซับซ้อนลงไปมาก สมัยนี้การพิจารณาเรื่องนี้จึงง่ายขึ้นและเร็วขึ้นด้วย แต่ก็ยังคงต้องถือเป็นเรื่องจริงจังเหมือนเดิม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของความเชื่อ จะประกาศด้วยเหตุผลอื่นๆ ไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือเรื่องนี้จะผิดพลาดไม่ได้เลย

สภาสงฆ์ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้เสนอเรื่องนี้ขึ้นมาในที่ประชุมครั้งหนึ่งหลายปีมาแล้ว จำได้ว่าผม (คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์) ยังอยู่ที่กรุงโรม ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อรวบรวมเอกสารและดูความเป็นไปได้ต่างๆ ของเรื่องนี้ ตอนนั้นคุณพ่อวิกตอร์ ลาร์เก เป็นนักประวัติศาสตร์ ก็ได้ทำการรวบรวมเอกสารและหลักฐานต่างๆ ไว้ชุดหนึ่ง คุณพ่อได้ไปสอบสวนพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคน แล้วนำมาประมวลเข้าด้วยกันเป็นเล่ม ตั้งชื่อว่า "ประมวลหลักฐานเกี่ยวกับคุณพ่อนิโคลาส" นับเป็นหนังสือที่มีประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ตาม คุณพ่อก็ได้เสียชีวิตลงก่อนที่งานนี้จะสำเร็จไป เนื่องด้วยเอกสารและหลักฐานที่มีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอ

เมื่อคุณพ่อลาร์เกจากไปแล้ว ทางอัครสังฆมณทลกรุงเทพฯ ก็จัดการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่อีกเพื่อดำเนินเรื่องนี้ต่อไป โดยพยายามยึดถือแนวทางที่ถูกต้องของสมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบุญตามกฎหมายใหม่ คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการตามใบประกาศของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 อันที่จริง คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งให้ทำงานอยู่ก่อนหน้านี้ถึง 2 ปีแล้ว เพิ่งมาประกาศอย่างเป็นทางการก็เพื่อให้สอดคล้องกับขั้นตอนการดำเนินเรื่องเท่านั้น

คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่หลายอย่างที่ต้องแบ่งความรับผิดชอบออกไป บางคนมีหน้าที่รวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร บางคนตรวจสอบความถูกต้องทางเทววิทยา บางคนตรวจสอบความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ บางคนตรวจสอบความถูกต้องทางกฎหมาย เป็นต้น ที่ต้องมีหลายหน้าที่ก็เพื่อตรวจสอบความถูกต้องซึ่งกันและกัน และต้องตรวจสอบทุกด้านด้วย เพื่อความรอบคอบและถูกต้องที่สุด

งานแรกที่ต้องทำก็คือ การรวบรวมเอกสารต่างๆ ให้สมบูรณ์ นั่นคือ สานต่องานของคุณพ่อลาร์เกนั่นเอง เพื่อการพิจารณาขั้นต่อไป เอกสารมีอยู่หลายชนิดที่ต้องรวบรวม ได้แก่ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับคุณพ่อนิโคลาสเอง เช่น ใบศีลล้างบาป ใบรายงานผลการเรียนและความประพฤติจากบ้านเณร , เอกสารที่คุณพ่อนิโคลาสเขียนเอง จะเป็นจดหมายหรือบทความต่างๆ , เอกสารของคนร่วมสมัยที่ได้เขียนถึงคุณพ่อนิโคลาสหรือเอ่ยถึง รวมทั้งจากหนังสือต่างๆ ที่เอ่ยถึงด้วย เช่น หนังสือสารสาสน์ , Le Trait d'Union (สงฆ์สัมพันธ์) เป็นต้น , เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเบียดเบียนศาสนา และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินจำคุกและชีวิตในคุกจนถึงวันมรณภาพ , เอกสารที่ได้รับจากพยานที่เคยรู้จักคุณพ่อและสนิทสนมกับคุณพ่อ และท้ายที่สุด เอกสารที่มาจากผู้สวดภาวนาวอนขอให้คุณพ่อช่วยเหลือ

เราไม่คิดว่าต่างก็เป็นอัศจรรย์ แต่จดหมายเหล่านี้ช่วยให้เราแน่ใจได้ว่าคริสตชนเคารพและยึดถือว่าคุณพ่อเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่าจดหมายเหล่านี้มีมากเท่าไหร่ เราก็จะมั่นใจมากขึ้น และพระศาสนจักรก็มั่นใจมากขึ้นด้วยผมได้รับหน้าที่ในการรวบรวมเอกสารทั้งหมด สิ่งแรกที่ทำได้ก็คือเอาประมวลหลักฐานเกี่ยวกับคุณพ่อนิโคลาสที่คุณพ่อลาร์เกทำไว้มาทบทวนเสียใหม่ และติดตามหาต้นฉบับซึ่งก็พบได้โดยง่าย เพราะหลักฐานต้นฉบับก็เก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ นั่นเอง นอกจากนี้ ยังได้ค้นดูตามรายงานประจำปีของพระสังฆราชแปร์รอส เอกสารจากแฟ้มของวัดต่างๆ ซึ่งคุณพ่อนิโคลาสเคยประจำอยู่ หรือเกี่ยวข้องกับคุณพ่อนิโคลาส ตรวจสอบดูจากสารสาสน์เก่าๆ ที่เก็บอยู่ที่เดียวกัน พร้อมทั้งได้เดินทางไปยังวัดนักบุญเปโตร เพื่อขอใบศีลล้างบาป ซึ่งเท่านี้ก็มีเอกสารมากมายให้ตรวจสอบแล้ว งานที่ควรจะรีบทำพร้อมกันไปในเวลาเดียวกันก็คือ การสอบพยาน เพราะกรงว่ายิ่งนานไปพยานที่ยังมีชีวิตอยู่อาจจะเสียชีวิตไป

ที่ประชุมจึงได้จัดตั้งกรรมการย่อยเพื่อไปสืบหาเอกสารและพยานตามที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสืบพยานชุดนี้มี คุณพ่อปิยะ โรจนะมารีวงศ์ , คุณพ่อทวีศักดิ์ กิจเจริญ, คุณพ่อวิชา หิรัญญการ , คุณพ่อเอกพร นิตตะโย และผมอีกคนหนึ่ง (คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์)

ประมาณกลางเดือนกันยายน ค.ศ. 1993 คณะกรรมการชุดนี้ก็เริ่มปฏิบัติงานการสืบพยาน เตรียมรถ เตรียมแบบฟอร์มการสืบพยาน เตรียมเทปบันทึกเสียง ติดต่อสถานที่ต่างๆ และบุคคล

จนกระทั่งพร้อมแล้ว เราก็เริ่มออกเดินทางไปสืบพยานรอบแรก ที่บอกว่ารอบแรกก็เพราะ เรายังมีรอบที่ 2 อีกด้วย เพื่อเอกสารทางการที่ออกมาจะได้ถูกต้องมากขึ้น

การเดินทางครั้งนี้ (คุณพ่อปิยะลงทุนเอารถคันใหม่ขึ้นไปกันเอง) ออกจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าไปวัดบ้านหัน พอไปถึงพยานทุกคนต่างก็มานั่งรอพวกเราอยู่แล้ว คุณพ่อเจ้าวัดก็ช่วยเราเต็มที่ พยานบางคนเป็นผู้ที่เคยถูกจับพร้อมๆ กับคุณพ่อนิโคลาสที่วัดนี้ บางคนก็เป็นภรรยาของผู้ที่เคยถูกจับเป็นต้น การสัมภาษณ์และการบันทึกเทปก็ทำกันค่อนข้างขลุกขลัก เพราะเป็นพยานกลุ่มแรก เราแบ่งหน้าที่กันสัมภาษณ์และบันทึกเทป ดังนั้น จึงใช้เวลาไม่นานเกินไปก็เป็นอันว่าเสร็จที่บ้านหัน จากนั้นเราก็พักค้างคืนที่โคราชนั่นเอง วันรุ่งขึ้นเราเดินทางต่อไปโนนแก้ว ซึ่งเป็นวัดที่คุณพ่อนิโคลาสเคยเป็นเจ้าอาวาส และยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ขณะถูกจับด้วย คริสตังหลายคนเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังระหว่างที่มีการเบียดเบียนในช่วงสงครามอินโดจีน เล่าถึงชีวิตของคุณพ่อนิโคลาส

ตอนนี้เราเริ่มบันทึกเทปคล่องขึ้นแล้ว ได้พยานเพิ่มมาอีก 4-5 คนด้วยกัน เราออกจากโนนแก้วไปยังชัยภูมิ เพื่อพบกับพยานปากเอกของเราคือ ครูเจริญ ราชบัวขาว ผู้ซึ่งเคยถูกจับและถูกจำคุกพร้อมกับคุณพ่อนิโคลาส ยังสามารถจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดี และให้การด้วยถ้อยคำชัดเจนทุกประการขจัดข้อสงสัยต่างๆ ของเราได้มากมายหลายประเด็นทีเดียว

จากนั้นเราก็ออกเดินทางไปภาคเหนือ มีสถานที่หลายแห่งที่คุณพ่อนิโคลาสเคยทำงานอยู่ เช่น เมืองพาน เวียงป่าเป้า เชียงดาว พร้าว พิษณุโลก นครสวรรค์ ซึ่งเราก็พบกับเอกสารและพยานที่รู้จักคุณพ่อนิโคลาสหลายคนทีเดียว ใช้เวลาเดินทางครั้งนี้ทั้งหมด 6 วัน เรากลับมาถึงกรุงเทพฯ พร้อมกับรูปภาพ , เทปบันทึกเสียง และเอกสารการสัมภาษณ์พยานมากเพียงพอทีเดียว

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic58.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:40 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

🗓 สรุปวันเวลาในการดำเนินเรื่องคุณพ่อนิโคลาส

รูปภาพ

20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 ข้อเสนอของสภาสงฆ์ในตอนนั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีการกำหนดผู้ดำเนินการชุดแรก

25 มิถุนายน ค.ศ. 1992 ปรับปรุงคณะกรรมการใหม่ ซึ่งได้แก่คณะกรรมการชุดปัจจุบันนี้

แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993 ประชุมคณะกรรมการชุดใหม่ ครั้งที่ 1 ที่บ้านเณรแสงธรรม เพื่อดูหน้าที่ต่างๆ ของคณะกรรมการ เอกสารเท่าที่มีอยู่ และแนวทางในการหาเอกสารเพิ่มเติม แล้วจึงแบ่งหน้าที่กันไปทำงานโดยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน ในช่วงนี้ต้องยอมรับว่ายังมีความสับสนกันเล็กน้อยเกี่ยวกับหน้าที่ต่างๆ เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราทุกคน

26 สิงหาคม ค.ศ. 1993 ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 2 ที่สำนักมิสซังฯเนื่องด้วยมีความสับสนในขั้นตอนต่างๆ คุณพ่อจำเนียร กิจเจริญ จึงเรียนเชิญพระคุณเจ้าไมเกิ้ล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ซึ่งเคยทำงานเกี่ยวกับุญราศีทั้ง 7 ที่สองคอนมาแล้ว มาให้ความกระจ่างในเรื่องนี้และก็ได้ตกลงแบ่งหน้าที่กันอย่างละเอียด พร้อมทั้งพยายามหาหนังสือคู่มือที่กรุงโรมด้วย ซึ่งต่อมาไม่นานเราก็ได้รับหนังสือคู่มือเล่มนี้ สุดท้ายได้กำหนดวันสืบพยานรอบแรก คือ วันที่ 13-17 กันยายน ค.ศ. 1993

13-17 กันยายน ค.ศ. 1993 ทีมงานสืบพยานในประเทศก็เริ่มออกปฏิบัติงาน ได้พบกับพยานสำคัญๆ หลายท่านด้วยกัน

มาถึงจุดนี้คณะกรรมการไม่ได้ตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่า คุณพ่อนิโคลาสเป็นบุญราศีเพียงแต่กำลังทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ และแสวงหาความมั่นใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมทั้งหาความเป็นไปได้ไปในตัวด้วย เอกสารที่รวบรวมไว้จนถึงเวลานั้นก็มีพอสมควร พยานในประเทศก็ไปพบมาแล้วก็ถึงเวลาที่จะต้องแสวงหาหลักฐานและเอกสารจากที่ต่างๆ เท่าที่มีด้วย จุดแรกที่นึกถึงก็คือ

บ้านเณรใหญ่ที่ปีนัง ซึ่งคุณพ่อนิโคลาสเคยอยู่ถึง 6 ปี ผมในฐานะผู้รวบรวมเอกสารต่างๆ เพื่อนำเสนอเรื่อง พร้อมกับคุณพ่อทวีศักดิ์ กิจเจริญ ซึ่งมีตำแหน่ง Promotor of Justice แปลเป็นไทยคงได้ว่า "ผู้ผดุงความยุติธรรม" แต่เรียกกันตามภาษาล้อเลียนก็ว่า "ทนายปีศาจ" คนนี้แหละจะเป็นผู้หาหลักฐานและเอกสาร คอยคัดค้าน เรียกง่ายๆว่า ได้รับแต่งตั้งให้มาปักหลักค้าน

เรา 2 คนก็เลยตัดสินใจขออนุญาตเดินทางไปปีนังพร้อมกัน หากจะทะเลาะกันก็จัดการกันซะเลยในตอนนั้นจะได้ไม่ยืดเยื้อ เราก็โชคดีไม่น้อย บังเอิญคุณพ่อชวลิต กิจเจริญ เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับคุณพ่อเจมส์ อธิการบ้านเณรปีนัง ช่วยโทรศัพท์ไปติดต่อล่วงหน้า คุณพ่อเจมส์ก็บอกกลับมาทันทีว่า "มาได้เลย จะเตรียมต้อนรับและร่วมมือในการค้นหาเอกสารทุกอย่างเท่าที่มี" เมื่อได้รับอนุญาตให้เดินทางได้แล้ว เรา 2 คนก็ออกเดินทางไปปีนัง

26-28 กันยายน ค.ศ. 1993

เราอยู่ที่ปีนัง 2 คืนเท่านั้น เพราะเดินทางด้วยเครื่องบิน 1 ชั่วโมงเศษๆ ก็ถึงแล้ว

พอถึงสนามบินที่ปีนัง ก็เจอกับคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งไม่ค่อยสู้ชอบงานอาชีพของตนเองมากนัก โดยเฉพาะที่จะมาบริการคนไทยอย่างเรา แถมคนหนึ่งในนั้นยังตัวเบ้อเริ่มอีกด้วย แต่ที่สุด เราก็มาถึงบ้านเณรใหญ่ที่ปีนังซึ่งปัจจุบันกลายเป็นบ้านเณรทันสมัย เพราะบ้านเณรปีนังเก่านั้นเขาขายไปแล้ว คุณพ่ออธิการและพระสงฆ์ที่นั่นก็ต้อนรับเราอย่างดี จำไม่ได้แล้วละครับว่าไปถึงปุ๊บ เริ่มงานทันทีเลยหรือเปล่า แต่เราทำงานค้นหาเอกสารเก่าๆ กัน 2 วันก็หมด ได้เอกสารรายงานเกี่ยวกับสามเณรบุญเกิด (คุณพ่อนิโคลาส) ในสมัยนั้น รายงานผลการเรียน รายงานการประชุมของคณะผู้ใหญ่ รวมทั้งได้รูปภาพบางรูปมาด้วย ดูโดยทั่วไปแล้ว การเก็บรักษาเอกสารเก่าของเขาก็ไม่ได้ดีไปกว่าเรา พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ดีพอๆ กันนั่นแหละ นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสไปตามวัดบางวัดที่อาจจะมีเอกสารเรื่องราวสมัยนั้น และได้ไปพบกับคุณพ่ออลอยซีอุส อุปสังฆราช ที่นั่น ซึ่งพ้นตำแหน่งแล้ว ปลดชรา เวลานี้อายุ 90 กว่าปีแล้ว ได้คุยกับคุณพ่อซึ่งมีความจำดีมาก แต่เธอก็จำเรื่องคุณพ่อนิโคลาสตอนเป็นสามเณรด้วยกันไม่ได้เลย เพราะอยู่กันคนละปี

เราสองคนโชคดีที่พบกับคุณพ่อซึ่งเป็นคนจีนคนหนึ่ง ชื่อ คุณพ่อหว่อง ทำให้เราได้ไปในที่ต่างๆ อย่างสบาย พาไปทานอาหาร ไปเยี่ยมบ้านเณรเก่า สรุปแล้ว 2 คืน 1 วันที่ปีนัง เราได้รับประสบการณ์หลายอย่างทีเดียว

30 กันยายน ค.ศ. 1993 ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 3 ที่สำนักมิสซังฯ

ก็มีการติดตามการทำงาน รายงานการสืบพยานและค้นหาหลักฐาน รวมทั้งการปรึกษาขอความคิดเห็นจากคณะที่ปรึกษาทางเทววิทยาของสภาพระสังฆราช เกี่ยวกับการตายของคุณพ่อนิโคลาสในคุกด้วย เรื่องนี้ผมขออธิบายนิดหน่อย เพราะเป็นจุดที่น่าสนใจ ปกติการตายของมรณสักขีจะชัดแจ้ง เช่น ที่สองคอนถูกยิงตาย ในกรณีของคุณพ่อนิโคลาสนี้ ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี แต่อยู่ในคุกได้ 3 ปี ก็เป็นวัณโรคตายในคุก ความตายในลักษณะเช่นนี้จะจัดอยู่ในข่ายของมรณสักขีได้หรือไม่

พระคุณเจ้าเกี้ยนและคณะที่ปรึกษาทางเทววิทยาของสภาพระสังฆราชได้ให้คำตอบที่ตรงกันว่า Causa หรือสาเหตุของการจับกุมและตัดสินลงโทษ ได้แก่ In Odium Fidei หรือความเกลียดชังความเชื่อ และผลอันมาจาก Causa นั้นได้แก่ ความตายเพราะวัณโรคในขณะที่อยู่ในระหว่างรับโทษจากการตัดสิน ต่อมาภายหลัง เรายังได้ทราบเพิ่มเติมด้วยว่า สมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบุญ ได้เคยประกาศบุญราศีในลักษณะเช่นนี้มาแล้วด้วย เรื่องนี้ทำให้คณะกรรมการรู้สึกเบาใจขึ้นไม่น้อยเลย

6-18 ธันวาคม ค.ศ. 1993 เดินทางไปกรุงโรมและปารีส

เหตุผลของการเดินทางไปกรุงโรมและปารีสก็คือ ในสมัยนั้นพระคุณเจ้าปาซอตตีได้เขียนรายงานเกี่ยวกับเรื่องการเบียดเบียนศาสนา และเอ่ยถึงวีรกรรมของคุณพ่อนิโคลาสเอาไว้ด้วยรายงานนี้เก็บอยู่ที่หอจดหมายเหตุสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ และที่หอจดหมายเหตุคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ก็มีรายงานต้นฉบับของพระสังฆราชแปร์รอสเก็บรักษาไว้

รวมทั้งเอกสารอื่นๆด้วย ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมของการเบียดเบียนศาสนา และที่สำคัญที่สุดคือ คุณพ่อมิราแบลซึ่งเป็นมิชชันนารีในประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปี และเป็นผู้บุกเบิกมิสซังเชียงใหม่ร่วมกับคุณพ่อนิโคลาส ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นฤาษีอยู่ที่อารามทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส

นับเป็นพยานบุคคลที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งทีเดียว ผมกับคุณพ่อทวีศักดิ์อีกเช่นเคยต้องร่วมเดินทางด้วยกัน ด้วยการประสานงานของคุณพ่อลังฟังต์และคุณพ่อมังซุย การติดต่อต่างๆ เป็นไปอย่างเรียบร้อย จากกรุงเทพฯ ถึงกรุงโรม เรารีบเดินทางไปที่หอจดหมายเหตุของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวังในตอนแรก เนื่องจากได้รับคำตอบว่าเอกสารที่เปิดให้ค้นคว้าได้นั้นมีจนถึงปี ค.ศ. 1922 เท่านั้น นอกนั้นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้ากระทรวงเสียก่อน แต่เจ้าหน้าที่ก็เข้าใจเหตุผลของเราดี รับปากว่าจะพยายามค้นหาให้ เผื่อว่าอาจจะมีอะไรที่เป็นประโยชน์ได้บ้าง โดยขอเวลา 1 อาทิตย์ เราก็ออกจากที่นั่นโดยหวังว่าจะได้อะไรบ้างเท่านั้น จากนั้นเราก็เดินทางไปพบกับคุณพ่ออีซายนา ซึ่งเป็นผู้ดำเนินเรื่อง (Postulator) ในกรณีบุญราศีทั้ง 7 ที่สองคอน สอบถามความเห็นเกี่ยวกับกรณีคุณพ่อนิโคลาส รวมทั้งสอบถามขั้นตอนต่างๆ ตอนนั้นเราชวนคุณพ่อปิยะชาติ มะกรครรภ์ ไปเป็นเพื่อนกันด้วย

หนึ่งอาทิตย์ที่กำลังรอคอยนี้ พวกเราคิดว่ารอเฉยๆ ก็เสียเวลา จึงตัดสินใจเดินทางต่อไปปารีสทันที โดยจะใช้เวลาที่นั่นประมาณ 1 อาทิตย์ แล้วจะกลับมากรุงโรมอีกครั้งหนึ่ง ที่ปารีสเราพักที่บ้านศูนย์กลางคณะ M.E.P. ซึ่งได้ต้อนรับและร่วมมืออย่างดียิ่ง เป็นเวลาประมาณ 3 วัน ตรวจสอบและค้นหาเอกสารต่างๆ ซึ่งมีจำนวนพอสมควรทีเดียวที่เป็นประโยชน์ต่อเรื่องของเรา จากนั้นก็เดินทางโดยรถไฟไปทางใต้ของฝรั่งเศสเพื่อพบกับคุณพ่อมิราแบลซึ่งชรา มากแล้ว หลังค่อม แต่ยังพูดชัดและความจำยังดี เจอกันปุ๊บ เธอก็ทักทายเราเป็นภาษาไทยแปร่งๆ ว่า "กินข้าวหรือยัง" ทำให้เราประทับใจมาก แต่เธอก็พูดได้เพียงเท่านั้นเอง ภาษาฝรั่งเศสของเราก็งูๆ ปลาๆ ยังดีที่มีคุณพ่ออธิการช่วยบ้าง และเรายังมีคำถามเป็นภาษาฝรั่งเศสเตรียมไปอยู่แล้ว เรายังอัดเทปเอาไว้ด้วย

ต่อมาคุณพ่อบรูโนได้ช่วยกรุณาถอดเทปและแปลออกเป็นภาษาไทยให้ เราจำเป็นต้องกลับให้ถึงปารีสในคืนนั้ นหรือรุ่งเช้าให้ได้ เพราะเราได้จองตั๋วเครื่องบินกลับกรุงโรมไว้เรียบร้อยแล้ว น่าเสียดายที่รถไฟที่จะพาเราไปปารีสคืนนั้นเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ต้องตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง เสียเวลามากขึ้นอีกหลายชั่วโมง เพราะต้องเปลี่ยนรถไฟ และต้องรออีกนานทีเดียว อากาศก็หนาวมาก เรา 2 คนหลับกันในที่พักผู้โดยสารนั่นเอง แต่โชคดีที่เรามาถึงปารีสตอนเช้าทัน

ที่กรุงโรม เจ้าหน้าที่ก็ได้ค้นหาข้อมูลให้เราจนได้ พร้อมทั้งทำสำเนาเอกสารในส่วนที่เราต้องการอีกด้วย เป็นอันว่า ภารกิจของเราที่กรุงโรมและปารีสก็เสร็จสิ้นลงอย่างดี แถมยังได้รู้จักกับมองซินญอร์ ยูเซปเป ดาสโกลี (Monsingnore Giuseppe d'Ascoli) ซึ่งเป็นนักเทววิทยาในสมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบุญ ได้ช่วยอธิบายเรื่องต่างๆ ที่เรายังสงสัยกันอยู่ให้กระจ่างมากขึ้น

22 ธันวาคม ค.ศ. 1993 ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 4 มีรายงานและเตรียมงานขั้นต่อไป

29 กรกฎาคม ค.ศ. 1994 ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 5

ในระยะเวลานี้เองที่มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการในการทำงาน เพราะคุณพ่อซิลวาโน มากิสตราลี ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานในประเทศอิตาลีตอนใต้ และคุณพ่อลังฟังต์ได้รับการติดต่อให้มาร่วมงานกับคณะกรรมการต่อไป เมื่อมาถึงจุดนี้ เอกสารต่างๆ ก็พร้อมโดยส่วนใหญ่แล้ว ที่ประชุมจึงตกลงเชิญพระคาร์ดินัล มีชัย เข้าร่วมประชุมในครั้งต่อไป

9 กันยายน ค.ศ. 1994 ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 6

ครั้งนี้พระคุณเจ้ามีชัยเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากรับมอบเอกสารทั้งหมด และรับฟังรายงานการทำงานแล้ว พระคุณเจ้าสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป และให้นำเรื่องนี้ขอความเห็นจากสภาพระสังฆราชฯ ได้ พร้อมทั้งให้คณะกรรมการหาความสนับสนุนจากสัตบุรุษเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งขอคำภาวนาจากบรรดาสัตบุรุษอีกด้วย และเพื่อให้เอกสารต่างๆ สมบูรณ์มากขึ้น กำหนดวันสอบพยานอย่างเป็น
ทางการ นั่นคือ เดินทางไปภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางอีกครั้งหนึ่ง

11-17 กันยายน ค.ศ. 1994 คณะกรรมการ 5 คน ออกเดินทางไปสอบพยานเป็นทางการ ผลที่ได้ก็คือ พยานคนหนึ่งของเราที่วัดเชียงดาวได้เสียชีวิตไปแล้ว แม้นว่าช่วงนั้นจะอยู่ในระหว่างที่มีข่าวว่าน้ำท่วมภาคเหนือและถนนขาดไปบ้าง แต่งานทุกอย่างก็สำเร็จลงด้วยดี ที่เชียงใหม่

เราได้มีโอกาสพบกับพระคุณเจ้าสังวาลย์ที่บ้านพักด้วย และนำคณะฯ ไปรับประทานอาหารเย็น

22 กันยายน ค.ศ. 1994 ผมกับคุณพ่อทวีศักดิ์ เข้ารายงานต่อสภาพระสังฆราชฯ พร้อมทั้งเอกสารทั้งหมดที่เรามี เพื่อขออนุมัติจากสภาเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ ตรงนี้ขออธิบายอีกเล็กน้อย เนื่องจากเรื่องขอดำเนินเรื่องบุญราศีเป็นของส่วนรวม สมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบุญมีระเบียบว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาพระสังฆราชเสียก่ อน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเข้ารายงานในครั้งนี้ และสภาพระสังฆราชฯ ก็ได้ลงมติให้ดำเนินเรื่องนี้ต่อไปได้ในวันนั้นเอง

2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 พระคุณเจ้ามีชัยออกประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เรื่องการขอแต่งตั้งคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นบุญราศี เอกสารเลขที่ ลส. 846/37

7-12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 โอกาสที่พระคุณเจ้ามีชัยเดินทางไปประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของวาติกันผมได้รับมอบหมายให้เดินทางไปด้วยเพื่อติดต่อผู้ที่จะเป็นผู้ดำเนินเรื่องในกรณีของคุณพ่อนิโคลาสที่กรุงโรม ผู้ดำเนินเรื่องนั้นต้องมีเพียงคนเดียวคือผู้ที่มีที่พักอยู่ที่กรุงโรม ส่วนผมนั้นจะเป็นเพียงผู้ช่วยผู้ดำเนินเรื่อง และอยู่ที่ประเทศไทยเพื่อจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นตามแต่ที่กรุงโรมจะสั่งมา

ตอนแรกคณะกรรมการตั้งใจจะให้คุณพ่ออีซายนา ซึ่งเคยเป็นผู้ดำเนินเรื่องในกรณีที่สองคอนมาแล้ว แต่ทราบจากพระคุณเจ้าคายน์ว่า ทางท่าแร่กำลังจะดำเนินเรื่องให้บุญราศีทั้ง 7 ที่สองคอนเป็นนักบุญ เราก็เลยได้รับคำแนะนำจากคุณพ่อเชอวูเลย์ พระสงฆ์คณะธรรมทูตนิรมล (O.M.I.)

ให้ไปติดต่อกับคุณพ่อฟิตซ์แพทริกซึ่งเป็นหัวหน้าผู้ดำเนินเรื่องนี้ของคณะ และอยู่ที่กรุงโรม เมื่อผมได้พบกับคุณพ่อฟิตซ์แพทริก คุณพ่อได้สอบถามหลายเรื่อง และเห็นว่ากรณีนี้น่าสนใจ และดูเหมือนว่าเอกสารจะมีมากพอ เพ ราะผมขนสำเนาเอกสารทั้งหมดไปด้วย คุณพ่อจึงรับเป็นผู้ดำเนินเรื่องให้แก่เรา พร้อมทั้งมอบบทความของเธอเองที่เขียนเกี่ยวกับการดำเนินเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ ให้เรามาศึกษาอีกหนึ่งชุดด้วย คุณพ่อยังบอกด้วยว่าจะเดินทางมาเมืองไทยราวๆ ปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 1995 เพื่อประชุมคณะกรรมการด้วย เรื่องนี้ทำให้เราดีใจมาก เป็นอันว่าจนถึงจุดนี้บุคลากรด้านต่างๆ ในการดำเนินเรื่องนี้พร้อมแล้ว

8 ธันวาคม 1994 ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 7 ที่บ้านผู้หว่าน

งานที่ยังขาดอยู่เวลานี้ ได้แก่ การแปลเอกสารที่เป็นภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คุณพ่อทวีศักดิ์ช่วยจัดหาผู้แปล

1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 8 ที่สำนักมิสซังฯ

การประชุมครั้งนี้ คุณพ่อฟิตซ์แพทริกได้เดินทางมาประชุมด้วย คุณพ่อได้เดินทางมาโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเยือนประเทศฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกีนี ออสเตรเลียและศรีลังกา

อันที่จริง คุณพ่อฟิตซ์แพทริกเดินทางมาถึงเมืองไทยตั้งแต่วันที่ 30 มกราคมแล้ว โดยมีคุณพ่อทวีศักดิ์เป็นผู้ไปรับและดูแลอย่างดียิ่ง การประชุมครั้งนี้คุณพ่อได้ให้ความกระจ่างแก่คณะกรรมการมากขึ้น และให้ความมั่นใจในกรณีนี้มาก เพราะคุณพ่อได้นำตัวอย่างมาให้พวกเราดูด้วย เรื่องที่สำคัญก็คือ ให้รีบจัดทำจดหมายขอ Nihil Obstat จากสมณกระทรวง พร้อมทั้งขอหมายเลขคดี (Protocol Number) ด้วย และจะได้ยื่นเรื่องขอแต่งตั้งคุณพ่อเป็นผู้ดำเนินเรื่องต่อไป ที่ประชุมจึงได้ขอให้คุณพ่อช่วยร่างจดหมายให้ ซึ่งคุณพ่อก็ทำให้ในเวลานั้นเอง เวลาเดียวกันก็ยังต้องการประวัติย่อของคุณพ่อนิโคลาสด้วย คุณพ่อประยุทธ ชลหาญ ก็ได้ช่วยจัดการแปลให้เสร็จเรียบร้อยในเวลาไม่นานนัก จัดเตรียมเอกสารเสร็จ พระคุณเจ้าก็ลงนามให้ทันที ปิดผนึก ฝากคุณพ่อฟิตซ์แพทริก นำไปยื่นให้ที่กรุงโรมเลย รายละเอียดของการมาของคุณพ่อฟิตซ์แพทริก หนังสือพิมพ์ "อุดมสาร" ได้ลงไว้ในฉบับประจำวันที่ 19-25 กุมภาพั นธ์ ค.ศ. 1995 แล้ว แต่หากใครอยากได้รายละเอียดมากกว่านี้ก็ถามได้จากคุณพ่อทวีศักดิ์เจ้าเดิม เจ้านี้เก็บรายละเอียดไว้เยอะเลยครับ

6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 คุณพ่อฟิตซ์แพทริกได้ส่งแฟกซ์มาจากกรุงโรมว่า ได้ส่งจดหมายขอ Nihil Obstat และขอ Protocol Number ที่สมณกระทรวงเช้าวันนั้นเองเรียบร้อยแล้ว หวังว่าจะได้รับคำตอบเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งได้ส่งแบบฟอร์มการขอแต่งตั้งคุณพ่อให้เป็นผู้ดำเนินเรื่องมาให้จัดทำด้วย ผมก็เพิ่งทราบนี่แหละว่าแบบฟอร์มนี้ต้องใช้ภาษาลาติน และจะต้องยื่นขอแต่งตั้งหลังจากได้รับ Nihil Obstat แล้ว

งานต่อไปที่กำลังจะทำ ได้แก่ งานประชาสัมพันธ์และขอเสียงสนับสนุนจากสัตบุรุษทั่วไป ตามที่พระคุณเจ้ามีชัยได้เคยแนะนำไว้ในการประชุม อีกไม่นานนัก จะมีโปสเตอร์ติดประกาศตามวัด เพื่อให้สัตบุรุษรู้จักคุณพ่อนิโคลาสมากขึ้น และจะได้สวดภาวนาต่อคุณพ่อนิโคลาสมากขึ้น

และจากนั้นอีกไม่นาน ก็จะมีแผ่นพับตามมา เพื่อขอให้พี่น้องสัตบุรุษเขียนตอบกลับมา เรื่องนี้มีความสำคัญพอตัวทีเดียว เพราะเราจะมีเสียงสนับสนุนเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อยืนยันถึงชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ (Fama Sanctitatis) ของคุณพ่อนิโคลาส และความคิดเห็น (Public Opinion) ของสัตบุรุษเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เรื่องอัศจรรย์นั้นไม่จำเป็นสำหรับกรณีของบุญราศีในฐานะเป็นมรณสักขี แต่จดหมายทุกฉบับที่เขียนตอบกลับมาหลังจากสวด ภาวนาขอต่อคุณพ่อนิโคลาสนั้น แสดงให้เห็นว่าคริสตชนยึดถือคุณพ่อเป็นที่พึ่งได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหายจากโรคปวดหัว หางานทำได้ พบของหาย และอื่นๆ ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น แม้จะไม่ใช่อัศจรรย์ก็ตาม

อันที่จริง พระคุณเจ้ามีชัย กิจบุญชู ได้ยื่นหนังสือถึงสมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบุญ 2 เรื่องเพื่อขอ Nihil Obstat และ Protocal Number กรณีคุณพ่อนิโคลาส ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ค.ศ. 1995 ตามเอกสารเลขที่ SB 057/95 แล้ว และทางสมณกระทรวงฯ ก็ได้ออกเอกสารลงวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1995 ให้ Nihil Obstat และให้ Prot No. 2026 Nihil Obstat นี้มีความหมายสำคัญพอควร เพราะหมายความว่าสมณกระทรวงได้พิจารณาเนื้อหาโดยย่อกรณีคุณพ่อนิโคลาสแล้ว มีความเห็นว่าให้ดำเนินการต่อได้ หรือแปลให้ตรงตัวหน่อยก็แปลได้ว่า "ไม่มีอะไรขัดข้อง"

Protocal Number ก็คือเลขที่ของกรณี และนับจากนี้เป็นต้นไป เอกสารการติดต่อระหว่างอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และสมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบุญ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้จะต้องอ้างอิงถึงเลขที่นี้ทุกครั้งไป

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic59.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:41 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

🧐 การเตรียมการเปิดกระบวนการพิจารณาระดับสังฆมณฑล

รูปภาพ

เป็นอันว่าทุกอย่างเวลานี้พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นทางการ เพราะเหตุว่ามีปัจจัยหลายประการที่เอื้ออำนวย เช่น กรณีนี้มีความเป็นไปได้ เอกสารต่างๆ ที่รวบรวมมามีเพียงพอ พยานบุคคลเป็นประโยชน์และยังมีชีวิตอยู่ คณะกรรมการช่วยงานกันอย่างเต็มที่ ผู้ใหญ่ของอัครสังฆมณฑลสนับสนุน สภาพระสังฆราชอนุมัติให้ดำเนินเรื่องได้ และทางสมณกระทรวงไม่มีอะไรขัดข้อง พร้อมทั้งจัดกรณีของคุณพ่อนิโคลาสเข้าระบบของสมณกระทรวงแล้วด้วย

ก้าวที่สำคัญก้าวต่อไป ได้แก่ การจัดเตรียมการเปิดกระบวนการพิจารณาระดับสังฆมณฑล ตามที่มีระบุไว้ในกฎระเบียบของสมณกระทรวง โดยแบ่งเป็นการเตรียมงานเรื่องที่สำคัญๆ ดังนี้

1. การเตรียมเอกสาร

เนื่องจากเอกสารที่ค้นหามาได้นั้น จะต้องทำการจัดหมวดหมู่ขั้นสุดท้าย พร้อมทั้งทำบัญชีเอกสารตามหมวดหมู่ จัดทำการอ้างอิงแหล่งที่มาของเอกสารให้ชัดเจน และทำการแปลให้เป็นภาษาทางการที่สมณกระทรวงระบุไว้ หากเป็นลายมือเขียน ก็จำเป็นต้องพิมพ์ใหม่ก่อนแล้วจึงแปล การพิมพ์ใหม่นี้ จะต้องพิมพ์ให้ตรงกับตำแหน่งเดิมของต้นฉบับเสมอ

การจัดเตรียมเอกสารทั้งหมดให้เป็นไปตามนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะเป็นเรื่องละเอียด และเอกสารก็มีจำนวนมาก

2. การเตรียมพยาน

เราได้เคยไปสัมภาษณ์พยาน รวบรวมสำนวน คำให้การต่างๆไว้ พร้อมทั้งลายเซ็น 2 ครั้งแล้ว เวลานี้เรายัง ต้องเตรียมคำให้การเพื่อให้พยานนำไปยื่นต่อศาลของอัครสังฆมณฑล เพื่อการให้การในศาลจะได้เป็นไปโดยราบรื่นที่สุด ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า คำให้การของพยานนี้จะต้องไม่มีการดัดแปลง แต่งเติม จากที่พยานเคยให้การไว้แล้วด้วย

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic60.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:41 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

🔍 การประเมินชื่อเสียงแห่งมรณสักขี (Fama Martyrii)
และความเห็นของบรรดาคริสตชน (Public Opinion)

รูปภาพ

ทางสมณกระทรวงได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก เพราะเป็นเครื่องหมายภายนอกประการหนึ่ง ที่จะให้ความมั่นใจต่อการตัดสินกรณีนี้มากขึ้น ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1996 จึงได้จัดพิมพ์หนังสือประวัติสังเขปของคุณพ่อนิโคลาส 2 ครั้ง จำนวน 10,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายให้สัตบุรุษได้อ่าน โดยส่งไปตามวัดต่างๆ และสังฆมณฑลต่างๆ พร้อมทั้งแนบแบบฟอร์มเพื่อขอทราบความคิดเห็นจากสัตบุรุษไปด้วย

วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1997 พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ออกประกาศให้ทราบถึงการดำเนินงาน และขอให้สัตบุรุษได้ร่วมกันสวดภาวนาและแสดงความคิดเห็นส่งกลับไปยังคณะกรรมการดำเนินงาน สำหรับผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือโดยการสวดภาวนาวอนขอต่อพระเป็นเจ้าโดยผ่านทางคำเสนอวิงวอนของคุณพ่อนิโคลาส ก็ขอให้เขียนเล่าเรื่องราวส่งไปยังคณะกรรมการฯ

ระหว่างปี ค.ศ. 1995-1996 ได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากสัตบุรุษทั่วไป ซึ่งมีผู้ลงชื่อสนับสนุนเป็นจำนวนประมาณ 11,500 คน จากวัดต่างๆ ในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 34 วัด

ในสังฆมณฑลอื่นๆ 700 คน จากจำนวน 14 วัด และมีหลายคนได้เล่าให้ฟังถึงการสวดภาวนาขอคุณพ่อนิโคลาสและได้รับความช่วยเหลือ ได้มีจดหมายส่งไปยังคณะกรรมการฯ ทั้งที่เป็นการแสดงความคิดเห็น 470 ฉบับ เล่าถึงการสวดภาวนาและได้รับความช่วยเหลือ 292 ฉบับ ทั้งนี้เพื่อเป็นเอกสารประกอบส่วนหนึ่งที่ต้องรวบรวมสรุปส่งไปยังคณะกรรมการที่กรุงโรม ในระหว่างนี้ได้มีการติดต่อประสานงานระหว่างกรุงเทพฯ กับคุณพ่อฟิตซ์แพทริก อย่างต่อเนื่องถึงความคืบหน้าและสิ่งที่ต้องทำเป็นระยะๆ

งานหลายๆ อย่างในเวลานี้ก็ต้องทำต่อไป เวลาเดียวกัน ผมก็ใช้เวลาช่วงนี้ในการศึกษาวิธีการและกฎระเบียบต่างๆ ของสมณกระทรวงเกี่ยวกับการดำเนินการเปิดศาล หรือกระบวนการพิจารณาระดับสังฆมณฑลอย่างละเอียด เอาคู่มือมาอ่านอยู่หลายรอบก็พอเข้าใจ แต่ก็มีข้อสงสัยเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา บังเอิญในช่วงต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1997 จะมีการเปิดศาลเพื่อพิจารณากรณีอัศจรรย์ของ แมร์ กาเมอแลง (Mre Gamelin) ที่ประเทศคานาดา ผมจะไม่พูดถึงท่านผู้นี้ เพราะจะทำให้ยาวเกินไป พระศาสนจักรคานาดาดำเนินงานเรื่องเกี่ยวกับกรณีต่างๆ ของการเป็นบุญราศีและนักบุญหลายกรณี คุณพ่อฟิตซ์แพทริกมีความเห็นว่า เราน่าจะไปสังเกตการณ์และศึกษาวิธีการพิจารณา เพร าะมีระเบียบกฎเกณฑ์อยู่มากมาย อีกทั้งเรายังไม่เคยมีประสบ- การณ์มาก่อน เมื่อครั้งดำเนินเรื่องกรณีบุญราศีทั้ง 7 ที่สองคอน ก็ยังใช้กฎหมายเก่าก่อนปี ค.ศ. 1983 อยู่ จึงไม่เหมือนกัน ในที่สุด คณะกรรมการฯ และผู้ใหญ่ก็อนุมัติให้ผมและคุณพ่อวิชา

หิรัญญการ เดินทางไปประเทศคานาดาเพื่อศึกษาวิธีการพิจารณาวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1997 ได้มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อเตรียมงานสำหรับวันเปิดศาล ณ บ้านผู้หว่าน สามพราน โดยแต่งตั้งคณะกรรมาธิกา รด้านต่างๆ ขึ้นคือ ด้านประวัติศาสตร์ , ด้านเทววิทยา , ด้านบุคลากรศาล และด้านการแปลเอกสาร เป็นต้น

วันที่ 13-23 มกราคม ค.ศ. 1998 พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธานกล่าวเปิดกระบวนการพิจารณากรณีการขอแต่งตั้ง คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นบุญราศี มีคุณพ่อวิชา หิรัญญการ ผู้อำนวยการหน่วยงานวินิจฉัยคดีของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ (ฝ่ายพระศาสนจักร) เป็นประธานการพิจารณา ได้ทำพิธีระดับท้องถิ่นขึ้น ณ บ้านผู้หว่าน สามพราน นครปฐม

เพื่อพิจารณาการสอบพยานบุคคล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตายของคุณพ่อนิโคลาส และสรุปเรื่องราวทั้งหมด ประทับตราต่อหน้าพยานและพี่น้องสัตบุรุษ และส่งมอบเอกสารให้แก่สมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบุญ โดยมีคุณพ่อเจมส์ เอ็ม ฟิตซ์แพทริก ผู้ดำเนินเรื่องที่กรุงโรม ซึ่งได้เดินทางมาร่วมในพิธีดังกล่าวเป็นผู้รับมอบ

ได้เชิญพยานบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณพ่อนิโคลาสมาสอบถาม เช่น คนที่เคยติดคุกพร้อมกับท่าน , คนที่เคยทำงานร่วมกับท่านในช่วงสุดท้ายของชีวิต รวมทั้งญาติพี่น้องของคุณพ่อ พร้อมทั้งต้องแปลเอกสารเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษให้ทัน เพื่อจะได้ส่งมอบอย่างเป็นทางการในวันสุดท้ายตามที่กำหนดคือวันปิดกระบวนการพิจารณา

หลังจากทำพิธีส่งมอบเอกสารดังกล่าวแล้ว ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการทำงานในส่วนของพระศาสนจักรท้องถิ่นในประเทศไทย คณะกรรมการที่กรุงโรม หลังจากได้รับเรื่องแล้ว ได้ดำเนินเรื่องนี้ ซึ่งนับว่าเร็วมากเพียงประมาณ 21 เดือนกว่าๆ เท่านั้น

วันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1998 สมณกระทรวงออกกฤษฎีการับรองความถูกต้องของเอกสาร และกระบวนการพิจารณาที่กระทำขึ้น

ขั้นต่อไปที่สำคัญมากอีกขั้นหนึ่ง ได้แก่ การเขียนและส่ง "Positio" ซึ่งเป็นงานศึกษาชีวิตและวีรกรรมของคุณพ่อนิโคลาสเชิงวิชาการ การเขียนหนังสือเล่มนี้ต้องเขียนโดยใช้ระเบียบและวิธีการของสมณกระทรวง ทั้งนี้เพื่อมอ บงานเขียนนี้แก่บรรดาสมาชิกของคณะกรรมการตรวจสอบทางด้านเทววิทยาของสมณกระทรวง พวกเราได้เตรียมงานเขียนนี้นานพอสมควร และที่สุดก็เดินทางไปกรุงโรมเพื่อจัดพิมพ์และส่งมอบงานเขียนนี้แก่สมณกระทรวงเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1999

จากนี้ไปเราก็ได้แต่ภาวนาและรอคอยการพิจารณาตัดสินจากสมณกระทรวง

วันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1999 เป็นวันที่เรารอคอยด้วยความตื่นเต้น เพราะเป็นวันที่บรรดานักเทววิทยาของส มณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบุญลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า มรณกรรมของคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นมรณสักขี และเวลาประมาณ 17:00 น. (เวลาท้องถิ่น) ในวันเดียวกัน ก็ได้รับโทรสารจากกรุงโรมแจ้งว่า บรรดานักเทววิทยาของสมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบุญได้พิจารณาด้วยมติเป็นเอกฉันท์ว่า การมรณภาพของคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นการมรณภาพโดยมีสาเหตุมาจากความเชื่อแบบมรณสักขี (Martyr) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะทำให้ก ารเป็นบุญราศีของคุณพ่อนิโคลาสมีความเป็นไปได้มาก นั่นก็หมายความว่ากรณีนี้หมดข้อสงสัยโดยสิ้นเชิง จะรอคอยก็แต่การประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้น คุณพ่อฟิตซ์แพรทริกก็กระซิบมาด้วยว่า ปกติจะมีการอ่านกฤษฎีกาเกี่ยวกับบุญราศีและนักบุญประมาณก่อนวันพระคริสตสมภพ ผมก็เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะถึงวันพระคริสตสมภพสักที วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1999 ก็มีการอ่านกฤษฎีกาจริงๆ แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบชื่อของคุณพ่อนิโคลาสเลย ทำเอาผมผิดหวังอยู่มิใช่น้อย

วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ประกาศเรื่องนี้ให้คณะสงฆ์ได้ทราบอย่างเป็นทางการ ในโอกาสฟื้นฟูจิตใจ ณ บ้านผู้หว่าน สามพราน นครปฐม และขอให้สัตบุรุษช่วยกันสวดภาวนาต่อไป เพื่อให้การดำเนินการประกาศเป็นบุญราศีได้เรียบร้อย

วันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 คุณพ่อจำเนียร กิจเจริญ ได้นัดประชุมคณะกรรมการฯ

ณ สำนักมิสซัง เนื่องจากคุณพ่อฟิตซ์แพทริกเดินทางผ่านมาที่กรุงเทพฯ และเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อรายงานให้ทราบถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการที่กรุงโรม หลังจากที่ได้ตัดสินว่ากรณีของคุณพ่อนิโคลาสเป็นการตายอย่างมรณสักขี

คุณพ่อฟิตซ์แพทริกได้แนะนำให้ทราบถึงเรื่องที่จะต้องมีการประกาศในกฤษฎีกา (Decree) โดยสมเด็จพระสันตะปาปา จึงจะถือว่าถูกต้อง ซึ่งคาดว่าจะเป็นประมาณต้นปี ค.ศ. 2000 และจะมีการฉลองหรือการสถาปนาตามที่ได้กำหนดไว้ตามปฏิทินปีศักดิ์สิทธิ์ที่กรุงโรม วันที่ 5 มีนาคม, วันที่ 29 กันยายน และวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2000 พร้อมทั้งได้แนะนำสิ่งที่ต้องเตรียมล่วงหน้าเพื่อความเรียบร้อย ถ้ามีการประกาศขึ้น เช่น การเปิดหลุมศพซึ่งสามารถกระทำได้แล้ว แต่ก่อนที่จะดำเนินการขณะที่ดำเนินเรื่อง มีกฎว่าห้ามแตะต้องหรือเปลี่ยนปลงใดๆ ทั้งสิ้น

มิฉะนั้น จะทำให้การดำเนินเรื่องเป็นโมฆะ ให้พิมพ์ประวัติสั้นๆ ของคุณพ่อนิโคลาสเพื่อนำไปจัดพิมพ์ในหนังสือพิธีกรรมที่จะใช้ในพิธีวันสถาปนาที่กรุงโรม รวมทั้งจัดทำรูปขนาดใหญ่ของคุณพ่อนิโคลาสเพื่อใช้ในวันพิธีด้วย
ทำให้คณะกรรมการของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เริ่มพิจารณากันถึงสิ่งที่ต้องเตรียมล่วงหน้า โดยเฉพาะเกี่ยวกับกรณีการเปิดหลุมศพของคุณพ่อ ซึ่งต้องมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนายแพทย์ 3 นาย ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงกระดูก ลักษณะของโลงศพที่จะใช้บรรจุ และสถานที่ตั้งชั่วคราวและถาวร เหล่านี้เป็นต้น จัดพิมพ์หนังสือพิธีกรรมที่จะใช้ที่กรุงโรม รูปขนาดใหญ่ที่จะใช้วันงาน ตลอดจนการจัดเตรียมที่ใส่พระธาตุ รูปที่จะพิมพ์ ของที่ระลึก ฯลฯ นับว่าการประชุมครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงความน่าจะเป็นไปได้มีค่อนข้างมาก ความฝันใกล้เป็นความจริง

วันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2000 พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้อนุมัติให้เปิดหลุมศพของคุณพ่อนิโคลาส ภายในสุสาน อุโมงค์ใต้พระแท่นอาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก เวลาประมาณ 9:00 น. พระคาร์ดินัลได้ประกอบวจนพิธีกรรม ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการตามกฎหมายพระศาสนจักร ฝ่ายพระศาสนจักร ฝ่ายนายแพทย์ ได้แก่ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน , นายแพทย์ฤทธิไกร อัครสกุล และนายแพทย์ธานินทร์ สันธนะวนิช เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกระดูก เจ้าหน้าที่จากบริษัทมรดกโลก เจ้าหน้าที่บริษัทสันติพิทักษ์ และบริษัท ช. นนทชัย พระสงฆ์ นักบวช และฆราวาสจำนวนหนึ่งที่มีความเคารพรักต่อคุณพ่อ บางคนก็อยากมาสวดขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อ เสร็จแล้วนำกระดูกของคุณพ่อบรรจุไว้ในโลง และย้ายขึ้นมาไว้ภายในอาสนวิหารอัสสัมชัญ ทางด้านซ้ายมือ เพื่อสะดวกสำหรับคนที่จะมาสวดภาวนา และกระดูกบางส่วนที่จะบรรจุเป็นพระธาตุถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปา และสมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบุญ การดำเนินงานนี้ได้มีการบันทึกเป็นวิดีโอและภาพถ่ายตลอดทุกขั้นตอน

ประมาณกลางเดือนมกราคม ค.ศ. 2000 ก็มีข่าวมาจากกรุงโรมว่าจะมีการอ่านกฤษฎีกาประกาศให้คุณพ่อนิโคลาสเป็นบุญราศี การอ่านนี้จะทำเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระสันะตะปาปาในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2000 คุณพ่อฟิตซ์แพทริกก็ส่งข่าวมาอีกว่า น่าจะมีใครสักคนไปร่วมฟังการอ่านกฤษฎีกาในครั้งนี้ด้วย คณะกรรมการของเราก็เห็นด้วย จึงตกลงให้คุณพ่อทวีศักดิ์ กิจเจริญ เป็นผู้แทนเดินทางไปร่วมฟังการอ่านกฤษฎีกาในครั้งนี้

วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2000 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ประกาศในกฤษฎีกา ให้คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นบุญราศี โดยพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้มอบหมายให้คุณพ่อทวีศักดิ์ กิจเจริญ กรรมการผู้หนึ่งซึ่งดำเนินงานกรณีคุณพ่อนิโคลาส เดินทางไปฟังและติดตามการประกาศครั้งนี้ที่กรุงโรมด้วย สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกาศเมื่อเวลา 11:00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) และทันทีที่ทราบผลคุณพ่อทวีศักดิ์ก็ได้โทรศัพท์กลับมายังประเทศไทย เพื่อเรียนให้พระคาร์ดินัลได้ทราบ และพระคุณเจ้าได้ประกาศให้คณะสงฆ์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

ได้ทราบในเย็นวันที่ 27 มกราคม เวลาประมาณ 20:00 น. เศษ (เวลาในประเทศไทย) วันเดียวกัน ณ บ้านผู้หว่าน สามพราน นครปฐม

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เชิญประชุมกรณีพิเศษ
คณะกรรมการที่ปรึกษา สมาชิกสภาสงฆ์ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการดำเนินงานกรณีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เพื่อเตรียมงานทั่วๆไป โดยเฉพาะสำหรับการสถาปนาที่กรุงโรมวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2000 ได้กำหนดให้ใช้ชื่อว่า "บุญราศี นิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุงพระสงฆ์และมรณสักขี”

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic61.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:42 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

⚰️ รายงานการเคลื่อนย้ายศพ คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง

รูปภาพ

กำหนดการพิธีการเปิดหลุมศพคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง

วันพุธที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2000 ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก

08:30 น. เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาพร้อมกัน ณ ที่บรรจุศพใต้พระแท่น ภายในอาสนวิหารอัสสัมชัญ

09:00-09:15 น.วจนพิธีกรรม

09:15-10:45 น. เจ้าหน้าที่เปิดฝาช่องบรรจุศพ
แพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสภาพภายในช่องบรรจุศพ

ตรวจสอบสภาพโลงศพ เคลื่อนย้ายโลงศพออกมาจากช่องบรรจุศพ

ตรวจสอบสภาพศพ และบันทึกหลักฐานที่พบในโลงศพ

10:45-12:00 น. ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงกระดูกและนักโบราณคดีบันทึกข้อมูล

และทำความสะอาดกระดูก

12:00-13:00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน

13:00-15:00 น. ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงกระดูกและนักโบราณคดีทำความสะอาด และอนุรักษ์โครงกระดูก

15:00-16:00 น. นำกระดูกที่อนุรักษ์แล้ว มาเรียงในโลงที่เตรียมไว้ตามลักษณะทางกายภาพ

16:00-17:00 น. เคลื่อนย้ายโลงศพไปยังที่บรรจุศพแห่งใหม่

สภาพก่อนเปิดช่องบรรจุศพ

ศพคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ได้รับการเก็บรักษาไว้ในช่องบรรจุศพของอาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ด้านหน้าของช่องบรรจุศพมีป้ายหินอ่อน สลักชื่อและประวัติย่อเป็นภาษาลาติน ดังนี้

Nicolaus Kitbamrung
Natus 28 Febr. 1895
Sacerdos 24 Jan. 1926
Def. 12 Jan. 1944
in carcere Propter
Fidem

ขนาดป้ายกว้าง 40 x 31 ซม. ลักษณะเป็นหินอ่อนสีขาวเทา มีกรอบนอกเป็นกรอบไม้ สภาพโดยทั่วไปถูกปลวกกัดกินส่วนที่เป็นไม้เกือบหมด

เริ่มพิธีการเวลาประมาณ 9:00 น.

หลังจากเสร็จวจนพิธีกรรม เจ้าหน้าที่เริ่มสกัดซีเมนต์ที่ปิดหลุมศพออก โดยใช้เครื่องมือตัด เมื่อกะเทาะแผ่นหินอ่อนออกแล้ว จึงสกัดผนังอิฐฉาบปูนที่ปิดหลุมศพออก ซึ่งมีขนาดกว้าง 79 ซม. สูง 52 ซม. ลึกประมาณ 2.00 เมตร เมื่อนำอิฐออก จึงเห็นสภาพโลงศพ สภาพของโลงศพของคุณพ่อนิโคลาส จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า สภาพโลงศพถูกปลวกกัดกินเสียหายมาก ฝาโลงศพซึ่งมีสภาพเสียหายมากยุบลงมาทับโครงกระดูกไว้ทั้งหมด ฝาโลงด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ถูกปลวกกัดกินอยู่ในสภาพที่เสียหายมากเช่นกัน และหล่นมาทับกระดูกไว้เช่นเดียวกัน จนไม่สามารถบอกลักษณะโครงกระดูกของคุณพ่อได้ หลังจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการยกแผ่นฝาโลงขึ้น จึงเห็นสภาพศพของคุณพ่อ ซึ่งในเวลานี้เหลือเพียงโครงกระดูกเท่านั้น เนื่องจากกระดูกเกือบทุกส่วนถูกปกคลุมด้วยดินปลวก และเศษไม้โลงศพ จึงจำเป็นต้องทำความสะอาดโดยใช้แปรงเล็กๆ เขี่ยเอาดินออก โดยเริ่มจากบริเวณด้านนอกก่อน ในขั้นแรกของการทำความสะอาดนั้น พบเส้นผมสีน้ำตาลเข้ม เส้นตรง สั้น จำนวนหนึ่ง ได้เก็บใส่กล่องแยกไว้ เมื่อใช้แปรงปัดทำความสะอาดลึกเข้าไป พบกะโหลกศีรษะส่วนหน้าผาก (Frontal Bone) ซึ่งถูกฝาโลงทับจนแตกละเอียด ส่วนอื่นๆ

ที่พบได้แก่ กระดูกข้างศีรษะ (Parietal Bone) กระดูกขมับ (Temporal Bone) กระดูกท้ายทอย (Occipital Bone) และบางส่วนของกระดูกโคนลิ้น (Hyoid Bone) กระดูกส่วนที่พบนั้นมีสภาพที่เปื่อยยุ่ยมากเนื่องจากความชิ้นภายในโลงศพ นำกระดูกออกจากโลงศพโดยนำมาวางไว้บนภาชนะที่จัดเตรียมไว้บริเวณด้านหน้าแท่นบรรจุศพ หลังจากนำกระดูกส่วนที่เป็นกะโหลกศีรษะออกแล้ว จึงนำกระดูกส่วนต่างๆ ที่อยู่ใกล้ที่สุดออกจากโลงศพ ซึ่งได้แก่ กระดูกส่วนบนบางส่วน

ขณะที่ทำความสะอาดนั้น พบโบราณวัตถุซี่งทำจากวัสดุประเภทโลหะกลมแบน มีคราบสนิมสีเขียวจับอยู่ ลักษณะเป็นห่วงกลมอยู่ 3 มุม (ประตูสวรรค์) สำหรับใช้ในสายประคำ จำนวน 1 ชิ้น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.9 ซม. วางอยู่บริเวณไหล่ข้างขวา นำออกมาและเก็บใส่กล่องแยกต่างหาก เมื่อทำความสะอาดจนถึงพื้นโลงศพแล้ว จึงเปลี่ยนวิธีเก็บกระดูกโดยใช้ไม้อัดสอดเข้าไปใต้พื้นโลงศพ แล้วดึงโลงศพออกมาวางไว้ยังแท่นที่จัดเตรียมไว้ด้านนอก ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ได้เข้าไปตรวจสอบสภาพโครงกระดูก สภาพที่ปรากฏแก่สายตาสักขีพยาน คือ สภาพของดินปลวก และเศษไม้โลงศพที่ปกคลุมโครงกระดูกไว้จนแทบมองไม่เห็นชิ้นส่วนของกระดูก

หลังจากถ่ายภาพและบันทึกแล้ว ผู้วิเคราะห์จึงได้ดำเนินการเก็บกระดูก โดยใช้แปรงเล็กๆ ปัดทำความสะอาดกระดูกจนเห็นกระดูกทั้งชิ้น จึงหยิบออกมาวางไว้ยังแท่นที่จัดเตรียมไว้ โดยเริ่มจากกระดูกส่วนบน (Upper Part) ก่อน ได้แก่ กระดูกต้นแขน (Humerus) ทั้ง 2 ข้าง กระดูกซี่โครง (Ribs) กระดูกสันหลัง (Vertaebrae) กระดูกกระเบนเหน็บ (Sacrum) กระดูกก้นกบ (Coccyx) กระดูกมือ (Hand Bone) กระดูกส่วนล่าง (Lower Part) ได้แก่ กระดูกสะโพก (Hip Bone) ข้างขวา พบเศษโลหะลักษณะเป็นแท่งยาวประมาณ 1.4 ซม. มีคราบสนิมสีเขียวเกาะอยู่ บนกระดูกต้นขา (Femur) ข้างขวา พบไม้กางเขนทำจากวัสดุประเภทโลหะ ยาว 3.6 ซม. ส่วนกากบาทกว้าง 2.9 ซม. ด้านหน้าเป็นรูปพระเยซูตรึงกางเขน ด้านหลังเป็นสนิมจับ ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้

มีห่วงกลมที่ส่วนบนสำหรับคล้องสร้อย จำนวน 1 ชิ้น กระดูกปลายขา (Tibia & Fibula) กระดูกสะบ้า (Patella) กระดูกเท้า (Foot Bone)

จากการตรวจสอบสภาพกระดูกเบื้องต้นพบว่า กระดูกทั้งหมดมีสภาพเปื่อยยุ่ยเปราะบางมาก และกระดูกบาง เช่น กระดูกซี่โครง กระดูกขนาดเล็ก ได้แก่ กระดูกนิ้วมือ นิ้วเท้า แตกหักเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นปล่อยกระดูกให้ได้รับอากาศไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้กระดูกแห้ง

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic62.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:42 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

💀 ขั้นตอนในการอนุรักษ์โครงกระดูก วัสดุ และอุปกรณ์

รูปภาพ

1.แอลกอฮอล์
2.น้ำสะอาด
3.สำลี ผ้าเช็ดมือสีขาว
4.แปรงทำความสะอาดขนาดเล็ก
5.ถุงมือยาง ถุงมือผ้า
6.น้ำยาเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กระดูก Primal AC - 61
7.เครื่องมือแต่งกระดูก
8.กาว กระดาษกาว เทปกาว
9.ถุงพลาสติก
10.กล่องพลาสติก การ์ดรายละเอียดโบราณวัตถุ
11.ปากกาเคมี

หลังจากกระดูกแห้งและแข็งแกร่งแล้ว เตรียมผสมแอลกอฮอล์ในอัตรา 1:2 จากนั้นนำกระดูกมาทำความสะอาด โดยในขั้นแรกใช้แปรงขนาดเล็กปัดฝุ่นและดินออกจากกระดูก จากนั้นจึงนำกระดูกมาเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ที่เตรียมไว้ ตากให้แห้ง ดำเนินการเช่นนี้กับกระดูกทุกส่วน ยกเว้นกะโหลกศีรษะซึ่งตรวจพบว่าที่กระดูกข้างศีรษะ (Parietal Bone) และกระดูกท้ายทอย (Occipital Bone) มีเส้นผมติดอยู่ จึงดำเนินการทำความสะอาด โดยปัดฝุ่นที่ติดอยู่ออก และทำความสะอาดบริเวณที่ไม่มีเส้นผม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเก็บรักษาเส้นผมไว้ และจะใช้น้ำยาเคลือบอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จึงทำการผสมน้ำยาในการเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับกระดูก (Consolidation) โดยใช้สารละลาย Primal AC-61 ซึ่งเป็น Acrylic Solution ชนิดหนึ่ง

ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กระดูก สารเคมีชนิดนี้เมื่อแห้งลงจะแข็งตัวเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ เคลือบอยู่บนกระดูก และภายในรูพรุนของกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น โดยมีขั้นตอนคือ ละลายสารละลายความเข้มข้น 5% ทาเคลือบบนกระดูก ทาเคลือบทับหลายๆ ครั้ง จากนั้นปล่อยให้กระดูกซึ่งเคลือบน้ำยาแล้วแห้งสนิท ซึ่งวิธีนี้เป็นการอนุรักษ์กระดูกไว้ได้ในระดับหนึ่ง

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic63.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:43 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

🗃 รายละเอียดโครงกระดูกที่พบ

รูปภาพ

นำกระดูกที่แห้งแล้วมาจำแนกประเภทของกระดูกได้ดังนี้

+ กระดูกส่วนบน (Upper Part)
1. Cranial กระดูก Frontal Bone แตกละเอียด ส่วนที่เป็นชิ้นใหญ่ได้แก่ กระดูกข้างศีรษะ (Parietal bone) กระดูกขมับ (Temporal bone) กระดูกท้ายทอย (Occipital bone) พบว่าบริเวณกระดูกข้างศีรษะและกระดูกท้ายทอย

ยังคงมีเส้นผมติดอยู่ จึงทำการอนุรักษ์ไว้โดยใช้น้ำยาเคมีทาเคลือบทับบนบริเวณนั้น

2. Maxilla แตกเป็น 2 ชิ้น ฟันยังคงติดอยู่กับกระดูก Maxilla ฟันที่พบได้แก่ Central incisors 2 ซี่ Iateral incisors 2 ซี่ Pre molars 4 ซี่ Molar 4 ซี่ ยกเว้น Molar ซี่ที่ 3 ซึ่งหลุดไปตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่

3. Mandible สมบูรณ์ ฟันส่วนใหญ่หลุดออกมาจากเบ้าฟัน

4. Cervical สมบูรณ์ ครบ 7 ชิ้น ชิ้นที่ 4 แตกเล็กน้อย

5. Thoracic สภาพสมบูรณ์ ไม่ครบ มีเพียง 11 ชิ้น

6. Lumbar สมบูรณ์ ครบ 5 ชิ้น

7. Sacrum & Coccyx สมบูรณ์

8. Sternum พบเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ของ Body

9. Ribs แตกเป็นชิ้นเล็กๆ

10. Clavicle สมบูรณ์ทั้ง 2 ชิ้น

11. Scapula ข้างขวาสมบูรณ์ ข้างซ้ายแตกบริเวณ Corocoid

12. Humerus สมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง

13. Ulna & Raduisสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง

14. Hand Bone จำนวนไม่ครบ ทั้งกระดูกข้อมือ (Carpal bone) และกระดูกฝ่ามือ (Metacarpal bone) กระดูกนิ้วมือไม่ครบ

+ กระดูกส่วนล่าง (Lower Part)
1. Clavicle ข้างขวาแตกบริเวณ Pubic bone ข้างซ้ายสมบูรณ์

2. Patella สมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง

3. Femur สมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง

4. Tibia & Fibula ข้างขวาบริเวณ Distal end แตก ข้างซ้ายสมบูรณ์

5. Foot Bone กระดูกข้อเท้า (Tarsal Bone) ครบทั้ง 2 ข้าง กระดูกฝ่าเท้า (Metatarsal Bone) ไม่ครบ กระดูกนิ้วเท้าไม่ครบ

+ บรรจุกระดูกลงในหีบ

นำกระดูกที่แห้งแล้วมาจัดวางเรียงลงในหีบที่จัดเตรียมไว้ ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและสำคัญมาก เนื่องจากกระดูกที่นำมาทำความสะอาดและอนุรักษ์นั้น นำมาวางรวมกันไว้ ดังนั้น เมื่อจะนำมาบรรจุลงในหีบ จึงต้องมีการ จำแนกตำแหน่งของกระดูก กระดูกข้างซ้าย หรือข้างขวา กระดูกข้อมือ กระดูกฝ่ามือ กระดูกข้อเท้า กระดูกฝ่าเท้า กระดูกสันหลังชิ้นไหน ส่วนไหน และต้องวางให้ถูกต้องตามตำแหน่งด้วยเช่น ต้นคอ (Cervical) หลัง (Thoracic) หรือเอว (Lumbar) เป็นต้น หลังจากจัดเรียงกระดูกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ดำเนินการคัดเลือกกระดูกแต่ละส่วนของร่างกาย นำมาบรรจุไว้ในผอบจำนวน 3 ใบ และบรรจุไว้ในกล่องสแตนเลสอีก 1 ใบหลังจากนั้น ได้อัญเชิญหีบศพขึ้นไปบรรจุในโลงแก้ว ภายในโบสถ์ เพื่อให้คริสตชนมาสวดภาวนา

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic64.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:43 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

✝️ ศาสนภัณฑ์และวัตถุที่พบร่วมกับโครงกระดูก

รูปภาพ

1. ไม้กางเขน ยาว 3.6 ซม. ส่วนกางเขนกว้าง 2.9 ซม. ด้านหน้าเป็นรูปพระเยซูถูกตรึงกางเขน
มีห่วงกลมที่ส่วนบนสำหรับคล้องสายสร้อย จำนวน 1 ชิ้น พบบริเวณต้นขาขวาของโครงกระดูก สภาพเป็นสนิมสีเขียว

2. ประตูสวรรค์ ลักษณะเป็นแผ่นโลหะกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.9 ซม. มีห่วงกลมอยู่
3 มุม สำหรับคล้องสายสร้อย จำนวน 1 ชิ้น พบบริเวณไหล่ขวา สภาพเป็นสนิมสีเขียว

3. เศษโลหะ ลักษณะเป็นแท่งโลหะยาว 1.4 ซม. จำนวน 1 ชิ้น พบบริเวณเหนือกระดูกเชิงกรานด้านขวา สภาพเป็นสนิม

4. หมาก ลักษณะเป็นผลหมาก (พลู) กลม สีดำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.6 ซม. และเศษหมากอีกเล็กน้อย พบบริเวณกะโหลก

5. เศษผ้าและเศษเชือก ลักษณะเป็นเศษเชือกเส้นเล็ก ถักเกลียว ส่วนเศษผ้าเป็นเศษชิ้นเล็กๆ ไม่สามารถสันนิษฐานสีเดิมของผ้าได้ เนื่องจากสภาพเปื่อยยุ่ยมาก

6. ตะปู เป็นตะปูขนาด 3 นิ้ว มีเศษไม้ของหีบศพติดอยู่บ้าง จำนวน 21 ตัว สภาพเป็นสนิม
ทุกตัว

7. เศษรากไม้ เศษใบไม้ พบจำนวนเล็กน้อยปะปนกับดินในหีบศพ เนื่องจากการฝังศพครั้งแรกนั้น ศพถูกฝังในดินโดยไม่มีการบรรจุหีบ เมื่อขุดขึ้นมาใส่โลง จึงยังมีเศษดินปนมาด้วย

8. เศษกระเบื้อง ลักษณะเป็นชิ้นส่วนของกระถางต้นไม้ ขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าปะปนมากับดินในการฝังครั้งแรก

9. เศษไม้หีบบรรจุศพ เป็นหีบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 34 ซม. ยาวประมาณ 1.70 เมตร
สูง 16 ซม. สภาพผุเปื่อยมาก เนื่องจากมีปลวกกัดกิน และมีความชื้นภายในช่องบรรจุมาก

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic65.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:44 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

🪦 เหตุการณ์การเปิดหลุมศพของคุณพ่อนิโคลาส

รูปภาพ

ในวันพุธที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2000 ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ มีการเปิดหลุมศพและเก็บกระดูกของคุณพ่อนิโคลาส งานนี้ไม่มีการประกาศ ตั้งใจจะเป็นงานเล็กๆ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น บังเอิญพ่อมีโอกาสไปอยู่ในงานนี้ด้วย คือมีคนเรียกตัวให้ไปช่วยถ่ายภาพประเภทขาว-ดำ การเก็บกระดูกนี้จะเก็บไว้ในโลงไม้ที่มีโลงสแตนเลสเป็นโครงอยู่ด้านในอีกชั้นหนึ่ง และตั้งไว้ที่ด้านซ้ายภายในวัดอัสสัมชัญ กระดูกอีกส่วนหนึ่งก็ใส่กล่องสแตนเลสกลมและวางลงไว้ในผอบเบญจรงค์บบไทยๆ ที่ข้างๆ ผอบมีรูปคุณพ่อนิโคลาส มีทั้งหมด 3 ผอบ และ 1 กล่องสแตนเลส ทั้งนี้นอกจากจะเก็บไว้ที่ประเทศไทยแล้ว ยังต้องส่งบางส่วนไปที่โรมด้วย

พิธีการเริ่มเวลา 09:00 น. โดยมีพระคาร์ดินัล และพระสงฆ์ที่สนใจและมีหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นสักขีพยาน รวมทั้งบรรดานักบวชและสัตบุรุษลงไปพร้อมกันที่ใต้ถุนใต้พระแท่นวัดอัสสัมชัญ อันเป็นที่ฝังศพของบรรดาพระสังฆราช และพระสงฆ์ทั้งไทยและเทศหลายองค์ และแน่นอนในจำนวนนั้นมีคุณพ่อนิโคลาสด้วย ศพของคุณพ่อนิโคลาสอยู่ด้านซ้ายของกำแพง เป็นช่องใส่โลงศพเข้าไปเป็นช่องเล็กๆ พอวางโลงศพเท่านั้น อยู่แถวบนศพที่ 2 มีป้ายหินอ่อนสี่เหลี่ยมสลักชื่อและวันเดือนปีเกิด บวช และตายของคุณพ่อกำกับไว้ พิธีเริ่มด้วยวจนพิธีกรรมสั้นๆ นำโดยพระคาร์ดินัล

ต่อหน้ารูปวาดใหญ่ของคุณพ่อนิโคลาส มีแท่นปูผ้าขาวเล็กๆ อยู่ข้างหน้าพร้อมกับเทียน กางเขน และน้ำเสก พอวจนพิธีกรรมเสร็จ ช่างก็เริ่มใช้เครื่องขัดไฟฟ้าเล็กๆ สกัดผิวปูนออก เอาแผ่นหินอ่อนออกจากกำแพง เปิดช่องก็พบอิฐก่อปูนเป็นกำแพง ในขณะที่เริ่มสกัดปูนที่ผนังกำแพงนี้ ฝุ่นผงสีขาวจากกำแพงก็ฟุ้งตลบอบอวลอยู่ภายในใต้ถุนเพดานเตี้ยๆนี้ จนว่าแทบมองอะไรไม่เห็น มีพัดลมกี่ตัวก็เปิดไล่ฝุ่นกันพัลวัน แต่ฝุ่นก็ไม่ไปไหน คงอบอวลอยู่เต็มพื้น เต็มผมของคน หลายคนหลบออกไปข้างนอกเพราะทนไม่ไหว แต่ก็ยังมีหลายคนทนปิดจมูกจากฝุ่นผงปูนอยู่อย่างนั้น พ่อเก็บภาพขาว-ดำ ด้วยกล้องออโตเมติกยี่ห้อโรลไล ท่ามกลางฝุ่นผงจนพอใจ จึงหนีออกไปหายใจข้างนอก

สักพัก แล้วจึงกลับเข้ามาใหม่ ด้านนอกห้องใต้ดินบริเวณหน้าพระแท่น มีสมุดให้ทุกคนที่มาได้เซ็นชื่อ และทุกคนที่มาได้รับเชิญให้เซ็นชื่อไว้เป็นพยานว่า ได้มารับรู้รับเห็นการเปิดศพของคุณพ่อนิโคลาส แต่ผู้ที่ต้องเซ็นในเอกสารสำคัญได้แก่ นายแพทย์ 3 ท่าน ที่เชิญมาจากโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ซึ่งก็รวมทั้งนายแพทย์บุญสม มาร์ติน ด้วย นอกนั้นยังต้องมีพยานฝ่ายพระศาสนจักรคือ คุณพ่อของเราบางคนที่เกี่ยวข้อง ส่วนพระคาร์ดินัลและอาจารย์นักโบราณคดีอีก 1 ทีม มีการบันทึกวิดีทัศน์ และภาพถ่ายทุกขั้นตอนเป็นหลักฐาน ทางกรุงโรมมีกฎว่าจะต้องเปิดหลุมศพและเก็บกระดูกและอื่นๆ ในโลงศพให้เสร็จอย่างต่อเนื่อง ห้ามเว้นวรรคเป็นวันๆ ทุกอย่างจะได้เป็นจริง ไม่มีการเสริมเติมแต่งวัตถุใดๆ หรือเรื่องใดๆ เป็นอันขาด พ่อได้เซ็นชื่อพร้อมกับคนอื่นๆ ที่มาคือเซ็นชื่อและเขียนชื่อด้วยตัวบรรจง (รวม 2 ช่อง) ส่วนช่องที่ 3 เป็นช่องที่ต้องเขียนว่า "ในนามของ..." พ่อก็ใส่ลงไปโดยไม่ต้องคิดเลยว่า "ในนามของสัตบุรุษวัดนักบุญเทเรซา หน้าโคก และพระชนนีฯรังสิต" ทั้งนี้ก็เพราะพ่อไม่เห็นใครมาจากหน้าโคกและรังสิตเลย ก็เลยถือว่าตัวเองเป็นตัวแทนทั้ง 2 วัด พี่น้องจากทั้ง 2 วัดที่พ่อเพิ่งผ่านชีวิตมาหมาดๆ ทั้ง 2 วัด ถือว่ามีส่วนในวันนี้ คือวันที่เขาเก็บกระดูกของคุณพ่อนิโคลาส 12 มกราคม ค.ศ. 2000 ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ

พอสกัดปูนออกหมด และสกัดอิฐแดงก่อปูนออกมาหมด ก็เผยให้เห็นโลงศพของคุณพ่อนิโคลาสในทันที กล้องทุกชนิดก็ระดมถ่ายขณะนี้ไว้มากมาย ภาพที่ปรากฏแก่สายตาก็คือ โลงไม้เก่าผุพังจนเกือบหมด ไม่เป็นรูปของโลงศพเลย ผนังโลงก็เหลือเตี้ยๆ ฝาโลงก็พังยุบลงมาปิดร่างผู้ตายจนมองศพไม่เห็น เหมือนไม่มีศพอยู่ในนั้น หมอและทีมนักโบราณคดีชะโงกเข้าไปดู แล้วบอกตรงกันว่าศีรษะอยู่ด้านนอกนี้เอง ส่วนเท้าอยู่ด้านในโน้น ที่ปลายโลง (ด้านเท้า) มีจอมปลวกสีน้ำตาลไหม้ขนาดเล็กๆ ก่อตัวอยู่ 1 กอง แต่ไม่เห็นตัวปลวก ทีมโบราณคดีซึ่งเป็นหญิง 2 คน ชาย 2 คน เริ่มตักส่วนศีรษะออกมาวางไว้ในรางสแตนเลสยาวรองด้วยผ้าขาวบาง ปรากฏว่าศีรษะมีส่วนของกะโหลกอยู่ 2 แผ่นใหญ่เท่านั้น นอกนั้นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแบบเศษกระจกแตกละเอียด

ขากรรไกรด้านล่างหลุดจากกะโหลก มีฟันติดอยู่ 5-6 ซี่ ฟันที่เหลือตกอยู่ที่พื้นโลง ขากรรไกรด้านบนหักเป็น 2 ชิ้น (หักกลาง) แต่ฟันติดอยู่ครบ แผ่นกะโหลกใหญ่ 2 แผ่น มีหนังศีรษะบางๆ ติดอยู่มีเส้นผมน้อยมาก ด้านในของชิ้นกะโหลก 1 ใน 2 มีลายของมันสมองเห็นได้ชัดเจน มีสิ่งแปลกอยู่สิ่งหนึ่งพบบริเวณกะโหลก นั่นคือมีหมากอยู่ 1 ผล เปลือกของมันยังดีอยู่ครึ่งเดียว พร้อมกับห่อหุ้มไส้ในของหมากที่ยังคงสภาพเป็นเม็ดกลมไว้อย่างดี ไม่ทราบว่าเข้ามาอยู่บริเวณศีรษะได้อย่างไร บ้างก็เดาว่าคงมีคนในยุคนั้นใส่ไว้ให้ตามธรรมเนียม หรือไม่ก็อมไว้ในปาก จึงอยู่ในสภาพดี สิ่งที่แปลกอีกอย่างเกี่ยวกับกระดูกกะโหลกก็คือ ทุกส่วนของกะโหลกมีคราบสีเงินส่องประกายแวววาวทุกชิ้น เหมือนกับคราบของสารละลายที่เป็นเกลือเกาะเป็นคราบยังไงยังงั้น ไม่มีใครอธิบายได้ต่อจากนั้นก็พบประตูสวรรค์อันเป็นส่วนแยกของสายประคำนั่นเอง เป็นอันเล็กๆ เป็นโลหะที่เกิดอ๊อกซิเดชั่นจนเป็นสนิมเขียว สายโลหะของประคำไม่มี (คงเป็นสายเชือก) และเม็ดลูกประคำก็ไม่มีเลย (คงผุพังไปหมดแล้ว) เขาเริ่มเก็บกระดูกไหปลาร้าออกมา 2 อัน, สะบักไหล่ 2 อัน , แขนส่วนบน 2 อัน และแขนส่วนล่าง 4 อัน , กระดูกต้นคอ 7 ชิ้น พอถึงตรงนี้ ทีมโบราณคดีหันมาบอกว่า แปลกจังทำไมกระดูกสะบ้าและขาจึงมาอยู่รวมกันที่กลางตัว อยู่ปนกับกระดูกซี่โครงและกระดูกสันหลัง แล้วเขาค่อยๆ เก็บกระดูกซี่โครงออกมาก่อน มาถึงตอนนี้ต้องหยุดเพื่อหาวิธีเลื่อนโลงศพออกมาจากช่อง เพราะยื่นลำตัวเข้าไปไม่ได้แล้ว เพราะลึกเกินไปและแคบ จึงเอาไม้อัดตัดเป็นแผ่นยาวๆ ให้กว้างกว่าขนาดของโลงศพเล็กน้อย สอดลงไปใต้พื้นโลงจนสุด แล้วค่อยๆ ยกเลื่อนออกมา วินาทีนี้เองที่เขาเลื่อนไม้อัดออกมา พื้นโลงที่อยู่ลึกๆ ก็เลื่อนออกมาสู่สายตาของทุกคน ปรากฏว่ายังมีกองกระดูกอยู่กับมูลดินดำๆ กองใหญ่ เมื่อวางทุกอย่างลงบนโต๊ะยาว ก็ค่อยๆ เก็บกระดูกสันหลังออกมาเรียง กระดูกเชิงกราน กระดูกต้นขา 2 อัน ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก แสดงว่าเป็นคนรูปร่างประมาณ 170 ซ.ม. และคงเดินเก่งมาก กระดูกสะบ้า กระดูกหน้าแข้ง 4 อัน กระดูกนิ้วมือ

นิ้วเท้า ส้นเท้า เป็นอันครบถ้วน ในกองมูลดินคุ้ยเขี่ยต่อไปจึงเจอกางเขนโลหะ อันเป็นกางเขนของสายประคำที่เอประตูสวรรค์ก่อนหน้านี้ อยู่ในสภาพขึ้นสนิมเขียว เป็นกางเขนอันเล็ก ซึ่งดูแล้วก็เป็นสายประคำที่ไม่มีราคาค่างวดอะไรมากมาย (สายประคำคนจน) เราเจอแต่เส้นใยเป็นเส้นๆ ของผ้า แต่ไม่อยู่ในสภาพชิ้นผ้าแต่อย่างใด และจอมปลวกที่ปลายเท้าของโลงก็ไม่มีปลวกแม้สักตัวเดียว (ภายหลังเมื่อเก็บไม้ผุๆ ของโลงในภาคบ่าย มีลูกปลวกเล็กๆ เหลืออยู่ 2 ตัวเท่านั้น ไม่ทราบมันไปไหนกันหมดในวันนี้ คงอยู่เป็นเพื่อนตัวเล็กๆ ให้คุณพ่อมานานในนี้ วันนี้คุณพ่อจะลุกขึ้นแล้ว มันจึงไม่มายุ่ง!?!) เขาขุดทุกอย่างออกจากช่องปูนจนสะอาด มีทางเดินของปลวกลงมาจากข้างบนพื้นวัด แต่ไม่เห็นปลวก ฝาโลงกับผนังโลงล้วนผุพังเปื่อยยุ่ย เราเก็บไว้ในถุงพลาสติก มีส่วนที่ยังเป็นไม้อยู่บ้างเล็กน้อย ส่วนพื้นโลงเป็นไม้ที่ไสไม่เรียบ เข้าใจว่าเป็นไม้ยางทั้งโลง พื้นโลงเป็นไม้แผ่นเดียวที่ยังเหลือหนาๆ อยู่ แต่ก็ชื้นและอ่อนตัวเหมือนชานอ้อยสีน้ำตาลไหม้ (ต่อไปคงเก็บไว้ในตู้แก้วทั้งแผ่น)

สรุป คุณพ่อนิโคลาสตายอย่างสิ้นไร้ไม้ตอกเหมือนพระเยซู ทั้งตัวเหลือแค่สายประคำเก่าๆ มีกางเขนกับประตูสวรรค์เท่านั้นเป็นโลหะ ส่วนตัวสายคงเป็นเชือกและเม็ดประคำคงเป็นไม้ ก็เลยเสื่อมสลายไปหมด เรายังพบวัสดุที่คล้ายๆ เชือกด้ายเป็นส่วนเล็กๆ ไปหมด ส่วนเสื้อผ้าก็เห็นแต่ชิ้นเล็กๆ จนดูไม่เห็นเป็นผ้า สีออกดำๆ ทั้งนั้น เส้นผมที่รวบรวมได้ก็น้อยจนน่าใจหาย คุณพ่อไม่เหลืออะไรในวาระสุดท้าย มีแต่ตัวกับหัวใจและวิญญาณอันยิ่งใหญ่ และถูกหลงลืมไปเงียบๆ 56 ปี ในท่าขดตัวงออยู่ พ่อเดาว่าคงตายในท่านี้ แล้วผู้คุมก็เอาอะไรห่อ (แบบนักโทษสมัยก่อนทุกคน) รอให้ญาติมาเอาศพไป แต่ครั้นเห็นยังไม่มา ศพจะเน่า ก็เลยเอาไปไว้วัดพุทธใกล้ๆ ชั่วคราว (วัดบางแพรก) คุณพ่อตายเดือนมกราคม กว่าจะมีคนไปเอาศพและนำโลงไปใส่ ก็ปาเข้าไปเดือนมีนาคม โลงจึงเล็กนิดเดียว เพราะเอาไปใส่ซากที่หดตัวลงแล้วนั่นเอง และซากนี้ก็นอนขดอยู่เช่นนี้ 56 ปี

วันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2000 เราจึงมีโอกาสเชิญคุณพ่อออกมานอนเหยียดยาว แต่ก็เหลือเพียงกระดูกเท่านั้นที่เหยียดยาวในวันนี้
คุณพ่อนิโคลาสครับ คุณพ่อรับใช้พระชั่วชีวิตอย่างเหน็ดเหนื่อยที่สุด เสียสละที่สุด หมดหวังกับการได้รับอิสรภาพที่สุด ทำงานต่อในคุกอย่างกล้าหาญ ไม่เหลืออะไรเป็นทรัพย์ที่นับได้และถูกระบุว่าเป็นวัณโรคตาย จะจริงหรือไม่จริงกับวัณโรคก็ตาม รู้แต่ว่าคุณพ่อนอนขดตัวตายอย่างเปล่าเปลี่ยวเหมือนไม่ได้รับรางวัลอะไรเลย หลังจากอุทิศทั้งหมดมาตลอด คุณพ่อกำลังสอนพวกเราวันนี้ว่า แม้ได้ให้พระทั้งหมด ก็ใช่ว่าพระจะเป็นหนี้บุญคุณ เราไม่สมควรเรียกร้องอะไรทั้งสิ้น มีแต่ยอมรับน้ำพระทัยทุกประการจนสิ้นลม สิ้นลมไปแล้ว คุณพ่อคงคิดว่าตัวเองยังเป็นหนี้พระอยู่ ยังใช้ไม่หมด แต่พระผู้เป็นเจ้าผู้ไม่เคยเอาเปรียบใคร ไม่เคยหันหลังให้กับคำภาวนาและยากที่จะเข้าใจได้นี้ กลับคืนเกียรติแก่คุณพ่อ ณ เวลาที่เห็นว่าเหมาะสมคือในปี ค.ศ. 2000 นี้...

56 ปี อันยาวนานสำหรับมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งบนโลกนี้ ครั้นพระองค์คืนทุกหยาดหยดชีวิตให้ พระองค์คืนอย่างยิ่งใหญ่และอมตะชั่วนิรันดร์

ภายใต้สุสานวัดอัสสัมชัญใต้พระแท่นนี้ พ่อสังเกตว่ามีพระสังฆราชไทยฝังอยู่องค์เดียวคือ ท่านยวง นิตโย นอกนั้นเป็นพระสังฆราชฝรั่ง ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องเป็นอย่างนั้น เพราะกรุงเทพฯ
เพิ่งมีพระสังฆราชไทยแค่ 2 องค์ แต่มีพระสงฆ์ฝรั่งฝังอยู่หลายองค์ในนี้ มีศพพระสงฆ์ไทยอยู่แค่ 3 องค์ (ถ้าจำไม่ผิด) และ 1 ใน 3 คือคุณพ่อนิโคลาสนี่เอง ศพคุณพ่อไทยอื่นๆ มากมาย เขาฝังที่อื่นหมด แต่ศพนักโทษคนนี้ได้ฝังที่อาสนวิหาร มันคงไม่เป็นเรื่องบังเอิญกระมัง

หลังอาหารเที่ยงแล้ว ทีมโบราณคดีก็ล้างกระดูกด้วยแอลกอฮอล์ แล้วเช็ดด้วยน้ำยาอะคริลิก เพื่อป้องกันการเปื่อยและจะได้คงสภาพ แล้วเรียงเป็นร่างของคุณพ่อบนโต๊ะ ปูด้วยผ้าสีขาวอีกครั้ง ปรากฏว่ากระดูกสันหลังที่ต้องมี 12 ชิ้น กลับเหลือ 11 ชิ้น ใครเป็นคนหยิบไป? ตั้งแต่เปิดโลงตอนเช้า ปรากฏว่ามีคนมาหยิบส่วนของไม้โลงศพใส่ถุงจะเอากลับบ้าน และหยิบอิฐแดงก้อนเล็กๆ ไป 2 ก้อน โฆษกต้องประกาศให้เอามาคืน แต่กระดูกสันหลังหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่

ตามหลักแล้ว ถ้าจะหายต้องหายก่อนตาย แต่ถ้าเป็นศพแล้ว 56 ปี อยู่ในโลง มันจะหายไปได้อย่างไร? ต้องหายตอนเปิดโลงนี่แหละ!?! นี่แหละครับความศรัทธาของคน

เขาคงคิดว่าถ้าคุณพ่อนิโคลาสเป็นบุญราศีแล้ว ก็เป็นนักบุญต่อไป สิ่งต่างๆ ที่ร่วงหล่นอยู่ในบริเวณนี้ล้วนเรียกว่าพระธาตุทั้งสิ้น ว่าแล้วก็เลยเอากระดูกสันหลังไป 1 ชิ้น... เฮ้อ

จนพ่อกลับขึ้นรถขับออกมา กระดูกชิ้นนี้ก็ยังหาไม่เจอ ไม่ทราบว่าจะหาเจอทีหลังหรือไม่

ตอนเย็น 4 โมง เขาจะเก็บกระดูกใส่ลงในโลงไม้สักสีโอ๊คสวยงาม ข้างในโลงมีสแตนเลสอีกหนึ่งชั้น แล้วจะนำโลงไว้ในกล่องแก้วใสที่จัดไว้ ณ กราบซ้ายของวัดอัสสัมชัญเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป

พ่อขับรถกลับวัดมาทำมิสซาเย็น คิดอะไรเรื่อยเปื่อยมาตามทางคนเดียว เปิดเทปเพลงฟังเพลงคริสตังร้องเพลง คิดถึงพระเยซู คิดถึงเพื่อนๆ คิดถึงทุกคนที่วัด ที่บ้านพ่อแม่ คิดถึงตัวเองนอนหลับสงบอยู่ในโลง แล้วเขาฝังเราลงดินหายไปจากโลก จากสังคมอันยุ่งเหยิง "LORD, TAKE ME TOMORROW" วันนี้ได้รับใช้สังฆมณฑลของเราด้วยฝีมือถ่ายภาพขาว-ดำ พร้อมๆ กับคนอื่นๆ ที่ถ่ายด้วยฟิล์มสไลด์และเนกาตีฟ รับใช้คุณพ่อนิโคลาสที่เราไม่เคยได้รู้จักขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้รู้จักเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าผ่านทางชีวิตและศพของคุณพ่อนิโคลาสอย่างชัดเจน แม้ขณะมีชีวิต จะมีรายงานว่าคุณพ่อนิโคลาสเป็นคนช่างใจน้อย แต่เขาก็เป็นคนดีจนได้รับเกียรติ มันทำให้เราคิดอะไรออกได้มากมายกว่านั่งเรียนในห้องเรียนหลายเท่ามิใช่หรือ ก่อนเราจะตาย จะมีคนพูดถึงเรามากมายหลายแบบ แต่ก็ไม่สำคัญเท่าสิ่งที่พระจะพูดกับเราและชาวโลกวันสุดท้าย พี่น้องว่าจริงไหม... "ใครมีหูก็ฟังเอาเถิด"

Paul Simon เขียนเนื้อร้องของเพลง "American Tune" ไว้ตอนหนึ่งว่า

"And I dreamt I was dying
I dreamt that my soul rose unexpectedly,
Looking back down at me, smiling reassuringly...
High up above my eyes could clearly see ‘Statue of Liberty’
Sailing away to sea
and I dreamt I was dying"

ซึ่งพอจะแปลเป็นไทยได้ว่า

"แล้วข้าก็ฝันว่าข้าตายไป,
ฝันว่าวิญญาณข้าล่องลอยขึ้นไปโดยไม่ทันรู้ตัว,
แล้วก็หันลงมามองดูข้า แล้วยิ้มย้ำให้ข้ามั่นใจ
จากที่สูงข้างบนนั่น ตาข้าเห็นถนัดนี่, เห็น ‘เทพีแห่งเสรีภาพ’
ลอยล่องตามน้ำออกไปสู่มหานครสาครใหญ่
เอ้อ... ข้าฝันว่าข้าตายไป”

พี่น้องครับ แม้เทพีแห่งเสรีภาพที่ปากอ่าวแมนฮัตตั้น จะลอยหายไปกับสายน้ำ แต่ความรักและความซื่อสัตย์ของพระเป็นเจ้าที่มีต่อเราไม่เคยล่องลอยไปไหนแม้จะ 56 ปีก็ตาม ดูเหมือนเสรีภาพจะลอยหายไปจากปากประตูคุกบางขวางแล้ว คุณพ่อนิโคลาสคงฝันว่าตัวเองตายไปหลายครั้งในขณะอยู่ในคุกก็ตาม แต่ความเชื่อของคุณพ่อก็อยู่ในใจและย้ำยิ้มให้ตัวเองอยู่เสมอจนวาระสุดท้ายว่า "ความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงนิจนิรันดร์"

พ่อคิดอยู่เสมอว่า แม้วันที่พ่อเดินออกจากบ้านหน้าโคกไปแล้ว พ่อยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรที่หวังไว้ได้หมด พระผู้เป็นเจ้าที่แสนดีคงกำลังบอกกับพ่อว่า งานที่ตั้งใจจะให้ได้ตามคิดนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการเพียงได้อยู่ ณ ที่นั้นอย่างดีในฐานะเป็นพยานเรื่องพระองค์ตลอดเวลา

"คุณพ่อนิโคลาสครับ แม้คุณพ่อจะตายไปโดยงานของคุณพ่อยังไม่จบดังหวังไว้ก็ตาม
แต่ชีวิตของคุณพ่อจบเรื่องความรักและการเป็นพยานแล้วนะครับ... อาแมน”

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic66.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:44 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

😊 มาวันนี้ ใต้ถุน ช่างอุ่นอบ

รูปภาพ

1. ที่ใต้ถุน วิหาร คือบ้านฉัน

เป็นสวรรค์ คนยาก ลำบากชีพ

เคยเปล่าเปลี่ยว คุดคู้ เหมือนดูบีบ

ไม่เร่งรีบ 56 ปี ที่อยู่มา

2. ได้เหยียดกาย นอนยาว ก็คราวนี้

เวลาดี ปีสองพัน ที่ฝันหา

ข้าพระองค์ ซึ้งใจ ในมรรคา

พระเจ้าข้า พระองค์ ทรงเยี่ยมเยียน

3. เคยมองหา สักคน วนมาเยี่ยม

ใจข้าเกรียม มอดหมด จดหมายเขียน

แต่พระองค์ ไม่ตอบ ข้าก็เพียร

เรียนและรู้ อยู่ในคุก ฉุกคิดเอา

4. ข้าขอมอบ วิญญาณไว้ ในพระหัตถ์

โปรดทรงจัด อัคคี ที่จะเผา

ข้าจะไป ในหนทาง พระองค์เนา

เผาเลยเผา ความหวัง ให้พังภินท์

5. ข้ายอมหมด จรดเข่า เข้าใจพร

ขอเพียงแค่ จะกอด ยอดถวิล

คือพระองค์ ที่ปล่อยข้า จนหยดริน

เป็นเลือดริน ลงในถ้วย เพื่ออวยพร

6. เลือดของเรา ของพระ สละร่วม

ผสมรวม ในกาลิกซ์ เพื่อพลิกถอน

ความเลวร้าย ทุกขั้น และทุกตอน

แม้ม้วยมรณ์ ไม่เป็นไร ถวายเลย

7. มาวันนี้ ใต้ถุน ช่างอุ่นอบ

คนมาพบ มาเปิด ประเสริฐเผย

เขาเจอถ้วย กาลิกซ์ ที่คุ้นเคย

ใต้ถุนเลย เป็นวัง อลังการ

8. ข้าเป็นเพื่อน กับทุกคน ที่ทนท้อ

ข้ายิ้มรอ ท่านมา อย่างกล้าหาญ

ข้าคือถ้วย กาลิกซ์ ที่ทนทาน

เพราะดวงมาน ข้าครอง ผองพระองค์

ป. จันทร์ 12 ม.ค. 2000

(โอกาสเปิดที่ฝังศพคุณพ่อนิโคลาสใต้ถุนวัดอัสสัมชัญ แด่คุณพ่อนิโคลาส)

คัดจากบทความชื่อ "เส้นทางสายกุหลาบ"... ซึ่งพิมพ์ลงในสารวัดนักบุญเทเรซา หน้าโคก และนำมาตีพิมพ์ลงใน อุดมสาร ปีที่ 24 ฉบับที่ 10 ประจำวันที่ 5-11 มีนาคม ค.ศ. 2000 หน้า 8-9

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic67.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:45 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

😇 การสถาปนาคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นบุญราศี

รูปภาพ

วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2000 เป็นวันที่สมเด็จพระสันตะปาปาได้ประกาศกฤษฎีกา (Decree) รับรองคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นบุญราศี ซึ่งหลังจากนั้น พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมงานฉลองวันสถาปนาที่กรุงโรม ระยะเวลาตั้งแต่รับทราบจนถึงวันสถาปนาจริงๆ มีเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น เพื่อเตรียมพิธีการต่างๆ อย่างเร่งด่วน ได้แก่ การจัดทัวร์เชิญชวนคริสตชนไปร่วมในพิธีนี้ เท่าที่จะไปกันได้โดยความร่วมมือร่วมใจกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกคนยินดีและเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือในงานสำคัญครั้งนี้

วันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2000 เวลา 10:00 น. ณ จตุรัสมหาวิหารนักบุญเปโตร ตรงกับเวลาในเมืองไทย 16:00 น. เป็นเวลาที่กำหนดไว้ ก่อนเริ่มพิธี 2-3 ชั่วโมง ผู้คนเริ่มทยอยเดินทางเข้าสู่บริเวณลานเพื่อประจำที่นั่งกันแล้ว เนื่องจากทุกอย่างจะต้องเรียบร้อยก่อนเวลาเนิ่นๆ และผู้คนที่จะเข้าไปร่วมพิธีมีจำนวนมาก รวมทั้งที่นั่งบางกลุ่มต้องนั่งปะปนกับประเทศอื่น จึงต้องพยายามเกาะกลุ่มกันเฉพาะคนไทยเรา

กลุ่มคนไทยเรา จากการกระจายพักกันอยู่ตามโรงแรม ก็พยายามมาแต่เช้าๆ เท่าที่จะทำได้ แต่ว่าวันนั้นเป็นวันที่รัฐบาลห้ามรถบัสเข้ามาในเมือง ต้องจอดในเขตที่เขากำหนดไว้ และขึ้นรถเมล์ที่เขาจัดไว้สำหรับคนที่จะเข้าไปในวาติกันฟรี เพราะต้องการลดมลพิษและประหยัดน้ำมัน แต่ก็ไม่ลำบากอะไรนักสำหรับเราตอนขาไป แต่ลำบากตอนขากลับ เช้าวันนั้นอากาศแจ่มใส แดดจัดท้องฟ้าโปร่ง ไม่ต้องกังวลเรื่องฝน เรื่องถ่ายภาพ วันสองวันก่อนหน้านี้ ฝนตกทั้งวัน

รูปโดมสูงเด่น เห็นกางเขนอยู่บนยอดสุดของมหาวิหารนักบุญเปโตร และที่บริเวณหน้ามหาวิหารมีผ้าห้อยลงมา 5 ผืน และมีผ้าคลุมอีกทีหนึ่ง ด้านหลังผ้าคลุมนี้ เรายังไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และที่ลานยื่นออกมาจากหน้าประตู ก่อนจะเป็นขั้นบันได ก็มีปะรำพิธี พร้อมทั้งเก้าอี้ซ้ายขวาสำหรับบรรดาพระคาร์ดินัล พระสังฆราช พระสงฆ์ และฆราวาสจากกลุ่มต่างๆ รวมทั้งคณะนักขับร้อง สองข้างมีเสาหินอ่อนขนาดมหึมา เรียงเป็นแนวโอบล้อม รองรับตัวมหาวิหาร เสาแต่ละต้นใหญ่โต และเหนือเสาเป็นรูปของบรรดาอัครสาวก นักบุญ และพระสันตะปาปา ขนาดใหญ่ประดับอยู่ มีเสาหิน (Obelisk) ตั้งเด่นอยู่ตรงกลาง และมีน้ำพุและโคมไฟ

ผู้คนที่มาร่วมพิธี ต่างทยอยกันเข้ามาในบริเวณพิธีซึ่งกั้นเป็นเขตๆ เพื่อความสะดวกในการเดิน คนไทยเราจะมีเข็มกลัดติดเสื้อรูปคุณพ่อนิโคลาสเป็นรูปวงรีกลัดติดเสื้อกันทุกคน และวันนี้ต่างสวมชุดสวยๆ โดยเฉพาะผู้หญิงไทยเกือบทุกคน สวมชุดไทยสีสดใสสะดุดตาเป็นพิเศษและเกือบทุกคน ตามคำเชื้อเชิญตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง สวยจริงๆ ครับ แต่ต้องทนหนาวกันหน่อยเท่านั้น

ผมเดินออกมายืนอยู่ตรงเสาหิน หันหน้าไปทางมหาวิหาร แล้วจึงหันไปทางด้านขวามือจะเป็นอาคารสูง 2 หลัง และหลังที่ 2 ชั้นบนสุดจะเห็นหน้าต่าง 3 บานเปิดอยู่ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสันตะปาปา บานริมสุดเป็นห้องบรรทม ห้องที่ 2 เป็นห้องทรงงาน และเวลาเสด็จออกมาสวดและประทานพระพรก็จะทรงใช้หน้าต่างบานนี้ และบานที่ 3 เป็นห้องรับประทานอาหารส่วนวัดน้อยของพระองค์จะอยู่อีกด้านหนึ่ง หากผมพูดว่าด้านซ้าย-ขวา ก็หมายความว่าเวลาหันหน้าเข้าหามหาวิหารก็แล้วกันนะครับ เกิดเผลอลืมบอกไป จะได้เป็นที่เข้าใจกัน

คนที่มาครั้งแรกคงจะแปลกหูแปลกตา ตะลึงทึ่งกับสถาปัตยกรรมการก่อสร้างและศิลปะอันยิ่งใหญ่ ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 ชั่วโมง ฝ่ายพิธีกรรมได้ซักซ้อมผู้ที่จะขึ้นไปอ่านข้อรำพึงของบุญราศีของแต่ละประเทศ อ่านพระคัมภีร์ และบทภาวนาเพื่อมวลชน เป็นภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทยด้วย ผู้คนทยอยกันมาไม่ขาดสายและยิ่งทีก็ยิ่งดูหนาตาขึ้น พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เดินมาทักทายกลุ่มคนไทยของเราเล็กน้อยก่อนเริ่มพิธี บรรยากาศหน้าลานวันนี้มีชีวิตชีวา ใบหน้าของผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส ใบหน้า สีผิว เครื่องแต่งกาย สีสันแตกต่างกัน แต่ละประเทศมีธงชาติของตนเองโบกไปมา เป็นผ้าผืนเล็กบ้างใหญ่บ้าง กลุ่มคนไทยเราก็เตรียมธงชาติไทยเล็กๆ พร้อมธงผ้าสีขาวมีรูปบุญราศีคุณพ่อนิโคลาส สำหรับทุกคนถือโบกและเดินติดตัวไปตลอด ส่วนธงปีติมหาการุญ พร้อมทั้งป้ายผ้าผืนใหญ่ ไว้ช่วงสำคัญๆ กางออกมาใช้สักครั้งหนึ่ง แต่ละคนมีหนังสือสำหรับติดตามพิธีกรรม รูปเล่มกระทัดรัด ขนาดเกือบ 200 หน้า พร้อมทั้งประวัติของบุญราศีทั้งครบ

ผู้ที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงประกาศให้เป็นบุญราศีในวันนั้นมีทั้งสิ้น 44 องค์ จาก 5 ประเทศคือ บุญราศีชาวบราซิลมี 30 องค์คือ คุณพ่ออันเดร เด โซเวราล (Andre de Soveral) และอัมโบรซีโอ ฟรังซิสโก แฟร์โร (Ambrosio Francisco Ferro) และเพื่อนอีก 28 องค์(ค.ศ. 1645) ประเทศไทย 1 องค์คือ คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง (ค.ศ. 1944) ชาวโปแลนด์ 11 องค์คือ ซิสเตอร์มาเรีย สแตลลา อาเดลา (Maria Stella Adela Mardosewicz) และเพื่อนซิสเตอร์อีก 10 องค์ (ค.ศ. 1943) ชาวฟิลิปปินส์ 1 องค์คือ ครูคำสอนเปโดร กาลุงสด (Pedro Calungsod ค.ศ. 1672) และชาวเวียดนามอีก 1 องค์คือ ครูคำสอนอันเดร (Andrea di Phu Yen ค.ศ. 1644) เป็นชาวเอเชีย 3 องค์คือ คุณพ่อนิโคลาส ซึ่งเป็นพระสงฆ์ และฆราวาสซึ่งเป็นครูคำสอนอีก 2 องค์

บรรยากาศวันนั้น มองดูใบหน้าของแต่ละคนแล้ว ล้วนตื่นเต้นยินดี ประทับใจ สำหรับคนไทยที่เดินทางกันไปประมาณ 300 คนเศษๆ คนไทยที่อยู่ที่อิตาลีอีกประมาณ 50 คน เป็นพระสงฆ์ ซิสเตอร์ ครูคำสอน และฆราวาสที่มาทำงาน รวมคนไทยเบ็ดเสร็จน่าจะประมาณ 350 คน ก่อนที่ขบวนจะแห่ออกมา มีการอ่านข้อคิดรำพึงของบุญราศีของแต่ละประเทศ และตอบรับกันเป็นภาษาของตนเอง อาจารย์ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย เป็นผู้อ่านข้อความที่เป็นความรู้สึกและความคิดของคุณพ่อนิโคลาส ซึ่งคัดบางตอนมาจากจดหมายของคุณพ่อนิโคลาสเองที่เขียนจากคุกบางขวาง ถึงพระคุณเจ้าเรอเน แปร์รอส (จดหมายลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942) เป็นภาษาอังกฤษและสลับกับเพลงบทสร้อย 4 ตอน เป็นภาษาไทยโดยมีซิสเตอร์สมจิตร ทรัพย์อัประไมย ร้องนำร่วมกับกลุ่มคนไทยเราว่า "จงขอบพระคุณพระเป็นเจ้า เพราะพระองค์พระทัยดี ความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงนิจนิรันดร์"

1"...ฝ่ายจิตต์เศร้าใจ นอนตื่นเมื่อไหร่ก็คิดว่าถูกโทษ 15 ปี โดยไม่มีความผิดแม้แต่น้อย เป็นต้นไม่มีโอกาสสวดมนต์ตามหนังสือสวดมนต์ ข้อนี้ทำให้ลูกเป็นทุกข์โศรกมาก แต่ยังมีความบรรเทาอยู่อย่างหนึ่งคือสวดลูกประคำ..."

2"...คุณบิดาก็ทราบดีว่า ลูกรักประเทศชาติจนยอมสละความสนุกสบายฝ่ายข้างโลก
ได้อุตส่าห์อบรมพี่น้องชาวทัยให้อยู่ในศีลธรรมอันดีเป็นระยะ 15 ปี..."

3"...ถึงกระนั้นก็ดี ลูกรู้สึกว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้เป็นไปเช่นนี้ ลูกจึงขอน้อมรับโทษทัณฑ์อันนี้ตามน้ำพระทัยของพระ เพื่อชดเชยความผิด ความบาปของลูก และสันติภาพของ (สากล) โลก ทั้งความเจริญของประเทศชาติที่รักของลูกด้วย..."

4"...ลูกสวดเสมอ ขอพระเอ็นดู ยกความผิดของพยานเท็จที่ปรักปรำลูก ตามแบบฉบับแห่งพระเยซู อาจารย์แห่งสากลโลก..."

จบด้วยกลุ่มสุดท้ายจากประเทศเวียดนาม ก็ใช้ภาษาเวียดนาม

พอใกล้จะเริ่มพิธี เจ้าหน้าที่ก็ให้บรรดาช่างภาพขึ้นไปอยู่บนหลังคาอาคารด้านซ้ายมือเป็นที่ซึ่งจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย ในส่วนของประเทศไทยก็มี คุณพ่อพงศ์เทพ ประมวลพร้อม , คุณพ่อสุทศ ประมวลพร้อม , คุณประไพพรรณ ชัยวิสุทธิ์ , ซิสเตอร์อรวรรรณ จันทร์ชลอ และทีมงานสื่อมวลกรุงเทพฯ อีก 3 คน ร่วมกับสื่อมวลชนจากประเทศอื่นๆ ซึ่งมีทั้งกล้องวีดีโอ และช่างภาพประมาณสัก 20 คน อยู่ข้างบนนั้น ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าเขาเอาเราไปขังหรือว่าให้เราไปถ่ายรูป

บริเวณลาน ทุกอย่างพร้อมแล้ว จอภาพ 2 จอ ซ้ายและขวา ตั้งอยู่ด้านหน้า ใกล้กับรูปนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลขนาดใหญ่ ช่วยให้คนอยู่ไกลเห็นได้ชัดเจนและติดตามพิธีได้ตลอด พิธีเริ่มเวลา 10:00 น. นำขบวนโดยกางเขนและเทียน พระสงฆ์ พระสังฆราช พระคาร์ดินัล และทิ้งช่วงห่างกันสักระยะหนึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็เสด็จออกมา

คนไทยที่ได้ร่วมถวายบูชามิสซาด้วย คือ พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู , พระสังฆราชยอด พิมพิสาร , พระสังฆราชพเยาว์ มณีทรัพย์ , พระสังฆราชบรรจง อารีพรรค , พระสังฆราชเทียนชัย สมานจิต , พระอัครสังฆราชคายน์ แสนพลอ่อน และคุณพ่อสุขุม กิจสงวน ซึ่งเป็นญาติของคุณพ่อนิโคลาส (มารดาของคุณพ่อสุขุมเป็นหลานของคุณพ่อ) อาภรณ์พระสงฆ์ในพิธีเป็นชุดสีเขียวทั้งหมด

เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จออกมาตรงประตูกลาง เสียงปรบมือต้อนรับและแสดงความยินดี พร้อมทั้งเป็นกำลังใจให้พระองค์ ซึ่งค่อยๆ ก้าวทีละก้าวอย่างช้าๆ ตามออกมา เนื่องจากพระชนมายุ 79 พรรษาแล้ว จนเข้าประทับที่หน้าพระแท่นเรียบร้อย ก็เริ่มถวายบูชามิสซาจนถึงบทพระเจ้าทรงเมตตาเทอญ (กีรีเอ เลอีซอล) ผู้แทนของแต่ละประเทศเป็นผู้อ่านประวัติสั้นๆ ของบุญราศีของตนประมาณ 1 หน้า เริ่มต้นด้วยบราซิล มีพระอัครสังฆราชไฮเตอร์ อารายโฮ ซาเลส แห่งอัครสังฆมณฑลนาตาล ติดตามด้วยประเทศไทยเป็นอันดับ 2 โปแลนด์ , ฟิลิปปินส์ และเวียดนามตามลำดับ พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นผู้อ่านประวัติคุณพ่อนิโคลาสเป็นภาษาไทยประมาณ 3 นาที และต่อไปจนครบตามลำดับ หลังจากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอ่านประกาศสถาปนาบุคคลเหล่านี้เป็นบุญราศี (The Blessed) แล้วผ้าคลุมรูปบุญราศีซึ่งแขวนอยู่ก็ค่อยๆ เปิดออกพร้อมกันจนเห็นชัดเจนครบทั้ง 5 ผืน เสียงปรบมือดังกระหึ่มบริเวณลานอยู่พักใหญ่

ลำดับที่ 1 อยู่ตรงกลาง ลำดับที่ 2 อยู่ซ้าย ลำดับที่ 3 อยู่ขวามือ ลำดับที่ 4 อยู่ซ้ายและลำดับที่ 5 อยู่ด้านขวา ตามลำดับ เวลามองไปที่รูป แต่ถ้ามองจากซ้ายมือ ก็จะเห็นฟิลิปปินส์ ไทย บราซิล โปแลนด์ และเวียดนาม สำหรับรูปคุณพ่อนิโคลาสนั้น ยังไม่ทันที่จะถึงเวลาเปิด ลมก็พัดผ้าที่คลุมเปิดออก ทำให้ทุกคนเห็นรูปคุณพ่อนิโคลาสชัดเจนเพียงรูปเดียวก่อน ทำเอาหลายคนบอกว่า "คุณพ่อยิ้มกับพวกเรา" หลายคนมาเล่าให้ฟังว่าอย่างนี้

เมื่อเสร็จภาคการประกาศสถาปนาบุญราศีแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเริ่มพิธีถวายบูชามิสซาต่อไป สมเด็จพระสันตะปาปาทรงกล่าวในบทเทศน์ความตอนหนึ่งจากพระคัมภีร์ว่า "อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่ร่างกาย แต่ไม่สามารถฆ่าวิญญาณได้" (มัทธิว 10:28) และกล่าวถึงคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ว่า "ชีวิตสงฆ์ของคุณพ่อเป็นเสมือนบทเพลงสรรเสริญพระเจ้าอย่างแท้จริง เป็นผู้ที่สวดภาวนา (A man of prayer) เป็นผู้ที่เด่นด้านการเผยแพร่ความเชื่อ แสวงหาน้ำพระทัยของพระ และความรักต่อผู้ยากไร้ พยายามที่จะหาวิธีที่จะทำให้คนที่ไม่รู้จักพระนามของพระ ได้รู้จักพระคริสตเจ้า คุณพ่อได้รับหน้าที่ตามภูเขาและเข้าไปในประเทศพม่า ทุกคนได้เห็นพลังความเชื่อชัดเจนเมื่อได้อภัยผู้ที่กล่าวร้ายคุณพ่อ ขาดอิสรภาพ ทำให้ท่านได้รับความทรมานอย่างมาก ในคุก ท่านได้เป็นกำลังใจให้กับเพื่อนนักโทษ และได้สอนคำสอนและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์... อาศัยคำเสนอวิงวอนของบุญราศีนิโคลาส โปรดให้พระศาสนจักรในประเทศไทยได้รับพระพรและพลกำลังในงานประกาศพระวรสาร และรับใช้ผู้ยากไร้ตลอดไป" และทรงขอร้องให้สวดภาวนาเพื่อพี่น้องทั้งหลายในโมแซมบิคที่ประสพอุทกภัยน้ำท่วมและลูกเรือที่จมหายไปที่ซาฟีร์ (Zafir)

ผมอยู่บนหลังคาด้านซ้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่เขาจัดให้บรรดาสื่อมวลชนและช่างภาพทั้งหลายไปตั้งหลักกันอยู่ที่นั่น รู้สึกตื่นเต้นพลางหันไปดูบรรยากาศทั่วๆ ไปในบริเวณงาน ผู้คนเกือบ 100,000 คน เสร็จแล้วผมก็หาทางลงมาเดินข้างล่างเพื่อหามุมอื่นถ่ายภาพบ้าง

มิสซาดำเนินไปตามปกติ จนถึงบทภาวนาเพื่อมวลชน อาจารย์ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย สวมชุดผ้าไหมไทยสีน้ำตาลเข้ม ที่หน้าอกด้านซ้ายมีเข็มกลัดรูปคุณพ่อนิโคลาสติดอยู่ เป็นผู้แทนอ่านบทภาวนาเพื่อมวลชนเป็นภาษาไทย 1 ข้อ

"เพื่อพระศาสนจักร... ขอให้พลังความรักปลดปล่อยพระศาสนจักรให้หลุดพ้นความกลัวทุกอย่าง และจุดความกระตือรือร้นในงานธรรมทูตให้ลุกโชติช่วงในบรรดาผู้มีความเชื่อทุกคน ทั้งผู้อภิบาลและสัตบุรุษ ดังที่เคยจุดในหัวใจของบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ให้ประกาศพระวาจาที่ปกป้องและบันดาลความรอด ทั้งในช่วงเวลาที่อำนวยให้และไม่อำนวยให้..."

ภาคถวายก็มี คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ อัญเชิญพระธาตุบุญราศี บรรจุอย่างดีในผอบศิลปะแบบไทย , ซิสเตอร์ซูซานนา สุพิศ กิจสงวน และคุณวัลลีย์ วงศ์ภักดี ร่วมกับขบวนอัญเชิญของถวาย พร้อมกับประเทศอื่นๆ

เมื่อถึงภาครับศีลมหาสนิท มีผู้แทนจากประเทศไทยที่เข้าไปรับศีลมหาสนิทจากพระหัตถ์สมเด็จพระสันตะปาปา ได้แก่ คุณประสิทธิ์ ธีรานุวัฒน์ , คุณเง็กฮวน อารีจิตรานุสรณ์ (กฤษบำรุง) ซึ่งเป็นหลานของคุณพ่อนิโคลาส และคุณเรณู กิจประชุม สัตบุรุษวัดนักบุญเปโตร (วัดนครชัยศรี) คุณพ่อประทีป กีรติพงศ์ เจ้าอาวาสวัดนักบุญเปโตรกล่าวว่า ลูกวัดทั้งหมดที่เดินทางไปครั้งนี้ประมาณ 30 คน กระจายตามกลุ่มทัวร์ต่างๆ

ทหารสวิสและหน่วยรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยยืนตามจุดต่างๆ เพื่อไม่ให้คนที่เป็นนักท่องเที่ยวเดินเข้าไปรบกวนผู้ร่วมพิธี ทั้งๆ ที่มีบัตรนักหนังสือพิมพ์ก็ไม่ยอมให้เดินผ่านหรือเดินไปเดินมา ต้องเดินอ้อมไปสุดที่กั้นบริเวณพิธีไปอีกด้านหนึ่ง ผมเห็นรถพยาบาลเล็กๆ จอดอยู่ระหว่างเสาที่เรียงกันตรงมุมที่เป็นรูปโค้ง มีเตียงผู้ป่วยเตรียมพร้อมในกรณีฉุกเฉินทุกเมื่อ

มองไปมีแต่คนนั่งแน่นไปหมด กลุ่มที่มาจากประเทศโปแลนด์น่าจะมากที่สุดในงานนี้รองลงมาก็จากประเทศฟิลิปปินส์ และบราซิล มีสีสันและชีวิตชีวาตลอด เวลาบูชามิสซาก็ออกมาคำนับรับพรจากสมเด็จพระสันตะปาปาทีละคน ใช้เวลาประมาณ 10 นาที หลังจากนั้น คนขับรถเปิดประทุนขึ้นไปถึงหน้าพระแท่น สมเด็จพระสันตะปาปาประทับบนรถพระที่นั่งเปิดประทุนด้วยพระองค์เอง รถแล่นช้าๆ ผ่านเข้าไปท่ามกลางฝูงชนเพื่อให้ประชาสัตบุรุษได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และทรงประทานพระพร เสร็จแล้วจึงเสด็จกลับ ประมาณเวลา 13:30 น. เสร็จพิธีสถาปนาในวันนั้น

กลุ่มคนไทยเราได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดมาก เมื่อรถที่ประทับแล่นผ่านกลุ่มคนไทย ก่อนที่จะเสด็จเข้าที่ประทับด้านซ้ายมือ ซึ่งเป็นทางเข้าไปสู่บริเวณภายในวาติกัน สีหน้าและรอยยิ้มของแต่ละคน รู้สึกอิ่มเอม ยิ้มแย้ม ผู้อาวุโสทั้งหลายที่ร่วมไปด้วย ดูสีหน้าแล้วเหมือนลืมอายุกันไม่มีอาการเหนื่อยและหิวให้เห็นเลย ตลอดพิธี 3 ชั่วโมงครึ่ง ถ้าเริ่มนับตั้งแต่เข้ามาเตรียมที่ก็ประมาณ 5-6 ชั่วโมงเต็มๆ

ทั้งๆ ที่นัดหมายกันไว้อย่างดี ย้ำแล้ว ย้ำอีก พูดเป็นภาษาไทยแท้ๆ แต่ปรากฏว่าบ่ายนั้นมี "มหกรรมคนหลง" ทั้งหลงกลุ่ม หลงทาง และหลงลืม เหมือนเล่นซ่อนหากัน กลุ่มคุณพ่อชวลิต กิจเจริญ กลุ่มคุณพ่อวิทยา แก้วแหวน กว่าจะได้ทานข้าวเที่ยงกันเกือบบ่าย 3 โมง พรรคพวกอดเป็นห่วงกันไม่ได้ว่าจะตกเป็น "เหยื่อพวกยิบซี" ซะแล้ว

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic68.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:46 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

🇻🇦 สมเด็จพระสันตะปาปาประทับใจนักเรียนไทยรำไทยถวาย

รูปภาพ

รุ่งขึ้นเช้าวันที่ 6 มีนาคม เป็นอีกวันหนึ่งที่คนไทยทุกคณะทัวร์รวมทั้งที่อยู่ที่กรุงโรมมีนัดกันคือ ร่วมถวายมิสซาโมทนาพระคุณพระเป็นเจ้าในโอกาสสถาปนาบุญราศี เวลา 8:30 น. ณ วัดแม่พระ ซึ่งอยู่ใกล้กับจตุรัสมหาวิหารนักบุญเปโตรนั่นเอง หลังจากนั้น ก็เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ณ หอประชุมเปาโล ที่ 6 เวลา 12:00 น.

มิสซาของกลุ่มคนไทย ทุกอย่างเป็นภาษาไทยหมด ที่วัดแม่พระซึ่งอยู่บริเวณใกล้จตุรัสมหาวิหารนักบุญเปโตรด้านซ้ายมือ เดินไม่ถึง 10 นาที นับว่าสะดวกและวัดก็สวยงามมากพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธาน และ มีอดีตพระสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย ฯพณฯ ท่าน ลุยจี แบรสซาน เดินทางจากเมืองเตรนโตซึ่งอยู่ทางเหนือของอิตาลี มาร่วมในพิธีมิสซาวันนี้ด้วย เพื่อร่วมแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับคนไทย คนไทยเต็มวัดพอดีๆ ตอนท้ายของมิสซา พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้กล่าวต้อนรับพระสมณทูตและมอบของที่ระลึกแด่พระคุณเจ้าและคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้ด้วย เสร็จพิธีแล้ว ก็รวมพลหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตรอีกครั้งเพื่อถ่ายภาพหมู่กลุ่มคนไทยได้เห็น "มหกรรมกล้องนานา" ชนิดอีกครั้ง ไม่รู้กล้องใครเป็นกล้องใคร แต่ละคนก็อยากจะถ่ายเป็นที่ระลึก มากรุงโรมทั้งทีต้องถ่ายรูปกันหน่อย หอประชุมเปาโลฯ อยู่ด้านซ้ายของมหาวิหารนักบุญเปโตร เพื่อรอเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเวลา 12:00 น.

ระหว่างนั้น อาจารย์ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย ก็นัดหมายกับซิสเตอร์อรวรรณ จันทร์ชลอ และผม (คุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง) เพื่อทำธุระสำคัญกันก่อน เพราะยังพอมีเวลาและหลังจากนี้คงไม่เจอกันแล้ว จึงนัดแนะกันเดินเข้าไ ปภายในของรัฐวาติกัน ก่อนอื่นก็ต้องไปติดต่อรับบัตรผู้มาติดต่อธุระก่อนเพื่อแจ้งวัตถุประสงค์และรับบัตรติดต่องาน เพื่อนำวีดีโอที่พระศาสนจักรในประเทศไทยจัดงานปีปีติมหาการุญ เมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 2000 ณ ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งจัดทำโดยสื่อมวลชนคาทอลิกแห่งประเทศไทย จำนวน 4 ม้วน นำไปมอบให้แก่ สมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องสื่อสารมวลชนคาทอลิก ซึ่งมีพระอัครสังฆราชจอห์น โฟเลย์ เป็นประธาน และอาจารย์ชัยณรงค์เคยมาประชุมและคุ้นเคยกับที่นี่ทั้งบุคคลและสถานที่เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ได้พากันเดินลัดเลาะเลียบด้านหลังมหาวิหาร ผ่านอาคารซึ่งสร้างขึ้นใหม่สำหรับเป็นที่พักของพระคาร์ดินัลและพระสังฆราช ในกรณีที่ต้องมาประชุมและต้องการพักที่นี่ เขาสร้างใหม่แต่ทำให้ดูเก่า ผ่านปั๊มน้ำมันเล็กๆ สถานีรถไฟของวาติกันซึ่งจะแล่นเฉพาะบางโอกาส สวนวาติกันที่สวยงาม มองเห็นเพียงบางส่วน ผ่านที่ทำการไปรษณีย์วาติกันซึ่งอยู่บริเวณแนวเสาด้านขวา เพื่อจะไปสั่งจองวีดีโอ, ที่ซีทีวี (CTV) แวะไปดูรูปถ่ายของหนังสือพิมพ์ลอสแซร์วาตอเร โรมาโน (L'OSSERVATORE ROMANO) ซึ่งอยู่ติดกันอีกด้านหนึ่งของมหาวิหาร เรียกว่าเป็นการแนะนำสถานที่ให้รู้จักด้วยเป็นครั้งแรกเหมือนกันที่ได้มีโอกาสเดินย่ำต๊อกๆ ภายในนครรัฐวาติกันอย่างนี้ ทุกฝีก้าวล้วนไม่พ้นสายตาของทหารสวิส และจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ต้องแสดงบัตรตลอด ผมกลัวจะเดินสะดุดขาตัวเองล้มเสียก่อน

นครรัฐวาติกันมีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ เป็นประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่ง แต่ย่อเอาทุกอย่างไว้ในนครแห่งนี้ทั้งหมด ทุกอย่างพอเหมาะพอดี พอเสร็จธุระก็เข้าหอประชุม เหลือเวลาอีกประมาณเกือบครึ่งชั่วโมง หอประชุมเปาโล ที่ 6 ดูกว้างใหญ่ ทันสมัย และใช้เป็นที่รับรองเป็นประจำสำหรับคนจำนวนมากๆ พอเข้ามาก็เห็นแต่ละบริเวณที่จัดไว้มีคนนั่งเกือบๆ เต็มแล้ว แต่ละคนก็นั่งพูดคุยกันเพื่อรอเวลา บางคนก็เดินถ่ายรูปพรรคพวก คนไทยเราก็ยังโบกธงไปมา สักครู่หนึ่ง ก็เห็นทหารสวิสเดินออกมาเข้าประจำที่ เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าใกล้เสด็จแล้ว ให้เตรียมตัวได้

สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จออกมาทางประตูด้านซ้ายอย่างช้าๆ ก้าวต่อก้าว พร้อมกับเสียงปรบมือ สักพักหนึ่งก็ค่อยๆ เป็นจังหวะ พร้อมทั้งมีเสียง "จอห์น ปอล ทู... วี เลิฟ ยู" (John Paul II... We love you) คำๆ นี้ เมื่อวานนี้ก็ได้ยินเหมือนกัน และเป็นคำสั้นๆ ง่ายๆ และคล้องจองกันดี เมื่อเข้าที่ประทับกลางเวทีแล้ว ทรงกล่าวทักทายต้อนรับกลุ่มต่างๆ ออกชื่อแต่ละกลุ่ม พอถึงกลุ่มไหนก็แสดงพลังโบกธง ยืนขึ้นบ้าง เมื่อทรงร่วมยินดีกับกลุ่มต่างๆ แล้ว พอถึงประเทศไทย ก็เอากับเขาเหมือนกัน เพียงแต่เสียงเราน้อยกว่าเท่านั้นแหละครับ

ทรงปราศรัยอีกครั้งหนึ่งประมาณ 20 นาที และทรงประทับยืนเพื่อสวดบทเทวทูตถือสารพร้อมกัน และหลังจากนี้ เวลาที่น่าตื่นเต้นยินดีสำหรับประเทศไทยเป็นพิเศษคือ นักเรียนหญิงจากโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา บางรัก จำนว น 8 คน แต่งกายชุดไทย มือสวมมาลัยกร ขึ้นไปยืนรอบเวทีเพื่อรำไทยถวายในชุด "เทพปีติ" เป็นบทเพลงในโอกาสปีปีติมหาการุญ เพื่อใหhทอดพระเนตรอย่างใกล้ชิด การรำถวายของเด็กนักเรียนใช้เวลานาน 6 นาที หอประชุมใหญ่เงียบเหมือนต้องมนต์สะกด ทุกคนจ้องมองไปที่การแสดงของนักเรียน เสียงปรบมือดังสนั่นในหอประชุม ทุกคนดีใจและประทับใจมากกับการรำที่นิ่มนวลและชุดไทยที่สวยงามของเด็ก นับว่าเป็นการแสดงที่พระองค์ทรงพอพระทัยมาก เส ร็จแล้วเด็กๆ 2 คน ถวายมาลัยกรแด่สมเด็จพระสันตะปาปา 2 พวง แล้วกราบถวายความเคารพสมเด็จพระสันตะปาปาพร้อมกัน และหันกลับมากราบผู้ชมในหอประชุม เสียงปรบมือแสดงความชื่นชมยินดีดังกระหึ่มหอประชุมอีกครั้ง คนไทยหลายคนรู้สึกตื้นตันจนน้ำตาคลอเบ้า ตอนสุดท้าย เด็กๆ เหล่านั้นได้มีโอกาสรับพรจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระสันตะปาปาทีละคน สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประทานสายประคำแก่เด็กแต่ละคนด้วย พร้อมทั้งฉายพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย หลังจากนั้นเป็นการถวายความเคารพของบรรดาพระคาร์ดินัล พระสังฆราช และผู้แทนจากประเทศต่างๆ

ผู้แทนจากประเทศไทยนำโดย คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ , คุณกวี อัศวานนท์ ประธานชมรมนักธุรกิจคาทอลิก ถวายเหรียญที่ระลึกโอกาสพระชนมายุ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , อาจารย์ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย ถวายสมุดภาพและวีดีโอ โอกาสเฉลิมฉลองปีปีติมหาการุญของประเทศไทย 4 ม้วน , คุณปฐม วงศ์สุรวัฒน์ และภรรยา ถวายรูปวาดคุณพ่อนิโคลาส , คุณสุรัตน์ ภานุประภา , เซอร์วรรณี หมั้นทรัพย์ ผู้แทนคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตร และเซอร์วาเลรีผู้แทนคณะพระหฤทัยฯ กรุงเทพฯ ถวายปัจจัย , คุณวิเชียร (ตี๋) ลิ้มลือชา ถวายรูปสมเด็จพระสันตะปาปา ทำด้วยพลอยละเอียด และคุณเซียงเฮง แซ่ลิ้ม ถวายผ้าไหมไทย

หลังจากนั้น ทูตไทยประจำอิตาลีซึ่งได้เข้ามาร่วมพิธีด้วย ก็มาแสดงความชื่นชมยินดีกับเด็กๆ และครู พร้อมทั้งกล่าวทักทายพระคาร์ดินัล และบรรดาพระสังฆราช รวมทั้งเด็กนักเรียนด้วย เย็นวันนั้น คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ , คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง , ซิสเตอร์สมจิตร ทรัพย์อัประไมย , คุณครูยุบลรัตน์ แสดงกล้า พร้อมทั้งนักเรียนทั้ง 8 คนและผู้ปกครอง รวมทั้ง 18 คน ได้รับเชิญจากไปร่วมรับประทานอาหารค่ำที่บ้านท่านทูตด้วย เป็นความยินดีและปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง

มาถึงนาทีนี้เรียกว่าภารกิจทั้งหลายเสร็จสิ้นลงอย่างเรียบร้อยแล้ว

วันเวลาที่รอคอยกันมา ได้ถึงเป้าหมายปลายทางแล้ว

ชีวิตของคุณพ่อนิโคลาสต้องเป็นการปลุกคนไทยคาทอลิกให้ตื่นจากการหลับไหล

เปลี่ยนใจเราให้เป็นดวงใจใหม่ จากความกลัวให้เป็นความกล้า

จากเย็นเฉย ให้ร้อนรน จากความอ่อนแอ ให้เข้มแข็ง

ให้ชีวิตทั้งชีวิตเป็นประจักษ์พยานความรักต่อพระและเพื่อนพี่น้องทุกคน

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic69.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:46 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

🗣 คำกล่าวของคุณพ่อเจมส์ ฟิตซ์แพทริก (โอ.เอม.ไอ.) ผู้ดำเนินเรื่องกรณีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นบุญราศี

รูปภาพ

ในพิธีปิดกระบวนการพิจารณาของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1998

ที่ บ้านผู้หว่าน สามพราน นครปฐม

พระศาสนจักรยุคต้นๆ ได้ให้คำตักเตือนแก่อัครสาวกว่าดังนี้ :

"ข้าพเจ้ากำชับท่านต่อพระพักตร์พระเจ้าและพระเยซูคริสต์ ผู้จะทรงพิพากษาคนเป็นและคนตาย โดยอ้างถึงการที่พระองค์จะเสด็จมาปรากฏ และแผ่นดินของพระเจ้าว่า ให้ประกาศพระวจนะให้ขะมักเขม้นที่จะทำการทั้งในขณะที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส ให้ชักชวนด้วยเหตุผล เตือนสติ และตักเตือนให้อดทนอยู่เสมอในการสั่งสอน" (2 ทิโมธี 4:1-2)

ด้วยคำพูดเหล่านี้ของนักบุญเปาโลที่สั่งสอนทิโมธีสานุศิษย์ของท่าน และคำสั่งเหล่านี้ได้ดังก้องอยู๋ในหัวใจของพระสงฆ์ทุกองค์ตลอดมาจนถึงพระศาสนจักรในปัจจุบันนี้

ในเวลา 10 วันที่ผ่านมานี้ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้พิจารณาอย่างเป็นทางการ เพื่อตรวจสอบกรณีแวดล้อมต่างๆ เกี่ยวกับการตายของลูกชายคนหนึ่งคือ คุณพ่อเบเนดิกโต บุญเกิด กฤษบำรุง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ คุณพ่อนิโคลาส คำพูดของนักบุญเปาโลได้รับการตอบรับแล้วโดยพระสงฆ์ของประเทศไทยองค์นี้ คุณพ่อนิโคลาสได้ประกาศข่าวดี แม้เมื่อไม่ได้รับการต้อนรับ และท่านได้ทำการสั่งสอนด้วยความพากเพียรและเอาใจใส่เสมอมา ท่านได้เทศน์สอนพระวาจาของพระเป็นเจ้าในเขตแพร่ธรรมทางภาคเหนือ ท่านยังคงทำการเทศน์สอนต่อไปแม้จะถูกคุมขังอยู่ในคุก จริงๆแล้ว การตายอย่างเงียบๆ อย่างต้อยต่ำของท่านในคุกเป็นการประกาศข่าวดีของพระเป็นเจ้าอย่างกึกก้อง

ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของพระศาสนจักรเกี่ยวกับแบบอย่างอันดีเลิศนั้น หลังจากพระเยซูคริสต์และบรรดาอัครสาวก นักบุญองค์แรกๆ ก็คือมรณสักขี พวกท่านเหล่านั้นคือเสาหลักของการก่อตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่นในทุกวิถีทาง ท่านเหล่านี้คือบุคคลผู้มีความเชื่ออย่างลึกซึ้งในความรักของพระเป็นเจ้า จนกระทั่งไม่มีการทดลอง , ไม่มีการถูกจอง , ไม่มีความทุกข์ทรมาน ไม่มีแม้กระทั่งความตาย ที่สามารถแยกความรักของพระเป็นเจ้าออกจากพวกเขาได้ คำว่า "มรณสักขี" หมายถึง "พยาน" และศตวรรษแล้วศตวรรษเล่าที่ผ่านมา เราได้เห็นชายและหญิง , พระสงฆ์ และฆราวาส ซึ่งได้เป็นพยานถึงพระพระเยซูคริสต์ด้วยชีวิต และเป็นพยานจนถึงที่สุดด้วยการตายอย่างชื่นชมยินดี

คุณพ่อนิโคลาสเป็นเหมือนห่วงๆ หนึ่งของโซ่ทองของบรรดาพยาน ท่านไม่ได้จากพระศาสนจักรไทยไปเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1944 ความตายของท่านไม่ได้เป็นการสิ้นสุด แต่มันเป็นการเริ่มต้น ความกระตือรือร้นต่อพระเป็นเจ้าและวิธีการอันยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงสามารถทำให้ท่านดำรงชีวิตอยู่ได้ การตายของท่านเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ และเป็นพยานต่อความจริงอันลึกซึ้งภายในตัวคุณพ่อ ความตายทำให้ท่านมีชีวิตอย่างมีเกียรติจนถึงทุกวันนี้ ท่านไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาหรือระยะทาง ท่านไม่ถูกหน่วงเหนี่ยวโดยการขู่เข็ญหรือการเบียดเบียน แท้จริงแล้ว คุณพ่อมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้มากกว่าที่เคยมีชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1944 ข้าพเจ้าแน่ใจว่าคุณพ่ออยู่กับพวกเราในทุกวันนี้ในเคหาสน์ของท่าน

การพิจารณาของสังฆมณฑลในหลายๆ วันที่ผ่านมานี้ ได้ทำการรวบรวมประวัติ , เอกสารต่างๆ และการสอบพยานเกี่ยวกับคุณพ่อนิโคลาส ทั้งหมดเหล่านี้สอดคล้องต้องกันอย่างลงตัวในภาพอันน่าพิศวงของคุณพ่อ คือ ภาพแห่งศรัทธา , ความกระตือรือร้น และความกล้าหาญ สิ่งต่างๆ นี้เป็นการเสริมความจริงให้โดดเด่นยิ่งขึ้น , เป็นมรดกอันทรงเกียรติ และมรดกนี้เป็นของพระศาสนจักรในประเทศตั้งแต่เริ่มต้นจนบังเกิดผล และถูกประทับตราไว้ในประศาสนจักรแห่งประเทศไทยนี้

เฉพาะอย่างยิ่ง มรดกนี้เป็นของพวกท่านโดยเฉพาะ คือ บรรดาพระสงฆ์ของพระศาสนจักรนี้ พวกท่าน (บรรดาพระสงฆ์) คือทายาทของคุณพ่อนิโคลาสที่สืบทอดมา คือเพื่อนในสังฆภาพของคุณพ่อ พวกท่านคือผลของการเติบโตและการสืบทอดของคุณพ่อ พวกเราต้องไม่เศร้าโศกกับศพที่คุกบางขวาง พวกเราต้องฉลองความทรงจำที่มีชีวิตชีวา ความทรงจำที่เบ่งบานด้วยความเชื่อ ความทรงจำที่เผาผลาญด้วยความกระตือรือร้น ความทรงจำที่ทำให้เข้มแข็งด้วยความกล้าหาญ ความทรงจำไม่ใช่บางสิ่งบางอย่างในอดีต แต่เป็นความจริงในปัจจุบัน และคุณพ่อคือความทรงจำเหล่านั้น พวกท่านไม่ใช่เพียงเก็บความทรงจำของคุณพ่อไว้ แต่ตัวพวกท่านเองคือความทรงจำของคุณพ่อด้วย ช่างเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่! ช่างเป็นสิทธิพิเศษ! พวกท่านมีบุญอย่างทวีคูณ

ถ้าคุณพ่อนิโคลาสยังมีชีวิตอยู๋ในปัจจุบันนี้ ท่านมีชีวิตอยู่ในตัวพวกท่าน วิธีการตายของคุณพ่อ บางที ไม่ใช่เพื่อพวกท่าน แต่เหตุผลของความตายต้องอยู่ในตัวพวกท่านแต่ละคน ความเชื่อของคุณพ่อจะต้องมีชีวิตอยู่ในตัวพวกท่าน ความกระตือรือร้นของคุณพ่อจะต้องมีชีวิตอยู่ในตัวพวกท่าน ความกล้าหาญของคุณพ่อจะต้องมีชีวิตอยู่ในตัวพวกท่าน พวกท่านต้องไม่ปล่อยให้คุณพ่อต้องตายอีก นี่คือความรับผิดชอบ นี่คือสิทธิพิเศษของพวกท่าน คุณพ่อทั้งหลายขอให้รับผิดชอบในสิทธิพิเศษของพวกท่าน สัตบุรุษในประเทศนี้ในปัจจุบันต้องการพระสงฆ์ที่เหมือนกับคุณพ่อนิโคลาส ขอให้รับผิดชอบในสิทธิพิเศษของพวกท่าน พระศาสนจักรในประเทศไทยปัจจุบันนี้ต้องการพระสงฆ์ที่เหมือนกับคุณพ่อนิโคลาส ขอให้รับผิดชอบในสิทธิพิเศษของพวกท่าน การเผยแพร่พระวรสารของพระเยซูคริสตเจ้าปัจจุบันนี้ ต้องการพระสงฆ์ที่เหมือนกับคุณพ่อนิโคลาส ขอให้รับผิดชอบในสิทธิพิเศษของพวกท่านนี้

ข้าพเจ้ายินดีที่อัครสังฆมณฑลของพวกท่านได้นำเสนอกรณีคุณพ่อนิโคลาสนี้ต่อพระศาสนจักรในฐานะพยานแห่งความเชื่อ แบบอย่างสำหรับทุกคน ข้าพเจ้าขอขอบคุณพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชูในความเอาใจใส่ด้วยความรับผิดชอบสำหรับกรณีนี้อย่างกระตือรือร้น และมอบความไว้วางใจแก่ข้าพเจ้าให้ทำหน้าที่ผู้ดำเนินเรื่อง ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับคุณพ่อวิชา หิรัญญการ ผู้พิพากษา และสมาชิกคนอื่นๆ ของศาล สำหรับงานหนักชิ้นนี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยดีและกรุณาทำให้สำเร็จเป็นด้วยดี ข้าพเจ้ารู้สึกเลื่อมใสและชื่นชมเป็นพิเศษสำหรับความมานะพยายามอย่างต่อเนื่องของคุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ในความเอาใจใส่สำหรับกรณีนี้ ในการตั้งใจทำการรวบรวมหลักฐานเอกสาร และทำให้กระบวนการพิจารณาบังเกิดผลสำเร็จ พวกเราทั้งหลายเป็นหนี้บุญคุณคุณพ่อที่ต้องขอบคุณ บางครั้งเราเรียกสั้นๆ ว่า "เล็ก" แต่ที่ถูกน่าจะเป็น "เล็กพริกขี้หนู" หรือน่าจะเป็น "จิ๋วแต่แจ๋ว"

ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ผลการพิจารณาของศาลชิ้นนี้จะถูกส่งไปยังที่กรุงโรม ก่อนที่คำตัดสินที่ชัดเจนจะประกาศออกมา ขณะที่พวกเรากำลังรอคอย พวกท่านต้องสวดภาวนาสำหรับกรณีนี้เป็นพิเศษ จงทำเหมือนเป็นหน้าที่ จงทำด้วยความยินดี และจงรับผิดชอบในสิทธิพิเศษนี้ด้วยเมื่อนักบุญเปาโลเขียนจดหมายถึงทีโมธี เกี่ยวกับเรื่องความกระตือรือร้นในการประกาศข่าวดีของพระเป็นเจ้า ในคำพูดต่างๆ นั้น ข้าพเจ้าขอยกเอาคำพูดซึ่งนักบุญเปาโลได้กล่าวว่า :

"เพราะว่าข้าพเจ้ากำลังจะตกเป็นเครื่องบูชาอยู่แล้ว ถึงเวลาที่ข้าพเจ้าจะจากไป ข้าพเจ้าได้ต่อสู้อย่างเต็มกำลัง ข้าพเจ้าได้แข่งขันจนถึงที่สุด ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว" (2 ทิโมธี 4:6-7)

สิ่งที่เป็นภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ของคุณพ่อนิโคลาสคือ เป็นคนไทยแท้ เป็นพระสงฆ์ที่อุทิศตนเอง เป็นพี่ชายของพวกท่านในองค์พระเยซูคริสต์ และนักบุญเปาโลได้ลงท้ายว่า :

"...ข้าพเจ้าได้สู้อย่างเต็มกำลัง ข้าพเจ้าได้แข่งขันจนถึงที่สุด ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว ต่อแต่นี้ไป มงกุฎแห่งความชอบธรรมก็จะเป็นของข้าพเจ้า ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้พิพากษาอันชอบธรรมจะทรงประทานเป็นรางวัลแก่ข้าพเจ้าในวันนั้น และมิใช่แก่ข้าพเจ้าผู้เดียวเท่านั้น แต่จะทรงประทานแก่คนทั้งปวงที่ยินดีในการเสด็จมาของพระองค์"(2 ทิโมธี 4:1-2)

คำพูดเหล่านั้นพบได้จากการปฎิบัติหน้าที่อย่างยอดเยี่ยมของคุณพ่อนิโคลาส คุณพ่อได้รับมงกุฎแห่งความชอบธรรมของท่านแล้ว ข้าพเจ้าสวดภาวนาขอให้พระหรรษทานจากพระเป็นเจ้าหลั่งไหลมายังพวกเราแต่ละคนที่นี่วันนี้ ด้วยแบบอย่างและคำอ้อนวอนของคุณพ่อนิโคลาสของพวกท่าน "คนไทย" พระสงฆ์และมรณสักขี

(แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ)

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic70.html
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 22, 2022 5:47 pm

😇 นักบุญ - นักโทษ (2) ⛓

🇻🇦 สมณกระทรวงประกาศแต่งตั้งนักบุญ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

รูปภาพ

การประกาศแต่งตั้งเป็นบุญราศี หรือการประกาศรับรองการเป็นมรณสักขี

ของผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้า

นิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง
พระสงฆ์แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
(1895-1944)

สมณกฤษฎีการับรองการเป็นมรณสักขี

"เครื่องหมายประการหนึ่งซึ่งคงอยู่เสมอ และมีความหมายอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้เป็นพิเศษ เป็นการแสดงความรักแบบคริสตชนอย่างแท้จริงก็คือ การระลึกถึงบรรดามรณสักขี เราไม่ควรหลงลืมการเป็นประจักษ์พยานของท่านเหล่านั้น เพราะท่านคือผู้ประกาศพระวรสารโดยสละชีวิตเพราะความรัก" (สมณโองการประกาศปีปีติมหาการุณ ค.ศ. 2000, Incarnationis mysterium ของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2, ข้อ 13)

ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้า คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง พระสงฆ์ประจำสังฆมณฑลแห่งกรุงเทพฯ ก็ได้ถวายชีวิตของตนเพราะความรักต่อพระคริสตเจ้าและต่อพระศาสนจักร พระศาสนจักร โดยเฉพาะในประเทศไทย ยังคงระลึกถึงการเป็นประจักษ์พยานแสดงความซื่อสัตย์ต่อกระแสเรียกและการปฏิบัติหน้าที่สงฆ์ของท่านอยู่

พยานกล้าหาญถึงพระวรสารท่านนี้ เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1895 ที่นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เขตมิสซังกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ได้รับชื่อเมื่อรับศีลล้างบาปว่าเบเนดิ๊กแต่จะเป็นที่รู้จักต่อมาในนามนิโคลาสบิดามารดาคือ ยอแซฟ โปชัง และอักแนส เที่ยง เป็นคาทอลิกที่ให้การอบรมบุตรอย่างดีในโรงเรียนของวัดนักบุญเปโตร ท่านเข้าบ้านเณรที่บางช้างเมื่อมีอายุได้ 13 ปี และในปี ค.ศ. 1920 ไปศึกษาที่สามเณราลัยใหญ่ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ท่านรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1926 ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญกรุงเทพฯ แล้วเริ่มงานอภิบาลและธรรมทูตเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่วัดบางนกแขวก เมื่อคณะสงฆ์ซาเลเซียนเข้ามาในประเทศไทย ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าท่านนี้ก็ได้ช่วยเหลือในการสอนคำสอนและการเรียนภาษาไทย ระหว่างปี ค.ศ. 1930-1937 ท่านถูกส่งไปทำงานทางนภาคเหนือของประเทศ เพื่อตามหาคริสตชนคาทอลิกที่ละทิ้งศาสนาไป ท่านปฏิบัติงานนี้ด้วยจิตตารมณ์ธรรมทูตอย่างแท้จริง เดินทางไปในพื้นที่ตามป่าเขาที่กันดาร เดินทางลำบาก ต้องเผชิญกับความลำบากแทบทุกชนิด

ในปี ค.ศ. 1937 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสที่โคราช ทำงานรวบรวมสัตบุรุษคาทอลิกที่เหินห่างไปจากความเชื่อให้กลับมาและประสพผลดีอย่างยิ่ง ท่านยังสอนคำสอนแก่คนต่างศาสนาและผู้ต้องการรับศีลล้างบาป และขยายงานธรรมทูตออกไปดูแลวัดโนนแก้วอีกด้วย

ขณะที่กำลังปฏิบัติงานอภิบาลอย่างได้ผลมากมายอยู่นี้ ก็เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส สงครามกับประเทศฝรั่งเศสนี้ทำให้หลายคนคิดว่าศาสนาคาทอลิกเป็นคำสั่งสอนที่ต้องต่อต้านและต้องทำลายด้วย จึงเกิดมีการเบียดเบียนใช้ความรุนแรง และต่อต้านบรรดามิชชันนารีชาวฝรั่งเศสและงานต่างๆ ของบรรดามิชชันนารี เริ่มต้นด้วยการทำร้าย ปั้นแต่งข้อกล่าวหาเท็จ และข่มขู่ ต่อมาบรรดาคาทอลิกชาวไทยก็ถูกรบกวนและถูกจับด้วย ท่ามกลางความยุ่งยากเหล่านี้ ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าท่านนี้มิได้ละทิ้งหน้าที่สงฆ์และธรรมทูตของตนเลย ยังคงมีความกระตือรือร้นในการทำหน้าที่ธรรมทูตด้วยความเอาใจใส่ต่อชีวิตฝ่ายจิตของตนเหมือนที่เคยปฏิบัติตลอดมา ท่านถวายมิสซาอย่างศรัทธา ใช้เวลาตอนเย็นปฏิบัติกิจศรัทธาต่างๆ เช่น สวดทำวัตร สวดลูกประคำ อ่านหนังสือศรัทธา ท่านมีความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทและพระมารดามารีย์เป็นอย่างดีมีความรักและความกระตือรือร้นต่อวิญญาณสัตบุรุษที่ท่านได้รับมอบหมายให้ดูแลอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ท่านพูดจาด้วยใจร้อนรนอย่างน่าฟังเรื่องพระเจ้า เรื่องพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์ แสดงความร้อนรนในจิตตารมณ์เป็นธรรมทูตอย่างชัดเจน ท่านย้ำเสมอๆ ว่า "ข้าพเจ้าไม่กลัวความตาย ทุกคนต้องตาย... ขอให้ข้าพเจ้าตายเถิด ข้าพเจ้าจะได้ไปอยู่กับพระเจ้า" ท่านเอาใจใส่เป็นพิเศษในการให้ความรู้ทางศาสนาแก่เยาวชน ช่วยให้เขารู้จักการภาวนาและส่งเสริมกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1941 ท่านถูกจับกุมในฐานะที่เป็นพระสงฆ์คาทอลิก ถูกจองจำในเรือนจำที่โคราช ต้องถูกทรมานและขัดสนทุกสิ่ง

ท่านถูกนำตัวขึ้นศาลทหารพิเศษ ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 15 ปี ท่านถูกจองจำพร้อมกับนักโทษอื่นๆ ในห้องขังที่คับแคบและสกปรก จึงป่วยเป็นวัณโรค ต่อมาท่านถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำบางขวาง โรคที่เป็นอยู่มีอาการทรุดหนักลง จึงถูกแยกไปขังไว้ในเรือนจำของคนเป็นโรคปอด

ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้ายังคงยึดมั่นในความเชื่อ มีความไว้วางใจในพระเจ้า อดทนต่อความทารุณโหดร้ายต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ท่านให้อภัยแก่ผู้ที่เบียดเบียนท่าน แสดงความมีชีวิตฝ่ายจิตอันยิ่งใหญ่ที่ท่านพยายามปลูกฝังมาตั้งแต่เยาว์วัย ความรักที่ท่านมีต่อพระเจ้าและต่อพระศาสนจักร ยังคงร้อนรนอยู่ในจิตใจของท่านแม้ในเรือนจำ ท่านมีใจเมตตากรุณาต่อนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ด้วยกัน และแม้ว่าจะเป็นวัณโรค ไม่มีทางรักษาให้หายได้แล้ว ท่านก็ยังไม่เลิกประกาศถึงพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้นักโทษหลายคนได้กลับใจ หลังจากที่ได้ทนความยากลำบาก ความขัดสน การถูกสบประมาทเยาะเย้ยต่างๆ วัณโรคได้กำเริบขึ้น ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1944

ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าท่านนี้ได้แสดงเครื่องหมายแห่งความศักดิ์สิทธิ์อย่างเด่นชัดแล้ว ยังกล่าวได้ว่าท่านได้สิ้นชีวิตเป็นมรณสักขี เพราะฉะนั้น พระอัครสังฆราชแห่งกรุงเทพฯ จึงได้รวบรวมเอกสารต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ทำการพิจารณาสอบสวนระดับสังฆมณฑลในปี ค.ศ. 1998 สมณกระทรวงประกาศแต่งตั้งนักบุญได้พิจารณาเอกสารการพิจารณาสอบสวนเหล่านี้ตามขั้นตอน ได้รับรองโดยกฤษฎีกาลงวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1998 เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ เหล่านี้แล้ว ได้มีการพิจารณาต่อไปตามระเบียบว่า ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าท่านนี้ได้สละชีวิตเป็นมรณสักขียืนยันความเชื่อจริงหรือไม่ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1999 คณะกรรมการที่ปรึกษาทางเทววิทยาได้ประชุมพิเศษพิจารณาเรื่องนี้สำเร็จลงด้วยดี ต่อจากนั้นคณะพระคาร์ดินัลและพระสังฆราชได้มีการประชุมปรกติเมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 2000 โดยมีพระอัครสังฆราชมารีโอ ริซซีพระอัครสังฆราชเกียรตินามแห่งบัลโนเรจโจ เป็นผู้เสนอขอแต่งตั้ง ที่ประชุมมีความเห็นพ้องว่าคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ได้สละชีวิตถวายแด่พระคริสตเจ้า สละชีวิตยอมตายเพราะความเชื่อ

เรื่องราวทั้งหมดนี้ เจ้าสมณกระทรวงได้นำขึ้นถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ให้ทรงทราบ พระองค์ทรงรับข้อเสนอของสมณกระทรวงประกาศแต่งตั้งนักบุญ ทรงเห็นชอบและรับรองข้อเสนอนี้ด้วย จึงมีบัญชาให้ออกสมณกฤษฎีการับรองการเป็นมรณสักขีของผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าท่านนี้ได้ตามระเบียบ เพราะฉะนั้น ในวันนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจึงทรงประกาศต่อหน้าเจ้าสมณกระทรวงผู้ลงนามไว้ข้างท้ายนี้ต่อหน้าผู้เสนอขอแต่งตั้ง และต่อหน้าข้าพเจ้า เลขาธิการสมณกระทรวง รวมทั้งคณะกรรมการอื่นๆ ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมว่า "การพิจารณาเรื่องการเป็นมรณสักขีและการแต่งตั้งของผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้า คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง พระสงฆ์แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ สิ้นสุดแล้ว สามารถดำเนินการต่อไปจนสำเร็จได้"

สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระประสงค์ให้ประกาศสมณกฤษฎีกาฉบับนี้ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน และให้เก็บรักษาไว้เป็นเอกสารของสมณกระทรวงประกาศแต่งตั้งนักบุญ

ให้ ณ กรุงโรม วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2000

(ลงนาม) ยอแซฟ ซาไรวา มาร์ตินส์

พระอัครสังฆราชเกียรตินามแห่งทูบูร์นิส
เจ้าสมณกระทรวง

(ลงนาม) เอ็ดวาร์ด โนวัค
พระอัครสังฆราชเกียรตินามแห่งลูนา
เลขาธิการ

(คุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส แปลจากต้นฉบับภาษาลาติน)

CR. : http://www.catholic.or.th/arc.../nicola ... nic71.html
ตอบกลับโพส