🌹 คุณแม่เทเรซา กับ กลุ่มทำแท้ง

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
Arttise
โพสต์: 802
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

เสาร์ มี.ค. 04, 2023 1:32 am

ฝ่ายที่สนับสนุนการทำแท้งทุกคนจะเกลียดคุณแม่เทเรซาหมด เพราะคุณแม่จะต่อการทำแท้งอย่างชัดเจน และพูดจารุนแรงด้วยในการต่อต้านนี้

คุณแม่จะบอกเลยว่า “เป็นการฆ่าเด็ก” คือใช้คำแรงเลย “พ่อแม่ฆ่าลูกตัวเอง” เพราะฉะนั้นคนที่สนับสนุนการทำแท้งก็จะเกลียดคุณแม่มาก

ในบทความนั้นนะเห็นชัดเลยว่า คงเกลียดคุณแม่ด้วยแนวนี้แหละ เพราะในเขียนคำเหล่านี้ว่า “คุณแม่เทเรซาไม่สนับสนุนสิทธิสตรี เนื่องจากคุณแม่เทเรซาไม่สนับสนุนการทำแท้ง”

เพราะว่าคนที่สนับสนุนการทำแท้งอ้างเรื่องสิทธิสตรี ส่วนหนึ่งอ้างว่า “ผู้หญิงมีสิทธิ์ในร่างกายตัวเอง เขามีสิทธิ์ที่จะขับไล่ใครออกจากร่างเขาก็ได้ นี้คือการให้อำนาจของผู้หญิง”

นักบวชทางศาสนาไหนก็ไม่สามารถสนับสนุนการทำแท้งอยู่แล้ว เพราะมันบาปในทุกศาสนาเลย มันเป็นคำพูดที่คาดหวังได้อยู่แล้วจากคุณแม่ว่า คุณแม่จะไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง

แต่คุณแม่ไม่สนับสนุนการทำแท้ง คุณแม่ไม่ได้ผลักภาระให้สังคม เพราะคุณแม่ตั้งบ้านพักสำหรับเด็ก บ้านพักสำหรับผู้หญิง เป็นบ้านพักฉุกเฉิน

ผู้หญิงที่ตั้งท้อง คลอดลูกโดยที่ไม่มีสามีหรือถูกทอดทิ้งมาอยู่กับคุณแม่ได้เลย คุณแม่หาบ้านให้ด้วย หาบ้านให้ลูกๆของพวกเขา

และในอินเดีย แม้จะมีระบบวรรณะก็จริง แต่มันมีกฎวรรณะหนึ่งอยู่ว่า “ถ้ามีการรับเลี้ยงเด็กเป็นลูกบุญธรรม เด็กจะถูกนับวรรณะตามพ่อแม่บุญธรรม ไม่ใช่พ่อแม่แท้ๆที่เกิดมา” เพราะฉะนั้นทำให้คนวรรณะสูงที่ไม่มีลูกก็มารับเลี้ยงเด็กจากคุณแม่เทเรซาเยอะแยะเลย

คุณแม่ไม่ใช่แบบต่อต้านการทำแท้งแล้วปล่อยให้เป็นปัญหาท้องก่อนวัยไปเรื่อยๆ คุณแม่พยายามแก้ปัญหาในแบบนักบวช แบบคริสตชนแบบคุณแม่

รูปภาพ

📄 อ้างอิงข้อความบางส่วน : การบรรยายเรื่อง การใส่ร้าย คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา โดยคุณปอ (22 กย 62)
https://youtu.be/muHpyYDTmH0

😇 ชีวประวัติ คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา

โดยทั่วไป คนต่างชาติโดยเฉพาะสตรีในประเทศอินเดีย มักไม่ได้รับการยอมรับทางสังคมเท่าไรนัก ประเทศอินเดียมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมค่อนข้างมาก คนจนเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับสิทธิในสังคมเท่าที่ควร และรวมถึงสิทธิสตรีด้วย ทว่ามีสตรีผู้หนึ่งที่เข้ามากอบกู้ช่วยเหลือชาวอินเดียจำนวนมาก ให้พ้นทุกข์จนได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นพลเมืองของประเทศ ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดี ในฐานะผู้ช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อคนยากไร้ ท่านผู้นี้มีนามว่า “คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา”

คุณแม่เทเรซามีเชื้อสายบอสเนีย ชื่อเดิมคือ Agnes Gonxha Bojaxhiu ท่านเกิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ.1910 ที่เมืองสโกเปีย (ปัจจุบันคือเมืองหลวงของมาซิโดเนีย) เป็นบุตรคนสุดท้องของบิดา ชื่อ นิโกลา และมารดาชื่อ ดราเน ในครอบครัวชนชั้นกลาง บิดาเป็นชาวคริสต์ที่เคร่งครัดในหลักศาสนา ซึ่งทำให้ตั้งแต่วัยเด็ก อักแนสชอบไปร่วมพิธีมิสซา

บิดาของอักแนสเสียชีวิต เมื่อเธออายุ 9 ขวบ แต่ความอบอุ่นภายในครอบครัวไม่ได้ลดลง เพราะมารดายังให้ความรัก ความอบอุ่น และการเลี้ยงดูที่ดีมาตลอด อักแนสเติบโตเป็นเด็กร่าเริง มีสุขภาพดี ต่อมาเธอได้รู้จักประเทศอินเดีย และรู้ว่าอินเดียขณะนั้นระบบสาธารณูปโภคยังล้าหลังอยู่มาก มีคนยากไร้มากมายที่ต้องทนทรมาน เธอเริ่มถามตนเองว่า มีวิธีใดบ้างไหมที่เธอจะช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากในอินเดียและเธอจึงเริ่มคิดที่จะเป็นนักบวช

ค.ศ. 1928 อักแนสตัดสินใจขออนุญาตครอบครัวไปเข้าอาราม ตอนแรกครอบครัวคัดค้าน แต่ต่อมาทางครอบครัวก็ยอมให้เธอไปบวช การลาจากครอบครัวของเธอครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่เธอได้เห็นหน้าแม่และน้องสาว

ค.ศ. 1931 อักแนสตัดสินใจเข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นนักพรตหญิงในอารามโลเรโต ในเมืองดาร์จีลิงประเทศอินเดีย และได้รับนามใหม่ว่า “ซิสเตอร์เทเรซา”

ค.ศ. 1937 หลังจากปฏิญาณตนตลอดชีพแล้ว ซิสเตอร์เทเรซาได้เป็นครูวิชาภูมิศาสตร์ - ประวัติศาสตร์ในโรงเรียนสตรีเซนต์มาเรีย นครกัลกัตตา และไม่นานก็ได้เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนสตรีแห่งนี้ ท่านได้นำพาสมาชิกและเหล่านักเรียนผ่านเหตุการณ์เลวร้าย ที่เกิดจากผลกระทบของเหตุการณ์รุนแรงและสงครามที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในอินเดีย

ค.ศ. 1946 ท่านขออนุญาตเข้าไปช่วยเหลือคนยากไร้ในสลัม และเริ่มเรียนด้านการพยาบาลที่รัฐพิหาร พร้อมก่อตั้งโรงเรียนกลางแจ้งในสลัม ในเวลานั้นเอง เริ่มมีผู้คนเข้ามาขอร่วมเป็นหมู่คณะและร่วมงานนี้

ค.ศ. 1950 ท่านก่อตั้งคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม (Missionaries of Charity) และก่อตั้ง “บ้านสำหรับดูแลผู้ใกล้จะสิ้นใจ (Home for the Dying) ในกัลกัตตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก โดยขอยืมพื้นที่จากวัดฮินดู แต่ต้องประสบปัญหาการต่อต้านจากชาวฮินดูมากมาย อย่างไรก็ตาม ท่านก็ฝ่าฝันมาได้ โดยความช่วยเหลือจากตำรวจอินเดีย

ค.ศ. 1955 มีผู้ใจบุญบริจาคบ้านเพื่อการกุศล คุณแม่เทเรซาจึงเปิดบ้านรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ชื่อว่า “บ้านเด็กหทัยนิรมล” (Children’s Home of the Immaculate Heart)
ท่านจัดหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่ไปรักษาชาวไร่ชาวนา และพบว่าชาวอินเดียป่วยเป็นโรคเรื้อนกันมาก จึงเริ่มหาทางแก้ไข และได้รับบริจาคที่ดินจากรัฐบาลเบงกอลตะวันตก เพื่อก่อตั้งสถานที่รักษาพยาบาลโรคเรื้อนและหมู่บ้านสันติสุข ก็เกิดขึ้นในปี 1968

ค.ศ. 1979 คุณแม่เทเรซาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ

ค.ศ. 1983 ท่านเริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่ยังทำงานเหมือนปกติ อย่างไรก็ตาม อาการโรคหัวใจก็มาเยือนอยู่เรื่อยๆ จนในที่สุด ท่านได้ยื่นจดหมายต่อพระสันตะปาปา เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งมหาธิการิณีคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม พร้อมขอให้มีการเลือกตั้งผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งจากท่าน บรรดาภคินีต่างคัดค้าน แต่เมื่อรู้ว่าคุณแม่เทเรซาให้จัดการเลือกตั้งผู้สืบทอดตำแหน่ง จึงเทคะแนนให้คุณแม่เทเรซา แล้วผลการเลือกตั้งก็คือคุณแม่เทเรซาได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นมหาธิการิณีอีกครั้ง

อาการโรคหัวใจกำเริบมารบกวนท่านบ่อยขึ้น เมื่อคุณแม่เห็นว่าตนเองคงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป ในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1997 ท่านจึงลาออกจากตำแหน่งมหาธิการิณีคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมอีกครั้ง ครั้งนี้บรรดาสมาชิกในคณะต่างเห็นว่าคุณแม่เทเรซาควรได้พักผ่อน จึงไม่คัดค้าน เพื่อให้คุณแม่ได้พักรักษาตัว ดังนั้นภคินีนิรมลจึงได้รับเลือกเป็นมหาธิการิณีคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมแทนคุณแม่เทเรซา

ในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1997 คุณแม่เทเรซาถึงแก่กรรมลง ขณะอายุ 87 ปี ทางรัฐบาลอินเดียได้จัดพิธีศพของคุณแม่เทเรซาอย่างยิ่งใหญ่ระดับชาติ

ในเวลานั้น คณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมมีสมาชิกมากกว่า 4,000 คน และอาสาสมัครอีกประมาณ 1 แสนคน ซึ่งครอบคลุมกว่า 610 แห่ง ใน 123 ประเทศทั่วโลก

- กระบวนการประกาศเป็นนักบุญ

หลังจากที่คุณแม่เทเรซาสินใจในปี 1997 สันตะสำนักได้เริ่มต้นกระบวนการแต่งตั้งท่านให้เป็นนักบุญ ซึ่งจะต้องมีอัศจรรย์เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง

ในปี 2002 วาติกันยอมรับอัศจรรย์การหายจากโรคเนื้องอกในท้องของสตรีชาวอินเดียชื่อ โมนิกา เบสรา (Monica Besra) หลังจากได้มีการสวดภาวนาวิงวอนขอคุณแม่เทเรซา เบสรากล่าวว่า มีแสงออกจากภาพของคุณแม่ ซึ่งรักษาเธอให้หายจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 จึงทรงประกาศให้คุณแม่เทเรซาเป็น “บุญราศี” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2003

และในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2015 สันตะสำนักได้ยืนยันว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงรับรองอัศจรรย์ครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นกับชายชาวบราซิล ซึ่งหายจากอาการเนื้องอกในสมอง และพระสันตะปาปาฟรังซิส จะทรงประกาศให้คุณแม่เทเรซา เป็น “นักบุญ” ในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2016

ความรักจริงใจไม่คิดคำนวณ มีแต่จะให้
Intense love does not measure, it just gives.

ถ้าคุณมัวแต่ตัดสินผู้อื่น คุณจะไม่มีเวลารักพวกเขา
If you judge people, you have no time to love them.

จงนำพาความรักไปในทุกที่ที่คุณไป อย่าปล่อยให้ผู้ใดที่พบคุณ จากคุณไปโดยไม่รู้สึกสุขเพิ่มขึ้น
Spread love everywhere you go. Let no one ever come to you without leaving happier.

ความรักเริ่มต้นจากการเอาใจใส่คนที่อยู่ใกล้ตัวคุณมากที่สุด นั่นก็คือคนที่บ้าน
Love begins by taking care of the closest ones – the ones at home.

ความชื่นชมยินดีแห่งการภาวนา พละกำลังและความรัก ความชื่นชมยินดีคือแหอวนแห่งความรักที่ดักล้อมวิญญาณได้
Joy is prayer; joy is strength: joy is love; joy is a net of love by which you can catch souls.

คุณแม่เทเรซา
Mother Teresa,

บทความจากนิตยสารแม่พระยุคใหม่ ฉบับที่ 210 หน้า 16 – 19

https://www.marymagz.com/นักบุญ-ผู้ศักด ... ห่งกัลกัต/

รูปภาพ

#คุณแม่เทเรซา #คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา #นักบุญเทเรซาแห่งกัลกัตตา #กลุ่มทำแท้ง #ทำแท้ง #ยุติการตั้งครรภ์ #ฆ่าเด็ก #ฆ่าลูก #ฆ่าคน #สิทธิสตรี #เฟมินิสต์ #สตรี #ผู้หญิง #เด็ก #เยาวชน

CR. : เพื่อเธอ For Her
ตอบกลับโพส