28 แนวทางเพื่อเติมเต็มงานอภิบาลตามวัด

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
Arttise
โพสต์: 870
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พุธ ก.ย. 06, 2023 8:34 pm

รูปภาพ

⛪️ หมวดที่ 1 : งานทำให้ชุมชนวัดศักดิ์สิทธิ์ (Sanctifying the Parish)

✝️ แนวทางที่ 1 : การเฝ้าศีลมหาสนิท (Eucharistic Adoration)

ก่อนอื่นควรเริ่มทำวัดน้อยสำหรับเฝ้าศีล (หรือสถานที่เหมาะสม) เพราะการเฝ้าศีลมหาสนิทถือเป็นการนำคริสตชนมุ่งสู่ศูนย์กลางความเชื่อคาทอลิก นั่นคือ องค์พระเยซูคริสตเจ้า การประทับอยู่ของพระองค์ในศีลมหาสนิทจะทำให้ความเชื่อของคริสตชนเข้มแข็ง เติบโต ผ่านการใช้เวลาสงบเงียบเพื่อภาวนากับพระองค์ การเฝ้าศีลมหาสนิทยังเป็นโอกาสให้คริสตชนได้ไตร่ตรองชีวิต กระแสเรียก อีกทั้งเตรียมจิตใจเพื่อจะรับศีลอภัยบาป หรือศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ อย่างเหมาะสมต่อไป

(ตารางเวลาการเฝ้าศีลที่วัดของคุณพ่อฟรานซิส ใช้เวลา 140 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ 17:00 น. ของวันอาทิตย์ ไปจนถึง 09:00 น. ของวันเสาร์ โดยเชิญคุณพ่อจากคณะมิชชันนารีแห่งศีลมหาสนิท (Missionaries of the Blessed Sacrament) มาเป็นประธานมิสซาในทุกวัน โดยมีสมาชิกของวัดราว 700 คน ได้ลงชื่อเพื่อสลับกันมาเฝ้าศีลมหาสนิท และทำชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ บิชอป Sheen เคยกล่าวไว้ว่า การใช้เวลาต่อหน้าศีลมหาสนิท เป็นเสมือนการเยียวยารักษาจากแสงแห่งศีลมหาสนิท ซึ่งจะทำลายบาปต่างๆ ให้สูญสิ้นไป)

✝️ แนวทางที่ 2 : คณะพลมารีย์ (The Legion of Mary)

แม้กลุ่มพลมารีย์จะเป็นองค์กรที่ขึ้นกับสันตะสำนัก แต่จุดประสงค์แท้จริงของคณะพลมารีย์ ก็คือ การทำให้ศักดิ์สิทธิ์ (Sanctification) ซึ่งนอกจากจะสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับสมาชิกของกลุ่มเองแล้ว ยังมีส่วนทำให้สังคมและบริบทของวัดนั้นๆ ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นด้วย คณะพลมารีย์ช่วยให้สมาชิกพัฒนาชีวิตจิตอย่างเป็นระบบตามรูปแบบของนักบุญหลุยส์ มารีย์ เดอ มงฟอร์ต (Saint Loius Marie De Montfort) (True Devotion to Mary) รวมถึงรูปแบบชีวิตจิตของพระแม่มารีย์ และพระกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า

(คุณพ่อฟรานซิสเอง ก็เคยเข้าสังกัดคณะพลมารีย์ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เริ่มจากกลุ่มพลมารีย์เด็ก , พลมารีย์เยาวชน และพลมารีย์ผู้ใหญ่ ปัจจุบันคุณพ่อฟรานซิสเป็นวิญญาณรักษณ์ของกลุ่มพลมารีย์ 8 เปรซีเดียม แบ่งเป็นกลุ่มพลมารีย์ผู้ใหญ่ 6 เปรซีเดียม และกลุ่มพลมารีย์เด็ก 2 เปรซีเดียม คุณพ่อฟรานซิสพบว่าการมีกลุ่มพลมารีย์ในแต่ละวัดนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มพลมารีย์เหล่านี้ถือเป็นกลุ่มแพร่ธรรมของวัด)

✝️ แนวทางที่ 3 : นพวารประจำสัปดาห์ (Weekly Novena)

นพวารแม่พระเหรียญอัศจรรย์ (Miraculous Medal Novena) ถือเป็นเครื่องมืออันทรงพลังของการฟื้นฟูจิตวิญญาณของวัด ซึ่งโดยปกติที่วัดของคุณพ่อฟรานซิสจะกำหนดในตอนเย็นวันจันทร์ และมีพิธีนพวารในวันศุกร์หลังจากมิสซาตอน 09:00 น. เนื่องจากว่าเป็นมิสซาที่มีคนมาร่วมพิธีมากที่สุด (ราว 300 คน) เนื้อหาสาระให้พิธีนพวารนั้น จึงเน้นถึงการกลับใจมารับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ รวมถึงการเยียวยาฝ่ายจิต การติดต่อสัมพันธ์กับพระเจ้า และการวอนขออัศจรรย์จะพระหรรษทานของพระองค์

✝️ แนวทางที่ 4 : ศีลอภัยบาป (Confession)

ตางรางเวลาบริการศีลอภัยบาปที่วัดของคุณพ่อฟรานซิส ได้แก่ เย็นวันพฤหัส , วันศุกร์หลังมิสซา 09:00 น. และบ่ายวันเสาร์ รวมถึงช่วงเทศกาลมหาพรตหลังจากเดินรูป 14 ภาค คุณพ่อฟรานซิสพบว่า ศีลอภัยบาปช่วยดึงดูดใจสัตบุรุษให้มารับบริการ ขอเพียงมีพระสงฆ์นั่งในที่ฟังแก้บาปตามเวลาที่กำหนด รวมถึงเชิญชวนสัตบุรุษให้มารับศีลอภัยบาป อีกทั้งเทศน์สอนเกี่ยวกับศีลอภัยบาป สัตบุรุษก็จะตอบรับในการมาใช้บริการศีลอภัยบาป อาจกล่าวได้ว่า ศีลอภัยบาปนั้นเป็นการเสริมสร้างความดีของจิตวิญญาณสัตบุรุษและของวัดเลยก็ว่าได้

✝️ แนวทางที่ 5 : คู่มือศีลอภัยบาป [ช่วยวินิจฉัยโรค] (The Confessional as Pharmacy)

คุณพ่อฟรานซิสได้วางหนังสือคู่มือเล็กๆ ตรงที่ฟังแก้บาป ซึ่งบรรจุบทภาวนาต่างๆ ราว 70 บท รวมถึงการ์ดภาพพระคัมภีร์ และใบปลิวที่น่าสนใจต่างๆ คู่มือเหล่านี้เปรียบเป็นดัง “ใบสั่งยา” ในการทำกิจการใช้โทษบาป นอกเหนือจากการแนะนำ ตักเตือน และการให้สวดบทข้าแต่พระบิดาและวันทามารีอา อย่างละ 3 บทแล้ว คู่มือดังกล่าวช่วยให้ผู้ฟังแก้บาปได้วินิจฉัยปัญหา ความบาปผิดต่างๆ ของผู้มารรับบริการได้อย่างเหมาะสม

(คุณพ่อฟรานซิสแนะนำให้มีแผ่นกระดาษเล็กที่เขียนขั้นตอน , คำพูด รวมถึงบทแสดงความทุกข์ซึ่งใช้ในการรับศีลอภัยบาปด้วย เพราะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่ได้มารับศีลอภัยบาปเป็นเวลานานๆ หรืออาจหลงลืมบทภาวนาแบบใหม่ เป็นต้น)

✝️ แนวทางที่ 6 : เข้าเงียบแบบย่อ และงานแพร่ธรรม (Mini “Retreats” and Missions)

คุณพ่อฟรานซิสเห็นถึงประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตจิตของสัตบุรุษของท่าน ผ่านการจัดเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจแบบครึ่งวัน ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นก็ได้ และควรแยกจัดกันระหว่างชายและหญิง โดยอาจเชิญพระสงฆ์จากคณะนักบวชต่างๆ มานำการเข้าเงียบ แบ่งปันประสบการณ์และข้อคิด ฟังแก้บาป และให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ตามที่เห็นสมควร นอกจากนี้ ยังสามารถจัดเข้าเงียบให้กับกลุ่มต่างๆ ของวัดได้อีกด้วย เช่น กลุ่มครูคำสอน , กลุ่มเด็กช่วยจารีต , กลุ่มเด็กเตรียมรับศีลมหาสนิทครั้งแรก เป็นต้น (ช่วงเหมาะสมที่สุดในการจัดเข้าเงียบก็คือ ช่วงเทศกาลมหาพรต)

(ตัวอย่างตารางเวลาในช่วงการเข้าเงียบ ได้แก่ เริ่มด้วยพิธีมิสซา หลังมิสซาเป็นช่วงรับศีลอภัยบาป (ราว 1 ชั่วโมง) ทำชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ (เช่น เฝ้าศีลมหาสนิท) ช่วงที่วิทยากรบรรยายให้ข้อคิด ตามด้วยการอวยพรศีลมหาสนิท และจบด้วยการรับศีลอภัยบาปอีกช่วงหนึ่ง (ราว 17:30 น.) การประชาสัมพันธ์ให้สัตบุรุษได้ทราบหลังพิธีบูชาชอบพระคุณ หรือผ่านทางสารวัด เว็ปไซด์ของวัด ฯลฯ จะช่วยให้เข้าถึงสัตบุรุษที่อาจไม่ได้มาวัดเป็นประจำได้ทราบทั่วกันด้วย

✝️ แนวทางที่ 7 : การอภิบาลโดยการใช้สิ่งคล้ายศีลต่างๆ (Sacramentalize the Flock)

เราสามารถใช้สิ่งคล้ายศีลต่างๆ ในการเสริมสร้างชีวิตคริสตชนของบรรดาสัตบุรุษได้ โดยการจัดสรรหรือทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่น การมอบเหรียญแม่พระอัศจรรย์ (Miraculous Medal Novena) ให้กับสัตบุรุษในโอกาสฉลองแม่พระเหรียญอัศจรรย์ในเดือนพฤศจิกายน ในเดือนกรกฎาคมโอกาสฉลองแม่พระแห่งภูเขาคาร์เมลก็มอบเสื้อจำพวก (Brown Scapular) ให้กับสัตบุรุษ หรือในเดือนตุลาคมก็ให้สายประคำ (Rosary) เป็นต้น สิ่งคล้ายศีลเหล่านี้สามารถช่วยให้สัตบุรุษได้รับพระหรรษทานปัจจุบัน (Actual Grace) ได้ รวมถึงน้ำเสก (Holy Water) ที่สัตบุรุษสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้าน หรือการจุดเทียนต่อหน้ารูปพระหรือนักบุญต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน

การที่วัดมีร้านจำหน่ายศาสนภัณฑ์ รูปพระ กางเขน สิ่งคล้ายศีลต่างๆ หรือหนังสือเสริมศรัทธา หรือแม้แต่ของที่ระลึก ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างชีวิตจิตและความเชื่อความศรัทธาของบรรดาสัตบุรุษได้

⛪️ หมวดที่ 2 : งานสร้างชุมชนแห่งการแพร่ธรรม (Evangelizing the Parish)

✝️ แนวทางที่ 8 : ผู้อภิบาลในแบบสุนัขเลี้ยงแกะ (Use the “Pastor’s Sheepdogs”)

คุณพ่อฟรานซิสใช้หลักการอภิบาลของคุณพ่อโรเบิร์ต เบรดชอร์ ที่ว่า “พระสงฆ์ควรทำงานเยี่ยงคนงานหนึ่งร้อยคน แต่ทว่าใช้คนหนึ่งคนไปทำมัน” (ไม่ใช่แบบ “ผู้อภิบาลสันดานเสมียน”) การหาผู้ร่วมงาน หรือการสร้างเครือข่ายการทำงาน จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังเช่นคุณพ่อฟราสซิสที่ใช้กลุ่มพลมารีผู้ใหญ่ไปตามบ้านของสัตบุรุษทีละบ้านๆ เพื่องานอภิบาล เช่น ไปเพื่อเยี่ยมเยียนคนชรา , ผู้เจ็บป่วย , คริสตชนใหม่ หรือผู้กำลังประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต รวมถึงการจัดส่งสารวัด หรือแจ้งข่าวสารของทางวัด วิธีการนี้ต่างใช้ได้ผลทั้งสิ้น

ครั้งหนึ่ง กลุ่มพลมารีย์ได้ไปเยี่ยมชายคนหนึ่งที่ทิ้งวัดไปราว 40 ปี ชายคาทอลิกผู้นั้นซาบซึ้งใจ ร้องไห้ และกล่าวว่า “พระเจ้าทรงส่งพวกท่านมาให้ผม” เนื่องด้วยชายผู้นั้นกำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในระยะสุดท้าย กลุ่มพลมารีย์ได้เชิญคุณพ่อฟรานซิสไปเยี่ยม โปรดศีลอภัยบาป และศีลเจิมผู้ป่วยในอีกสองสามวันต่อมา หลังจากนั้นภรรยาของชายผู้นั้นซึ่งเป็นโปรแตสแตนต์ได้พาเขาไปร่วมมิสซาวันอาทิตย์ที่วัด จนอีก 6 เดือนต่อมาเขาได้เสียชีวิต ในช่วงสุดท้ายในชีวิตเขาได้ชื่นชมและขอบคุณกลุ่มพลมารีย์อยู่บ่อยครั้งที่ช่วยนำเขากลับมาพบกับสันติสุขกับพระเจ้าในช่วงปั้นปลายของชีวิต

คุณพ่อฟรานซิสกล่าวว่า การเป็นนายชุมพาบาลท่ามกลางฝูงแกะนั้น เป็นดังผู้อภิบาลแบบสุนัขเลี้ยงแกะ เพราะว่าต้องคอยวิ่งต้อนแกะตัวที่พลัดหลงไปให้กลับเข้ามายังฝูง และนำไปถึงคอกแกะอย่างปลอดภัย

✝️ แนวทางที่ 9 : เสียงสวรรค์ในวันเกิด (Try “Phonelization”)

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะโทรหาสัตบุรุษทุกคนในวันคล้ายวันเกิดของพวกเขา” คุณพ่อฟรานซิสกล่าว ในช่วงแรกๆ คุณพ่อฟรานซิสได้เริ่มจาก 5-6 คนต่อวัน จนในปัจจุบันต้องโทรถึงวันละ 30-40 คน เพียงแค่โทรไปคนละราว 1 นาที หรือไม่ก็ฝากข้อความเอาไว้ แต่คุณค่าที่ได้รับนั้นมันมากเกินกว่าเวลาที่เสียไป เพราะเสียงสะท้อนที่กลับมา เช่น “คุณพ่อ ผมเป็นคาทอลิกมา 70 ปีแล้ว แต่ไม่เคยมีพระสงฆ์องค์ใดเลยที่โทรมาอวยพรในวันคล้ายวันเกิดของผม” หรือไม่ก็ “คุณพ่อ การที่คุณพ่อโทรมาอวยพรดิฉันในวันคล้ายวันเกิดนั้น ทำให้ดิฉันกลับมาเข้าวัดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ละเลยไปหลายเดือน” แม้จุดประสงค์หลักของการโทรอวยพรวันเกิดก็เพื่องานแพร่ธรรม แต่สิ่งที่ได้รับควบคู่กันคือความมีน้ำใจดีและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น

✝️ แนวทางที่ 10 : ไปรษณีย์สื่อสัมพันธ์ (The Postal Approach)

สำหรับสมาชิกในครอบครัวหรือฝ่ายคู่สมรสที่ไม่ได้เป็นคาทอลิก คุณพ่อฟรานซิสจะใช้วิธีเขียนจดหมายถึงพวกเขา ปีหนึ่งๆ ก็ราว 500 ฉบับ เพื่อเชื้อเชิญพวกเขาด้วยความยินดีเพื่อมาร่วมกิจกรรมหรือพิธีกรรมในเทศกาลสำคัญของวัดและของชุมชนคาทอลิก รวมถึงให้คำแนะนำหรือข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่กับคู่ครองที่นับถือคาทอลิก สิ่งนี้อาจเป็นผลทำให้มีจำนวนผู้กลับใจมาเป็นคาทอลิกเฉลี่ยปีละ 30 คนในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาก็เป็นได้ รวมถึงต้องโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับจำนวนผู้กลับใจที่เพิ่มขึ้นเป็น 40 คนในปีนี้ รวมถึง 25 คนที่จะรับศีลมหาสนิทครั้งแรกและศีลกำลังอีกด้วย จดหมายอีกฉบับหนึ่งจะส่งถึงสัตบุรุษทุกครอบครัวก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปาสกา เพื่อแจ้งถึงตารางมิสซา , ศีลอภัยบาป และกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลนั้นๆ ส่วนจดหมายอีกฉบับหนึ่งจะส่งไปยังคริสตชนใหม่

จดหมายฉบับแรกที่สัตบุรุษได้รับจากทางวัด ควรจะเป็นจดหมายแสดงความปรารถนาดี ลงนามโดยคุณพ่อเจ้าวัด แต่ไม่ควรมีซองเชิญทำบุญแนบไปด้วย หากจะเชิญทำบุญควรจัดส่งไปในภายหลัง ควรให้สัตบุรุษได้เริ่มต้นด้วยความรู้สึกประทับใจในการต้อนรับอย่างอบอุ่นของทางวัดเป็นอันดับแรก (ไม่ใช่เริ่มต้นมาก็บอกบุญซะแล้ว)

✝️ แนวทางที่ 11 : งานอภิบาลวันอาทิตย์ (The “Sunday Catholic” Apostolate)

บทเทศน์วันอาทิตย์ นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะใช้เข้าถึงจิตใจบรรดาสัตบุรุษที่มาร่วมพิธีกรรมในวันอาทิตย์ ผู้อภิบาลสามารถใช้บทเทศน์วันอาทิตย์ เป็นช่วงเวลาของการให้ความรู้ เสริมสร้างแรงบันดาลใจ และช่วยให้บรรดาคริสตชนได้มีแนวทางการดำเนินชีวิตตลอดสัปดาห์นั้นๆ คุณพ่อฟรานซิสบอกว่าบทเทศน์วันอาทิตย์ถือเป็นโอกาสและงานสำคัญของบรรดาพระสงฆ์ ที่จะมอบเป็นของขวัญให้กับพระเจ้าในแต่ละสัปดาห์ คุณพ่อฟราสซิสยังจำบทประพันธ์อันหนึ่งได้ดี คือ “แพ็ดดี้ไปวัดทุกวันอาทิตย์ เขาไม่เคยขาดแม้แต่สัปดาห์เดียว แต่แพ็ดดี้กลับต้องตกลงไปในไฟนรก เพราะสิ่งที่เขาได้ทำไปในวันจันทร์...” ให้เราภาวนาเพื่อคริสตชนที่มาร่วมมิสซาในวันอาทิตย์ จะสามารถดำเนินชีวิตเป็นคริสตชนในวันอื่นๆ ตลอดสัปดาห์ด้วยเทอญ

✝️ แนวทางที่ 12 : งานแพร่ธรรมกับการเตรียมคู่สมรสใหม่ (Entrées and Evangelization)

การอบรมเตรียมคู่แต่งงาน เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะประกาศพระวาจาให้กับคู่สมรส คุณพ่อฟรานซิสได้อบรมคู่สมรสจำนวน 4 ครั้งในแต่ละคู่ ในแต่ละปีจะมีคู่สมรสราว 40 คู่ รวมการอบรมทั้งหมดก็ 160 ครั้ง นับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย แม้หลายครั้งคุณพ่อฟราสซิสจะต้องอบรมคู่สมรสในร้านอาหารด้วยก็ตามที วันเสาร์หรือไม่ก็เที่ยงวันอาทิตย์ถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะพบกับคู่สมรส เพราะว่าคุณพ่อสามารถใช้เวลาช่วงค่ำในการประชุม , อบรม หรือกระทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย

คุณพ่อฟรานซิสมักใช้ช่วงเวลาอาหารกลางวันกับการอบรมเตรียมคู่สมรส อาทิเช่น ช่วง 11:30 น. คุณพ่อฟรานซิสจะทานสลัดในขณะที่คู่สมรสทานอาหารกลางวันในระหว่างพูดคุยกับพวกเขา พอถึงการอบรมคู่สมรสคู่ต่อไปในเวลา 12:30 น. หรือ 13:00 น. คุณพ่อฟรานซิสก็จะรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับคู่สมรส แต่หากต้องอบรมอีกคู่หนึ่ง คุณพ่อก็จะทานของหวานหรือผลไม้ต่อไป เป็นต้น คุณพ่อฟราสซิสประกาศพระวาจาโดยการให้แผ่นซีดีกับคู่สมรสไปศึกษา ให้เหรียญแม่พระอัศจรรย์ รูปภาพพระหฤทัย ภาพแม่พระ และคู่มือต่างๆ นอกจากนั้น คู่สมรสแต่ละคู่จะต้องเข้าอบรมเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวแบบธรรมชาติด้วย หากคู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ใช่คาทอลิก คุณพ่อฟรานซิสมักเชิญพวกเขาเข้าสู่กระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน (RCIA) และการอบรมเยาวชนรุ่นใหญ่ (Young Adults meetings) ด้วยวิธีการเหล่านี้ทำให้วัดของคุณพ่อฟรานซิสมีจำนวนผู้ที่กลับใจเข้าเป็นคริสตชนในระดับที่น่าพอใจ

✝️ แนวทางที่ 13 : แผนกต้อนรับอย่างอบอุ่น (The Welcome Table)

คุณพ่อฟราสซิสจัดให้มีเจ้าหน้าที่แผนกต้อนรับที่บริเวณด้านหน้าก่อนเข้าสู่ภายในวัด ซึ่งจะให้บริการผู้มาร่วมพิธีด้วยมิตรภาพ รอยยิ้ม อีกทั้งคอยอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ พลมารีบางคนได้รับมอบหมายให้ประจำหน้าที่ทั้งก่อนและหลังมิสซา เพื่อพูดคุยกับสัตบุรุษ ตอบคำถามต่างๆ เกี่ยวกับกิจกรรมของวัด หรือลงทะเบียนผู้สนใจในกลุ่มองค์กรใดๆ ของวัด ที่โต๊ะแผนกต้อนรับนั้นเอง บรรดาสัตบุรุษจะสามารถหาสายประคำ แผ่นพับเกี่ยวกับการสวดสายประคำ , สารวัด หรือเอกสารเสริมศรัทธาอื่นๆ ครั้งหนึ่ง มีประสบการณ์ที่น่าประทับใจเกิดขึ้น พลมารีย์คนหนึ่งมาแจ้งคุณพ่อฟรานซิสว่า มีหญิงคนหนึ่งซึ่งทิ้งวัดไปนานนับ 10 ปีอยากจะพบกับคุณพ่อ จากนั้น หญิงคนนั้นก็ได้มาพบคุณพ่อฟรานซิสที่ห้องทำงาน มาขอรับศีลอภัยบาป คุณพ่อได้พูดคุยกับเธอเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของทางวัด และยังเชิญชวนเธอให้เข้าร่วมกับกลุ่มองค์กรต่างๆ ของทางวัดอีกด้วย วันอาทิตย์ต่อมาคุณพ่อฟรานซิสเห็นหญิงผู้นั่นร่วมอยู่ในกลุ่มนักขับของวัด คุณพ่อฟรานซิสมักโมทนาคุณพระเจ้าอยู่เสมอ เหตุว่าด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นนี้เอง ทำให้บรรดาสัตบุรุษได้มีโอกาสพบปะ , พูดคุย และประกาศพระวรสารให้กันและกันได้อย่างน่าประทับใจ

✝️ แนวทางที่ 14 : การบริหารจัดการพิธีบูชาขอบพระคุณ (Mass Management)

ก่อนและหลังพิธีบูชาขอบพระคุณ (มิสซา) จะเป็นผลดีหากพระสงฆ์ไปปรากฏตัวที่บริเวณหน้าวัด เพราะแค่การไปพบปะ พูดคุย ทักทายสัตบุรุษที่เดินทางมาถึง ยืนส่งพวกเขาที่กำลังจะกลับบ้าน เพียงแค่นี้ ก็เป็นการสร้างความประทับใจให้กับสัตบุรุษแล้ว ทำให้พวกเขาอยากจะมาร่วมมิสซาที่วัดแห่งนี้อีก รวมถึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับสัตบุรุษมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ท่าทีที่เป็นมิตร จริงใจ เอาใจใส่ของพระสงฆ์ช่วยให้งานอภิบาลเป็นไปด้วยความราบรื่น

จะเชื่อหรือไม่ก็ตามที การมีน้ำดื่ม ชา กาแฟ หรือขนม เตรียมไว้บริการสัตบุรุษหลังจากมิสซา ถือเป็นส่วนจำเป็นเช่นเดียวกันในการประกาศพระวรสาร เพราะบรรดาสัตบุรุษของวัด รวมถึงสัตบุรุษที่มาจากต่างถิ่นจะได้มีโอกาสพบปะ ทำความรู้จักกัน แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ก็ตามที ดีกว่าหลังจบมิสซาต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปโดยที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์อะไรต่อกันเลย แม้มองดูว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่กลับมีความสำคัญในการทำงานอภิบาลตามวัดของบรรดาพระสงฆ์

✝️ แนวทางที่ 15 : ตั้งกลุ่มเพื่อก้าวเดินร่วมกัน (Go For Groups…)

คุณพ่อฟรานซิสตระหนักอย่างชัดแจ้งว่า การเชิญชวนให้สัตบุรุษของท่านมาร่วมกลุ่มต่างๆ ที่ได้จัดตั้งขึ้นมีความสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตคริสตชน เพราะจะทำให้วัดมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การตั้งกลุ่มเยาวชนรุ่นใหญ่ ถือเป็นส่วนสำคัญทั้งสำหรับผู้เตรียมตัวสู่ชีวิตสมรสหรือชีวิตโสดก็ตามที นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสสอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์ , การสวดภาวนา , พิธีกรรม , ศีลธรรม รวมถึงการเจริญชีวิตแบบคริสตชนท่ามกลางสังคมปัจจุบันนี้อีกด้วย ที่วัดของคุณพ่อฟรานซิสได้กำหนดให้มีกิจกรรมการทำชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ (Holy Hour) เดือนละครั้ง ในวันอาทิตย์ตอนค่ำ เวลา 18:30-19:30 น. นำโดยสัตบุรุษของคุณพ่อที่ผ่านการอบรมจากสถาบันที่เกี่ยวข้อง (…อาจนำรูปแบบการภาวนาแบบเทเซ่ มาปรับใช้ได้เช่นกัน) ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ชวนศรัทธา , แสงไฟ , แสงเทียน , บทเพลง และอุปกรณ์ช่วยต่างๆ ทำให้สมาชิกของกลุ่ม รวมถึงสัตบุรุษอื่นๆ ที่เข้าร่วมนั้นได้มีเวลาภาวนาร่วมกันอย่างแท้จริง ทำให้วัดมีชีวิตชีวาและเกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น ในช่วงเวลานี้เอง คุณพ่อฟรานซิสก็จะทำหน้าที่โปรดศีลอภัยบาปสำหรับผู้ที่ต้องการอีกด้วย จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมนี้เองจะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการช่วยกิจการต่างๆ ของวัด รวมถึงเป็นเมล็ดพันธ์ที่จะนำสู่การกลับใจเป็นคริสตชนในอนาคตสำหรับพี่น้องความเชื่ออื่นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อฟรานซิสบอกว่า เราไม่อาจลืมกลุ่มพ่อบ้าน , กลุ่มแม่บ้าน รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุได้ การพบปะกันเพียงเดือนละครั้ง แม้จะเป็นเวลาเพียงแค่หนึ่งชั่วโมง แต่กลับเป็นช่วงเวลาที่มีค่าและมีความสุขยิ่งสำหรับพวกเขา

✝️ แนวทางที่ 16 : ตั้งกลุ่มอื่นๆ เพิ่มขึ้นหากจำเป็น (… and More Groups)

คุณพ่อฟรานซิสเองก็ไม่อาจบอกได้ว่าจำนวนกลุ่มต่างๆ ที่ได้ตั้งขึ้นนั้นจะไปสิ้นสุดเมื่อไร เท่าที่นับได้ที่วัดของท่าน ได้ตั้งกลุ่มขึ้นแล้วจำนวน 65 กลุ่ม หากถามว่าคุณพ่อฟรานซิสจะต้องไปร่วมกิจกรรมของทุกกลุ่มหรือไม่ ตอบได้เลยว่า “ไม่” แต่ท่านจะแต่งตั้งบรรดาฆราวาสที่เหมาะสมไปแทน คุณพ่อฟรานซิสกล่าวว่ายิ่งกลุ่มมีมากเท่าไร วัดของท่านก็จะมีชีวิตชีวามากขึ้นเท่านั้น หลายกลุ่มในวัดของคุณพ่อฟรานซิสได้ช่วยงานอภิบาลอย่างเข้มแข็ง อาทิเช่น กลุ่มอัศวินศีลมหาสนิท , กลุ่มชาวสะมาเรียผู้ใจดี , กลุ่มวินเซนต์ เดอ ปอล ซึ่งได้ช่วยเหลือผู้ที่ยากจนและขาดแคลน โดยเงินที่ใช้ช่วยเหลือนั้นไม่ได้เป็นเงินจากทางวัดเลยแม้แต่บาทเดียว แต่เป็นเงินจากการเสียสละแบ่งปันของสมาชิกในกลุ่มเอง นอกจากนี้ ที่วัดของคุณพ่อฟรานซิส ยังมีกลุ่มที่ทำอาหารเลี้ยงคนยากจน กลุ่มที่ปกป้องชีวิตมนุษย์ซึ่งคอยสวดภาวนาหน้าคลินิกทำแท้ง กลุ่มที่ช่วยตัดเย็บอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ รวมถึงผ้าขาวที่ใช้พิธีศีลล้างบาปอีกด้วย ทั้งนี้ต้องไม่ลืมกลุ่มเด็กช่วยมิสซา ซึ่งมีทั้งหมด 200 คนที่วัดของคุณพ่อฟรานซิส ซึ่งปกติจะมีเด็กช่วยมิสซาระหว่าง 12-25 คนในแต่ละมิสซา แม้กลุ่มต่างๆ นี้จะดูมากมายเพียงใด แต่สำหรับคุณพ่อฟรานซิสกลับบอกว่า ดูเหมือนท่านจะมีเวลาว่างมากกว่าพระสงฆ์อื่นๆ ในสังฆมณฑลของท่านเสียอีก (เนื่องจากกลุ่มต่างๆ นั้นมาช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระของท่าน)

✝️ แนวทางที่ 17 : จัดทำเว็บไซด์ของวัด (Catch Them in a Web)

ผู้ทำงานอภิบาลในโลกปัจจุบันคงไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความจำเป็นของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต คุณพ่อ ฟรานซิสบอกว่าเว็บไซด์ของวัดถูกตั้งขึ้นโดยความเสียสละของคริสตชนใหม่ของวัดคนหนึ่ง เราต่างมุ่งหวังที่จะมีเว็บไซด์ที่ดีเพื่อประโยชน์ในการอภิบาลสัตบุรุษ ซึ่งผลที่ปรากฎออกมานั้นดีเกินสิ่งที่เราคาดคิดเสียอีก แต่ละวัดควรจะมีเว็บไซด์ของตนเอง เพราะการทำงานอภิบาลและการประกาศพระวรสารในปัจจุบันนี้ปราศจากสิ่งเหล่านี้มิได้ เว็บไซด์ของวัดนับเป็นประโยชน์ เป็นต้นในการเสริมสร้างความเชื่อศรัทธาของสัตบุรุษ ลงภาพกิจกรรมต่างๆ ของวัดให้ทุกคนได้รับรู้ แจ้งปฏิทินกิจกรรมของทางวัด รวมถึงลงข้อมูลรายการกลุ่มศรัทธาต่างๆ ที่ได้จัดตั้งขึ้น เป็นต้น

(ลองดูเว็ปไซด์ของวัดคุณพ่อฟรานซิส ได้ที่ www.holytrinityparish.net)

✝️ แนวทางที่ 18 : บันทึกบทเทศน์ลงในเว็ปไซด์ (Record and Reach Out)

ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ พระสงฆ์ผู้อภิบาลสามารถลงบันทึกบทเทศน์หรือข้อคิดต่างๆ และนำลงเผยแพร่ในเว็บไซด์ของวัดได้เช่นเดียวกัน (ทั้งแบบข้อเขียน คลิปเสียง หรือแม้แต่คลิปภาพด้วยก็ไม่ยากเกินไป) สัตบุรุษที่วัดของคุณพ่อฟรานซิสเอง หรือแม้แต่คนอื่นๆ ก็สามารถคลิกที่เว็บไซด์เพื่อฟังบทเทศน์วันอาทิตย์ของคุณพ่อ รวมถึงบทเทศน์และข้อคิดเตือนใจในแต่ละวันอีกด้วย เพียงแค่เตรียมเทศน์ จัดการบันทึกลงในไฟล์ แล้วนำลงเผยแพร่ในเว็บไซด์ เพียงแค่นี้ใครก็ได้ในโลกก็สามารถเข้าถึง รับฟัง การประการศพระวรสารก็จะไปได้ไกลจนสุดปลายแผ่นดิน (เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียว ได้นกเป็นฝูงเลยทีเดียว)

✝️ แนวทางที่ 19 : ประกาศโฆษณา (Advangelizing)

การทำแม่เหล็กติดรถยนต์ (หรือสติ๊กเกอร์ติดรถยนต์) สำหรับแจกให้สัตบุรุษ ก็เป็นวิธีการประกาศพระวรสารอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผล เพราะจะทำให้ชื่อหรือสัญลักษณ์แบบคาทอลิกเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน คุณพ่อฟรานซิสได้จัดทำแม่เหล็กติดรถยนต์จำนวน 5,000 ชิ้น สำหรับมอบเป็นของขวัญโอกาสเทศกาลคริสต์มาสแก่สัตบุรุษของท่านหลังมิสซาในคืนคริสต์มาส แม่เหล็กติดรถยนต์นั้นเป็นแบบวงกลมขนาด 10 นิ้ว สีทองและเหลืองบนพื้นสีฟ้าเข้ม มีคำว่า “วัดคาทอลิกพระตรีเอกภาพ, เมือง Gainesville มณรัฐ Virginia พร้อมเว็บไซด์ของวัด” สัญลักษณ์เหล่านี้จะแสดงไปทุกทิศทุกทาง ทั้งที่บ้านของสัตบุรุษ ที่ทำงาน หรือที่ต่างๆ ที่รถของบรรดาสัตบุรุษของคุณพ่อฟรานซิสจะเดินทางไป หลายครั้งเมื่อคุณพ่อเห็นสัญลักษณ์นี้ที่รถคันใด คุณพ่อฟรานซิสก็มักจะเข้าไปทักทาย หรือสัตบุรุษกันเองเมื่อพบเห็นสัญลักษณ์นี้ก็จะทำเช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้แม้เป็นเพียงเรื่องเล็น้อย แต่ก็สามารถสร้างมิตรภาพอันน่าประทับใจได้ หลายคนให้คำนิยามแม่เหล็กติดรถยนต์นี้แตกต่างกันไป แต่สำหรับคุณพ่อ ฟรานซิส ท่านเรียกมันว่า “ประกาศกโฆษณา”

นอกนั้น อีกช่องทางหนึ่งซึ่งจะสามารถประชาสัมพันธ์วัดได้ ก็คือ ตามหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับต่างๆ หลายคนมาที่วัดของคุณพ่อฟรานซิสก็เพราะทราบตางรางเวลามิสซาหรือกิจกรรมต่างๆ ทางหนังสือพิมพ์ นอกจากนั้น ยังสามารถเขียนคำคมหรือคำที่โดนใจสัตบุรุษตามที่ต่างๆ ของวัด เช่น ที่ทางเข้าหรือทางออก หรือแม้แต่ทำเป็นป้ายติดเอาไว้ในบริเวณวัด เช่น “Welcome home inactive Catholics; rediscover your Church” เป็นต้น
Arttise
โพสต์: 870
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พุธ ก.ย. 06, 2023 8:35 pm

⛪️ หมวดที่ 3 : งานด้านคำสอนของชุมชนวัด (Catechizing the Parish)

✝️ แนวทางที่ 20 : ชั้นเรียนศีลล้างบาป (The Baptismal Class)

คุณพ่อฟรานซิสมีสอนเรียนเรื่องศีลล้างบาปในทุกๆเดือน ผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องศีลล้างบาป บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ทูลหัว และบทความข้อเขียนในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิเช่น ทำไมเราต้องไปร่วมมิสซาในวันอาทิตย์ , เหตุใดเราต้องไปรับศีลอภัยบาป , การพิจารณามโนธรรม , การวางแผนครอบครัวแบบธรรมชาติ เป็นต้น คู่สมรสหลายคู่ที่ห่างหายจากวัดไป ได้กลับมาเข้าวัดร่วมมิสซาอีกครั้ง หลังจากผ่านการเรียนรู้เรื่องศีลล้างบาป พ่อแม่หลายคนสามารถสอนบุตรหลานของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องที่ได้รับรู้จากชั้นเรียนศีลล้างบาป ยังรวมถึงเรื่องการรับศีลล้างบาป , ศีลอภัยบาป , ศีลมหาสนิทครั้งแรก และศีลกำลังของบุตรหลานด้วย

เราสามารถใช้โอกาสในการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นำสัตบุรุษกลับมาสู่ความเชื่อ หลังจากจบหลักสูตรผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้รับเหรียญพระหฤทัยและพระแม่มารีย์เป็นของที่ระลึก รวมถึงสายประคำ และเหรียญแม่พระสายจำพวกอีกด้วย หากผู้เข้าร่วมคนใดที่ไม่ได้แต่งงานที่วัดของคุณพ่อฟรานซิส ก็จะทำการเก็บของมูลไว้เป็นหลักฐาน หรือรวมถึงช่วยเหลือพวกเขาต่อไป จนกระทั่งพวกเขาได้เข้าพิธีแต่งงานถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของพระศาสนจักรเรียบร้อยแล้ว

✝️ แนวทางที่ 21 : ห้องสมุด แผ่นบันทึกเสียง และภาพ (The Trifold Library)

ห้องสมุด (หรือห้องคำสอน) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวัด ถือเป็นสิ่งสำคัญในการสอนคำสอน ซึ่งไม่ควรมีเพียงแต่หนังสือเท่านั้น เพราะในโลกปัจจุบันสื่อบันทึกภาพและเสียงจำพวก DVD และ CD ต่างก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ที่วัดของคุณพ่อฟรานซิส มีหนังสือในห้องสมุดราว 5,000 เล่ม ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับมาจากการบริจาค หนังสือทั้งหมดยังอยู่ในสภาพดี ทั้งหนังสือของคาทอลิก และของออร์โธด็อกซ์ ในส่วนของแผ่นบันทึกภาพและเสียงจัดวางไว้อย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคาทอลิก หรือเรื่องราวสร้างสรรค์สำหรับครอบครัว นับเป็นภาพที่น่าประทับใจ เมื่อเห็นพ่อแม่และคนอื่นๆ เข้าไปในห้องสมุดหลังจากเสร็จมิสซา เพื่อขอยืมหนังสือและสี่อที่มีต่างๆ นำกลับไปใช้พัฒนาความเชื่อศรัทธาในชีวิตคริสตชนของตนและครอบครัว สื่อเสียง เช่น CD ดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะบรรดาสัตบุรุษสามารถใช้ฟังในขณะขับรถยนต์กลับบ้าน ขณะเดินทางไปทำธุระ หรือฟังในขณะทำงานได้อีกด้วย

✝️ แนวทางที่ 22 : ชั้นวางหนังสือเสริมศรัทธา (The Pamphlet Rack)

สิ่งที่มักคุ้นตาตามวัดต่างๆ ซึ่งมักจัดวางไว้บริเวณทางเข้าวัด ก็คือ ชั้นวางหนังสือศรัทธา ซึ่งคุณพ่อ ฟรานซิสเองก็ยังคงจดจำได้ดีตอนที่ท่านยังเป็นเยาวชนอยู่ ท่านมักหยุดอยู่ที่ชั้นวางหนังสือเหล่านั้น และหยิบอหนังสือเล่มเล็กๆ ขึ้นมาอ่านอยู่เป็นประจำ ตามความเห็นของคุณพ่อฟรานซิส สิ่งเหล่านี้นับเป็นสิ่งจำเป็นมากยิ่งขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้ คุณพ่อเสนอแนะให้แต่ละวัดจัดหาที่ว่าง สำหรับหนังสือประเภทสร้างแรงบันดาลใจมากขึ้น เพื่อให้บรรดาสัตบุรุษได้หยิบไปอ่านหลังมิสซา หรือช่วงก่อนและหลังการรับศีลอภัยบาป นอกจากนี้ เอกสารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อความเชื่อคริสตชน หรือมีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนก็ไม่ควรถูกมองข้ามไปเช่นกัน นอกจากนี้ ทุกปีที่วัดของคุณพ่อฟรานซิสจะเชิญสำนักพิมพ์หนังสือเสริมศรัทธาต่างๆ มาจำหน่ายให้กับบรรดาสัตบุรุษที่วัดของคุณพ่ออีกด้วย (ปัจจุบันหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อาจใส่ไว้ในเว็บไซด์ของวัดได้ด้วย)

✝️ แนวทางที่ 23 : สอดแทรกเนื้อหาสาระความรู้ (Formational Inserts)

ตามปกติ การสอดแทรกเนื้อหาสาระความรู้ลงในสารวัด (หรือสื่อสิ่งพิมพ์) เป็นหนทางหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการประกาศพระวาจา รวมถึงฟื้นฟูชีวิตคริสตชนของบรรดาสัตบุรุษในเขตวัด คุณพ่อฟรานซิสก็เช่นกัน ท่านได้แทรกสาระความรู้ต่างๆ ลงในสารวัดของท่าน อาทิ “เหตุผล10 ประการที่ควรเข้าร่วมกลุ่มพลมารีย์” (พร้อมลงตารางเวลาประชุมของพลมารีย์ของแต่ละกลุ่ม) “วัดของเราอายุเท่าไรแล้ว?” “ทำไมต้องทำชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์?” “ผู้หญิงเป็นพระสงฆ์ได้หรือไม่?” หรือ “การถือความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์” เป็นต้น นอกจากนี้ สารวัดยังเป็นประโยชน์ในการแจ้งตารางเวลากิจกรรมต่างๆ ของทางวัดด้วย เช่น ช่วงเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ , คริสต์มาส , มหาพรต และปัสกา ท่านก็จะแจ้งตารางเวลามิสซา ศีลอภัยบาป แทรกสาระความรู้เกี่ยวกับเทศกาลนั้นๆ ความรู้เกี่ยวกับปีพิธีกรรม สิ่งของเครื่องใช้ในพิธีกรรม เป็นต้น หลายๆครั้งสาระความรู้ที่ได้สอดแทรกในสารวัดนั้น อาจเป็นประโยชน์ต่อบรรดาคริสตชนในการตอบคำถาม ข้อสงสัยบางประการ หรือเป็นประโยชน์ต่อการพูดคุยระหว่างคริสตชนกับคนที่นับถือต่างความเชื่ออีกด้วย หลายครั้งเมื่อสัตบุรุษมาพูดคุยกับคุณพ่อฟรานซิสถึงข้อสงสัยบางประการ หากเห็นว่ามีประโยชน์ต่อสัตบุรุษคนอื่น คุณพ่อก็จะนำมาเป็นประเด็นพูดคุย หรือทอดแทรกในบทเทศน์วันอาทิตย์ หรือตอบคำถามนั้นลงในสารวัดฉบับต่อไป

✝️ แนวทางที่ 24 : ประกาศกทางสื่อสิ่งพิมพ์ (Bulletin as Evangelizer)

จริงๆ แล้วสื่อสิ่งพิมพ์ (เช่น สารวัด , อุดมสาร) เป็นได้มากกว่าเพียงแค่ใช้ในการสอนความเชื่อคาทอลิก หรือสอนคำสอน แต่ยังสามารถใช้ในการประการพระวาจาได้ด้วยเช่นกัน เนื้อหาในส่วนของเจ้าอาวาส (เช่น เสียงเจ้าอาวาส) เป็นพื้นที่เหมาะสมในการใช้เพื่อให้กำลังใจ หรือสร้างแรงบันดาลใจสำหรับสัตบุรุษ ซึ่งอาจ ยกคำพูดของบรรดานักบุญ หรือจากคำคมข้อคิดดีดีต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ของวัดเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานแบบคาทอลิก ข้อขัดขวางต่างๆ อันอาจทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะ รวมถึงกระบวนในการแก้ไข , ช่วยเหลือ และอภิบาล เพราะแม้แต่เจ้าอาวาสเองอาจจะไม่ทราบว่า สัตบุรุษที่มาวัดและรับศีลมหาสนิทในมิสซานั้น อาจจะเป็นผู้ที่แต่งงานไม่เรียบร้อย ไม่ถูกต้อง หรือเป็นโมฆะด้วยก็ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการทุราจารต่อศีลศักดิ์สิทธิ์ขึ้นได้ ในเรื่องนี้อาจเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านั้นว่า “อย่าลังเลที่จะมาพูดคุยกับเจ้าอาวาส เพื่อทำให้การแต่งงานของท่านถูกต้อง” ก็จะเป็นการยืนยันถึงเจตนาอันดีอีกทางหนึ่ง

✝️ แนวทางที่ 25 : จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail, Ad-mail)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail , Ad-mail) นั้นมีความสำคัญในการติดต่อสื่อสาร หรือใช้เพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารใดก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่งานอภิบาลสัตบุรุษตามวัดต่างๆด้วยเช่นกัน การลงทะเบียนครอบครัวคาทอลิกในวัดก็มักใช้ E-mail หรือไม่ก็มีโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำขึ้นเฉพาะ ซึ่งจะบรรจุข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เช่น สถานภาพ , แต่งงานแบบใด , วันเดือนปีเกิด , ข้อมูลครอบครัว , บุตรหลาน , ข้อมูลการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นต้น คุณพ่อฟรานซิสเองก็ใช้ E-mail เป็นเครื่องมือส่งถึงบรรดาสัตบุรุษแต่ละคน เพื่อเชิญชวนพวกเขามาร่วมกิจกรรม หรือแจ้งข่าวสารสำคัญๆ ของวัดตามโอกาส อาจเรียก E-mail ว่าเป็น “จดหมายเชิญส่วนตัว” เลยก็ว่าได้

✝️ แนวทางที่ 26 : เชิญวิทยากรมาให้ความรู้ (Invite Some Guests)

สิ่งที่ทำให้วัดมีชีวิตชีวาได้ไม่แพ้กัน ก็คือ การเชิญวิทยากรมาแบ่งปันประสบการณ์ หรือให้สาระความรู้ในหัวข้อต่างๆ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นพระสงฆ์ นักบวช ฆราวาส หรือแม้แต่เพื่อนพี่น้องต่างศาสนา คุณพ่อฟรานซิสเปิดกว้างสำหรับทุกคนเสมอ อาจใช้เวลาในมิสซา หลังมิสซา ในตอนเย็นของวัดหยุด หรือแม้แต่ในวันธรรมดาก็ตามที อาจเชิญวิทยากรมาแบ่งปันเกี่ยวกับการส่งเสริมชีวิตครอบครัว , การวางแผนครอบครัวแบบธรรมชาติ , การเฝ้าศีลมหาสนิท , การทำชั่วโมงศักดิ์ศิทธิ์ , การจัดมินิคอนเสิร์ตสำหรับกลุ่มเยาวชน , การภาวนาแบบเทเซ่ หรือแม้แต่การใช้สมุนไพรรักษาโรค เป็นต้น

✝️ แนวทางที่ 27 : เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น (Open for Discussion)

ที่วัดของคุณพ่อฟรานซิส กลุ่มพลมารีจะมีการประชุมกันสม่ำเสมอ อย่างน้อยๆ ก็ราว 40 คนในแต่ละเดือน หรือในบางครั้งก็มีถึง 100 คนเลยทีเดียว ส่วนใหญ่จะพูดคุยกันในประเด็นเกี่ยวกับศาสนา , ความเชื่อ หรือไม่ก็หลักปฏิบัติทางศาสนาต่างๆ อาทิเช่น ความหมายของความทุกข์ , ทูตสวรรค์และซาตาน , พระศาสนจักรสอนอะไรเกี่ยวกับอัศจรรย์ หรือภาพยนตร์เรื่องรหัสลับดาวินชีกับชีวิตคริสตชน สิ่งเหล่านี้เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ใหญ่ เป็นการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นกันของบรรดาฆราวาส ซึ่งควรมีพระสงฆ์ร่วมด้วยเพื่อแนะนำ หรือเสริมถึงข้อความเชื่อ มุมมอง และคำสอนที่ถูกต้องของพระศาสนจักรคาทอลิก หลายครั้งที่เมื่อจบการพูดคุยกันแล้วยังไม่ได้ข้อสรุปหรือข้อคิดเห็นจนเป็นที่เข้าใจหรือพอใจ ก็จะมีการนัดหมายเพื่อพูดคุย อภิปรายกันต่อในครั้งต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตอย่างเข้มแข็งทางความเชื่อคริสตชน

✝️ แนวทางที่ 28 : แผ่นซีดี เครื่องมืออันทรงพลังอย่างไม่ต้องสงสัย (CD or Not CD – No Question)

อุปกรณ์ในการสอนคำสอน คงไม่มีอะไรดีไปกว่าแผ่นซีดี (CD) ที่วัดของคุณพ่อฟรานซิสมักจะมอบแผ่นซีดีเป็นของขวัญแก่สัตบุรุษในช่วงเทศกาลคริสตมาสและปัสกา เนื้อหาในแผ่นซีดีก็จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อ หรือไม่ก็บทเพลงที่เกี่ยวกับเทศกาลนั้นๆ นอกนั้น อาจเป็นซีดีบทภาวนาและข้อรำพึงสายประคำในแต่ละวัน มีไม่น้อยที่ได้รับซีดีเกี่ยวกับการพิจารณามโนธรรมในช่วงเทศกาลมหาพรตและตัดสินใจมารับศีลอภัยบาปกับพระสงฆ์ จึงไม่ต้องแปลกใจที่เครื่องมือแผ่นซีดีนั้นทรงพลังมากกว่าที่เราคาดคิด เพราะพระจิตเจ้าอาจทำงานของพระองค์ผ่านทางสื่อเทคโนโลยีเหล่านี้ก็เป็นได้

คุณพ่อฟรานซิสได้แนะนำ “Catholic Lighthouse CDs” ซึ่งมีหัวข้อต่างๆ กว่า 70 เรื่องเกี่ยวกับคาทอลิกซึ่งควรค่าแก่การมีไว้ในครอบครอง The Mary Foundation เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ผลิตสื่อเหล่านี้ หากเราซื้อเป็นจำนวนมากๆ (2,000 แผ่นขึ้นไป) ราคาจะลดลงมาเหลือเพียงแผ่นละครึ่งดอลล่าร์เท่านั้นเอง แผ่นซีดีเหล่านี้อาจวางไว้ที่โต๊ะด้านหน้าวัด (หรือที่ชั้นวางหนังสือศรัทธา) ซึ่งปกติก็จะแจกฟรีหรือแล้วแต่สัตบุรุษจะทำบุญ ผู้อภิบาลควรสนใจความรอดของวิญญาณสัตบุรุษ มากกว่าการค้าหากำไร หากมีคนกลับใจปีละคนจากการฟังแผ่นซีดีเหล่านี้ก็คุ้มแล้ว เพราะเงินที่ลงทุนไปจะกลับมาจากเงินทำบุญ เงินถุงทาน หรือเงินขอมิสซาจากพวกเขาเหล่านั้น

CR. : https://www.ratchaburidio.or.th/main/ne ... the-parish

ขอพระเจ้าสถิตกับท่านทุกคนนะครับ 💒💒😇😇
#คริสต์ #คาทอลิก #คริสต์ศรัทธา #แนวทาง #เติมเต็ม #งานอภิบาล #อภิบาล #วัด #โบสถ์ #ชุมชนวัด #ศักดิ์สิทธิ์ #สร้างชุมชน #ชุมชน #แพร่ธรรม #คำสอน #พัฒนา #catholic

CR. : https://www.facebook.com/10006483483555 ... tid=cr9u03
ตอบกลับโพส